เทศน์บนศาลา

ขวางธรรม

๑ ธ.ค. ๒๕๔๘

 

ขวางธรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๔๘
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ปฏิบัตินะ เราเกิดมาเป็นมนุษย์นะ มนุษย์ปรารถนาความสุข ทุกคนปรารถนาแต่ความสุขนะ แต่ความสุขทางโลกหาไม่เจอ เพราะเราไปหากันแต่ด้วยกิเลสไง เราเอาความคิดของเรามาหาความสุขกัน เกิดมาเห็นไหม เกิดมาพบพระพุทธศาสนา ศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “ธรรม” แต่เราไปขวางไง เราขวางด้วยกิเลสของเรานะ ถ้าเราขวางธรรม เราขวางธรรมโดยที่เราไม่รู้ตัวเลย

ดูอย่างคนทางโลกสิ คนขวางโลก คนขวางโลกอยู่กับโลกเขาไม่ได้ ดูนะ เวลาเราเกิดมาในโลกแล้วแต่ภูมิภาค ภูมิภาคหนึ่งการดำรงชีวิตอย่างหนึ่ง ถ้าเราอยู่กับภูมิภาคไหน ดำรงชีวิตอย่างนั้น เราจะมีความสุขกับภูมิภาคนั้น แต่เราก็เห็นความแตกต่าง เห็นความแตกต่างเราก็ใช้ชีวิตอย่างหนึ่งไปอยู่อีกภูมิภาคหนึ่ง เห็นไหม คนขวางโลก

ถ้าขวางโลกนะ เราจะขัดแย้งกับความเป็นจริง ถ้าเราขัดแย้งกับความเป็นจริง ในชีวิตเรา เราก็ไม่มีความสุขหรอก เพราะในความคิดของเราอย่างหนึ่ง ธรรมชาตินะ สิ่งที่เกิดขึ้นมา โลกนี่เห็นไหม โลกเป็นอจินไตย โลกนี้มีอยู่โดยดั้งเดิม โลกนี้จะเปลี่ยนแปลงโดยธรรมชาติของมัน สิ่งที่โลกนี้จะหมุนไป โลกนี้เป็นอจินไตยนะ

ทางวิทยาศาสตร์เขาพิสูจน์กัน เห็นไหม ทางโบราณคดี กี่พันล้านปี กี่พันล้านปีในจักรวาล สิ่งที่ต้องเป็นไป เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละองค์จะมาตรัสรู้ตลอดไป หมุนเวียนไปนะ โลกนี้เป็นอจินไตย สิ่งนี้เป็นธรรมชาติ

ถ้าเราใช้ชีวิตของเรากลมกลืนกับธรรมชาติ เราจะอยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุขไง เราอยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ไม่เจ็บไข้ได้ป่วยนะ ความเป็นไปของภูมิภาคกับความเป็นการดำรงชีวิตของเรา ถ้าเราขัดแย้งกันนะ อย่างน้อยก็เจ็บไข้ได้ป่วย ความเป็นไปของเรากับโลกจะไม่มีความสุขหรอก

คนขวางโลก สิ่งที่ขวางโลกมันยังให้ความโต้แย้งกับการดำรงชีวิตนะ แล้วในสังคมล่ะ ถ้าเราขวางโลกอยู่ในสังคม สังคมนั้นยิ่งมีความขัดแย้ง สังคมมีสภาวะแบบนั้น แล้วเราไปขวางเขา ขวางเขาด้วยอะไร? ด้วยจริต ด้วยนิสัย เห็นไหม จริตนิสัยของเราเป็นสภาวะแบบนั้น

จริตนิสัยเกิดจากไหน? เกิดจากกิเลส สิ่งที่กิเลสเห็นไหม ความเห็น ความยึดมั่นของเรา สิ่งต่างๆ นี้เป็นเรานะ ถ้าว่าทุกอย่างนี่เป็นเรา เราจะแก้ไขสิ่งใดไม่ได้เลย เพราะว่าเป็นเรา เราจะถนอมรักษาคำว่า “เรา” กิเลสเป็นเรา สรรพสิ่งนี้เป็นเรา ความคิดนี้เป็นเรา ทั้งๆ ที่สิ่งนี้ไม่ใช่เราเลย เพราะความยึดมั่นถือมั่นของเรา ทำให้เราเกิดทิฏฐิมานะ

ถ้าเป็นมิจฉาทิฏฐิ การดำรงชีวิตของเรามันเป็นความผิดพลาด เพราะธรรมนี้เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพิสูจน์สิ่งนี้มานะ ขนาดสมัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ เห็นไหม อย่างนั้นขวางโลกไหม? ไม่ขวางโลก เพราะว่าเป็นผู้นำ ผู้นำนะ ผู้เสียสละ สิ่งที่เสียสละด้วยสติปัญญา มีสติปัญญาจะเป็นหัวหน้าคน จะเป็นผู้นำของคนต้องมีสติ ต้องมีปัญญานะ ถึงจะนำฝูงชนนั้นได้

การนำฝูงชนนั้นไม่ใช่นำด้วยสิ่งที่เขายอมรับตน เขายอมรับนับถือเราแล้วเป็นการนำ สิ่งที่เขาจะยอมรับนับถือเราเพราะมันอยู่ที่การแสดงออกของเราไง โลกเขาจะมองเรานะ ทุกคนเห็นไหม โลกนี้ทุกคนมีหู ทุกคนมีตา เขาก็มองกันว่าคนไหนควรยอมรับ คนไหนเป็นคนดี “ทำดีต้องได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” นี้เป็นสัจจะความจริง ถ้าเราทำคุณงามความดีของเรา นี่เขายอมรับ สิ่งที่เขายอมรับ เขาก็ยอมรับการนำของเรา ถ้ายอมรับการนำของเรา

พระโพธิสัตว์เป็นผู้นำเพราะอะไร เพราะมีสติมีปัญญาไง ดูสิ ดูเวลาพระโพธิสัตว์เกิดเป็นสัตว์ ก็เป็นผู้นำฝูง เกิดเป็นต่างๆ แล้วมีวิกฤตต่างๆ จะไม่คิดถึงชีวิตของตัวไง สละได้แม้แต่ชีวิตของตัว

แต่ถ้าเป็นผู้ที่ทุจริต สิ่งที่ว่าเขาชิงกันนำ แต่เวลามีวิกฤตขึ้นมาเขาจะเอาตัวรอดก่อนไง ถ้าเอาตัวรอด เขาเอาแต่ตัวรอดของเขา เขาไม่เคยสละความเป็นจริงจากสิ่งที่เป็นในวิกฤตนั้น เขาจะไม่ได้รับการนำ สิ่งที่ไม่ได้รับการนำ ถึงบารมีเขาถึงไม่สมบูรณ์ของเขา

พระโพธิสัตว์มีบารมีแก่กล้าขึ้นมา จนเกิดมาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เห็นไหม นี่โลก ความเป็นไปของโลก ผู้ที่อยู่ในโลก เขาก็อยู่ของเขาด้วยความร่มเย็นเป็นสุขของเขา แต่เจ้าชายสิทธัตถะไม่คิดอย่างนั้น จะเป็นกษัตริย์ก็ยังคิดว่าสิ่งที่เป็นกษัตริย์มันจะเป็นสิ่งจองจำไง จะต้องใช้ชีวิตอย่างนี้ไป เพราะอะไร เพราะขณะไปเที่ยวสวน เห็นการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย สิ่งที่เห็นการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย เพราะสิ่งนี้ไม่เคยเห็น พระเจ้าสุทโธทนะปิดบังไว้เห็นไหม จะให้คิดว่าโลกนี้มีแง่มุมเดียว คือความร่มเย็นเป็นสุขในการดำรงชีวิตไง แต่สิ่งที่สร้างสมบุญญาธิการมา คนมีบุญเป็นอย่างนี้ ถึงคราวที่จะเอาตัวรอดได้ จะมีสิ่งต่างๆ มา

ดูสิ ดูอย่างครูบาอาจารย์ของเราออกประพฤติปฏิบัติในป่าในเขา ถึงคราววิกฤตขึ้นมา จะมีสิ่งต่างๆ เข้ามาแก้ไขสิ่งนั้นผ่านพ้นไปได้ นี่คือบุญกุศล

บุญเห็นไหม “การทำดีต้องได้ดี” การสร้างบุญกุศลในหัวใจนี้มันจะสะสมลงที่ใจ เราเป็นผู้ที่เสียสละนะ เวลาเราให้ทาน เราสละของเราออกไป เราสละสิ่งของของเราออกไป เราอนุโมทนาไปกับเขา สิ่งที่เป็นทิฏฐิมานะ สิ่งที่เป็นการโต้แย้งในหัวใจของเรา เราอนุโมทนาไปกับผู้ที่ทำคุณงามความดี เขาทำคุณงามความดีของเขา เขาสร้างบุญกุศลของเขา เราอนุโมทนาไปกับเขา เห็นไหม ทิฏฐิอย่างนี้มันจะลดน้อยลง

สิ่งนี้เราสละออกไป มันได้มาที่หัวใจไง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นจากจิตของเราทั้งหมด ความคิด ความจรรโลงต่างๆ เกิดจากใจของเรา ถ้าใจของเราเป็นผู้เสียสละ แม้แต่ความคิดนี่อนุโมทนาไปกับเขา สิ่งที่เขาทำคุณประโยชน์ อนุโมทนาไปกับเขาเห็นไหม สิ่งนี้มันย้อนกลับมาที่ใจ

การสละทานก็เหมือนกัน เราสละสิ่งใดออกไปก็แล้วแต่ ผู้ใดเป็นผู้สละล่ะ ในทางวิทยาศาสตร์บอกมือเป็นผู้ที่เสียสละออกไป มือเป็นผู้ส่งออกไป แต่มือถ้าไม่มีหัวใจ ไม่มีความคิด สิ่งที่เป็นสมบัติของเรา ถ้าสูญหายเราจะเสียดายมาก ยิ่งถ้ามีผู้ใดแย่งชิงต้องเกิดการกรณีพิพาทแน่นอนเลย

แต่ขณะที่เราคิดเสียสละ จะมีมากมีน้อยขนาดไหน ด้วยความเต็มใจ สิ่งที่เต็มใจนะ ยื่นให้ด้วยความเต็มใจ สิ่งที่เขารับไปแล้วเป็นประโยชน์กับเขา เรายิ่งมีความสุขขึ้นมาอีกเห็นไหม นี่ผู้ที่เสียสละเป็นผู้ได้ไง ผู้นำเป็นผู้ที่เสียสละ สิ่งต่างๆ เสียสละขนาดไหนมันก็เข้ามาถึงใจดวงนั้น

สิ่งที่จะ...ถึงเกิดเป็นอำนาจวาสนาเห็นไหม เวลาไปเที่ยวสวน เห็นการเกิด การแก่ การเจ็บและการตาย สิ่งที่การดำรงชีวิตอีกชีวิตหนึ่งก็ต้องเกิดต้องตายไปอย่างนี้ เราเกิดมา เวลาเราเกิดมานี่ อากาศหายใจ สิ่งที่มีอากาศหายใจ การดำรงชีวิตเราคืออากาศหายใจ สิ่งที่อากาศหายใจ ถ้าถึงหมดคราวหายใจเข้าแล้วไม่หายใจออกต้องตายไป สิ่งที่ตายไปก็ไปดำรงชีวิตใหม่

จิตนี้ไม่เคยตายนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “จิตนี้ไม่เคยตาย” มันเปลี่ยนสถานะเท่านั้น แต่เราไม่มีสิ่งใดไปจับต้องได้ แต่ถ้าเราเชื่อธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ย้อนกลับมา “ทาน ศีล ภาวนา” เป็นธรรมของคฤหัสถ์ แต่ถ้าเป็นภิกษุเห็นไหม “ศีล สมาธิ ปัญญา” ศีล สมาธิ ปัญญา เพราะอะไร เพราะเป็นนักรบ เราจะรบกับกิเลสของเรา ถ้ามีศีล ศีลเป็นรั้วกั้น เราจะไม่ทำลายรั้วของเราออกไป แม้แต่สิ่งที่มีรั้วกั้นหัวใจ หัวใจมันยังทำลายรั้วของมันออกไป แล้วมันจะดำรงชีวิตของมันอย่างไรล่ะ

ถ้ามีศีล ศีลทำให้จิตใจปกติ ถ้ามีศีลขึ้นมา เห็นไหม ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้ามีศีล การทำความสงบของใจมันก็จะง่ายขึ้น ทำความสงบของใจนะ ถ้าใจมีความร่มเย็นเป็นสุข เห็นไหม นี่ไม่ขวางธรรม ถ้าใจมีความร่มเย็นเป็นสุข การดำรงชีวิตเราก็จะมีความสุขใช่ไหม

ชีวิตเรามีความทุกข์เพราะอะไร เพราะจิตใจมันเร่าร้อน เพราะสิ่งที่มันดีดดิ้นในหัวใจ กิเลสตัณหาความทะยานอยากดีดดิ้นในหัวใจ เราจะแสวงหาสิ่งใดก็แล้วแต่ มากมายขนาดไหนมันไม่มีวันพอหรอก นี่ตัณหาล้นฝั่งนะ ตัณหาไม่มีวันเต็ม ถมทะเลขนาดไหนเขายังสามารถถมเต็มได้นะ แต่ในความต้องการของใจไม่มีวันพอ

ถ้าไม่มีวันพอนะ สิ่งที่มันแสวงหาของมัน มันจะไปมีพอที่ไหน แสวงหาขนาดไหนก็ไม่พอ แต่ถ้ามีศีล มันจะมีความพอไง ความร่มเย็นเป็นสุขจะเกิดตรงนี้ ถ้าความร่มเย็นเป็นสุขจะเกิดขึ้นมา การดำรงชีวิตของเรามันจะไม่ขวางโลก

สิ่งที่ขวางโลกเพราะเราไม่มีสติ ไม่มีปัญญา ถ้าไม่มีสติปัญญา เราก็จะขวางเขาไปตลอด นั้นเป็นเรื่องของโลก โลกเขาจะเคลื่อนไป โลกนี้เป็นอจินไตย สังคมที่เกิดขึ้นมา สังคมความเป็นไปของสังคมมันแปรสภาพไปตลอดเวลา วันคืนล่วงไป ล่วงไปเห็นไหม กาลเวลานี่กลืนกินทุกอย่าง สังคมจะแปรสภาพตลอดไป แล้วถ้าเราไปยึดติดกับสภาวะแบบนั้น เราต่างหากเป็นทุกข์

ถ้าเรายึดติด เราเป็นคนขวางโลก โลกเป็นสภาวะแบบนี้ โลกต้องแปรเป็นอนิจจัง โลกต้องแปรปรวนไปเป็นธรรมดา สิ่งที่เป็นธรรมดานะ สิ่งนี้มันก็เป็นเรื่องของวัตถุเห็นไหม

ดูสิ พลังงานเผาผลาญ พลังงานที่ใช้ไป มันต้องหมดไปๆ เป็นธรรมดา ชีวิตของเราก็เหมือนกัน ชีวิตเรานะ เราใช้ชีวิตของเราตั้งแต่เกิดมานี่กี่ปี สิ่งนี้มันหมดไปแล้ว พลังงานอันนี้ก็ใช้ไปเป็นธรรมดา สิ่งที่ใช้เป็นธรรมดา เห็นไหม อากาศหายใจก็เหมือนกัน อากาศหายใจ อากาศมันก็มีอยู่นะ แต่เพราะเราหายใจเข้าและไม่หายใจออก เราต้องตาย สิ่งที่เราต้องตายไปมันก็หมดสภาวะ หมดชีวิตหนึ่งไป ถ้าชีวิตนี้หมดไปล่ะ

เจ้าชายสิทธัตถะถึงเห็นสภาวะแบบนั้นไง มีการเกิด การแก่ การเจ็บและการตาย มันต้องมีฝ่ายตรงข้าม ฝ่ายตรงข้ามแล้วใครเป็นผู้แสวงหาล่ะ ถ้าผู้แสวงหา นี่พระโพธิสัตว์ ผู้ที่สร้างบุญญาธิการมา เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับพระปัจเจกพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะตรัสรู้เองนะ

แต่ถ้าเราเป็นสาวก-สาวกะ เราเกิดมาเราถึงมีธรรมไง ถ้าเรามีธรรมอยู่แล้ว ธรรมนี้คือธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้ให้เราก้าวเดิน เรายังโต้แย้ง เรายังขวางไปตลอด

ดูนะ ดูอย่างเช่นพระองคุลิมาล สิ่งที่พระองคุลิมาลเขาจะไปศึกษาเล่าเรียนวิชาทางโลกไง แล้วว่ามีวิชาการอันหนึ่งที่มีคุณประโยชน์มาก จะต้องเอานิ้วมือมาแลกเห็นไหม ด้วยโดนอาจารย์แบบว่าจะกลั่นแกล้ง ให้เขาไปได้รับภัยจากผู้อื่น ต่างคนต่างไม่กล้าทำเพราะอะไร เพราะหัวใจนี่เห็นไหม อำนาจวาสนาที่สะสมมา คนนะถึงจะทำอกุศลขนาดไหน มันทำลงไปไม่ได้ มันโต้แย้งในหัวใจ ถึงยืมมือคนอื่นให้ไปตัด ไปฆ่าคน เพื่อเอานิ้วมาเพื่อจะแลกวิชาการอันนี้

เวลาถึงที่สุดแล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเล็งญาณนะ ผู้ที่เล็งญาณเห็นไหม พุทธกิจ ๕ เช้าขึ้นมาว่าผู้ใดมีอำนาจวาสนาที่จะได้บรรลุธรรม แล้วมีสิ่งที่เป็นภัยจะมาถึงตัว เห็นว่าถ้าไม่ไปวันนี้ องคุลิมาลจะฆ่าแม่ เพราะต้องการนิ้วมืออันนั้น ถ้าได้ฆ่าแม่ เป็นอนันตริยกรรม จะหมดโอกาสอันนี้ นี่ถึงต้องไปโปรดองคุลิมาลก่อน

สิ่งที่ไปโปรดองคุลิมาลก่อน เวลาไปถึงนี่ลอยไปข้างหน้า องคุลิมาลพยายามบอกว่า “หยุดก่อน สมณะหยุดก่อน สมณะหยุดก่อน”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “เราหยุดแล้ว”

ทั้งๆ ที่องคุลิมาลวิ่งขนาดไหนก็ไม่ทันนะ วิ่งตามขนาดไหน จนองคุลิมาลแปลกใจ เอ๊ะ สมณะทำไมพูดปดล่ะ ว่า “หยุดได้อย่างไร ขนาดวิ่งขนาดนี้ยังตามไม่ทันน่ะ”

“เราหยุดทำความชั่วแล้ว” แต่เรื่องของการเคลื่อนไหวจากที่นี่ “เธอต่างหากยังไม่ยอมหยุดทำความชั่วไง”

องคุลิมาลได้สตินะ วางดาบแล้วขอบวช สิ่งที่วางดาบลงไป ขอบวชเพราะอะไร เพราะลงไง ไม่ขวางธรรมไง ถ้าเรายังขวางธรรมอยู่นะ จิตใจไม่ลงให้ธรรมและวินัย สิ่งที่ประพฤติปฏิบัติมันจะเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าองคุลิมาลวางดาบ แล้วขอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบวช เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการจนองคุลิมาลเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา

สิ่งที่เป็นพระอรหันต์ขึ้นมาเพราะอะไร เพราะธรรมและวินัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้ แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขณะที่ออกประพฤติปฏิบัติ ต้องค้นคว้า นี่สาวก-สาวกะนะมีสิ่งนี้รองรับเราอยู่แล้ว ถ้ามีสิ่งนี้รองรับเราอยู่แล้ว “ศีล สมาธิ ปัญญา” ถ้ามีศีล สมาธิ ปัญญา เราถึงต้องไม่ขวางธรรม ถ้าเราขวางธรรมคือเราขวางตัวเราเองนะ เราเห็นไหม เวลาข้อวัตรปฏิบัติ สิ่งที่เป็นข้อวัตรปฏิบัติมันเป็นการดัดแปลงจิตใจของเรา

สิ่งที่เป็นข้อวัตรปฏิบัติ ดูถนนหนทางสิ มีตรอก มีซอก มีซอย มีถนนใหญ่ แล้วเราไปตามถนน มันจะมีทางแยกทางร่วมไปต่างๆ นี้ก็เหมือนกัน หัวใจของเรา จริตนิสัยของคนไม่เหมือนกัน เวลาเราไปอยู่ในสำนักต่างๆ ไปหาครูบาอาจารย์ เราต้องขอนิสัย สิ่งที่ขอนิสัยเพราะอะไร เพราะต้องการให้ครูบาอาจารย์สั่งสอน ถ้าไม่ขอนิสัยนะ ครูบาอาจารย์ท่านจะไม่กล้าสั่งสอน คำว่า “สั่งสอน” สั่งสอนอย่างไร เห็นไหม ทางแยก ทางร่วมต่างๆ ข้อวัตรปฏิบัติมันเป็นการดัดแปลงใจ ถ้าใจของเรายอมลงกับสิ่งนี้

ดูองคุลิมาล เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ “เราหยุดแล้ว เธอต่างหากไม่ยอมหยุด” ไม่ยอมหยุดทำกรรม ทำบาปทำกรรม การทำบาปทำกรรมจากหัวใจสำคัญกว่าการทำบาปจากข้างนอกนะ สิ่งที่ข้างนอก เวลาเราเดินไป เวลาเราพลั้งเผลอ เราทำให้ชีวิตของสัตว์ตกล่วงไปนะ มันเป็นไปได้ เป็นเรื่องของสภาวกรรม กรรมเกิดขึ้นมามันมีกรรมต่อกัน สิ่งที่มีกรรมต่อกัน มันต้องประสบกันในการพลัดพรากต่างๆ อย่างนี้มันเป็นเรื่องของสภาวกรรม

แต่ถ้าเจตนาล่ะ สิ่งที่เจตนา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมไว้ ไม่ให้ค้าขายสิ่งที่เป็นการทำลายชีวิตคน เครื่องประหัตประหารไม่ให้ค้าขาย แม้แต่เครื่องประหัตประหาร เรายังไม่ควรจะไปค้าขาย สัมมาอาชีวะ มิจฉาอาชีวะ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่การดำรงชีวิต สิ่งที่เป็นการดำรงชีวิตเขา

แต่ถ้ามีเจตนาล่ะ ถ้ามีเจตนา อันนั้นเป็นสภาวกรรม ถ้าเป็นเจตนามันสะสมลงที่ใจทั้งหมด แต่ถ้าเป็นกรรม กรรมมันเป็นไปโดยธรรมชาติของเขา เราไม่มีเจตนา เจตนาตัวนี้มันอยู่ที่ลงกับหัวใจ ถ้าหัวใจเรามีศีลมีธรรมในหัวใจ สิ่งนี้เราจะทำไม่ได้ ถ้าสิ่งที่ทำไม่ได้นะ หัวใจมันก็มั่นคงขึ้นมา

ดูสิ เราทำสมาธิขึ้นมาเพื่ออะไร หัวใจเรานะอ่อนแอ สิ่งที่หัวใจเราอ่อนแอ เราถึงทำสิ่งใดไม่ได้เลย คนนะ คนที่เจ็บไข้ได้ป่วย เขาจะช่วยตัวเขาเองไม่ได้ จะต้องมีผู้อุปัฏฐากอุปถัมภ์เขาเพื่อจะให้เขาเข้มแข็งขึ้นมา หัวใจของเราก็เหมือนกัน มันอ่อนแอ มันสิ่งต่างๆ มันต้องการความสะดวก ต้องการสบาย เห็นไหม ขวางจากโลกมา หลบจากโลกมาอยู่ในธรรม ถ้าหลบจากโลกมาอยู่ในธรรม ยังมาขวางธรรมอยู่ คนน่ะ ถ้ามันอ่อนแอมา จิตใจมันก็อ่อนแออยู่ตลอดเวลา นี่ข้อวัตรปฏิบัติสำคัญตรงนี้ไง

ข้อวัตรปฏิบัติสำคัญให้เราเข้มแข็งขึ้นมาจากภายนอก แล้วมันจะเข้มแข็งขึ้นมาจากภายใน เข้มแข็งขึ้นมา มีสติสัมปชัญญะ ถ้ามีสติสัมปชัญญะขึ้นมานี่ การประพฤติปฏิบัติ เราต้องทำความสงบของใจก่อน พื้นฐานนะ ถ้าไม่มีความสงบของใจ เวลาผู้ที่เข้ามาบวช เข้ามาศึกษาธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ

สิ่งที่เป็นปริยัติเห็นไหม เราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วหัวใจเราอ่อนแอ หัวใจเราไม่เข้มแข็ง สิ่งนั้นมันเป็นสัญญา สิ่งที่เป็นสัญญาเราเป็นความจำมา มันไม่ใช่สมบัติของเรา ถ้าเราอ่อนแอ เหมือนกับคนเจ็บไข้ได้ป่วย ถ้าเวลาเขาจะรักษาคนเจ็บไข้ได้ป่วย ถ้าร่างกายอ่อนแอ เขาจะทำการผ่าตัด เขาจะทำการรักษาไม่ได้ เขาต้องให้ยาก่อน ให้ร่างกายนี้เข้มแข็งขึ้นมา

นี้ก็เหมือนกัน หัวใจของเรา เห็นไหม สถานะของการรองรับ ถ้าจิตมันไม่สงบ มันเป็นโลกียปัญญา ถ้าเป็นโลกียปัญญา ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราไปศึกษาโดยภาคปริยัติ เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไหม? เป็น เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วชำระกิเลสขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปแล้ว สภาวะหัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าน่ะเป็นศาสดาของเรานะ เป็นพระอรหันต์ เป็นศาสดา เป็นผู้ที่วางธรรมและวินัยนี้ไว้

ธรรมและวินัยนี้เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เวลาเราไปศึกษา ในการศึกษามันเป็นสมบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่สมบัติของเรา ถ้ามันเป็นสมบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราไปศึกษาแล้วเราเป็นสัญญาขึ้นมาแล้วมันแก้ไขกิเลสได้ไหมล่ะ

ดูสิ เราดูเศรษฐีเห็นไหม เศรษฐี-มหาเศรษฐีนะ เขามีการดำรงชีวิต เราจะดำรงชีวิตแบบเขาได้ไหม เขามีสถานะของเขา เพราะเขาสร้างสถานะของเขาขึ้นมา เขาเป็นเศรษฐี แล้วเราไปเห็นของเขา นี่ก็เหมือนกัน เราไปศึกษาของเขา เราไปนับเงินของเขา เราไปดูตัวเลขในธนาคารของเขา แล้วมันเป็นของเราไหม? มันไม่เป็นของเราเลย เพราะมันเป็นของเศรษฐี

นี่ก็เหมือนกัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเศรษฐีธรรม วางธรรมและวินัยนี้เพื่อจะให้เราได้ธรรมโอสถเข้ามาในหัวใจของเรา ธรรมนะ “รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง” ขณะที่เราศึกษานี่มันเป็นโลกียปัญญา เป็นธรรมไหม? เป็น เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

แต่กิเลสของเรา ความศึกษาของเรา เรามีกิเลสในหัวใจ พญามารเห็นไหม “มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา...” นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเยาะเย้ยมารไว้ในพระไตรปิฎกน่ะ “มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา เราเห็นตัวเจ้าแล้ว เธอเป็นนายช่างเรือนที่ก่อร่างสร้างภพให้กับใจดวงนี้ตลอดมา เธอจะเกิดอีกไม่ได้เลย”

แล้วมารมันเป็นเจ้าวัฏจักร มันครอบคลุมหัวใจของเรานะ แล้วเราไปศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใต้พญามารน่ะ มันถึงได้ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาอยู่กับเรา มันก็อยู่...เราศึกษามามันก็อยู่กับใต้กิเลสไง กิเลสของเราครอบงำความรู้สึกของเรา ครอบงำสิ่งที่เราศึกษามา นี่โลกียธรรมเป็นอย่างนี้

โลกียธรรมคือธรรมที่มันมีกิเลสครอบงำ มันไม่ใช่โลกุตตรธรรม

ถ้ามันจะเป็นโลกุตตรธรรม เราจะไม่ขวาง เราจะลงกับธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเราขวางธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สิ่งนี้มันเป็นความคิดนะ มันเป็นทัพพีขวางหม้อไง ทัพพีขวางหม้อ เห็นไหม ทัพพี สิ่งที่ทัพพี เราจะศึกษามาขนาดไหน เราจะจำกันได้ขนาดไหน เหมือนกับทัพพีขวางหม้อนะ แล้วดูสิ ดูทัพพีอยู่ในหม้อ เวลาอาหารนั้น สิ่งที่เป็นแกงเป็นสิ่งต่างๆ มันมีความร้อน ทัพพีนั้นก็ร้อนไปด้วย ถ้าในหม้อนั้นใส่เป็นพวกของเย็น ใส่สิ่งที่มีอุณหภูมิเป็นความเย็น มันก็เย็นไปด้วย

นี้ก็เหมือนกัน หัวใจของเรา เวลามันทุกข์ขึ้นมาน่ะมันร้อน มันร้อนขึ้นมา หัวใจนี่ หม้อก็คือร่างกายนี้ หัวใจมันเป็นทัพพีอยู่ในหัวใจของเรา มันเป็นอยู่ในหม้อนี่ เวลามันร้อนขึ้นมา สิ่งนี้มันเป็นธรรมชาติ สิ่งนี้มันเป็นสัจจะความจริง แต่รสของอาหารล่ะ

เราบวชเข้ามาในธรรมและวินัย เราเป็นภิกษุ ภิกษุเห็นไหม ในธรรมและวินัยนี้เป็นศาสดาของเรา สิ่งที่เป็นศาสดา มันก็เหมือนกับเราอยู่ในหม้อ แล้วหัวใจของเราล่ะ แล้วความรู้สึกของเราล่ะ จะเป็นธรรมไหมล่ะ ถ้ามันเป็นธรรมมันจะไม่ก้าวล่วง มันจะไม่ทำลายรั้วออกไป มันจะไม่ทำลายศีลของเราไง

ศีลของเราบริสุทธิ์ผุดผ่องอยู่แล้ว เห็นไหม ศีลไม่เศร้าหมอง ศีลไม่ด่าง ศีลไม่พร้อย ศีลไม่ขาด ศีลคือความปกติของใจ ศีลคือสิ่งที่เราบวชแล้วเราได้ตั้งแต่บวช เห็นไหม ครบมาตลอด นี้เป็นเรื่องของศีล เรื่องของศีลนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้ให้เป็นกรอบ สรรพสิ่งในเรื่องของศีลเพื่อจะให้หัวใจไม่ก้าวล่วงออกไป

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ที่เมตตามหาศาลเลย วางกรอบไว้เพื่อจะไม่ให้เราทุกข์ร้อนไง สิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารื้อค้นขึ้นมา สิ่งนี้ไม่มีนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องรื้อค้น ค้นคว้าขึ้นมา ขณะที่สมัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมา แล้วเทศนาว่าการปัญจวัคคีย์ ศีลมีไหม ศีลเกิดขึ้นมาจากภิกษุ ภิกษุบวชเข้ามา แล้วสิ่งที่บวชเข้ามา แล้วภิกษุมากขึ้นมา

เวลาพระจุนทะถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะว่า “เริ่มเผยแผ่ธรรมขึ้นมา ศีลมีน้อย แต่ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติทำไมเป็นพระอรหันต์มหาศาลเลย”

เวลาภิกษุเป็นหมู่ใหญ่ขึ้นมา มีภิกษุทำความผิด มีเหตุก่อน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบัญญัติเป็นวินัยออกมาๆ ทำอย่างนี้ผิดๆ อย่างนี้ นี่บัญญัติวินัยมหาศาลเลย พอวินัยมามีมาก ทำไมผู้ที่ประพฤติปฏิบัติกลับเป็นผู้ที่ถึงธรรมได้น้อยกว่าเพราะอะไร เพราะสิ่งที่ว่าผู้ที่ออกมาประพฤติปฏิบัติกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เริ่มต้นแต่แรกเขามีความมุ่งหมายอย่างนั้นไง ทุกคนพยายามประพฤติปฏิบัติ

ดูสิ ชฏิล ๓ พี่น้อง บูชาไฟอยู่นะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปทรมาน เห็นไหม ๑,๐๐๐ กับ ๓ องค์ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการ ได้พระอรหันต์ทีเป็นพันๆ นะ เป็นพันๆ องค์ขึ้นมา แต่เวลานี่เพราะอะไร เพราะเขาแสวงหา เขาต้องการ แต่ธรรมวินัยนั้นยังไม่เกิด เขาก็ต้องแสวงหาของเขา นี่บูชาไฟไปไง สิ่งนี้บูชาไฟไป แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไปทรมาน เห็นไหม เขาบูชาไฟ เขาทำตบะธรรม นี่ทัพพีในหม้อ

สิ่งที่ทัพพีในหม้อ ความที่ว่าอาหารนั้นมันเป็นไฟ มันก็มีความร้อน พอจิตมีความร้อนขึ้นมานะ เขามี เขาสามารถเอาพญานาคไว้ในโรงไฟของเขา เห็นไหม ให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปพัก คิดว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะสู้ฤทธิ์นั้นไม่ได้ไง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอาพญานาคนั้นไว้ในบาตร พอตอนเช้ามา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่โดนพญานาคทำลาย เห็นไหม สิ่งที่เขาคิดไง เพราะเขาก็มีฤทธิ์มีเดชของเขา นี้ฤทธิ์เดชอย่างนี้ “อภิญญาแก้กิเลสไม่ได้” แต่อริยสัจเขาไม่มี เขาไม่รู้

ดูสิ ดูเทวทัต เหาะเหินเดินฟ้าได้ สิ่งที่เหาะเหินเดินฟ้า นี่ฌานโลกีย์ไง สิ่งที่เป็นฌานโลกีย์ ขณะที่เหาะเหินเดินฟ้าได้ แต่ไปทรมานอชาตศัตรู สิ่งนี้เป็นเรื่องของฌานโลกีย์ มันเป็นเรื่องของโลกียธรรม สิ่งที่ว่าเป็นโลกียปัญญา โลกียธรรม มันมีในหัวใจเรานี่

พลังงานของใจเรามันมีอยู่ ถ้าเราทำสิ่งที่เคลื่อนที่เร็วที่สุด ความคิดที่เร็วที่สุด พลังงานนี้ให้มันนิ่งที่สุด มันจะมีพลังงานของมัน ถ้ามีพลังงานของมัน จะเหาะเหินเดินฟ้าก็ได้ จะรู้วาระจิตก็ได้ สิ่งนี้รู้ได้หมดเลย แต่มันเป็นเรื่องของโลกียธรรม คือสภาวธรรมที่อยู่ใต้กิเลสไง มันไม่ทำให้กิเลสถลอกปอกเปิกเลย มันไม่ได้ย้อนกลับมาทำลายเลย เห็นไหม ไม่เข้ามาเห็นตัวตนของตัวเองเลย เพราะอะไร เพราะเป็นเรา เราเป็นผู้วิเศษ เราเป็นผู้ที่เหาะเหินเดินฟ้าได้ เราเป็นผู้ที่มีอำนาจ...ถ้าจิตเป็นสภาวะแบบนี้ นี่ขวางธรรม

ขวางธรรมเพราะมันไม่ย้อนกลับ ไม่ทวนกระแสเข้ามา ถ้ามันจะทวนกระแสเข้ามา ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าเรามีศีลนะ เราทำความสงบของใจ มันจะเป็นสัมมาทิฏฐิ เห็นไหม ความเห็นชอบ ถ้าเป็นสัมมาทิฏฐิ จะย้อนกลับเข้ามาในหัวใจของเรา เพราะอะไร เพราะกิเลสมันเกิดจากใจของเรา

ทัพพีมันอยู่ในหม้อนะ มันจะรู้จักรสชาติของธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง “รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง” แต่โดยปกติ โดยการทำความสงบของใจ ศีล สมาธิ ปัญญา สมาธิแก้กิเลสไม่ได้ เห็นไหม สมาธินี่แก้กิเลสไม่ได้หรอก แต่ถ้าไม่มีสมาธิ มันก็เป็นโลกียธรรม

สิ่งที่จะเป็นโลกุตตรธรรมต้องมีสิ่งที่เป็นสมาธินี่เข้ามา เพื่อจะไม่ให้กิเลสมันยึดมั่นถือมั่นในตัวมันเอง เห็นว่าสรรพสิ่งนี้เป็นเรา อะไรก็เป็นเรา ความคิดก็เป็นเรา สิ่งต่างๆ ที่เราคิดขึ้นมา ทิฏฐิมานะมันยึดตรงนี้ไง ถ้ามันจิตสงบเข้ามามันจะมีความเห็น ความสุขของใจนะ

แล้วถ้าความใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เวลาเราใช้ปัญญาอบรมสมาธินี่เราใช้ปัญญา เรากำหนดพุทโธ พุทโธ บางทีกำหนดพุทโธ พุทโธๆ แล้วกิเลสมันมีความรุนแรง มันจะกำหนดไม่ได้ คำบริกรรมมันจะไม่ต่อเนื่อง เห็นไหม เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ความคิดโดยปัญญา โดยใช้โลกียธรรม ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรึกในธรรมไง

พระโมคคัลลานะ ผู้ที่มีฤทธิ์เป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย มีฤทธิ์มาก ขณะที่พระสารีบุตรฟังเทศน์ของพระอัสสชิ

“ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย้อนสาวให้ไปดับที่เหตุนั้น”

พระสารีบุตรเป็นพระโสดาบัน ไปบอกพระโมคคัลลานะ พระโมคคัลลานะก็เป็นพระโสดาบัน แล้วมาขอบวชกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อจะประพฤติปฏิบัติ แล้วนั่งโงกง่วง นั่งง่วงหงาวหาวนอน วิธีการแก้ นี่ตรึกในธรรม

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปสอนพระโมคคัลลานะให้ตรึกในธรรม ใช้ปัญญาใคร่ครวญไง ไม่ให้มันง่วงหงาวหาวนอน

ว่าปัญญาอบรมสมาธิ เราใช้ความคิดในธรรม ตรึกในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าพรหมวิหาร ๔ เห็นไหม พรหมวิหาร สิ่งที่เป็นพรหมวิหาร เราจะใช้อย่างไร เราคิดอย่างไร...นี่ใช้ปัญญาตรึก ตรึกตรองในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถึงที่สุดอุเบกขาวางทั้งหมด สิ่งที่วางทั้งหมด จิตมันก็ปล่อยวางมา ปล่อยวางมา มันจะปล่อยวางเข้ามา มันจะละเอียดเข้ามา สิ่งนี้เป็นโลกียธรรม ใช้ปัญญาตรึกในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สิ่งนี้นี่โลกียธรรมเป็นอย่างนี้ สิ้นสุดกระบวนการของใช้ปัญญาสิ่งต่างๆ แล้วมันเป็นรสของสมาธิธรรม

สมาธิมีรสมีชาติ ทำให้ติดได้นะ ผู้ที่ทำความเพียร ทำความสงบของใจ

ดูสิ กำหนดพุทโธ พุทโธเพื่ออะไร? เพื่อจะให้จิตสงบเข้ามา นี้เป็นเจโตวิมุตติ ผู้ที่มีศรัทธาจริต มีความเชื่อมั่น เห็นไหม ไม่ขวางธรรม ไม่ขวาง จะทำตามธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำตามธรรมวินัยนี้ เอาธรรมวินัยนี้กางเป็นเครื่องดำเนิน แล้วกำหนดพุทโธ พุทโธเข้ามา จิตมันสงบเข้ามาขนาดไหน เห็นไหม ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ขณะที่เป็นอัปปนาสมาธิมันดับหมด สิ่งที่ดับหมด “สักแต่ว่ารู้” สักแต่ว่ารู้ ปล่อยวางเข้ามาหมดนะ สิ่งที่ไม่ได้หายใจนะ ลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ถ้าเข้าแล้วไม่ออก หรือออกแล้วไม่เข้า คนนั้นต้องตายนะ

เวลามันดับนี่มันดับหมด แม้แต่ลมหายใจก็ดับ “สักแต่ว่ารู้” ปล่อยวางหมดเลย ทำไมมันไม่ตายล่ะ สิ่งที่จิตมันรวมลงขณะที่ว่ามันดับหมด มันปล่อยกายได้ทั้งหมดนะ แม้แต่สภาวะกายไม่รับรู้ อายตนะนี้ดับทั้งหมดเลย เวลาพระอริยสาวกต่างๆ ในสมัยพุทธกาลนะ เวลาเข้านิโรธสมาบัติ เห็นไหม กำหนดเข้าไปเข้านิโรธสมาบัตินี่ ๗ วัน ๗ คืนอยู่ได้ทั้งหมด ไม่มี ขณะดับหมด เห็นไหม ดับหมดไง อวัยวะต่างๆ ในร่างกายนี้หยุดการทำงานทั้งหมดเลย

แม้แต่ความเป็นไปของรสของสมาธิ เวลาทำมาให้มันติด ทำไมมันจะติดไม่ได้ล่ะ? ติดได้ ติดได้เพราะว่าความไม่เคยสัมผัสของใจ ใจที่ไม่เคยสัมผัส นี่ทัพพีขวางหม้อ เพราะมันมีความร้อน มันมีความเย็น แล้วแต่อาหาร แล้วแต่สิ่งที่หม้อนั้นบรรจุสิ่งใดไว้ มันก็จะเป็นอุณหภูมิของอาหารนั้น ทำให้ทัพพีนี้มีความร้อนและความเย็นไปตามอุณหภูมินั้น

แต่อาหารเห็นไหม ความร้อนและความเย็นนั้นไง อาหารในหม้อนั้นมันมีรสชาตินะ แม้แต่เป็นแกง เป็นสิ่งที่เป็นของเย็น มันก็มีรสหวาน รสเปรี้ยว รสขมกันทั้งนั้นล่ะ นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันต้องรู้จักรส รู้รสของธรรม แต่รสของสมาธิธรรมมันเป็นอุณหภูมิเฉยๆ มันเป็นความร่มเย็นเป็นสุข จิตมันสงบร่มเข้ามา มันมีความร่มเย็น ขนาดเย็นขนาดไหน ขณะที่มันร้อนเพราะมันฟุ้งซ่าน มันมีความกระทบกระเทือนในหัวใจ มันก็เร่าร้อนออกไป นี่ความโลภ ความโกรธ ความหลง

ความโกรธ นี่เป็นไฟ โมหัคคินา โทสัคคินา เป็นไฟเผาลนหัวใจ จิตที่จิตใจเผาลนมันก็มีความร้อน ขณะที่ความสงบของใจเข้ามา มันก็มีความร่มเย็นของมัน ดับโทสะ โมหะขึ้นมา จิตมันถึงจะสงบได้ ถ้าจิตดับสิ่งนี้ไม่ได้ มันจะเป็นความฟุ้งซ่าน เป็นนิวรณธรรม สิ่งที่นิวรณธรรมนี่สามารถกางกั้นจิตไม่ให้จิตนี้สงบเข้ามาให้ได้ สิ่งที่สามารถกางกั้นจิตให้สงบเข้ามาได้ จิตมันก็ฟุ้งซ่านไปอย่างนั้น มันก็มีความเร่าร้อนในหัวใจไง ถึงต้องตั้งสติให้ดีๆ หาความร่มเย็นเป็นสุขของใจ

ใจจะมีความร่มเย็นเป็นสุข เพราะเราเชื่อธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเชื่อธรรมและวินัย ถ้าธรรมและวินัย เวลาออกประพฤติปฏิบัติ สิ่งนั้นเราเคยทำความผิดพลาดมา สิ่งนี้มันจะเกิดขึ้นมาในหัวใจ หัวใจมันจะไปรื้อค้นข้อมูลต่างๆ ในหัวใจขึ้นมาทั้งหมดเลย มาตีแผ่กลางหัวใจของเรา นี่ความลับไม่มีในโลก เราทำสิ่งใดไว้มันจะสะสมลงที่ใจ

ถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้นมา นี่ปลงอาบัติ สิ่งที่ปลงอาบัติคือเริ่มต้นใหม่ สิ่งนี้มันเป็นการกระทำที่ผิดพลาดมา เพื่อไม่ให้เกิดนิวรณธรรมไง ทุกคนนะมีการทำผิด แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประพฤติปฏิบัติอยู่ ๖ ปีนะ สิ่งที่ประพฤติปฏิบัติอยู่ ๖ ปี ผู้ที่เรียนปริยัติไม่กล้าว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปฏิบัติอยู่ ๖ ปีนี่เป็นความผิด

ถ้าเป็นความถูก ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ตรัสรู้ธรรมล่ะ ปฏิบัติมากับเจ้าลัทธิต่างๆ ไปลองอยู่ศึกษากับเขามา มันเป็นทัพพีอยู่ในหม้อ มันร้อนมันเย็นอยู่ในร่างกายนั้น เห็นไหม มันร่มเย็นเป็นสุข มันก็ร่มเย็นเป็นสุขมาจากการที่ว่ามีสติสัมปชัญญะควบคุมใจได้เท่านั้น

สิ่งที่ควบคุมใจนั้นมันก็เป็นโลกียธรรมเพราะอะไร เพราะมันทำตัวตนของเรา สิ่งใดเป็นเรา สิ่งใดเป็นความรู้สึกของเรา มันกำจัดสิ่งนี้ไม่ได้เลย มันกำจัดสิ่งนี้ไม่ได้เพราะไม่มีปัญญาไง ปัญญาของโลกุตตรธรรมต้ององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้รื้อค้นขึ้นมา รื้อค้นขึ้นมาแล้วก็วางเป็นธรรมและวินัยนี้ไว้ให้เราก้าวเดิน

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช้ปัญญาของพระโพธิสัตว์ เป็นศาสดา ได้พิสูจน์มาตั้งแต่ ๖ ปีนั้นมาตลอดแล้วว่า สิ่งที่นอกธรรมนอกวินัยนี้ไม่สามารถชำระกิเลสได้ แล้วถ้าเป็นธรรมและวินัย เห็นไหม ศีล สมาธิ ปัญญา มรรค ๘ มันมีสัมมาสมาธิ มันมีสัมมาสติ มันมีสัมมาทั้งหมด มันไม่ใช่สิ่งที่ว่าเราไปเพ่งดูมันแต่สิ่งที่เป็นโลกียธรรม คือใช้ความคิดของเรา นี่โลกียธรรมคือเราขาดผู้นำไง เราขาดผู้ชี้นำ

แต่ในกึ่งพุทธกาล องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมไว้ในธรรมวินัย ว่ากึ่งพุทธกาลศาสนาจะเจริญอีกหนหนึ่ง ครูบาอาจารย์ของเราเป็นผู้ที่รื้อค้นสิ่งนี้ขึ้นมาไง สิ่งที่รื้อค้นขึ้นมาบอกอุณหภูมิในหม้อนั้นกับสิ่งที่ทัพพีที่ได้รับอุณหภูมินั้นไม่ใช่ธรรม

สิ่งที่เป็นธรรมคือสิ่งที่ว่าเป็นอริยสัจ สิ่งที่เป็นอริยสัจคือย้อนกลับเข้ามาวิปัสสนา ถ้าสิ่งที่ย้อนกลับเข้ามาวิปัสสนา มันถึงจะย้อนกลับ ย้อนกลับคือว่าทำความสงบของใจ สิ่งที่ทำความสงบของใจมันถึงเป็นเอกัคคตารมณ์ จิตตั้งมั่น ต้องทำความฝึกฝนให้จิตตั้งมั่น มันถึงมีกำลังขึ้นมา ถ้าจิตของเรามันเป็นผู้ที่อ่อนแอ เป็นผู้ที่ไม่เข้มแข็ง มันจะไม่สามารถทำสิ่งใดได้เลย ถ้าเราพยายามทำเห็นไหม เวลาทำความสงบของใจ เวลาจิตมันสงบเป็นขณิกะเข้าไป หลุดมือไป หลุดมือไป เคยสงบแล้วสงบได้ยาก เพราะอะไร เพราะเราไม่เข้มแข็ง

เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า วางธรรมและวินัยไว้ให้ผู้ที่ศึกษาเล่าเรียน แต่ผู้ที่ออกประพฤติปฏิบัติ ผู้ที่จะชำระกิเลส วางธุดงควัตรอีก ๑๓ ข้อ ธุดงควัตรเพื่อขัดเกลา ขัดเกลากิเลสไง สิ่งใดเห็นไหม ฉันหนเดียว ฉันภาชนะเดียว ถือผ้า ๓ ผืนนี่เพราะอะไร เพราะให้มักน้อยสันโดษ สิ่งที่เราได้มาโดยความสันโดษของเรานะ สิ่งนั้นมันเป็นภาระรุงรัง ได้มาเราก็สละเป็นกองกลางไป สิ่งนั้นเราไม่ไปแบกหามมันขึ้นมา ถ้าแบกหามขึ้นมามันเป็นภาระของใจไปทั้งหมด

ของเราเล็กน้อยนะ เวลาทุกข์ถึงยาก ถ้าคนไม่ทุกข์ไม่ยาก ไม่อดไม่อยาก เห็นไหม คนอดคนอยากมันจะเห็นความต้องการของใจ เห็นความต้องการของกิเลส นี้ก็เหมือนกัน เวลาเรายิ่งออกป่าออกเขา มันออกป่าออกเขา มันไม่มี สิ่งที่ไม่มี กิเลสมันจะดิ้นรนนะ มันจะหาแต่ความที่สะดวกสบายของมันนะ

สิ่งที่สะดวกสบายมันก็เป็นสิ่งที่เข้ากับกิเลส กิเลสมันต้องการสะสม มันต้องการความสะดวกสบาย นี่ถือธุดงควัตรเพื่อจะชำระให้กิเลสให้มันเบาบางลง ธรรมและวินัยเป็นประโยชน์ทั้งหมดเลย เป็นประโยชน์กับการชำระกิเลส แต่เป็นสิ่งที่โต้แย้งกับกิเลส เพราะกิเลสมันไม่พอใจ กิเลสมันไม่ต้องการให้ใครไปทอนกำลังของมัน เราถึงอดนอน เราถึงผ่อนอาหาร เพื่อให้กิเลสมันเบาบางลง ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “ธุดงควัตร” นี่ขัดเกลากิเลส

แต่การชำระกิเลสมันอยู่ที่เรา ถ้าจิตมันมีความเข้มแข็งขึ้นมา เพราะอะไร เพราะเรามีเอกัคคตารมณ์ จิตเราตั้งมั่น เราใช้สติสัมปชัญญะ ถ้าเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เรามีสติขนาดไหน เวลาเราใคร่ครวญไป จิตมันสงบอย่างไร นี่เหตุนั้นทำให้ดี เหตุที่เราทำน่ะ ธรรมทั้งหลายย่อมมาแต่เหตุ ความสงบของจิตมันมาแต่เหตุ ถ้าใช้คำบริกรรมเป็นใช้พุทโธ เราต้องตั้งสติอย่างไร ทำสภาวะแบบใด

ถ้าใช้ปัญญาอบรมสมาธิ สิ่งนี้เราใช้ปัญญาแล้วใคร่ครวญไล่ต้อนมันเข้าไป ปัญญาเห็นไหม การเกิดความคิดมันเกิดดับในหัวใจโดยธรรมชาติ สิ่งที่เกิดดับในหัวใจโดยธรรมชาติ แล้วมันเกิดมาอย่างนี้ ถ้าเราไม่เอาสิ่งนี้เป็นประโยชน์ เราก็จะตายไปกับสิ่งนี้ แล้วเราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าเราเข้าใจ เวลาเข้าใจถึงซึ้ง ซึ้งธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถึงกับน้ำตาไหล น้ำตาร่วง นั้นมันเป็นสิ่งที่ว่าขณะกิเลสมันปล่อย มันเปิดโอกาสให้เราได้ศึกษานะ

แต่ถ้ากิเลสมันออกมามีอำนาจขึ้นมานะ มันจะบอกเลยว่าสิ่งที่เราซึ้งนะ มันไปซึ้งเพราะอะไร สิ่งที่เราศึกษา สิ่งที่เราศึกษานี่เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี้กึ่งพุทธกาลแล้ว มรรคผลนิพพานไม่มีแล้ว เราจะปฏิบัติไปให้ทุกข์ให้ยากทำไม

ถ้ากิเลสมันฟื้นตัวขึ้นมานะ มันจะทำให้เราไม่มีกำลังใจที่จะก้าวเดินออกไปเลย นี้เพราะอะไร เพราะเราประมาทไง เพราะเราประมาท เราไม่เข้าใจสภาวะตามความเป็นจริงไง ถ้าเราเข้าใจสภาวะตามความเป็นจริง ทำความสงบเข้ามา ตั้งสติเข้ามา สิ่งนี้เราแก้ไขเข้ามาตลอด เราไม่ใช่กรรมฐานม้วนเสื่อนะ

ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เวลามันมีผลขึ้นมาจากในหัวใจ มันจะมีกำลังเข้มแข็งมาก ขณะที่จิตมันเสื่อมนะ การกระทำการของเรา เห็นไหม ในการดำรงชีวิตของเราชีวิตหนึ่ง มันมีคราวทุกข์คราวยาก ความสุขความสบายในชีวิตของเรา มันมีเป็นคราวเป็นกาล ในการประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน ระยะการเดินทางของชีวิต เห็นไหม บุพเพนิวาสานุสติญาณ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย้อนไปอดีตชาติไม่มีต้นไม่มีปลายนะ มันซับซ้อนมาในหัวใจ กรรมมันมีมาตลอด

ญาติกันโดยธรรม เราเกิดมาเป็นญาติโดยธรรม เพราะอะไร เพราะมีการเกิดและการตายเหมือนกัน มีปากและมีท้องเหมือนกัน มีกรรมเหมือนกัน มีชีวิต มีความทุกข์เหมือนกันทั้งหมดเลย นี่เราเป็นญาติกัน แล้วสิ่งนี้การประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน เราประพฤติปฏิบัติแล้วมันจะมีความสะดวกสบาย มันจะมีความเรียบง่ายไป เป็นไปไม่ได้หรอก

ขณะที่ว่าขิปปาภิญญา ขณะที่ปฏิบัติง่ายและรู้เร็ว สิ่งนี้เขาต้องสร้างบุญญาธิการของเขามา แล้วถ้าไม่มีโอกาสล่ะ แม้แต่เป็นขิปปาภิญญาแบบพระองคุลิมาล ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ไปทรมานนะ โอกาสเกือบจะไปแล้วเห็นไหม นี่ก็เหมือนกัน ในพระไตรปิฎก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้มหาศาลเลยว่า บางคนน่ะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเทศนาว่าการไม่ทัน

ดูอย่างพระเทวทัตสิ พระเทวทัตบวชอยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ แล้วขวางธรรมไง ไปขอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอพร ๕ ประการ เห็นไหม ให้พระต้องอยู่ป่าเป็นวัตร...นี่เวลาคิดออกมา คิดว่าสิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่ว่าเป็นธรรม เพราะเวลากิเลสคิด การขวางธรรมคือใช้กิเลสของเรานี่ ใช้กิเลสของเราช่วงชิงให้เห็นว่าสิ่งนี้เป็นคุณประโยชน์

แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธุดงควัตรไว้ สิ่งที่พระเทวทัตขอนี่มีอยู่แล้วทั้งนั้นเลย แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้ให้เป็นธรรม คือผู้ที่มีจริตนิสัย ผู้ที่ต้องการจะประพฤติปฏิบัติก็ให้ประพฤติปฏิบัติ ผู้ที่กิเลสเบาบาง ผู้ที่ต้องการพ้นจากกิเลส ผู้ที่ต้องการให้ถึงธรรม เขาจะต้องอาศัยอาวุธ อาศัยสิ่งที่เครื่องดำเนิน ผู้ที่เขาบวชเข้ามา เขาจะอยู่สุขอยู่สบายในศาสนานะ มันก็มีเหมือนกัน เขาจะขวางของเขาไปเรื่อย

นี้ก็เหมือนกัน พระเทวทัตไปขอพรว่าต้องทำอย่างนี้ทั้งหมด เห็นไหม มันขัดกับธรรมชาติ มันขัดกับสัจจะความจริง สิ่งที่สัจจะความจริงคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปิดโอกาสไว้ให้กับสัตว์โลก สัตว์โลกเกิดมาในโลกนี่ สิ่งต่างๆ สะสมมา นิสัยใจคอไม่เหมือนกัน อำนาจวาสนาไม่เหมือนกัน การกระทำไม่เหมือนกัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปิดกว้างโดยธรรม สิ่งที่เป็นธรรมจะเป็นธรรม

สิ่งที่เป็นกิเลส สิ่งที่เป็นอกุศลมันจะเป็นกุศลนะ พระเทวทัตขอพรอย่างนั้น แล้วพยายามชักหมู่คณะไป นี่สิ่งที่เป็นบาปอกุศล มันก็แสดงตัวของมัน แต่พระเทวทัตถึงที่สุดก็ยังระลึกได้ จะกลับมาขออภัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า...นี่ลง

ถ้าเรานะมีหัวใจที่ยอมลงกับธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะมีโอกาสประพฤติปฏิบัตินะ เราจะย้อนกลับเข้ามาในกระแสของเรา ถ้ากิเลสมันเป็นการทิฏฐิมานะ สิ่งที่ทิฏฐิมานะ เราเกิดมานี่มีความทุกข์ไหม เราประพฤติปฏิบัติมาจนปัจจุบันนี้ ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมา เราต้องเข้าถึงธรรมสิ แล้วถ้าเราเข้าไม่ถึงธรรม เราก็ทำมา เราก็ว่าเราเป็นผู้ที่มีอำนาจวาสนา เราเป็นคนที่มีบุญกุศล ทำไมเราทำไปแล้วมันไม่เป็นผลล่ะ นี่ทำไมไม่คิด สิ่งนี้เอามาคิดถาม ถามปัญหากับตัวเราเอง ถ้าถามปัญหากับตัวเราเองนะ สิ่งนี้เป็นเพราะเหตุใด

ในการประพฤติปฏิบัติ “ศีล” ศีลเราปกติไหม สมาธิเราสมควรไหม มันต้องมีอุบายวิธีการนะ ไม่ใช่ว่าเอาหัวชนภูเขาแล้วก็จะดันไปอย่างนั้นนะ มันต้องมีอุบาย มันต้องมีวิธีการ วิธีการว่าเราจะหาทางใด ภูเขาทั้งลูกเราจะเลาะไปข้างๆ ได้ไหม เราจะทำอย่างไร เราจะปีนภูเขาขึ้นไปให้ข้ามพ้นภูเขาไปได้ไหม การขึ้นปีนภูเขาทั้งลูกนี่เราต้องใช้กำลังขนาดไหน

ในการประพฤติปฏิบัติ “ภู” คือภูหัวใจของเรา ภูกิเลสของเรามันอยู่ในหัวใจ ทิฏฐิมานะนี่มหาศาลเลย กิเลสตัณหาความทะยานอยาก มารในหัวใจของเราอาศัยธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าสิ่งนี้ประพฤติปฏิบัติธรรม แล้วมันไม่ยอมทวนกระแสเข้ามาไง มันเป็นโลกียธรรม สิ่งที่ว่าเป็นโลกียธรรม คือว่าอาศัยธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วอ้างอิงว่าเรารู้ เราเข้าใจ มันจะรู้เข้าใจ มันเป็นสิ่งที่ไม่ใช่รสของอาหาร มันเป็นอุณหภูมิของความร้อนและความเย็นของอาหารนั้นต่างหากล่ะ

ถ้ารสของอาหาร มันจะย้อนไปที่กาย กาย เวทนา จิต ธรรม ถ้ากาย เวทนา จิต ธรรมนี่ เราจับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แล้วแยกแยะ รสของอาหารเพราะอะไร เพราะเราได้แยกแยะสิ่งนี้ เห็นไหม กาย สภาวะกายนี้ ถ้าสิ่งที่เป็นสัมมาสมาธิ สิ่งที่ฐานนี้พอ สภาวะเห็นกาย เราจะแยกแยะออกไปให้สภาวะกายนี่มันออกไปเป็นไตรลักษณะ สิ่งที่ไตรลักษณะมันคงที่อยู่ไม่ได้

ดูสิ โลกนี้มันเป็นอนิจจัง โลกนี้แปรปรวนไปตลอด สังคมนี่แปรสภาพมาตลอดเลย แม้แต่ในชีวิตของเรา เราก็เห็นความเปลี่ยนแปลงของโลกขนาดไหน แล้วร่างกายของเรามันก็ต้องเปลี่ยนแปลงโดยธรรมชาติของมัน ตั้งแต่เกิดมาเป็นเด็ก เป็นผู้ใหญ่ แล้วก็จะต้องตายไป นี่มันเป็นสัจจะความจริง เราก็ยอมรับว่าเป็นสัจจะความจริง แต่ยอมรับโดยสัญญา ยอมรับโดยโลกียธรรม

แต่ถ้าเวลาเราใช้วิปัสสนาญาณ เวลาตาของใจมันเห็น วิปัสสนาเกิดอย่างนี้ เห็นสภาวะของกายนะ ให้มันแปรสภาพของมันไป แล้วแต่อำนาจวาสนาของคน ถ้าอำนาจวาสนาของคนเห็นสภาวะแบบนั้น มันจะแปรสภาพของมัน สิ่งที่แปรสภาพ นี่รสของธรรม เพราะอะไร เพราะเราเห็นความเป็นไป เราเห็นจากตาของใจนะ

ดูสิ เราดูหนัง ดูสารคดีต่างๆ เราดูสารคดี เราจะเข้าใจว่าสิ่งนี้เขาอุตส่าห์ไปทำสารคดีมาให้เราเข้าใจเรื่องของธรรมชาติต่างๆ เรื่องของการดำรงชีวิตของสัตว์ต่างๆ เห็นไหม เราเห็นแล้วเรายังเข้าใจ เออ! เราเข้าใจศึกษาชีวิตของเขา

นี่ก็เหมือนกัน เราศึกษาเราวิจัยของเราด้วยวิปัสสนาญาณ มันลึกลับกว่านั้นนะ มันเห็นจากหัวใจ เห็นตาของใจเห็นสภาวะของกาย พอมันแปรสภาพไปนี่สิ่งนี้เป็นอย่างนี้หรือ สิ่งนี้เป็นอย่างนี้หรือ...มันจะย้อนกลับ มันย้อนกลับเพราะอะไร เพราะมันเป็น ปัจจุบันธรรมไง สิ่งที่เราคิดน่ะเป็นอดีตอนาคตนะ เริ่มตั้งแต่ว่าเราเกิดมาตั้งแต่เด็ก เป็นผู้ใหญ่ แล้วจะต้องตายไป สิ่งนี้มันเป็นอดีตอนาคตเพราะอะไร เพราะมันมีการสืบต่อ

“ความคิดไม่ใช่จิต” ขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่งไม่ใช่จิตเพราะอะไร เพราะพลังงานเกิดจากจิต เห็นไหม ภวาสวะ ภพ ตัวของใจ ตัวของใจเวลามันเคลื่อนออกไปอย่างนี้ เหมือนกับสิ่งที่เราไล่กวด เราพยายามไล่กวด ไล่กวดผู้ที่ทำความผิด ผู้ที่ขโมยของเรา เราไล่กวด เราไล่กวดเขาทันไหม เขาวิ่งหนีไป เราก็เดินไล่กวดเขาไป เรารู้อยู่ คนนี้ขโมยของเรามา คนนี้ลักทรัพย์เรามา แล้วเราไล่กวดเขาไป

นี่ก็เหมือนกัน ขณะที่ความคิดออกมา จากจิต จากเจตนา ออกไปเป็นความคิด มันเคลื่อนไปแล้ว สิ่งที่เคลื่อนไปแล้วมันเป็นอดีตอนาคต มันแก้กิเลสไม่ได้หรอก แต่ขณะที่เราเป็นปัจจุบันธรรม เห็นไหม จิตเราสงบเข้ามา จิตเราสงบเข้ามาถึงฐาน คือฐีติจิต คือภวาสวะ คือตัวภพ คือตัวใจ ตัวภพ ตัวใจ

ถ้าเป็นพิจารณากาย ให้กายแปรสภาพ สิ่งที่แปรสภาพมันเห็นเพราะอะไร เพราะจิต...การเคลื่อนไปจิตเป็นสมาธิไม่ได้ สมาธิคือจิตตั้งมั่น จิตนิ่งอยู่ ถ้าจิตนิ่งอยู่ มันสามารถเห็นสภาวะแบบนั้น มันสะเทือนหัวใจ นี่รสของธรรม เห็นสภาวะต่างๆ มันจะเห็นแล้วมันจะเข้าถึงหัวใจ เข้าถึงใจดำ เข้าถึงสิ่งที่เป็นรากฐาน คือภวาสวะ ตัวภพ ตัวจิตนี่มันเห็นสภาวะแบบนี้ นี่รสของธรรมมันเป็นอย่างนี้

รสของแกง รสของอาหาร รสของ...ไม่ใช่ทัพพีอยู่ในหม้อแล้วไม่รู้รสของแกง เพราะมันไปขวางไว้ มันไปขวางตัวเอง มันขวางตัวเอง ไม่ให้ตัวเองได้รับผลประโยชน์ มันไม่รู้รสชาติอะไรเลย

แล้วถ้าเราตายลงนะ การประพฤติปฏิบัติ ดูสิ ดูที่ว่าเวลาเขาอาหารหมดแล้ว เขาต้องล้างหม้อ ล้างไห ล้างทัพพี ต้องล้างต้องคว่ำไว้ จิตเวลาออกจากร่างไปนะ คนเราตาย ทัพพีคือความรู้ในหัวใจ สิ่งที่เป็นธาตุรู้นี่ออกไปจากใจ วิญญาณออกจากร่าง คนเราถึงตาย ตายเหลือแต่ซากศพ เหลือแต่หม้อเปล่าๆ คว่ำไว้ให้มันอยู่กับโลกไง

ร่างกายนี่เป็นโลก แต่เพราะเราเกิดมา เรามีอำนาจวาสนา เกิดมาเป็นมนุษย์นะ เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วพบพระพุทธศาสนา แล้วศึกษาเห็นไหม ไม่ขวางโลก โลกเขาอยู่กันเป็นสภาวะแบบนั้น เราออกประพฤติปฏิบัติ แล้วเราออกแสวงหาธรรม แสวงหาธรรมเพราะอะไร

ดูสิ เจ้าชายสิทธัตถะเห็นการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย ยังสลดสังเวชขนาดนั้น นี่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกอยู่แล้ว เห็นไหม คนเกิดคู่กับไม่เกิด สิ่งที่ไม่เกิด เกิดมาแล้วนะชีวิตนี้มีอะไร ชีวิตนี้การดำรงชีวิตขนาดไหน มันก็มี...คนมีบุญมีวาสนาก็ดำรงชีวิตด้วยความร่มเย็นเป็นสุขพอสมควร พอสมควรเท่านั้น

ความสุขในโลกนี้ไม่มีหรอก เพราะอะไร เพราะสิ่งที่ว่ามันเผาลนในหัวใจนะ ความอาลัยอาวรณ์ ความพลัดพราก สิ่งที่พลัดพรากจากใจ ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด ชีวิตนี้มันต้องตายเป็นที่สุด ชีวิตนี้เห็นไหม คิดถึงความตายแล้ว สิ่งที่เราพยายามค้นคว้าขึ้นมา เราพยายามแสวงหามานี่มันเป็นสมบัติของใคร

แต่ถ้าเป็นสมบัติของใจนะ เป็นวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นมา มันจะมาแก้ไขสิ่งนี้ไง

เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วพบพระพุทธศาสนา พบธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง” รสของกิเลสทำให้เราวิ่งเต้นไปกับโลก เห็นไหม กามภพ รูปภพ อรูปภพ สิ่งนี้มันเป็นวัฏฏะที่จิตนี้ต้องเกิดต้องตายตลอดไป เพราะมันมีตัวเหนี่ยวรั้ง คือตัวสิ่งที่เป็นปฏิสนธิจิต มันจะเหนี่ยวรั้งสิ่งสถานะนั้นเกิดตลอดไป

แต่ถ้าสิ่งที่เข้าไปทำลายมัน สิ่งนี้นี่คือธรรม เพราะเรายอมลงกับธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราถึงมีสติ เราถึงมีปัญญาของเรา มันมีความเข้มแข็ง ทำให้จิตใจเราเข้มแข็งขึ้นมา แล้วพอเข้มแข็งมีกำลังเราขึ้นมา แล้ววิปัสสนาของเราขึ้นมาได้

นี้คืออำนาจวาสนา ๑

เพราะมีครูมีอาจารย์ ๑

ควาญช้างนะ ช้างไม่มีควาญ ช้างป่ามันอยู่ในป่าของมัน ดำรงชีวิตของมันไป เห็นไหม มันเป็นประโยชน์อะไรกับมัน? เป็นประโยชน์กับสัตว์ตัวนั้น เพราะเขาอยู่กับป่าของเขา เพราะเขาหาดำรงชีวิตของเขาไป แต่ถ้ามีควาญช้าง ควาญนั้นสามารถฝึกช้างนั้นได้ ช้างนั้นสามารถเอามาเป็นประโยชน์ ชักลากท่อนซุง เอามาชักลากสิ่งต่างๆ เพราะกำลังของช้างนั้นมีมาก

ใจของเราเหมือนช้างตกมัน จิตของมนุษย์เรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปรียบเหมือนช้างที่ตกมัน เอามันไว้ในอำนาจไม่อยู่นะ ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะขึ้นมานี่ช้างต้องมีควาญช้าง การประพฤติปฏิบัติของเรา ถ้ามีครูมีอาจารย์นะ ควาญช้างนั้นจะพาจะบังคับช้างนั้นให้เป็นประโยชน์ เพราะอะไร เพราะควาญช้างเขาฝึกช้างมา เขาเห็นช้างเป็นประโยชน์ของเขามา เขาใช้ประโยชน์กับช้างนั้นได้ แต่เราเป็นช้าง เราไม่รู้ว่าจิตของเราเป็นช้าง แต่เราไม่รู้ว่าเรามีอำนาจวาสนา ไม่รู้ว่าจิตของเรามันจะมีคุณสมบัติขนาดไหนไง

แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติเข้าไป...เวลาหลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ ท่านเทศนาว่าการ ต้องเป็นอย่างนั้น จิตต้องสงบก่อน ถ้าจิตไม่สงบเป็นโลกียธรรม ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่นอน แต่เพราะมันมีกิเลสของเราขึ้นไปครอบงำ ธรรมอันนั้นถึงไม่สะอาด ไม่บริสุทธิ์ ไม่สามารถชำระกิเลสได้

แต่ถ้าทำความสงบของใจเข้ามาแล้ว เห็นไหม นี่จิตตั้งมั่น เพราะกิเลสมันยุบยอบตัวลง มันเป็นอิสรภาพชั่วคราว มันเป็นปัจจุบันธรรม มันไม่เป็นอดีตอนาคต เวลาเราศึกษาธรรมโดยโลกียธรรมมันเป็นอดีตอนาคต เพราะศึกษาจากใจของเรา มันเป็นการซับ เป็นการสื่อสาร เป็นความรับรู้ออกไป

แต่ถ้าเป็นปัจจุบันธรรม มันจะย้อนกลับเข้ามาถึงตัวใจ สอนใจให้มีความฉลาดขึ้นมา สิ่งที่ใจฉลาดขึ้นมา นี่ภาวนามยปัญญาเป็นแบบนี้ไง มันเกิดในปัจจุบันเดี๋ยวนั้น การประพฤติปฏิบัติของเรา เราต้องสร้างสม สร้างสมสะสมขึ้นมาให้มันมีกำลัง สร้างสะสมฝึกฝนปัญญา

“สมาธิแก้กิเลสไม่ได้” ถ้าจิตมันสงบเข้ามา เราอยู่กับความร่มเย็นเป็นสุขขนาดไหน พลังงานทุกอย่างมันต้องเสื่อมสภาพไปเป็นธรรมดา ถ้าจิตมันสงบขนาดไหน ถ้าเราไม่ออกวิปัสสนา ไม่สามารถทำให้เป็นอกุปปธรรม อกุปปธรรมหมายถึงอฐานะที่มันจะเสื่อมสภาพ แต่ถ้ามันยังเป็นสมาธิอยู่นี้มันเป็นกุปปธรรม มันเป็นสิ่งที่เจริญแล้วเสื่อม เจริญแล้วเสื่อมโดยธรรมชาติของมัน

ถ้าเป็นธรรมชาติของมัน เราจะรักษาขนาดไหน จะพยายามถนอมขนาดไหนมันก็เสื่อมไปโดยธรรมดา มันเป็นธรรมดาของมัน เห็นไหม เราถึงต้องพยายามทำความสงบของใจเข้ามา แล้วเอาสิ่งนี้เป็นพื้นฐาน แล้วย้อนออกไปเป็นภาวนามยปัญญา เป็นโลกุตตรธรรม ถ้าเป็นโลกุตตรธรรม มันจะทำให้หัวใจ...

ครูบาอาจารย์เป็นผู้ชี้นำอย่างนี้ ถ้าเรามีครูบาอาจารย์ชี้นำ นี่ช้างมีควาญ มันจะทำฝึกฝนให้จนทำงานได้ ฝึกฝนจนเป็นประโยชน์กับใจดวงนั้นนะ

สิ่งที่เป็นช้างสารที่ตกมัน มันฟาดงวงฟาดงา มันทำลายคนอื่นไปหมด มันทำลายหัวใจมันเอง มันทำลายตัวมันเอง แล้วมันก็ไม่เข้าใจว่าทำลายตัวมันเอง เห็นไหม กับเป็นความทิฏฐิมานะว่าเรามีอำนาจวาสนา เรามีกำลัง เราเป็นผู้มีอิทธิพล เราเป็นผู้ที่มีความรู้สึก ทั้งๆ ที่มันสะสมเป็นบาปอกุศลในหัวใจทั้งหมดเลย ยังไม่รู้ตัว

แต่ถ้ามันเป็นปัญญานะ มันจะยอมลงธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะย้อนกลับมาเอาตัวของตัวไว้ในอำนาจของตัว ถ้าจิตมันสงบขึ้นมาแล้ว ช้างมันหายตกมัน มันจะอยู่ในความสงบของมัน แล้วเราพามันออกวิปัสสนา พาออกวิปัสสนานี่สิ่งที่เป็นคุณประโยชน์กับช้างนั้นมันเป็นคุณประโยชน์กับเขา

ถ้าวิปัสสนาในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม นี่มันแยกแยะออกมา รสของธรรม รสของธรรม ถ้าเราได้รสของธรรม ทัพพีที่มันมีรู้รสชาติในแกงนั้น รู้รสชาติสิ่งที่อยู่ในหม้อนั้น นี่มันมหัศจรรย์ขนาดไหน นี่ก็เหมือนกัน จิตเรารับรู้รสของธรรมเพราะอะไร เพราะจิตมันเกิดตายเกิดตาย เห็นไหม เกิดมาเป็นเรา เกิดมาเป็นสัตว์ เป็นต่างๆ มันก็เกิดตายเกิดตาย มันก็เหมือนทัพพีในหม้อนะ เกิดตายเกิดตายไปอย่างนั้นน่ะ มันไม่ได้ประโยชน์อะไรของขึ้นมา

แต่เพราะธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า วิปัสสนาญาณอันนี้ไง ที่เราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา แล้วธรรมที่เป็นศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราสามารถฝึกฝน เราสามารถทำใจของเราให้รับรสชาติอย่างนี้ได้ ถ้ามันเข้าใจ มันวิปัสสนาไปหนหนึ่ง มันจะปล่อยวาง “ตทังคปหาน” การปล่อยวางขณะที่รู้รสชาติแล้วปล่อยวาง มันจะมีความลุ่มลึก กับการที่ว่าอุณหภูมิของความรู้สึก อุณหภูมิของความร้อน

ถ้าเป็นสมาธิ ความปล่อยวางขนาดไหน มันจะมีตัวเราอยู่ ขณะที่เราวิปัสสนาเห็นกาย สภาวะนี่มันปล่อยนะ มันปล่อยพร้อมกับสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาสนี่มันอ่อนลงๆ อ่อนลงเพราะอะไร เพราะเราเข้าใจ เราเห็น เรารู้ แต่เดิมมันปล่อยโดยที่เราไม่รู้ เพราะมันว่างเฉยๆ กำหนดคำบริกรรมเข้าไป ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ นี่มันปล่อยเฉยๆ มันปล่อยออกมาเพราะว่ามันเป็นธรรมชาติ มันเป็นสิ่งที่มีอยู่โดยดั้งเดิม สิ่งนี้มันมีอยู่แล้ว

แต่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้ององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้ ถึงมีเป็นคราวๆ ไง ๕,๐๐๐ ปีที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมและวินัยนี้ สิ่งที่มีอยู่เป็นคราวๆ แล้วเราสามารถเข้ามาเกิดทัน แล้วเราสามารถใช้ให้เกิดขึ้นมากับในหัวใจของเรา นี่รสของมัน มันปล่อยวางขนาดไหน เราเข้าใจเอง นี่กิเลสอันละเอียด มันจะขวางไปตลอดนะ

ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์นะ มันปล่อยแล้วด้วยรสชาติที่ต่างกัน ด้วยรสชาติที่ลึกกว่า เราก็คิดว่าสิ่งนี้เป็นธรรม เดี๋ยวก็เสื่อม เสื่อมเพราะอะไร เพราะมันไม่ถึงสิ้นสุดกระบวนการของขณะจิต ถ้ามันสิ้นสุดกระบวนการของขณะจิตแล้ววิปัสสนาซ้ำๆ เราทำของเราบ่อยครั้งเข้า เราอย่าประมาท สิ่งที่ประมาทนะ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ตั้งแต่วันปรินิพพาน “ภิกษุทั้งหลาย เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์เลย”

แล้วเราพิจารณาด้วยความประมาทหรือไม่ประมาทล่ะ

ความประมาทคือว่ากิเลสในหัวใจของเราไง สิ่งที่เป็นกิเลสอันละเอียดมันขวาง มันสวมรอยว่าสิ่งนี้เป็นธรรม มันสวมรอยเพราะอะไร มันสวมรอยเพราะการทำงานนะ งานการกระทำของทางโลกเขายังต้องทุ่มเททั้งงานของเขา ทุ่มเทสติปัญญาทั้งหมดเพื่อทำให้งานนั้นประสบความสำเร็จ นี้ในการประพฤติปฏิบัติของเรา อดนอน ผ่อนอาหาร เอาชนะตัวเองนะ การบริหารทางโลก เขาบริหารไปเพราะเขามีสิ่งที่เขาจะบริหาร มันมีอยู่แล้วในโลก

แต่เราใช้วิปัสสนาของเรา สมาธิก็เป็นนามธรรม ปัญญาก็เป็นนามธรรม สติก็เป็นนามธรรม สิ่งที่เป็นนามธรรมนี่มันเสื่อมมันเจริญง่ายมาก แล้วเราจะจัดการ เราจะวิปัสสนาของเรา งานอย่างนี้มันยิ่งละเอียดอ่อนกว่า แล้วเวลามันลงทุนลงแรงไปนะ เวลามันปล่อยวางโดยตทังคปหาน คือมันปล่อยวางโดยชั่วคราว เพราะกิเลสมันไม่ถึงที่สุด ขณะจิตมันไม่มี

ถ้ามันถึงที่สุด ขณะจิตมันมีนะ สิ่งที่เป็นอกุปปธรรม จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ กายเป็นกาย สิ่งที่จิตเป็นจิต กายเป็นกาย ทุกข์เป็นทุกข์ แยกออกจากกันโดยสัจจะความจริง สัจจะความจริงสังโยชน์ขาดออกไป จะไม่ถามใครเลย การถามนี้เป็นสิ่งที่เราไปถามครูบาอาจารย์นี้เพียงแต่ว่า ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ไง นี่การสนทนาธรรม การสนทนาธรรมเพื่อความรื่นเริง เพื่อความเป็นไป แต่สัจจะความจริงก็เป็นสัจจะความจริงกับใจดวงนั้น

แล้ววิปัสสนาซ้ำขึ้นไปเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป นี่สังโยชน์จะขาดไป เห็นไหม สังโยชน์ ๑๐ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะ ปฏิฆะ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา มันจะเป็นสังโยชน์ที่ละเอียดเข้าไป สิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่อยู่ในหัวใจของเรา

กิเลสอันละเอียดมันก็หลอกลวงโดยละเอียด มันก็ขวางไปโดยละเอียด ถ้าเราวิปัสสนาขึ้นไปนะ เราถึงต้องมีสติ ต้องมีปัญญาของเราขึ้นไป ขึ้นไปทวนกระแสเข้าไปในหัวใจ สิ่งที่จะทวนกระแสเข้าไปในหัวใจ เห็นไหม สิ่งที่จะทวนกระแส นี่งานอันละเอียด ปัญญาอันละเอียด ตั้งแต่สติปัญญา มหาสติ-มหาปัญญา เป็นปัญญาอัตโนมัติ ปัญญาเคลื่อนเข้าไป เข้าไปทำลายกิเลส สิ่งนี้จะเกิดจากใจที่ประพฤติปฏิบัติ ใจที่ประพฤติปฏิบัติมันจะสูงส่งขึ้นไปด้วยมีครูบาอาจารย์คอยชี้นำ

ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์คอยชี้นำ เราต้องค้นคว้า ต้องค้นคว้าของเราเอง เพราะธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่วางไว้มันเป็นธรรมและวินัย แต่ถ้าเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังดำรงพระชนม์ชีพอยู่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเป็นผู้ที่ชี้นำ เป็นผู้ที่คอยบอกวิธีการ

ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ภิกษุบวชผู้เฒ่าจะไปขอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอกรรมฐาน แล้วก็เข้าป่าเพื่อประพฤติปฏิบัติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะให้กรรมฐาน ให้กรรมฐานคือว่าให้ใช้คำบริกรรมแบบนี้ ให้วิปัสสนาอย่างนี้ แล้วเข้าไปอยู่ในป่าในเขา แล้วประพฤติปฏิบัติอยู่ในป่าในเขาเพราะเหตุใด สรรพสิ่งในโลกนี้กลับไปสู่ธรรมชาติ การดำรงชีวิตแบบที่ไม่ขวางโลก จะทำให้ชีวิตนั้นมีความร่มเย็นเป็นสุข เพราะอุณหภูมิต่างๆ ของแต่ละทวีปไม่เหมือนกัน อุณหภูมิของต่างๆ เห็นไหม ความเป็นไปของโลกไม่เหมือนกัน ถ้าเราใช้ดำรงชีวิตแบบเขาเป็นสภาวะแบบนั้น

นี่ก็เหมือนกัน การจะเข้าไปชำระกิเลสมันต้องเข้าไปอยู่สภาวธรรม สภาวธรรมคือสภาวธรรมชาติ ถ้าเราเข้าป่าเข้าเขา เรากลับไปสู่ธรรมชาติ สู่ธรรมชาติคือความเป็นไป เราจะเกิดความกลัว เราจะเกิดความวิตกกังวลสิ่งต่างๆ เพราะเราอยู่ในป่าในเขา เห็นไหม ตั้งแต่ความมืด เราก็กลัวผี กลัวสิ่งต่างๆ ถ้าเราไปเจอสัตว์ร้ายเราก็กลัว สิ่งการดำรงชีวิตมันจะเป็นความลำบากลำบน

ทำไมสัตว์มันอยู่ในป่าในเขา เผ่าพันธุ์ของมันไม่สูญสิ้นไปล่ะ มันสูญสิ้นเพราะคนไปล่ามันนะ แต่ถ้าให้เป็นธรรมชาติของป่าเขา แล้วให้สัตว์อยู่ในป่าเขา มันจะไม่มีวันสิ้นสุดไปหรอก เพราะอะไร เพราะจิตมันเกิดตายมหาศาล จิตที่ไม่ได้มาเกิดนี่รอเวลาเกิด สัมภเวสีนี่ สัมภเวสีแสวงหาที่เกิดอีกมากมายมหาศาลเลย จิตมันเป็นสภาวะแบบนั้น ถ้าจิตของเราเป็นจิตดวงหนึ่งที่มาเกิดเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนานี่เราถึงมีอำนาจวาสนา

ถ้ามีอำนาจวาสนานะ ถ้าขวางโลก มันจะอยู่กับโลกไป แล้วมันทำลายตัวเอง การเกิดและการตายจะไม่มีประโยชน์กับจิตดวงนั้นเลย แต่เพราะเราเกิดมาพบธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วยังสละออกมาเป็นนักบวช บวชพระนะ บวชพระผู้ประเสริฐ ใจเราประเสริฐหรือยัง

ถ้าใจเราประเสริฐนะ เพราะเราตั้งใจจะบวชพระ บวชพระขึ้นมา บวชร่างกายขึ้นมา แล้วเราต้องพยายามทำหัวใจขึ้นมาให้เป็นอริยสงฆ์ ถ้าถึงเป็นอริยสงฆ์ขึ้นมานะ ตั้งแต่โสดาบัน สกิทา อนาคาขึ้นมา ใจเราเป็นพระนะ

พระโดยสมมุติสงฆ์ สมมุติสงฆ์นี่ อุปัชฌาย์อาจารย์ ญัตติจตุตถกรรม ญัตติขึ้นมา ยกขึ้นมาเป็นหมู่ เป็นหมู่แล้วธรรมวินัยเป็นกรอบไว้ให้เราออกประพฤติปฏิบัติ สิ่งที่เป็นสมมุติสงฆ์ ในการประพฤติปฏิบัติ มันจะเข้าไปทำลายกิเลส ถ้าเราขวางธรรม ดูสิ ดูผู้ที่บวชมาในศาสนา บวชมาเพื่อลาภสักการะ เพื่อสิ่งต่างๆ เขาบวชมาเพื่อสิ่งใด บวชมาแล้วเขาทำประโยชน์กับตัวเขาเองไหม ถ้าเขาไม่ทำประโยชน์กับตัว เขาทำลายตัวเขาเองก่อน เห็นไหม แล้วเขาจะทำลายหมู่คณะ ทำลาย...

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดไว้ในพระไตรปิฎก ศาสนาของเรานี่ ผู้ที่ทำลายคือลูกของเราเอง คือภิกษุจะทำลายศาสนา เขาทำลายตัวเขาเอง เพราะอะไร เพราะเขาเห็นแก่ลาภสักการะต่างๆ พอเขาทำลายตัวเขาเอง เขาแสวงหาสิ่งนั้น เขาก็ทำลายสงฆ์ไง ทำลายศาสนาออกไป ทั้งๆ ที่เริ่มการกระทำเพราะทำลายตนก่อน เพราะทำลาย...ก็หัวใจมันคิดไง

ในเมื่อเหยียบย่ำหัวใจ เพราะไม่ลงธรรมและวินัย ถ้าไม่ลงธรรมและวินัย หัวใจมันก็หมดโอกาส มันเหยียบย่ำตัวมันเองก่อน มันทำลายตัวมันเองก่อน ทำลายตัวเองแล้วก็ออกไปทำลายคนอื่น

แต่ถ้าเราบวชเป็นพระ เรามีโอกาสของเรา เราออกประพฤติปฏิบัติ เข้าป่าเข้าเขาเพื่อเหตุใด อดนอนผ่อนอาหารเพื่อสิ่งใด? อดนอนผ่อนอาหารเพื่อจะให้กิเลสในหัวใจของเรา ให้มารในหัวใจของเรามันอ่อนลง เห็นไหม เวลาธาตุขันธ์มีกำลังนะ ในการประพฤติปฏิบัติ เวลาธาตุขันธ์มีกำลังนี่ทำความสงบก็ยาก ทำสิ่งใดๆ ก็ยาก เพราะธาตุขันธ์มันมีกำลังของมัน ถ้าเราอดนอน เราผ่อนอาหาร ถือศีล ศีลก็ศีล ๒๒๗ แล้วถ้าถือธุดงควัตรเข้าไป เห็นไหม ขัดเกลากิเลส ขัดเกลาให้ธาตุขันธ์มันอ่อนลง ถ้าธาตุขันธ์มันอ่อนลง จากโลกก็เป็นธรรม

โลก เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย เราไปโรงพยาบาลรักษา นี่เรื่องโลกๆ ทั้งนั้นเลย แต่ถ้าเราเป็นธรรม เราไปรักษาเพราะเหตุใด สิ่งที่ควรรักษา เวลาเราไปรักษา เวลาเราเป็นโรค เราไปรักษา โรคที่สุดวิสัยรักษาไม่ได้ เราก็เจ็บทุกข์ร้อนไป

แต่ถ้าเป็นธรรมนะ สภาวะกรรมมันมาแล้ว สิ่งที่เป็นธรรม ถ้ามองในแง่ของโลกก็เป็นโลกล้วนๆ เอาแต่ฟืนแต่ไฟเผาตัวเอง แต่ถ้ามองในแง่ของธรรมนะ ชีวิตนี้ใครเกิดมาแล้วไม่ตายบ้าง ทุกคนตายหมด ตายช้าตายเร็วต้องตายทั้งนั้น แต่ถ้าขณะที่ว่าโรคมันเป็นสภาวะที่รุนแรงอย่างนี้ ถ้าหัวใจเรา เราอาศัยสิ่งนี้เป็นเครื่องอยู่ดำเนิน เป็นการค้นคว้า เป็นการวิปัสสนา เป็นการวิจัย

ดูพระในสมัยพุทธกาล ขณะที่เสือกินถึงข้อเท้ายังไม่สำเร็จ กินถึงหัวเข่า เห็นไหม เวลาสำเร็จ สำเร็จท่ามกลางปากเสือ เสือกินอยู่ วิปัสสนาไปตลอด ถึงที่สุดอยู่ในธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระในสมัยพุทธกาลก็ทำอย่างนั้น แต่น้อยองค์นักเพราะอะไร เพราะในสมัยปัจจุบันนี้นะ ตั้งแต่หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์พาออกประพฤติปฏิบัติ ยังไม่เคยได้ยินว่าเสือกัดพระเลย แม้ครูบาอาจารย์ไปเจอเสือมหาศาลเลย

เพราะศีลบริสุทธิ์ ๑

เพราะมีอำนาจวาสนา ๑

เสือไม่เคยทำลายพระ พระที่ออกประพฤติปฏิบัติ แต่กลัวยอมรับว่ากลัว ทุกคนกลัวทั้งนั้นน่ะ เพราะกลัวคือกิเลส ทุกคนมีกิเลสในหัวใจ เห็นไหม สิ่งสภาวะแบบนี้มี

ถ้าเราเป็นสภาวธรรม มันมอง...เหรียญมี ๒ ด้าน ด้านหนึ่งคือโลก ด้านหนึ่งคือธรรม เราจะดำรงชีวิตอย่างไร ถ้าเราดำรงชีวิตแบบโลก เราก็จะเกิดจะตายไปอย่างนี้ ถ้าเราดำรงชีวิตแบบธรรมนะ เราก็อาศัยโลกเขาอยู่ เพราะเกิดมาเป็นญาติกันโดยธรรม เพราะมีปากมีท้อง พระองค์ไหนบ้างที่ไม่บิณฑบาตฉันอาหาร พระก็ต้องรักษาชีวิตไว้ รักษาชีวิตไว้เพื่อจะประพฤติปฏิบัติ รักษาชีวิตไว้เพื่อประพฤติปฏิบัติให้ถึงที่สุดไง ถ้าตายในปัจจุบันนี้ ยังมีกิเลสอยู่ ยังต้องเกิดอีก ความทุกข์นั้นยังมีอยู่

นี้ในปัจจุบันนี้กึ่งกลางพุทธศาสนา มีครูบาอาจารย์คอยชี้นำ มีเห็นไหม มีควาญช้างคอยนั่งอยู่บนคอของเรา ถ้าเราลงนะ ถ้าเราไม่ลง เราสลัดควาญช้างออกจากคอ ช้างนั้นตกมันวิ่งเข้าป่าไป มันก็เป็นตามการดำรงชีวิตของเราไง ถ้าเราดำรงชีวิตของเรา เราอยู่ว่าเราดำรงของเราได้ เราไม่ฟังครูบาอาจารย์นะ สิ่งนี้มันไม่มีโอกาสไง

ดูสิ ดูอย่างทางโลกเขา ผู้ที่มีประสบการณ์มาก ผู้ที่ผ่านโลกมามาก เขามีประสบการณ์ทางโลก เขาสามารถชี้นำผู้ที่มีประสบการณ์น้อยได้นะ

นี่ก็เหมือนกัน ครูบาอาจารย์ถ้าเป็นธรรม สิ่งที่ประพฤติปฏิบัติมามันต้องเป็นอย่างนั้นตลอด มันจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้เลย จะเป็นเจโตวิมุตติ จะเป็นปัญญาวิมุตติ สิ่งที่เป็นอริยสัจเหมือนกัน แต่การกระทำต่างกัน เหมือนกับเราเดินทางนะ การเดินทางของเรา เดินทางทางบก เดินทางทางอากาศ เดินทางทางน้ำ การเดินทางน่ะ ต่างคนต่างเดินทาง แต่เป้าหมายเหมือนกัน ถึงคือกัน

ขณะจิตที่มันครบกระบวนการที่มันปล่อยวาง กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ เห็นไหม ทุกข์กับกายแยกออกจากกันโดยธรรมชาติ กามราคะขาดจากใจไปอย่างใด กามราคะนี่มันจะขาดอย่างไรออกไปจากใจ

สิ่งที่ว่าเป็นความโลภ ความโกรธ ความหลง ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติไม่มีครูมีอาจารย์ จะอ้างอิงตลอดว่าเมื่อก่อนโกรธมาก เดี๋ยวนี้ละความโกรธได้ ละความโกรธได้เพราะมันเป็นหินทับหญ้า จะละความโกรธได้มันต้องละปฏิฆะตัวนี้ ความโลภ ความโกรธ ความหลงนี่ ความโลภ ความโกรธ ความหลง คือกามราคะ สิ่งที่ละกามราคะได้มันถึงละความโกรธได้โดยสัจจะความจริง แล้วกามราคะจะละอย่างไร สิ่งที่ละอย่างไร จิตมันต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณากายมา การปล่อยสักกายทิฏฐิโดยเป็นความเป็นจริง พิจารณากายมาโดยปล่อยกายกับจิตรวมใหญ่ เห็นไหม รวมลงเป็นอะไร ถึงจะย้อนกลับเข้าไปเห็นกามราคะ

เพราะกามราคะนี่เป็นขันธ์อันละเอียด เป็นสิ่งที่อยู่กับใจเป็นอสุภะ ถ้าอสุภะ พิจารณาอย่างไรจะปล่อยวางอสุภะอย่างไร การปล่อยวางแต่ละขั้นตอนมันก็ไม่เหมือนกัน พิจารณากายต่างกันก็ไม่เหมือนกัน มันปล่อยอย่างไร จิตมันขาดอย่างไร แล้วจิตมันปล่อยวาง แล้วมันชำระเศษส่วนของสิ่งที่จิตมันมีเป็นจริตนิสัยที่มันชอบต่างๆ กัน

ความชอบต่างๆ มันจะทำเศษส่วนอย่างนี้ มันจะว่างหมด เห็นไหม ว่างหมดนั้นคืออะไร คือตัวภพ คือตัวจิต แล้วตัวจิตจะจับตัวจิตอย่างไร ปล่อยวางอย่างไร นี่ถ้าไม่เป็นครูบาอาจารย์ที่เคยเห็นสภาวะของขณะจิตที่มันปล่อยวางมาเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา แล้วมันจะเอาอะไรไปว่า “ต้องเป็นอย่างนั้น...ต้องเป็นอย่างนั้น...ต้องเป็นอย่างนั้นล่ะ” เห็นไหม นี่ควาญช้างมีประโยชน์อย่างนี้

แล้วเราเกิดกึ่งกลางพุทธศาสนา เราจะลงธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราจะลงกับครูบาอาจารย์ที่ชี้นำได้จริง ถ้าครูบาอาจารย์ชี้นำได้จริง เห็นไหม เป็นประโยชน์มหาศาลเพราะ

๑.ไม่เสียเวลา

๒. ไม่หลงออกนอกทาง

๓. ขณะประพฤติปฏิบัติไปนี่มันอาจจะมีกรรม มีสิ่งใดที่ทำให้เราออกนอกลู่นอกทาง ครูบาอาจารย์จะคอยชี้นำ

แล้วเรื่องของกิเลสนี่ร้ายกาจนัก ครูบาอาจารย์ที่มีธรรมนะ ท่านจะใช้อุบายวิธีการ จะตบให้เข้าทาง ช้างมันออกนอกลู่นอกทาง ควาญช้างจะมีวิธีการเอาช้างนั้นเข้าทาง

แต่ถ้าไม่ใช่ครูบาอาจารย์ จะเอาทิฏฐิมานะเข้าหากัน ถ้าเอาทิฏฐิมานะเข้าหากัน ทิฏฐิ ฟังสิ คำว่า “ทิฏฐิ” ถ้าเรารู้ เราเห็นของเรา แล้วครูบาอาจารย์ไม่มีประสบการณ์ ทำให้เราเข้าไปยึดมั่นถือมั่น สิ่งที่จะเป็นการผ่านขั้นตอนอย่างนี้ มันก็ทำให้เรายึดมั่นถือมั่น มันกลับติดไง กลับมีการโต้แย้ง กลับมีความยึดมั่น กลับมีการต่างๆ เห็นไหม อุบายวิธีการที่จะปล่อยวาง สิ่งนี้เป็นอำนาจวาสนา

ดูสิ ดูสมัยพุทธกาล องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้งเอตทัคคะไว้ ๘๐ องค์ สิ่งที่เป็นเอตทัคคะนี้คนละแนวทาง คนละแนวทาง เห็นไหม อำนาจวาสนาต่างๆ กันไป ดูพระอานนท์สิท่านได้เอตทัคคะตั้ง ๕ ทาง ๖ ทาง เพราะท่านสร้างสมของท่านมา สิ่งที่สร้างสมมา ใครทำมา สิ่งนั้นเป็นสมบัติของบุคคลนั้น

ในการประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน ถ้ามีครูมีอาจารย์คอยชี้นำอย่างนี้ สิ่งที่เป็นเอตทัคคะคือความเห็นของจิต อำนาจวาสนาสิ่งนี้ จะมีแสวงหาได้ยุคใดคราวใด ถ้าเราเกิดมาในร่วมสมัยของเรา นี้คือวาสนา

ถ้าเราเกิดมาต่างสมัย เช่น ในปัจจุบันนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว แล้วก็วางธรรมและวินัยไว้ ทุกคนจะคิดนะว่าอยากเกิดพร้อมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในปัจจุบันนี้ในการประพฤติปฏิบัติทุกคนก็อยากเกิดพบหลวงปู่มั่น แต่ขณะที่ครูบาอาจารย์ท่านเคยเล่าให้ฟังนะว่าขณะที่อยู่กับหลวงปู่มั่น องค์หลวงปู่มั่นนี่เข้มงวดมาก จะกลัวมาก

สิ่งที่กลัวมาก แล้วเราลงไม่ลง ถ้าเราลงก็ได้ประโยชน์ ถ้าเราไม่ลงนะ เราไปอยู่กับหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นพยายามบอกชี้วิธีการของเรา ถ้าเราไม่ลง มันก็เป็นเหมือนช้างตกมัน ไม่ได้ประโยชน์สิ่งนั้น

ถ้าได้ประโยชน์สิ่งนั้น สิ่งที่เป็นครูบาอาจารย์ นี่มันถึงว่าเป็นอำนาจวาสนาเกิดร่วมสมัย เกิดร่วมสมัยแล้วมีผู้ชี้นำ เห็นไหม ในว่าคราวว่าศาสนาเจริญหนหนึ่ง เจริญอย่างนี้ไง เจริญเพราะมีความรู้จริงไง เหมือนโรงพยาบาลมีหมอ ถ้าโรงพยาบาลมีแต่โรงพยาบาล แล้วก็มียาเต็มโรงพยาบาลเลย ไม่มีหมอนะ คนไข้ก็ต้องพยายามดิ้นรนด้วยตัวคนไข้เอง รักษาตัวกันเองตลอดไป

ในการประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน ถ้าขาดครูขาดอาจารย์ เราก็ต้องพยายามประพฤติปฏิบัติ ต้องดิ้นรนของเราไป แต่ถ้ามีครูมีอาจารย์ย่นระยะเวลาให้เรา สิ่งนี้จะเป็นประโยชน์กับเรามาก ถ้าเราเข้าใจ เราถึงไม่ขวางธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะลงธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อเรา เอวัง