เทศน์บนศาลา

ละชั่วทำดี

๑๓ ก.พ. ๒๕๔๙

 

ละชั่วทำดี
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙
ณ วัดป่าสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วันมาฆบูชา...เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงโอวาทปาติโมกข์ ไม่ทำความชั่วต่างๆ ทำแต่คุณงามความดี ทำจิตใจให้ผ่องแผ้ว คำสอนนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนพระอรหันต์นะ พระ ๑,๒๕๐ องค์เป็นพระอรหันต์ทั้งหมดเลย ต้องสอนอีกหรือ พระอรหันต์ต้องสอนอีกหรือ เป็นผู้มีอเสขบุคคลไม่ต้องสอนแล้ว

แต่เวลาพูดเป็นคติ รื่นเริงในธรรม โอวาทปาติโมกข์ไง หัวใจของศาสนาไม่ทำความชั่วใดๆ ทั้งสิ้น ทำแต่คุณงามความดี ถ้าทำคุณงามความดีแล้วเป็นคุณงามความดีเห็นไหม ทำไมทำจิตใจให้ผ่องแผ้ว ทำให้ถึงสิ้นกิเลสไง ถึงสิ้นนิพพาน

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกเทศนาว่าการ ถ้าผู้ที่บรรลุพระโสดาบัน ขอเอหิภิกขุเข้ามาบวชในศาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “เป็นภิกษุเข้ามาเถิดเพื่อทำให้สิ้นกิเลส ถึงพรหมจรรย์” แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์ขอบวชเห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการถึงสิ้นกิเลสแล้ว “เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด เป็นภิกษุมาเถิด” ไม่มีการงานทำอีกแล้ว แต่ถ้ามีการงานทำอยู่ยังต้องมีกิจการทำอยู่

“ละทำชั่ว ทำคุณงามความดี”

คุณงามความดีของโลกก็เข้าใจว่าทำคุณงามความดี เราดูสิเด็กๆ เขาอยู่ในโอวาทเขาว่าเป็นคนดีแล้ว แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่ ความดีของเรา สังคมโลกมันน่ากลัวขนาดไหน ในโลกนี้เขาแข่งขันกัน เขาเอารัดเอาเปรียบกันขนาดไหน

นี่ก็เหมือนกันในหัวใจของเรานะ กิเลสมันเอาเปรียบเราทุกวัน กิเลสในหัวใจของเรามันเอาเปรียบเรา มันคิดแต่ประสาของเขานะ กิเลสเป็นพลังงานที่ว่ามันไม่ต้องไปจุดไฟมันก็ติด แต่ธรรมะพยายามจุดไฟขนาดไหน มันก็ติดได้ยากมาก โลกเขาน่ากลัวนะ โลกภายนอกน่ากลัวมาก

ถ้าลูกหลานของเรามีเชาวน์มีปัญญา ลูกหลานของเราก็อยู่ในโลกด้วยความร่มเย็นเป็นสุข แต่ถ้าในโลกแข่งขันกัน โลกของเราเอง เราติดในตัวของเราเอง เราทำลายตัวเราเองโดยทุกวัน โดยที่เราไม่เข้าใจ กาลเวลาจึงกลืนกินสัตว์โลกไปทุกวันๆ

การเกิดเป็นมนุษย์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าเป็นอริยทรัพย์ ถ้าเราไม่เกิดเป็นมนุษย์ เราก็ต้องเกิด แม้แต่เกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม มนุษย์ที่เข้าใจเรื่องของธรรมไม่อยากไป ไม่อยากไปเพราะอะไร เพราะเวลาไปสถานะอย่างนั้นน่ะ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นมนุษย์ตรัสรู้ในภพของมนุษย์ แล้วก็สั่งสอนวางธรรมวินัยไว้ในภพของมนุษย์นี้ แล้วเราเกิดมาพบธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า...

แล้วมันเป็นสิ่งที่น่ากลัว ไปศึกษาในพระไตรปิฎกสิ วัฏฏะเป็นที่วนเวียนไป วัฏฏะเวียนไป จิตจะเกิดจะตายในวัฏฏะ แล้วมันเกิดในอินทร์ ในพรหม มันเป็นความสุข ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นทิพย์ ถ้าทุกอย่างเป็นทิพย์ มันก็เพลินไปในชีวิต แล้วกี่หมื่นปี พรหมนี่กี่หมื่นปี เทวดากี่พันปี สิ่งต่างๆ ที่เกิดตาย เกิดตายอย่างนี้ แล้วศาสนาเรานี้ ๕,๐๐๐ ปี แล้วมันจะเกิดวนกลับมาเกิดพบพุทธศาสนาอีกไหม มันเป็นสิ่งที่น่ากลัว

ขนาดเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม ยังเป็นสิ่งที่ว่าต้องไปเสียเวลา ต้องไปนอนเนื่องอย่างนั้น แต่ถ้าเป็นมนุษย์ ในปัจจุบันเรามีความเข้มแข็งไหม ถ้าเรามีความเข้มแข็งของเราเห็นไหม

ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า วันมาฆบูชา เวลาเทศนาว่าการ เทศนาว่าการอบรมให้พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์รื่นเริงในธรรม รื่นเริงในธรรมเพราะอะไร เพราะยังมีชีวิตอยู่ไง พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ยังมีลมหายใจเข้าและลมหายใจออกอยู่ สิ่งที่ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกอยู่นี่ทำการชำระกิเลสสิ้นไปจากหัวใจแล้ว ไม่ต้องมีสิ่งใดเข้าไปในหัวใจนั้นเลย จะไม่มีสิ่งใดเข้าไปให้ค่าหรือทอนค่าของจิตพระอรหันต์ได้ แต่ความรื่นเริงเห็นไหม

ดูสิ ดูการดำรงชีวิต พระอรหันต์ในสมัยพุทธกาลที่ว่าบิณฑบาต แล้วไม่เคยฉันข้าวอิ่มเลย ไม่เคยฉันข้าวอิ่มเลยนะ เพราะอะไร เพราะทำกรรมของเขาไว้ กรรมของท่าน ท่านทำมาอย่างนั้น เวลาออกบิณฑบาตเขาก็ไม่ได้ใส่บาตร ขนาดที่บิณฑบาตอาหารมาเต็มบาตรนะ เวลาฉันอาหารในบาตรนั้นก็หายไป หายไปโดยกรรมอันนั้นไง

จนพระสารีบุตรได้ข่าว ไปจับ ไปถาม พยายามแก้ไข บิณฑบาตก็ให้ออกหน้าก่อนเขาก็จะใส่ข้างหลัง อ้าว! ให้เดินตามหลัง เขาจะใส่ข้างหน้า กรรมให้ผลขนาดนั้น นี่กรรมนะ กรรมให้ผลให้ผลกับอะไร? ให้ผลกับธาตุ ธาตุขันธ์ไง แต่ไม่สามารถให้ผลกับจิตของพระอรหันต์ได้ จิตพระอรหันต์ไม่ได้กังวลกับสิ่งนั้น

แต่เพราะในปัจจุบันนี้ สิ่งที่รื่นเริงในธรรม รื่นเริงในธรรมเพราะมีธาตุมีขันธ์อยู่ ถ้ามีธาตุมีขันธ์อยู่ พระอรหันต์ต้องมีภาระรับผิดชอบ พระอรหันต์มีภาระรับผิดชอบ เห็นไหม เวลาในสมัยพุทธกาลนะ กษัตริย์ที่เขาไม่เชื่อธรรมไง เขาบอก เราทำคุณงามความดีมาก ถ้าเราทำบุญกุศลได้บุญมาก ก็ฆ่าตัวตายสิ เพื่อจะได้ไปเสวยบุญกุศลบนสวรรค์ บนพรหม เห็นไหม เขาคิดของเขาอย่างนั้นไง ว่าจะให้ไปเอาประโยชน์จากสิ่งที่เรากระทำนี้

แต่พระอรหันต์นะทำสิ่งนั้นไม่ได้เพราะอะไร เพราะการทำลายตัวเอง การทำสิ่งนี้มันเป็นการกระทำ ฆ่าชีวิตของเรามันเป็นบาปมันเป็นอกุศล มันเป็นไปไม่ได้หรอก สิ่งนี้ไม่ทำ แล้วแต่เวรแต่กรรมไง แล้วแต่วาระ แม้แต่เวลาพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ เวลาจะนิพพาน ไปลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปลานะว่าจะนิพพานเห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ให้สมควรแก่กาลเวลาของเธอเถิด” ไม่ได้บอกให้ไปตายหรือให้มีชีวิตอยู่ ไม่ได้บอก เพราะสิ่งที่เคลื่อนไปมันมี ถ้ามีการกระทำมีความคิด มีกุศล มีอกุศลนะ การกระทำอย่างนั้น...

แต่ถ้ามันเป็นเรื่องของธาตุของขันธ์ สิ้นสุดอายุขัยของธาตุของขันธ์ มันเป็นการสิ้นอายุขัยของธาตุของขันธ์ พระอรหันต์ไม่กลัว...แล้วแต่กรรมตัดรอนอย่างไร อย่างเช่น พระโมคคัลลานะ เวลาเขาจ้างให้พวกโจรมันมาทุบมาตี เหาะหนีตั้งหลายครั้งหลายคราว แต่มาพิจารณากับตัวเอง อ้อ! นี่คือกรรม ถึงที่สุดแล้วก็ให้เขาทุบร่างกาย แต่ไม่สามารถสะเทือนใจของพระโมคคัลลานะได้

แม้แต่เวลาโจรเขาไปแล้วใช้ฤทธิ์เห็นไหม ทุบตายไปแล้วนะ แต่ธรรมของพระอรหันต์มีอยู่ ใช้ฤทธิ์รวมร่างนั้นให้กลับมาเป็นพระโมคลานะดั่งเดิม ไปลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “สมควรแก่เวลาของเธอเถิด” ลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วกลับมาที่เดิมแล้วคลายฤทธิ์ออก ร่างกายก็กลับสภาพเหมือนที่โดนโจรผู้ร้ายทำไว้อย่างนั้น นี่ธรรมของพระอรหันต์ไม่สะเทือน ความสะเทือนหัวใจถ้ามีกิเลสอยู่มันสะเทือน สะเทือนเพราะอะไร เพราะมันเป็นอวิชชา สิ่งที่เป็นอวิชชามันไม่เข้าใจตามสัจจะความจริง

ถ้าไม่เป็นสัจจะความจริง แม้แต่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมและวินัยที่เราเกิดเป็นมนุษย์ แล้วพบพระพุทธศาสนา แล้วมีศรัทธาความเชื่อ แล้วออกประพฤติปฏิบัติตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระอานนท์ไว้ “ให้ปฏิบัติบูชาเถิด”

สิ่งที่ปฏิบัติบูชา มันจะปฏิบัติบูชาใคร? บูชาพุทโธ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานไง บูชาพุทธะของเรา พุทธะคือความรู้สึกของเรา ถ้าจิตของเราสงบเข้ามา มันจะกำหนดเป็นพุทโธ พุทโธ เวลาเรากำหนดคำบริกรรมก่อน ถ้าเรามีศรัทธาความเชื่อเราปฏิบัติบูชา ปฏิบัติเพื่อใคร? ปฏิบัติเพื่อทอนกำลังของกิเลส ถ้ากิเลสมันสงบตัวลง จิตจะเป็นสมาธิได้ ถ้าจิตของเราไม่เป็นสมาธิขึ้นมา ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานอยู่ที่ไหน ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานเห็นไหม

ความรู้สึกเรามี เวลาสุข เวลาทุกข์ ทุกข์ สุขของโลกไง เวลาพอใจเป็นสุข สุขเวทนา ทุกขเวทนาอย่างนี้เจ็บช้ำน้ำใจจนน้ำตาไหลนะ เจ็บช้ำมาก เวลาอะไรสะเทือนใจ เวลาสุขก็ชั่วคราวเห็นไหม แล้วก็ยังเพลินกับชีวิต

ชีวิตนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ในพระไตรปิฎกนะ เหมือนกับวิดทะเลทั้งทะเลเลย แล้วเอาปลาน้อยๆ ตัวเดียวนะ

สัมมาอาชีวะของเราประกอบอยู่ในโลก ว่าสิ่งนั้นเป็นสุข สิ่งนั้นเป็นสุข แต่ถ้าอำนาจวาสนาเราไม่มีเวลาออกประพฤติปฏิบัติ ไม่ได้ออกบวช เราก็ใช้ชีวิตเป็นอย่างนั้น แต่เราก็ต้องประพฤติปฏิบัติเพราะอะไร เพราะมันเป็นโอกาสของเราไง

อาหารของกาย ปัจจัยเครื่องอาศัยของร่างกาย เราก็มีหน้าที่ เราก็ทำไปเห็นไหม ธรรม ความเพียรชอบ มรรคของคฤหัสถ์ มรรคของภิกษุ มรรคของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ มรรคมีหยาบ มีละเอียดเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไปนะ มรรคของเรา เราก็ประกอบสัมมาอาชีวะ ลุ่มๆ ดอนๆ ลุ่มๆ ดอนๆ แน่ๆ ชีวิตนี้มีสุขมีทุกข์คละเคล้ากันไป เสพสภาวะแบบนี้แล้วก็เตือนสติไว้ ไม่ให้หลุดออกไปจากศาสนาไง ไม่ให้หลุดออกไปจากการประพฤติปฏิบัติ

เวลาประพฤติปฏิบัติ เวลาเราประกอบสัมมาอาชีวะ เรายังทำการทำงานหน้าที่ของเรา สิ่งนี้ถ้าเกิดทำหน้าที่ของเรา ถ้ามีบุญกุศล คือทำให้สมความปรารถนาก็เป็นความสุข แล้วเกิดถ้าการกระทำของเรา หน้าที่การงานของเรา มีคนมาขัดแข้งขัดขามันเป็นเรื่องของสังคม สังคมเขายังมีการโต้แย้งกันเลย แล้วเราออกประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน

ถ้าโลกมันร้อนหนัก เราออกประพฤติปฏิบัติ ถ้าเราเป็นภิกษุ ชีวิตของภิกษุในพระไตรปิฎกบอกไว้ว่า “ภิกษุทางกว้างขวางมาก” กว้างขวางเพราะอะไร เพราะชีวิตของเราไง ผู้ที่สนับสนุนมีพร้อมอยู่แล้ว เขาอยากได้บุญกุศล บุญกุศลใครๆ ก็อยากได้ เวลาทำบุญกุศลจะทำจากที่ไหน ก็อยากจะทำกับผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ผู้ที่ปรารถนาสิ้นกิเลส เพราะนี้เป็นงานสุดยอดในศาสนาของเรา

ในแง่ศาสนาของเรา เพราะอะไร เพราะเขาจะเอาตัวเข้ารอดพ้นออกไปจากกิเลส จากสิ่งที่เบียดเบียนในหัวใจของเขา ไม่ต้องมากังวลเรื่องปัจจัยเครื่องอาศัย นี่คนจะส่งเสริมมาก

ชีวิตของภิกษุเป็นผู้ขอ ขอเห็นไหม ภิกษุขอเขามา ขอเขามาเพื่ออะไร? เพื่อดำรงชีวิต ดำรงชีวิตไว้เพื่ออะไร ดำรงชีวิตไว้เพื่อโอกาสในการประพฤติปฏิบัติ ประพฤติปฏิบัติเพื่อจะไม่ให้สิ่งที่เบียดเบียน

สังคมโลกเขา เขาต้องมีสิ่งที่โต้แย้งเพราะอะไร เพราะกรรม เรื่องของสังคม เรื่องของกรรมการกระทำ มันต้องมีการกระทบกระทั่งกันธรรมดา

แต่เรื่องกิเลสในหัวใจเราล่ะ เวลากิเลสในหัวใจของเรา ใครๆ ก็ว่ารักตัวเอง เรารักตัวเองมากอยากจะให้ตัวเองได้บุญกุศล อยากจะให้ตัวเองได้มีกำลังขึ้นมาเพื่อจะชำระกิเลส แล้วทำไมเวลาเราประพฤติปฏิบัติ ทำไมเราไม่มีความมุมานะ เวลาเจออุปสรรค ทำไมมันอ่อนอกอ่อนใจล่ะ

สิ่งนี้มันเกิดมาจากไหน สิ่งนี้เป็นกิเลสทั้งหมด แล้วเราจะเริ่มต้นจากการต่อสู้ของเขา เราต้องมีสติ เราต้องมีศรัทธา แล้วเราก็ต้องมีสัจจะ ถ้าเรามีสัจจะขึ้นมา สัจจะเราตั้งมั่นของเราขึ้นมา

คนมีสัจจะ คนจริงนะ คนจริงเห็นไหม ในพระไตรปิฎกบอกไว้ ร้อยคนพันคนจะมีคนจริงสักหนึ่งคน ล้านคน พันคน หมื่นคน จะมีคนกล้าสักหนึ่งคน จะมีคนที่มีสัจจะความจริงเอาตัวรอดสักกี่คน

ถ้ามีสัจจะความจริงขึ้นมา มันเป็นจริตนิสัยของใจ ถ้าใจเรามีจริตนิสัยมันมีโอกาส มันมีการตั้งมั่น ถ้าตั้งมั่นขึ้นมา ตั้งสัจจะแล้ว มีสติแล้ว เราพยายามควบคุมใจของเรา เพื่อจะให้กิเลสมันสงบตัวลง ถ้าสงบตัวลง มันจะเป็นสมาธิขึ้นมา จิตมันจะมีกำลังนะ กำลังโดยสัจจะ กำลังโดยบุญกุศลมันมีความคิด กำลังอย่างนี้สัจจะอย่างนี้ มันเป็นสังขาร

สังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง มันเป็นอาการของใจ สิ่งที่เป็นอาการของใจ มันโดยสัจจะความจริงเลย เพราะเราเป็นปุถุชน ผู้ที่ออกประพฤติปฏิบัติมีกิเลสในหัวใจ ถ้ากิเลสในหัวใจมันก็เป็นธรรมชาติอย่างนี้ ถ้าธรรมชาติอย่างนี้

เริ่มต้นเป็นสุตมยปัญญา การศึกษาศาสนาสมัยพุทธกาลนะ ไม่มีพระไตรปิฎก พระไตรปิฎกพิมพ์ขึ้นมาตั้งแต่สังคายนาครั้งที่ ๓ สมัยที่ยังไม่มีการพิมพ์หนังสือ เวลาเราจะศึกษาธรรม จะไปศึกษาธรรมกับใคร? ก็ต้องไปศึกษาธรรมจากครูบาอาจารย์ ธรรมจากพระโอษฐ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สิ่งที่ศึกษาธรรมกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสุตมยปัญญาเห็นไหม หาแนวทาง

เวลาพระในสมัยพุทธกาลนะ เวลาจะออกประพฤติปฏิบัติจะไปกราบลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วขอกรรมฐานไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะดูจริตนิสัยแล้วก็จะให้กรรมฐาน ให้กรรมฐาน บอกวิธีการไง แนะนำเห็นไหม ไม่มีตำรานี่! มีแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ดูสิ ดูพระสารีบุตรสร้างสมบุญญาธิการเพราะพระอัครสาวกต้องอธิษฐาน ต้องสร้างบุญบารมีมา ปรารถนา...ต้องปรารถนาเป็นอัครสาวก แล้วนี่ก็บุญเต็มไง เกิดมาเป็นพระสารีบุตรเป็นลูกเศรษฐี แล้วไปเที่ยวดูการละเล่นฟ้อนรำไป เพราะเป็นลูกเศรษฐี แล้วจนเบื่อนะ จนมีความฉุกคิด ชีวิตก็เป็นแบบนี้ เห็นสภาวะแบบนี้มาตลอด แล้วสิ่งใดจะเป็นความจริงเห็นไหม ถึงออกบวช ออกบวชในสำนักของสัญชัย ไปอยู่กับสัญชัย

“สิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่มี สิ่งที่ไม่มีก็คือไม่มี” นี่ปฏิบัติจนความรู้ของครูบาอาจารย์ของสัญชัยหมด พระสารีบุตรเรียนจบ “สิ่งนี้ไม่ใช่ทาง” แสวงหา นี่บุญบารมีเต็มเหมือนกัน แสวงหา ไปเจอพระอัสสชิออกบิณฑบาตอยู่ กิริยาของพระอรหันต์ไง มองจากภายใน ถ้าจิตนี้เป็นสิ่งที่บริสุทธิ์ การแสดงออกมาแสดงออกด้วยความบริสุทธิ์

เหมือนเราดูเด็กๆ เด็กๆ นี่ไร้เดียงสา เขาคิดอย่างไร เขาว่าอย่างไร เขาก็พูดออกไปอย่างนั้น พอเด็กโตขึ้นมาเห็นไหม จะหลอกลวงพ่อแม่ จะออกเที่ยวออกเตร่ ต้องใช้วิธีการ ต้องคิดออกมีเล่ห์กลของความรู้สึกแล้ว แต่ถ้าเด็กเล็กๆ นี้มันจะไร้เดียงสา ไร้เดียงสานี้ไร้เรียงสาแบบมีกิเลสนะ เพราะอะไร เพราะไม่ได้ทำลายกิเลสเลย

แต่ธรรมของพระอรหันต์ ธรรมของพระอัสสชิเป็นพระอรหันต์ การเคลื่อนไหว ผู้ที่มีปัญญามอง สิ่งนี้มันน่าเลื่อมใส ขอฟังเทศน์จากพระอัสสชิ

“ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ ผลทั้งหลายมาแต่เหตุ” ธรรม ทั้งสิ่งต่างๆ ต้องมาแต่เหตุ พระสารีบุตรสร้างสมบุญญาธิการมาเป็นพระอัครสาวก บุญบารมีเต็ม ๑ ไปศึกษากับลัทธิต่างๆ ก็เพื่อจะเข้ามาในหัวใจ เพื่อจะชำระกิเลสไง แต่ทำไม่ได้

แต่เวลามาฟังธรรมของพระอัสสชิ กิเลสมีความทุกข์ในหัวใจ ความลังเลสงสัยไง ความคิดต่างๆ มันมาจากไหนล่ะ สาวไปหาเหตุ เหตุมันเกิดมาจากไหน? มันเกิดมาจากใจ มันย้อนสาวไปหาเหตุ มันลึกเข้าไปอีกชั้นหนึ่งเห็นไหม นี่พระสารีบุตรเป็นพระโสดาบัน ไปบอกพระโมคคัลลานะก็เป็นพระโสดาบัน นี่การศึกษาจากโอษฐ์ไง

พระปัญจวัคคีย์ศึกษา ฟังมาจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสารีบุตรฟังมาจากพระอัสสชิเห็นไหม นี่สุตมยปัญญา

ในพระไตรปิฎก ถ้าเราไปค้นคว้ามันก็เหมือนกับเราศึกษาธรรมจากพระโอษฐ์ ศึกษาจากธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขณะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีชีวิตอยู่ พระอัครสาวกต่างๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่ มีหัวใจไง

ถ้ามีหัวใจมันก็เหมือนหมอ คนไข้ไปหาหมอ หมอเขาจะดูว่าอาการของไข้เป็นอย่างไร แล้วจะรักษาตามอาการไข้นั้นใช่ไหม เวลาพระอรหันต์สอนลูกศิษย์ไง ก็ดูจริต ดูนิสัย จริตนิสัยของคนเป็นอย่างนี้ๆ มันเหมือนมีโอกาสไง

แต่ถ้าเราไปศึกษาพระไตรปิฎก เหมือนคนไข้เข้าไปโรงพยาบาลแล้วไม่มีหมอ ยาเต็มเลยแล้วเราจะรักษาเราอย่างไร เรารักษาเรา เราเจ็บไข้ได้ป่วย เราปวดหัวตัวร้อน ต้องกินยานี้ กินยานี้ กินผิดกินถูกก็ลองไปอย่างนั้นเห็นไหม นี่ก็เหมือนกันเวลาเราศึกษาพระไตรปิฎก เราอ่าน เรากลัวว่าจะโดนคนโน้นหลอกลวงคนนี้หลอกลวง เราต้องศึกษาของเราเองไง แต่เราลืมไปเลยว่ากิเลสเรามันหลอกลวง กิเลสเราในหัวใจนี่

ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศีล สมาธิ ปัญญา เรื่องมรรคญาณ เรื่องสัมโพชฌงค์ ต้องทำอย่างนี้ ทำอย่างนี้...นี่กิเลสมันเบียดเบียนเรานะ เราไม่เข้าใจเลยว่ากิเลสเบียดเบียนเรา เราต้องวางก่อนแล้วศึกษามาเป็นแนวทาง เป็นสุตมยปัญญา

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมไว้ ปัญญา ๓ สุตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากการศึกษา การค้นคว้า แล้วเราศึกษามาแล้ว เวลาศึกษาพระไตรปิฎก สัมโพชฌงค์ ธรรมวิจัยเห็นไหม สติสัมโพชฌงค์ ธรรมะสัมโพชฌงค์

สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นมา เราก็คิดตาม นี่มันเป็นการคาดหมาย ทำไปแล้วก็จะเป็นอย่างที่เป็นสัมโพชฌงค์จริงหรือไม่จริง ทำไมนี้เป็นสภาวะแบบนี้ เอาความรู้สึกอย่างนี้ กิเลสในหัวใจ สุตมยปัญญา มันก็หลอก เวลาออกประพฤติปฏิบัติมันก็หลอก มันหลอกทั้งเลย

สังคมโลกภายนอก คนที่เขาแกล้งเรา เขาทำลายเรา สิ่งที่เขาโต้แย้งเรานั้นคือเรื่องของบุคคลภายนอก แต่บุคคลภายใน โลกคือเรา โลกคือสัตว์โลก โลกคือหมู่สัตว์ หัวใจเรา มนุษย์เราเป็นโลกๆ หนึ่ง ความรู้สึกเราเป็นโลกหนึ่ง เพราะมันเกิดดับ ความคิดเกิดดับเรามหาศาลเลย สิ่งที่เกิดดับในหัวใจ คิดดีเห็นไหม นี่สังคมที่ดี เวลาคิดเบียดเบียนตัวเอง คิดเอารัดเอาเปรียบตัวเราเอง สังคมนี้เราโดนเอาเปรียบ ในหัวใจเรามันก็เป็นสภาวะแบบนั้น นี่โลกภายในไง

ถ้าโลกภายใน เวลาเรามาใคร่ครวญของเราเอง ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ วางไว้ แล้วกำหนดพุทโธเลย กำหนดอานาปานสติเลย กรรมฐาน ๔๐ ห้อง สิ่งที่กรรมฐาน ๔๐ ห้อง ถ้าเราเป็นปัญญานะ ปัญญาชน เราจะใช้ปัญญาของเรา มันก็เป็นปัญญาอบรมสมาธิเพราะมันเป็นโลกียปัญญา

ความคิดของเรา อาการที่ความคิดเกิดดับนี่เกิดจากใจ เกิดจากใจ ดูสิ สิ่งปลูกสร้างในโลกนี้เกิดมาจากไหน บ้านเรือนขนาดไหนก็ต้องสร้างบนแผ่นดิน เห็นไหม ปลูกต้นไม้ แม้แต่ลงน้ำก็มีเรือมีแพของเขา ลงอยู่ในน้ำ สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากโลกทั้งหมดเลย เราปลูกสิ่งปลูกสร้างเกิดจากโลก แล้วเวลาโลกมีภัยพิบัติขึ้นมา มันกวาดไปหมดเลย

นี่ก็เหมือนกัน ความคิดของเราที่ว่าเป็นเรา สิ่งที่เป็นปัญญาของเรา ความคิดต่างๆ เวลามันเป็นโลกียปัญญามันเกิดขึ้นมาจากไหน? มันเกิดมาจากใจไง ใจ เห็นไหม อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ นี้เป็นจิตปฏิสนธินะ จิตตัวนี้ ขนาดแม้แต่ตัวจิตจริงๆ มันก็เป็นปัจจยาการของมัน มันเป็นอาการของมันอันหนึ่ง พลังงานอันนี้แล้วเราออกมาเสวยอารมณ์ จิตไม่ใช่ขันธ์ ขันธ์ไม่ใช่จิต ออกมาเป็นขันธ์ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ขันธ์ ๕

ถ้าเกิดขันธ์ ๕ เห็นไหม ถ้าเวลาเรากระทบภาพต่างๆ เสียงกระทบหู รูปกระทบตา ถ้าวิญญาณไม่รับรู้ มันเป็นความรู้ไปได้ไหม นั้นคือภาพอะไร นั้นคือเสียงอะไร นี่มันไม่รับรู้เพราะกระบวนการของมันไม่สมดุลของมัน ไม่สมบูรณ์ของมัน มันก็เกิดไม่ได้

เหมือนเราปลูกสร้างบ้านเรือนบนโลก ความคิดก็เหมือนกัน มันเกิดจากจิต มันเกิดจากโลกภายในไง โลกภายใน สิ่งปลูกสร้างต่างๆ เกิดขึ้นมา ความคิดเกิดขึ้นมาเป็นสิ่งปลูกสร้างเลย เป็นตึก เป็นราม เป็นบ้าน เป็นช่องต่างๆ เกิดขึ้นมา

อารมณ์ความคิด สิ่งที่ความคิดเกิดขึ้นมาเห็นไหม แล้วความคิดนี้ที่มันเกิดขึ้นมาเป็นโลก เราเป็นสิ่งต่างๆ ที่เราสร้างขึ้นมาบนโลกใช่ไหม เป็นตึกรามบ้านช่องอยู่บนโลก แล้วเราไปอยู่บนตึกนั้น เราไม่ได้เหยียบพื้นดิน เราไม่ได้อยู่ในโลก เราไปอยู่ในสิ่งที่ปลูกสร้างของโลก มันถึงเป็นโลกียปัญญาไง ปัญญาที่คิดอยู่นี้ ปัญญาที่ฟังธรรมอยู่นี่มันเป็นโลกียปัญญา

ถ้าโลกียปัญญา เราใคร่ครวญเข้ามา ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราก็ใคร่ครวญขึ้นมา ถ้ามันปล่อยวางขึ้นมา ก็เหมือนเราทุบเราทำลายบ้านเรือนนั้นไง เราทำลายตึกรามบ้านช่อง เราก็กลับไปยืนอยู่บนพื้นดิน ถ้าเรากลับไปยืนอยู่บนพื้นดินนั้นก็คือความรู้สึกของเราไง

สิ่งที่ว่าเป็นปัญญาๆ ที่ว่าคิดเป็นปัญญา มันเป็นโลกียปัญญา ถ้าโลกียปัญญาแบบนี้ มันถึงบอกว่ามันถึงแก้กิเลสไม่ได้ไง แก้กิเลสไม่ได้ เวลาคิดขนาดไหน ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถึงบอกว่าเป็นสุตมยปัญญา เป็นจินตมยปัญญา เป็นภาวนามยปัญญา

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ไม่ทำความชั่วทุกๆ สิ่ง ทำแต่คุณงามความดี

ถ้าคุณงามความดี ดีจากภายนอก ดีจากภายใน

ดีจากภายนอกเห็นไหม เราเป็นคนที่ดี เราเป็นคนที่กตัญญูกตเวที เราเป็นคนที่เป็นประโยชน์กับสังคม เราเป็นคนดี นี่ดีภายนอก

ดีภายในเห็นไหม เราฟุ้งซ่านไหม เราเดือดร้อนในหัวใจไหม ในหัวใจเบียดเบียนเราไหม สิ่งที่เบียดเบียน ความดีมันดีมีมากขึ้นเรื่อยๆ ความดีละเอียดอ่อนเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป ความดีไม่ใช่มีดีอันเดียวหรอก ความดีเห็นไหม ดีของปุถุชน สิ่งที่ปุถุชน ถ้าเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เราใคร่ครวญธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันเกิดจากสภาวะแบบนี้ โลกียปัญญาอย่างนี้ มันถึงปล่อยวางเข้ามา ปล่อยวางเข้ามา ปล่อยวางเข้ามาขนาดไหนมันก็กลับไปหาโลกนั้น หาโลกนี้เป็นโลกุตตระ

ถ้าเป็นโลกุตตระนะ ในตัวของโลก โลกนี่มันจะมาทำลายตัวมันเอง เพราะตัวของโลก เพราะเรายืนอยู่บนไหน? เรายืนอยู่บนแผ่นดิน เรายืนอยู่บนหัวใจของเรา หัวใจของเรามันมีสภาวะ มันมีสถานะ มันถึงมีตัวตนของมัน ตัวตนของมันเพราะมันโดนกิเลสครอบงำ มันถึงเพลิน มันถึงหลงผิด มันถึงหลงผิดไปยึดไง ยึดในร่างกาย ยึดในสิ่งต่างๆ ว่าเป็นเรา เป็นเรา ยึดโดยสัญชาตญาณ ไม่ใช่ยึดโดยธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า สรรพสิ่งนี้เป็นอนิจจัง สภาวะของการเกิดและการตายเป็นสมมุติ เกิดในสถานะใหม่ก็เป็นสมมุติ ส่วนหนึ่งเกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นมนุษย์ คนที่มีกรรมไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานไปเกิดในนรกอเวจีก็ไปเกิดของเขา คนที่มีบุญกุศลก็ไปเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม

เกิดหนึ่งเดียว จิตนี้หนึ่งเดียว เคยเป็นเทวดาต้องตายจากเทวดาก่อนถึงมาเกิดเป็นมนุษย์ ต้องตายจากมนุษย์ก่อนถึงไปเกิดในสถานะต่างๆ ที่มันจะเวียนไปเห็นไหม สิ่งนี้มันหมุนเวียนไป นี้คือสิ่งที่โลกมันหมุนออกไปจากวัฏฏะนี้ นี่โลกหมุนเวียนไปสภาวะแบบนี้ จิตสภาวะนี่มันตายเกิด ตายเกิดสภาวะแบบนี้ สิ่งที่ตายเกิดอันนี้ มันเป็นเรื่องของตัวโลกนั้น เพราะมันไปติดในร่างกายนี้ แต่เพราะเราไปยึด สิ่งที่ยึดเห็นไหม

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สรรพสิ่งนี้เป็นอนิจจัง สิ่งใดเป็นอนิจจัง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตา โดยสัจจะความจริงของเขา มีศาสนาหรือไม่มีศาสนามันก็เป็นแบบนี้ไง

เพราะ “สิ่งใดเป็นอนิจจัง” ความคิดก็เป็นอนิจจัง สถานะของมนุษย์ สถานะของการเกิดการตายก็เป็นอนิจจัง สิ่งอนิจจังเป็นสมมุติ สมมุติก็เป็นทุกข์ ทุกข์เพราะเราไปยึดมัน เราไปต่อต้าน เราต้องการให้มันเป็นนิจจัง เราต้องการให้มันอยู่คงทน ต้องการสิ่งความปรารถนาของเรา เกิดแล้วก็ไม่อยากตาย เกิดอยู่ตลอดไป เกิดสถานะไหนก็อยู่ในสถานะนั้น ทั้งๆ ที่มันตายเกิด ตายเกิดมา ทุกภพทุกชาติ มันยังไม่รู้ตัวมันเองเลย เห็นไหมสิ่งที่เป็นอนิจจัง

แล้วเป็นอนัตตาตรงไหนล่ะ มันเป็นอนัตตาเพราะมันไม่มีสถานะยืนยงไง มันแปรปรวนนี้ตลอดไป สิ่งที่แปรปรวน มันมีคุณค่าของมันในตัวมันเอง แต่เราไม่เคยเห็น เราไม่เคยเข้าใจ

เราถึงบอกธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสัจจะความจริงอันนี้ แต่เพราะเราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันเป็นเรื่องของ...อยู่บนหอคอยงาช้างไง อยู่บนตึก อยู่นอกโลก แต่กิเลสมันอยู่ที่ตัวโลกนี้ไง มันถึงใช้ปัญญาขนาดไหนมันถึงปล่อยวางเข้ามามันก็ปล่อยวางเข้ามาอยู่ในโลกนี้ไง

ถ้าปล่อยวางอยู่ในโลกนี้มันเป็นสมถะ แต่เพราะเราไม่เข้าใจ เราติด เราไม่เข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นสถานะของจิต เราคิดว่าสิ่งนี้เป็นผลของการประพฤติปฏิบัติ มันถึงไม่เป็นสัมมาไง มันเป็นมิจฉา มิจฉาเพราะความหลงผิด จิตนี้หลงผิดมันถึงไม่เข้าใจ จิตถึงไม่เป็นเอกเทศ จิตถึงไม่มีความตั้งมั่น

ถ้าจิตมีความตั้งมั่น เราใคร่ครวญขนาดไหน มันจะปล่อยวางขนาดไหน มันจะรุกเข้าใจตามสภาวธรรม...มันเป็นเรื่องข้างนอกนะ เราเห็นสภาวะข้างนอก เห็นสภาวะสิ่งต่างๆ

ดูสิ ดูเราออกไปดูความสังเวช ดูสิ เวลาไปเที่ยวป่าช้า ไปดูซากศพต่างๆ สิ่งนี้เป็นเรื่องภายนอกทั้งนั้น มันเป็นกายนอก มันเป็นเรื่องของภายนอกเพราะจิตมันส่งออกมา โลกมีสิ่งปลูกสร้างอยู่บนหอคอยงาช้าง แล้วไปยืนอยู่บนหอคอยงาช้าง แล้วก็ไปดูคนอื่นจากข้างนอก แล้วมันชำระกิเลสได้ไหม? มันชำระกิเลสไม่ได้เพราะว่ามันไม่ใช่ตัวที่กิเลสซุกซ่อนอยู่

เราจะทำลายใคร เราจะจับใคร เขาจะหลบซ่อนอยู่ในที่ลับ แล้วเราก็ไปดูแต่ผิวเผินจากภายนอก มันเป็นความผิวเผินนะ เราใคร่ครวญขนาดไหน เราจะปล่อยวางมาขนาดไหน สิ่งนี้เป็นโลกียปัญญา จิตสิ้นขบวนการของการคิด จิตสิ้นขบวนการของการไตร่ตรอง จิตสิ้นขบวนการของความเข้าใจ แล้วมันปล่อยวาง มันอยู่ในตัวมันเอง สิ่งที่ในตัวมันเอง สิ่งนี้เป็นสมถะ

แล้วถ้ามีสติ เรามีสติเราเข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นสมถะเพราะอะไร เพราะมันเกิดดับ ถ้าเป็นสภาวธรรม สิ่งที่มันออกไปแล้ว มันปล่อยวางมาอย่างนี้ เวลาเราออกมาเป็นอารมณ์ปกติ สิ่งที่เป็นกิเลสเรามันต้องวางลงสิ มันต้องจางไปสิ

นี่กิเลสตัณหามันจางลงไปไหม? กิเลสตัณหาเราไม่เคยจางออกไปจากใจเลย เราคิดแค่ไหน มันปล่อยวางเข้ามา ก็มันอยู่แค่นี้ ถ้ายังติดอยู่มันก็ทำได้แค่นี้ ถ้าทำได้แค่นี้เราก็เข้าใจแค่นี้ ทำไมเราไม่มีความมุมานะล่ะ เรามีครูบาอาจารย์อยู่นะ

ครูบาอาจารย์บอกว่า โลกียปัญญาแก้กิเลสไม่ได้ แต่การประพฤติปฏิบัติต้องเริ่มต้นจากโลกียปัญญา มันปฏิเสธไม่ได้ เพราะเราเป็นมนุษย์ไง เราเป็นมนุษย์ เรามีความคิด เรามีหลักการตรงนี้ ถ้าเรามีหลักการตรงนี้ เราปฏิเสธตรงนี้ เราจะไปทำที่อื่นได้อย่างไร

เหมือนกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ที่ชี้ทาง เป็นผู้ที่บอกทาง เป็นผู้ที่แสดงธรรม เป็นผู้ที่ทอดสะพาน เราจะเดินหรือไม่เดิน จะก้าวหรือไม่ก้าวขึ้นไปเห็นไหม ถ้าเราเดินขึ้นไป เราก้าวขึ้นไป เราก็จะเข้าสะพานนั้น คือเราต้องเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เราต้องเป็นผู้ที่ค้นคว้าของเราขึ้นมาเองไง ถ้าเราค้นคว้าของเราขึ้นมาเอง มันจะเข้าใจ

ค้นคว้าย้อนกลับ ทวนกระแสเข้าไปเห็นอะไร? เห็นกาย เวทนา จิต ธรรมของเรา มันจะเห็นกาย เวทนา จิต ธรรม จากสังคม จากภายนอก จากไปเที่ยวป่าช้า จากกายนอก สิ่งที่กายนอก ขบวนการของกายนอก การใคร่ครวญเรื่องของกายต่างๆ เรื่องของความสลดสังเวช เรื่องของเราไปเที่ยวป่าช้า ไปเห็นคนเจ็บ คนป่วย เห็นมาจากภายนอกมันสลดสังเวช มันก็หดตัวเข้ามา มันปล่อยเข้ามานะ สลดสังเวชมาก เห็นสภาวะแบบนั้นน่ะ นี่ใจมันเป็นอิสรภาพอยู่หลายวันเลยเพราะอะไร นี้เป็นธรรม เป็นธรรมแบบโลกียปัญญา

แต่ถ้าเป็นธรรมโดยโลกุตตรปัญญา มันสลดสังเวชเข้ามาขนาดไหน มันปล่อยหอคอยงาช้างเข้ามา มันไปอยู่ที่ตัวโลกหรือตัวจิต ถ้าตัวจิตมีอำนาจวาสนา เพราะมีสติสัมปชัญญะ เพราะเวลาสงบเข้ามาถึงโลกแล้ว ออกไปมันก็เสวยอารมณ์ แล้วก็ขึ้นไปอยู่บนหอคอยงาช้างอย่างเก่า มันมีระยะห่าง ระยะห่างสติ สติมันไม่ทัน มันไม่เห็นโทษของมัน

แต่ถ้าเราอยู่ที่ตัวโลก ตัวที่จิต ตัวจิตเวลาออกไปสัมผัสบรรยากาศ มันออกไปสัมผัสมันเกิดอารมณ์อีก เกิดอารมณ์อีกเพราะอะไร เพราะมันไม่ใช่มรรค มันไม่ใช่เกิดจากการกระทำของจิต มันไม่เกิดการกระทำของเรา มันไม่เกิดมรรคญาณ มันไม่เกิดความเห็นจริง ไม่เกิดจากภาวนามยปัญญา

เกิดภาวนามยปัญญาต้องเอาตัวนี้ออกไปสัมผัส ถ้าออกไปสัมผัส เอาตัวของจิตออกไปสัมผัส สัมผัสอะไร? ก็กาย เวทนา จิต ธรรม แต่มันเป็นความเห็นของจิตไม่ใช่ความเห็นของขันธ์ ไม่ใช่ความเห็นของสัญญา มันเป็นความเห็นของจิต พอจิตเห็นสภาวะแบบนั้น พอน้อมไปเห็นไหม

ถ้าน้อมไปไม่ได้ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติพอจิตสงบแล้ว ว่าง ปล่อยวางขนาดไหน ถ้าไม่ได้ออกวิปัสสนาก่อน จะไม่ได้ชำระกิเลสเลย

ถ้าไม่ได้ชำระกิเลสเหมือนกับเราจะเข้าบ้านเรา เราจะต้องเข้าตรอกซอกซอยเราถึงจะถูก เราไปวิ่งบนถนนใหญ่ ถนนใหญ่มันวิ่งไปมันจะออกสายไฮเวย์ มันจะออกต่างจังหวัด มันจะไปจังหวัดนั้น จังหวัดนั้นออกไป แต่เราจะเข้าบ้านเรา จากนั้นเราต้องแยกเข้าซอยของเรา แยกเข้าซอยคือการยกขึ้นวิปัสสนา

ถ้ายกขึ้นวิปัสสนาได้เห็นกาย เวทนา จิต ธรรม มันจะเห็นปากทางเข้าบ้านเรา ถ้าปากทางเข้าบ้านเรามันจะเข้าไปที่ตัวโลกนั้น จะไปทำที่กิเลสนั้น จิตนี้ถึงต้องพยายามน้อมไปที่กาย การเห็นกายจากภายในนะ ถ้าจิตสงบขึ้นมาเห็นกายจากภายใน พอเห็นกายเข้าครั้งแรก สิ่งที่เห็นกายเหมือนกับสมบัติ เหมือนกับสิ่งที่มีคุณค่ามาก แล้วเราเก็บซ่อนไว้

ดูสิ จิตนี่เกิดตายเกิดตายมาตลอด มันไม่เคยรู้จักตัวมันเองเลย ทำบุญกุศล ดูสิ ลัทธิต่างๆ เขาอ้อนวอน อ้อนวอนต่างๆ เขาก็ทำบุญของเขา เขาก็มีศีลมีธรรมของเขา เขาก็ทำของเขา แต่การทำอย่างนั้นมันเป็นอามิส มันทำจากหอคอยงาช้างไม่ใช่ตัวโลกไง มันก็การสร้างมาอย่างนั้น มันก็สร้างบารมีเห็นไหม เกิดดี เกิดชั่ว เกิดอะไรไป เขาก็เวียนตายเวียนเกิดไปสภาวะแบบนั้น นี่เป็นเรื่องของโลกเขา นี่เป็นเรื่องของลัทธิต่างๆ

แต่ถ้าเป็นธรรมล่ะ ถ้าเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เกิดมาเข้ามาถึงในหัวใจ แล้วถ้าจิตมันไปเห็น ถ้าดวงตาของธรรมเห็นสภาวะของกาย เห็นครั้งแรกมันจะหวั่นไหวมาก หวั่นไหวเพราะอะไร เพราะสิ่งนี้มันซ่อนเร้นเอาไว้ในหัวใจของเรา ถ้าหัวใจสร้างคุณงามความดีขนาดไหนมันก็เกิดตาย เกิดตาย มันปิดบังอันนี้ไว้ไง มันไม่ให้เห็น มันไม่ให้เราเห็นกายกับจิต ถ้าไม่ให้เห็นกายกับจิต วิปัสสนามันเกิดไม่ได้

ดูสิ ดูอย่างพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์เวลาทำดี...

...สิ่งที่ฌานโลกีย์ได้จะมีฤทธิ์มีเดชขนาดไหน นี่ฌานโลกีย์อย่างนั้นเหาะเหินเดินฟ้า ดูสิ ดูอย่างพระเทวทัต เหาะเหินเดินฟ้าได้ แปลงร่างได้ ทำต่างๆ ได้ แต่ไม่เห็นกาย ถ้าไม่เห็นกายก็ยกวิปัสสนาไม่ได้ พอจิตเสื่อมมันก็กิเลสล้วนๆ

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อสิ่งที่จิตมันมีบุญกุศลอยู่ มันสร้างสิ่งนี้ในหัวใจ มันหมักหมม มันซ่อนเร้นไว้ในหัวใจ แล้วจิตนี้มองเห็น สิ่งนี้มันซ่อนอยู่ในหัวใจที่ลึกมาก แล้วตาของใจไปค้นคว้า มันเห็นกายขึ้นมาจากจิตใต้สำนึก จิตของเรามันเห็นสภาวะกายอย่างนี้ มันสะเทือนมาก สะเทือนจนขนพองสยองเกล้านะ

ใครเห็นกายต่างๆ ครั้งแรก เห็นกายจากภายนอกเข้ามา เห็นแล้วก็ปกติ มันปล่อยวางเข้ามาก็มีความร่มเย็น ปล่อยวางแล้วเห็นกายจากภายนอก เห็นกายแล้วสลด มันมีสังเวช ความสังเวชมันปล่อยวางเข้ามา ปล่อยเข้ามา นี่ถ้าเห็นภายนอกมันเป็นอย่างนี้

แต่ถ้าเห็นจากกายจากตาของใจ กายที่แบบพระอัญญาโกฑัญญะ ฟังธัมมจักฯ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องดับเป็นธรรมดา”

การจะรู้การจะเห็น การจะเข้าใจ มันต้องออกจากจิตของเรา จิตของเรามันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยากอย่างนี้ มันอยู่กับจิตของเรา จิตของเรามีอย่างนี้ มันก็ออกไปแล้วมันเข้าไปเห็นกาย เห็นกายคือเห็นยาแก้ไขไง ถ้าออกยกขึ้นวิปัสสนา เห็นสิ่งที่เข้าไปจะชำระจิตดวงนี้ ถ้าชำระจิตดวงนี้มันจะสะเทือนมาก สะเทือนถึงกับขนพองสยองเกล้า แล้วเห็นบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า ความเห็นนั้นมันก็ต้องพยายามตั้งไว้

ถ้าจิตสงบเข้ามา ความเห็นกาย ทำความสงบของใจ ถ้าพอเห็นกายขึ้นไป แล้วอยากได้กาย อยากจะเห็นกายให้ชัดเจน จิตส่งออก พลังงานอันนี้ส่งออกไป เดี๋ยวจิตนั้น กายที่เห็นนั้นก็จะเคลื่อนไปหายไป ต้องกลับมาที่พุทโธ กลับมาที่ความสงบนะ

ถ้าเห็นจิตเห็นไหม เห็นจิตคือการพิจารณาจิต ถ้าจิตมันสงบขนาดไหน ใช้โลกียปัญญา จิตสงบเข้ามา สงบเข้ามา มีความสงบเราก็ตั้งสติเข้าไปได้ หมั่นฝึกหมั่นซ้อม เพราะหมั่นฝึกหมั่นซ้อม จิตมันสงบบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า

สิ่งที่บ่อยครั้งเข้ามันก็เป็นจิตที่ตั้งมั่น จิตที่ตั้งมั่นคือตัวจิตที่มันจะไปค้นคว้าหาจิต จิตจะไปค้นคว้าหาจิตเพราะอะไร เพราะจิตที่มันส่งออกมา มันเป็นธรรมชาติของจิต มันเป็นธรรมชาติคือมันเป็นสัจจะ สัจจะของมนุษย์ที่มีความคิด

มนุษย์ที่มีความคิด พอมีความคิดขึ้นไป ขันธ์ ๕ มันก็ทำงานโดยสัจจะของมัน สิ่งนี้มันเป็นธรรมชาติของเขาอยู่ ขณะที่เราทำความสงบ เราทวนกระแส เราไม่ไปตามธรรมชาติ ธรรมชาติสัจจะความจริง สัจจะของเขาคือพลังงานที่มัน...พลังงานของน้ำ เรากักน้ำไว้ ปล่อยน้ำมา พลังงานของน้ำเขาปั่นไฟฟ้าได้

นี่ก็เหมือนกันพลังงานของจิตที่ธรรมดา วันนี้เราสดชื่น ความคิดมันสดชื่นมาก วันนี้เราเหนื่อยล้ามาก เวลาคิดความคิดมันจะเฉา ความคิดมันไม่มีกำลังเห็นไหม นี่สิ่งนี้มันเกิดจากอะไรล่ะ นี้คือสัจจะของเขาไง

แต่เราใช้โลกียปัญญาใคร่ครวญ ความคิดของเราเข้ามา มันปล่อยวางเข้ามา พอปล่อยวางเข้ามา เหมือนกับเราสร้างเขื่อน เรากั้นพลังน้ำไว้ พลังน้ำจะเป็นประโยชน์กับเราเห็นไหม

จิตมันปล่อยวางเข้ามา มันก็เข้ามาสมถะ สิ่งที่เข้ามาเป็นสมถะ ปล่อยวางบ่อยครั้งเข้า จนเห็น รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร บ่วงของมารเพราะความมีสติ แล้วความใคร่ครวญในโลกียปัญญาบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า แล้วมีสติสัมปัญญะเข้าไป แล้วเวลาสงบเข้าไป

เวลามันไม่สงบเพราะอะไร ไม่สงบเพราะมันมี รูป รส กลิ่น เสียง เข้ามาไง มีรูป รส กลิ่น เสียง เข้าไปกวนใจ ถ้าใจมันกวน สัญญาความจำได้หมายรู้ในใจมันก็สร้างภาพขึ้นมาให้จิตนี้ออกไปเสวยอารมณ์ ออกไปเอา รูป รส กลิ่น เสียง ออกไปหามาร ออกไปบ่วงของมาร เอาบ่วงของมารคล้องคอ แล้วก็ทุกข์ไปยากอย่างนั้น

สติสัมปชัญญะใคร่ครวญบ่อยครั้งเข้า มีความเห็นปัญญาเกิดขึ้น ปัญญาเกิดขึ้นเห็นโทษของรูป รส กลิ่น เสียงบ่อย จิตพิจารณาเข้าไปโดยโลกียปัญญาบ่อยครั้งเข้า จนเห็นโทษของ รูป รส กลิ่น เสียง จนซึ้งใจมันจะปล่อยโทษ มันจะปล่อย รูป รส กลิ่น เสียง โดยสัจจะ นี่กัลยาณปุถุชน

กัลยาณปุถุชนเข้าใจสัจจะความจริง รูป รส กลิ่น เสียง ไม่สามารถจะฉุดกระชากลากใจดวงนี้ให้เป็นทาส ให้ไปเสวยอารมณ์โดยสัจจะความจริงอย่างนั้น เห็นไหม พอปล่อยวางเข้ามา ปล่อยวางเข้ามา สติย้อนกลับ พอปล่อยวางเข้ามา ใช้สติปัญญา จะปล่อยวาง รูป รส กลิ่น เสียง เข้ามา นี่เป็นกัลยาณปุถุชน

พอเป็นกัลยาณปุถุชน อาการเห็นไหม อาการที่ว่า ขันธ์ไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่ขันธ์ ตัวจิตคอยตรวจสอบความรู้สึกของเราอยู่ จิตดวงนี้เวลามันออกไปรู้สึก ออกไปหาความคิดนี้ ความคิดที่ว่าเกิดดับๆ ที่แขกจรมานี้ เวลาจิตมันเสวยอารมณ์มันเห็นสภาวะแบบนั้นนะ เห็นสภาวะตัวจิต ตัวจิตนี้มันออกไปจับขันธ์ พอจับขันธ์ เราจับขันธ์ได้ เราก็จับจิตได้ พอจับจิตได้ การวิปัสสนาเริ่มต้นเห็นกาย เห็นจิต

การเห็นกายอย่างหนึ่ง การเห็นกายใช้สติ ใช้พุทโธเข้ามา จิตสงบเข้ามาจะเห็นกาย เห็นกายต้องตั้งสติกลับมาที่พุทโธนี้ ให้จิตนี้มีกำลัง พอมีกำลัง น้อมไปที่กาย เพราะเห็นแล้ว ถ้าใครเห็นแล้วเหมือนกับสิ่งนั้น เราจับต้องสิ่งนั้นได้ มันจะเป็นการงานออกไป การงานนี้เราจะทำต่อเนื่องไปบ่อยครั้งเข้า แม้แต่ทำความสงบ เราต้องมีทำบ่อยครั้งเพื่อชำนาญในวสี ชำนาญในเหตุ

ชำนาญในเหตุที่พระอัสสชิสอนพระสารีบุตร “ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ” สิ่งที่ความสงบนี้มาจากไหน? มาจากการตั้งสติ เรากำหนดพุทโธมันสงบเข้ามา สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากเราตั้งสติ แล้วใช้ปัญญาอบรมสมาธิจับสิ่งนี้เข้ามา เราชำนาญในเหตุ เราสร้างเหตุเข้ามา จิตมันสงบเข้ามา จิตสงบโดยพื้นฐาน

ถ้าจิตสงบโดยพื้นฐาน สิ่งที่ไปเห็นกาย เพราะเราจับต้องได้แล้ว เหมือนเราจับจำเลย เราจับจำเลยส่งขึ้นฟ้องศาลแล้ว ศาลประทับรับฟ้องแล้ว ถ้าศาลเรียกจำเลยเมื่อไหร่ จำเลยก็ต้องมาขึ้นศาลตลอดไป ถ้าเราเห็นกาย เห็นจิต เห็นปากซอยนั้นแล้ว เราเข้าไปในซอยนั้น เราอยู่ในซอยนั้นแล้ว เราจะทำอย่าง เราจะเข้าบ้านของเราได้เห็นไหม วิปัสสนาบ่อยครั้งเข้า

ถ้าวิปัสสนาไปให้เป็นไตรลักษณ์ จะเด็ดหัว เด็ดหาง จะตัดแขนตัดขาแล้ว อย่างไรก็แล้วแต่ อยู่ที่กำลังของจิตทำได้ ถ้าจิตไม่มีกำลังจะทำสภาวะแบบนั้นไม่ได้ แต่ถ้าจิตมีกำลัง จะตัดแขนแขนก็ขาด จะให้มันแปรสภาพอย่างไรมันจะแปรสภาพสภาวะแบบนั้น โดยความรำพึงของจิตนะ ไม่ใช่นิมิตหรอก มันเป็นความรำพึงของจิต นี่มันเป็นมรรคญาณ สิ่งที่เกิดขึ้นมานี่ภาวนามยปัญญาเกิดขึ้นอย่างนี้

ภาวนามยปัญญาเกิดขึ้นมาจากการกระทำของจิต มรรคญาณ จิต มรรค ๘ เพียรชอบ งานชอบ การงานชอบ สติชอบ ระลึกชอบ ความชอบอย่างนี้มันหมุนออกไป มันเป็นการงานของมัน ร่างกายจะแปรสภาพ สิ่งที่เป็นอนิจจังๆ มันจะเป็นปัจจุบันให้เราเห็น มันจะแปรสภาพอย่างไร มันจะเป็นไตรลักษณ์อย่างไร มันจะปล่อยวางอย่างไร ปล่อยวางบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า

เวลาถ้าสมดุลโดยสติ โดยสมาธิ โดยปัญญา สมดุลโดยปล่อยวาง ปล่อยวางขนาดไหนมันไม่มีเหตุมีผลจะชะล่าใจสิ่งนั้นไม่ได้ ซ้ำๆ ซ้ำๆ จนกายกับจิตขาดออกไปจากใจนะ กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ สิ่งนี้นี่เห็นสัจจะความจริงนะ

สิ่งที่สัจจะความจริง ทำลายโลก โลกทัศน์ของเรา โลกทัศน์ที่มันยึดว่า สรรพสิ่งนี้เป็นของเรา โดยจิตใต้สำนึกนะไม่ใช่โลก กายนี้ไม่ใช่เราโดยสังคม โดยประเพณีวัฒนธรรมที่เราเข้าใจกัน เรารู้กันว่า กายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย กายกับจิตแยกกันโดยธรรม โดยธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในพุทธศาสนา เราก็เชื่อกันโดยสุตมยปัญญาแล้วมันซึ้งใจไหม ถ้ามันจินตมยปัญญา มันก็ปล่อยวางเข้ามา พอมันเจอภาวนามยปัญญาเข้าไปมันทำลายกัน กายกับจิตแยกออกจากกันโดยสัจจะความจริง

นี่ความดี ละชั่วทำดี ละชั่วทำดี ละอย่างนี้ไง ละชั่วทำดีจากภายใน จากภายนอกเราก็เป็นสังคมอยู่ในสังคมขึ้นมา ละชั่วจากภายนอกขึ้นมามันก็ทำให้เรามีสัจจะของเรา เราทำของเราขึ้นมาเห็นไหม

พิจารณาจิตก็เหมือนกัน ถ้าพิจารณาจิต ปัญญาอบรมสมาธิเข้ามาบ่อยครั้งเข้า เป็นโลกียปัญญา โลกียปัญญาปล่อยวางเข้ามามันเป็นสมถะ สิ่งที่เป็นสมถะจิตตั้งมั่นขึ้นมาจนเห็นโทษของ รูป รส กลิ่น เสียง มันมีปัญญาปล่อยวางเข้ามา มันเป็นสัจจะความจริงของจิต จิตเป็นสัจจะความจริงของจิต จิตเป็นความจริงขึ้นมาก็หมั่นสังเกต หมั่นคอยมอง หมั่นดูจิต

จิตเวลามันออกมา รับรู้ได้อย่างไร สิ่งที่รับรู้มันจับต้องได้ พอจับต้องได้ ความรู้สึกเป็นรูป เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร เป็นวิญญาณ ถ้ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่ครบองค์ประกอบ ความรู้สึกเกิดไม่ได้ ความคิดเกิดไม่ได้เด็ดขาด

ความคิดจะเกิดได้มันจะมี รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในความรู้สึกนี่ เพราะตัวจิตคือตัวพลังงานเฉยๆ แล้วถ้าสติมันทันขึ้นมา ปัญญามันเกิดขึ้นมา มันจะสอดเข้าไปนะ สอดไปที่เวทนาก็ได้...ดับ สอดไปที่สัญญาก็ได้...ดับ สอดไปที่สังขารก็ได้...ดับ สอดไปที่วิญญาณก็ได้ เพราะวิญญาญไม่รับรู้มันก็ดับ สิ่งที่ดับคือมันปล่อย พอมันปล่อยบ่อยครั้งเข้า ปัญญาใคร่ครวญบ่อยครั้งเข้า ขันธ์ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ มันก็ปล่อย ขันธ์ไม่ใช่เราหรอก แขกจรมาจะถนอมแขกอย่างไร

ความคิดเกิดดับมันเกิดมาจากไหน? ความคิดที่เกิดดับๆ นี่ความรู้สึก ความเจ็บช้ำน้ำใจ ความที่อยากได้ อยากดี อยากเด่น มันมาจากไหน? มันก็มาจากจิต แล้วจิตมันมีอะไร? ก็มันมีกิเลสตัวนี้ไง มันมีสิ่งที่ซ้อนเร้นอยู่ในหัวใจ สิ่งที่ว่ามันหมักหมมในใจตัวนี้ไง โลกทัศน์ความเห็นผิด อวิชชามันอยู่ในหัวใจ เพราะมันไม่ใช่ธรรมของเรา เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ถ้าเป็นธรรมของเรา เราเห็นสภาวะของเรา มันจะสลดสังเวชมาก สังเวชมันก็ปล่อยบ่อยครั้ง บ่อยครั้ง ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถึงที่สุด ถึงกระบวนการของเขา ขณะจิตที่เปลี่ยน ขณะจิตจากปุถุชนจะทำอย่างไรให้เป็นกัลยาณปุถุชน กัลยาณปุถุชนเพราะเห็นการเป็นไปของ รูป รส กลิ่น เสียง

รูป รส กลิ่น เสียง มันเป็นเหยื่อของอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย สิ่งที่เราเห็นสัจจะความจริง ตา หู จมูก ลิ้น กาย มันโง่ โง่เพราะอะไรเพราะจิตมันโง่ จิตมันโง่เพราะอะไร เพราะมีอวิชชา แต่ถ้าปัญญามันเกิดใคร่ครวญ สิ่งนี้มันเป็นสัจจะของเขา เสียงก็คือเสียง รสก็คือรส รูปก็คือรูป เขามีของเขาอยู่แล้ว แล้วเราไปรับรู้แล้วเราไปยึดของเราเอง พอเห็นว่าจิตมันโง่ พอจิตมันโง่มันรู้ความฉลาดเข้ามา มันก็ปล่อย ปล่อยมันก็ขาด สิ่งนี้ขาดออกไป สิ่งนี้ รูป รส กลิ่น เสียง ขาดออกไปนี่กัลยาณปุถุชน

สิ่งที่เป็นกัลยาณปุถุชนมันก็เป็นปัจจัตจังตัง มันเป็นสันทิฏฐิโก จิตมันก็รู้ เวลาวิปัสสนาจับเข้าไปเห็น เห็นเสวยอารมณ์ เห็นจิต เห็นการเกิดดับ เห็นความคิด มันจับได้มันก็รู้

เวลาวิปัสสนาไป วิปัสสนาโดยปัญญาที่มันฉลาดเข้าไป มันใช้ปัญญา สัญญาเป็นอย่างนี้ไง อ้อ! เพราะเราไปเทียบเคียง เพราะมีสัญญาก่อนเนอะ สังขารมันถึงปรุง จะคิดเรื่องอะไรก็แล้วแต่ จะต้องมีสัญญาเทียบเคียง พอเทียบเคียงเหมือนข้อมูลเดิมในหัวใจไง อะไรก็แล้วแต่ที่มันเคยบาดหมางในหัวใจ พอคิดถึงมันมันก็เจ็บ สิ่งที่เราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา เวลาใคร่ครวญนี้เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันเป็นสัญญาเนอะ ถ้าสติมันทันสัญญาก็ดับ

เวลามันเป็นสัญญา สัญญาส่งต่อ สังขารก็ปรุง จะปรุงได้อย่างไร ถ้ามันจะปรุงได้ก็ต้องมีเวทนารับรู้สิ มีรสมีชาติสิ รสชาติเกิดจากใคร เกิดจากวิญญาณ วิญญาณมันเกิดขึ้นมาแล้ว วิญญาณเป็นเหมือนกับสันตติคือการเกิดดับ สิ่งที่เกิดดับแล้วมันส่งต่อกันอย่างไร เป็นอารมณ์ความคิดไง อ้อ! มันก็มีรูปไง รูปของจิตคือรูปของความรู้สึก รูปของความคิด พอรูปของความคิดจิตมันก็รับรู้หมุนไปๆ อารมณ์มันก็เกิดมันก็เวียนไป ปัญญาทันขนาดไหนมันก็เสียบแทงเข้าไป พอแทงมันก็ปล่อย แทงก็ปล่อย พอแทงเข้าไป มันจะรู้เท่ารู้ทันจากความคิดเลย

รู้เท่ารู้ทันเรื่องการทำงานของจิต จิตนี้ขบวนการของจิตนี้ทำงานอย่างไร พอทำงานอย่างนี้ แล้วที่ครูบาอาจารย์บอกว่า ไม่เห็นทุกข์ไง

เวลาทุกข์ เวลากิเลสมันอยู่ที่ขบวนการการทำงานของจิต จิตทำงานเสร็จแล้วมันก็ถ่าย ถ่ายขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลงไว้บนหัวใจ ถ่ายความเจ็บปวดไว้ในหัวใจ ถ้ามันเจ็บช้ำน้ำใจ ขี้โลภอยากได้ ถ่ายแต่สิ่งที่เพ้อฝันไว้ในหัวใจ สิ่งที่เพ้อฝันนะ “นี่เป็นสภาวะแบบนี้ นี่จะเป็นธรรมอย่างนี้” ความเพ้อฝันมันก็ถ่ายไว้บนหัวใจ เราก็รับไว้ นี่กรรมจากภายนอก กรรมจากเรื่องอามิส เรื่องจากภายนอก ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว สิ่งการกระทำที่จิตนี้มันเกิดสูงเกิดต่ำ โดยธรรมชาติของเขา

สิ่งที่วิปัสสนาจากภายใน มันถ่ายไว้ในหัวใจเราก็ไม่เห็นไง

แต่ขณะที่เข้ามาเห็น เห็นอาการของจิตที่มันหมุนไปสภาวะแบบนี้ สิ่งที่เป็นภูเขา ๕ ลูก รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันเป็นภูเขา ๕ ลูกนะ ภูเขาภูเราแล้วมันทับจิตไว้ ทับจิตไว้เพื่อสังโยชน์ กอดมันไว้ กอดมันไว้มันก็ไปทับเหยียบย่ำหัวใจ เหยียบย่ำหัวใจด้วยกิเลสตัณหาความทะยานอยากของเราไง

แล้วเราเกิดมรรคญาณ ภาวนามยปัญญาคือมรรคญาณ มรรคญาณเกิดขึ้นมาจากใจของเรา มันต่อต้าน มันจับจิตได้ ด้วยความเห็นด้วยสติ แล้วแยกแยะออกมาด้วยปัญญา สังขารถ้าเป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันเป็นกิเลส สังขาร แต่ขณะที่เราใช้ปัญญาอย่างหยาบมันก็เป็นสังขาร แต่เพราะมันมีสมาธิ เพราะมีสมาธิมันถึงเป็นมรรคใช่ไหม สัมมาสมาธิ สัมมาสติ ความเพียรชอบ สัมมากัมมันโต งานชอบ สิ่งที่เป็นความชอบนี่มันเป็นมรรค

มรรคเกิดขึ้นมา มันก็วนกลับมา นี่การทวนสวนกระแส สิ่งที่จะทวนกระแสเข้าไปแก้กิเลส มันก็ทวนกระแสด้วยกำลังมรรคของเรา มรรคคือความรู้สึกที่มันย้อนกลับมาเป็นน้ำสะอาด เป็นสิ่งที่เป็นคุณธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราพยายามเก็บหอมรอมริบสร้างสมขึ้นมา จนเป็นพลังงานของเรา จนมันเป็นธรรมจักร จนเห็นปัญญาเราเคลื่อนไหว

ปัญญาเราเคลื่อนไหวมันหมุนออกมา แล้วมันมาทำลายกิเลส มันปล่อยวางเป็นขั้นเป็นตอน ปล่อยวางบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า สิ่งที่บ่อยครั้งเข้า มันก็มีความว่าง มีความสุข

ถ้าติดดีจะเป็นชั่ว ติดดีไง เราทำมาสิ่งนี้ดีมากๆ เลยแล้วเราติด พอติดดี ความชั่วคือกิเลสที่มันไม่เข้าใจ กิเลสมันจะหลอกหลอน หลอกว่าเป็นธรรมสภาวะแบบนั้น ถ้าปล่อยอย่างนี้เดี๋ยวจิตจะเสื่อมเพราะเป็นกุปปธรรม ถ้าเป็นอกุปปธรรมที่ไม่เสื่อมมันจะต้องมีสิ่ง...มีดั่งแขนขาด เวลากิเลสขาดดั่งแขน เราจะวิปัสสนาบ่อยครั้งเข้า

การวิปัสสนาต้องใช้พลังงาน พลังงานตัวนี้เกิดจากใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าเราใช้พลังงานอย่างนี้ พอกำลังงานใช้ไปบ่อยครั้งเข้า เรากลับไปใช้ปัญญาใคร่ครวญ แล้วมันปล่อยวางเข้ามา แล้วเราจับสิ่งนี้ได้ มันก็ใคร่ครวญต่อไป

การพิจารณาจิตมันเป็นปัญญาวิมุตติ ปัญญาวิมุตติมันจะไม่เหมือนกำหนดพุทโธ พุทโธๆ ถ้าจิตพุทโธนะ ถ้าจิตสงบมากมันจะดิ่งลงลึก มันจะเป็นอัปปนาสมาธิก็ได้ สิ่งที่เป็นอัปปนาสมาธิ มันจะดับรูป รส กลิ่น เสียง คืออายตนะจะดับหมด เป็นสักแต่ว่ารู้เลย แล้วถอนออกมาเป็นอุปจารสมาธิ สิ่งนี้คือการใคร่ครวญโดยวิปัสสนา

แต่ถ้าเป็นปัญญาวิมุตติ อารมณ์อย่างนี้ไม่มี ถ้าอารมณ์อย่างนี้ไม่มี เราออกมาพุทโธ พุทโธ อย่างนี้เพื่อให้จิตสงบ พุทโธเพื่อผ่อนแรง ถ้าเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ มันใช้ปัญญามากมันจะตึงเห็นไหม เส้นประสาทมันจะตึง เรากลับมาพุทโธได้บ้าง แต่มันจะไม่รวมลงสมาธิอย่างนั้น

ถ้าไม่รวมสมาธิอย่างนั้น มันเป็นปัญญาวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ ถึงที่สุดของการปล่อยวางจะเหมือนกัน ถึงที่สุดของการสมุจเฉทปหาน เวลาจิตขาดออกไป กิเลสขาดออกไป สังโยชน์ขาดออกไป นี่จะสมดุลเหมือนกันคือมันจะไปรวมลงตรงนั้น จะปล่อยวางตรงนั้น

วิปัสสนาขันธ์ ๕ วิปัสสนาเรื่องของจิตบ่อยครั้งเข้า ขันธ์ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ขันธ์ไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่ขันธ์ พิจารณาบ่อยครั้งเข้า มันถึงที่สุดมันจะขาด สิ่งที่ขาดคือสังโยชน์

สังโยชน์ เห็นไหม สักกายทิฎฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส สิ่งที่ขาดออกไป ดั่งแขนขาด ขันธ์เป็นขันธ์ จิตเป็นจิตนะ สิ่งนี้เป็นอกุปปธรรม แล้วจะกลับมาต่อกันให้เป็นกิเลสขึ้นมาให้เป็นความเข้าใจผิดว่า กายเป็นเรา จะเห็นกายเป็นเราอีกไม่ได้เลย พิจารณากายเป็นกายขาดออกไป พิจารณาจิตจนขาดออกไป กายนี้ไม่ใช่เราเด็ดขาดแล้ว ไม่ใช่เราเด็ดขาดเลย แต่ตัวจิตมันมีอยู่ ตัวจิตยังมีสถานะคงอยู่ ตัวจิตตัวตน

ถ้าพิจารณาเป็นพระโสดาบันแล้ว กายไม่ใช่เราแล้ว ไม่มีตัวตน ไม่มีตัวตนในเรื่องของร่างกาย แต่มันมีตัวตนของจิต ถ้าตัวตนของจิต “ละชั่วทำดี” แล้วทำความดีมันก็มีดีเป็นขั้นเป็นตอนเข้าไป เรายกขึ้น ถ้าจิตเราละเอียดเข้าไป ปัญญาละเอียดเข้าไป มันจะจับ กาย เวทนา จิต ธรรมอย่างนี้ จะต้องทำความสงบของใจ จะมีสติแล้วทำความสงบของใจเข้ามา เพราะจิตมันจะละเอียดเข้าไปอีกชั้นตอนหนึ่ง

พระโสดาบันมีสถานะของพระโสดาบันรับรองจิตนี้ไว้ จิตนี้เป็นพระโสดาบันแล้ว จิตนี้จะไม่เคลื่อนออกไปเป็นปุถุชนเด็ดขาด แต่พระโสดาบันใช้ขบวนการของการประพฤติปฏิบัติจนเสร็จสิ้นแล้ว จะขึ้นเป็นสกิทาคามี ก็ต้องมีมรรคของพระสกิทาคามีนี่บุคคล ๘ จำพวก โสดาปัตติมรรค สกิทาคามรรค อนาคามรรค อรหัตตมรรค แล้ว โสดาปัตติผล สกิทาคาผล อนาคาผล อรหัตตผล แต่ถ้ามันไม่ผ่านจากโสดาปัตติผลขึ้นมา มันจะถึงสกิทาคามรรคได้อย่างไร

การประพฤติปฏิบัติการซับซ้อนขนาดไหน การซับการซ้อนกัน การใคร่ครวญอย่างนั้น มันก็อยู่ในวงของโสดาปัตติมรรคอยู่อย่างนั้นแหละ เวลามันทำลายกิเลสไปแล้ว มันถึงจะเป็นโสดาปัตติผล แล้วยกขึ้นสกิทาคามรรค ความละเอียดอ่อน ทำสติเข้ามามันต้องย้อนกลับมาทำความสงบของใจ ใจสงบเข้ามาอีกนะ

สถานะของความเห็นผิดในเรื่องกายไม่มี ไม่ต้องกังวล สิ่งที่เป็นเรื่องของกายไม่มี แต่สิ่งที่เป็นอุปาทานจากภายใน

เวลาวิปัสสนาไปครูบาอาจารย์ที่เป็นเจโตวิมุตติ จะเห็นกายนอก-กายใน-กายในกาย สิ่งที่เป็นกาย กายนอกเห็นเป็นสภาวะของกาย ทำไปต่างๆ แล้ว มันจะทำลายกันอย่างไร อย่างไรมันเป็นอนัตตาไป สิ่งที่อนัตตา ถ้าพิจารณาไปจิตสงบเข้าไป ยกเห็นกายมันต้องเห็นกายอยู่ เห็นกาย พอพิจารณากายไป กายเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ มันจะกลับไปคืนเป็นธรรมชาติของเขา

ในร่างกายของสัตว์โลก มันประกอบไปด้วยธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ตัวไฟเป็นตัวพลังงาน แต่ตัวไฟมันจุดมาจากจิตนะ เพราะตัวจิตนี้เป็นตัวพลังงาน แล้วมีธาตุไฟ ธาตุไฟ สิ่งที่ว่าเป็นสากลทางโลกเขา ธาตุไฟ ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุดิน

แม้แต่ทางการแพทย์เขาก็ดู ดูจากธาตุ รักษาจากธาตุ ทางสมุนไพร สิ่งนี้เป็นเรื่องของธาตุ ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕

ขันธ์ ๕ เป็นความรู้สึก สิ่งที่เป็นธาตุ ๔ ถ้าคนสิ้นชีวิตแล้ว มันก็ต้องกลับคืนสู่สภาพของมัน แต่นั้นเป็นเพราะขบวนการของคนสิ้นชีวิตแล้วเขาไม่มีโอกาสไง คนที่สิ้นชีวิต คนที่ตายไปเขาตายไปจิตนี้ก็ต้องไปรับผลบุญผลกรรมตามสภาวะแบบนั้น ร่างกายนี้ก็ต้องคืนสู่ธรรมชาติของเขา คืนสู่สภาวะของธาตุ ๔

แต่การวิปัสสนาในเรื่องของสกิทาคามรรค จะเห็นกายขนาดไหน พิจารณาไป กายเป็นน้ำ กายเป็นดิน กายเป็นลม กายเป็นไฟ มันคืนสู่ธรรมชาติเดิมของเขา จิตมันก็ปล่อย ปล่อยวางเข้ามา ปล่อยวางเข้ามา ถึงที่สุดซ้ำแล้วซ้ำเล่ามันจะขาด กายกับจิตแยกออกจากกันโดยสัจจะความจริง

ถ้าพิจารณาจิตก็เหมือนกัน พิจารณาจิต สิ่งที่เป็นความรู้สึก เห็นเข้าใจแล้วขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ แต่อุปาทานจากภายในล่ะ เพราะอะไร เพราะกามราคะ ปฏิฆะเต็มหัวใจ สิ่งที่กามราคะ ปฏิฆะ สิ่งนี้มันวิปัสสนาไป เห็นสภาวะความผูกพันของจิต เพราะจิตมันมีอารมณ์ความรู้สึกออกไป วิปัสสนาเข้าไปมันเป็นขันธ์อย่างกลาง ซ้ำแล้วซ้ำเล่ามันก็ปล่อยเหมือนกัน กายกับจิตแยกออกจากกันเหมือนกัน สิ่งที่เหมือนกัน เห็นไหมอริยสัจอันเดียวกัน

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนวางธรรมไว้ สอนสาวกต่างๆ ภิกษุองค์หนึ่งก็สอนอย่างหนึ่ง แล้วแต่จริตนิสัยของเขา แต่ผลขบวนการของอริยสัจต้องเหมือนกัน จบขบวนการเหมือนกันเพราะธรรมอันเดียวกัน

เรามีหัวใจ เรามีความสุขความทุกข์ในหัวใจของเราเหมือนกัน แต่จริตนิสัยความชอบ สิ่งต่างๆ ความเห็นต่างๆ นิสัยใจคอต่างกัน สิ่งที่ต่างกันนี้มันเป็นเรื่องของกิเลส มันเป็นเรื่องของจริตนิสัย มันเป็นเรื่องของอำนาจวาสนา

แต่เรื่องของใจมีอันเดียวกัน อริยสัจอันเดียวกัน สิ่งที่อันเดียวกัน จะเป็นเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ มันชำระกิเลสแล้วมันต้องเหมือนกัน สิ่งที่เหมือนกันมันถึงตรวจสอบกันได้ มันถึงเข้าใจได้ เว้นไว้แต่เป็นขิปปาภิญญา

ถึงที่สุดแบบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งแต่ปฐมยาม เรื่องของบุพเพนิวาสานุสติญาณ เรื่องของอาสวักขยญาณ แล้วเวลาสำเร็จแล้ว ไม่ได้ผ่าน โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี แต่สำเร็จเลย สำเร็จเลยเพราะอะไร เพราะเป็นที่ว่า...

แม้แต่สาวกยังมี ที่ว่าฟังเทศน์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าครั้งเดียวแล้วเป็นพระอรหันต์...มี แต่ขณะเป็นพระอรหันต์ก็ต้องมีคุณสมบัติ โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี เหมือนกัน

แต่ในผู้ที่เวไนยสัตว์ ผู้ที่ถูที่ไถขึ้นไป มันจะผ่านขั้นตอนไปอย่างนี้ ถ้าผ่านขั้นตอนไปอย่างนี้ ถ้าเป็นขิปปาภิญญาถึงที่สุดแล้วสิ้นกิเลสไป

แต่ถ้าเป็นโสดาบัน แล้วเราติดอยู่ว่าเป็นโสดาบันแบบนางวิสาขา นางวิสาขาเป็นพระโสดาบัน แล้วตายไปก็เป็นพระโสดาบัน นี่อีก ๗ ชาติ

แต่พระอานนท์ พระอานนท์เป็นพระโสดาบัน เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพานนะ “อานนท์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ทำสังคายนาพระอานนท์จะเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยากรณ์ไว้แล้วว่าพระอานนท์มีอำนาจวาสนาจะสิ้นสุดกิเลส แล้วเวลาเป็นพระโสดาบันอยู่ ฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพหูสูต จำไว้มหาศาลเลย

เวลาประพฤติปฏิบัติไง “องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก สังคายนา เราจะเป็นพระอรหันต์” ตรึกในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ตลอดเลย จนถึงที่สุดแล้วนะ เพลียมาก ขอพักก่อน พอพักคือปล่อย ปล่อยธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มรรคญาณของพระอานนท์ก็เกิดขึ้นมาโดยปัจจุบันนั้น พอปัจจุบันนั้นก็แก้กิเลสของพระอานนท์เดี๋ยวนั้น พระอานนท์เป็นพระอรหันต์ขึ้นมาเลย

สิ่งเป็นพระอรหันต์ มรรค ๔ ผล ๔ ขณะที่มันปล่อยวางขนาดไหน จะเป็นปัญญาวิมุตติก็พิจารณาไป ถึงปล่อยวางแล้วจะเป็นอริยสัจเหมือนกัน ขณะที่เป็นอริยสัจปล่อยวางแล้ว กายกับจิตแยกออกกัน กายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส แยกออกจากกัน โลกนี้ราบเป็นหน้ากลอง ปล่อยวางหมดเลย

การค้นคว้า การค้นหา เราเล่นกับเด็ก เด็กเล่นกับเรา เด็กจะซ่อนที่ไหน เราจะจับได้ เราจะเห็นได้ แต่ถ้าเราไปเล่นกับผู้ใหญ่ เขาจะซ่อนที่ต่างๆ มันซ่อนเร้น มันซ่อน มันปกปิด เราจะค้นหาสิ่งนั้น ถ้าเชาวน์ปัญญาไม่ทัน จะไม่เจอสิ่งนั้นนะ

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อพิจารณาเห็นกายเห็นจิตมาบ่อยครั้งเข้า สิ่งต่างๆ เราจับต้องได้ จับต้องได้เพราะอะไร เพราะสิ่งนี้มันเป็นกิเลส ลูกกิเลส หลานกิเลส มันยังไม่เป็นพ่อกิเลส ถ้าเป็นพ่อกิเลส ปู่กิเลส กิเลสมันก็มีหยาบ มีละเอียด สิ่งที่ละเอียดขึ้นมา เราจะจับอย่างไร

แม้แต่เราจะเข้าบ้านของเรา เราจะต้องหาปากซอย เราต้องพยายามยกไปวิปัสสนาให้ได้ แล้ววิปัสสนาเข้ามา ปล่อยกิเลสเป็นชั้นเป็นตอน แล้วกิเลสอย่างละเอียดมันจะยอมให้เราทำอย่างนั้นไหม

กายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส โลกนี้ราบ ราบเป็นหน้ากลองเลย

เราจะค้นคว้าอย่างไร มันต้องใช้สตินะ ใช้ความละเอียดอ่อนของเรา ทำความสงบของใจให้ละเอียดเข้าไป สิ่งที่ละเอียดเข้าไป

“ละชั่วทำดี” ดีอย่างละเอียด สิ่งที่ละเอียดเข้าไป ความดีอย่างนี้ ถ้าสงบอย่างนี้ เราจะตั้งสติอย่างไร นี่สังเกต สังเกตแล้วตั้งสติ ถ้ามันจับจิตได้นะ นี่เป็นกามราคะเพราะตัวจิตนี้เป็นตัวกาม

ถ้าเป็นเจโตวิมุตติ มันจะเห็นกาย ความเห็นกายเห็นอสุภะ ที่ว่าเห็นอสุภะ อสุภะกัน เห็นอสุภะเพราะอะไร เพราะสิ่งที่จิตมันติดความพอใจใช่ไหม จิตมันติดความพอใจ ติดในรูปสวย ติดในเพศตรงข้าม ติดในสิ่งต่างๆ เพราะมันติดโดยสัญชาตญาณนะ

แม้แต่เวลาที่วิปัสสนาเข้าไป พอจิตมันมีความรู้สึก ไม่ใช่เห็นเป็นภาพหรอก มันก็รู้แล้วนะ เพราะจิตมันละเอียด นี่อนาคามรรค ถ้าเป็นอนาคามรรคมันจะเข้าไปจับกายและจิตได้ ถ้าพิจารณาจิตมันจะเป็นกามราคะ ถ้าพิจารณากายสิ่งที่เป็นอสุภะ สิ่งนี้อสุภะนะ พิจารณาบ่อยครั้งๆ นะ เพราะการวิปัสสนานี่ข้ามโอฆะนะ

คนเราเกิดมาการแสวงหาต่างๆ ของโลกมีการสืบพันธุ์ สัตว์โลกมันก็เป็นเหมือนกัน เผ่าพันธุ์ของสัตว์โลกไม่สูญสิ้นไป เพราะมีการสืบพันธุ์ มีการสืบพันธุ์นะ ความสืบพันธุ์คือต่อชีวิตต่อสังคมมันเป็นสภาวะแบบนั้น

แต่โลกมันมีกรรมของเขา โลกนี้เป็นอจินไตย เวลามนุษย์เกิดขึ้นมา เกิดมามหาศาลเลย เวลาเกิดอุทกภัยล่ะ เกิดโรคระบาดล่ะ เพราะอะไร เพราะมันอยู่ไม่ได้ มันเป็นอนิจจัง มันเป็นสภาวะของเขาอย่างนี้ อย่างนี้ถ้าเราปล่อยชีวิตเราไปตามสังสารวัฏ มันก็เป็นสภาวะแบบนั้น

แต่ถ้าเราจะมาทำให้จิตเราไม่อยู่ในสังสารวัฏ ไม่อยู่ในวัฏฏะ เราจะต้องเข้ามาจับกายกับจิตนี้ได้ ถ้าเข้ามาจับกายกับจิตนี้ได้นะ สิ่งนี้มันเป็นความติดจากภายใน มันเป็นกามราคะจากหัวใจนะ คือหัวใจมีกามราคะมีสภาวะแบบนี้

ถ้าจิตสงบเข้ามา มีฐาน มีกำลัง ถ้าจับได้แล้ว วิปัสสนาเป็นอสุภะ เป็นอสุภะเพราะเป็นธรรม สิ่งที่เป็นอสุภะนี้เป็นธรรมของเราแล้วมันเป็นอสุภะ ถ้าเป็นอสุภะมันเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับความรู้สึกไง จิตของเรา เรารักสวยรักงาม เรารักสิ่งคุณงามความดี เรารักสิ่งที่ว่าของสดของใหม่อยากได้มาก เวลาของมันเก่าชราคร่ำคร่าขึ้นไป มันเก่าคร่ำคร่า มันเศร้าหมองไป ไม่พอใจ สิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่ปลูกฝังอยู่ในหัวใจ

แต่เวลาเกิดอนาคามรรคขึ้นมามันจะเป็นอสุภะ อสุภะเพราะอะไร เพราะกำลังมันเป็นสภาวธรรม สภาวธรรมในอสุภะมันก็สอนจิต สอนความรู้สึก นี่ความจริงมันเป็นอย่างนี้ ความจริงแบบนี้มันสลดสังเวช มันก็ปล่อย ปล่อย

สิ่งที่ปล่อยมันละเอียดอ่อน ความละเอียดถ้าปล่อย ถ้ากิเลสมันซ้อนมา กิเลสบังเงาก็ว่าสิ่งนี้เป็นธรรม มันจะติดนะ แต่ถ้ามีธรรมในหัวใจ ธรรมมันจะเตือนตัวเองตลอดไป เตือนนะว่านี่เป็นคนทำหรือ ถ้าเป็นคนทำมันมีผลตอบแทนอย่างไร มันมีความรู้สึกอย่างไร ถ้ามีความรู้สึกอย่างไรนะ ตรวจสอบใจตัวเองก็ได้ไง สิ่งที่ออกไปกระทบกระเทือน มันมีความรู้สึกไหม ไม่ต้องไปกระทบกระเทือนจากภายนอกหรอก มันกระทบกระเทือนจากภายในหัวใจ ถ้ามันปล่อยวางมันหลบซ่อน มันก็ทำให้ว่างได้ แต่ถ้าเราใช้สติเข้าไป ไปคุ้ยถึงความรู้สึก เหมือนแผลถ้าเราคุ้ยเราเขี่ยปั๊บเลือดจะออก

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อความพอใจกิเลสมันฝังอยู่อย่างนั้น เราสะกิด มันจะมีความรู้สึกทันที อย่างนี้หรือที่ว่าชำระกิเลส ถ้าไม่ใช่เราก็เราก็วิปัสสนาซ้ำ ซ้ำเข้าไปนะ กิเลสมันจะค่อยๆ สอดแทรก มันจะค่อยๆ มาสอดแทรก ทำลายการกระทำของเราอยู่ตลอดเวลา เราต้องหมั่นสติ ถ้าวิปัสสนาระดับนี้ จะเป็นมหาสติ-มหาปัญญา

“ละชั่วทำดี” ดีละเอียดเข้าไปเราต้องทำขึ้นด้วย การทำดี โลกเขายังติฉินนินทาเลย ว่าคนนี้เห็นแก่ตัว คนนี้จะเอาตัวรอดคนเดียว เห็นไหม โลกติฉินนินทา แล้วดีภายในมันก็ติดของมัน พอมันติดของมัน ดีในละเอียดเข้าไปเราต้องตรวจสอบ วิปัสสนาบ่อยครั้งเข้า มันจะละเอียดเข้ามา มันจะดึงเข้ามาที่ใจนะ มันจะทำลายกันที่ใจ

พิจารณาจิตก็เหมือนกัน ตัวมันเองเป็นตัวกามราคะ เพราะตัวจิตอยู่แล้ว ตัวจิตนี่ตัวโลก ตัวโลกที่ละเอียดเข้าไป โลกทัศน์เราทำลายชั้นหนึ่ง มันเป็นเงา มันเป็นวัตถุ พอทำลายโลกนั้นปั๊บมันจะเป็นนามธรรม พอเป็นนามธรรมก็เป็นโลกทัศน์ เป็นความรู้สึกก็ทำลายอีก มันก็เรืองแสงเข้าไป

สิ่งที่เรืองแสงเข้าไป ตัวนี้เป็นตัวกามราคะ ถ้าเป็นตัวกามราคะเพราะอะไร เพราะสิ่งนี้มันสืบต่อเป็นโอฆะ โอฆะทำให้เกิดให้ตาย เพราะเป็นกามภพ ถ้าผู้ที่วิปัสสนาไม่ถึงที่สุด มันเป็นกุปปธรรม สิ้นชีวิตนี้มันก็ไปเกิดเป็นพรหม เกิดเป็นพรหมเพราะอะไร

ถ้าเกิดเป็นเทวดา ไม่เกิดเป็นพรหม เพราะเกิดเป็นเทวดา เพราะมันยังทำกามภพไม่พ้น ถ้ามันทำลายตัวนี้ ตัวโอฆะ ตัวกามภพ เพราะมันเป็นวัฏฏะ เราจะทำลายเราเพื่อจะไม่ให้ชีวิตเราหมุนไปในวัฏฏะ ทำลายจิตตัวนี้ ทำลายเข้าไป ทำลายจิต ทำลายความยึดมั่น ทำลายเพื่อให้มันสะอาดขึ้นมา เหมือนกับของที่สกปรก เวลาเราทำความสะอาดขึ้นมา ของสิ่งนั้นจะเป็นสะอาดขึ้นมา นี่วิปัสสนาเข้าไป เป็นขันธ์ละเอียดนะ

ขันธ์ที่ว่าหยาบๆ มันเป็นขันธ์หยาบ ขันธ์กลาง ขันธ์ละเอียด ขันธ์ละเอียดมันเป็นความรู้สึกที่ละเอียดอ่อนมาก มันอยู่กับจิตนี้ สิ่งที่อยู่กับจิต วิปัสสนาไป ขันธ์ไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่ขันธ์ วิปัสสนาไป คนที่พิจารณาโดยปัญญาวิมุตติจะเห็นสภาวะแบบนี้ละเอียดอ่อนมาก

สิ่งที่ปัญญาละเอียด ถ้าวิปัสสนาไปจนถึงที่สุด บ่อยครั้งเข้ามันก็ปล่อยวาง เพราะสิ่งนี้เป็นตัวกามราคะละเอียดเข้ามาถึงที่สุดถึงตัวใจ ถึงตัวใจคือตัวความที่พลังงานที่ออกมาที่ตัวขันธ์นี้

พอทำลายที่ตัวใจ ขันธ์มันไม่ใช่ใจน่ะ พอทำลายปั๊บมันก็ทำลาย ครืน! ออกไปจากใจ ถ้าทำลายขันธ์อย่างนี้ออกไปจากใจ จิตนี้มันเป็น “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส” ตัวจิตนี้เป็นตัวผ่องใส ถ้าทำลายกามภพอย่างนี้พระอนาคามีไปทำลายกามภพนะ พอทำลายกามภพ เพราะกามภพมันเป็นตั้งแต่เทวดาลงมา ทำลายอย่างนี้เป็นอกุปปธรรม เป็นพระอนาคามี พระอนาคามีจะไปเกิด เกิดในพระอนาคามี ถ้าตายเดี๋ยวนี้ไปเกิดเป็นพรหม เป็นพรหมก็ต้องไปสุกเอาข้างหน้า

แต่ถ้าเป็นอย่างนี้ “ละชั่วทำดี” ดีอันละเอียดคือดีโดยอรหัตตมรรค ถ้าเกิดเวลาขณะที่จิตสงบ จิตทำลายกามภพแล้ว แล้วมันมีเศษส่วนแล้วเราใช้ปัญญาใคร่ครวญ มีเศษส่วนเข้ามา นี่พระอนาคามี ๕ ชั้น สิ่งที่เป็นพระอนาคามี ๕ ชั้นทำลายสิ่งนี้เข้ามา เราคิดว่าสิ่งนี้เป็นวิปัสสนานะ “เป็น”

“ละชั่วทำดี” แต่นี่ไม่ได้ทำ ไปนอนจมอยู่กับมันน่ะ ถ้าไปทำดี ดีโดยละเอียดขึ้นมาเป็นอรหัตตมรรค ถ้าอรหัตตมรรค อรหัตตมรรคดีขึ้นมา มันเป็นสติ มันเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน มันเป็นสิ่งที่เป็นปัญญา ปัญญาจนปัญญาญาณ ไม่ใช่ปัญญาขันธ์

สังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง สิ่งที่เป็นปัญญาอย่างนี้มันเป็นเครื่องมือหยาบๆ เครื่องมือหยาบๆ อย่างที่เขาทำงานก่อสร้าง เครื่องมืออย่างหยาบก็ใช้จอบใช้เสียมขุดเอา เวลาจิตละเอียดขึ้นมา เขาใช้สิ่วใช้ขวาน มันละเอียดเข้ามาเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา จิตก็เหมือนกัน โสดาบันก็หยาบๆ สกิทาคามีก็หยาบๆ อนาคามีก็หยาบๆ

พระสารีบุตรสอนพรหม สอนพราหมณ์จนไปถึงพรหม จนเป็นพระอนาคามี ไปทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “เมื่อวานนี้ไปสอนพราหมณ์คนหนึ่งได้ถึงพระอนาคามี”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเลย “ทำไมเธอสอนต่ำทรามอย่างนั้น” ต่ำทราม พระอนาคามียังต่ำทรามเพราะพระอนาคามียังมีกิเลสอยู่ มันจะไปเกิดบนพรหม เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “ทำไมสอนต่ำทราม” ว่าพระสารีบุตรอยู่ในพระไตรปิฎกนะ

เราต้องมีละชั่วทำดี ถ้าดีขึ้นไปอีกมันจะย้อนกลับเข้าไป กลับเข้าไป “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส” โลกนี้ว่างหมดเลย สิ่งนี้อัตตาตัวตนไง มองโลกนี้เป็นความว่าง แล้วต้องทำลายความคิดตัวว่างในหัวใจของเราด้วย ย้อนกลับมาจับตรงนี้ได้ แล้วถ้าจับตรงนี้ได้ต้องจับได้ก่อน เพราะจับได้แล้วมันถึงจะเป็นวิปัสสนา

ถ้าจับไม่ได้มันก็จะไปติดในความว่าง โลกนี้ว่าง สิ่งต่างๆ ว่างอย่างนั้นก็ว่าง ติดชั่วเพราะกิเลสไปเกิดบนพรหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังตำหนิพระสารีบุตรว่า “ทำไมเธอสอนต่ำทรามอย่างนั้น”

ถ้าไม่สอนต่ำทรามอย่างนั้น เราไม่ติดอย่างนั้น เราก็ย้อนกลับมาในใจของเรา แล้วเราจับตัวนี้ได้ “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส” สิ่งที่เป็นความทุกข์อันละเอียด เป็นอาลัยอาวรณ์ สิ่งที่เป็นความเศร้าหมอง ความผ่องใสในหัวใจ สุขขนาดไหน ว่างขนาดไหน มันก็มีสิ่งที่รักสถานะอย่างนี้ ถ้าจับอย่างนี้ได้ ความเศร้าหมองความผ่องใส ถ้าเอาปัญญาไป เอาจอบไปขุดบนอากาศมันจะไปได้อะไรล่ะ จอบเราก็ขุดที่ดินใช่ไหม บนอากาศเขาต้องใช้คลื่นแม่เหล็กต่างๆ เข้าไปจับใช่ไหม

นี่ก็เหมือนกัน ตัวจิต สิ่งที่เป็นตัวจิตอย่างนี้มันเป็นสิ่งละเอียด ปัญญาใคร่ครวญ มันเป็นการซึมซับ มันเป็นปัญญาญาณเข้าไป สิ่งที่เป็นปัญญาญาณเข้าไปทำลาย

“จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้เป็นผู้ที่ข้ามพ้นกิเลส”

เพราะตัวจิตเดิมแท้มันเป็นตัวกิเลส ตัวที่ใสๆ ความผ่องใสอยู่นี่มันเป็นกิเลส

ยิ่งอรหัตตมรรคเข้าไปทำลายอย่างนี้ อรหัตตมรรค อรหัตตผล มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ ขณะที่ทำลายกันอยู่นี้มันเป็นอรหัตตมรรค ขณะที่ผลของมันเกิดขึ้นเป็นมาเป็นอรหัตตผล

อรหัตตมรรค อรหัตตผล มันเป็นสิ่งที่บรรยายได้ สิ่งที่กระบวนการการกระทำอย่างนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนเป็นมรรคได้ สิ่งที่อธิบายได้ จับได้ จับต้องได้ สืบต่อได้ กระบวนการอย่างนี้มันต้องมีเกิดขึ้นมาในการประพฤติปฏิบัติ นี่กิจจญาณ สัจจญาณ

ต้องมีกิจจญาณ ถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอกกับพระปัญจวัคคีย์ เราทำแล้วเราเป็นพระอรหันต์ สิ่งที่เป็นพระอรหันต์ เราเคยได้ยินไหมว่า เราเป็นพระอรหันต์แล้ว เราไม่เคยบอกใช่ไหม เพราะเราก็ไม่เคยเป็นอย่างนี้ใช่ไหม เป็นปัจจุบันมันมีกิจจญาณ กตญาณ สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากใจของเรา เราเรียกกระบวนการอย่างนี้ เราได้ทำแล้ว กระบวนการ ๑๒ รอบแล้วในธัมมจักฯ เราถึงได้ปฏิญาณตนว่าเป็นพระอรหันต์

ถ้าเป็นพระอรหันต์ สิ่งที่เป็นพระอรหันต์ “จงเงี่ยหูลงฟัง” ให้ปัญวัคคีเงี่ยหูลงฟัง เทศน์ธัมมจักฯ ขึ้นมาพระอัญญาโกณฑัญญะบรรลุธรรมขึ้นมา “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา” แล้วสอนต่างๆ ขึ้นมา จนถึงที่สุดแล้วเป็นพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ที่มาฟังธรรมอยู่วันนี้ไง

วันมาฆบูชา พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ ไม่ได้นัด ไม่ได้หมาย เป็นเอหิภิกขุ คือบวชขึ้นมาจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยการบวชโดยสมมุติสงฆ์ แล้วก็ฟังธรรมแล้วประพฤติปฏิบัติธรรมขึ้นมา จนถึงที่สุดได้บวชหัวใจ บวชหัวใจจนเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา

สิ่งที่เป็นพระอรหันต์ขึ้นมา เวลาองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า...มาเยี่ยมมาฟังมาเคารพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำความชั่วต่างๆ ไม่ทำ ให้ทำแต่คุณงามความดี ทำจิตนี้ให้ผ่องแผ้ว สิ่งที่จิตนี้ผ่องแผ้ว โอวาทปาฏิโมกข์

โอวาทปาฏิโมกข์เป็นหัวใจของศาสนา เป็นการประพฤติปฏิบัติของชาวพุทธเรา

วันนี้เป็นวันมาฆบูชา แล้วเราจะปฏิบัติเพื่อบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บูชาพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ แล้วถ้าเราประพฤติปฏิบัติเราบูชาหัวใจของเรา บูชาพุทธะในใจ ถ้าใจสงบเราก็บูชาความสงบอันนี้กับพุทธะของเรา

ถ้าเราเห็นพุทธะเห็นจิตเดิมแท้ ถ้าเราพลิกคว่ำขึ้นมา พุทธะนี้เป็นสมมุติ สิ่งที่วิมุตตินี้ไม่มีการขยับ ไม่มีการเอ่ยปาก ไม่มีการสิ่งใด อันนั้นเป็นธรรมแท้ ธรรมแท้เป็นวิมุตติธรรมอยู่ในหัวใจของสัตว์โลกที่ประพฤติปฏิบัติถึงธรรมนั้น เอวัง