ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ต่อตน

๓o เม.ย. ๒๕๕๙

ต่อตน

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๙

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : เรื่อง “การพิจารณาทุกข์

กระผมได้ฝึกปฏิบัติโดยรู้ลมหายใจ ทำความสงบ แต่ไม่สามารถพิจารณาผมขน เล็บ ฟัน หนังได้เลย พยายามเพ่งจนกายหาย แต่ในใจมันค้านว่าคิดเอาเองก็เลยพิจารณาเวทนาแทน ก็ได้ผลครับ คือมันเป็นรูปธรรมครับ เกิดสภาวะกดทับอึดอัด ก็ใช้วิธีแก้ที่ฟังจากหลวงพ่อ คือเฝ้าดูกำหนดลมไปเรื่อยๆ สักครู่มันก็เกิดการจางคลาย เบาโล่งอกโล่งใจ เป็นอย่างนี้เป็นรอบๆ เหมือนกับมีการสัประยุทธ์สู้กันกลางทรวงอก แล้วผมจะใช้วิธีปล่อยวางเข้าร่วม คือทำตัวผ่อนคลาย แล้วตั้งสตินึกถึงการทำทาน การมีศีลเข้ามาช่วยเวลาต่อสู้กับสภาวะทุกข์

ตอนนี้ผมปฏิบัติ มันทุกข์มากครับ ไม่ว่าผมจะเผลอคิดฟุ้งเรื่องอะไรก็จะกลายเป็นสภาวะทุกข์ก่อตัวขึ้น แล้วผมก็ใช้วิธีเดิมๆ สู้ ก็จางคลายเป็นรอบๆ ไปไม่จบไม่สิ้น สภาวะทุกข์นี้ ผมสังเกตเวลาใช้ชีวิตปกติมันก็จะเกิดขึ้น เวลาไม่พอใจก็มีความกังวล มีปัญหาต่างๆ สภาวะนี้มันจะก่อตัวขึ้น ผมก็ใช้วิธีเดิมกลับมาดูลมแล้วก็ได้ผล คือสภาวะทุกข์หนักอกค่อยๆ จางไป ปัญหาการงานก็เหมือนเดิม แต่มันไม่ค่อยทุกข์ใจครับ

ขอถามหลวงพ่อว่า ผมคิดเอาเองหรือเปล่าครับ การพิจารณาสภาวะนี้เป็นวิปัสสนาหรือยัง

ผมเคยเขียนมาเล่าให้หลวงพ่อฟังแล้วว่า ครั้งแรกที่ผมเห็นสภาวะทุกข์นี้ ผมเห็นเหมือนมะม่วงมันหลุดจากขั้ว แต่มันเป็นรูปธรรมจับต้องได้จริงๆ ครับ ทำได้ ครั้งติดต่อกัน น้ำตาไหลพราก มันโล่งอกโล่งใจมากๆ ตอนนี้มันไม่ค่อยจะมีความรู้สึกปีติแรงๆ เหมือนครั้งแรกครับ

ตอบ : นี่พูดถึงเวลาปฏิบัติไง เวลาเราปฏิบัติไป เวลาเราไม่ได้ปฏิบัติ เราก็อยู่ทางโลก เวลาทางโลกมันไม่มีทางออก พอไม่มีทางออก เราก็พยายามแสวงหาของเรา แสวงหาสัจจะแสวงหาความจริงในชีวิต

เวลาเขาพิสูจน์กัน เขาพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ ทางวิทยาศาสตร์เขาพยายามพิสูจน์กันว่า ชีวิตนี้มาจากไหน เวลาคนเกิด เกิดมาจากอะไร แล้วเกิดมาแล้วสภาวะของร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วย เขาก็พยายามพิสูจน์กัน เห็นไหม เรื่องการรักษาโรค พยายามจะรักษา ทางการแพทย์มันเจริญขึ้นมา ชีวิตของคนมันก็ยาวขึ้นเพราะว่าทางการแพทย์มันเจริญ

แต่เวลาถึงเรื่องเอาความสุขกันจริงๆ แล้ว มันมีแต่ความทุกข์ทั้งนั้นน่ะในหัวใจ ถ้าในใจมีแต่ความทุกข์ สิ่งที่จะบรรเทาทุกข์ได้ บรรเทาทุกข์ได้ก็เรื่องศีลธรรมนี่ ถ้าเรื่องศีลธรรมบรรเทาทุกข์ได้

เวลาคนเราไม่ได้เข้าถึงเรื่องศีลเรื่องธรรม แต่อยู่ทางโลก เวลาอยู่ทางโลกเวลามีความทุกข์ขึ้นมา เขาก็ไปหาคนทรงเจ้า ไปหาหมอดู ไปหาการถือฤกษ์ถือยามต่างๆ ไอ้อย่างนั้นมันเป็นเรื่องไสยศาสตร์ มันเป็นเรื่องความเชื่ออันหนึ่ง เห็นไหม ศาสนาแรกของโลกคือการถือผี ถือผีคือถือจิตวิญญาณที่จะเป็นที่พึ่งไง แต่มันก็พึ่งไม่ได้ไง

แต่พระพุทธศาสนา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแก้ไขทุกข์ในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา การตรัสรู้ธรรมมันมีเหตุมีผล ถ้ามันมีเหตุมีผลขึ้นมา มีการกระทำขึ้นมา มีเหตุมีผลขึ้นมาแล้วมันจบมันสิ้น พอมันจบสิ้นขึ้นมาแล้ว มันเป็นความสุขแท้ พอความสุขแท้ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศธรรม เวลาเทศน์ธัมมจักฯ ไง เทวดา อินทร์ พรหมเขาส่งข่าวเป็นชั้นๆ เทวดา อินทร์ พรหมเขาสรรเสริญ เทวดา อินทร์ พรหมเขาหาทางออกของเขาเหมือนกัน

ดูสิ เวลาเจ้าชายสิทธัตถะเกิดนะ กาฬเทวิลเป็นเพื่อนเป็นมนุษย์ เป็นมนุษย์สมัยพุทธกาล เป็นเพื่อนกับพระเจ้าสุทโธทนะ เห็นไหม เขาเป็นมนุษย์นะ เขาประพฤติปฏิบัติของเขา เขาระลึกอดีตชาติได้ ๔๐ ชาติ กำหนดอนาคตได้ ๔๐ชาติ เวลาเขาไปนอนบนพรหม นี่พูดถึงเวลาคนที่เขาประพฤติปฏิบัติไง แต่เขายังไม่มีทางออกเลย

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิด โลกธาตุหวั่นไหว เขาอยู่บนพรหมโลกธาตุหวั่นไหว ต้องมีสิ่งใดมหัศจรรย์แน่นอน กำหนดดูแล้วก็เลยรู้ รู้ก็เลยลงมาเพราะเป็นเพื่อนกับพระเจ้าสุทโธทนะ ขอดู ขอดูนะ พอเห็นเจ้าชายสิทธัตถะเป็นราชกุมาร ก็เข็นมาให้ดูไง เห็นพุทธลักษณะนี่ใช่แน่นอนเลย เพราะเขาเป็นพราหมณ์ เขาท่องได้ เขาดีใจมาก ดีใจมาก แต่เขาไม่มีทางออก แต่เวลาเขาก็เสียใจ เสียใจว่าเขากำหนดอายุขัยได้ว่าเขาจะต้องตายก่อนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสรู้ นี่กาฬเทวิลๆ อยู่ในพระไตรปิฎก

สิ่งที่ว่าเวลาพระพุทธศาสนามันมีการกระทำไง มันมีเหตุมีผลของมัน แต่เวลาทางโลกเขาไม่มีทางออก เวลาเขาเชื่อ เชื่อฤกษ์ เชื่อยาม เชื่อภูตผีปีศาจ เชื่อทรงเจ้าเข้าผี ไปเรื่อยเฉื่อยเลย เพราะเขาไม่มีทางออก เขาไม่มีทางออก เขาอาศัยพึ่งคนอื่น

เราไม่อยากจะพูดถึงลัทธิอื่น เขาเชื่อพระเจ้า เชื่อที่พึ่งข้างนอก เชื่อที่พึ่งข้างนอก แต่พระพุทธศาสนา เวลาไปวัดไปวา ไปฟังครูบาอาจารย์ นี่ข้างนอกไหม ก็ข้างนอก เพราะเป็นครูบาอาจารย์ แต่เวลาจะเอาจริงเอาจังขึ้นมามันต้องเป็นภายใน เป็นภายในคือต้องประพฤติปฏิบัติเอง เวลาเราต้องประพฤติปฏิบัติเองมันถึงได้ทุกข์ได้ยากนี่ไง เวลาเราปฏิบัติ

มันจะเข้ามาที่คำถาม คำถามว่า เขาประพฤติปฏิบัติมันทุกข์มันยาก แล้วเวลามันทุกข์มันยาก เขาก็เทียบเคียงไปในชีวิตทางโลก เขาบอกชีวิตทางโลกหน้าที่การงานก็ทุกข์เหมือนกัน หน้าที่การงานก็ทุกข์เหมือนกัน แต่เวลาทุกข์มันไม่ทุกข์เหมือนการประพฤติปฏิบัติ เวลาทุกข์ในการประพฤติปฏิบัติ เวลาปฏิบัติไปแล้ว เขาบอกเวลาปฏิบัติไปแล้วเขาปฏิบัติไม่ได้ เขาทำความสงบของใจเข้ามาแล้ว เขาพิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนังไม่ได้ เขาพยายามเพ่งจนกายหายไป

เพ่งจนกายหายไป ไอ้นี่มันเป็นเรื่องกสิณ เราเพ่งสี เพ่งแสง เพ่งกสิณเขียวกสิณแดง กสิณไฟ กสิณน่ะ นี่เราก็เพ่งจนกายหายไป เห็นไหม การเพ่ง การเพ่งมันไม่ใช้ปัญญา เวลาการเพ่ง ขันติธรรม ขันติธรรมมันเป็นวิธีการวิธีการหนึ่ง มันเป็นอุบายในการประพฤติปฏิบัติไง เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นไป เวลามันทุกข์มันยาก เราใช้ขันติ เราอดทนเอา ใช้ขันติ มันไม่มีปัญญา ขันติคือความอดทน

ถ้าเราอดทนได้ คนที่ต่ำต้อยกว่าเขามาทำให้เรากระทบกระเทือน เราทนได้นี่ขันติอย่างยอดเยี่ยม คนที่เสมอกัน เวลาเขาติเตียนเราได้ เราทนได้ นี่ขันติอย่างกลาง คนที่มีอำนาจเหนือกว่าเรา เจ้านายเวลาติเตียนเรา เราต้องทนได้อยู่แล้วเราทนได้อย่างนี้ ขันติอย่างหยาบๆ นี่มันเป็นขันติ ขันติธรรม ขันติธรรมคือการอดทนๆ

การเพ่งกสิณมันก็เป็นการเพ่ง การเพ่งกสิณ เพ่งจนร่างกายหายไป ร่างกายหายไป เขาก็ค้านขึ้นมาเองว่าคิดเอาเอง สุดท้ายแล้วเขาก็มาใช้การพิจารณาเวทนาแทน

เพราะเวลาเวทนา คำว่า “เวทนา” เวลาคนประพฤติปฏิบัติแล้วเขาอยากจะก้าวหน้า คนทำสิ่งใดก็อยากจะพัฒนา แล้วบอกว่าจิตสงบแล้วก็พิจารณา เวลาพิจารณา ทุกคนก็บอกว่าไม่มีอะไรจะพิจารณา

ถ้าเราไม่มีอะไรจะพิจารณา เราพยายามทำใจของเราให้สงบ สงบแล้ว เรานั่งไป มันต้องเกิดความหงุดหงิด เกิดต่างๆ นี่เกิดเวทนา ถ้าเกิดเวทนา เราจับต้องได้ มันจะพัฒนา พัฒนาหมายความว่า พอจิตสงบแล้วเราก็จับเวทนา เราก็ฝึกหัดใช้ปัญญา พอใช้ปัญญาไปแล้วมันเคยฝึกหัด จะมาทำสมาธิก็ทำได้ง่ายขึ้น เพราะว่ามันมีช่องทาง เราฝึกหัดของเราไป เราปฏิบัติของเราไป ในการประพฤติปฏิบัติมันต้องทำต่อเนื่อง ทำต่อเนื่องไง ถ้าทำต่อเนื่องกันไป ปฏิบัติของเราไป สิ่งที่ปฏิบัติไป นี่การปฏิบัติธรรม

ถ้าการปฏิบัติธรรมนะ เหมือนคนมีสติสัมปชัญญะ คนมีสติสัมปชัญญะเขาต้องทำมาหากิน คนที่เขาพลั้งเผลอ คนที่เขาเหลวไหล เขาก็ต้องทำมาหากิน การทำมาหากินต้องมีหน้าที่การงานไง

แต่เวลาคนที่มีสติสัมปชัญญะเขาทำของเขา เขาทำของเขาด้วยสติสัมปชัญญะ เขาทำด้วยคุณงามความดีของเขา เขามีเหตุมีผล มีคุณงามความดีตกผลึกในใจ แต่คนที่ประมาทเลินเล่อ คนที่ใช้ชีวิตไปวันๆ หนึ่ง เขามีอะไร

ทีนี้ย้อนกลับมาที่ปฏิบัติไง ถ้าไม่ปฏิบัติมันก็เหมือนคนทั่วไป คนทั่วไปเขาก็ใช้ชีวิตของเขาไปวันๆ หนึ่ง เขาไม่ได้ประพฤติปฏิบัติสิ่งใด เพราะเขาไม่เชื่อ หรือว่าเขาไม่มีอำนาจวาสนาที่จะมีโอกาสทำได้

แต่ถ้าเราทำได้ เราก็เหมือนกับคนที่ต้องทำมาหากินเหมือนกัน แต่เรามีสติมีปัญญา เราไม่ประมาทกับชีวิต เราทำหน้าที่การงานของเราเพื่อประโยชน์กับเราไงถ้าปฏิบัติเพื่อเหตุนี้ปั๊บ มันก็ปฏิบัติไปโดยที่ว่าไม่หงุดหงิด ไม่มีสิ่งใดที่เข้ามาคอยบีบคั้น คอยบีบคั้น เราปฏิบัติ เราต้องปฏิบัติของเราต่อเนื่องๆ ไป นี่ทางการปฏิบัติ

เวลาปฏิบัติแล้ว เวลาเรามีความทุกข์ความยาก เราก็ไปทางโลกเพื่อจะไปหาที่ผ่อนคลาย ไปหาที่ความสุข แต่ถ้าเราปฏิบัติ เวลาเขาปฏิบัติว่า เขาพิจารณาเวทนาของเขา เวลากำหนดลมของเขา พิจารณาเฝ้าดูของเขา เวลามันเบามันโล่งอกโล่งใจ พิจารณาอย่างนี้เป็นรอบๆ ไป การพิจารณาเป็นรอบๆ ไปมันก็ทำต่อเนื่อง

คำว่า “ทำต่อเนื่อง” นะ ความเป็นจริง ความจริงในการประพฤติปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ที่ท่านประพฤติปฏิบัติ เวลาปฏิบัติ ถ้ามันจะมีความจริง เขาต้องมีสติต้องมีปัญญา ต้องรักษาของเขา เขามีข้อวัตรนะ ครูบาอาจารย์ท่านจะไม่ให้คุยกันท่านจะให้ต่างคนต่างมีโอกาสในการปฏิบัติ เพราะในการปฏิบัติมันเป็นขั้นเป็นตอนขึ้นไป มันต้องดูแลของเราขึ้นไป ถ้าดูแลขึ้นไป มันก็ต้องทำความจริงไง ถ้ามันเป็นความจริงมันเป็นแบบนี้

แต่ถ้าไม่เป็นความจริง สิ่งที่เขาคุยกันทางโลก ที่เขาบอกว่า เวลาเขาพูดธรรมะๆ กัน มันเป็นความจำทั้งนั้นน่ะ เวลาความจำทั้งนั้น แต่จิตใจของเขา เขาไม่ซื่อสัตย์ของเขา คือเขาไม่ยอมรับว่าอะไรเป็นความจริง อะไรไม่เป็นความจริง อยู่กับความเสแสร้งมาตลอด แล้วมันก็เป็นธรรมะเสแสร้ง

แต่ถ้าเราจะตรงต่อธรรม ตรงต่อความจริงของเรา เราต้องทำความจริงของเรา ถ้าความจริงของเรา มันก็ต้องทำต่อเนื่องกันไป ทำต่อเนื่องกันไป นี่ถ้ามันเป็นความจริงนะ เพราะความจริงมันมีเหตุมีผลของมันตามความจริงอันนั้น

ฉะนั้น สิ่งที่เขาทำ เขาทำของเขา เขาพิจารณาของเขา ทีนี้เขาขอถาม ขอถามหลวงพ่อว่า “ผมคิดเอาเองหรือเปล่าครับ ในการพิจารณาสภาวะนี้เป็นวิปัสสนาหรือยัง ผมเคยเขียนมาเล่าให้หลวงพ่อฟัง ฟังแล้วว่าครั้งแรกที่ผมเห็นสภาวะทุกข์ ผมเห็นเสมือนมะม่วงมันหลุดจากขั้ว มันเป็นรูปธรรมชัดๆ จับต้องได้ทำได้  ครั้งติดต่อกัน น้ำหูน้ำตาไหลพราก โล่งอกโล่งใจมากๆ ตอนนี้มันไม่ค่อยมีความรู้สึกปีติแรงๆ มันไม่เหมือนครั้งแรก

สิ่งที่ผ่านมาแล้วมันก็ผ่านมาแล้วไง สิ่งที่ว่าเวลาพิจารณา เคยเขียนปัญหาถามมาว่า เห็นว่ามะม่วงมันหลุดจากขั้ว ที่เขาเห็นความทุกข์ของเขา ความทุกข์ของเขาหลุดออกไป น้ำหูน้ำตาไหลเลย

ถ้าน้ำหูน้ำตาไหล เราพิจารณาของเรา คำตอบ เวลามีคำตอบนะ เราไม่ขีดกรอบไว้ มันเป็นปัจจุบันตลอดไง แต่เราจะเอาให้เหมือนเดิมๆ นี่เป็นสัญญา เราจะไม่เอาสัญญา ไม่ให้มันเหมือนเดิม มันต้องดีกว่าเดิม มันดีกว่าเดิมหรือมันเสมอเดิม ถ้าเสมอเดิม แต่มันเป็นปัญญาที่เป็นปัจจุบันนั้น

ถ้าเป็นปัจจุบัน เราพิจารณาอะไรก็ได้ พิจารณากายก็ได้ พิจารณาเวทนาก็ได้พิจารณาจิตก็ได้ พิจารณาสัจธรรม พิจารณาสิ่งที่ดำรงชีวิตก็ได้ ถ้าชีวิต ถ้าจิตมันสงบแล้ว เวลามันจับได้มันเป็นปัญญาต่อเนื่องไป ถ้าปัญญาต่อเนื่องไป เห็นไหมการประพฤติปฏิบัติมันปฏิบัติซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ ฝึกหัดใจให้มันชำนาญไง

ถ้ามันชำนาญแล้ว ถ้ามันทำสิ่งใดไม่ได้ เราก็พุทโธไว้ให้จิตสงบเข้ามา สงบแล้วก็อยู่กับความสงบนั้น ถ้าความสงบนั้น พอมันมีกำลังแล้วเราออกไป ออกไปคือไปคิด ออกไปคิด ออกไปจับต้องสิ่งใด พอจับสิ่งใดได้ เราก็พิจารณาสิ่งนั้นเวลาเราคลายตัวออกไป เราจับสิ่งใดพิจารณา ฝึกหัดอย่างนี้ ฝึกหัดอย่างนี้

หน้าที่การงาน เราก็ทำหน้าที่การงานของเราไป ถ้าอยู่ทางโลก เรามีความรับผิดชอบสิ่งใด เราก็รับผิดชอบของเรา เราทำเต็มความสามารถของเรา แล้วพอมีเวลาขึ้นมา เราอยู่คนเดียว เราอยู่คนเดียว เราก็ภาวนาของเราไป ถ้าเราภาวนาได้นะ นี่พูดถึงว่าถ้าเป็นทางโลก

เวลาพระเขาปฏิบัติกัน เขาปฏิบัติทั้งวันทั้งคืน เขาปฏิบัติตลอดเวลา แล้วผู้ที่ปฏิบัตินะ เวลาจิตใจของเขามีเหตุมีผลของเขา เขาจะหลีกเขาจะเร้นของเขา เขาจะพยายามเข้าทางจงกรม นั่งสมาธิของเขา เพราะมันเป็นงาน งานมันทำอยู่นะมันไม่มีเวลาจะไปนั่งคุยกับใคร มันไม่มีเวลาจะไปยุ่งเหตุผลของใครหรอก มันจะเอาแต่ความจริงของตน ถ้าความจริงของตน เห็นไหม การปฏิบัติเป็นแบบนี้มันเป็นข้อเท็จจริงไง นี่ความปฏิบัติถ้ามันมีเหตุมีผลจริง

เวลาเขาถามปัญหามา เราตอบชัดเจน ชัดเจนเลย ชัดเจนเพราะอะไร เพราะว่าเวลาเขาปฏิบัติขึ้นไปมันเป็นความเห็นภายใน ความเห็นภายในมันเป็นนามธรรม เพราะนามธรรมมันจะนึกก็ได้ เขาจะบอกว่า “ผมนึกเอาเองหรือเปล่าผมนึกเอาเองหรือเปล่า

แต่ถ้ามันเป็นความเห็นจากภายใน ความรู้สึกที่พูดออกมามันมีเหตุมีผล มันฟังขึ้น แต่ถ้ามันเป็นการที่ว่ามันคิดจินตนาการหรือความเห็น เวลาพูดอะไรมามันหลักลอย มันเป็นไปไม่ได้ ทีนี้มันเป็นไปไม่ได้ เราถึงตอบไปชัดเจน พอตอบไปชัดเจนแล้ว ทีนี้การต่อเนื่องนี่สำคัญ สิ่งที่ถามมา มันเห็นเหมือนมะม่วงหลุดจากขั้ว

มันก็หลุดแล้ว ปีนี้มะม่วงหลุดแล้ว ปีหน้าถ้ามันแล้งกว่านี้ มะม่วงจะไม่มีกินนะ มะม่วงหลุดจากขั้ว คำว่า “มะม่วงหลุดจากขั้ว” นี่เป็นรูปธรรม แต่สัจจะความจริงคือใจดวงนั้นน่ะ ใจดวงนั้นมันสงบ ใจดวงนั้นมันพิจารณาของมันน่ะ มันเห็นเหตุการณ์อันนั้น เหตุการณ์อันนั้น ที่ว่ามันเป็นมรรคๆ มันมีเหตุมีผลของมัน แต่มันก็ผ่านไปแล้ว มันเป็นอดีตไปแล้ว อดีตไปแล้ว

ถ้าในปัจจุบันนี้ เราก็ต้องทำจิตของเราสงบ ถ้าสงบเข้าไปแล้วมันไปเห็นต้นข้าวก็ได้ มันไปเห็นเป็นต้นทุเรียนก็ได้ มันจะเห็นเป็นอะไรก็ได้ มันไม่ใช่เห็นเป็นมะม่วงตลอดไปหรอก นี่เวลามันเห็นนะ ถ้าเห็นเป็นมะม่วงทุกครั้งๆ มันก็สัญญาแล้วนะ มันก็เป็นเรื่องแปลกแล้ว แต่ถ้าจิตสงบแล้วไปเห็นอย่างนั้น จิตสงบแล้วจะเห็นอย่างนี้ ถ้ามันเห็น

ถ้าไม่เห็น ถ้าจิตสงบแล้วถ้าไม่เห็นใช่ไหม รำพึงไป รำพึงให้มันรู้ให้มันเห็นแล้วฝึกหัดอย่างนี้ ไม่ใช่ว่าเห็นมะม่วงหลุดจากขั้วไปแล้วก็จบ

เห็นมะม่วงหลุดจากขั้วไป มันเป็นการชำระชั่วคราว มันเป็นการปล่อยวางชั่วคราว เหมือนเรา เวลาเรามีอารมณ์ที่รุนแรงในหัวใจ แล้วถ้ามีสติปัญญาไล่ตามทัน มันก็ปล่อย เดี๋ยวก็คิดอีกแล้ว เดี๋ยวอารมณ์มันก็มาอีกแล้ว แล้วถ้ามีอะไรกระทบแรง เดี๋ยวแรงกว่าเก่าอีก

นี่ไง สิ่งที่มันเป็นไปได้ มันเป็นไปแล้ว การพิจารณาครั้งแล้วครั้งเล่าๆ มันต้องตรงต่อธรรม ตรงต่อความจริง ของมันของจริงอยู่แล้ว ปฏิบัติเป็นความจริง แต่ถ้าเราตรงต่อธรรม เราปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

แต่นี่บอกว่า มันน่าสงสาร น่าสงสาร เขาบอกว่า มันมีสภาวะ ถ้ามันมีสิ่งใดแล้วมันจะลงไปสู่สภาวะนั้นทุกข์ มันจะลงสู่สภาวะทุกข์ๆ แล้วสภาวะทุกข์นั้นมันก็บีบคั้นไง

สภาวะทุกข์ ก็จับทุกข์เลย ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ ถ้ามันสภาวะทุกข์ทุกข์นี้เกิดจากอะไรล่ะ เกิดจากเวลาปฏิบัติธรรมหรือ เกิดจากชีวิตนี้หรือ เกิดจากหน้าที่การงานหรือ ทุกข์มันเกิดจากอะไร ทุกข์ควรกำหนด แล้วมันไปละที่ไหน ไปละที่ตัณหาความทะยานอยาก ไปละสิ่งที่เรายึดมั่นถือมั่น

เราก็พิจารณาซ้ำสิ จับตัวทุกข์เลย จับตัวทุกข์เลย จับสภาวะที่มันจะเกิด จับตัวทุกข์ ทุกข์ควรกำหนด เขาให้กำหนดไง ก็เหมือนเห็นกาย เวลาเราเห็นกาย เราเห็นสภาวะโครงสร้างของกาย เราก็จับกายนั้นใช่ไหม

นี่ถ้ามันเกิดสภาวะทุกข์ จับอารมณ์ทุกข์ อารมณ์ที่มันทุกข์นี่จับเลย จับแล้วมาคลี่คลายกัน ทุกข์นี้ทำไมมันถึงทุกข์ ทุกข์นี่ ทุกข์ควรกำหนด สมุทัย สมุทัยไปละความไม่เข้าใจ ไปละสิ่งที่เขาเรียกว่าความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์มันถึงทุกข์ ถ้ามันรู้เท่าถึงการณ์ทั้งหมด มันกำหนด มันเท่าทันจิตหมดจิตมันไม่จับต้องสิ่งใด มันเอาอะไรมาทุกข์ ถ้ามันมีความทุกข์ เห็นไหม ถ้าทำอย่างนี้มันตรงต่อธรรม

แต่ในการประพฤติปฏิบัติของเรา คนเราทำงาน ดูสิ ทำหน้าที่การงาน เราก็อยากได้ผลตอบแทน นี่เวลาปฏิบัติแล้วเราก็อยากได้ผลตอบแทน สิ่งที่ผลตอบแทนคืออยากมีคุณธรรม คือว่ามันจะไม่มีทุกข์เลย ในเมื่อมันพิจารณาแล้วมันปล่อยหมดแล้ว มันก็ต้องมีแต่ความสุข มีแต่ความดีงามทั้งนั้นน่ะ มันปล่อย นี่คือวิธีการ นี่คือการกระทำ

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมเพราะมีเหตุมีผลไง บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ นี่ชำระล้าง

ไอ้นี่เราพิจารณาของเรา จิตเราสงบแล้ว เราเห็นมะม่วงหลุดจากขั้ว

นี่มันเป็นรูปธรรม มันเป็นรูปธรรม รูปแบบ อารมณ์ความรู้สึก แต่จับอารมณ์นั้นมันเห็นภาพเป็นมะม่วง เห็นเป็นอะไรก็แล้วแต่ ถ้าพิจารณาไปแล้ว มะม่วงมันหลุด หลุดไปแล้วมันก็โล่งโถงปล่อยวาง ก็เรื่องธรรมดา แต่กิเลสมันยังซ้อนอยู่กิเลสมันยังซ้อนอยู่ มันยังไล่ตามไม่ถึงที่ เห็นไหม เราต้องตรงต่อธรรมสิ เราทำตรงต่อธรรม ต่อธรรม ต่อตน

แต่นี้พอมันทำไปแล้วกิเลสมันแทรกเข้ามา ที่เราจะอธิบาย อธิบายถึงความที่ปฏิบัติไปแล้วมีความเข้าใจผิดไง คนเข้าใจผิดกันเยอะนะ คนเข้าใจผิด เห็นไหมดูทางโลก เวลาเขาใช้ปัญญาๆ อย่างที่ว่า เวลาใช้ปัญญาๆ ไป มันเป็นโลกียปัญญาทั้งนั้นน่ะ ปัญญาอย่างนั้นเป็นปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพราะจิตยังไม่สงบ ถ้าจิตยังไม่สงบมันไม่เห็นกิเลสหรอก มันไม่เห็นสติปัฏฐาน ตามความเป็นจริง

ถ้าเราพุทโธ ใช้ลมหายใจ จิตเราสงบแล้ว เวลาพิจารณาแล้ว เวลามันปล่อยเป็นครั้งเป็นคราว เวลามันปล่อยแล้ว ปล่อยแล้วมันก็เป็นปัจจุบันขณะนั้น แต่ขณะนั้นในการกระทำ ที่เวลาใครไปถามหลวงตา หลวงตาบอกให้ซ้ำๆๆ เข้าไป ซ้ำเข้าไป ปฏิบัติต่อเนื่องเข้าไป ถ้ามันมีโอกาส มันปฏิบัติต่อเนื่องขึ้นไป มันก็พัฒนาขึ้น

ถ้าคนไม่มีโอกาสนะ คนไม่มีวาสนานะ มันทำได้แค่นั้นน่ะ ทำได้หนหนึ่ง พอทำได้หนหนึ่ง เราต้องลงทุนลงแรงมาก ใช้สติใช้ปัญญา ใช้เวลามาก พอใช้เวลามาก แล้วมันลงทุนลงแรง คือมันเหนื่อยมาก มันทุกข์มาก ว่าอย่างนั้นเถอะ จะทำอีกทีมันแหยงไง มันทำไม่ลง มันทำไม่ได้ พอทำไม่ได้ขึ้นมา เวลามันเสื่อม เสื่อมหนักไปเรื่อยๆ นะ เหมือนคนเป็นไข้ คนเป็นไข้แล้วไม่ได้ดูแลตัวเอง ไข้นั้นมันจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เวลามันเสื่อม เวลากิเลสมันครอบงำแล้วนะ มันจะฝืนกลับมายากเลย มันเหมือนเราสไลด์ลงไปแล้วมันจะฝืนขึ้นมา โอ้โฮแสนยากแสนเข็ญเลย นี่กิเลส นี่ผลของกิเลส เวลากิเลสมันต่อต้าน

ฉะนั้น เราทำต่อตน ต่อตนต่อธรรมให้มันเป็นจริง ถ้าต่อตน ต่อตนก็คือต่อหัวใจของเรา ในการประพฤติปฏิบัติของเรา เราต้องจริงจังกับเราเพื่อประโยชน์กับเรา นี่ต่อธรรม ต่อธรรม สิ่งที่ทำไปแล้ว ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงของธรรม แต่ด้วยวุฒิภาวะ กำลังของจิตมันมีแค่นั้น ปุถุชน กัลยาณปุถุชน ถ้าเป็นกัลยาณปุถุชนทำสมาธิได้มั่นคง จิตมีกำลังแล้ว ถ้าพิจารณาสติปัฏฐาน  ตามความจริง ก็เป็นโสดาปัตติมรรค

ถ้าโสดาปัตติมรรคแล้ว ถ้าสำเร็จแล้ว ถ้ามันขาด มันก็เป็นโสดาปัตติผล ถ้ามันยังไม่ขาด มันก็พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ พิจารณาต่อเนื่องกันให้มีประสบการณ์ของจิต จิตพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าขึ้นมา มีความชำนาญขึ้นมา ถ้ามันปล่อยละเอียดขึ้นมา มันก็โล่งโถงละเอียดมาก แต่มันก็ยังไม่ขาด

แต่ถ้ามันขาด กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ มันแยกเลย ขันธ์ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์  ขันธ์  ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์  อย่างนี้ไม่เสื่อมอย่างนี้จะอยู่กับมันคงที่เลย เขาเรียกอกุปปธรรม อกุปปธรรมไง อกุปปธรรมกับกุปปธรรม

กุปปธรรมมันเป็น สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา กุปปธรรมคือสภาวะวิทยาศาสตร์สภาวะที่เป็นอนิจจัง สภาวะโลกเขาเรียกว่ากุปปธรรม สภาวะธรรมชาติ การแปรปรวนของธรรมชาติ สัจจะของธรรมชาติ สรรพสิ่งทางวิทยาศาสตร์นี่กุปปธรรม มันแปรสภาพของมันตลอด มันไม่จบไม่สิ้น แต่อกุปปธรรมจบ ถ้าเป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามี เป็นพระอรหันต์ นี่อกุปปธรรม

อกุปปธรรมมันต้องมีการซ้ำๆ นี่ตรงต่อตน คือทำจริงทำจังของเรา ตรงต่อตนคือซื่อสัตย์ ตรงต่อตนนะ ตรงต่อตนเพราะเราทำของเราเพื่อประโยชน์กับเราเราไม่ให้ใครหลอกเรา แล้วเราก็ไม่หลอกตัวเราเองด้วย

ตรงต่อธรรม ตรงต่อธรรม สัจจะความจริงมันเป็นความจริง “เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด” เพราะธรรมอันนั้นเป็นสัจจะความจริง ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม มันต้องเป็นอย่างนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา มันเป็นอย่างนั้น แต่เราทำไม่ตรงต่อมัน เราทำไม่สมดุล ทำไม่พอดี ทำไม่ได้สัจจะอันนั้น ถ้าทำไม่ได้สัจจะอันนั้น มันก็ได้เฉียดไปเฉียดมา มันก็เป็นแบบนี้

เฉียดไปเฉียดมา เห็นไหม “ผมเคยเห็นมะม่วงหลุดจากขั้ว มันเป็นรูปธรรมชัดเจนจริงๆ ครับ เพราะมันทำแล้ว โอ้โฮน้ำหูน้ำตาไหลพราก มันโล่งโถงไปหมดเลย” นี่คนปฏิบัติอย่างนี้จริง อย่างนี้จริงๆ แต่มันยังไม่ถึงที่สุดไง มันยังไม่ถึงที่สุดอกุปปธรรม ไม่กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ มันแยก เวลามันแยกขึ้นมาเป็นอีกอย่างหนึ่ง เวลาคนปล่อย ปล่อยอย่างนี้ แล้วคนปล่อยแล้ว ส่วนใหญ่แล้วกิเลสมันก็พยายามจะเทียบเคียงไปที่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่พุทธพจน์ๆ พุทธพจน์พูดไว้ถูกเลย หลวงพ่อค้านทุกที หลวงพ่อกล้าเถียงพุทธพจน์เชียว

เวลาพุทธพจน์มันถูกหมด เพราะเราไปอ่าน เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นวิทยาศาสตร์ใครตีความ ใครเอามาเป็นคติของเราไง แต่ข้อเท็จจริง ข้อเท็จจริงมันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก มันทำลายกิเลสกลางหัวใจเลยน่ะ ไอ้นี่มันถึงเป็นความจริง แล้วครูบาอาจารย์ที่เป็นจริงท่านเป็นจริงอย่างนี้ไง ถ้าเป็นจริงอย่างนี้ถึงว่าให้ซ้ำเข้าไป

จะบอกว่า เราทำแล้วให้มันตรงต่อธรรม อย่าเข้าใจผิด ถ้าความเข้าใจผิดคือว่าเหมือนกับเรียนแล้วจบ นี่ก็เหมือนกัน ทำแล้ว มันรู้เท่าแล้ว กิเลสมันเหมือนมะม่วง มันหลุดจากขั้วไปแล้ว มันก็หลุดไปแล้ว เราก็ต้องได้ธรรมจริงๆ สิ เราก็ไปต่อรองกับกิเลสเราเองไง เราก็กลับไปต่อรองกับกิเลสเราเอง แล้วกิเลส โธ่หน้าตาของกิเลสมันจะหลอกให้เราหลงอยู่แล้ว ไม่ต้องไปต่อรองกับมัน มันก็หลอกอยู่แล้ว แล้วนี่ยิ่งไปต่อรองกับมัน เสร็จเลย

ฉะนั้น นี่ไง เราทำตรงต่อธรรม ตรงต่อธรรม ตรงต่อตนเอง ตรงต่อตนเองคือซื่อสัตย์สุจริต ด้วยความสัตย์ คนเราปฏิบัติมันต้องมีสัตย์ ถ้ามีสัตย์แล้ว มันตั้งสัจจะแล้ว ทำสิ่งใดก็ทำได้

ตรงต่อตน เราให้มั่นคงให้ตรงต่อตนก่อน แล้วเวลาปฏิบัติแล้วตรงต่อธรรมตรงต่อธรรม ให้มันสัจจะความจริงอย่างนั้น แล้วถ้ามันตรงต่อธรรมแล้วนะ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมแล้ว มันประกาศขึ้นกลางหัวใจ

เวลากิเลสมันสิ้นไปแต่ละขั้นแต่ละตอน ใครเป็นคนมาให้ประกาศนียบัตรใครเป็นคนรับรอง หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านเป็นผู้สั่งผู้สอน เวลาเป็นจริงขึ้นมาท่านก็สาธุ เวลาหลวงตาท่านพิจารณาของท่านขึ้นไป เวลาขึ้นไปรายงานท่านแล้วท่านรอฟังเลย เวลาท่านฟังหลวงตาท่านรายงานจบ หลวงตาท่านก็หมอบฟังว่าหลวงปู่มั่นว่าอย่างไร

หลวงปู่มั่นประกาศเลย “เออมันต้องเป็นอย่างนี้สิ จิตมันไม่เกิด  อัตภาพหรอกเว้ย มันก็เกิดหนเดียวเท่านั้นล่ะ จิตมันไม่มีวันเกิดไม่มีวันตายอยู่อย่างนั้นน่ะ

โอ้โฮนั่นน่ะมันเป็นความภูมิใจของท่าน นี่ไง แล้วมันเป็นที่ไหนล่ะ เป็นเพราะหลวงตาท่านปฏิบัติได้แล้วท่านถึงขึ้นไปรายงานผล รายงานผล พิจารณาเวทนาๆ จนมันจบมันสิ้นเลยล่ะ พิจารณาเสร็จแล้ว มั่นใจแล้วขึ้นไปรายงานหลวงปู่มั่น

เออ!”

แล้วใครทำล่ะ ก็หลวงตาท่านทำจบแล้ว หลวงปู่มั่นแค่ “เออ!” ท่านก็ปลื้มใจท่านปลื้มใจ ท่านภูมิใจ ท่านภูมิใจเพราะท่านต้องการผู้สืบทอดๆ นี่ก็เหมือนกันถ้ามันเป็นจริง มันเป็นจริงกลางหัวใจของเรา

แต่นี่มันอย่างที่ว่า มันจะรวมลงสภาวะทุกข์หมด ปฏิบัติมันก็รวมลงสู่สภาวะทุกข์ ชีวิตในการทำหน้าที่การงาน ชีวิตจริงก็รวมลงสู่สภาวะทุกข์ สภาวะทุกข์มันก็มากีดมาขวาง ที่ทำมาได้สองหนสามหน น้ำหูน้ำตาไหลพราก

อันนั้นก็เป็นผลงานของเรา อันนั้นก็เป็นอำนาจวาสนาของเรา เป็นสิ่งที่เราทำได้ แต่เราต้องทำต่อเนื่อง รักษาศีล สมาธิให้มันมั่นคงอย่างนั้น แล้วฝึกหัดใช้ปัญญาต่อเนื่องไป

ศีล สมาธิ ปัญญา มันก็เป็นมรรค ศีล เราระลึก เราตั้งใจ เราเข้มงวดของเราสมาธิ สมาธิเราก็กำหนดลมหายใจ ถ้ามันทำอะไรไม่ได้ เราก็กำหนดลมหายใจของเรา ศีล สมาธิ แล้วถ้ามันเกิดปัญญาขึ้นมา มันก็เกิดมรรคเกิดผลเต็มที่ ถ้าเต็มที่ก็ขึ้นไปของมัน

หน้าที่ของเรา เราตรงต่อธรรมๆ เราปฏิบัติธรรมเพื่อคุณธรรม ปฏิบัติธรรมเห็นไหม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เราปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เราไม่เอาสิ่งที่ไม่จริง เราไม่เอาสิ่งที่ใครมาสรรเสริญเยินยอ ไม่เอา เราเอาความจริงๆปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เราตรงต่อธรรม เราจะเอาสัจจะความจริง เราจะเอาประโยชน์อันนี้

ซ้ำอยู่ตรงนั้น ไอ้เรื่องเห็นใจ เห็นใจมาก แต่นี่เราพูดถึงข้อเท็จจริงไง เวลาทางโลกขึ้นมา ปฏิบัติทีหนึ่งอย่างนี้ เขาให้ประกาศนียบัตร มะม่วงหลุดจากขั้วแล้วเป็นโสดาบัน มะม่วงหลุดจากขั้วเป็นสกิทาคามี แล้วมันเป็นจริงหรือเปล่าล่ะถ้าเป็นจริง สภาวะทุกข์มันอยู่ไหนล่ะ

ถ้ามันเป็นจริง สภาวะทุกข์จะไม่มี มันรู้เท่าทันหมด มันจะไปทุกข์ได้อย่างไรกายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ ทุกข์มันขาดไปแล้ว ขันธ์  ไม่ใช่ทุกข์ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์  ขันธ์  ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์  ขันธ์  มันไม่มีทุกข์ มันทุกข์ได้อย่างไร

ถ้าขันธ์  มันมีทุกข์อยู่ มันก็จริงๆ ของมันไง ขันธ์  ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์  ในสภาวะของพระโสดาบัน แต่ถ้าขึ้นเป็นสกิทาคามี อ้าวทุกข์ ทุกข์ละเอียด ทุกข์คนละสถานะ ถ้าไปขั้นอนาคามี โอ๋ยทุกข์เรื่องกามราคะ ถ้าไปถึงขั้นของอรหัตตมรรค นั่นน่ะทุกข์ด้วยการไฟสุมขอนในใจ นี่ทุกข์มันเป็นชั้นๆเข้าไป มันก็เป็นชั้นๆ เข้าไป ถ้าทำความเป็นจริงมันก็เป็นจริงอย่างนี้

ให้ตรงต่อธรรม แล้วกิเลสมันดีดดิ้น เราวางซะ ไม่ตรงต่อมัน กิเลสมันดีดดิ้นทีนี้เพียงแต่ว่า เรายังยืนยันนะ เรายืนยันว่า ที่ปฏิบัติมาแล้ว เพราะเขาบอกว่าถามหลวงพ่อมาหลายหนแล้ว

หลวงพ่อก็ตอบมาเยอะแล้ว แต่ที่ตอบๆ มานี่ก็ตอบให้กำลังใจมาตลอด ตอบแล้วมันตอบเป็นความจริง ตอบแล้วให้มันขึ้นมา แต่ไอ้คนปฏิบัติมันสงสัยน่ะสิหลวงพ่อก็ตอบมาแล้ว หลวงพ่อก็รับรองมาแล้ว แต่สภาวะทุกข์ยังอยู่กับผมนี่ตอบมาแล้ว ปฏิบัติมันยังทุกข์อยู่นี่

ทุกข์เป็นความจริง ทุกข์เป็นอริยสัจ แต่ถ้าปฏิบัติไปแล้วนะ มันเป็นอันเดียวกันทั้งนั้นน่ะ ถ้ามันมีมรรคมีผลขึ้นมาเป็นความจริง

ฉะนั้น เรื่องทุกข์มันเป็นเรื่องธรรมดา เรื่องทุกข์ เห็นไหม ชีวิตเป็นความทุกข์อยู่แล้ว จะกินอาหารก็ทุกข์ ต้องหามันมา จะหลับจะนอนก็ทุกข์ ทุกข์ทั้งนั้นน่ะ ถ้าไม่ทุกข์ จะอยู่อิริยาบถเดียว อยู่ไม่ได้ ทุกข์คือสิ่งที่ทนอยู่ไม่ได้ ชีวิตนี้ทนอยู่อะไรไม่ได้เลย ต้องมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ฉะนั้น ทุกข์เป็นความจริง

แล้วถ้าปฏิบัติไปแล้ว ขันธ์  ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์  ลองเจอมันหน่อยสิ ขันธ์  ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์  ขันธ์  ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์  ดูซิมันเป็นอย่างไร ถ้ามันเป็นอย่างนี้ปั๊บนะ จะไม่มาถามเลย เวลามีความสุข แหมอยู่คนเดียว เวลาทุกข์น่ะวิ่งหาพวกเลย ฉะนั้น เวลาปฏิบัติไป นี่พูดถึงให้เอาความจริงขึ้นไปนะ จบ

ถาม : เรื่อง “กราบเรียนถามเรื่องกระดูกค่ะ

สามีของลูกเสียชีวิตไปแล้ว ลูกจะเอากระดูกของเขาไปทำจี้ห้อยติดตัวจะได้หรือไม่คะ แต่มีคนเตือนว่าไม่ดี เพราะจะทำให้เขาห่วงอยู่ ไม่ไปไหน จริงหรือไม่คะ กราบขอเมตตาหลวงพ่ออธิบายความถูกต้องให้ฟังด้วยค่ะ

ถ้าข้อ ไม่ดี จะเอารูปไปทำได้หรือเปล่าคะ แต่ใจอยากทำด้วยกระดูกเพราะเหมือนว่าเขาอยู่กับเราตลอดไป

ตอบ : เราว่าทำได้ กระดูกก็คือกระดูก เวลาจิตออกจากร่างไปแล้วก็จบแล้วฉะนั้น สิ่งที่กระดูก กระดูกเอาไปทำเป็นจี้ห้อยคอได้เลย ถ้าไม่ทำจี้ห้อยคอ เราก็ไปลอยอังคารไป

ถ้าอย่างนั้นแสดงว่าใครลอยอังคารกระดูกไปลอยทะเล เขาจะห่วงทะเล เขาคงไม่ไปไหนน่ะ เขาจะว่ายอยู่กลางทะเลนั่นน่ะ เพราะเอากระดูกไปลอยกลางทะเลหมดไง ฉะนั้น พวกนี้ไปเกิดเป็นปลาหมดน่ะ ไปเฝ้ากระดูกที่เป็นปลา ไปอยู่ในทะเลนะ...ไม่ จิตออกจากร่างแล้วมันก็จบไง

ฉะนั้น ถ้าจะเอากระดูกมาทำเป็นจี้ ได้

มีคนเขาเตือนว่าไม่ดี เพราะจะทำให้เขาห่วงอยู่

เขาห่วงอยู่แล้ว จะเอาจี้มาทำหรือไม่มาทำ เรื่องสายเวรสายกรรมมันมีของมันธรรมชาติของมัน ถ้ามีของมันธรรมชาติของมัน เราทำคุณงามความดีต่อกันเราเอาจี้มาห้อยคอ เราทำเพื่อห่วงเขา ทำเพื่อเป็นความสัมพันธ์ต่อกันใช่ไหม มันจะมีความผิดไปไหน

เขาบอกว่า เขาเป็นห่วงอยู่ เขาจะมาดูแลอยู่

เอ็งทำความดีเถอะ ไอ้คนที่เตือนน่ะ ไอ้คนที่เตือนเขาเป็นห่วงอยู่น่ะ เอ็งดูแลพ่อแม่เอ็งให้ดีเถอะ พ่อแม่ในบ้านมึง ญาติในครอบครัวเอ็งดูแลให้ดีนะ อย่าไปเตือนคนอื่น เตือนตัวเอง ตัวเองดูแลให้ดี

ไอ้ความเป็นห่วงเป็นเรื่องความเป็นห่วง แต่นี่พูดถึงว่า นี่มันเป็นความผูกพันของเราไง ถ้าเป็นความผูกพันของเรา เราจะเอากระดูกมาทำเป็นจี้ได้ไหม ได้

มีคนเขามาเตือน ก็เตือนเขากลับ เตือนเขาบอกว่า เอ็งกลับไปดูบ้านเอ็งก่อนนะ บ้านเอ็งดูแลให้ดีก่อนนะ ที่บ้านน่ะ ที่บ้านดูแลดีหรือยัง ถ้าที่บ้านดูแลดีแล้วค่อยมาเตือนเรา นี่พูดถึงข้อที่ .

ถ้าข้อที่ ไม่ดี เราจะเอารูปไปทำได้หรือไม่คะ แต่ใจอยากได้กระดูกไปทำค่ะ

รูปก็ทำได้ รูปก็ทำได้ กระดูกก็ทำได้ สิ่งที่ทำได้เพราะเราระลึกถึงไง บางคนเขาไม่เอา บางคนแบบว่าเขาก็จะเอาไปไว้ พอเผาแล้วเขาจะเอากระดูกไปไว้ที่วัดไว้ที่ไหน แต่เราเอาไว้ในโกศ บูชาไว้ในบ้าน ถึงเวลาแล้วก็ทำบุญกุศลกัน แต่นี่เราเอา

เพราะว่าในเรื่องทางทหาร เขาเอาชายผ้าถุงของแม่ไปพันไว้บนศีรษะหรือห้อยคอเวลาออกสงคราม เวลาบางคนเขาก็เอาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใช่ไหม เอารูป เอาเหรียญ เอาสิ่งเป็นเครื่องป้องกันตน แต่คนที่เขามีใจที่ฝักใฝ่ ใจที่เขาระลึกถึงพ่อถึงแม่เขา เขาเอาชายผ้าถุง เอาชายผ้าถุงของแม่เจียดพันหัวเลย ไม่ก็ทำล็อกเกตแขวนไว้ ออกรบกลับมา ชีวิตรอดกลับมาทั้งนั้นน่ะ

นี่ของเรา เราว่าสามี สามีเสียชีวิตไปแล้ว เขาจะเอานั่นมาทำ...ได้

ไอ้คนเตือน โลกธรรม  คนเตือนเยอะแยะไปหมด แล้วเวลาสิ่งที่เป็นจริงก็ไม่เป็นประโยชน์ ฉะนั้น เขาเห็นว่าทำแล้วทำไม่ได้ แต่นี่อย่างว่าแหละ เพื่อนกันเนาะ เพื่อนกันก็คุยกันเป็นเรื่องธรรมดา นี่เขาว่าเป็นเพื่อนกัน

แต่ถ้าเป็นสัจจะความจริง มันจบไปแล้ว เวลาคนตายก็ตายไปแล้ว เวลาคนตาย ดูสิ หาทรัพย์สมบัติไว้มหาศาลเลย เวลาตายไปแล้ว ทรัพย์สมบัตินั้นเป็นมรดกตกทอดให้คนอื่นเขาไปหมด แล้วเวลาเดี๋ยวนี้ทางกฎหมาย ถ้าเป็นหนี้เป็นสิน ผู้ที่รับมรดกต้องไปใช้หนี้ใช้สินแทนด้วย นี่พูดถึงว่ากฎหมายเขียนให้มีผลบังคับใช้

นี่เหมือนกัน เวรกรรมมันก็มีผลของมัน แต่นี่พูดถึงมันเป็นกรรมดีทั้งนั้นน่ะความระลึกถึงกันน่ะ เขาจะมาห่วงเรา ห่วงสิ่งใด ห่วงอย่างไรมันก็มาไม่ได้หรอก

สมัยพุทธกาลนะ กษัตริย์เขาว่านรกสวรรค์มีหรือเปล่า เอานักโทษมาฆ่านักโทษประหารนะ เอ็งตายไปแล้วเอ็งมาบอกกูด้วยนะว่านรกเป็นอย่างไร เวลาไปสวรรค์นะ เอ็งไปแล้วเป็นอย่างไร ไม่เห็นมีใครกลับมาสักคนหนึ่ง เขาก็เลยไม่เชื่อเรื่องนรกสวรรค์

ทีนี้ก็มีครูบาอาจารย์ท่านไปแก้ แก้ว่า ถ้าคนเขาไปสวรรค์แล้ว มันไปบนวิมานมหาศาลเลย แล้วโลกนี้เหมือนหลุมขี้ เขาจะลงมาไหม ไม่ เวลาเขาตกนรกอเวจีไป มันลงไปแล้ว เขามีกฎกติกาที่มันขึ้นมาไม่ได้ เขามาไม่ได้หรอก แต่มันมีหรือไม่มี อธิบายจนกษัตริย์นั้นเชื่อ แล้วให้เขาประกาศว่าเขาเชื่อเรื่องนรกสวรรค์เขาบอกไม่ยอมประกาศ นี่เหมือนกัน นี่อยู่ในพระไตรปิฎก ฉะนั้น ความเชื่อของเขาเป็นความเชื่อของเขา ความจริงเป็นความจริง

ฉะนั้น เรามีความผูกพันกับสามีของเรา เรามีความผูกพันแต่สิ่งที่ดี เราทำได้เราทำได้แล้วก็จบเลย

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าโลกธรรม  สรรเสริญนินทากาเล สิ่งที่เขาไม่มีใครเข้าใจ แล้วก็พูดกันไปเรื่อย แต่ถ้าเราทำ มันเป็นเรื่องประเพณีวัฒนธรรม เรื่องถือขลังๆ ไอ้นู่นก็ไม่ได้ ไอ้นี่ก็ไม่ได้ ไอ้นั่นเป็นเรื่องของเขา แต่กรรมฐาน ครูบาอาจารย์เรานะ ให้เชื่อเรื่องเวรเรื่องกรรม ให้เชื่อเรื่องการกระทำ ให้เชื่อคุณงามความดี ไม่ให้เชื่อเรื่องสิ่งนี้เลย เราทำคุณงามความดีถึงกัน เราทำคุณงามความดีถึงกัน อุทิศส่วนกุศลถึงกัน

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ของของเรา ถ้าของของเรา สิ่งที่เราเผาแล้ว เราทำแล้ว สิ่งอย่างอื่น เราก็ลอยอังคารไป เราก็เสียสละไปหมด แล้วเราจะเก็บไว้สักอันไม่ได้หรือ เราจะห้อยคอ มันไม่มีโทษหรอก มันเป็นความดีเสียอีกด้วย

นี่พูดถึงว่า ได้หรือไม่ได้

ได้

แต่นี้พูดมากเกินไปเดี๋ยวก็...นี่พยายามตั้งสติไว้นะ พยายามจะไม่ออกนอกทางไง ออกนอกทาง เดี๋ยวไปทิ่มคนนู้นทิ่มคนนี้แล้วมันยุ่ง มันจะไปยุ่งของเขาฉะนั้น วันนี้ตอบแค่นี้เนาะ จบ เอวัง