ต้องชัดเจน
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๕๙
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “ผลของการภาวนา”
หลวงพ่อ : เขาพูดถึงผลการภาวนานะ แล้วเขาพูดมาเยอะ ยืดเยิ่นเย้อมาก เรื่องผลของภาวนา แล้วเขียนมายาวมาก แล้วก็เคยเขียนมาหลายทีไง
ถาม : กราบนมัสการหลวงพ่อ ศิษย์ได้กราบเรียนเรื่องการภาวนามาแล้ว ๒ ครั้ง โดยท่านอาจารย์ได้เมตตาตอบเรื่อง “นี่คือจิต” และเรื่อง “ธรรมนอกจิต” ครั้งนี้เป็นการกราบเรียนครั้งที่ ๓ เจ้าค่ะ ศิษย์กราบขอเรียนผลของการภาวนาดังนี้
ตอบ : ไม่ไหว อ่านไม่ไหว ๔ - ๕ ใบ ไม่ไหว ฉะนั้น ที่ว่าดังนี้ๆ เป็นความเห็นไง เขาบอกว่ามันก็เป็นว่าวันหนึ่งภาวนาแล้วมันมีผลอย่างนั้นๆ
คำว่า “มีผลอย่างใดก็แล้วแต่” มันเป็นการเวลาภาวนาไปแล้ว หลวงตาท่านบอกว่าให้ฝึกหัดใช้ปัญญา ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา เวลาขั้นของปัญญาไม่มีขอบเขต ขั้นของปัญญาไม่มีขอบเขต แต่ขั้นของปัญญามันเกิดจากอะไร ถ้ามันเกิดจากสมาธิ ถ้าสมาธิมีหลักมีเกณฑ์ สมาธิ ถ้าสมาธิมันไม่มีความเข้มแข็ง มันเกิดปัญญานี่ปัญญาอย่างหยาบๆ ปัญญาอย่างหยาบๆ ขนาดภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการภาวนาแต่เป็นอย่างหยาบๆ มันก็เกิดผลอย่างนี้
เกิดผลที่เรา เห็นไหม เคยตอบไปนะ เรื่อง “นี่คือจิต” เพราะคำว่า “นี่คือจิต” เวลาไปรู้ไปเห็นอะไร จิตมันมหัศจรรย์ แล้วจิตมหัศจรรย์มันไปรู้ไปเห็นสิ่งใด เรารู้ไม่เท่าทันมัน แล้วขณะที่ว่าจิตของเรามันมีกำลังมากน้อยแค่ไหน ถ้าจิตเรามีกำลังมากนะ พอมีกำลังมาก คนมีกำลังมาก เศรษฐีมันมีเงินเยอะแยะ มันจะจับจ่ายใช้สอยได้สบาย คนทุกข์คนจนไม่มีตังค์เลย กู้ยืมเขามาใช้ทั้งนั้น แล้วกู้ยืมมาใช้ต้องทบดอกทบต้น มันเดือดร้อนไปหมด
จิตตั้งมั่นเหมือนเศรษฐี หลวงตาใช้คำว่า “เศรษฐีธรรม” ถ้าเศรษฐีธรรมจิตตั้งมั่นแล้วมันเกิดใช้ปัญญาขึ้นมา ปัญญามันเกิดขึ้นมันมีหลักมีเกณฑ์ มันไม่สงสัยแบบนี้ มันไม่สงสัย แต่เวลาถ้าพูดอย่างนั้นปั๊บ คนปฏิบัติเขาบอกว่า โอ้โฮ! ทำแต่สมาธิ ทำแต่สมาธิ แล้วเมื่อไหร่จะใช้ปัญญา แล้วศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา ทุกคนก็วิตกวิจารณ์ไปหมด เห็นไหม
ฉะนั้น หลวงตาท่านบอกว่าใช้ปัญญาได้เลย ปัญญาใช้ได้ทุกกาล ทุกสถานที่ แต่มันเป็นปัญญาขนาดไหนไง ถ้าเป็นปัญญาที่วิปัสสนา ปัญญารู้แจ้งในกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ถ้าปัญญาเกิดจากภาวนามยปัญญามันปัจจัตตัง มันสันทิฏฐิโก มันมั่นคงยืนยัน เพราะหลวงปู่มั่นกับหลวงตาท่านบอกว่า แม้แต่ท่านนั่งอยู่หน้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านก็จะไม่ถามปัญหาธรรมะเลย เพราะท่านรู้แจ้งเห็นจริงในใจของท่านแล้วไปถามทำไม
คนรู้จริงแล้วจะไปถามเขาอีกไหม ไอ้คนถามคือคนสงสัย ถ้าเรายังไม่แน่ใจ เรายังสงสัยอยู่ เราจะถาม แต่ถ้าคนมันรู้แจ้งรู้จริงแล้วมันไม่ถามหรอก ถ้ารู้แจ้งรู้จริงมันมาจากไหนล่ะ รู้แจ้งรู้จริงก็เกิดจากภาวนามยปัญญา ปัญญาที่รู้แจ้ง
แต่เวลาเราภาวนาไปแล้วเราเกิดปัญญาอย่างที่ถามมานี่ “นี่คือจิต” “ธรรมนอกจิต” นี่คือจิต จิตมันพิจารณาอย่างไร ธรรมนอกจิตๆ นอกจากมรรคไง ที่เราบอกว่าธรรมนอกจิตๆ ถ้าธรรมในจิตนะ ข้างนอกไม่เกี่ยว ถ้าธรรมในจิต ทีนี้เขาเคยถามมาบอกว่า เวลาภาวนาแล้วมันมีปัญหาปั๊บ เขาพยายามจะผลักไปที่ความไม่รู้ เพราะความไม่รู้มันทำให้ปล่อยวาง ความไม่รู้ทำให้ไม่ตึงเครียด
เพราะความไม่รู้คืออวิชชา มันตรงข้าม ตรงข้ามกับวิชชา วิชชาคือความรู้แจ้ง การวิปัสสนามันต้องรู้แจ้ง รู้จริง รู้แจ้งแทงตลอด ไม่ใช่ว่าผลักไปที่ไม่รู้ คือว่าถ้ามันมั่วๆ ก็ผลักไปเลย ปฏิเสธไปเลย ปล่อยวางไปเลย อย่างนี้มันจะเป็นธรรมะได้อย่างไรล่ะ นี่มันก็เป็นมิจฉาทิฏฐิไง
เราพยายามจะพูดไง พยายามจะพูดให้เข้าใจได้ แต่ถ้าเข้าใจไม่ได้ เข้าใจไม่ได้ก็ผลของภาวนาแล้วเขียนมา ๔ ใบ ๕ ใบ จบ ไม่ไหว ถ้าคนภาวนานะ เขาพูดคำเดียว ครูบาอาจารย์เราท่านถามคำเดียวนะ ดูสิ เวลาหลวงปู่มั่น หลวงตาท่านติดว่า นึกว่าเป็นนิพพาน แต่ท่านใช้คำว่า “ติดสมาธิ” เพื่อต้องการไม่ให้คนเลียนแบบท่าน ท่านติดตรงนั้น ท่านคิดว่านิพพานแล้ว ถ้าคิดว่านิพพานแล้ว เห็นไหม ติดอยู่อย่างนั้นน่ะ เวลาหลวงปู่มั่นถาม “มหา จิตเป็นอย่างไร” ก็ถามแค่นี้ “จิตเป็นอย่างไร”
หลวงตาท่านบอกว่า “ดีครับ ยอดเยี่ยมครับ สุดยอดครับ”
อ้าว! ก็คนติด คนติดก็ต้องเป็นอย่างนั้น นี่เขาถามคำเดียว ถามคำเดียว โอ๋ย! นี่ ๔ ใบ ๕ ใบ ไอ้นี่เหมือนนิยายธรรมะ ถ้าเขียนนิยายธรรมะมาแล้ว แหม! อ่านแล้วซาบซึ้ง ซาบซึ้งมาก เกร็ดประวัติศาสตร์ไง แล้วก็ไปเขียนนิยายกันยืดเยื้อ
ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เวลาอย่างนี้มันเป็นนิยายธรรมะ ถ้าเป็นนิยายก็อีกเรื่องหนึ่ง วันนี้เป็นอย่างนั้น วันนั้นเป็นอย่างนั้น อันนี้เป็นการฝึกหัดใช้ปัญญา ถ้าบอกว่ามันไม่ใช่ปัญญา เวลาหลวงตาท่านพูดนะ คนที่ฝึกหัดภาวนาใหม่ๆ ท่านบอกว่าวิปัสสนาอ่อนๆ เราฝึกหัดวิปัสสนา ปัญญานี้ฝึกใช้ได้ แต่คำว่า “ฝึกใช้ได้” เราฝึกใช้ ถ้าเป็นปัญญาโดยพื้นฐานของเรา หลวงตาใช้คำว่า “ปัญญาอบรมสมาธิ”
ปัญญาอบรมสมาธิ เห็นไหม เวลาเราคิดสิ่งใดเราก็ตัดกิ่งหนึ่งคืออารมณ์หนึ่ง ตัดอารมณ์หนึ่ง ตัด ตัดอารมณ์เรื่อยๆ มันก็เหลือแต่ต้น เวลาเรามาโค่นต้นมันก็ลงเบาๆ แต่ถ้าเป็นพุทโธๆ เป็นพุทธานุสติ เราโค่นต้นไม้ ต้นไม้สูงใหญ่ เราโค่นโคนต้น เวลาต้นไม้มันล้มลงมันจะดังขนาดไหน ครืน! เลย แล้วมันพาลพาให้ต้นไม้ข้างเคียงหักล้มไปด้วย พุทโธๆๆๆ เวลามันลงไง มันลงเหมือนต้นไม้ทั้งต้นมันล้มลงเลย เพราะเราตัดโคนต้น นี่คือพุทธานุสติ นี่คือพุทโธ
แต่ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ เราตัดอารมณ์ ตัดทีละกิ่ง ตัดกิ่งนั้นตัดกิ่งนี้ ตัดกิ่งนั้นตัดกิ่งนี้ ตัดไปเรื่อยๆ พอตัดไปเรื่อยๆ นะ พอถึงต้นมันก็สั้นลงใช่ไหม เวลาเราตัด เราเลื่อยถึงโคนต้น มันก็ไม่ต้องล้ม ไม่มีอะไรล้มเลย แต่เราโคนต้น นี่พูดถึงว่าการทำสมาธิ
ฉะนั้น เวลาถ้าใช้ปัญญาๆ ปัญญาอย่างหยาบๆ เราบอกมันไม่ใช่ปัญญา มันก็ใช่ ไม่ใช่ปัญญาได้อย่างไรก็คิดอยู่นี่ ปัญญา ถ้าปัญญามันก็เป็นโลกียปัญญา โลกุตตรปัญญา ปัญญาเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป นี่เวลาภาวนาขึ้นไป นี้มันเป็นเบื้องต้นไง
เราพูดบ่อยมาก บอกว่า ไอ้การตอบปัญหาเรานี่ตั้งใจแล้วพยายามทำนะ เพราะอะไร เพราะเราบวชใหม่ๆ เราแสวงหาครูบาอาจารย์ เราโดนหลอกมาเยอะ เราใช้คำว่า “โดนหลอกมาเยอะ” เพราะอะไร เพราะพระที่ปฏิบัติเขาปฏิบัติไม่เป็นหรอก แต่เขาวางตัวเป็นอาจารย์กัน ไอ้เราบวชใหม่ๆ ด้วยความซื่อ เราไปหาครูบาอาจารย์องค์ใด เราก็เชื่อว่าเขาเป็นพระ เขาสอนอย่างไรก็ทำตามเขา ทำไปทำมาเลยกลายเป็นทำผิดไปหมดเลย
สุดท้ายที่ว่าจะกลับมาได้ก็กลับมาได้เพราะหลวงปู่จวน ตอนนั้นจิตมันเสื่อมหมด มันทำอะไรไม่ได้เลย แล้วถ้ามันควบคุมได้มันก็แค่อยู่เฉยๆ ถ้าเป็นสมาธิมันก็เป็นสมาธิไม่มั่นคง แต่เวลาเป็นสมาธิแล้ว การเป็นสมาธิคือไม่มีอวิชชาในความคิดของเรา เวลาจิตสงบลงมันไม่มีอวิชชาเพราะมันเป็นอิสระ เราก็บอกว่า “แล้วนิพพานมันอยู่ไหนล่ะ ก็ไม่มีอวิชชาแล้ว” มันติดขัดอยู่อย่างนั้น
ปี ๒๑ หรือ ๒๒ พอไปเที่ยวไปธุดงค์ทางอีสานไปเจอหลวงปู่จวน “อวิชชาอย่างหยาบท่านสงบตัวลง อวิชชาอย่างกลางของท่านเต็มหัวใจ อวิชชาอย่างละเอียดในหัวใจท่านยังมหาศาลเลย” ได้คิดเลย สะอึกเลยนะ ได้คิด แค่นี้ ถ้าครูบา-อาจารย์ที่เป็นจริงท่านพูดกันตอบกันสั้นๆ กระชับ แล้วเป็นมรรคเป็นผลเลย พออย่างนั้นปั๊บ จบเลย เออ! เพราะตอนนั้นมันไม่ยอมภาวนา ก็คิดว่าอวิชชามันไม่มี เพราะจิตมันสงบ ถ้าอวิชชาไม่มี ด้วยความเห็นความคิดของเรา ความคิดเด็กๆ ไง
ท่านบอกว่า “อวิชชาอย่างหยาบๆ อวิชชาอย่างหยาบมันสงบตัวลง อวิชชาอย่างกลางในหัวใจท่านอีกมหาศาล อวิชชาอย่างละเอียดลึกซึ้งในใจท่านอีกล้นเหลือเลย” โอ้โฮ! ได้คิดเลยนะ พอได้คิดขึ้นมาก็กลับมาทำความสงบใหม่ เริ่มต้นใหม่ คือไม่คิดแล้วว่าต้องไปเห็นปัจจยาการ ต้องไปรู้ไปเห็นอะไรอวิชชา ไม่เกี่ยวๆ พุทโธอย่างเดียว เอาความสงบอย่างเดียว แล้วฝึกหัดใช้ปัญญาไป มันก็จะเป็นความจริง
อันนี้เวลาคิดไป รู้ไป เห็นไป ไอ้ผู้ไม่รู้ ผู้รู้อะไรของเขาเนี่ย ไอ้ผู้ไม่รู้ ไอ้คำว่า “ไม่รู้” คำโดยศัพท์มันก็ใช้ไม่ได้แล้ว ไม่รู้คืออวิชชา แล้วเราภาวนาไปสู่อวิชชาก็ภาวนาไปสู่กิเลสไง
ดูสิ เวลาทางโลกเขา ยาเสพติดเขาพยายามปราบปรามนะ ไอ้เราทำธุรกิจการค้าเพื่อไปซื้อยาเสพติด เพื่อไปหายาเสพติด ยาเสพติดคืออวิชชา คือไม่รู้ แล้วภาวนาไปสู่ความไม่รู้ เอ้อ! ความจริงมันน่าได้คิด เราบอกไปมันน่าได้คิด ความไม่รู้ เห็นไหม ก็คือตกภวังค์ พอหายไปเลยก็นึกว่าไม่รู้เรื่องเลย อะไรก็ไม่รู้ แต่ออกมาดีนะ สบายๆๆ แต่ไม่รู้อะไรเลย...
อวิชชาทั้งนั้น นี่ไง มันลงสู่อวิชชาไง มันต้องชัดเจนไง ฉะนั้น บอกว่า ผลของภาวนา ผลของภาวนามันไม่ไหวหรอก ๔ ใบ ๕ ใบ ไม่ไหว อ่านไม่ไหว เสียเวลา คืนที่ ๑ ถึงคืนที่ ๖ โอ๋ย! ๓ คืน ๔ คืน ทุกคืน มันเกิดนิยายธรรมะ
พุทโธ พุทธานุสตินะ เราพุทโธ เราพุทโธของเรา ถ้าใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เราหาความสงบ ถ้าจิตสงบแล้วให้มันมั่นคงขึ้นมาแล้วฝึกหัดใช้ปัญญา เราจะบอกว่า ถ้าปัญญาเกิดจากจิตที่มีคุณภาพ ปัญญาเกิดจากจิตที่เป็นสัมมาสมาธิ ปัญญาเกิดจากจิตที่มั่นคง มันจะเกิดภาวนามยปัญญา
ปัญญา เห็นไหม เราพยายามสุมไฟ สุมควันกัน เราพยายามจะสร้างปัญญากันโดยที่มาจากไหนก็ไม่รู้ สุมฟืนสุมไฟนะ ดูไฟป่าสิ เวลาจุดเผาไร่ จุดอะไร แล้วไฟกระเด็นไปติดไฟป่า เขาหาผู้จุดอยู่นะ เขาหาคนจุดไฟป่าอยู่ มันทำลายสภาวะแวดล้อม นี่ก็เหมือนกัน คิดไปเรื่อย คิดไปเรื่อยว่าเป็นปัญญา คิดไปเรื่อย สุมควันสุมไฟเข้าไป แล้วมันชัดเจนไหม กลับมาทำความสงบของใจเสีย ทำให้พุทโธหรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิเพื่อความมั่นคง
แล้วที่ว่าผลักไปสู่ความไม่รู้ ผลักไปสู่ที่ไม่รู้ ไอ้นั่นจบเสีย จบแล้ว เพราะโดยศัพท์มันก็ผิดแล้ว โดยชื่อมันก็ใช้ไม่ได้แล้ว แล้วโดยความรู้สึกเท่ากับไปส่งเสริมกิเลสไง ถ้าภาวนาไม่ได้ก็มั่วๆ เอา สุมควันไว้ กวนน้ำให้ขุ่นไว้ เราก็หลบไปอยู่ในนั้นน่ะ มันไม่ใช่
สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาปัญญา ความดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ ความชอบธรรม ต้องเอาความชอบธรรม อย่าเอาความพอใจ ไอ้นี่มันเป็นความพอใจ จะบอกว่า “แหม! วันนี้หลวงพ่อใส่ใหญ่เลย ผิดหรือเปล่า โอ๋ย! เลิกภาวนาแล้ว ภาวนาแล้วไม่มีใครยกก้นเลย แหม! ภาวนาแล้วต้องมีคนส่งเสริมสิ ภาวนาแล้วมีแต่คนติเตียน”
นี่ปล่อยมาหลายมื้อแล้ว ปล่อยมาหลายที ภาวนาไปสู่ความไม่รู้ เราฟังแล้วงงมากนะ ความไม่รู้ ผู้ไม่รู้ ผลักไปสู่ผู้ไม่รู้ ไม่รู้เป็นสิ่งดี ไม่รู้คืออวิชชา พูดย้ำแล้วย้ำเล่ายังเขียนมาอีก แล้วยังบอกว่าผลของการภาวนาไปสู่ความไม่รู้มันก็ตกสู่ความภวังค์ สุมฟืนสุมไฟเข้าไป แล้วก็มั่วซั่วกันอยู่อย่างนั้น แล้วมันจะได้ตรงไหนล่ะ
ชัดเจนสิ ชัดเจน พุทโธ ปัญญาอบรมสมาธิให้จิตลงสู่ความสงบ ให้มันชัดเจน ชัดถ้อยชัดคำ ทำอะไรให้มันชัดเจน ถ้าชัดเจนขึ้นมาแล้วถ้ามันจะเกิดปัญญาให้ปัญญามันชัดเจน เอาแค่นี้ พอ มันไปใหญ่ มันไปใหญ่ มันมาบ่อย
ถาม : เรื่อง “ไม่มีคำถาม”
เขาเขียนว่าไม่มีคำถาม พุทโธ ธัมโม สังโฆ กราบหลวงพ่อ โยมไม่มีอะไรจะถาม แต่ขอกราบสวัสดีปีใหม่แก่หลวงพ่อ ณ ที่นี้ด้วย
ตอบ : เขียนมาเพื่อสวัสดีปีใหม่ เออ! สวัสดีปีใหม่ ถ้าไม่มีคำถามเนาะ ไม่มีคำถามแสดงว่าโยมภาวนาดี ภาวนาจนสิ้นความสงสัยเลย ไม่มีความสงสัยเลย ไม่มีคำถาม สวัสดีปีใหม่ สวัสดี
ถาม : เรื่อง “กรรมชั่วที่ทำกับเตี่ย”
กราบนมัสการหลวงพ่อ หนูเคารพยิ่ง หนูทุกข์มากเรื่องทะเลาะกับเตี่ย ไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว เขาชอบว่าต่อหน้าคนอื่นและชอบพูดทะลึ่งทุกครั้ง หนูจะเถียงและว่าเขาแบบรุนแรง แต่พอคิดได้อีกทีก็คือทำกรรมลงไปแล้ว หนูรู้ว่าทำชั่วมาก แต่ก็เผลอทำทุกครั้ง จนไม่อยากจะอยู่บ้าน แล้วหนูอยากจะหนีไปอยู่วัด จะได้ไม่ต้องทำชั่วกับเขาอีก หนูจะหนีกรรมชั่วแบบนี้ถูกไหมคะ
ตอบ : นี่เขาเขียนมาเพื่อระบายนะ ไอ้นี่เราเห็นใจมากนะ เราเห็นใจมากเรื่องพ่อเรื่องแม่ เพราะพ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก เราได้ชีวิตนี้มาจากพ่อจากแม่ แต่ถ้าพ่อแม่ของเราเป็นแบบว่าผู้มีนิสัยดีงาม แล้วของเรา เราพูด เพราะพ่อแม่บางคนเขาบอกว่าทุกข์มากเลย ลูกนิสัยไม่ดี ไอ้นี่มันกลับกัน ไอ้ลูกทุกข์มากเลย เตี่ยนิสัยไม่ดี
ถ้าเตี่ยนิสัยไม่ดี มันก็เป็นแบบว่าเป็นเวรเป็นกรรม เป็นจริตนิสัย นี่ไง ที่ว่าเวลาพระอรหันต์ของลูกๆ เห็นไหม พระอรหันต์ในสมัยพุทธกาล เอตทัคคะ ๘๐ องค์ก็จริตนิสัยแตกต่างกัน พระอรหันต์แก้กิเลสได้ แต่แก้สันดานไม่ได้ สันดานคือความเคยชิน อันนี้ก็เหมือนกัน บุญคุณคือบุญคุณเขาเป็นพ่อให้เราเกิดมา แล้วเลี้ยงดูมา เห็นไหม ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเป็นพ่อ อันนี้เป็นบุญคุณอันหนึ่ง
แต่ที่ว่า เวลาพูดต่อหน้าคน ชอบว่าต่อหน้าคน ชอบทำสิ่งใด อันนี้ถ้าคุยกันแล้วมันไม่ได้ มันไม่ได้ปั๊บ เรานิ่งอยู่ เพราะว่ายิ่งเราไปพูด ทางทิฏฐิไง ทิฏฐิของพ่อแม่กับทิฏฐิของลูกนี่ต่างกันนะ เพราะพ่อแม่ถือว่าลูกเป็นสมบัติของเรา เพราะว่าเราเลี้ยงดูมา เขาแสดงออกโดยถือสิทธิ์ ด้วยความถือสิทธิ์ในใจของเขา แล้วยิ่งจะไปพูดมันเป็นการโต้แย้งสิทธิ์กัน มันพูดกันได้ยาก
ถ้ามีบุคคลคนอื่นเข้ามาพูดด้วยเหตุด้วยผลให้เขาอ่อนลง อาจจะเป็นไปได้ แต่ถ้าให้เราไปพูด เป็นไปได้ยากมากเลย ถ้าเป็นไปได้ยาก เพราะอะไร เพราะเขาถือฐานะว่าเขาเป็นเจ้าของเรา เขาเป็นเจ้าของสิทธิ์
ฉะนั้น เวลาเราจะทำได้ เราก็ทำได้ เราจะทำคุณงามความดีของเรา แล้วเวลาคิดของเราก็คิดยกให้ไง ยกให้กับพระอรหันต์ของเรา ทั้งๆ ที่มันจะเจ็บช้ำน้ำใจ เพราะอะไร
เพราะไปว่าต่อหน้าธารกำนัล ใครมันก็อายเนาะ เอ้อ! ไปพูดว่าเราต่อหน้าธารกำนัล เราก็ต้องอายเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าพ่อแม่ที่ดีก็ต้องคิดได้สิ เพราะคิดได้ เขาทำของเขาได้ ฉะนั้น มันต้องมีประเด็นของเขาเหมือนกัน เขาถึงได้พูดอย่างนั้น ฉะนั้น มันเป็นจริตเป็นนิสัยของเขา
ฉะนั้น ประสาเรา เราต้องมองข้าม เราทำความดีของเรา เราอย่าไปแบบว่า เขาเรียกว่าเต้นตามเสียงเพลง คือทำอะไรแล้วให้เรากระทบกระเทือนได้ เขาพอใจๆ ถ้าทำอะไรแล้วเราไม่กระทบกระเทือน เรายิ้มแย้มแจ่มใส มันอาจจะเบาไปเอง มันเบาไปเองนะ แบบว่า เราบอกว่า ต้องยกผลประโยชน์ให้กับจำเลย เพราะว่าเราตัดสินสิ่งนี้ไม่ได้ มันบอกว่าสายบุญสายกรรม
ถ้าสายบุญสายกรรมนะ เราเจอสภาพแบบนี้เห็นใจมาก เราเห็นใจนะ เห็นใจเพราะอะไร เพราะเวลาเราไปอยู่อีสานใหม่ๆ เมื่อก่อน แล้ววันแม่ๆ แล้วเขาก็เอาเด็กมาล้างเท้าแม่ไง แล้วเราไปกับอาจารย์ ไปสวดมนต์ แล้วอาจารย์ก็ถามเราว่า “หงบ มึงเคยทำอย่างนี้ไหม เคยล้างเท้าแม่ไหม” บอก “ไม่เคย” อาจารย์ก็บอก“เราก็ไม่เคย”
ใหม่ๆ โอ๋ย! สมัยที่ล้างเท้าแม่ใหม่ๆ โอ้โฮ! แม่กับลูกร้องไห้กอดกัน ไอ้คนดูก็น้ำตาไหลไปด้วย คนอยู่ใกล้ชิดกันมันไม่เคยแสดงออกถึงความรักกันหรอก แต่เวลาแสดงออกถึงความรักกัน มันรักกันจริงๆ พ่อกับแม่ไม่รักกันมันไม่มีหรอก แต่คนใกล้ชิดกันมันก็ไม่ได้แสดงออก เวลาให้แสดงออกขึ้นมา อู้ฮู! น้ำตาไหลเลย
นี่ก็เหมือนกัน ความอยู่ใกล้ชิดกัน พ่อกับลูกมันไม่รักกัน มันเป็นไปไม่ได้หรอก แต่มันก็นิสัยเนาะ ถ้านิสัยของเรา เราก็อยากจะให้พ่อเรา แหม! เรียบร้อยดีงามไปทุกอย่างเลย แต่ถ้าเขาเป็นแบบนั้น ถ้าเขาเป็นแบบนั้นก็ต้องเป็นแบบนั้น เราต้องทำใจ ทำใจของเรา ทำใจของเรานะ อย่างใดก็แล้วแต่ก็เป็นพ่อ มันลบล้างสิ่งที่ความเป็นพ่อไม่ได้ ลบล้างความเป็นพ่อไม่ได้ ชาตินี้อย่างไรก็เป็นพ่อของเรา พ่อมีคนเดียว แล้วเราจะแก้ไขอย่างไร เราก็กลับมาแก้ไขของเรา
เขาบอกว่า “หนูอยากจะหนีไปอยู่วัด” ไปอยู่วัด เวลาพระเขาเทศน์นะ พระอรหันต์อยู่ที่บ้านๆ เดี๋ยวจะรีบ โอ๋ย! หนูกลับบ้านแล้วแหละ หนูจะไปหาพระอรหันต์ของหนู เวลาไปอยู่วัด เขาก็จะบอกว่าพระอรหันต์ที่บ้านๆ อีกแหละ เวลาพระเทศน์เขาเทศน์อย่างนั้นน่ะ
ฉะนั้น “พระอรหันต์ของหนู หนูจะหนีมาอยู่วัด”
อยู่วัดนะ มันเป็นการมาวัดใจของตน มันพัฒนาสิ เราพัฒนาใจของเรานะ เห็นใจ เห็นใจอยู่ แต่มันเป็นเรื่องที่ว่าเราจะต้องทำความเข้าใจ เราทำความเข้าใจ มันเป็นเรื่องเวรเรื่องกรรมนะ เรื่องเวรเรื่องกรรม
กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน ถ้าเราไปเกิดในประเทศอันสมควร ไปเกิดที่พ่อแม่เป็นสัมมาทิฏฐิ พ่อแม่ที่ดีงามนะ แล้วพยายามชักลูกเข้ามาวัดมาวา มาวัดมาวาเพื่ออะไร เพื่อให้เขาได้ซับ ให้ซับสิ่งนี้ไว้ เวลาเขาโตขึ้นมาเขาต้องไปเจอความทุกข์ของเขา สังคมมันบีบคั้นนะ แล้วเวลาบีบคั้นขึ้นมามันไม่มีทางออก ถ้ามันไปวัดไปวาขึ้นมามันยังมีทางออกบ้าง
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนเรื่องอริยสัจ เรื่องทุกข์ เรื่องสมุทัย เรื่องนิโรธ เรื่องมรรค ทุกข์เป็นสัจจะ ทุกข์เป็นความจริง ถ้ามันได้คิดขึ้นมามันจะได้ไม่ต้องไปทุกข์ร้อนจนเกินไป พามาวัดมาวา พามาเพื่อให้มันได้ยินได้ฟัง ให้ได้รู้เห็นของมัน เพื่อเป็นประโยชน์กับมันไง นี่พูดถึงว่า ถ้าพ่อแม่ที่เป็นสัมมาทิฏฐิ
ถ้าเราไปเกิดที่พ่อแม่เป็นมิจฉาทิฏฐิ เยอะมากที่ลูกศิษย์มาหา เพราะว่าพ่อแม่เขา เขาอยู่ข้างวัด แล้วเห็นสภาพพระที่วัดอื่นเขาทำกันไง เขาถามลูกเขาว่า “เอ็งไปวัดทำไม เอ็งไปวัดทำไม กินแล้วก็นอน ไม่เห็นทำอะไร ไปทำไม” เขาพูดกันอย่างนั้นเยอะมากนะ พูดสภาพอย่างนั้นแล้วเขาเห็นสภาวะแบบนั้น กินแล้วก็นอน พระ แล้วยังต้องหาไปส่งให้พระอีกหรือ เรายังไม่มีจะกินเลย อุตส่าห์ส่งให้พระ
แต่เขาไม่รู้หรอกว่า ที่พระที่เขาปฏิบัติเขาไม่ได้หวังอย่างนั้นหรอก โธ่! กินนอนที่ไหนมันก็หาได้ แต่กิเลสมันเผาลนในใจมันทุกข์มันยากขนาดไหน เขาต้องประพฤติปฏิบัติให้เกิดตบะธรรม ตบะให้ไปแผดเผากิเลส แผดเผาหัวใจของตน แผดเผาในใจอันนั้นมันยิ่งทุกข์มันยิ่งยาก แล้วมันจะหาที่ไหนล่ะ แล้วต่อไปมันจะน้อยลงเรื่อยๆ พระจริงๆ พระที่ปฏิบัติจะน้อยลงเรื่อยๆ
เพราะปฏิบัติแล้ว ภาษาเรานะ เราจะพูดอย่างนี้เลย ถ้าปฏิบัติไปแล้วมันก็กลับมาคิดน้อยใจไง บวชมาแล้วก็ไม่มีใครมาอุปัฏฐากอุปถัมภ์ บวชมาแล้วไปไหนก็ไม่มีรถหวอนำหน้า รถฉลาม บวชมาแล้วก็อยากดังก็สร้างภาพ ก็คิดไปนู่น ไม่ได้บอกเลย บวชมาแล้วจะเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ไอ้ศีล สมาธิ ปัญญาที่เกิดขึ้น นั่นล่ะสัจธรรม ถ้าสัจธรรมปฏิบัติแล้วใครเห็นล่ะ ปฏิบัติอยู่ในป่าในเขา ใครจะไปเห็น สู้สร้างภาพ นี่คิดกันไปอย่างนั้นนะ
เวลาพระก็เป็นอย่างนั้น แล้วสังคมเขาคิดกันอย่างนั้น นี่พูดถึงว่าเวลาลูกศิษย์เขามาปรับทุกข์ไง มาวัดเรานี่แหละ แล้วแม่เรียกเขาไปเอ็ดไง “ไปทำไม กินแล้วก็นอนอยู่นั่น ไปทำไม” เขาเอ็ดลูกเขาตลอดเลย แต่ลูกไปพูดอย่างนั้นไม่ได้ เพราะพระที่จะปฏิบัติที่อยู่ในหลักในเกณฑ์ ๔ แสนองค์มีกี่องค์ ๓ แสนกว่ายังอยู่อย่างนั้น แล้วทำกันอย่างไร นี่พูดถึงเกิดในประเทศอันสมควรไง
แล้วพาไปวัดไปวาให้ไปเห็นแล้วเปรียบเทียบเอา เปรียบเทียบเอา ไปเจอ ขนาดเด็กๆ เขาพูดเลย “ไม่มีวัดไหนแจกทอฟฟี่หรอก มีแต่วัดนี้ ไม่มีวัดไหนแจก” ก็เราก็คิดอย่างนี้ พระมีแต่จะเอาๆ ไม่เคยให้เลย มาหากู กูแจกทอฟฟี่ตลอด แจกอย่างเดียว “ไปไหนไม่เคยได้เลย ไปไหนไม่เคยได้เลย” พระไม่กล้าแจก กลัวผิดวินัย กลัวผิด เวลาเอาของเขานี่ถูก เวลาให้เขาล่ะผิด
นี่พูดถึงทั่วไปนะ อ้าว! นี่พูดถึงเตี่ย ไปไกลเลย ให้ทำใจ ให้ทำใจของเรา เพราะว่ามันสายบุญสายกรรม มันกรรมเก่ากรรมใหม่ไง จะบอกว่าตอนนี้ บอกว่าเราจะตั้งโปรแกรมเลย ไปเปลี่ยนนิสัยเตี่ยให้เตี่ยเป็นคนดีเลย เราก็ทำไม่ได้ มันเป็นจริตนิสัยอย่างนั้น ถ้ามันเป็นสายบุญสายกรรม เราต้องรักษาของเราเอง รักษาหัวใจของเราเอง ถ้าเราทำตัวเราดีขึ้น เดี๋ยวเตี่ยดีขึ้นเอง เดี๋ยวเตี่ยจะ “หนูๆๆ เตี่ยขอโทษนะ” เออ! ถ้าวันนั้นในบ้านสงบสุขเลยล่ะ นั่นพูดถึงคำถาม พูดถึงเรื่องพ่อเนาะ จบ
ถาม : อันนี้คำถามนี้ คำถามนะ
๑. เห็นตัวเองมีความรู้สึกว่าตัวเองกำลังทำอะไรผิดตลอดเวลา เลยไม่มั่นใจ ไม่เชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองทำ เลยมีแต่ความกังวลสงสัยว่าตัวเองจะถูกหรือเปล่า ตลอดเวลาเลยมีความระแวงระวังตัวตลอดเวลา ไม่หนักแน่นในตัวเอง ไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรให้ความทุกข์ตรงนี้บรรเทา
๒. เวลาท่องบริกรรมพุทโธมีความคิดเยอะมาก ความคิดที่ไม่ดีแรงๆ ทั้งนั้น บางครั้งก็เกิดอารมณ์ต่อต้านกับความคิดที่เกิดหลายอย่าง ทำหลายอย่าง บางครั้งรู้สึกว่าตัวเองเป็นความคิดที่ไม่ดีนัก แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรต่อ มันส่งผลต่อการปฏิบัติพอสมควร ค่อนข้างเป็นห่วงความคิดตัวเอง จนกระทั่งกลัวว่าจะทำตามความคิดทั้งที่รู้อยู่ว่ามันเป็นอย่างนั้น
ตอบ : นี่พูดถึงนะ เอาข้อ ๑. ก่อน ข้อ ๑. เห็นไหม พูดถึงว่า เราตั้งใจไง พอเราตั้งใจปั๊บ เราว่าตัวเองผิดไปหมดเลย
คนเรานะ เวลาปกติเราก็ไม่ทำอะไรหรอก แต่เวลาพอจะตั้งใจปั๊บ มันระวังไปหมด นี่เขาบอกว่าเขาต้องระวังไปหมดเลย สรรพสิ่งทุกอย่างกลัวจะเป็นความผิดไปหมดเลย ถ้าไม่ได้ทำอะไรเลย ไม่เป็นไร แต่พอจะทำอะไรปั๊บ เราคิดว่า อู้ฮู! ระแวงระวังไปหมด คำว่า “ระแวงระวังไปหมด” มันก็เป็นความคิด เพราะความคิดเราไม่เคยทำไง ทีนี้มันจะระแวงระวังไปหมด วางให้หมด วางให้หมดเลย เราไม่ต้องคิดสิ่งใดเลย เพียงแต่ว่าเรามาอยู่ในทางจงกรม หรือเรานั่งสมาธิภาวนา เราทำของเรา
แต่ถ้าความระแวงระวัง ระวังว่าเรากลัวทำผิด เรากลัวทำผิดกฎระเบียบ เราวางใจได้ เราวางใจได้เลย เพราะเรามาในสถานที่ที่เป็นบัณฑิต เรามาวัดมาวา คนที่มาวัดมาวาตั้งใจจะมาประพฤติปฏิบัติ ตั้งใจจะมาทำคุณงามความดี บัณฑิตเขาไม่จับผิดกัน ถ้าบัณฑิตเขาไม่จับผิดกัน คนที่ไม่เคยมา คนที่ไม่รู้กฎกติกา เพราะสำนักปฏิบัติแต่ละสำนักปฏิบัติ กฎกติกาบางอย่างมันแตกต่างกันบ้าง
ถ้าแตกต่างกันบ้าง เราเคยทำสิ่งใดมา เราเคยทำคุ้นชินจนเรามั่นใจว่าสิ่งนั้นเป็นความถูกต้อง แต่เราไปที่สำนักปฏิบัติที่อื่น สำนักปฏิบัติที่อื่นเขาอาจจะมีกฎกติกาที่แตกต่างกัน แต่ถ้าเราทำความผิดพลาดไปอย่างนี้ ถ้าเราไม่รู้ เราก็บอกว่าเราไม่รู้ ถ้าเราเห็นว่ามันผิดแล้วเราจะทำให้มันถูกต้องไป นี่พูดถึงถ้ามันจะผิดด้วยกฎระเบียบ ถ้ามันจะผิดด้วยกฎระเบียบ เราสามารถดูได้ว่ากฎระเบียบมันถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง แล้วเราเปลี่ยนแปลงได้
แต่เวลาถ้ามันระแวงระวังเรื่องความคิดเราแล้ว ความคิดคือกิเลสตัณหาความทะยานอยาก แล้วเวลาคนที่ปฏิบัติใหม่ คนที่มาฝึกหัดจะเป็นอย่างนี้ จะเป็นอย่างนี้เพราะอะไร เพราะเราไม่เคยทำไง เราเคยปล่อยจิตใจเราสะดวกสบายทั้งหมดเลย เราปล่อยให้มันคิดได้ตามสบายเลย แต่พอเราจะมาตั้งใจ ตั้งใจจะควบคุมมัน มันก็เลยกลายเป็นเกร็ง กลายเป็นว่าเราจับต้นชนปลายไม่ได้ มันก็เลยกลายเป็นว่าจะเริ่มกันตรงไหน
ถ้าเริ่มตรงไหน เห็นไหม มันถึงต้องสร้างศรัทธาความเชื่อก่อนไง ศรัทธามันเป็นหัวรถจักรนะ เพราะเรามีศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพราะเรามีศรัทธาความจริงของเราแล้ว เราตั้งสัจจะนี้ เรามีความเชื่อมั่น พอมีความเชื่อมั่นแล้วเราจะหัดประพฤติปฏิบัติ เพราะสัทธาจริต พุทโธๆ เพราะมันเชื่อ เพราะมันเชื่อ เชื่อว่าสิ่งนี้มีจริง สิ่งนี้มีจริง สิ่งนี้พึ่งได้จริง ฉะนั้น เวลาเรากำหนดพุทโธๆๆ คำบริกรรมพุทโธ นี่สัทธาจริต
แต่ถ้ามันเป็นพุทธจริต ไอ้คนคิดมาก ไอ้พวกคิดมาก “อะไรๆ ก็พุทโธ พุทโธไม่เห็นมีอะไรเลย พุทโธๆ พุทโธใครๆ ก็ทำได้” เวลามันคิดมันคิดอย่างนี้ “พุทโธใครๆ ก็ทำได้”
ทำไม่ได้หรอก พุทโธๆ เป็นพุทธานุสติ แล้วเอาจิตผูกไว้กับพุทโธ พุทโธจนพุทโธไม่ได้ พุทโธจนจิตมันเป็นอิสระ จิตมันเป็นเอง เพราะอะไร เพราะจิตแก้จิตไง เพราะธรรมชาติของจิตคือธาตุรู้ ธรรมชาติที่รู้มันมีหน้าที่รู้ จิตนี้มีหน้าที่ที่รู้ แล้วรู้ในอะไร รู้ในอารมณ์ตัณหาความทะยานอยาก จิตนี้มีหน้าที่ที่รู้ มันมีหน้าที่ที่รู้ มันเป็นธาตุ ธาตุรู้
ถ้าธาตุรู้ขึ้นมา คนเราเกิดมา ปฏิสนธิจิตไม่มีใครเคยเห็น ปฏิสนธิจิตเกิดในไข่ เกิดในครรภ์ เกิดในน้ำครำ เกิดในโอปปาติกะ พอเกิดแล้วเป็นมนุษย์ มนุษย์มีธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ เป็นสถานะ มนุษย์คือภพ เกิดเป็นเทวดา เทวดามีขันธ์ ๔ รูปเป็นทิพย์ ไม่มีรูปกาย เกิดเป็นเทวดาเขาก็เป็นสถานะเป็นเทวดา เขามีความรู้สึกกับการเป็นเทวดา เขาเกิดเป็นพรหม พรหมมีขันธ์ ๑ เขาก็มีความรู้สึกความเป็นพรหมของเขา
เราเกิดเป็นมนุษย์ เห็นไหม มนุษย์มีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ จิตเป็นธรรมชาติที่รู้ มันก็รู้ผ่านอายตนะ รู้ผ่านร่างกายนี้ รู้ผ่านสมอง มันก็รู้ของมันอยู่อย่างนั้น ทีนี้เวลาเราพุทโธๆ มันก็พุทโธที่สมองไง พุทโธที่ความรู้นั้นไง มันก็เลยจิตมันยังไม่เห็นจิตไง “เราพุทโธๆๆ ก็พุทโธแล้ว พุทโธไม่มีอะไร” ก็เอ็งพุทโธไม่เป็น ก็มึงพุทโธไม่เป็น
ถ้าพุทโธเป็น พุทโธๆๆ พุทโธเพราะจิต จิตหนึ่ง ธรรมชาติที่รู้มันรู้อย่างอื่นใช่ไหม มันก็รู้พุทโธ พุทโธนี้มันก็มีสถานะเหมือนกับอารมณ์ความรู้สึก เพราะมันคิดเหมือนกัน พุทโธๆๆ มันย้ำคิดย้ำทำจนมันชัดเจนของมันขึ้นมา พุทโธจนคล่องตัว แต่ก่อนพุทโธมันพุทโธไม่ได้เลย พุทโธเดี๋ยวก็ไปข้างนู้น เดี๋ยวก็ไปข้างนี้ พุทโธไม่ได้เลย
พุทโธๆ พุทโธๆ ด้วยสติ ด้วยกำลัง กำลังคือคุณสมบัติของจิต คุณสมบัติของจิตมันอยู่กับพุทโธๆ จนมันชัดเจนของมันขึ้นมา นี่พุทโธเป็น เริ่มพุทโธเป็นแล้ว โอ้โฮ! พุทโธคล่องแคล่ว พุทโธง่ายๆ เลยนะ แต่ก่อนพุทโธไม่ได้เลยนะ พุทโธมันแฉลบ พุทโธๆ นี่พุทธานุสติ มันเกิดได้อะไรล่ะ มันเกิดได้อย่างไรล่ะ มันเกิดได้จากสติ เกิดได้จากสติบังคับ ใหม่ๆ ต้องบังคับเลย บังคับพุทโธเลย พุทโธๆๆ จนมันทรงตัวมันได้ แล้วพอมันละเอียดได้ขึ้นมา เห็นไหม ความหวาด ความระแวงก็เบาลง
ไอ้นี่พุทโธก็คิดไปเรื่องนู้น พุทโธถูกหรือพุทโธผิดเนี่ย พุทโธหนึ่งหรือพุทโธสอง มันแฉลบไปหมด เห็นไหม มันก็ระแวงไปหมด มันระแวงเพราะอะไร ระแวงเพราะกิเลสมันยังเข้มแข็งอยู่ไง กิเลสมันยังคมกล้าอยู่ไง แต่เราพุทโธๆ เพราะว่ากิเลสสงบตัวลง จิตถึงเป็นสมาธิได้ กิเลสสงบตัวลงถึงเป็นสมาธิได้ กิเลสไม่สงบตัวลงเป็นสมาธิไม่ได้ ฉะนั้น ที่เราทำอยู่นี่ เราทำเพื่อความสงบ ทำเพื่อสมาธิ
ทีนี้ไอ้ที่ว่า “มันระแวงไปหมดเลย มันระแวงระวังตัวตลอดเวลา มันกลัวมันผิด” ผิดสิ อ้าว! เขาให้พุทโธนะ เดินจงกรมนะ มันไปอยู่ที่เท้า เอ๊ะ! ซ้ายหรือขวา ขวาหรือซ้าย เอ๊ะ! พุทหรือโธ อันนี้เพราะเราไม่เคยทำ ถ้าเคยทำต้องมีสัจจะ ต้องมีความมั่นคงของเรา ฝึกหัด ต้องฝึกหัด
ฉะนั้น พอฝึกหัด เห็นไหม มันเหมือนเด็กเลย เอาเด็กมาผูกไว้ เอาเด็กมานั่งเรียบร้อย เด็กมันไม่ยอมหรอก แล้วยิ่งเด็กที่มันนั่งไม่ได้ ปล่อยสิ มันคลานไปแล้ว เอาเชือกผูกไว้มันยังคลานไปเลย
ไอ้นี่มันจิตเร็วกว่า ทั้งเร็วกว่า มันไปหมดล่ะ นี่การฝึกหัด เห็นไหม แค่ฝึกหัดจะให้เราเป็นอิสระยังเป็นไม่ได้เลย ถ้าให้คิดเรื่องโลก เก่งนะ ถ้าให้คิดเรื่องงานนี่ไปทั่วเลย แต่มาคิดพุทโธๆ ไม่ได้ เพราะพุทโธเป็นพุทธานุสติ พุทโธเพื่อหาตัวความเป็นจริง
นี่พูดถึงว่า “เห็นตัวเอง รู้สึกว่ามันมีกำลัง มันมีความผิดตลอดเวลา มันระแวงตลอดเวลา”
ก็มันผิดอยู่แล้ว แต่ความผิดนี้เป็นอดีต ตอนนี้เราไม่ใช่หาความผิด เราหาหัวใจ เราไม่ได้หาความผิดความถูกเราหรอก เราสำนึกแล้วว่าผิด เราสำนึกว่าไม่ดี เราถึงจะมาภาวนาให้เราเป็นคนดีอยู่นี่ไง เขาหา หาหัวใจ ไม่ใช่หาความผิด ไอ้ความผิดที่มันแวบเข้ามา เราใช้ปัญญา ผิดเราก็วางไว้ เรารู้ว่าผิด เราไม่ทำอย่างนี้อีก แต่เดี๋ยวก็ทำ ตอนนี้มันก็คิดได้ ผิดแล้วก็ไม่ทำอีก
ข้อที่ ๑. นะ บรรเทาความหวาดระแวง
“๒. เวลาท่องพุทโธมันมีความคิดเยอะ ความคิดที่มันความคิดแรงๆ ทั้งนั้น บางครั้งก็เกิดอารมณ์ต่อว่าความคิดที่เกิดมา”
ไอ้นี่พูดถึงว่า ถ้ามันคิดนะ เราพุทโธไปก่อน เราจะบอกว่าให้พุทโธไปก่อน แล้วถ้าพุทโธไปแล้ว เพราะคำว่า “พุทโธไปก่อน” มันจะเริ่มต้น เริ่มต้นทดสอบ ทดสอบจิตของเราว่าจิตของเรา กรรมฐาน ๔๐ ห้อง การทำความสงบ ๔๐ วิธีการ เราควรจะทำอย่างใด
เรายังไม่รู้เลยว่า เราจะทำความสงบอย่างไร พุทโธนี่เป็นอันดับหนึ่ง พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ การทำความสงบ ๔๐ วิธีการ เราก็หัดทำความสงบของเราก่อน เพราะตอนนี้เริ่มต้นเราจะเป็นคนดี เราอยากทำคุณงามความดี ใครเป็นคนทำ ถ้าเริ่มต้นจะทำคุณงามความดี เราต้องหาจิตของเราให้เจอก่อน ให้เจอตัวตนของเราก่อน แล้วเอาตัวตนของเรานี้ทำ เอาจิตนี้ทำ
ทีนี้เรายังไม่เคยเจอจิต เราไม่เจอจิต มันก็เป็นวัฒนธรรม สิ่งที่เราประพฤติปฏิบัติกันอยู่ในโลกนี้ทำเป็นวัฒนธรรมไง ดูสิ วัฒนธรรมเขาสาดสงกรานต์กัน ปีใหม่ส่งเค้กกัน นี่วัฒนธรรม ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เขาปฏิบัติเป็นวัฒนธรรม เพราะเขาไม่เห็นจิตเขา เขาทำเป็นวัฒนธรรม เป็นการปฏิบัติไง สังคมปฏิบัติไง ก็ปฏิบัติกันไป ปฏิบัติเป็นวัฒนธรรม หลวงตาบอกว่าทำพอเป็นพิธี พอเป็นพิธี แต่หาตัวไม่เจอหรอก
แต่ถ้าเราจะหาตัวเจอ เราจะปฏิบัติ เราพุทโธหรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิเพื่อหาตัวตนของเรา เราทำเพื่อความสงบระงับของเรา ทำเพื่อสมาธิของเรา เราไม่ได้ทำเพื่อใครหรอก ถ้าเราทำเพื่อสมาธิของเรา มันก็เป็นของเราอยู่แล้ว ถ้ามันเป็นทำสมาธิเพื่อเรา ฉะนั้น ตอนนี้ให้ตั้งใจว่าทำความสงบ ทำจิตสงบ ทำสมาธิ ทำเพื่อหาความสงบ
แล้วไอ้ที่ว่าผิดถูกนั่นไม่ต้องไปคิดถึงมัน วางไว้ เว้นไว้แต่ นี่จะเว้นไว้แต่ แล้วเว้นไว้แต่ เขาบอก “ความคิดมันเกิดแรงมาก ความคิดเกิดเรื่องไม่ดีทั้งนั้นเลยๆ” ไม่ดีน่ะมันคิดไป แล้วอย่างนี้คำนี้ใช้ไม่ได้ “บางทีว่า พอมันคิดไม่ดี อยากทำตามนั้นเลย”
เออ! ไม่เอา มันคิดไม่ดี เราก็รู้ว่าไม่ดี ไปทำได้อย่างไร เพราะมันเป็นสิ่งที่ไม่ดีไง สิ่งที่ไม่ดีมันก็เป็นมิจฉา ถ้ามิจฉาแล้วเราไม่ทำตามนั้น เราจะไม่ทำตามความคิดเราไป เพราะที่เรามา เราก็มาหักห้ามมันไง เราจะมาหักกงล้อของมัน หักกงล้อของความคิดที่มันอีลุ่ยฉุยแฉก มันทำให้เราออกนอกลู่นอกทาง เราจะหักกงล้อของมัน ทำคุณงามความดี ทำคุณงามความดีเพื่ออะไร ก็ทำคุณงามความดีก็เพื่อหัวใจเรานี่แหละ
ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุดนะ เราเกิดมาต้องตายทั้งหมด แล้วเรามีคุณสมบัติอะไร เราจะมีคุณความดีอะไร แล้วถ้าพูดถึงทำตามความคิดของเรา ความคิดมันคิดที่รุนแรง เราทำตามความคิดไป ความคิดนี้มันสร้างบาปอกุศล ความคิดที่ไม่ดี กุศล - อกุศลไง ความดีและความชั่ว ความดีเป็นเส้นทางเดิน ความดี เราทำคุณงามความดี
ความชั่ว ความชั่วเป็นเส้นทางเดินของกิเลส แล้วพอทำความชั่วหนหนึ่งมันจะชั่วมากขึ้นๆ มันจะทำให้มากขึ้น แล้วทำจนเป็นความเคยชินเลย ก็กลายเป็นมนุสสเปโต มนุษย์เปรต เป็นมนุสสติรัจฉาโน มนุษย์สัตว์ แต่ทำความดีๆ เป็นมนุสสเทโว มนุษย์เทวดา อ้าว! เราจะเป็นมนุษย์เทวดา เราจะทำคุณงามความดี
นี่พูดถึงว่า เวลาถ้ามันมีความคิดเกิด มันเกิดขึ้นมา เราต้องต่อต้านอย่างนี้ ถ้าต่อต้านอย่างนี้ เราจะบอกว่า ถ้าใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เพียงแต่ว่าโยมเพิ่งมา ไม่รู้ว่าปฏิบัติที่ไหนมาบ้างหรือเปล่าไม่รู้ ถ้าใช้ปัญญาอบรมสมาธิไง คำว่า “ปัญญาอบรมสมาธิ” ปัญญาอบรมสมาธิทำยากนะ ใช้ปัญญาไล่ไป เราพุทโธไปก่อน พุทโธมันต้องแรงต้านกัน เหนื่อยมาก
คนบอกว่า “พระไม่ทำอะไรเลย” เมื่อกี้ เห็นไหม บอกว่า “ไปให้มันทำไมพระ กินแล้วก็นอน”
มึงไม่เคยปฏิบัตินี่หว่า มึงลองสิ ลองปฏิบัติดูสิ ความคิดมันลากไป เวลาพุทโธเอาอยู่ไหม ถ้ามันพุทโธๆ มันเอาไม่อยู่หรอก ทีนี้เอาไม่อยู่ มันอดนอนผ่อนอาหาร ฉะนั้น ถ้าเอาไม่อยู่แล้ว เราต้องมีสติปัญญา เวลาความคิดมันคิดแรง อารมณ์มันรุนแรงมาก คิดแรงมาก ถ้าเป็น ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าทำแล้วนะ ใช้ความคิด ถ้าความคิดนี้รุนแรง แล้วทำความคิดทำเป็นความผิดกฎหมาย ผลของมันคือคุก ผลของมันคือคุก ถ้าเอ็งทำตามมันไป ผลของมันคือคุก แล้วมันดีหรือไม่ดีล่ะ มันไม่ดี อ้าว! ไม่ดี เอ็งจะทำไหมล่ะ
อ้าว! ตอนนี้เราปกติ ผลของมันคือเป็นคน แล้วผลของมันนะ ถ้าทำสิ่งที่ไม่ดี ผลของมันคือคุก แล้วเอ็งทำจะเข้าไปอยู่ในคุกไหม ถ้าไม่อยู่ ไม่อยู่เราก็ไม่ทำ ถ้าไม่ทำ นี่เห็นโทษของมัน ผลของมันคือคุก ผลของมันคือพ่อแม่เสียใจ ผลของมันคือพี่น้องเราจะกระทบกระเทือนไปหมด ผลของมันๆ พอมันคิดได้ มันวางๆๆ นี่ปัญญาอบรมสมาธิ
เราบอกว่า ปัญญาอบรมสมาธิมันยาก มันยากหมายความว่ามันต้องจับประเด็นได้ ถ้าจับประเด็นไม่ได้แล้วเดี๋ยวมันจะคิดเป็นเรื่องโลกๆ ไป ฉะนั้น บอกว่า ถ้าปัญญาอบรมสมาธิ เราคิดอะไรก็ได้ แต่เราใช้ปัญญาตามไป เราบอกว่ามันทำยาก มันทำยากหมายความว่า ถ้ามันทำ มันออกได้หลายทางไง จะออกไปทางโลกก็ได้ จะออกไปทางธรรมก็ได้ จะไปทางไหนมันออกได้หลายทาง
ถ้าออกได้หลายทาง ถ้ามีสติแล้วสติมันคุมนะ จะไปทางโลก ถ้ามันไปทางโลกด้วยเหตุด้วยผลนะ หมายถึงว่า ผลของมันคือคุก ถ้าสติเราตามทัน ใครจะไปอยากติดคุก ติดคุกนะ เราก็โดนจำกัดเสรีภาพอยู่แล้ว แล้วประวัติก็เสีย แล้วญาติพี่น้องมีปัญหา นี่พูดถึงผลของมันไง ถ้าผลของมันจะทำไหม ไม่ทำ ไม่ทำก็ปล่อย
ถ้าปัญญามันไล่ไป ไล่ไปทั้งหมด สุดท้ายแล้ว เอ็งไม่เคยคิดเรื่องอย่างนี้หรือ ก็คิดมาแล้วร้อยกว่าหน เป็นล้านๆ หน แล้วก็คิดอยู่อย่างนี้ แล้วถ้าคิดนะ เราฝากไว้เลย หลวงปู่หลุย เป็นธรรมของหลวงปู่หลุย ท่านบอก อารมณ์ความรู้สึกของเราเหมือนกับเสลด เสลด เราบ้วนเสลดทิ้งไป แล้วเราจะเอาลิ้นเราไปเลียเสลดที่พื้นไหม เห็นแล้วมันน่าขยะแขยงไหม เสลดเรา เราบ้วนทิ้งไป แล้วเราเอาลิ้นไปเลีย ใครทำได้ไหม
อารมณ์ความรู้สึกเหมือนเสลดที่มันเกิดกับใจ แล้วมันผ่านไปแล้ว เราก็กินอร่อยทุกวันเลย ทำไมเราไม่รังเกียจเหมือนเสลดบ้างล่ะ อารมณ์ไม่ดีที่มันเกิดกับจิต เวลาที่มันผ่านไปแล้วเราก็ยังไปคิดอยู่เรื่อยๆ ไปคิดก็เท่ากับไปเสวย ก็เท่ากับไปกินมัน เสลดที่เราคายทิ้งไป เราจะเอาลิ้นเราไปเลียกินไหม ไม่ เพราะมันเป็นสิ่งสกปรก แต่ความคิดที่มันอยู่กับเรา มันเกิดกับเรา มันสกปรกไหม ทำไมเราชอบคิดล่ะ นี่เป็นธรรมของหลวงปู่หลุย ท่านใช้คิดอย่างนี้ ท่านทำอย่างนี้ ท่านเป็นประโยชน์กับท่าน
อันนี้เหมือนกัน พูดถึงว่า ถ้าเราเริ่มต้นถ้ามันระแวง มันต่างๆ เราจะบอกว่า ธรรมดาเราปล่อยมันอิสระ แต่คราวนี้เรามาจำกัดวงมัน มันก็แสดงตัวอย่างนี้ นี่คือธรรมชาติของมัน นี่คือธรรมชาติของกิเลสมันคิดอย่างนี้ มันเริ่มหวาดเริ่มระแวง เริ่มทำให้เราสับสนไปหมดเลย คนปฏิบัติใหม่ๆ เป็นอย่างนี้ทั้งนั้น เหมือนนักกีฬาฝึกหัดใหม่ทำอะไรไม่ถูก นี่ก็นักปฏิบัติใหม่เป็นอย่างนี้ เพราะเป็นอย่างนี้ เราเป็นผู้ฝึกหัดใหม่ เราทำขึ้นไป พอเดี๋ยวเราชำนาญขึ้น ไอ้สิ่งนี้มันก็จะเบาลง จะดีขึ้น
แล้วไอ้ที่ว่ามีความคิดรุนแรงมีต่างๆ เราใช้ว่าพุทโธนี้เป็นพุทธานุสติ ถ้ามีสติปัญญาไล่ความคิดไป เป็น เป็นปัญญาอบรมสมาธิ แล้วทำของเราไป ทำของเราไปเพื่อเอาความสงบระงับ เพื่อเอาความเป็นจริงของเรา ปฏิบัติเพื่อค้นหาใจของเรา
ถ้าค้นหาใจของเราได้แล้วนะ ถ้าจิตสงบแล้วนะ เราพิจารณา พิจารณาเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง มันเป็นอีกสเต็ปหนึ่งเลย เป็นอีกสเต็ปหนึ่ง เป็นข้อเท็จจริง เป็นอะไรที่เกิดขึ้นจากการกระทำของเรา เป็นกิจจญาณ สัจจญาณ มีการกระทำของจิต แล้วจิตมีคุณธรรมขึ้นมา
อันนั้นจะเห็นเลยว่าศาสนาสำคัญอย่างไร การประพฤติปฏิบัติของพวกเรามันมีคุณสมบัติอย่างไร แล้วมันจะเป็นสมบัติในหัวใจเราสุดยอดขนาดไหน ถ้าปฏิบัติได้จริงนะ เราจะมีคุณธรรมในหัวใจของเรา อันนั้นเราจะซาบซึ้งในธรรมะขององค์สมเด็จพระ-สัมมาสัมพุทธเจ้า เอวัง