วัดหรือตลาด
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “สังฆทานเวียน”
กราบเรียนหลวงพ่อครับ ผมมีคำถามที่สงสัยอยู่ รบกวนขอความเมตตาหลวงพ่อให้ความเข้าใจที่ถูกต้องด้วยครับ
๑. วัดบางแห่งมีสังฆทานเวียนให้คนถวายปัจจัย (เงิน แล้วนำสังฆทานที่มีพระพุทธรูป ผ้าไตรจีวร ยารักษาโรค และของอื่นๆ เป็นต้น) นำไปถวายพระสงฆ์ ซึ่งเมื่อถวายเสร็จก็กลับมาเวียนเพื่อถวายใหม่ อย่างนี้ถูกหรือผิดอย่างไรครับ ควรทำหรือไม่ควรทำครับ
๒. การที่ผมขับรถไปทำงาน กลับบ้าน และสวดมนต์ไปในรถเพื่อระลึกถึงพระรัตนตรัย เพื่อให้เป็นที่พึ่งทางใจ เพื่อให้มีสติระลึกถึงพระรัตนตรัย ถือเป็นการปฏิบัติได้ไหมครับ เพราะเวลาขับรถส่วนใหญ่จะอยู่คนเดียว เป็นเวลาที่ไม่ต้องมีภาระทางครอบครัวให้ดูแลครับ
สุดท้ายนี้ ผมตั้งใจฟังธรรมะของหลวงพ่อเป็นประจำสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นเหมือนธรรมโอสถให้จิตใจของผมได้สงบร่มเย็นครับ กราบเท้าหลวงพ่อ
ตอบ : เขาว่าอย่างนั้นนะ อันนี้เป็นคำถามเป็นความสงสัย ถ้าฟังอยู่แล้วมันก็เป็นประโยชน์ไง ฟังอยู่แล้วเป็นประโยชน์ ถ้าเรามีความเชื่อถือศรัทธากัน เห็นไหม ถ้าในครอบครัวมันไว้วางใจกันได้ แต่ถ้ามีความหวาดระแวงกัน คนในครอบครัวเดียวกันก็ยังไม่ไว้วางใจกัน
นี่ก็เหมือนกัน เวลาฟังธรรมะว่ามันฟังเป็นประจำเลย สิ่งนี้มันก็เป็นที่พึ่งที่อาศัย เป็นเพื่อน เป็นที่เกาะยึดเหนี่ยวจิตใจ มันเป็นประโยชน์ เราว้าเหว่ เราไม่มีที่พึ่งที่อาศัย ถ้ามันมีที่พึ่งที่อาศัย นั้นเป็นประโยชน์กับเรา ถ้าฟังเทศน์ก็ฟังตลอด ฟังไปเรื่อยๆ ถ้ามีสติมีปัญญามันจะพัฒนาขึ้น ถ้าพัฒนาขึ้นแล้ว พอฟังเยอะเข้ามันก็เลยเกิดสงสัย
“๑. วัดบางแห่งมีสังฆทานเวียนให้คนถวายปัจจัย เงิน แล้วนำสังฆทานซึ่งมีพระพุทธรูป ผ้าไตรจีวร ยารักษาโรค และสิ่งของอื่นๆ เป็นต้น นำไปถวายพระสงฆ์ ซึ่งเมื่อถวายเสร็จก็กลับมาเวียนเพื่อถวายใหม่ อย่างนี้ถูกหรือไม่ครับ”
ถ้าอย่างนี้ถ้าเป็นทางโลก เห็นไหม คนที่จิตใจเขาหยาบๆ เขาบอกว่ามันของไม่ได้ใช้ เอามาทำเพื่อประโยชน์ ส่วนใหญ่จะพูดอย่างนั้น ของที่ไม่ได้ใช้เอามาทำเพื่อประโยชน์ไง
แต่ถ้าคนที่เขามีศรัทธามีความเชื่อ เขามีสัจจะ เขาเห็นว่าการกระทำอย่างนี้มันเหมือนกันการหลอกลวงตัวเอง เพราะของของเราไง ถ้าเขามาถวายเรา ถ้าของมันมีมากใช่ไหม เราก็สละไปสิ เราสละไปเพื่อวัดต่างๆ เพื่อไปวัดที่เขาอัตคัดขาดแคลน ไปที่ที่คนขาดแคลน เราทำได้ ถ้าเรามีสติปัญญาเราทำได้
แต่นี้เราไม่คิดอย่างนั้น เราคิดว่ามันเป็นของเล็กน้อย แต่ถ้าเอามาหมุนเวียนมันก็เป็นประโยชน์กับสังคมนี้ ว่าอย่างนั้นเลยนะ ถ้าเป็นประโยชน์กับสังคมนี้ เขาคิดได้แค่นั้นไง
แต่ถ้าคนที่ประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริงนะ เขาต้องมีสัจจะของเขา ทำอย่างไรถูกต้องชอบธรรม ถูกต้องชอบธรรมมันรู้ถูกรู้ผิด มันมีความละอาย มันทำอย่างนั้นแล้วมันเหมือนหลอกลวงตัวเองไง ถ้าหลอกลวงตัวเอง เขาไม่ทำกันอย่างนั้น ถ้ามันเป็นความจริงนะ
เขาบอกว่า “สิ่งที่เขามาถวาย มันถวายไว้มาก”
ฉะนั้น เวลาพระที่มีศักยภาพ คนเป็นที่ศรัทธาของชาวบ้าน ชาวบ้านเขามาถวาย ไอ้พระที่บวชใหม่ พระที่ประพฤติปฏิบัติเขาก็ขาดแคลนของเขา ขาดแคลนของเขานะ เขาได้รับสิ่งนั้นไป เขาก็จะใช้ของเขาจริงๆ ฉะนั้น เวลาพระที่เขาใช้จริงๆ เวลาเปิดมามีแต่ของเน่า ของเสีย ของหมดอายุ มันน่าสะเทือนใจ โลกนี้มันไม่เท่ากันไง บารมีของคนมันไม่เท่ากัน ผู้ที่มีก็มีซะเยอะเชียว ไอ้ผู้ที่ขาดแคลน ก็ขาดแคลนจนไม่มีจะใช้เชียว แต่ถ้าผู้ที่เขามีสติปัญญา เขาจะเจือจานของเขา
อย่างเช่น ของเรา เห็นไหม มหาจันทร์ อยู่วัดเทพศิรินทร์ เขาขนมาให้ ใส่รถปิกอัพมา เดี๋ยวคันรถหนึ่ง เดี๋ยวคันรถหนึ่ง ไอ้ของเราถ้าใครมาถวายเรา ส่วนใหญ่ไม่ค่อยกล้าเข้ามา ถ้าใครเอาสังฆทานมา จะถามว่าโยมมีเจตนาเอามาเอง หรือหมอดูให้มา ถ้าหมอดูให้มาเราบอกเราไม่รับ บอกว่าทำไมต้องให้หมอดูแนะนำมาด้วย แต่ถ้าเขาบอก หนูมีเจตนา หนูอยากทำบุญ เราก็รับ แต่เรารับแล้วเราใช้สอยหมดนะ รับแล้วเราแกะ รับแล้วเราจะแจกทาน เพราะว่าพระเราก็ใช้แค่ปัจจัยเครื่องอาศัยเท่านั้นน่ะ
มหาจันทร์ วัดเทพศิรินทร์เขาขนมาให้ เดือนสองเดือนมาคันรถหนึ่ง เดือนสองเดือนมาคันรถหนึ่ง เมื่อก่อนเขาคงคิดว่า ก็เต็มกุฏิเขาเหมือนกันเนาะ แล้วเขามาภาวนาที่นี่ เขามาเห็นว่าเราทำอย่างนี้ เขาก็เอามาให้เรา เดี๋ยวๆ มาคันรถหนึ่งนะ ปิกอัพ พูนมาเต็มเลย เอาผ้าใบปิดมาเลย แล้วมาถึงเราปั๊บนะ จบ นู่นชายแดน นู่นสังขละนู่น สวนผึ้งนู่น พวกทุกข์จนเข็ญใจ แจกหมดน่ะ แจกหมด เพราะอะไร
เพราะว่า หนึ่ง พระรับแล้ว พอพระรับแล้วมันเกิน ๗ วัน พอเกิน ๗ วัน ถ้ามันเป็นปลากระป๋องมันเป็นอาหาร มันหมดสิทธิ์แล้วแหละ พระฉันไม่ได้หรอก มันเป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ของที่ใช้ได้ก็ของวัตถุที่ใช้ได้ ของผ้าเผ้อนี่ใช้ได้ แต่ถ้าสิ่งใดเป็นอาหาร สิ่งใดต่างๆ ใช้ไม่ได้หรอก เพราะอะไร เพราะเรามีสัจจะ ถ้ามีสัจจะเราแจกหมดล่ะ
ฉะนั้น ผู้ที่เขามี เมื่อก่อนเขาคงจะในกุฏิจนเต็มกุฏิแหละ แต่ตอนนั้นเพราะว่าวัดเทพศิรินทร์ แล้วลูกศิษย์ลูกหาเขาเยอะ เพราะเขาบวชมาพรรษามากแล้ว ฉะนั้น คนที่เขาศรัทธาเพราะอะไร เพราะว่าเด็กวัยรุ่นแถวนั้นก็จะมาบวชวัดเทพศิรินทร์ แล้วเขาเป็นคนดูแลพระ
ฉะนั้น เขาก็จะรู้จักญาติโยมมาก แล้วเขาก็จะพามาที่นี่เหมือนกัน แต่ของไอ้พวกเครื่องสังฆทาน เดือนสองเดือนคันรถหนึ่ง เดือนสองเดือนคันรถหนึ่ง แล้วไม่เหลือ แจกหมด จะบอกว่าแจกไม่พอด้วย ต้องซื้อเองต่างหาก สั่งข้าวสารนี่มามหาศาล แจกอย่างเดียว แจกอย่างเดียว
เพราะคนทุกข์คนจนนะ หัวใจมันว้าเหว่ แล้วถ้าใครมีคนมายื่นมือให้ เขาจะอบอุ่นหัวใจว่า เขาเกิดมาชาตินี้ก็ยังมีพรรคมีพวก มีผู้ที่มาเห็นใจเขา ถ้าเขาอบอุ่นหัวใจของเขา เขาจะอยู่ของเขาด้วยไม่ว้าเหว่ เราคิดอย่างนั้นไง ข้าวของเล็กน้อยทั้งนั้นน่ะ น้ำใจ น้ำใจของคน เราดูแลเขา เราเจือจานเขา ถ้าเรามีเท่าไรเราก็แจกจ่ายเท่านั้น พูดถึงว่าถ้ามันเป็น มันเป็นความจริงไง
ฉะนั้น วัดบางวัดที่เขาทำอย่างนั้น เขาทำอย่างนั้นเพราะว่าจิตใจเขาเป็นอย่างนั้น ถ้าจิตใจเขาเป็นอย่างนั้นนะ เพราะการบริหารทางโลกไง บริหารทางโลก ตั้งกรรมการวัดขึ้นมา เห็นไหม วัดต้องหาปัจจัย หาเงินไว้ใช้หมุนเวียนในวัด พอใช้หมุนเวียนในวัด มันก็เลยมีตลาดนัด มีสิ่งใดที่เป็นเรื่องการธุรกิจ มันก็เลยกลายเป็นตลาด ไม่ใช่วัด
ถ้าเป็นวัด เห็นไหม ดูเป็นวัด เห็นไหม ถ้าเป็นวัดนะ ยิ่งหลวงปู่ฝั้นท่านพูด วัดก็คือวัดใจ วัดก็คือข้อวัตรปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าศีล สมาธิ ปัญญา แล้วถ้าจิตใจของคนมันอบอุ่น จิตใจของคนเชื่อมั่น มันมีค่ากว่าสิ่งที่เป็นตลาดนัด มีค่ากว่าสิ่งที่หาปัจจัยมาหมุนเวียนในวัดไหม ถ้าในวัดมันจะอัตคัดขาดแคลน แต่พระที่ประพฤติปฏิบัติรื่นเริง อาจหาญ มีความสุขในใจ คนที่เขามาอยู่ในวัดมันมีคุณค่ามากกว่านั้น
เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ในป่า เวลาตรัสรู้ ตรัสรู้ในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาเทศนาว่าการได้ปัญจวัคคีย์ ได้ยสะ ได้ชฎิล ๓ พี่น้อง เอหิภิกขุบวชให้เอง ได้เป็นพระอรหันต์ทั้งหมด
สิ่งที่เป็นพระอรหันต์คือน้ำใจ สัจธรรมอันนี้เป็นที่พึ่ง ศาสนทายาทจะมีหลักมีเกณฑ์ในหัวใจ สอนเทวดา อินทร์ พรหมก็ได้ สอนใครก็ได้ แล้วกับไอ้ปัจจัยเครื่องอาศัย ไอ้พวกถังสังฆทานเนี่ย มันมีค่าเท่ากันไหม มันแตกต่างกันมาก
ฉะนั้น บอกว่า ถ้าเขาจะไปวัดหรือไปตลาด ถ้าไปตลาด ตลาดอะไรล่ะ เขาชื่อวัดนะ เปลี่ยนจากวัดเป็นตลาด ถ้าเป็นตลาดมันก็เป็นตลาดอย่างนั้น ถ้าเอาโลกเป็นใหญ่ แต่ถ้าเอาธรรมเป็นใหญ่ วัดคือวัดใจ วัดคือสิ่งที่สงบสงัด วัดคือสิ่งที่อยู่ของอารามิกะ ไม่มีบ้านไม่มีเรือน เขามาอาศัยอยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ไม่ใช่ว่าจะสร้างวัดให้เป็นตลาด แล้วเป็นตลาดก็เป็นตลาดอย่างนั้นน่ะ พูดถึงว่าถ้าเป็นตลาดนะ
ฉะนั้น จะบอกว่ามันเป็นปัญหาสังคม ไม่จบไม่สิ้นหรอก เพราะว่าเวลาผู้ที่เข้ามาบวช ใครมีวุฒิภาวะ หลวงตาเวลาท่านสอนพระ สอนพระ ท่านสอนผู้นำไง ท่านห่วงมาก ท่านห่วงผู้นำ ถ้าผู้นำนะ สร้างพระได้องค์เดียวในทางสังคมมันจะเป็นประโยชน์มหาศาลเลย ผู้นำ นำไปในทางไหน โคนำฝูง นำฝูงโคนั้นขึ้นฝั่ง โคนำฝูง เห็นไหม สังฆทานเวียนไปเวียนมา โคนำฝูงนำฝูงโคนั้นไปวังวนนั้น น้ำวนนั้นดูดตายหมดเลย
ฉะนั้น เวลาดูดตายหมดเลย เขาเป็นพระนะ เขาเป็นวัดด้วย แล้วเขาเป็นผู้นำสังคมด้วย ทำไมทำตัวอย่างนั้น ถ้าเราจิตใจอ่อนด้อย เราก็เห็นกับเขาว่า เออ! ถูกต้อง เขาทำดี เพราะอะไร เพราะวัดเชิดหน้าชูตา วัดมีเงินทองบำรุงรักษา เราไปชอบตรงนั้นไง
แต่เราไปดูวัดสิ วัดที่สงบสงัด วัดที่เงียบ เอ๊ะ! วัดนี้เจ้าอาวาสไม่มีความสามารถ ไม่ทำให้วัดเจริญรุ่งเรือง เราไปมองกันตรงนั้นไง เราไม่ใช่เวลาทุกข์เวลายากก็ไปหาท่านสิ ท่านตอบอะไร ถ้าเวลาทุกข์ยากเข้าไปหาวัดที่เป็นตลาด อู๋ย!ทำสังฆทาน ๕ ชุดก็จบไง
แต่ถ้าไปวัดที่ประพฤติปฏิบัตินะ ท่านจะย้อนกลับมาให้ดูใจเราเลย ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ทุกอย่างสำเร็จลงด้วยหัวใจ หัวใจเป็นคนคิด หัวใจเป็นคนปรารถนา หัวใจเป็นคนกระทำ ถ้าหัวใจมันดี หัวใจมันมั่นคงขึ้นมา มันเป็นประโยชน์กับตรงนั้น
ศาสนาอยู่ตรงนี้ ศาสนา ศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เทศน์ปัญจวัคคีย์เป็นพระอรหันต์ เทศน์ยสะเป็นพระอรหันต์ เทศน์บริวารยสะเป็นพระอรหันต์ ไปเทศน์ชฎิล ๓ พี่น้องเป็นพระอรหันต์ เป็นพระอรหันต์ทั้งหมดเลย
แล้วไอ้ที่ว่าเอามาเวียน สังฆทานเวียนมันจะมีคุณค่าอะไร ถ้าไม่มีคุณค่ามันก็จบ เห็นไหม เราจะเอาวัด เราไม่เอาตลาด ถ้าจะเอาวัดไม่เอาตลาด เราก็ต้องพิจารณาของเรานะ
“๒. การที่ผมขับรถไปทำงาน กลับบ้าน แล้วสวดมนต์ในรถเพื่อระลึกถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งทางใจ เพื่อให้มีสติระลึกถึงพระรัตนตรัย เป็นการปฏิบัติหรือไม่ เพราะการปฏิบัติอยู่ในรถคนเดียว”
ได้ ถ้าสวดมนต์กำหนดพุทโธ เราทำของเราได้ แต่ให้มีสติมีปัญญานะ อย่าให้วูบไป อย่าให้ลงลึกไป ถ้าลงลึกไป แต่มันน้อยที่ว่าจะลงลึกขนาดนั้น ฉะนั้น เราจะบอกว่าได้ แต่ได้แล้วมันก็ต้องมีสติปัญญาไง ถ้ามันจะลงสมาธิ ลงสมาธิขนาดที่ว่าจะไม่รับรู้อะไร มันมีของมันได้ ถ้ามีได้เราก็จอดลงข้างทางซะ
ฉะนั้น จะบอกว่า “สิ่งที่เขาขับรถไป แล้วเขาสวดมนต์ไป อย่างนี้ทำได้หรือไม่ เป็นการปฏิบัติธรรมหรือไม่”
เป็น เป็นการปฏิบัติธรรม ถ้าเป็นการปฏิบัติธรรมเราต้องมีสติด้วย ถ้ามีสติ ถ้าจิตใจมันจะวูบ จะวูบ เราไม่ปล่อยขนาดนั้น เราต้องมีสติไง เหมือนกินข้าว กินข้าวกินพออิ่มสำราญก็สุขนะ กินมากเกินไปมันก็จุกเสียด กินน้อยเกินไปมันก็ไม่อิ่ม
นี่ก็เหมือนกัน ในการประพฤติปฏิบัติในรถของเรา อยู่คนเดียวเราก็ดูแลรักษาใจของเรา เราทำของเราให้ดีขึ้น แต่ถ้ามันจะวูบ มันจะอะไรไป เราก็ตั้งสติไว้ มันมีเป็นไปได้ ถ้าเป็นไปได้เราก็เปลี่ยนแปลงของเรา เราทำของเรา เพื่อประโยชน์กับเรา นี่พูดถึงข้อที่ ๒. จบ
ถาม : เรื่อง “ขอยกเลิกคำถามเดิมค่ะ”
ตอบ : แล้วก็มาถามคำถามใหม่ เพราะคำถามเดิมเขาเขียนมา ๔ - ๕ หน้า คำถามใหม่ก็เขียนมาอีก ๔ - ๕ หน้า มันก็เลยกลายเป็นสิบกว่าหน้า ก็เลยจบ จบหมายความว่า คำถามมันเป็นคำถาม เพราะคนผู้ถามสงสัย สงสัยในชีวิตของเรา สงสัยในการประพฤติปฏิบัติของเรา สงสัยอำนาจวาสนาของเรา สงสัยในตัวเราไปทั้งหมดเลย มันเป็นการสับสนวุ่นวายไปหมดเลย
ถ้ามันสับสนวุ่นวาย เราเป็นชาวพุทธนะ ชาวพุทธ เวลาความคิดของเราที่มันวุ่นวายอยู่นี่ เขาเรียกไอ้บ้าสังขาร ดูสิ ดูคนบ้า มันหอบเก็บของมันผูกในตัวนะ แบกหามไปไม่มีวันจบวันสิ้น
นี่ก็เหมือนกัน เวลาจิตใจเราก็สับสน พอสับสนขึ้นมา ธรรมะของหลวงพ่ออย่างนั้น ธรรมะของหลวงพ่ออย่างนี้ ถ้าเป็นธรรมะนะ เป็นคติธรรม มันเป็นประโยชน์ มันเป็นประโยชน์ เราเอาสิ่งนี้มาเป็นประโยชน์ เป็นประโยชน์ หมายความว่า เวลาระลึกสิ่งใดไม่ได้
เวลาหลวงตาท่านอาศัยคำสอนหลวงปู่มั่น เวลาท่านบอกว่าหลวงปู่มั่นเป็นครูบาอาจารย์ของท่าน แล้วหลวงปู่มั่นท่านก็นิพพานไปแล้ว เราไม่มีที่พึ่ง เราไม่มีที่พึ่ง เราไม่มีผู้ปรึกษา สุดท้ายแล้วท่านก็ระลึกถึงคำสั่งสุดท้ายของหลวงปู่มั่น“อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ จะไม่เสีย”
อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ ท่านก็ยึดผู้รู้ ท่านยึดพุทโธของท่านไว้ แล้วท่านประพฤติปฏิบัติไป ถ้ามันสงสัยก็กลับมาที่นี่ ถ้ามันมีสิ่งใดที่เป็นไปไม่ได้ก็กลับมาที่นี่ กลับมาที่นี่ กลับมาพุทโธ กลับมาใช้ปัญญาอบรมสมาธิให้จิตมันสงบ พอจิตสงบ ไตร่ตรองดูแล้วมันควรทำสิ่งใด ก็ออกไปทำใหม่ ถ้ามันไปแล้วมันจนตรอกก็กลับมาผู้รู้ กลับมา ท่านยึดคำสั่ง คำสั่ง มรดกธรรมของหลวงปู่มั่นเลย “อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ” เรากลับมาที่นี่ เรากลับมาที่นี่
นี่ก็เหมือนกัน ขอยกเลิกคำถามแรก แล้วก็มาคำถามใหม่ ก็บอกว่ามาคิดได้ว่าหลวงพ่อพูดอย่างนั้น หลวงพ่อเป็น อันนี้เราเป็นคติธรรมได้ เราเป็นคติธรรมได้ แต่เป็นของหลวงพ่อนะ มันไม่ใช่เป็นของเรา ถ้าเป็นของหลวงพ่อ หลวงพ่อพูดสิ่งใดไว้ เพราะเราเป็นลูกศิษย์ เห็นไหม ครูบาอาจารย์ท่านพูดสิ่งใดมันเป็นคติธรรม เราก็ระลึกสิ่งนั้นได้ ระลึกสิ่งนั้นได้ พอระลึกสิ่งนั้นได้มันสดๆ ร้อนๆ พอระลึกบ่อยๆ เข้ามันก็จืด พอจืดไปก็คิดไปอย่างอื่น พอไปจนตรอก กลับมาคิดใหม่ อู้ฮู! มันสดๆ ร้อนๆ อีกแล้ว
นี่ไง ถ้ามันเป็นปัจจุบันมันจะสดๆ ร้อนๆ สดๆ ร้อนๆ คือมันยับยั้งความคิดได้ สดๆ ร้อนๆ เพราะมันดูแลตัวเราได้ ถ้ามันสดๆ ร้อนๆ ถ้ามันสดๆ ร้อนๆ มันก็เป็นประโยชน์กับเราไง แต่ถ้ามันใช้หรือมันจืดไป พอมันใช้บ่อยเข้า กิเลสมันก็จืด จืดแล้วเราก็หาข้อคติธรรมข้อใหม่ แล้วเราก็ประพฤติใหม่ เราตั้งสติไว้ เรามีปัญญาไว้
ถ้าต้องทำหน้าที่การงานโลก เราก็ทำของเรา เราทำของเรานะ เพราะชีวิตนี้ เห็นไหม คนเราจะมีคุณค่าต่อเมื่อมีผลงาน มีการกระทำงานนั้นประสบความสำเร็จ ทำงานนั้นด้วยสติด้วยปัญญา ดูสิ ในสังคม ถ้าใครรับผิดชอบ ใครทำงานดี ใครทำแล้วเป็นประโยชน์ เขาว่าคนคนนั้นรับผิดชอบ เป็นคนมีคุณภาพ เราก็อยากเป็นคนอย่างนั้น
แล้วเวลากิเลสมันมายุมาแหย่ มาหลอกมาลวง ถ้าไม่ศึกษาธรรมะเลยก็ไม่เป็นไร พอศึกษาธรรมะแล้ว ศีล ๕ ก็ถือไม่ได้ เพราะเราทำธุรกิจการค้า เราทำสิ่งใดก็ไม่ได้เพราะมันเป็นการทุจริต แต่เมื่อก่อนไม่ศึกษาธรรมทำได้ ไม่ศึกษาธรรมทำอะไรได้หมดเลย แต่พอมาศึกษาธรรมะนู่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ได้ ไม่ได้ไปทุกอย่างเลย เวลากิเลสมันสอดแทรกมามีปัญหาทั้งนั้น
เราตั้งสติ แล้วก็ดูแลหัวใจของเรา ถ้าเราทำหน้าที่การงานเสร็จแล้ว เราก็มาประพฤติปฏิบัติ เวลาเราปฏิบัติ เห็นไหม ถ้างานที่ไม่ละเอียดนักเราก็พุทโธได้ ดูแลหัวใจของเราได้ รักษาใจของเรา แล้วพอทำงานก็ทำให้มันจริงจังของเรา เพื่อประโยชน์กับเรา เห็นไหม ไม่สับสน ไม่วุ่นวาย มันก็จะจบได้
ถ้ามันสับสน มันสับสนเพราะอะไร เพราะสติปัญญามันอ่อนด้อย พอสติปัญญาอ่อนด้อย กิเลสมันนี่ฉลาดนะ มันก็เอาธรรมะมาแหย่เรา “ไหนว่าจะปฏิบัติธรรม ปฏิบัติธรรมแล้วไม่ได้ประโยชน์ แสดงว่าคนคนนี้ไม่มีคุณภาพ” มันมาตอกย้ำ ตอกย้ำ เราปฏิบัติงานเราก็ล้นมืออยู่แล้ว แล้วกิเลสมันยังมาซ้ำเติมนะ ทำก็ไม่ได้ผล ทำงานทางโลกก็ไม่ได้ ปฏิบัติก็ไม่ได้ อู๋ย! ทำอะไรไม่ได้เลย แสดงว่าเป็นคนไม่มีคุณภาพ มันยิ่งคิด มันยิ่งทำให้ต่ำต้อย มันยิ่งคิด ยิ่งทำให้เราเจ็บช้ำ
แต่ถ้าเราวางหมดเลย เรากลับมาพุทโธ กลับมาผู้รู้ กลับมาพุทโธของเรา แล้วถ้าคิดได้ มีสติปัญญาได้ อย่างที่คติธรรม เห็นไหม บอกว่าสุดท้ายแล้ว ขอคำชี้แนะ พอสุดท้ายแล้วบอก เดี๋ยวนี้ไม่ต้องชี้แนะแล้ว ธรรมมันเกิดเลย หลวงพ่อว่าอย่างนั้น หลวงพ่อว่าอย่างนี้ นี่เป็นของหลวงพ่อ หลวงพ่อพูดไว้เพื่อเป็นสาธารณะ เห็นไหม ธรรมะเป็นธรรมชาติ มันเป็นสาธารณะ
แต่ถ้าของเราธรรมะเป็นปัจจุบัน ถ้าธรรมะเป็นปัจจุบัน มันระลึกสิ่งใดได้ เฮ้อ! พอระลึกได้เราก็อยู่กับธรรมไง อยู่กับการระลึกนั้น มันก็ไปคิดอย่างอื่นไม่ได้
แต่ถ้าเราไม่ระลึกมันก็คิดอย่างอื่นเต็มไปหมด ไปกว้านอย่างอื่นมาหมดเลย แล้วตัวเองนึกอะไรไม่ได้เลย แต่ถ้ามันระลึกอะไรได้ปั๊บ มันไม่ไปกว้านเอาสิ่งใดมา เฮ้อ! สบายแล้ว พอสบายก็เรามีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด ถ้ามีธรรมเป็นที่พึ่งก็เป็นประโยชน์กับเรา ถ้าเป็นประโยชน์กับเราทำอย่างนี้ ถ้าไม่สับสนเนาะ
ฉะนั้น สองคำถาม ๑๐ กว่าหน้า จบเลย เพราะปัญญาเยอะ ไปขนมาเต็มเลย ฉะนั้น วางสิ่งนั้นไว้ วางสิ่งนั้น ทำของเรา เราไม่สับสนของเรา เราทำเพื่อประโยชน์กับเรา มันจะเป็นประโยชน์กับเรานะ พูดถึงว่าคำถาม ทีนี้คำถามต่อไปนะ
ถาม : เรื่อง “เจริญทั้งคู่ได้จริงหรือ”
ปัจจุบันมีกระแสสอนว่า เจริญทั้งทางโลกและทางธรรมเป็นไปได้หรือไม่ คำสอนนี้ถูกหรือไม่คะ สงสัย เพราะขนาดการนั่งสมาธิให้สงบ ปลีกวิเวกอยู่คนเดียว กว่าจะสงบได้บ้าง ไม่ได้บ้าง หรือแค่ศีลด่างพร้อยไม่ถึงผิดศีล สมาธิยังเสื่อม นี่ขนาดยังไม่ถึงขั้นวิปัสสนา แล้วถ้าจะให้เจริญทางโลก ทางหน้าที่การงาน ต้องพบผู้คนมาก เพราะเข้าสังคมจะเจริญทางธรรมได้หรือไม่คะ มีวิธีวางใจหรือทำอย่างไร ขอบคุณพระอาจารย์ค่ะ
ตอบ : นี่เขาถามนะ ไม่รู้ใครไปสอนมา บอกว่าเจริญทั้งทางโลกและทางธรรม
หลวงตาท่านสอนว่า ถ้าเจริญทางโลก ทางยุโรป ทางตะวันตก เขาเจริญทางวัตถุทางโลกมาก เจริญทางวัตถุแล้วคนที่จิตใจเขาจำนนกับสิ่งนั้น เขาก็ว่าเขาพอใจกับสิ่งนั้น แต่คนที่จิตใจเขาสูงส่งกว่า เขาเจริญทางวัตถุเต็มที่แล้ว เขาบอกว่าเจริญทางวัตถุขนาดไหน มันก็เอาแต่ความทุกข์ เอาแต่ไฟมาเผาลนตน เขาจะหาทางออก
ตอนนี้พระฝรั่ง ฝรั่งมาบวชพระ ฝรั่งถึงมาประพฤติปฏิบัติ ฝรั่งเขาก็ศึกษาศาสนา เขาศึกษาศาสนา การทำสมาธิเลย เขาอยากมีสมาธิ เขาอยากจะมีที่พึ่งทางใจ นี่เจริญทางธรรม
แต่ถ้าเจริญทางโลก เจริญทางโลกด้วย เจริญทางธรรมด้วย มันก็เจริญได้โลกๆ เท่านั้นน่ะ มันเจริญทางธรรมได้ยาก ถ้าเจริญทางธรรม เห็นไหม ส่วนใหญ่แล้วถ้าเจริญทางธรรม เขาจะขวนขวาย เขาจะวางทางโลก พยายามจะวางทางโลก เพราะทางธรรมมันละเอียดลึกซึ้งกว่านั้นเยอะมาก
ฉะนั้น “เจริญทั้งทางโลกและทางธรรม เป็นไปได้หรือไม่”
เพราะคิดว่าตอนนี้ที่ว่าการประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวันก็เพราะเหตุนี้ เพราะว่าในการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน ห่วง ห่วงแต่ความเป็นอยู่ ห่วงแต่ชีวิตประจำวันไง แล้วเวลาปฏิบัติธรรม ปฏิบัติธรรม ก็ปฏิบัติธรรมเพื่อชีวิตประจำวัน
แต่ถ้าในการปฏิบัติธรรม ปฏิบัติธรรม เห็นไหม คนที่อยู่ทางโลก เราเกิดมาเป็นชาวพุทธ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา ถ้าเรามีอำนาจวาสนาจะออกประพฤติปฏิบัติโดยตรง เราก็พยายามขวนขวายประพฤติปฏิบัติของเราเพื่อบรรเทาทุกข์ เพื่อเป็นที่พึ่ง เพื่อเป็นที่พึ่งอาศัย เพื่อให้ไม่ทุกข์จนเกินไปไง
ไม่ทุกข์จนเกินไปเพราะคนที่มีครอบครัวแล้วส่วนใหญ่จะบอกว่าเสียดายมาก เสียดายมาก ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติ เวลามาบวชพระ มาบวชพระพรรษาเยอะๆ ขึ้นมา อืม! เขามีครอบครัวเป็นอย่างไร ก็สงสัยเหมือนกัน ก็ยังอยากจะไปสงสัยกับเขา
แต่ถ้าคนมีอำนาจวาสนา เห็นไหม ครูบาอาจารย์ของเราหลายๆ องค์มากเลย บวชมาตั้งแต่เป็นเณร ตั้งแต่เป็นเด็กมาเลย ถ้าเป็นเด็กมาเลย เขาไม่เคยมีชีวิตทางโลกเลย ตั้งแต่เป็นเณรมา แต่ครูบาอาจารย์ท่านฝึกหัด ท่านดูแลรักษามา จนเป็นครูบา-อาจารย์ จนมาปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติ เห็นไหม ถ้าเจริญทางธรรม เจริญทางธรรมไง
แต่ถ้าเขาบอกเจริญทางโลกด้วย เจริญทางธรรมด้วย แต่คนถามเขาบอกว่า มันเป็นไปได้ยาก เพราะ เห็นไหม เพราะขนาดว่าศีลด่างพร้อย ไม่ถึงกับผิดศีล สมาธิยังเสื่อม ถ้าสมาธิยังเสื่อม กรณีอย่างนี้มันก็อยู่ที่วาสนาของคนเหมือนกันถ้าวาสนาของคนเหมือนกัน ชำนาญในวสี หลวงปู่เจี๊ยะท่านสอนประจำ ชำนาญในวสี ชำนาญในการเข้าและการออก เริ่มต้นประพฤติปฏิบัติใหม่ เป็นสมาธิก็เป็นได้ยาก เวลาเป็นสมาธิแล้วจับต้นชนปลายไม่ถูกไง เพราะว่ามันไม่มีความชำนาญไง
แต่ถ้ามีความชำนาญ เห็นไหม ถ้าเป็นสมาธิ เราทำอะไร จิตมันสงบได้ จิตต่างๆ ได้ เราก็จะทบทวนเลยว่าเรากำหนดลมอย่างไร เรากำหนดสมาธิอย่างไร เรากำหนดสติอย่างไร เราทำอย่างไรมันถึงสงบได้ แล้วพอจะทำครั้งต่อไปมันเป็นสัญญา พอเป็นสัญญาขึ้นมา ทำอย่างไรก็ไม่ได้ ทำอย่างไรก็ไม่ได้ แต่พอปล่อยวางปั๊บ มันได้อีกแล้ว พอปล่อยวางมันได้ ปล่อยวางมันได้ ทำ อ๋อ! เพราะเรารู้เท่าไม่ถึงการณ์ คิดว่ามันจะได้อย่างนั้น มันจะเป็นอย่างนั้น
แต่ถ้าเราเป็นปัจจุบัน เพราะการเข้าสมาธิแต่ละหนมันไม่เคยเหมือนกันทั้งนั้น แต่ด้วยความชำนาญไง ด้วยความชำนาญเขาจับมับๆ เข้ามาเลย พอจิตมันจับ จับแล้วใช้ปัญญามันก็ปล่อย ปล่อยอย่างหยาบ จากละเอียดเข้ามา พิจารณาอย่างละเอียดมันก็ปล่อยเข้ามา ถ้ามันปล่อยๆๆ ปล่อยจนไม่มีอะไรเลย นั่นน่ะสมาธิ
ถ้าเป็นสมาธิ แล้วพอมันคลายออกมา เราก็จับเข้าไปใหม่ แล้วก็คลายออกมา แล้วก็จับเข้าไปใหม่จนชำนาญ พอชำนาญขึ้นไปแล้ว อ๋อ! สมาธิ เสื่อมให้เสื่อมไป เสื่อมไปก็ทำใหม่ เพราะเราตักน้ำใส่ภาชนะ พอมันเต็ม เราใช้สอยไปมันก็หมด เดี๋ยวก็ตักเติม ตักเติม มันก็มีของมันอยู่อย่างนั้นน่ะ สมาธิเป็นอย่างนี้ เพราะสมาธิมันเป็นสิ่งมีชีวิต มันไม่ใช่วัตถุ เอาไปตั้งไว้ไหนก็เป็นอย่างนั้น ไม่ใช่ มันเป็นสมาธิอย่างนั้น
ฉะนั้น เขาบอกว่า พอจิตมันด่างพร้อย จิตมันอะไร ศีลด่างพร้อย ศีลอะไร มันยังเสื่อม ถ้ายังเสื่อม เราเข้าใจได้ไงว่าปฏิบัติ จะว่าองค์ความรู้ องค์ความรู้หมายความว่าปฏิบัติไปแล้วมันมีความจริงของมัน ถ้าความจริง มันจับต้องความจริงอย่างนี้ได้
ถ้าจับต้องความจริง นี่ไง ที่ว่าสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงที่มันมีความจริง ไอ้ที่ว่ามันไม่มีสิ่งใดเลย แล้วก็คิดกันไปเอง จินตนาการไปเองนะ ทางโลกก็เจริญ ทางธรรมก็เจริญ ทางโลกเจริญก็นี่เป็นวัดหรือเป็นตลาดไง ให้มันเจริญทางโลกไง แล้วก็เจริญทางธรรมด้วย ทางธรรมก็บอกภูมิใจ ภูมิใจว่าทำได้ เจริญทั้งหมดเลย แต่มันไม่มีอะไรเป็นข้อเท็จจริงเลย
แต่ถ้าเป็นข้อเท็จจริงนะ ครูบาอาจารย์น่ะ ดูสิ หลวงตาเวลาท่านพูดถึงหลวงปู่ลี เศรษฐีธรรม เศรษฐีธรรม เศรษฐีธรรมมันอยู่ที่ไหนล่ะ เศรษฐีธรรม เห็นไหม หลวงตาท่านบอกว่า ถ้าท่านไม่ประกาศว่าหลวงปู่ลีเป็นเศรษฐีธรรม ใครจะรู้ได้หลวงปู่ลีเป็นเศรษฐีธรรม เพราะเศรษฐีธรรมไม่มีใครรู้ได้หรอก คนที่รู้ได้คืออาจารย์ เพราะหลวงตาท่านก็เป็นเศรษฐีธรรมเหมือนกัน เพราะท่านมีคุณธรรมในใจของท่านเหมือนกัน เพราะท่านมีความรู้ในใจอันนั้น เวลาท่านคุยธรรมะกัน ความเสมอกัน ความรู้เท่าถึงกัน ก็เป็นเศรษฐีธรรมเหมือนกัน
ถ้าเศรษฐีธรรม เศรษฐีธรรมมันเศรษฐีธรรมในหัวใจนั้น มันไม่ใช่ว่า โอ้โฮ! ทางโลกก็เจริญ ถ้าจะเป็นเศรษฐีธรรมต้องมีเพชรนิลจินดา ต้องมีวัตถุเต็มที่แล้วเราถึงจะมีคุณธรรมขึ้นมา เพราะเจริญทางโลกไง ทางโลกเขาเป็นเพชรนิลจินดาใช่ไหม เป็นเงินเป็นทองใช่ไหม เป็นข้าวของเงินทอง เยอะแยะไปหมดเลย แล้วคนคนนั้นถึงจะบรรลุธรรม เป็นทั้งเศรษฐีโลกด้วย เป็นทั้งเศรษฐีธรรมด้วย นี่ความคิดทางโลก
แต่หลวงตาท่านบอกว่า หลวงปู่ลีเป็นเศรษฐีธรรม เศรษฐีธรรมคือมีคุณธรรมในหัวใจ แล้วถ้ามีคุณธรรมในหัวใจนะ หลวงปู่ลีท่านดูแลพระเยอะ พระที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา จะพระเล็ก พระน้อยก็แล้วแต่ ไปขอความเมตตาจากท่าน หลวงปู่ลีท่านจะไปสร้างกุฏิ สร้างวิหารให้กับพระที่สร้างเนื้อสร้างตัวใหม่ๆ ท่านจะไปดูแลตลอด เพราะจิตใจท่านกว้างขวาง กว้างขวางแบบใต้ดินนะ ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครรู้ไม่มีใครเห็น เว้นไว้แต่ลูกศิษย์ของท่าน แล้วคนที่เคารพบูชาท่าน
วัดที่สร้างใหม่ วัดที่สร้างใหม่วัดไหนก็แล้วแต่ เป็นลูกศิษย์ลูกหาสายบ้านตาดไปขอร้องท่าน ท่านจะไปทำให้หมดล่ะ ท่านไปทอดผ้าป่าให้ ท่านไปสร้างศาลาให้ ท่านไปสร้างกุฏิให้ ท่านไปสร้างให้ทั้งนั้นเลย ทั้งๆ ที่ใจท่านเป็นเศรษฐีธรรมนะ แต่ท่านยังสงเคราะห์ สงเคราะห์สงหาหมู่คณะ สงเคราะห์สงหาภิกษุผู้บวชใหม่ สงเคราะห์สงหาผู้ที่จะหาแนวทางปฏิบัติ แล้วทำแล้วก็จบ ไม่เคยจะไปเอากิตติศัพท์ กิตติคุณจากใคร ไม่เคยเลย ท่านทำแล้วท่านก็จบ เห็นไหม นี่เศรษฐีธรรม นี่พูดถึงว่าเวลาเจริญ เจริญทางธรรมไง
เขาบอกว่าทางโลก เขาบอกเจริญทางโลกด้วย ทางธรรมด้วย เราต้องแยกไว้ ต้องแยกไว้ มันเป็นจริตนิสัยของคน เป็นอำนาจวาสนาบารมีของคน แต่ถ้าของเรา แหม! ของเราแล้ว ถ้าของเรา หัวใจของเรา เราทำความเป็นจริงของเรา เราไม่ใช่ไปตามกระแสสังคม
อุปาทานหมู่ หมู่คณะ หมู่ชนอย่างนั้น มีความเข้าใจอย่างนั้น มีความเห็นอย่างนั้น ใครมีความรู้ความเห็นในกลุ่มชนนั้นก็เป็นอุปาทานหมู่ เป็นอุปาทานหมู่คิดเองเออเอง แล้วก็นั่งคุยกันเอง แล้วก็ยิ้มแย้มแจ่มใสกันเอง แล้วไม่ให้ใครตรวจสอบนะ ให้อยู่ในความเห็นของกลุ่มชนนั้น มันเป็นอุปาทานหมู่ พออุปาทานหมู่ก็คิดเหมือนกัน ทำเหมือนกันไง
แต่ถ้าเป็นหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์เรา หลวงตาท่านสอนพระ สอนเณร ไม่ใช่อุปาทานหมู่ กิเลสในใจของแต่ละคน กิเลสในใจของแต่ละคนมันต้องมีมรรคมีผลเข้าไปชำระล้างกิเลสอันนั้น ท่านถึงได้บอกว่าหลวงปู่ลีเป็นเศรษฐีธรรม เศรษฐีธรรม เพราะว่าหลวงปู่ลีท่านเป็นคนสั่งสอนเอง ท่านเป็นคนชี้แนะเอง ท่านเป็นคนให้หลวงปู่ลีเก็บกวาดในหัวใจของหลวงปู่ลี สะอาดหมดท่านถึงเป็นเศรษฐีธรรม
ถ้าเศรษฐีธรรมมันเกิดขึ้น เศรษฐีธรรมมันเกิดขึ้นจากภายใน แล้วแต่ละองค์ เห็นไหม ขยะหรือความผูกพันของใจแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน กิเลสหยาบ กิเลสละเอียดต่างๆ กัน ครูบาอาจารย์ก็สอนแตกต่างกันไป เห็นไหม ถ้าเป็นความจริงอย่างนี้ไง
ฉะนั้น ถ้าเขาบอกว่า “มันเจริญทั้งทางโลกด้วย เจริญทั้งทางธรรมด้วย”
มันเป็นไปได้ยาก เราจะบอกว่าเป็นการโฆษณาชวนเชื่ออย่างหนึ่ง แล้วสังคมไทย สังคมไทยนะ ที่ว่าสังคมอ่อนแอ สังคมอ่อนแอเขาก็เชื่อถืออย่างนั้น จะประพฤติปฏิบัติขึ้นมาก็อยากจะมีข้าวของเงินทองเยอะๆ อยากจะมีกิตติศัพท์ กิตติคุณ อยากจะมีลูกศิษย์ลูกหา ไปไหนนี่ อู้ฮู! ต้องคนล้อมหน้าล้อมหลัง ไอ้นั่นมันการตลาด มันเป็นเรื่องการตลาดที่เขาทำเครดิตกัน
แต่ถ้าเป็นการประพฤติปฏิบัตินะ องค์สมเด็จพระสัมมา-สัมพุทธเจ้าตรัสรู้ในป่าองค์เดียว เทศน์ธัมมจักฯ ครั้งแรก มีปัญจวัคคีย์ ๕ องค์เท่านั้น เวลาเทศน์ขึ้นมา เทศนาว่าการ เทวดา อินทร์ พรหมมาฟังมหาศาล นี่มันเป็นประโยชน์ ประโยชน์ตรงนั้น ถ้ามันเป็นจริง เป็นจริงอย่างนั้น
ฉะนั้น บอกว่า “เจริญทั้งคู่ได้จริงหรือไม่”
ไอ้นี่มันเป็นคำถามของคนถามที่สงสัยเนาะ แต่ที่เราพูดเราก็เห็น เราก็เห็นกระแสสังคมไง กระแสสังคม ไปแบบกระแสสังคม เป็นกระแส คำว่า “กระแสจับต้องอะไรได้” เวลากระแสมันมานะ อู้ฮูย! ทุกอย่างชื่นชมดีงามไปหมด เวลากระแสตกนะ เราเองเสียโอกาสไปหมดเลย เพราะเราไปเสียเวลามาเท่าไรก็ไม่รู้ แล้วเสียมาแล้วนะ พอรู้แล้วมันสะเทือนใจ พอสะเทือนใจเหมือนคนที่มันมีโรคภัยไข้เจ็บ พอโรคภัยไข้เจ็บจะมาฟื้นฟูเพื่อจะมาปฏิบัติใหม่ ทุกข์ยากมาก
ฉะนั้น แต่ถ้ามีอำนาจวาสนานะ ไปหาครูบาอาจารย์ของเรา วัดไม่ใช่ตลาด วัดใจ ดูแลหัวใจของเรา วัดหัวใจของเรา แล้วเราพยายามประพฤติปฏิบัติของเรา เอาความจริงของเรา ถ้ามันเจริญจริงๆ ต้องให้มันเจริญจากศีล สมาธิ ปัญญา ถ้ามันเจริญจากศีล สมาธิ ปัญญา เห็นไหม เกิดมรรคเกิดผล ถ้าเกิดมรรคเกิดผลมันจะเป็นประโยชน์กับผู้ที่ปฏิบัติ ถ้ามันไม่เกิดมรรคเกิดผล เห็นไหม มันเป็นกระแสโลก
กระแสโลกนะ คนเขาถามแบบว่า “เวลาบอกว่าทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว แล้วทำไมคนที่ทำชั่ว ทำไมเขายังได้ผลประโยชน์ ยังมีคนนับหน้าถือตาอยู่ ยังเป็นคุณงามความดีอยู่”
เราบอกว่าไอ้นี่มันสถานะของมนุษย์ไง เวลาเราเกิดเป็นมนุษย์ เห็นไหม เกิดเป็นมนุษย์ บุญกุศลพาให้เกิดเป็นมนุษย์ นี้มนุษย์จะดีหรือจะชั่ว ถ้ามนุษย์ดีนะ มนุษย์ก็ทำคุณงามความดี มีแต่ความสุข ความสงบ มีอำนาจวาสนาบารมี ถ้าตายไป ไปสวรรค์ ถ้ามาเกิด มาเกิดเป็นมนุษย์ แต่ถ้าคนดี ดีประพฤติปฏิบัติขึ้นไป อย่างหลวงปู่ลีท่านสิ้นกิเลสไปเลย ท่านตายก็จบแล้ว ไม่มีการไปและการมา
แต่ถ้าคนที่ทำดี ทำดีด้วยความหลอกลวง เห็นไหม เราบอกว่าคนคนนี้เขาว่าทำบาป ทำบาปทำไมยังมีคนนับหน้าถือตา เราบอกว่ามันกรรมเก่า กรรมเก่าคือการกระทำมา มีอำนาจวาสนามา แล้วสิ่งที่ทำชั่ว ทำชั่วในปัจจุบันนี้มันยังไม่ถึงเวลา คำว่า “ถึงเวลา” เพราะว่ากรรมทำให้เกิดเป็นมนุษย์ กรรมดีทำให้เกิดเป็นมนุษย์
ฉะนั้น เวลาสิ่งที่ทำกรรมชั่ว กรรมชั่ว แต่กรรมชั่วสถานะของความเป็นมนุษย์มันรับไว้ไง แต่ถ้าสถานะ ดูสิ ใบไม้บนอากาศ มันอยู่อากาศไม่ได้ มันต้องตกมาที่ดิน นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เวลามันหมดสถานะของความเป็นมนุษย์ เหมือนกับใบไม้มันติดบนต้น ต้นไม้มันมีใบไม้อยู่ เห็นไหม ใบไม้ก็ติดต้นนั้นอยู่ ถ้าเวลามันหลุดจากขั้วมันก็ไปตามกระแสลม
นี่ก็เหมือนกัน จิต เวลาคนตายจิต มันออกจากร่าง ออกจากสถานะของความเป็นมนุษย์ นั่นแหละจะเห็นจริงๆ เวลาจิตออกจากร่างความเป็นมนุษย์ไปแล้ว แต่นี่จิตมันยังสถานะของความเป็นมนุษย์ ในภพชาติ ในวัฏฏะ สถานะความเป็นมนุษย์มันยังค้ำจุนอยู่ พอค้ำจุนอยู่เหมือนกับใบไม้มันติดอยู่บนต้นไม้นะ มันก็อยู่ที่สูงใช่ไหม ลองใบไม้มันแก่มันหลุดจากขั้ว มันก็ตกไป
จิตเวลามันตายไป นี่ไง ทำชั่ว ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป ในคำพูดอย่างนี้ เขาบอกคนที่ทำชั่วทั้งนั้นเลย มันโกง มันกิน มันทำชั่วทั้งนั้นเลย แต่ทำไมมันยังมีสถานะ คนนับหน้าถือตามัน เห็นไหม เพราะมันยังเป็นมนุษย์ ลองมันตายลงสิ มันตายลงมันก็จบ นี่พูดถึงทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วไง
สถานะของความเป็นมนุษย์เราสำคัญ สำคัญคือว่าภพชาตินี้ไงมันรองรับไว้ ถ้าหมดจากภพชาตินี้ไปก็จบ พอจบไปแล้ว นั่นน่ะทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เห็นชัดเจน แน่นอน เพียงแต่ว่าอจินไตย ๔ พุทธวิสัย โลก กรรม ฌาน กรรมเป็นอจินไตย มันซับมันซ้อนมาก เป็นอจินไตยนั่นน่ะ จะมาเรียงให้มันเห็นชัดๆ อย่างนี้มันภพชาติใด อจินไตยไม่มีต้นไม่มีปลาย ความเป็นอจินไตยของกรรมมันไม่มีต้นไม่มีปลาย แล้วเมื่อใดชาติใดที่ทำไว้
ดูสิ ดูองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็น ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน เห็นไหม ที่บอกว่าน้ำขุ่นๆ ที่ให้พระอานนท์ไปตัก “เศษกรรมของเรา เศษกรรมของเรา ภพชาตินั้นๆ เราเคยเป็นพ่อค้าโคต่าง ชักจูงโคไว้ไม่ให้กินน้ำ” มันชาติไหนล่ะ มันภพชาติไหน มันยาวไกลขนาดไหน
นี่ไง สิ่งนี้สิ่งที่ว่ากรรมเป็นอจินไตย กรรมเป็นอจินไตย แล้วเราก็จะมาว่าคนนู้นรู้วาระจิต คนนี้รู้เรื่องกรรม กรรมเป็นอจินไตย ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ภพชาติใดก็แล้วแต่ถึงได้ ถ้ามันถึงได้ อันนั้นมันเป็นเรื่องเวรเรื่องกรรม ฉะนั้น คนทำอย่างใดก็ต้องได้อย่างนั้น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เอวัง