ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ร้องหามรรค

๑๙ มี.ค. ๒๕๕๙

ร้องหามรรค

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๙

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : เรื่อง “ลูกขอถามคำถามสั้นๆ หนึ่งคำถามค่ะ

กราบนมัสการหลวงพ่อที่เคารพอย่างสูง ลูกไม่ขอรบกวนเวลาหลวงพ่อมากค่ะ ลูกมีคำถามหนึ่งคำถามที่ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติค่ะ แต่มีความสำคัญกับลูกมากๆ การที่เราทำสัมมาอาชีพนี้เป็นการหลงหาเงินหาทองไหมคะ (มันผิดไหมคะ แสดงว่าเรายังโลภอยู่ใช่ไหมคะกราบขอบพระคุณหลวงพ่อมาก 

ตอบ : เขาถามมาเนาะ เมื่อก่อนเขาถามมา โอ้โฮ - ๔ หน้า สองคราวสามคราวเลย เราบอกมันเยอะไป อ่านไม่ไหว นี่ถามมาคำถามเดียวเลย แต่ดี เขาบอกว่า การทำสัมมาอาชีวะเป็นการหลงหาเงินหาทอง หลงหาโลกไหม แล้วมันเป็นความโลภหรือไม่

ถ้าเวลาเราคิด จิตใจคนต้องมีจุดยืนนิดหนึ่ง เป็นพุทธมามกะ เป็นพุทธมามกะเขาเป็นชาวพุทธไง เขาถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง เวลาเขาจะไปไหนเขาให้ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ให้เป็นหลัก แล้วเวลาออกไปเผชิญกับโลก ไปอยู่กับสังคมไหนก็แล้วแต่ ให้มีจุดยืนของเรา

นี่ก็เหมือนกัน เราเป็นชาวพุทธไง เราต้องประกอบอาชีพ เรามีสัมมาอาชีวะ ถ้าเป็นชาวพุทธ เรามีสัมมาอาชีวะมันไม่ใช่ความโลภหรอก ถ้าเราความโลภนะ ความโลภมันก็แสวงหาที่ไม่มีจุดยืน แสวงหาเหนื่อยทั้งวันทั้งคืน มันมีหลายๆ คนนะที่ทำสัมมาอาชีวะจนเจ็บไข้ได้ป่วย แล้วพอมาคิดได้ พอมาคิดได้เขามาใช้ชีวิตแบบพอเพียง แล้วเขามาฟื้นฟู ฟื้นฟูร่างกายของเขา แล้วเขาใช้ชีวิตสุขสมบูรณ์ของเขา

เขาบอก เมื่อก่อนนะ เขาทำหน้าที่การงาน ๒๔ ชั่วโมง ไม่เคยพักเคยผ่อน แล้วมันประสบความสำเร็จไปทุกเรื่อง โอ้โฮมันชอบใจ มันทำเต็มที่เลย สุดท้ายแล้วเจ็บไข้ได้ป่วย พอเจ็บไข้ได้ป่วยก็จะมาคิดได้ พอคิดได้เขาก็มาทำเศรษฐกิจพอเพียง ทำเป็นสวนหย่อมเป็นอะไรนี่ พออยู่ได้ แล้วเขาก็อยู่ของเขาอย่างนั้น เขาบอก เขามีความสุขของเขาไปอีกอย่างหนึ่ง อันนี้แบบคนที่เขาได้คิดไง

แต่ของเรา เราทำสัมมาอาชีวะมันเป็นความโลภหรือไม่” 

เราต้องมีอาชีพ เราไม่มีความโลภ เราทำตามเนื้อผ้า เราทำสิ่งใดเราทำตามเนื้อผ้าของเรา แล้วตอนนี้ทางสังคมโลกเขาจะมีแบบว่าธุรกิจชุมชน ทีนี้เมื่อก่อนเป็นสหกรณ์ แต่ว่าสหกรณ์มันก็เป็นสหกรณ์มันก็เป็นกลุ่มเล็กๆ สหกรณ์ต้องเป็นสมาชิก ตอนนี้ทางยุโรปเขากำลังมาแรงนะ เป็นธุรกิจชุมชน ธุรกิจชุมชนคือว่าให้ทุกคนมีส่วนร่วม มีส่วนร่วมด้วยกัน แล้วเขาทำพออยู่ได้ แล้วเป็นของเขา เป็นธุรกิจชุมชน 

อันนั้นมันเป็นเพื่อมวลชน เพราะมวลชนเขาทำธุรกิจของเขาเองไม่ได้ เขาทำสิ่งใดไม่ได้ เขาเป็นสมาชิก เพราะเขาก็อยู่ของเขาได้ไง

นี่พูดถึงว่า ตอนนี้เขากำลังคิดให้ประชาชนมีความเสมอภาค ให้ทุกคนมีอาชีพ เขายังต้องมีอาชีพเลย ถ้าไม่มีอาชีพเราก็เป็นคน คนไร้บ้าน ไปอยู่ตามถนนสิ เราต้องมีอาชีพของเรา เห็นไหม ถ้าเรามีอาชีพของเรา เราทำโดยสัมมาอาชีวะ เราทำความถูกต้องดีงาม มันจะหลงไหม 

เขาว่า “เป็นการหลงไหม เป็นความโลภไหม

เราหาของเรา เราทำของเราตามเนื้อผ้า สุดท้ายแล้ว เห็นไหม พอชราภาพ พอเราแก่เฒ่าหรือว่าเราพอยืนตัวอยู่ได้ เราให้ธุรกิจมันหมุนไปเอง ธุรกิจมันหมุนไปเอง เห็นไหม เขาเรียกว่าให้เงินทำงาน ทางโลกเขาบอกให้เงินทำงาน ไม่ใช่ว่าเราทำงานเป็นทาสของเงิน ให้เงินทำงาน เพราะเราทำของเรามันอยู่ตัวได้แล้ว เราก็หาโอกาสมาประพฤติปฏิบัติ

แต่มันก็เป็นวาสนาของคนนะ เพราะตอนนี้พระออกไปเผยแผ่ เผยแผ่ธรรม เผยแผ่ทางยุโรป แล้วเวลาไปประพฤติปฏิบัติกันมันมีช่องทางไหม มันเผยแผ่ไปมันก็ได้เป็นวัฒนธรรม ไปสร้างวัดสร้างวา ไปชักนำให้เขานับถือพระพุทธศาสนา แต่ถ้าเอาจริงเอาจังขึ้นมามันไม่มีหลักมีเกณฑ์ ฉะนั้น ถ้าไม่มีหลักมีเกณฑ์เขาต้องแสวงหาของเขา แสวงหาของเขา ถ้าเราจะประพฤติปฏิบัติตอนนั้นไง

ถ้าเราว่า “เราทำสัมมาอาชีวะเป็นการหลงหรือไม่” 

มันไม่ใช่เป็นการหลง แต่ถ้าคนเราถ้าจิตใจมันวอกแวกวอแว พอทำธุรกิจ เวลาเราทำธุรกิจของเรา เราก็ละล้าละลัง ละล้าละลัง จะไปหน้าก็ไม่ไป จะถอยหลังก็ไม่ไป ทำสิ่งใดก็ทำให้มันจริงมันจัง จิตใจให้มันมีหลักมีเกณฑ์ ทำให้มันจริงมันจัง เราทำถูกต้องตามศีลธรรม เราไม่ได้คดไม่ได้โกงใคร เราทำของเราด้วยความซื่อสัตย์บริสุทธิ์ เราทำของเรานะ 

ในทางการค้า เพียงแต่ว่าเวลาเราอยู่ในวงการธุรกิจมันก็ต้องมีลูกค้า มีการเจรจาธุรกิจกัน การเจรจาเราต้องทันคน คำว่า เราทันคน” เราไม่ให้คนเขามาปอกลอก เราไม่ใช่ว่าเราไปโกงเขาหรอก เออมีเมตตามาก ใครมาโกหกอะไรก็ให้เขาหมดเลย ใครมาทำอะไรก็ยอมเขาหมดเลย มันก็หมดตัว ธุรกิจเรามันก็ไปไม่รอดหรอก

คนที่เขาฉลาด ๑เรามีศีลมีธรรม แล้วเรามีสติมีปัญญาด้วย ถ้าใครจะมาปอกมาลอก ใครจะมาคดมาโกง เรารู้เท่าทันเขา ไอ้นี่ไม่ใช่กิเลสหรอก ไอ้นี่คือปัญญาของเรา แต่เราเองต่างหากที่ไม่ใช่ไปคดไปโกงใคร เราไม่ใช่ไปทำลายใคร ไม่ใช่ ไม่ใช่ ถ้าเราไม่ใช่อย่างนั้นปั๊บ เราอยู่ของเราสบาย ถ้าจิตของเรามันมั่นคง 

ไอ้นี่ไม่ได้แล้ว นู่นก็ไม่ได้ ไอ้นี่ก็ไม่ได้ ทำอะไรก็ไม่ได้ ไม่ได้สักอย่างหนึ่ง แต่จะทำ ไอ้ไม่ทำก็ไม่ได้ ไม่ทำเราก็อยู่ไม่ได้ ไอ้จะไม่ทำหรือมันก็เป็นไปไม่ได้ ไอ้จะทำหรือก็ละล้าละลังกัน

ให้มันมั่นคง เรามีศีลมีธรรม จบ เราเป็นคนดี เราเป็นคนดีนะ เรามีจุดยืนของเรา เราเป็นชาวพุทธ เรามีศีลมีธรรมของเรา เราทำของเรา เพราะเราเกิดมา แล้วเราทำของเราด้วยความมุมานะ ด้วยความขยันหมั่นเพียร ทำงานเหนื่อยไหม เหนื่อย เวลาทำงานเสร็จแล้วเหนื่อย จะให้ไปภาวนาก็ไม่ไหวแล้ว ทีนี้แล้วทำงานเหนื่อยไหม เหนื่อย แต่เราทำสัมมาอาชีวะ ทำแล้วถ้ามันมีความอบอุ่นนะ ไม่เหนื่อย ทำแล้วมันทำของมันอยู่ได้ พอของเราอยู่ได้ เราทำของเรา เอางานแบบว่า คนเราถ้าไม่ทำงาน สมองมันก็ฝ่อ ร่างกายมันก็ทรุดโทรม

ถ้าเราทำของเราแล้วนะ ดูสิ พระเราเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาตลอดชีวิต ตลอดชีวิตร่างกายมันได้แข็งแรง นี่ก็เหมือนกัน ครูบาอาจารย์ท่านทำของท่าน ท่านจะบริหารร่างกายของท่าน แล้วยิ่งจิตใจ จิตใจ ดูสิ วิหารธรรม ตรึกในธรรม 

หลวงตาท่านพูด เวลาท่านเดินจงกรม กิ่งของต้น ต้นใหญ่ก็คือหัวใจ กิ่งก้านสาขามันจับมาพิจารณา พิจารณาแล้ว พิจารณา นั่นน่ะวิหารธรรม พิจารณาแล้วมันปล่อยหมด มันสบายของมันอยู่อย่างนั้น เขาต้องมีการเคลื่อนไหวทั้งนั้น

แต่นี้ของเรานี่ก็เหมือนกัน เราจะเป็นการหลงไหม จะเป็นอะไรไหม

ไม่หลง แต่เพียงแต่ว่าต้องมีจุดยืน ให้มีจุดยืน จุดยืนของคนมันมั่นคงมันไม่ละล้าละลัง ไม่คิดร้อยแปด นี่พูดถึงว่าคนเราเกิดมาต้องมีสัมมาอาชีวะทั้งนั้น เวลาเลี้ยงชีพชอบ ความชอบธรรม เลี้ยงชีพ เลี้ยงชีพทางโลก 

แต่เวลาปฏิบัติแล้วเลี้ยงชีพในหัวใจ ถ้ามันวิปัสสนา วิปัสสนาคือเลี้ยงชีพ นั่นน่ะเวลามรรคมันหมุน นั่นน่ะเลี้ยงชีพ เลี้ยงชีพจนหลุดพ้นจากกิเลสไปเลย นี่เลี้ยงชีพชอบ ความเพียรชอบไง ความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ มรรค ๘ ความเพียรชอบ สติชอบ ปัญญาชอบ ความระลึกชอบ ถ้าเรามีความชอบธรรม ถูกต้องหมด

ฉะนั้น ให้มีจุดยืน อย่าวิตกกังวลเกินไป วิตกกังวลก็เป็นนิวรณธรรม จับอะไรไม่ได้สักอย่าง จับจด จับอะไรก็ไม่ได้เรื่องสักอย่างหนึ่ง ไม่ต้องจับจด ทำให้จริงจัง ทำงานก็ทำงานให้จริงจัง ทำสัมมาอาชีวะก็ทำสัมมาอาชีวะ หน้าที่การงานทำให้จริงจัง คนจริง เห็นไหม คนจริงทำงานก็จริง เวลาปฏิบัติก็จริง คนโลเลมาปฏิบัติก็โลเล ทำอะไรมันโลเลไปหมด เอาให้มันจริงให้มันจัง ทำจริงจังไป ไม่ใช่ความโลภ มันเป็นมรรค

ความโลภคือมันไม่มีที่มาที่ไป แล้วจะฝัน ไอ้พวกโลภฝันหวานเลย แต่นี้ฝันหวานก็ ๑๘ มงกุฎอีก มันวางแผนมันคุยกัน อู้ฮูมาเป็นทีมนะ คนแรกเข้ามาถามตกทองก่อน อีกคนเข้ามา อู๋ยทองจริง อีกคนเข้ามา โอ๋ยฉันกำลังมีความจำเป็นเลย ฉันจะมาขอแลก เป็นทีม เวลาไปเจออย่างนั้น ไอ้นั่นก็จินตนาการกันเกินไป 

ของเราไม่ทำอย่างนั้น เอาจริงเอาจังของเรา แล้วทำเพื่อประโยชน์กับเรา นี่พูดถึงว่าคำถามสั้นๆ คำถามเดียวเนาะ ทำสัมมาอาชีวะ ทำหน้าที่การงานของเรา เราอยู่กับโลก เราก็มีวัฒนธรรมของเรานี่ก็อยู่ได้แล้ว แล้วถ้าจะภาวนาเอาจริงเอาจังก็อีกเรื่องหนึ่ง ถึงเวลาแล้วถ้ามันอยู่ได้แล้ว อะไรได้ เราจะเอาจริงเอาจังนั่นอีกเรื่องหนึ่งเลย นั้นมันเป็นขั้นเป็นตอน จบ

ถาม : เรื่อง เรียนถามท่านอาจารย์สงบ

กราบเรียนถามท่านอาจารย์ อยากเรียนถามว่าผมเข้าใจสิ่งนี้ถูกต้องหรือไม่ครับ

การตัดสังโยชน์ได้ครั้งแรกคือมรรค ซึ่งเราจะเห็นรูปและนามแยกจากกัน และเห็นความเป็นจริงตามไตรลักษณ์ว่าเป็นอนัตตา เช่น กายร้อน ร้อนที่กาย ใจไม่ร้อน เหนื่อยกายคือกายเหนื่อย ใจไม่เหนื่อย อารมณ์ร้อน ร้อนที่อารมณ์ ใจไม่ร้อนตามอารมณ์ เป็นต้น

เมื่อเกิดมรรคแล้ว คือเกิดปัญญาในปัจจุบัน หรือภาวนามยปัญญา เป็นปัญญาระดับโลกุตตระ ถ้าเป็นโสดาปัตติมรรคก็เป็นโลกุตตระแบบหยาบคือเกิดปัญญาก็คือการล้างความเห็นผิดตามระดับสังโยชน์ที่เราเห็น หรือก็คือการล้างอวิชชาในเบื้องต้น ก็เป็นอวิชชาอย่างหยาบ

เมื่อเราดำเนินมรรคไปเรื่อยๆ ความเห็นผิดจะน้อยลง น้อยลงจนขาดหมดจนหมดสิ้น เช่นนี้เรียกว่าสังโยชน์นั้นๆ ขาดแล้ว หรือขาดหมดจนครบตามที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ คืออริยผลตามบุคคล ๔ คู่ใช่ไหมครับ

ยกตัวอย่างสังโยชน์สักข้อ เช่น ไม่ลูบคลำในศีล เราจะรู้ได้อย่างไรเรียกว่าลูบคลำหรือไม่ลูบคลำ เช่น เห็นผู้หญิงสวย รู้สึกสวย น่ารัก และติดตา อยากมองต่อ เกิดกามราคะ แต่มิได้มีเจตนาร้ายใดๆ (นอกจากความเห็นแก่ตัวที่อยากเสวยอารมณ์กามราคะนี่คือศีลข้อ ๓ บกพร่องไหมครับ และถ้ามีรถปาดหน้า แล้วเราเสวยอารมณ์โกรธ แต่ไม่ได้อยากเอาคืน นี้คือศีลข้อ ๑ บกพร่องไหมครับ

ขอความเมตตาท่านอาจารย์ขยายความสังโยชน์ ๓ ให้ละเอียด ดังตัวอย่าง เช่น ข้อ ๔เพื่อให้ผู้ปฏิบัติสามารถแยกแยะถึงความเป็นโสดาปัตติผลออกจากโสดาปัตติมรรคครับ ขอบพระคุณอย่างสูง

ตอบ : อันนี้เขาพูดเนาะ อันนี้คือฟังมาก ฟังมากก็จินตนาการมาก พอจินตนาการมากทีนี้ก็จะเอาความจริงมาก เอาความจริงมาก เอาความจริงมันก็เลยไม่มีเลย มันเป็นจินตนาการทั้งนั้น

คำว่า จินตนาการ” นะ เวลาศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จ-พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาเขาศึกษานักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก เวลาเขาศึกษานักธรรม แล้วศึกษาบาลีขึ้นมา เขาก็ศึกษาแล้วเขาก็รู้ธรรมทั้งนั้น รู้ธรรมขึ้นมาแล้วก็จัดว่ามีความรู้ มีความรู้มีการศึกษา ไอ้พวกพระปฏิบัติ เห็นไหม วันๆ นั่งหลับหูหลับตา มันจะรู้อะไรไง

สุดท้ายแล้วเรามีการศึกษา พอมีการศึกษามาแล้ว เวลาการศึกษาโดยความเป็นจริง การศึกษาเราไม่ได้คัดค้าน การศึกษานี่เป็นภาคปริยัติ แต่การศึกษาในภาคปริยัติศึกษาทฤษฎี ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมะขององค์สมเด็จ-พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหมดก็ชี้เข้ามาที่หัวใจทั้งนั้น ชี้เข้ามาที่หัวใจนั้นคือภาคปฏิบัติ เพราะธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมา-สัมพุทธเจ้าท่านให้ศึกษา ศึกษาเป็นแนวทาง แล้วศึกษาแล้วให้ปฏิบัติ

แต่ความจริงแล้วเดี๋ยวนี้มีการศึกษา พอศึกษามา พอเรียนจบมาแล้ว ได้ใบประกาศมาแล้ว ถ้าได้เปรียญ ๓ ประโยคก็จะได้พัด ได้พัดยศ ได้พัด ได้ ๔ ประโยค ๕ ประโยค ๖ ประโยค ๗ ประโยค ๙ ประโยค พอจบ จบแล้ว เวลาในวงการศึกษานะ พอศึกษามาจบแล้วเขาให้ทำอะไรต่อ เขาก็เลยเดี๋ยวนี้ในทางมหามกุฏฯ มหาจุฬาฯ เขาจะให้มาเป็นวิปัสสนาจารย์ คือให้มาปฏิบัติไง ให้มาปฏิบัติแล้วผู้ที่ศึกษาจบแล้ว จบวิปัสสนาจารย์แล้ว ก็ให้ไปเผยแผ่ธรรมะ

เวลาศึกษา ศึกษามาจนจบ ๙ ประโยค เวลามาศึกษาวิปัสสนาจารย์ก็ศึกษาวิปัสสนาจารย์ ศึกษาโดยทางทฤษฎี ศึกษาทฤษฎีก็ไปนั่งสมาธิกัน ๑๐ ชั่วโมง ๑๐๐ ชั่วโมง พอครบชั่วโมงแล้วมันก็จะเป็นวิปัสสนาจารย์ แล้ววิปัสสนาจารย์เราทำสิ่งใดไป พอทำสิ่งใดไปนั่นก็เป็นเรื่องในทางศึกษา ศึกษาก็ศึกษาให้มาปฏิบัติ

นี้ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าศึกษามาให้ปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ของเรา หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านพาปฏิบัติมา เวลาพาปฏิบัติมา ปฏิบัติแล้ว ครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติของท่านมา ท่านมีความจริงของท่านในใจ ดูสิ เวลามหาปิ่น ๕ ประโยคมั้ง มหาปิ่นเป็นน้องชายของหลวงปู่สิงห์ เวลาศึกษามาได้ ๕ ประโยค แล้วมีข่าวว่าจะสึก หลวงปู่สิงห์ท่านก็เลยไปชักชวนมา ชักชวนมาหาหลวงปู่มั่น

ท่านศึกษามา ๕ ประโยคนะ เวลาศึกษามาอยู่กับหลวงปู่มั่น จะให้หลวงปู่มั่นพยายามแก้ เพราะจะสึก จะสึก อยากสึก หลวงปู่มั่นให้ประพฤติปฏิบัติไง พอปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ท่านเล่าต่อๆ กันมา เวลาปฏิบัติไปแล้ว โอ้โฮความรู้มาก ๕ ประโยค พระในเมืองหลวง อู้หลวงปู่มั่นอยู่ป่าอยู่เขา อยู่กับต้นไม้มาตลอด มันจะมีความรู้อะไร เวลาคิด คิดอย่างนั้นน่ะ

หลวงปู่มั่นไปเลย ไอ้ ๕ ประโยคมันจะสึกอยู่เดี๋ยวนี้ มันยังไม่รู้ว่ามันจะสึกเลย มันจะเอาความรู้อะไรของมันมา ความรู้ศึกษามาก็ศึกษามาไง เวลาหลวงปู่มั่นสับเอาโขกเอา จนสุดท้ายแล้วยอมลง พอยอมลงมันถึงได้เปิดใจ เปิดใจมันถึงได้มีการประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริง ถ้าประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริง พุทโธก็พุทโธจริงๆ เวลาปัญญาอบรมสมาธิก็ปัญญาอบรมสมาธิจริงๆ เวลาถ้ามันเกิดมรรคเกิดผล มันก็เกิดมรรคผลจริงๆ เกิดในใจไง มันไม่ใช่เกิดจากการศึกษา

นี่ก็เหมือนกัน คำถามทั้งหมด คำถามทั้งหมดสังโยชน์ข้อ ๑ข้อ ๒ข้อ ๓ข้อ ๔สังโยชน์ เห็นไหม มรรคหยาบ มรรคละเอียด โลกุตตรธรรม รู้ไปหมดเลย จำขี้ปากไอ้หงบไปพูด เพราะอะไร เพราะถ้าพูดถึงกรณีที่ถามมา คือเราพูดเป็นแนวทางไว้เท่านั้น ถ้าแนวทางเราพูดแบบพระปฏิบัติไง แล้วเราพูดแบบพระปฏิบัติ แล้วพระปฏิบัติ เห็นไหม 

ดูสิ เวลาเศรษฐกิจโลก สิ้นปีเขาจะบอกเลย เศรษฐีอันดับหนึ่งของโลก อันดับสองของโลก อันดับสามของโลก แล้วบางทีอันดับสองก็เลื่อนไปอันดับหนึ่ง อันดับหนึ่งเลื่อนไปอับดับสอง นั่นคืออะไร นั่นคือเศรษฐีโลก เศรษฐีโลกเขาวิเคราะห์จากทรัพย์สิน ทรัพย์สินของเศรษฐีเขามีบริษัท เขามีทรัพย์สินของเขา เขาวิเคราะห์ว่าใครมีตัวเลขมากกว่า เขาก็ได้เป็นเศรษฐีโลก

นี่ก็เหมือนกัน สังโยชน์ข้อที่ ๑ข้อที่ ๒ข้อที่ ๓ข้อที่ ๔.ข้อที่ ๕สังโยชน์ สังโยชน์ๆ” 

เราบอกว่า ให้พูดความจริงๆ มา มันก็เหมือนเศรษฐีโลก เศรษฐีโลก เห็นไหม ทุกคนก็อยากจะเป็นเศรษฐี ทุกคนก็อยากจะมีธุรกิจของตน ทุกคนก็อยากจะมีทรัพย์สมบัติของตน แล้วเวลาทำจริงๆ ขึ้นมามันมีเหลือมากี่คนล่ะ เศรษฐีโลก เศรษฐีโลกมันมีเหลือมากี่คน นี่ก็เหมือนกัน สังโยชน์ สังโยชน์ สังโยชน์ที่เราพูด เราพูดเพราะดักหน้า ดักหน้า เมื่อก่อนนู่นก็ได้โสดาบัน นี่ก็ได้โสดาบัน ได้มรรคได้ผล อู้ฮูมันร่ำลือ 

เวลาในพระพุทธศาสนา ครูบาอาจารย์ของเรา เห็นไหม หลวงตาท่านพูดประจำ ในวงกรรมฐานของเรา ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติมีมรรคมีผล มันก็มีมรรคมีผลจากผู้ที่ปฏิบัติ เวลาสมัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม เทศนาว่าการพระอรหันต์เต็มไปหมดเลย มีแต่มีมรรคมีผล หัวใจทุกดวงใจที่ปฏิบัติแล้วมีคุณธรรม ถ้ามีคุณธรรมเขาอ่อนน้อมถ่อมตน

ดูสิ ดูพระอัสสชิ พระสารีบุตรเห็นความสงบระงับอันนั้น ตามไป ตามไป เราเป็นผู้บวชใหม่ เราเพิ่งบวช” พระอรหันต์นะน่ะ ฉะนั้น ถ้าผู้บวชใหม่ก็ให้แสดงธรรมเถิด ถ้ามีสิ่งใดแล้วข้าพเจ้าจะใช้ปัญญาไตร่ตรองของข้าพเจ้าเอง” นี่ไง ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้กำจัดที่เหตุนั้น เขาใช้ปัญญาของเขาไตร่ตรองของเขา เขาเป็นพระโสดาบันเลย ถ้าคนเขามีความจริงในหัวใจ เขามีของเขาไปตามความเป็นจริง

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า “สังโยชน์ ที่เขาพูดกันโสดาบันๆ

โสดาบันมันโสดาบันตรงไหน อะไรเป็นโสดาบัน คิดกันเอง เออเอง เคลมกันไปเองว่าโสดาบันๆ มันเป็นจินตนาการไปทั้งนั้น เราถึงบอกว่า ถ้าพระโสดาบันต้องตัดสังโยชน์ ๓ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส เราพูดถึงสังโยชน์ๆ เราพูดไป ทีนี้ เห็นไหม แล้วบอกว่าสิ่งที่เขาเกิดขึ้นๆ สิ่งที่เขาเกิดขึ้นมันเป็นโลกียปัญญา มันเป็นสัญญา เป็นความจำทั้งนั้น แล้วจินตนาการ

พระปฏิบัติยิ่งกว่านี้อีก พระปฏิบัติพูดออกมาเหมือนพระอรหันต์เลย ครูบาอาจารย์ท่านบอกไม่ใช่ ไม่มีอยู่ในใจหรอก เวลาพูด พูดอย่างนั้น นี้พูดอย่างนั้นปั๊บ ตอนนี้ต่อไปนี้ถ้าพูดมันก็เหมือนครูบาอาจารย์แต่ละองค์ เห็นไหม เป็นยุคเป็นคราว เวลาคราวหลวงปู่มั่นถ้าพูดเรื่องจิตแก้ยากต่างๆ นี่ก็ศึกษากันไป

เวลาหลวงตาท่านพูด เห็นไหม นั่นก็ศึกษาๆ แล้วคนมันก็เคลมกันไป พอเราตั้งประเด็นขึ้นมา มันก็เลยแบบว่า ถ้าเป็นพระโสดาบันมันก็ต้องตามข้อเท็จจริงเลย พระโสดาบันต้องตัดสังโยชน์ ๓ ละขาด พระสกิทาคามี ปฏิฆะ กามราคะอ่อนลง พระอนาคามี ปฏิฆะ กามราคะขาดไป แล้วมันก็มีรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา อันนี้มันเป็นสังโยชน์เบื้องบน 

เวลาถ้าเป็นพระอรหันต์มันต้องขาดหมด แล้วขาดอย่างไร พอขาดอย่างไร ทีนี้มันก็เลยกลายเป็นประเด็นใช่ไหม นี่ถามมาแล้ว กลายเป็นประเด็นขึ้นมาเลยว่าสังโยชน์ สังโยชน์อย่างไร ทุกคนถามมาเยอะมาก สังโยชน์ตัวมันกลมๆ หรือตัวแบนๆ จะไปฆ่าสังโยชน์ก่อน สังโยชน์มันเป็นนามธรรม มันเป็นชื่อ แล้วตัวจริงมันอยู่ไหนล่ะ เวลากิเลส กิเลสมันอยู่ไหนล่ะ

เวลาคนเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เขาทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจมันสงบแล้ว ใจสงบแล้วเวลาเขาไปเห็น เขาเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง เห็นกาย เราเห็นกายเรารู้ได้อย่างไรว่ากายนี้เป็นกิเลสหรือไม่เป็นกิเลสล่ะ แล้วถ้าจับได้ จับกิเลส ถ้าพิจารณาไปแล้วมันรู้ได้ คนภาวนารู้ได้ทั้งนั้น มันรู้จากการประพฤติปฏิบัติ รู้จากสติปัญญาที่มันเกิดขึ้นตามความเป็นจริงอันนั้น 

ถ้ามันไม่มีมันก็เทียบเคียง พอเทียบเคียงมันก็เป็นเหมือนคำถามนี่ พอเทียบเคียงขึ้นมาแล้ว บอกมาสิว่าสังโยชน์มันเป็นอย่างไร เราเจออย่างนี้เยอะ ไอ้สังโยชน์ตัวกลมๆ หรือตัวแบนๆ ไอ้สังโยชน์จะจับมันฆ่า สังโยชน์มันคืออะไร

แต่เวลาพระโสดาบันเขาละสังโยชน์ ๓ ตัว เขาละได้ แล้วละได้ โอ้โฮอย่างว่าน่ะ ดอกบัวบานกลางหัวใจเลย ผลัวะโอ้โฮรู้ชัดเจนของเขา แล้วรู้ชัดแล้วมันกลับซาบซึ้งๆ เพราะเวลามันย้อนกลับมาการศึกษาที่เราศึกษามา อ๋อมันเป็นอย่างนี้เอง มันเป็นอย่างนี้เอง ฟังแล้วฟังเล่าก็ไม่เข้าใจ ครูบาอาจารย์จ้ำจี้จ้ำไช จ้ำจี้จ้ำไชมันก็ยังงงๆ อยู่ เวลามันผลัวะขึ้นมากลางหัวใจ แล้วมันผลัวะมันมาจากไหนล่ะ เวลาหลวงปู่มั่น เวลาหลวงตาท่านพูด เวลาคนจะชำระล้างกิเลส เหมือนช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น ผลัวะเดียวนะ ช้างกระดิกหู งูแลบลิ้นเลยล่ะ

แต่ช้างมันเกิดมาจากไหนล่ะ ช้างกระดิกหู กว่าพ่อแม่มันจะผสมพันธุ์กัน มันอยู่ในท้อง ๒ ปี กว่ามันจะออกลูกมา กว่ามันจะกินนมแม่มันอีก ๒ ปี กว่ามันจะโตขึ้นมา กว่าเขาจะเลี้ยงมันจะโตขึ้นมา แล้วกว่าจะเลี้ยงให้มันฝึกให้มันเลี้ยงชีพได้ๆ แล้วมันจะมากระดิกหู ช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น

นี่ก็เหมือนกัน เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเกือบเป็นเกือบตาย นี่ก็เหมือนกัน จะฆ่าสังโยชน์ ฆ่าสังโยชน์ สังโยชน์มันอยู่ไหน ช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น แต่ช้างมันอยู่ไหน งูมันอยู่ไหน งูแลบลิ้นแผล็บๆ งูมันแลบลิ้นแล้วงูมันอยู่ไหน งูมันผสมพันธุ์กันแล้วมันถึงมาวางไข่ วางไข่ บางประเภทมันก็กก บางประเภทมันก็ทิ้งเลย มันอยู่ที่สายพันธุ์ สายพันธุ์ของงู แล้วงูกว่ามันจะโตมา พอโตมาแล้วมันเป็นเหยื่อ เป็นเหยื่อของนักล่าอีกต่างหาก กว่ามันจะรอดพ้นมาแต่ละตัว แล้วแต่ละตัวแล้ว ดูสิ มันมาแผล็บๆ อยู่นี่

นี่ก็เหมือนกัน ศีล สมาธิ ปัญญา การประพฤติปฏิบัติมันอยู่ไหน เขาย้อนกลับไปนั่น พูดมันตลกน่ะ คำถามแต่ละคำถามมันแบบว่าเด็กเล่นขายของทั้งนั้นเลย มันเด็กเล่นขายของ ไร้สาระ ถ้ามันจะเป็นปัญญาอบรมสมาธิมันก็อีกเรื่องหนึ่งนะ ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ เราอยากจะประพฤติปฏิบัติ เราก็อบรมสมาธิของเรา เราก็ปฏิบัติของเราๆ นะ แล้วปฏิบัติของเราตามเนื้อผ้าความเป็นจริงของเรา

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เวลาที่เราออกมาพูด เรื่องสังโยชน์ เพราะอะไร เพราะมันพูดกันไป ไอ้นู่นได้โสดาบัน ไอ้นี่ได้สกิทาคามี ไอ้นี่ได้อนาคามี ได้อะไรของมึงวะ จิตยังไม่รู้จัก สมาธิยังทำไม่เป็น อะไรของมึงจะละกิเลส 

ถ้าละกิเลสตามข้อเท็จจริง ในพระไตรปิฎกชัดเจนเลย พระโสดาบัน สังโยชน์ ๓ สกิทาคามี กามราคะ ปฏิฆะอ่อนลง อนาคามี กามราคะ ปฏิฆะขาดไป แล้วถ้าพระอรหันต์สังโยชน์ ๑๐ ขาด ทำลายหมด มานะ ๙ ไม่มีเลย ไม่มีมานะ ไม่มีตัวตนทั้งสิ้น ขาดหมด นั่นน่ะของจริง แล้วของจริงขึ้นมา เพราะพูดมาเป็นบรรทัดฐานเพื่อมาตรวจสอบนักปฏิบัติด้วยกันไง

ไอ้พวกนักปฏิบัติดีแต่ปาก เที่ยวเคลมเอามรรคผลของคนอื่นมาเป็นของตน หลอกลวงแม้แต่ตนเอง อย่าว่าแต่หลอกลวงชาวบ้าน เพราะการปฏิบัติ คนปฏิบัติมา ล้มลุกคลุกคลานทั้งนั้นน่ะ เวลาปฏิบัติไม่เป็นสมาธิก็รู้ว่าไม่เป็นสมาธิ ทุกข์ยากเกือบตาย 

ถ้าเป็นสมาธิขึ้นมา เป็นสมาธิขึ้นมาแล้วเวลาพิจารณาไป ดูสิ มันละเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป แล้วมันหลงของมัน มันพิจารณาของมัน โดนกิเลสมันเตะมันถีบ มันล้มลุกคลุกคลาน หัวใจมันจะเป็นจะตาย มันผ่านมาเป็นขั้นเป็นตอนขึ้นมา โอ้โฮมันทุกข์ยาก มันลำบากมาขนาดไหน คนปฏิบัติมามันรู้หมดล่ะ เวลามันผิดพลาดมันก็รู้ว่ามันผิดพลาด 

เวลามันตั้งตัวขึ้นมาได้ เวลาครูบาอาจารย์คอยค้ำไว้ แล้วถ้ามันถูกต้องไป ถูกต้องก็ยังไม่จบ เวลามันจบมันขาดเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป มันมหัศจรรย์ขนาดไหน นี่ไง ถ้ามันเป็นอย่างนั้นมันถึงเป็นความจริง ถ้าเป็นความจริงถึงเป็นบรรทัดฐานไว้ไง บรรทัดฐานไว้ 

ไอ้นู่นก็โสดาบัน ไอ้นี่ก็โสดาบัน โสดาบันอะไรไม่รู้จักสมาธิ แล้วเวลาปฏิบัติก็ปฏิบัติตามความเป็นจริงเรียกร้องเอา ร้องหามรรค ไอ้นั่นเป็นมรรค 

ไอ้นี่ข้อที่ ๑การตัดสังโยชน์เป็นครั้งเป็นคราว เวลานามรูปมันแยกจากกัน

เวลามันฝัน เวลามันแยกจากกัน เวลานามรูปมันแยกจากกัน แยกจากกันอย่างไร แยกจากกันก็จินตนาการทั้งนั้น มันเอาอะไรแยกจากกัน ฉีกทิ้งใช่ไหม ขับรถเวลาแซง ฉีกกระดาษเลยฟืดขาด มันเป็นสังโยชน์หรือ นามรูปอะไรของเอ็ง 

นามรูปก็ส่วนนามรูป นามรูปเป็นความคิด จินตนาการ ไร้สาระ เพราะทำความสงบของใจยังไม่ได้ เขาบอกว่า เวลาการตัดสังโยชน์ครั้งแรก” ตัดสังโยชน์ ตัดสังโยชน์อะไร ตัดสังโยชน์ที่ไหน นามรูปมันเกี่ยวอะไรกับสังโยชน์ ไม่เกี่ยวอะไรกันเลย

เขาก็พูดของเขาไป มันร้อนกาย กายไม่ร้อน พอมันแยกจากกันมันเป็นไตรลักษณ์ มันเป็นไตรลักษณ์” ดูหนังจบก็เป็นไตรลักษณ์ ต้มน้ำเดือดก็เป็นไตรลักษณ์ น้ำเดือดเป็นไตรลักษณ์เลย กินข้าวเสร็จก็เป็นไตรลักษณ์ เก็บล้าง เช็ดโต๊ะก็เป็นไตรลักษณ์ อ้าวจัดโต๊ะ กินข้าว เก็บล้าง เป็นไตรลักษณ์

อ้าวมันก็ของมันน่ะ เพราะมันความคิดจินตนาการ ทุกคนทำได้ทั้งนั้น เพราะอะไร เพราะเราศึกษาใช่ไหม เพราะฟังจับหลัก จับหลักว่ามันต้องเป็นสังโยชน์ ต้องเป็นไตรลักษณ์ ต้องเป็นอนัตตา เป็นอนัตตาให้มันเห็นจริงเถอะ ไอ้นี่มันเรื่องไร้สาระมาก เพราะอย่างน้อยต้องทำให้จิตสงบก่อน จิตสงบแล้วมันจับกาย เวทนา จิต ธรรมได้อย่างไร แล้วเวลาจิต ธรรม พิจารณาแล้วมันปล่อยวางอย่างไร แล้วมันปล่อยวาง ถ้าเป็นขิปปาภิญญามันขาด รู้แจ้งหมด ถ้ารู้แจ้งหมดก็จบไง

ไอ้นี่ว่า พอมันเป็นไตรลักษณ์ กายร้อน ร้อนที่กาย ใจไม่ร้อน ไอ้กายเหนื่อย ไม่เหนื่อยกาย” 

เออถ้าจะพิจารณาก็พิจารณาไป ถ้าภาวนาก็ภาวนาไป ถ้าคนจะฝึกหัดภาวนาก็ฝึกหัดภาวนาไป แล้วถ้าทำก็ทำด้วยความจริงจัง ทำไป แต่ไอ้นี่พอมีปัญหาขึ้นมาถาม เรียกร้องหามรรค มันจะเป็นมรรค ดูสิ มันเป็นมรรค ที่ว่าข้อที่ ๒เมื่อมันเกิดมรรคแล้ว

โอ้โฮเรียกร้องมันเป็นมรรคนะ แล้วถ้ามันเกิดมรรคแล้ว เกิดมรรคแล้วเป็นพระอรหันต์ใช่ไหม มันเกิดมรรคแล้วไง เมื่อมันเกิดมรรคแล้วคือเกิดปัญญา ในปัจจุบันนี้หรือ ภาวนามยปัญญา เป็นปัญญาโลกุตตระด้วยนะ ต้องบังคับเลยว่าปัญญาอย่างนี้เป็นโลกุตตระ ถ้าปัญญาคนอื่นเป็นโลกียะ แต่ของฉันเป็นโลกุตตระ ถ้าเป็นโลกุตตระมันก็เป็นโสดาปัตติมรรค มันเป็นโลกุตตระนี่หยาบๆ 

นี่พูดไปก็ยังอายไป พูดไปก็ยังเขิน จะว่าเป็นความจริง เดี๋ยวหลวงพ่อสับเอา ก็เลยบอกว่า มันเป็นโลกุตตระหยาบๆ พอมันเกิดปัญญาแล้วมันล้างความผิดตามระดับของสังโยชน์

โอ้โฮระดับสังโยชน์คือระดับน้ำนะ เวลาระดับน้ำ น้ำมันขึ้น สังโยชน์ก็ขึ้น น้ำลง สังโยชน์มันก็ลง ตอนยิ่งหน้าแล้ง ถนนทรุดหมดเลย สังโยชน์มันมุดดินไปเลย สังโยชน์ตอนนี้อยู่ใต้ลำคลองนู่นน่ะ เพราะว่าระดับน้ำมันต่ำ มันล้างอวิชชา ไอ้นี่ถ้ามันเป็นความจริง มันเป็นความจริงนะ ไอ้นี่เราเห็นแล้วมันเป็นปริยัติ เป็นความจำ มันเทียบเคียงเท่านั้น แล้วถ้าเทียบเคียงอย่างนี้นะ เดี๋ยวตายเลย ตายเลยเพราะมันจินตนาการไปเลย จินตนาการไปทั่ว

ฉะนั้น เวลาเกิดมรรค เวลาเราพูดว่าสังโยชน์ เวลาพูด ครูบาอาจารย์ท่านเป็นหลักเป็นเกณฑ์ เป็นหลักเป็นเกณฑ์เวลาเขาคุยกัน คุยกันโดยภาคปฏิบัติ ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ มันเป็นมงคลชีวิตนะ ถ้ามีครูบาอาจารย์ที่เป็นจริง มันเป็นมงคลชีวิตเลย แล้วเรามีโอกาสได้สอบถาม ได้คุยกับท่าน เป็นประโยชน์มาก 

แต่ไอ้นี่เวลาเราไปแล้ว เราฟังไปแล้ว ฟังแล้ววางไว้สิ เราพูดบอก ครูบาอาจารย์ที่เทศนาว่าการ เราฟังเป็นคติธรรมแล้ววางไว้ เราต้องประพฤติปฏิบัติเอง เห็นไหม

เศรษฐีโลก ดูสิ บิลเกตส์ แล้วก็เฟซบุ๊กอะไร มันลาออกจากการศึกษาเลย เวลาคิดเขาใช้สมองเขาคิดถึงเทคโนโลยี พอมันเป็นไปได้เขาลาออกเลย แล้วเขามาประกอบธุรกิจของเขา เริ่มจากโรงรถทั้งนั้น เริ่มจากโรงรถ เริ่มจากกระท่อมห้อมหอ ทำประกอบของเขาขึ้นมา เขามีสติมีปัญญา เขามีประสบการณ์ของเขา แล้วความคิดของเขามันถ่ายทอดมาแล้วมันใช้ประโยชน์ได้จริงไง พอมันใช้ประโยชน์ได้จริง มันเป็นสิ่งที่ชาวโลกได้อาศัย ได้อาศัยสิ่งนั้นมาเป็นเรื่องคุณภาพชีวิตต่างๆ เพื่อความสะดวกสบาย ต้องจ่ายเงินจ่ายทองเขา เขาคิดของเขาได้ 

นี่ก็เหมือนกัน มันเป็นมรรคไม่เป็นมรรค เราจะร้องหาเลยนะ ร้องหามรรคหาผลเลย แล้วพอมันเป็นขึ้นมาเป็นจริงหรือไม่เป็นจริงอย่างนี้เลย มันเป็นเรื่องหนึ่ง ถ้ามรรคมันเกิดแล้ว ว่าอย่างนั้นเลยนะ ถ้ามรรคมันเกิดแล้ว มรรคมันจะเกิดหรือไม่เกิด ความคิดหรือการกระทำของเราทำไป ถ้ามันเป็นความจริง จิตนี้กลั่นออกมาจากอริยสัจ อริยสัจเป็นความจริงทั้งนั้น

ไอ้นี่เป็นมรรคเกิด ทำความสงบของใจเข้ามา มันมีคนมาถามปัญหาเหมือนกัน ว่าเขาทำแล้วมันไปไม่รอด จบ วางเลย แล้วกลับมาพุทโธ ถ้าลองตามมันไปอยู่ ไม่มีทาง ให้กลับมาฟื้นฟูใจของตน ให้ใจของตนมีกำลังก่อน ใจมีกำลังแล้วค่อยออกไปทำ ถ้าไปทำแล้วมันจะเป็นไปได้ ถ้ามันเป็นไปไม่ได้มันก็เป็นอย่างนี้

เมื่อดำเนินมรรคไปเรื่อยๆ แล้ว ความเห็นผิดจะน้อยลง น้อยลงจนขาดหมดจด เช่นนี้เรียกว่าสังโยชน์ขาด พอขาดหมดจดแล้ว เห็นไหม มันก็ครบตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัม-พุทธเจ้าตรัสไว้” นี่เขาว่านะ “มันก็เป็นอริยผล

โฮไอ้นี่ต้องไปสวนจตุจักร ถ้าผลก็ดูสิมันมีมะม่วง มีฝรั่ง มีมังคุด มีทั้งทุเรียน ถ้าผลก็คือผลไม้ ผลไม้เยอะแยะไปหมด ในตลาดเยอะแยะไปหมดเลย พอมันเป็นมรรคแล้ว ทีนี้เขาบอกว่า พิจารณาไปเรื่อยๆ มันก็เห็นความผิด มันจะขัดเกลาให้น้อยลง น้อยลง

ไอ้นี่เวลาครูบาอาจารย์ท่านพูด ท่านพูดของท่าน มีหลักของท่าน เหมือนกับเศรษฐีโลกที่เขาทำธุรกิจแล้วเขาประสบความสำเร็จของเขา เวลาจะทำมันไม่จำเป็น มันไม่จำเป็นว่าจะต้องอย่างนั้น มันทำ ขอให้เอ็งทำได้จริง ขอให้ทำได้จริงแล้วมันเป็นมรรคเป็นผลจริงๆ ถ้าเป็นมรรคเป็นผลจริงๆ ขึ้นมามันก็จะมีคุณค่าจริงๆ แล้วมีคุณค่าจริงๆ แล้ว ไอ้ที่เขียนมาข้อ ๑ข้อ ๒.ข้อ ๓ข้อ ๔ไอ้ที่เป็นมรรค ที่มันผ่านมรรคแล้ว ถ้ามรรคมันจะไปเกิดอย่างนั้น ไอ้นี่ไม่ต้องพูดถึงเลย เพราะอะไร เพราะใจของเรามันเหมือนกัน

ดูสิ เวลาหลวงตาท่านไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นบอกว่า มหา สิ่งที่เรียนมหามา ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสุดยอดมากนะ เรื่องมรรคเรื่องผลนี่สุดยอด มันเป็นบัญญัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นสมมุติอันหนึ่งที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ บัญญัติให้เราสื่อสารกัน แต่ถ้ามันเป็นความจริงในใจแล้ว ไอ้บัญญัติกับความรู้จริงมันต่างกันไหม

นี่ไง ถ้าปฏิบัติไปแล้ว ถ้ามหา มหาปฏิบัติไปแล้วนะ เวลามันเป็นจริงขึ้นมาแล้ว มรรคผล มรรคผลที่เราปฏิบัติมา กับที่ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา มันจะเป็นอันเดียวกันเลย เวลาเป็นแล้วนะ อู้ฮูมันซาบซึ้ง อู้ฮูมันใช่เลย

ไอ้นี่บอก “หลวงพ่ออธิบายมา หลวงพ่อ

เรียกร้องหามันเลยนะ เรียกร้องหามรรคเลยว่ามรรคมันอยู่ไหน มรรคมันมีจริงหรือเปล่า แล้วพอมรรคจริงขึ้นมา มันเหมือนพระพุทธเจ้าเลย พอมันขาดหมดจดแล้ว มันครบตามที่พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้เลย นั่นคืออริยผลตามบุคคล ๔ คู่ จริงหรือเปล่าครับหลวงพ่อ จริงหรือเปล่าครับ 

จะให้รับรองอีกนะ มันจริงไม่จริง ไม่ต้องเรียกร้องเลย ไม่ต้องเรียกร้องหามรรคหาผล ถ้ามันเป็นมันเป็นจริงของมันขึ้นมา ถ้าเป็นจริงๆ นะ ถ้ามันไม่จริงมันก็เรียกร้องหา

ยกตัวอย่างสังโยชน์สักข้อ เช่น ลูบคลำ

ยกตัวอย่างสังโยชน์เลยนะ สังโยชน์มันก็สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส สีลัพพตปรามาสคือไม่ลูบคลำในศีล ถ้าไม่ลูบคลำในศีล ยกตัวอย่างสักข้อหนึ่ง คำว่า ไม่ลูบคลำ” คือ เห็นผู้หญิงสวยก็อยากดูว่ามันสวย แต่ไม่ได้ดูด้วยราคะนะ เพียงแต่ดูด้วยความเห็นแก่ตัว อยากดูรูปสวย แต่ไม่มีราคะ อย่างนี้เป็นสังโยชน์หรือเปล่า

โอ้โฮสังโยชน์มันเป็นชื่อ ตัวมันคือกิเลส ไอ้นี่มองแล้วมองรูปสวยโดยเห็นแก่ตัว คือดูรูปสวยด้วยอยากดูรูปสวย ไม่มีกามราคะ

โฮ้ที่มันเสียงดัง ที่มันพุ่งมาอย่างนี้เพราะอะไร เพราะว่าเราพูดเรื่องมรรคเรื่องผล พูดไว้เพื่อเป็นประโยชน์ พูดไว้เพื่อกลั่นกรองคนที่ทำแล้วมันสำมะเลเทเมา แล้วมันบอกว่ามันได้มันเป็น เราถึงพูดไว้ เราพูดไว้เพื่อประโยชน์ พูดไว้เหมือนกฎหมาย บังคับคนเลว คนทำดี กฎหมายไม่มีผลกับใคร กฎหมายเป็นข้อบังคับ แล้วคนไม่ได้ทำผิดไม่มีผลหรอก กฎหมายมันเขียนไว้มันก็เป็นกฎหมาย เราทำแต่ความดี กฎหมายมันจะมาบังคับใช้อะไรกับเรา

นี่ก็เหมือนกัน เวลาพูดธรรมะไว้ เห็นไหม บังคับไว้แต่ไอ้คนหน้าด้าน ไอ้พวกหน้าด้าน ไอ้พวกหน้าด้านมันก็นั่นน่ะ เราก็เลยพูดให้ชัดเจน นี้เพียงชัดเจนก็เพื่อประโยชน์ไง ทีนี้ดันกลับมา ดันกลับมาว่าถ้าเป็นอย่างนี้หลวงพ่อต้องอธิบาย นี่ไง เวลาพูดออกไปเพื่อประโยชน์ เพื่อกลั่นกรองไอ้พวกหน้าด้าน 

แต่นี่ไม่อย่างนั้นเลย ลองยกสังโยชน์ข้อหนึ่ง

โอ้โฮมึงรู้จักมันหรือ มึงรู้จักสังโยชน์หรือ ตัวมันกลมๆ หรือแบนๆ ไอ้นี่สังโยชน์เรื่องมองผู้หญิงเชียว มันสีลัพพตปรามาส ความไม่ลูบคลำในศีล พอความไม่ลูบคลำในศีล มันขาดในใจ 

ถ้าขาดในใจมันไม่มี มันเป็นอธิศีล มันไม่ใช่ศีลที่มันขอเอาอย่างนี้ มันไม่ใช่ศีลที่มันระงับนี้ มันเป็นอธิศีล มันเป็นศีลในหัวใจ ศีลโดยไม่ต้องขอ ศีลมันเป็นศีลโดยสัจจะ แล้วมันจะไปรูปสวย สวยอะไรอีกล่ะ

ถ้ารูปสวยก็นี่ไง ก็รูปสวยก็บอกว่า ทำตามที่พระพุทธเจ้าบัญญัติแล้วมันก็เลยเป็นอริยผล” อริยผลยังเอาสังโยชน์มาเป็นข้อต่อรองอีกนะ นี่พูดถึงว่า เห็นไหม ถ้ามันจะเรียกร้อง เรียกร้องหามรรค เรียกร้องหามรรค มรรคมันจะเกิดขึ้นโดยข้อเท็จจริง โดยสัจจะความจริง 

ถ้าข้อเท็จจริง เงินน่ะ เงินหนึ่งบาทมีค่าเท่าหนึ่งบาท เงินสกุลใดก็แล้วแต่มันมีค่าเท่ากับตัวของมัน ธรรมะขององค์สมเด็จ-พระสัมมาสัมพุทธเจ้าถ้าบัญญัติแล้วมันมีค่าตามความเป็นจริงของมัน จิตนี้กลั่นมาจากอริยสัจ ถ้าอริยสัจสมบูรณ์แล้ว จิตนั้นมันจะเป็นอริยภูมิไปเป็นขั้นเป็นตอนขึ้นไป มันจะมีอะไรอีกล่ะ

นี่ไง นี่พูดถึงไปเรื่อย แล้วพูดถึงว่าเป็นสังโยชน์ 

นี่มันเป็นอารมณ์โลก มันเป็นสัญญาอารมณ์ อารมณ์โลก พูดถึงผู้หญิงสวย พูดถึงเรื่องขับรถในท้องถนน ตอนนี้มันมีข่าวใหญ่อยู่นั่นน่ะ ขับรถชนเขาตาย เราจะใช้อิทธิพลเอาตัวรอดนู่นน่ะ สังคมมันไม่ยอมรับนู่น ไอ้นี่เขาบอกปาดหน้า ขับรถปาดหน้า มึงต้องไปถามพวกในไอจีนั่นน่ะ ไปถามไอ้พวกเล่นอินเทอร์เน็ตมันยอมหรือเปล่า สังโยชน์ไปถามไอ้พวกเล่นอินเทอร์เน็ตนั่น ไปถามนักรบอินเทอร์เน็ตซิว่าอย่างนี้ถูกไหม แล้วถามมันด้วยสังโยชน์นี่ถูกหรือเปล่า

ขอความเมตตาอาจารย์ขยายความว่าสังโยชน์ ๓ ให้ละเอียดดังตัวอย่างข้อที่ ๔ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติสามารถแยกแยะถึงความเป็นโสดาปัตติผลออกจากโสดาปัตติมรรคครับ

เป็นความจริงมันเป็นความจริง มันอ๋อในใจ จะให้อธิบาย ที่เขียนมานี่ก็อ่านในเว็บไซต์มานี่ ไอ้ที่เขียนมา เขียนมาก็ท่องจากเว็บไซต์มาแล้วใช่ไหม แล้วเขียนมาก็ยังผิดอยู่ใช่ไหม ก็ให้อธิบายอีก อธิบายเดี๋ยวเอ็งก็จำ เขียนกลับมาใหม่ไง อธิบายไป เอ็งไม่เข้าใจ เอ็งก็เขียนกลับมาอีกใช่ไหม อ๋อที่หลวงพ่ออธิบายสังโยชน์ ๓ โดยความละเอียดเป็นอย่างนี้ ดูสิ เรื่องผู้หญิงสวยก็ไม่ใช่ เรื่องขับรถปาดหน้าคนก็ไม่ใช่ ฉะนั้น จะเป็นเรื่องอย่างนี้ใช่ไหม 

เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก คำว่า สันทิฏฐิโก” รู้แจ้งเห็นจริงจากภายใน ถ้าความรู้แจ้งเห็นจริงจากภายในมันเป็นความจริง ถ้าเป็นความจริงอันนั้น เห็นไหม เราทำของเรา

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ดูสิ เห็นเขาร่ำรวย วิธีการ หนังสือชีวประวัติของเศรษฐีพิมพ์ขายทั่วโลก แล้วคนก็ซื้ออ่านกันทั่วโลก แล้วใครบ้างที่ทำแล้วมันประสบความสำเร็จเป็นเศรษฐีโลก 

นี่ก็เหมือนกัน อธิบายมรรคมาเลย ทำให้ได้ ทำให้ได้ แม้แต่เศรษฐีนะ เขาต้องหาเงินหาทองเขายังทำไม่ได้เลย ไอ้นี่อธิบายสังโยชน์มาชัดๆ เลย ไอ้ที่เขียนมาจะผิด ถ้าอธิบายครั้งใหม่มาคงจะถูก เดี๋ยวทำได้ชัดเลย แล้วมันจะได้ไหม 

พระปฏิบัตินะ ครูบาอาจารย์ที่ประพฤติปฏิบัติ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านจะให้ครูบาอาจารย์เข้าป่าเข้าเขาไป แล้วให้ฝึกหัดแล้วทำขึ้นมาให้ได้ ทำให้เป็นความจริง ถ้าเป็นความจริงขึ้นมาแล้วเป็นความจริง เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก นั้นคือข้อเท็จจริง นั้นคือเนื้อหาสาระ

พระต้องมีศีลมีธรรมเป็นสมบัติ นักปฏิบัติเรา ชาวพุทธเรา ปฏิบัติแล้วควรจะให้มีมรรคมีผล ถ้ามีมรรคมีผลมันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก มันสว่างโพลง มันรู้แจ้งกลางหัวใจเลย เวลากิเลสมันขาดไป เห็นไหม เหมือนดั่งแขนขาด มันรู้แจ้งเห็นจริง ชัดจริงในหัวใจ ศาสนามั่นคง มั่นคงตรงนี้ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากราบธรรม กราบธรรมะ กราบแบบนี้ กราบธรรมในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลย

ไอ้นี่เขียนมาบังคับให้หลวงพ่อตอบสังโยชน์ สังโยชน์เป็นที่พึ่งเลย แล้วถ้าหลวงพ่อตอบดี เดี๋ยวจำให้แม่นเลย แล้วจะจำไปเถียงกับคนอื่น

เราเอาจริงของเรา เราปฏิบัติของเราเพื่อความจริงของเรา ถ้าเป็นความจริงของเรา ทำจิตใจให้มั่นคง มั่นคงให้มันเป็นความจริง แล้วเป็นความจริงแล้วมันเป็นความจริง ไม่ต้องร้องหา ไม่ต้องเรียกร้อง เวลาเรียกร้อง เห็นไหม ในธรรมคุณ เห็นไหม อกาลิโก ไม่มีกาล ไม่มีเวลา ร้องเรียกสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม ร้องเรียกให้คนอื่นมาดูธรรมกลางหัวใจข้า บัดนี้มันรู้แจ้งกลางใจ บัดนี้มันสว่างโพลงกลางหัวใจ

เศรษฐีโลกเขาไปคำนวณทรัพย์สินของเขา เขาถึงเป็นเศรษฐีโลก ยังต้องให้สังคมยอมรับ ไอ้ปฏิบัติเรามันสว่างโพลงกลางใจ เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก มารตามไม่ได้ มารมองไม่เห็น ค้นคว้าสิ่งนี้ไม่ได้ มันเป็นขึ้นมาจากเรา นี่ปฏิบัติเป็นแบบนี้ ถ้าเป็นแบบนี้ เห็นไหม ไม่ต้องเรียกร้องหาเลย ให้เขามาดูของเราอีกต่างหาก เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูหัวใจเรา เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดู 

ไอ้นี่เขียนไปถามหลวงพ่อ แล้วเอาสังโยชน์ชัดๆ ด้วยนะ สังโยชน์ชัดๆ

ฉะนั้น สิ่งที่ปฏิบัติก็ให้ปฏิบัติไป ถ้ามีความสงสัย ให้มันสงสัยตามความเป็นจริง อันนี้ปฏิบัติแล้วมันมีความรู้ความเห็นอย่างนี้ ก็ความรู้ความเห็นอย่างนี้ แล้วนี้เขาพยายามของเขานะ แบ่งเป็นข้อๆ เลย ข้อ ๑ข้อ ๒ข้อ ๓ข้อ ๔ข้อ ๕ถ้าอย่างนี้มันเกิดมรรค ถ้าเกิดมรรคแล้วมันสมบูรณ์แล้วจะเป็นบุคคล ๔ คู่ ถ้าเป็นบุคคล ๔ คู่แล้ว ถ้ายังไม่แน่ใจก็ยกสังโยชน์ขึ้นมาข้อหนึ่ง เรื่องผู้หญิงสวยไม่สวย เรื่องปาดหน้ารถ แล้วถ้าหลวงพ่อไม่เห็นด้วยก็อธิบายสังโยชน์ชัดๆ มาเลยอีก ๓ ข้อ จบ