ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

รู้แล้วทำ

๒o มี.ค. ๒๕๕๙

รู้แล้วทำ

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๙

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : เรื่อง “ปัญญาอบรมสมาธิ

ระยะหลังผมปฏิบัติโดยใช้การอ่านธรรมะ แล้วก็พิจารณาลำดับคำสอน ก็เกิดความสงบมีปีติ แล้วผมก็จะละธรรมเหล่านั้นมาทำความสงบตามวิธีอานาปานสติ ก็เกิดความสุขซาบซ่าน โล่งอกโล่งใจ นี่คือการใช้ปัญญาอบรมสมาธิหรือเปล่าครับ

สมัยเริ่มปฏิบัติ ผมก็เหมือนคนทั่วๆ ไป คือพยายามละนิวรณ์ ๕ ให้ได้ แล้วก็ทำตามขั้นตอนอานาปานสติ ผมก็มีความวิตกเสมอว่า ปัญญามันเกิดตอนไหน มันอั้นตู้ครับ เลยเริ่มใหม่ อ่านคำสอนของพระพุทธเจ้าก่อน แล้วก็พยายามอย่าให้มันฟุ้งธรรม รีบละและทำความสงบ ข้อเสียคือมันอยากอวดครับว่าเรารู้ธรรม ว่างๆ ก็ฟุ้งธรรมตลอด มีอาการเหม่อลอย จะแก้อย่างไรครับ

ตอบ : นี่คำถามเนาะ ถ้าคำถาม เวลาปฏิบัติ เวลาครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติ ที่ว่ากรรมฐาน ๔๐ ห้อง กรรมฐาน ๔๐ ห้อง การทำความสงบ ๔๐ วิธีการ การทำความสงบ ๔๐ วิธีการนี้มันอยู่ในพระไตรปิฎก คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อนาคตังสญาณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

สมัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมีชีวิตอยู่นะ พระองค์ไหนปฏิบัติแล้วล้มลุกคลุกคลาน องค์ไหนปฏิบัติแล้วไม่ได้ผล เขาปฏิบัติเต็มที่ของเขา ก็มีพระไปถามองค์สมเด็จพระ-สัมมาสัมพุทธเจ้า มีองค์ใดก็แล้วแต่นะ ปฏิบัติมันเรียบมันง่าย ปฏิบัติแล้วเป็นพระอรหันต์โดยฉับพลันอย่างนี้ เขาก็ไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำไมมันเป็นแบบนี้ มันเป็นแบบนี้

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตอบว่า คนที่ปฏิบัติแล้วมันถูลู่ถูกังแล้วมันไม่ได้ผล เขาเคยปฏิบัติอย่างนี้มา เคยทำอย่างนี้มาแต่อดีตชาติ ในภพชาติใดเขาทำอย่างนี้มา แล้วพอมาในปัจจุบันนี้เขายังมาทำอย่างนี้อยู่เพราะมันจริตนิสัย

ไอ้คนที่ปฏิบัติแล้ว มันปฏิบัติแล้วมันทะลุปรุโปร่งไปมันปฏิบัติได้ เมื่อชาติที่แล้วเขาได้ทำบุญกุศลอย่างนั้น เขาทำที่นั่น ที่นั่นอย่างนั้น แล้วเขาทำสิ่งนั้นในปัจจุบันนี้เขาได้สร้างอำนาจวาสนาบารมีของเขามาสมควร เวลาเขาฟังธรรมขององค์สมเด็จ-พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทีเดียวเขาฉับๆ พลัน เขาเป็นพระอรหันต์เลย นี่มันมีที่มาที่ไปทั้งนั้นน่ะ

ฉะนั้น เวลามีที่มาที่ไป จิตที่มันเกิดมาแตกต่างกัน การทำของจิตแต่ละดวงมันสร้างเวรสร้างกรรมมาไม่เหมือนกัน แม้แต่พี่น้องในท้องเดียวกันก็มีความคิดไม่เหมือนกัน แม้แต่เด็กคู่แฝดอยู่ในไข่ใบเดียวกันแยกเป็นสองคน มันก็ยังมีความคิดไม่เหมือนกัน 

คำว่า ไม่เหมือนกัน” เพราะอำนาจวาสนาบารมีต่างคนแตกต่างกันมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบัญญัติการทำความสงบ ๔๐ วิธีการ ๔๐ วิธีการก็ให้จิตทุกดวงที่มันล้มลุกคลุกคลาน จิตที่มันมีอำนาจวาสนา มันก็ทำของมันด้วยความสะดวก ถ้าจิตดวงไหนจิตดวงใดที่มันมีอุปสรรคมาก มันก็ต้องขวนขวายของมัน เห็นไหม 

ฉะนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงเปิดไว้ว่าทำความสงบ ๔๐ วิธีการ คำว่า ๔๐ วิธีการ” ใครก็ได้ ทำอย่างไรก็ได้ แล้วใน ๔๐ วิธีการนั้นมันก็ยังมีการพลิกแพลง วันนี้ทำอย่างนี้แล้วได้ผล พอทำครั้งต่อไป เพราะการที่ได้ผลเพราะกิเลสมันตามไม่ทัน เราใช้อุบาย เราใช้พลิกแพลง พลิกแพลง เราทำอย่างนี้ เราทำต่อเนื่องไปไง กิเลสมันตามไม่ทัน พอมันสงบแล้ว กิเลสมันเสียท่า คราวต่อไปทำอย่างเดิมอีกก็ไม่ได้ กิเลสมันรู้เท่าแล้วนะ พอกิเลสรู้เท่า ทำอย่างไร ทำความสงบ ถูลู่ถูกังทั้งนั้น ถ้าเราเปลี่ยนใหม่ เปลี่ยนอุบายใหม่ พยายามหาทางใหม่ มันก็พอไปได้ไง

อันนี้หลวงตาถึงสอนประจำ การปฏิบัติมันก็ต้องมีปัญญา อย่าทำสักแต่ว่า เคยทำอย่างไรก็ทำอยู่อย่างนั้นน่ะ กิเลสมันหัวเราะเยาะนะว่า เฮ้ยมึงมีปัญญาหน่อยสิ อย่าซื่อบื้อ ซื่อบื้อ หลอกง่ายๆ อย่างนี้มันง่ายเกินไป เวลากิเลสมันยังไม่อยากหลอกเลย เพราะหลอกจนหลอกง่ายๆ” 

นี่ก็เหมือนกัน เวลา ๔๐ วิธีการมันต้องพลิกแพลงไง เวลาเราพลิกแพลง ถ้าพลิกแพลงนี่กรณีหนึ่ง เวลาพลิกแพลงเพื่อใช้ปัญญามันเป็นแง่บวก แต่เวลาเราจะทำอย่างนั้นกิเลสมันก็บอกแล้ว ย้ายต้นไม้บ่อยๆ ต้นไม้มันไม่โต ถ้าปลูกต้นไม้แล้วปลูกที่เดิม แล้วรดน้ำพรวนดิน เดี๋ยวมันจะได้งอกงาม ย้ายต้นไม้บ่อยๆ ต้นไม้มันจะตาย เวลาเปลี่ยนอุบายไง

ถ้าเราเปลี่ยนอุบาย คนที่ปฏิบัติแล้ว พอปฏิบัติถ้ามันเปลี่ยนอุบายแล้ว มันภาวนาไปแล้วมันราบรื่น พอเราพุทโธหรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ มันทะลุปรุโปร่งไป นั่นน่ะใช่ ถ้ามันไม่ใช่ ไม่ใช่หมายความว่ามันจนตรอก มันไปไม่ได้ มันไม่สะดวก เราพลิกแพลงของเรา

นี่พูดถึงการปฏิบัติ ในการปฏิบัติมันแบบว่ามัชฌิมาปฏิปทา ความสมดุล ความพอดี ถ้าความพอดีอย่างไรมันเป็นไปได้ แต่นี้ความพอดีของเรา กิเลสมันก็เข้ามาหาช่องทาง นี่พูดถึงว่าการทำความสงบ ๔๐ วิธีการ ถ้าการทำความสงบ ๔๐ วิธีการมันมีอุบาย อุบายมันทำแล้วจะเป็นประโยชน์ไง

ทีนี้มาเข้าคำถาม คำถามว่า ระยะหลังผมปฏิบัติโดยใช้ การอ่านธรรมะ อ่านธรรมะก่อน อ่านธรรมะแล้วก็พิจารณาตามคำสอนนั้น ก็เกิดความสงบ เกิดปีติ แล้วผมก็ละธรรมนั้น แล้วมาทำความสงบตามวิธีอานาปานสติ มันก็มีความสุขซาบซ่าน นี่คือเป็นปัญญาอบรมสมาธิหรือไม่

มันก็เป็นแขนงหนึ่ง มันเป็นได้ ปัญญาอบรมสมาธิคือใช้ปัญญา ถ้าปัญญาอบรมสมาธิ เห็นไหม ถ้าเราไปอ่านธรรมะ อ่านธรรมะแล้ว ตอนที่ว่าอ่านธรรมะ คำถามเขียนมาถามนะ แล้วพอตอบเสร็จแล้วเขาไปทำ ทำไม่ได้แล้ว ทำไม่ได้เพราะอะไร เพราะว่าขณะที่ทำมันได้ ได้ก็อย่างที่ว่า เห็นไหม เราใช้อุบายสดๆ ร้อนๆ มันได้สดๆ ร้อนๆ คือว่ากิเลสมันตามไม่ทัน

แต่ถ้ากิเลสมันตามทันนะ มันตามหมดน่ะ เพราะว่ากิเลสมันอยู่หลังความคิดไง เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเย้ยมาร เห็นไหม มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา เราจะไม่ดำริถึงเจ้า เจ้าจะเกิดบนดวงใจของเราไม่ได้อีกเลย

นี่ไง เกิดจากความดำริของเรา เกิดจากดำริของเรา มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา เราจะไม่ดำริถึงเจ้า” ถ้าไม่ดำริถึงเจ้า ดำริคือเราคิดเราอ่านธรรมะ เราอ่านธรรมะ เราไม่คิดเรื่องนั้น เราอ่านธรรมะ เพราะธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสะอาดบริสุทธิ์ แต่ถ้าพอเราทำมันได้ เพราะมารมันไม่ทัน แต่พอทำไป เดี๋ยวมันก็ทัน พอทันแล้วนะ มันก็เหมือนกับที่ว่ามาระยะหลังเราปฏิบัติอย่างนี้ มันก็จะไปเหมือนระยะที่เราเคยทำมา เราเคยทำมา เดี๋ยวก็ดีอยู่พักหนึ่ง

คนที่ปฏิบัติ เวลาดี ดีอยู่พักหนึ่ง พอตอนที่มันดี พอดี พอกิเลสมันทันนะ เอาแล้วทีนี้หันรีหันขวางแล้ว ถ้าหันรีหันขวางเราก็ทำของเรา เราไม่ท้อถอยไม่ทอดทิ้ง แต่จากพุทโธก็ไปธัมโม จากธัมโมก็ไปสังโฆ จากสังโฆก็ไปเทวดานุสติ จากเทวดานุสติก็ไปมรณานุสติ แล้วกลับมาพุทโธ เราวนของเรา เราวนของเราไม่ให้กิเลสมันรู้ทัน ถ้ามันไม่รู้ทัน เห็นไหม เราทำแล้วมันก็จะได้ประโยชน์ไง

แต่เขาถามว่า อย่างนี้ใช่ปัญญาอบรมสมาธิใช่หรือไม่” 

ใช่ เพราะเราตรึกในธรรมๆ เวลาพระโมคคัลลานะเป็นพระโสดาบันมากับพระสารีบุตร มาบวชกับองค์สมเด็จพระสัมมา-สัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้อุบายแล้วไปปฏิบัติ ง่วงเหงาหาวนอนอยู่นี่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ตรึกในธรรมไง ตรึกในธรรม เอาน้ำลูบหน้า แหงนหน้าดูดาว แล้วถ้ามันง่วงจนทนไม่ไหว นอนซะ นอนก่อน พักผ่อนเสร็จแล้ว ตื่นแล้วเราค่อยมาปฏิบัติต่อ

เวลาอุบายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้ในพระไตรปิฎก แล้วเราจะมาใช้ประโยชน์อย่างใด ถ้าเรามาใช้ประโยชน์อย่างนี้ 

อย่างนี้เป็นปัญญาอบรมสมาธิหรือไม่” 

ปัญญาอบรมสมาธิมันกว้างขวางมาก เราอ่านธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วอ่านจนจิตมันแบบว่ามันสงบ มันมีปีติ มันมีความปีติแล้วเราค่อยมาใช้อานาปานสติคือกำหนดลมหายใจมันต่อเนื่องไป

เวลาใช้ปัญญาอบรมสมาธิ นี่ก็เหมือนกัน เราคิดสิ่งใด จิตมันวิตก วิจาร นึกเรื่องอะไรขึ้นมา พอนึกอะไรขึ้นมาปั๊บมันเป็นปัจจุบัน พอเป็นปัจจุบันเรามีสติตามมันไปเลย ตามความคิดนี้ไป ตามความคิดนี้ไป คิดเรื่องอะไร คิดทำไม คิดแล้วมีเหตุผลอะไร คิดต่างๆ แต่ถ้าสติมันทันนะ มันหยุด ถ้ามันหยุด เห็นไหม ปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาอบรมสมาธิ

แต่นี้เวลาเราคิดเรื่องอะไรมันเป็นปัจจุบันใช่ไหม แต่เวลามันคิดแล้วแบบว่ากิเลสมันเท่าทันแล้ว มันก็คิดแล้วมันก็ท้อแท้ คิดแล้วมันก็ร้อยแปด แต่นี่พอไปอ่านธรรมะ อ่านหนังสือธรรมะ พออ่านหนังสือธรรมะเราไม่ได้คิดเอง มันก็เป็นสดๆ ร้อนๆ ไง พอจิตมันสงบมันเกิดปีติ พอเกิดปีติขึ้นมาแล้ว เห็นไหม เราก็อานาปานสติต่อเนื่องไป ต่อเนื่องไป

เวลาเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิก็เหมือนกัน เวลามันสงบแล้ว มันหยุดแล้ว เราทำอย่างไรต่อไป เราก็พุทโธต่อไป เราใช้กำหนดลมหายใจก็ได้ อานาปานสติก็ได้ต่อไปๆ พอมันเสวย มันเริ่มคิดก็ไล่กันไป ไล่กันไป ฝึกหัดทำความสงบบ่อยครั้งเข้าๆ จนเป็นสมาธิ ทำความสงบบ่อยครั้ง บ่อยครั้งเป็นสมาธิ พอสงบบ่อยครั้งเข้ามันก็ทำให้จิตใจเข้มแข็งขึ้น พอทำความสงบของใจไง มันปล่อยสิ่งนั้นมา ปล่อยสิ่งนี้มา

ทีนี้เราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รู้ รู้แล้วทำ ถ้ารู้แล้วทำก็เป็นประโยชน์ ถ้ารู้แล้วทำนะ แต่เขาบอกว่า มันเสียอย่างเดียว มันอยากจะอวด มันอยากจะคุย อยากจะโม้” อย่างนี้มันรู้แล้วหลง 

ถ้ารู้แล้วทำ เห็นไหม เราศึกษา ศึกษาปริยัติ ศึกษาปริยัติศึกษามาเพื่อปฏิบัติ เวลาเราศึกษา ศึกษาภาคปริยัติ ปริยัติคือศึกษาให้ปฏิบัติไง เหมือนทางวิชาการมีความรู้ เรามีความรู้แล้วเราต้องมีหน้าที่การงานของเรา ถ้าเรามีหน้าที่การงานของเรา ทำแล้วเราได้ประโยชน์ของเรา เห็นไหม เรามีความรู้ มีความรู้ ปัญญาอบรมสมาธิก็มีความรู้ รู้แล้วทำ รู้แล้วทำ รู้แล้วทำไง

แต่ถ้ามันเป็นกิเลส รู้แล้วหลง รู้แล้วหลงนะ อวดรู้ อวดอะไร รู้แล้ว แล้วมันเป็นประโยชน์กับเราไหมล่ะ สิ่งที่เป็นประโยชน์กับเราไง เราอยากให้ใจเราเป็นอิสระไง ถ้าใจเราเป็นอิสระ เห็นไหม ใจของเราเป็นสมาธิ ใจของเราไม่เป็นเบี้ยล่างของตัณหาความทะยานอยาก โดยปกติใจมันเป็นเบี้ยล่างของกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เพราะกิเลสตัณหาความทะยานอยากมันชักนำ มันคิดไป แล้วบางคนไม่เข้าใจก็บอก โอ้ยเราคิดดี คิดดี มันลากไปแล้ว มันเป็นเบี้ยล่างของกิเลสตัณหาความทะยานอยาก

เพราะกิเลสตัณหาความทะยานอยาก อวิชชาความไม่รู้ก็เกิดบนจิต ปัญญาทุกอย่าง ความคิดต่างๆ ก็เกิดจากจิต ทุกอย่างเกิดจากจิตหมดเลย ทุกอย่างเกิดจากจิต เพราะจิตเป็นจิตของเราไง แต่ถ้ามันความคิดของคนอื่น ความคิดของโลก มันเกี่ยวอะไรกับเราล่ะ มันเกี่ยวอะไรกับเรา แต่ถ้ามันเกิดกับเรา เกิดมโนกรรม 

มโนกรรมมันคืออะไร มโนกรรมคือเคยคิด คิดครั้งนี้พอใจ คิดซ้ำ คิดซ้ำ พอคิดแล้วนี่เพราะมโนกรรม พอคิดบ่อยครั้ง คิดซ้ำคิดซาก มันก็เป็นความชอบ มันก็เป็นจริต มันเป็นเบี้ยล่าง เห็นไหม คิดเรื่องอะไรล่ะ มันก็จะชักนำไปเรื่องนั้น คิดเรื่องอะไรก็แล้วแต่มันจะดึงไปเรื่องนั้น ถ้ามันดึงไปเรื่องนั้น เห็นไหม คิดบ่อยครั้งเข้าจนเป็นจริตเป็นนิสัย

แต่ถ้าเราฝืนของเรา เห็นไหม สรรพสิ่งนี้เกิดบนจิตๆ ทั้งนั้น เราใช้คำว่า ภวาสวะ ภพ” สถานที่ที่กำเนิดของมัน สถานที่กำเนิดของความรู้สึกนึกคิด สถานที่กำเนิดของกรรม ทั้งกรรมดีและกรรมชั่วเกิดบนจิตนี้หมด แต่เราไม่รู้ เกิดดับ เกิดดับ เกิดมาจากไหน พอเกิดดับ เกิดดับ ถ้ามันไม่เกิดบนจิตมันจะเกิดที่ไหน ถ้ามันเกิดที่จิตมันเกิดแล้วมันดับ ดับเข้าไปที่จิต แล้วมันทิ้งอะไรไว้ที่จิตล่ะ เกิดจริตนิสัยไง ก็ทิ้งแต่ความเคยชินไว้ไง

แต่ถ้าเรามีปัญญาอบรมสมาธิ เราไล่ตามมันไป ไล่ตามมันไป ปริยัติเราศึกษามาเพื่อปฏิบัติ ถ้าศึกษามาเพื่อปฏิบัติ ถ้าเราทำของเราขึ้นมา เราจะมีอริยทรัพย์มีคุณธรรมในใจ ถ้าคนมีคุณธรรมในใจ เราเป็นชาวพุทธแท้ๆ ถ้าชาวพุทธแท้ๆ ในนวโกวาท จะมีสิ่งใดก็แล้วแต่ ไม่ไปตามเขาทั้งนั้น ถ้ามีสิ่งใด นักเลงการพนัน นักเลงอะไร นักเลงมหรสพ นักเลงมีอะไรก็ไปกับเขา โลก ศีล ๘ ตัดหมด ถ้าตัดหมดปั๊บ ตัดหมดมันอยู่ไม่ได้ มันว้าเหว่

แต่ถ้ามันมีคุณธรรมนะ ตัดหมด สุขมาก ตัดแล้วมีความสุข อู้สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี เอ็งจะไปหาความสุขอะไรขึ้นมา กลับมานะ จะไปไหนกลับมา ไปเมืองนอกกลับมาก็ต้องมาฟื้นฟู กลับมาเสียทั้งเงิน เสียทั้งสุขภาพ แต่ของเรา โอ้โฮจิตแช่มชื่น มีศีล ๘ แล้วเราทำความสงบของใจให้ได้ด้วย แล้วจะมีความสุขมีความสงบของเรา เห็นไหม ถ้าอย่างนี้มันก็ไม่ไปตามเขา ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ

มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิหรือเปล่า” เป็น เป็นเพราะเราใช้ธรรมะ เห็นไหม ธรรมะที่เราศึกษา เราเล่าเรียนมา แล้วพอมันดีขึ้นมา เห็นไหม เราใช้อานาปานสติต่อเนื่องไป นี่พูดถึงว่าเขาปฏิบัติตอนนี้ดี แล้วเขาก็เสียดาย สมัยเริ่มปฏิบัติ ผมก็เหมือนคนทั่วไป คือพยายามละนิวรณ์ ๕ ให้ได้ แล้วก็ต้องขั้นตอนอานาปานสติ ผมก็มีความวิตกกังวลเสมอว่าปัญญามันจะเกิดตอนไหน มันอั้นตู้ครับ

ไอ้เวลาละนิวรณ์ ไอ้สิ่งที่ว่าอานาปานสติ เรากำหนดลมหายใจๆ ถ้ากำหนดลมหายใจเรายังคิดสิ่งใดไม่ได้ โดยพื้นฐานเรากำหนดลมหายใจ ถ้ากำหนดลมหายใจเข้าออก ถ้าลมหายใจเข้าออก จิตมันเกาะ ถ้าจิตมันเกาะแล้วถึงเป็นอานาปานสติ ถ้ามันไม่มี ถ้าจิตมันไม่เกาะ เราก็มีลมหายใจอยู่

คำว่า ลมหายใจ” มันเป็นปัจจุบัน ถ้าเป็นปัจจุบันทีนี้เราจะละนิวรณธรรม เราก็ไปละนิวรณธรรม นิวรณธรรม นิวรณ์คือความง่วงเหงาหาวนอน ความลังเลสงสัยความต่างๆ นิวรณธรรม ๕ มันกั้น เราไม่ต้องไปละไปอะไร เรากำหนดลมหายใจเฉยๆ มันละไปโดยอัตโนมัติ ถ้ามันเป็นสงบมันก็สงบเข้ามา มันผ่านเข้ามา มันผ่านนิวรณ์เข้ามา

ไอ้นี่จะไปละนิวรณธรรม คือว่า พอมันทำสมาธิไม่ได้แล้วมันก็หาเรื่อง หาเรื่องว่าจะต้องไปทำอย่างนั้น ต้องมีเหตุอย่างนั้น จะเข้ามาอย่างนี้ ไม่ต้อง กำหนดอานาปานสติก็กำหนดลมหายใจก็กำหนดอยู่ที่นั่น เพราะเราทำอานาปานสติ เราทำอานาปานสติเราก็ทำอยู่ตรงนั้น กำหนดลมหายใจเข้า แล้วจิตมันละเอียดๆ เข้ามาเอง เราไม่ต้องไปละนิวรณ์นิเวิรณ์ ถ้ามันละ มันละของมันเอง ถ้ามันละ เพราะมันไม่มาไง ยังไม่มา ยังไม่เกิดขึ้น มันก็ไม่มี

แต่ถ้าเวลาเรากำหนดลมหายใจแล้วมันง่วงนอนมันอะไร ไอ้นั่นมันเป็นผลของมัน ถ้าเป็นผลของมันเราก็อานาปานสติชัดๆ ขึ้นไป แต่พอเขาทำแล้วเขาบอกว่า เขาจะละให้ได้ จะละให้ได้ มันก็เหมือนกับเวลามีปัญหาขึ้นมาเราจะหาแพะให้ได้ ถ้าเราทำสิ่งใดไม่ได้ เราก็จับแพะมาตัวหนึ่ง เอ็งรับเคราะห์ไป ไอ้นี่ภาวนาแล้วจะเอากิเลสไปไว้ที่ชื่อนิวรณธรรม ๕ เราจะยกให้แพะ ไม่ต้อง เราจะเอาตัวของเรา เอาความจริงของเรา ถ้าเอาความจริงของเรา เรากำหนดอานาปานสติ 

เพราะเขาบอกว่า ผมก็มีความวิตกเสมอว่า ปัญญามันจะเกิดตอนไหน มันอั้นตู้ครับ” เพราะเราคาดหมายเกินไป ถ้าไม่รู้แล้วทำ มันก็เป็นประโยชน์อันหนึ่ง 

กรรมฐานเรา เวลาบวชแล้วเขาจะบอกว่าพระป่าอยู่ป่าอยู่เขามีแต่นั่งหลับหูหลับตา มันจะรู้อะไร เขาศึกษาเล่าเรียนมาจน ๙ ประโยค ๑๐ ประโยค เขายังไม่รู้อะไรเลย เพราะศึกษามา ๙ ประโยค ๑๐ ประโยคก็ยังศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระ-สัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้ามาถกกันนะ เขาจะพูดได้แจ้วๆๆ เลย แต่ถ้าเนื้อหาสาระความเป็นจริงที่มันเป็นข้อเท็จจริง ศีล มันมีศีลโดยปกติของใจ ถ้ามีสมาธิ สมาธิมันตั้งมั่น ถ้ามีปัญญา ปัญญาที่มันจะยับยั้งหัวใจ อันนี้เขาไม่มี แต่เขาไปสัญญา ไปจำธรรมะอันนั้นแล้วเวลาจะถกกันปากเปียกปากแฉะเลย นี่ไง รู้แล้ว รู้แล้วงงๆ รู้แล้วหลง 

รู้แล้วปฏิบัติ ถ้ารู้แล้วทำ เขาศึกษามา เขาศึกษามาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศึกษาทางโลกมายังมีปัญญาได้ขนาดนั้น เวลาพูดธรรมะปากเปียกปากแฉะเลย แต่ธรรมะในใจของเรา คุณธรรมในใจเรายังไม่เกิด สมบัติความเป็นจริงในใจยังไม่เกิดขึ้น

ถ้าสมบัติความจริงในใจเกิดขึ้น ดูสิ เขาศึกษามาเพื่อปฏิบัติ นี้พระกรรมฐาน พระป่าเราเวลาบวชมา อุปัชฌาย์ให้ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ กรรมฐาน ๕ ถ้ากรรมฐาน ๕ ถ้ามันทำได้จริงนะ ทำได้จริง ครูบาอาจารย์ท่านทำได้จริง ท่านฝึกหัดข้อวัตรปฏิบัติ ถ้าฝึกหัดข้อวัตรปฏิบัติแล้วท่านให้ปฏิบัติเลย แล้วปฏิบัติแล้ว เพราะว่าสิ่งที่เราฝึกหัดมาเป็นปะขาว เราฝึกหัดมาด้วยการดำรงชีพของพระ

ที่เขาศึกษา นักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก ก็ศึกษาเรื่องนี้ ศึกษาเรื่องผ้า ศึกษาเรื่องข้อวัตรปฏิบัติ ศึกษามา ศึกษามาแล้วก็ไปได้กระดาษใบหนึ่ง

แต่ของเราศึกษามา ถ้าผิด ครูบาอาจารย์ท่านฟ้าผ่าเลย อยู่กับครูบาอาจารย์ ถ้าผิด ฟ้าผ่า ฟ้าผ่า ฟ้าผ่าให้เรารู้ว่ามันผิดไง ถ้ามันผิดก็คือมันผิด มันผิดก็มันมีโทษไง มันมีโทษ มีโทษเพราะมันผิดธรรมผิดวินัย มันไม่เป็นทิฏฐิความเห็นเสมอกัน สิ่งที่มันไม่เสมอกัน มันอยู่ด้วยกัน มันก็รังเกียจกัน ถ้ามันเสมอกัน เราอยู่ด้วยกัน ไม่มีใครเป็นอาบัติ มาอยู่ด้วยกัน กินด้วยกัน นอนด้วยกัน มันก็สุขสบาย

ถ้ามันมีสิ่งใดที่มันต่างกัน ต่างกันด้วยทิฏฐิ เห็นไหม มันจะขัดแย้งกัน มันเป็นการปฏิบัติโดยเนื้อหาสาระเลย ถ้าปฏิบัติโดยเนื้อหาสาระ ปฏิบัติขึ้นไปมันจะเป็นความจริงขึ้นมา ถ้าความจริงขึ้นมาก็เข้านี่ไง เพราะนิวรณธรรมมันก็ไม่มี สิ่งใดมันก็ไม่มี ไอ้นี่จะไปหาตัวนิวรณ์ จะไปหาอะไร มันเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ แล้วถ้ากำหนดอานาปานสติมันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ฉะนั้น ถ้ามันเกิดอย่างนี้ขึ้น เวลาเราทำสิ่งใดผิดพลาด เวลาศึกษามา ศึกษามาก็ศึกษามาเป็นความรู้ ทำผิด ทำถูก ฉันก็ทำของฉันไป เหมือนควายตู้ อัดไปอย่างนี้ของเราอยู่คนเดียว 

แต่ถ้าเป็นหมู่คณะในพระกรรมฐานนะ เวลาทำผิด ฟ้าผ่าเลย เออผิดจริงๆ ผิดจริงๆ เพราะโดนด่าจริงๆ โดนด่าจริงๆ หมู่คณะก็เห็นจริงๆ มันเป็นความผิดความถูกโดยข้อเท็จจริง เพราะเขาจะคัดเข้าหมู่ ถ้าไม่อย่างนั้นเขารังเกียจ เขารังเกียจ ทิฏฐิไม่เสมอกัน ความเห็นไม่เสมอกัน เขาไม่ให้อยู่ร่วมกัน ถ้าอยู่ร่วมกัน ครูบาอาจารย์ท่านเป็นคนดูแล ถ้าเป็นคนดูแล ข้อเท็จจริงมันเกิดตรงนี้ ปฏิบัติรู้แล้วทำ รู้แล้วทำ เขาให้รู้แล้วปฏิบัติ

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราศึกษา ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จ-พระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันรู้แล้วมันสงบเกิดปีติ แล้วเราก็มากำหนดอานาปานสติ แล้วถ้ามันโล่งมันโถง มันเป็นประโยชน์ มันก็เป็นประโยชน์ แต่ว่า มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิหรือไม่” เป็น 

แล้วเวลาเราปฏิบัติของเรา แต่เดิมเราบอก เราจะละนิวรณธรรม ๕ แล้วเราทำของเราไป แล้วก็ทำอานาปานสติเหมือนกัน ก็วิตกวิจารขึ้นมา

เพราะวิตกวิจารนี่ไง วิตกวิจารมันก็เป็นอดีตอนาคตไง เวลาคนที่ปฏิบัติที่มันจะไม่ได้ผลเพราะเราวิตกวิจาร อดีตอนาคตมันชักนำไปไง เพราะเราปฏิบัติเราต้องอยู่กับปัจจุบันไง ถ้ามันเป็นปัจจุบัน เห็นไหม ปัจจุบันคนเราต้องมีสัตย์ 

ครูบาอาจารย์ของเราตั้งแต่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ตั้งแต่หลวงตา ตั้งแต่หลวงปู่ฝั้น ครูบาอาจารย์ที่เป็นพระอรหันต์ขึ้นมา พวกนี้มีสัตย์ เขาถือสัจจะ คิดอย่างไร ตั้งอย่างไร แล้วต้องทำให้ได้อย่างนั้น คนมีสัตย์ จะนั่งสมาธิคืนหนึ่ง คืนหนึ่ง จะอดอาหาร ๗ วัน ๗ วันจะทำอย่างไร ตั้งสัตย์แล้วทำอย่างนั้น คนเขามีสัตย์ ถ้าเขามีสัตย์เขาทำอย่างไร เขามั่นคงของเขา เขาทำแล้วได้ประโยชน์ของเขา 

ไอ้นี่เราตั้งไว้นั่งชั่วโมงหนึ่ง ไม่ถึงสองนาทีเลิกแล้ว วันนี้ทำความดี เอาไว้พรุ่งนี้ก่อน เห็นเขาทำคุณงามความดี ตั้งใจเลยอยากเป็นพระอรหันต์ เอ๊ะมันไม่ว่าง มันไร้สาระ พอมันไร้สาระแล้ว เราเห็นคนอื่นเขาทำมันเป็นประโยชน์ ก็อยากจะเป็นประโยชน์ เขาก็ทำตำราเล่มเดียวกัน พระไตรปิฎกเล่มเดียวกัน พระพุทธเจ้าองค์เดียวกันๆ นะ แต่ใครจะมีสัตย์เชื่อมั่นทำตามท่าน พระพุทธเจ้าองค์เดียวกัน สอนคนนู้น คนนู้นทำเขาทำได้ ไอ้ของเราเอาไว้ก่อน จะทำ

ยิ่งมีพระพูดให้ฟัง ฟังแล้วสลดใจมาก เขาบอกเขาศึกษาเยอะแยะเลย รู้ไปหมดเลย แล้วเขารอวันที่จะตาย แล้วเขาจะทำวันนั้น เขาพูดกันอย่างนั้นเดี๋ยวนี้ ไอ้นี่ อู้ฮูเราฟังแล้วมันกิเลสชัดๆ เลย กิเลสชัดๆ คือว่ารู้ทุกอย่าง รู้วิธีการหมดเลย แต่ขี้เกียจ กลัวทุกข์ ถ้าจะไม่ทำก็บอกว่าไม่เชื่อพระพุทธเจ้า แต่บอกว่าเอาไว้ทำวันที่จะตาย คือจะเป็นพระอรหันต์ตอนตาย 

แล้วพอมันยังไม่ทันตาย พอแก่เฒ่าขึ้นมามันก็เดินไม่ไหวแล้ว พอแก่เฒ่าขึ้นมานะ มันก็เริ่มระแวงแล้ว เริ่มเสียผลประโยชน์แล้ว แล้วยิ่งวันตาย วันตายบอกจะปฏิบัตินะ ไม่มีสิทธิ์หรอก เอ๊ะตายแล้วศพใครจะดูวะ ของที่อยู่นี่ใครจะดูแลรักษา พอมันจะตายนะ โอ้โฮมันวิตกกังวลไปหมดเลย ไม่ใช่ มันจะตรึกธรรมะไปไม่ได้เลย 

เวลาเขาพูดนะ เราก็เห็นเขาพูด เราได้ยินมา เขาพูด พูดแล้วแปลก คนเชื่อ คนเชื่อเพราะอะไร เพราะมันทำได้เหมือนๆ กันไง เอาไว้วันตาย พอวันตาย มันก็รอวันตาย แล้ววันตายจริงๆ ทำได้ไหม พอเราฟังนะ โอ้โฮกิเลสมันหลอกง่ายๆ อย่างนี้ แล้วก็เชื่อ เขามาพูดให้ฟังกันนะ เราฟัง โอ๋ยเศร้า แต่นั่นมันก็เรื่องของเขา

แต่ถ้าเราจะเอาความจริงของเรานะ เพราะเราบอกว่า ถ้ารู้แล้วทำมันก็ดี ถ้าภาษาพวกพระกรรมฐานเรารู้อยู่ แต่มันไม่เท่าทันกิเลสไง เราถึงต้องมีครูบาอาจารย์คอยฟ้าผ่าอีกทีหนึ่ง เวลาหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเรานะ เวลาฟ้าผ่า พระเณรที่อยู่กับท่านชื่นใจนะ ฟ้าผ่าทีไรชุ่มชื่นทุกทีเลย

กลัวไหม กลัว กลัวทุกคนแหละ กลัว กลัวหลวงปู่มั่นมาก กลัวครูบาอาจารย์มาก แต่ แต่ด่าแล้วชื่นใจ อ้าวกลัวแล้วมึงไม่ไปล่ะ คุก เขายังแหกคุกเลย ไอ้นี่กลัวแต่สมัครไปหาเอง กลัวนะ แต่ขอเข้าไปอยู่ด้วย กลัวไหม กลัว แล้วเข้าไปหาท่านทำไมล่ะ อ้าวก็กิเลสมันหนาไง ถ้าศึกษาเองก็ถูกหมดล่ะ ไม่มีอะไรผิดเลย ถ้าไปอยู่กับท่าน ถ้าถูกก็เจอฟ้าผ่า เปรี้ยงโอ้โฮยหงายท้องเลย

ถ้าถูกมันเป็นประโยชน์อย่างนี้ ถ้าเราอยู่กับครูบาอาจารย์ที่เป็นจริงไง ถ้าเป็นจริง เห็นไหม แล้วถ้าครูบาอาจารย์ที่เป็นจริง รู้แล้วทำ ทำคุณงามความดีไง 

ถ้ารู้แล้วหลง รู้แล้วหลง เห็นไหม หลงกับความรู้ของตัวเอง ศึกษามา เล่าเรียนมา เล่าเรียนมาทำไม เขาเล่าเรียนมาเพื่อประพฤติปฏิบัติ เล่าเรียนมาเพื่อเป็นความจริง แต่ถ้าเล่าเรียนมาแล้ว เห็นไหม รู้ไปหมด เหมือนกัน อาจารย์รู้ ลูกศิษย์ก็รู้ อาจารย์เป็น ลูกศิษย์ก็เป็น อาจารย์เป็นอะไร ลูกศิษย์ก็เป็นอย่างนั้น เป็นจริงๆ หรือ เป็นหรือ

ถ้าเป็น เห็นไหม ดูสิ เวลาหลวงตาท่านอยู่กับหลวงปู่มั่น ถ้าเป็น เป็นอย่างนั้น เป็นแล้วอาจารย์ยกไว้สูงส่งเลย แล้วลูกศิษย์รัก ทั้งรัก ทั้งเคารพ หลวงตาท่านพูดอย่างนี้นะ ท่านบอกว่า ถ้าท่านเสียสละชีวิตได้เพื่อให้หลวงปู่มั่นมีชีวิตต่อไปท่านเสียสละทันทีเลย แต่มันเป็นอย่างนั้นไม่ได้เพราะมันเป็นเวรเป็นกรรมของสัตว์โลก

หลวงปู่มั่นท่านก็มีอำนาจวาสนาบารมีของท่าน เวลาท่านหมดอายุขัย ท่านก็ต้องดับขันธ์ของท่านไป แต่ท่านพูดเอง หลวงตาท่านพูดประจำ ถ้าท่านสละชีวิตท่านได้นะ เพื่อให้หลวงปู่มั่นมีชีวิตอยู่นะ ท่านสละทันทีเลย” นี่ความคิดของลูกศิษย์ที่เคารพครูบาอาจารย์ แต่ท่านทำอย่างนั้นไม่ได้ มันทำไม่ได้หรอก เพราะมันเป็นเวรเป็นกรรมของจิตแต่ละดวงไม่เหมือนกัน แต่ท่านคิดของท่านอย่างนั้น 

นี่พูดถึงถ้าเคารพ เขาเคารพกันอย่างนี้ เขาเคารพกัน ยกชีวิตนี้ให้ได้เลย ชีวิตนี้เสียสละให้เลย ถ้าชีวิตเสียสละให้แล้วมันจะมีแซงหน้าแซงหลังไหม มันจะมีอยากลัดหน้าลัดหลัง อยากจะเดินออกหน้าไปก่อนไหม มันเป็นไปไม่ได้ ถ้าลองชีวิตนี้สละได้

ไอ้นี่ปากเปียกปากแฉะ รักครูบาอาจารย์ แต่ครูบาอาจารย์ยังรู้ไม่เท่ากู รักครูบาอาจารย์มากเลย ครูบาอาจารย์นี่เก่งมากเลย แต่มันเสียนิดเดียว เราฉลาดกว่าอาจารย์นิดหนึ่ง โอ้เราดีกว่าอาจารย์นิดหนึ่ง อาจารย์ยังด้อยกว่าเราหน่อยหนึ่ง 

พูดกันอยู่อย่างนี้ พูดได้ ถ้าใครพูดอย่างนี้ปั๊บนะ เราไม่คบ เราไม่เคยคบคนอย่างนี้เลย คือมันหน้าไหว้หลังหลอก แล้วมันลบหลู่ ลบหลู่จากกิเลส แต่ลบหลู่แล้วตัวเองก็ไม่มีความสามารถที่จะให้มันเป็นจริงขึ้นมา ก็เลยต้องเอาครูบาอาจารย์มาขายอย่างนั้น ก็ยังบอกเราเป็นลูกศิษย์องค์นั้น องค์นั้นอยู่ แต่เสียอย่างเดียวเราฉลาดกว่าอาจารย์นิดหนึ่ง แต่ก็ต้องเอาอาจารย์องค์นั้นมาเป็นบาทฐานปีนขึ้นไป เหยียบขึ้นไป เพราะมันไม่มีคุณงามความดี จะทำตัวเองออกมาให้สังคมเห็นได้

นี่พูดถึงว่า ถ้ากิเลสมันเป็นอย่างนั้นนะ ฉะนั้น ถ้ากิเลสมันเป็นอย่างนั้น เราต้องพยายามจะทำให้เราได้ประโยชน์กับเรา นี่เขาถามนะ ฉะนั้น คำถามต่อเนื่องไปว่า พอเริ่มใหม่แล้ว อ่านคำสอนของพระพุทธเจ้าก่อน ก็พยายามอย่าให้มันฟุ้ง รีบละ แล้วทำความสงบของใจไป แล้วข้อเสียอย่างหนึ่ง มันอยากจะอวดครับว่าเรารู้ธรรม รู้ธรรม” ว่าเรารู้ธรรม ถ้าคำว่า เรารู้ธรรม” กิเลสมันเป็นแบบนี้ แล้วคนอื่นจะเป็นแบบเราไหม คนอื่นก็เป็นแบบนี้หมดล่ะ 

จากใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่งไง ใจดวงหนึ่งถ้ามันลองชำระล้างกิเลสได้แล้วนะ มันจะรู้ถึงใจทุกๆ ดวงเลย เพราะทุกดวงใจมันก็เหมือนกัน เหมือนกัน มันจะวิธีการแตกต่างกันบ้าง แต่มันเหมือนกัน

ฉะนั้น เวลาจริงๆ แล้ว พระกรรมฐานเรา ถึงเวลาแบบว่าพอมันมีความฟุ้งซ่านต่างๆ พยายามมีสติสัมปชัญญะไว้ ท่านไม่ให้พูด เพราะพูดไปแล้วมันจะกระทบกระเทือนกันๆ นะ มันทำให้เรา หนึ่ง เสียเวลา แล้วพอมันอวด มันพูดออกไปแล้วมันจริง ไม่จริงอีกเรื่องหนึ่งนะ 

แล้วถ้ามันหนักหนาสาหัสสากรรจ์ ถ้าเอาตามทฤษฎีเอาตามตัวอักษรเลย อวดอุตริมนุสธรรม เพราะมันไม่มีธรรมในตน แต่มันอวดไป มันเป็นไหม มันเป็นปาราชิกโดยไม่รู้ตัวเลย มันเป็นเพราะมันพูดธรรมที่ไม่มีในตน แล้วประกาศออกไป นี่ครูบา-อาจารย์ท่านถึงบอกว่าไม่ต้องพูด ห้ามพูด

นี่พูดถึงวงกรรมฐาน เรื่องนี้วงกรรมฐานเขามีมาแต่ไหนแต่ไร ใครภาวนานิดๆ หน่อยๆ มันก็อยากจะโม้ อยากจะโม้ เพราะมันมหัศจรรย์ 

แต่เวลาครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติไปแล้วมันเหนือโลก มันเหนือกว่าโลกทั้งหมด ในโลกนี้ไม่มีใครรู้ จะกี่พันล้านไม่รู้เรื่องอย่างนี้ แล้วไอ้จิตดวงนี้ที่มันรู้มหัศจรรย์ขนาดไหน มหัศจรรย์เขาเก็บไว้ในใจ เพราะมันเหนือโลกจริงๆ มันมีสติ มหาสติ มหาสติมันจะรู้เท่ารู้ทัน มันเห็นแล้วมันสังเวชไง ถ้าเป็นความจริงจะเป็นอย่างนั้นนะ ถ้าครูบาอาจารย์ที่เป็นจริง เว้นไว้แต่ถ้ามันไม่เป็นจริงไง

ฉะนั้น สิ่งที่เขาบอกว่า สิ่งที่พยายามจะไม่ให้ฟุ้งแล้วรีบๆ ละ

รีบๆ ละ มันเป็นอุบายนะ ถ้ามันเป็นอุบาย มันเป็นอุบายที่เราจะฝึกหัดภาวนา แล้วถ้ามันภาวนาแล้วมันได้ประโยชน์กับเรา คำว่า ได้ประโยชน์” เราต้องเอาตรงนี้ไว้ก่อน คำว่า ได้ประโยชน์” นะ มันพัฒนาขึ้นไป จากปุถุชนคนหนา คนหนาคือว่าอะไรแตะไม่ได้เลย สะกิดไม่ได้ ล่อเขาอย่างเดียวเลย นี่ปุถุชน 

แต่พอมันมีสติปัญญาขึ้นมา กัลยาณปุถุชน กัลยาณชน เห็นไหม กัลยาณชนมันอยู่กับหมู่คณะได้ มันอยู่กับพรรคพวกได้ เขาจะมีอะไรก็เฮ้ยเขาไม่ได้ตั้งใจ เขาพูดโดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ มันทำให้จิตใจเราไม่ฟุ้ง ปุถุชน กัลยาณปุถุชน จิตมันจะพัฒนาขึ้นมา

ฉะนั้น ถ้ามีอะไรเป็นประโยชน์อย่างนี้รีบคว้าไว้เลย คว้าไว้เลย ทำอะไรก็ได้ขอให้จิตมันเป็นสมาธิ มันมีความสงบระงับ พอมันมีความสงบระงับมันพัฒนาขึ้นไปแล้ว เราย้อนกลับไปดู อ๋อเมื่อก่อนอะไรก็ไม่ได้เลย แตะไม่ได้เลย เดี๋ยวนี้ได้หมดเลย แล้วได้ไม่ใช่ได้แบบไม่รู้เรื่องไม่ประสีประสานะ มันไม่เป็นไรเลย มันได้ทุกอย่างเพราะว่ามีสติ เพราะมีปัญญา มีสติปัญญา

อ้าวนั่นมันเรื่องของเขา ไอ้นั่นมันก็คนพาล คนพาลมันก็ต้องแสดงออกอย่างนั้น แล้วเราจะเป็นคนพาลไปกับเขาไหม ถ้าเราเป็นคนพาลมันก็กระทบกัน ถ้าเขาเป็นคนพาล เราเป็นบัณฑิต แน่ะ มันมีสติ เขาเป็นคนพาล เขาก็ต้องแสดงออกอย่างนั้น

เราเป็นบัณฑิต เราเป็นบัณฑิตนี่กัลยาณปุถุชน เห็นไหม มันก็ไม่แผดเผาเรา มันไม่แผดเผาเรา มันจะทำสมาธิได้ดีขึ้น แล้วถ้าสมาธิดีขึ้นเราเอาตัวรอดได้แล้ว เราเอาตัวรอดจากปุถุชน จากพวกคนพาลมาเป็นบัณฑิต พอเป็นบัณฑิตแล้ว เราจะพัฒนาจากบัณฑิตขึ้นไปเป็นโสดาปัตติมรรค จะเข้าสู่บุคคล ๔ คู่ จะเข้าสู่มรรค เราพัฒนาของเรา ถ้ามันมีประโยชน์เราพัฒนาได้

ฉะนั้น “สิ่งที่เรารีบละ รีบอะไร” 

ถ้ามันเป็นประโยชน์นะ ทำอะไรก็ได้ เขาเรียกว่าอุบาย ปัจจุบันธรรม อุบายที่เราจะทำอย่างไรก็ได้ เหมือนคนไปอยู่กลางทะเลทราย คนเดินเรือไปอยู่กลางทะเลแล้วเกิดมรสุม ทำอย่างไรก็ได้เอาชีวิตรอดกลับมา ทำอย่างไรก็ได้เอาชีวิตรอดกลับมา 

นี่ก็เหมือนกัน เราทำอะไรก็ได้ขอให้จิตมันสงบ ขอให้มีหลักมีเกณฑ์ ทำอะไรก็ได้ แต่มันไม่ผิดศีลผิดธรรม มันไม่ผิดนะ เราทำอะไรก็ได้ อุบายวิธีการ ทำอะไรก็ได้ 

นี่ไง ขั้นของสมาธิคือน้ำล้นแก้ว ขั้นของปัญญาไม่มีขอบเขตเลย อุบายวิธีการ กลศึก ระหว่างกิเลสกับธรรมมันรบกัน กิเลสมันตั้งป้อมอยู่แล้ว ธรรมะมันกองทัพธรรมของเราจะเข้าไปทำลายป้อมค่ายของกิเลสในใจของเรา กลศึก กลศึกที่มันจะใช้อุบายวิธีการเข้าไปทำลายป้อมค่าย

ป้อมค่ายคือกิเลสอวิชชาที่มันเกิดกับจิต อวิชชามันเกิดกับเรา มันพาจิตดวงนี้เวียนว่ายตายเกิด แล้วเรายกกองทัพธรรม ศีล สมาธิ ปัญญาจะเข้าไปรบต่อกรกับมัน เวลาศึกสงครามให้มีสติมีปัญญาเถอะ ทำอะไรก็ได้ แต่ทำได้แล้ว เห็นไหม รู้แล้วทำ ทำเพื่อประโยชน์ ไม่ใช่รู้แล้วหลง

เขาถามว่า ที่เขาทำอยู่นี่มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิหรือไม่ ถ้าบอกว่าไม่ใช่ปัญญาอบรมสมาธิก็เป็นวิปัสสนาใช่ไหม

วิปัสสนามันยังไม่ถึงขั้นนั้น เพราะว่าตอนนี้เราเป็นปัญญาอบรมสมาธิก่อน ปัญญาอบรมสมาธิต้องการความสงบระงับเข้ามา ถ้าจิตสงบระงับแล้วถ้าไปเห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง นั่นน่ะป้อมค่ายของมัน กองทัพธรรมกับกองทัพกิเลสได้ประหัตประหารกันกลางหัวใจของเรา ชัยภูมิของการปฏิบัติ ภวาสวะ ภพ ในแดนที่กลางหัวใจนั่น ภวาสวะ สมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน แล้วกองทัพธรรมเข้าไปสัมปยุตกับกองทัพกิเลสในใจ มันจะเห็นอย่างนั้นเลย

พูดแล้วอย่างกับหนังจีน เราเคยพูด คนเขียนมาถาม บอกว่าเวลาวิปัสสนามันสนุกกว่าเล่นเกมอีก เกมเอ็งน่ะสู้ปัญญากูหมุนไม่ได้ เขาเขียนมาถามว่า หลวงพ่อเป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือ เพราะเขาเล่นเกมเขาเล่นได้ใช่ไหม เด็กมันเล่นเกมมันได้เล่นไง แต่เขาไม่เคยวิปัสสนา เขาไม่เคยเห็นกองทัพธรรมกับกองทัพกิเลสต่อกรกันบนหัวใจของสัตว์โลก เขาไม่เคยเห็น คนไม่เคยเห็นคือภาวนาไม่เป็น

คนที่จะภาวนาเป็นต้องเห็นอย่างนี้ เห็นระหว่างกองทัพกิเลสกับกองทัพธรรมสัมปยุตกันกลางหัวใจ สงครามธาตุขันธ์ สงครามการละภพละชาติ เพราะมันเป็นอย่างนั้น ครูบาอาจารย์ของเราท่านถึงปฏิบัติมีรสมีชาติ พระกรรมฐานสมัยก่อนนั้นปฏิบัติมีรสมีชาติอยู่ในป่าในเขา สะพายกลด สะพายบาตร แล้วปะทะกัน บิณฑบาตฉันแล้วประพฤติปฏิบัติให้กองทัพกิเลสกองทัพธรรมมันประหัตประหารกันกลางหัวใจ โอ้โฮมันซัดกันทั้งวัน ทั้งวัน ๗ วัน ๗ คืน สู้กันอยู่อย่างนั้น

ไอ้เราเดินจงกรม หลวงตาบอกไอ้คนมันก็จะตาย ไอ้เราไม่ได้ฉันมาหลายวันมันก็เพลีย มันก็ทุกข์มันยาก ไอ้สงครามกิเลสสงครามธาตุขันธ์มันปะทะกันกลางหัวใจ อู้ฮูยมันอยู่อย่างนั้น นี่คือคุณสมบัติของครูบาอาจารย์ของเรา ครูบาอาจารย์คือพระป่าท่านปฏิบัติกันมาอย่างนี้ มันเป็นสมบัติจริงๆ 

แต่ของเรานะ เราทำของเรา ถ้าเป็นประโยชน์กับเรา ทำ เป็นประโยชน์ไปเรื่อยๆ ถ้าหลวงพ่อพูดอย่างนี้ แสดงว่าผมก็จะมีกองทัพกิเลสกองทัพธรรมสู้กันใช่ไหม ถ้ามีผมก็จะมีความภูมิใจ ผมก็จะปฏิบัติเนาะ ปฏิบัติไปเพื่อเป็นศาสนทายาท เพื่อเป็นชาวพุทธไง ให้ศาสนานี้มีมรรคมีผล 

ศาสนาเรามีมรรคมีผลนะ เว้นไว้แต่พวกเราอ่อนแอ พวกเราอ่อนแอ ไม่มีกำลัง ไม่มีความสามารถพอ เราก็ไม่มีคุณธรรมในใจไง 

ถ้าเราเข้มแข็ง เราประพฤติปฏิบัติ ระหว่างกองทัพกิเลสกับกองทัพธรรม ป้อมค่ายในใจมันทลายศิโรราบนะ เราจะมีความชุ่มชื่น เราจะมีความสุข เราจะมีคุณธรรมในใจ แล้วมันจะเป็นศาสนทายาท เป็นทายาทโดยธรรมขององค์สมเด็จพระ-สัมมาสัมพุทธเจ้า เอวัง