เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒ พ.ค. ๒๕๕๙

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๕๙
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

อ้าว! ฟังธรรมะเนาะ เวลาฟังธรรมะนะ ธรรมะคือสัจจะ คือสัจจะความจริง หัวใจ หัวใจมันต้องการความจริง ถ้าความจริงอันนั้นแล้วกิเลสมันไม่มีเหตุผลโต้แย้ง ถ้าเราสมมุติบัญญัติกิเลสมันโต้แย้งๆ ทั้งนั้นน่ะ แต่เวลาถ้าเราประพฤติปฏิบัติสัจจะความจริงเข้าไปถึงหัวใจแล้วกิเลสมันโต้แย้งไม่ได้ ถ้ากิเลสมันโต้แย้งไม่ได้ มันต้องยอมรับความจริงอันนั้น

เวลาเราพุทโธๆ พวกเราบอกว่าเวลาพุทโธขึ้นมามันไม่มีปัญญา ถ้าปัญญาก็ต้องใช้ปัญญาใคร่ครวญไป พุทโธนี้เป็นคำบริกรรมไง พุทโธๆ แต่เวลาพุทโธ พุทธานุสติ เป็นพุทธานุสติ ทุกคนเคารพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันโต้แย้งไม่ได้หรอก มันโต้แย้งไม่ได้ แต่มันใช้เล่ห์เหลี่ยมของมันให้เราเบื่อหน่าย ให้เราไม่อยากกระทำไง เราอยากกระทำสิ่งที่กิเลสมันพอใจไง อยากมั่งอยากมี อยากร่ำอยากรวยไง อยากมั่งอยากมี อยากร่ำอยากรวย อยากมั่งมีอยากร่ำรวยโดยที่ถ้ามันเป็นธรรมาภิบาล

ถ้ามันเป็นสัจจะความจริงนะ คนเราสร้างบุญกุศลมา สิ่งนั้นมันเป็นความจริงขึ้นมา เราทำสิ่งใดก็ประสบความสำเร็จทั้งนั้นน่ะ คนเราไม่ได้สร้างกุศลมา มันขาดตกบกพร่องของมันไป อันนั้นคือเป็นสัจจะความจริง สัจจะความจริงในเรื่องของเวรของกรรม แต่เวลาเราอยากร่ำอยากรวย กิเลสตัณหาความทะยานอยากเอามาหลอกทั้งนั้นน่ะ แต่ถ้าเราพุทโธๆ ใครร่ำใครรวยล่ะ มันไม่มีใครร่ำใครรวย มันเป็นสัจจะความจริง ถ้าสัจจะความจริง ถ้าจิตมันเสวยความจริงอันนั้น ถ้ามันสงบลงมาได้มันก็สงบของมัน ถ้าสงบเข้ามาแล้วมันจะเห็นคุณค่าของชีวิตนี้ไง

ชีวิตนี้มีคุณค่ามากนะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาในพระไตรปิฎก เวลาท่านไปห้ามญาติของท่าน ญาติข้างพ่อกับญาติข้างแม่เขาจะแย่งน้ำทำนากันไง เวลาท่านถาม ถามญาติทั้งสองข้างว่าน้ำกับชีวิตอันไหนมีค่ากว่ากันไง ท่านบอกว่าชีวิตนี้มีค่ากว่าน้ำ เพราะน้ำ เขาจะแย่งน้ำทำนากันไง ถ้าไม่มีอาหาร ชีวิตนี้ก็อยู่ไม่ได้ แต่ชีวิตกับน้ำอันไหนมีค่ากว่ากันไง ท่านบอกว่าชีวิตนี้มีค่ากว่าน้ำ ถ้ามีสติปัญญา สติปัญญายับยั้งได้ก็แยกย้ายกลับกันไป ครั้งที่ ๒ ยกทัพกันมาอีกแล้ว แย่งน้ำทำนากันเพราะมันไม่มี กษัตริย์เป็นฝ่ายปกครอง ลูกบ้านเดือดร้อน ทำอย่างไรล่ะ ยกทัพมาๆ พระพุทธเจ้าก็มาห้ามเป็นครั้งที่ ๒ พอห้ามครั้งที่ ๒ ก็ยังแยกทัพกลับไป พระพุทธเจ้าห้ามญาติ ปรางห้ามญาติๆ ห้ามญาติเพราะอะไร เพราะเวลามันบีบคั้นขึ้นมา ด้วยสติปัญญา ด้วยความยับยั้ง สภาวะแวดล้อมไง เป็นผู้นำๆ เห็นประชาชนเขาเดือดร้อน มันทุกข์มันยากไปหมด มันก็อยากจะปลดทุกข์อันนั้นไง ถ้าปลดทุกข์อันนั้นก็จะเอาน้ำมาทำนาๆ เพื่อมีอาหารเพื่อยังชีพมันต่อไปไง พอครั้งที่ ๓ นะ ท่านบอกมันเป็นเรื่องของกรรม

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปห้าม ๒ ครั้ง ครั้งที่ ๓ ญาติข้างพ่อและญาติข้างแม่ยกทัพเข้าประหัตประหารกัน รบราฆ่าฟันตายกันเป็นเบือเลย ความคิด ความต้องการ นี่ไง เวลาเราทุกข์เรายาก เราทุกข์ยากทั้งนั้นน่ะ เราทุกข์เรายาก เรามีสติปัญญามากน้อยแค่ไหน ถ้ามากน้อยแค่ไหน ถ้ามีสติปัญญายับยั้งได้ ยับยั้งได้ ชีวิตนี้มีค่าๆ ชีวิตนี้มีค่าเพราะอะไร เพราะเราดำรงชีวิตอยู่ หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ มันยังมีบุญกุศลอยู่นะ ถ้ามีบุญกุศลอยู่ เวลาถ้ามันถึงที่หมดอายุขัยตายไป ยมบาลถามว่าเคยเห็นธรรมะไหม

ไม่รู้จักธรรมะเป็นอย่างไร

เคยเห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตายไหม

เห็น

นั่นแหละสัจธรรม ถ้ามันเห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย แล้วมีสัจจะ มีความคิดขึ้นมา นั่นแหละธรรมมันมาเตือนแล้ว สัจธรรมมันมาเตือนเราๆ เตือนเรา เราหาอยู่หากิน หาอยู่หากินเพื่อดำรงชีพ ในเมื่อเกิดในวัฏฏะ อาหาร ๔ อาหาร ๔ ในวัฏฏะ คนเกิดภพชาติใดก็แล้วแต่ต้องมีอาหาร ต้องมีสิ่งที่ยังชีพ ยังชีพขึ้นมาเพื่ออะไร ยังชีพไว้ทำอะไรล่ะ คนที่เขาเป็นผู้บริหารจัดการยังชีพไว้เพื่อปกครอง เราเป็นกรรมกรคนเข็ญใจ เราก็ยังชีพไว้เพื่อหาอยู่หากินไง ถ้าคนติดคุกติดตาราง เขาก็ยังรอวันพ้นจากคุกไง นี่ไง เขายังชีพไว้ๆ ชีวิตมันมีค่าไง มีค่าเพราะมีความหวังไง ความหวังว่าเราจะพ้นจากทุกข์ ความหวังจะทำคุณงามความดีไง ถึงว่ามีค่าๆ ไง

ดูสิ ดูทางโลกเขามีความสุขความรื่นเริงกัน มีค่าๆ ทำไมไม่แสวงหาความสุขอย่างนั้น ทำไมเสียสละความสุขอย่างนั้นมาบวชเป็นพระ บวชเป็นพระทุกข์ๆ ยากๆ อยากได้อะไรก็ไม่ได้ตามความปรารถนา ไม่เคยได้อะไรตามความปรารถนาเลย อยากได้ร้อนก็ได้เย็น อยากได้เย็นก็ได้ร้อน อยากได้อะไร ไม่ได้อะไรเลย เพราะเรายังขวนขวายอยู่ไง เราเห็นภัยในวัฏสงสารใช่ไหม เรามาบวชเป็นพระ บวชเป็นพระบวชมาทำไม บวชมาเพื่อประพฤติปฏิบัติ ถ้าคนมีสติปัญญา บวชมาเพื่อจะเผชิญกับความจริง แล้วความจริงมันเกิดขึ้นหรือยังล่ะ ความจริงนี่ความจริงของโลกไง ความจริงของโลก สมมุติบัญญัติไง มันเป็นอนิจจัง สิ่งใดเป็นอนิจจัง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา มันเป็นอนิจจังเพราะอะไร มันเป็นอนิจจังเพราะมันเปลี่ยนแปลงไง ทุกข์มันคืออะไร ทุกข์มันทนไว้ไม่ได้ มันอยากได้ดิบได้ดีของมันไง แล้วเป็นอนัตตา อนัตตาไขว้คว้าสิ่งนี้ไว้ ไม่ได้สิ่งใดเลย

แต่ถ้าเราทำความสงบของใจเข้ามา พอใจสงบแล้วเห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง ถ้ามันพิจารณาของมัน ถ้ามันเป็นอนัตตาจริงๆ พระไตรลักษณ์ พระไตรลักษณ์มีคนรู้คนเห็นของมัน จิตนี้สงบระงับแล้วมันรู้มันเห็นของมัน ถ้ามันรู้มันเห็น สิ่งที่เข้าใจผิด อวิชชา สิ่งที่เข้าใจผิด ความพอใจของเราอยากได้ปรารถนาตามแรงปรารถนาของเรา ถ้ามันมีเหตุมีผลของมันตามความเป็นจริงขึ้นมา ด้วยบุญกุศล มันก็เป็นความจริงอย่างนั้น ถ้ามันมีบาปอกุศล มันมีแต่ความขาดตกบกพร่องขึ้นมา มันขาดตกบกพร่อง ฟังสิ คำว่า “ขาดตกบกพร่อง” มันจะสมบูรณ์ได้อย่างไร มันสมบูรณ์ไม่ได้ มันเป็นความจริงขึ้นมาไม่ได้ ถ้ามันขาดตกบกพร่องขึ้นมา นั่นล่ะเวรกรรม

ถ้าเวรกรรม เรื่องเวรเรื่องกรรม เรื่องการกระทำ กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กันไง พันธุกรรมของจิตแต่ละคนไม่เท่ากันไง จริตนิสัยของคนไม่เหมือนกันไง ความรักความชอบของคนไม่เหมือนกันไง ความทิฏฐิมานะของคนก็ไม่เหมือนกันไง สิ่งนี้มันทางสองส่วนที่มันพยายามชักจิตใจให้มันหลงใหลไปไง ถ้าเราพุทโธๆ ของเรา ถ้าจิตมันสงบเข้ามา ทางของเราๆ ไง ถ้าทางของเรา ทางของเราเพราะอะไร เพราะเราเป็นสัจจะความจริงไง สัจจะความจริงเพราะจิตเข้าไปประสบ จิตเข้าไปเห็นไง มันเป็นประสบการณ์ของจิตไง เพราะจิตมีคำบริกรรมไง จิตมันมีปัญญาอบรมสมาธิไง ถ้าปัญญาอบรมสมาธิ มันมีการกระทำของมันแล้วมันสงบเข้ามา น้ำนิ่งแต่ไหล มันมีความสุขมีความสงบของมัน มันมีความสุขความสงบของมัน

นี่ไง สิ่งที่ว่าโลกนี้เป็นอนิจจัง สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา อนัตตาก็ปากเปียกปากแฉะ เป็นวิชาการไป ไม่มีใครรู้ใครเห็นตามความเป็นจริง จิตสงบแล้วๆ มันเห็นไตรลักษณ์ เห็นอนัตตาตามความเป็นจริงของมัน มันถึงเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก มันถึงเป็นสัจจะความจริง นี่ไง สิ่งที่เป็นจริงๆ ขึ้นมา นี่ไง ธรรมะ หัวใจต้องการความจริง ต้องการสัจจะ แล้วสัจจะเป็นสัจจะที่เกิดขึ้นจากการกระทำของจิตดวงนั้นเสียเอง ไม่ใช่สัจจะจากกระแส สัจจะจากความเชื่อ ความเชื่อนี้เป็นการศึกษา ศึกษาทางโลก โลกเราก็ต้องศึกษา พระบวชมา บวชมาก็จะประพฤติปฏิบัติ พอบวชมาแล้ว เริ่มต้นเราก็ต้องสะสมของเรา อำนาจวาสนาบารมีของคนเป็นพระผู้น้อย เป็นพระผู้น้อย ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นพระผู้ใหญ่มา ท่านเป็นพระผู้น้อยมาทั้งนั้นน่ะ เป็นพระผู้น้อยมามันต้องถือนิสัยครูบาอาจารย์มา มันได้ฝึก ได้อบรม ได้บ่มเพาะมา ความได้อบรมได้บ่มเพาะมา ความอบรมบ่มเพาะนั้นน่ะ

ดูสิ เวลาหลวงปู่มั่นท่านบอกหลวงตา “มหา มหาที่มีพรรษามากไม่ต้องเข้ามานะ ให้พระเล็กเณรน้อยมันเข้ามา มันจะได้มีข้อวัตรติดหัวใจมันไปไง” ข้อวัตรติดหัวใจมันไป ดูสิ เราอุปัฏฐากครูบาอาจารย์ของเรา สิ่งที่ครูบาอาจารย์ของเราท่านประพฤติปฏิบัติมา ท่านสมความปรารถนาในใจของท่านแล้ว พอสมความปรารถนาในใจของท่านแล้ว ท่านไม่ปรารถนาสิ่งใดๆ เลย มีแต่คนเคารพบูชา เอาสิ่งที่มาถวายมาท่าน ท่านไม่ต้องการสิ่งใดเลย แต่เราเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติใหม่ เวลาผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก เราอยากได้ แต่ไม่มีใครจะให้ แต่เวลาเขาให้ เขาให้แต่ครูบาอาจารย์ เราได้อุปัฏฐากครูบาอาจารย์มา เราฝึกหัดอันนั้นมา ได้ข้อวัตรปฏิบัติอันนั้นมา ติดหัวใจเรามา ติดหัวใจมาเพื่อประพฤติปฏิบัติ

บวชมาๆ ดูสิ ทางฆราวาสเขาอาบเหงื่อต่างน้ำ หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดินเพื่อหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เลี้ยงปากเลี้ยงท้องขึ้นมาแล้ว หัวใจผู้รับผิดชอบครอบครัว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกการมีครอบครัวเหมือนวิดน้ำทะเลทั้งทะเลเลย เอาปลาตัวเล็กๆ ตัวหนึ่ง ความสุขในการครองเรือนไง วิดทะเลทั้งทะเลเลยนะ อาบเหงื่อต่างน้ำทำงาน อู๋ย! เต็มที่เลย เพื่อความสงบระงับ เพื่อความสุขในครอบครัว ได้ปลาเล็กๆ มาตัวหนึ่ง แต่วิดน้ำทั้งทะเลเลย นี่เป็นคำพูดขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราไม่ได้พูด ไปเปิดดูในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าเวลาพูดถึงการครองเรือนๆ มันทุกข์มันยากๆ ทุกข์ยากมหาศาลเลย

โลกนี้พร่องอยู่เป็นนิจ ไม่มีสิ่งใดเต็มเลย โลกนี้พร่องอยู่เป็นนิจ แล้วเราก็แสวงหาเพื่อจะปรนเปรอมันให้มันเต็มให้ได้ๆ แต่เวลาเราเห็นภัยในวัฏสงสาร เราสละทิ้งมันมา เวลามาบวชเป็นพระ พอบวชเป็นพระก็มีธรรมวินัยแล้ว จะทำไร่ไถนาไม่ได้ เพราะพระจะดำรงชีวิตแบบคฤหัสถ์ไม่ได้ พระดำรงชีพกับทางโลกต้องแตกต่างกัน ความแตกต่างกันคือโลกเขาดำรงชีพอย่างไร พระห้ามดำรงชีพอย่างนั้น ฉะนั้น เวลาโลกเขาทำไร่ทำนากัน พระทำไม่ได้ เพราะพระห้ามดำรงชีพแบบฆราวาส

ทีนี้ดำรงชีพ ดำรงชีพอย่างไร ในเมื่อเราดำรงชีพอย่างเขาไม่ได้ แล้วเราจะมีชีพอย่างไร เราจะมีชีวิตได้อย่างไร ชีวิตนี้จะรักษาไว้อย่างไรล่ะ

ชีวิตนี้ก็เลี้ยงชีพด้วยปลีแข้งไง เช้าก็ออกบิณฑบาตไป ถ้ามีศีลมีธรรมขึ้นมา พระที่ประพฤติปฏิบัติชอบ บิณฑบาตไปก็มีคนใส่บาตรให้ฉัน ถ้าพระปฏิบัติเราขาดตกบกพร่องขึ้นไป ใครมันจะใส่บาตรให้ฉันล่ะ นี่ไง ธรรมวินัย วินัย ศีลก็มาตรวจสอบพระ ถ้าพระตรวจสอบ ถ้าพระมีศีลมีธรรม ไปบิณฑบาตเลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง เลี้ยงชีพไว้ทำไม ก็เลี้ยงชีพไว้เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาไง เลี้ยงชีพไว้ค้นหาหัวใจของตนไง ถ้าค้นหาหัวใจของตนนะ ถ้าจิตมันสงบเข้ามา ความสงบ

ดูสิ เราเกิดมาคนนู้นคนนี้ รักคนนี้ เกลียดคนนี้ แล้วก็ว่าตัวเองปรารถนาดีกับตนเองที่สุด แต่ไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้จักเห็นหัวใจของตน ถ้าจิตสงบเข้ามา โอ้โฮ! โอ้โฮ! จิตเป็นอย่างนี้เอง ปฏิสนธิจิต ฐีติจิต

มนุษย์ถ้ามีจิต ถ้ายังมีหัวใจอยู่ มนุษย์ยังเป็นสิ่งมีชีวิต ถ้าวิญญาณนี้ออกจากร่างไป มนุษย์เป็นสิ่งไม่มีชีวิต ชีวิตมีค่าขนาดไหน ถ้าจิตวิญญาณออกจากร่างไป ร่างกายนี้ไม่มีชีวิต แล้วเวลาเราทำหน้าที่การงานทำมาเลี้ยงร่างกายนี้ แต่การกระทำไป ถ้ายังมีพลังงานอยู่ มีพลังงานคือมีจิตอยู่ในร่างกายนี้ มีความอบอุ่น ธาตุไฟ มันยังเคลื่อนไหวของมันได้ ถ้าจิตนี้ออกจากร่างนี้ไปแล้ว ธาตุไฟออกจากร่างนี้ไป ร่างนี้เป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิต นี่เวลาสัจจะความจริงมันเป็นแบบนั้น แต่ในปัจจุบันนี้ถ้าเวลาคนตายไปแล้วยมบาลถามว่าเธอเห็นธรรมะไหมๆ เห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตายไง คนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย มันเป็นการเตือนใจเราตลอดเวลา ถ้ามันเตือนใจเราตลอดเวลา ในปัจจุบันนี้ถ้าเรามีสติปัญญา ทำไมเราไม่ทำล่ะ ถ้าเราทำของเรา เราฝึกหัดจิตของเรา

โลก โลกเขาอาบเหงื่อต่างน้ำ หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดินเพื่อหาอยู่เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง พระเรา สมบัติของพระ หลวงตาท่านสอนประจำ สมบัติของพระคือคุณธรรม สมบัติของพระคือศีลคือธรรม ถ้ามันมีคุณธรรมขึ้นมาในหัวใจ มันต้องฝึกตรงนี้ หน้าที่ของพระไง

เวลาบอกพระห้ามดำรงชีพแบบฆราวาส ฆราวาสเขาอาบเหงื่อต่างน้ำกัน เขาทำหน้าที่การงานของเขา เขาทำไร่ไถนาของเขา พระห้ามทำแบบนั้น แล้วพระดำรงชีพแบบใดล่ะ พระดำรงชีพอย่างไร

ดูสิ ฆราวาสเขา เขาอาบเหงื่อต่างน้ำ เขาทำหน้าที่การงานของเขา เขาได้ทรัพย์สมบัติของเขา เขาก็ส่งต่อในครอบครัวของเขา ในชาติตระกูลของเขา ในชาติตระกูลของเขามั่นคงของเขา เขามีทรัพย์สมบัติของเขาเป็นมรดกตกทอดให้แก่ลูกแก่หลานไป

พระ ตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ธรรมในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากราบธรรมๆ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเทศน์ธัมมจักฯ พระอัญญาโกณฑัญญะมีดวงตาเห็นธรรม เทศน์ต่อไปจนพระปัญจวัคคีย์เป็นพระโสดาบันทั้งหมด เทศน์อนัตตลักขณสูตรเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา ไปเทศน์ยสะ ไปเทศน์ชฎิล ๓ พี่น้องไง พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ นี่หน้าที่ของพระ ถ้าพระทำขึ้นมาอย่างนี้ นี่งานของพระ นี่สมบัติของพระ ถ้าสมบัติของพระ สมบัติของพระมันอยู่ในใจของพระ ถ้าพระปฏิบัติขึ้นมา สิ่งที่เราเลี้ยงชีพๆ เลี้ยงชีพเลี้ยงปากเหมือนกัน ดูสิ เวลาจิตนี้ออกจากร่างนี้ไป ร่างกายนี้ไม่มีชีวิต สิ่งไม่มีชีวิต ร่างกายนี้ ร่างกายนี้มันก็ท่อนฟืน นี่ก็เหมือนกัน ถ้าคุณธรรมๆ มันอยู่ในหัวใจนั้นไง

เวลาฆราวาสของเขา เขาทำบุญกุศลของเขาเพื่ออำนาจวาสนาของเขา เขาตัดแต่งพันธุกรรมจิตของเขา พันธุกรรมจิตของเขา ให้จิตของเขาคิดแต่ดีๆ เรามีลูกมีหลานขึ้นมาก็อยากให้ลูกหลานเราเป็นคนมีปัญญา คนคิดดี คิดดีก็พันธุกรรมของมัน พันธุกรรมของมัน มันตัดแต่งของมันไง มันตัดแต่งของมันด้วยศีล สมาธิ ปัญญาไง ถ้าจิตมันสงบแล้วใช้ปัญญาฝึกหัดใจของตัวเอง

ตัวเอง ดูสิ ถ้ามันเข้าไปเห็นใจของตน เห็นมรรคของตนแล้วมันจะรู้เลย มันจะเห็นเลย สิ่งที่มันทำให้เดือดร้อน ไม่มีใครทำให้เดือดร้อนเลย ตัวเองทำให้ตัวเองเดือดร้อนทั้งนั้นน่ะ ถ้าเห็นตัวเอง ตัวเองทำให้ตัวเองเดือดร้อน แล้วมีสติมีปัญญาขึ้นมามันก็เริ่มคัดแยก มันมีภาวนามยปัญญา มันมีธรรมจักรขึ้นมา ถ้ามีธรรมจักรขึ้นมา มันสร้างคุณธรรมขึ้นมาในใจ แล้วสร้างคุณธรรมในใจขึ้นมา สิ่งที่มันจะเข้ามาเดือดร้อน ที่มันจะกว้านเอาฟืนเอาไฟเข้ามาเผาตนเอง มันจะเข้ามาได้อย่างไรล่ะ

มนุษย์เกิดมา มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เกิดมาก็มีสังคม ในเมื่อมีสังคม สังคมก็ต้องพึ่งพาอาศัยกัน การพึ่งพาอาศัยกันทางโลก เวลาบวชเป็นพระขึ้นมา เป็นสังฆะ เป็นสงฆ์ สงฆ์ก็พึ่งพาอาศัยกัน ขอนิสัยครูบาอาจารย์ นิสัยครูบาอาจารย์ท่านชักท่านนำขึ้นมาเพื่อดึงหัวใจให้สูงขึ้นมา เราบวชมา เราบวชมาเราก็ประพฤติปฏิบัติของเรา ถ้าหัวใจมันพัฒนาขึ้นไปๆ มันพัฒนาของมันขึ้นไป

นี่ไง บริษัท ๔ ไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฝากศาสนาไว้กับบริษัท ๔ นะ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ภิกษุ ภิกษุณี เราเป็นอุบาสก อุบาสิกา พระพุทธเจ้าฝากไว้ ได้มรดกไว้ ได้พินัยกรรมไว้ แล้วหาสมบัติตนเองไม่เจอ สมบัติตัวเองก็พุทธะไง ความรู้สึกอันนั้นไง หัวใจนั้นไง หัวใจของเรา พุทโธ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานน่ะ ถ้าผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน มันเบิกบานได้ถ้ามีคุณธรรมมันก็ชื่นใจ มันมีคุณธรรมขึ้นมา มันมีสติปัญญาขึ้นมา เราอบอุ่น เราเห็นคุณค่าของชีวิต แต่เวลากิเลสมันเบียดเบียน มารมันเบียดเบียน ชีวิตมีแต่ความปวดร้าว ชีวิตมีแต่น้ำตา ชีวิตมีแต่ความทุกข์ นั่นน่ะ เวลากิเลสมันเบียดเบียน

แล้วเรามีสติปัญญา เราแยกแยะของเราขึ้นมา เพราะเรามีชีวิตขึ้นมาแล้ว เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาสอนถึงสภาวะของสังคม สภาวะเราอยู่อาศัย ทางฆราวาสให้มีศีลมีทานกัน มีศีลมีทานคือจิตใจเป็นสาธารณะ จิตใจที่มีน้ำใจต่อกัน สังคมก็ร่มเย็นเป็นสุข ใครมีน้ำใจต่อกัน เขาจะมีบารมี คนจะไว้วางใจ

พระ พระบวชมาแล้วมีข้อวัตรปฏิบัติ เป็นสังฆะ สังฆะดูแลกัน เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเธอจะอุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เธอจงอุปัฏฐากภิกษุไข้เถิด ภิกษุไข้ แล้วถ้าอุปัฏฐากภิกษุไข้ ภิกษุไข้นั้นก็ต้องเป็นภิกษุที่อุปัฏฐากได้ง่าย อยู่ในข้อวัตร ไม่เรียกร้องจนเกินไป ไม่งอแง ไม่งอแง ไม่เอาแต่ใจ ถ้าเอาแต่ใจ ไม่ต้องไปดูแลมัน เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าให้เข้มแข็ง ให้เข้มแข็ง ดูสิ เด็กน้อยมันร้องไห้กัน ร้องไห้คือเด็กน้อย เด็กที่มันเอาแต่ใจของมัน มันยังเด็กน้อย

เราต้องอายุ ๒๐ ขึ้นไปแล้วถึงบวชเป็นพระได้ อายุ ๒๐ ไม่มีสติปัญญาใช่ไหม การเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาเป็นเรื่องธรรมดาใช่ไหม ร่างกายนี้ชราคร่ำคร่าเป็นธรรมดาไง ถ้ามันธรรมดาขึ้นไป เราก็รักษามันสิ เราก็ดูแลมันสิ เราจะพาเรือลำนี้เข้าฝั่งไง เราเกิดมาเรามีเรือมาคนละลำนะ เราได้ร่างกายมาคนละร่างกาย ร่างกายเหมือนเรือลำหนึ่ง เรือของใครมันชำรุดเสียหายก็ปะผุสิ ปะผุไม่ให้น้ำเข้า ปะผุ แล้วพยายามพาเรือของตนให้เข้าฝั่งให้ได้ ถ้ามันพาเข้าฝั่งได้ เรามีคุณธรรมในใจของเรา

ถ้ามีดวงตาเห็นธรรม เหมือนกับเราอยู่กลางทะเลแล้วเราว่ายเข้าฝั่ง ถ้าตีนของเราแตะพื้นเมื่อไหร่ แตะโคลน มันไม่ต้องว่ายแล้ว มันจะเดินขึ้นฝั่งได้แล้ว แต่ถ้าคนมันยังไม่ถึงฝั่งนะ มันผลของวัฏฏะ มันเป็นเหยื่อของพวกสัตว์น้ำ มันเป็นเหยื่อ นี่ผลของวัฏฏะๆ แต่ถ้าเราทำของเรา ประพฤติปฏิบัติของเราเป็นความจริงของเรา เราทำของเราขึ้นมาเพื่อประโยชน์กับเรา นี่ความจริง จิตใจมันต้องการความจริงอย่างนี้ ถ้ามันความจริง ฟังธรรมๆ ฟังธรรมเพื่อเหตุนี้

ฟังธรรมๆ ฟังธรรมจากครูบาอาจารย์นะ แต่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมามันโต้แย้งไม่ได้เลย แต่ถ้ายังฟังมา นี่เขาเล่าว่า เขาเล่าว่า มันยังแถได้ไง แต่ถ้ามันเป็นความจริงๆ นะ ความจริงมันต้องเป็นความจริงสัมมาทิฏฐิ ถ้าเป็นความจริงแบบมิจฉา ความจริงแบบเห็นผิด สมาธิหัวตอ สมาธิที่มันเป็นมิจฉา ไอ้นั่นก็พากันออกนอกลู่นอกทาง

แต่ในการประพฤติปฏิบัติมันต้องแยก มีถูกมีผิดเป็นธรรมดา คนเราทำมันก็มีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันก็ชักนำให้เราผิดพลาดไปอยู่แล้ว เราก็มีสติปัญญายับยั้งตรวจสอบๆ ยิ่งมีครูบาอาจารย์ด้วย ครูบาอาจารย์ท่านดูแลเราอยู่แล้ว

นี่ไง จากใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง ใจที่สูงกว่าท่านอยากจะชักนำใจที่ต่ำกว่าขึ้นมาให้เป็นศาสนทายาท ให้เป็นทายาทโดยธรรม ถ้ามันมีธรรม มันเป็นร่มโพธิ์ร่มไทร ถ้าร่มโพธิ์ร่มไทร นกกามันจะอาศัย มันเป็นประโยชน์ทั้งนั้น เป็นประโยชน์กับร่มโพธิ์ร่มไทรต้นนั้นเอง เป็นกับหัวใจดวงนั้นเอง พุทธะดวงนั้นมันสว่างโพลงในใจอันนั้นเอง แล้วมันจะเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรกับสังคม นี่ไง แล้วครูบาอาจารย์ไม่มีน้ำใจอย่างนี้หรือ

แต่กิเลสในใจของลูกศิษย์ลูกหา กิเลสของคนทั่วไปมันดีดดิ้น ก็กิเลสมันแก้ยาก แล้วยิ่งคนอื่นชี้มันยิ่งไม่ยอมรับ แต่ถ้ามันรู้มันเห็นเอง มันถึงจะยอมรับ ถ้ายอมรับอันนั้นแล้วแก้ไขอันนั้น คนถ้าสำนึกผิด นี่ไง เวลาอริยประเพณี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชื่นชมมากนะ คนที่สำนึกผิดแล้วยอมรับว่าผิด เราปลงอาบัติกันไง สาธุ สุฏฺฐุ ข้าพเจ้าผิดพลาดแล้ว ข้าพเจ้าจะไม่ทำอีก ทำอีกแล้ว ข้าพเจ้าจะไม่ทำ ข้าพเจ้าจะไม่ทำ ทำอีกแล้ว นี่ไง มันทนสิ่งเร้าของใจไม่ไหวไง กิเลสนี้ร้ายนักๆ เราแก้ไขของเรา ใจนี้มันต้องการความจริง แล้วมันโต้แย้งไม่ได้ มันจะยอมจำนนกับธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เอวัง