ธรรมบอดสี
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๕๙
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “จิตมีสีต่างๆ”
กราบนมัสการหลวงพ่อครับว่า จิตมีสีต่างๆ แบบนี้จริงหรือเปล่า ข้อความดังนี้ครับ กระแสจิตที่จำเป็นจะต้องพิจารณาให้มาก ใคร่ครวญให้มาก ชำระจิตให้มาก ถ้าเรารู้จักจิตทุกวัน ไม่ช้ามรรคผลต่างๆ จะเกิดขึ้น เพราะเราคอยจับผิดจิตอยู่ เราไม่ยอมให้จิตของเราสกปรก
ถ้าจิตของเราเป็นแก้วใสสะอาดที่ขัดดีแล้ว ก็ถือว่าจิตเป็นจิตฌานโลกีย์ แต่ก็ยังไม่ดีอีก ดีเหมือนกัน แต่ก็ดีเหมือนกับคนได้ฌานโลกีย์ แต่มันก็ยังไม่พ้นนรก ถ้าจิตของเราใสสะอาดเพียงใด เวลาไปสวรรค์ พรหมโลก ไปนิพพาน ไปนรก ไปแดนเปรต อสูรกาย มันจะเห็นแจ่มใสตามกำลังของจิต แต่ว่าจิตที่มีสภาพเป็นแก้วใสยังดีไม่พอ มันขึ้นๆ ลงๆ ต้องพยายามขับกำลังจิตของท่านให้เป็นประกายผลึกเต็มดวงให้ได้
ถ้าจิตเป็นประกายผลึกเต็มดวงเมื่อไหร่ ก็เป็นพระอรหันต์เมื่อนั้น นั้นจิตของพระอรหันต์ ถ้าเป็นพระโสดาบันมันจะแพรวพราวขึ้นมาประมาณ ๒๕ เปอร์เซ็นต์ของจิต ถ้าเป็นสกิทาคามีก็จะลึกเข้ามา ๕๐ เปอร์เซ็นต์ของจิต ถ้าเป็นพระอนาคามีมันจะเป็นประกายแพรวพราว จะมีแกนจิตใสธรรมดาอยู่เพียงนิดเดียว ถ้าเป็นพระอรหันต์ จิตจะเป็นประกายทั้งดวง เหมือนประกายผลึก ขอบพระคุณครับ
ตอบ : ไอ้นี่มันบอดสี สิ่งที่ถ้าพูดถึงว่า ถ้าจิตมันใสมันเป็นมรรคเป็นผล ถ้าจิตมันใสมันเป็นมรรคเป็นผล แล้วถ้าคนตาบอดมันไม่เห็นสี มันจะมีมรรคเป็นผลได้อย่างไร นี่ไง เวลาคนตาบอดมันไม่เห็นสีไม่เห็นแสง มันจะรู้ได้อย่างไรว่าจิตของมันควรจะทำอย่างไร แล้วถ้าคนตาบอดสีไม่เห็นสีทำอย่างไร
มันธรรมบอดสี ถ้าธรรมบอดสี สิ่งที่ว่าถ้าจิตมันใส จิตมันใส คำว่า “จิตมันใส” เวลาจิตมันใสนะ คนที่ทำสมาธิได้ คนที่ทำสมาธิมันมีใสมีแสงสว่างในตัวของจิตเองก็มี มันมีแสงสว่างจากภายนอกเข้ามาก็มี มันมีแสงสว่าง
คำว่า “แสงสว่าง” จิตมันสงบแล้วมันเห็นแสงสว่างนั่นก็เป็นเรื่องหนึ่ง ถ้าจิตมันเป็นสมาธิแล้ว ตัวของจิตเองมันเป็นแสงสว่างก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง คำว่า “แสงสว่าง” ก็คือแสงสว่างไง
แต่ถ้ามันเป็นมรรค เห็นไหม ถ้ามันเป็นมรรค คำว่า “เป็นมรรค” มันต้องมีศีล ต้องมีสมาธิ ต้องมีปัญญา แล้วเวลาจิตมันสว่างไสว มันผ่องใส แล้วเวลามันเศร้าหมอง เวลามันเสื่อม นี่เขาบอกว่า จิตมันก็เป็นฌานโลกีย์ มันเป็นจิตฌาน มันไม่ใช่จิตตกผลึก ต้องตกผลึก แล้วตกผลึกอย่างไรล่ะ
ถ้าตกผลึกอย่างนี้มันก็เหมือนกับทางโลกใช่ไหม ทางโลก ดูสิ พวกจุลินทรีย์ต่างๆ ที่มันสะสมไว้ พวกสัตว์ พวกพืช สุดท้ายมันก็เลยกลายเป็นน้ำมันดิบ นี่ก็เหมือนกัน นี่มันเป็นเรื่องแร่ธาตุ ถ้าเป็นเรื่องแร่ธาตุ สิ่งก้อนหินที่มันสะสมไว้ มีความกดดัน บีบกด มันเป็นเพชรนิลจินดาขึ้นมา มันก็แร่ธาตุ ถ้าแร่ธาตุ นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันมีสี มีแสง มีการตกผลึก เอาสิ่งนี้มาเป็นเครื่องวัดหรือๆ สิ่งนี้เป็นเครื่องวัดนะ
แต่เวลาถ้าทำความสงบของใจก็ทำความสงบของใจ มันเป็นขั้นเป็นตอนของมันไง ถ้าครูบาอาจารย์เราสอนนะ ความเป็นขั้นเป็นตอน เห็นไหม ทำความสงบของใจเข้ามา ใจมันสงบ ขณะที่สงบ สงบปกติเข้ามาก็มี สงบแล้วเห็นนิมิตก็มี สงบแล้วมันใสสว่างก็มี เวลามันใสสว่าง ใสสว่างนั่นมันเป็นอะไร มันเป็นอะไร มันก็เป็นเห็นสีเห็นแสง พอมันเห็นสีเห็นแสง มันเห็นเพราะอะไร มันเห็นเพราะมันมีกำลัง เห็นไหม ถ้ามีกำลังของมัน
แต่ถ้ามันเป็นมรรคล่ะ เขาทำความสงบของใจ เขาทำเพื่อกำลังของจิต มันทำเพื่อความสงบ เพื่อความสงบสุข เห็นไหม จิตฟุ้งซ่าน จิตทุกข์ยาก มันทำสิ่งใดก็ไม่ได้ ถ้าทำสมาธิขึ้นมา จิตมันสงบเข้ามา ถ้าสงบเข้ามาแล้วมันมีกำลังของมัน มันเห็นสีเห็นแสง เห็นสีเห็นแสงก็เห็นสีเห็นแสง เห็นสีส่งออก ส่งออกไปรู้
แต่ถ้ามันกำหนดเข้ามาชัดๆ เข้ามา มันเข้ามาอยู่ที่ตัวจิต แสงสีนั้นมันดับหมดล่ะ มันอยู่ที่ตัวรู้นี้ ตัวรู้นี้ถ้ามันฝึกหัดใช้ปัญญา เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง เห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง แล้วพิจารณาแยกแยะตามความเป็นจริง เห็นไตรลักษณ์ สติปัฏฐาน ๔ พิจารณาจนเป็นไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์คือมันคืนสู่สภาพเดิมของมัน
ถ้าคืนสู่สภาพเดิมของมัน เห็นไหม คืนสู่สภาพเดิมของมันด้วยอะไร ด้วยสติด้วยปัญญา ด้วยสติด้วยปัญญา พอมันคืนสู่สภาพเดิมของเขา จิตมันก็ปล่อยวาง จิตมันก็เป็นอิสระของเขาเข้ามา เห็นไหม สิ่งที่มันเกาะเกี่ยว มันเกาะเกี่ยวด้วยอะไร เกาะเกี่ยวด้วยสังโยชน์ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะ ปฏิฆะ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา มันมีสติมีปัญญา มันพิจารณาของมันเป็นมรรคเป็นผลขึ้นมา มันสำรอกมันคายของมันขึ้นไป อย่างนี้ต่างหากมันถึงเป็นมรรค มัชฌิมาปฏิปทา
“ทำจิตให้ตกผลึก” แล้วมันตกผลึกอย่างไรล่ะ มันกดไว้เฉยๆ มันทำอะไรของมันน่ะ
นี่ไง ถ้าจิตใส จิตใสของเขา เขาก็ว่าของเขา นี่พูดถึงคำถามนะ “กระแสจิตที่จะต้องพิจารณาให้มาก ใคร่ครวญให้มาก”
จิตสงบแล้วให้เห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง ถ้าพิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม พิจารณาจิต จิตผ่องใส จิตเศร้าหมอง ถ้าจิตผ่องใส จิตเศร้าหมอง แล้วใครเป็นคนเห็นล่ะ ใครเป็นคนดู ใครเป็นคนเห็น ถ้ามันไม่มีใครดู ไม่มีใครเห็น แล้วเราคิดอะไรของเรา
เขาบอก “เขาต้องพิจารณาจิตของเขา ใคร่ครวญให้มาก ชำระจิตให้มาก”
ชำระจิต ชำระจิตอย่างไร จิตจับจิตได้ไหม จิตจับจิตมันตัวสำคัญมากนะ จิตจับจิต ถ้ามันจิตจับจิต มันมีผู้กระทำ
จิตเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ จิตสงบแล้ว จิตที่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะมันมีอวิชชา มันมีความไม่รู้ในตัวมันเอง ถ้ามีความไม่รู้ในตัวมันเอง จิตสงบแล้วมันจับจิต จับอาการที่มันส่งออก สัญชาตญาณที่ความเป็นมนุษย์ที่ความรับรู้ ถ้ามันจับของมันได้ ถ้าจิตมันจับของมันได้ จิตมันพิจารณาของมัน มันมีการกระทำไง มันมีการกระทำระหว่างส้มกับเปลือกส้มที่มันกระทบกัน ระหว่างความคิดกับตัวจิตมันต้องมีการกระทำของมัน มันจะเกิดปัญญาขึ้นมา ถ้าเกิดปัญญามันก็เป็นมรรค
ถ้าไม่เป็นมรรค เห็นไหม ดูสิ “ต้องทำชำระให้มาก รู้จักจิตทุกวัน ไม่ช้ามรรคผลมันก็จะเกิด”
นี่ไง “มรรคผลมันจะเกิด” คำว่า “มรรคผล” มันจะเกิด ครูบาอาจารย์ถ้ากรรมฐานนะ ท่านบอกว่า ถ้าไม่ฝึกหัดปัญญา ปัญญาเกิดขึ้นไม่ได้
“สมาธิจะเกิดปัญญาโดยอัตโนมัติ” มีคนคิดอย่างนี้เยอะ แล้วคนที่คิดอย่างนี้มันก็นอนจมอยู่กับสมาธินั่นน่ะ ไปไหนไม่รอดหรอก เป็นสมาธิแล้วเราต้องฝึกหัดของเรา ฝึกหัดของเรานะ ยกขึ้นสู่วิปัสสนาได้ไหม ถ้ายกขึ้นสู่วิปัสสนานะคือการขุดคุ้ยหากิเลส
กิเลสมันเป็นนามธรรม กิเลสมันก็เป็นความชอบใจไม่ชอบใจนี่แหละ ถ้าความชอบใจไม่ชอบใจ มันมีอะไรเป็นพื้นฐาน ถ้ามีพื้นฐานมันเกิดทิฏฐิมานะ มันเกิดตัวตนขึ้นมา มันถึงจะมีตัวตนของมัน ถ้าเราพิจารณาของมันไป มันก็ชำระล้างถึงตัวตนของมัน ชำระตัวตนที่ไหน ไตรลักษณ์นี่แหละชำระล้างตัวตน
เพราะไตรลักษณ์ เห็นไหม มันไม่มีสิ่งใดคงที่สิ่งใดมันมีของมันอยู่เลย แต่มันมี ถ้าเราไม่รู้ไม่เห็นมัน มันก็มีแต่สัญชาตญาณของมันมี แต่ถ้าพอเราจับของเราได้ เราจับ เราพิจารณาของเรา ถ้าพิจารณามันก็เป็นนามธรรม สิ่งที่เป็นนามธรรม สิ่งที่มันเป็นตัวเป็นตน เป็นทิฏฐิมานะ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ความรู้ความเห็นผิด พิจารณาไป พิจารณาไป มันต้องพิจารณาเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป ถ้าพิจารณาเป็นชั้นเป็นตอนมันถึงจะเป็นของมัน
นี่บอกว่า “ไม่ช้ามรรคผลต่างๆ มันก็จะเกิดขึ้น มันก็จะเกิดขึ้น แล้วมันจะเกิดขึ้นแล้ว มันก็เป็นฌานโลกีย์ต่างๆ” นี่พูดประสาเขา ไอ้นี่มันธรรมบอดสี เราจะบอกว่าธรรมบอดสีมันเป็นเรื่องหนึ่ง
“เห็นเป็นแสงสว่าง เห็นเป็นความตกผลึก”
ไร้สาระ แต่ แต่เวลาหลวงปู่มั่นท่านอยู่เชียงใหม่ เวลาท่านสอนพวกมูเซอ พวกมูเซอ เห็นไหม ท่านธุดงค์ของท่านไป พวกมูเซอก็คอยมาจับผิดว่านี่เป็นผีเย็น เวลาหลวงปู่มั่นท่านสงสารเขา เวลาถ้าเขาจับผิดกล่าวตู่พระอรหันต์ กล่าวตู่พระอริยเจ้า คำว่า “กล่าวตู่พระอริยเจ้า” เขาจะมีเวรมีกรรมของเขา ด้วยความเมตตาของหลวงปู่มั่นนะ ท่านก็พยายามอยู่ที่นั่นขึ้นมา แล้วเขาก็ส่งคนมาคอยสืบคอยดู แล้วเห็นวันๆ ก็ไม่เห็นทำอะไร เห็นเดินจงกรมไปมา ก็เลยเข้ามาถามว่า “ตุ๊ ตุ๊หาอะไร”
“ตุ๊หาพุทโธ พุทโธมันหาย พุทโธมันหาย”
“แล้วพวกข้าจะช่วยตุ๊หาได้ไหม”
“โอ๋ย! ถ้าช่วยตุ๊หา ตุ๊ก็จะยิ่งเจอเร็วขึ้น”
เขาก็กำหนดพุทโธของเขา พอเขาไปกำหนดพุทโธของเขา เห็นไหม พอจิตมันลงมันสว่างไปหมดเลย มันสว่างไปหมดเลย แล้วพอสว่าง เขาก็มองมาที่จิตของหลวงปู่มั่น
“โอ้โฮ! พุทโธตุ๊ไม่หาย พุทโธตุ๊สว่างไสว พุทโธตุ๊อยู่นั่น พุทโธตุ๊ไม่หาย”
นี่เวลาเขาเห็น เห็นไหม เขาเห็น เพราะจิตของเขาเป็นสมาธิ พอจิตของเขาเป็นสมาธิเขาเห็น แล้วเป็นผู้ใหญ่บ้านด้วย เขามีของเขาคนเดียว แล้วเวลาเขาทำของเขาได้ เขามีความชำนาญของเขา เพราะอำนาจวาสนาของเขา เขาเพ่งนะ จิตเขาสงบแล้วเขาเพ่งไปที่ต้นกล้วย เขาเพ่งไปที่สัตว์ หมูป่ามันเข้ามากินพืชไร่เขา มันเพ่งไป หมูป่าวิ่งหนีเลย
นี่ไง แสง แสง ว่าเป็นแสง เป็นแสงไง บอกว่าสิ่งนั้นมี เห็นไหม
ยายกั้ง ยายกั้งท่านอยู่ที่หนองผือ ท่านกำหนดจิตเข้าไปในวัดป่าหนองผือจิตของหลวงปู่มั่นสว่างไสว แล้วก็มีจิตของครูบาอาจารย์เป็นดวงเล็กดวงน้อย นี่ไง ท่านก็เห็นของท่าน อันนั้นมันเป็นผล มันเป็นผลที่ในจิตใจของครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นอริยบุคคลเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป แต่ความที่จะเป็นอริยบุคคลเป็นผลอย่างนั้นท่านทำอย่างไร ท่านทำอย่างไร หลวงปู่มั่นท่านสอน ท่านสอนศีล สมาธิ ปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา มันต้องมีของมันไง ถ้ามีของมัน มันเป็นจริงขึ้นมามันก็เป็นจริงใช่ไหม
ถ้ามันไม่มีความเป็นจริงขึ้นมา เราบอก “จะทำให้ตกผลึก จิตพระอรหันต์เป็นดวงแก้วตกผลึก”
เพราะคิดอย่างนี้ พอคิดอย่างนี้ปั๊บ ทางโลกเขาก็เลยทำขึ้นมา ทำเป็นดวงกลางศูนย์กลาง กลางดวง ดวงมึงอยู่นั่นน่ะ แล้วตรงไหนมันเป็นปัญญา ตรงไหนมันเป็นไง แล้วพอถ้าจิตมันสงบมันไปเห็นสีเห็นแสง เห็นสีเห็นแสง แล้วเห็นสีเห็นแสงมันเป็นอะไร มันเป็นปัญญาหรือเปล่า มันไม่เป็นปัญญาไง
ฉะนั้น ถ้ามันไม่เป็นปัญญา เขาบอกว่า “สิ่งที่ว่าถ้าจิตมันมีสีต่างๆ นี้จริงหรือเปล่า จิตนี่มีสีแตกต่างกัน มีสีต่างๆ จริงหรือไม่” ผู้ที่กำหนดสมาธิไป ผู้ที่กำหนดพุทโธ ผู้ที่ทำปัญญาอบรมสมาธิ จิตมันสงบแล้วมันเห็นสีเห็นแสงก็มี มันเห็นสีเห็นแสงชั่วคราวเป็นบางครั้งบางคราวก็มี คนที่ไม่เห็นสีเห็นแสงเลย จิตสงบไปเฉยๆ ก็มี แล้วถ้าจิตของคน เวลาจิตสงบแล้วไปเห็นนิมิตก็มี
มันไม่เหมือนกันหรอก ถ้ามันเหมือนกันนะ มันต้องเหมือนว่า คนเรา มนุษย์ทุกคนจะมีความคิดเหมือนกัน มีความเห็นเหมือนกัน มีจริตนิสัยเหมือนกัน มันถึงพอจิตสงบแล้วต้องเห็นแสงเหมือนกัน มันไม่มีอยู่ในโลก ในโลกกับความคิดคนมันแตกต่างหลากหลายทั้งนั้นน่ะ
ทีนี้ความคิดแตกต่างหลากหลาย ดูสิ อย่างในสมัยพุทธกาล เห็นไหม ดูองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน แล้วพระอรหันต์นั่งล้อมรอบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่หมดเลย แล้วพระอุบาลีเป็นผู้ถามขึ้นมาไง ถามว่า “นี่องค์สมเด็จพระ-สัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ใช่นิพพานไปแล้วหรือ”
พระอนุรุทธะ พระอนุรุทธะบอก “ยัง ตอนนี้ธรรมธาตุในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากำลังเข้าปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อากาสานัญจายตนะ วิญญา-ณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ แล้วก็ย้อนกลับ”
ขนาดว่าเข้าปฐมฌาน ปฐมฌานกับจตุตถฌานมันก็แตกต่างกัน ทุติยฌานกับตติยฌานมันก็แตกต่างกัน ตติยฌานกับจตุตถฌานมันก็แตกต่างกัน อากาสานัญจายตนะ วิญญา-ณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ มันก็แตกต่างกัน
ถ้าไม่แตกต่าง ทำไมถึงมีการเข้าและมีการออกล่ะ แล้วทำไมพระอรหันต์ทั้งหมดทำไมพระพุทธเจ้าไม่ใช่นิพพานแล้วหรือ พระอนุรุทธะมีความชำนาญไง นี่ไง ถึงว่ามันไม่เหมือนกัน มันมีความสามารถไม่เท่ากัน ถ้ามีความสามารถไม่เท่ากัน พระอรหันต์เหมือนกันหมดเลย แต่ความเป็นพระอรหันต์นี่สำคัญ เวลาความเป็นพระอรหันต์สำคัญ อาสวักขยญาณมาชำระล้างกิเลสในใจจนเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา
ฉะนั้น ที่ว่าแสง สี เสียง ถ้ามันเป็นเรื่องการเพ่งกสิณนะ เห็นไหม กสิณไฟ กสิณสีเขียว กสิณสีเหลือง กสิณสีขาว พอจับเพ่งกสิณเป็นภาพวงกลมสีแดง พอสีแดง กสิณไฟให้มันขยายส่วนขึ้น ให้ขยายส่วน เวลาเพ่งกสิณนะ จิตมันสงบแล้วแล้วขยายส่วนนั้นให้มันกว้างขึ้น ให้มันครอบไปโลกธาตุเลย แสงตกที่ไหน ความรู้ถึงที่นั่น นี่พูดถึงอภิญญานะ
ฉะนั้น เวลาถ้าพูดถึงว่าถ้าเป็นสีเป็นแสง จิตเป็นสีเป็นแสงอย่างนั้น ถ้าบอกว่ามันไม่มี บางคนก็มี แต่ส่วนใหญ่แล้วไม่มี ส่วนใหญ่แล้วไม่เป็นอย่างนั้น ถ้าส่วนใหญ่ไม่เป็นอย่างนั้น ฉะนั้น ไม่เป็นอย่างนั้น แล้วเราทำให้เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้นก็เป็นได้ เป็นได้นะ กำหนดให้เป็นแสง กำหนดให้มันสว่าง ให้มันมีแสง มันก็เป็นอุปาทานทั้งนั้นน่ะ แล้วมันเป็นมรรคไหม มันไม่เป็นมรรคไง
ถ้ามันไม่เป็นมรรคมันก็จะเข้าตรงนี้ไง ตรงที่ว่า “ถ้าจิตเป็นประกายผลึกเต็มดวงเมื่อใดก็เป็นพระอรหันต์เมื่อนั้น นั่นจิตของพระอรหันต์ ถ้าเป็นโสดาบันก็อย่างหนึ่ง สกิทาคามีก็อย่างหนึ่ง อนาคามีก็อย่างหนึ่ง พระอรหันต์ก็อย่างหนึ่ง”อันนี้คือว่าเขาขุดบ่อล่อปลาให้เราเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เวลาเขียนมา เขียนมาให้เออออห่อหมก แล้วถ้าไม่เออออห่อหมก มันไม่เออออห่อหมกอยู่แล้ว เพราะ เพราะเขาใช้คำว่า “จิตพระอรหันต์ จิตที่มีคุณธรรม”
จิตที่มีคุณธรรมต้องเกิดจากมรรค ถ้าเกิดจากมรรคมันต้องมีสติชอบ ปัญญาชอบ ความเพียรชอบ ความระลึกชอบ งานชอบ งานชอบงานอะไร งานชอบก็งานการรื้อค้นหากิเลสไง แล้วงานชอบคืองานใช้สติปัญญาพิจารณาไง ถ้ามีสติปัญญาพิจารณามันถึงจะเป็นจริงไง
ครูบาอาจารย์ของกรรมฐานท่านตรวจสอบกันอย่างนี้ ท่านมีความรู้ความเห็นอย่างนี้ ท่านถึงบอกว่าไม่ใช่ทำอย่างนี้ ถ้าทำอย่างนี้ ถ้าบอกว่าถ้ามันมีสีมีแสง อุปาทานคนมันเกิดได้ทั้งนั้นน่ะ จะทำให้เกิดสีเกิดแสงอย่างไรก็ได้ เวลากำหนดไปแล้ว แล้วพอมีสีมีแสง เวลารักษาจิตไว้มันก็เป็นสมาธิได้ แล้วเดี๋ยวเวลามันเสื่อมเสื่อมก็คุยของเก่าไง คุยของสัญญา คุยที่เคยทำมา คุยที่เคยทำมาทั้งนั้นน่ะ
ฉะนั้น “สิ่งนี้ถ้ามันคิดว่าแสงสีเสียงมันเป็น”
ดวงอาทิตย์เป็นพระอรหันต์ มองไปสิ หงายหน้าขึ้นไปมองพระอาทิตย์สิ ใสอยู่นั่นน่ะ กราบพระอาทิตย์ มันก็เลยเป็นศาสนาบูชิโด ญี่ปุ่นเขากราบรูปพระอาทิตย์ มันไม่เกี่ยวกันเลย มันไม่เกี่ยวกับมรรคเลย
สัมมาสมาธิ ถ้ามันสัมมาสมาธิ แล้วมันเกิดปัญญาขึ้นมามันก็เกิดปัญญา แล้วพอเกิดปัญญาขึ้นไปแล้ว ฉะนั้น ไอ้พวกแสงสีเสียง อำนาจวาสนาบารมี มันก็เหมือนกับพระอรหันต์ ๘๐ องค์ไง เอตทัคคะ ๘๐ ทาง พระสีวลีร่ำรวยในทางลาภสักการะ พระกัสสปะเลิศในทางถือธุดงควัตร พระอานนท์เลิศในทางพหูสูต เลิศในทางอุปัฏฐาก พระอานนท์ได้ ๓ - ๔ แขนง
มันอยู่ที่คนมีอำนาจวาสนาขนาดไหน ทำได้ขนาดไหน เอตทัคคะไง มันแตกต่างกัน แต่เวลาจะสำเร็จ สำเร็จด้วยมรรคญาณทั้งนั้น สำเร็จด้วยมรรคด้วยผล ถ้ามีมรรคก็เป็นผลนะ ฉะนั้น มรรคที่มันจะเกิดขึ้น เกิดขึ้นจากการฝึกฝนการประพฤติปฏิบัติ
ไม่ใช่เหมือนคำถามนี้ เพราะคำถามนี้เขาบอกว่า “ถ้ารู้จักจิตทุกวัน ไม่ช้ามรรคผลต่างๆ ก็จะเกิดขึ้น เพราะเราคอยจับผิดใจอยู่ตลอดเวลา”
ไอ้คอยจับผิดใจ คอยดูแลหัวใจ ไอ้เนี่ยมันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ คำว่า “ปัญญาอบรมสมาธิ” นี่นะ เราคอยดูแลรักษาใจของเรา ให้มันปล่อยวาง อย่าให้กิเลสมาหลอกมัน เพราะเอากิเลสมาหลอกมัน ความชอบใจต่างๆ หลอกมัน มันก็คิดตามมันไป เห็นไหม ถ้าเรามีสติปัญญาแยกแยะ เราคิดผิด เราทำผิด เราไม่ต้องการสิ่งใด มันวาง มันวาง มันวางมันเหลือเนื้อของใจ เนื้อของธาตุรู้
ถ้าเนื้อของธาตุรู้ นั่นน่ะคือตัวสัมมาสมาธิ ถ้าสัมมาสมาธิ ถ้ามันจะเกิดสงบแล้ว เกิดความรู้สึก เกิดแพรวพราว เกิดต่างๆ อันนั้นมันก็เกิด แล้วถ้าเกิดแสงสว่างเกิดต่างๆ มันก็เกิด แต่มันเกิดแล้วมันเป็นปัญญาหรือเปล่า มันไม่เป็นปัญญา
แต่ถ้าจิต จิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นจิต ถ้าจิตเห็นจิต ตัวจิตมันผ่องใส มันผ่องแผ้วอย่างไร ถ้ามันผ่องแผ้วอย่างไร พิจารณาอย่างนั้น พิจารณาจับ พิจารณาแล้วให้มันเป็นไตรลักษณ์ ความเป็นไตรลักษณ์เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป มันเป็นไตรลักษณะ มันทำลายตัวมันเอง กลืนตัวมันเอง ถ้าเรารู้เห็นมัน มันเกิดปัญญา การพิจารณา การใคร่ครวญ นั่นน่ะคือปัญญา
ถ้าปัญญามันเกิดขึ้น ปัญญามันต้องเกิดขึ้น สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมากัมมันโต งานชอบ เพียรชอบ มันชอบธรรมมันก็เป็นมรรค ถ้าเป็นมรรคมันถึงเวลามันก็ปล่อยวาง การปล่อยวางของมันเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป
ฉะนั้น เขาบอกว่า “ถ้าพระโสดาบันแพรวพราว ๒๕ เปอร์เซ็นต์ พระสกิทาคามีแพรวพราว ๕๐ เปอร์เซ็นต์ พระอนาคามี เห็นไหม จิตแพรวพราว แต่มีแกนของจิต พระอรหันต์แพรวพราวทั้งดวง เป็นดาวประกายผลึก”
อันนี้พูดถึงยายกั้ง พูดถึงผู้ใหญ่บ้านมูเซอ เขากำหนดจิตดู เขาดูของเขา ไอ้นี่มันเป็นเหมือนกับว่าพวกอภิญญาที่เขารู้เขาเห็น รู้วาระจิต รู้ต่างๆ แต่ถ้ามันจะเป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามี มันเป็นจากมรรคจากผล ไอ้ประกายผลึกต่างๆ มันเป็นที่ว่าคนที่เขารู้ กำหนดรู้ เขารู้ของเขาได้
แต่ถ้ามันจะเป็นว่า ถ้ามันเป็นประกายผลึก พอรู้อย่างนั้นได้ ถ้าใครมีเพชรเม็ดใหญ่ๆ มันคงเป็นพระอรหันต์ล่ะเนาะ เพราะมันใสอยู่อย่างนั้นน่ะ มันไม่มีชีวิต มันไม่มีชีวิต
ฉะนั้น ไม่ใช่ธรรมะ ธรรมบอดสี ธรรมะต้องมีสติมีปัญญาของมัน มันถึงจะเป็นจริงขึ้นมา อันนี้เป็นความเห็นของเขา ถ้าความเห็นของเขา ถ้าเขาเขียนมาอย่างนี้ เขียนมา ว่าถ้ามันเป็นอย่างนั้น เพราะมันมีแนวคำสอนทางนี้ ทางที่ว่าให้กำหนดดู แล้วมันจะเป็นของมันขึ้นมาเอง มันไม่มีหรอก มันไม่มี ทีนี้ถ้าเวลาภาวนาไปแล้วมันจะเป็นสีเป็นแสง มันก็เป็นจริตนิสัย เป็นบางดวงที่ทำได้ เป็นบางคน
ถ้าบางคน อย่างคนที่ไม่มีนะ สุกขวิปัสสโกมันไม่มี ถ้าไม่มีจะให้มันมี โอ้โฮ! ทำไปเถอะ ทำไปเถอะ มันเป็นไปได้ แต่ทำเพื่อพิสูจน์ว่ามีจริงหรือไม่มีจริง แต่มันไม่เป็นประโยชน์ มันไม่เป็นประโยชน์ มันไม่เข้ามรรค มันไม่เป็นประโยชน์ในการชำระล้างกิเลส ถ้ามันเป็นการพิสูจน์กันว่ามันมีอยู่จริงหรือเปล่า มันมีความรู้สึกอย่างนี้ได้หรือเปล่า ได้ ทำได้ ถ้าทำได้ ทำเพื่อพิสูจน์ว่ามันเป็นจริงหรือเปล่าเท่านั้น แล้วก็วางไว้เพื่อความลังเลสงสัยของเรา
นี่พูดถึงว่า “จิตมีสีแตกต่างกันอย่างนี้จริงหรือไม่”
มีแสงสีอย่างนี้มันเป็นเรื่องของฌานโลกีย์ มันเป็นเรื่องของนิมิตของที่จิตรู้ แต่ถ้ามรรคเป็นอีกเรื่องหนึ่ง มรรคมันต้องเป็นศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล ศาสนาไหนไม่มีการฝึกหัดใช้ปัญญา ศาสนาไหนไม่มีภาวนามยปัญญา ศาสนานั้นไม่มีผล จิตดวงใดถ้าประพฤติปฏิบัติไม่มีศีล สมาธิ ปัญญา ไม่มีมรรคไม่มีผล
ความเจริญ เจริญเพราะจิตสงบเท่านั้น ความเจริญเพราะความเข้าใจว่ามันเป็น แล้วคอยรอดูวันเสื่อม มันต้องเสื่อมแน่นอน เสื่อมเด็ดขาด
แต่ถ้าการพิจารณาตามความเป็นจริงแล้วเป็นพระโสดาบัน เป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามี เป็นพระอรหันต์ อกุปปธรรม อกุปปธรรมทั้งนั้นน่ะ สังโยชน์ขาดเป็นชั้นๆ เข้าไป สังโยชน์เครื่องร้อยรัดผูกมัดจิต เวลามันสำรอกมันคาย อันนั้นถึงจะเป็นความจริง ถ้าเป็นความจริงอันนั้น นั่นน่ะเกิดจากมรรคจากผล
แล้วแสงสว่างไม่แสงสว่าง นั้นมันเป็นของแถม เป็นของแถม เป็นจริตนิสัยอย่างที่พระอรหันต์ที่อภิญญา พระอรหันต์ประเภทไหนมันก็จะมีตรงนี้เข้ามา แต่ถ้าสำคัญ สำคัญตอนแก้กิเลส ถ้าแก้กิเลสจบก็คือจบ อันนี้จบ คำถามต่อไปเนาะ
ถาม : ผมระลึกถึงคือความคิด เราก็ขุดลงไป จับได้ตรงสังขารก็ขุดตรงสังขาร จนความคิดมันดับ พิจารณากายให้มันละลายลงไป เราก็พิจารณาความคิดให้มันดับลงไป แยกส่วนของความคิดออกมา แล้วก็ขยายส่วนนั้นจนความคิดดับไป พอเวทนาเกิดขึ้นมา พิจารณาแบบนี้มันก็ดับไป
ผมก็เลยพิจารณากายตรงๆ ไล่จากสิ่งที่ขับถ่ายออกมา ไล่เข้าไป ย้อนไปจนถึงตอนเป็นอาหาร มันรู้สึกสลดน้ำตาไหล จับแยกส่วนอวัยวะ รู้สึกขยะแขยง เลยเปลี่ยนมาเอาสติไปจับตรงอวัยวะต่างๆ เหมือนดูกายเฉยๆ เกรงจะผิดพลาด เลยกำหนดนามรูป
ผมควรไปพิจารณาจิตอย่างเดียว สลับกับการพิจารณาเวทนาที่เข้ามาจนมันดับไปใช่ไหมครับ ผมได้อ่านประวัติพระอาจารย์สิงห์ทอง จึงเพิ่งรู้ว่าควรฟังเทศน์หลวงพ่อองค์นี้มากกว่า เพราะหลวงพ่อองค์นี้อยู่ในหนังสือหรืออยู่ในซีดี
ตอบ : นี่พูดถึงอาจารย์สิงห์ทอง ครูบาอาจารย์ที่ท่านประพฤติปฏิบัติจนถึงสิ้นสุดแห่งทุกข์ไปแล้ว ท่านจะมีประสบการณ์การปฏิบัติของท่าน ถ้าท่านมีประสบการณ์การปฏิบัติของท่านนะ
ดูสิ หลวงปู่มั่นเวลาท่านเทศน์ ท่านก็เทศน์จากประสบการณ์ที่ท่านประพฤติปฏิบัติ เวลาท่านประพฤติปฏิบัตินะ ระหว่างกิเลสเรากับสัจธรรม สัจธรรมคือศีล สมาธิ ปัญญาที่เราฝึกหัดฝึกฝนขึ้นมาให้ใจเราเป็น กิเลสมันมีอยู่แล้ว กิเลสถ้ามันอยู่ในจิต มันถึงพาจิตนี้เวียนว่ายตายเกิด
ฉะนั้น เวลาถ้าผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ พยายามฝึกหัดศีล สมาธิ พยายามฝึกฝนขึ้นมา ระหว่างศีล สมาธิ ปัญญา กับกิเลสมันต่อสู้กัน ต่อสู้กัน มันเป็นชั้นเป็นตอน เป็นชั้นเป็นตอน เป็นชั้นเป็นตอนจนถึงที่สุดแห่งทุกข์
ถ้าถึงที่สุดแห่งทุกข์ เวลาหลวงปู่มั่นเวลาท่านตรวจสอบลูกศิษย์ของท่าน ท่านให้ถามปัญหาให้ตอบๆ ถ้ามันตอบได้ก็คือมันผ่านประเด็นนั้น ถ้ามันตอบไม่ได้มันก็ติดอยู่นั่นไง
เวลาผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เวลาเทศนาว่าการ จากประสบการณ์ที่การปฏิบัตินั้น ถ้าปฏิบัตินั้นมันจะรู้เล่ห์เหลี่ยมของกิเลสไง ถ้ากิเลสเริ่มต้น กิเลสจากปุถุชนเป็นกัลยาณปุถุชน โอ้โฮ! มันไปไม่รอดเลย มันเหยียบย่ำเต็มที่เลย แต่ถ้ามันพิจารณาด้วยความเข้มแข็ง ด้วยสติด้วยปัญญา จากปุถุชนก็เป็นกัลยาณปุถุชน กัลยาณปุถุชนหมายความว่ามีสติมีปัญญาทำจิตให้สงบเป็นสมาธิได้ง่าย รักษาสมาธิได้ง่าย ได้ง่ายกว่าปุถุชนคนหนา
แล้วถ้ามันมีสติมีปัญญา เห็นไหม ที่ว่าขุดคุ้ย ที่ว่าเป็นแสงๆๆ ก็เกิดจากตรงนี้ เกิดตรงปุถุชน กัลยาณปุถุชนเนี่ย แต่ถ้าพอยกขึ้นสู่โสดาปัตติมรรค ถ้าจิตสงบแล้วเป็นกัลยาณปุถุชน พอกัลยาณปุถุชนมันพิจารณาของมัน ถ้ามันยกขึ้นสู่วิปัสสนาได้มันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง ถ้าเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง มันจะเป็นโสดาปัตติมรรค คือมันเป็นมรรค
จิตสงบแล้วเป็นปุถุชน ถ้าจะเป็นโสดาปัตติมรรคมันจะมีขุดคุ้ยหา หาสติปัฏฐาน ๔ ถ้าจิตสงบแล้วเห็นสติปัฏฐาน ๔ คือเห็นอาการ จิตถ้ามันระลึกถึงกาย มันจะเห็นภาพกาย จิตถ้ามันเห็นถึงเวทนา มันจะรู้จักเวทนา เวทนามันเกิดจากอะไร เกิดจากจิตนี้ไปเสวย ไปรับรู้ทั้งนั้นน่ะ
แล้วถ้าจิตมันเห็นจิต จิตตัวปฏิสนธิจิต กับวิญญาณ วิญญาณในขันธ์ ๕ กับวิญญาณปฏิสนธิ เห็นไหม มันคนละวิญญาณ วิญญาณรับรู้วิญญาณ วิญญาณรับรู้ในลิ้น ในตา ในหู ในจมูก ในลิ้น เห็นไหม มันก็เป็นวิญญาณรับรู้อารมณ์ นี่ไง ถ้าจิตเห็นอาการของจิต ก็เห็นการรับรู้อันนั้น ถ้าเห็นการรับรู้อันนั้น พิจารณาการรับรู้อันนั้น การรับรู้อันนั้นมีอยู่จริงหรือเปล่า
ถ้าพิจารณาธรรม เห็นไหม ถ้าพิจารณาธรรม จากปุถุชน กัลยาณปุถุชน ถ้ามันยกขึ้นเห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริงก็เป็นโสดาปัตติมรรค ถ้าพิจารณาเป็น พิจารณาได้ ถึงที่สุดมันก็เป็นโสดาปัตติผล ถ้าพิจารณาไม่ได้ มันเสื่อมมามันก็เสื่อมลงมา ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศนาว่าการ ท่านเทศนาว่าการจากประสบการณ์ของท่าน
ฉะนั้น เขาบอกว่า “เวลามาอ่านหนังสือประวัติอาจารย์สิงห์ทองแล้ว จึงควรรู้ว่าควรฟังเทศน์ของอาจารย์สิงห์ทอง ควรฟังซีดีอาจารย์สิงห์ทอง”
อาจารย์สิงห์ทองท่านปฏิบัติของท่านมา ท่านพิจารณาของท่านมา ท่านเคยได้ประสบมา พอประสบมามันก็เทศน์จากประสบการณ์อันนั้นน่ะ ถ้าประสบการณ์อันนั้นมันก็มีอยู่จริงไง ถ้ามีอยู่จริง ย้อนกลับมาถึงคำถาม คำถามว่า “ถ้าเขาพิจารณาของเขา ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ คิดถึงความคิด คือเราคิดถึงความคิด ขุดไล่ความคิดของเราไป”
ถ้าขุดไล่ความคิดไปมันหยุด พอมันหยุด นั่นน่ะคือสมาธิ ถ้าสมาธิ แต่เราต้องไล่ของเราบ่อยๆ ไล่ของเราให้มันมั่นคงไง ไล่จนขนาดที่ว่านะ คนที่ใช้ปัญญาอบรมสมาธิมีความชำนาญนะ พอมันจะคิด ฮั่นแน่! คือรักษาใจ ให้ใจเป็นธรรมชาติเลย ใจตั้งมั่นไว้เลย คือมันจะไม่มีอารมณ์เข้ามาในใจได้เลย ถ้าคนชำนาญมากนะ ถ้าคนชำนาญมาก จิตมันไม่มีอารมณ์อะไรเข้ามาหลอกเลย
ฉะนั้น เวลาถ้าเราอยู่ชีวิตประจำวันก็เป็นแบบนี้ แต่เวลาถ้าเราจะตั้งใจปฏิบัติ มันมีอยู่ครั้งเดียว ทำอะไรกัน เวลากิเลสขาดก็ขาดครั้งเดียว เวลาจับได้ก็จับครั้งเดียว ถ้ามันจับได้ จับได้คือว่ามันเสวย เสวย เห็นไหม เสวย คำว่า “โดยธรรมชาติ” เราก็รู้ว่าส้มกับเปลือกส้มมันต้องแยกจากกัน เราซื้อส้มมามันมีเปลือกส้มใช่ไหม เวลาเราแกะเปลือกส้ม เปลือกส้มกับส้มมันแยกจากกันได้
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราจับได้ เราเข้าใจได้ เปลือกส้ม เปลือกส้มคืออารมณ์ รูป เวทนา สัญญา สังขารคืออารมณ์ ตัวจิตคือตัวพลังงาน ธาตุรู้ เวลาถ้าพอมันจับได้แล้วมันจะคิดของมัน พิจารณาของมันไป พอพิจารณาของมันไป เวลามันเตลิดเปิดเปิงมันก็เลยคิดว่าจับแต่ผลส้มมาเลย มันก็ต้องกลับมาทำความสงบไงกลับมาทำความสงบ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิให้มันสงบเข้ามา แล้วถ้ามันจับได้ จับได้มันเห็นของมัน แล้วพิจารณาของมันไป
ถ้าพิจารณา เขาถามว่า เขาพิจารณาของเขา เขาพิจารณาร่างกายของเขา มันละลายไปแล้ว ละลายไปแล้วก็กลับมาใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เพราะปัญญาอบรมสมาธิ คำว่า “สมาธิ” มันต้องมีการเติมอยู่ตลอดเวลา สมาธิ จิต ความมั่นคงมันต้องเติมตลอดเวลา เติมที่ไหน เติมที่สติ เติมที่ปัญญา ถ้าเรามีสติปัญญาเท่าทันปั๊บ เด่นชัดเลย แต่พอสติปัญญาเราเผลอนะ มันคิดน่ะ มันเสวยอารมณ์ไปแล้ว นี่พลังงาน
ความคิดเป็นเรา สรรพสิ่งเป็นเรา คือทุกอย่างเป็นเราไปหมดแล้ว มันเป็นเนื้อเดียวกัน เราต้องใช้ปัญญาอบรมสมาธิให้มันเด่นเข้ามาอีก ถ้าเด่นเข้ามา ถ้าเวลามันจับสิ่งใดได้ มันจับสิ่งใดได้ เห็นไหม จับปัจจุบัน จับความรู้สึกนึกคิด จับเวทนา ถ้าจับได้พิจารณาแยกแยะมันไปมันก็ปล่อย ปล่อยก็จับต่อเนื่องไป
นี่พอจับต่อเนื่องไป เขาพูดตรงนี้ พูดว่า “สุดท้ายแล้วเขาพิจารณากายตรงๆ”
คำว่า “พิจารณากายตรงๆ” ถ้าจิตสงบแล้วเราพิจารณากาย ถ้าเป็นปัญญาพิจารณาได้ ปัญญานะ เพราะเราจับเรื่องกาย จับเรื่องกายว่าร่างกายของมนุษย์นี้มหัศจรรย์นะ ร่างกายของมนุษย์ เราดูการไหลเวียนของเลือด เราดูการไหลเวียนของอวัยวะต่างๆ ที่มันทำงานต่อกัน เราพิจารณาไป พิจารณาไป เห็นแล้วมันทึ่งนะ ถ้ามันทึ่ง เห็นแล้วมันทึ่งแสดงว่ามันมีกำลังพอ มันพิจารณาได้ แต่ถ้ามันพิจารณาไปแล้วมันไม่ไป มันไม่ไปไง
เราจะบอกว่า กาย เวทนา จิต ธรรม สติปัฏฐาน ๔ สิ่งใดสิ่งหนึ่ง คือโอกาสเรามันกว้างไง โอกาสเรากว้างหมายความว่าเราพิจารณาอะไรก็ได้ แต่ถ้าเราบอกว่าต้องเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง มันเหมือนกับเราบีบบังคับให้ทางมันน้อยลง ถ้าเราเปิดกว้าง อะไรก็ได้ แต่จิตต้องตั้งมั่น จิตต้องมีกำลังพอ ถ้าจิตไม่มีกำลังพอ เราวางทันที
คำว่า “วาง” นะ วางแล้วเราก็กำหนดพุทโธ หรือเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาอบรมสมาธิหมายความว่าเวลาเราใช้ปัญญาอบรมสมาธินะ เราคิด เรามีสติปัญญาไล่ความคิดมันก็ปล่อย แต่ถ้าเราไปจับกาย จับเวทนา จับจิต จับธรรมได้ อันนี้ถ้าเรายกขึ้นวิปัสสนา ถ้าจับอย่างนี้ เห็นไหม จิตมีกำลังมันจับ จับพิจารณาแล้วมันก็ปล่อย
ถ้ามันไม่ปล่อย มันไม่ปล่อยแสดงว่ามันเป็นเนื้อเดียวกัน ถ้ามันเป็นเนื้อเดียวกัน สมาธิมันไม่มีกำลัง เราก็ใช้ปัญญาพิจารณา พิจารณาแบบสบายใจ พิจารณาแบบว่าไม่ใช่ไปพิจารณาเอาการเอางาน พิจารณาแบบว่าจะเอามรรคเอาผลไง
เราพิจารณาเพื่อผ่อนคลาย พิจารณาเพื่อผ่อนคลาย พิจารณาอารมณ์ความรู้สึก มันพิจารณาด้วยความสบายใจ มันก็วางหมด มันก็เป็นสมาธิได้ ทำอย่างนี้ให้มันปลอดโปร่ง ให้มันตั้งมั่น แล้วเราค่อยไปพิจารณาอีก พอพิจารณาอีกมันก็ก้าวเดินได้
เวลาคนถามปัญหาว่า “ควรทำอย่างไร ควรทำอย่างไร”
มันอยู่ที่ปัจจุบัน อยู่ที่การใช้ การใช้สติใช้ปัญญาของเราให้เหมาะสม ถ้ามันเหมาะสม เหมาะสมคือสมดุล สมดุลคือมัชฌิมาปฏิปทา มันดีงามไปหมดเลย แต่ถ้ามันเอียงข้าง เอียงข้างไปทางอัตตกิลมถานุโยค คือจะเอาอย่างเดียว จะเอาอย่างเดียว มันถูกต้องดีงาม จะเอาอย่างเดียว ถ้ามันเอียงข้างไปกามสุขัลลิกานุโยค อื้อหือ! มันว่าง เรารู้ตัวทั่วพร้อม เรารู้จบแล้ว มันก็ตายอยู่นั่นน่ะ
มันมัชฌิมาปฏิปทา ความสมดุลของมัน ความสมดุล การพิจารณาสมดุลของมัน ถ้าพิจารณาสมดุล เห็นไหม สมดุลมันก็มีสมาธิเป็นฐาน แล้วพิจารณาของเราไป ถ้ามันสมดุลแล้วมันปล่อย มันวาง มันจะเวิ้งว้าง นี่หัดฝึกหัดอย่างนี้
“แล้วพอมันปล่อยแล้วทำอย่างไรต่อ” ทำอย่างไรต่อก็อยู่กับความสุขนั้น แล้วพอมันคลายออกมา ถ้ามันจับได้ พิจารณาต่อ ถ้ามันไม่จับได้ เราก็อยู่อย่างนั้น เดี๋ยวก็มีอีก เดี๋ยวก็จับต้องได้อีก พอคำว่า “จับต้องได้อีก” อยู่ความสมดุล อยู่ที่ความพอดี การใช้ของเรา แล้วเวลามันปล่อยแล้ว ทุกคนพอปล่อยแล้วมันไปไม่ถูกไง
พอไปไม่ถูก เราทำอะไรไม่ถูก เดี๋ยวสักพักหนึ่งมันก็เสื่อม พอเสื่อมขึ้นมามันก็เลยเดินหน้าไม่ได้ ถอยก็ไม่อยากถอย แล้วก็ยังหันรีหันขวาง คนที่ปฏิบัติใหม่ๆ เป็นอย่างนี้ทั้งนั้น หันรีหันขวางทั้งนั้น แต่มันต้องฝึกหัดของเราจนกว่าเราชำนาญไง
นี่ไง ที่บอกว่าไปอ่านประวัติอาจารย์สิงห์ทอง เพราะท่านทำจนชำนาญ ท่านทำได้ของท่านแล้ว คนทำได้มันง่ายไปหมดเลย คนทำไม่ได้ ยากทุกเรื่อง ยากทุกอย่าง ทำสมาธิก็ยาก ยิ่งทำปัญญายิ่งยากใหญ่เลย
มันก็ต้องมีความชำนาญ ฝึกฝนจนชำนาญ ชำนาญก็มัชฌิมาปฏิปทา สมดุล แล้วเวลาขาดมีหนเดียวนะ เวลาจับได้ก็จับได้หนเดียว แล้วพิจารณาต่อเนื่องไป เวลาขาดก็ขาดหนเดียว
แต่ขณะจะฝึกฝนให้เป็นคนดี เรียนจบ เห็นไหม ๔ ปี ถ้าจบแล้วได้กระดาษใบเดียว เรียนอยู่ ๔ ปี ได้กระดาษใบเดียว ความรู้มีหรือไม่มีไม่รู้
นี่ก็เหมือนกัน ทำเกือบเป็นเกือบตาย จะได้ไม่ได้ ยังไม่รู้เลย แต่มันก็ไม่พ้นความเป็นมนุษย์ มันจะต้องขยันหมั่นเพียร ประพฤติปฏิบัติไปต้องความเป็นจริง
นี่พูดถึงว่า “เขาควรปฏิบัติอย่างใด”
เราพิจารณาของเรา พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรมได้ทั้งนั้น แต่ถ้ามันไปไม่ได้ ต้องกลับมาทำความสงบของใจ กลับมา ทำความสงบของใจ ถ้าปัญญาอบรมสมาธินะ ก็เราไล่ความคิดง่ายๆ ถ้าเคยทำสมาธิได้แล้ว เคยใช้ปัญญาอบรมสมาธิ พอไล่เข้ามาก็จบ
แต่ถ้าเราพิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม นี่คือการทำงาน เอามรรคเอาผล ค้นคว้าขุดคุ้ย ใช้ปัญญามันคนละระดับกัน ถ้าอย่างนี้เหนื่อยมาก ทั้งเหน็ดเหนื่อย ทั้งทุ่มเท โอ้โฮ! แต่ถ้ามันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ดูง่ายๆ ดูความเรียบร้อย ดูความเรียบร้อยมันก็ปล่อย ปล่อยเป็นสมาธิ การใช้ปัญญาอบรมสมาธิกับเป็นมรรคที่โสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค โอ้โฮ! รุนแรง
แต่ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ดูแลให้ตัวเองมีสติมีปัญญา แล้วปล่อยวางไว้เท่านั้น มันก็เป็นสมาธิ คือมันไม่คิดไม่ฟุ้งไม่ซ่านออกไป ให้มันมีการพักผ่อน เสร็จแล้วออกไปสติปัฏฐาน ๔ ออกไปกาย ออกไปเวทนา จิต ธรรม พิจารณาของเรา ทำอย่างนี้ต่อเนื่อง ต่อเนื่องไป มันจะเป็นประโยชน์กับผู้ที่ปฏิบัติ แล้วถ้าเป็นความจริง เห็นไหม เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโกกับใจดวงนั้น เอวัง