ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ปฏิบัติไม่บ้า

๖ มี.ค. ๒๕๕๙

ปฏิบัติไม่บ้า

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๕๙

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : กราบนมัสการหลวงพ่อ โยมได้ฝึกภาวนาโดยทำสมาธิแบบที่หลวงพ่อสอน คือปัญญาอบรมสมาธิ โดยการหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ พอจิตสงบก็จะมีความรู้สึกที่ตรงจุดกลางอก โยมก็เอาความรู้สึกตรงนั้นเคลื่อนไปรู้ตัวทั่วตัว ตัวจะเบา และถ้าตรงไหนมีความเจ็บ เช่น ปวดหัว หรือปวดมา โยมก็เคลื่อนตรงจุดนั้นมาตรงที่ปวด ความปวดก็เบาหวิวไป 

และถ้ามีความคิดส่งออกไปคิดเรื่องต่างๆ ก็ทำความรู้เข้าไปในความคิด ความหยุดคิด และโยมจะสังเกตอารมณ์ความรู้สึกถ้ามีโลภะ โทสะ จนรู้สึกว่าความสงบเหลือน้อย ก็กลับมาพุทโธๆ ตามลมหายใจต่อไป ทำซ้ำๆ วนไปวนมาแบบนี้เจ้าค่ะ จึงกราบเรียนถามว่า โยมทำถูกไหมเจ้าคะ และโยมปฏิบัติแบบนี้เป็นสมถะอย่างเดียวใช่ไหมเจ้าคะ

ระหว่างที่ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้ามีการแฉลบไป คิดโน่นคิดนี่ โยมก็จะรู้ตามความคิด มันหยุด โยมก็อ๋อที่หลวงพ่อเคยเทศน์ว่าความคิดมันคิดจนเป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง โยมรำพึงเจ้าค่ะ ก็เพียงเข้าใจเหตุผลของมัน การที่มีความคิดเป็นกระบวนการเลยทีเดียว และต่อไปจนเป็นกิเลสตัณหามาพร้อม มันรวดเร็วจริง โยมคอยมีสติตามมัน อย่างนี้ถูกต้องไหมเจ้าคะ

และที่หลวงพ่อบอกว่า เมื่อทำปัญญาอบรมสมาธิ เมื่อจิตสงบแล้วก็ยกมาภาวนา โดยมาดูกาย เวทนา จิต ธรรม ตามความเป็นจริงนั้น โยมขอโอกาสให้หลวงพ่อเมตตาอนุเคราะห์ให้โยมเข้าใจว่าดูอย่างไรเจ้าคะ เพื่อจะได้เป็นหนทางให้โยมนำไปภาวนาเจ้าค่ะ โยมก็พยายามเปิดดูในเว็บไซต์ของหลวงพ่อเกี่ยวกับถาม-ตอบ ปัญหาธรรม และติดตามฟังธรรมของหลวงพ่อทุกนัดเลยเจ้าค่ะ

ไปเป็นลูกศิษย์ของวัดวัดหนึ่งที่น่ากลัวมากจริงๆ เจ้าค่ะ ตอนเป็นลูกศิษย์ก็ศรัทธามาก ถือว่าเป็นกรรมของโยมเองที่เดินมาทางผิด และพอดีมีเพื่อนร่วมชะตากรรมชวนมาวัดหลวงพ่อ ก็เลยเริ่มปฏิบัติเจ้าค่ะ วัดเก่าห้ามทำสมาธิ ห้ามภาวนา บอกว่าเป็นบ้า เลยกลัวเจ้าค่ะ

แต่ถ้าฟังธรรมหลวงพ่อที่ตอบปัญหาธรรมโดยการเอาคำตอบมาจากหลวงตามหาบัว และหลวงปู่มั่น กับอีกหลายองค์ ท่านก็เป็นพระอริยเจ้าทั้งนั้นมาตอบ โยมคิดว่าคนเราถ้าจะเรียนว่ายน้ำ ก็ต้องการครูอาจารย์ที่ว่ายน้ำเป็นแล้วสอน เวลาจมน้ำก็จะช่วยเราได้เจ้าค่ะ กราบนมัสการ

ตอบ : อันนี้พูดถึงการภาวนาเนาะ ถ้าการภาวนา เราจะว่าเป็นเรื่องๆ เลยล่ะ เอาเรื่องนี้ก่อน ถ้าเรื่องนี้บอกว่า โยมเคยไปวัดวัดหนึ่ง เขาห้ามภาวนา เขาบอก ถ้าภาวนาแล้วจะเป็นบ้า ห้ามทำสมถะ ห้ามทำสมาธิ ห้ามทำต่างๆ” 

ส่วนใหญ่แล้ว พวกอภิธรรมจะคิดแบบนั้นเพราะคนเราเวลาปฏิบัติ ถ้าคนปฏิบัติแล้วหลุด คนปฏิบัติแล้วมีปัญหา นี่เขาก็มองปัญหาหนึ่ง 

แต่หลวงตาท่านพูดอย่างนี้นะ พูดถึงว่าเวลาปัญหาทางโลก ปัญหาทางโลกพวกเราทำหน้าที่การงานมันจะมีความบีบคั้น มีต่างๆ จนเราเจ็บไข้ได้ป่วย จิตป่วยเยอะแยะไปหมดเลย แต่เวลาจะปฏิบัติก็บอกว่าปฏิบัติไม่ได้นะ ปฏิบัติแล้วเดี๋ยวจะบ้า ปฏิบัติแล้วเดี๋ยวจะเสียหาย แต่ความจริงการปฏิบัติคือบรรเทานะ

การปฏิบัติธรรม ธรรมะ เห็นไหม ธรรมโอสถ ธรรมโอสถธรรมะจะบรรเทา บรรเทาความทุกข์ความยาก บรรเทาความเจ็บช้ำน้ำใจ บรรเทา มันจะทำให้ดีทั้งนั้นน่ะ 

มันเว้นไว้แต่ เว้นไว้แต่คนเราเวลามันผิดปกติมาแล้วไง เวลาเราเป็นความปกติทางจิตของเรา มันมีความวิตกวิจาร ย้ำคิดย้ำทำ แต่เราไม่รู้ตัว เราไม่รู้ตัวแล้วเราก็มาภาวนา พอมาภาวนาปั๊บ ยกให้ภาวนาเลย ไอ้ที่เป็นนี้เพราะภาวนาทั้งนั้นเลย แต่มันไม่ได้บอกว่ามันเป็นมาเดิมไง

ถ้าเป็นมาเดิม ถ้าครูบาอาจารย์ท่านรู้นะ ถ้าเป็นมาเดิมแล้วก็พยายามฝึกหัดสติ เพราะธรรมะ ธรรมโอสถ ธรรมะเป็นสัจธรรม เป็นสิ่งที่บรรเทาความทุกข์ของสัตว์โลก เป็นคุณงามความดีทั้งนั้นน่ะ

แต่คนที่จะมาทำ คนที่จะมาทำถ้าเป็นโดยปกติ ปกติกิเลสมันก็บีบคั้น กิเลสทำความสงบของใจไม่ได้ แต่เวลาจิตมันย้ำคิดย้ำทำจนมันมีปัญหาขึ้นมา เวลามาปฏิบัติมันจะสร้างภาพ มันจะสร้างภาพเพราะมันไม่ปกติอยู่แล้วไง พอมีอะไรเข้าไปมันจะสร้างภาพ ถ้ามันจะผิดพลาด มันจะแบบว่าภาวนาแล้วมีปัญหาๆ 

เราต้องพยายามดูก่อนว่า เขามีปัญหามาเดิมก่อนหรือเปล่า ถ้ามีปัญหาเดิมมันต้องรักษาปัญหาเดิมให้เป็นปกติก่อน พอเป็นปกติแล้วมาปฏิบัติมันก็จะก้าวหน้าไป แต่ถ้าเขามีปัญหาเดิมอยู่แล้ว แล้วมาปฏิบัติปั๊บ ภาษานะ ทุกคนเขาจะหาแพะ ทุกคนจะบอกว่าเราผิด มันจะโยนไปให้การภาวนาไง บอกว่าเพราะมาภาวนานะ ถ้าไม่ภาวนา เมื่อก่อนเป็นคนดี๊ดี พอภาวนาเสียหายหมดเลย แต่ความจริงเขามีป่วยเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว กรณีนี้มี

แต่ถ้าพูดถึง หลวงตาท่านบอกเลย การภาวนาแล้วมีปัญหา เป็นไปไม่ได้ ภาวนาไป มันภาวนา เรารักษาร่างกาย เราพยายามดูแลสุขภาพของเรา แล้วสุขภาพของเราจะอ่อนแอได้อย่างไร แต่คนเรานี่นะ เวลามันแบบสุขภาพเราก็อ่อนแออยู่แล้ว แล้วเราไปทำ เห็นไหม ทำเกินกว่าเหตุ มันก็เจ็บไข้ได้ป่วย มันก็เรื่องธรรมดา แต่นี่เป็นเรื่องธรรมดา ธรรมดาโดยข้อเท็จจริงไง

แต่ แต่พูดถึงว่า เวลาวัดไหนแล้วแต่ เขาปฏิบัติแล้วเขาว่าจะเป็นบ้า ปฏิบัติแล้วจะเสียหาย อันนั้นมันเป็นเพราะว่าถ้าปฏิบัติไปแล้ว จิตใจคนสงบแล้วมันจะรู้ มันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นสันทิฏฐิโก คนเราพอปฏิบัติแล้วนะ มันจะรู้เลยว่า อ๋อ!สมาธิเป็นอย่างนี้ ถ้ามันยกขึ้นสู่วิปัสสนาได้ อ๋อปัญญาเป็นอย่างนี้อาจารย์สอนโกหกไม่ได้แล้วไง

อาจารย์โกหกทั้งนั้น ฟังฉันคนเดียวนะ ฟังฉันคนเดียว แล้วปฏิบัติตามฉันนะ แต่ห้ามดูพฤติกรรมของฉันนะ แล้วถ้าฉันให้ค่าให้ขั้นตอนใคร คนนั้นจะได้ขั้นได้ตอนอย่างนั้นนะ แล้วมีสัญญาด้วย ห้ามจับผิดอาจารย์ ถ้าจับผิดอาจารย์มรรคผลนั้นจะเสื่อมหมดเลย เยอะแยะ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกการประพฤติปฏิบัติต้องเป็นสันทิฏฐิโก เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ผู้นั้นจะรู้แจ้งในใจของผู้นั้นเอง แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทำให้ใจของใครเป็นอริยบุคคลไม่ได้ บุคคลคนนั้นต้องเป็นคนที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเอง รู้แจ้งเห็นจริงเอง นั่นเป็นความจริง กาลามสูตร องค์สมเด็จพระสัมมา-สัมพุทธเจ้าเน้นย้ำตรงนี้เลย

แล้วเขาบอกว่า พอไปปฏิบัติเชื่อฟังเขาแล้วจะได้ขั้นนั้น ขั้นนั้น

มีนะ คนที่ไปปฏิบัติสำนักหนึ่ง เขาบอกว่าเขาเองได้โสดาบัน เพื่อนเขาได้สกิทาคามี ได้มรรคได้ผลทั้งนั้นเลย แต่มีข้อแม้อยู่ข้อหนึ่ง คือห้ามเพ่งโทษ คือห้ามสนใจตัวอาจารย์ เพราะสนใจตัวอาจารย์ปั๊บ พอมันไปฟังแล้วมันขัดแย้งกับความเป็นจริง แล้วเขาก็มาเล่าให้เราฟัง เป็นอย่างนี้เยอะ

ถ้าอย่างนั้นแล้ว เราเวลาปฏิบัติ เห็นไหม ถ้าจะไปวัด เขาถาม จำเป็นต้องไปวัดไหม ไปวัดเหมือนไปโรงพยาบาล เวลาเราเจ็บไข้ได้ป่วยปวดหัวตัวร้อนไม่ต้องไปวัด กินพาราก็หาย แต่ถ้าเราเป็นไส้ติ่ง ไส้ติ่งกำลังจะแตก ไม่ไปโรงพยาบาล เดี๋ยวก็ตาย ไส้ติ่งแตกต้องไปโรงพยาบาล เพราะโรงพยาบาลเขาจะผ่าตัด เขาจะตัดไส้ติ่งนั้นทิ้งให้

นี่ก็เหมือนกัน จำเป็นต้องไปวัดไหม ไปวัดเพราะเวลาปฏิบัติแล้วเรามีอะไรที่มันคาหัวใจ มีอะไรที่มันบีบคั้นใจ เราไปหาอาจารย์ของเรา ให้อาจารย์ของเราแก้ไข เวลาไปวัด ไปวัด ไปวัดก็เพราะมีครูบาอาจารย์ ไปวัดอาศัยชัยภูมิของที่ปฏิบัติ เพื่อกล่อมหัวใจของเรา

เขาบอก “จำเป็นต้องไปวัดไหม” 

จำเป็นต้องไปวัดต่อเมื่อที่เรามีเหตุอุกฤษฏ์ในการประพฤติปฏิบัติที่มันสงสัย เราก็จะไปหาครูบาอาจารย์ของเรา แต่ถ้ามันปฏิบัติที่ไหนก็ได้ ปฏิบัติที่บ้านก็ได้ ปฏิบัติที่ไหนก็ได้ ถ้าปฏิบัตินะ แต่เวลาปฏิบัติแล้วมันจะมีอุปสรรค มันจะมีความสงสัย อาจารย์จะแก้ไขให้ แล้วเวลามีครูบาอาจารย์นะ เวลาเราปฏิบัติกัน เราคุยกันเอง สมองมันเท่าๆ กัน ความรู้เท่ากัน เถียงกันไม่จบหรอก

เราคุยกัน เราคุยกัน ธมฺมสากจฺฉา เราแลกเปลี่ยนความเห็นกัน แต่ถ้าเราจะตัดสิน เราต้องตัดสินที่คนรู้จริง ตัดสินที่ครูบาอาจารย์ของเรา 

เวลาพระปฏิบัติเวลาเขาติด เขาจะมุ่งมั่นไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นอยู่เชียงใหม่ ครูบาอาจารย์ของเราทุกองค์ท่านจะดั้นด้นขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น ดั้นด้นขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่เจี๊ยะท่านภาวนาอยู่กับหลวงปู่กงมา ท่านไม่เปิดความเห็นของท่านให้หลวงปู่กงมาฟังเลย ท่านบอกว่าต้องหลวงปู่มั่นองค์เดียว ท่านต้องขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น

พ่อแม่ร้องห่มร้องไห้เพราะหลวงปู่เจี๊ยะท่านเป็นลูกเศรษฐี ถ้าจะกินปลา ถ้าปลาขึ้นจากน้ำแล้วทำให้กินวันนั้นได้ ถ้าปลาขึ้นจากน้ำแล้วค้างไว้คืนสองคืน ทำให้หลวงปู่เจี๊ยะกิน ท่านจะปัสสาวะใส่สำรับนั้นเลย ท่านเล่าให้เราฟังเอง ท่านเป็นลูกเศรษฐี ความเป็นอยู่ของท่านอู้ฮูสุดยอด แล้วท่านจะต้องไปหาหลวงปู่มั่นในป่าในเขาที่ไม่มีจะกิน พ่อแม่เลี้ยงมา พ่อแม่จะคิดอย่างไร

หลวงปู่เจี๊ยะเล่าให้เราฟังเองว่า แม่ร้องไห้แล้วร้องไห้อีก พี่น้องในบ้านร้องห่มร้องไห้ ไม่อยากให้ไปเพราะเลี้ยงมาเอง รู้นิสัย ว่าไปอดตายแน่ๆ เลย แต่ท่านจะไปเพราะหัวใจท่านสูงส่ง ท่านปฏิบัติแล้วท่านได้ ๒ ขั้น แล้วไม่พูดให้ใครฟังเลย แล้วท่านขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น ท่านบอกเลย พอไปเจอหลวงปู่มั่น

ครูจารย์ ครูจารย์ อยากเล่าๆ เล่าให้ครูจารย์ฟังหมดเลย แล้วถามครูจารย์ด้วยว่า ครูจารย์จะให้ผมทำอย่างไรต่อ

ก็พิจารณากายอย่างเดิมนั่นแหละ

อุตส่าห์ขึ้นไปถึงเชียงใหม่ ดั้นด้นขึ้นไปหาท่านนะ แล้วให้ผมทำอย่างไรต่อ ก็พิจารณากายอย่างนั้นน่ะ เพราะคนที่เขาเป็น มันพิจารณากายอย่างหยาบ โสดาบัน พิจารณากายอย่างละเอียด เป็นสกิทาคามี พิจารณาอสุภะ กายในกาย เป็นพระอนาคามี พิจารณารูปของจิต ตัวภพ เพราะหลวงปู่เจี๊ยะท่านพิจารณาอย่างนั้น

ครูบาอาจารย์ของเราเวลาเราคุยกันนะ เราจะบอกว่าเรานักปฏิบัติด้วยกัน เราปรึกษาหารือกัน เราคุยกันได้ โทษนะ แต่อย่าเชื่อ อย่าเชื่อ ถ้าเอ็งเชื่อเดี๋ยวเอ็งจะทะเลาะกัน เพราะสมองมีแค่นั้น รู้แค่นั้น แต่เราคุยกันเป็นการปรึกษา แต่ถ้ามันจะสรุปต้องไปหาอาจารย์ แล้วถ้าอาจารย์เป็นนะ ท่านตัดสินผลัวะๆ ถ้าอาจารย์ไม่เป็นนะ ตะแบง

มาถามได้อย่างไร ไม่ใช่กาลเทศะ มาถามอาจารย์ได้อย่างไร” 

อ้าวก็เป็นอาจารย์เขาก็ต้องถามอาจารย์ ไม่ถามอาจารย์จะไปถามใครล่ะ แต่อาจารย์มันไม่รู้ พอไม่รู้มันกลัวเสียหน้านะ ทำขึ้นเสียงเชียวนะ อู๋ยจะกินเลือดกินเนื้อ จริงๆ คือมันตอบไม่ได้

แต่ถ้ามันตอบได้นะ หลวงปู่มั่น หลวงตาท่านพูดประจำ ท่านบอกว่าท่านเทศน์สั่งสอนลูกศิษย์มาเยอะ แล้วทำไมไม่มีใครพูดธรรมะให้เราฟังเลย แสดงว่าเราสอนไปไม่มีใครภาวนากันเลยหรือ เราสอนไป ภาวนากันไม่เป็นเลยหรือ หลวงตา ไปฟังในเทปท่านสิ หลวงปู่มั่นท่านจี้หาเลย ทำไมไม่มีใครมาส่งการบ้านเลย ทำไมไม่มีใครมาปรึกษาเราเลย แล้วที่เราสอนมา สอนมา มันไปไหนหมดน่ะ 

นี่ครูบาอาจารย์ที่เป็น ถ้าครูบาอาจารย์ที่ไม่เป็นนะ ทำขึ้นเสียงเชียว มาถามฉันได้อย่างไรล่ะ ฉันเป็นอาจารย์ใหญ่นะ เอ็งถามฉันไม่ได้นะ” เอ็งไม่เป็น เอ็งแค่ใช้อำนาจเอ็งข่มขู่เขา ไม่เป็นหรอก

ฉะนั้น พูดถึงว่า ถ้าภาวนาแล้วจะเป็นบ้า” 

เป็นไปไม่ได้ เราทำเพื่อความดี แล้วถ้าภาวนาไปแล้ว ถ้าเราตั้งสติไว้ อยู่กับพุทโธไม่เสีย ถ้าจิตเราพุทโธๆ ถ้ามันไปเห็นสิ่งใด เราพุทโธไว้ นั่นมันจะเบาบางลง เราอยู่โดยปกติ เราก็ไม่รู้อะไรใช่ไหม พอจิตเราสงบขึ้น ถ้าเห็นนิมิต เห็นอะไร บางทีมันตกใจ โอ้โฮตัวร้อนหมดเลย เวลามันตกใจ อ้าวของไม่เคยเห็น ของไม่เคยรู้ไม่เคยเห็น มันก็รู้ก็เห็นบ้าง ถ้ารู้เห็นแล้วเรามีสติปัญญาเราก็แก้ไขไป มันแก้ไขได้ มันเป็นจริต เป็นนิสัย 

เหมือนคนชอบทานอาหาร ใครชอบทานอาหารอย่างใด ก็ชอบทานอาหารอย่างนั้น เพราะมันเป็นความชอบ จริต จริตถ้ามันเป็นอย่างไร มันก็จะรู้อย่างนั้นน่ะ มันรู้ตามจริต มันเหมือนลิ้น ลิ้นมันเคยชอบอาหารอย่างใด มันก็ชอบอย่างนั้นน่ะ แล้วถ้ามันไปหาหมอใช่ไหม หมอก็บอกว่า ถ้าจะสุขภาพดีต้องกินอาหารรสจืดๆ ห้ามกินรสจัด ทางการแพทย์มันก็รู้อยู่แล้ว จิตนี่ก็เหมือนกัน พอไปรู้เขาจะแก้ไข

นี่พูดถึงว่า “ถ้าภาวนาแล้วจะเป็นบ้านะ” 

ทำดีจะเป็นบ้าหรือ เวลาบ้าเพราะโลก บ้าเพราะสังคมบีบคั้น บ้าเพราะทุกข์ โรงพยาบาลเต็มไปหมดเลย ทำไมเราไม่ได้พูดเรื่องนี้เลย ในโรงพยาบาลโรคจิตเต็มโรงพยาบาลเลย นั่นเขาทำอะไรกันน่ะ เต็มโรงพยาบาลเลย แล้วเราจะมาภาวนากันเนี่ย เรากลัวบ้า กลัวบ้า จะทำความดีกลัว แต่เวลากิเลสมันบีบคั้น ทุกข์อยู่ในโรงพยาบาล ไม่ได้พูดถึงมันเลย นี่พูดถึงไง เอามาขู่กันเฉยๆ 

แต่ถ้าจิตมันมีปกติอยู่เริ่มต้น จิตมันผิดปกติมาแล้ว แล้วมาปฏิบัติมันอาจจะเสียหาย ถ้าเสียหาย ถ้าเรารู้แล้ว เราก็กลับไปบำบัดให้จิตมาเป็นปกติก่อน จิตเป็นปกติมีสติปัญญาแล้ว เพราะว่าขนาดจิตผิดปกตินะ เราก็ภาวนาเบาๆ แค่ฝึกหัดสติ ฝึกหัดสติ เพราะตัวสตินั้นจะทำให้จิตกลับมาเป็นปกติ จิตที่ไม่เป็นปกติ เพราะสติปัญญาเราอ่อนแอ แล้วจิตมันก็เลยมีปัญหา 

ถ้าเราฝึกหัด ฝึกหัดด้วยสติปัญญาขึ้นมา เดี๋ยวจิตมันก็กลับเป็นปกติ ถ้าเป็นปกติแล้วเราค่อยมาฝึกหัดของเรา ภาวนาของเรา เพราะมันเป็นสติ มหาสติ สติอัตโนมัติ มันจะละเอียดขึ้นไปเรื่อยๆ นี่พูดถึงว่าผลของการปฏิบัตินะ

ทีนี้คำถาม คำถามว่า เขาทำตามหลวงพ่อ ตามหลวงพ่อ หายใจพุทโธ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ” 

ปัญญาอบรมสมาธิหมายความว่าเวลาเราฝึกหัดสติของเรา แล้วมีความคิด ความคิดเรา ความคิดมันคิดเรื่องอะไรก็แล้วแต่ เราก็มีสติเท่าทันความคิด ถ้าใหม่ๆ แค่เท่าทันความคิด เขาเรียกว่าปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาเกิดจากสติ ปัญญาเกิดจากสัจธรรม ปัญญาเกิดจากเรา

แต่เดิมปัญญาเกิดจากกิเลส ปัญญาความรู้สึกนึกคิดมันเกิดจากสัญชาตญาณ เกิดจากจริตนิสัย คนชอบเรื่องสิ่งใด คนชอบเรื่องนกเขามันก็จะเล่นแต่นกเขา คนชอบเรื่องรถมันก็จะคุยแต่เรื่องรถ แล้วมันก็จะมีความคิดอย่างนี้ผุดขึ้นมา ถ้าเรามีสติปัญญาเท่าทัน นกเขา เขาก็เลี้ยงไว้ นกเขามันอยู่ในป่ามันก็เป็นสัตว์ป่า เพื่อชีวิตของมัน เราเอามากักมาขังมันไว้ เราไปทรมานมัน แล้วเราค่อยมาแข่งขันกันว่าเรามีนกดีๆ 

เราไล่ปัญญา แสดงว่าเราล่วงสิทธิ์เขา พอมีปัญญาปั๊บ จิตใจมันก็ปล่อยวาง แล้วมันก็จะไปปล่อยนกด้วยไง ไม่ต้องเอามาขังไว้

ถ้าจิตใจมันชอบเรื่องรถ รถเราก็ต้องหาเงินหาทองเอาไปซื้อรถ ถ้าซื้อรถแล้ว รถมาแล้วก็ต้องมีค่าใช้จ่าย ถ้ามันคิดว่า เอ้ออย่างนั้นเราก็ขายทิ้งซะ แล้วไปนั่งรถเมล์ 

ถ้าสติมันทัน พอสติมันทันมันปล่อยหมด เห็นไหม มันปล่อย ถ้ามันปล่อย พอมันปล่อย พอปล่อยแวบ มันหยุดคิด หยุดคิดเดี๋ยวก็คิดอีก พอคิดอีก เราก็จะมีสติปัญญาจับอารมณ์ มันจะคิดเรื่องอะไร พอคิดเรื่องอะไรก็แล้วแต่ เราใช้ปัญญาใคร่ครวญ พอใคร่ครวญ ถ้าเหตุผลมันเหนือกว่ามันปล่อย

คำว่า ปล่อย” ปล่อยๆ เหมือนพุทโธๆ พุทโธพอมันจะลง พุทโธมันจะลง พุทโธๆ ละเอียดจนมันพุทโธไม่ได้ มันอันเดียวกัน อันเดียวกัน แต่เป็นพุทธานุสติ พุทโธๆ เป็นพุทธานุสติ ปัญญาอบรมสมาธิใช้ปัญญาควบคุมจิตให้มันปล่อยวางให้เป็นสมาธิ เราฝึกหัดอย่างนี้ 

ถ้าจิตมันปล่อยวางมันเริ่มมีกำลัง เห็นไหม มันเริ่มเป็นอิสระ พออิสระเขาบอกว่า เขามันมีความเจ็บปวด เขาก็กำหนดจิตไปอยู่ที่ความเจ็บปวดนั้น มันเจ็บปวดทั่วร่างกาย

ไม่ต้อง กำหนดลมหายใจเข้าออก ถ้ากำหนดลมหายใจนะ เรากำหนดพุทโธอยู่ที่ปลายจมูก หลวงตาท่านบอกว่าเหมือนบ้าน ถ้าบ้านเรานั่งเฝ้าประตูบ้าน ใครจะเข้าบ้านเรา ออกบ้านเรา เราจะเห็นตลอด แต่คนเราภาวนา เห็นไหม ตามลมเข้าไป ใต้สะดือ ตามออกจากสะดือมาปลายจมูก เขาบอกว่า เวลาเราเฝ้าบ้านเรา เวลาใครมา เราก็ตามเขาไป เราปล่อยประตูบ้านไว้ช่วงเราตามเขาไป ถ้าคนเข้ามาขโมยของ เขายังเข้ามาได้อีก ท่านบอกว่า ไม่ต้องตามใครเข้าไป ไม่ต้อง 

ลมหายใจยาวก็รู้ว่าลมหายใจยาว ลมหายใจสั้นก็รู้ว่าลมหายใจสั้น ไอ้นี่มันลิเก มันเป็นลิเก 

แต่ถ้าเรากำหนดพุทโธนะ ลมหายใจเข้าก็รู้ว่าลมหายใจเข้า ลมหายใจออกก็รู้ว่าลมหายใจออก อยู่ตรงปลายจมูกนั่นน่ะ ปลายจมูก เห็นไหม ถ้าเราเฝ้าของเราอยู่อย่างนี้ จุดนี้เวลามันละเอียด มันก็ละเอียดเข้าไปของมันเอง ถ้าเรากำหนดลมหายใจเข้านึกพุท ลมหายใจออกนึกโธ ต่อเนื่อง ต่อเนื่องไป

แต่ถ้าเราจะเร่งขึ้น เร่งขึ้น เราจะเร่งขึ้นมันจะติดที่ลมหายใจใช่ไหม เราวางสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เราเอาลมเฉยๆ เอาลมอย่างเดียวเลย เอาแต่ความรู้สึกชัดๆ ถ้าเราปล่อยความรู้สึกเรา แต่ท่องพุทโธๆๆ พุทโธๆ ชัดๆ เพราะว่าถ้ามันทำต่อเนื่องไปแล้ว ถ้ามันลมหายใจเข้านึกพุท ลมหายใจออกนึกโธ มันหน่วงกัน พอมันหน่วงกันแล้วมันจะจางลง จางลง จนตกภวังค์จนหายไป คือภาวนาจะไม่ต่อเนื่อง

ถ้าเรากำหนดลมหายใจอย่างเดียว ลมหายใจเข้า เรารู้เข้า ลมหายใจออก เรารู้ออก อยู่อย่างนี้ มันละเอียด ละเอียดขนาดไหน เราก็รู้ทัน รู้ทัน เห็นไหม ลมหายใจชัดๆ ลมหายใจชัดๆ เวลาเข้าสมาธิ มันจะเข้าสมาธิของมันไป ละเอียดเข้าไปจนเราคาดหมายไม่ได้ แต่เป็นสมาธิ 

เราพุทโธๆๆๆ เห็นไหม เวลาเราคิดอย่างอื่นก็แล้วแต่มันจะแวบ พุท คิดไปอีกเรื่องหนึ่งค่อยมาโธ โธแล้วจะไปคิดอีกร้อยเรื่องค่อยมาพุทอย่างนี้ เราก็พุทโธไป พุทโธๆๆๆ นี่เขาเรียกพุทธานุสติ เพราะมันเร่งได้ มันเร็วได้ ช้าได้ เพื่ออะไร

เพื่อเพราะความคิด กิเลสนะ ครอบครัวของมาร มีอวิชชาเป็นปู่ เป็นย่า มีกามราคะ ปฏิฆะเป็นพ่อเป็นแม่ มีลูกมีหลานเป็นขั้นสกิทาคามี มันมีเยอะแยะไปหมดเลย แล้วไอ้พวกเด็กๆ ไอ้พวกแวบๆ เยอะแยะไปหมด ต้องพุทโธๆๆๆ สู้กับมันไง

การทำสมาธิคิดว่าง่ายๆ นะ ไม่มีทางหรอก ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ ถ้าพูดถึงทำสมาธิมันง่ายๆ นะ ประเทศไทยเศรษฐีหมดเลย เพราะประเทศไทยใครๆ ก็อยากเป็นเศรษฐี แล้วประเทศไทยมีเศรษฐีกี่คน นี่ก็เหมือนกัน ทำสมาธิทำง่ายๆ มันทำได้กี่คน ไอ้ที่พูดๆ น่ะโม้ทั้งนั้น สมาธิยังทำไม่เป็น ทำสมาธิเป็นก่อน 

พุทโธๆ ถ้าพุทโธเนี่ย ถ้าเราพุทโธไวๆ มันเพื่อไม่ให้ตกภวังค์ไง เราจะบอกว่ามิจฉาสมาธิกับสัมมาสมาธิแตกต่างกัน ถ้าเป็นสัมมาสมาธิมันกำหนดพุทโธ กำหนดลมหายใจ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ สติมันพร้อมคือมันชัดเจน มันรู้เท่าทันชัดเจน พอรู้ชัดเจน เห็นไหม เรานี่ จิตใจเราเป็นสมาธิ สิ่งที่เราแสวงหา สิ่งที่เราต้องการ สิ่งที่เราต้องค้นคว้าตัวเราเอง มันจะมีความสุข มันจะมีความสุขมาก

เพราะถ้าเป็นรถเบนซ์ เป็นรถโรลส์-รอยซ์ เป็นรถอะไรก็แล้วแต่ เป็นเครื่องบิน เครื่องบินส่วนตัวเขาซื้อได้หมดล่ะ แต่สมาธิซื้อไม่ได้ สมาธิไม่มีขาย จะรวยแค่ไหนก็ซื้อสมาธิไม่ได้ เราทำเองได้ เราทำสิ่งที่โลกเขาทำกันไม่ได้ เรามีสมาธิที่โลกเขาไม่มี มหัศจรรย์แค่ไหน 

เราฝึกหัดอย่างนี้ ถ้ามันเป็นสัมมานะ ถ้ามันเป็นมิจฉาก็วูบหายไปเลย หายเงียบ เวลามันจะมานะ เหมือนคนตื่นจากนอน สะดุ้งกึก เฮ้ยโอ้โฮสมาธิสุดยอดเลย มันตกภวังค์ไป ๓ ชั่วโมง มันยังไม่รู้ตัวนะน่ะ นี่คือมิจฉาสมาธิ มันแวบหายไปเลย หลายๆ ชั่วโมงนะ แล้วเหมือนคนสะดุ้งตื่น ถ้าใหม่ๆ ยังไม่สะดุ้ง ใหม่ๆ ค่อยๆ รู้สึกตัว แต่ถ้ามันแก่กล้านะ เหมือนคนสะดุ้งตื่น แล้วก็ยังสำคัญตนว่าเป็นสมาธินะน่ะ นั่นคือภวังค์ มิจฉา พรหมลูกฟัก เกิดปัญญาไม่ได้ ใช้ประโยชน์ไม่ได้ เวลาทำสมาธิมันยังเป็นของมันอีกชั้นหนึ่งนะ 

ฉะนั้น ถึงบอกว่า เวลาให้ทำอย่างนี้ ฝึกหัด ถ้าไม่ฝึกหัด เริ่มต้นจากศีล สมาธิ ภาวนามยปัญญาไม่เกิด สิ่งที่ปัญญา ปัญญาเราเกิดขึ้น เขาเรียกโลกียปัญญา ปัญญาวิทยาศาสตร์ไง เกิดจากจิต เกิดจากสัญชาตญาณ ปัญญาอย่างนี้ใครๆ ก็มี แล้วมันมีมากมีน้อยนั่นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าจิตเป็นสมาธิแล้ว ถ้ายกขึ้นสู่วิปัสสนาไม่ได้ ทำวิปัสสนาไม่ได้ เขาก็ไม่เกิดปัญญา ปัญญาอย่างนี้ต้องฝึกหัด ถ้าฝึกหัดมันจะเกิดขึ้น ฉะนั้น เราทำสมาธิเพื่อสมาธิก่อน ทำเพื่อให้มันสุข ให้มันสมบูรณ์ของมัน

ฉะนั้น เขาบอกว่า “พอจิตมันสงบแล้วกำหนดไปที่จิต

ไม่ต้อง ไม่ต้องกำหนด ให้กำหนดอยู่ที่ปลายจมูก ไม่ใช่กำหนดไปทั่วตัว กำหนดไปทั่วตัว ถ้ากำหนดทั่วตัวมันต้องมีสติพร้อมแบบหลวงปู่เจี๊ยะท่านสอน หลวงปู่เจี๊ยะนะท่านบอกว่า ทำสมถะ คือกำหนดจิตให้อยู่ตามข้อกระดูก คำว่า อยู่ข้อกระดูก” ก็เหมือนกับปัจจุบันแต่ละสถานที่ ท่านบอกว่าให้กำหนดจิตอยู่ในข้อกระดูกวนไปวนมา ๓ - ๔ ชั่วโมงก็อยู่ได้ แล้วถ้ามันสงบเป็นสมถะ พอสมถะแล้วให้กำหนดกระดูกใหม่ ถ้ากำหนดกระดูกเป็นวิปัสสนา อุคคหนิมิต กับวิภาคะ มันแตกต่างกัน

นิมิตมันยังมีระดับของมัน มีการกระทำของมัน คนภาวนาเป็นเขาจะรู้ เขารู้เลยว่าสเต็ปของมันจะเป็นอย่างไร มันเป็นสเต็ปเลย แต่ แต่มันเป็นจริต เป็นนิสัยของคนที่จะใช้ประโยชน์จากมันน่ะ ใช้ประโยชน์ คำว่า ใช้เป็น” กับ ใช้ไม่เป็น” ใช้เป็นนะ 

นายช่าง เขาเป็นนายช่างใหญ่นะ อุปกรณ์การช่างเขาใช้ประโยชน์ได้หมดเลย ไอ้เราเป็นช่างฝึกหัด หยิบอะไรขึ้นมาก็ใช้ไม่เป็นสักอย่าง นายช่างนะ โอ้โฮเครื่องมือเขาใช้ประโยชน์ได้ทุกตัวเลย เพราะเขาเป็นนายช่าง นายช่างผู้ปฏิบัตินะ พอจิตเขาสงบแล้วเขาใช้ประโยชน์ได้หมดเลย จะยกขึ้น จะทำอย่างไร เขาเป็นนายช่าง ไอ้เราสมาธิมาอยู่ต่อหน้าเลยยังไม่รู้ เฮ้ยอะไรวะน่ะ ใช้ไม่เป็น ใช้ไม่ได้ไง 

ที่เราปฏิบัติกันที่ไม่ก้าวหน้า เพราะการฝึกหัด ความชำนาญเรายังไม่มี เราต้องฝึกหัดชำนาญจนเราเป็นนายช่าง บ่มเพาะสติแค่นี้ กำหนดเข้ามาอย่างนี้ ลงอย่างนี้ กำหนด มันเป็นปัจจุบันพอดี พอดีไง มัชฌิมาปฏิปทาคือความสมดุล คือความพอดี พอดี พอดีเป็นประโยชน์หมดเลย ถ้าไม่พอดี ไม่พอดี มันจะดึงกัน

นี่พูดถึงว่า ไอ้ที่ว่ากำหนด ยังไม่ต้อง ถ้ากำหนดมันเคลื่อนไปเรื่อยๆ ฉะนั้น สิ่งที่กำหนด ไม่ต้อง แล้วเขาบอกว่า แล้วพอกำหนดมา อย่างเช่น ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เวลาเราตามความคิดไป เวลามันหยุด หยุดแล้วทำอย่างไรต่อ” 

พุทโธนี่ไง พุทโธนี่ใช้ได้นะ พุทโธใช้ได้ประโยชน์มาก

ฉะนั้น เวลาหลวงตาท่านพูดด้วยอ่อนน้อมถ่อมตน เวลาถามท่าน ท่านบอกว่า เราชอบพุทโธ เราก็เลยสอนพุทโธ” แต่ความจริงนะ ถ้าให้พูด เป็นเรานะ พุทโธนี่เป็นมงกุฎ เพราะเวลาพุทธานุสติไง กรรมฐาน ๔๐ ห้อง ขึ้นด้วยพุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ มรณานุสติ พุทโธอันดับหนึ่ง พุทโธคือพุทธะ พุทธานุสติ ธัมมานุสติ ให้กำหนดพุทโธ ให้กำหนดธัมโม ให้กำหนดสังโฆ

ฉะนั้น เวลาถ้าพูด มันเป็นพุทธภาษิต เป็นภาษิตขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เขาก็ยื้อกัน บอกพระพุทธเจ้าไม่ได้สอนพุทโธ พระพุทธเจ้าไม่กำหนดพุทโธ พระพุทธเจ้ากำหนดอานาปานสติ อ้าวก็พระพุทธเจ้ายังไม่ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เจ้าชายสิทธัตถะก็กำหนดอานาปานสติก่อน แต่เวลาตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว พุทโธกับธัมโม เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นรัตนะ ๒ มีพุทโธ ตรัสรู้ธรรมก็เป็นธัมโม เห็นไหม 

เวลาสอนเขาก็สอนพุทโธๆ เห็นไหม แล้วเวลาผู้ที่ปฏิบัติแล้วก็ได้สังโฆขึ้นมา เวลายังไม่มี เวลาเขาโต้แย้งกันไปไง ไอ้โต้แย้ง ก็โต้แย้งเอาทิฏฐิ เอามานะมาคะคานกัน แต่ไม่ได้บอกว่าทำแล้วได้ประโยชน์หรือไม่ได้ประโยชน์ ทำแล้วได้ผลหรือไม่ได้ผล ถ้าได้ผลมันก็เป็นประโยชน์ไง

ฉะนั้น บอกว่า เวลากำหนดปัญญาอบรมสมาธิแล้ว ถ้ามันเห็นไปนะ คำว่า เห็น” เห็นความคิด เวลาเขาเห็นความคิด ความคิดอย่างนี้มันเห็นแบบสามัญสำนึก มันเห็นแบบเราเข้าใจ แต่ถ้าไปเห็นตัวความคิดจริงๆ จะตกใจ 

เพราะเวลาเห็นตัวความคิดจริงๆ มันเหมือนที่หลวงปู่ดูลย์สอน คิดเท่าไรก็ไม่รู้ ต้องหยุดคิด แต่จะหยุดคิดก็ต้องใช้ความคิด เวลาหลวงปู่ดูลย์ท่านสอนนะจิตส่งออกทั้งหมดเป็นสมุทัย ผลของมันเป็นทุกข์ จิตเห็นจิตนั้นเป็นมรรค ผลของจิตเห็นจิต นี้เป็นนิโรธ เวลาหลวงปู่ดูลย์ท่านสอนนะ จิตเห็นจิต จิตเห็นจิตคือจิตเห็นความคิดไง ความคิดเกิดจากจิต ถ้าจิตมันเห็นอาการของจิต ถ้าเห็นอาการของจิตมันจะละเอียดกว่านี้ 

แต่นี่เวลาบอกว่า เขาเห็นความคิดของเขา อ๋อเลยเข้าใจว่ามันเป็นรูป เป็นอะไร อันนี้ยังเป็น... เพราะเราจะพูดอย่างนี้ เราจะบอกว่าความเห็นมันก็เหมือนกับเห็นโดยสายตา เห็นด้วยกล้องจุลทรรศน์ มันจะละเอียดขึ้นไปเรื่อยๆ ไง ฉะนั้น เห็นก็คือเห็น แต่ แต่นะ แต่ความเห็นของใคร วุฒิภาวะของใครเห็น 

ฉะนั้น ถ้าเห็นอย่างนี้มันก็ใช้ได้ เราจะพูดไว้ก่อนไง ถ้าไม่พูดอย่างนี้ปั๊บ คนเรามันจะติดแค่นี้ไง ติดว่าฉันเห็นแล้ว ฉันรู้แล้ว ฉันเข้าใจแล้ว แต่สิ่งที่ละเอียด สิ่งที่จะเป็นประโยชน์กับเรา สิ่งที่เราจะต้องขวนขวายการกระทำเข้าไปอีก มันมีอยู่ข้างหน้านะ สิ่งที่เราเห็นใช่ไหม ใช่ แต่เบสิกขั้นต้น มันยังมีของมันไปอีก แต่อย่าบอกว่าอย่าคาดหมายนะ 

นี่ไง เวลาครูบาอาจารย์ท่านสอน ท่านถึงบอกว่า ท่านไม่พูดล่วงหน้า ถ้าพูดล่วงหน้าไปแล้ว ไอ้คนปฏิบัติ จะเป็นความทุกข์ของคนปฏิบัติ เพราะว่าพอมันเห็นแล้วใช่ไหม แล้วข้างหน้าคืออะไร มันก็จะสร้างภาพ มันจะไปไง มันก็เลยเป็นผลลบกับคนปฏิบัติ ฉะนั้น คนปฏิบัติมันต้องรู้จริงเห็นจริงในปัจจุบัน ถ้าปัจจุบัน ครูบาอาจารย์ท่านถึงบอกเป็นแนวทาง แล้วเราจะทำไป

ฉะนั้น พูดถึงบอกว่า ถ้าเห็นว่าเป็นความคิด เป็นความรู้สึกอันนั้นนะ นั่นน่ะเห็น เห็นก็คือเห็น ฉะนั้น เห็นแล้ว ปัจจุบันนี้มันเป็นอดีตแล้ว เพราะเราปฏิบัติมา วางไว้ตรงนั้น แล้วเราทำปัจจุบันของเราตลอด ไม่ต้องไปกังวล แล้วเราทำของเราไป เพราะทำสิ่งใดแล้วเป็นประสบการณ์ไปเรื่อยๆ นะ ฉะนั้น เวลาปฏิบัติทุกคนจะคิดว่า เหมือนทำบัญชี ลงบัญชีแล้วจบไง

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เวลาทำสมาธิได้ ฉันได้สมาธิแล้วจะอยู่กับเราตลอดไป” 

ไม่ใช่ มันอยู่ตรงนั้นน่ะ มันอยู่ตรงได้สมาธิ เวลาลุกมาก็อาการคลายออกมาแล้ว มันเป็นนามธรรมไง มันเป็นความรู้สึกไง นี้ความรู้สึกจะรักษาไว้ให้ได้ มันต้องมีสติมีปัญญารักษา 

ฉะนั้น เหมือนกัน สิ่งที่เห็นมาแล้วมันเป็นอดีตไปแล้ว เป็นประสบการณ์อันหนึ่งที่เราเคยปฏิบัติ แล้วเราปฏิบัติต่อไป มันจะเห็นดีกว่านี้ เห็นชัดเจนกว่านี้ เห็นละเอียดกว่านี้ เห็นที่ดีกว่านี้ถ้ามันพัฒนา แต่ถ้ามันเสื่อมนะ เออทำเท่าไรก็ไม่ได้ เลิกดีกว่า ถ้ามันเสื่อมมันจะเลิกดีกว่า แต่ถ้ามันพัฒนาขึ้น มันจะดีของมันขึ้นไปเรื่อยๆ 

ฉะนั้น สิ่งที่ทำมา “ถ้าเป็นความว่าถูกต้องดีงามไหม” 

ใช่ ใช่ตรงไหน ใช่ตรงที่ว่าเราปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระ-สัมมาสัมพุทธเจ้าไง ที่เราประพฤติปฏิบัติ เราประพฤติปฏิบัติเพื่อบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ปฏิบัติไปแล้วมันจะเกิดกำลัง เกิดกำลัง บูชาพุทธะ บูชาคือหัวใจ หัวใจจะเกิดสติ จะเกิดปัญญา จะเกิดประสบการณ์

คนเราที่มันจะมีการศึกษามาขนาดไหนก็แล้วแต่ ถ้ามีประสบการณ์การทำงานขึ้นมา มันจะมีประสบการณ์ พอมีประสบการณ์ขึ้นมามันจะวินิจฉัยเรื่องต่างๆ ได้ละเอียดขึ้น จิต การประพฤติปฏิบัติมันจะมีประสบการณ์ สิ่งที่ปฏิบัติมาแล้วมันเป็นประสบการณ์ของจิต เป็นประสบการณ์ของจิตแล้วมันก็เป็นอดีตไปแล้ว เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านสอนเรื่องปัจจุบันธรรม

ถ้าปัจจุบัน ปัจจุบันคือเดี๋ยวนี้ ปัจจุบันคือการปฏิบัติเดี๋ยวนี้ แล้วเราทำเดี๋ยวนี้ ไอ้ที่มันผ่านไปแล้วเป็นประสบการณ์ เป็นประสบการณ์ เพราะมีประสบการณ์มากขึ้นขนาดไหน มันก็มีบารมี มีอำนาจวาสนาบารมีเท่านั้น คนที่ปฏิบัติแล้วมีปัญญามาก มีการค้นคว้ามาก มันจะมีประสบการณ์มาก พอมีประสบการณ์มาก แสดงธรรมจะละเอียดมาก ถ้าคนปฏิบัติแล้วมีประสบการณ์น้อย ประสบการณ์น้อยเพราะเขาทำมาแล้วเขามีประสบการณ์น้อย เขาก็จะรู้ด้วยประสบการณ์น้อยอันนั้น

ฉะนั้น สิ่งที่ปฏิบัติมาแล้วก็ให้คือปฏิบัติมาแล้ว แล้วสิ่งที่ทำมา เพราะที่ถามมาก็ต้องการแนวทางให้หลวงพ่อสอนไง หลวงพ่อสอน สอนก็ เห็นไหม หลวงตาท่านอยู่กับหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านบอกว่า เพราะเวลาหลวงปู่มั่นท่านจะเสียชีวิตไง แล้วหลวงตาท่านกำลังเร่งมาก แล้วท่านก็เสียใจมากว่าท่านกำลังต้องการครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ก็มาล่วงไปแล้ว ท่านไปนั่งอยู่ปลายเท้าหลวงปู่มั่นแล้วร้องไห้นะ 

เวลาพูดอย่างนี้แล้วมันสะอึกทุกที ท่านไปเสียใจว่าคนสอนท่านไม่อยู่แล้วไง แต่ท่านก็มาทบทวน แล้วท่านก็ระลึกได้ ว่าหลวงปู่มั่นท่านสั่งไว้ ว่าถ้าไม่มีท่านแล้ว เพราะหลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติมา ท่านสมบุกสมบันมากับกิเลสมาเยอะ แล้วท่านเห็นว่าหลวงตาท่านปฏิบัติ เพราะท่านจะรู้ว่าระดับนั้นน่ะ จิตระดับนั้นมันต้องขวนขวายขนาดไหน เพราะท่านผ่านมาก่อนไง ท่านถึงสั่งไว้ เพราะว่าท่านต้องล่วงไปก่อน ท่านบอกว่า ท่านล่วงไปแล้วนะ อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ

อย่าทิ้งผู้รู้ก็อย่าทิ้งหัวใจของเรา อย่าทิ้งพุทโธก็อย่างพุทธานุสติ เวลากลับมาพัก กลับมาเพื่อฟื้นฟูตัวเอง อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ มันจะตกใจ มันจะรู้อะไรให้มันกระเพื่อม เราอยู่กับพุทโธเรา เราอยู่กับใจเรา พอเวลาตกใจ ใครตก ใจมันตก แต่ถ้าเราอยู่กับพุทโธ เราอยู่กับผู้รู้ ถ้ามันตกใจเราก็อยู่กับตัวเรา ฟื้นฟูมัน อย่าตกใจ อย่าออกไปข้างนอก อย่าไปหาฟืนหาไฟ อยู่กับผู้รู้ อยู่กับพุทโธไม่เสีย ท่านเอาตรงนี้เป็นคติ เป็นตัวอย่าง แล้วเราก็เห็นประโยชน์มันมาก เราเห็นประโยชน์ตรงนี้มาก เราก็เอามาใช้ตลอด

ฉะนั้น เวลาใช้เราก็จะบอกว่าเราจำขี้ปากหลวงปู่มั่น เราจำขี้ปากหลวงตามา เราจำขี้ปากท่านมา แต่พวกเราเอามาเป็นปัจจุบัน เอามาใช้ประโยชน์ในปัจจุบันนี้ อยู่กับผู้รู้ อยู่กับพุทโธไม่เสีย แล้วมันจะพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ด้วยปัญญาของเรา 

เพราะมันตกใจนะ มันกลับมาก็จบ แล้วมันมีปัญหา มันเห็นนิมิต กลับมาก็จบ พอจบแล้วมันก็มั่นใจขึ้น เข้มแข็งขึ้น พึ่งตัวเองได้มากขึ้น พอคนที่เข้มแข็งขึ้น คนที่พึ่งตัวเองได้ มันจะออกไปทำอะไรก็ได้ มันจะออกวิปัสสนาก็ได้ แต่คนเราตกใจ คนเราไม่มีกำลัง คนเรามีแต่ความหวาดระแวง มันจะไปทำอะไร

กลับมาที่ผู้รู้ กลับมาที่พุทโธมันก็หาย ตกใจกลับมาก็หาย ไปโดนใครหลอก กลับมาพุทโธก็หาย โดนใครรังแก กลับมาพุทโธก็หาย 

มันก็เลยมั่นใจไง มั่นใจในตัวตนของเรา ถ้ามั่นใจในตัวตนของเรา มันจะออกไปพิจารณา ออกไปใช้ปัญญา ออกไปด้วยความมั่นใจ ออกไปด้วยความถูกต้องดีงาม มันจะดีไหม เราถึงจำขี้ปาก แล้วเราเห็นประโยชน์ของมัน อยู่กับผู้รู้ อยู่กับพุทโธจะไม่เสียหาย

เพราะเขาถามว่า แล้วจะให้หนูทำอย่างไรต่อไป จะให้ปฏิบัติอย่างไร” 

การปฏิบัติมันเป็นปัจจุบัน เราจะรู้จะเห็นสิ่งใดเป็นปัจจุบันตรงนั้น ที่เราพูดอยู่เนี่ยก็เพื่อความมั่นคง เพื่อการปฏิบัติมันจะได้ดำเนินไปได้ ฉะนั้น ให้อยู่กับผู้รู้ อยู่กับพุทโธ อยู่อย่างไร เวลามันตกใจก็นึกพุทโธขึ้นมาเลย เวลามีอะไรกลับมาที่ความรู้สึกเราเลย ไม่ไปกับมัน ไม่ส่งออก ไม่ตามใครไป ครอบครัวของมารมันหลอก หลอกให้เราไป

คิดเท่าไรก็ไม่รู้ ต้องหยุดคิด แต่การหยุดคิดก็ต้องใช้ความคิด” นี่คือหลวงปู่ดูลย์สอนไว้ เอวัง