โรคเรา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๙
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “โรคกรรมหรือเปล่า หนูชักท้อแล้ว”
กราบนมัสการหลวงพ่อที่เคารพค่ะ หนูขออนุญาตถาม ป่วยเป็นหลายโรคมาก แต่หนักที่สุดคือปวดหลัง ผ่าตัดมาแล้วถึง ๒ ครั้งก็กลับแย่ลงไปยิ่งกว่าเดิมบางครั้งอยู่ดีๆ เหมือนมีคนมากระตุก จนหนูยืนและเดินไม่ได้เลย บางครั้งพอเป็นมากๆ หนูก็เริ่มท้อแล้ว หนูก็ภาวนาอยู่เป็นประจำ แต่ก็มีบางทีรู้สึกว่าเวลาป่วยแล้วไม่อยากทำอะไรเลย ขอหลวงพ่อเมตตาตอบหนูด้วยว่า หนูควรจะปฏิบัติอย่างไร และต้องเร่งภาวนาให้มากกว่านี้หรือเปล่าคะ บางครั้งเป็นบ่อยมาก เดินไม่ได้เลย กราบนมัสการค่ะ
ตอบ : นี่พูดถึงว่าเรื่องโรคไง ถ้าพูดถึงโรค เวลาโรค มันก็มาในบาลีอีกแหละ เพราะว่าส่วนใหญ่แล้วเราประพฤติปฏิบัติกับครูบาอาจารย์มา พระสมัยเป็นพรรคเป็นพวกกันเขาเป็น ๙ ประโยคจากวัดบวรฯ เขาพยายามจะชวนเราให้ไปศึกษาก่อน แต่เราไม่ เราอยากจะประพฤติปฏิบัติโดยตรง เราอยากจะเป็นกรรมฐาน
เขาจะขอร้องนะ มีพระขอร้อง เพราะว่าเวลาพระเขาคุยกับเรา เขาเห็นปฏิภาณของเรา เขาเห็นปัญญาของเรา เขาก็จะชวนเราให้ไปเรียนให้จบ ๙ประโยค แต่เราไม่ยอม เราหนีออกมา เราไม่ยอม เราจะประพฤติปฏิบัติ
ทีนี้เวลาปฏิบัติขึ้นมาแล้วเราก็เข้าใจว่า โรคนี้จะบอกด้วยความรู้สึกของตนเขาบอกว่าอย่าเชื่อ อย่าเชื่ออารมณ์ความรู้สึก ให้เชื่อเหตุเชื่อผล ทีนี้เวลาเชื่อเหตุเชื่อผล เราจะคุยกัน เราต้องคุยกันด้วยเหตุผล
ฉะนั้น เวลาเราประพฤติปฏิบัติแล้ว เราก็มาค้นคว้าด้วยตัวเราเอง เราค้นคว้าในพระไตรปิฎก เราค้นคว้าด้วยตัวเราเอง ฉะนั้น ค้นคว้าด้วยตัวเราเอง เพราะอะไร เพราะเราจะสื่อสารกับโลก เราจะสื่อสารกับมนุษย์ เราก็ต้องสื่อสารกันโดยทางวิชาการ โดยทางวิชาการปั๊บ ทีนี้จะบอกว่าโรคกรรมๆ เราก็ศึกษา
เวลาเราพูด เราจะบอกว่า เราค้นคว้าด้วยตัวเราเองในพระไตรปิฎก ในพระไตรปิฎก ตู้พระไตรปิฎก แต่พอสุดท้าย พอเขามีการโต้แย้งกันเรื่องพระไตรปิฎกเขาก็โต้แย้งกันเองว่าในพระไตรปิฎกเชื่อถือไม่ได้ ทางนักวิชาการเขาโต้แย้งกันเองว่าเชื่อถือไม่ได้ เชื่อถือไม่ได้เพราะอะไร เชื่อถือไม่ได้เพราะว่าพระไตรปิฎกของประเทศไทยมันยังรวบรวมโดยไม่สมบูรณ์ มันรวบรวมมันไม่สมบูรณ์ไง ภาษาบาลีเขาไปเก็บมาไง
เวลาเราเสียกรุง เสียกรุงหลายครั้งเข้า พอหลายครั้งเข้า เขาพยายามจะเก็บรวบรวมมาให้ได้ครบ ๔๕ เล่ม ได้ครบในพระไตรปิฎก แล้วมาครบสมบูรณ์ในสมัย ร.๕ แล้ว ร.๕ ท่านรวบรวมเสร็จแล้ว ท่านพิมพ์แปลเป็นภาษาไทย พิมพ์ครั้งแรกที่แจกไปทั่วโลกโดยพระปิยมหาราช แล้วทางวิชาการเขาพูดกันเอง เขาบอกว่า เวลารวบรวมมามันเป็นงานใหญ่ พองานใหญ่ มันก็เป็นคณะทำงาน พอคณะทำงาน มันก็เป็นผู้ที่แปลบาลีเป็นภาษาไทย
ทีนี้พอแปลบาลีเป็นภาษาไทย มันเป็นคณะใช่ไหม เป็นคำคำเดียวกัน อย่างเช่นคำว่า “เรา” ภาษาบาลีจะเป็นตัวอะไรก็แล้วแต่ แปลว่าเรา แต่บางคนแปลว่าท่าน แปลว่าคุณ อย่างนี้ คำคำเดียวกันนี่แหละ ในพระไตรปิฎกที่แปลเป็นภาษาไทย คำบาลีเป็นคำเดียวกัน แต่แปลเป็น ๓-๔ สำนวน อยู่ในบาลีนั่นน่ะ เขาถึงบอกว่ามันยังไม่สมบูรณ์ มันต้องมาขัดเกลา มันต้องมีคณะกรรมการมาดูแลมาแก้ไขในพระไตรปิฎก
เวลาเราอ้างกัน เราก็อ้างพระไตรปิฎกนะ แต่เรามาฟังพวกนักวิชาการ นักวิชาการเขาแบบว่ามาทบทวนพระไตรปิฎกของพวกเรากันเองว่าอะไรเชื่อได้ อะไรเชื่อไม่ได้ อะไรจริง อะไรยังไม่จริง ทางเขายังลงใจกันไม่ได้เลย
ฉะนั้น เวลาเราบอกว่า เวลาเราศึกษา เราศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเอง พอค้นคว้าด้วยตัวเอง เราไม่ได้บาลี เราก็ดูภาษาไทยนี่แหละ พอดูภาษาไทย เราก็มาเจอธรรมข้อนี้เหมือนกัน ไอ้คำว่า “เวลาเราพูด” เราจะพูดโดยสิ่งที่เราเคยผ่านสายตา คือเราเคยศึกษามาในพระไตรปิฎก แต่พอศึกษาในพระไตรปิฎกแล้ว เราก็ใช้ปัญญาของเราใคร่ครวญ มันมีเหตุมีผล มันเชื่อได้
พอมันเชื่อได้ พูดถึงโลก เรามาเทศน์บ่อย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าเรื่องโรคเกิดได้ ๓ อย่าง อย่างหนึ่งโดยความชราคร่ำคร่า โดยปกติของมนุษย์ มนุษย์เราชราคร่ำคร่า มันจะเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นเรื่องธรรมดา นี่เป็นความจริงอันหนึ่ง กับมนุษย์จะป่วยได้ที่ว่าหาเหตุหาผลไม่ได้ ถ้าหาเหตุหาผลไม่ได้ มันเป็นเรื่องโรคกรรม แล้วอีกอย่างหนึ่ง มนุษย์ที่มันไม่ใช่ชราคร่ำคร่า แล้วไม่ใช่กรรมด้วย แต่เป็นเพราะอุปาทานของเอ็ง ป่วยเพราะอุปาทาน คิดจนเป็น วิตกวิจารณ์จนเป็น
ป่วยนี่ บาลีแปล ที่เราศึกษามา โรค บอกว่า ป่วยเกิดได้ ๓ ช่องทาง ช่องทางหนึ่งคือโรคที่ชราคร่ำคร่าคือมันป่วยจริงๆ สองคืออุปาทานของเอ็งน่ะ เอ็งคิดจนเป็น เอ็งคิดแล้วคิดเล่าตอกย้ำจนเอ็งเป็นหมดน่ะ แล้วสามคือโรคของกรรมโรคของกรรม คนเรามีเวรมีกรรมกันมา ถึงเวลากรรมมันให้ผลขึ้นมา นี่โรคกรรมฉะนั้น นี่เป็นโรคของกรรม โรคเกิดได้ ๓ อย่าง
ทีนี้เราค้นคว้ามา เราศึกษามาด้วยตัวเองในพระไตรปิฎก ในบาลี เราก็เชื่อของเรา แล้วเราเชื่อของเราแล้ว เราใช้ปัญญาของเราใคร่ครวญแล้ว เพราะเราค้นคว้ามา มันมีที่มา มีที่มาคือมันมาจากบาลี แล้วเราก็ใช้ปัญญาของเราใคร่ครวญด้วยว่ามันจริงไหม เราเห็นว่ามันจริง พอมันจริงขึ้นมา เราก็มาพูด
เราจะพูดว่า สิ่งที่เราพูด เราไม่ได้พูดด้วยตัวของเราเอง ไม่ได้พูดด้วยความเห็นของเราเอง เราพูดมา เราค้นคว้ามาจากบาลีไง ฉะนั้นบอกว่า โรคมันเกิดได้๓ ช่องทาง ช่องทางหนึ่งคือโรคที่เจ็บไข้ได้ป่วยเป็นธรรมดา โรคคือโรคอุปาทานอีกโรคคือโรคกรรม
ฉะนั้น เวลาคำถามถามว่า โรคที่เขาเป็นนี่เป็นโรคกรรมหรือเปล่า
เราจะตอบว่า เป็นโรคของเรา มันจะกรรม มันจะเป็นอุปาทาน หรือมันจะเป็นโรคชราคร่ำคร่า มันก็เกิดที่ตัวเรา เห็นไหม เราป่วยหรือเปล่า ป่วย ถ้าเราป่วยก็โรคของเรา มันก็เป็นโรคของเรา เป็นโรคของใครล่ะ แต่นี่มันอ่อนแอเองไง พออ่อนแอเองขึ้นมา
เพราะเรามีลูกศิษย์ที่นี่นะ เวลาโยมที่มาภาวนาด้วยกัน บางคนเขาเป็นโรคมะเร็ง เป็นแล้วหายไป ๓ หน ๔ หนนะ ที่มาภาวนากันอยู่นี่ คนอื่นเขาก็เป็น เป็นแล้วเขารักษาจนหาย พอหายแล้ว โรคมะเร็ง ถ้าดูแลรักษาไม่ดีมันก็จะเป็นซ้ำ พอเป็นซ้ำ เขาก็ดูแลรักษาของเขา รักษาของเขา ดูแลของเขา แล้วเขาก็เป็นซ้ำ เป็นซ้ำแล้วเขาก็ดูแลของเขา เขาก็รักษาของเขา เขาก็เป็นซ้ำ เป็นซ้ำถึง ๓ หน ๔หนนะ แล้วเขาก็มาเอากำลังใจ มาภาวนาที่นี่ เราจะบอกว่า คนที่เขาเป็นอย่างนี้เป็นโรคกรรมหรือเปล่า
เวลาเขามา เขาก็มาหาเรา เหมือนโยมผู้ถาม เขามาหาเรานะ “หลวงพ่อ ไม่รักษาแล้วแหละ ไม่ไหว มันไม่ไหว มันทุกข์มาก”
เราบอกว่า ถ้ายังมีโอกาสอยู่ เอ็งทำไมไม่รักษาล่ะ ถ้ามันยังมีโอกาสอยู่ เอ็งก็ไปรักษาสิ มันเป็นโอกาสไง โอกาสนี่ โลกเขาเรียกร้องกัน เขาแสวงหากัน แล้วถ้าเวลาเอ็งรักษามาแล้วมันทุกข์นะ ให้คีโมมันทุกข์มาก แล้วรักษามาแล้วรอบหนึ่ง พอรอบสองเขาก็ไป พอรอบสามเขามาหาเรา “หลวงพ่อ พอแล้ว” ทิ้งเลย
แต่เราบอกเขา เราบอกเขาว่า ถ้ายังมีโอกาสอยู่ เอ็งควรไปรักษา ถ้าไม่รักษาแล้ว ถ้ามันหนักกว่านี้ไป เอ็งจะทุกข์กว่านี้ไง ถ้ารักษาแล้วมันก็เท่ากับบรรเทาไว้บ้าง ถ้ามันทุกข์มันก็ช่วยกันดูแล ช่วยกันประคองกันไป เขาก็ไปรักษานี่ไง เราจะบอกว่า เขาเป็น ๓ หน ๔ หน มันก็เป็นไปได้
นี่ก็เหมือนกัน เวลาเขาบอก ที่เราพูดนี่เราจะพูดให้เขามีกำลังใจเท่านั้นน่ะมันเป็นโรค เขาบอกจะเป็นโรคกรรม
จะโรคกรรม โรคอะไร โรคกรรมก็บอกว่า โอ้โฮ! นี่มันมาแต่อดีต แล้วปัจจุบันนี้เป็นคนดี แล้วนี่โรคกรรม จะเป็นโรคกรรมก็ทำให้เราน้อยใจ ถ้าจะเป็นโรคอะไรก็แล้วแต่ เราก็แบบว่าตัดทอนกำลังใจตัวเองทั้งนั้นน่ะ
แต่ถ้าบอกว่า เราจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ มันเป็นเวรเป็นกรรมของเรา เราจะดูแลรักษาตัวเรา เราจะสู้ของเรา ถ้าจิตใจมันเข้มแข็งขึ้นมานะ ดูสิ เวลาทางโลกตอนนี้เขาพยายามจะแบบว่าเป็นผู้ที่ให้แนวทาง ให้กำลังใจกันน่ะ ทางโลก เขาเป็นแรงบันดาลใจๆ เขามีของเขานะ บางคนพิการนะ ดูว่าเขาเป็นคนพิการ แต่เวลาเขาดำรงชีวิต เขาเข้มแข็งกว่า เขาทำงานของเขาได้ผลประโยชน์มากกว่าไอ้คนสมบูรณ์ด้วย นี่มันเป็นแรงบันดาลใจไง ถ้ามันมีแรงบันดาลใจขึ้นมา ที่ว่าจะเป็นโรคกรรม หรือโรคชราภาพ หรือโรคสิ่งใดก็แล้วแต่ เรามีกำลังใจ อืม! สู้ได้ทั้งนั้นน่ะ แล้วมันก็ต้องผ่านอันนี้ไป
เราจะบอกว่า เป็นโรคของเรา โรคเรา โรคเรา ไม่ใช่โรคเวรโรคกรรมอะไรทั้งสิ้น ไอ้เรื่องเวรเรื่องกรรมก็เรื่องกรรมนั่นน่ะ แต่ปัจจุบันมันเกิดกับเรา ปัจจุบันนี้มันเจ็บไข้ได้ป่วย ถ้าเจ็บไข้ได้ป่วย เราก็สู้ของเราไป ทีนี้พอสู้ของเราไป เขาบอกว่าเขาผ่าตัด เขาเป็นโรคมาหลายโรคมาก หนักที่สุดคือโรคปวดหลัง ผ่าตัดมาแล้ว ๒ ครั้ง แล้วครั้งสุดท้ายมันยิ่งแย่ลงไปกว่าเดิม อยู่ดีๆ เหมือนมีคนมากระตุก
ไอ้เรื่องกรณีอย่างนี้ เรื่องเส้นประสาท เรื่องต่างๆ มันมีทั้งนั้นน่ะ ฉะนั้น เวลาทางการแพทย์ ถ้าทางการแพทย์ที่ดีเขาจะเป็นพ่อพระแม่พระ เป็นสิ่งที่ว่าโลกนี้สรรเสริญเชิดชูนะ แพทย์ที่เขามีจริยธรรม สังคมเขาเชิดชูมาก แพทย์ที่เป็นแพทย์พาณิชย์ ทุกคนก็คิดว่าเขาเห็นแก่ตัวของเขา เขาศึกษามาเพื่อประโยชน์กับสังคมนั่นแหละ แต่เขาตักตวงผลประโยชน์ของเขา เราก็รับรู้กันได้ เห็นไหม
นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เขาเป็นแพทย์ เขาเป็นผู้ที่รักษา เขาเป็นผู้ดูแลเรา ฉะนั้นสิ่งที่เวลาเขาพูดถึงเรื่องประสาท เรื่องต่างๆ เขาบอกได้ เขาบอกได้ว่า ถ้าเราดำรงชีวิตอย่างไร เราทำตัวอย่างไร เราจะมีผลตอบสนองเป็นอย่างนั้น
นี่ก็เหมือนกัน เขาบอกว่า อยู่ดีๆ มันก็กระตุกขึ้นมา ยืนไม่ได้เลย อะไรไม่ได้เลย
เราก็ต้องดูแลรักษาทั้งนั้นน่ะ ถ้าเราดูแลรักษาของเรา ให้เรามีกำลังใจของเรา มันจะเป็นโรคกรรม มันก็ใช่ มันจะเป็นโรคชราภาพ มันก็ใช่ แต่เวลาอุปาทานของเรา กิเลสของเรามันอยากหาย มันไม่อยากให้เป็นหนักหนาสาหัสสากรรจ์แบบนี้ มันอยากเป็นพอลมพัดเบาๆ แล้วก็ไป มันก็คิดของมันอย่างนั้นน่ะ ไอ้นี่เราจะบอกว่า โรคของเรา แล้วประสาเรามีการคาดหมายคาดหวัง การคาดหมายคาดหวังก็คือตัณหา
คนไข้เวลาไปหาหมอ ทุกคนก็บอกว่า คำถามแรกเลย หายไหม คำถามแรกเลยว่า รักษายากไหม นี่ก็เหมือนกัน สิ่งต่างๆ เราต้องมีแรงบันดาลใจ แล้วสู้ของเรา ถ้าสู้ของเรา มันก็เป็นชีวิตหนึ่งเราเกิดมาเจอสภาพแบบนั้น แล้วเวลาคน เวลาจะรักษาขึ้นมามันต้องมีค่าใช้จ่าย แล้วมันต้องมีแบบว่าครอบครัว ถ้าครอบครัวมันก็ไม่น่าจะเป็นอะไร แล้วก็มาเป็นอะไร ทำให้ครอบครัวกระทบกระเทือนกันอีกโอ๋ย! ร้อยแปดเลย เวรกรรมมาก
ฉะนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดไว้ในบาลีอีกล่ะ “ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ”
เขาอยากมีลาภมีเงินมีทองกันไง ไอ้พวกเราแค่ไม่มีโรคไม่มีภัยนี่เป็นลาภอันประเสริฐแล้ว ถ้าเป็นลาภอันประเสริฐ เห็นไหม พระสีวลีเป็นผู้ที่มี พระอะไรที่ว่าไม่มีโรคเลย มันเป็นที่ทำมา พอทำมาขึ้นมา ในทางบาลีเขาบอกว่าทำอะไรมาเขาถึงว่าเวลาไปถวายยาสามัญประจำบ้านเพื่อจะไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วย ใครอยากมีรถมีราก็ถวายรองเท้าพระ เขาว่านะ เขาไปถือเคล็ดกันไง ทางโลกน่ะ ใครอยากจะมีรถสวยๆ นะ ต้องซื้อรองเท้าประดับเพชรเลยนะ แล้วถวายพระ เดี๋ยวจะได้รถเบนซ์ มันก็ไปคิดจินตนาการกัน เห็นไหม
อยากได้รถเบนซ์ก็ทำงานสิ พอมีเงิน เอ็งไปถอยรถก็ได้ ทำไมต้องไปซื้อรองเท้าสวยๆ ไปถวายพระ อยากไม่เจ็บไข้ได้ป่วยก็ซื้อยาไปถวายพระ นี่ก็เชื่อเรื่องโรคเวรโรคกรรมนี่ไง
โรคเวรโรคกรรมมันก็มี ไอ้โรคเวรโรคกรรม สิ่งที่เขาถวายพระแล้วเขาไม่เป็น เขาทำด้วยเจตนา แบบว่าเขาทำโดยต้นแบบ ไอ้เราไปทำเลียนแบบเขา ใจเราไม่บริสุทธิ์ ความได้มามันไม่เหมือนกันหรอก ถ้าไม่เหมือนกัน แต่เราก็อยากทำสิ่งใดๆ ทำคุณงามความดีเป็นแบบอย่าง ใครๆ ก็อยากจะทำความดี ดีทั้งนั้นน่ะแต่นี่เราพูดถึงมันเป็นประเพณีวัฒนธรรม ประเพณีวัฒนธรรมก็เป็นอย่างนั้นน่ะ นี่ก็เหมือนกัน เวลาภาวนาก็นั่งกันเป็นประเพณีวัฒนธรรม ถ้าเอาจริงเอาจังมันก็ได้
นี่กลับมาเรื่องโรค เราจะบอกว่าโรคของเรามันชราคร่ำคร่าก็ได้ ดูสิ เวลาหลวงตาท่านพูดนะ เวลาท่านนั่งตลอดรุ่ง ถ้าวันไหนพอนั่งกำหนดพุทโธๆๆ จิตมันสงบได้นะ แล้วพอมันคลายมาก็กำหนดพุทโธต่อไปสงบ วันนั้นจิตมันลงได้ดี เช้าขึ้นมาลุกเดินได้เลย บอกเหมือนกับไม่ได้นั่ง มันปลอดโปร่งหมด แต่ถ้าวันไหนนะพุทโธแล้วมันไม่ลง โอ้โฮ! มันต้องสู้กันนะ ทีหนึ่ง ๗-๘ ชั่วโมง มันต้องสู้กัน แต่ก็ต้องลง เพราะท่านใจเด็ด
ฉะนั้น พอลงขึ้นมาแล้วมันก็คลาย มันก็ต้องสู้อีก พอสู้ เพราะ ๑๒ ชั่วโมง จิตที่ลง ๑๒ ชั่วโมงแล้วคลายออก ไม่มีหรอก จิตมันลงไปสักพักหนึ่ง ๒-๓ ชั่วโมงมันก็คลายออก ลงอีก มันก็คลายออก คลายออกก็พิจารณาซ้ำเข้าไปอีก พอเข้าไปอีก ท่านบอกตอนเช้านะ ท่านไม่รู้ ท่านลุกขึ้นเลย ล้มตึงเลย สุดท้ายแล้วมันเป็นเพราะอะไร เพราะว่าจิตมันลงยาก พอลงยาก ร่างกายมันบอบช้ำ พอร่างกายมันบอบช้ำ เลือดลมน่ะ
ฉะนั้น ท่านบอกว่าถ้าวันไหนถ้ามันรุนแรงนะ ออกจากสมาธิแล้ว ท่านบอกว่าต้องเอามือจับเท้า แล้วยื่นออกไปวางไว้ก่อน ทั้งเท้าข้างขวา เท้าข้างซ้าย จับแล้วยื่นออกไปวางไว้ก่อน แล้วนั่งเฉยๆ ให้เลือดลมมันเดินก่อน ต้องเลือดลมมันเดินทุกอย่างมันสมควรแล้ว ขยับปลายเท้า นิ้วเท้านี่ขยับ พอนิ้วเท้ามันขยับได้แสดงว่าเส้นประสาทมันรับรู้ พอเส้นประสาทรับรู้ทุกอย่างแล้วค่อยลุกขึ้นเดิน เห็นไหมมันแตกต่างกัน วันไหนที่มันลงดีนะ ลุกได้เลย ไปได้เลย
แล้วเราเองเป็นคนที่กระทำ เราเองเป็นคนภาวนา เรารู้ วันนี้ โอ้โฮ! สบายลงได้ง่าย อะไรได้ง่าย เพราะเรารู้เอง มันก็ปลอดโปร่งหมด วันไหนลำบากมากแต่ลงได้ เวลาจะออกนี่ค่อยๆ ยืดเท้าก่อน แล้วพยายามให้มันรู้สึกตัวก่อน แล้วค่อยขยับ นี่คนคนเดียว แต่เวลาทำมันยังหลายวิธีการเลย
ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เจ็บไข้ได้ป่วย ทุกคนมันก็เจ็บไข้ได้ป่วยทั้งนั้นน่ะ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยแล้วเราก็รักษาตามที่หมอบอกหมอแนะนำ หมอแนะนำนะ ลูกศิษย์เยอะลูกศิษย์เวลาเป็นมานี่ อย่างเช่นถ้าเป็นมะเร็งมา เราก็ถามเขาตรงๆ นั่นแหละ จะรักษาทางไหนล่ะ ให้รักษาเลย ถ้ารักษาทางแผนปัจจุบันก็ไปคีโม แต่ถ้าไม่ลงใจจะรักษาทางแผนไทย แผนไทยก็ไปเลย แต่ตัดสินใจไปทางใดทางหนึ่ง อย่าจับปลาสองมือ แล้วไปแล้ว เขาไปศึกษาแล้วมีหมอที่ไว้ใจได้เชื่อใจได้ค่อยทำ ถ้าไว้ใจไม่ได้เชื่อใจไม่ได้ เราก็อย่าไปยุ่งกับเขา นี่พูดถึงว่าเวลารักษา
นี่บอกว่าโรคกรรม แต่ถ้าบอกว่าโรคกรรมๆ นะ แล้วโรคกรรมๆ เราก็ยกให้แต่อดีตไปเลย คือพยายามจะผลักไปให้ไกลๆ ความรับผิดชอบของเรา เราไม่รับผิดชอบอะไรของเราเลย แต่ถ้าเราบอกว่า ก็โรคของเรานี่แหละ โรคกรรมก็จิตดวงนี้เป็นคนทำไว้ ถ้าเราชราคร่ำคร่า ชราคร่ำคร่าก็ร่างกายนี้มันชราคร่ำคร่า ถ้าอุปาทาน อุปาทานมันก็จิตของเรามันคิดเอง
โรคของเรา เราก็ต้องแก้ไขตัวเราเอง ถ้ามาแก้ไขตัวเราเอง ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก ก็ต้องแก้กันที่นี่ ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามามากน้อยแค่ไหนก็มาปลดกิเลสที่ใจเราทั้งนั้นน่ะ สุดท้ายแล้วก็มาลงที่ใจของเราทั้งนั้นน่ะ ฉะนั้น ถ้าลงที่ใจแล้ว มันจะทุกข์มันจะยาก ถ้ามันเป็นเรื่องเส้น มันเป็นโรคกระตุก จนยืนไม่ได้
ยืนไม่ได้ก็ยืนไม่ได้ ยืนไม่ได้ พยายามนั่งผ่อนคลาย แล้วถ้าต้องพยายามดำรงชีวิตปกติ มันจะดีขึ้น ถ้าพอเจ็บไข้ได้ป่วยแล้วเราก็อ่อนแอลงไปเรื่อยๆอ่อนแอไปเรื่อยๆ แล้วมันก็จะนอนติดเตียงเลย แต่ถ้าเราพยายามใช้ชีวิตปกติของเรา เราฝืนของเรา เราดูแลของเรา มันทนได้ มันต้องทำได้ มันอยู่ที่หัวใจนี้มันสู้ไม่สู้เท่านั้นน่ะ
ฉะนั้น เขาบอกว่า “หนูก็ภาวนาอยู่เป็นประจำ แต่มีบางครั้งรู้สึกว่าเวลาป่วยแล้วไม่อยากทำอะไรเลย ขอเมตตาหลวงพ่อด้วย”
ถ้าป่วยแล้ว ป่วยนี่ เวลาป่วยแล้ว ไอ้สิ่งที่ว่าเจ็บไข้ได้ป่วยมันจะเป็นครูเราอย่างดีเลย เห็นไหม เวลาคนภาวนาแล้วอยากจะมีโจทย์ไง ว่าเราจะตีโจทย์ให้แตกอย่างไร เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยก็เอาเรื่องนี้แหละมาเป็นโจทย์เลย จะเกิดอีกไหมเกิดมันก็เจ็บช้ำน้ำใจอย่างนี้ เกิดมันก็ทุกข์ยากอย่างนี้ จะเกิดซ้ำเกิดซากอย่างนี้ถ้าจะไม่เกิดอีก ไม่เกิดจะทำอย่างไร ไม่เกิดก็ต้องสู้มัน เจ็บครั้งนี้ขอให้เป็นครั้งสุดท้าย
เวลาเขามีปัญหาทางโลกไง เขาบอก ขอให้ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายนะ อย่าให้มีอีก มันก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ แต่ของเรา ถ้าเราพิจารณาของเรา ขอให้ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย พิจารณาของเราจนกว่าจะสิ้นกิเลสเลย ถ้าสิ้นกิเลสก็ไม่กลับมาเกิดอีก ไม่ต้องมาทุกข์มายากอย่างนี้อีก แต่ถ้ามันกลับมาเกิด “กลับมาเกิดมันจะมีเกิดจริงๆ อีกหรือ หลวงพ่อเชื่ออย่างนี้หรือ”
ความเชื่อมันเป็นเรื่องความเชื่อ แต่ความจริงน่ะ ความจริงใครจะปฏิเสธอย่างไรก็ปฏิเสธไปเถอะ ความจริงก็คือความจริงวันยังค่ำ ในเมื่อมันยังมีความรู้สึกอยู่ ยังทำลายความรู้สึกอยู่ ทำลายภวาสวะไม่ได้ ทำลายธาตุรู้ไม่ได้ ของมีอยู่มันจะไปไหน ของมันมีอยู่ มันต้องมี แต่มันจะมีสถานะใดก็แล้วแต่นั่นน่ะ
แต่ถ้าเราทำได้ ทำลายภวาสวะ ทำลายภพหมดเลย ทำลายความรู้สึกหมดเลย มันไม่มี ถ้ามันไม่มี มันจะเอาอะไรไปเกิด ก็กูไม่มีน่ะ เราไม่ได้เป็นหนี้ ใครจะมาทวงหนี้ เราไม่ได้เป็นหนี้ใคร
ไอ้นี่เป็นหนี้เขาทั้งบ้านทั้งเมือง ไม่ต้องทวงหรอก เขาขึ้นป้ายประกาศนู่นน่ะบุคคลล้มละลายนั่นน่ะ อย่าให้เข้าบ้านนะไอ้ตัวนี้ แต่ถ้าเราไม่มีก็คือเราไม่มี
นี่พูดถึง เห็นไหม “เพราะหนูก็ภาวนาอยู่ รู้สึกว่าเจ็บไข้ได้ป่วยแล้วไม่อยากทำอะไรเลย”
เพราะว่าถ้าเราไม่เอามันก็ไม่ได้ ถ้าเราเอามันก็จะได้ ถ้าเราเอานะ จบ
ถาม : เรื่อง “เพราะเหตุนี้เองใช่ไหม”
นมัสการหลวงพ่อที่เคารพ หลวงพ่อเคยสอนลูกว่าอย่าประมาท แล้วเปรียบเทียบให้ฟังว่า เหมือนสวะที่ลอยมาเหนือน้ำ เวลาน้ำขึ้น มันก็ขึ้นตาม เวลาน้ำลงมันก็ลงตาม ถ้าวันไหนหนูทำสมาธิ รู้สึกเหมือนว่าหูตาสว่างอยู่พักหนึ่ง วันสองวันแต่ถ้าไม่ได้ทำต่อก็ดูเหมือนว่าปิดหูปิดตาไว้เหมือนเดิม แต่ถ้าได้ฟังเทศน์สักหน่อยก็จะรู้สึกว่าความพร่ามัวที่ปกคลุมจิตใจถูกเปิดออก
บางครั้งคิดว่าบางอารมณ์ก็ดูเหมือนว่าเราเคยคิดว่าชนะไปแล้ว แล้วตั้งสติทำสมาธิ สู้ได้ในครั้งแรกที่มันมา แต่เมื่อมันกลับมาอีกครั้ง แล้วเราไม่ได้ทำสมาธิก็ดูเหมือนว่าความคิดอารมณ์นั้นมันมีความรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิมอีก ตั้งสติขึ้นมาไม่ได้ แล้วมักจะคิดขึ้นมาดื้อๆ ว่า ขออยู่กับตรงนี้สักระยะหน่อยก็ดีนะคะ นี่ใช่ไหมคะที่เป็นความประมาทที่หลวงพ่อเคยเตือนไว้นะคะ
มันดูเหมือนว่าการที่เราเปิดตาใจได้สว่างตลอดเวลานี้เป็นการที่ยากมากเลยเจ้าค่ะ ถึงอย่างไรครูบาอาจารย์และนักปฏิบัติคนอื่นก็พยายามทำแล้วจนสำเร็จถึงที่สุดใช่ไหมคะ กราบขอบพระคุณ
ตอบ : ไอ้นี่พูดถึงว่าความประมาทไง เขาบอกว่าหลวงพ่อเคยสอนไว้ว่าอย่าให้ประมาท ฉะนั้น เวลาเขาบอกว่า เวลาเขาภาวนาขึ้นมาแล้วมันมีอารมณ์ความรู้สึก แล้วสิ่งใดก็แล้วแต่ที่มันเกิดขึ้น แต่มันก็ยังดื้ออยู่ ดื้อว่ายังฝักใฝ่อารมณ์นั้นไง
อารมณ์อย่างนี้ ครูบาอาจารย์ของเราท่านสอน คำสอนของหลวงตาท่านสอนไว้ ท่านบอกว่า “อย่าเสียดายอารมณ์ของเรา”
ส่วนใหญ่พวกเราอาลัยอาวรณ์กับความรู้สึก เวลาความรู้สึกนึกคิดของเราความคิดดีๆ เราไปอาลัยอาวรณ์กับมัน อาลัยอาวรณ์มันเป็นอดีตไปแล้ว
แต่ถ้าเราไม่อาลัยอาวรณ์กับสิ่งใดทั้งสิ้น หนึ่ง มันเป็นอดีตไปแล้วก็เป็นอดีตไปแล้ว เราอยู่กับปัจจุบันนี้ สิ่งที่เป็นปัจจุบันนี้ ถ้ามันทำปัจจุบันนี้ได้ดีขึ้น มันก็จะเป็นปัจจุบันนี้
แต่ถ้าเป็นปัจจุบันนี้ เป็นปัจจุบันนี้ แต่เราไปอาลัยอาวรณ์กับอดีต เราดึงอดีตมาเป็นปัจจุบันนี้ไง แล้วเอาอารมณ์ที่เป็นอดีตมาไว้ในปัจจุบันนี้ มันก็ไม่ใช่ปัจจุบันอยู่แล้ว แล้วมันยังมาทำลายความเป็นปัจจุบันของเราไง เพราะความเป็นปัจจุบันของเรามันจะแสดงความเป็นปัจจุบันขึ้นมาไม่ได้เพราะมันมีอดีตนี้มาครอบคลุมไว้
ฉะนั้น ท่านถึงบอกว่า “อย่าให้เสียดายอาลัยอาวรณ์กับอารมณ์ที่เป็นอดีตอย่าเสียดายอาลัยอาวรณ์”
คำพูดคำนี้เป็นคำพูดของหลวงปู่หลุย เจ็บปวดมาก หลวงปู่หลุยท่านบอกเลยนะ “ความรู้สึกนึกคิดของเราเปรียบเหมือนเสลด คนเราขากเสลดทิ้งไปแล้วแล้วไปก้มเลียกินเสลดของตน”
ความคิดของเราเหมือนกับเสลด เหมือนกับน้ำลายที่เราบ้วนทิ้งไป แล้วเราก็ก้มไปเลียมัน แต่ถ้าเราเห็นว่าเป็นเสลด มันก็น่าสะอิดสะเอียนไง แต่ถ้าเป็นความคิด ไม่ใช่ ถ้าเป็นอารมณ์ความรู้สึก ไม่ใช่
แต่ถ้าเราคิด อารมณ์ความรู้สึกของเราเหมือนเสลดนั่นน่ะ เสลดเราเห็นมันน่าเกลียดไง แต่อารมณ์ความรู้สึกเรามันมีตัณหา มันมีความปรารถนา มันมีความคิดของเรา เราอยากคิดน่ะ ถ้าอยากคิด เราก็ไปเอาอดีตมา เอาอดีตมา ท่านก็เปรียบไง หลวงปู่หลุยท่านพูด นี่เป็นคำของหลวงปู่หลุย “อารมณ์ความรู้สึกของเรามันก็เปรียบเหมือนเสลดที่คายทิ้งไปแล้ว แล้วก็ไปนั่งก้มไปเลียกินมันอยู่นั่นน่ะ โอ๋ย! น่าขยะแขยง” นี่ในมุมมองของท่านไง ท่านเห็นไง
แต่ไอ้มุมมองของเราไม่ใช่ อารมณ์ของเราไง โอ้โฮ! มันวิจิตร มุมมองของเรามันวิจิตร มันสวย อารมณ์ของเรามันปลื้มใจ แต่อารมณ์ ครูบาอาจารย์ท่านมอง ท่านมองของท่าน โอ้โฮ! ในสายตาของท่าน
ฉะนั้น อันนั้น คำว่า “ไม่ประมาท” มันเป็นธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกแหละ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นคำสุดท้ายไง “ภิกษุทั้งหลาย เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด”
คำว่า “ไม่ประมาท” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการสั่งสอนไว้เป็นคำสุดท้ายนะ เป็นคำสุดท้ายที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน แล้วห่วงบริษัท ๔ห่วงพวกเรา อย่าประมาทกับชีวิต อย่าประมาทกับอาชีพ อย่าประมาทกับการเดินทาง อย่าประมาท อย่าประมาทกับทุกๆ อย่างนะ เราจะไม่เกิดอุบัติเหตุ แต่พวกเราก็ไม่ประมาทเป็นบางเรื่อง แล้วก็ทอดทิ้งเป็นบางเรื่องไง
แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสั่งไว้เลยนะ “ภิกษุทั้งหลาย เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด” นี่เป็นภาษาบาลี แต่บาลีแล้ว พอมาเป็นภาษากรรมฐานเรา หลวงตา ครูบาอาจารย์ท่านจะแยกเป็นสอง สังขารคือสังขารร่างกาย สังขารคือธาตุ ๔ เรา กับสังขารคือความคิด สังขารมันเป็นขันธ์ ๕ไง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่งท่านจะบอกว่าทั้งร่างกายและจิตใจ ถ้าเป็นกรรมฐานนะ
แต่ถ้าเป็นภาษาบาลีแล้วแต่คนจะตีความไง เขาก็ตีความว่า “เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด” เราก็พิจารณากายด้วยความไม่ประมาทเถิดแล้วความคิดล่ะ
ทีนี้กรรมฐานเราบอกว่า “ให้พิจารณาร่างกายด้วยความไม่ประมาทเถิด แล้วให้พิจารณาความคิดด้วยความไม่ประมาทเถิด” เพราะความคิดก็เป็นสังขารความคิด ความปรุง ความแต่ง ร่างกายก็เป็นสังขารร่างกาย “เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด”
คำว่า “ประมาทเลินเล่อ” เป็นคำสั่งเสียคำสั่งสุดท้าย คำสั่งสุดท้ายของพระพุทธเจ้านะ ความไม่ประมาทนี่ ดูสิ ท่านสอนมาร้อยแปดเลย สอนมาตั้งแต่อริยสัจ ๔ ตั้งแต่สติปัฏฐาน ๔ ตั้งแต่มรรค ๘ โอ๋ย! สอนมาหมดเลย แต่เวลาท่านจะนิพพานท่านสั่งคำสุดท้าย “อย่าประมาท” ทีนี้ถ้าเราไม่ประมาทของเรา เราก็ทำของเรา
เวลาเราพูดสิ่งใด เราพยายามจะอย่างว่าแหละ คนมันมีครูบาอาจารย์ไง คนมีที่มาที่ไป มีพ่อมีแม่ มีสถาบัน เราก็ต้องระลึกของเราอยู่แหละ ถ้าเราระลึกของเราอยู่ แต่ทีนี้เพียงแต่ว่า พอสิ่งใด มันก็เหมือนโดยทางวิชาการทุกอย่างดีหมดแต่ใครจะหยิบเอาอะไรไปใช้
นี่ก็เหมือนกัน ครูบาอาจารย์ท่านสอนไว้ดีหมดน่ะ แล้วใครจะหยิบไปใช้ แล้วใช้ประโยชน์อะไร ใช้ประโยชน์เพื่อกิเลสไง อ้างอิงไง เวลาธรรมะ เอาธรรมะบังไว้แล้วเราก็อยู่ข้างหลังคอยเก็บฉวยผลประโยชน์
แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์นะ ไม่ เสียสละทั้งนั้น ชีวิตยังสละมาแล้ว เวลาภาวนา เวลาจะเป็นจะตายขึ้นมา สละตายเลย สละตายไปแล้ว ชีวิตยังสละมาแล้ว
อย่างว่าบางคนตอนนั้นก็สละชีวิตไง แต่ตอนนี้ชีวิตยังอยู่ก็จะไม่สละแล้วตอนนั้นตอนสละชีวิต ตอนนี้กำลังจะเอา กำลังจะกลับมาเอา ไอ้พวกอย่างนั้นก็เยอะ
แต่ครูบาอาจารย์ของเราท่านสละแล้วท่านสละเลย ถ้าสละแล้ว ในธรรมะของครูบาอาจารย์นะ ท่านจะบอกว่า “ศีลจะรู้ได้ต่อเมื่อเราอยู่ใกล้ชิดกัน” เราอยู่ใกล้ชิดกัน อยู่กันด้วยเวลานานๆ ทำผิดทำถูกเราจะเห็น
“ธรรม ธรรมจะรู้ได้ต่อเมื่อเราสนทนากัน” คนที่มีคุณธรรมนะ พูดอะไรออกมามันจะมีเป็นศีลเป็นธรรม คนที่พูดออกมานะ มีแต่เรื่องของพาลชน มีแต่เรื่องจะทำร้ายทำติเตียนคนอื่น แล้วมีแต่เก็บผลประโยชน์ อันนั้นไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่ธรรม
แต่ถ้าเป็นธรรมนะ พูดสิ่งใดมามันจะเป็นธรรม เขาจะดีขนาดไหน เขาจะพูดถึงเป็นคุณธรรมให้ดีขึ้นไปอีก ถ้าเขาเลวทรามขนาดไหน ก็ให้เขาทิ้งความเลวทรามนั้นกลับมาเป็นคนดีซะ แล้วถ้าเป็นคนดีแล้ว ให้ความดีนั้นพัฒนาขึ้นไป นั่นน่ะคือธรรม
ธรรมคือพูดถึงทรัพย์ของเขาไง ทรัพย์คืออริยทรัพย์ภายในไง คือคนชี้ความผิดความถูกของเรา ถ้าใครชี้ความผิดความถูกของเราได้ ทุกคนจะแสวงหา ที่เราหาครูบาอาจารย์กัน เราก็หาครูบาอาจารย์แบบนี้ หาครูบาอาจารย์ว่าที่เราปฏิบัติถูกต้องหรือไม่ ถ้าเราถูกต้อง จิตที่สูงกว่าจะดึงจิตที่ต่ำกว่าขึ้นมา
ไอ้จิตที่ต่ำกว่ามันจะมองจิตที่สูงกว่าไม่ได้หรอก เราอยู่ใต้ถุนบ้าน เราจะมองให้เห็นคนอยู่บนบ้านไม่ได้หรอก เราอยู่บนบ้าน เราจะเห็นคนอยู่บนหลังคาบ้านเราไม่ได้หรอก คนที่อยู่บนหลังคาบ้านเรา เขาเห็นคนอยู่ในบ้าน คนอยู่ใต้ถุนบ้านเห็นหมดเลย แล้วเขาจะบอกด้วยว่า นั่นน่ะงูกำลังจะกัดเอ็งแล้วนะ เอ็งอยู่ในบ้านขโมยกำลังจะเข้าบ้านเอ็งแล้วนะ นี่เขาคอยชี้คอยบอก คอยบอกความบกพร่องของเราเลย นี่ครูบาอาจารย์ของเราเป็นแบบนี้ พระกรรมฐานถึงติดครูบาอาจารย์ไง ถ้าครูบาอาจารย์ที่เป็นเพชรน้ำหนึ่ง เป็นครูบาอาจารย์ที่แท้จริงนะ
แต่ถ้าครูบาอาจารย์เป็นจานกระเบื้อง กาในฝูงหงส์ เวลาพระบวชใหม่ๆ นี่นะออกจากโบสถ์มาสะอาดบริสุทธิ์ด้วยศีลด้วยธรรมนี่เหมือนหงส์ หัวหน้าถ้าเป็นหงส์ด้วยกันมันจะพาหงส์ไปที่ดีนะ ฉะนั้น อีกามันต้องการฝูงหงส์นั้นไว้เป็นชุมชนของเขา นี่พูดถึงว่าเวลาอยู่ในวงกรรมฐานไง เวลาอยู่ในวงกรรมฐาน เรารู้เราเห็นสิ่งนั้นมา
ฉะนั้น เราพูดถึงความประมาทของเขา เขาถามนี่เขาถามปัญหาของเขามาว่าเขาภาวนาขึ้นมาแล้ว หลวงพ่อบอกถึงว่า เวลาเราพูดถึงนะ คนใดก็แล้วแต่ ความรู้สึกของเรา ที่เปรียบเหมือนสวะ สวะ เวลากิเลสของเรา ถ้าสมาธิของเรา สมาธิของเราไม่ดี เหมือนน้ำในภาชนะเราน้อย สวะนั้นมันอยู่บนน้ำ มันก็อยู่ต่ำ แต่ถ้าเราทำสมาธิเราดีขึ้น เหมือนเรามีคุณธรรมขึ้น มีน้ำในภาชนะมากขึ้น สวะมันก็สูงขึ้น เพราะสวะมันอยู่บนน้ำไง น้ำสูง น้ำขึ้นหรือน้ำลง สวะมันอยู่บนน้ำตลอด กิเลสของเรามันอยู่ในใจของเราตลอด ใจเราจะสูงจะต่ำขนาดไหน กิเลสมันอยู่บนหัวใจเราตลอดน่ะ ฉะนั้น เราจะต้องไม่ประมาท เราจะต้องดูแลรักษาของเราตลอดไป เพราะมันไว้ใจไม่ได้ทั้งสิ้น
เวลาประพฤติปฏิบัติไปแล้ว เวลาจะพ้นจากกิเลส ข้ามพ้นทั้งดีและชั่ว
ไอ้พวกติดดีๆ คน ดูสิ ทะเลาะกันอยู่นี่ ใครทะเลาะกัน ก็คนดีทั้งนั้นน่ะ คนดีก็เกิดทิฏฐิมานะ แล้วก็แบ่งฝักแบ่งฝ่าย แล้วก็โจมตีกัน
แต่ถ้าเป็นความดีของเรานะ ความดีเพื่อตัวของเราไง “ใครจะดีใครจะชั่วเรื่องของเขา เราจะทำคุณงามความดีว่ะ” หลวงตาท่านสอนอย่างนี้ “ใครจะดีจะชั่ว เรื่องของเขา เราจะทำคุณงามความดีว่ะ”
แล้วถ้าคุณงามความดีของเรา เราทำคุณงามความดีของเราด้วยศีลด้วยธรรม ด้วยเป็นเครื่องตัดสินไง ด้วยเป็นเครื่องตัดสินว่ามันเป็นความจริงของเราแล้วเราทำของเรา ทำเพื่อประโยชน์กับเรา ถ้าประโยชน์กับเรานะ
เราเป็นมนุษย์นะ มนุษย์อยู่ในสังคม อยู่ในสังคมมันต้องมีอาชีพ มันต้องมีพรรคมีพวก อันนั้นเป็นเรื่องโลก เรื่องโลก ปัญหาสังคม เราอยู่กับเขาได้ แต่ถ้าเรื่องศีลเรื่องธรรม เรื่องมรรคเรื่องผล นี่เรื่องของเรา ถ้าเรื่องของเรา เรารักษาของเราเอง ถ้าผิดศีลผิดธรรม ข้างในเราไม่ยอมรับ ไม่ทำ ข้างนอกเรื่องของเขา ไม่รู้นี่พูดถึงถ้าอยู่ในสังคมนะ
แต่ถ้าเราแยกได้ เราอยู่ของเราคนเดียวนะ เราทำดีทั้งนอกและในเลย เพราะข้างนอกเราก็หลบหลีกเอา ทีนี้เวลาคนถือศีลๆ เวลาอยู่ในสังคม เพราะสังคมเป็นแบบนั้น มันจะกระทบกระเทือนกันไปหมดน่ะ เราต้องฉลาด เราต้องหลบหลีก
แม้แต่สังคมพระยังโดนเลย เวลาหลวงตาท่านบอก เวลาท่านเรียนหนังสืออยู่เวลาไปเดินจงกรม พระมันถามเลย “จะไปนิพพานเลยหรือ จะไปนิพพานเลยหรือ” พระมันยังแซวกันเลย อย่าว่าแต่โยม โยมทำความดีจะไม่โดนแซว พระมันยังแซวกันเลย ฉะนั้น เวลาเราทำแล้ว ถ้ามันเป็นความดีของเรา เราจะเก็บไว้ข้างใน แล้วถ้าปัญหาสังคม เราก็ต้องหลบหลีกเอา
เกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาเป็นคนไง เกิดเป็นคน ไม่ได้บวชก็เป็นมนุษย์ ถ้าเราบวชแล้วก็เป็นพระ เป็นพระก็อยู่ในสังคมเหมือนกัน สังคมเหมือนกัน มันก็ต้องแสวงหาครูหาอาจารย์ ถ้าครูบาอาจารย์เป็นที่ไว้วางใจได้คือลงใจ ถ้าใจมันลงมันฟังนะ ถ้าใจไม่ลง ไม่ฟังหรอก “เอาอะไรมาสอนก็ไม่รู้ สอนเรื่องอะไรก็ไม่เข้าใจเลย ยุ่งมากเลย”...เอ็งไปอยู่ที่อื่นไป
เออ! แต่ถ้ามันลงใจนะ โอ้โฮ! สุดยอดๆ ถ้าสุดยอดแล้ว ถ้าทำได้มันก็เป็นประโยชน์กับใจดวงนั้น ถ้าใจมันลง ถ้าใจมันลงนะ มันจะเป็นประโยชน์มาก ถ้าใจไม่ลงมันจะไม่ได้ประโยชน์ไง นี่พูดถึงว่าการแสวงหาครูบาอาจารย์นะ
นี่พูดถึงครั้งแรก ครั้งแรกนี่เห็นใจมาก เพราะคนเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นอย่างนี้ กำลังใจมันไม่มีไง แล้วเขาบอกนี่มันโรคกรรมใช่หรือไม่
ถ้าบอกเป็นโรคกรรมก็เลยสบายเลย โรคกรรม ไม่ต้องแก้ไขอะไรแล้ว มันเป็นอดีต โรคของเรา จะโรคกรรม โรคอุปาทาน จะโรคด้วยความชราภาพ ก็ต้องแก้ไขทั้งนั้น เพราะเราเจ็บไข้ได้ป่วย
ไอ้เรื่องที่สองเป็นเรื่องของความไม่ประมาทในการประพฤติปฏิบัติ แล้วถ้าเราไม่ประมาท เราก็ดูแลของเรา ถ้าดูแลของเรา มันก็จะเป็นคุณธรรมของเรา เป็นสมบัติของเราไง
สมบัติทางโลกนะ เวลาเราไปซื้อของ ของหมด เงินซื้อไม่ได้นะ เงินเป็นพระเจ้า เงินนี่แลกเปลี่ยนได้ทั้งนั้นน่ะ แต่เวลาไปซื้อของ ของหมด ซื้อไม่ได้ แต่บุญกุศลอยู่กับเรานะ อัตตสมบัติ อันนี้สำคัญนะ
บุญกุศลอยู่กับเรา มันมีสติปัญญาพร้อม จะทุกข์ มันก็เท่าทันความทุกข์ จะสุข มันก็มีความสุขด้วย มันอยู่กับเรา นี่ถ้าเป็นคุณธรรมมันอยู่กับเรา ถึงจะทุกข์ทุกข์ แต่มันมีปัญญาเท่าทันความทุกข์ ถ้ามันจะสุข สุขก็เรามีคุณธรรมน่ะ เออ! นี่มันอยู่กับเรา มันใช้ได้ตลอดเวลาไง
ไม่เหมือนเงินทอง เงินทองไปซื้อ ของหมด ซื้อไม่ได้นะ ของหมด ไม่มี เงินก็ถือไว้สิ เวลากิน กินข้าว ไม่ได้กินแบงก์ เวลานุ่งห่มก็ไม่ได้นุ่งห่มแบงก์ แต่มันก็จำเป็น ทางโลกเขาว่าจำเป็น จำเป็นก็คือจำเป็น นี่เราบอกปัจจัย ๔ ปัจจัยทางโลกที่ต้องแสวงหา แต่อัตตสมบัติ ความรู้สึกอันนี้ ความรู้สึกอันนี้อัตตสมบัติ มันเป็นคุณธรรมในใจ ถ้าเป็นคุณธรรมในใจ เราขวนขวาย เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเพื่อสมบัติอันนี้ มันจะเป็นสมบัติของใจ เอวัง