ศีลข้อเดียว
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๕๙
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “สงสัยเรื่องการภาวนาครับ”
ผมฝึกภาวนาอยู่ แต่ยังไม่ไปถึงไหน มีข้อสงสัยกราบเรียนหลวงพ่อเมตตาครับ
๑. ถ้าทำงานไม่สะดวกจะถือศีล ๘ ให้ถือศีล ๕ จะฝึกสมาธิจนเข้าสมาธิถึงสูงสุดได้ไหมครับ และถ้าฝึกหนักจริงๆ จะสามารถเข้าออกฌานอย่างชำนาญได้ไหมครับ (ถือแค่ศีล ๕ ครับ)
๒. การเข้าสมาธิได้ ถือแค่ศีล ๕ จะบรรลุธรรมได้ไหมครับ
ตอบ : นี่เป็นความวิตกกังวล เป็นความสงสัยไง
ถ้าพูดถึงบอกว่า ได้ ได้หมดล่ะ คำว่า “ได้หมด” หมายถึงว่า ถือศีล ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าศีล สมาธิ ปัญญา คือมรรค เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราอยากจะได้มรรคได้ผล ถ้าได้มรรคได้ผล เราอยากได้ผล อยากได้เป็นพระโสดาบัน อยากได้เป็นพระสกิทาคามี อยากได้เป็นพระอนาคามี อยากได้เป็นพระอรหันต์โดยความนึกเอา โดยการขอเอา โดยการอ้อนวอนเอา มันก็ไม่ได้
มันอยากได้ มันต้องประพฤติปฏิบัติ มันต้องทำความจริงของเราขึ้นมาไง อย่างเช่น เราอยากอิ่มหนำสำราญ แต่เราไม่ได้ดื่มกินอะไรเลย มันจะอิ่มหนำสำราญได้อย่างไร ได้แต่กลืนน้ำลาย เห็นเขากินก็เอื๊อก เอื๊อกไปกับเขา แล้วคิดว่าจะอิ่ม อิ่มหนำสำราญ มันไม่อิ่มหนำสำราญหรอก มันต้องกินเองดื่มเอง เวลาผ่านปากเข้าไปกระเพาะอาหารจนมันอิ่มเต็ม มันถึงจะอิ่ม
นี่ก็เหมือนกัน ในการประพฤติปฏิบัติมันต้องเป็นความจริงของเราขึ้นมา เราไม่ใช่อ้อนวอนเอา ไม่ใช่นึกเอา ถ้าไม่ใช่อ้อนวอนเอา ไม่ใช่นึกเอา ศีล สมาธิ ปัญญา ศีลจริงๆ มันจะเกิดขึ้น อธิศีล ถ้าศีลจริงๆ อธิศีล คำว่า “ศีล ๘” ถือศีล ๘ ไม่ได้ ทำงานไม่สะดวก ถือศีล ๕ พอถือศีล ๕ เราทำสมาธิถึงสูงสุดได้หรือไม่ แล้วถ้าฝึกหนักจริงๆ แล้วมันจะเข้าถึงฌานได้ชำนาญหรือไม่
ถ้าฝึกหนักจริงๆ มันชำนาญ มันชำนาญได้ ถ้าฝึกหนักจริงๆ แล้วมันจะระมัดระวัง ระมัดระวังเหมือนพระเราไง พระเราเวลาประพฤติปฏิบัติเขาจะหลีกเร้น เขาจะอยู่เงียบสงัดของเขา เพราะเขาไม่อยากให้กระทบกระเทือนจิตใจเขา ถ้ากระทบกระเทือนจิตใจแล้วมันออกเลย พอมันออกรับรู้สิ่งใดแล้วมันจะฝังใจ เขาไม่ให้กระทบกระเทือนจิตใจเขา ถ้าไม่กระทบกระเทือนจิตใจเขา เขาหลีกเร้น นั่นเขาผิดศีลอะไร เขาไม่ผิดศีลอะไรเลย เขาอยู่สมบูรณ์ สมบูรณ์ของเขา
ฉะนั้น คำว่า “ศีล ๕ ศีล ๘” มันเถียงกันไม่มีวันจบหรอก เพราะทางโลก เห็นไหม บอกถือศีล ๕ ลำบากมาก ถือศีล ๕ นี้ยากมาก ถือศีล ๕ ทำธุรกิจการค้าไม่ได้
ได้หมดเลยถ้าเราไม่โกหก เราไม่ได้โกหกเขา เรามีต้นทุนเท่าไร เราจะบวกค่าตัวเรา บวกกำไรของเราเข้าไป เราต้องการกำไรเท่านี้ เราก็บอกเท่านี้ มันจะไปผิดศีลตรงไหน ยิ่งธรรมา-ภิบาลทำมาด้วยความจริงใจนะ โอ๋ย! ค้าขายมีคนเชื่อถือมีเครดิตอีกต่างหาก เวลาทำการค้าเขาบอกให้มีความสัตย์ เวลามีความสัตย์ มีความซื่อสัตย์ทำการค้ากันมันจะเจริญ มันจะไว้วางใจกัน แล้วมันทำการค้ากันได้นมนาน
เวลาซื่อสัตย์มันก็มีศีลไง ศีลบอกว่าเจตนา ถ้าเจตนามันสมบูรณ์แล้วมันก็เป็นศีล แต่นี้บอกว่าศีล ๘ ศีล ๑๐ พอศีล ๘ ปั๊บ ห้ามฟังเสียงฟ้อนรำ ห้ามฟังเสียงเพลง แล้วห้ามฟังเสียงเพลง
เราบิณฑบาตกับพระประจำ เวลาไป เสียงตามสายมันเปิดเพลง เสียงตามสายตอนเช้ามันเปิดเพลงนะ แล้วพระไปบิณฑบาต เวลาได้ยินเสียงเพลง พระเป็นอาบัติไหม เราบอกว่า มันไม่เป็นหรอก มันเป็นเสียงตามสาย มันเพลงอยู่แล้วล่ะ อย่างนี้ศีลขาดไหม เราได้ยินเสียง บิณฑบาต เสียงเพลงเขาเปิดเพลงลั่นเลย ศีลขาดไหม ไม่ เพราะเราไม่ได้เปิด มันเป็นเสียงที่เขาเปิด
นี่ไงเราจะบอกว่าเวลาศีล ๘ ห้ามนอนที่สูงต่ำ ท่านต้องการไม่ให้เราติดสุข เราสุขเราสบายเกินไป ให้นอนกับพื้น ห้ามนอนบนฟูก ศีล ๘ ห้ามดูการละเล่น ดูการฟ้อนรำ ห้ามร้องเพลง ทีนี้พอห้ามร้องเพลง ห้ามฟังเสียงเพลง อ้าว! เสียงเพลงมาทำอย่างไรล่ะ เสียงเพลงมา โอ้โฮ! ตายแล้วศีลขาด ไม่ขาด เพราะเราไม่ได้เปิด มันมาตามสาย
นี่ไง พูดถึงศีล ๕ ศีล ๘ เถียงกันไม่มีวันจบวันสิ้น เถียงกันไม่จบไม่สิ้นเพราะอะไร เพราะเราวิตกกังวล เราไปวิตกกังวลที่ข้อห้าม เราไม่ได้ดูใจเรา ถ้าเรามาดูที่ใจของเรา ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ จริง พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้อย่างนั้นจริงๆ ศีล ๕ ก็เป็นศีล ๕ จริงๆ ศีล ๘ ก็ศีล ๘ จริงๆ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ก็เป็นศีลจริงๆ เป็นกฎระเบียบข้อห้ามจริงๆ
แต่เราไม่มีเจตนา เราไม่ได้ทำผิด เราไม่มีเจตนาทำผิด มันเป็นสภาวะแวดล้อมที่มันมีของมันอยู่อย่างนั้น เราอยู่ในเหตุการณ์นั้น แต่เราไม่ได้ทำอะไรเลย แล้วมีผลกระทบขึ้นมา ศีลไม่ขาด ศีลไม่ขาดหรอก
ถ้าศีลขาด นี่ไง พอพูดว่าถือศีล ๕ ศีล ๘ แล้วอยู่กับโลก อยู่ลำบงลำบาก ถ้าคนถือจนเป็นนิสัย ถือจนเป็นความเคยชิน เป็นเรื่องธรรมดานะ จบเลย เราก็มีของเรา คนอื่นเขาไม่ได้ถือศีลของเขา เขาไม่ได้ถือข้อนี้ เขาจะทำตามสิทธิ์ของเขา เป็นสิทธิ์ของเขา เราทำของเราไง เราทำของเรา ทีนี้พอทำของเราไป มันเหมือนกับว่าเราเป็นคนแปลกแยก มีทำอยู่คนเดียว คนอื่นเขาไม่ทำเลย เออ! ทำอยู่คนเดียว
อ้าว! เวลาจะเป็นพระอรหันต์เขาไปคนเดียว ไม่ใช่เป็นพระอรหันต์ โอ้โฮ! ไปกันเป็นพวงเลย ไม่ใช่ เขาไปคนเดียว
เราก็ทำของเราคนเดียว เราทำคนเดียวด้วยความมั่นใจด้วย ทำของเราคนเดียวด้วยหัวใจของเรา เราเห็นจริงตามนั้น เราเชื่อด้วยความบริสุทธิ์ใจว่าอย่างนั้น เราทำของเรา แล้วไม่ต้องไปคิดวิตกกังวลกับเรื่องของคนอื่น ถ้าไม่วิตกกังวลเรื่องคนอื่นนะ เราถือศีลได้
แต่นี่พอถือศีลขึ้นมาแล้ว เขาไม่ถามก็แอ็คบอกเขา ฉันถือศีล ๘ นะ อวดเขาไปทั่ว พออวดไปทั่วปั๊บ เขาก็ว่าศีล ๘ คืออะไร ศีล ๘ ข้อไหน เถียงกันเรื่องข้อห้าม พอเถียงกันเรื่องข้อห้ามไม่จบนะ ยังเถียงว่าเราทำผิดอีกนะ ก็เลยกลายเป็นว่าถือศีลเพื่อความเรียบง่าย ถือศีลเพื่อทำสมาธิ ถือศีลเพื่อการประพฤติปฏิบัติ มันเลยกลายเป็นถือศีลเพื่อการให้คนอื่นยอมรับ ถือศีลเพื่อให้คนอื่นยกย่องบูชา เป้าหมายมันผิดไปแล้ว
ถ้าเป้าหมายมันถูกนะ ในสมัยพุทธกาล มีพระไปหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บอกว่า “อู้ฮู! ศีล ๒๒๗ ไม่ไหว สึกดีกว่า” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถามว่า “ถ้าศีลข้อเดียวทำได้ไหม” “ได้” ถ้าศีลข้อเดียวทำได้ ดังนั้นให้ถือศีลข้อเดียว แล้วเลยไม่สึกไง
ถือศีลข้อเดียวคือถือที่หัวใจ ถือที่ความคิดเรานี้ เราไม่มีเจตนาทำผิด เราไม่มีเจตนาทำทุจริต เราไม่มีเจตนา เราเป็นคนมุ่งดี หวังดีทั้งนั้นน่ะ ถือศีลข้อเดียว สบายใจ อยู่ได้จนถึงที่สุดแห่งทุกข์ไง
ทีแรกจะสึกนะ จะสึกเพราะศีลมันเยอะ อู๋ย! ลำบากไปหมดเลย ยุ่งไปหมดเลย ไปขอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะสึก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถามว่า “ทำไมถึงจะสึกล่ะ” “โอ๋ย! มันวุ่นวายไปหมดเลย ศีลร้อยแปดเลย”
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถามเองว่า “ถ้าข้อเดียวอยู่ได้ไหม” “ได้ แล้วข้อเดียวคืออะไรล่ะ” “คือรักษาเจตนาของเรา เจตนาไม่ทำความผิดทั้งนั้น เจตนาไม่ทำความชั่วทั้งหมด ให้เจตนามุ่งดีอย่างเดียวเลย ศีลข้อเดียว”
นี่พูดถึงเรื่องของการถือศีลก่อน ถ้าถือศีลแล้ว เราถือศีลของเรา เราถือศีลหมายความว่าเราไม่เบียดเบียนใคร เราไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนใครทั้งสิ้น แล้วมันมีหน้าที่การงาน เราก็ทำของเราเพื่อดำรงชีพ ดำรงชีพเสร็จแล้ว เวลาเสร็จจากหน้าที่การงานแล้ว เราจะพยายามประพฤติปฏิบัติ เราจะพยายามภาวนาของเรา
ทางของคฤหัสถ์เป็นทางคับแคบ เราต้องมีหน้าที่การงานของเรา ทำหน้าที่การงานของเรา เสร็จจากงานแล้วเราถึงมีเวลาจะมาประพฤติปฏิบัติใช่ไหม
ทางของนักพรต ทางของนักบวช ทางของภิกษุเป็นทางกว้างขวาง ๒๔ ชั่วโมงไปแล้ว ๒๔ ชั่วโมงนะ พระอยู่กับเรา ๒๔ ชั่วโมง ฉันเสร็จแล้วไปแล้ว ๒๔ ชั่วโมง ทุกวินาที ปฏิบัติทุกวินาที เว้นไว้แต่คนที่อยู่เวร คนที่มีข้อวัตร แต่ผู้ที่ ๒๔ ชั่วโมง ถ้าอดอาหาร ๒๔ ชั่วโมงเลย มีเวลา ๒๔ ชั่วโมง นี่ทางกว้างขวาง
ทางของสมณะเป็นทางที่กว้างขวาง ทางของคฤหัสถ์เป็นทางที่คับแคบ ทางของเราคับแคบอยู่แล้ว เราก็พยายามหาทางของเรา ทำหน้าที่การงานเราก็ทำด้วย เกิดมาเป็นคน เกิดมาต้องหาปัจจัยเครื่องอาศัย ต้องมีชีวิต เราก็ทำหน้าที่การงานมาเพื่อปัจจัยดำรงชีวิต ดำรงชีวิตเสร็จแล้วเราจะมาประพฤติ จะทำคุณงามความดีของเรา ถ้าทำคุณงามความดี ถึงเวลาทำหน้าที่การงานเสร็จแล้ว เราก็จะภาวนาของเรา หาคุณความดีของเรา
ถ้าคุณงามความดีของเรา เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา แล้วเราได้ประโยชน์กับเรา ไม่ต้องไปวิตกกังวล ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ศีล ๕ โยมถามว่า “เขาถือศีล ๕ ถ้าทำหนักๆ แล้วจะเข้าฌานด้วยความชำนาญได้ไหม” มันยิ่งกว่าได้ ยิ่งกว่าได้ ยิ่งกว่าได้เพราะอะไร เพราะนางวิสาขาเป็นพระโสดาบัน พระเจ้าสุทโธทนะเป็นพระอรหันต์
นี่ไง ในสมัยปัจจุบันนี้คนที่ประพฤติปฏิบัติมีคุณธรรม มี แต่นี้เพียงแต่พอมีขึ้นมาแล้ว คนเรามันจะส่งต่อกันโดยความผิดพลาด ความผิดพลาดคือมุมมอง แล้วก็ส่งต่อๆ กันมา ในแนวทางปฏิบัติจะส่งต่อกันมาด้วยความผิดๆ ทั้งนั้น ผิดๆ คือความเห็นผิด ถ้ามันเป็นความเห็นถูก มันจะไปขัดแย้งกันได้อย่างไร ความเห็นถูก ส่งต่อกันด้วยความเห็นผิดๆ ไง
ถ้าส่งต่อด้วยความเห็นถูก ศีลก็คือศีล ศีล สมาธิ ปัญญา ศีลก็คือศีล คือความปกติของใจ ศีลก็คือหัวใจของเรา แล้วถ้ามันประพฤติปฏิบัติ ถ้าจริงๆ แล้วจะเข้าฌานสมาบัติได้ไหม ได้ ยิ่งกว่าได้อีก เพราะอะไร
เพราะดูสิ พวกไสยศาสตร์ พวกไสยศาสตร์พวกที่เขาทำเครื่องรางของขลังต่างๆ นั่นเขาใช้อะไร พวกทำคุณไสยยิ่งไปใหญ่เลย พวกมนต์ดำ มนต์ดำเขาต้องทำสมาธิเหมือนกัน นั่นน่ะเขาทุศีลเลยนะ เพราะอะไร
เพราะทำไสยศาสตร์ เขาทำเสน่ห์ยาแฝด ทำให้ครอบครัวแตกแยก เขาทำผิดทั้งนั้นเลย เขาทำทุจริตทั้งนั้นเลย ถ้าเขาทำ เขาต้องทำสมาธิเหมือนกัน ทำไมเขาเข้าสมาธิได้ล่ะ แล้วเรานี่ด้วยความบริสุทธิ์ใจ เราทำคุณงามความดีของเรา เราตั้งใจของเรา
“ศีล ๕ ถ้าทำชำนาญแล้วจะเข้าฌานสมาบัติได้ชำนาญไหม”
ได้ ได้ ได้ที่ไหน ได้ที่คุณสมบัติ ได้ที่คนทำได้ ได้ที่คนทำเป็น แต่ถ้ามันทำไม่ได้ เราพุทโธจะเป็นจะตาย เราพุทโธไม่เข้าสมาธิสักที ไอ้นี่ไม่ได้ ไม่ได้เพราะคุณสมบัติทำผิด คุณสมบัติของเราทำไม่ได้ แต่มันไม่ใช่ว่าที่ศีลอันนั้น ศีลอันนั้นมันเป็นศีลอันนั้น เวลาศีลเขาตรวจสอบกัน
เราพูดบ่อยมาก พระกรรมฐานเขาจะเคร่งครัดเรื่องศีลมาก เพราะเรื่องศีลเพราะมันเป็นความลับไง เป็นความลับ เป็นที่เปิดเผย เป็นที่ลับที่เปิดเผย ที่ความลับคือหัวใจของเรา ถ้าหัวใจของเรา เราทำสิ่งใด เราเป็นคนทำใช่ไหม พอเราทำเสร็จแล้วในที่ลับ แต่มันไม่ลับน่ะสิ ความลับไม่มีในโลก เรารู้เอง พอรู้เองมันก็วิตกกังวล นิวรณธรรมก็เกิด พอเกิดแล้วมันก็กางกั้นสมาธิ เห็นไหม
ฉะนั้น เวลาเราจะทำสมาธิ เราจะประพฤติปฏิบัติ ถ้ามีอะไรลังเลสงสัย ปลงอาบัติ ปลงอาบัติ ปลงอาบัติ เราพยายามจะปลงอาบัติเพื่อแก้ความลังเลสงสัย เขาตรวจสอบศีลกันตรงนี้ไง เพราะคำว่า “ให้ตรวจสอบ” ตรวจสอบเพราะมันเกิดความลังเล เกิดความสงสัย เกิดความวิตกกังวลในใจ ปฏิบัติแล้วมันติดขัด ถ้าติดขัดเขาต้องตรวจสอบ มีอะไรผิดพลาดไหม
ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดเลยจะไปปลงอาบัติ ไอ้นี่ก็เป็นอาบัติเข้าไปอีก เพราะอะไร เพราะเราไม่ได้ผิด ไปประกาศว่าผิด มันยิ่งยุ่งไปใหญ่ เออ! เราไม่ทำอะไรผิดเลย เที่ยวประจานเลย ฉันผิด ฉันผิด มันก็ไม่ใช่ เห็นไหม
มันต้องถูกต้องชอบธรรม ถ้าถูกต้องชอบธรรม นี้เขาถามว่า คำถามไงว่าถ้าพูดถึงว่า “เขาถือศีล ๕ ถ้าทำด้วยความจริงจัง จะเข้าฌานสมาบัติได้ไหม” ได้ ไม่ต้องห่วง ได้ ทำของเราได้
ฉะนั้น “ข้อ ๒. ถ้าเข้าสมาธิได้ ถือศีล ๕ จะบรรลุธรรมได้ไหมครับ”
ได้ เพราะคำว่า “ศีล สมาธิ ปัญญา” เวลามันจะบรรลุธรรม มันบรรลุธรรมด้วยปัญญา แต่ปัญญานี่มันต้องมีศีล ต้องมีสมาธิเป็นฐานรองรับ ถ้าไม่มีศีล ไม่มีสมาธิเป็นฐานรองรับ ปัญญาอย่างนี้ เห็นไหม ปัญญาที่เป็นสมาธิ เขาเรียกโลกียปัญญา คือปัญญาคิดเอาเองไง ปัญญาคิดเอาเอง
แต่ถ้าเวลาประพฤติปฏิบัติเข้าไป เรามีศีลใช่ไหม ความปกติของใจ พอจนทำเป็นสมาธิได้ พอทำสมาธิได้มันเกิดเจ้าของงาน คือมันเกิดบนจิต จิตนี้เป็นเจ้าของผู้กระทำ จิตนี้เป็นเจ้าของผู้กระทำ จิตนี้ เห็นไหม เวลาเกิดมรรคเกิดผล มันเกิดบนจิตนี้ไง ถ้ามันเกิดบนนี้ นี่มันถึงบรรลุธรรมได้ไง ที่บรรลุธรรมได้ บรรลุธรรมด้วยการประพฤติปฏิบัติของเราไง
แต่ถ้ามันไม่มีสมาธิใช่ไหม ไม่มีสมาธิก็ไม่มีเรา ไม่มีสถานที่ ไม่มีที่ทำงาน มันก็เลื่อนลอย มันก็เป็นปัญญาบนอากาศ ปัญญาที่ไม่มีเจ้าของ ไม่ใช่ปัญญาของเรา แล้วใครจะบรรลุธรรมล่ะ บรรลุธรรมใครเป็นคนบรรลุธรรม จิตเราเป็นคนบรรลุธรรมนะ บรรลุธรรมใครเป็นคนบรรลุ ก็เราเป็นคนบรรลุ แล้วเราอยู่ไหนล่ะ เราก็ไม่รู้ เขาเรียกว่าอะไร มันเกิดมันดับ มันเป็นรูปเป็นนาม แล้วมันอยู่ไหนล่ะ ก็มันเป็นรูปเป็นนาม มันเกิดมันดับ แล้วมันอยู่ไหนล่ะ ก็มันเกิดมันดับ
แต่ถ้าคนเป็นนะ สมาธิคือเรา จิตที่มั่นคงนี่คือสมาธิ แล้วพอเวลาสมาธิแล้วเกิดปัญญาขึ้นมา ภาวนามยปัญญาเกิดจากจิตนี้ จิตนี้เป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ จิตนี้เป็นผู้สำรอก จิตนี้เป็นผู้จางคลาย จิตนี้เป็นผู้สำรอก จิตนี้เป็นผู้ถอดถอน จิตนี้เป็นผู้สำรอก จิตนี้เป็นผู้สมุจเฉทปหาน บรรลุธรรม บรรลุธรรมได้ ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เพราะว่าถ้าทำได้มันต้องทำได้หมดล่ะ แต่นี้สิ่งที่มันทำได้ ทำได้โดยข้อเท็จจริง
ถ้าทำไม่ได้ ทำไม่ได้คือทำแล้วมันผิดพลาด ไม่มัชฌิมาปฏิปทาไง มันลงไปสองส่วน ส่วนหนึ่งอัตตกิลมถานุโยค กาม-สุขัลลิกานุโยค ทางสองส่วนที่เธอไม่ควรเสพ ไม่ควรพาดพิง ถ้าพาดพิงไปสองส่วน แล้วถ้ามันมัชฌิมาปฏิปทาความสมดุลของมัน นี้ความสมดุลของมัน มันก็อยู่ที่การฝึกหัดฝึกฝนไง เพราะเริ่มต้นทุกคนมันก็มีต้องพาดพิงไปทางสองส่วนนี้ก่อน สองส่วนเพราะว่ามันไปสุดโต่งไง สุดโต่งทางผิด และสุดโต่งทางที่ว่าจะไปทางถูก แต่มันไม่ถูก มันสุดโต่งไปทั้งสองข้าง มันไม่พอดีกับความเป็นจริงไง ถ้าพอดีความเป็นจริง ผลัวะ! บรรลุธรรม
ฉะนั้น ว่า “มันจะบรรลุธรรมได้ไหม” ได้ ได้
ฉะนั้น เขาบอกว่า “มันจะถือศีล ๕ ศีล ๘ มันจะได้หรือไม่ได้” ถ้ามันวิตกกังวล ถือเจตนาเลย ถือศีลข้อเดียวเลย
ถาม : เรื่อง “จิตแย่ลงกว่าเดิม ความโกรธเกิดเยอะขึ้น”
กราบนมัสการหลวงพ่อที่เคารพอย่างยิ่ง หนูได้มีโอกาสไปปฏิบัติที่วัดหลายครั้งแล้ว ช่วงที่อยู่วัดรู้สึกว่าตัวเองมีความมุ่งมั่นและตั้งใจจิตใจสบายสงบดี แต่เมื่อกลับมาอยู่บ้านเหมือนตัวเองเป็นคนไม่ดีเลย ขี้โมโห และตั้งใจจะปฏิบัติที่บ้าน แต่ทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง รู้สึกอยากกลับไปอยู่วัดอีก
อย่างนี้เรียกว่าหนูหนีหรือเปล่าคะ หนูไม่ชอบความไม่ดีของตัวเองเลย ถ้าหนูไปอยู่วัดนาน แล้วกลับมาอยู่บ้าน จะสู้ความไม่ดีของตัวเองได้อีกไหมคะ กราบถามหลวงพ่อ
ตอบ : มันขำ มันขำที่ว่าเขาทุกข์เขายากแล้วก็ถามเราเรื่อยเลย เราไม่ได้ทุกข์ไม่ได้ยากอะไรกับเขาเลย กูไม่รู้เลย เออ! มึงไปทุกข์เรื่องอะไรกัน แล้วมึงต้องมาถามอยู่นี่ ถ้ามาปฏิบัติ เวลามาอยู่วัดมันดีขึ้น
ไอ้นี่มันก็เป็นวัด เวลาสร้างวัดสร้างวากัน เห็นไหม สมณะจตุรทิศที่ไม่ได้มา ขอให้มา ที่มาแล้วขอให้อยู่สุขสบาย อยู่ให้สุขอยู่สบาย เพราะอาวาสเป็นที่อยู่ของผู้ที่ไม่มีบ้านมีเรือน เป็นผู้ที่ไม่ครองเรือน ผู้ที่ไม่มีเรือนอยู่คนละอารามิก ไปอยู่วัดอยู่วา วัดนี้เป็นที่สาธารณะ มันเป็นที่อยู่ของผู้ที่ทรงศีล ผู้ที่อยากจะความสงบระงับ มันเป็นที่อยู่ของผู้ที่พยายามรื้อค้นหาตัวเองไง เพื่อความดีความชอบของตัวเอง
อันนั้นไปอยู่วัดแล้วเห็นความไม่ดีของตัวเอง มันก็ดี แต่เวลากลับไปอยู่บ้านแล้ว กลับไปอยู่บ้าน ความดีมันท่วมท้นๆ เพราะอะไร เพราะมันไปนอนจมอยู่ใกล้ชิดกับสิ่งที่กิเลสมันชอบไง ไปอยู่บ้านอยู่เรือน อยู่บ้าน บ้านของเราทำอะไรก็ได้ ถ้าอยู่บ้านของเราแล้วเราจะสรวลเสเฮฮา จะทำอย่างไรก็ได้ แล้วถ้าไปอยู่บ้านแล้วถ้ามีสติปัญญา มันบอกว่า “เห็นแต่ความไม่ดีของตัว ความไม่ดีของตัว”
เห็นความไม่ดีของตัวก็วางสิ เห็นความไม่ดีของตัวเราต้องสู้กับมันสิ นักปฏิบัติเขาสู้กับกิเลสไง นักปฏิบัติเขาสู้กับความไม่ดีนั่นแหละ ความไม่ดี ถ้ามันยังสู้ไม่ได้ ทำสมาธิก็คือการวาง ทำสมาธิมันปล่อยวางทั้งหมดมันถึงเป็นสมาธิได้ ความปล่อยสมาธิก็ปล่อยความไม่ดีนั่นแหละ ปล่อยความไม่ดี ปล่อยความยึดมั่นถือมั่นขึ้นมา มันก็เป็นสมาธิ ถ้าเป็นสมาธิแล้วเกิดปัญญาขึ้นมามันชำระล้างให้มันขาดไปเลย
แต่ถ้ามันยังไม่มีสติปัญญา มันก็เห็นความดีของตัว ความไม่ดีของตัว เห็นความดีของตัว เห็นความดี ความดีก็คือการประพฤติปฏิบัติ ความดีก็อยากไปอยู่วัด ถ้าอยู่บ้านมันไม่ดี แสดงว่าวัดนี้เป็นที่ดีอยู่หมดเลย เหมือนกัน เขาบอกว่าถ้าวัดเป็นที่ดีอยู่หมดเลย คนที่บวชพระต้องเป็นพระดีหมดเลย ดูพระ ๓ - ๔ แสนองค์สิ ในหมู่ชนมันมีดีและชั่วปนกัน ทุกที่ ทุกสถานที่
นี่ก็เหมือนกัน ในหัวใจของเราก็เหมือนกัน มันมีความดี ความไม่ดีปนกัน ถ้าความไม่ดีปนกัน สิ่งที่มันไม่ดี เรามีสติปัญญา เราก็พยายามแยกแยะมันไง พยายามแยกแยะมัน ความที่จะมีปัญญาแยกแยะ ความดีที่จะต่อสู้สิ่งนี้มันเกิดจากปัญญาของเราไง ถ้าปัญญามันแยกแยะ มันทำได้ นั่นน่ะ นั่นคือมรรค
มรรคคืออะไร ความเพียรชอบ ความเพียรอะไร ความเพียรคือความคิด ความเพียรคือพุทโธ ให้มันเกิดสมาธิ คือความเพียร ความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ มันเป็นกิริยา ความคิดความนึกนั่นน่ะใจมันทำงาน ใจมันทำงาน นั่นน่ะคือความเพียร ถ้าใจมันทำงาน ใจมันหมุนเวียน หมุนเข้าไปในมรรค หมุนเข้าไปในศีล หมุนเข้าไปในสมาธิ หมุนเข้าไปในปัญญา ถ้าหมุนเข้าไปมันก็เห็นความผิดความถูก เห็นไหม มันก็แยกแยะไปเวลาทำงานไง
เวลาคน คนเหมือนกัน เวลาคนเราสำนึกได้นะ โอ้โฮ! ทำไมเราผิดมากขนาดนี้ สำนึกได้ ถ้าสำนึกไม่ได้มันว่ามันถูกต้องอยู่ นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราจะแก้ไขกิเลส พอไปเห็นความไม่ดีของตัว พอไปเห็น มันก็เอ้อ! ทำไมเราไม่ดีขนาดนี้ ก็ไม่ดีเราถึงจะมาละมันไง ก็เราจะมาละสิ่งที่ไม่ดี สิ่งที่ไม่ดีในตัวเรา เราจะมาละ เราจะมาปล่อยวาง เราจะมาถากถางมัน
แต่เราไม่รู้ไม่เห็นจะไปละอะไรล่ะ ถ้าเรารู้ เราเห็น เราจับมันได้ จับมันได้ยังละมันไม่ได้เลย ทุกคนบอกว่าเราไม่ดี ไม่ดี แต่ละไม่ได้ ไม่ดีแต่ชอบ ชอบทำอย่างนี้ เออ! ไม่ดีก็ต้องให้ถูกใจ ถ้าจับได้ มันแยกแยะได้ มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้ามันไม่ดี ไม่ดีเราก็ปล่อยวางมันไป
ทีนี้มันไม่เป็นอย่างนั้นน่ะสิ บอก “หนูต้องไปอยู่วัดนานๆ ไปอยู่วัด”
ถ้ามาอยู่วัดได้นะ คนที่มาอยู่วัด หมายความว่า คนที่ไม่มีหน้าที่ในทางรับผิดชอบทางโลก สิ่งที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ถ้าอยู่ในบ้าน ในครอบครัว เรามีหน้าที่รับผิดชอบ แล้วเราจะมาอยู่วัด สิ่งที่คนที่ทำงานร่วมกันเขาจะหาว่าเอารัดเอาเปรียบ แต่ถ้าเราได้ทำหน้าที่การงานเราจบแล้ว เสร็จแล้ว จะมาอยู่วัด เราเห็นด้วย โอเค คนที่ทำทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยแล้วจะมาอยู่วัดก็ได้ เพราะอะไร เพราะเราไม่ไปเบียดเบียนคนอื่นไง ถ้าจะมาอยู่วัด อยู่วัดนะ ไม่ต้องเสียค่าเช่า อยู่วัดไม่ต้องเสียอะไร มาอยู่ได้เลย
ทีนี้เพียงแต่ว่า เราจะบอกว่า เฮ้ย นี่ต้องมาอยู่วัด ไอ้นี่ต้องมาอยู่วัด มันก็เหมือนกับว่าเห็นแก่ตัวใช่ไหม คนก็จะมองว่าเห็นแก่ตัว หน้าที่รับผิดชอบไม่รับผิดชอบ รับผิดชอบเสร็จแล้วก็มาอยู่วัด แต่ถ้าเราจะปฏิบัติของเรานะ บ้านนะ ถ้ามาอยู่วัดนะ ใครมีบ้านแล้วมาอยู่วัด พอเดี๋ยวโทรศัพท์มาแล้ว บ้านโดนงัด ประตูหาย มันมีทรัพย์สมบัติมันต้องเฝ้า มีทรัพย์สมบัติมันต้องดูแล มันยุ่งไปหมดน่ะ นี่ไง มันเป็นภาระรับผิดชอบทั้งนั้น เราจะทำอย่างไร
นี่พูดถึง เขาบอกว่า “ถ้าไปอยู่วัด หนูหนีหรือเปล่าคะ หนีความไม่ดีของตัวเอง”
ความไม่ดีมันอยู่ที่ใจนั่นน่ะ เรารักษา เราดูแลของเรา เราพิจารณาของเรา ทำของเราให้มันถูกต้อง ที่เราจะมาละ เราก็มาละสิ่งที่ไม่ดีนี่แหละ มันต้องค่อยๆ แบบว่ามันจะพัฒนา จิตมันพัฒนาขึ้น มันจะวางได้ คิดได้ เพราะอะไร มรรคหยาบ มรรคละเอียดไง หน้าที่ของฆราวาสก็อย่างหนึ่ง หน้าที่ของพระก็อย่างหนึ่ง
เวลาครูบาอาจารย์ของเรา เวลาปฏิบัติเข้าไปเป็นมหาสติ มหาปัญญาขึ้นมา อยู่กับใครไม่ได้เลย นั่นอีกเรื่องหนึ่งนะ เวลาโอ้โฮ! มันเร็วกว่านี้ จิตเวลามันแบบว่ามันใสหมด แล้วมันกระทบอะไรไม่ได้เลย แล้วมันต้องดูแลให้ดี โอ้โฮย! เวลาครูบาอาจารย์มันจะพัฒนาขึ้นไป ไม่ใช่ว่าเรามีความคิดอย่างนี้ เราก็จะอยู่อย่างนี้จนเป็นพระอรหันต์ไปเลย มันจะเป็นไปได้อย่างไร มันไม่มีมรรค มันไม่พัฒนา มันก็ต้องดีขึ้นเรื่อยๆ พอดีขึ้นเรื่อยๆ มันก็วางขึ้นไปเรื่อยๆ วางทางโลกมา มันจะเข้าสู่ทางธรรมๆ
ไอ้นี่กลับไปคิดใหม่ เขาบอกว่า “โกรธเยอะ ความโกรธเยอะ ความไม่ดีของตัวเองเยอะ”
ค้นหาแล้วแก้ไขของเรา ต้องแก้ไขไป ไม่แก้ไขมันไม่จบหรอก มาถามหลวงพ่อ หลวงพ่อสุขสบายอยู่คนเดียวนะ เอ็งทุกข์อยู่บ้าน ถามแล้วเอ็งยังทุกข์อยู่ หลวงพ่อตอบเสร็จแล้วเอ็งก็ยังทุกข์อยู่นะมึง หลวงพ่อยังไม่ได้ตอบ หลวงพ่อก็พอแล้ว ตอบเสร็จแล้ว เดี๋ยวเราก็เข้าไปภาวนาเราแล้ว เอ็งยังทุกข์อยู่นั่นน่ะ
ฉะนั้น เราต้องทำ แก้ไขที่เรานะ จบ
ถาม : เรื่อง “สงสัยในปริยัติ”
กราบนมัสการหลวงพ่อ มีความสงสัยในด้านปริยัติ ขอเรียนถามดังนี้
๑. ในการพิจารณาจนเกิดการปล่อยวางหนึ่งครั้ง ผมมีความเห็นว่าได้เปรียบเทียบกับด้านปริยัติแล้ว การปล่อยวางแต่ละครั้งก็คือการปล่อยวางวงรอบของปฏิจจสมุปบาทหนึ่งรอบนั่นเอง ดังนั้นความเห็นของผมถูกต้องหรือไม่ครับ
๒. เมื่อเราพิจารณาจนสามารถทำลายอวิชชาลงจนหมด (อกุศลจิต ๑๒ ดวง และเจตสิก ๑๔ ดวงตามหลักปริยัติ)
หลวงพ่อ : อันนี้ไม่รู้นะ อันนี้เขาเขียนมาเอง เราไม่เกี่ยว
ถาม : ผมมีความเห็นว่าผลที่ได้คือตัวผู้รู้หรือจิตเดิมแท้นั่นเอง ดังนั้นความเห็นของผมถูกต้องหรือไม่ครับ
๓. เราพิจารณาตัวรู้และจิตเดิมแท้ จนสามารถทำลายปฏิสนธิจิตลงได้หมดแล้ว (ปฏิสนธิจิต ๑๙ ดวง) ผมมีความเห็นว่าผลที่ได้คือจิตดวงนั้นพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป ดังนั้นความเห็นของผมมีความถูกต้องหรือไม่ครับ ขอหลวงพ่อช่วยอธิบายด้วย
ตอบ : ฉะนั้น เรื่องปริยัติ เรื่องปฏิบัติ เรื่องปริยัติกับปฏิบัตินะ เวลาเรื่องปริยัติ ศึกษา ศึกษาแนวขององค์สมเด็จพระสัมมาสัม-พุทธเจ้า ปริยัติเป็นทฤษฎี สิ่งนี้ธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระ-สัมมาสัมพุทธเจ้า วิธีการปฏิบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัม-พุทธเจ้า เราศึกษามาแล้ว เราพยายามประพฤติปฏิบัติ
เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมามันก็อยู่ที่ความสามารถของคน ความสามารถของคน จริตนิสัยของคน เห็นไหม เพราะพระอรหันต์แตกต่างหลากหลายกันด้วยวิธีการ แตกต่างหลากหลายกันด้วยอำนาจวาสนาบารมี แต่พระอรหันต์จะสิ้นกิเลสได้โดยอรหัตตมรรคเหมือนกันหมด
คำว่า “เหมือนกันหมด” นะ จะเป็นเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ จะมาทางไหนก็แล้วแต่ มรรคเวลามันสมุจเฉทปหานมันจะเป็นอันเดียวกัน แล้วเวลามันแตกแยก แตกแขนงไป แตกแขนงไปด้วยอำนาจวาสนาบารมีแบบเอตทัคคะ ๘๐ องค์ พระอรหันต์มีความชำนาญ ๘๐ วิธีการ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชำนาญทุกๆ วิธีการ ถ้าไม่ชำนาญทุกวิธีการจะตั้งให้เป็นเอตทัคคะ คือไม่มีคุณสมบัติรู้ แล้วจะตั้งคนอื่นให้เป็นอย่างนั้นได้อย่างไร
ชัดเจนมาก อันนี้พูดถึงเวลาสิ้นกิเลสไป ทีนี้เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ในวงกรรมฐานเวลาปฏิบัติเขาจะคุยกันเรื่องปฏิบัติไง
ฉะนั้น เวลาปริยัติเขาศึกษามา ศึกษามาเปรียบเทียบ เวลาเทียบเคียงไง ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ใครปฏิบัติได้ผลมากน้อยขนาดไหน เวลาเทียบเคียงกัน เราสนทนาธรรมกันเพื่อสัจจะเพื่อความจริง แล้วเพื่อเอาความยืนยันก็เทียบเคียงไปในพระไตรปิฎก เทียบเคียงในปริยัติ ถ้าเทียบเคียงปริยัติ ก็เทียบเคียงว่า ในปริยัติก็มีอย่างนี้เหมือนกัน
แล้วถ้าเราปฏิบัติแล้ว คำถามว่า “เขามีความเห็นว่าที่เขาปฏิบัติแล้วมันเหมือนปริยัติ”
มันเหมือนปริยัติมันยังแตกต่าง ในความเห็นเรานะ ในความเห็นของผู้ประพฤติปฏิบัติ เวลาความเห็นของผู้ที่ปฏิบัติ ในความเห็นของผู้ถาม เวลาผู้ถามปฏิบัติอย่างไร มันมีปัญญามากน้อยแค่ไหน มันก็เขียนถามมาด้วยปัญญาของตน คนเรามันมีปัญญา มีความรู้ขนาดไหน เวลาพูดออกไป คนน่ะ เวลาฉลาดพูด พูดออกมา เขาว่าคนนี้ฉลาด เวลาคนที่ไม่ฉลาดพูดออกมา มันพูดออกมาด้วยความไม่ฉลาด
นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราปฏิบัติขึ้นมา ถ้าเรามีสติปัญญา สติปัญญาเรามันแจ่มแจ้ง มันทะลุทะลวงเข้าไป เวลามันพูดไปมันชัดเจน มันชัดเจน จะว่าเหมือนปริยัติ บางทีมันแจ่มแจ้งกว่าปริยัติ ลึกซึ้งกว่าปริยัติ แบบที่หลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นเวลาบาลีท่านเกิด เห็นไหม ท่านบอกว่าท่านเก็บไว้ก่อน มหายังไม่มา ยังไม่บอก เวลามหา มหาคือหลวงตาพระมหาบัว เวลาท่านกลับมา “มหา ใครเป็นมหาตอบเว้ย”
ท่านก็พูดสิ่งที่เป็นธรรมที่ท่านผุดขึ้นมาเป็นบาลี “อ้าว! ใครเป็นมหาตอบ” หลวงตาท่านเงียบ ท่านไม่ตอบ เพราะท่านรู้ถึงว่าหลวงปู่มั่นท่านไม่ได้ตั้งใจให้ท่านตอบ ท่านเก็บไว้ฝากมหา คือท่านเป็นภาษาบาลี แล้วเวลามหามา มหาได้ยินด้วย แล้วท่านจะตอบโชว์มหาไง
ฉะนั้น มหา ท่านเป็นมหาใช่ไหม มันก็ตอบตามทฤษฎีนี่ไง ตามภาคปริยัติไง ท่านเป็นมหาท่านตอบได้ ท่านบอกท่านก็ตอบได้ แต่ท่านไม่ตอบเพราะอะไร ถ้าท่านตอบมันก็ได้แค่ภูมิรู้ของพระมหาบัว แต่ถ้าเวลาให้หลวงปู่มั่นตอบ มันจะได้ภูมิความรู้ของพระอรหันต์ขององค์หลวงปู่มั่นตอบ ท่านก็เลยนิ่งๆ พอหลวงปู่มั่นตอบผลัวะ! ท่านบอก อู้ฮูย! เพราะท่านเป็นมหา ท่านแปลบาลีได้ แปลบาลีมันก็แปลบาลีเป็นภาษาไง
แต่เวลาหลวงปู่มั่นท่านตอบ เห็นไหม ท่านตอบถึงเนื้อหาสาระเลย ตอบถึงการทิ่มแทงเข้าไปในกิเลสเลย ครบทั้งเนื้อหาสาระ ทั้งเหตุทั้งผล ทั้งสัจจะ ทั้งความจริง ท่านบอก โอ้โฮ! มันลึกซึ้งมาก นี่ลึกซึ้งมากเพราะหลวงปู่มั่นท่านเป็นพระอรหันต์
ฉะนั้น เวลาผู้ถาม ผู้ถามบอกว่า “เวลาเราพิจารณาจนปล่อยวางหนึ่งครั้ง ผมถึงเห็นว่าเปรียบเทียบเหมือนภาคปริยัติโดยการวาง คือการทำลายวงรอบของปฏิจจสมุปบาท”
เพราะพูดถึงทำลายวงรอบของปฏิจจสมุปบาท ปฏิจจสมุป-บาทมันลึกซึ้ง ลึกซึ้งเพราะมันจิตเดิมแท้มันถึงเห็นปฏิจจสมุปบาท แต่เวลาเราไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ไอ้นี่มันเห็นอย่างนี้ มันเห็นด้วยที่ว่าจิตมันยึดของมัน เวลามันพิจารณามันปล่อย มันพิจารณา ในกรรมฐานในการปฏิบัติของเรา ถ้าปัญญาอบรมสมาธิ เห็นไหม เราไล่ความคิดไปมันก็ปล่อย ถ้ามันปล่อยนี่เป็นปฏิจจสมุปบาทหรือไม่ มันปล่อยมันก็ปล่อยรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่มันเป็นปฏิจจสมุปบาทหรือยัง
เวลาเขาประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม เวลาหลวงตาท่านไปวัดนรนาถฯ เขาบอกว่าให้ดูปฏิจจสมุปบาท สายยาวของปฏิจจสมุปบาท หลวงตาท่านบอกไม่ดู เพราะความจริงมันไม่เป็นอย่างนี้หรอก ไอ้นี่เป็นทางวิชาการ
ฉะนั้น เหมือนกัน ผู้ถาม ผู้ถามก็เรียนวิชาการมา พอเรียนวิชาการมา พออารมณ์เราเป็นอย่างไร เราก็เทียบตามวิชาการนั้นไง เราเอาอารมณ์ไป เราบีบอารมณ์ของเราให้เป็นปฏิจจสมุปบาท เราบีบอารมณ์เราให้เหมือนปฏิจจสมุปบาท ปฏิจจสมุปบาทเป็นอวิชฺชา ปจฺจยา สงฺขารา เป็นปัจจยาการ เป็นธรรมอันละเอียด เป็นธรรมอันลึกซึ้ง แต่ถ้าเราเห็นกาย เราเห็นกาย เรายึดมั่นถือมั่นในกายของเรา มันเป็นอารมณ์ความรู้สึกหยาบๆ มันแตกต่างกัน นี่ในมุมมองเรานะ เพราะถามเรามา มุมมองเรา
แต่ผู้ถาม ผู้ถามถามว่า “ผมพอปล่อยวางรอบหนึ่ง มันเหมือนกับเรารู้วงรอบของปฏิจจสมุปบาท”
แล้วผู้ตอบก็โง่ๆ ใช่ ใช่เลย ใช่เลยมันตอบแบบกำปั้นทุบดิน มันไม่มีหยาบ ไม่มีละเอียด ไม่มีร่องรอยของนักปฏิบัติ ร่องรอยของนักปฏิบัติ เห็นไหม มันเริ่มต้นตั้งแต่ว่าเราตั้งใจหรือไม่ เราตั้งใจแล้วเรามีศรัทธาหรือไม่ ถ้าเรามีศรัทธา เราเริ่มปฏิบัติ ปฏิบัติถูกหรือไม่ ถ้าปฏิบัติแล้ว ถ้าปฏิบัติไม่ถูกมันก็ไม่เข้าสู่สมาธิ มันก็เป็นมิจฉาไปตลอด
ถ้าปฏิบัติถูกต้องขึ้นมา มันก็เริ่มเข้าสู่สมาธิ พอเป็นสมาธิแล้ว สมาธิตั้งมั่นหรือไม่ ตั้งมั่นหรือไม่ เราใช้สมาธิ เราน้อมไปสู่สติปัฏฐาน ๔ ได้จริงหรือไม่ ถ้าได้จริงขึ้นมามันก็เริ่มจะเข้าสู่การใช้ปัญญา มันเป็นชั้นๆๆ เข้ามา อู้ฮู! มันอีกไกลเลย
แต่ที่เราตอบปัญหามาตลอด เพราะในวงปฏิบัติมันไม่มีใครยืนยันไง ฉะนั้น เวลาเขียนปัญหามาถามเราในเรื่องของการปฏิบัติ เราจะชี้แจงฉับๆๆ เลย เพื่อให้เห็นว่าในการปฏิบัติมันก็มีองค์ความรู้ มันก็มีหลักการ มันไม่มั่วหรอก มันไม่มั่ว มันไม่มั่ว มันไม่สับสนอย่างที่ทำกัน ถ้าในวงปฏิบัติที่เป็นจริงนะ มันมีหลักมีเกณฑ์ของมันไง นี่ที่บอกว่าหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นจะนั่งอยู่หน้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่ถามไง เพราะมันมีหลักการ มันมีความจริงของมัน
นี่ก็เหมือนกัน ในคำถามข้อที่ ๑. ถ้าอย่างนี้ปั๊บ มันก็เป็นว่า โอ้โฮ! เราแค่ปล่อยวางทีเดียว เราจะเห็นปฏิจจสมุปบาทไปเลยหรือ ไอ้นี่เป็นความเห็นของผู้ถาม ยกให้เป็นของผู้ถาม แต่เราบอกว่าถ้าการทำพิจารณาของเรา การปล่อยวางอย่างนั้น มันก็ปล่อยวางอารมณ์เท่านั้น มันยังไม่เห็นสัจจะความจริง
ถ้าเห็นสัจจะความจริงมันจะเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ตามความเป็นจริง มันถึงจะเป็นสติปัฏฐาน ๔ การปล่อยวาง ปล่อยวางอะไร ปล่อยวางครั้งหนึ่งปล่อยวางอะไร ปล่อยวางอะไร แล้วปล่อยวางแล้วได้อะไร แล้วปล่อยวางแล้วเหลืออะไร แล้วใครเป็นคนปล่อยวาง แล้วปล่อยวางมันสำรอกอะไรออกไปบ้าง นี่ข้อที่ ๑.
อันนี้เราตอบเป็นสัจจะนะ เราตอบเป็นข้อเท็จจริง เราไม่ได้ตอบเพื่อกรรมฐาน หรือไม่ได้ตอบเพื่อปริยัติ ไม่ได้ตอบเพื่อการเทียบเคียง ว่าปริยัติคือทฤษฎี ถ้าปฏิบัติไม่ถือหางทั้งปริยัติ ไม่ถือหางทั้งปฏิบัติ ถือหางข้อเท็จจริง ตามความเป็นจริง ฉะนั้น เวลาปฏิบัติแล้ว ในวงปฏิบัติ ปฏิบัติต้องให้มันได้ข้อเท็จจริง ได้ข้อเท็จจริงแล้วมันยั่งยืน มันเป็นอริยสัจ พิสูจน์ตรวจสอบได้ทุกเวลา พิสูจน์ได้ ตรวจสอบได้ แยกแยะได้ มีครูบาอาจารย์เอาขึ้นมาบนโต๊ะแล้ววินิจฉัยกันได้ มันต้องเป็นอย่างนี้มันถึงเป็นข้อเท็จจริง
“๒. เมื่อเราพิจารณาจนสามารถทำลายอวิชชาลงจนหมด (อกุศลจิต ๑๒ ดวง และเจตสิก ๑๔ ดวงตามหลักปริยัติ) ผมมีความเห็นว่า ผลที่ได้คือตัวผู้รู้ และจิตเดิมแท้นั่นเอง ดังนั้นความเห็นของผมถูกต้องหรือไม่ครับ”
“นี่ไง ทำลายอกุศลจิต ทำลายเจตสิก ๑๔ ดวง แล้วมันจะเป็นผู้รู้นั่นเอง แล้วไอ้ ๑๔ ดวง ๑๒ ดวงมันเป็นอาการใช่ไหม เวลาอาการของจิต อาการของจิต แล้วถ้าเป็นผู้รู้เป็นจิตเดิมแท้เสียเองแล้ว ดังนั้นความเห็นของผมถูกต้องหรือไม่”
ไอ้ความเห็นถูกต้องหรือไม่ ถ้าเป็นสมาธิก็เป็นสมาธิ ถ้าทำสมาธินะ เวลาจะทำสมาธิกัน ไอ้กี่ดวง กี่ดวง มันอาการเสวย ถ้ามันนิ่งอยู่ สัมมาสมาธิ แล้วสัมมาสมาธิ แล้วบอกเป็นจิตเดิมแท้ จิตเดิมแท้ จิตเดิมแท้ เวลาเราพูดถึงการปฏิบัติ พูดถึงจิตเดิมแท้ไง จิตเดิมแท้คือสมาธิแท้ๆ แล้วถ้ามันเสวยอารมณ์ มันก็เป็นอารมณ์ทางโลก
ถ้าปล่อยเข้ามา แล้วเขาบอกว่า “เพราะเราทำลายอวิชชาจนหมดสิ้น”
อวิชชาอะไร อวิชชาตรงไหน เรื่องอะไรเป็นอวิชชา อันนี้เป็นความลุ่มหลง มันเป็นโมหะ ความโลภ ความโกรธ ความหลง อวิชชาคือความไม่รู้ในตัวมันเอง มันยังไปอีกไกลไง ไอ้นี่พูดถึงว่าเวลาเขาเทียบเคียงกันเองไง ถ้าเราบอกว่าใช่ขึ้นมา เขาก็บอกว่า อ๋อ! ก็กระผมก็ทำลายหมดแล้วไง ผมก็เป็นพระอรหันต์ไง
โอ! มีคนเอาหนังสือเรามาถาม หนังสือหลวงพ่อถูกหรือผิด ถ้าผมรู้ ผมเข้าใจหนังสือหลวงพ่อหมดแล้ว ถ้าหนังสือถูก ผมก็เป็นพระอรหันต์ บอกว่าหนังสือกูน่ะถูก มึงน่ะไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ไอ้คำถามนี่คล้ายๆ กันเลยนะ นี่ไง ถ้ามันเข้าใจวงรอบอวิชชาหมดแล้ว อกุศลจิต ๑๒ ดวง เจตสิก ๑๔ ดวง มันก็เป็นผู้รู้ เป็นจิตเดิมแท้ทั้งหมด ทำอย่างนี้ถูกต้องหรือไม่ ถ้าบอกถูกต้อง ตูม! ผมก็เป็นพระอรหันต์เลย เพราะผมทำถูกต้องได้หมดแล้ว
ไอ้คำถามก็ส่วนคำถามสิ ถ้ามันทำจริงมันจะเป็นความจริงไปไง ไอ้อย่างนี้มันเป็นความเข้าใจ ความเข้าใจนะ เราจะบอกว่าความเข้าใจขั้นของปัญญาไม่มีขอบเขต พูดตั้งแต่ทีแรกว่าพระอรหันต์ พระอรหันต์เอตทัคคะกี่ประเภท ก็มีความถนัด นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราถนัดอย่างไร เราทำของเราไป แต่ถ้าให้มันบอกว่าไอ้นี่เป็นผลการปฏิบัติ เราบอกไม่ใช่
แต่ถ้าขั้นของปัญญา ขั้นของปัญญา ขั้นของความคิดคน เราจะไม่ปิดกั้น ความคิดมันจะไปได้ทุกอณู มันจะไปได้กว้างขวางมาก ใครจะมีความคิดขนาดไหน ไปได้เลย เต็มที่ไปเลย ถ้าขั้นของปัญญานะ
แต่ถ้าเอ็งความคิดมากขนาดไหนก็แล้วแต่ เอ็งไม่มีสมาธินะ อันนั้นน่ะสมบัติบ้า เอ็งใกล้บ้าแล้ว เพราะคิดไปโดยไม่มีพื้นฐานไง ถ้ามันคิดมีพื้นฐานมันต้องกลับมาที่สัมมาสมาธิ กลับมาที่พื้นฐาน กลับมาให้จิตสงบก่อน แล้วสงบแล้วมันค่อยใช้ปัญญาไปใหม่
แต่ถ้าขั้นของปัญญาไม่มีขอบเขต ไม่มีขอบเขต ใช้ปัญญาได้ตลอดเลย เป็นสิทธิ์เลย จะมีความคิดอย่างไร เชิญตามสบายเลย แต่ถ้าบอกว่าให้เราเห็นด้วย ไม่ แต่ถ้าบอกว่าถ้าไม่เห็นด้วย แล้วบอกทำไมส่งเสริมในการปฏิบัติ ก็การปฏิบัติต้องมีสติ ต้องมีสมาธิ ต้องมีปัญญาสิ ถ้ามีปัญญาขึ้นมา มันถึงจะเข้าสู่มรรคไง
ถ้าขาดสติ เห็นไหม ว่าวเชือกขาด คิดไปโดยที่ไม่มีขอบเขต คิดไปโดยที่ไม่มีใครควบคุม มันก็ว่าวเชือกขาดไง มันสมบัติบ้า หลวงปู่มั่นบอกเลย สมบัติบ้า ถ้าสมบัติของมรรคล่ะ สมบัติมรรคมันก็จะกลับมา
“นี่พูดถึงข้อ ๓. เมื่อเราพิจารณาตัวผู้รู้หรือจิตเดิมแท้จนสามารถทำลายปฏิสนธิจิตลงได้จนหมดสิ้น (ปฏิสนธิจิต ๑๙ ดวง) ผมมีความเห็นว่าผลที่ได้คือจิตดวงนั้นพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด”
แน่ะ ข้อ ๒. บอกถ้ารับว่าใช่ ผมก็เข้าใจแล้ว ผมก็เป็นพระอรหันต์แล้วน่ะสิ ข้อที่ ๓. เห็นไหม “เมื่อเราพิจารณาตัวผู้รู้และตัวจิตเดิมแท้จนสามารถทำลายปฏิสนธิจิตได้ (ปฏิสนธิจิต ๑๙ ดวง) ผมก็มีความเห็นว่าจิตดวงนั้นก็พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด”
มีความเห็น แค่คำพูดว่า “มีความเห็น” ก็ผิดแล้ว คำว่า “มีความเห็น” คือมีความเห็นอย่างหนึ่ง มีความเห็นอย่างหนึ่งนะ เราผู้เห็นอย่างหนึ่ง สองไง แค่พูดแค่นี้มันก็บอกแล้วว่าจิตมันยังมีอาการอยู่ อาการคือการเคลื่อนไหวอยู่ ตัวมันยังไม่ใช่เป็นตัวมันจริงเลย แล้วบอกว่าจิตเดิมแท้ เพราะจิตเห็นว่าถ้าถึงความจริงแล้วปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิจิต
เพราะคำพูดมันเรื่องของการปฏิบัติใช่ไหม เวลาวิญญาณ วิญญาณอายตนะ วิญญาณอายตนะคือวิญญาณรับรู้ในอายตนะ ในความรู้สึก แล้ววิญญาณในปฏิจจสมุปบาท วิญญาณอันละเอียดนั้น ปฏิสนธิวิญญาณ เวลาปฏิสนธิวิญญาณคือวิญญาณเวียนว่ายตายเกิด วิญญาณการรับรู้คือวิญญาณการรับรู้อารมณ์ วิญญาณรับรู้ในเรื่องต่างๆ
เวลาปฏิบัติไป คนที่ปฏิบัติแล้วมันจะมีสติมีปัญญา มันจะเข้าใจของมันได้ ว่าความรู้สึกอย่างนี้มันก็เป็นอารมณ์อันหนึ่ง แต่เวลาทิ้งวางอารมณ์ทั้งหมด แล้วมันทำลายจนมันปล่อยธาตุปล่อยขันธ์ทั้งหมด แล้วมันเข้าไปเห็นการเคลื่อนไปของความรู้สึก แล้วการเคลื่อนไปของความรู้สึก เวลามันเป็นญาณหยั่งรู้ มันไม่ใช่สติปัญญา เป็นขันธ์ มันยังลึกซึ้งอีกมหาศาลเลย
ฉะนั้น มันจะปฏิสนธิจิต เพราะว่าในนักวิชาการเขาจะพูดกันเรื่องอย่างนี้มาก ฉะนั้น เวลาปฏิสนธิจิต เราถึงยืนยันว่าปฏิสนธิวิญญาณกับวิญญาณในขันธ์ ๕ วิญญาณการรับรู้ วิญญาณในสัญชาตญาณ วิญญาณในชีวิตประจำวัน มันคนละเรื่องกันทั้งนั้นเลย
มรรคหยาบ มรรคละเอียด ถ้าครูบาอาจารย์ท่านเป็นนะ พูดคำไหนนะ ฟังออกเลยว่าจิตนี้อยู่ตรงไหน จิตนี้รับรู้เรื่องอะไร จิตนี้เข้าใจอย่างไร ถ้าฟังทีเดียวมันก็รู้ แต่นี้เพียงแต่ว่าผู้ถาม ผู้ถามเขียนมาด้วยประสบการณ์ สงสัย เขาเขียนมาด้วยความสงสัย ไอ้เราก็ตอบไปด้วย จะว่าตอบไปด้วยความสงสัย ไม่ใช่ ตอบไปด้วยให้ไม่ยกตกข่มท่าน ไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยกตนข่มท่าน ข่มขี่กัน ไม่ใช่
มันเป็นประโยชน์ ในภาคปริยัติมันก็เรียนมาเพื่อปฏิบัติ เวลาปฏิบัติแล้วถ้าเอาปริยัติเข้ามา มันก็ปฏิบัติแบบปริยัติ คือปฏิบัติแบบมีกรอบ ปฏิบัติแบบเราต้องไปเป็นสูตรสำเร็จ ปฏิบัติแบบสูตรสำเร็จ ทำครบสูตรแล้วก็จะได้ผล เวลามันปฏิบัติแล้ว มันไม่ได้ปฏิบัติแบบปริยัติ ปฏิบัติแบบมีสูตร มีกรอบ ต้องทำตามนั้น ปฏิบัติมันเปิดกว้างเลย เต็มที่เลย ตามแต่อำนาจวาสนาเลย ทำถึงที่สุดแห่งทุกข์เลย ถ้าจบอย่างนั้นแล้วมันถึงจะเป็นความจริง ถ้าเป็นความจริงอย่างนี้ มันก็เป็นความจริง
ฉะนั้น เขาบอก “ขอความเมตตาหลวงพ่อ ความถูกต้องหรือไม่ประการใด ขอให้หลวงพ่อช่วยเมตตาด้วย”
นี่ไง ความถูกต้องอย่างไร เพราะเราเห็นอย่างนี้ ที่เราเห็นที่เราพูดอธิบายมานี่ เห็นไหม เราเห็นของเราอย่างนี้ เห็นว่าปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ฉะนั้น เวลาเราบอกว่าปริยัติ เรียนมาเท่าไรก็ไม่รู้ เรียนอย่างไรก็ไม่รู้ เพราะเรียนมาแล้วคิดว่าเรียนรู้ไง เขาเรียนมาให้ปฏิบัติ เวลาปฏิบัติแล้วก็ไม่ได้ปฏิบัติแบบสูตรที่เรียนมา ปฏิบัติก็วางไว้ แนวทางเป็นอย่างนี้
แต่เวลาปฏิบัติไปแล้ว มันจะมีข้อเท็จจริง มันจะมีเหลี่ยมมีมุม มันจะมีกิเลสหยาบ กิเลสหนา กิเลสของคนแตกต่างกันไปอีกเยอะแยะเลย แล้วต้องแยกแยะ ต้องมีครูบาอาจารย์ที่เป็นให้อุบายพอดี ให้ยา หมอให้ยา ให้ยาพอดีกับโรค ให้ยาที่ชำระโรคได้ แล้วโรคนั้นก็จะหาย หมอก็ให้ยาไม่เป็น ไอ้โรคก็กำเริบใหญ่เลย ก็เลยเตี้ยอุ้มค่อม
ฉะนั้น เวลาความเห็นเราให้มันชัดเจนไง ปริยัติเขาเรียนมาเพื่อให้ปฏิบัติ เวลาปฏิบัติก็ต้องปฏิบัติตามข้อเท็จจริง ไม่ปฏิบัติตามสูตร คือปฏิบัติแบบที่เรียนปริยัติมา แล้วให้เป็นอย่างนั้น เพราะนั้นเป็นหลักการขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า วิชาการขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ของเราเป็นสาวก สาวกะ แล้วเราทำอะไรให้เป็นสมจริงสมจัง แล้วให้เป็นความจริงของเราขึ้นมา มันก็จะเป็นข้อเท็จจริงของเรา
ถ้าเป็นข้อเท็จจริงของเรา ถึงบอกว่า หลวงพ่อเห็นอย่างไร หลวงพ่อเห็นตามข้อเท็จจริง สิ่งที่ความเห็นของผู้ถาม ผู้ถามก็เห็นในมุมมองของผู้ถาม ฉะนั้น ผู้ถามนี่ เราเคลียร์ให้เป็นปัญหาอย่างนี้ แล้วมันเป็นปัญหาถาม - ตอบ แล้วถ้าใครมีมุมมองอย่างไร มีความรู้อย่างไร แล้วเราปฏิบัติ ให้ปฏิบัติได้ตามความเป็นจริง แล้วอันนั้นจะเป็นการพิสูจน์ เอวัง