เทศน์บนศาลา

สติ-มหาสติ

๑๔ มี.ค. ๒๕๔๙

 

สติ-มหาสติ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๔๙
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรม กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างกัน กรรมเป็นพาหะนะ จิตเราอาศัยกรรม กรรมสร้างคุณงามความดีถึงได้เกิดเป็นมนุษย์ การจะเกิดเป็นมนุษย์ต้องมีบุญ ไม่มีบุญ...บุญ บุญนะ บุญ กรรมของการเกิดเป็นมนุษย์ เห็นไหม ต้องเป็นผู้มีศีล ๕ มีศีล ๕ มีธรรม ๕ ถึงได้เกิดเป็นมนุษย์ ถ้าไม่เกิดเป็นมนุษย์มันก็พัดไปตามแต่กรรม นี่กรรมเป็นพาหะนะ

กรรมคืออะไร? กรรมคือการกระทำนะ

เวลาผลการเกิดนี่เกิดเพราะกรรม กรรมเป็นพาหะ จิตนี้มีอยู่ แล้วพาหะนี้พาดำเนินไปเหมือนเชื้อโรค เชื้อโรคเข้าไปในร่างกายของใคร หรือเรา ร่างกายของเรานี้เกิดมา ชราคร่ำคร่าเป็นโรค เป็นโรคเจ็บ เป็นโรคเป็นภัย สิ่งนี้ชราคร่ำคร่าเพราะมันมีเชื้อมีไขของมัน สิ่งที่มีอยู่ไง ร่างกายเป็นที่เป็นเรือนรังของโรค

แล้วเวลายังหนุ่มน้อย เห็นไหม ร่างกายจะแข็งแรง เด็กๆ กินอะไรเข้าไปมันก็เจริญอาหาร ร่างกายจะเติบโต พอเราอายุมากเข้า อาหารกินแต่พอประทังชีวิตเท่านั้นแหละ เพราะสิ่งอะไรเรากินเข้าไปมากเกินไปนี่ไปเพิ่มไง ไปสะสมในร่างกายให้มันเป็นความทุกข์ความยากนะ มันยิ่งกินเพื่อความสนุกเพลิดเพลินแล้ว แต่ถ้าเป็นเด็กเป็นเล็กกินเพื่อความสนุกเพลิดเพลินนะ เพราะร่างกายต้องการ กำลังเจริญเติบโต เพราะมันมี มันเป็นที่เรือนรังของโลกมันถึงมีอยู่

กรรมก็เหมือนกัน กรรมมันสร้างมาตั้งแต่ภพแต่ชาติไหน ซับซ้อนมาในจิตไง ในเมื่อหัวใจมันมีกรรมเป็นพาหะดำเนินไป สิ่งที่พาหะดำเนินไป ดำเนินไปเพราะอะไร เพราะการกระทำ กรรมก็คือการกระทำ เราทำของเราไว้แล้ว ทำคุณงามความดีไว้แล้ว ถึงได้มาเกิดเป็นมนุษย์ เป็นมนุษย์นะ เราเป็นบริษัท ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เป็นบริษัท บริษัทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฝากศาสนาไว้กับบริษัท ๔

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารื้อค้นนะ เป็นพระโพธิสัตว์ ต้องพยายามสร้างสมบุญญาธิการ สร้างมาก พระโพธิสัตว์นะ ยังมีที่สุด ที่สุดของพระโพธิสัตว์คือสำเร็จเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สาวกไม่มีต้นไม่มีปลาย จะหมุนไปอย่างนี้ตลอดไป แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยังมีที่สิ้นสุด เพราะพระพุทธเจ้าพยากรณ์แล้วมันต้องไปถึงที่สุดว่าตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

สาวกล่ะ สาวก เห็นไหม นี่บารมีสาวกญาณ เราถ้าเกิดพบพระพุทธศาสนา เราก็จะได้สิ่งนี้เป็นเครื่องชี้นำ เป็นเครื่องดำเนินนะ ถ้ามีสติสัมปชัญญะ มีสตินะ สติคือการระลึกรู้อยู่ สัมปชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อมไง ถ้ามีสติอยู่ เรามีปัญญาด้วย เราพบพระพุทธศาสนา ธรรมและวินัยจะเป็นประโยชน์กับเรามหาศาลเลย

แต่ถ้าเราไม่มีสตินะ สักแต่ว่า เห็นไหม ทำไปสักแต่ว่า

ถึงมีสติแต่ถ้าไม่มีศรัทธา มันก็ไม่เชื่ออีก ไม่เชื่อ

มีสตินะ สติ ดูสิ ในลัทธิต่างๆ ในศาสนาต่างๆ เขาก็มีสติของเขา เขาทำของเขา แต่เพราะลัทธิคือการเชื่อเฉยๆ มันไม่ใช่ธรรมวินัยไง มันไม่เป็นสัจจะความจริง เห็นไหม การประพฤติปฏิบัติ การทำกรรมอย่างนั้นมันถึงทำให้กรรมสะสมไปที่ใจ มันก็เป็นเชื้อไขต่อไป เป็นอามิส

“ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” จะรู้ ไม่รู้ มันเป็นสัจจะความจริงของเขา สัจจะความจริงของโลกๆ ไง ทำดีก็คือความดี ทำชั่วก็คือความชั่ว

แต่ถ้าเป็นธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าล่ะ ทำดีมันย่อยสลายมาเป็นนะ ดูสิ ดูอย่างขันธ์ ๕ “สัญญา” สัญญา เสียงกระทบหู โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ กลิ่นกระทบจมูก วิญญาณมันเกิดจากอะไรล่ะ กลิ่นหอม กลิ่นไม่หอมมันก็เกิดจากความเคยชินคือสัญญาใช่ไหม สัญญารับรู้สิ่งนี้ ถ้าเวลาเป็นเรื่องของโลกมันก็เป็นเรื่องของขันธ์ ๕ ไง

แต่เวลาเป็น อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ สิ่งนั้นมันย่อยสลายจากโลกปัจจุบันนี้ สิ่งที่โลกปัจจุบันนี้ความดี ความสะสมมาเป็นคุณงามความดี สะสมมาเป็นบาปอกุศลมันก็สะสมลงที่ใจ มันก็ย่อยสลายลงไปจิตปฏิสนธิจิต อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ อันนั้นอีกอันหนึ่ง นี่เวลาสร้างคุณงามความดี ทำกรรมไว้ก็สะสมลงที่นี่ กรรมดีก็เกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม กรรมชั่ว เห็นไหม เกิดในนรกอเวจีแล้วแต่กรรมจะพาไป ถ้ามีเชื้อไขอยู่ กรรมจะพาสิ่งนี้ไป กรรมเป็นพาหะให้จิตนี้เกิดตาย เกิดตาย

ในปัจจุบันนี้เกิดมาเป็นมนุษย์ แล้วพบพระพุทธศาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฝากธรรมวินัยไว้กับพุทธบริษัท ๔ เพราะพระองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้แจ้งโลกนอกโลกใน โลกนอกนะ โลกนอกก็เป็นเรื่องของโลก อจินไตย ๔ โลกไม่มีทางที่สิ้นสุดหรอก มันจะเป็นอจินไตยคือมันมีของมันไปตลอดนี้ มีอย่างนี้ตลอดไป เวียนไปเวียนมาอยู่อย่างนี้แล้วแต่มันเป็นอนิจจัง ซ้อนซับไปอีกหนหนึ่ง แล้วสิ่งมีชีวิตไง มันเป็นอำนาจวาสนานะ กรรมดี กรรมชั่วไง ไปเกิดในยุคในคราวที่ศาสนาเจริญรุ่งเรือง

ดูสิ เราเป็นมนุษย์มาแต่ชาติหนึ่ง บางคราวเรื่องศีลธรรมจริยธรรมมันอ่อนแอลง สิ่งที่สังคมเขามีอัตคัดขัดสนของเขา เขาก็ทำให้ศีลธรรมจริยธรรมของเขาอ่อนแอไป นี่ความเป็นไปของสังคมมันก็อ่อนแอ ถ้าศีลธรรมมันเข้มขึ้น มันเข้มข้นขึ้นมา สิ่งนี้ ศีลธรรมจริยธรรมมันมีอย่างนั้น แล้วเราไปเกิดยุคใดคราวใด แม้แต่ชีวิตเราของเรา ชีวิตเราก็เห็นความแปรปรวนตลอดเวลา แล้วเวลาจิตมันเกิดตาย เกิดตายไปในวัฏฏะ มันก็จะแปรปรวนๆ ไปอย่างนี้ตลอดไป สิ่งนี้มันแปรปรวนอย่างนี้ตลอดไปมันก็อยู่ที่อำนาจวาสนาใช่ไหม อยู่ที่กรรมใช่ไหม เกิดในสภาวะใดคราวใดคราวหนึ่ง

ศาสนาเจริญรุ่งเรือง เราก็มองกันนะ เวลาเราไปวัดไปวา วัดไหนถ้ามีสิ่งปลูกสร้างเป็นสิ่งที่ว่า เราเข้าไปแล้วมันเป็นสิ่งที่ตื่นตาตื่นใจแล้วเราบอกว่าศาสนาเจริญ...โลกมองกันแค่นั้นไง แต่ในการประพฤติปฏิบัตินะ ในการประพฤติปฏิบัติ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฝากธรรมและวินัยไว้บริษัท ๔ เห็นไหม เตือนเอาไว้เลยนะ ให้ปฏิบัติบูชา เพราะการปฏิบัติบูชามันเข้าถึงตัวธรรมไง

ตัวธรรม คือตัวสัจธรรม คำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อน มีรัตนะสอง จนพระอัญญาโกณฑัญญะเป็นสงฆ์องค์แรกของโลก สงฆ์องค์แรก ถึงมีพระรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสิ่งที่เป็นแก้วสารพัดนึกของเรา สิ่งที่เป็นแก้วสารพัดนึกของเราเพราะอะไร เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระอัญญาโกณฑัญญะก็ตรัสรู้ธรรมเหมือนกัน บรรลุธรรมเหมือนกัน นี่ธรรมและวินัยอันนี้วางไว้ ถึงมันเป็นการจำกัด

สิ่งที่ว่าเป็นกรรมๆ กรรมคือการกระทำ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว แต่ก็เป็นเรื่องของโลก เป็นเรื่องของสมมุติ ผู้เวียนไปในวัฏฏะ แต่เวลาประพฤติปฏิบัติมันเป็นเรื่องของอริยสัจ มันเป็นเรื่องของความจริง มันเจาะเข้าไปในหัวใจไง สิ่งที่เป็นเจาะเข้าไปหัวใจเพราะมันเป็นงานของใจ ไม่ใช่งานการประกอบสัมมาอาชีวะ งานของโลกเขา

วิชาชีพ สิ่งที่เป็นวิชาชีพ ใครเรียนวิชาชีพสิ่งใดมาก็ประกอบวิชาชีพสภาวะแบบนั้น คำว่า “วิชาชีพ” คือการเลี้ยงชีพ การเลี้ยงชีพคือเลี้ยงชีวิตไป เพราะชีวิตที่เกิดขึ้นมาเป็นญาติกันโดยธรรม ในเมื่อมีร่างกายไง สิ่งถ้ามีร่างกาย ร่างกายต้องอาศัยอาหาร อาหารคือคำข้าว แล้วอาหารของใจคือธรรมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

มนุษย์นะมี ๒ มิติ มิติหนึ่งคืออาหารของกายและอาหารของใจ แต่ถ้าเป็นเทวดา อินทร์ พรหม เขาก็เป็นอาหารของใจล้วนๆ เพราะสิ่งนั้นเป็นทิพย์

ถึงว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงมาเกิดเป็นมนุษย์ ตรัสรู้ในภพของมนุษย์ เพราะมีร่างกาย สิ่งที่ร่างกายนี้เป็นเรื่องของความสำคัญมาก เพราะมันต้องการอาหารของมัน มันบีบคั้นตลอดไป แต่เราเอาอาศัยสิ่งนี้ อาศัยรูป รส กลิ่น เสียง สิ่งที่เป็นรูป รส กลิ่น เสียง สิ่งนี้เป็นกามคุณ กามคุณเรื่องของโลกเขา เขาเอาสิ่งนี้มาเป็นสินค้า เอาสิ่งนี้ ดูสิ ดูเสียงเพลง เสียงขับร้อง เสียงเขาก็เอามาเป็นธุรกิจกัน จนเขาหาเงินหาทองมหาศาลเลย แม้แต่เครื่องนุ่งห่มก็เอามาเป็นแฟชั่นกัน เอามาเป็นธุรกิจทั้งหมดเลย

แต่ถ้าเราศึกษาธรรมล่ะ ถ้าเราศึกษาธรรมอย่างนี้เป็นปัจจัยเครื่องอาศัย ถ้าเป็นปัจจัยเครื่องอาศัย ธรรมไม่เหมือนโลก โลกมันเป็นสิ่งที่ว่าเป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันเข้าไปซับซ้อนลงไปที่ใจไม่มีวันพอหรอก ตัณหาความทะยานอยากนี้ถมไม่เคยเต็ม

ถ้าจะประพฤติปฏิบัติธรรมต้องมีศีล ศีล เห็นไหม พอศีล ๘ ขึ้นมามันก็ละเว้น ละเว้น ไม่อาศัยความสะดวกเกินไป ร่างกายก็ต้องบังคับแล้ว สิ่งที่บังคับร่างกาย แล้วร่างกายมันก็ต่อต้านเพราะอะไร เพราะมีกิเลสไง กิเลสตัณหาความทะยานอยากของเรา

รูปสวยๆ สิ่งใดที่มันมีกลิ่นหอม กลิ่นทุกอย่าง นี่กามคุณ ๕ ถ้ามันเป็นคุณนะ แต่มันโทษกับเราสิ มันเป็นโทษกับการประพฤติปฏิบัติ ถ้าเป็นโทษกับการประพฤติปฏิบัตินี่มันขัดแย้งกับอะไร? มันขัดแย้งกับกิเลสของเราไง

ถ้ากิเลส กิเลสในหัวใจมี ถึงมีสติอยู่นะ มันก็เป็นเรื่องของกิเลส แต่ถ้ามันเป็นธรรมล่ะ เป็นธรรม เป็นปัญญา เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบอกว่า “แม้แต่การถือศีลก็ต้องมีปัญญา” ถ้าถือศีลโดยไม่มีปัญญา เราถือศีลสักแต่ว่า พอสักแต่ว่าไปก็เหมือนสิ่งที่ไม่มีชีวิตไง

สิ่งที่ไม่มีชีวิตมันก็ไม่ทำลายใครนะ มันอยู่ของมัน คงที่ของมัน อย่างภูเขาเลากา เราก็ไประเบิดมา เราเอามาเป็นทรัพยากรมาใช้เป็นประโยชน์ สิ่งที่ไม่มีชีวิตเรายังเอามาใช้ประโยชน์ได้เลย แต่หัวใจของเรามันเป็นธาตุรู้ มันเป็นสิ่งที่มีชีวิตไง ถ้าเป็นสิ่งที่มีชีวิต ถ้าการจะถือศีล ๕ มันก็ต้องมีธรรมด้วย ถ้ามีธรรมมันก็เป็นประโยชน์กับใจ นี่ถ้าเป็นปัญญาขึ้นมา สติขึ้นมามันก็เป็นสัมมา ถ้ามันเป็นกิเลสนะ ถึงมีสติอยู่มันก็เป็นมิจฉา

ดูสิ ดูอย่างที่เขาทำลายกัน เขาอาฆาตมาดร้ายกัน เขาวางแผนกัน การวางแผนนั้นเขาไม่ใช้สติของเขาหรือ เขาใช้สติแต่เขาทำเป็นมิจฉา ทำเป็นสิ่งทำเป็นบาปอกุศลให้เกิดในนรกอเวจี เพราะเป็นการทำลายกัน แต่ถ้าเป็นประโยชน์ ใครจะรู้กับเรา ไม่รู้กับเราก็แล้วแต่ ในหัวใจเรารู้นะ เวลาสุขเวลาทุกข์นี่หัวใจเราสุขเราทุกข์ เราไม่ต้องการให้ใครรับรู้ สิ่งที่ทำความดีเพื่อดีมันจะเป็นบุญกุศลมหาศาลเลย

แต่ทำความดีเพื่อต้องการให้เขายอมรับว่าเราดีนี่เราเดือดร้อนมากเลย เพราะอะไร เพราะไม่มีใครเขายอมรับเราดีหรอก เพราะอะไร เพราะต่างคนต่างมีกิเลส กิเลสมันบีบกัน มันเบียดเบียนกัน กิเลสนะ คำว่า “กิเลส” ทั้งที่เขาเห็นว่าเราดี แต่เขาก็ไม่ยอมรับเพราะอะไร เพราะว่ากิเลสของเขามีไง เราถึงทำความดีเพื่อเรา ไม่ใช่ทำความดีเพื่อใครเลย ถ้าทำความดีเพื่อใคร เราทุกข์ร้อนเพราะอะไร เพราะเราทำความดี เราก็ต้องต่อต้านกับกิเลสของเราอยู่แล้ว กิเลสของเรามันไม่ต้องการความอัตคัดขาดแคลนหรอก แต่ถ้าเป็นการอัตคัดขาดแคลน เพื่ออะไร? เพื่อจะขัดเกลากิเลส

การขัดเกลากิเลส สิ่งที่เราต้องต่อต้านกับกิเลสของเราเองแล้ว ๑ ขณะที่เราทำคุณงามความดีมันต้องฝืน ฝืนกิเลสไปตลอด ถ้ามีปัญญาอย่างนี้ ถ้าฝืน สิ่งที่จะฝืนได้ เพราะอะไร ต้องมีสตินะ ถ้ามันขาดสติมันก็จะเอาแต่ความพอใจของมัน

ทำสิ่งนี้ความจำเป็น สรรพสิ่งนี้เป็นความจำเป็น ความดำรงชีวิตก็เป็นความจำเป็น ใครจะนั่งสมาธิอยู่มันก็เป็นความจำเป็น เราต้องการล็อคเวลาไว้เพื่อจะทำงานอย่างอื่นต่อไป

มันมีความจำเป็นไปทั้งนั้นเลยถ้าเป็นเรื่องของกิเลสนะ

แต่ถ้าเป็นธรรมล่ะ โลก เรื่องของงาน เราจะเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ถ้าเป็นข้อวัตรเราก็ทำข้อวัตร เราบริหารเวลาของเราเป็น ถ้าถึงเวลาข้อวัตรเป็นเรื่องของหมู่คณะ เราก็ทำเป็นเรื่องของหมู่คณะ เว้นไว้แต่ถ้าอดอาหาร ถ้าสิ่งที่เราจะทำเร่งความเพียรของเรา เราปลีกออกไปวิเวกก็ได้ เวลาเร่งความเพียรมันมีของมันนะ สิ่งนี้เราบริหารของเราได้ ถ้าเราบริหารของเรา กิเลสมันจะฝืนตรงไหนล่ะ

แม้แต่ความเห็นของเรา เราก็ยังต้องฝืนกับกิเลสของเราอยู่แล้ว แล้วพอฝืนกับกิเลสของเราอยู่แล้วมันเป็นการ "อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ตนต้องต่อสู้กับตน

แล้วเวลาออกไปสังคมเขาไม่ยอมรับเรา เขาเห็นเราว่าทำความดี แล้วไม่เป็นความดี เห็นไหม เรานี่โง่มากเลย แม้แต่ตัวเอง การกระทำของเรา เราก็ต้องฝืนของเราอยู่แล้ว แล้วจะให้คนอื่นมายอมรับเราเพื่ออะไร เพื่ออะไร กิเลสมันหลอก ๒ ชั้นนะ

แต่ถ้าทำความดีเพื่อเรา ดูใจของเรา เราเป็นผู้รับผิดชอบเรา การเกิดมา...ใช่ พ่อแม่เป็นแดนเกิด แม้แต่เราเกิด อุปัชฌาย์เป็นผู้ที่บวชเรามา นี่ก็เป็นแดนเกิด เวลาธรรมวินัยต้องครูบาอาจารย์ ทำข้อวัตรปฏิบัติ “พ่อแม่ครูจารย์” พ่อแม่ครูจารย์ ให้แต่อุปัชฌาย์ตั้งแต่บวชมา บวชมา ยกขึ้นมาในหมู่ของสงฆ์ เกิดออกมาจากสีมา แล้วออกมาประพฤติปฏิบัติเพราะอะไร เพราะเป็นสังฆะ เป็นหมู่สงฆ์

หมู่สงฆ์ต้องดูแลกัน หมู่สงฆ์ต้องพึ่งพาอาศัยกัน เจ็บไข้ได้ป่วยต้องดูแลกัน ขอนิสัยเพื่อให้ได้นิสัยในการประพฤติปฏิบัติ สิ่งที่เกิดขึ้นมาเป็นแดนเกิด สิ่งที่เป็นแดนเกิด เห็นไหม อาศัยกรรม กรรมนะ ถ้าเราไม่มีกรรมต่อๆ กัน เราจะไม่มาเจอกันหรอก สิ่งที่มาเจอกันต้องมีกรรมของมัน กรรมดีหรือกรรมชั่ว ถ้ากรรมดีเจอกันแล้วจะเป็นประโยชน์มาก สิ่งที่เป็นประโยชน์นะ ถูกตาต้องใจ แม้แต่ครูบาอาจารย์

ดูสิ ดูพระสารีบุตรสิ เห็นพระอัสสชิบิณฑบาตอยู่ เป็นนักปราชญ์นะ แล้วสร้างบุญกุศลมาเป็นอัครสาวกเบื้องขวา คนที่สร้างพระอัครสาวกเบื้องขวาต้องอธิษฐาน คำว่า “อธิษฐาน” นี่ต้องสร้างบุญญาธิการมา

ดูจริตนิสัยสิ ดูหัวใจ คนมีสติ ถ้าคนมีสติไม่ค่อยตื่นเต้นไปกับสิ่งใด คนสติอ่อน คนที่ประมาทพลั้งเผลอ คนจริต...ถ้าเป็นคนที่เชื่อคนง่ายนี่โลภจริต โทสจริต สิ่งที่จริต นี่พละ ๕ พละคือกำลังของจิต ภพ ภพคือตัวใจ ถ้าตัวใจตัวนี้ ถ้าทำสมาธิเข้ามาที่ตัวนี้จะมาแก้กิเลสกันที่นี่ ผู้ที่มีพละมีกำลังของใจ เพราะได้สร้างสมบุญญาธิการมาแล้วได้เกิดเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนา

พระสารีบุตรปรารถนามาเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา แต่เวลาเกิดแล้วเป็นคหบดี ที่ไหนมีการละเล่น เพราะเป็นลูกคหบดีไปไหนก็ได้ เกิดมามีความสุข แต่มีความเฉลียวใจ นี่แค่ที่ความเฉลียวใจนะ ที่ไหนมีการละเล่นก็ไปดู ความสนุกความเพลิดเพลินมีเท่านั้นล่ะ แล้วมันเบื่อไง เบื่อแล้วอะไรคือคุณงามความดีล่ะ

ชวนกันออกบวช ไปบวชกับสัญชัย สัญชัยเขาสอน “ไม่ใช่ ความเป็นปฏิเสธ ปฏิเสธทุกๆ สิ่งในโลกนี้ ปฏิเสธหมดเลย” ไปศึกษากับเขาแล้ว เพราะอะไร เพราะพละมีไง

พละคือฐานของใจ ความเป็นปัญญาชน ทำสิ่งใดต่างๆ เข้าใจภาวะทั้งหมด แต่มันตัวเองมันไม่ชำระทุกข์ของเรา เห็นไหม เจอพระอัสสชิ แม้แต่พระอัสสชิออกบิณฑบาต กิริยาไง

“ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ” การก้าวเดินไป ถ้าหัวใจไม่มีกิเลสตัณหาความทะยานอยากนะ มันไม่มีทุจริต มันไม่มีมารยาสาไถย การแสดงออกมาของพระอรหันต์แสดงออกมาโดยธรรมชาติ โดยธรรมชาติแล้วแต่จริต จริตของผู้ที่สงบเสงี่ยมก็ออกมาสภาวะแบบนั้น มันไม่มีกิเลสแทรก

พระสารีบุตรเห็นพระอัสสชิเดินบิณฑบาตอยู่ มันเป็นธรรมชาติ สิ่งนี้มันทำให้ศรัทธาความเชื่อนะ เดินตามแล้วขอฟังธรรมไง ขอฟังธรรมจากพระอัสสชินะ

“ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ”

ไม่ใช่ว่า “สิ่งใดก็ไม่ใช่” ไม่ใช่มันมาจากไหน สิ่งใดลอยมาจากฟ้าไม่มีหรอก

กรรม ดูสิ แม้แต่การเกิดและการตายก็อาศัยกรรมดี กรรมชั่วเรานี่พาเกิดพาตาย เกิดดีก็ได้ เกิดชั่วก็ได้ “เกิด” ดูสิ เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เกิดเป็นสัตว์ต่างๆ มันเกิดตายของมันสภาวะแบบนั้นนะ เกิดภพหนึ่ง แม้แต่ภพของสัตว์ หรือภพของมนุษย์ หรือภพสิ่งใดก็แล้ว เกิดมาแล้วในชีวิตนั้น การเกิดนั้นยังเจอสุข เจอทุกข์ในชีวิตหนึ่ง มันก็มีลุ่มๆ ดอนๆ เข้าไปอีก เห็นไหม ลุ่มๆ ดอนๆ เพราะอะไร

สิ่งที่ว่าเป็นวิบาก ผลมันมีเล็กมีน้อยมันสนองมาตลอด เพราะเราการทำ ดูสิ วันหนึ่งเราคิดกี่ร้อยหนกี่พันหน เราทำความผิดพลาดวันละกี่หน นี่มันซ้อนมา ซ้อนมา ชีวิตมันเป็นอย่างนั้น แล้วถ้าศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันจะเข้าใจเรื่องสภาวะแบบนี้ไง สติสัมปชัญญะมันจะยับยั้งไว้ ถ้ามีสติสัมปชัญญะ เราใช้สติ ถ้ามีสติ ความเพียรจะเป็นความเพียร สตินะ ถ้าขาดสติ ความเพียรก็สักแต่ว่า เหมือนกับวัตถุสิ่งหนึ่ง วัตถุสิ่งของ เขาไม่มีชีวิตของเขา เราไปจับ ของที่มีคุณค่าเขาตั้งในตู้โชว์ นี่สิ่งนั้นยังมีคุณค่าเลย

ทั้งๆ ที่เขาไม่รู้สุขรู้ทุกข์หรอก แต่เราไปหมายเขาเอง เรานี่ไปหมายนะ ของมีคุณค่าเขาเก็บไว้ดี โชว์เขา ของที่ไม่ดีจะซ่อนไว้ไม่ให้ใครเขาเห็น เห็นไหม เราไปหมายเขาทั้งนั้นเลย เขาไม่มีชีวิตแต่ใจเรามีชีวิตไง มีชีวิต มันเกิด มันมีความรู้สึก สิ่งนี้มีความรู้สึก ถ้าเป็นสติขึ้นมาก็ซับซ้อนเข้าไป สติฝึกบ่อยครั้ง บ่อยครั้งเข้า ถ้ามีสติฝึกบ่อยขึ้นมา สติสำคัญมาก การประพฤติปฏิบัติถ้าขาดสตินะ แม้แต่การฟังธรรม ขาดสติเหม่อลอย เสียงมากระทบหู เราก็ไม่รู้ครูบาอาจารย์พูดอะไร ถ้าเสียงมากระทบหู มีสติ วิญญาณรับรู้ นี่จะเข้าใจความหมาย ความหมายปัญญาเราก็เกิด ปัญญานะ

หู สิ่งที่การศึกษาด้วยหู ด้วยตา สิ่งนี้ถ้ามีหูมีตาเราจะศึกษาของเรา ศึกษาที่ไหน? ศึกษาความรู้สึก ศึกษาใจของเรา สิ่งที่เสียง สิ่งที่มันเป็นสื่อความหมาย ครูบาอาจารย์พูดว่าสิ่งใด แล้วเราเข้าใจว่าสิ่งใด ดูอาการของใจเรามันฟู มันแฟบไหม มันมีความเป็นไปไหม สิ่งนี้มันสะเทือนถึงใจทั้งหมด ตา ตาเราดูสิ ความเป็นไป สิ่งที่ความเป็นไป มันมีสติสัมปชัญญะไหม การเคลื่อนไหวของเรา ดูแม้แต่เวลาเดิน เราจะลื่นล้มก็ได้ เราเดินแต่ตรงทางก็ได้ เราไปชนสิ่งใดก็ได้ เพราะอะไร

เพราะตามันเห็นภาพ ตามันเห็นสิ่งของขวางหน้าหรือไม่ขวางหน้า ตามันเห็นการกระทำไง สิ่งที่เข้ามา มันก็เข้ามาที่ใจใช่ไหม ถ้าเข้ามาที่ใจ นี่มันศึกษาได้หมด ถ้ามีสติสัมปชัญญะสิ่งต่างๆ จะเป็นประโยชน์เราทั้งหมดเลย

การเคลื่อนไหว ดูสิ แม้แต่ใบไม้ใบเดียวที่หลุดจากขั้ว ใบไม้มันจะหลุดจากขั้วแล้วมันปลิวไป เหมือนชีวิตเรานะ ถ้าขาดสติเหมือนใบไม้ใบหนึ่งเวลาลมพัดหลุดออกไปจากขั้ว มันไปตกที่ไหนของมันล่ะ สิ่งที่ไปตกไปค้างบนหลังคาก็ได้ ไปค้างบนต้นไม้ใบไหนก็ได้ ตกไปที่พื้นดินก็ได้ เราจะปล่อยชีวิตของเราเป็นอย่างนั้นหรือ

หรือว่า แม้แต่ใบไม้มันต้องหลุดจากขั้ว แล้วชีวิตของเราจะต้องพลัดพรากจากร่างกาย จิตใจต้องพรากออกจากกายนี้ไหม ร่างกายนี้ สิ่งที่ร่างกายเพราะเราเกิดมาเป็นมนุษย์ เวลาปฏิสนธิในครรภ์ของมารดา จากไข่ใบเดียวของแม่นะ แล้วเราปฏิสนธิเข้าไป สิ่งที่ปฏิสนธิเข้าไปแล้ว แล้วกาม เชื้อของพ่อ สิ่งนี้เป็นปฏิสนธิมาเป็นกรรมมา แล้วเกิดใหม่ สิ่งที่แค่ไข่ใบเดียวจนเกิดมาเป็นมนุษย์ แตกเป็นสาขา เป็นมือ เป็นแขน เป็นขาออกมา เจริญเติบโตออกมา มันเป็นความมหัศจรรย์

ว่าสิ่งเป็นมนุษย์เป็นความมหัศจรรย์ แต่มันชั่วคราว สิ่งนี้เป็นสมมุติเป็นชั่วคราว แล้วเราเกิดมาแล้วสิ่งนี้มันสิ่งที่เป็นความมหัศจรรย์แล้วทำไมไม่ศึกษาล่ะ ศึกษาเรานี่แหละ ศึกษาในเรื่องของกายและใจ จะถึงหลุดพ้นจากกิเลสได้

ถ้าศึกษามนุษย์สังคมของโลก ทุกคนจะเป็นศาสตราจารย์ ทุกคนจะเป็นผู้นำของสังคม สังคมมันเกิดดับเกิดดับอยู่อย่างนั้นล่ะ สิ่งที่สังคมต้องการเป็นผู้นำของสังคมจะไม่ได้เป็น สิ่งที่จะได้เป็นมันอยู่กรรมดี กรรมชั่ว การสร้างสมบุญญาธิการมา สิ่งนี้เขาเชื่อเอง เชื่อเองนะ แล้วอยู่ที่เราทำคุณงามความดีเพื่อความดี เขายิ่งยอมรับ เขายิ่งเชื่อใหญ่เลย

เราจะให้เขายอมรับ เขาจะไม่มีใครยอมรับเราเลย เพราะกิเลสของเราใครจะยอมรับ แม้แต่เรา เรายังรู้กิเลสของเราเลยว่ากิเลส ความคิดอย่างนี้คิดแล้วเรามีความทุกข์ในหัวใจ เราต้องพยายามของเรา

แต่ถ้าเป็นสัจจะความจริง เราไม่ทำเพื่อใครเลย เราทำเพื่อศึกษาด้วยตา หู ตาเราศึกษาสัจธรรม ดูหัวใจเรามันหวั่นไหวไปกับโลกธรรมไหม ถ้ามันหวั่นไหวไปกับโลกธรรม นั่นเป็นเรื่องของโลก ถ้าเป็นเรื่องของโลก มีสติไว้ ยับยั้งไว้ สตินะยับยั้งไว้ สติทันความรู้สึก ถ้าเรารักษาใจนะ เรามีสติ อาการสิ่งใดก็เกิดขึ้นมาก็แล้วแต่ เรามีสติตามทันไป สิ่งนี้ก็เกิดดับ มันเกิดดับนะ เกิดดับเพราะอะไร เพราะมีกิเลสกับมีธรรม ถ้าเป็นกิเลสมันก็ขัดแย้ง มันก็มีความต่อต้านในหัวใจ ถ้าเป็นธรรม เห็นไหม มันลงตัว

สิ่งที่เป็นธรรมนะ สภาวะนี้สิ่งนี้มันเกิดเพราะอะไร เพราะมีกระทบ มันรู้อยู่แล้ว ถ้าเป็นธรรม สิ่งที่กระทบก็คือสื่อ ตา รูปกระทบนาม วิญญาณรับรู้ก็คือสิ่งนั้น ถ้าหัวใจรับรู้แล้วก็ปล่อยวาง ปล่อยวางเข้าใจไง เข้าใจแล้วก็วาง หัวใจมันไปเดือดร้อนอะไรกับเขา หัวใจมันไม่ไปเดือดร้อนกับเขาหรอก เพราะอะไร เพราะสิ่งนี้มันเป็นสัจจะความจริง โลกเป็นอย่างนี้ วัฏฏะเป็นอย่างนี้ การเกิดการตายเป็นอย่างนี้ ร่างกายก็ต้องเป็นอย่างนี้ เกิดมาแล้วก็ต้องตายเป็นอย่างนี้ อย่างนี้ทั้งนั้น เพียงแต่คนเราเกิดมามีอำนาจวาสนามากหรือน้อยต่างกันเท่านั้นเอง สิ่งนี้เป็นเรื่องของกรรม แล้วเราไปแข่งขันกับใคร

เพราะมันเป็นประวัติศาสตร์ มันเป็นอดีตชาติ มันเป็นสิ่งที่สะสมมาจากจิตดวงนั้น เขาสร้างของเขามาๆ เขาก็ได้ผลของเขา เราสร้างเมล็ดผลของเรามา ดูสิ เวลาเรามีความสุข เวลาคนมีความสุข เราเห็น ถ้าเราอนุโมทนาไปกับเขาอันนั้นก็เป็นบุญ แต่เวลาสุขของเขากับสุขของเราต่างกันไหม เวลาเขามีความสุขของเขาก็เรื่องของเขาใช่ไหม เวลาเขาทุกข์เราก็ปลอบประโลมไปเพราะเป็นสังคม เราก็ให้กำลังใจเขา

แต่ถ้าเวลาเราทุกข์ล่ะ เราก็ทุกข์ของเรา เราต้องการสุขกับทุกข์ของเราต่างหากล่ะ ถ้ามันเป็นความสุข ความทุกข์ของเรา เราก็ต้องประพฤติปฏิบัติของเราใช่ไหม อำนาจวาสนาของเขาก็เป็นเรื่องของเขา อำนาจวาสนาของเราก็เป็นเรื่องของเรา

หน้าที่ของเราคือดูใจของเรา หน้าที่ของเราดูการแก้ไขใจของเรา หน้าที่ของเราคือการปฏิบัติของเรา ถ้าเราปฏิบัติใจของเรา สติมันก็กลับมาที่เรา มันไม่เอาสิ่งนั้นมาเป็นประเด็น ไม่เอาสิ่งความเป็นไปของหมู่คณะมาแบกหามไง มันไม่ใช่หน้าที่ของเรา มันเป็นหน้าที่ของเขา หน้าที่ของสัตว์โลกแต่ละบุคคล

โลก ชีวิตคือหมู่สัตว์ หมู่สัตว์โลกของใครก็ของเขา เหมือนจักรวาลเลย แต่ดวงดาวแต่ละจักรวาลแต่ละดวงดาวมันจะหมุนไปในจักรวาลนั้น นี่ก็เหมือนกัน สังคมคนอื่นเขามีความคิดคนหนึ่ง ความคิดก็เบียดเบียนกัน ถ้ามันเป็นความคิดของกิเลส

ถ้ามันเป็นความคิดของธรรม มันสรุปลงที่เรา เห็นไหม “สติ” ถ้ามีสติอย่างนี้แล้วเราพยายามตั้งกำหนดพุทโธด้วย เพราะเราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา สาวก เราเป็นสาวกเกิดมาเจอธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเจอครูบาอาจารย์เป็นผู้ชี้นำด้วยนะ ถ้าเจอครูบาอาจารย์ชี้นำ เพราะครูบาอาจารย์เป็นตัวอย่างไง ดูสิ ดูพระโพธิสัตว์ เวลาเป็นสัตว์ สัตว์ผู้นำฝูง แต่นำฝูงจะพาฝูงสัตว์นั้นปลอดภัยตลอดไป

นี่ก็เหมือนกัน ในการประพฤติปฏิบัติ ในเมื่อมีผู้นำ มีคนที่มีหูตาสว่างพาเราเดินไป เราตาบอดเราก็จูงกันไป แต่คนตาดีจูงคนตาบอดมันดีกว่าคนตาบอดจูงคนตาบอดแน่นอน ถ้าเราตาบอดให้คนตาดีจูง เราจะมีกำลังใจของเราไหม ถ้าเรามีกำลังใจของเรา เราจะรีบ เราจะขวนขวายไหม ถ้าเราขวนขวายเพราะอะไร

“ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด” เราต้องตายไปแน่นอน หรือครูบาอาจารย์ต้องพลัดพรากกันไปเป็นแน่นอน สิ่งที่มาพบกันเหมือนกับสวะในน้ำ มันลอยไปเจอกัน มันเลยเกาะเป็นกลุ่มกัน แล้วออกไป ถ้าน้ำเชี่ยวมันก็แตกออกไป เหมือนกัน วัฏฏะเป็นอย่างนี้ จิตการเกิดและการตายจะเป็นแบบนี้ การอยู่อาศัยกันก็เป็นแบบนี้ มาเจอกันแล้วก็พลัดพรากจากกัน นี้เป็นเรื่องธรรมดา ถ้าเป็นเรื่องธรรมดาทำไมเราไม่มีกับใจ เราไม่รีบขวนขวายทำของเราล่ะ ถ้าเรารีบขวนขวายทำของเรา ถ้าจิตนี้ยังมีศรัทธาความเชื่ออยู่นะ แล้วได้ฟังธรรมของครูบาอาจารย์ มันสะกิดใจนะ

ถ้าเป็นธรรมออกมาจากใจ ใจดวงหนึ่งให้กับใจดวงหนึ่ง ถ้าเป็นใจดวงหนึ่งมันไม่ใช่เป็นการเล่านิทาน ถ้าเป็นการเล่านิทาน มันก็เป็นการเล่านิทาน มันเป็นสิ่งที่ว่าความรู้สึกจากภายนอก มันเป็นอาการของขันธ์ ๕ แต่ถ้าเป็นความรู้สึกของใจ “สติ” ถ้ามีสติมันเรื่องออกมาจากใจ แล้วใจที่ไม่มีอกุศลในหัวใจมันออกมาจากใจ สิ่งที่ออกมาจากใจ มันจะสะเทือนหัวใจของเรา ถ้ามันสะเทือนหัวใจของเรา เรามองแค่กิริยามันก็เป็นเรื่องสิ่งที่น่าเลื่อมใส เพราะอะไร

เพราะมันไม่มีมายา สิ่งที่ไม่มีมายา มารยาสาไถยเรื่องของกิเลสตัณหาความทะยานอยากเป็นเรื่องสิ่งที่ว่าทุกคนไม่ต้องการพบมัน แต่ถ้ามันเป็นมายา ผู้ที่ตาบอดด้วยกัน ในการแนะนำก็แนะนำด้วยมายา เพราะอะไร เพราะผู้ที่แนะนำก็ไม่รู้ สิ่งที่ไม่รู้มันก็เป็นความด้นเดา ก็เป็นมายาทั้งนั้นแหละ ถ้าเป็นมายามันไม่ออกมาจากใจ ไม่ได้ออกมาจากใจมันก็ไม่ดูดดื่ม แต่ถ้าเป็นสัจจะความจริงล่ะ มันออกมาจากใจ มันไม่ใช่มายา เพราะมายาเป็นอวิชชา อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ มันเป็นมาร มันเป็นสิ่งที่มาร มันเป็นยางเหนียว มันเป็นเรื่องของการเอารัดเอาเปรียบกัน

แต่ถ้ามันเป็นสัจจะความจริง มันออกมาโดยธรรมชาติสัจจะอันนั้นน่ะ สิ่งนี้ออกจากสัจจะอันนั้น มันถึงทำให้เรามันซึ้งกับใจ ถ้าซึ้งกับใจ เราก็จะมีกำลังใจขึ้นมา ถ้ามีกำลังใจขึ้นมา เรื่องของสติ ของโลกเขา มันเป็นเรื่องของกรรมดีและกรรมชั่ว แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ ถ้าเรามีสติขึ้นมา นี่ปุถุชน ถ้ามีสติขึ้นมาแล้วเราทำกำหนดพุทโธก็ได้

เรากำหนดพุทโธขึ้นมาเพราะอะไร เพราะพุทธานุสติ เราเอ่ยนามขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทโธ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน พุทโธ พุทโธ เพราะอะไร เพราะนามธรรม จิตนี่เป็นนามธรรม สิ่งที่เป็นนามธรรมมันไม่มีขอบเขต เราก็อาศัยพุทโธเป็นที่เกาะ เราเกาะแม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ระลึกพุทโธคำหนึ่ง ระลึกถึงพุทโธ พุทโธ ถ้าพูดถึงโดยสัจจะความจริงที่ใครไม่เคยระลึกพุทโธเลย แล้วเอ่ย สิ่งนี้เป็นสิ่งที่มหัศจรรย์มาก

แต่เราบ่นพุทโธ พุทโธ บ่นนะ เราบ่น เราไม่ใช่บริกรรม ถ้าเราบริกรรมนี่ออกจากใจ มีสติสัมปชัญญะพร้อม พุทโธ พุทโธ จิตมันจะเกาะตรงนี้ เราบ่นน่ะ เราบ่นพุทโธ พุทโธ แต่สติมันไม่มี มันก็ไม่เกาะเกี่ยว เราไม่ได้พึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจริงๆ เราสักแต่ว่า

แต่ถ้าเรามีสติ พุทโธ พุทโธ เราใช้คำบริกรรม พุทโธ พุทโธ พุทโธ จิตมันจะเกาะกับพุทโธไปเรื่อยๆ แล้วพยายามทำของเราไป ถ้ามีสติ สิ่งนี้จะเป็นความเพียร พุทโธ พุทโธ มันต้องเป็นไป เพราะธาตุรู้มันมี ความรู้สึกนี้มี เวลาทุกข์มันทุกข์ได้ เวลาเราฟุ้งซ่านมันฟุ้งซ่านได้ มันยึดติดทั้งจักรวาลนี้ คิดไปตั้งแต่สวรรค์นรก คิดไปได้ร้อยแปด มันมีธาตุรู้ตัวนี้ แล้วมันส่งออกไปทั้งหมด แล้วเราเอาพลังงานตัวนี้มาเกาะไว้ที่พุทโธ มันจะเป็นไปไม่ได้อย่างไร

มันเป็นไปได้ ถ้ามันเป็นไปได้ เรามีสติแล้วเรามีสัจจะมีจริง แล้วเราพุทโธไป มันต้องเป็นไปได้ ถ้ามันเป็นไปไม่ได้ มันยังโต้แย้งอยู่ เราก็ต้องหาอุบายวิธีการ

เวลาเรา ดูสิ เวลาเราจะไล่ต้อนโค เราไปปล่อยมันไปเลี้ยงมันในป่า เราไล่ต้อนโค เราต้องตามรอยมันไป กว่าเราจะเจอมันนะ มันจะหลบมันจะหลีก เพราะมันต้องการอิสรภาพของมัน แม้แต่สัตว์จับมันยังยากเลย แล้วนี่หัวใจของเราอยู่ในร่างกายเป็นนามธรรม แล้วพุทโธ พุทโธ จะให้จับทีเดียวจะให้มันได้มันจะเป็นไปได้อย่างไร แล้วก็ไม่มีสติด้วย แล้วไม่มีอุบายวิธีการว่าเราจะหารอยของโคอย่างไร เราจะตั้งสัจจะอย่างไร เราจะมีอุบายวิธีการอย่างไร

มันต้องมีอุบายวิธีการ ไม่ใช่สักแต่ว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกให้ทำกรรมฐาน ให้กรรมฐาน ๔๐ ห้อง ก็พุทโธ พุทโธ ก็ทำประสากิเลสมันพาทำไง เห็นไหม เวลาประพฤติปฏิบัติมันยังมีกิเลสกับธรรมอีกนะ ถ้าเป็นกิเลสทำก็ทำสักแต่ว่า แล้วก็เรียกร้องนะ “กำหนดพุทโธมา ๕ ปีแล้วยังไม่สงบสักที”

ก็มันทำสักแต่ว่า แล้วก็ไปเรียกร้องเอา ตัวเองไม่เป็นที่พึ่งของตัวเองเลย ตัวเองไม่มีสัจจะเลย ตัวของตัวเองไม่มีสัจจะ ตัวของตัวเองไม่เป็นที่พึ่งของตัวเอง อาศัยแต่คนอื่นแล้วก็จะอาศัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็ยังจะไปเรียกร้องเอาผลงานจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันจะเป็นไปได้อย่างไรล่ะ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก ธรรมและวินัยนี่เป็นผู้ค้นคว้ามาทุกข์ยากมาก แล้วเวลาเราตรัสรู้ธรรมขึ้นมา วิมุตติสุข สุขมาก สุขในวิมุตติสุข ไม่มีสุขใดเท่ากับวิมุตติสุขอันนี้เลย แล้วสุขอย่างนี้ไม่ใช่สุขแบบขันธ์ ไม่ได้สุขแบบโลก โลกนี่สุขแบบขันธ์ แบบร้อน แบบเย็น เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็ร้อน เดี๋ยวก็สุขอยู่อย่างนี้ เวียนไปเวียนมา แต่วิมุตติสุขนี่ของตายตัว สิ่งที่ตายตัวอยู่กับใจดวงนั้น ใจดวงนั้นพ้นจากกิเลส มีความสุขอันมหาศาล แล้ววางธรรมอันนี้ไว้

แล้วเราจะประพฤติปฏิบัติ เราจะไปเรียกร้องเอามาจากใครล่ะ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าค้นคว้าขึ้นมาแล้ววางไว้ให้เราชี้นำ ให้เราเพียรประพฤติปฏิบัติ เราก็ต้องตั้งสติของเรา แล้วเราก็ทำของเราขึ้นไป อยู่ที่เราทั้งนั้น เห็นไหม ถ้าอย่างนี้มันก็อยู่ที่ว่าพละ อยู่ที่พื้นฐาน อยู่ที่พละของเราคือฐานของจิต มันมีความมั่นคง มันมีกำลัง มันมีความศรัทธา มันมีความองอาจกล้าหาญ มันก็มีความสามารถทำได้ ถ้าสามารถทำได้ พุทโธต้องสงบแน่นอน นี่พอสงบเข้ามา จากปุถุชน สติของปุถุชน จะเป็นสติของกัลยาณปุถุชน

ถ้าสติของกัลยาณปุถุชน นี่มันสงบเข้ามาได้บ่อยครั้งเข้า แม้แต่ใช้ปัญญาอบรมสมาธิก็ได้ จริตนิสัยของคนไม่เหมือนกัน อย่างที่ว่าใช้ตาและหูนี้เป็นประโยชน์ สิ่งที่เป็นประโยชน์เทียบเคียงกับความรู้สึก เวลากระทบสิ่งใดเทียบเคียงสิ่งนี้เข้ามาแล้วมีสติเข้ามาพร้อมกับสิ่งนี้ มันจะกลับมาที่ใจนี้ มันก็เป็นกัลยาณปุถุชนเหมือนกัน

เวลาจิตสงบเข้ามาแล้วสงบ แล้วพยายามทำให้ได้บ่อยครั้งเข้า เพราะจิตสงบ ดูสิ เราต้มน้ำ เราต้องการต้มน้ำ น้ำเดือดแล้ว เราจะเอาไปทำอะไร ถ้าน้ำเดือดแล้ว ไฟมันก็มอด น้ำนั้นก็เย็นไปเพราะอะไร เพราะเราไม่ได้ทำประโยชน์ เวลากำหนดพุทธ พุทโธ พุทโธขึ้นมา ถ้าจิตสงบแต่ละครั้ง มีความสุขนะ น้ำร้อนกับน้ำเย็นต่างกัน จิตเป็นปกติโดยจิตที่ว่าเป็นสติธรรมดา โดยคนที่ว่าสบายๆ เห็นไหม เวลาเขามีความสุขของเขาประสาโลก เขาบอก เพลิน นั่งสบาย...อย่างนั้นเพราะเขาขาดการสืบต่อ มันถึงไม่เป็นสมาธิ แต่ถ้าเป็นสมาธิขึ้นมา เวลาจิตมันปล่อยวางเข้ามา มันปล่อยวาง มันลึกกว่านะ มันมีความสุขมากกว่า แล้วเดี๋ยวก็คลายออกมา เราถึงต้องตั้งสติแล้วกำหนดพุทโธเข้าไปอีก

ความสุขอย่างนี้เป็นสันทิฏฐิโก จิตดวงไหนได้รับความสุข ความสุขอย่างนี้แล้วมันจะติดอยากได้ความสุขอย่างนี้ เพราะกิเลส เวลากิเลสมันทุกข์มันยากนะ สิ่งใดที่มันต้องการมันก็แสวงหาให้ใจฟุ้งซ่าน เวลาประพฤติปฏิบัติเข้าไปพอจิตสงบมันก็ไปติดสงบอีกนะ อยากได้จิตสงบอย่างนี้ อย่างนี้เมื่อไหร่จะได้สักทีหนึ่ง เห็นไหม แม้แต่เป็นธรรม กิเลสมันยังพลิกมาเป็นกิเลสมาฟันหัวใจเราเองเลย มันถึงต้องพยายามตั้งสติแล้วกำหนดพุทโธไปจนกว่ามันสมดุลของมัน มันก็สงบอีก สงบบ่อยครั้งเข้า

สงบเพราะอะไร สงบเพราะสติ สงบเพราะคำบริกรรม ต้องมีคำบริกรรม ต้องมีเหตุนะ

ดูสิ ดูเวลาน้ำ น้ำ มันขุ่นนะ เขาต้องใช้สารส้มกวน น้ำสิ่งที่เป็นตะกอนมันก็จะนอนก้น จิตก็เหมือนกัน สิ่งที่มันฟุ้งซ่านมันมีคำบริกรรมของมันเข้าไป มันก็สงบได้ ที่มันสงบไม่ได้เพราะบริกรรมทีหนึ่ง มันก็กวนของมันทีหนึ่ง มันกวนขึ้นมาเพราะอะไร เพราะว่ามันเป็นกิเลสไง

แต่ถ้ามันเป็นธรรมนะ เวลากำหนดพุทโธมันจะสะเทือนขนาดไหน สะเทือนให้สะเทือนไป เพราะอะไร เพราะขณะที่น้ำในโอ่งของเรา เราแกว่งสารส้ม มันต้องแกว่งไหม มันมีการเคลื่อนไหวไหม? มันก็มี มันก็มีเหมือนกัน แต่มีเพื่อจะสงบไง ไม่ใช่มีเพื่อความฟุ้งซ่านไง ถ้าเป็นกิเลสมันก็เคลื่อนไหวเหมือนกัน เคลื่อนไหวแล้วมันก็ขุ่นมัวอยู่อย่างนั้นตลอดไป แต่ถ้ามันเคลื่อนไหวด้วยสติ มันก็จะสงบได้โดยธรรมชาติของมัน ถ้าธรรมชาติของมัน หมั่นฝึกฝนอย่างนี้ ถ้าการฝึกฝนอย่างนี้คนทำสมาธิเป็น

คนทำสมาธิเป็นมันจะเข้าใจเรื่องการทำสมาธิ ถ้าเข้าใจเรื่องการทำสมาธิ มันจะทำเมื่อไหร่ก็ได้ สิ่งที่จะทำเมื่อไหร่ก็ได้ มันก็เหมือนกับเรามีพลังงาน ถ้ามีพลังงาน เราจะใช้พลังงานนั้นทำสิ่งใดก็ได้ แต่ถ้าเราไม่มีพลังงาน รถขับไปน้ำมันหมด มันก็จอดตายอยู่นั่นแหละ ถ้ารถขับไปน้ำมันหมด เราเติมน้ำมันได้ตลอดไป

สิ่งนี้ต้องทำให้ได้ สมถะต้องทำให้ได้อย่างนี้

ถ้าทำสมถะได้อย่างนี้แล้ว ถ้ายกไปในสติปัฏฐาน ๔ ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ถ้าเป็นเจโตวิมุตติ ถ้าจิตสงบแล้วน้อมไปที่กาย กายภาค สิ่งที่เราเป็นกายภาค เพราะมันเป็นเรื่องของกาย เรื่องกาย เราติดกันที่กายนะ แล้วถ้าปัญญา ถ้าจิตสงบแล้วน้อม ถ้าจิตสงบ ถ้ามีพละ มีกำลัง จิตนี้จะเห็นกาย เห็นกายโดยบุญวาสนา แต่ถ้าไม่มีวาสนา วาสนาสร้างสมมาต่างกัน จิตสงบแล้วตั้งมั่นเพราะเราฝึกฝน เราทำงานพลังงานจนเราชำนาญในวสี เราสร้างของเราได้ นี่รำพึงขึ้นมา รำพึงเรื่องของกาย รำพึงในเหตุให้นึกถึงกาย

พอนึกถึงกาย เพราะอะไร เพราะมันมีสมาธิเป็นฐานรองรับ การเห็นกายอย่างนี้มันเห็นกายโดยวิปัสสนา แต่ถ้าการเห็นกายโดยที่ว่าเป็นปุถุชน เห็นไหม สติเหมือนกัน สติมันมีขั้นตอนของมัน ถ้าสติอย่างนี้เรามีสติแล้วเรานึกถึงกาย นึกถึงกายโดยขันธ์ ๕ นึกถึงกายโดยสามัญสำนึก นึกถึงกายตอนเจ็บไข้ได้ป่วย นึกถึงกายของเรา เห็นกายของเรา สิ่งนี้มันเป็นเรื่องของกายนอก

เห็นกายนอกมันจะเรื่องบทสรุปของมันคือความสงบ คือสมถะ แต่ถ้าจิตมันสงบจนเราชำนาญของเรา เราชำนาญของเรา เพราะเวลาถ้าเรากำหนดพุทโธก็ได้ เราระลึกเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจก็ได้ เพราะอะไร เพราะคำว่า “เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ” มันก็แทนคำว่า “พุทโธ” แทนคำว่า “ธัมโม” แทนคำว่า “สังโฆ” มันแทนได้ทั้งนั้นล่ะ ถ้าเรานึกอย่างนั้นมันก็ยังเป็นกายนอกอยู่ ถ้ามันสงบเข้ามามันถึงจะเป็นฐานของจิต ถ้าเป็นฐานของจิต กิเลสมันอยู่ตรงนี้ไง ถ้ามันกิเลสอยู่ตรงนี้เป็นกายภาค กายภาคเพราะเรามีร่างกายเรา

หัวใจของเราเราเกิดมาตั้งแต่ปฏิสนธิในไข่ของมารดา ปฏิสนธิปั๊บมันเป็นชีวิตขึ้นมาแล้ว แล้วพัฒนาขึ้นมาอยู่ในครรภ์ ๙ เดือน แล้วคลอดออกมา แล้วเติบโตขึ้นมา แล้วปัญญาศึกษาวิชาการต่างๆ เป็นสุตมยปัญญา แล้วฟังธรรมของครูบาอาจารย์ ฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วมีศรัทธาความเชื่อ เราค้นคว้าขึ้นมามันเป็นจินตมยปัญญาจากการประพฤติปฏิบัติขึ้นมา แล้วจิตสงบเข้ามา สิ่งที่เป็นสันทิฏฐิโก สันทิฏฐิโก ขณะที่จิตสงบขนาดไหน ฤๅษีชีไพรจะเหาะเหินเดินฟ้าขนาดไหนมันก็เป็นเรื่องของโลกียปัญญา มันเป็นเรื่องของฌานโลกีย์

สิ่งที่ฌานโลกีย์มันก็เป็นเรื่องของโลก เรื่องของวัฏฏะมันจะไม่เป็นผล มันไม่สามารถชำระกายภาค ไม่สามารถชำระสิ่งที่ยึดติด กาย จิต มันยึดติด จิตที่เกิดกับร่างกาย มันอยู่กับกาย แล้วมันติดกันโดยสามัญสำนึก โดยสัจจะความจริงของธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ กับจิตมันประสานกันเหมือนกับเป็นกระแส เป็นความจริง

ดูสิ เวลาเราฝัน นอนหลับไปแล้วฝัน ฝันออกไปเที่ยว ออกไปไหนมหาศาลเลย ทำไมจิตมันย้อนกลับมาได้ล่ะ ทำไมมันไม่ตายล่ะ จิตออกจากร่างไปทำไมมันไม่เห็นตาย เพราะมันมีฐานอยู่ตรงนี้ไง ฐานคือตัวผู้รู้ที่จิตอยู่นี่ สิ่งนี้มันมีอยู่

ขณะที่มันมีอยู่ ขณะที่จิตสงบเข้าไปเข้าไปถึงฐานตัวนี้ ถ้าฐานตัวนี้มันออกไปเห็นกาย วิปัสสนากาย สิ่งที่เกิดขึ้นเกิดเห็นกายขึ้นมา ถ้ารำพึงไปเห็นกาย เห็นกายเราก็วิปัสสนาไป วิปัสสนา ถ้ากำลังมันมี วิปัสสนาให้มันเป็นสภาวะไป ให้แขนขาด ขาขาด ให้พุพอง ให้ต่างๆ ถ้ากำลังมี มันเป็นไป พอมันเป็นไปนะ มันจะสะเทือนหัวใจ มันสลดสังเวชไง เพราะอะไร

เพราะจิตมันไปติดที่กายนี้เอง จิตเข้าใจเรื่องของกายโดยผิดไปจากสัจจะความจริงของธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกกายกับใจไม่ใช่อันเดียวกัน แล้วกิเลสในหัวใจก็ไม่ใช่อันเดียวกับใจเหมือนกัน แต่เพราะสัจจะ เราศึกษามา เราไปท่องจำมาจากธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราว่าเรารู้ไง แต่กิเลสมันฉลาดกว่านะ

ดูสิ แม้แต่เราทำความสงบ เราวิปัสสนาไป กิเลสมันจะหลอกไปตลอดว่าสิ่งนี้เป็นสัจจะของเรา วิปัสสนาไป ถ้าจิตสงบแล้ว วิปัสสนาเรื่องของร่างกาย บางทีมันก็ปล่อยวางของมัน เวลาปล่อยวางอย่างนี้ ถ้าเกิดไม่สมุจเฉทปหานคือสังโยชน์ไม่ขาด สิ่งนี้มันก็ไม่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา มันยังเป็นเรื่องของกิเลสอยู่อีกเพราะอะไร เพราะมันไม่ขาดไง กายภาคนี้ไม่เข้าใจตามความเป็นจริง เพียงแต่ทดสอบทางวิทยาศาสตร์ เพื่อทดลองทางวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ทางเคมีออกมาอย่างนั้น

แต่มันยังทำไม่เป็น มันยังทำไม่ได้อย่างถูกต้องตามความเป็นจริง ก็เข้าใจว่าตัวเองรู้ เข้าใจว่าตัวเองรู้ เห็นไหม กิเลสมันสอดเข้ามา ถ้าสอดเข้ามา กิเลสสอด แล้วคนไม่มีหลักเกณฑ์ พอเข้าใจว่าเป็นธรรม...ติด คำว่า “ติด” นี่คือมิจฉา มิจฉาคือเข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นธรรมไง พอปล่อยวางแล้วก็ว่า เป็นธรรม บรรลุธรรม บรรลุธรรม เพราะเข้าใจว่าเห็นสัจจะ เห็นกายจริง แล้วปล่อยวางได้จริง พอปล่อยวางได้จริงมันเป็นตทังคปหาน มันปล่อยวางชั่วคราว มันปล่อยวางโดยที่ยังมีกิเลสอยู่ในนั้นด้วย ยังมีกิเลสรับรู้สิ่งสภาวะแบบนั้น การปล่อยอย่างนี้มันไม่ปล่อยคืนเป็นสัจจะความจริงของเขาทั้งหมด แล้วจะเสื่อมไปข้างหน้าแน่นอน

ถ้ามีสติ มีปัญญาอย่างนี้ ปัญญาอย่างนี้เป็นภาวนามยปัญญาแล้วนะ ปัญญาที่เป็นโลกียปัญญา ปัญญาจากใคร่ครวญจากภายนอกเข้ามาให้จิตสงบเข้ามาเป็นพื้นฐานเข้ามา เกิด กาย เวทนา จิต ธรรม โดยสัจจะความจริงมีพลังงานนี้ อันนี้จะเป็นวิปัสสนา ถ้าวิปัสสนาปล่อยวางขณะนี้มันเป็นตทังคปหาน

แต่ถ้าเป็นสมุจเฉทปหานล่ะ มันวิปัสสนา คือว่าน้อมไปที่กาย น้อมไปที่เวทนา น้อมไปส่วนไหนก็ได้แล้วพยายามจับสถานะสิ่งนี้ไว้ แล้วใช้ปัญญาใคร่ครวญไป แยกออกไป การแยกออกไปคือแยกส่วนการประกอบของมัน ถ้าสิ่งที่ส่วนประกอบ เช่น เวทนามันเจ็บมันปวดใช่ไหม ถ้ามีเวทนาเจ็บปวดอย่างนี้ มันก็สะเทือนหัวใจ ถ้าเราแยกส่วนของมันคือใช้สติปัญญาสอดเข้าไป

เวทนาคืออะไร? เวทนาคือสิ่งที่ว่าจิตไปรับรู้ แล้วจิตที่เวลามันนอนหลับอยู่ทำไมมันไม่รับรู้ล่ะ ที่มันรับรู้เพราะอะไร เพราะความหลง เพราะความไม่เข้าใจ ถ้าปัญญาสอดเข้าไป แยกเข้าไป มันต้องปล่อยวาง มันก็หลุด ปล่อยไป ปล่อยไป ปล่อยไป เริ่มเบาบางไป เบาบางไป นี่ฝึกฝนอย่างนี้ การวิปัสสนาอย่างนี้ถึงที่สุดแล้ว ถึงที่สุดกายภาค สติปัญญานี้คือกายภาค คือการเห็นสัจจะความจริง “กายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย จิตไม่ใช่เรา เราไม่ใช่จิต” ความรู้อย่างนี้ วิปัสสนาเข้าไป นี่สติปัญญา สติโดยการสติ

แม้แต่สามเณร ๗ ขวบ ถึงว่าวิปัสสนาได้ นางวิสาขาก็วิปัสสนาอย่างนี้ได้ สิ่งนี้มันเป็นสติปัญญาของเรา มันเป็นสติปัญญาจากภายใน ถึงว่า สติมันจะฝึกฝนได้ไง สติมันฝึกฝนขึ้นมาจากโลกียะเป็นโลกุตตระ สิ่งที่เป็นโลกุตตระวิปัสสนาขึ้นไปก็เป็นโสดาปัตติมรรค ถ้าเป็นโสดาปัตติมรรค เห็นไหม จะเป็นโสดาปัตติมรรคมันจะรู้จากหัวใจเลย หัวใจมันจะปล่อยวางอย่างใด วิปัสสนาเข้าไปแล้วมันปล่อยวางแบบพระสารีบุตร

เวลาพระสารีบุตรอยู่กับสัญชัย สัญชัยสอนขนาดไหน เข้าใจขนาดไหน ก็ไม่เข้าใจสิ่งใดเลย แต่เวลาฟังพระอัสสชิ “ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ” เหตุคืออะไรล่ะ? เหตุก็คือหัวใจนี่ไง เหตุ ตัวใจมันรู้โดยสัญญา รู้โดยธรรมที่เราศึกษามาจากพระไตรปิฎก แต่เหตุตัวนี้มันไม่เข้าใจสัจจะความจริง นี่สาวไปหาเหตุ ทำลายกันที่เหตุ พอเหตุอันนี้หมด พอทำลายที่เหตุ “ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ” ธรรมที่เหตุสิ้นสุดสิ้นกระบวนการของกาย กายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย กายไม่ใช่จิต กายภาคอันนี้ปล่อยออกไป นี่พระสารีบุตรเป็นพระโสดาบันไปบอกพระโมคคัลลานะ พระโมคคัลลานะก็เป็นพระโสดาบัน

การเป็นพระโสดาบัน แล้วย้อนกลับ ถ้ามีสติสัมปชัญญะย้อนกลับเข้าไป ย้อนเข้าไปนะ ธรรม มรรค ๔ ผล ๔ สติสัมปชัญญะ สติกับสมาธิย้อนขึ้นไปจับวิปัสสนากาย เพราะมันมีอุปาทาน วิปัสสนาขนาดไหน วิปัสสนาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ใช้ปัญญาใคร่ครวญใช้ปัญญาปัญญาจนมันปล่อย ปล่อยขนาดไหนถ้าทำต่อไป เพราะมันเป็นกระบวนการอย่างนี้คือวิปัสสนาญาณ

วิปัสสนาคืองานของเรา งานนะ ทำงานในความสงบของใจ อันนี้มันสงบ ถ้ามันเวลาทำงานไปแล้วเหมือนกับเราใช้พลังงานไป พลังงานสิ่งใด พอใช้มันพร่องไปเราก็ต้องหาใหม่เติมให้เต็มใช่ไหม ในการทำสมถะมันก็คือการพักผ่อนของใจ ขณะใจที่ออกวิปัสสนามันเป็นงาน มันจะเหนื่อยมาก เราทำงานจากวิชาชีพเรา เรายังเหนื่อย เรายังล้า เราต้องมีการพักผ่อนเลย แล้วทำงานของใจมันหนักกว่าเรื่องของภายนอกอีก เพราะอะไร เพราะมันเป็นเรื่องความละเอียดจากหัวใจนั้น ระหว่างที่ว่าปัญญากับกิเลสมันฟาดฟันกันในหัวใจ มันจะเป็นปัญญาไปตลอด

ถ้าอย่างนี้ทำไมพระเราเวลาเดินจงกรมเป็นวันเป็นคืน ตลอดปี ตลอดชีพ ตลอดชีวิตเลย ทำไมทำได้ล่ะ เพราะมันมีงานในหัวใจอย่างนี้ตลอดไป เท้า ร่างกาย เดินไปโดยสัญชาตญาณของเขา หัวใจมันจะพันตูกันอยู่บนหัวใจ ระหว่างกิเลสกับธรรมมันจะทำลายกันอยู่ในหัวใจ ขณะมันปล่อยขนาดไหน ก็ทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนถึงที่สุด กายกับจิตจะแยกออกจากกัน อุปาทานในของร่างกายเรา กายภาคนะ พอกายภาคเข้าไปเพราะอะไร

เพราะจิต สติมันยังเป็นโสดาปัตติมรรค สกิทาคามรรค เวลาทำลายมันขาดออกไปกายกับจิตนี้แยกราบเป็นหน้ากลอง โลกนี้ว่างหมด สิ่งที่ว่าง ถ้าความเห็นผิด สิ่งนี้ก็เพราะสิ่งนี้สิ้นสุดการประพฤติปฏิบัติ

แต่ถ้ามีครูมีอาจารย์ ๑

๒. ถ้าคนที่สร้างสมบุญญาธิการมาจะเข้าใจเพราะได้ศึกษาธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ว่า มรรค ๔ ผล ๔ การกระทำอย่างนี้ ผลที่ตอบมาอย่างนี้มันก็เข้าใจว่าสิ่งนี้มันแค่ขั้นที่ ๒ แต่ถ้าเป็นกิเลสแล้วมันจะติด ติดว่านี่คือสิ้นสุดกระบวนการประพฤติปฏิบัติ นี่ติด

แต่ถ้ามีปัญญา มีสติ ย้อนออก การย้อนออกไป นี้เป็นมหาสติ จากสติเป็นมหาสติ สตินี้ฝึกฝนได้ขนาดนี้นะ เพราะอะไร เพราะจิต กิเลสมันอยู่ที่จิต อยู่ที่กาย อยู่ที่จิตแล้วออกมาติดที่กายภาค กายภาคคือสิ่งที่เราจับต้องได้เป็นวัตถุ เป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรม กายกับจิต ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ เรื่องของธาตุ ความรู้สึกของธาตุจับได้

แต่เพราะหัวใจ เพราะหัวใจมันติดในธาตุนี้ หัวใจมันติดในร่างกายนี้ว่าร่างกายนี้เป็นของเรา นี่อุปาทานในร่างกายนี้ว่าร่างกายนี้เป็นเรา สิ่งที่เป็นเราเพราะมันมีสิ่งที่มือเราจับความรู้สึก จับแขนของเรา แขนของเรา มือเราจับแขนของเรายังรู้ มือเราจับเท้าของเรา เรารู้ว่าเท้าของเรามีความรู้สึกเข้ามา เห็นไหม นี่กายภาคคือสิ่งที่จับต้องได้ สิ่งที่จับต้องได้สติปัญญามันถึงสามารถชำระกิเลสได้ตรงนี้ไง

แต่ขณะที่ปล่อยกายภาคนี้เข้าไปแล้วสิ เรื่องของธาตุ ๔ มันปล่อยวางมาอย่างนี้แล้วมันว่างหมด สิ่งที่ว่างหมด แล้วสิ่งที่จะย้อนกลับเข้าไปหากิเลสมันก็ต้องเป็นมหาสติ แล้วมหาสติฝึกอย่างไรล่ะ? มันก็ต้องทำความสงบของใจ กำหนดพุทโธ พุทโธเข้ามา มันลึกเข้าไป

ดูความว่างสิ ความว่างของพระโสดาบัน ความว่างของพระสกิทา ความว่างของพระอนาคา ความว่างของพระอรหันต์ ความว่างอย่างนี้ก็ต่างกัน เพราะวุฒิภาวะต่างกัน การละสังโยชน์ออกจากใจก็ต่างกัน นี่คือกรรม กรรมดี กรรมดีคือการกระทำ คือภาวนามยปัญญา สิ่งที่เป็นภาวนามยปัญญา กรรมเป็นพาหะให้จิตนี้ตายในวัฏฏะ วนไปเวียนตายเวียนเกิด แต่ขณะที่เราวิปัสสนาอย่างนี้ กรรมอย่างนี้คือกรรมเวียนไปในอริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค จิตนี้กลั่นออกมาจากอริยสัจเป็นขั้นตอนเข้ามา สิ่งที่กลั่นเป็นขั้นเป็นตอนเข้ามา ถ้าเราฝึกฝนเข้าไป มันจะเป็นมหาสติไง ถ้าเป็นมหาสติเพราะอะไร

เพราะจิตมันละเอียดเข้าไป สิ่งที่เราทำ ดูสิ ดูอย่างเราขุดบ่อน้ำ หรือเราขุดน้ำมัน ความลึกความตื้นต่างกัน แล้วความลึกความตื้น ตื้นถ้าของที่อยู่ตื้น มันก็เป็นสิ่งที่ว่าเราจะหลุดง่าย เราจะเอาสิ่งประโยชน์ขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ง่ายเพราะมันอยู่ที่ตื้น มันต้องอยู่ลึก ลึกคือแรงดึงดูดต้องมากกว่า สิ่งต้องมากกว่าอันนี้เป็นความตื้น ความลึก โดยสัจจะความจริงนะ

แต่ถ้าเป็นความตื้น ความลึก โดยอำนาจวาสนาก็อีกเรื่องหนึ่ง เพราะมีอำนาจวาสนา คนที่สร้างอำนาจวาสนามาอย่างนั้น คนที่สร้างมามากมันก็อยู่ที่ตื้น มันก็ทำได้ง่าย คนที่สร้างอำนาจวาสนามาน้อยกว่ามันก็ลึกกว่า มันต้องใช้ความบุกบั่นมากกว่า สิ่งที่อำนาจวาสนาส่วนหนึ่ง

แต่ถ้าเป็นเรื่องของสติกับมหาสติมันเป็นสัจจะความเป็นจริงว่าลึกหรือตื้น เพราะมันลึกอยู่ในหัวใจไง โสดาปัตติผล สกิทาคาผล มันเป็นเรื่องของกายภาค เรื่องของจิตออกมาติดร่างกาย แต่คราวนี้มันปล่อยร่างกายออกหมดแล้ว สิ่งนี้มันเป็นเรื่องของนามธรรมหมดเลย ถ้าเป็นเรื่องของนามธรรม เป็นเรื่องของจิต ถ้าเรื่องของจิตคือขันธ์ละเอียด ถ้าขันธ์ละเอียดเราจะเอาอะไรเข้าไปจับมัน ถ้าสิ่งที่จับมัน มันต้องทำให้ความสงบนี้ละเอียดเข้ามา เพราะละเอียดเข้ามา

เพราะถ้าจิตมันไม่ละเอียด เพราะจิตมันเป็นเรื่องของกามราคะ ถ้าเป็นกามราคะคือกามครอบหัวมันอยู่ สิ่งที่กามราคะครอบตัวจิตนี้อยู่ จิตนี้มันก็ว่ามันก็ว่างหมด มันก็ปล่อยวางหมดเพราะมันไม่เห็นของมัน มันไม่เห็นสิ่งใดเลยเพราะเป็นนามธรรม มันปล่อย มันปล่อยกายภาคเข้ามาใช่ไหม ถ้าปล่อยกายภาคเข้ามามันก็เป็นตัวของมัน มันเป็นตัวของกิเลสไง แล้วเป็นมิจฉา พอเป็นมิจฉาเพราะมันมีกิเลส มันบอกนี่คือว่าง ว่าง ว่างแล้วไม่มีอะไรเลย

แต่ถ้าเราทำความสงบของใจเข้าไป ความว่าง ว่างด้วยกิเลสอันหนึ่งเพราะมันมีสถานะของสกิทาคามรรครองรับ มันถึงเป็นความว่างได้ เพราะกิเลสมันละเอียด กิเลสมันซุกตัวอยู่ในใจดวงนั้น มันไม่ต้องการแสดงตัวของมันออกมา เพราะมีกามราคะ แต่ถ้าเราทำความสงบของใจเข้าไปโดยมีครูบาอาจารย์คอยชี้นำ คอยบอกกล่าวใช่ไหม คอยชี้นำเราเข้ามา ๑ ด้วยสัจจะความจริง โดยความเชื่อของเรา

ครูบาอาจารย์ชี้นำขนาดไหน ถ้ากิเลสมันไม่ยอมรับนะ มันจะปกป้องตัวมันเองว่า นี่คือธรรม นี่คือธรรม มันไม่ยอมรับว่ามันปฏิเสธหรอก ปฏิเสธแม้แต่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วปฏิเสธธรรมของครูบาอาจารย์ด้วย เพราะมันปฏิเสธโดยกิเลสของมันไง ถ้ากิเลสในหัวใจมันมี มันจะปฏิเสธตัวมันเอง กิเลสมันจะปกป้องตัวมันเองว่านี่คือธรรม นี่มันเป็นกิเลสล้วนๆ

แต่ถ้ามันมีสติขึ้นมา มันจะย้อนกลับเข้ามา แล้วมันจะฝึกฝนไปเป็นมหาสติ ถ้าเป็นมหาสติมันถึงมาจับสิ่งที่เป็นนามธรรมได้ สิ่งที่เป็นนามธรรมเพราะมันลึกอยู่ มันลึกด้วยระดับความลึกของจิต เพราะกิเลสมันละเอียดเข้าไป นี่มันถอยร่นเข้ามาถึงเป็นความลึกของมัน ถ้าเป็นลึกของมันมันจับสิ่งนี้ได้ มันจับสิ่งนี้ได้นั่นคือเป็นมหาสติ มหาสติมันถึงไปจับสิ่งที่เป็นกามราคะได้ สิ่งที่เป็นกามราคะถ้าเกิดวิปัสสนากาย

สิ่งที่เป็นกายภาคมันหมดไปแล้ว มันวิปัสสนากายได้อย่างไร

มันพิจารณากายได้ มันปล่อยกายได้หมด แต่กายนี้เป็นกายนามธรรม เพราะกามราคะมันเกิดจากจิต กามราคะไม่ได้เกิดที่กายหรอก แต่กามราคะเกิดจากจิต เพราะจิตนี้มันเป็นตัวจิต แต่เพราะจิต...เราเป็นมนุษย์ เราเป็นคน สิ่งที่เป็นคน สิ่งที่เป็นกามราคะมันก็ต้องการสืบเป็นเพศสัมพันธ์ระหว่างโลก นั่นเป็นเรื่องของโลกเขา

แต่ขณะวิปัสสนามันไม่ใช่เป็นอย่างนั้น มันเป็นเรื่องของจิต ถ้าเป็นเรื่องของจิตจริงมันเป็นอย่างนั้นเพราะอะไร จิตนี้มันเป็นกามราคะ สิ่งที่เป็นกามราคะ เวลาเราพิจารณากายมันจะเป็นอสุภะ มันเป็นอสุภะเพราะอะไร เพราะมันเป็นสิ่งที่สกปรกโสโครกของใจไง

เพราะมันเป็นสิ่งที่ถ้าพิจารณาจิต พิจารณาจิตมันมีกามราคะ กามราคะคือสิ่งที่จิตมันเป็นกาม มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากจิต ถ้าสิ่งที่เกิดขึ้นจากจิต เพราะมันเป็นความปารถนาของจิต ถ้าเป็นความปรารถนาของจิต มันก็ขับเคลื่อนออกมาเป็นตัวของเราเอง สิ่งที่เป็นตัวของเราเอง สิ่งที่เป็นตัวของเราเองคือสิ่งที่ความรู้สึกในร่างกายของเรา ถ้าในร่างกายของเรา เพราะมันเป็นเรื่องของเรา

ถ้าเราย้อนกลับเหมือนกับเราจับผู้ร้าย จับขโมย สิ่งที่เป็นขโมยเราต้องไปจับเขาใช่ไหม มันต้องมีผู้ทำผิด แล้วผู้ทำผิดเขาทำผิดกับเรา แล้วเรารู้ว่ามันผิด แล้วเราไล่ต้อนเขาไปจนเจอ เขาต้องต่อต้านเราใช่ไหม นี่ก็เหมือนกัน นี่เป็นความรู้สึกของกามราคะในหัวใจ แล้วมันเกิดเป็นมหาสติ มหาสติเป็นตัวจับแล้วตัวปัญญาคือตัวใคร่ครวญ ตัวใคร่ครวญเป็นวิปัสสนา วิปัสสนามันเป็นเรื่องของนามธรรมล้วนๆ มันเป็นเรื่องของหัวใจล้วนๆ สิ่งที่เป็นหัวใจล้วนๆ

แต่พิจารณากายเพราะอะไร เพราะมันเป็นเจโตวิมุตติ แต่ถ้าเป็นปัญญาวิมุตติมันจะพิจารณาเป็นขันธ์ พิจารณาเป็นขันธ์อันละเอียด เห็นไหม ถ้าไม่มีสัญญาสิ่งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร สิ่งนี้เกิดขึ้นมาเกิดจากสัญญา เกิดจากจิตที่เป็นพอใจในตัวมันเอง ถ้ามันเป็นพอใจในตัวของมันเอง นี่คือตัวใจมันเสพตัวมันเอง ถ้าเสพตัวเองมันก็มีความรู้สึก มันเหมือนกับตัวขันธ์กับตัวจิต ตัวธาตุรู้ อวิชชากับตัวขันธ์มันสัมพันธ์กัน สิ่งที่มันสัมพันธ์กันมันก็มีความรู้สึก มันยิบๆๆ ในหัวใจเท่านั้น สิ่งที่มันเป็นยิบๆ ในหัวใจคือมันเป็นความรู้สึกของใจ แต่ร่างกายมันก็ไหวออกไป ถ้ามันเป็นการทำความสะอาดกัน มันเป็นสภาวะแบบนั้น

วิปัสสนาอย่างนี้เข้าไปบ่อยครั้งเข้า นี่มหาสติ-มหาปัญญา มันถึงอีกคนละชั้นกับสติปัญญาไง สติปัญญาโดยส่วนหนึ่งนะ มหาสติ-มหาปัญญามันจะลึกเข้าไปในหัวใจของเราอีกชั้นหนึ่ง ถ้าอีกชั้นหนึ่ง สิ่งนี้มันฝึกฝนได้จากการประพฤติปฏิบัติของเรา เราฝึกฝนของเราขึ้นมา เราใช้ปัญญาของเราเข้ามา เราฟาดฟันกับกิเลสของเราเข้ามา มันจะพัฒนาของมันเข้ามา มันถึงเป็นความมหัศจรรย์ไง

ถ้าเราวิปัสสนาไป เราประพฤติปฏิบัติไปนะ มันจะมีความติดข้อง มันจะล้มลุกคลุกคลานไปนะ มันจะไม่ปฏิบัติสะดวกสบายหรอก สิ่งที่ประพฤติปฏิบัติ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ในพระไตรปิฎก ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี อยู่ที่อำนาจวาสนาของแต่ละบุคคล แล้วขณะที่ประพฤติปฏิบัติไปแต่ละขั้นตอนมันจะมีกิเลสของมันต่อต้านตลอด ถ้ากิเลสจะต่อต้าน มันจะล้มลุกคลุกคลานไปตลอด สิ่งที่ล้มลุกคลุกคลานคือประสบการณ์ของจิตดวงนั้น

ครูบาอาจารย์ท่านผ่านอย่างนี้มา ท่านผ่านมาก่อน ถ้าคนไม่เคยผ่านมา เหมือนกับเราขับรถ เราไปเห็น เราจะไปที่ไหนมาก็แล้วแต่ เราจะพูดได้หมดเพราะเราเคยไปเห็นมา แต่ถ้าเราอ่านแต่ เอกสารที่เขาบอกว่านี่แหล่งท่องเที่ยวๆ เราจะไม่เคยเห็นหรอก เรา เออ ที่นั่นน่าไปนะ มันสวยงามอย่างนั้นนะ นี่เหมือนกันเราอ่านพระไตรปิฎกมันก็เป็นอย่างนั้นน่ะ คาดไป หมายไป แล้วมันจะไม่เป็นความจริง นี่เอกสารในการแหล่งท่องเที่ยวยังดีกว่าเพราะมีภาพประกอบ เราจะวาดภาพเป็นอย่างนั้น ถ้าเราไปเห็นจนถึงที่นั่นแล้วมันจะเหมือนไม่เหมือนอีกเรื่องหนึ่ง

แต่ในการประพฤติปฏิบัติมันเป็นการคาดหมายหมด มันจะไม่มีสิ่งที่สภาวะแบบนั้นเพราะ อะไร เพราะมันเป็นเรื่องปัจจัตตัง มันเป็นเรื่องอำนาจวาสนาของแต่ละบุคคล แต่ละบุคคล เห็นไหม สิ่งที่ความบริสุทธิ์เหมือนกันแต่วิธีการและสิ่งที่ต่อต้านคือกิเลสของแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน แล้วจริตนิสัยของคนก็ไม่เหมือนกัน การไม่เหมือนกันมันถึงต้องเป็นอุบาย อุบายสดๆ ใหม่ๆ ของคนคนนั้นเท่านั้น แม้แต่วิปัสสนาไปขนาดนี้ ปล่อยวางขนาดไหน ถ้าใช้อุบายที่เก่ามา มันก็ยัง...มันก็มีกิเลสดึงไป กิเลสมันก็ทำให้ออกนอกลู่นอกทางไป

แต่ทางนี้ประพฤติปฏิบัติไปเคยใช้อุบายอย่างนี้ ถ้ามันวิปัสสนาไปแล้วมันปล่อย แล้วถ้าคราววิปัสสนาไปมันจะย้อนกลับมาตรงนี้ แต่มันเป็นปัจจุบันตรงนั้น เหมือนมันเป็นอดีตที่เราเคยผ่านมา แต่ขณะที่ปัจจุบันมามันเหมือนตรงนั้น เหมือนอาหารที่เราเคยกินนะ เราเคยกินอาหารมาบางอย่างมาแล้ว เรากินจนเบื่อแล้วเราไม่อยากอีก แต่ถ้าทิ้งช่วงไป ไปกินใหม่ มันก็อร่อยเหมือนเก่า

นี่ก็เหมือนกันถึงจะเป็นอุบายว่า “ต้องใหม่ๆๆ ตลอด” ใหม่ตลอดใหม่ในปัจจุบันนี้ไง แต่ถ้ามันจะซับอดีตมาและมาในปัจจุบันนี้มันปล่อยได้ก็ต้องให้ปล่อย การวิปัสสนาไปแล้วมันปล่อย อสุภะมันจะละเอียดเข้ามา ละเอียดเข้ามา สิ่งที่ละเอียดเข้ามามันจะเยิ้มมาจากข้างนอกแล้วเข้ามาถึงตัวใจนะ ถ้าเข้ามาถึงที่ใจมันจะเริ่มปล่อยวางเข้ามา แล้วมันทำลายกันที่ใจนั้น

สิ่งที่เป็นกายภาคมันทำลายกันจากข้างนอกแล้วมันปล่อยวางเข้ามา สักกายทิฏฐิ กายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย ปล่อยเข้ามา มันเป็นเรื่องสติปัญญา แต่ถ้าเป็นมหาสติ มันเป็นเรื่องนามธรรมล้วนๆ สิ่งที่เป็นนามธรรมล้วนๆ มันปล่อยวิปัสสนาไป กามราคะมันเกิดจากใจล้วนๆ ถ้าวิปัสสนาไปถึงที่สุดมันจะปล่อย ปล่อยจนขาด ขันธ์กับจิตไม่ใช่อันเดียวกัน อสุภะระเบิดทั้งหมดเลยที่หัวใจ จะครืนกลืนไปที่จิต จิตนี้ปล่อยไปหมด

แล้วถ้าวิปัสสนาไปมันจะมีเศษส่วนของมัน ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่ามันก็ทำให้เราน่าจะว่า สิ่งนี้เป็นธรรม สิ่งนี้เป็นธรรมไปตลอด นี่กิเลสมันจะหลอกเราไปตลอดเวลาเลย ทั้งๆ ที่เป็นมหาสตินะ สิ่งที่เป็นมหาสติ-มหาปัญญา วิปัสสนาไปมันจะมีความสุขไปตลอด ถ้าเป็นความสุขเพราะมันปล่อยวาง

ดูสิ ดูผลของสมาธิ เราก็ว่าสิ่งนี้เป็นความสุข เวลาเป็นสมาธินี่ปล่อยว่าง ว่าง มีสติพร้อมมีความสุขมาก ความสุขอย่างนี้หินทับหญ้า แต่ถ้าวิปัสสนาไปนะ เวลากิเลสออกไปเหมือนคนเป็นไข้แล้วหายจากไข้ เราเป็นไข้ เจ็บไข้ได้ป่วย เวลาเป็นไข้ เราเป็นโรคเป็นภัยแล้วรักษาหาย มันต่างกันไหม

คนที่มีความสุขอย่างหนึ่ง คนที่เป็นไข้ คนที่ป่วยแล้วหายจากป่วยอย่างหนึ่ง วิปัสสนาไปเหมือนคนป่วยแล้วหายจากป่วยเป็นชั้นตอน แต่หายจากป่วยมันมีเชื้ออยู่ เดี๋ยวมันก็ป่วยอีก มันก็ต้องซ้ำอีก ซ้ำอีก การซ้ำอย่างนี้นี่เป็นวิปัสสนา วิปัสสนาคือการทำลายเชื้อของมัน ทำลายสิ่งที่เป็นอาสวะกิเลสในหัวใจของเรา วิปัสสนาซ้ำแล้วซ้ำเล่าถึงที่สุดมันจะทำลายตัวมันเอง ทำลายออกไปจากจิต ตัวจิตปล่อยเข้ามา แล้วซ้ำเข้าไป ซ้ำเข้าไป มันจะเหลือเศษส่วนของมัน พระอนาคามี ๕ ชั้น สิ่งที่อนาคา ๕ ชั้นละเอียดเข้ามา สิ่งนี้ละเอียดเข้าไป จนหมดนะ ว่างหมด ติดเหมือนกัน ติดเพราะอะไร เพราะสิ่งนี้เป็นความว่างใช่ไหม ว่างหมด

แล้วเราเวลาศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ความว่าง ว่าง แล้วกิเลสมันละเอียดนะ ละเอียดมาก ละเอียดจนสิ่งนี้มันว่ามันเป็นตัวมันเอง สิ่งที่มันว่างเหมือนกับเราทำลายใครทุกคน เห็นไหม ในสังคมเราทำลายเขาหมดเลย แล้วเหลือเรา เพราะเราก็เป็นสังคมนั้น เพราะมันเป็นสมมุติไง สิ่งที่เป็นสมมุติ ในเมื่อเราเป็นมนุษย์ มนุษย์ทุกคนมนุษย์อื่นไม่มีหมดเลยเราทำลายเขาหมด เราก็เป็นมนุษย์

นี่ก็เหมือนกันเราทำลายสิ่งต่างๆ ทั้งหมดเลย มันเหมือนตัวมันเอง มันก็รักษาตัวมันเอง ถ้าย้อนกลับมาตรงนี้มันจะเป็นอัตโนมัติเพราะมันไม่ใช่ตัวขันธ์กับจิต ถ้าเป็นตัวขันธ์กับจิต เหมือนกับเราเอามือสองนี้จับกันหรือมือนี่เราไปจับวัตถุสิ่งใด ข้าวของสิ่งใดถ้าเราเอามือไปจับต้อง เราจะรู้ว่าสิ่งนั้นมีหรือไม่มี แต่ถ้าสิ่งข้าวของมันไม่มี แล้วมือไปจับต้องสิ่งใด ถ้าจับต้องสิ่งใด เพราะมือมันไม่มี เพราะมันเป็นนามธรรม มือมันยังมีความรู้สึกตัวมันเองนะ

แต่ถ้ามันเป็นจิตนะ แล้วจิตมันปล่อยวางเข้ามา แล้วมันมีมานะไง รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา มันเป็นมานะในตัวมันเอง เป็นมานะเป็นทิฏฐิ “เสมอเขา สำคัญก็เสมอเขา สูงกว่าเขา สำคัญว่าสูงกว่าเขา” มานะตัวนี้มันจะไม่ยอมให้รู้จักตัวเองเลย ถ้าไม่ยอมให้จับตัวมันเอง มันก็จะติดอยู่อย่างนั้นน่ะ ถ้าติดอยู่อย่างนั้นมันก็ไปเกิดบนพรหม แล้วมันก็จะสุกไปข้างหน้า

แต่ถ้าเรามีครูบาอาจารย์ชี้นำเข้ามา ย้อนกลับเข้ามา สิ่งนี้เป็นปัญญาญาณ จากสติ เป็นมหาสติ แล้วเป็นสติอัตโนมัติ มันเป็นอัตโนมัติเลยเพราะมันละเอียดมาก สิ่งที่ละเอียดมากมันจะเห็นเรื่องอาการของใจนะ การประพฤติปฏิบัติ ใจดวงหนึ่งจากใจดวงหนึ่ง ถ้าใจดวงนั้นไม่เคยประสบการณ์อย่างนี้มา เวลามีลูกศิษย์มาถามจะงงไปหมดน่ะ มันไม่กล้าพูดหรอก เพราะอะไร เพราะเราก็ไม่เคยเห็น สิ่งที่เราไม่เคยเห็นเราพูดออกไป มันมีผิดกับถูกนะ ถูกก็เป็นความถูกด้วยความคาดหมายมันไม่ใช่สัจจะความจริงหรอก

แต่ถ้ามันเป็นความจริงของใจนะ มันไม่มีความถูกหรือผิดหรอก มันเป็นอย่างนั้น

เวลาครูบาอาจารย์ท่านสั่งสอนลูกศิษย์ “ต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนั้น”

ถ้าเราเดินไป เหมือนกับเราไปที่ไหนก็แล้วแต่ ผ่านไปนะต้องถึงจุดนั้น จุดนั้น มันจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้หรอก ถ้ามันเป็นอย่างอื่นแสดงว่ามันไม่ได้เข้าไปจุดนั้น ถ้ามันจะเข้าไปจุดนั้น มันต้องเป็นอย่างนั้น อย่างนั้น อย่างนั้น เข้าไปจนถึงจุดนั้น เพราะสิ่งนี้มันเป็นสัจจะความจริง จะวิปัสสนาแขนงไหนก็แล้วแต่ มันจะต้องมาเป็นอย่างนี้เหมือนกัน เพราะจิตนี้มันท่องเที่ยวไปในอริยสัจ ถ้ามันไม่ท่องเที่ยวไปในอริยสัจ มันออกไปนอกอริยสัจ มันจะไปเห็นสิ่งนั้นได้อย่างไรล่ะ

ถ้าสิ่งนั้น จะถ้ำไหนเข้าคูหาไหน มันต้องเข้าปากถ้ำ เหมือนกับเราเข้าบ้านต้องเข้าที่ประตูบ้าน จะไปกระโดดเข้าทางไหน เข้าทางไหนมันก็ชนออกมากระเด็นหงายออกมา มันไม่ได้เข้าหรอก ถ้าไม่ได้เข้าเราเข้าใจว่าเข้า นี่เข้าใจว่าด้นเดาธรรม ถึงบอกว่าถ้าไม่มีคุณธรรมในหัวใจ พูดอย่างไรมันก็ไม่ถูกหรอก แต่มันถูกโดยว่าถูกใจคนพูด แต่มันไม่ถูกธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ถ้ามันถูกธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันถึงต้องเห็นสภาวะแบบนี้ สภาวะที่ว่ามันถึงปล่อยวางขนาดไหน นี่ตัวนี้เป็นตัวมัน ตัวกิเลสตัวอวิชชา สิ่งที่เป็นอวิชชามันเป็นพญามาร มันเป็นสิ่งที่ละเอียดลึกลับมาก ถึงว่าถ้ามีอำนาจวาสนาย้อนกลับจับตัวนี้ได้ มันถึงเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์มาก แม้แต่การจับ จับขโมยได้ มันก็เป็นสิ่งที่มหัศจรรย์พอสมควรแล้ว...ไม่พอสมควรมันมากจริงๆ เลยล่ะถ้าจับสิ่งนี้ได้นะ จับสิ่งนี้ได้แล้วย้อนกลับจะเป็นปัญญาญาณ ปัญญาญาณอย่างนี้มันถึงไม่ใช่อุทธัจจะไง

รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา เพราะอุทธัจจะการขยับเขยื้อน การกระทำนี้มันเป็นอุทธัจจะ อุทธัจจะคือการขยับออกไป ถ้าขยับออกไปมันเป็นการส่งออก มันไม่เป็นอรหัตตมรรค มันเป็นการส่งออก มันเป็นกิเลส กิเลสอย่างละเอียดนะ กิเลสคือห้ามขยับ ห้ามทำงาน ห้ามคิด ถ้าคิดนี่มันเป็นตัวมันเอง มันเป็นกิเลสแล้ว เพราะคิดนี้เป็นขันธ์

เหมือนกับว่าเราอยู่ที่เรานี้ ในตัวเรานี้เราจะทำความสะอาดตัวเรานี้ เราไปทำความสะอาดคนอื่น อย่างนี้เราจะสะอาดได้ไหม? มันเป็นไปไม่ได้หรอก เหมือนกับเราอยู่ด้วยกันแล้วเราทำความสะอาดคนอื่น ก็คือระหว่างขันธ์กับจิตไง จิตเวลาขยับมันก็เป็นขันธ์ แต่ถ้ามันย้อนกลับเข้าไปมันก็เป็นอวิชชา ตัวอวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เพราะมันเป็นปัจจยาการ มันเป็นอันเดียวกัน

มันถึงว่ามันเป็นปัญญาญาณ มันเป็นการซึมซับ มันเป็นการกลืนตัวมันเอง สิ่งที่กลืนสิ่งที่ละเอียดที่สุดแล้วทำลายตัวมัน สิ่งที่ละเอียดที่สุดนี่มรรคญาณ มรรคญาณที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม อาสวักขยญาณ อาสวักขยญาณสิ่งนี้ที่มันเข้าไปกลืนตัวมันอาสวะ อาสวะกิเลส อาสวะขัย กิเลสหลุดออกไปจากหัวใจ นี่เป็นสิ่งที่เป็นสติอัตโนมัติ

ถ้าสติอัตโนมัติเกิดขึ้นมาแล้วมันจะทำลายตัวมันเอง ทำลายด้วยปัญญานะ สติ ถ้าสติตัวเดียวทำลายตัวเองได้ไหม สติคือตัวจับไว้ ถ้าเกิดสมาธิ เกิดสมาธิที่มันละเอียดอ่อนเป็นมรรคญาณ มรรค ๘ มรรคอันละเอียด อรหัตตมรรคจะย้อนกลับเข้ามาแล้วกลืนตัวมันเอง ทำลายตัวมันเองเพราะสิ่งที่ว่าเป็นอัตโนมัตินี้มันก็เป็นสมมุติ ถ้ายังเป็นสมมุติอยู่มันก็เป็นเรื่องสมมุติบัญญัติ ถ้าเป็นสมมุติบัญญัตินี้คือธรรมและวินัยที่ให้เราก้าวเดิน

สิ่งที่ก้าวเดินเข้าไปจนทำลายอวิชชาออกไปจากใจทั้งหมด ออกไปจากใจ แล้วตัวใจมันทำลายแล้วอะไรออกไปล่ะ? คือกิเลสมันออกไป มันก็เหลือแต่วิมุตติสุขล้วนๆ ไง ถ้าวิมุตติสุขแล้วมันเป็นวิมุตติ

ถ้าว่า สติเป็นอัตโนมัติ นี้เป็นสมมุติที่เราพูดถึงธรรมของครูบาอาจารย์ที่จิตท่านพ้นจากทุกข์แล้วมันเป็นอัตโนมัติ อัตโนมัติคือว่าถ้ามันกระเพื่อมแล้ว แต่ถ้าเป็นอัตโนมัติ สิ่งที่ยังพูดอยู่ได้ มันก็เป็นสมมุติ สิ่งที่สมมุติ สมมุติมันคืออรหัตตมรรค อรหัตตผล มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ นิพพานพ้นออกไป นี่จิตพ้นออกไปจากทุกข์ทั้งหมด

การฝึกสติมันเป็นแบบนี้ไง สติแบบหยาบๆ สติแบบโลกๆนะ สติแบบโลกจนเป็นโสดาปัตติมรรค มันเป็นสติของพระอริยเจ้า เป็นสติของกัลยาณปุถุชน เป็นสติของบุคคล ๘ จำพวก ๘ จำพวก โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติมรรคผล บุคคล ๘ จำพวก สังฆคุณ นี่บุคคล ๘ จำพวก จิตนี้มันพัฒนาของมันไป

จากปุถุชนคนหนาด้วยกิเลสแล้วถ้าเกิดมีสติ แล้วสตินี้มันโดยที่มันเป็นกิเลสพาใช้ มันก็เป็นโจร เป็นมาร จะทำลายเขาตลอดไป แต่ถ้ามันมีสติ พอสิ่งที่เป็นสติแล้วมันเกิดปัญญาขึ้นมา มันก็จะพัฒนาขึ้นมาเป็นอริยะ สติของพระอริยเจ้า เป็นบุคคล ๘ จำพวก บุคคล ๘ จำพวกจนจบเพราะ ๘ จำพวกหมายถึงว่าพวก พวกคือหมู่ คือเหล่า เหล่าของจิตที่มันเป็นวุฒิภาวะ วุฒิภาวะระดับนี้มาอยู่กับพวกนี้ ถ้ามันพัฒนาถึงจุดนี้มันก็เป็นอีกพวกหนึ่ง โสดาปัตติมรรคก็อยู่ที่ขั้นของโสดาปัตติมรรค ถ้าไม่เป็นโสดาปัตติผลมันมีโอกาสเสื่อม พวกนี้ยังขยับเขยื้อน

แต่ถ้าเป็นโสดาปัตติผลไปแล้ว เป็นอีกพวกหนึ่งเป็นบุคคลที่ ๒ บุคคลที่ ๒ นี่เป็นอกุปปธรรม ผลของพระโสดาบันจะไม่มีการเสื่อมเด็ดขาด นี่บุคคล ๘ จำพวกแล้วพัฒนาขึ้นไปเป็นสกิทาคามรรค เป็นสกิทาคาผล สกิทาคาผลก็เป็นอกุปปะอีก ระหว่างที่เป็นโสดาปัตติมรรค แล้วโสดาปัตติผล แล้วจะขึ้นเป็นสกิทาคามรรค สกิทาคามรรคเจริญแล้วเสื่อมได้ เจริญแล้วเสื่อมเพราะอะไร

เพราะมันยังไม่สมุจเฉทปหาน มันยังไม่เป็นอกุปปธรรม สิ่งที่ขณะเป็นฝ่ายเหตุคือฝ่ายมรรค บุคคลที่สติเป็นอริยเจ้านี่แหละ แต่มันยังเสื่อมอยู่ แต่ถ้ามันเป็นอกุปปะไปแล้ว มันเป็นสกิทาคาผลไปแล้ว สิ่งนี้ไม่เสื่อมเด็ดขาด พัฒนามาถึงช่วงนี้ขึ้นไปก็เป็นมหาสติแล้ว

สิ่งที่เป็นมหาสตินี่พรรคพวกของบุคคล บุคคล ๘ จำพวกนี้ยังเป็นสมมุติบัญญัติอยู่ คือมันเป็นทฤษฎี วิธีการ ธรรมและวินัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกจากใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ววางธรรมและวินัยนี้ให้บุคคล ให้บุคคลเอกบุรุษ เอกสตรี พุทธบริษัท ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เอกบุรุษ เอกสตรีที่จะพัฒนาจิตของตัวจากปุถุชนให้เป็นอริยบุคคลเป็นขั้นเป็นตอนขึ้นมาเป็นบุคคล ๘ จำพวก วุฒิภาวะของจิตที่จะพัฒนาอยู่ที่บุคคลจะพัฒนา อยู่ที่พวกใด อยู่ที่จุดใด อยู่ที่กลุ่มใด เห็นไหม บุคคล ๘ จำพวก

จนพ้นออกไปเป็นนิพพาน ๑ ไม่มีพวกใดๆ ทั้งสิ้น พ้นจากกระบวนการของสมมุติบัญญัติ

สิ่งนี้พ้นออกไปจากวัฏฏะ วัฏฏะคืออำนาจของกรรม กรรมเป็นพาหะ กรรมเป็นสิ่งที่ควบคุมจิตนี้หมุนไปในวัฏฏะนี้เกิดตาย เกิดตาย ตายตามอำนาจของกรรม อำนาจของกรรมคือซัดบุญกุศลและบาปอกุศล ขณะที่เราสร้างบุญ การที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา จิตที่ท่องไปในอริยสัจ สิ่งที่ท่องไปในอริยสัจอยู่ที่บุคคลไหน ถ้าเป็นโสดาบันก็ยังเกิดอีก ๗ ชาติ สกิทาอีก ๓ ชาติ ถ้าเกิดเป็นอนาคา งดแล้วพ้นแล้วจากกามภพ มันก็จะพ้นไป ถ้าเกิดบนพรหมก็จะสุกไปเลย

ถ้าพ้นจากกิเลสทั้งหมด พ้นออกไปจากวัฏฏะเป็นวิวัฏฏะ วิวัฏฏะก็ยังมีเพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่ธาตุ ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์ที่เป็นภาระ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วก็ยังเทศน์อยู่ ๔๕ ปี วางธรรมและวินัยนี้เพราะยังสื่อ เพราะยังมีอยู่ ยังมีหัวใจนี้อยู่ ยังมีสมมุติอยู่ สมมุตินี้เป็นแค่ภาระแต่หัวใจเป็นวิมุตติ

แต่ถ้าเป็นปุถุชน มันเป็นเราทั้งหมด ไม่มีสัจจะอะไรเลย เป็นสมมุติล้วนๆ แล้วจิตที่มันไม่เคยตาย มันอยู่ในร่างกายของเรามันก็เป็นสมมุติไปด้วยเพราะมันโดนกิเลสครอบงำ โดนพญามารครอบงำ

แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม “มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา...” มารเกิดจากเรือนยอด เกิดจากอวิชชาในดำริของเรา “...บัดนี้เราทำลายเจ้าแล้ว เจ้าจะเกิดจากใจของเราอีกไม่ได้เลย” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีชีวิตอยู่ ท่านยังเทศนาว่าการ วางธรรมและวินัยไว้ แล้วเราเกิดเป็นสาวก-สาวกะ เกิดมาเจอธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

มันถึงว่า เป็นสาวกก็เกิดมาด้วยบุญกุศล เกิดถึงคราว ถึงกาล กาลและคราวนี่โอกาสไง โอกาสที่เราได้ประพฤติปฏิบัติ ถ้าโอกาสของเราไม่มีนะ เราจะประพฤติปฏิบัติขนาดไหน

ย้อนกลับไปที่หลวงปู่มั่นสิ หลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ ธรรมพระไตรปิฎกก็มีอยู่ทั่วไป แต่ในการประพฤติปฏิบัติต้องตรวจสอบ ทดสอบ ตรวจสอบ ทดสอบ ศึกษานะ ตรวจสอบแล้วมาทดสอบ ทดสอบกับจิต ถ้ามันเป็น เห็นไหม ทดสอบแล้วใช่ อันนี้กิเลสเบาบางลง ถ้าไม่ ถ้าทดสอบแล้วออกจากสมาธิมาก็ยังไม่ใช่ เพราะอะไร เพราะมันเหมือนเดิม มันไม่เบาบางลงเหมือนเดิม ทดสอบถ้ามันเบาบางลง ใช่ พอใช่ย้ำเข้าไปถึงที่สุดมันก็ขาด พอขาด เห็นไหม นี่บุกเบิก

ทั้งๆ ที่ธรรมและวินัยมีอยู่นะ ขณะที่สร้างสมมาอย่างนี้ แล้วเราเกิดมาเราพบครูบาอาจารย์ของเราแล้วเราทำไมจะไม่มีกำลังใจ เราทำไมไม่ประพฤติปฏิบัติ นี่โคนำฝูงนะ จะนำฝูงเรา ถ้าเราเป็นไข้ เราเจ็บไข้ได้ป่วย เราไปหาหมอ หมอบอกไข้เราได้ วิธีการรักษาเราได้ เราจะเชื่อหมอนั้นไหม ถ้าเราไม่เชื่อหมอนั้น มันก็น่าเสียดายนะ แต่ถ้าเราไม่มีหมอ เราก็ต้องรักษาของเราไปเอง ถูไถของเราไปเองจนกว่าโรคจะหาย แล้วมันจะหายไม่หายก็อยู่ที่อำนาจวาสนา

แต่ถ้าเราเจอครูบาอาจารย์ของเราเหมือนไปหาหมอ หมอบอกไข้ของเรา แล้วบอกยาอย่างนั้นๆ แล้วเรารักษา ไปหาหมอหมอรักษาจนหายก็คือหายนะ แต่ถ้าไปหาหมอในทางวินัย หมอบอกยาแล้วเราก็หายา ดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบคือมรรคญาณไง ถ้าเราหายาครบ ๘ มรรค ๘ แล้วผสมยาขึ้นมาได้ ปัญญาเกิดขึ้นมาได้เป็นภาวนามยปัญญาก็จะปรับชำระกิเลสของเราเป็นบุคคล ๘ จำพวก ยกวุฒิภาวะเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป จนถึงที่สุดพ้นออกจากวัฏฏะ เอวัง