ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

สมาธิมี

๒๔ เม.ย. ๒๕๕๙

สมาธิมี

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๙

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

ถาม : เรื่อง “น้ำนิ่งแต่ไหล

รบกวนหลวงพ่อ น้ำนิ่งแต่ไหล ภายนอกไหล แต่ใจเจ้าของนิ่งสงบ ไม่สนใจในภายนอก ไม่สนใจกับธาตุ  ขันธ์  ถูกไหมคะ

ตอบ : แหมนักปฏิบัติเนาะ ปัญญาแตกฉาน

น้ำนิ่งแต่ไหลๆ มันเป็นคำพูดของหลวงปู่ชา เราฟังเทศน์ของหลวงปู่ชาไงเวลาฟังเทศน์เสียงธรรมเพื่อประชาชน ไอ้อย่างคำเมื่อวาน “ดับแล้วเหลืออะไร” มันเป็นเราโดนหลวงปู่เจี๊ยะซักเอง หลวงปู่เจี๊ยะซักว่า “ดับแล้วเหลืออะไร” มันก็เลยฝังใจไง

ฝังใจว่า ผู้รู้เวลาเขาถาม เขาถามด้วยความรู้ของท่าน ท่านต้องการผู้ที่ประพฤติปฏิบัติรู้จริงเห็นจริง ท่านถึงถามตรงๆ เลย “มันดับแล้วเหลืออะไร ดับหมดแล้วเหลืออะไร

เวลาไปพูดธรรมะๆ กันนะ นู่นก็ปล่อย นี่ก็ปล่อย นี่ก็ขาด

ขาดแล้วเหลืออะไร” ท่านถามตรงๆ เลย เราก็ตอบท่านไป แล้วตอบถูกหรือผิด ท่านก็วินิจฉัย

นี่ก็เหมือนกัน ที่เวลาเราฟังเทศน์ๆ เวลาหลวงปู่ชาท่านเทศน์ของท่าน แล้วท่านพูด น้ำนิ่งแต่ไหล เวลาหลวงตาท่านฟังเทศน์ครูบาอาจารย์นะ ท่านบอกว่าคนที่มีคุณธรรมในใจเวลาพูดออกมามันจะมีเกร็ดของธรรม มันจะมีเกร็ดมีประวัติของมัน แล้วผู้ฟังจะรู้ได้ ไอ้คนที่ไม่เป็นนะ เวลาพูดไปมันเป็นสัญญา มันจำขี้ปากเขามาไง

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสัจจะเป็นความจริง แต่เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาแล้วเรามาเล่าสู่กันฟัง เขาเรียกนิทาน นิทาน ชาดกเป็นนิทาน แต่นิทานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมีข้อเท็จจริงนะ ชาดกสมัยนั้นๆ เพราะว่ามันยืนยันไม่ได้ไง เวลาพระองค์ใดทำผิดแล้วไปถามท่านว่าพระองค์นี้ทำไมทำผิดอย่างนี้

ท่านบอกว่า แต่เดิมเขาเคยเกิดชาตินั้น มีชีวิตอย่างนั้น ทำความผิดอย่างนั้น จนมาชาติปัจจุบันนี้ก็ยังมาทำความผิดอย่างนี้อยู่

นั่นแหละเป็นชาดก ชาดกคือเป็นนิทาน แต่นิทานมันก็มีข้อเท็จจริง มีข้อเท็จจริงที่ท่านเอามาเปรียบเทียบไง นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เราฟังมาๆ มันเป็นนิทานไงเป็นนิทาน

ทีนี้เราฟังกันเป็นนิทาน แต่ทีนี้เวลาคนที่เขามีคุณธรรม เขาจะมีเกร็ด มีความจริง มีองค์ความรู้ มีข้อเท็จจริงในนั้น

ฉะนั้นบอกว่า น้ำนิ่งแต่ไหลๆ

เราพูดถึงน้ำนิ่งแต่ไหล มันเป็นสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิมันนิ่งอยู่ไง นิ่งอยู่แล้วมันมีพลังงานไง ไม่เหมือนพวกเรา สมาธิไม่มี ทำสมาธิไม่เป็น ว่างๆ ว่างๆว่างๆ มันไม่มีสิ่งใดจับต้องได้เลย

แต่ถ้าเป็นคนที่จับต้องได้นะ น้ำนิ่งๆ จิตใจมันนิ่ง แต่มันไหล คือมันมีพลังงาน นี่เวลาคนที่เขารู้จริงเขามีเกร็ด คนมีความรู้ คนทำแล้วได้ผลอันนั้นจริงพอผลอันนั้นจริง ท่านจะสื่อออกมา ถ้าคนที่สื่อออกมา สื่อออกมาจะเป็นประโยชน์มาก แล้วฟังรู้เลย หลวงตาท่านชอบตรงนี้มาก ท่านชอบคนที่พูดนะ แล้วมันมีเกร็ด มันมีความรู้ มันมีคุณธรรมในใจ มันสะเทือนใจมาก

แต่ไอ้ที่ไปจำๆ มา โอ้โฮเขาเล่าต่อๆ กันมา ว่างๆ ว่างๆ นั่นล่ะไม่มีสมาธิมันเป็นสัญญาอารมณ์ มันเป็นอารมณ์ว่าง เราสร้างอารมณ์ว่างๆ กัน ว่างๆ ว่างๆเวลาทำ เวลาสบายใจ แค่สบายใจมันไม่เป็นสมาธิหรอก

แต่ถ้าเป็นสมาธิ เป็นสมาธิมหัศจรรย์ คำว่า “มหัศจรรย์” นะ เพราะเวลาปาราชิก  อวดอุตตริมนุสสธรรม ผู้ที่อวดอุตตริมนุสสธรรม ธรรมที่เหนือมนุษย์ตั้งแต่ปฐมฌาน ตั้งแต่ฌาน  รูปฌาน อรูปฌาน สมาบัติ  พอมีสมาบัติ  ขึ้นไปแล้ว ตั้งแต่ฌานสมาบัติขึ้นไป ถ้าเป็นพระภิกษุนะ อวดอุตตริมนุสสธรรม คำว่าอวดอุตตริมนุสสธรรม” ธรรมที่เหนือมนุษย์ ไอ้นี่เราเป็นมนุษย์ แล้วถ้าเป็นสมาธิขึ้นมา เป็นสมาธิขึ้นมามันเป็นธรรมที่เหนือมนุษย์ มันเหนือ ถ้ามันเหนือมนุษย์ ถ้าเป็นสัมมาสมาธิ อย่างที่ว่าน้ำนิ่งแต่ไหล

เออเราจำขี้ปากหลวงปู่ชามา ไปฟังเทศน์หลวงปู่ชา แล้วพออันนี้ใช่ สมาธิต้องเป็นแบบนี้ นี่มันเป็นสมาธิไง ถ้าสมาธิแล้ว น้ำนิ่ง จิตใจมันนิ่ง แต่ที่ไหลนั่นคือพลังงาน มันมีพลังงาน มันมีสติสัมปชัญญะ มันมีหิริมีโอตตัปปะ มันมีความรู้สึกในตัวของมัน

มันไม่ใช่ว่างหมดเลย แล้วพอจะออกมาสะดุ้งตื่น แล้วก็ว่า “อู๋ยว่างหมดเลย”...มันนอนหลับไปแล้วมันยังไม่รู้ว่าหลับนะ เป็นอย่างนี้หมด มันเป็นอย่างนี้ทั้งนั้นน่ะ เพราะอะไร

เพราะว่าเรื่องกิเลส เรื่องตัณหาความทะยานอยากในใจของคนสำคัญมากแล้วเวลาเราประพฤติปฏิบัติ ประพฤติปฏิบัติ กิเลสมันไม่ให้หลุดจากไม้จากมือไปแต่ถ้าเวลาปฏิบัติแล้วพอจะได้ก็ได้อย่างนี้ ได้สำมะเลเทเมาไง วูบวาบๆ ในใจไง

ถ้าบอกว่ามันสบายๆ ส่วนใหญ่แล้วคนบอกว่าปฏิบัติแล้วสบายๆ มันมีความสบายใจ อันนี้ปฏิบัติสบายใจมันปฏิบัติเพื่อบรรเทาทุกข์

จริงๆ แล้วในพระพุทธศาสนา ดูสิ ระดับของทาน คนที่ระดับของทานก็เรื่องของฆราวาส เขาทำบุญทำทานกัน เขามีวัฒนธรรมในใจของเขา มันประเสริฐไหมประเสริฐ ชาวพุทธมีวัฒนธรรมประเพณีถูกต้องไหม

แล้วเวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศนาว่าการ ท่านพยายามปลุกระดมให้พวกเราประพฤติปฏิบัติ ถ้าประพฤติปฏิบัติ มันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก มันเป็นสมบัติส่วนตน สมบัติส่วนตนนะ สมบัติส่วนตนคือสมบัติของจิตไง

จิตถ้าประพฤติปฏิบัติขึ้นไปแล้ว ถ้ามันมีคุณธรรมขึ้นมา ถ้ามันมีสติ มันจะมีสติแล้วมันยับยั้งได้ในหัวใจของเรา พอมีสติยับยั้งได้ ความทุกข์มันไม่เกาะกินหัวใจของเรา

เวลากิเลสมันฉุดกระชากหัวใจนี้ไป เพลินไปกับมันทั้งวันทั้งคืนเลย พอมีสติขึ้นมา มันระลึกรู้ได้ โอ้โฮเราทำไมเมาหยำเปอย่างนี้ล่ะ เมาอารมณ์ของเราเองเราทุกข์เรายากอยู่นี่เพราะเราขาดสติ พอสติมันมา พอมีสติมา ความรู้สึกนึกคิดหยุดหมดเลย แล้วเวลาจะคิดก็คิดถึงชีวิตของตน คิดถึงคุณประโยชน์ของตนคิดถึงสัจธรรมของตน ถ้ามีสติ เห็นไหม

ถ้ามีสติ แล้วถ้าทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าเวลาเราศึกษาธรรมะ เรามีสติมีสัมปชัญญะอย่างนี้ เวลาครูบาอาจารย์ท่านปลุกระดมให้พวกเราประพฤติปฏิบัติให้เป็นสมบัติส่วนตนๆ สมบัติภายในของเราไง

ฉะนั้น เวลาการประพฤติปฏิบัติสมควรไหม สมควร ควรกระทำที่สุด ควรกระทำที่สุดเพราะมันเป็นการพิสูจน์ไง เหมือนประชาชนทั่วไป เขามีสำรับอาหารตั้งไว้มหาศาลเลย เดินเที่ยวเล่นกันไป ไม่มีใครกินอาหารสำรับนั้นเลย ก็ไม่มีใครได้ลิ้มรสสำรับนั้นเลย แต่ถ้ามันมีกลุ่มชนกลุ่มใดก็แล้วแต่ เขานั่งพร้อมเพรียงสามัคคีกัน สำรับอาหารของเขามีพร้อม เขาได้เปิบอาหารใส่ปากของเขาพร้อมในชุมชนนั้นเขาก็มีความอิ่มหนำสำราญ เขามีความสุขของเขา

นี่ก็เหมือนกัน ใครที่ประพฤติปฏิบัติ จงใจตั้งใจปฏิบัติของเรา ถ้าจิตใจมันมีสติมันมีปัญญาขึ้นมา หัวใจของเรามันก็จะมีศีล มีสมาธิ มีปัญญาขึ้นมา มันก็เป็นประโยชน์ไง

เวลาที่ปลุกระดมให้ปฏิบัติมันต้องปฏิบัตินะ แต่เวลาปฏิบัติไปแล้วมันปฏิบัติตามความจริงขึ้นไปแล้วมันต้องมีครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ที่ท่านพยายามชักนำไปทางที่ถูกต้อง สัมมาทิฏฐิไง

เวลาปฏิบัติ สติก็มีมิจฉา มีสัมมา ปัญญาก็มีมิจฉา มีสัมมา ทุกอย่างมีมิจฉามีสัมมาหมดเลย ถ้ามันมีมิจฉา เวลาคิดได้ชั่วครั้งชั่วคราวมันก็เป็นสัมมาทิฏฐิอยู่พักหนึ่ง เวลากิเลสมันไขว้เขว มันชักนำออกไป ชักนำออกไปเพราะอะไร ชักนำออกไปเพราะว่าธรรมดาของกิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจของคน มันต้องหลอกต้องล่อให้ใจของเราหลงใหลมันไป

ทีนี้เราปฏิบัติขึ้นไป มันมีสิ่งใดที่จะปฏิบัติแล้วได้ประโยชน์กับจิตเป็นอัตตสมบัติของใจ มันก็อยากได้อยากดี แล้วทีนี้กิเลสมันก็ชักนำแล้ว “อันนั้นสะดวกอันนั้นสบาย ปฏิบัติไปแล้วมาให้ทุกข์ให้ยาก สู้เมาหยำเปอย่างนั้นแหละ แล้วมันก็ได้สติปัญญาของมันไป

นี่ไง มันอยู่ที่ว่าฝึกสมาธิๆ สมาธิอะไร สมาธิเขาก็นั่งสมาธิไง นั่งสมาธิก็หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธไง ถ้าเป็นสมาธิขึ้นมา คำบริกรรมมันละเอียดขึ้น อานาปานสติ ลมหายใจก็ละเอียดขึ้น ถ้าใช้ปัญญาอบรมสมาธิมันก็รู้เท่าทันความคิดของตน มันมีการกระทำทั้งนั้นน่ะ ถ้ามีการกระทำเข้าไป ถ้ามันสงบเข้ามานี่ไง สมาธิมี มีก็มีองค์ความรู้ไง มีสติมีปัญญาไง มีสมาธิในหัวใจไง ถ้ามันมีสมาธิก็จิตมั่นคงไง ถ้าจิตมั่นคง จิตมันมีความสุขของมันไง จิตเป็นเอกเทศ นี่สมาธิมี

แต่โดยทั่วไปเวลาปฏิบัติไปแล้ว ผู้ที่ปฏิบัติไม่ได้สมาธิจริง เวลาได้สมาธิสมาธิก็เป็นชื่อสมาธิในพระไตรปิฎก ศีล สมาธิ ปัญญา พระพุทธเจ้าสอนสมาธิ ว่าสมาธิมันมีอยู่แล้ว ฝึกสมาธิแล้วก็ว่ากันตามแต่ว่าใครจะจินตนาการกันไป แล้วก็ว่าว่างๆ ว่างๆ...มันไม่มีอยู่จริง มันไม่มีสมาธิจริงไง สมาธิยังทำกันไม่เป็น สมาธิยังทำกันไม่ได้ แต่ก็อ้างเป็นสมาธิๆ

แต่เวลาผู้ที่ปฏิบัติไปบอกว่าสบายๆ ว่างๆ มันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะมันเป็นองค์ของคุณธรรม คุณธรรม ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วเราตรึกในธรรม เหมือนคน คนฝักใฝ่ทำคุณงามความดีเราพยายามฝักใฝ่ทำคุณงามความดี เราทำคุณงามความดีกัน มันก็ทำคุณงามความดีของคนที่มีวุฒิภาวะมากน้อยแค่ไหนก็จะไปทำคุณงามความดีมากน้อยได้แค่นั้น

นี่ก็เหมือนกัน จิตเวลามันตรึกในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันขัดเกลา มันดูแล จิตใจมันก็สบายๆ ได้ เพราะมันเป็นธรรมจริงๆ มันเป็นข้อเท็จจริง เหมือนเรามีสติสัมปชัญญะ เขาชี้ถูกชี้ผิด สิ่งที่ถูกมันก็ต้องเป็นความถูกใช่ไหม สิ่งที่เป็นความผิดมันก็ต้องผิดใช่ไหม ถ้าจิตของเรามันเลือกไม่ถูก จิตของเรากรรมมันคลุกเคล้ามันแยกไม่ได้ เวลาธรรมะมันเทียบเคียง มันเอาธรรมะเป็นตัวชี้นำ มันก็ไปได้ ก็สบายๆ ไง แล้วสมาธิอยู่ที่ไหนล่ะ

ฉะนั้นว่า น้ำนิ่งแต่ไหลๆ มันเรียกว่าองค์ของสมาธิไง องค์ของสมาธิ วิตกวิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ มันมีวิตก วิจาร ปัญญาอบรมสมาธิมันก็คือวิตกวิจาร วิตก วิจารในความคิดของเรา ถ้าเป็นคำบริกรรม นึกขึ้นก็วิตก พุทกับโธนี่วิจาร พุทโธๆ ถ้ามันละเอียดขึ้นมันก็เป็นปีติ ปีติมันก็มีความขนพองสยองเกล้ามันมีต่างๆ แล้วถ้ามันมีความสุข ถ้ามีความสุขนะ ถ้ามันเลยจากความสุขไปก็เอกัคคตารมณ์ แล้วถ้ามันสมดุลของมัน นี่องค์ของสมาธิ มันต้องมีองค์ของสมาธิสิ

นี่ว่างๆ ว่างๆ แต่พูดอะไรไม่ถูกเลย พูดอะไรไม่มีเลย คือว่าเหมือนเรา เราไม่มีต้นทุนเลย เราไม่มีเงินเลย เราจะทำอะไรได้ มีก็มีไปกู้ยืม กู้ยืมของพระพุทธเจ้ามา ว่างๆ ว่างๆ นั่นล่ะกู้ยืมเขามา กู้ยืมต้องจ่ายดอกเบี้ยทั้งนั้นล่ะ แต่ถ้าเป็นเงินเย็น เงินสดๆ ไม่มีภาระค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าเป็นสัมมาสมาธิขึ้นมาเงินสดมันจะทำอะไรก็ได้ จะทำอะไรก็ได้

นี่ก็เหมือนกัน น้ำนิ่งแต่ไหลคือสัมมาสมาธิ น้ำนิ่งแต่ไหล องค์ของสมาธิ ไอ้ที่ว่าคำถามไง “รบกวนหลวงพ่อว่าน้ำนิ่งแต่ไหล ภายนอกไหล แต่ใจนิ่งสงบ ไม่สนใจในภายนอก ไม่สนใจกับธาตุ  และขันธ์  ถูกไหมคะ” นี่เขาว่า นี่เวลามันคิด คนที่ทำทำได้ไปไง

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าน้ำนิ่งแต่ไหลนี้เป็นธรรมะ เวลาหลวงปู่ชาท่านเทศน์ เราเห็นด้วยว่าน้ำนิ่งแต่ไหล นิ่ง จิตใจนิ่ง แต่มีพลังงานในตัวมันเอง มีพลังงาน ฉะนั้น ไอ้สิ่งที่มีพลังงานที่คำถามเขาว่ามันไหลแต่ภายนอก มันคนละเรื่องแล้วล่ะ แล้วยิ่งบอกว่าจิตมันสงบ

สงบก็ตัวสงบนั่นแหละมันมีพลังงาน ตัวพลังงานแล้ว ถ้ามันสงบแล้ว จิตสงบแล้วย้อนไปสู่กาย สู่เวทนา สู่จิต สู่ธรรม นั่นถึงจะเป็นวิปัสสนา ถ้าจิตมันสงบแล้ววิปัสสนา สติปัฏฐาน  ก็เป็นสติปัฏฐาน  ตามความเป็นจริง

แต่ถ้าจิตมันไม่สงบ จินตนาการทั้งนั้น มันเป็นโลกียปัญญาทั้งนั้น มันเป็นเรื่องโลกๆ เรานึกธรรมะก็อย่างที่ว่า เวลาตรึกในธรรมๆ แล้วมันก็สบายๆ นี่ก็เหมือนกัน เวลาตรึกในธรรมก็คิดกันไปไง แล้วคิดกันไปมันก็บอกว่า “นี่พุทธพจน์นะ ทำตามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ไม่ใช่สาวกภาษิตนะ ไม่ใช่พระป่านะ มาแต่พุทโธๆ เป็นสมถะ สมถะจะไม่เกิดปัญญา

สมถะนี่น้ำนิ่งแต่ไหล น้ำนิ่งแต่ไหล ไม่เน่าไม่เสีย น้ำมีออกซิเจนพร้อม ปลาเป็นฝูงๆ ชุมมาก ทุกอย่างพร้อมหมด

ว่างๆ ว่างๆ น่ะมันน้ำเน่า มันมีแต่สารพิษ ไอ้ว่างๆ ว่างๆ นั่นล่ะ แต่ถ้าน้ำนิ่งแต่ไหลมันเป็นประโยชน์ไง

นี่พูดถึงว่าเขาถามไง น้ำนิ่งแต่ไหล ไอ้นี่มันเป็นความเห็น มันเป็นการกระทำก็ทำจริง นี่พูดถึงว่าคำถามนะ น้ำนิ่งแต่ไหลมันคืออะไรไง

มันเป็นสัมมาสมาธิ เป็นสมาธิที่มีเหตุมีผล เป็นสมาธิที่มีองค์ความรู้ มีคุณธรรมจริง ไม่ใช่มิจฉาสมาธิ ไม่ใช่มิจฉาแล้วทำให้ลุ่มหลง แล้วก็พูดกันไปไงฝึกสมาธิๆ” ฝึกสมาธิ สมาธิก็ไปอยู่ในตำรับตำราเสีย ไม่ฝึกหัดให้คนมีหิริมีโอตตัปปะ มีศีล มีศีล เราจะไม่ทำสิ่งทุศีล เราไม่ทำสิ่งนอกจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติไว้

นี่ไง เวลาเป็นพระโสดาบันไม่ถือมงคลตื่นข่าว ถ้าเป็นพระโสดาบันยังเชื่อในความเห็นที่อื่นนี่ไม่ใช่ ถ้าเป็นพระโสดาบันไม่สีลัพพตปรามาส ไม่ลูบไม่คลำชัดเจนมากเลย นั่นล่ะเวลามันชัดเจน ไม่ถือมงคลตื่นข่าว ไม่ถือนอกจากพระพุทธศาสนา

นี่พูดถึงถ้ามันมีศีล ถ้ามีศีลขึ้นมา เวลามันทำสมาธิขึ้นมามันก็เป็นสัจจะเป็นความจริง ถ้าเป็นความจริงมันก็จะเจริญขึ้น มันจะพัฒนาขึ้น ถ้ามันพัฒนาขึ้น มันก็เป็นความจริงขึ้น แต่ถ้ามันไม่มีของมัน มันก็เหลวไหลของมันไป ถ้าเหลวไหลไปแล้วออกนอกลู่นอกทางไปเรื่อย แม้แต่หลักใจยังทำไม่ได้ แล้วจะไปเอาอะไรกันใช่ไหม นี่น้ำนิ่งแต่ไหล

ถาม : เรื่อง “พุทโธ จิตอยู่ไหน

กราบเรียนหลวงพ่อที่เคารพครับ ผมติดตามฟังเทศน์ของหลวงพ่อในเว็บไซต์มาได้สักพักหนึ่งแล้วครับ แล้วก็เป็นจังหวะที่ผมเริ่มภาวนาพุทโธ ก็พยายามพุทโธแบบไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น แต่มันมีข้อติดขัดบางประการเกี่ยวกับกายขณะที่พุทโธ ซึ่งก็เก็บข้อสงสัยไว้มาสักพักหนึ่งแล้ว แต่ไม่ได้สนใจมัน คราวนี้มีโอกาส ผมจึงมีคำถามถามหลวงพ่อบางอย่างในขณะที่ภาวนาครับ

ขณะที่พุทโธ ผมจะตั้งจิตไว้ที่ระหว่างคิ้ว แล้วก็คิดเสียงว่าพุทโธที่ตรงนั้นแล้วพอพุทโธไปสักพักมันก็ตึงมากๆ ที่ระหว่างคิ้วนั้น เหมือนมีที่หนีบผ้ามาหนีบอยู่อย่างนั้นเลย ผมก็พยายามไม่สนใจมัน ผมควรจะต้องไปสนใจตรงที่ตึงๆระหว่างคิ้วนั้นหรือเปล่าครับ หรือช่างมันไปเลย หรือจริงๆ แล้วไม่ต้องตั้งจิตอะไรเลยทั้งสิ้น เอาให้มันมีเสียงพุทโธในหัวก็พอครับ (มีหลายคนบอกว่าให้ตั้งจิตที่กลางหน้าอก แต่มันทำไม่ได้ครับ มีเสียงคิดอยู่ในหัว แต่ว่าจะให้ความรู้สึกไปอยู่ที่หน้าอกได้อย่างไร มันจึงเกินความสามารถของผมจริงๆ ครับ)

พอพุทโธไปสักพักใหญ่ๆ ปรากฏว่าคำว่าพุทโธมันเหลวเป๋วครับ กลายเป็นฮู้โฮ่ ฮู้โฮ่ มันมักจะเป็นตอนผมรัวให้มันเร็วขึ้น แต่ก็พยายามแต่งเสียงให้มันกลับมาเป็นพุทโธชัดๆ โดยการทำให้ช้าลง แต่ปรากฏว่าลิ้นกับริมฝีปากของผมมันพยายามจะออกท่าทาง เหมือนจะออกเสียงไปด้วยเสียอย่างนั้น ผมควรจะไปสนใจหรือเปล่าครับ หรือปล่อยให้มันเหลวๆ ไปอย่างนี้ก็ไม่เป็นไรครับขอบพระคุณหลวงพ่อมาก

ตอบ : นี่เวลาที่เขาพูดเริ่มต้นว่าบังเอิญมาฟังเว็บไซต์ของหลวงพ่อมาได้ระยะหนึ่งแล้ว แล้วเริ่มจะหัดภาวนา ที่เริ่มจะหัดภาวนาขึ้นมา ทีนี้บังเอิญมาฟัง

ส่วนใหญ่แล้วถ้าเราศึกษาธรรมะมาบ้าง พอมาฟังแล้ว เราฟังทั่วๆ ไป องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนเรื่องกาลามสูตร ฟังแล้วอย่าเพิ่งเชื่อ แล้วเราคัดเลือกแยกแยะอะไรน่าเชื่อถือ อะไรไม่น่าเชื่อถือ แล้วเราประพฤติปฏิบัติไป เวลาเป็นจริงขึ้นมา ท่านให้เชื่อการประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริงอันนั้น

นี่ก็เหมือนกัน เพิ่งมาฟังเว็บไซต์อยู่พักหนึ่ง เริ่มต้นมาฟังเว็บไซต์อยู่พักหนึ่งมันก็เป็นประโยชน์แล้ว เป็นประโยชน์ที่ว่าเราจะได้มาภาวนา แต่มาภาวนาขึ้นมาถ้าคนไม่เคยเลย ไม่ทำสิ่งใดเลย มันแบบว่าอยู่สังคมๆ สังคมของโลก สังคมของโลกคือเกิดทิฏฐิมานะความรู้ความเห็นเราเป็นใหญ่ เราถือทิฏฐิมานะของเราเป็นใหญ่

แต่เวลาเรามาศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมเป็นใหญ่ๆ ธรรมเป็นใหญ่คือสัจธรรมข้อเท็จจริงเป็นใหญ่ ถ้าสัจธรรมข้อเท็จจริงเป็นใหญ่ปั๊บ เรามาจากทางโลกไง ทิฏฐิมานะเราเป็นใหญ่ พอทิฏฐิมานะเราเป็นใหญ่เราก็ต้องทำตามทิฏฐิมานะของทุกๆ คนที่ทำมา จริตนิสัยของคนไม่เหมือนกัน มันก็ยึดความรู้ความเห็นของตน แล้วพยายามจะปฏิบัติธรรมก็เทียบเคียงธรรมะนั้นแต่มันก็เทียบเคียงด้วยทิฏฐิมานะของตน พอเทียบเคียงด้วยทิฏฐิมานะของตน จะทำอะไรก็ทำให้มันจริงจัง

พอจริงจัง เขาบอกว่าเขาตั้งใจพุทโธ พอพุทโธเข้าไปแล้ว พุทโธโดยทั่วไปเพราะก่อนที่เราจะบวช เราก็ศึกษาธรรมะมาพอสมควรเหมือนกัน มันมี มันมี บอกครูบาอาจารย์ท่านให้กำหนดพุทโธ แต่เอาพุทโธไว้ระหว่างคิ้ว แล้วระหว่างคิ้ว ทีนี้พอมันอย่างนั้นปั๊บ ก็ไปไว้ที่ระหว่างคิ้ว เหมือนกับเอาพระพุทธรูปมาตั้งไว้บนหน้าผาก นี่เราก็ได้ยินมา

แต่ทีนี้พอคนที่ทำไป ผู้ถามทำไปๆ ระหว่างคิ้วมันเกิดความตึงขึ้นมาที่ระหว่างคิ้ว เหมือนกับไม้หนีบผ้ามาหนีบระหว่างคิ้วเลย แล้วผมควรจะทำความรู้สึกกับมันหรือไม่

นี่มันมีปัญหาไปหมด แล้วเวลาพุทโธๆ ไป มันเกิดเสียงกังวานในสมอง พุทโธๆ อีก ร้อยแปดเลย แสดงว่าเรามีอุปสรรคมาก ถ้ามีอุปสรรคมาก เราจะบอกว่า คนที่จริงจัง คนที่อยากประพฤติปฏิบัติด้วยความมุมานะมันก็มี แล้วเวลาทำไปมันจะเกิดอุปสรรคอย่างนี้

แล้วทีนี้มันก็มีผู้สอน เพราะเรามีลูกศิษย์หลายฝ่ายที่มาถามปัญหาไง เขาบอกว่า “หลวงพ่อ มีพระเขาบอกว่าไม่ต้องพุทโธ ไม่ต้องทำอะไรเลย อยู่เฉยๆสมาธิมันมีอยู่แล้ว” เขาว่าอย่างนั้นนะ แล้วเขาก็เชื่ออยู่พักหนึ่ง ก็ไปกับเขา เขาบอก “โอ๋ยพุทโธแล้วยุ่ง พุทโธลำบากมาก อู๋ยตั้งสติก็ลำบาก” เขาบอกว่า “จิตมีอยู่แล้ว สมาธิมีอยู่แล้ว ไม่ต้องทำอะไรเลย อยู่เฉยๆ เดี๋ยวมันเป็นสมาธิเอง”...เออนี่ไง ทำสมาธิๆ คนที่มีความคิดอย่างนี้เยอะ แล้วมีคนชักนำเยอะ

เราจะบอกว่าเวลาคนชักนำ ดูสิ ดูการชักนำสิ “ไม่ต้องทำอะไรเลย ไม่ต้องกำหนดพุทโธ ไม่ต้องตั้งสติ ไม่ต้องทำอะไรเลย อยู่เฉยๆ เพราะของมันมีอยู่แล้วถ้าของมีอยู่แล้ว เดี๋ยวก็ผุดขึ้นมาไง เพราะของมันมีอยู่ เพราะความรู้สึกเรามีอยู่แล้ว เดี๋ยวสมาธิมันก็ขึ้นมาเอง แล้วเราทำไมต้องไปลำบากล่ะ

นี่สมาธิมันจะไม่มีตั้งแต่เริ่มต้น เริ่มต้นไม่มีการกระทำ

ถ้าพูดอย่างนี้ปั๊บ เขาคิดของเขาด้วยจินตนาการ เขาบอกว่า ความรู้สึกคือใจใช่ไหม ใจมันมีความรู้สึก แล้วถ้าอยู่เฉยๆ ว่างๆ มันก็จะเป็นสมาธิ

มันก็เหมือนคนนอนหลับ ถ้าพูดถึงเวลาตกภวังค์นะ หลวงตาใช้คำว่าสมาธิหัวตอ” นะ คำว่า “หัวตอ” หัวตอ หมายถึงว่า ตอไม้มันรับรู้อะไร มีแต่เราเดินไปเตะมัน เราบาดเจ็บนะ จิตอยู่ดีๆ มันมีคุณค่า ทำให้มันเป็นหัวตอเสีย คือไม่มีสติสัมปชัญญะ ปล่อยมันทิ้งไปเลย เป็นสมาธิหัวตอ...มันไม่ใช่

เป็นสมาธิต้องเป็นสัมมาสมาธิ ต้องมีสติพร้อม แล้วจิต น้ำนิ่งแต่ไหล น้ำนิ่งแต่มันไม่เน่าเสีย มันไหลวนของมัน มันมีออกซิเจนของมัน มันมีสัตว์น้ำของมันมันมีทุกอย่างพร้อมของมัน เพราะมันพร้อม ถ้ามันพร้อมอย่างนี้ ดูสิ น้ำนิ่งแต่ไหลมันมีพลังงานของมันใช่ไหม จิตมันก็มีพลังงานของมันใช่ไหม เราก็กำหนดพุทโธๆ พุทโธ สิ่งที่เป็นสมุทัย สิ่งที่เราลังเลสงสัยนะ พุทโธจนมันชัดมันเจน พุทโธจนมันอยู่ตัว พุทโธจนมันทิ้งพุทโธนะ

เพราะจิตธรรมดามันพึ่งตัวเองไม่ได้มันก็พึ่งพุทโธไปก่อนใช่ไหม พุทโธๆๆจนมันละเอียดลึกซึ้ง เพราะมันนาโน มันเล็กน้อย มันสะสมๆ จนมันตั้งมั่น มันไม่ต้องใช้พุทโธแล้ว พุทโธๆๆ ไป จนพุทโธมันจะหาย มันจะหายสิ เพราะเราไปพิงเขา เราไปอาศัยพุทธานุสติ พอมันพุทโธๆ จนมันอยู่ได้แล้วมันจะอาศัยใครล่ะ คนเรามันแข็งแรง คนเรามันยืนได้ มันจะอาศัยใคร นี่คนป่วย คนขาเป๋ต้องใช้ไม้เท้าคนปกติเขาไม่ใช้ไม้เท้า พุทโธก็คือไม้เท้า เรายันของเราไว้ แต่พุทโธจนมันปกติไม้เท้าเราทิ้ง เราไปของเราได้ นี่พุทโธจนพุทโธไม่ได้ จนตัวมันเองเป็นพุทธะเสียเอง ตัวมันเป็นพุทโธเอง

พุทโธมันมี  ชั้น ชั้นหนึ่งคือบริกรรมพุทโธ กับพอมันละเอียดขึ้นไป ตัวมันเองจะเป็นพุทธะ เป็นพุทโธเองเลย เป็นผู้รู้เองเลย นี่สัมมาสมาธิ แต่ทำยากไหมยาก พอยากขึ้นมา ใครทำจนชำนาญแล้ว ดูสิ นักฟุตบอลมันวิ่งเป็นชั่วโมงๆ มันไม่เหนื่อยนะ เราลงไปสิ วิ่ง  รอบ เกือบตาย เพราะเขาฝึกเช้าฝึกเย็น เขาฝึกทั้งวันทั้งคืน นักฟุตบอลเขาฝึกทั้งวันเลย เพราะอาชีพของเขา นี่เขาเรียกชำนาญในวสี เขาฝึกจนร่างกายเขาชิน ร่างกายเขาอยู่ตัว เขาจะวิ่งทั้งวันทั้งคืน เขาวิ่งได้ตลอด นักฟุตบอลน่ะ

เราหัดพุทโธ หัดพุทโธของเรา ทำให้มันสมดุลของเรา ชำนาญในวสี ถ้าเราชำนาญของเรา นักฟุตบอลมันวิ่งได้ทั้งวันเลย ถ้าเราพุทโธๆๆ จนมันสมดุลตลอดสมาธิมันจะไปไหน นี่พูดถึงว่าสมาธิมันทำได้ยากไง

นี่ผู้ถาม สมาธิมันทำได้ยาก มันยากมาก พอยากมากขึ้นมา ถ้าทำแล้วสัมมาสมาธิเป็นสมาธิจริงๆ มันไม่ใช่ว่า “สมาธิมีอยู่แล้ว จิตมันมีอยู่แล้ว นิพพานก็มีอยู่แล้ว ไม่ต้องทำอะไรเลย อยู่เฉยๆ อยู่เฉยๆ

โอ้โฮฟังแล้วมันก็เศร้าใจ มันเศร้าใจ เศร้าใจที่ไหน เศร้าใจที่ว่า ถ้าเราสอนลูกหลานเราให้มุมานะบากบั่น มันจะต้องลงทุนลงแรง มันเหนื่อย คนเรามันต้องบากบั่น ต้องมีความเพียรชอบ ต้องมีความเพียร มีความวิริยะ มีความอุตสาหะ

คนเราจะเป็นคนดี คนเราจะมีการกระทำ มันต้องมีความเพียรชอบ มีความวิริยอุตสาหะ แล้วคิดดูสิ เราอุตสาหะแล้วมันยังล้มลุกคลุกคลาน อุตสาหะแล้วมันก็ยังทำแล้วผิดพลาด แล้วพอมีคนมาเสนอบอกว่าไม่ต้องทำอะไรเลย นั่งเฉยๆ ใครบ้างมันไม่เชื่อ

เพราะเราทำ เราลงทุนลงแรงจนเราเหนื่อยล้า เราทุกข์เรายากพอแรงแล้วแล้วมีคนมาเสนอทางสะดวกสบาย กิเลสมันอยากไปอยู่แล้ว แต่ถ้าไปนะ ลงทะเลไปเลย เหมือนคนที่มุมานะทำหน้าที่การงานโดยสัมมาทิฏฐิ แล้วเป็นคนที่หยำเปคนที่ไม่ทำอะไรเลย คนที่เป็นภาระสังคม มันจะเป็นคนดีได้อย่างไร มันจะมีคุณงามความดีได้อย่างไร มันเป็นไปไม่ได้หรอก แต่ด้วยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ด้วยสังคมของเขา เขาก็เชื่อของเขาอย่างนั้น ถ้าเขาเชื่อของเขาอย่างนั้นนะ

นี่พูดถึงว่า ที่ว่าน้ำนิ่งแต่ไหลมันเป็นอย่างไร สัมมาสมาธิเป็นอย่างไร แล้วเวลาเขาถามว่า พุทโธ จิตอยู่ที่ไหน

เวลาปฏิบัติมันจะยุ่งยากอย่างนี้ ถ้ามันยุ่งยากอย่างนี้ เราก็ต้องพยายามของเรา

ทีนี้กลับมาตอบปัญหา เพราะปัญหาเวลาเขาถามมา คนที่มุมานะ คนที่อยากกระทำ เวลาปฏิบัติใหม่มันมีอุปสรรคอย่างนี้ ฉะนั้น พอมีอุปสรรคอย่างนี้ปั๊บ แล้วเราได้ยินมา ลูกศิษย์มาถามเยอะ แต่ใหม่ๆ ก็ไม่ค่อยกล้านะ เขาก็ไปทำมาจนแบบประสาเราว่า จนมันจนตรอก เขาจะมาบอกเลย เขาไปปฏิบัติอย่างนี้มาพุทโธก็ไม่ต้อง ไม่ต้องพุทโธ พุทโธไม่ต้องเลย เพราะไอ้นี่เป็นสมมุติ เพราะจิตมันเป็นพุทโธอยู่แล้ว ไม่ต้องนึกพุทโธ แล้วลมก็ไม่ต้อง ไม่ต้องทั้งนั้น อยู่เฉยๆ อยู่เฉยๆ เดี๋ยวมันมาเอง แล้วเขาบอกว่าเขายืนยันว่าอาจารย์เขาทำได้ด้วยนะ

หัวตอ ถ้าหัวตอแล้วนะ พอเริ่มต้นจากสมาธิหัวตอมันจะเกิดปัญญาขึ้นมาไม่ได้ ถ้าเกิดปัญญาขึ้นมาก็จินตนาการทั้งนั้น ความจินตนาการในธรรมแล้วมันก็เป็นธรรมะจินตนาการไปอย่างนั้น แต่สังคมเขาก็อยู่กันอย่างนั้น เพราะวุฒิภาวะของใจ วุฒิภาวะของสังคมพวกเราต่ำต้อยลงเรื่อยๆ

ถ้าวุฒิภาวะของเราเข้มแข็ง มีจริตนิสัย เราจะแยกแยะได้เองว่ามันมีเหตุผลควรเชื่อและไม่ควรเชื่อ ถ้าไม่ควรเชื่อ เราจะไม่ทำอย่างนั้น เราจะเชื่อธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ถ้าจะได้สมาธิก็ปฏิบัติสมาธิ เหตุแห่งสมาธิสมควรของมันก็จะได้สมาธิ ถ้าเรายกขึ้นวิปัสสนานะ เหตุมันสมควรที่จะได้มรรคได้ผล มันก็จะได้มรรคได้ผลตามเหตุสมควรที่ทำนั้น ถ้าเราปฏิบัติธรรมไม่สมควรแก่ธรรม มันจะเอาผลมาจากไหน มันไม่มีผลอยู่แล้ว แต่เขาเชื่อกันอย่างนั้น นี่พูดถึงถ้าสมาธิมีมันต้องมีตามความเป็นจริง

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเวลาเขาพุทโธไปแล้วเอาจิตไว้ที่ระหว่างคิ้ว แล้วเวลาที่พุทโธไปสักพักหนึ่งมันจะตึงมาก

สิ่งต่างๆ เราก็กลับมาไว้ที่ปลายจมูก ปลายจมูกเพราะว่าไว้ที่ระหว่างคิ้วมันเหมือนกับเราตรึกเรานึกที่ไหน จิตมันต้องไปจดจ่อที่นั่น เรานึกที่ระหว่างคิ้ว จิตมันก็ไปจดจ่อที่ระหว่างคิ้ว ความรู้สึกทั้งหมดมันไปรวมอยู่ที่นั่น ถ้ารวมอยู่ที่นั่นปั๊บเวลาเราวิตกกังวลขึ้นไปแล้ว ที่เวลามันบีบคั้น เหมือนกับมีไม้หนีบผ้าหนีบระหว่างคิ้วเลย

ถ้าอย่างนั้นเราวางไว้ วางไว้ เพราะว่าผู้ที่ปฏิบัติใหม่ สิ่งที่เป็นนามธรรมคือความรู้สึกเรา สิ่งที่ละเอียดลึกซึ้ง ของที่ละเอียดทำได้ยาก ทีนี้เราจะเอาความรู้สึกของเรา ความรู้สึกเรามันเป็นนามธรรม มันจะจับต้องได้ยาก จับต้องได้ยาก เราไปจับต้องอย่างอื่น เราทำได้หมด อาบเหงื่อต่างน้ำ ทำไร่ไถนา ทำได้หมด แต่เวลามาค้นหาใจของตัวเองนี่ทำได้ยาก ถ้าทำได้ยาก

ฉะนั้น เวลาหลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเราท่านบอกว่าเอาไว้ที่ปลายจมูกท่านมีความชำนาญของท่าน เอาไว้ที่ปลายจมูก เพราะที่ปลายจมูกมันมีลมหายใจเข้าและลมหายใจออก มันมีไออุ่นมาสัมผัสที่ปลายจมูกนี้

ท่านเลยบอกว่า หายใจเข้าให้นึกพุท หายใจออกให้นึกโธสำหรับผู้ที่ปฏิบัติใหม่ แต่ผู้ที่ปฏิบัติชำนาญแล้ว หายใจอย่างเดียวก็ได้เป็นอานาปานสติ กำหนดพุทโธอย่างเดียวก็ได้ที่ปลายจมูกนั้น เพราะว่าลมหายใจเข้าและลมหายใจออกมันมีไออุ่น ไออุ่นเป็นพลังงานที่จิตมันจับได้ชัดเจนไง ถ้าจิตมันจับได้ชัดเจน จิตมันจับคำว่า “จิตมันจับ” เราพุทโธๆ จิตมันก็จับพุทโธไง พุทธานุสติ เอาจิตนี้กอดองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้

พุทธานุสติ สติอยู่กับพุทธะ ธัมมานุสติ เกาะพระธรรมไว้ เอาจิตนี้เกาะพระธรรมไว้ สังฆานุสติ เอาจิตเกาะพระสงฆ์ไว้ มรณานุสติ เอาจิตเกาะความตายไว้จิตอาศัยเกาะ อาศัยเกาะ เกาะจนเราหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ เกาะจนมันละเอียดเข้ามาๆ พอละเอียดเข้าไปจริงๆ แล้วมันก็กลัวเป็นกลัวตายอีก อู๋ยลมหายใจมันจะหาย พุทโธมันจะหาย ทุกอย่างมันจะหายไง เห็นไหม เราเกาะเขาไว้เสร็จแล้วพอเราจะเป็นอิสระขึ้นมา เราก็กลับมาตกใจอีก

ค่อยๆ ฝึกหัดไป ฝึกสอนใจเราจนมันชำนาญ ไม่กลัวอะไรเลย มันจะทิ้งอะไรก็ได้ มันจะจับต้องอะไรก็ได้ เรามีผู้ชำนาญ ชำนาญนะ ชำนาญในวสีไง

นี่พูดถึงว่า ถ้ามันตึงที่ระหว่างคิ้ว เราก็ไว้ที่ปลายจมูก แล้วหายใจเข้านึกพุทหายใจออกนึกโธ แล้วถ้ามันต่อไป ปฏิบัติต่อไป พอปฏิบัติต่อเนื่องไป มันมีเสียงดังขึ้นมา เสียงดังขึ้นมาบนหัว มันมีความคิด

ถ้ามีความคิดขึ้นมา มันก็เหมือนคนเรามันเคยคิด พอเคยคิดขึ้นมา เราพยายามจะกำหนดพุทโธ กำหนดพุทโธมันก็จะแฉลบคิดออกนอกเรื่องนอกราวคิดร้อยแปด ถ้ามันจะคิด มันเป็นที่จริต

ถ้าจริต สัทธาจริตมีความเชื่อมั่น หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธจะชำนาญมาก แต่ถ้าคนพุทธานุสติ มันไม่มีเหตุผล มันจะอ้างเลย มันจะเอาเหตุผลนะ ศึกษาธรรมะเอาเหตุผลมากเลย เวลาพุทโธมีเหตุผลไหม นี่มันก็ต้องใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิได้

ปัญญาอบรมสมาธิ หมายถึงว่า เราใช้สติของเราจับความคิดไป ถ้าจับความคิดนี้ไป ไล่ความคิดนี้ไปถ้ามันทัน แต่ใหม่ๆ มันจะไม่ทัน เพราะฝึกหัดงานใหม่ ทุกอย่างจะทำไม่สะดวก แต่พอมาฝึกหัด มันจะรู้เท่าทัน พอรู้เท่าทันปั๊บ พอถึงที่สุดแล้วมันหยุด มันหยุดเลย หยุดเพราะสติปัญญามันเท่าทัน พอหยุดขึ้นมานั่นแหละสมาธิ แต่มันสั้นๆ เดี๋ยวก็ฝึกหัดใหม่

นี่พูดถึงว่าถ้าเสียงมันก้องในหัว เพราะคำถามเขาว่า เวลาปฏิบัติไปๆ มันเสียงความคิด มันพุทโธ มันขึ้นมาในหัวเต็มไปหมดเลย

เราเอาทีละอย่าง เอาทีละอย่าง ฉะนั้น ถ้าเราพุทโธได้ เราก็ลองเอามาที่ปลายจมูกก่อน ถ้าปลายจมูกไม่ได้ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ

เขาบอกว่า เวลาเขาพุทโธไปสักพัก มีคนเขาบอกว่าเอาไว้กลางหน้าอก เอาไว้กลางหน้าอก เขาบอกว่าไม่มีความสามารถ เขาเขียนมาว่า “ผมไม่มีความสามารถพอที่จะเอาพุทโธอยู่กลางหน้าอกหรอกครับ

ไม่เป็นไร ไว้ที่ปลายจมูกก็ได้ แต่ที่ระหว่างคิ้วกับปลายจมูกมันอยู่ใกล้เคียงกัน เพราะระหว่างคิ้วมันตึงเครียด มันบีบคั้น มันเจ็บ เราไว้ที่ปลายจมูก แล้วลองฝึกหัดดู ฝึกหัดดู แล้วถ้ามันละเอียดเข้าไป ถ้ามันจะมาใสอยู่ที่กลางหน้าอก นั้นคือถ้าจิตมันสงบจริงๆ ถ้ามันสงบจริงๆ แล้ว มันเหมือนกับว่าเราจะตักอาหารกินทุกอย่างทำเสร็จแล้วในสำรับมันตักง่ายแล้ว เพราะอาหารมันพร้อม ตอนนี้มันมีแต่ถ้วยชาม ไม่มีอาหารเลย เราค่อยๆ หาของเรา

ฉะนั้น เวลาพุทโธไวๆ เข้า เขาบอกว่ามันก็เลยกลายเป็น ฮู้โฮ่ ฮู้โฮ่ เขาว่านะ มันไม่ใช่พุทโธ

จะอะไรก็ช่าง ไม่ต้องไปสนใจมัน ขอให้จิตมันอยู่ จะเป็นพุทโธหรือฮู้โฮ่อะไรก็ได้ บางทีบางคนมาถามว่ามันพุทโธ พุทโธจนโธๆๆ โธคำเดียวก็ได้ เหมือนกับคำว่า “จิตละเอียด” ไง จิตเราหยาบๆ มันรู้จิตชัดๆ พอจิตมันละเอียด มันละเอียดจนเราจะจับต้องไม่ได้ เราจะเกิดความสงสัยว่ามันยังมีพุทโธอยู่หรือเปล่า เราจับต้องอยู่หรือเปล่า

ถ้ามันละเอียด แต่เรายังมีความรู้สึกอยู่ เรามีสติอยู่ เราประคองไปเรื่อยๆมันจะละเอียดเข้ามา

นี่พูดถึงว่า เวลาปฏิบัติใหม่มันจะยากอย่างนี้ แต่ถ้าพอมันเป็นไปแล้วมันจะสะดวกขึ้น มันจะง่ายขึ้น ไม่ต้องไปคิดว่าเราจะต้องลำบากลำบนอย่างนี้ตลอดไปเราจะต้องทุกข์ยากอย่างนี้ตลอดไป

คำว่า “ทุกข์ยากอย่างนี้” มันเหมือนกับเริ่มต้นเราทำงานไม่เป็น เราก็พยายามฝึกหัดของเราให้เป็น แต่ถ้าเป็นแล้วนะ คนทำงานเป็นมันจะไม่ลำบากขนาดนี้หรอก เราตำข้าวได้ เราหุงข้าวได้ เราไม่ลำบากขนาดนี้ ถ้าเรายังตำข้าวไม่ได้ ไม่รู้จะทำอย่างไร มันลำบากไปหมด ต้องพึ่งพาอาศัยคนอื่นไปหมด เราพยายามของเรา พอเดี๋ยวมันชำนาญขึ้น มันจะพอทำได้

ทีนี้คำตอบสุดท้าย “แต่ปรากฏว่าลิ้นกับริมฝีปากของผมมันพยายามจะออกเสียงเลย มันจะออกเสียงพุทโธ มันจะไปที่ปากเลย

เราจะบอกว่า โยมนี่นะ อุปสรรคเยอะน่าดูเลย มันออกทุกลูกเลยนะ มันจะไม่ให้ทำ แต่โยมยังขวนขวายอยู่ มันก็เป็นประโยชน์กับเรานะ ถ้ามันจะออกมาที่ปาก พุทโธเลย ก็พุทโธกับมันไปพักหนึ่ง แล้วเดี๋ยวมันละเอียดเข้ามาเอง คือมันจะแสดงสิ่งใดออกมาให้มันแสดงให้เต็มที่ อย่าไปกีดขวาง แต่เรามีสติปัญญารู้เท่าทันทั้งหมด แล้วเราจะเห็นเอง เหมือนกับเด็กให้ลองผิดลองถูก มันลองจนหมดแล้วนะ ไม่มีอะไรสงสัยแล้วนะ มันจะกลับมาพุทโธชัดๆ เอง ให้มันลองไปเต็มที่เลย อะไรนี่ทดสอบเลย

หลวงตาท่านพูดอย่างนี้ ท่านบอกว่า สมัยท่านปฏิบัติใหม่ๆ พอจิตท่านสงบลง จิตของท่านมันแตกออกมาเป็นไฟ เหมือนไฟพะเนียงแตกเลย ท่านก็ตามแสงไฟนั้นไป อยากรู้ว่ามันจะไปจบที่ไหน มันก็ไปเรื่อยๆ ไม่จบสักที ท่านเลยดึงจิตท่านกลับมา

นี่ก็เหมือนกัน มันสงสัยไง มันเหมือนไฟพะเนียงมันแตกออกไปจากจิต ท่านก็สงสัยว่ามันจะไปจบลงที่ไหน ไฟที่มันแตกออกไป ท่านก็ตามแสงไฟนั้นไป ท่านบอกไปเรื่อยๆๆ ไปไม่จบไม่สิ้น สุดท้ายท่านก็ตัดใจดึงกลับมา พอดึงกลับมา ไม่สนใจมัน แล้วมันก็มาสงบ นี่พูดถึงว่านี่ประสบการณ์ของหลวงตานะ ประสบการณ์ของครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติมีประสบการณ์ทุกคนแหละ

นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันจะไปทางไหน มันจะฮู้โฮ่ มันจะออกที่ปาก มันจะอะไรลองเต็มที่เลย สุดท้ายแล้วมันก็มาพุทโธในใจเรานี่แหละ วิตก วิจาร ระลึกขึ้น จิตมันจะยังอยู่กับเรา เราระลึกถึงพุทโธ ระลึกถึง เรายกขึ้น วิตกขึ้น มันก็อยู่กับเราจิตเรายังวิตก วิจารได้ จิตยังอยู่กับเรา

แต่บอกว่า “พุทโธมันมีอยู่แล้ว ไม่ต้องทำอะไรเลย” นี่จิตมันไม่อยู่กับเรา จิตของเราแท้ๆ มันส่งออก เหมือนเราปกติ เรานั่งเฉยๆ แล้วเราคิดอะไรก็ไม่รู้ ปล่อยไปหมดเลย ไม่รับรู้อะไรเลย แล้วมันเป็นอะไรก็ไม่รู้

แต่ถ้ามันพุทโธๆ มันมีคำบริกรรม ถ้าระลึก มันพุทโธอยู่ ถ้ามันระลึกอยู่ จิตอยู่กับเรา ถ้าพุทโธอยู่กับเรา ถ้าปีติอยู่กับเรา ถ้าสุขอยู่กับเรา ถ้าเอกัคคตารมณ์อยู่กับเรา จิตตั้งมั่น สมาธิมี สมาธิมีชัดเจน สัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิแล้วฝึกหัดใช้ปัญญา

เวลาคำถามมามีแต่ปัญหาทั้งนั้นเลย ถ้ามีปัญหาทั้งนั้นเลย นี่เราพูดถึงจริตนิสัย พูดถึงว่าสมาธิที่มีและสมาธิที่ไม่มี สมาธิไม่มีคือว่าไม่มีสมาธิเลย ไม่มีข้อเท็จจริง มีแต่ชื่อ มีแต่แอบอ้าง มีแต่เอาชื่อมาใช้

แต่ถ้าสมาธิมันมี น้ำนิ่งแต่ไหล มันมีพลังงานของมัน มันมีตัวตนของมัน มันมีสัมมาสมาธิของมัน แล้วสัมมาสมาธิเป็นสมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงานแล้วถ้าจิตเป็นสมาธิแล้วระลึกถึงกาย เวทนา จิต นึกถึงธรรม มันเกิดสติปัฏฐาน 

สติปัฏฐาน  ตัวจริงต้องเกิดจากสัมมาสมาธิ ถ้าไม่มีสัมมาสมาธิ สติปัฏฐาน  ปลอมๆ สติปัฏฐาน  คิดเอา สติปัฏฐาน  จินตนาการเอา นี่พูดถึงการปฏิบัติแบบโลก

ทีนี้เราจะปฏิบัติแบบธรรม

พูดถึงน้ำนิ่งแต่ไหล นี่คือข้อสงสัย พุทโธจิตอยู่ที่ไหน นี่คือผู้ที่มุมานะอยากประพฤติปฏิบัติ แต่เริ่มต้นปฏิบัติ กิเลสมันยังหนา กิเลสมันยังดิบๆ กิเลสมันยังไม่เคยระหว่างโลกกับธรรมไง เราอยู่กับโลกมา เราจะปฏิบัติธรรม พอปฏิบัติธรรมโอ้โฮปัญหาเยอะมาก แต่ปัญหาเยอะมากขนาดไหน มันเป็นนักกีฬาไปสมัครเป็นนักกีฬาไง คัดเลือกตัว ยังไม่ได้เป็นนักกีฬา

นี่ก็เหมือนกัน เราอยากปฏิบัติเราจะคัดเลือกตัว เราจะคัดว่าเราจะได้เป็นนักกีฬาหรือไม่ เราจะได้เป็นนักปฏิบัติหรือไม่ แต่เราปฏิบัติของเราเพื่อบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเราปฏิบัติได้จริง เราจะได้รสของธรรม ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เราจะได้สัมมาสมาธิ สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มีเอวัง