กิเลสอยู่ครบ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๙
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “ขออุบายหลวงพ่อช่วยแก้ไขด้วยครับ”
กราบเท้าหลวงพ่อที่เคารพอย่างสูง กระผมได้ภาวนาต่อเนื่อง (วันละ ๑ - ๒ ชั่วโมงตอนเช้าทุกวัน) มาได้หลายปี ยึดหลักปัญญาอบรมสมาธิ โดยอาศัยฟังธรรมจากหลวงพ่อเป็นหลัก ได้เข้ามาถามปัญหาหลวงพ่อหลายครั้ง จิตใจก็เริ่มดีขึ้น ละเอียดขึ้นตามลำดับ แต่มันก็มีขึ้นมีลงมาตลอด
ผมขอเล่าประวัติการภาวนาเพิ่มเติมนะครับ เรื่องปัญญาอบรมสมาธิ แต่เดิมผมไม่รู้จัก เข้าไปเรียนกรรมฐาน ครูอาจารย์ที่อีสานท่านก็สอนพุทโธๆ ผมฝืนทำจนเกือบจะลงสมาธิ แต่กลัวเพราะมันเหมือนกำลังตกเหว วูบ วูบ วูบลงไป เลยฝืนไม่ยอมลง เพราะไม่รู้มันจะพาเราไปไหน แต่มาได้สมาธิครั้งแรกตอนฟังเทศน์ครูอาจารย์เรื่องพิจารณากายแล้วไปเดินจงกรม ผมเดินพิจารณาความไม่เที่ยงของฟันไปเรื่อยๆ จนจิตมันลง เดินไปไม่ไหวต้องลงนั่งสมาธิ
ผมได้เห็นความคิดหยุดเป็นครั้งแรกในชีวิต มันน่าทึ่งมาก และเป็นครั้งแรกที่ได้รู้ตัวว่า ตั้งแต่เกิดมาเราไม่เคยได้หยุดคิดเลย เหมือนเราแบกของหนักมาเต็มหลังทั้งชีวิต พอทิ้งมันไปแค่นั้นก็เบาแล้วก็ลง มีความสุขมาก แม้ไม่ใช่อัปปนาสมาธิ แต่ฝังใจผมมาก แม้ผ่านมา ๑๐ กว่าปีแล้วก็ยังไม่ลืม การภาวนาครั้งนั้นทำให้ผมมองเห็นคุณค่าของพระศาสนาและปฏิบัติต่อเนื่องมาตลอด
จนได้มารู้จักเว็บไซต์หลวงพ่อ เพิ่งรู้ว่ามันคือปัญญาอบรมสมาธิ จึงได้ฝึกทำแนวนี้มา ส่วนตัวคิดว่าผมดีขึ้นและพัฒนามาเรื่อยๆ ตอนแรกๆ ได้ฟังเว็บไซต์หลวงพ่อมันตื่นเต้นมาก การภาวนาก็สนุกเพลินมาก เหมือนได้ของเล่นหรือเกมใหม่ๆ มาเล่นทุกวัน ไม่พิจารณารูปกายก็ไปพิจารณาขันธ์ส่วนอื่นๆ หรือธรรมะอื่นๆ จนใจมันสงบ แม้จะดีขึ้น แต่ผมก็รู้สึกว่ากิเลสมันยังอยู่ครบ เหมือนเราได้สมาธิมากดไว้ไม่ให้กระจายตัวออกไปเท่านั้น แต่ก็ยังดีที่เราพอมีที่พึ่งในใจบ้าง วันนี้ผมมีคำถามข้อสงสัย ๒ ข้อ
๑. มาช่วงหนึ่งเมื่อ ๒ เดือนมานี้ ผมรู้สึกว่าการภาวนาของผมจืดชืดมาก และเริ่มแพ้ความคิดของตัวเอง เหมือนบอกตัวเองว่า เรื่องนี้ก็พิจารณาแล้วเบื่อ เรื่องนี้ก็ไม่อยากพิจารณาอีก คุมให้จิตมันอยู่เรื่องเดียวได้ยาก และถ้าไปเชื่อมัน หยุดและออกจากการพิจารณา ใจก็จะไม่สงบทั้งวัน แล้วทีนี้พอไปทำงานมันจะร้อนทั้งจากสิ่งที่กระทบ ทรมานมากๆ เลยครับ อยากขออุบายหลวงพ่อช่วยแก้การเบื่อพิจารณานี้ด้วยครับ
๒. เรื่องกามราคะ ผมรู้สึกว่าตอนนี้ผมไวกับเรื่องนี้มาก เพียงแค่ได้เห็นรูปที่ใจมันชอบ ใจมันก็กระเพื่อมรุนแรง ไม่ทันมัน แล้วสุดท้ายก็แพ้มัน เหมือนยื่นหน้าให้มันตบเล่น ตอนนี้ผมก็ได้แต่พยายามพิจารณากายสู้ แต่หลายครั้งก็แพ้มัน และรู้เลยว่ากามราคะเป็นอุปสรรคกับสมาธิมาก
ผมเคยพยายามรักษาศีล ๘ แต่พบว่าอยู่ทางโลกมันรักษาไม่ได้ เคยไปตั้งสัจจะรักษาแล้วทำไม่ได้ มันก็เลยตีกลับ นี้ใจยิ่งแย่ซ้ำไปอีก หากผมจะรักษาเพียงศีล ๕ แต่เริ่มจากกาเมฯ และอพรัหมะแบบไม่เข้ม คือส่งของให้เพศตรงข้ามได้ เรื่องของการทำงานด้วยจะได้ไหมครับ
ตอบ : กราบเท้าหลวงพ่อเนาะ นี่เวลาพูดถึงการภาวนาไง เขาภาวนา เห็นไหม ภาวนา เวลาภาวนาดีมันดีไปเรื่อยๆ พอดีไปเรื่อยๆ แต่สุดท้ายแล้วนะ พอมันตีกลับไง พอมันตีกลับมันก็มีปัญหาทั้งนั้น เวลาตีกลับมีปัญหาเรื่องของธรรมะไง
ธรรมะ เวลาเราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัม-พุทธเจ้าใช่ไหม เราก็อยากมีที่พึ่งที่อาศัยใช่ไหม เราก็หัดประพฤติปฏิบัติไง ถ้าการประพฤติปฏิบัติ ถ้าจิตมันไม่เคยเป็นสมาธิเลย มันก็อยากเป็นสมาธิ แต่พอเป็นสมาธิแล้วจะรักษาสมาธิไว้มันก็แสนยาก แล้วพอสมาธิก็คือสมาธิไง
เพราะเวลาหลวงตาท่านจะบอกว่า ถ้าคนที่ไม่เข้าใจในเรื่องสัจธรรมไง ก็คิดว่าศีล สมาธิ ปัญญา เวลารักษาศีลเราก็รักษาได้ง่ายๆ ใช่ไหม พอมีสมาธิแล้วเดี๋ยวมันก็จะเกิดปัญญาขึ้นมาเองไง คนถ้าจะรอปัญญาเกิดขึ้นมาเองนะ รออีก ๑๐๐ ชาติ ปัญญามันเกิดขึ้นมาเองไม่ได้ ปัญญามันต้องเกิดจากการฝึกหัด
ถ้าปัญญาเกิดจากการฝึกหัด เห็นไหม ฉะนั้น ในพระพุทธศาสนาสอนเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าสอนเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา เวลาปัญญาคือภาวนามยปัญญา แต่คนเราเวลาเรามีการศึกษาใช่ไหม เราก็คิดว่าเรามีปัญญาของเราไง ปัญญาอย่างนี้เป็นโลกียปัญญานะ ถ้าปัญญามาไตร่ตรอง ไตร่ตรองในศาสนา เราไม่ใช่ปัญญาอบรมสมาธิ มันเป็นโลกียปัญญา ปัญญาของกิเลสพาใช้ทั้งนั้น
แต่เพราะเรามีศรัทธามีความเชื่อ เรามีศรัทธามีความเชื่อเรามีสติไง มันก็มีกำลังเข้มแข็ง มันก็ทำของมันได้ แต่พอเวลาทำไป พอเป็นสมาธิมันก็ตื่นเต้น มันก็อยากให้เป็นสมาธิ แต่เวลาทำไป ทำไปแล้ว เวลาถ้าจิตมันเสื่อม หรือทำไปแล้วมันคุ้นชิน พอมันคุ้นชินขึ้นมา เวลามันตีกลับขึ้นมา ทำแล้วก็ไม่เห็นได้อะไร ก็มันจะไปได้อะไร ก็มันไม่ได้ตั้งแต่ต้น มันไม่ได้ตั้งแต่ต้น เห็นไหม
ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์ท่านจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เวลาจิตเป็นสมาธิแล้ว ท่านจะให้ฝึกหัดใช้ปัญญา ถ้าฝึกหัดใช้ปัญญา ปัญญาอย่างนั้นถึงเป็นโลกุตตรปัญญา ปัญญาอย่างนั้นถึงเป็นวิปัสสนา ปัญญาอย่างนั้นมันเกิดขึ้น เกิดขึ้นต่อเมื่อจิตสงบแล้วเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง
เหมือนที่หลวงปู่ดูลย์ท่านสอน เห็นไหม คิดเท่าไรก็ไม่รู้ ความคิดทั้งหลายนี่ส่งออก ความคิดเท่าไร คิดเท่าไรเนี่ยจิตส่งออกทั้งหมด ความรู้สึกนึกคิดมันส่งออกมาจากอวิชชา ส่งออกมาจากจิต จิตส่งออกคือความคิดเราทั้งหมด จิตส่งออก ความคิดเท่าไร สิ่งที่ความคิดเท่าไรมันเป็นทุกข์ทั้งนั้น เพราะมันเป็นสมุทัย เขาต้องใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาอบรมสมาธิ ท่านใช้คำว่า “ดูจิต” ดูจิต ดูให้มันหยุด
จิตส่งออกทั้งหมด ผลของมันสมุทัย จิตส่งออกทั้งหมดมันเป็นทุกข์ เพราะมันเป็นสมุทัย ผลของมันเป็นทุกข์
ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ดูจิต ดูจิต ดูจิตจนจิตเห็นอาการของจิต ถ้าจิตเห็นอาการของจิตนั่นน่ะวิปัสสนา ถ้าจิตเห็นอาการของจิต นั่นน่ะมันเป็นโลกุตตรปัญญา จิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง ถ้ามันเห็นของมัน พิจารณาของมันอย่างนั้น อันนั้นน่ะ อันนั้นมันถึงจะเป็นวิปัสสนา อันนั้นถึงเป็นปัญญาของพระพุทธศาสนา
ศีล สมาธิ ปัญญา ศีล สมาธิ แล้วปัญญา ปัญญามันเกิดจากสมาธิอันนั้นไง แต่สมาธิอันนั้นเราไม่ได้ฝึกหัดใช้ปัญญาไง ไม่ใช้ปัญญามันก็แค่นั้น แค่สงบไง เวลาคนภาวนานะ เวลามันศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พอไปรู้ธรรม รู้ถึงสัจจะ รู้ถึงข้อเท็จจริง โอ้โฮ! มันสังเวช มันมีความซาบซึ้ง อันนั้นมันแค่เป็นโลกียปัญญา มันเป็นปริยัติไง
แต่ถ้ามันเป็นปฏิบัติ เห็นไหม ถ้าเป็นปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติ ในพระพุทธศาสนาสอนเรื่องอริยสัจ สอนเรื่องทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ เห็นไหม ทุกข์ สมุทัย ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ เพราะทุกข์ เห็นไหม แล้วทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ทุกข์ดับ วิธีการดับทุกข์ ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ เพราะทุกข์ สมุทัย สมุทัยตัวตัณหาความทะยานอยาก ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ นิโรธ ทุกข์ดับ มรรค วิธีการดับทุกข์ วิธีการดับทุกข์ถ้ามันเป็นจริง มันจะเป็นจริงของมันอยู่อย่างนั้น พระพุทธศาสนาสอนอย่างนั้นนะ
แต่ด้วยความเข้าใจผิดไง ด้วยความเข้าใจผิด สอนสมาธิ เวลามีสมาธิแล้วจะเกิดปัญญาเอง นี้พอเกิดปัญญาเอง เขาบอกว่า “สิ่งที่เขาสังเกตตัวเขาเอง แม้จะดีขึ้นแต่ก็รู้สึกว่ากิเลสมันยังอยู่ครบ” มันอยู่ครบ ไม่ไปไหนหรอก ถ้ายังทำอย่างที่ปฏิบัติๆ ที่เวลามันเสื่อม เวลาปฏิบัติแล้วจิตมันดีขึ้น ดีขึ้น เวลาดีขึ้น แล้วถ้ามันไม่ต่อเนื่องไปเดี๋ยวก็เสื่อม
ถ้าไม่เสื่อม ดูสิ ดูพระปฏิบัติ เห็นไหม พระปฏิบัติที่สึกไปก็มี ที่ปฏิบัติแล้วแบบว่าไปไม่ถึงฝั่ง คือว่าปฏิบัติแล้วมันไม่เกิดคุณธรรมขึ้นมาในใจ มันก็อยู่กันแบบขี่หลังเสือๆ ไง พอขึ้นหลังเสือแล้วลงไม่ได้ นี้ขึ้นหลังเสือไปแล้ว ฉันเป็นพระ ฉันเป็นอาจารย์ ฉันมีปัญญา ฉันมีความรอบรู้ แล้วก็พูดไปธรรมะปากเปียกปากแฉะ ไอ้พวกขี่หลังเสือ ขึ้นหลังเสือแล้วลงไม่ได้ ลงไปเสือมันตะปบ
นี่ก็เหมือนกัน กิเลสมันอยู่ครบ มันไม่ไปไหนหรอก นี้พอกิเลสอยู่ครบเพราะอะไร เพราะปฏิบัติไปแล้ว ปฏิบัติมากิเลสมันยิ่งสูงส่ง เพราะอะไร เพราะว่าลาภสักการะ เห็นไหม พอมีศาสนา อย่างสังเกตได้ไหม เรานี่พูดถึงเป็นเพื่อนกัน เราคุยเล่นคุยหัวกันได้ใช่ไหม เวลาเพื่อนเราไปมีตำแหน่งใหญ่โตสิ เราไปพูดเล่นกับเขาได้ไหม เขาไม่ยอมนะ เขาบอกเขาตำแหน่งเขาสูงส่งนะ
ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เวลาไม่ได้ปฏิบัติก็เพื่อนกันไง จิตสามัญสำนึกมันก็พูดเล่นกันได้ไง เวลาถือตัวถือตนว่าตัวเองภาวนา ภาวนาแล้วคิดว่ามีคุณธรรม ไปขี่หลังเสือไง ใครจะมาพูดเล่นกับฉันไม่ได้นะ ฉันเป็นอาจารย์ใหญ่นะ นี่มันลาภสักการะ พอมีสักการะมันมีปัญหาเลย
ฉะนั้น “เวลาทำไปแล้ว ที่ว่ากิเลสมันอยู่ครบ”
อยู่ครบเพราะว่ามันไม่ได้ทำอะไรทั้งสิ้น แล้วพออยู่ครบ ไม่ใช่อยู่ครบธรรมดานะ มันเท่ากับว่าเพิ่มกำลังมากขึ้นด้วย มันทบต้นทบดอกไปเลย มันเกิดมาเผาลนใจของตัวเอง ถ้าเกิดมาเผาลนใจของตัวเอง มันถึงว่าตอนต้นก็เก็บกิริยากันทั้งนั้น พอถึงเวลาเดี๋ยวมันก็แสดงออกทั้งนั้น เพราะอะไร เพราะมันไม่เกิดวิปัสสนา มันไม่เกิดใช้ปัญญา
นี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา ปัญญาคือภาวนามยปัญญา ภาวนามยปัญญาเกิดขึ้น เกิดขึ้นจากทำความสงบของใจเข้ามาก่อน ถ้าใจสงบแล้วต้องยกขึ้นวิปัสสนา
ฉะนั้น บอกว่า “ทำสมาธิ ทำสมาธิ ทำสมาธิแล้วจะประเสริฐเลอเลิศ” ไม่มีหรอก สมาธิเขาฝึกหัดเพื่อความสงบของใจ เพื่อความร่มเย็นเป็นสุข
อย่างคน นักกีฬา เห็นไหม เวลาลงไปแข่งขันแล้วเขาต้องฟื้นฟู เขาต้องพักเวลา พักรักษาความฟิต นี่ก็เหมือนกัน จิตมันจะทำงานทั้งวันทั้งคืนมันเป็นไปไม่ได้ มันต้องมีความสงบบ้าง มันต้องมาพักสงบ ถ้ามาพักความสงบ มาเข้าสมาธิมาพักผ่อน พอพักผ่อนเสร็จแล้ว มันมีกำลังแล้วค่อยไปฝึกหัดใช้ทำงาน ทำงานเสร็จแล้ว พอทำงานแล้วเป็นครั้งเป็นคราวต้องกลับมาเข้าสู่สมาธิก็ต้องมา มันต้องไปด้วยกัน สมาธิกับปัญญามันต้องไปด้วยกัน สมถะกับวิปัสสนามันต้องเดินไปด้วยกัน
ถ้ามันเดินไม่เป็น เห็นไหม ฉะนั้น องค์สมเด็จพระสัมมา-สัมพุทธเจ้าสอน สอนให้ทำความสงบของใจเข้ามาก่อน เขาบอก “องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้สอนใช้ความสงบ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช้ปัญญา เวลาไปเทศน์ปัญจวัคคีย์ ก็ไม่ได้บอกให้ปัญจวัคคีย์ทำสมาธิเลย”
ปัญจวัคคีย์เขาทำสมาธิกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๖ ปี ตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ คนที่เขาทำมาแล้วเขารู้ว่า คนคนนี้เขาทำสมาธิมาแล้ว เขามีสมาธิพร้อมอยู่แล้ว แต่เขาไม่มีใครชี้ให้ออกวิปัสสนา ไม่ได้ชี้ทางสู่ปัญญา ไม่ชี้สู่ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ทุกข์ดับ วิธีการดับทุกข์
ทุกข์ ทุกข์เพราะอะไรล่ะ
ทุกข์มันทุกข์อยู่ทุกคน อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัม-พุทธเจ้าอยู่ ๖ ปี ทุกข์มาก เพราะอยากจะออกๆ ทำสมาธิก็ได้บรรเทาทุกข์ไปชั่วครั้งชั่วคราว แต่มันก็ยังอมทุกข์อยู่นั่น ทุกข์ วิธีการดับทุกข์ ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์มันมีตลอด มันกระตุ้นตลอดเวลา เวลาทุกข์ดับ ดับเพราะมรรค ทุกข์ดับ ดับด้วยวิธีการดับทุกข์ เห็นไหม
นี่ไง เวลาบอกว่า “ไม่ได้สอนทำความสงบของใจเลย เทศน์ธัมมจักฯ ก็เป็นพระโสดาบันไปเลย”
อันนั้นเขาทำสมาธิอยู่แล้ว แต่ของเรา เวลาเราทำสมาธิ เห็นไหม โดยวุฒิภาวะของครูบาอาจารย์ที่อ่อนด้อย ก็บอกว่า “ศาสนาพุทธสอนให้ทำสมาธิ ทำสมาธิ”
ไม่ใช่! ศาสนาพุทธสอนเรื่องอริยสัจ สอนเรื่องทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ทุกข์ดับ วิธีการดับทุกข์ สอนวิธีการดับทุกข์ สอนใช้ปัญญา แต่มันต้องอาศัยสมถะ อาศัยความร่มเย็นเป็นสุขของใจขึ้นมา มันถึงจะเกิดปัญญาขึ้นมาได้ เพราะปัญญาอย่างนี้เป็นปัญญาที่ลึกซึ้ง
ไอ้ว่าสมาธิ สมาธินั่น สมาธิแล้วไปไหนต่อ สมาธิก็กิเลสอยู่ครบนี่ไง “ผมเคยได้สมาธิ ผมเคยได้ความสุขร่มเย็น โอ๋ย! มันทึ่งมาก มันทึ่งมาก” แต่สุดท้ายแล้ว สุดท้ายแล้วถ้ามันแค่บรรเทาทุกข์ มันไม่ได้ชำระล้างกิเลส นี่กิเลสอยู่ครบ
อยู่ครบ คนที่ปฏิบัติไม่เป็นมันอยู่ครบอย่างนี้ เพราะอะไร เพราะมันทำแล้วขั้นตอนมันไม่มีไง ขั้นตอนไม่มีคือปฏิบัติไม่เป็นไง ปฏิบัติไม่เป็นก็ทำได้ครึ่งๆ กลางๆ ไง ครึ่งๆ กลางๆ ก็บอกว่า “ทำสมาธิ ทำสมาธิ” พระพุทธศาสนาท่านทำสมาธิ ฤๅษีชีไพรมันมีอยู่แล้ว สมัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกประพฤติปฏิบัติกับพวกฤๅษีชีไพร อาฬารดาบส อุทกดาบสได้สมาบัติ ๖ สมาบัติ ๘ ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่สนใจเลยล่ะ
แล้วนี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอน สอนทุกข์ ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ทุกข์ดับ วิธีการดับทุกข์ แล้วไปสอนทำสมาธิตรงไหน พระพุทธเจ้าสอนให้ทำสมาธิตรงไหน ไม่ได้สอน สอนทำความสงบของใจเข้ามา ทำเพื่อประโยชน์ในการวิปัสสนา ทำประโยชน์เพื่อจะใช้ปัญญาไป มันถึงจะเข้าไปเห็นกิเลส แล้วไปทำลายกิเลส ถ้ามันไม่เข้าสู่วิปัสสนา นี่กิเลสอยู่ครบ
อยู่ครบอยู่แล้ว ฉะนั้น “ไอ้เนี่ยอยู่ครบเพราะอะไร”
เพราะเราปฏิบัติใหม่ใช่ไหม คนที่ไม่รู้เรื่องศาสนาเลย เขาไม่ได้นับถือศาสนาเลย เขาก็ทำแต่กิเลสตัณหาความทะยานอยากของเขา เวลาคนที่นับถือพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาก็สอนเรื่องศีล เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา ให้มีศีลมีธรรม คือเราไม่หยิบฉวยของใคร เราไม่ทำร้ายใคร เราไม่ผิดลูกเมียของใคร เราไม่พูดจาโกหกมดเท็จ เราไม่เอาเรื่องของมึนเมามาเข้าตัวเราเอง นี่ไง มันก็มีศีล
จากที่ว่าไม่เชื่อศาสนาเลย ก็ทำตามแต่ใจของตน เวลามาเชื่อศาสนา เราก็มีศีล มีศีลแล้วก็มีธรรม แล้วก็ฝึกหัดประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้าปฏิบัติมันจะเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา ไม่ใช่ว่าเถรส่องบาตร เห็นเขาทำก็ทำตามเขาไป แต่ไม่รู้ว่าเป้าหมายเขาทำอย่างไร เป้าหมายของหลวงปู่มั่นท่านไม่ได้สอนอย่างนั้น
หลวงปู่มั่นท่านสอนให้ทำความสงบของใจ ทำความสงบแล้ว จิตมีกำลังแล้ว ท่านยกให้สู่วิปัสสนา สมาธิเป็นแค่ทางผ่าน สมาธิเป็นแค่ให้จิตใจเราเข้มแข็ง พอเป็นสมาธิมันก็มีความพักผ่อนบ้าง เพราะสุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี แต่กิเลสอยู่ครบ สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี จิตนี้มีความสุขมาก แต่กิเลสอยู่ครบ ก็มันเป็นสมาธิ มันแค่สงบระงับชั่วคราว แต่พระพุทธศาสนาสอนแค่นั้นหรือ พระพุทธศาสนาสอนถึงการรื้อค้นมัน รื้อค้นสิ่งที่ในใจของตน กิเลสมันถึงจะได้เริ่มบรรเทาไป กิเลสมันจะได้ออกไป
ฉะนั้น คำว่าเขาบอก เขาเขียนมาว่า “กิเลสมันอยู่ครบเลย”
เพราะความเห็นของเขา เริ่มต้นจากอารัมภบทไง อารัมภบทว่าเขาเพิ่งรู้ปัญญาอบรมสมาธิ แล้วเวลาที่เมื่อก่อนเขาพุทโธๆ จิตมันวูบ วูบ วูบลง นั่นมันจะเข้าสู่สมาธิ แต่คนที่ไม่เคยก็กลัวเป็นเรื่องธรรมดา แต่คนที่เขาเป็นนะ เขามีสติพร้อมไปเลยนะ แล้วถ้ามันลง อันนั้นมันจะลงขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนา-สมาธิ ถ้ามันลงไปเรื่อยๆ มันจะเข้าไปสู่อุปจาระ มันวูบ วูบ มันละเอียดเข้าไป เข้าสู่อุปจาระคือมันสงบ เรารู้ตัวเลย มีความสงบสุขมาก แต่ได้ยินเสียงอยู่ ยังรับรู้เรื่องร่างกายนี้อยู่
ถ้ามันวูบ วูบต่อไป ต่อไปจนมันถึงฐาน วูบจนถึงที่สุด กึ๊ก! ไปถึงที่สุดเลย ความรู้สึกไม่มี นั่งอยู่นี่ไม่มีความรู้สึกเลย ไม่มีความรู้สึก สิ่งที่รับรู้ รับรู้สุขแบบสามัญสำนึกของมนุษย์ไม่มีเลย แต่มันเป็นสักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่ารู้คือมันรู้จักตัวมันเอง แต่มันออกรับรู้อะไรไม่ได้ มันขยับออกไปรับรู้ไม่ได้ มันสักแต่ว่ารู้ นั่นจิตล้วนๆ เลย นั่นคืออัปปนาสมาธิ ถ้าไปตามนั้น
แต่เขาไม่ไปตามนั้นเพราะเขากลัว ถ้าเขากลัวแล้วมันก็มาลงวูบ วูบอยู่นั่นน่ะ ฉะนั้น ถ้ามันจะวูบไปไหน เรากำหนดพุทโธไว้ ถ้าใครอานาปานสติ กำหนดลมหายใจไว้ อาการวูบนั้นคืออาการที่จิตมันจะวิวัฒนาการลงไปสู่ฐานของมัน ถ้าลงสู่ฐานของมัน แต่มันจะมีการกลัว มันมีการสะดุ้ง มีการต่างๆ แต่ถ้าคนไม่เป็น มันจะเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าคนไม่มีประสบการณ์อย่างนี้ มันจะสงบไปเฉยๆ ก็มี
นี่พูดถึงว่า ถ้าพุทโธแล้วมันเป็นสมาธิขึ้นมาได้ ฉะนั้น มันเป็นสมาธิขึ้นมาได้ แต่เขาบอกว่า “เขาใช้พิจารณาฟันของเขา แล้วจิตมันเป็นสมาธิได้ มีความสุขอย่างนี้”
มันก็เป็นสมาธิไง เป็นสมาธิแล้วมันต้องทำต่อเนื่อง ต่อเนื่อง ทำต่อเนื่องจนมันตั้งมั่น ถ้ามันตั้งมั่นคือมันใช้ปัญญาได้ ถ้ามันยังไม่ตั้งมั่นนะ พอมันสงบ มันเป็นสมาธิทีก็มีความสุขทีหนึ่ง
ความสุข เห็นไหม ถ้าคนที่ทำดีๆ นะ อย่างหลวงตาท่านอยู่กับหลวงปู่มั่น เห็นไหม ท่านบอกท่านฟังเทศน์หลวงปู่มั่น เวลาจิตสงบที จิตดับไป ๓ วัน คือมันลงสมาธิแล้วมันไม่รับรู้อะไรเลย ๓ วัน อยู่ของมันอยู่อย่างนั้น ๓ วัน แล้วพอมันคลายออกมา คลายออกมาก็ได้ยินเสียงนี่ไง
คำว่า “ไม่รับรู้” เสียงมันได้ยินมันก็สักแต่ว่า เวลาคนคุยกับเรา เราได้ยินเสียงนะ แต่เราไม่รู้ว่าเขาพูดอะไร มันไม่รับรู้เสียงนั้น แล้วใช้สัญญาแยกแยะว่าเขาพูดเรื่องอะไร มันดับอย่างนั้น ๓ วัน เวลามันคลายตัวมันก็ปกติ อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้ามันหยุดคิดได้ มันทำได้ มันเป็นประโยชน์อันนั้น
แต่เขาบอกว่า “มีความสุขมาก แม้มันไม่ใช่อัปปนาสมาธิ” อันนั้นเรื่องหนึ่ง ฉะนั้น เวลามันสุขดีขนาดไหน เขาก็บอกว่า “กิเลสมันอยู่ครบ” มันมีความรู้ของมัน กิเลสมันอยู่ครบ
นี่ไง ที่ทางโลกเขาใช้คำว่า “หินทับหญ้าๆ” ถ้าหินทับหญ้านะ หินทับหญ้า หินทับหญ้าไว้หญ้าก็เกิดไม่ได้ ถ้าเวลายกหินออกหญ้ามันก็เกิด นี่พอเป็นสมาธิมันมีความสุขไง สมาธิก็กดกิเลสไว้ ถ้าเวลามันยกเอาสมาธินั้นออก หญ้ามันก็งอกธรรมดา แล้วไม่งอกธรรมดาด้วยนะ เพราะมันโดนเก็บไว้นาน สารอาหารมันเยอะ พองัดออก อู้ฮู! มันได้แดดมันพุ่งเลยนะ หญ้าเนี่ย
นี่ก็เหมือนกัน กิเลสมันอยู่ครบไง คำว่า “กิเลสอยู่ครบ” นะ มัชฌิมาปฏิปทา ความสมดุลของมัน ฉะนั้น เวลาจะไปดูถูกว่าสมาธิไม่ใช่ สมาธิเป็นของน่า... เพราะหลวงตาท่านเคยติดไง ท่านเคยติดสมาธิ ๕ ปี แล้วท่านขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านแก้ไขจนท่านมาใช้ปัญญา ท่านกลับไปติดสมาธิไง สมาธิไม่มีประโยชน์เลย นอนตายอยู่ ๕ ปี แล้วพอพิจารณามันใช้ปัญญามาก มันก็ฟุ้งซ่านไป หลวงปู่มั่นบอก “ไอ้บ้าสังขาร” ก็คือต้องกลับมาทำสมาธิ
แต่ท่านบอกว่า “สมาธิเราเคยติด เคยเห็นโทษ พอเราผ่านไปแล้วเราก็แหยง ไม่กล้ากลับมาอีกไง” แต่ความจริงมันต้องใช้ ทีนี้พอต้องใช้ปั๊บ พอท่านใช้ปัญญาไปมาก หลวงปู่มั่นบอกว่า “ไอ้บ้าสังขาร ไอ้บ้าสังขาร” คือว่าใช้แต่ปัญญา ไม่ทำสมาธิไม่ได้ แต่ถ้าพูดไปแล้วแบบว่ามันจะต่อต้าน ท่านก็เลยพูดแค่นั้น หลวงตาท่านใช้ปัญญาของท่าน สุดท้ายแล้วท่านต้องมากำหนดพุทโธๆ ให้จิตมันสงบ เห็นไหม สมาธิมันก็มีประโยชน์ในตัวมันเอง
แต่นี้บอก “ถ้าสมาธิเป็นหินทับหญ้าไว้ หินทับหญ้าไว้”
แล้วถ้าไม่มีหินทับหญ้าไว้ หญ้ามันก็ท่วมบ้านท่วมเมืองน่ะสิ เอาหินทับไว้มันก็เป็นประโยชน์ไว้ ดูมันเรียบร้อย แต่เรียบร้อยแล้วเราก็ต้องมีปัญญาสิว่ามันยังมีหญ้าอยู่ อย่างนั้นมันก็ต้องเกิด เราก็ต้องแก้ไขของเราไปไง จะว่าถ้าสมาธิเป็นหินทับหญ้าก็ถูก แต่มันก็เป็นประโยชน์ เป็นประโยชน์ว่าถ้ามันทับไว้มันก็มีโอกาสได้ทำงานใช่ไหม ถ้าไม่ทับไว้มันมีแต่หญ้าพันกันไปหมดเลย เราทำอะไรไม่ได้เลย
แต่ถ้ามันหินทับหญ้าไว้ เราอยู่บนหินนั้น เออ! มันก็ยังโล่งโถง ยังทำอะไรได้ แล้วถ้าบอกเป็นสมาธิมันจะเกิดปัญญาเอง มันก็ไม่เกิด ถ้าคำว่า “กิเลสอยู่ครบ” ครบ แล้วทำสมาธิแล้วไม่ได้ใช้ปัญญาเลย กิเลสอยู่ครบ ไม่ได้ไปสะกิดอะไรมันเลย ไม่ได้สะกิดมันเลยนี่เป็นเรื่องหนึ่งนะ อีกเรื่องหนึ่งคือว่าไปส่งเสริมมัน เกิดทิฏฐิมานะ เกิดความว่าเราเป็นอาจารย์ เราเป็นผู้รู้ธรรม โอ้โฮ! ยิ่งไปใหญ่เลย กิเลสอยู่ครบแล้วมันยังเสริมกิเลสอีกต่างหาก
ฉะนั้น บอกว่าถ้าเป็นพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาสอนเรื่องอริยสัจ ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ทุกข์ดับ วิธีการดับทุกข์ เรื่องอริยสัจโดยสติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม โดยมรรค ๘ พระพุทธศาสนาสอนที่นี่ ไม่ได้สอนเรื่องสมาธิ สมาธิฤๅษีชีไพร แต่เวลาพระพุทธเจ้าสอน สอนเรื่องอริยสัจ แต่คนจะมีปัญญามากน้อยแค่ไหน มันอยู่ที่สัตว์โลก ถ้าสัตว์โลกมีปัญญาก็จะรู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก นี่อารัมภบทหมดเลย
“๑. มาช่วง ๒ - ๓ เดือนมานี้รู้สึกว่ามันพิจารณาแล้วมันจืดไปหมดเลย แล้วมันก็คิดด้วยตัวเองว่านั่นก็รู้แล้ว นี่ก็รู้แล้ว มันเบื่อหน่าย”
คำว่า “เบื่อหน่าย” เวลากิเลสมันดื้อด้านมันเป็นอย่างนี้ มีผู้ปฏิบัติมากเวลาฟังเทศน์เราใหม่ๆ ก็บอก โอ้โฮ! ดีมากๆ เลย แต่ตอนหลังบอกว่าทุกม้วนฟังหมดแล้ว เวลาคนที่คุ้นชินนะ เวลาหลวงตาท่านเทศน์ เราฟัง เราก็ฟังหลวงตามาตลอด ในปัจจุบันนี้ก็ยังฟังอยู่ เราฟัง ฟังเป็นวิหารธรรม ฟังเป็นเครื่องอยู่ แต่เวลาถ้ามันจะเกิดปัญญา ปัญญามันเกิดจากเราไง
เวลาของครูบาอาจารย์ เราจะพูดประจำว่าของครูบาอาจารย์เป็นคติธรรม เป็นคติธรรมคือหัวเชื้อ หัวเชื้อกระตุ้นให้เราได้คิด พอหัวเชื้อนี่เราฟังไปคิด เราฟังแล้วมันกระตุ้นความรู้สึกเรา กระตุ้นถึงเรื่องกิเลส เรื่องที่มันหมักหมมในใจเรา ของมันอยู่กับเรานี่แต่มันไม่มีใครไปสะกิด มันก็โอ๋ย! ฉันพระอรหันต์ ว่างหมดเลย แต่ถ้าใครไปสะกิดนะ โอ้โฮ! มันฟูออกมาเลย
นี่ก็เหมือนกัน เวลาฟังครูบาอาจารย์เอาแบบนั้นให้มันเป็นหัวเชื้อ ให้มันไปกระตุ้นใจเรา พอกระตุ้นใจเรานะ กระตุ้นกับความคิดเรา พอกระตุ้นแล้วเราจะมีเหตุผล แล้วมันคืออะไร มันอย่างไร นี่ปัญญาเราจะเกิดอย่างนั้น ถ้าฝึกหัดอย่างนี้ ฝึกหัดของเราบ่อยๆ ครั้งเข้า มันจะทำให้เราภาวนาของเราขึ้นมาไง ถ้าไม่อย่างนั้นมันเป็นอย่างนี้ กิเลสอยู่ครบไง นู่นก็รู้แล้ว ภาวนาแล้วก็จืดชืด ภาวนาแล้วลงทุนลงแรงตั้งเยอะ เวลาได้ ได้นิดหนึ่ง ไม่อยากทำ มันมีข้อโต้แย้งตลอด
แต่ แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกนะ นักประพฤติปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติให้มันเป็นสัมมาทิฏฐิ ผู้ที่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม อย่างน้อยนะ ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี ต้องได้เป็นพระอนาคามี ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี ๗ ปีกับชีวิตเราทั้งชีวิต เราจะมุมานะไหม แล้วทำให้มันสมควรแก่ธรรม ถึงให้เป็นสัมมาทิฏฐิ ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี คนเราจะล่วงพ้นทุกข์ด้วยความเพียร
เวลาเราระลึกถึงธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัม-พุทธเจ้าข้อนี้ เรากระตุ้นหัวใจเราให้ฮึกเหิม ให้ขยันหมั่นเพียรนะ สมบัติพัสถานหากันมาเยอะแยะ แล้วต้องใช้จ่ายไปทุกวัน แต่ถ้าสัจธรรมนั้นมันเกิดในใจเราล่ะ มันทำอย่างนี้ปั๊บมันก็จะมาแก้ที่ว่า “นู่นก็รู้แล้ว นี่ก็เบื่อหน่ายๆ เบื่อหน่าย” เอ็งได้กินหรือยังล่ะ เบื่อหน่าย รู้จักรสมันหรือเปล่า รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง ไอ้นี่รสกิเลสทั้งนั้น ไอ้ความเบื่อหน่าย ไอ้ความรู้แล้ว กิเลสมันปั้นแต่งมา มาหลอกเราทั้งนั้น แต่เรามีปัญญาสู้ทันมันไหม
ถ้าเรามีปัญญาสู้ทันมัน ไม่อย่างนั้นหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านเอาตัวรอดมาได้อย่างไร ครูบาอาจารย์ที่ท่านประพฤติปฏิบัติมา ดูสิ ชีวิตวันๆ จำเจไหม ตั้งแต่เช้าทั้งวันจำเจไหม มันจำเจ เพราะคุ้นชินก็จำเจ พอจำเจมันก็เหงาหงอย แต่ถ้ามันกระตุ้นนะ เหมือนไฟ ไฟมันเผาลนตลอด มันไหม้ตลอด โอ้โฮ! มันแตกผลัวะๆ มันตื่นตัวตลอด
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเรามีสติปัญญานะ ตื่นตัวตลอด เขยใหม่ไม่เคยคุ้นชินกับอารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น ไม่เคยคุ้นชินกับใดๆ ไอ้นี่ไม่ใช่คุ้นชิน ไอ้นี่มันเอามาหลอกเลย หลอกแล้วเราก็เชื่อมันไง เวลาจิตมันเสื่อม เวลาเสื่อม ทีนี้มาคิดอย่างนี้ แต่เราชอบคำว่า “กิเลสมันอยู่ครบ” มันอยู่ครบจริงๆ เพราะแค่ทำความสงบของใจมันก็แค่สงบระงับชั่วคราว ยังไม่จิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นกาย จิตเห็นเวทนา จิตเห็นจิต จิตเห็นธรรมตามความเป็นจริง
ถ้าจิตเห็นจิต จิตเห็นสติปัฏฐาน ๔ ถ้ามันพิจารณาของมันไม่ได้ ตทังคปหานมันก็ยังปล่อยชั่วคราว มันก็แค่ปล่อย มันรู้เท่า รู้เท่า รู้เท่าตอนมีกำลัง เวลาจิตมันเสื่อมนะ เวลาสมาธิมันอ่อนลง โอ้โฮ! มันฟูขึ้นมานะ ในวงกรรมฐานเขาเรียกกรรมฐานม้วนเสื่อ เวลาม้วนเสื่อคือว่ามันท้อแท้ ม้วนเสื่อคือเก็บฉาก เก็บโรงไง เลิก กรรมฐานม้วนเสื่อคือมันจะไม่ทำ
แล้วดูสิ นักปฏิบัติเลยมาหาเราเยอะ “หลวงพ่อ เมื่อก่อนภาวนาอย่างนี้ๆ ดี๊ดี”
“เมื่อไหร่”
“๑๐ ปีที่แล้ว ๒๐ ปีที่แล้ว”
ไอ้คนที่ภาวนามา ๑๐ ปีที่แล้ว ๒๐ ปีที่แล้ว ภาวนามาแล้วเขาเบื่อหน่าย คือเขาจนตรอก เขาไปไม่ได้ เขาเลิกไป พอเลิกไป ไปอยู่ทางโลกมันก็ทุกข์อีก พอทุกข์อีกกลับมาปฏิบัติใหม่ พอกลับมาก็มาฟื้นฟูใหม่ แล้วพอฟื้นฟู พอมันทุกข์มันยาก เลิกดีกว่า ไปแล้ว ๒ ปี ๓ ปี กลับมาอีกแล้ว ปฏิบัติใหม่
เราจะบอกว่า มันจนตรอก มันไม่มีทางไป ไม่มีทางไหนหรอก ถ้ามีทางแล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดานะ ถ้ามีทางที่สะดวก ทางที่เรียบง่ายนะ องค์สมเด็จพระสัมมา-สัมพุทธเจ้าบอกพวกเราแล้ว มันไม่มีทางไป กิเลสมันเป็นแบบนี้ เหมือนการรักษาโรค โรคมันเป็นอย่างนี้ มันต้องใช้ยาอย่างนี้ มันถึงจะรักษาโรคนี้ได้
นี่ก็เหมือนกัน กิเลสมันเป็นแบบนี้ มันต้องใช้มรรค ใช้ศีล สมาธิ ปัญญาเข้าไปรื้อค้นกับมัน ก็เอาธรรมจักรเข้าไปฟาดฟันกับมัน ไม่มีทางไหนหรอก ถ้ามีทางอื่น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมนี้ไว้ไง พอวางธรรมนี้ไว้ เราถึงจะต้องเข้มแข็ง ไอ้กรณีอย่างนี้กรณีที่เขาบอกว่า นู่นก็รู้แล้ว นี่ก็จืดชืด นั่นก็ทำแล้วไม่ได้ผล มันเป็นอย่างนี้ นี่พูดถึงข้อที่ ๑.
“๒. เรื่องกามราคะมันมีผลกับผมมาก”
ถ้ามันมีผลกับผมมาก เวลามันมีความรุนแรงมาก แล้วเวลาเราสู้มันไม่ได้ เหมือนกับเราต้องยื่นหน้าให้มันตบเล่นเลย ฉะนั้น เราจะสู้กับมัน ก็บอกว่า “เขาเป็นฆราวาส แล้วจะถือศีลก็ลำบาก” ไม่ลำบาก เราถือศีล เราถือศีลธรรมดาไง
อย่างเช่น เห็นไหม พระ พระนี่อวดอุตริมนุสธรรม ธรรมที่เหนือมนุษย์ อวดอุตริ ถ้าในอนุปสัมบันเป็นปาจิตตีย์ ถ้าไม่มีในตนเป็นปาราชิก ฉะนั้น เวลาไปพูดอะไร คนเขาสงสัย ฉะนั้น เวลาเดี๋ยวนี้พระเขาถึงจะมีหน้าม้าๆ ไง เอาแม่ชีเอย เอานักบวชอยู่ข้างหน้า พระอยู่ข้างหลังไง หากินกันอยู่อย่างนี้ นี่พูดถึงพระเพราะอะไร เพราะมันมีศีล มันบัญญัติไว้ชัดเจน เพราะว่ามันเหมือนกับกฎหมาย กฎหมายมันบังคับใช้อยู่ ใครทำผิดกฎหมายก็ผิดกฎหมาย
นี่ก็เหมือนกัน ธรรมวินัยมันมีอยู่แล้ว ฉะนั้น พระทำอะไรผิด มันเห็นกันชัดๆ ไง ถ้าคนเขารู้เขาเลี่ยงบาลีซะ แต่ถ้ามันเป็นฆราวาส ฆราวาสปฏิบัติ เพราะอะไร เพราะฆราวาสไม่มีปาราชิก เวลาเป็นฆราวาสมีปาราชิกไหม ไม่มี ไม่มี พอฆราวาสปฏิบัติแล้วเขาพูดไปเรื่อยเปื่อย ฮูย! นิพพาน ๕ รอบ ๖ รอบมันก็พูดอยู่นั่นน่ะ ไม่เป็นไร ไม่มีใครไปปรับอะไรเลย
แต่นี้ย้อนกลับมาเรื่องถือศีลเขานี่ไง เขาบอกว่า “เขาถือศีล แล้วถือศีล ๘ มันทำไม่ได้ เพราะยื่นของให้ผู้หญิงไม่ได้”
คือเราทำงานกันมันยื่นของให้กันไม่ได้ อะไรไม่ได้ ก็เลยไม่รักษาศีล ตอนนี้จะขอรักษาศีล ๕ ได้ไหม แต่เรื่องกาเมฯ เรื่องอะไรนี่ เรื่องอพฺรหฺมจริยา เราจะทำพอแต่ว่าถือศีล ๘ ฉะนั้น การยื่นให้ เราไม่ได้เจตนาจะไปถูกต้องตัวเขา ในการทำงานกัน เอกสารเรายื่นให้เขา เขาก็รับเอกสารไปมันก็จบ มันผิดศีลตรงไหน
แต่เวลาพระ เห็นไหม พระ ผู้หญิงมาประเคนของ พระห้ามฉันเลย ผู้หญิงถือของมา ห้ามฉันเลย ทำไมพระเอาผ้าวางล่ะ พระเอาผ้าวาง เห็นไหม แล้วโยมผู้หญิงก็วางอาหารนั้นบนผ้าใช่ไหม เขาเรียกว่าของเนื่องด้วยกาย เพราะถือว่าประเคนขึ้น ถ้าการประเคนขึ้น พระจับผ้านี้ไว้ แล้วโยมเอาอาหารมาก็วางบนผ้านั้น เขาเรียกว่าประเคนขึ้น เพราะว่ามันเกี่ยวเนื่องกับพระจับผ้านี้อยู่ มันเนื่องด้วยกาย ก็เป็นสิทธิ์ของพระองค์นี้ ว่าอย่างนั้นเถอะ นี่ไง เวลาพระเขายังมีการประเคน
แล้วคำถามไง “ถ้าถือศีล ๘ แล้ว ถือว่าเป็นฆราวาสแล้วทำไม่ได้ เพราะว่ามันมีเพศตรงข้าม เวลาทำงานมันติดขัด”
เวลากิเลสนะ มันจะเจาะยาง มันทำให้เราทำอะไรก็ไม่ได้ แต่ถ้ากิเลสเจาะยางนะ ศีล ๕ ก็คือศีล ๕ ศีล ๘ ก็คือศีล ๘ แต่ถ้าเราถือศีลของเราก็ถือศีลของเรา แต่นี้เวลาถือศีลของเรา เห็นไหม กิเลสของเรามันมากกว่า เราคุ้นชินกับทางโลก เราก็เข้าใจว่าเราจะไม่ได้เลย เราเห็นอยู่ พวกแม่ชี เวลาพวกโยมผู้ชาย ไม่ได้ ไม่ได้ ไม่ได้ก็คือไม่ได้ แต่ไม่ได้ของเรานะ เราเก็บไว้ในใจ
ดูหลวงปู่ผางท่านฉันมังสวิรัตินะ จนท่านนิพพานไปแล้วยังไม่มีใครรู้ หลวงปู่ผางอยู่ที่ขอนแก่น ท่านฉันมังสวิรัตินะ ท่านไม่ฉันเนื้อสัตว์ แต่ไม่มีใครรู้เลย ท่านไปบิณฑบาตปกติ แต่เวลาท่านฉัน ท่านเลือกฉันของท่านเอง ฉันในบาตร ท่านฉันแต่มังสวิรัติคือฉันแต่ผัก ท่านไม่ฉันหรอกไอ้พวกเนื้อสัตว์ แต่ท่านไม่เคยบอกใครเลย แล้วก็ไม่มีใครรู้ แล้วก็ไม่มีใครทำมังสวิรัติถวายท่านด้วย แต่ท่านใช้แบบท่านเขี่ยเนื้อสัตว์ออก หลวงปู่ผางน่ะ คนจริงเป็นแบบนี้ ทำดีโดยไม่มีใครรู้เลย แต่ท่านจริงในตัวของท่าน
ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เราจะถือศีล ถ้าถือศีลทุกคนต้องเคารพฉันก่อน ไม่กล้าเข้ามาใกล้ฉันเลย เพราะฉันมีศีลนะ ห้ามเข้าใกล้ ไอ้ทิฏฐิมันเต็มตัวเลย เราทำของเรามันไม่ผิด เราไม่มีเจตนาทำอะไรผิดทั้งสิ้น
นี่พูดถึง เพราะว่าคำถามที่แล้วบอกว่า เขาท้อแท้ เขามีความทุกข์ความยาก จืดชืดไปหมดเลย ทำอะไรก็ไม่ก้าวหน้าเลย แล้วคำถามที่ ๒ ว่าถ้าเขาจะฟื้นฟู เรื่องศีลมันก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ทำให้เขาวิตกกังวล ถ้าเขาวิตกกังวลขึ้นมาทำอะไรก็ไม่ได้
เราไม่ต้องไปวิตกกังวล เพราะว่าเราเป็นฆราวาส ศีล ๕ ก็คือศีล ๕ ศีล ๕ เห็นไหม เวลาเราอยู่กับครูบาอาจารย์ ดูสิ เวลาเขาใช้อุบาย เวลาเขาสอนเด็ก เขาสอนเด็กเขาใช้อุบายไม่ให้เด็กมันทำความเสียหาย เดี๋ยวตำรวจจับนะ ตำรวจจับนะ นี่โกหกทั้งนั้น
แต่เราพูดเพื่อคุณงามความดีไง ไอ้คำว่า “โกหก” คือว่าเราต้มตุ๋น เราพยายามฉ้อฉลอยากจะได้ประโยชน์จากเขาๆ นี่โกหกชัดๆ เลย แต่เราไม่ได้โกหก เราปรารถนาดีกับคนอื่นนะ แต่เราพูดความจริง เราพูดตรงๆ ไป เขารับฟังเราไม่ได้ เราก็พูดเพื่อประโยชน์
ถ้าพูดเพื่อประโยชน์ นี่ก็เหมือนกัน อุบาย อุบายการปฏิบัติ โอ้โฮ! ถ้าจะพูดตรงๆ นะ โยมรับไม่ได้หรอก ใส่เข้าไปในใจ ในใจคิดอะไรใส่เข้าไปม้วนต้วนเลย นี่พูดก็ไม่ได้ นี่ไง บางอย่างมันต้องเป็นอุบายไง อุบาย ไอ้นี่พูดถึงคำว่า “อุบาย” อุบายคือพยายามบอกให้รู้ได้ บอกให้เขารู้ บอกให้เขาเข้าใจความหมักหมม ความชั่วในใจเรา ว่าอย่างนั้นเลย ไอ้นี่ ๑.
ฉะนั้น ที่ว่าเรื่องถือศีลนะ ถ้าถือศีลเพราะเราไปวิตกกังวลอย่างนี้ไง โยมจะทำงาน คนเราก็ต้องทำงานนะ ทำงานเราก็มีศีลมีธรรมของเรา แล้วมีศีลมีธรรมของเราคือความสุจริตของเรา
แล้วถ้าเราทำของเรา เขาบอกว่า “ถ้าสุจริตแล้วมันจะไม่ก้าวหน้า อยากจะก้าวหน้า ก้าวหน้าไปแล้วมันมีแต่ทุจริต ก้าวหน้าไปแล้วมันมีแต่หมักหมมไว้ มันมีแต่ความทุกข์ร้อนทั้งนั้น”
ใครจะทำอย่างไรมันเรื่องของเขา เรามีสติปัญญาของเรา เราพยายามหาความสุจริตปกป้องตัวเรา แล้วเราทำของเราไป ถ้าเราโตขึ้น เราเป็นหัวหน้าเขา ถ้าหัวหน้าเป็นผู้สุจริต หัวหน้าเป็นผู้มีน้ำใจ ลูกน้องรักมาก เพราะลูกน้องโดนบีบคั้นจนทุกข์ไปหมด
แต่เรื่องอย่างนี้มันเป็นเรื่องของสังคมโลก โลกคือหมู่สัตว์ สัตตะเป็นผู้ข้อง แล้วความเป็นข้องเกี่ยวกันไปหมด โลกมันเป็นอย่างนี้ มันเรื่องของโลกไง คนไง คนไม่ทั่ว บางคนก็คนเร็ว บางคนก็คนช้า การคนคือการหมุนเวียน มันเป็นอยู่อย่างนี้
ฉะนั้น เราอยู่กับโลกไง ถ้าอยู่กับโลก เวลาคนที่เขาจะประพฤติปฏิบัติ เขาถึงมาประพฤติปฏิบัติที่วัด ตัดจากโลกไง ตัดจากโลกแล้วมาปฏิบัติก่อน ทางโลกเขาบอกเลย ถ้าแน่จริงก็อยู่กับโลก ก็ปฏิบัติให้ได้สิ แหม! ปฏิบัติเป็นพระป่า ต้องไปอยู่ในป่า
อ้าว! ก็ทีแรกมันเป็นแบบว่าของใหม่ มันยังสดๆ อยู่ มันมีอะไรมันก็กระเทือนไปหมด เราแยกตัวออกไปซะ แยกตัวไปอยู่ป่าอยู่เขา ไปอยู่กับสัตว์ อยู่กับต้นไม้ ต้นหมากรากไม้ อยู่กับความสงบสงัด แล้วฝึกใจของเราให้มั่นคงก่อน ถ้าใจเรามั่นคง มันเป็นไปได้ เรากลับมาอยู่กับโลกมันอยู่สบายๆ แต่ถ้าเรายังไม่แยกตัวไปก่อน มันยังสดๆ ร้อนๆ อยู่ มันดูดกัน ดูดกัน กลืนกินกัน โอ้โฮ! ทุกข์ยาก ฉะนั้น เวลาจะประพฤติปฏิบัติมันต้องแยกออกมาก่อน ถ้าแยกออกมาก่อน เราทำของเรา
แต่นี้เขาเป็นฆราวาส แยกออกมาไม่ได้ ต้องทำหน้าที่การงาน เราก็พยายามรักษาของเรา เพราะเรามีอำนาจวาสนาแค่นี้ เพราะว่าธรรมโอสถนะ เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเพื่อหัวใจของเราไง
นี่เขาบอกว่า “ขออุบายหลวงพ่อช่วยแก้ไขด้วยครับ”
ปฏิบัติมาแล้ว การปฏิบัติบูชา ใครได้หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ มันมีคุณค่า คุณค่าเพราะว่าเรารู้จักพระพุทธศาสนา เวลาตายไป ไปเจอยมบาลเขาถามว่า “เคยเห็นธรรมะไหม” “ไม่เคย ไม่เคยเห็น” แล้วถามว่า “เป็นอย่างไรล่ะ ธรรมะ เคยเห็นคนเกิดไหม” “เคยเห็น” “เคยเห็นคนตายไหม” “เห็น” “นั่นน่ะสัจธรรม การเกิด แก่ เจ็บ ตาย และการไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย นั่นน่ะคือสัจธรรม เห็นธรรมไหม” “ไม่เห็น” เราไม่เห็นเลย เราอยู่กับมันจนคุ้นชินกับมันไง
นี่ก็เหมือนกัน เราหัดพุทโธของเรา หัดใช้ปัญญาอบรมสมาธิของเรา หัดใช้ปัญญาของเรา เราได้ศึกษาธรรมะ เวลามันมีประสบการณ์ เวลาไปไหนไปอย่างไร เขาเอาตัวรอดได้ เหมือนคนขับรถเป็น ขับรถเป็นรักษาอะไรเป็น เวลาเดินทางก็สะดวก แต่คนถ้าไม่เป็นต้องอาศัยคนอื่นตลอดเลย
ถ้าจิตมันไม่เคย เห็นไหม เหมือนนับถือพระพุทธศาสนาแต่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย อยู่ทางโลกเห็นธรรมะไหม ไม่เคยเห็น เห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตายไหม เห็น นั่นมันเตือนตลอด เห็นตั้งแต่เด็กเกิด เห็นตั้งแต่ผู้ใหญ่ขึ้นมา เห็นคนชราภาพ เห็นคนตาย นั่นมันเตือนตลอด เห็นธรรมะไหม เห็นอยู่ แต่ไม่เคยคิด เห็นอยู่ แต่เราไม่เคยใช้ประโยชน์เลย
นี่ก็เหมือนกัน เวลาเรากำหนดพุทโธ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เราประพฤติปฏิบัติแล้ว เรามีปัญญาของเรา มันยังเป็นบุญกุศลที่เราจะเดินทางไปได้ ฉะนั้น นี่พูดถึงเดินทางไปได้นะ
ฉะนั้น ถ้าขออุบาย ขออุบายเราต้องควบคุมของเราเอง ถ้าอุบายของเรานะ สิ่งที่ทำมาแล้วมันก็ยืนยันแล้วนะ ยืนยันว่าเราปฏิบัติแล้วเรารู้เราเห็นนะ แล้วอย่างที่ว่าเรื่องกามราคะ กามราคะ วัตถุกาม กิเลสกาม มันมีไปหมด มันเป็นจริตเป็นนิสัย ถ้าเป็นนิสัยเราตรงข้าม เราตรงข้ามนะ สิ่งที่ตรงข้ามมันแก้กันไง
ถ้าโกรธ โทสจริต เขาก็ใช้ความเมตตาเผื่อแผ่กันว่าเป็นญาติเป็นพี่น้องกัน ถ้าโลภะ โลภะเราก็ต้องใช้สติปัญญาเพื่อไม่ให้หลง ใครไม่ต้องมาหลอก หลงไปแล้ว ถ้ามันเป็นกามราคะ กามราคะเขาก็เอาอสุภะต่างๆ เพื่อแก้ไขกันไง
มันมีแบบว่าของคู่ที่จะแก้ไขกัน ถ้าเราแก้ไขกัน สิ่งที่มันมีอยู่เราก็ตั้งสติของเรา เราดูแลของเรา มันเป็นจริตนิสัยของเรา ถ้าจริตนิสัยเป็นอย่างนี้เราจะแก้ไขอย่างนี้ ถ้าแก้ไข แก้ไขเพื่ออะไร แก้ไขเพื่อให้มันไม่เดือดร้อนจนเกินไป แก้ไขเพื่อไม่ให้ไปกระทบกระเทือนใคร แก้ไขหัวใจของเราเพื่อประโยชน์กับเรานะ ถ้าปฏิบัติได้
ฉะนั้น เวลาปฏิบัติ ครูบาอาจารย์เราปฏิบัติ ปฏิบัติตามความเป็นจริง ท่านปฏิบัติเพื่อชำระล้างกิเลส แต่ถ้าครูบาอาจารย์ไม่เป็น เห็นไหม ปฏิบัติไปแล้วกิเลสอยู่ครบ เขาสอนเรื่องทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ทุกข์ดับ วิธีการดับทุกข์ มันสอนสมาธิ สมาธิ ฤๅษีชีไพรมันก็สอน สมาธิมันเป็นแค่ แค่ทำความสงบของใจ แล้วฝึกหัดใช้ปัญญาให้เห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง อันนั้นเป็นพระพุทธศาสนา สมาธิ ลัทธิศาสนาไหนเขาก็สอน แล้วถ้าสอนอย่างนี้ พระพุทธเจ้าไม่ต้องมาตรัสรู้หรอก ฤๅษีชีไพรมันตรัสรู้ไปแล้ว
พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนเรื่องสมาธิ พระพุทธเจ้าสอนเรื่องอริยสัจ เรื่องศีล เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา เรื่องสัจจะความจริงในสัจธรรม ถ้ามันเกิดขึ้นจริง ปฏิบัติจริง ผู้ใดเห็นธรรมสมควรแก่ธรรม ผู้นั้นจะมีคุณธรรมในหัวใจ เอวัง