อยากเทศน์
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๙
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “อาการนี้ใช่ฟุ้งซ่านไหมครับ”
อาการอย่างนี้ฟุ้งซ่านไหมครับ อาการมันคือนั่งสมาธิ พอเลิกนั่งแล้วจิตมันเหมือนจะเทศน์ให้ตัวเองฟัง พอดูไปแล้วเหมือนกับมันเหมือนจะจำสิ่งที่เคยฟังหลวงพ่อ ครูบาอาจารย์เทศน์ไว้ แล้วไม่รู้สึกง่วงเลย เป็นสัญญาวิปลาสหรือเปล่าครับ
ตอบ : เวลาคำถามนะ เวลาพระที่ปฏิบัติ เวลาครูบาอาจารย์ท่านจะตั้งกติกาไว้ว่าเราไปรู้ไปเห็นอะไรแล้วอย่าพูด เวลาครูบา-อาจารย์ท่านจะสอนกันว่าอย่าพูด แล้วถ้ามันอยากพูด เวลาเราไปรู้ไปเห็นอะไรแล้วมันอยากพูดไง เวลาพระเราปฏิบัติไปมันอยากจะเทศน์ อยากจะเทศน์ อยากจะอบรม อยากจะสั่งสอนคนอื่น คือว่าเหมือนกับตัวเองไปรู้อะไรแล้วอยากจะพูด เวลาปฏิบัติไป แง่มุมนี้มันก็มี
เวลาจิต เวลาเราภาวนาไปนะ แง่มุมของมันที่มันจะพลิกแพลง มันจะใช้เล่ห์เหลี่ยม มันเจ้าเล่ห์แสนงอน กิเลสมันจะทำให้เราผิดพลาดไป ทีนี้พอปฏิบัติไป เวลาปฏิบัติใช่ไหม เวลาปฏิบัติไป เวลามันภาวนาแล้วไม่ลง ปฏิบัติแล้วเจออุปสรรค เราก็มีแต่ความทุกข์ความยาก นี้เวลาความทุกข์ความยาก เรามีความขยันหมั่นเพียร เรามีความอดทน
เวลาจิตมันเริ่ม ความเพียรของเราชักเริ่มมีกำลังขึ้นมา เวลากิเลสมันหลอกมันล่อไง หลอกล่อให้รู้ให้เห็นอะไรเล็กๆ น้อยๆ พอรู้เห็นอะไรเล็กๆ น้อยๆ แล้วมันก็มหัศจรรย์ไง พอมหัศจรรย์มันก็อยากแสดงออก อยากจะพูด อยากจะพูด อยากจะเทศน์ อยากจะสอน ทั้งๆ ที่มันยังหางอึ่งอยู่ มันยังทำอะไรไม่เป็นหรอก แต่ไปรู้ไปเห็นแล้วมันจะเป็นแบบนี้
ฉะนั้น เวลาเล่ห์เหลี่ยมของกิเลสอย่างนี้ก็มี ถ้าอย่างนี้ก็มี ครูบาอาจารย์ของเราท่านจะสอนไว้ว่า ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ผู้ที่หัดใหม่ เวลาจะรู้เห็นสิ่งใด เราจะปรึกษาได้ต่อเมื่อเป็นครูบาอาจารย์ของเรา แต่ส่วนใหญ่แล้วเราไม่กล้าเข้าไปหาครูบาอาจารย์ของเรา
ถ้าเข้าไปหาครูบาอาจารย์ของเรา ครูบาอาจารย์ของเราท่านผ่านมามาก เหมือนพ่อแม่ ลูกมันไม่ค่อยอยากปรึกษาพ่อแม่ เพราะพ่อแม่รู้เท่าทันหมด นี้พอไปปรึกษาท่าน ท่านก็จะเอ็ดเอา ก็เลยไม่กล้า ไม่กล้าก็เก็บไว้ในใจ มันก็ไม่รู้ว่ามันเป็นสิ่งใด แล้วเวลามันขับดันออกมา เห็นไหม มันขับดันออกมามันอยากเทศน์ อยากเทศน์ อยากสอน
แต่ผู้ถามไม่เป็นขนาดนั้นนะ เดี๋ยวจะหาว่าอะไรก็ผิดไปหมดใช่ไหม ผู้ถามไม่เป็นขนาดนั้น เพียงแต่ผู้ถามเขาถามว่า พอไปรู้อะไรเข้า จิตมันอยากจะเทศน์ มันอยากจะเทศน์ให้ตัวเองฟัง มันอยากจะพูด พอมันอยากจะพูดขึ้นมา แต่ก็มีสติปัญญา เห็นไหม เหมือนกับสิ่งที่เราจำมา เคยฟังพ่อแม่ครูบาอาจารย์มา แล้วสิ่งนั้นมันจำมา แล้วมันก็อยากจะเทศน์ไง อยากจะเทศน์ อยากจะสั่งอยากจะสอนคนอื่น มันเป็นอย่างนี้ แง่มุมของการปฏิบัติ
ถ้าแง่มุมของการปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ท่านถึงมีกฎของท่าน เวลามีกฎของท่าน ผู้ที่อยู่ในวงกรรมฐาน เวลาใครจะเทศน์ใครจะสอนเขารู้ว่ามันไม่อยากฟัง ไม่อยากฟังเพราะอะไร เพราะมันเหมือนกับจินตนาการ มันเหมือนกับเราไปรู้สิ่งใดแล้วเราอยากจะระบายออก เราอยากจะระบายออกทีนี้มันมีกิเลสไง อยากจะระบายออก มันอยากจะสอนคนนู้น สอนคนนี้ แล้วเวลาสอนใคร ใครเขาก็ไม่อยากฟัง ยิ่งไม่อยากฟังมันยิ่งอยากจะสอนเข้าไปใหญ่ ยิ่งอยากจะไปสอน เห็นไหม
ฉะนั้น เวลาปฏิบัติไป ไอ้อยากเทศน์มันมีบ่อยๆ แล้วมันมีเยอะมาก แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ท่านเป็นความจริงนะ ท่านจะดูประเพณีวัฒนธรรม ถ้าประเพณีของเรา เห็นไหม ประเพณีของกรรมฐาน ยิ่งเขารู้จริงขนาดไหนเขายิ่งเก็บไว้ในใจ เวลาที่เขามาสนทนาธรรมกัน ตอนนั้นน่ะ ตอนที่เวลาเรามาถกกันเรื่องธรรมะ นั่นน่ะมีเท่าไร เอาออกมาให้หมดเลย
เวลาเขาสนทนาธรรมเป็นมงคลชีวิต เป็นมงคลอย่างยิ่ง การสนทนาธรรมกันเป็นครั้งเป็นคราว แต่สนทนาธรรมเป็นครั้งเป็นคราว สนทนาด้วยธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ เป็นมงคลชีวิต มงคลชีวิตหมายความว่าเขามีเหตุมีผลไง เราพูดกันด้วยเหตุด้วยผล เราไม่ใช่พูดกันเอาแพ้เอาชนะ เราไม่ได้พูดกันที่จะมาชนะคะคานกัน เรามาคะคานกันมันมีประโยชน์อะไร
คนที่ปฏิบัติใหม่เขาก็รู้ใหม่เหมือนกับเด็กๆ มันมีประสบการณ์ใหม่ๆ เขาก็พูดด้วยประสบการณ์ของเขา คนที่เขาผ่านโลกมามาก เขามีประสบการณ์มามาก เขาก็อธิบายถึงประสบการณ์ของเขา คนที่เขารู้แจ้งรู้จบกระบวนการไปแล้ว เขาก็มีประสบการณ์ของเขา นี้ประสบการณ์ของคนมันไม่เท่ากัน วุฒิภาวะของคนมันไม่เหมือนกันหรอก
แต่นี้มันเป็นธมฺมสากจฺฉาไง เวลาเราสนทนาธรรม ผู้ที่มีจิตใจสูงกว่า เขาจะดึงผู้จิตใจที่ต่ำกว่า ผู้ที่มีเหตุผลน้อยกว่า เราก็ฟังแต่ผู้ที่มีเหตุผลมั่นคง เหตุผลที่หนักแน่น เหตุผลที่มีคุณค่ามากกว่า แล้วเราก็มาเทียบกับความเห็นของเรา ถ้าความเห็นของเรามันยังไม่ถึงระดับนั้น เราก็เร่งความเพียรของเราขึ้นไป เราก็มีแง่มุมของเราที่จะปฏิบัติขึ้นไปไง
เขาธมฺมสากจฺฉา เขาคุยกัน คุยธรรมะกัน สมัยหลวงปู่มั่น สมัยครูบาอาจารย์ของเราท่านจะคุยกัน ท่านจะสนทนากัน แล้วมันจะรู้กันเป็นวงใน หลวงตาท่านบอกว่า วงกรรมฐานจะรู้ก่อนว่าใครมีคุณธรรมสูงส่งขนาดไหน เพราะเวลาเขาคุยธรรมะกัน เขาคุยกันภายใน เขารู้กันก่อน โลกยังไม่รู้หรอก ข้างนอกไม่รู้หรอก แต่ในสังคมกรรมฐานเขาจะรู้กันก่อน เขาจะรู้เพราะอะไร
เพราะเขาสนทนาธรรมกันประจำ คือเขาตรวจสอบกัน เขาสนทนาธรรมกันเพื่อวัดวุฒิภาวะ แล้วใครที่มีแบบว่าติดขัดสิ่งใด มันได้ประโยชน์ตรงนี้ไง มันได้ประโยชน์ตรงที่คนติดขัด คนที่ยังไม่มีแนวทาง แล้วเวลาสนทนาธรรมกันน่ะ มันได้ช่องทาง ได้แนวทาง นั้นเวลาธมฺมสากจฺฉา มีเท่าไรเอาออกมา
แต่ถ้ามันอยากเทศน์ อยากคุย ท่านให้กดไว้ ให้กดไว้ ครูบาอาจารย์ให้กดไว้ เพราะกดไว้ เพราะอะไร นี่แหละมันแบบว่าอัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค อัตตกิลมถานุโยคทำแล้วลำบากเปล่า ทำแล้วทุกข์ยาก ทำแล้วมันไม่ได้ผล กามสุขัลลิกานุโยค กิเลสมันหลอกไง กามสุขัลลิกานุโยค อู๋ย! นี่เป็นธรรมะ สิ่งนี้มันเป็นคุณธรรม สิ่งนี้น่าจะเจือจานคนอื่น น่าจะบอกคนนู้น น่าจะบอกคนนี้ นี่มันไม่มัชฌิมาปฏิปทา ไม่สมดุลแก่หัวใจของเราไง
ถ้ามันสมดุลหัวใจของเรา เห็นไหม ฉะนั้น เขาถามว่า “แล้วมันไม่รู้สึกง่วงเลย แล้วนี่เป็นสัญญาวิปลาสหรือเปล่า”
ไม่เป็นสัญญาวิปลาส ถ้าเรามีสตินะ คำว่า “มีสติ” หมายความว่าเรารู้เท่าทันตัวเราเอง เหมือนกับเวลาเราอยากจะพูด แต่พูดสิ่งที่เราฟังจากครูบาอาจารย์มา เราก็รู้ได้ แต่สิ่งที่เราฟังจากครูบาอาจารย์มาเป็นธรรมไหม ก็เป็นธรรม แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ ถ้าจิตใจเราสงบระงับเข้ามา มันก็เป็นคุณธรรม ถ้าเป็นคุณธรรม สิ่งนี้เพียงแต่กิเลสมันพลิกแพลงไง กิเลสมันพลิกแพลงจะให้เรา ถ้าเราอยากเทศน์ อยากบอก อยากคุย มันเสีย หนึ่งเสียการทำความเพียรของเรา สิ่งที่จิตสงบมันฟุ้งซ่านออกไป
เวลาประพฤติปฏิบัติ สิ่งที่มันต่อต้านเราหรือมันทำลายเราคือกิเลสเราทั้งนั้นเลย
แต่ถ้าเวลาทำศีล สมาธิ ปัญญา เป็นกิริยา เป็นวิธีการขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเราทำศีล สมาธิ ปัญญา นั่นน่ะมันเป็นประโยชน์เข้ามา มันถึงได้มารู้ มารู้สิ่งที่กิริยากระทำ มันถึงได้มารู้มาเห็นสิ่งที่ว่าเราฟังธรรมะมาเป็นธรรมหรือเปล่า เป็นธรรมหรือเปล่า ถ้าเป็นแล้วก็ทำให้มันดีขึ้น ทำให้มันสะดวกขึ้น ทำให้มันมีคุณภาพมากขึ้น ให้มันมีคุณภาพ ให้มันลึกซึ้งเข้าไป ฉะนั้น มันอยากจะเทศน์ เราไม่เทศน์
เขาบอกว่า “เวลามันเป็น มันไม่ง่วงนอนเลยนะ มันจะเป็นสัญญาวิปลาสหรือไม่”
ถ้ามันไม่เป็นสัญญาวิปลาส เรามีสติไว้ ไม่เป็นสัญญาวิปลาส แต่มันเป็นวิธีการอันหนึ่งที่กิเลสมันจะมาหลอก กิเลสมันจะทำให้คนปฏิบัติขี้โม้ อยากจะสอนคนอื่น แล้วมันไม่สอนตัวมันเอง ครูบาอาจารย์ท่านถึงบอกให้มีกติกาไว้ ให้สอนตัวเอง เวลาเราอยู่ที่การประพฤติปฏิบัติให้สอนตัวเอง ให้สอนตัวเอง ให้สอนตัวเองให้ได้ก่อน แล้วค่อยสอนคนอื่น
อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนต้องพึ่งตนได้ก่อน ถ้าตนพึ่งตนได้แล้ว ตนจะเป็นที่พึ่งของคนอื่นได้ ไอ้นี่ตนก็ยังพึ่งไม่ได้เลย อยากจะเทศน์สอนเขา อยากจะเทศน์สอนเขา กรรมฐานม้วนเสื่อ กรรมฐานอยากเทศน์เป็นอย่างนี้
นี่พูดถึงว่ามันมีอยู่แล้ว ครูบาอาจารย์เราท่านเคยเป็น ฉะนั้น ตั้งสติไว้ อาการอย่างนี้มันเป็นกันมาเยอะ แล้วเป็นกันมาเยอะ ครูบาอาจารย์ท่านถึงได้ตั้งกติกาไว้ว่าอย่าเทศน์ อย่าสอน อย่าส่งออก ไม่ส่งออกนะ แล้วเราพยายามรักษาตัวเรามา มันเป็นน่ะ มันมีความรู้สึกอย่างนี้ แต่เราไม่ต้องไปรับรู้มัน เรารู้เท่าแล้วเราบังคับไว้ เราไม่พูด เราไม่สอนใคร เราจะพุทโธของเรา เราจะใช้ปัญญาอบรมสมาธิของเราเข้าไปให้มันละเอียดเข้าไปมากกว่านี้ ให้มันดีไปมากกว่านี้
ถ้ามันจะเป็นวิปลาสมันก็ไม่เป็น เพราะเรามีสติปัญญาเรารู้เท่า แต่มันเป็นแง่มุมอันหนึ่งของกิเลสที่มันจะเอามาต่อรองกับเรา ถ้าคนไม่รู้มันก็ส่งออกหมดเลย เพราะเป็นความเห็นของเรา เป็นการอยากเทศน์ อยากคุยของเรา เราก็พูดออกไปโดยที่ไม่มีสิ่งใดเปรียบเทียบ
แต่ถ้าอยู่ในวงกรรมฐานเขารู้เลยว่าจิตระดับนี้เป็นอย่างนี้ แล้วถ้าส่งออกไปแล้วมันก็มีแต่เนิ่นช้า มีแต่เสียหายไป ไม่มีดีขึ้น แต่ถ้าเรามีสติปัญญายับยั้งไว้ ยับยั้งไว้ แล้วเราพยายามทำให้ดีขึ้น มันจะผ่านตรงนี้ ถ้าผ่านตรงนี้ไปมันก็เข้าสู่ความสงบระงับ มันก็เข้าไปสู่สัมมาสมาธิ ถ้าฝึกหัดใช้ปัญญา มันก็ใช้ปัญญาต่อเนื่องไป นั่นเป็นอนาคต
คำถามว่า “อาการอย่างนี้ใช่ฟุ้งซ่านหรือไม่”
ใช่ แต่เราก็ทำของเราให้ดีขึ้น นี่พูดถึงว่าจบนะ
ถาม : เรื่อง “ถามข้อปฏิบัติและคำแนะนำครับ”
กราบเรียนหลวงพ่อ กระผมเริ่มปฏิบัติอย่างจริงจังได้ไม่นานครับ โดยช่วงแรกๆ ผมปฏิบัติตามที่เคยร่ำเรียนจากการบวชเป็นพระมาเมื่อครั้งนานมาแล้วครับ ประกอบกับช่วงหลังๆ นี้กระผมได้วิ่งหาครูบาอาจารย์ที่จะให้คำแนะนำ ซึ่งกระผมก็ภาวนาโดยการภาวนาบริกรรมพุทโธตามลมหายใจเข้าออก ซึ่งผมผูกลมหายใจกับคำบริกรรมด้วยกัน ลมเข้าพุท ลมออกโธ ใช้คำบริกรรมครอบคลุมความยาวของลมหายใจเข้าและออก
แต่ก็คิดว่ายังทำไม่ได้ดีมากนัก เพราะเวลานั่งขัดสมาธิ ๕ นาทีแรกจะเป็นช่วงที่ตัดความนึกคิดออก และช่วง ๓๐ นาทีต่อมาจะเป็นช่วงที่สงบ แต่เพราะว่าความที่ตัวแข็งมาก ทำให้หลัง ๓๐ นาทีเป็นต้นไปจะปวดข้อเท้าด้านบนมาก เวลาปวดมากๆ ก็จะหยุดพิจารณาความเจ็บ แล้วกลับมาพุทโธอีกที ทนเจ็บได้มากสุดได้แค่ครบ ๑ ชั่วโมงพอดี ซึ่งพอออกจากสมาธิก็จะมาพิจารณาความเจ็บ แล้วไปเดินจงกรมสักพักแล้วกลับมานั่งอีกที ซ้ำๆ อย่างนี้ไป
คำถาม
๑. ผมขอความเมตตาให้อาจารย์ช่วยแนะนำหน่อยครับว่า กระผมกำหนดลมหายใจกับพุทโธแบบนี้ถูกต้องหรือเปล่าครับ หรือว่าควรจะแยกพุทโธออกจากลมหายใจครับ ตามที่อาจารย์เคยให้คำแนะนำในคลิปเสียง “ปฏิบัติไม่บ้า” ก่อนหน้านี้ว่าให้พุทโธรัวๆ ไปเลย ซึ่งของกระผมควรจะแตกต่างกับกรณีคลิปเสียงก่อนหน้านี้ หรือว่าให้ทำตามวิธีนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะชินกับความเจ็บไปเอง เลยขอรบกวนขอเมตตาท่านอาจารย์ด้วยครับ
๒. ในขณะที่เปลี่ยนกิริยาจากการนั่งมาเป็นการเดินจงกรม ขณะเดินควรจะให้จิตอยู่ที่เท้าอย่างก้าวย่างช้าๆ หรือว่าควรจะบริกรรมพุทโธไปให้โดยพร้อมจิตอยู่กับปลายจมูกเหมือนตอนนั่ง โดยไม่สนใจเท้าดีกว่าครับ
๓. ขอความเมตตาและคำแนะนำอีกคำถามหนึ่งครับ เนื่องจากก่อนหน้านี้ภรรยากระผมได้ไปบวชที่สถานที่ปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่งที่กาญจนบุรี ซึ่งผมก็เคยไปปฏิบัติด้วยครั้งสองครั้ง แต่ก็ไม่ค่อยจะถูกจริตมากเท่าไร เนื่องจากรูปแบบเยอะ และเน้นการปฏิบัติตามกฎกติกาตามที่ทางอุบาสิกาเจ้าของสถานที่ท่านได้ตั้งไว้ จากนั้นเขาได้ตัดสินใจอุทิศตัวให้พระพุทธเจ้าบวชอยู่ที่นั่นตลอดชีวิตตามความชักชวนของคุณแม่ของเขา
โดยคุณแม่ของเขาบอกว่า อุบาสิกาเจ้าของสถานที่ปฏิบัติธรรม ที่บรรดาผู้ปฏิบัติ ผู้ที่นับถือว่าเป็นอริยบุคคลที่ได้รับการยอมรับจากสังฆราชที่ศรีลังกา ต้องการให้ช่วยให้พ้นกรรมที่จะเกิดเมื่ออายุ ๔๐ ซึ่งถ้าบวชช้ากว่านี้เขาบอกว่าจะช่วยไม่ได้แล้ว ทำให้ภรรยากับผมเลยตัดสินใจปวารณาบวชตลอดชีวิตกับอุบาสิกา และไปอยู่สถานที่ปฏิบัติธรรมที่สาขาที่สาวัตถีที่อินเดีย
โดยก่อนไปอุบาสิกาท่านได้ขอให้ผมปล่อยภรรยาไป พร้อมให้ค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ ซึ่งหนึ่งก้อนสำหรับให้เขาใช้จ่ายอยู่ที่นั่น และอุบาสิกาท่านก็ได้ให้ผมอ่านหนังสือที่ไม่เคยเผยแพร่ออกนอกสถานที่ปฏิบัติธรรม เกี่ยวกับคนที่อุบาสิกาเตือนแล้วไม่เชื่อ ทำให้ได้พบเคราะห์ร้ายมากมาย ซึ่งกระผมทำใจอยู่ ๒ วัน ซึ่งเป็น ๒ วันเหมือนตกนรกทั้งเป็นเลยครับ
และพอหลังจาก ๒ วันนั้นทำจิตใจได้ คิดได้ว่าไม่มีอะไรเที่ยง แม้แต่ตัวเราเองก็ปล่อยให้เขาไป เพราะคิดว่าอุบาสิกาก็เป็นคนที่มีบารมี และภรรยาของกระผมก็บอกว่าจะแผ่เมตตาจากการปฏิบัติที่นั่นมาให้ผมเรื่อยๆ หลังจากนั้นทำให้คิดได้ว่า ไม่ควรปล่อยโอกาสที่ตัวเองคิดได้แล้วนี้ให้หลุดไป ทำให้ผมเริ่มปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง ลดการกินข้าวให้เหลืออยู่แค่ข้าวเช้า เพื่อให้ทำสมาธิแล้วไม่ง่วงและไม่นั่งลำบากด้วย รักษาศีล ๕ อย่างจริงจัง และศีล ๘ ทุกวันพระ ลดการทำงาน (ทำให้ไม่ต้องโกหกลูกค้าเวลาขายของ)
ซึ่งกระผมก็พยายามหาครูบาอาจารย์ที่เป็นพระปฏิบัติอยู่วัดป่า ที่จะได้คำแนะนำเรื่องการปฏิบัติอย่างถูกต้อง โดยอาศัยพี่ที่รู้จักกันคนหนึ่งแนะนำให้ ก็ปฏิบัติไปได้อย่างค่อยๆ ก้าวหน้า และหลังจากผมได้ฟังคำสอนของครูบาอาจารย์หลายๆ ที่ และรวมถึงคำสอนของหลวงพ่อด้วย ทำให้รู้สึกว่าภรรยาผมอาจจะไม่ได้ไปปฏิบัติในที่ที่สามารถสั่งสอนได้อย่างตรง เพราะมีอะไรที่แปลกๆ หลายอย่าง
โดยที่กระผมตกใจที่สุดหลังจากที่ปวารณาตัวแล้วก็จะไม่สามารถเข้าวัดได้(โดยคุณแม่ของภรรยาได้ให้เหตุผลว่า อุบาสิกาเจ้าของกลัวเสียชื่อหากไปทำกิริยาไม่ดีให้พระเห็น) ผมขอรบกวนท่านอาจารย์ว่า กระผมควรจะปล่อยภรรยาให้ไปตามกรรมของตัวเองดีกว่า หรือว่ากระผมควรจะแนะนำภรรยาในสิ่งที่กระผมได้เรียนรู้ในการปฏิบัติซึ่งเป็นสัมมาทิฏฐิจะดีกว่าไหมครับ
ขอความเมตตาจากหลวงพ่อด้วย
ตอบ : จะเอาข้อไหนก่อนเนี่ย จะเอาข้อปฏิบัติหรือเอาข้อภรรยา เราอ่านตั้งแต่ทีแรกแล้วว่ามันยาวมาก ไม่อยากจะอ่าน คือไม่อยากจะเอาปัญหาสังคมเข้ามาไว้ในวงปฏิบัติ ในวงปฏิบัติก็ในวงปฏิบัติ ปัญหาสังคมตอนนี้นะ เพราะการประพฤติปฏิบัติมันเป็นการปฏิบัติ เพราะครูบาอาจารย์ของเราท่านวางรากฐานไว้ แล้วมันทำให้คนเชื่อมั่นเชื่อถือ แต่ก่อนนั้นเป็นการถือผี เห็นไหม
กองทัพธรรม กองทัพธรรมของหลวงปู่มั่น ตั้งแต่จังหวัดขอนแก่น อุดรฯ นครราชสีมา แล้วสุดท้ายแล้วนายอำเภอก็นิมนต์หลวงปู่ลีจากนครราชสีมาไปที่จันทบุรี ไปสร้างวัดป่าคลองกุ้ง ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ท่านอาศัยพระเป็นผู้ที่ชี้นำ ให้การนับถือผีถือสางต่างๆ ให้ลดน้อยลง ให้มาถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ให้มาถือสิ่งสัจจะความจริงของเรา
ก่อนที่องค์หลวงปู่มั่นท่านจะกองทัพธรรมที่จะเผยแผ่มาในประเทศไทย สมัยหลวงปู่มั่น การประพฤติปฏิบัติมาเขาก็ถือผีถือสาง ถือความเชื่อต่างๆ กันมาร้อยแปด แล้วเขาก็พยายามปราบ ปราบด้วยคุณธรรม ปราบด้วยพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
แล้วเวลาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์มั่นคงขึ้นมา เพราะหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์เราท่านวางรากฐานไว้ จนคนมีความเชื่อ คนมีการประพฤติปฏิบัติ ลูกศิษย์ของหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านเป็นพระอรหันต์มากมายเลย แล้วลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่นก็เผยแผ่ธรรมไป คนมีหลักมีเกณฑ์เพราะถ้าพระอรหันต์มันมีคุณธรรมในหัวใจ ถ้ามีคุณธรรมในหัวใจ เวลาท่านชี้ธรรมะๆ ท่านชี้ธรรมะเข้าไปในหัวใจของสัตว์โลกไง
เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารื้อสัตว์ขนสัตว์ก็รื้อสัตว์มนุษย์ ก็รื้อสัตว์มนุษย์นี่ สัตว์ที่จิตใจที่มันมีกิเลส พยายามทำจิตใจของมนุษย์ที่มีกิเลสให้มันเบาบางลง ทำจิตใจของมนุษย์ให้เข้าสู่สัจธรรม ให้เข้าสู่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ให้เข้าสู่พระรัตนตรัย ให้เข้าสู่สัจจะความจริง
หลวงตาท่านประพฤติปฏิบัติ เวลาท่านสิ้นกิเลสไป ท่านบอกพุทธ ธรรม สงฆ์รวมอยู่ในใจดวงเดียวกัน พุทธ ธรรม สงฆ์รวมลงเป็นหนึ่งเดียวในจิตใจนั้น ถ้าพุทธ ธรรม สงฆ์รวมลงเป็นหนึ่งเดียวในจิตใจนั้น จิตใจนั้นมีคุณค่า มันจะปฏิบัติที่ไหนก็ได้ ทำไมต้องปฏิบัติที่อินเดีย
เวลาปฏิบัติที่อินเดีย ตอนนี้เขาตั้งปัญหาขึ้นมา เราดูข่าว เขาตั้งปัญหาขึ้นมาว่า “บวชที่เมืองไทยกับบวชที่อินเดีย อันไหนได้บุญกว่ากัน”
เวลาจะบวชก็ต้องไปบวชที่อินเดีย บวชที่เมืองไทยไม่ได้ ไปบวชที่อินเดีย ก็ขนกันไปบวชที่อินเดีย แล้วบวชในโบสถ์ในวัดเมืองไทยมันไม่เป็นพระใช่ไหม มันก็เป็นพระ แล้วเวลาคนบวช ใครไปบวช ก็คนไทยไปบวช ไม่ใช่คนอินเดียบวช เวลาบวช คนไทยไปบวชที่อินเดีย แล้วเขาถามว่า “บวชที่อินเดียกับบวชที่เมืองไทย ที่ไหนได้บุญกว่ากัน”
บวชที่เมืองไทยได้บุญมากกว่า ไม่ต้องเสียค่าเครื่องบิน ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก แล้วจิตใจก็สะดวกสบาย บวชแล้วมันก็อยู่ใกล้ญาติ ใกล้พี่น้อง ใกล้สังคมไทย ได้ประพฤติปฏิบัติขึ้นไป ไปบวชอินเดีย ไปบวชอินเดียก็ไปอยู่กับแขก มันก็ขอบาทหนึ่ง ขอบาทหนึ่ง ก็จะควักตังค์แจกเขา
นี่พูดถึงเวลาคนมันชินชาไง ชินชากับสัจธรรม ชินชากับความเป็นจริง ถ้าความเป็นจริง พุทธ ธรรม สงฆ์ พระรัตนตรัยเป็นความจริง มันชินชา ชินชาก็ไม่เห็นคุณค่า เวลาใครชักนำไป ไปอยู่อินเดีย ไปอยู่สาวัตถี เอากันอย่างนั้นใช่ไหม
นี่พูดถึงปัญหาสังคม เราไม่ต้องการให้ปัญหาสังคมเข้ามาในวัด เพียงแต่ว่าเวลาพูดขึ้นมาแล้ว เราพูด ถ้าที่ไหนประพฤติปฏิบัติใช่ไหม ต้องมีความสงบร่มเย็นในครอบครัว เห็นไหม ในครอบครัว ไปวัดกลับมาก็มีเมตตา มีสิ่งใดที่มันขัดแย้งกัน เราก็ทำให้มันสงบระงับ สิ่งที่ว่าถ้ามันเป็นทิฏฐิมานะที่มันลงกันไม่ได้ อันนั้นเราก็แขวนไว้ เราอย่าไปเอาสิ่งนั้นมาเป็นสิ่งขัดแย้งกัน
นี่ก็เหมือนกัน ในปัญหาครอบครัวใช่ไหม ภรรยาของเรา แต่นี้เพียงแต่ว่ามันเป็นเวรเป็นกรรม เพราะโยมไปได้ภรรยาที่ว่าแม่เขาไปปฏิบัติที่วัดนั้น เขาเป็นแม่เป็นลูกกัน ระหว่างภรรยาของโยม กับแม่ของภรรยาของโยมเขาคุยกัน แล้วโยมเป็นคนนอกไง ใช่ โยมเป็นสามีภรรยา เป็นบุคคลคนเดียวกัน แต่ภรรยาเราก็มีแม่ ไปดูแลแม่ ไปอุปัฏฐากแม่ ไปอุปัฏฐากแม่ก็ไปเจอเจ้าสำนัก เจ้าสำนักมันก็ปั่นหัวเอา ปั่นหัวเอามันก็มีปัญหาไป
เราพูดนี้ พูดไม่ใช่ว่าจะให้โยมไปติดตามเรื่องอะไรนะ เพราะธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเขาบอกว่าอยู่เป็นปัจจุบันธรรม ปัจจุบันเนี่ย เป็นปัจจุบัน ไอ้สิ่งที่เป็นอดีตไปแล้ว โยมแก้ไขกันไปเอง โยมต้องแก้ไขกันไปเนาะ
นี่พูดถึงว่า “เวลาปฏิบัติไปแล้วมันจะจริงหรือไม่จริง”
เพราะว่าเวลาโยมให้ภรรยาไปแล้ว แล้วเสร็จแล้วโยมมาปฏิบัติใช่ไหม พอโยมมาปฏิบัติขึ้นมา อื้อ! มันปฏิบัติแล้วมันจะตรงหรือไม่ตรง เพราะเราปฏิบัติ เพราะเรามีครูบาอาจารย์ ก่อนหน้านั้น กรรมของสัตว์ ผลของวัฏฏะ ผลของวัฏฏะ เพราะอะไร เพราะว่าแม่ คำว่า “แม่ไปอยู่ที่นั่น” แล้วโยมกับภรรยาก็ไปเยี่ยมแม่ ไปอุปัฏฐากแม่ ไปอุปัฏฐากแม่ก็ไปเจอเขา มันก็แบบว่า พูดไปมันก็ติดพันกันไป
แต่ถ้าเราเปิดกว้าง เปิดกว้างเพราะอะไร เพราะโยมบอกว่า พอให้ภรรยาไปปฏิบัติ กลัวเสียโอกาส โยมก็ปฏิบัติบ้าง พอปฏิบัติบ้างก็เริ่มฟังเทศน์จากครูบาอาจารย์ พอฟังเทศน์จากครูบา-อาจารย์มันเปิดกว้าง พอมันเปิดกว้างมันก็ตรวจสอบกันใช่ไหม ตรวจสอบกันว่าทางไหนมันถูกต้อง ทางไหนไม่ถูกต้อง
ฉะนั้น พอเวลาโยมมาปฏิบัติ โยมชักเอะใจ เอ๊ะ! มันไม่เหมือนกับเขาสอนนะ เพราะอะไร เพราะหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเรานะ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัม-พุทธเจ้าไม่มีกำมือในเรา อริยสัจแบตลอด ให้พวกเราประพฤติปฏิบัติให้เข้าความจริง
ไอ้ประเภทที่ว่ามันเป็นความลึกลับ มันเป็นเคล็ด สอนเฉพาะในสำนักนั้น ไม่ให้ออกไปข้างนอก ไอ้นั่นน่ะแปลกๆ แล้ว เพราะอะไร
เพราะธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแบตลอด อริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค พร้อมที่จะให้ทุกคนตรวจสอบ เพราะการตรวจสอบ เห็นไหม อกาลิโก ไม่มีกาลไม่มีเวลา ตั้งแต่เทวดา อินทร์ พรหม ถึงมนุษย์สามารถรู้ได้ทั้งนั้น แล้วตรวจสอบได้จริง แล้วตรวจสอบได้ มันทำได้ไง
นี่พูดถึงถ้าบอกว่า “มีเรื่องถ้าไม่เชื่อจะมีเวรมีกรรมอย่างนั้น”
อันนี้มันแปลกมาก แปลกมาก นี่เรื่องของเขา ฉะนั้น เวลาตอบปัญหาแล้ว เราจะตอบปัญหาการปฏิบัติด้วย อย่างเช่นว่า การปฏิบัติ
“๑. ขอความเมตตาหลวงพ่อที่ว่ากำหนดพุทโธเข้าไป กำหนดพุทโธเข้าไปแล้วมันลมหายใจเข้าและลมหายใจออก แล้วปฏิบัติไปฟังคลิปเสียงเรื่อง “ปฏิบัติไม่บ้า” เวลาให้พุทโธไวๆ กับกำหนดลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ลมหายใจเข้านึกพุท ลมหายใจออกนึกโธ กับพุทโธรัวๆ พุทโธไวๆ อย่างใดจะดีกว่า”
อย่างใดจะดีกว่า มันอยู่ที่คนที่ปฏิบัติเป็นแล้ว พอปฏิบัติเป็นแล้ว เวลาอารมณ์วันไหนที่มันกระทบรุนแรง เราก็พุทโธรัวๆ เพื่อไม่ให้ความคิดมันแฉลบออก พุทโธ พุทธานุสติคือระลึกพุทโธตลอดเวลา แต่ถ้าเวลาจิตใจเราร่มเย็น จิตใจเราที่ไม่มีสิ่งใดกระทบ เราก็พุทโธช้าลงก็ได้
แล้วเวลาผู้ที่ประพฤติปฏิบัติใหม่ เวลาเราปฏิบัติ ใจมันคืออะไร เราจะค้นหาใจของเรา ใจมันจะหาได้อย่างไร มันเป็นนามธรรม เป็นนามธรรมเกินไปที่เราจับต้องได้ เราเลยกำหนดแนวทางเวลาปูพื้นฐาน เวลาเราหายใจเข้ามันชัดเจนใช่ไหม เพราะเราหายใจ ลมหายใจถ้ามีสติจับมันจะมีความอุ่นๆ ที่ปลายจมูก ลมหายใจเข้าเป็นอานาปานสติ มันเป็นรูปธรรมที่แบบว่า ผู้ที่ยังปฏิบัติไม่เป็นมันจะได้เป็นรูปธรรม
หายใจอุ่นๆ ให้นึกพุท หายใจออกอุ่นๆ ก็ให้นึกโธ หายใจเข้าก็นึกพุธ หายใจออกโธ คือว่าคนที่ปฏิบัติมันจับจด แล้วมันเริ่มต้นไม่ได้ พอเริ่มต้นไม่ได้ เราก็เอาอานาปานสติกับพุทธานุสติมาบวกรวมกัน เพราะมันเป็นรูปธรรมที่เราจะจับต้องได้ชัดเจน ฉะนั้น พอจับต้องได้ชัดเจน หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ แล้วพยายามมีสติพร้อมไปเรื่อยๆ จนกว่าจิตมันสงบขึ้น ดีขึ้น มันจะเป็นประโยชน์ไง
นี่พูดถึงว่า “เวลาแบบว่าหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ กับพุทโธรัวๆ อย่างไรจะดีกว่ากัน”
มันอยู่ที่จิตใจของเราไง ถ้าจิตใจของเรามีพื้นฐาน เราพุทโธไวๆ ก็ได้ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิก็ได้ แต่ถ้าจิตใจยังไม่มีพื้นฐาน แล้วจับต้องสิ่งใดก็ไม่ได้เลย จับต้องสิ่งใดไปมันก็หลุดไม้หลุดมือไปหมดเลย ก็หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ มันเป็นรูปธรรมที่สุดที่เราพยายามจะค้นคว้าหาใจเราได้ หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ พยายามตั้งสติอย่างนี้ไป ฝึกหัดไป ฝึกหัดไป ฝึกไปเพื่อหาจิตของเราไง
เริ่มต้นบาทฐาน สมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน ค้นคว้าหาใจของตนให้เจอ ถ้าค้นคว้าหาใจของตนเจอ เอาใจดวงนี้ออกค้นคว้าหาสติปัฏฐาน ๔ ถ้าจิตมันสงบแล้ว เป็นสมาธิแล้ว สติปัฏฐาน ๔ ของเราจะเป็นความจริง ในการปฏิบัติมันก็จะมีคุณธรรมขึ้นมา มันก็จะเป็นความจริงขึ้นมา ถ้าปฏิบัติสิ่งใดไม่ได้ มันก็ไม่ได้อะไรเลย นี่พูดถึงว่าเราปฏิบัติของเราอย่างนี้ เห็นไหม
ฉะนั้น เวลาข้อ ๒. เวลาเขานั่ง เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาแล้ว สิ่งที่มันนั่งไปแล้ว มันเดินจงกรมจะต้องก้าวช้าๆ รู้เท่าตลอดเลยกับพุทโธ แล้วก้าวไปธรรมชาติ ถ้าเราพุทโธ เราก้าวธรรมชาติเพราะมันเป็นความจริงไง ความจริงมันจะจับความจริงไง เราไปสร้างอารมณ์อารมณ์หนึ่ง สร้างภาพขึ้นมา รู้เท่า รู้เท่า แต่จิตไปไหนก็ไม่รู้ เราใช้คำว่า “สตัฟฟ์จิต” สตัฟฟ์จิตไว้ไง
แต่ถ้าจิตมันปล่อยโดยสัจจะโดยความจริง ถ้ามันละเอียด ละเอียดเข้ามาโดยความเป็นจริง ถ้ามันฟุ้งซ่านก็ฟุ้งซ่านจริงๆ ถ้ามันทุกข์ก็ทุกข์เต็มหัวอก แต่ถ้ามันสงบก็สงบจริงๆ เออ! มันเป็นสมาธิก็สมาธิจริงๆ เราเอาความจริง เราไม่ใช่ไปสร้างอารมณ์ เราจะไปสร้างภาพขึ้นมาอีกภาพหนึ่ง สร้างกิริยา สร้างความรู้อันหนึ่ง สร้างอารมณ์หนึ่งมากลบอีกอารมณ์หนึ่ง แล้วบอกว่าตัวเองรู้นั่นรู้นี่ ไม่มีความจริง
เดินปกติ เดินธรรมดา การปฏิบัติคือการค้นหาจิตของเรา เดินปกติ แล้วก็ความรู้ก็ที่ปลายจมูก หายใจก็อยู่ที่ปลายจมูก เพียงแต่กิริยานั่ง ก้นนั่งอยู่ แต่กิริยาเดิน ฝ่าเท้าเดินอยู่ แต่จะฝ่าเท้าเดินหรือก้นนั่งอยู่ เวลาจิตสงบมันก็สงบกลางหัวอก เราภาวนาเพื่อหาจิตของเรา เราไม่ได้ภาวนาหาก้น ไม่ได้ภาวนาหาฝ่าเท้า เราภาวนาหาจิต เราภาวนาเพื่อความสงบ เราทำเพื่อใจของเรา ข้อที่ ๒. เห็นไหม ทำอย่างนี้จบ
นี้ข้อที่ ๓. ก็ตอบไปแล้ว ๑. ๒. ๓.
กรณีอย่างนี้มันน่าสงสาร เพราะว่าสิ่งใดคุณธรรมเขาทำเพื่อความสงบระงับในบ้าน เขาทำเพื่อคุณงามความดี ไอ้นี่ทำแล้วนะ ต้องปล่อยกันไปหมดเลย แล้วต่างคนต่างมาปฏิบัติๆ ถ้าพูดถึงว่าการปฏิบัติมันก็เป็นการปฏิบัติ แต่การปฏิบัติมันควรจะเป็นสัมมาทิฏฐิ ปฏิบัติแล้วมีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข สามีก็มีความปลื้มใจ ภรรยาก็มีความแช่มชื่น พ่อแม่ก็มีความสุข เออ! ถ้าอย่างนี้เราก็เห็นด้วย
ไอ้นี่ปล่อยเขาไป แล้วก็ตรอมใจ แล้วก็ไม่รู้ว่าถูกหรือผิด แล้วอนาคตเป็นอย่างไรก็ยังไม่รู้ มันก็น่าเห็นใจ น่าเห็นใจเนาะ ธรรมะของเรามันควรจะเป็นประโยชน์ไง เป็นความสุข ความดีงาม แต่ปัญหาสังคมมันจะลึกลับซับซ้อนไปกว่านี้อีกเยอะ
ฉะนั้น ฝึกหัดใช้ปัญญา เว้นไว้แต่มันสายบุญสายกรรม มันสายบุญสายกรรมเนาะ ไปเชื่อเขา ไปหลงใหลได้ปลื้มกันไป ถ้าเราไม่เชื่อเขา เราฝึกหัดของเรา แล้วตั้งสติไว้ กาลามสูตร องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ให้เชื่อแม้แต่อาจารย์ของเรา ไม่ให้เชื่อใดๆ ทั้งสิ้น ให้เชื่อการประพฤติปฏิบัติ ให้เชื่อสัจจะ ให้เชื่อจิตที่สงบไม่สงบนี้ ให้เชื่อจิตที่ยกขึ้นสู่วิปัสสนาได้หรือไม่ได้นี้
กาลามสูตร ไม่ให้เชื่อใดๆ ทั้งสิ้น เชื่อในการประพฤติปฏิบัติ ตรวจสอบ ตรวจสอบคนสอน ตรวจสอบคนนั้นว่ามันจริงหรือไม่จริง นี่กาลามสูตร ไม่ให้เชื่อสิ่งใดเลย ให้เชื่อผลของการประพฤติปฏิบัติ เอวัง