เทศน์พระ

ขี้หอม

๒๓ มี.ค. ๒๕๕๙

 

ขี้หอม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์พระ วันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๙
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรมนะ ฟังธรรมะ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส เราบวชเป็นพระ เราเป็นศากยบุตร เป็นบุตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เวลาออกประพฤติปฏิบัติตรัสรู้ธรรมเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่เห็นไหม ในวันวิสาขบูชา เพราะประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มีคุณธรรมในความจริงในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดมาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เป็นพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์เวลาออกประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เป็นสัจจะความจริงขึ้นมาแล้วถึงจะเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานในวันเพ็ญเดือน ๖ เหมือนกัน มันเป็นความมหัศจรรย์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง

นี่ก็เหมือนกัน ฟังธรรมๆ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เรามีศรัทธามีความเชื่อไง เราถึงได้สละทางโลก เรามาบวชเป็นพระ พอบวชเป็นพระขึ้นมานี่ เป็นสมมุติสงฆ์ ศากยบุตรพุทธชิโนรส บวชโดยเป็นบุตรของชาวศากยะ นี่บวชมานี่บวชมาจากธรรมวินัย เราเป็นสมมุติสงฆ์ๆ เพราะว่าเรายังไม่มีความจริงในหัวใจของเรา

ฟังธรรมๆ นี่ตอกย้ำ ตอกย้ำความจริงในใจของเรา ถ้าความจริงในใจของเรา เห็นไหม ถ้าความจริงในใจของเรามันเป็นสัจจะความจริงขึ้นมา ถ้าเป็นสัจจะความจริงขึ้นมานี่ มโนปุพฺพงฺคมา มโนธมฺมา นี่ใจเป็นใหญ่ใจเป็นประธานไง ถ้าใจของคนที่มีคุณธรรมในหัวใจนะ มันมีความเมตตา ดูสิ ในความรักของโลก ที่ไหนมีความรักที่นั่นมีความทุกข์ เพราะมีความรักมีความหวงแหน มันถึงมีการแย่งชิงกันไง

แต่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านมีเมตตา เมตตาล้นโลก ถ้าเมตตาล้นโลก เห็นไหม ความเมตตาของท่าน ท่านไม่ได้รักใครไม่ได้เกลียดใครเป็นการส่วนตัว แต่ความเมตตาของท่าน ท่านจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ให้หัวใจของสัตว์โลกพ้นจากอวิชชา พ้นจากพญามาร พ้นจากการครอบงำของมารนะ

มารมันครอบงำหัวใจอย่างนั้นอยู่ แล้วมารมันครอบงำหัวใจของเรา เห็นไหม เราบวชเป็นพระ บวชมามันก็บวชมาเป็นพิธีกรรม นี่มารมันปล่อยให้เป็นอิสระไหม มารมันยิ่งเข้าไปส่งเสริมไง ทิฏฐิพระ เวลาพระมีทิฏฐิมานะนี่จดขอบฟ้า ทิฏฐิพระมานะกษัตริย์ไง แล้วถ้ามันมีทิฏฐิมานะขึ้นมา เห็นไหม เพราะอะไร เพราะเป็นศากยบุตร แต่หัวใจเป็นธรรมหรือเปล่าล่ะ

ถ้าเป็นศากยบุตร เป็นศากยบุตรบุตรเพราะการบวช บุตรเพราะเป็นสมมุติสงฆ์ แต่เวลาเราจะมาประพฤติปฏิบัติตามความจริงของเรานี่ไง ถ้าเราจะมาประพฤติปฏิบัติตามความจริงของเราขึ้นมา มันต้องมีศีล มีสมาธิ มีปัญญาขึ้นมา ถ้ามันมีศีลขึ้นมา ศีลก็เป็นความปกติของใจ

ถ้ามันมีศีลขึ้นมา เห็นไหม หมู่คณะอยู่ด้วยกัน มันจะรู้ด้วยกันว่าใครมีศีลใครไม่มีศีล ตอนอยู่ด้วยกันนี่ การอยู่ด้วยกันการใกล้ชิดกัน มันเห็นขี้เห็นเยี่ยวหมด ไส้กี่ขดมันก็เห็น ถ้ามันเห็นขึ้นมาแล้วอย่างนั้น นี่ศีลเสมอกัน มันถึงจะอบอุ่นหัวใจไง แต่ถ้าศีลไม่เสมอกัน มันก็มีความรังเกียจต่อกัน เดี๋ยวเขาจะมีมารยาทหรือไม่มีมารยาทของเขา ถ้าเขามีมารยาทของเขา เขาก็เก็บไว้ในใจของเขา แต่เขาก็มีความรังเกียจในใจของเขา แต่ถ้าเขาไม่มีมารยาท เขาก็โพนทะนาเลย

นี่ไง ถ้าศีลมันไม่เท่ากัน ถ้าอยู่ด้วยกันศีลเขาจะรู้ด้วยกัน ถ้าเป็นสมาธิ สมาธิแล้วจิตมันสงบขึ้นมานี่ เขามีความสงบของเขา ถ้ามีความสงบของเขา เขาอยู่ในที่สงัดในที่วิเวกของเขา คนที่อยู่กับความสงบ มันเข้ากับความสงัดความวิเวกอันนั้น แต่ถ้าจิตเขาไม่สงบมันฟุ้งซ่าน มันฟุ้งซ่านนะ โลกมันร้อน อยู่ในกุฏิก็ร้อน อยู่บนปราสาท ๗ ชั้นก็ร้อน อยู่บนก้อนเมฆก็ร้อน ถ้ามันจะร้อน แต่ถ้ามันจะเย็นมันจะมีความร่มเย็นเป็นสุขของหัวใจ ถ้าหัวใจมีความสุข

นี่ไง ถ้าคนมีคุณธรรมเขามองกันที่นั่น ถ้าเขามองกันที่นั่น ถ้าเกิดมีปัญญาขึ้นมานี่ ถ้ามีปัญญาขึ้นมานี่เขาพูดเป็นกาลเทศะ คนที่เขามีปัญญานะ กาลเทศะกับเด็กน้อยๆ เด็กเห็นไหม มาวัดมาวานี่มันจะไปรู้อะไรเด็ก เด็ก เห็นไหม มาถึงก็ชื่นชม เด็กมันก็มีความยิ้มแย้มแจ่มใสแล้ว ถ้าผู้ใหญ่เข้ามานะ ผู้ใหญ่เข้ามาด้วยความทุกข์ความยากในทางเศรษฐกิจของเขา เขาอมทุกข์ของเขามา แต่ถ้าคนมันทุกข์ร้อนทุกหัวใจมา เห็นไหม ทุกอย่างก็พร้อมเพียงทางโลกแล้วนี่ เขามาวัดมาวานี่เขาต้องการธรรมะ เขาต้องการสัจธรรมนะ

สัจธรรมนี่ธรรมโอสถ ดับไฟในหัวใจให้ที ไฟในหัวใจนี่ดับให้ที ดับให้ที มันเร่าร้อน ไฟทางโลกเขา เขาใช้รถดับเพลิงดับ นี่ไฟในใจตัณหาความทะยานอยากเขาใช้อะไรไปดับล่ะ มันก็ธรรมโอสถนี่ไปดับ ถ้าคนที่เขามีคุณธรรมขึ้นมาแล้ว เขามานี่เขามาดูข้อวัตร คนมีคุณธรรมขึ้นมา เห็นไหม สัจธรรมกับสัจธรรมมันเข้ากันไง ถ้าเขาไปวัดไปวานี่เขาไปดูข้อวัตรปฏิบัติ เวลาหลวงตาท่านมาตรวจวัด เห็นไหม เข้าห้องส้วมก่อนเลย ห้องส้วมเสร็จแล้วให้เปิดกุฏิเลย ในกุฏิมีอะไรสะสมไว้บ้าง นี่ท่านมองอย่างนั้น ถ้าคนที่เขามีคุณธรรม เขามานี่เขามาดูวัตรปฏิบัติของเรา

นี่ไง เวลาถ้าคนมีปัญญาๆ เราจะใช้ปัญญาอย่างไงกับบริษัท ๔ บริษัท ๔ เขาเข้ามาวัดมาวานี่เขามาเพื่ออะไร? เขามาทำไม เห็นไหม เวลาสร้างวัดสร้างวาขึ้นมา ขอให้สงฆ์จตุรทิศผู้ที่ยังไม่เคยมาขอให้ได้มาเถิด ผู้ที่มาอยู่แล้วขอให้อยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ผู้ที่มาแล้วขอให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข ถ้าอยู่ร่มเย็นเป็นสุขมันจะร่มเย็นเป็นสุขได้อย่างไร ถ้าร่มเย็นเป็นสุขมันก็เสมอกันไง เราบวชมานี่ก็บวชมาจากอุปัชฌาย์เหมือนกัน บวชมาจากธรรมวินัยเหมือนกัน ใครไปบวชมาจากกระบอกไม้ไผ่ มันก็บวชมาจากอุปัชฌาย์เหมือนกันทั้งนั้น แล้วอุปัชฌาย์บวชเข้ามา นี่ยกเข้าหมู่ๆ ยกสงฆ์เข้าหมู่

ทีนี้ยกสงฆ์เข้าหมู่ เห็นไหม มันบวชมาเท่ากัน บวชมาเสมอกัน ถ้าบวชมาเท่ากันมันเสมอกัน สิ่งที่เขาจะเคารพศรัทธามันอยู่ที่คุณธรรมในใจของเรา ถ้ามันอยู่ที่คุณธรรมในใจของเรา เห็นไหม ดูสิ เวลาขี้คนอื่นน่ะเหม็น ขี้ของกูนี่หอม กูนี่ขี้หอม ใครๆ ต้องยอมจำนนกับขี้กูนะ แล้วใครยอมรับ! ขี้มันก็คือขี้ ขี้มันเหม็นทั้งนั้น ไม่มีขี้ใครหอมหรอก เพราะอาหารมันสะสมในสำไส้มันถ่ายออกมามันก็เหม็นทั้งนั้น ถ้าขี้มันเหม็น เห็นไหม ขี้ของคนอื่นน่ะมันเหม็น แต่ขี้ของกูน่ะหอม แล้วใครจะมาอยู่ต้องยอมจำนนกูหมด มันเป็นไปไม่ได้ มันไม่มีอยู่จริง

ถ้ามันมีอยู่จริง เห็นไหม ถ้าเขามีคุณธรรมๆ เขาก็ยอมรับกันที่คุณธรรม เขายอมรับด้วยน้ำใจ ถ้าเรามีน้ำใจต่อกันๆ สิ่งที่ความเป็นอยู่ หลวงตาท่านเล่าให้ฟังประจำนะ เวลาอยู่กับหลวงปู่มั่น เวลาอุปัฏฐากอุปถัมภ์หลวงปู่มั่นนะ อู้ฮู้ ท่านรักนะ เพราะว่าหลวงปู่มั่นเวลาท่านประพฤติปฏิบัติของท่าน ดูสิ อยู่ในป่าในเขานะ สิ่งที่ว่าเพื่อนตายๆ เห็นไหม มหาทองสุกๆ นะ อยู่เชียงใหม่ไฟป่ามันมานี่ ผู้เฒ่า ผู้เฒ่านี่จะหนีไฟๆ หนีแทบไม่รอด มหาทองสุกออกวิเวกด้วยกัน มหาทองสุกนะเอาบริขาร ๒ ชุด ท่านเป็นคนแบกหามไป แล้วยังจูงหลวงปู่มั่นหนีไฟๆ

นี่ไง เวลาเพื่อนตายๆ เห็นไหม มันมีวิกฤติขึ้นมานี่พากันเอาชีวิตรอด หลวงปู่มั่นในหัวใจของท่านนะเหนือโลก ในหัวใจของท่านนะสูงส่ง นี่เทวดา อินทร์ พรหม ยังฟังเทศน์ท่านเลย แต่เวลาอยู่กับโลกแห่งความเป็นจริง โลกความเป็นจริงเพราะคนเรามีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ เวลาธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ นี่ เวลาธาตุ ๔ เห็นไหม มันก็ต้องการปัจจัยเครื่องอาศัย นี่ไง ปัจจัย ๔ เครื่องอาศัยบำรุงชีวิต สิ่งที่ร่างกายมันก็ต้องการอย่างนั้น แต่หัวใจมันคนละชั้นเลย หัวใจมันผ่องแผ้วไง แล้วเวลาหลวงตาท่านอุปัฏฐากหลวงปู่มั่นอยู่ ท่านบอกว่า “เหมือนพ่อกับลูก”

หลวงปู่มั่นท่านเล็งญาณไว้แล้วนะ ท่านบอกเลยนะ “มันจะมีพระรูปร่างเหมือนท่านเจี๊ยะ แต่ไม่ใช่ท่านเจี๊ยะ จะดีทั้งทางโลกและทางธรรม” เวลาใครไปใครมาหลวงปู่เจี๊ยะจะถามประจำ หลวงปู่เจี๊ยะให้ทางไปตลอด พระองค์ไหนมา

“ใช่องค์นี้ไหม”

“ไม่ใช่”

“ใช่องค์นี้ไหม”

“ไม่ใช่”

เวลาหลวงตาเข้ามานี่ “ใช่องค์นี้ไหม” ไม่พูดเลย เงียบ ไม่พูดเลย เวลาอยู่ด้วยกันเหมือนพ่อกับลูก เพราะมันหวังพึ่งกันไง หลวงปู่มั่นดูสิร่างกายของท่านนะ

ดูสิ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมีพระอานนท์เป็นผู้อุปัฏฐากอุปถัมภ์ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พระอานนท์คร่ำครวญแล้วคร่ำครวญอีก ทั้งๆ ที่ท่านเป็นพระโสดาบัน เรายังมีกิเลสในหัวใจ เราต้องการคนที่ชี้นำช่องทางให้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็จะปรินิพพานไปแล้ว ไปนั่งคร่ำครวญร้องไห้อยู่ที่กลอนประตูนั้น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหลียวหาไม่เจอนะ ถาม “ภิกษุทั้งหลาย อานนท์ไปไหน”

“อานนท์ไปเกาะกลอนประตูร้องไห้อยู่นู่น”

“ไปตามอานนท์มา ไปตามอานนท์มา”

“อานนท์ เราบอกเธอแล้วไม่ใช่หรือ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นต้องดับเป็นธรรมดา แม้แต่ตถาคตก็ต้องนิพพานไปคืนนี้ เธออย่าเสียใจไปเลยๆ เธอได้ทำอุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยบุญกุศลด้วยอำนาจวาสนาบารมีขนาดนั้น นี่อีก ๓ เดือนข้างหน้าเขาจะมีการสังคายนา เธอจะได้เป็นพระอรหันต์ในวันนั้น”

นี่ไง เวลาเป็นพระโสดาบันอยู่มันคร่ำครวญ อยากเป็นพระอรหันต์ อยากจะสิ้นกิเลสไปแล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพานไป

หลวงตาท่านอุปัฏฐากหลวงปู่มั่นอยู่ ท่านพยายามขวนขวายของท่านอยู่นะ หลวงปู่มั่นก็เป็นวัณโรค หลวงปู่มั่นก็กำลังจะทิ้งธาตุขันธ์ ท่านเองท่านก็ค้นคว้าของท่าน พยายามทำของท่าน ท่านบอกอยู่กับหลวงปู่มั่นนะ เวลาอยู่ด้วยกันเหมือนพ่อกับลูก หลวงปู่มั่นเมตตาหลวงตามาก เมตตามากๆ เพราะเด็กคนนี้มีความจริงใจ เด็กคนนี้มีความมุมานะ เด็กคนนี้มีอำนาจวาสนา เด็กคนนี้มีความตั้งใจ พยายามจะถ่ายทอดทั้งหมดเลย มีอะไรป้อนให้ทั้งนั้นเลย เวลาคุยกันเป็นส่วนตัว โอ้โฮ เหมือนพ่อกับลูก แต่พอหันมาคุยธรรมะนี่เปรี้ยง หงายท้องเลย

นี่ไง! ขี้มันเหม็นทั้งนั้น ไม่มีขี้ใครหอมหรอก กิเลสในหัวใจของคนนะมันขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลง มันยิ่งน่าเกลียด กิเลสในหัวใจในความขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลง ไอ้ขี้หลงนะ หลงว่าขี้กูหอมนี่ แล้วใครก็ต้องยอมจำนนกับขี้กูนี่ จะทำอะไรก็ทำแต่ความพอใจของตน ทำอะไรก็จะเหยียบย่ำเขาไปหมด ใครมันจะยอมรับ มันเป็นไปไม่ได้! ขี้มันเหม็นทั้งนั้น

แต่ถ้ากลิ่นของศีลกลิ่นของธรรมมันหอมทวนลม เห็นไหม ถ้ามันหอมทวนลม มันหอมมันอย่างนั้น มันจะเป็นประโยชน์ไง ถ้ามันเป็นประโยชน์ๆ นี่ทุกคนก็แสวงหาอย่างนี้ เราก็เร่าร้อนกันทั้งนั้น หัวใจมันมีใครมีความสุข หัวใจถ้ามีกิเลสมีตัณหาความทะยานอยากมีอวิชชาในหัวใจ หัวใจดวงไหนมันมีความสุขบ้าง หัวใจดวงไหนมันก็มีแต่ความทุกข์ความยากทั้งนั้น

แล้วที่บวชมาบวชมาทำไม บวชมาก็บวชมาจะประพฤติปฏิบัติ บวชมาเพื่อจะถอดจะถอนมัน บวชมาเพื่อจะชำระล้างมัน ถ้าชำระล้างมันมันเหม็นนะ ทำไมไม่สละทิ้งมันไป ของมันเหม็นของมันไม่ดี ของไม่ดีใครเอาไว้ทำไม ไปตลาดไปซื้อของเลือกแต่ของสวยๆ ทั้งนั้น ของขี้เหร่ของไม่ดีไม่มีใครเอาเลย ถ้าไม่เอาแม่ค้าบอกลดราคา ซื้อ ๑ แถม ๒ โอ้ย อย่างนี้เอา อยากได้ของเยอะๆ อยากได้ของมากๆ ไอ้ขี้ร้ายขี้เหร่อะไรก็เอาทั้งนั้น แต่โดยความเป็นจริงเรามีสิทธิเราไปซื้อของในตลาด เราก็ต้องคัดเลือกของเราดีๆ ทั้งนั้นนะ ใครก็อยากได้ของดีๆ ทั้งนั้น

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เราบวชมาเราก็อยากได้ความดีทั้งนั้น ถ้าอยากได้ความดี มันก็ต้องความดีจากเราก่อนสิ ถ้าความดีจากเรา เห็นไหม เราไม่มีน้ำใจให้ใครเลย เราไม่เคยมีน้ำใจให้ใครเลย แล้วจะให้คนอื่นมีน้ำใจกับเรามันเป็นไปได้อย่างไร องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธจ้า ดูสิ เป็นผู้ให้ทั้งนั้น นี่เขาเป็นผู้ให้ ให้มาขนาดไหน เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธจ้านะ เวลาไปที่ไหนมีแต่คนนับหน้าถือตา เขาบอกว่าเพราะเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “ไม่ใช่ เราทำมาทั้งนั้น เราเป็นผู้เสียสละมาทั้งนั้น”

เวลาเป็นกระต่าย นายพรานเขาหลงป่านี่ เขากำลังหิวเลย เขาโดดเข้ากองไฟสละชีวิตให้นายพรานหลงป่านั้นได้ประทังชีวิตไปจากเนื้อของท่านนะ เสียสละมาขนาดนั้น ท่านเสียสละมาตลอด เพราะท่านเสียสละของท่านมาท่านถึงได้สิ่งที่ท่านทำมา มันไม่ใช่ว่าเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วจะเป็นอย่างนั้นหรอก เพราะกว่าจะได้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันต้องอำนาจวาสนาบารมีใช่ไหม มันต้องสร้างมาใช่ไหม

พระโพธิสัตว์ ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขยนี่ ใครเป็นคนทำมา จิตดวงนี้มันทำมา ขณะที่เป็นอดีตชาตินะ ท่านทำของท่านมา เพราะท่านทำของท่านมา ด้วยอำนาจวาสนาบารมีขนาดนั้น เวลามาเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ “เราจะเกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย” ขนาดชาติสุดท้ายนะ เวลาออกประพฤติปฏิบัติอยู่ ๖ ปีนะ นั่นนะมันต้องพิสูจน์ไง สิ่งที่ในโลกนี้เขามีมันถูกต้องดีงามหรือเปล่า สิ่งที่ในโลกนี้มีมันก็เป็นสมบัติประจำโลกไง แต่ธรรมะมันเหนือโลก แล้วมันเหนือโลกมันอยู่ที่ไหน

นี่ธรรมะมีอยู่โดยดั้งเดิม คือสัจธรรมมันมีของมันอยู่ แต่ไม่มีจิตใจดวงใดมีอำนาจวาสนาบารมีพอที่จะไปค้นคว้าสิ่งนั้นมาสถิตในหัวใจ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ มา เห็นไหม ขี้โม้ทั้งนั้น ไม่มีความจริงซักนิดหนึ่ง แต่ด้วยวุฒิภาวะของสังคมมันอ่อนแอก็เชื่อถือกันไป เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยวุฒิภาวะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษากับเขา ไม่ใช่ทางๆ ไม่ใช่ๆ ไม่ใช่ก็วางไว้ ไม่ใช่บอกไม่ใช่

เวลาคนอื่นบอกไม่ใช่ แต่ตัวเองเอามาสอนคนอื่นนี่อย่างนี้ว่าใช่ ของมันไม่ใช่ เราก็รู้ว่าไม่ใช่ แต่เพราะอะไร เพราะขี้เราหอมไง พอขี้เราหอมมันไม่มีอะไรจะเอาเสนอเขาก็ไปหยิบฉวยมาว่าสิ่งนี้เป็นธรรมๆ ทั้งๆ ที่เราก็รู้อยู่ว่ามันไม่ใช่ เราไม่รู้หรือไง เราก็รู้ เวลาเราไปเรียนมานี่เราก็ไม่เชื่อ แล้วเวลาอย่างนี้ไปสอนเขา เอาอย่างนี้ไปสอนเขาได้อย่างไร ถ้าเราไปเรียนมามันก็ไม่เชื่ออยู่แล้ว แล้วที่ความจริงมันอยู่ไหน

เวลาศึกษามาศึกษามาจากพระไตรปิฎก พระไตรปิฎกเวลาเขาโต้แย้งกัน เห็นไหม พระไตรปิฎกที่ทำสังคายนากันมามันก็ยังไม่สมบูรณ์ ไม่สมบูรณ์เพราะอะไร เพราะผู้แปลนะมันเป็นคณะ ความรู้ความเห็นของใครมันก็แตกต่างกัน เวลาแตกต่างกันไปรวบรวมมาเป็นภาษาไทย เพื่อจะให้กุลบุตรของชาวไทยได้ศึกษา ศึกษามานะศึกษามาก็แล้วแต่มุมมองที่จะมาโต้แย้งกัน มันยังไม่สรุปลงว่าชัดเจนอย่างไร แต่นั่นมันเป็นแนวทางไง ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ เป็นศาสดาๆ นะ เราศึกษามาเป็นแนวทาง ปริยัติศึกษามาเพื่อปฏิบัติ เวลาปฏิบัตินี่ไง เราบวชมาแล้ว บวชมาแล้วขี้เหม็นทั้งนั้น

เกิดเป็นคน เทวดาเวลาเขามานี่ ดูสิ เวลาเทวดามาฟังเทศน์หลวงปู่มั่น เทวดามาฟังเทศน์ครูบาอาจารย์ของเรา เทวดาเขาไม่เข้ามาใกล้ปุถุชนเลย มันเหม็น เขาเหม็นของเขานะ ดูสิเราเข้าไปที่ฝูงสัตว์ ฝูงสัตว์ที่มันไม่ได้ทำความสะอาด เหม็นไหม ในฝูงสัตว์นะเหม็นไหม ในฝูงสัตว์นะเหม็นทั้งนั้น กลิ่นคาวนี่กลิ่นเหม็นไปหมด นี่เทวดาเขาจะเข้ามาใกล้ไหม แต่ทำไมเขา มาฟังเทศน์หลวงปู่มั่นล่ะ ทำไมเขามาฟังเทศน์ครูบาอาจารย์ของเราล่ะ เพราะครูบาอาจารย์ของเรามันสะอาดบริสุทธิ์มาจากภายในหัวใจ นี่ไงแล้วความหอม กลิ่นหอมของศีลของธรรม กลิ่นศีลกลิ่นธรรมมันหอมขจรขจายไป ๓ โลกธาตุ

แต่กลิ่นของเรามันขี้มันเหม็น แล้วทิฏฐิมานะว่าขี้กูหอม แล้วจะยอมบังคับให้ทุกคนมายอมจำนนกับขี้กูนี่ ขี้มันเหม็นทั้งนั้น แล้วถ้าขี้มันเหม็นแล้วนี่ เรามีสติมีปัญญาของเรา เรารักษาของเรา แล้วรักษาหัวใจของเรา ถ้ารักษาหัวใจของเรานี่ เรามาพิจารณาของมัน ทำไมมันเร่าร้อนอย่างนี้ ทำไมหัวใจนี่มันดื้อด้านขนาดนี้ ทำไมหัวใจนี่มันเที่ยวจะไปเหยียบย่ำ มันเหยียบย่ำตัวเองนี่ เหยียบย่ำตัวเองด้วยมีสติปัญญา ถ้ามีปัญญาอบรมสมาธิมันเห็นข้อบกพร่องของตนเลย มันเห็นข้อบกพร่องของตน

ความคิดอย่างนี้เราเองยังรังเกียจเลย เราเองนะ ความคิดเรามันยังลากเราไปทุกข์เลย ไอ้ที่บ้าบอคอแตกอยู่นี่ใครเป็นคนทำ ก็กิเลสเอ็ง กิเลสตัวเองนี่ทำ ใครเป็นคนทำ ความคิดของใคร ใครทำร้ายเรา เวลาโมโหคน โอ้โฮ ทั้งโลกเลยนะ เขาเพ่งโทษเราคนเดียวนะ เรานี่ขี้หอมแล้วโลกเขาไม่เชื่อ โลกเขาไม่เชื่อว่าเราขี้หอม เขาเพ่งโทษเราคนเดียวเลย โอ๊ย เขาจับผิดเราตลอดเลย แล้วมันมีอยู่จริงไหม มันไม่มีอยู่จริงหรอก เพราะมันเกิดทิฏฐิมานะไปเองไง

แต่ถ้าเรามีสติมีปัญญานะ ต้องยอมรับความจริง ขี้เหม็น ขี้ใครก็เหม็น มันเป็นของเสีย ขับของเสียทิ้งออกมาจากร่างกาย ร่างกายนี่เห็นไหมมันมีของเสียของมัน แต่ด้วยอวัยวะ ด้วยคุณสมบัติของมัน มันขับของเสียออกแล้วมันก็ต้องการของใหม่เข้าไปเพื่อดำรงธาตุขันธ์ เพื่อดำรงชีวิต มันเป็นธรรมชาติของมันไง เราเกิดเป็นมนุษย์ไง มนุษย์มีกายกับใจ กายกับใจ ร่างกายนี่เป็นความมหัศจรรย์เลย เห็นไหม เป็นความมหัศจรรย์เรื่องโครงสร้างของร่างกายนี่ มันมหัศจรรย์ของมัน

ดูสิ ตั้งแต่เกิดมา ตั้งแต่น้ำมันใสน้ำมันข้น มันเกิดเป็นตัวอ่อน เกิดเป็นแขนเป็นขาขึ้นมา เกิดมาอยู่ในครรภ์ ๙ เดือนแล้วคลอดออกมา เวลาคลอดออกมานี่ คลอดออกมาเป็นเราๆ แล้วเป็นเรานี่มันเป็นความมหัศจรรย์ของมันอยู่แล้ว เรื่องธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ มันเป็นความมหัศจรรย์ของมัน

มันมหัศจรรย์อย่างไง เราเกิดมาเราได้โอกาส ได้โอกาสเกิดมาเป็นมนุษย์ แล้วเกิดมา พบพระพุทธศาสนา นี่เราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา เราเห็นภัยในวัฏสงสารไง ในภัยวัฏสงสารมันมีแต่การแข่งขัน มันมีแต่การแย่งชิง มีแต่การเบียดเบียนกันไง นี่ถ้าเบียดเบียนกัน สิ่งนี้มันโอกาสที่จะประพฤติปฏิบัติ เพราะสิ่งนั้นเราต้องรับภาระ ๒ ด้าน ด้านหนึ่งคือด้านของโลกคือการแสวงหา อีกด้านหนึ่งคือเราเห็นภัยในวัฏสงสาร ด้านของการประพฤติปฏิบัติด้านของธรรม

ฉะนั้นเราเสียสละซะ เราเสียสละทางโลกเรามาบวชเป็นพระ บวชเป็นพระ เป็นนักรบ เวลานักรบมันรบกับใคร รบกับความคิดนี่ นักรบ เห็นไหม สงครามธาตุสงครามขันธ์ มันเกิดที่ไหน เกิดอยู่บนชัยภูมิบนหัวใจบนภวาสวะนี่ ถ้าใครมีสติมีปัญญา รื้อค้นมา เห็นสมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงานไง นี่สิ่งนี้จะสำรอกสังโยชน์ สำรอกกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ถ้ามันสำรอกมันคายของมันออกไป นี่หัวใจที่ได้ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เห็นไหม ที่เราแสวงหาทางโลกกับทางธรรม มันขัดแย้งกัน มันแข่งขันกัน แต่เวลาเราจะมาประพฤติปฏิบัติกัน สิ่งนั้นมันเป็นคุณธรรม ถ้าคุณธรรมศีล สมาธิ ปัญญา มันเป็นคุณธรรมมันเป็นสัจธรรม แต่สัจธรรมนี่มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร เกิดมาได้จากความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ ความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ

เราเกิดมาเป็นมนุษย์ บวชมาเป็นพระ เป็นพระก็มีสังฆะ วันนี้ลงอุโบสถ อุโบสถเพราะอะไร อุโบสถเพื่อความสะอาดบริสุทธิ์ของสังฆะ เพื่อความสะอาดบริสุทธิ์ของสังฆะเพื่อความเสมอภาคกันไง ถ้าด้วยความเสมอภาคกันความเสมอภาคที่ไหนล่ะ ความเสมอภาคทางโลกเขาวัดกันด้วยศีล สมาธิ ปัญญา นี่ด้วยศีลด้วยความปกติของใจ เห็นไหม ด้วยสมาธิ ด้วยความเห็นสัมมาทิฏฐิถูกต้องดีงาม

ดูสิ พระบวชมานี่ มรรคผลนิพพานไม่มี มันก็เป็นมิจฉาทิฏิฐิ ถ้ามิจฉาทิฏฐิแล้วเราจะมาลงอุโบสถสังฆกรรมด้วยกันนี่มันขัดแย้ง มันคัดค้านธรรมะ แล้วมันจะลงอุโบสถด้วยกันอย่างนี้ เห็นไหม พอความคิดความเห็นมันแตกต่างกัน นี่ทิฏฐิไม่เสมอกัน ทิฏฐิต่างกัน มันก็เลยเรื่องการยึดถือแตกต่างกัน พอการยึดถือแตกต่างกันมันก็เป็นนานาสังวาส นานาสังวาสห้ามร่วมกินร่วมนอน ห้ามร่วมอุโบสถสังฆกรรม ห้ามหมดเลย มันถึงแตกแยกออกไปเป็นความเชื่อไง พอความเชื่อก็แตกเป็นนิกาย แตกเป็นส่วนไป พอแตกเป็นส่วนไปนี่ แตกมาเป็นชั้นเป็นกลุ่มเป็นก้อนไป

นี่ไง เวลาลงอุโบสถ เห็นไหม ภิกษุเป็นคณะ ภิกษุเป็นวรรค ภิกษุเป็นวรรคเป็นตอน ภิกษุเป็นวรรคเป็นตอนคือเป็นกลุ่มเป็นก้อน ลงอุโบสถไม่ได้ ภิกษุต้องไม่เป็นวรรค ต้องมีความเห็นร่วมกัน ไม่เป็นวรรค ไม่เป็นตอน ไม่มีความเห็นแตกต่าง เชื่อในสัจธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นไปนี่ มรรคผลนิพพานรออยู่ข้างหน้า เรามีความจริงมากน้อยแค่ไหน ถ้ามีความจริงมากน้อยแค่ไหน เราจะทำความจริงของเรา ถ้าความจริงของเราขึ้นมานี่ นี่ไง เวลาสงฆ์ไม่เป็นวรรคไง ถ้าสงฆ์เป็นวรรคลงอุโบสถไม่ได้ ถ้าสงฆ์มีความเห็นด้วยกัน มีความเสมอกัน สงฆ์ถึงลงอุโบสถสามัคคีร่วมกัน

วันนี้ลงอุโบสถ ถ้ามาลงอุโบสถ เรามาลงอุโบสถกัน เห็นไหม เราก็ตรวจสอบขี้นี่ไง ขี้ใครหอม เอามาดมสิ ขี้ของใครหอม ขี้เหม็นทั้งนั้น ไม่มีขี้ใครหอมเลย ถ้าไม่มีขี้ใครหอมนะ แต่ถ้ามันจะหอม หอมที่คุณธรรม ดูสิ กลิ่นของศีลกลิ่นของธรรม เห็นไหม ดูสิ คุณธรรมของหลวงปู่มั่นนะ ขจรขจายไปไกลถึง ๓ โลกธาตุ เทวดา อินทร์ พรหม ยังมาฟังเทศน์ ถ้ามันความหอมหวน หอมหวนด้วยคุณธรรม ถ้าหอมด้วยคุณธรรม คุณธรรมมันเกิดมาจากไหน คุณธรรมมันเกิดมาจากไหน

เวลาเกิดมา เห็นไหม กลิ่นคาวของมนุษย์ เทวดา อินทร์ พรหมไม่อยากเข้าใกล้เลย แต่ทำไมหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นมีคุณธรรมขึ้นมา ทำไมเทวดาอยากเข้าใกล้ เข้ามาจนหลวงปู่มั่นรับไม่หวาดไม่ไหว ต้องให้หลวงปู่ชอบช่วยรับแขกๆ มาจนต้อนรับไม่หวาดไม่ไหว มันเหม็นตรงไหน มันหอมไหม เวลามันหอมมันหอมที่คุณธรรมอันนั้น

ถ้าคุณธรรมอันนั้นนะเราปฏิบัติมานี่ เราก็ต้องการสิ่งนั้น กิเลสตัณหาความทะยานอยากของเหม็นทั้งนั้นนะ ขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลง มันไม่ดีสักอย่างหนึ่ง แล้วไปยึดไปถือขึ้นมาด้วยความเห็นผิด ด้วยความเห็นผิด ด้วยความหลงของตนเองว่าฉันมีอำนาจ ฉันมีศักยภาพ ฉันจะทำ มันเป็นไปได้อย่างไร มันเป็นไปไม่ได้หรอก

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน เห็นไหม ดูสิ สุภัททะมาถามธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศาสนาไหนก็ว่าดี ศาสนาไหนก็ว่าเลอเลิศ เขาพูดกัน อู้ฮูย มันมีแต่ความดีงามไปหมดเลย มาถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากำลังจะปรินิพพาน คนกำลังจะตายนะ คนกำลังจะตาย “เธออย่าถามให้มากไปเลย เวลาเราไม่มี ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล”

ศาสนาไหนไม่มีมรรค ไม่มีการกระทำ ไม่มีศีล ไม่มีสมาธิ ไม่มีปัญญา ถ้าเขาไม่มีการกระทำ ไม่มีเหตุเลย ถ้าศาสนาเขาไม่มีเหตุไม่มีผลเลย นี่เขาจะเอามรรคผลมาจากไหน มรรคผลนี่นึกเอา จินตนาการเอา มีการรับรองการเอาอย่างนั้นเหรอ มันเป็นไปไม่ได้ ดูสิ นักศึกษาเวลาเรียนขึ้นมา เขายังสอบเลย สอบว่ามันมีความรู้พอไหม ถ้ามีความรู้พอถึงจะให้ผ่าน นี่การสอบเอาเชาวน์ปัญญาอย่างนั้นเขายังต้องสอบ แล้วนี่เราประพฤติปฏิบัติขึ้นไป ศาสนาไหนไม่มีมรรค คือเขาไม่มีการกระทำ เขาไม่มีเหตุไม่มีผลของเขาเลย เขาไม่มีสิ่งใดเป็นข้อเท็จจริงของเขาเลย แต่เป็นนักบวชมาด้วยกัน เชื่อตามๆ กันมา แล้วก็ปากเปียกปากแฉะ เวลาพูดไปนี่ปากเปียกปากแฉะ

ศาสนาไหนไม่มีมรรค ไม่มีมรรคคือไม่มีการกระทำในใจ ถ้าไม่มีการกระทำในใจ ใจไม่เคยทำความสงบของใจเข้ามา ไม่เคยมีมรรคมีผล ไม่มีความจริงในใจ มันไม่รู้ตามความเป็นจริง ดูสิ เวลาใครทำสมาธิได้ เห็นไหม สมาธิเป็นอย่างไง เราก็รู้ของเราได้ แล้วเวลาสมาธิเสื่อมไปนี่ ไม่ต้องบอกหรอก ร้อนเลย แล้วจะฝืนจะพยายามฟื้นฟูขึ้นมานี่เกือบเป็นเกือบตาย นี่ไง คนเรามันมีเห็นไหม ดูสิ คนเราเป็นเศรษฐีแล้วโดนฉ้อโกงไปหมด มันทุกข์ร้อนมันก็ฟูมฟายทั้งวันเลย

แต่ของเรานี่เป็นยาจกเข็ญใจ เราไม่มีเลย วันนี้ก็ไม่มี พรุ่งนี้ก็ไม่มี วันต่อไปก็ไม่มี เออ ก็มันไม่มีเป็นพื้นฐานก็เลยไม่ทุกข์ไง มันไม่ทุกข์อยู่แล้วเพราะมันไม่เคยมี แต่คนที่เขามีแล้วเขาโดนฉ้อโกงไปนี่เขาทุกข์ นี่ก็เหมือนกัน เวลาจิตมันสงบขึ้นมา จิตมันมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา เห็นไหม เวลามันเสื่อมไปนะทุกข์เกือบเป็นเกือบตาย แต่เกือบเป็นเกือบตายขนาดไหนเราก็ต้องขวนขวายของเรา เพราะระหว่างทางเดิน เวลาทางเดินของชีวิตชีวิตหนึ่ง เริ่มต้นตั้งแต่ตกคลอดออกมา จากมีชีวิตมา พ่อแม่เลี้ยงดูมา ถ้าใครมีสติมีปัญญารักษาชีวิตนั้น ชีวิตนั้นก็ราบรื่นจนกว่าจะหมดชีวิตนั้นไป

นี่ก็เหมือนกัน ในการประพฤติปฏิบัติของเรา ถ้ากิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจของเรายังมีอยู่นี่ เราปฏิบัติเพื่อจะต่อสู้กับมันนะ เพื่อจะเอาความเป็นจริงของเรานะ ชีวิตทั้งชีวิตมันก็ต้องสมบุกสมบันทั้งนั้น ในการประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน ถ้าคนที่มีอำนาจวาสนา เขามีหมู่คณะที่ดี เจอสัทธิวิหาริก เจอเพื่อนประพฤติปฏิบัติด้วยกันที่ดี เวลาเขาพากันไปนะ เขาพากันไปแสวงหาสัจธรรม พาไปเพื่อคุณงามความดี

แต่ถ้าเขาเจอหมู่คณะที่ไม่ดี เห็นไหม พากันไปนี่ หลวงตาท่านพูดประจำ เทศบาล ๑ เทศบาล ๒ นี่มันจะเอามรรคผลมาจากไหน เวลาไปก็ไปแต่ที่ไปคลุกคลีกัน ไปแต่สนุกครึกครื้น เดี๋ยวมันจะไม่ทันโลก เดี๋ยวมันจะไม่ทันกรรมฐาน นี่มันกรรมฐานอะไรของมันนั่นน่ะ

แต่ถ้าเจอหมู่คณะที่ดีนี่ สัมมาทิฏฐิ ควรไปและไม่ควรไป สิ่งที่ไม่ควรไปเขาก็ไม่ไปกันแล้ว สิ่งที่ควรไปเขาชักนำกันไปถ้าหมู่คณะที่ดี ถ้าหมู่คณะที่ไม่ดี ชวนไปกันที่สำมะเลเทเมา นี่พอสำมะเลเทเมานะ คนที่ไม่เคยรู้ไม่เคยเห็นมันก็ยังไม่กล้าทำ พอไปรู้ไปเห็นเข้าหนหนึ่งไง เอ้อ ทำได้เหรอ ทำอย่างนี้ก็ได้ เท่านั้นนะไปเลยนะ เสียคนไปเลย แต่ถ้ามันมีหมู่คณะที่ดีมีเพื่อนที่ดีเห็นไหม เฮ้ย ทำอย่างนั้นไม่ได้นะ ทำอย่างนั้นมันผิดศีล ศีลใครจะรู้ เรารู้กัน ๒ คนเว้ย ไม่มีใครรู้หรอก น่ะ! แล้วอย่างนั้นเหรอ นี่ไงเจอหมู่คณะที่ดี เจอเพื่อนที่ดี

ฉะนั้น หลวงปู่มั่นท่านสั่งไว้ สั่งหมู่คณะไว้ว่า “หลวงปู่ขาวนะ ได้คุยกับท่านแล้ว หลวงปู่ขาวได้สนทนาธรรมกันแล้ว ให้หมู่คณะจำชื่อนี้ไว้ จำชื่อนี้ไว้นะ” เพราะท่านรู้ ท่านรู้ว่าเวลาท่านนิพพานไปแล้ว เวลาพระที่ยังขวนขวายกันอยู่นี่มันจะพึ่งพาอาศัยใคร แล้วเวลาพระเล็กพระน้อยสมัยอยู่กับท่านนะ เพราะสมัยอยู่กับท่านนะ หลวงตาท่านเป็นหลักอยู่ แต่หลวงตาท่านก็ยังขวนขวายเต็มที่ของท่าน แต่หลวงปู่มั่นท่านรู้อยู่แล้วว่าหลวงตาดีทั้งนอกและใน ดีทั้งนอก นอกก็คือหลักคือข้อวัตรปฏิบัติ ท่านทรงไว้ได้ ใน ในคือหัวใจอันนั้น ท่านถึงพูดไง “หมู่คณะจำมหาไว้นะ มหาดีทั้งนอกและใน” เห็นไหม หลวงตานี่เวลาหลวงปู่มั่นท่านเสีย พระรุมเลยๆ เพราะอะไร? เพราะต้องการพึ่งไง

เวลาครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัตินะ ท่านเหมือนบอกว่า ทารกมันต้องกินนมแม่ แล้วมันไม่มีนมแม่มันกินมันหิวโหยขนาดไหน หัวใจนะมันเหือดแห้ง หัวใจมันมีแต่ความทุกข์ร้อน แล้วความทุกข์ร้อนไปเจอกับความทุกข์ร้อนใช่ไหม ความทุกข์ร้อนมันก็ถูลู่ถูกังไปกลางทะเลทรายใช่ไหม ความทุกข์ร้อนนี่ไปอยู่กับไอ้ภัยแล้งนี่ ไปอยู่กับผืนดินที่แตกแห้งกลางท้องนา ที่ไม่มีอะไรเลยนี่ เอาอย่างนั้นใช่ไหม

แต่ถ้าคนมันหิวกระหาย มันได้ดื่มนมแม่ ที่ไหนมันมีแหล่งน้ำ ที่ไหนมันมีความอุดมสมบูรณ์ ที่ไหนมันพอมีประทังชีวิตได้ นี้เป็นทัศนคติของหลวงปู่มั่น เพราะหลวงปู่มั่นท่านปฏิบัติมา พอท่านปฏิบัติมา ท่านรู้ถึงว่ากิเลสในใจของท่าน เวลาท่านมีกิเลสในใจของท่าน เห็นไหม ท่านปฏิบัติใหม่ๆ พิจารณากายไปแล้ว พิจารณากายเล่า พิจารณากายไปแล้วออกมามันก็ละกิเลสไม่ได้ พิจารณาไปแล้วออกมามันก็ปกติ พิจารณาไปแล้วนี่มันไม่มีอะไรสำรอกเลย มันไม่... ทำไมจิตนี้มันไม่ดีขึ้นเลย ทำไมจิตนี้มันไม่พัฒนาเลย ทำไมจิตนี้มันยังซื่อบื้อๆ อยู่อย่างนี้ ทบทวนแล้วทบทวนอีกไง ไปถามหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่เสาร์บอกว่า “เราสอนท่านไม่ได้หรอก ท่านปัญญาเยอะ ท่านต้องแก้เอง”

นี่อำนาจวาสนาของคน เห็นไหม ทั้งๆ ที่หลวงปู่เสาร์นี่เป็นผู้ที่ไปเอาหลวงปู่มั่นมาบวชนะ บวชเป็นเณรแล้วสึกไป หลวงปู่เสาร์นี่เทียวไล้เทียวขื่อนี่ จะเอามาให้ได้ไง พอเอามาได้แล้ว เวลาพามาบวชแล้วออกธุดงค์ไปแล้วไปเจอเพื่อนฝูงมาเยี่ยมเยียนกันนะ ท่านเห็นท่าไม่ดีพาหนีเลย เข้าป่าๆ ถึงเวลาแล้วพอหลวงปู่มั่นท่านปฏิบัติของท่านไปนะ ท่านมีปัญญาขึ้นมา ท่านมีทัศนคติขึ้นมานะ มาถามหลวงปู่เสาร์ “เราแก้ท่านไม่ได้หรอก ท่านปัญญาเยอะ ท่านต้องแก้ตัวท่านเอง”

นี่อำนาจวาสนาของคน ถึงเวลาแล้วท่านพิจารณาของท่าน พิจารณากายไปแล้วมันก็ปกตินะ มันไม่เห็นมีอะไรดีขึ้นเลย นี่ไง มันมาทบทวนเอาในสมัยปัจจุบันนี้ไง ไอ้ที่ว่าจิตสงบแล้วก็พิจารณากายสิ เราฟังมาจนชินหูนะ จิตสงบแล้วก็พิจารณากายสิ แล้วกายอะไรของเอ็ง กายมันเป็นอย่างไง แล้ววิธีการเห็นกายล่ะ แล้วเห็นกายแล้วมันเป็นมิจฉาหรือเป็นสัมมาล่ะ เห็นกาย เห็นกายโดยสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้องดีงาม หรือเห็นกายโดยมิจฉาล่ะ เวลาเห็นแล้วเห็นอย่างไรล่ะ

เวลาคนที่ปฏิบัติแล้วมันรู้ เหมือนไปตลาดเลย ของเต็มตลาดแต่ไม่รู้อะไรจะเป็นประโยชน์กับเรา อยากจะทำอาหารชนิดหนึ่ง ไปถึงตลาด โอ้โฮย ลานตาเลย อะไรก็น่าซื้อหมดเลย แต่เอ็งจะทำอะไรล่ะ เอ็งตั้งใจทำอะไร ถ้าตั้งใจทำอะไร เอ็งก็ต้องซื้อในที่เอ็งต้องการสิ แล้วเอ็งทำอาหารเอ็งก็ซื้อสิ่งนั้นไปทำ นี่ก็เหมือนกัน เห็นกายๆ เห็นอย่างไร เวลาในปัจจุบันนี้เป็นนกแก้วนกขุนทอง จิตสงบแล้วก็พิจารณากายสิ จิตสงบแล้วก็พิจารณา แล้วกายอะไร เห็นกายเห็นอย่างไร แล้วเห็นแล้วมันแตกต่างหลากหลายอย่างไร

การเห็นกาย การพิจารณากายนะมันแตกต่างอย่างไร แล้วจิตของคนมีวุฒิภาวะแค่ไหนที่เห็น ถ้าเห็นแล้วนี่สิ่งนั้นเป็นจริงหรือไม่เป็นจริงไง นี่พูดถึงโดยกิเลสนะ พูดถึงโดยครูบาอาจารย์ที่ท่านประพฤติปฏิบัติแล้วนะ ถ้าท่านประพฤติปฏิบัติแล้วนี่ท่านถึงรู้ถึงเล่ห์กลของมันไง หลวงปู่มั่นตอนนั้นท่านยังเป็นพระปฏิบัติใหม่ ท่านยังไม่เข้าใจ เวลาพิจารณาไปแล้วมันก็เป็นอย่างนี้ สุดท้ายแล้วมาทบทวนๆ ด้วยปัญญาของท่านนะ

ท่านพิจารณาอย่างนี้แล้วมันติดข้องอะไร ก็เลยมาลาความปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ซะ ถ้าความปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์นะ ด้วยอำนาจวาสนาสร้างบุญญาธิการมามาก มันจะให้ได้แค่ฌานโลกีย์ มันจะไม่ให้เข้าสู่มรรค ฉะนั้นเวลาลาความเป็นพระโพธิสัตว์นั้นแล้วนี่ กลับไปพิจารณากายใหม่ อ้อโฮ คราวนี้จะเข้าตลาด จะอยากได้อะไร จะซื้ออะไร จะทำอะไร มันเป็นชิ้นเป็นอันนะ จะจับต้องได้เลย อยากทำแกงไก่ ก็ต้องมีไก่ ต้องมีพริกแกง ต้องมีต่างๆ อยากจะทำไข่พะโล้ก็ต้องซื้อผงพะโล้ โอ้ มันเป็นไปหมด แล้วมันมีแกงไก่ มีหม้อพะโล้ มันมีไปหมดเลยถ้ามันเป็นจริง ความเป็นจริงมันเป็นจริงอย่างนั้น ถ้ามันความเป็นจริง เห็นไหม

ถ้าคนปฏิบัติแล้วนี่ ครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติมานะ ท่านรู้ของท่านๆ ท่านถึงห่วงใยไง ท่านรู้ถึงบอกว่า ไอ้พวกตาบอด ไอ้ขี้หอม ขี้มันนะหอม พูดผิดพูดถูกก็ต้องคนเชื่อ แต่ไอ้พวกขี้เหม็นนะ มันเป็นปกติธรรมดาของสิ่งมีชีวิต สิ่งของเสียขับถ่ายมันเหม็นทั้งนั้นนะ แต่ของเหม็นนะเพราะว่ามันมีจิตอยู่ในร่างกายนี้ เราประพฤติปฏิบัติเพื่อค้นคว้าหาจิตดวงนี้ ถ้าจิตดวงนี้มันประพฤติปฏิบัติขึ้นมานี่ กลิ่นของศีล กลิ่นของธรรม เทวดา อินทร์ พรหม ยังสาธุการ นี่ผู้ที่แสวงหายังต้องแสวงหา แสวงหาสิ่งนี้ไง

ฉะนั้นสิ่งนี้เราต้องเอาจริงเอาจังกับตัวเราเอง อย่าไปมองนอกมองใน มองนอกน่ะเป็นเขาเป็นเราไง แล้วเราจะต้องย่ำยีเขาไปทั่ว มันเป็นไปไม่ได้ การย่ำยีนั้นมันคือกิเลสทั้งนั้น แต่ถ้ามีความเมตตา มีคุณธรรม เห็นใจต่อกัน ทุกคนนะทุกคนก็ปรารถนา ปรารถนาให้พ้นจากทุกข์ จะพ้นจากทุกข์นะมันก็ต้องมีสัปปายะ มีสถานที่ มีการกระทำ ถ้ามีการกระทำนะ พักร้อน คนเดินทางมายาวไกลมันก็ต้องมีที่พักร้อน

นี่ก็เหมือนกัน ที่พึ่งที่อาศัย เราก็อาศัยเพื่อการประพฤติปฏิบัติของเราตามความจริงของเรา คนเรามันขี้เหม็นทั้งนั้น แต่ถ้ามันจะหอม หอมก็หอมเพราะน้ำใจ หอมเพราะน้ำใจของเรา เขาก็ปรารถนาความสุขเกลียดความทุกข์ เราก็ปรารถนาความสุขเกลียดความทุกข์ ทุกคนปรารถนา ปรารถนาถึงน้ำใจกัน ทุกคนปรารถนาคุณงามความดีทั้งนั้น ไม่เคยมีใครปรารถนาความชั่ว ไม่เคยมีใครปรารถนาการข่มขี่ข่มเหงกัน การข่มขี่ข่มเหงกันไม่มีใครต้องการ เราก็ไม่ต้องการ เขาก็ไม่ต้องการ

แต่ทำไมขี้เราหอม ทำไมเราไปข่มขี่เขาล่ะ ไปข่มขี่เขาทำไม เราทำไมต้องไปข่มขี่เขา เราข่มขี่กิเลสเราสิ ถ้าแน่จริงนั่งสมาธิทั้งคืนเลย เดินจงกรมทั้งวันทั้งคืนไปเลย เอาให้อยู่สิใจนี่ ถ้าเอาอยู่แล้วเห็นไหม ถ้าเอาสิ่งนี้อยู่แล้วมันเห็นใจเขาเลย เราทุกข์ขนาดนี้ แล้วเขาไม่ทุกข์เหมือนเราเหรอ เราเผาลนขนาดนี้ ใจทุกดวงเป็นอย่างนี้ทั้งนั้น ฉะนั้นครูบาอาจารย์ของเราหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น เห็นไหม ท่านล็อกให้เลยนะ ที่ประพฤติปฏิบัติท่านล็อกให้เลยนะ แล้วไม่ให้หมู่คณะเข้าไปทำให้มันฟุ้งกระจายออกมา ไม่ให้มันมีผลกระทบไง ต้องให้คนๆ นั้นให้ปฏิบัติเข้ามา เพื่ออะไรล่ะ เพื่อให้คุณธรรมในใจเกิดขึ้น

นี่เห็นไหม เราบวชมา บวชมามาด้วยธรรมวินัย แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้าเรามีคุณธรรมจริงขึ้นมา เราจะมีธรรมในหัวใจของเรา ถ้ามีธรรมในหัวใจของเรา สมความปรารถนา สมความปรารถนา เกิดเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา ได้สละทางโลกมาบวช บวชเสร็จแล้วนี่ เราก็จะบวชหัวใจของเรา เราประพฤติปฏิบัติของเราให้หัวใจของเรามีคุณธรรม “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต” เอวัง