พระจะดี
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๙ เมษายน ๒๕๕๙
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “ข้อสงสัยเกี่ยวกับพระวินัยที่เกี่ยวเนื่องกับบิณฑบาต”
กราบนมัสการหลวงพ่อที่เคารพ กระผมมีข้อสงสัยเกี่ยวกับพระวินัย ๒ ข้อครับ ๒ คำถามดังนี้คือ
๑. ถ้าหากเราธุดงค์ไปผ่านตามชนบทต่างๆ กรณีบิณฑบาตตอนเช้าแล้วบังเอิญเดินผ่านร้านค้า แล้วลูกค้าที่มาซื้อของที่ร้านเขานิมนต์ให้หยุดรับบิณฑบาต เราก็หยุดรับตามที่เขานิมนต์ แต่เผอิญว่าตอนที่เขาเอาของมาใส่บาตร เขาหยิบของมาเลย ยังไม่ได้จ่ายตังค์ เนื่องจากบางคนเขาต้องซื้อของอื่นๆ เพิ่มอีก หรือบางรายก็นั่งทานชากาแฟที่ร้านต่อ หรือบางคนก็ยังไม่จ่ายในวันนั้น ลงรายการไว้รอจ่ายงวดเดียว ซึ่งขณะที่เขาใส่บาตรนั้น เจ้าของร้านก็รู้เห็นอยู่ด้วย
ปัญหาคือ เรารับบิณฑบาตของเขาแล้วเกิดวิตกขึ้นมาภายหลังว่า แล้วถ้าเขาไม่จ่ายตังค์ล่ะ ตัวเราก็ไม่เท่ากับรับของโจรหรอกหรือ
๑/๑. ตามกรณีที่กล่าวมานี้ เราจะต้องอาบัติปาราชิกหรือไม่ หากไม่ เราจะต้องอาบัติใดบ้างครับ
๑/๒. หากเจอกรณีดังกล่าวมานี้ในครั้งต่อๆ ไป เราควรปฏิบัติตนอย่างไรจึงจะเหมาะสมครับ บอกให้เขาจ่ายตังค์ก่อน หรืองดรับบิณฑบาตเลยได้ไหมครับ
๒. หากเราเดินบิณฑบาตไปแล้วมีโยมนิมนต์ให้หยุดรอหน้าบ้าน สักพักหนึ่งได้ยินเสียงตีไข่และเจียวไข่ ไม่นานนักเขาก็ออกมาใส่บาตรเรา พร้อมๆ กับในมือถือข้าวและไข่เจียวอุ่นๆ
๒/๑. เราจะสามารถรับบิณฑบาตที่เขาใส่ได้หรือไม่ หากเรารับ นำมาฉัน จะอาบัติอะไรหรือไม่ประการใดครับ (เพราะเคยศึกษาในประวัติหลวงปู่ตื้อที่มีเณรพรากชีวิตไก่ แล้วทำอาหารมาถวายหลวงปู่ตื้อ แล้วท่านไม่รับ แต่กรณีที่เจอมานี้เป็นไข่ไก่ ไม่ใช่ตัวไก่ ก็เลยไม่แน่ใจครับ)
๒/๒. กรณีที่ญาติโยมนำไข่เจียวมาใส่นั้นถือว่าเป็นปาณาติบาตหรือไม่ประการใด กราบขอความเมตตาหลวงพ่อให้ความกระจ่างด้วยครับ ขอบพระคุณ
ตอบ : นี่พระนะ เขาบอกเขาเป็นพระใหม่ เวลาออกไปธุดงค์แล้วมีปัญหามาอย่างนี้ ทั้งๆ แค่บิณฑบาตไง
การบิณฑบาต บิณฑบาตเป็นวัตร ถ้าเป็นพระนะ ถ้าเป็นพระกรรมฐาน ก่อนที่จะบวชมันจะเป็นปะขาวก่อน ถ้าเป็นปะขาวแล้วเดินตามพระบ้าง แล้วอุปัฏฐากพระบ้าง เรื่องกรณีอย่างนี้มันจะตกไปเลย เพราะว่าเราจะบอกว่าต้องศึกษาก่อนไง ศึกษานักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก แล้วประโยคที่ ๑ ประโยคที่ ๒ ประโยค ๓
อย่างที่ว่านี่ เพราะเราอยู่ในวงการพระมาเหมือนกัน เวลาศึกษามาแล้ว ถ้าศึกษา คนที่จิตใจเขามั่นคง ศึกษาแล้วมันก็พอจะแก้ความสงสัยได้ คนที่มีความสงสัยอยู่มากๆ ศึกษาแล้วอย่างไรก็ยิ่งสงสัย ยิ่งศึกษามากมันยิ่งมีช่องทาง ทางโลกเขาเรียกว่าเลี่ยงบาลีๆ ยิ่งศึกษามากยิ่งหลบหลีกได้เยอะมาก นี่พูดถึงว่าถ้าคนมันไม่ซื่อสัตย์กับตนไง
แต่ถ้าคนซื่อสัตย์กับตนนะ ถ้าเป็นพระกรรมฐาน กรณีอย่างนี้มันจะจบ จบตั้งแต่เวลาเป็นปะขาว เพราะเป็นปะขาวมันได้รับรู้ มันได้อุปัฏฐากพระไง เวลาพระออกบิณฑบาต สิ่งกรณีอย่างนี้มันเกิดขึ้นได้เยอะมาก
ทีนี้พอเราศึกษาด้วยตนเอง เพราะเราเป็นฆราวาสใช่ไหม เราก็ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเขาเขียนว่าเขาได้เคยอ่านประวัติของหลวงปู่ตื้อ การกระทำอย่างนั้นๆ เราได้ศึกษามา ศึกษาอย่างนี้มันศึกษาจากประวัติของครูบาอาจารย์ ประวัติของครูบาอาจารย์ ท่านจะเอาประสบการณ์ของท่าน มันไม่ได้เกี่ยวกับวินัยบางข้อ ท่านไม่ได้เอามาให้เราศึกษาโดยตรง ถ้าศึกษาโดยตรง แต่เวลาเราเป็นปะขาว กรณีอย่างนี้เราจะเห็นพระทำ แล้วมันทำไม่ใช่ว่าเถรส่องบาตรคือว่าทำตามๆ กันมาไง
คนที่เขามีสติมีปัญญา เวลาครูบาอาจารย์ทำสิ่งใด เขาจะศึกษาว่ามันมีที่มา ที่มาอย่างใด อย่างเช่นเวลาหลวงตาท่านอยู่กับหลวงปู่มั่น ท่านบอกว่าท่านเคารพหลวงปู่มั่นด้วยหัวใจเลย ด้วยหัวใจเพราะอะไร
๑. เวลาลังเลสงสัยว่ามรรคผลมีหรือไม่ ท่านก็ชี้เลยบอกว่า “มหา มหามาหามรรคผลนิพพานใช่ไหม มรรคผลนิพพานไม่ได้อยู่บนอากาศ ไม่ได้อยู่บนวัตถุ ไม่ได้อยู่บนสิ่งใดเลย มันอยู่ในหัวใจของสัตว์โลก”
เวลาสงสัยข้อสิ่งใดขึ้นไปหาท่าน ท่านก็กำราบมา หงายท้องลงมาทุกที ด้วยความเคารพ ท่านเคารพหลวงปู่มั่นอย่างสูง แต่ท่านพูดเอง ขนาดหลวงปู่มั่นท่านพูดถึงธรรมวินัยข้อใดก็แล้วแต่ ท่านก็เอามาเปิดเทียบเคียงในธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันเข้ากันได้ เข้ากันได้ตลอดเลย เราศึกษาแล้วเราต้องค้นคว้าของเรา เราค้นคว้าของเราด้วย เวลาท่านขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น ท่านบอกท่านขึ้นไปหาด้วยความเคารพ
คำว่า “ความเคารพ” เพราะเราภาวนาไปแล้วเราจะมีข้อลังเลสงสัย เราเห็นนิมิต เราไปเห็นสิ่งใด เขาเรียกว่าความรู้ของตน ถ้าความรู้ของตน แต่เป็นความรู้ที่ผิด ความรู้ที่มีอวิชชา ความรู้ที่มีสมุทัยเจือปนอยู่ แต่เรารู้ พอเรารู้ขึ้นไป เราก็ขึ้นไปหาท่าน เวลาท่านแก้ปัญหา ท่านก็พูดโดยหลักการของท่าน แต่นั่นเป็นความจริงของท่าน
แต่ของเรา เรารู้ เวลาท่านบอกว่าท่านโต้แย้ง ท่านโต้เถียง เถียงกับหลวงปู่มั่นเอาเป็นเอาตาย แต่ด้วยความเคารพ ไม่ได้เถียงด้วยทิฏฐิมานะ เถียงด้วยความรู้ความเห็นของเรา ใครไปรู้ไปเห็นอะไรขึ้นมา มันก็เรารู้เราเห็นน่ะ เราเป็นคนรู้คนเห็นของเราเอง ฉะนั้น เราก็พูดของเราตามประสาโง่ๆ ประสาที่มีกิเลส
แต่เวลาท่านไม่มีกิเลส ท่านตีเอา โอ้โฮ! กำราบเอาหงายท้องเลย พอหงายท้อง เพราะมันต้องเหนือเหตุเหนือผลน่ะ เหตุผลของเรา เหตุผลของทางโลกๆ เหตุผลของท่าน เหตุผลของธรรมะ เวลาท่านซัดมาทีหนึ่งหงายท้องหมดน่ะ
นี่เขาว่าเถียงโดยความเคารพ ถ้าเถียงโดยความเคารพ เวลาพระกรรมฐานที่ว่ารู้แจ้งๆ มันเป็นข้อเท็จจริง เป็นการฝึกหัด มันเป็นการฝึกหัดจากเด็กในโรงงานเลย ฝึกขึ้นมา เป็นขึ้นมาจากการกระทำเลย
แต่ของเรา เวลาพูดถึงเวลาพระต้องศึกษา เวลาศึกษา เวลาพระเขาบอกว่าบวชแล้วต้องศึกษานักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก ต้องครบ ๕ พรรษาแล้วค่อยออกธุดงค์ เวลาจะออกธุดงค์ขึ้นมา ไฟมันมอดหมดแล้ว พอ ๔ พรรษา ๕ พรรษา มันจะสึกอย่างเดียว มันไม่ธุดงค์ มันจะสึก แต่ถ้าไฟมันยังโชติช่วง ไฟมันยังแรงอยู่ เวลาออกไปจะมีปัญหา ถ้ามีปัญหานะ ถ้ามีครูบาอาจารย์ที่ดี ครูบาอาจารย์ท่านก็จะพยายามชี้นำ แล้วเราดูไง
กรณีบวชใหม่ๆ เวลาธุดงควัตร ธุดงควัตร เวลาบิณฑบาตไป เขาห้ามนะ ห้ามละเว้นขันใดขันหนึ่ง จะต้องเรียงลำดับไปไง เพราะว่ามันมีคนรวยคนจน คนที่พอใจไม่พอใจไง ไอ้เราก็จะเอาแต่ของดีๆ ไง
เวลาธุดงควัตร บิณฑบาตห้ามลัดขัน คือห้ามลัดที่เขาเอาขันมาตั้งไว้ ห้ามลัดคนที่ตั้งใจมาใส่บาตร เราห้ามหลีกห้ามเร้น ต้องรับหมด จะดีจะจน จะสูงจะต่ำ เราต้องรับทุกขัน นี่ธุดงค์ ๑๓ นะ ถ้าธุดงควัตร บิณฑบาตเป็นวัตรๆ แล้วบิณฑบาตเป็นวัตร ต้องทอดสายตาลงต่ำไม่ให้เกิน ๓ ก้าว
ทีนี้ก็บอกว่าทอดสายตาลงต่ำไม่เกิน ๓ ก้าว อยู่ในกรุงเทพฯ รถชนตายหมด เวลามา พระบิณฑบาต รถเอาไปกินหมดเลย แต่ในเสขิยวัตรนะ เวลาจะบิณฑบาตต้องทอดสายตาลงต่ำ พ้นจาก ๓ ก้าว ห้ามพ้นจาก ๓ ก้าว ห่มผ้า เวิกผ้าออก เอาบาตรคล้อง ในบุพพสิกขาก็สอนไว้ ในต่างๆ ก็สอนไว้ๆ แต่เราทำได้มากน้อยแค่ไหน
ฉะนั้น พระกรรมฐาน เวลาเข้ามาเขาต้องขอนิสัย ต้องได้นิสัย การได้นิสัยก็ฝึกหัดกันตรงนี้ เห็นไหม เวลาออกไปบิณฑบาตเป็นแถว แล้วจะทำเหมือนกัน เหมือนกับหุ่นยนต์เลย แต่หัวใจไม่เหมือนกัน หัวใจมันดิ้นรน หัวใจของคนแตกต่างกัน แต่ทำอย่างนั้นเพราะอะไร เพราะเป็นธรรมวินัย เป็นสิ่งที่ว่าทิฏฐิเสมอกัน ความเห็นเสมอกัน เราถึงร่วมสังฆกรรมกันโดยที่ความเสมอภาค
ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเวลาถือธุดงควัตรด้วยบิณฑบาตเป็นวัตร ไม่ลัดขันคือไม่เลือก ต้องบิณไปตามลำดับ แล้วถ้าบิณมาแล้ว ภาชนะเดียว ถ้าโดยเสขิยวัตร โดยวัตร ภิกษุให้บิณฑบาตได้ไม่เกิน ๓ บาตร เต็มบาตรได้ ๓ ครั้ง ถ่ายได้ ๓ ครั้ง แต่หลวงตาท่านบอกท่านถ่ายบาตรทีหนึ่ง ๓๐๐ กว่าบาตร วันๆ หนึ่งน่ะ ท่านถ่ายเอา ท่านบอกท่านถึงไม่บิณฑบาตเพราะมันไม่ไหว มันบิณฑบาตแล้วมันถ่าย มันเวียนหัว ท่านรักษาธาตุขันธ์ไว้เพื่อให้ท่านดำรงชีวิตอยู่กับเรา ให้เป็นมงคลชีวิตกับพวกเรา ท่านถึงได้งดบิณฑบาต
แต่ตามธรรมวินัย ถ้าเราบิณฑบาตนะ เราจะถ่ายบาตรได้ไม่เกิน ๓ ครั้ง เพราะว่ามีคนเขาโจมตีว่า พระบิณฑบาตแล้วฉันหมดหรือ พระสะสมได้อย่างไร พระเห็นแก่ตัว เขาติเตียนทั้งนั้นน่ะ แต่ถ้าพระที่มีคุณธรรม พระที่เป็นที่พึ่งของสังคม เขาบิณฑบาตเอาหัวใจของสัตว์โลก
ถ้าพูดอย่างนี้ปั๊บ “หลวงพ่อก็บอกห้ามเลี่ยงบาลี หลวงพ่อน่ะจะเลี่ยงแล้ว”ห้ามเลี่ยงบาลีนะ แต่ทีนี้ห้ามเลี่ยงบาลี ธรรมและวินัย ธรรมและวินัย วินัยจะบังคับเลย ต้องอย่างนี้ เสขิยวัตรอย่างนี้ แต่เวลาหลวงตาท่านบิณฑบาต ท่านบอกว่าท่านบิณฑบาตเอาหัวใจคน การเอาหัวใจคนนี่เป็นธรรม เอาหัวใจคน ไม่ทำให้เขาเสียใจ
ศรัทธาไทย คนที่เขาจะมาเคารพนับถือศาสนา เขาก็ต้องใช้ปัญญาของเขาแยกแยะอยู่แล้วว่ามันน่าเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน เห็นไหม คนที่ยังไม่นับถือศาสนา ก็พยายามจะทำให้เขาเชื่อถือ ถ้าเขาเชื่อถือแล้ว ถ้าเราไปทำลายน้ำใจเขา เขาก็บอกว่าอุตส่าห์นะ อุตส่าห์มานับถือ ถ้าอย่างนั้นเขาก็เลิกไง ใครทำให้ศรัทธาไทยตกล่วงก็เป็นอาบัติเหมือนกัน
ฉะนั้น เวลาเอาใจคนๆ สิ่งที่เขาทำ แต่คนที่จะเอาใจคนได้มันต้องเป็นนักว่ายน้ำไง คนที่ว่ายน้ำเป็นจะไปช่วยคนที่จมน้ำได้ คนที่ว่ายน้ำไม่เป็นโดดไปช่วยคนจมน้ำ ตายหมด เราจะเอาน้ำใจเขา เรามีคุณธรรมหรือไม่ เราจะเอาน้ำใจเขานี่ ฉะนั้น คนที่จะเอาตัวรอดได้มันถึงต้องพยายามเข้มงวดกับตัวเองไง
ถ้าการเข้มงวดกับตัวเอง ธรรมวินัยบัญญัติไว้อย่างไร เราพยายามจะทำอย่างนั้นน่ะ วินัยบัญญัติอย่างไร เราทำอย่างนั้น แล้วทำอย่างนั้น บางทีมันก็ขัดแย้งกับใจของคนบ้าง ไม่ได้ดั่งใจของคนบ้าง ไอ้ที่ไม่ได้ดั่งใจของคน ถ้าถึงเวลาที่เขาเข้าใจได้ เขาจะเคารพบูชาเราเอง ถ้าเขาเข้าใจเราไม่ได้ เห็นไหม
นี่พูดถึงว่าอารัมภบทมาซะเยอะเลย เพื่อให้เห็นว่า เวลาพูดโดยธรรมโดยวินัย วินัยโดยกฎหมายต้องเป็นอย่างนั้น แต่โดยธรรม โดยธรรมน่ะ โดยธรรมนะ ดูสิ เวลาหลวงตาท่านเล่าให้ฟัง ท่านอยู่ในป่าอย่างนี้เหมือนกับผู้ถาม ท่านบิณฑบาต แล้วพอบิณฑบาตได้แต่ข้าวเปล่ามา วันหนึ่งมาถึงมีโยมย้ายบ้านมาใหม่ เขาขอดูบาตรว่าวันนี้บิณฑบาตได้อะไรมาบ้าง “โอ้โฮ! ไม่ได้อะไรเลย แล้วจะไปฉันอย่างไรล่ะ” ก็สั่งให้ลูกสาวไปตำปลาร้า ท่านก็เห็นอยู่ ไปเปิดในไหปลาร้า
ภิกษุห้ามฉันเนื้อดิบ ปลาร้ามันเป็นปลาร้าดิบ ถ้าปลาร้าจะถวายพระ เขาจะเอาปลาร้ามาหลนไฟให้สุกก่อนแล้วค่อยตำปลาร้ามาถวายพระ
ทีนี้เขาเอาปลาร้ามา เขาตำๆ เลย เพราะทางอีสานเขากินกันอย่างนั้น ท่านก็ยืนดูอยู่ ท่านก็เห็นอยู่ แล้วก็มาใส่บาตร แล้วเขาก็สาธุ ได้ปลาร้าไปแล้ว ท่านอาจารย์คงฉันด้วยมีความสุข ว่าอย่างนั้นเถอะ เขาภูมิใจ เขาทำด้วยความเต็มใจภูมิใจว่า ทีแรกมาดูบาตร โอ้โฮ! มีแต่ข้าวเปล่าแล้วจะไปฉันอย่างไรล่ะ แล้วไปตำมาก็ปลาร้าดิบ แล้วเขาก็เข้าใจของเขาอย่างนั้นว่าพระฉันได้
ท่านบอกว่า เอาน้ำใจเขา เขาสาธุ เขาปลื้มใจนะ โอ้โฮ! เขาได้บุญเยอะเพราะเขาชื่นใจของเขา แต่เวลาท่านบิณฑบาตไปแล้ว ไปถึงท่านธุดงค์ไปในป่าไง ท่านก็เอาปลาร้าไปวางไว้บนขอนไม้เพื่อให้ทานสัตว์ ท่านก็กลับไปฉันข้าวเปล่าๆ อย่างเดิม เพราะมันฉันไม่ได้ ถ้าฉันนะ เป็นอาบัติปาจิตตีย์ทุกคำกลืน หนึ่งคำก็อาบัติปาจิตตีย์ตัวหนึ่ง หนึ่งคำก็อาบัติปาจิตตีย์ตัวหนึ่ง ท่านก็เอานี่ไปวางไว้
ถ้าพูดถึงทางเศรษฐกิจนี่เสียของใช่ไหม เขาใส่มาของเขา อู้ฮู! เขาก็ทุกข์ก็จนนะ เขาอุตส่าห์มาทำปลาร้าให้ พระบิณฑบาตไปแล้วก็ไม่ฉันของเขา แต่คุณค่าหัวใจของเขามหาศาลเลย
นี่พูดถึงคนว่ายน้ำเป็นไง รู้ว่าถ้าเราฉัน เราก็เป็นอาบัติ ถ้าเราปฏิเสธเขา ก็ไปทำลายน้ำใจเขา ฉะนั้น ก็ให้เขาใส่มา แต่เราก็พยายามรักษาตัวเราโดยเอาสิ่งนั้นไปสละให้เป็นทานให้คนอื่น ให้เป็นทานกับสัตว์ แต่เราก็ยังฉันข้าวเปล่าอยู่ นี่คนว่ายน้ำเป็น ถ้าคนว่ายน้ำเป็นนะ มันจะแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้าได้ แล้วไม่ทำให้กระทบกระเทือนต่อหัวใจของใคร แต่ถ้าคนว่ายน้ำไม่เป็นนะ “ไม่ได้ๆ” ไอ้เขาก็เสียใจ ไอ้เราก็แหม! เก่งมากเลย ได้อวดวินัย วันนี้ได้เทศน์สอนโยม มันว่ายน้ำไม่เป็น ถ้าว่ายน้ำเป็นมันจะแก้ไขสถานการณ์สิ่งต่างๆ ได้ นี่พูดถึงเวลาหลวงตาท่านทำอย่างนั้นนะ
เราจะเข้ามาที่ปัญหา ปัญหาคำถามที่ ๑. ถ้าเราธุดงค์ไปในชนบท ขณะที่บิณฑบาตตอนเช้า บังเอิญที่ร้านค้านั้นมีลูกค้าเขาซื้อของมาใส่บาตร แล้วเราให้หยุดรับ หยุดนิมนต์ เราก็รับเขา เขานิมนต์มันถูกต้องดีงามอยู่แล้ว แต่บังเอิญไปเห็นว่าเขาหยิบมาโดยไม่ได้จ่ายตังค์ ถ้าไม่ได้จ่ายตังค์ มาใส่ของเรา แล้วถ้าใส่แล้วเขาจะจ่ายตังค์หรือไม่จ่ายตังค์ ถ้าเขาไม่จ่ายตังค์ไปแล้ว ถ้าตอนหลังถ้าเกิดเขาไม่ได้จ่าย เราจะเป็นผู้รับของโจรหรือไม่
ไม่มีปัญหาทั้งสิ้น ไม่มีปัญหา เพราะภิกขาจาร เราบิณฑบาตเป็นวัตร พระเรา เราบิณฑบาตเป็นวัตร เพราะเราธุดงค์ไป เวลาเราธุดงค์ไป เราไปแต่ตัวไง เรามีบริขาร ๘ ไป ชีวิตนี้ฝากไว้กับบริษัท ๔ อุบาสก อุบาสิกา ชีวิตเราฝากไว้กับสังคม ถ้าสังคมเขาใส่บาตรมา เราก็ธุดงค์ได้ เวลาครูบาอาจารย์เราธุดงค์ไปก็เป็นอย่างนี้ หลวงปู่ชอบท่านมาจากพม่า ๓ วันไม่ได้บิณฑบาตเลย จนเทวดามาใส่บาตรน่ะ เวลาเทวดามาใส่บาตรพระ มันเพราะอะไร เพราะท่านมีคุณธรรม อย่างพวกเราไม่ต้องหรอก ให้มีคนใส่บาตรก็พอแล้ว ใส่บาตร เรารักษาให้เขาดีๆ ก็พอ
ฉะนั้น สิ่งที่เรา ชีวิตของพระ เราอยากจะเป็นพระที่ดี เราอยากเป็นพระที่ดี เราต้องทำสิ่งที่ดีๆ ถ้าทำสิ่งที่ดี เราทำคุณงามความดีของเราให้มันถูกต้องดีงาม นี่ศีล เราเลี้ยงชีพชอบ ถ้าเลี้ยงชีพชอบขึ้นมาแล้ว ถ้าเราจะไปประพฤติปฏิบัติ เพราะเราธุดงค์ไป ธุดงค์ไปเพื่อฝึกหัดใจของเราไง แต่ทีนี้เราต้องดำรงชีพ ดำรงชีพด้วยภิกขาจาร ด้วยลำแข้งของเรา
ฉะนั้น ด้วยลำแข้งของเรา เราไปรู้ไปเห็นมาสิ่งนี้ เขาจะใส่บาตร แต่เขาหยิบของมา เขาจะจ่ายตังค์หรือไม่จ่ายตังค์ เขาเจตนาของเขา แล้วที่เจ้าของร้านเขาก็รับรู้ของเขา เขาจะจ่ายทีหลังไม่จ่ายทีหลัง มันขาดไปจากเรา เราไม่มีหน้าที่รับผิดชอบ เพราะเขาหยิบมา
เวลาลักของคนนะ ลักของเขานี่ตั้งใจ ตั้งใจว่าจะลัก เดินไป จับของ แล้วคิดได้ วางซะ ไม่เป็นอาบัติ ตั้งใจว่าจะลักของเขา เดินไป จับของ ของนั้นเคลื่อนที่ ของนั้นเคลื่อนที่ หยิบของหรือจับของขยับเคลื่อนที่ เป็นอาบัติปาราชิก ของนั้นเคลื่อนที่
นี่ก็เหมือนกัน เราไม่ได้ทำอะไรเลย เรายืนอยู่เฉยๆ แล้วเขานิมนต์ด้วย ไม่มีอาบัติอะไรเลย แต่สิ่งที่ว่า ถ้าเขาจะจ่ายหรือไม่ ไม่จ่ายหรือไม่ เศร้าหมองไหม มันเศร้าหมอง มันเรื่องของเขา ปฏิคาหก ผู้ให้ เขาเป็นคนให้ เขาเป็นคนใส่บาตร แล้วญาติโยมเขาตั้งใจจะใส่บาตร แล้วเขาก็ไปซื้อที่ร้านค้า แล้วเอาอันนั้นมาใส่ นี่มันปฏิคาหกไง ผู้ให้ เราเป็นผู้รับ
ฉะนั้น สิ่งที่ว่ามันจะรับของโจรหรือไม่ สิ่งต่างๆ นี่จบ ไม่มี เพียงแต่เวลาเรา มันมีพระเรา พระบางองค์เขาตั้งใจจงใจจะไปรับ ตั้งใจจงใจที่จะไป มันมีที่เจตนา เจตนาของพระที่ว่าร้อยแปด มันเป็นพระแต่เปลือกไง
เวลาหลวงตาท่านพูด พระภิกษุต้องโกนหัว ต้องบวชโดยถูกต้องตามญัตติจตุตถกรรมตามกฎหมาย นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ถึงเป็นพระ แล้วอย่างที่เขาเป็นพระ เวลาเขานุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ เขาบวช บวชเป็นพิธีกรรม แล้วหัวใจเขาล่ะ นี่พูดถึงว่าถ้าเขาตั้งใจอย่างนั้น ถ้าเราไม่ได้ตั้งใจอย่างนั้นก็จบ นี่พูดถึงว่า เราจะรับของโจรหรือไม่
๑/๑. กรณีที่เขาว่า ถ้าไม่ได้รับของโจร เราจะเป็นอาบัติปาราชิกหรือไม่ เราจะเป็นอาบัติปาราชิกหรือไม่ หากไม่ เราต้องอาบัติอะไรบ้าง
เราไม่ต้องอาบัติอะไร นิสสัย ๔ อกรณียกิจ ๔ ห้ามทำ ๔ อย่าง ปาราชิก ๔ แล้วให้ทำ ๔ อย่าง ให้บิณฑบาตเป็นวัตร อยู่โคนไม้เป็นวัตร นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ แล้วก็รักษาตัวเองด้วยน้ำมูตรเน่า รักษาด้วยยาไง อกรณียกิจ ๔ นี่พูดถึงชีวิตของพระ
แล้วนี่เราบิณฑบาตเป็นวัตร ฉะนั้น ไม่เป็นปาราชิก ไม่ได้ตั้งใจหยิบของใคร ไม่ได้ลักของใคร ถ้าปาราชิกนี่ต้องไปศึกษา ถ้าศึกษาอีกอย่าง ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง
ไม่เป็น ไม่เป็นอาบัติปาราชิก
“แต่ถ้าไม่เป็น จะเป็นอาบัติอะไร”
อาบัติมันรู้อยู่กับเราไง นี่ว่าศีล สมาธิ ปัญญา คนที่จะภาวนานะ ถ้าศีลมันไม่ดี สิ่งนั้นมันจะฟื้นฟู มันจะกระตุ้นมาตลอดเวลา แต่ถ้าของเรา เราทำอย่างนั้นน่ะ เพราะเราไม่ได้ศึกษา คือเราไม่มีความรู้ พอไม่มีความรู้ปั๊บ กิเลสมันก็หลอกได้ แต่ถ้ามีความรู้ ก็เราไม่ได้ทำ เราไม่ได้ทำอะไรเลย เราบิณฑบาตเป็นวัตร แต่สิ่งที่กระทำ ผู้ให้ เราไม่ได้ทำอย่างนั้น ถ้าจะทำอย่างนั้น
ถ้าพูดอย่างนี้แล้วพูดถึงสังคม สังคมพระที่เวียนเทียนน่ะ ที่เวียนเทียนที่นั่งอยู่นั่นน่ะ นั่นเขาตั้งใจเลย แล้วพระพวกนั้นมันไม่ได้คิดเลยมันเป็นอาบัติข้อไหน ไอ้พระที่เวียนเทียน ไอ้พระที่นั่งอยู่ตามร้านค้านั่นน่ะ ไม่เห็นเป็นอาบัติข้อไหนเลย
แต่เวลาเราจะเอาความจริง จะเป็นพระดี พระจะดี พระจะดีก็ต้องมีธรรมวินัย เป็นพระดีไง พระจะดี เรามีเจตนาที่ดี สิ่งที่ดี เวลากิเลสมันปลิ้นปล้อน กิเลสมันอ้างอิง ทำให้เรางงไปหมดน่ะ อย่างนั้นถ้าเรามีการศึกษา ศึกษาอย่างนี้ ไม่เป็น ไม่เป็นอาบัติปาราชิก
“แล้วถ้าเป็นอาบัติ อาบัติอะไร”
ถ้าพูดถึงถ้าไปร่วมมือกัน เขาเรียกโลกวัชชะ โลกเขาติเตียนน่ะ โลกเขาติเตียน โลกเขาติฉินนินทา สิ่งนี้ถ้าทำบ่อยๆ เป็นอาจิณ ไม่ดีมาก ไม่ดี ทำให้ศาสนาคลอนแคลน
แต่ถ้าเราจะเป็นพระดี พระจะดีต้องศึกษาต้องค้นคว้าของเรา กรณีอย่างนี้ไม่มี ไม่เป็นอาบัติสิ่งใดเลย ไม่เป็นอาบัติสิ่งใด แต่ว่ากิเลสของเรามันสงสัยเอง พอสงสัยขึ้นไป ถ้าสงสัยก็เป็นอาบัติ อาบัติเป็นเพราะอาบัติ อาบัติเพราะเราทำความผิด อาบัติเพราะลังเลสงสัยแล้วฝืนทำ สิ่งที่มันเป็น แล้วมันไม่เป็นสิ่งใดก็ไม่เป็นสิ่งใดทั้งสิ้น
“๑/๒. หากเจอกรณีที่ดังกล่าวมานี้ในครั้งต่อๆ ไป เราควรปฏิบัติอย่างไรจึงจะเหมาะสมครับ บอกเขาให้จ่ายตังค์ก่อน หรืองดรับบิณฑบาตของเขาไปเลย”
สิ่งนี้ที่พูด เราก็รับของเขา เรารับของเขา ถ้าเจอกรณีอย่างนี้ แต่ว่าเราไม่เจอบ่อยๆ หรอก เวลาเราธุดงค์กันไป เราเที่ยวกันไป มันอยู่ในป่าในเขา เขาเก็บเอาหัวไร่ปลายนามาใส่บาตร ของที่เขาหามาใส่บาตร แล้วอย่างเช่นเวลากิจนิมนต์ เขาบอกว่าห้ามบอก ห้ามบอกว่านิมนต์แล้วจะไปฉันอะไร เพราะอะไร มันเป็นการเจาะจง
การตาย เนื้อสามส่วน หนึ่ง ไม่ได้ยินไม่ได้ฟัง ไม่รู้ไม่เห็น ไม่ได้เจาะจงเพื่อเรา ฉันได้ เนื้อบริสุทธิ์ แต่ถ้า “พรุ่งนี้ไปฉันบ้านกระผมนะ กระผมจะทำแกงไก่ให้ฉัน” เจาะจง เรารับรู้ เป็นอาบัติทุกคำกลืนเลย เพราะไก่ตัวนั้นตายเพราะเรา
ฉะนั้น เขานิมนต์ ดูสิ เวลาเขานิมนต์พระไปฉันที่บ้าน เขาจะไม่บอกว่าไปที่บ้านจะได้อาหารอะไร เพราะว่าไม่เจาะจง ไม่สิ่งใดทั้งสิ้น แล้วเวลาคน คนไปตลาดเขาไปซื้อเนื้อซื้อไก่มาทำอาหาร เขาบอกว่า “พระฉันแล้ว บาปอยู่ที่คนทำ กรรมอยู่ที่คนกิน พระกิน พระก็กรรมหมดเลย”
แสดงว่าถ้าไม่มีพระ ตลาดจะไม่มี ตลาดเขาทำมาเพื่อจะขายให้พระ ถ้าที่ไหนมีพระ ตลาดจะยิ่งใหญ่ ถ้าไม่มีพระ ตลาดจะยุบยอบ...ไม่ใช่ ตลาดเขามีเพื่อสังคม แล้วสังคมเขาก็ดำรงชีพกัน พระอาศัยสิ่งนี้อยู่ ฉะนั้น สิ่งนี้ไม่ได้ยินไม่ได้ฟังทั้งสิ้น
เวลาคนที่เขาจะหาเรื่องยุแยงตะแคงรั่วพูดไปเรื่อย ไอ้พระใหม่ๆ ก็งงนะ“บาปอยู่ที่คนทำ กรรมอยู่ที่คนกิน”
อ้าว! คนกินน่ะกินปฏิสังขาโยนะ ปฏิสังขาโย ของเน่าเปื่อย ของบูดเน่า มีด้วยสติด้วยปัญญาทั้งนั้น คนกินน่ะ คนกินด้วยการปฏิสังขาโย พิจารณาก่อนฉัน พิจารณาแล้วว่าสิ่งนี้มันเป็นของเน่าของบูด ของที่ได้มา
เวลาพูดก็พูดกันไปไง มันเป็นโวหารน่ะ มันก็พูดอย่างนั้นน่ะ ถ้าพูดอย่างนั้น มันก็เป็นอย่างนั้นไป แต่ถ้าเราไม่รับรู้ ไม่ได้สิ่งใดทั้งสิ้น มันไม่มีเจตนาอะไรทั้งสิ้น รักษาหัวใจของตน เห็นไหม
ที่ว่าธรรมวินัย วินัยเยอะแยะไปหมด พระจะสึกในสมัยพุทธกาล มาหาพระพุทธเจ้าไง พระพุทธเจ้าบอกว่า “ถ้าศีลข้อเดียวรักษาได้ไหม”
“ได้”
รักษาใจตัวเดียว เราไม่มีเจตนา เราคิดแต่เรื่องดีๆ เลย เวลาถามอย่างนี้ ตอนนี้คิดเรื่องดีๆ หมดเลย เวลาเราตอบไปแล้ว ทีนี้ไม่มีทางออกแล้ว สึกดีกว่า มันมีต่อรองน่ะ กิเลสมันต่อรองทั้งนั้นเลย ต่อรองเรานี่แหละ
ฉะนั้น ถ้าเราจะไปเจอเหตุการณ์แบบนั้น เขาจะไปเจอเหตุการณ์แบบนั้นอีก แต่มันไม่เจอบ่อยๆ หรอก ถ้าเราจะเจอนะ เราไม่รับรู้ทั้งสิ้น ภิกขาจารไง ทอดสายตาลงต่ำ เราเดินไปบิณฑบาต เขานิมนต์เราเอง เขาไม่นิมนต์ เราก็ผ่านไป เพราะเราเลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง แล้วเลี้ยงชีพไว้เพื่อประพฤติปฏิบัติ เราจะต้องประพฤติปฏิบัติ เราต้องมีศีลสมบูรณ์ เราต้องทำสมาธิของเรา เราต้องฝึกหัดใช้ปัญญาของเรา
เราต้องฝึกหัดใช้ปัญญานะ ให้ปัญญามันเกิดขึ้น ให้เป็นบุคคล ๔ คู่ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล งานของเรายังอีกเยอะแยะมหาศาลเลย งานของเราที่จะประพฤติปฏิบัติเข้าไปเพื่อต่อสู้กับกิเลสของเราน่ะ งานของเราไม่ใช่บิณฑบาตเลี้ยงปากอย่างเดียวหรอก งานของเราแค่ไอ้บิณฑบาตเลี้ยงปากนี่ โอ้โฮ!
ครูบาอาจารย์ท่านไม่คิดเรื่องนี้เลย หลวงตาท่านธุดงค์ไปท่านไปหาบ้านน้อยๆ หลังสองหลังพอ เพื่อไม่ให้เขามากวนเรา หาคน หาพอมีแต่ข้าวเปล่าๆ สิ่งใส่มาพอดำรงชีพได้ จบแล้ว ไม่ได้คิดเรื่องหวังมีความสุขเพราะการกินเลย ไม่ได้หวังความสุขเพราะการกิน เพราะการอยู่สุขสบาย ไม่ได้หวังเลย หวังอย่างเดียวเท่านั้นน่ะ หวังพยายามฝึกหัดขึ้นมาให้เกิดศีล เกิดสมาธิ เกิดปัญญาในหัวใจ อันนั้นจะเป็นอย่างนั้น
นี่พูดถึง “ถ้าต่อไปเจอข้างหน้าจะทำอย่างไร”
นี่ถามไปข้างหน้าเลย ถามอนาคตเลย
“๒. หากเราเดินบิณฑบาตไปแล้วมีโยมนิมนต์ให้หยุดรอหน้าบ้าน สักพักหนึ่งได้ยินเสียงเขาตีไข่เจียวไข่ ไม่นานนักเขาก็เอาข้าวมาใส่บาตรเราพร้อมกับถือข้าวและไข่เจียวอุ่นๆ”
อ้าว! ก็จบไง ก็จบ ก็เขาทำของเขา ทำซึ่งๆ หน้าเลย เพราะอะไร เพราะว่าถ้าเป็นบ้านนอกมันไม่มีสถานที่ซื้อขาย เขาก็ทำของเขาอย่างนั้น ใส่มาแล้วก็จบ แค่นี้ก็จบ
แต่นี้มันข้อ ๒/๑. เราสามารถรับบิณฑบาตที่เขาใส่ได้แล้ว หากรับแล้วนำมาฉันจะเป็นอาบัติประการใด เพราะเคยศึกษามาจากประวัติหลวงปู่ตื้อที่เณรพรากชีวิตไก่
ถ้าพูดถึงหลวงปู่ตื้อนะ หลวงปู่ตื้อเป็นครูบาอาจารย์ที่ท่านมีอนาคตังสญาณ หลวงปู่ตื้อท่านพูดถึงบ่อยว่าท่านปฏิเสธเรื่องการรับบิณฑบาตหลายคราว ท่านบอกว่าท่านรับไม่ได้ ท่านรับไม่ได้เพราะว่าเนื้ออันนั้น คือว่าสัตว์อย่างนั้นมันมีสายบุญสายกรรม มันมีการพาดพิงกันมา แต่ด้วยญาณของท่าน ด้วยความเห็นของท่าน ฉะนั้น ถ้าหลวงปู่ตื้อ เรายกประเด็นไว้ว่า เพราะท่านมีคุณธรรมในใจของท่าน
อย่างของเรา เราไม่มีคุณธรรมได้ขนาดนั้น เราก็ต้องถือหลักกฎหมาย ถือหลักธรรมวินัยนี้เป็นที่ตั้ง ถ้าถือหลักธรรมวินัยนี้เป็นที่ตั้ง เราบอกว่าหลวงปู่ตื้อท่านทำอย่างนั้น แล้วเราจะทำอย่างนั้น
หลวงปู่ตื้อท่านทำ อย่างเช่นกรณีอย่างนี้นะ กรณี กปฺปิยํ กโรหิ ผลไม้ที่แก่ เมล็ดที่มันงอกได้ ถ้าเขาใส่บาตรมา แล้วถ้าเราไปฉัน เราไปขบเม็ดให้แตกอย่างนี้ เราเป็นอาบัติปาจิตตีย์
อาบัติปาจิตตีย์ เพราะภิกษุพรากของเขียวเป็นอาบัติปาจิตตีย์ แต่เมล็ดพันธุ์มันจะเกิดต่อเนื่องได้ มันยังมีชีวิตอยู่ เห็นไหม เพราะว่ามีพระสมัยพุทธกาลฉันถั่วเขียวต้มน้ำตาล ฉันถั่วเขียวแล้วไปถ่าย พอถ่ายแล้วเม็ดถั่วเขียวมันไปเกิดอีก ตั้งแต่นั้นมาท่านบอก โอ้โฮ! มันมีชีวิต ก็เลยรังเกียจ ใครต้มถั่วเขียวมา ท่านจะไม่รับ พอคนที่เขาทำมาเขาก็เสียใจ ไปรายงานพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเรียกพระไปว่า “ทำไมเธอทำอย่างนั้น”
“ก็ข้าพเจ้าเคยกินถั่วเขียวแล้วถ่ายแล้วมันยังเกิดได้ ข้าพเจ้ารังเกียจว่ามันยังมีชีวิต”
พระพุทธเจ้าบอก “ถ้าอย่างนั้นให้ทำ กปฺปิยํ กโรหิ”
พืชคาม ภูตคาม พืชคือทำให้สิ่งพรากของเขียวได้ ภูตคาม คือสิ่งมีชีวิต เมล็ดที่มันเกิดได้ เราไปทำลายชีวิตของมัน เราก็ต้อง กปฺปิยํ กโรหิ
นี้คำว่า “กปฺปิยํ กโรหิ” ถ้ามันเป็นผลไม้ที่แก่ เขาก็ กปฺปิยํ กโรหิ ยอดผัก ผักบุ้ง ยอดมันไม่เกิด ทำไมต้อง กปฺปิยํ ล่ะ แล้วอย่างเมล็ดที่มันอ่อน สิ่งที่มันยังไม่เกิดเป็นสิ่งที่มีชีวิตได้ มันไม่ต้องกปฺปิไง ทีนี้คำว่า “กปฺปิ” มันก็ต้องดูว่าสมควรไม่สมควร ถ้าไม่สมควร ไปกปฺปิสิ่งที่ไม่เป็นจริงก็เหมือนกับเรามุสาอีกน่ะ มันต้องฝึก มันต้องรู้ของมันไง
ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเรามีอนาคตังสญาณ ของหลวงปู่ตื้อ ท่านรู้ของท่าน ท่านเห็นของท่าน ท่านก็ปฏิเสธของท่านได้ แต่ของเรา ถ้าเราไม่มีอย่างนั้น นี่เขาพูดถึงหลวงปู่ตื้อไง ไอ้นี่เขาบอกว่า เพราะสามเณรไปพรากชีวิตไก่แล้วทำอาหารมาให้ท่าน
แต่ของเรามันไม่ใช่ มันเป็นแค่ไข่เจียวไง ถ้ากรณีอย่างนี้ กรณีไข่ เขาเทาะไข่มามันสะอาดบริสุทธิ์เลยเนาะ เพราะไข่มีเชื้อ มันยังมีตัวได้ แต่เราไม่ได้ทำ
วินัยกรรมนะ เขาต้องทำต่อหน้า เวลา กปฺปิยํ กโรหิ เวลาโยมเขารู้มาก รู้วินัยมาก เขาก็เลยเอาผลไม้แล้วปาดไว้เลยนะ ทำลับหลังน่ะ ทำลับหลัง วินัยเขาให้ทำต่อหน้า เพราะอะไร เพราะพระรังเกียจ พระรู้ว่าของมันจะเกิดได้ ต้องทำให้เห็น ทำให้เข้าใจ ก็วินัยกรรม วินัยกรรมต้องทำกันซึ่งหน้า ลับหลังทำมันไม่มีผลไง แต่เขาก็ปาดกันมาอยู่
ไอ้นี่พูดถึงเวลาคนศึกษาไปแล้วไง เขาเรียกวินัยกรรม มันจะเกิดได้ต่อเมื่อทำต่อหน้าภิกษุองค์นั้น แล้วพอต่อหน้าพระที่ให้เห็นนะ
ไอ้นี่เขาเตรียมของเขามา นี่พืชคาม ภูตคาม ไอ้นี่ไข่ที่มีชีวิตไง ตีไข่มา แล้วว่าพระพรากชีวิตไก่
เราจะบอกว่า ตั้งสติไว้ แล้วสิ่งที่ผ่านมาแล้ว สิ่งใดถ้าทำแล้วผิดพลาด เราก็ปลงอาบัติ ปลงอาบัติแล้วเราก็มาภาวนาของเรา อย่าไปฟุ้งซ่าน ถ้าอย่าไปฟุ้งซ่าน ฟุ้งซ่านมันเป็นนิวรณธรรม ๕ ความฟุ้งซ่าน ความลังเลสงสัยต่างๆ มันเป็นนิวรณธรรม ศึกษาแล้วให้ปล่อยวาง ทำความเข้าใจแล้วให้ปล่อยวาง
ถ้ามันเป็นความผิด ถ้าเป็นความผิด เราลงใจว่าเป็นอาบัติ เราปลงอาบัติ จบ ถ้าเราลงความผิดว่า สิ่งที่เขาทำมา เขาตีไข่มา เขาใส่ไข่มา ถ้ามันเป็นอาบัติ หนึ่ง เราไม่ฉัน เขาใส่มานะ เราไว้ข้างบาตร เวลาจะฉัน เอาไว้ข้างบาตร ถ้าเราไม่ได้ฉัน ไม่เป็นอะไรเลย แต่ถ้าเราฉันแล้วมันจะเป็น
เวลาธุดงค์ไปมันจะมีประสบการณ์อย่างนี้ ถ้าเราไปอยู่ในป่า แล้วของนี้จำเป็นจะต้องอาศัยคฤหัสถ์ทำวินัยกรรม ถ้าทำไม่ได้ วางไว้ คือเราเสียสละไง คืออยากก็อยาก แต่มันไม่กิน ไม่กินไม่ใช่เพราะไม่อยากกินนะ อยากกิน แต่กินไม่ได้ เพราะเป็นอาบัติ วางไว้ เพราะไม่มีใครทำให้ แต่ถ้ามันมีคนทำให้ ทำให้จบ ถ้ามันมีความชำนาญจะแก้ตรงนี้ได้ ถ้าไม่มีความชำนาญนะ ปลงอาบัติซะ แล้วจบ
พูดถึงว่า ข้อ ๒/๑. ถ้าบิณฑบาตมาแล้ว ถ้าเขาใส่ให้มาแล้ว แล้วเรามาทราบ หากเรานำมาฉันจะเป็นอาบัติหรือไม่ประการใด เพราะว่ามันเป็นไข่ไก่ ไม่ใช่ตัวไก่ ไม่แน่ใจ
เขาว่าเขาไม่แน่ใจนะ กรณีอย่างนี้ อย่างว่าที่พูดเมื่อกี้นี้ คนว่ายน้ำเป็นจะทำจะแก้ไขสิ่งใดได้ ถ้าคนว่ายน้ำไม่เป็น เราก็พยายามของเรา เพราะเขาบอกเขาเป็นพระใหม่ เพิ่งบวชใหม่ กรณีสงสัยก็สงสัย ก็วางไว้ สงสัยแล้ววางไว้ ถ้ามันเป็น ปลงอาบัติ แล้วเราศึกษามีประสบการณ์ เดี๋ยวกรณีนี้มันจะผ่านไป
“๒/๒. กรณีญาติโยมนำไข่ไก่เจียวนั้น ถ้าว่าเป็นปาณาติปาตาหรือไม่ประการใด กราบขอเมตตา”
ใครเป็นปาณาฯ ไม่ได้เป็น มันไม่ได้เป็น เขาไม่ได้เป็นของเขา เพราะของอย่างนี้ เพราะทางวิทยาศาสตร์ ทางการศึกษาของเรา ถึงเข้าใจว่าไข่มีเชื้อและไข่ไม่มีเชื้อ ทีนี้เขาเป็นฆราวาส ฆราวาสเขาถือศีล ๕ ศีล ๕ ปาณาติปาตา ทำให้ตกล่วงหรือไม่ นั้นมันเป็นตัวของเขา...ไม่เป็น เพราะทางโลกเขาถือว่าไข่ เพราะเขารู้ไม่ได้ว่ามีเชื้อหรือไม่มีเชื้อ เพราะว่าเขาซื้อไข่มาจากตลาด แล้วตลาดของเขา เขาก็กินของเขามาอยู่อย่างนั้น
ถ้าว่าเขาเป็นปาณาติปาตาหรือไม่
อันนี้เราจะไปถือศีลแทนโยมแล้ว โยมเขาเป็นโยมของเขา โยม ถ้าโยมนะ เป็นศีลของเขา เป็นศีลของเขา เป็นบุญกุศลของเขา เป็นเจตนาของเขา ถ้าเขาทำคุณงามความดีของเขา เขาจะได้บุญกุศลของเขา เขามีเจตนาที่ดี เขาเห็นพระมา เขาอยากทำบุญของเขา เขาไม่มีสิ่งใดจะทำใส่บาตรให้ได้ เขามีไข่อยู่ในบ้านของเขา เขาเอาไข่ในบ้านของเขามาทอดใส่ให้พระ เจตนาเขาสะอาดบริสุทธิ์
เจตนาเขา เขาเห็นพระผ่านมา เขามีเจตนาที่ดี แล้วเขาหวังบุญ หวังเห็นพระธุดงค์มานี่ สงสัยพระธุดงค์มานี่ บิณฑบาตมาแถวนี้คงจะไม่ได้อะไรเลย คงจะอดอยากแน่ๆ เรามีเจตนาที่ดี จะทำความดีใส่ให้กับพระองค์นี้ พระองค์นี้ ถ้าเขามีเจตนาที่สูงกว่านี้นะ เขาเห็นว่าพระสงฆ์เป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส เขาเคารพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เขาเป็นบริษัท ๔ เขาพยายามจะรักษาศาสนาไว้ เขาทอดไข่มาให้พระสงฆ์นั้น เพราะเขาเคารพในพระพุทธเจ้า เขาทำเพื่อพระพุทธเจ้า เขาไม่ได้ทำเพื่อพระสงฆ์องค์ที่เดินมานี้ เพราะพระสงฆ์องค์ที่เดินมานี้พระสงฆ์โง่ๆ เขาจะทำเพื่อพระพุทธเจ้านู่นน่ะ
จิตใจของคนนะ อย่าดูถูกน้ำใจคนนะ น้ำใจของคนยิ่งใหญ่ ถ้าหัวใจที่ยิ่งใหญ่ ยิ่งใหญ่มหาศาลเลย เขา จิตใจของเขา เขามองไกลขนาดไหน เขาเห็นถึง ๓ โลกธาตุ ในสมัยพุทธกาลมีเยอะแยะ พระไปอยู่ที่ไหน ให้แม่ชีสอนน่ะ ให้แม่ชี ให้ฆราวาสสอนน่ะ ดูสิ เวลาพระไปบิณฑบาต อนาถบิณฑิกเศรษฐี อนาถะเขาเป็นพระโสดาบัน เขาใส่บาตร หัวใจเขายิ่งใหญ่
ไอ้นี่เราบอกว่าเขาจะเป็นปาณาติปาตา ไอ้นี่เลยกลายเป็นตำรวจเลย ตำรวจศาสนาไปคอยเช็กเลย โยมผิดศีลหรือเปล่า โยมทำผิดศีลหรือเปล่า ถ้าโยมทำผิดศีล ห้ามใส่บาตรฉันนะ ฉันเป็นพระบริสุทธิ์นะ ธรรมวินัยเขาเอาไว้จับผิดเรา เขาเอาไว้ดูแลตัวเรา
ฉะนั้นถึงบอกว่า “กรณีอย่างนี้ที่โยมเขาทอดไข่มาถือว่าเขาเป็นปาณาติปาตาหรือไม่ กราบเมตตาหลวงพ่อด้วยครับ”
เราบอกว่า พระจะดีเนาะ พระเราจะดี เราต้องมีศีลมีธรรม พระจะดี แต่ถ้าเรามีการศึกษา แล้วเรามีครูบาอาจารย์เป็นแบบอย่างเสียหน่อยหนึ่ง แต่ถ้ากรณีนี้เวลาเราจะศึกษาสิ่งใด เราก็บอกว่าเรารู้แล้วๆ แต่พอจะไปทำ ทำไม่ถูกสักอย่าง
แต่ครูบาอาจารย์ของเราฝึกมาตลอดนะ ตั้งแต่เป็นปะขาว ปะขาวให้กปฺปิอย่างนี้ ให้ประเคนของอย่างนี้ พระทำได้ พระทำไม่ได้ สิ่งใดพระทำได้ ให้พระทำ ถ้าสิ่งที่พระทำไม่ได้ เราต้องทำหน้าที่ของเรา นี่เวลาเขาฝึกหัดอย่างนี้ ครูบาอาจารย์ถ้าเอาฆราวาสมาฝึกหัด ฝึกหัด พอเป็นแล้วท่านส่งขึ้นไปอุปัฏฐากหลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ท่านส่งไปฝึกหัด
จะอุปัฏฐากพระต้องฝึกหัดเลยว่า มันเหมือนกฎหมาย เราต้องรู้กฎหมายว่าทำได้หรือทำไม่ได้ สิทธิเขาทำได้แค่ไหน สิทธิทำไม่ได้ ถ้าปล่อยให้ท่านทำ ท่านเป็นอาบัติ ท่านก็ฝืนทำของท่านไปเพราะว่าท่านจำเป็นต้องทำ แต่ถ้าเราไปทำแทนท่าน ท่านก็ไม่เป็นอาบัติ เราก็ได้บุญกุศล เราทำได้เพราะเราเป็นฆราวาส เรามีศีล ๕ ท่านมีศีล ๒๒๗ มันต้องฝึก พอฝึกแล้วมันจะรู้เลยนะ รู้เลย มันเป็นหน้าที่เลย ทำตามหน้าที่ไปเลย แล้วต่างคนต่างส่งเสริมกัน ต่างคนต่างเจริญ
ฉะนั้น เหมือนกัน โยมเขาทำของเขาถูกของเขาหมด เขาหัวใจที่ยิ่งใหญ่ด้วย เขาเห็นพระธุดงค์โง่ๆ มาองค์หนึ่ง เขาอุตส่าห์ทอดไข่ให้พระ พระยังเก็บไว้จนป่านนี้ ไม่รู้ว่าไปเจอเขาตั้งแต่เมื่อไหร่ แสดงว่าความสงสัยนี้มันรบกวนใจมานานถึงได้เขียนมาถาม
ฉะนั้น เราบอกว่า เป็นกรณีปลีกย่อย เป็นกรณีเบสิกมากเลย แต่เรื่องกิเลสนี้มันไม่เบสิกกับใครเลย กิเลสมันจะทำลายหัวใจคน มันทำลายหมดน่ะ ขนาดเป็นพระธุดงค์นะ ธุดงค์ออกไปเพื่อความสงัดความวิเวก แต่เวลาเขาทำสิ่งนั้นมามันเรื่องของเขา
นี่พูดถึงว่า ถ้าครูบาอาจารย์ของเรานะ เวลาไปแล้ว มันออกไปแล้วนะ สิ่งต่างๆ ไปเจอ มะขามป้อมตกอยู่ในป่า เวลาไปเจอผลไม้ในป่า น้ำปานะ โอ้โฮ! มันยังอีกเยอะเลยนะ แล้วทำปานะ สิ่งที่สุกด้วยไฟได้ สิ่งที่สุกด้วยไฟไม่ได้ สิ่งที่สุกด้วยไฟมันก็เป็นอัฐบาน ถ้าน้ำปานะ น้ำปานะเช้าชั่วบ่ายมันเป็นอัฐบาน เพราะถ้ามันเลยนั้นไปจะเป็นเมรัย แต่ถ้าเป็นอัฐบาน อัฐบานมันสัตตาหกาลิก มันได้ ๗ วันไง ถ้ามันสุกด้วยไฟ สุกด้วยไฟ ไม่สุกด้วยไฟ แล้วน้ำผลไม้สด โอ๋ย! ยังอีก
ถ้าเป็นพระกรรมฐาน เป็นครูบาอาจารย์ เพราะชีวิตพระต้องใช้ชีวิตทั้งชีวิต แล้วมีผู้ศรัทธา มีผู้ที่เขายกย่อง จะมีสิ่งใดเข้ามาสัมพันธ์กับพระเยอะมาก พระอานนท์ถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “ต่อไปองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว จะมีผู้หญิงเข้ามาเกี่ยวพันกับพระเยอะมากเลย จะให้ทำอย่างไร”
“ไม่รู้ไม่เห็นนั่นแหละดี ไม่รู้ไม่เห็นน่ะดี”
“แต่จำเป็นล่ะ เพราะเขาเป็นญาติเป็นพี่เป็นน้อง เขาเป็นญาติกัน เป็นแม่เป็นลูกกัน เขาจะมาเยี่ยมพระ ทำอย่างไร”
“ให้ตั้งสติไว้ พูดกับเขาอย่าให้เกิน ๗ คำ ถ้าจะคุยกับเขา ต้องให้มีบุคคลที่ ๓ อยู่ด้วย ห้ามอยู่ด้วยกันตัวต่อตัว”
นี่ไง พระพุทธเจ้าสั่งไว้หมด สอนไว้หมด ถ้าศึกษาไปๆ เวลาไปแล้วมันจะรู้ ถ้ามันเป็น มันมีบุคคลที่ ๓ ถ้าอย่างนี้อยู่ด้วยกัน เพราะอะไร มันไม่ลับหูลับตาไง พอลับหูลับตาขึ้นมา มันจะทำตามใจมันแล้ว นี่พูดถึงว่าเวลาศึกษาให้ศึกษาเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป
ฉะนั้น พูดถึงพระจะดี พระจะดีก็ต้องขวนขวายในสิ่งที่ดี เราเห็นด้วย เราเห็นว่าเป็นปัญหาพื้นๆ มากเลย เป็นปัญหาที่ไม่ใช่ปัญหา แต่ก็ตอบมาเกือบจบแล้ว จบ
ถาม : เรื่อง “กราบขอขมาหลวงพ่อค่ะ”
กราบนมัสการหลวงพ่อที่เคารพ ลูกขอโอกาสกราบขอขมาหลวงพ่อ เนื่องจากลูกได้นอนฟังเทศน์จากหลวงพ่อทางเว็บไซต์ ที่ทำไปด้วยความโง่เขลาเบาปัญญาโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงกราบขอขมาหลวงพ่อ ณ ที่นี้ด้วย ขอหลวงพ่อจงอดโทษให้แก่ลูกด้วย ด้วยความสำรวมระวังตลอดไป
ตอบ : สาธุ การสำนึกผิด การขอขมาลาโทษ มันเป็นเรื่องเวลามหาปวารณา เวลาพระอยู่จำพรรษากัน ออกพรรษาแล้ว มหาปวารณานี่แทนอุโบสถเลย แทนการสวดปาฏิโมกข์ เพราะว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชื่นชมกับผู้ที่ทำผิดแล้วสำนึกผิด คนที่ทำผิดแล้วสำนึกผิด พระพุทธเจ้ายกย่องมากเลย สิ่งที่สังคมเรามีปัญหากันเพราะคนทำผิดแล้วไม่ยอมรับผิด ถ้าใครทำผิดแล้วยอมรับผิด พระพุทธเจ้าสาธุ เพราะพระพุทธเจ้าชื่นชม พระพุทธเจ้าให้มีวันมหาปวารณานะ
มหาปวารณา เวลาพระจำพรรษากัน ๓ เดือน พระมาอยู่ด้วยกัน มันต้องมีกระทบกระเทือนใจกันบ้าง ถ้ามีการกระทบกระเทือนใจกันบ้าง วันออกพรรษาให้ทำการปวารณา ขอโทษขอโพยกันไง ผู้ที่ทำผิดแล้วสำนึกผิด เพราะเขาจะได้แก้ไข
สังคมเราที่มีปัญหากันอยู่นี่เพราะว่าผู้ที่ทำผิดแล้วไม่ยอมสำนึกผิด เพราะทำผิดแล้วถือทิฏฐิมานะจะเอาชนะคะคานกัน จะเอาความผิดนั้นเอาชนะความถูกต้อง แล้วคนที่เขามีความถูกต้องเขามีความดีของเขา เขาก็มีความละอายแก่ใจ เขาสำรวมระวังของเขา นี่พูดถึงสังคมนะ
ฉะนั้น สังคม เวลาผู้ที่ทำผิดแล้วสำนึกผิด อริยวินัย วินัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายกย่อง ใครบ้างไม่ทำผิด ใครบ้างไม่คิดผิด กิเลสเต็มหัวใจ คิดผิดทั้งนั้นน่ะ แล้วถ้าวันไหนมันคิดถูกต้องคิดดีงามขึ้นมา เราทำไมไม่กล้าปล่อยวางล่ะ
สิ่งที่มันปล่อยวางกันไม่ได้เพราะมันเกิดทิฏฐิมานะไง ฉันคิดแล้วฉันต้องถูก ฉันทำแล้วฉันต้องดี หัวโขนฉันใหญ่ มันคิดแล้วมันก็มีทิฏฐิมานะกันไป มันก็เลยทำให้สังคมมีแต่ความกระทบกระเทือนกัน
แต่ถ้าใครคิดได้แล้ว ใครสำนึกผิดแล้วนะ ขอขมาลาโทษ สาธุ มันเป็นการเปลี่ยนแปลงไง มีการเปลี่ยนแปลง มีการวิวัฒนาการ หัวใจที่มันมีการวิวัฒนาการ มีการเปลี่ยนแปลง หัวใจนี้มันจะพัฒนาขึ้น พอพัฒนาขึ้น นี่การประพฤติปฏิบัติ หัวใจของคน หัวใจของคนมันจะพัฒนาขึ้นดีมาก
นี่พูดถึงว่าโดยสังคมโดยทั่วไปนะ เราไม่ได้พูดถึงคนถาม เพราะเราไม่รู้ว่าโยมนอนฟังหรือไม่นอนฟัง เราไม่ได้ถือโทษโกรธใครทั้งสิ้น เพราะเราไม่ได้ฟังด้วย แต่ถ้าโยมคนฟัง เพียงแต่ว่า ถ้าใจมีวิวัฒนาการแล้ว เพราะเราเคยอยู่กับหลวงตามาไง หลวงตาท่านบอกว่า ถ้ามีการสำรวมระวัง เหมือนกับเราเปิดใจเต็มที่ สิ่งใดเข้ามาเราจะได้ประโยชน์มหาศาลเลย แต่ของเราฟังเฉพาะ หรือเราเอาแต่สิ่งที่ชอบใจ ท่านบอกว่าสิ่งนั้นไม่ดี
ฉะนั้น เวลาฟังธรรม เขาบอกให้ลง เคารพธรรม เราอยากได้คุณธรรม ถ้าเราเคารพคุณธรรม เห็นไหม เราเคารพไง คือเราเคารพ เราทำด้วยความเคารพนบนอบ เราเปิดกว้าง มันมีโอกาสมหาศาลเลย แต่เราเลือกเฉพาะ เฉพาะที่ชอบใจ เฉพาะที่เราคิดว่าถูก แต่มันผิด ของที่ถูก เราทิ้งไปเลย เราเอาสิ่งที่ผิดๆ ใส่หัวใจของเรา นี่เราอยู่กับครูบาอาจารย์มา เวลาครูบาอาจารย์ท่านพูดอะไรมันฝังใจมาก
ฉะนั้น ครั้งที่แล้วโยมถามมาเรื่องการนอนฟังเทศน์ เราก็บอกว่านอนได้ เพราะในสมัยปัจจุบันนี้ เพราะในสมัยปัจจุบันปัญญาชนนะ แหม! มาฟังเทศน์นี่ก็นับว่าเก่งแล้วนะ พูดมากไม่ฟังนะ พูดมากไม่ฟังเลย ฉะนั้นบอกว่าได้ ได้ ให้มันฟังก่อน แต่พอฟังไปแล้วมันจะคิดได้เอง
ถ้าเราเคารพเราบูชานะ คิดดูสิ เราเคารพพ่อแม่เรา โอ้โฮ! พ่อแม่เราประเสริฐมากเลย เราไม่เคารพพ่อแม่เรา พ่อแม่ก็เป็นพ่อแม่อยู่นั่นน่ะ แต่ที่มันเป็น เป็นเพราะความไม่เคารพอันนี้ เพราะความไม่เคารพมันเลยไม่ดูแล แต่เพราะความเคารพมันถึงดูแล ถ้าเราเคารพปั๊บ โอ้โฮ! มันจะยิ่งใหญ่
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเคารพธรรม เขาจะได้ธรรมไง แล้วลองเคารพสิ นั่งฟังนะ นั่งด้วยความตั้งใจ โอ้โฮ! มันจะได้ประโยชน์มาก ทำอะไรด้วยความเคารพ ทำอะไรด้วยเจตนาที่ดี เราจะได้ผลดีๆ ทั้งนั้นน่ะ อันนี้พูดถึงว่าถ้าเราอยู่กับครูบาอาจารย์มาแบบนี้
แต่ในสังคมถามเรานะว่า นอนฟังธรรมได้ไหม
ได้ ได้ ได้ ได้เลย ให้มันฟังก่อน แล้วพอมันสูงขึ้นๆ มันคิดได้เอง คนเราจะคิดได้ระลึกได้ คิดได้ระลึกได้ อริยวินัย ผิดแล้วรู้ว่าผิด แก้ไขดัดแปลงตนเอง จิตใจมันจะพัฒนาขึ้น จิตใจมันจะดีขึ้น ถ้าจิตใจมันดีขึ้นนะ อันนี้ประเสริฐ พระพุทธเจ้าสรรเสริญนะ นี่พระพุทธเจ้าสรรเสริญ
ฉะนั้น ที่เขาเขียนมานี่เขียนมาขอโทษนะ เราไม่ถือโทษโกรธใครทั้งสิ้น เพราะว่าเวลาทำ ทำตามหน้าที่ หลวงตาท่านพูดบ่อย เวลาท่านเทศนาว่าการ ท่านบอกท่านทำหน้าที่ของท่าน จบหน้าที่ของท่านแล้วเป็นหน้าที่ของผู้ฟัง หน้าที่ของผู้ฟังเก็บสิ่งนั้นไปวิเคราะห์วิจัย
กาลามสูตร พระพุทธเจ้าสอนไว้ อย่าให้เชื่อ อย่าเชื่อคนพูด อย่าเชื่อคนสอน อย่าเชื่อคนที่เป็นอาจารย์เรา ท่านพูดสิ่งใดแล้วเราไปวิเคราะห์วิจัยให้หาเป็นความจริงขึ้นมา แล้วถ้าผู้ใดปฏิบัติเป็นความจริงขึ้นมา ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม มันประกาศขึ้นกลางหัวใจ มันประกาศขึ้นมาเอง แล้วถ้ามันประกาศขึ้นมาเองแล้วนะ ไม่ต้องไปบอกให้เขาเชื่อหรือเขาไม่เชื่อหรอก เพราะมันประกาศในหัวใจของเขาเต็มใจของเขาอยู่แล้ว เอวัง