ไม่ใช่มรรค
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๙
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “การเจริญสติที่ทำมาถูกต้องหรือเปล่าครับ”
กราบนมัสการหลวงพ่อด้วยความเคารพอย่างสูง กระผมมีข้ออยากเรียนถามหลวงพ่อดังนี้ กระผมได้ฝึกภาวนาด้วยการเจริญสติแนวทางเคลื่อนไหวมาหลายปีแล้วครับ ช่วง ๒-๓ ปีหลังมานี้สังเกตตัวเองนะครับว่า เวลาเจริญสติมันอยู่กับตัวเองได้ดีมาก จนใจมันวางอารมณ์ภายนอกได้มาก มีครั้งหนึ่งเดินจงกรมที่บ้าน ผมเห็นวัตถุกลมใหญ่ๆ ๒ ลูกหลุดออกจากใจทิ้งไปข้างหลัง ๒ ลูก จิตใจเลยเบาสบาย ทันใดนั้นในจิตเลยผุดขึ้นมาว่า การวางอดีตกับอนาคตเขาวางกันอย่างนี้นี่เอง (ไม่ใช่มาพูดกันนะว่าฉันไม่มีอดีตหรืออนาคต อันนั้นพูดเอา) พอผมเข้าใจอันนี้แล้ว ผมก็เลยวางใจอีกครั้งหนึ่งโดยการมาอยู่กับตัวสติ เหมือนกับเข้าใจธรรมชาติความเป็นไปของโลกและของเราขึ้นมา
ทีนี้ผมก็ภาวนาไปเรื่อยๆ สังเกตหลายครั้ง ใจผมไม่ค่อยอะไรกับเรื่องโลกๆมากเหมือนเมื่อก่อน แต่เห็นใจตัวเองที่มันวิ่งอยู่กับตัวเองตั้งแต่หัวจรดเท้า (แต่ไม่ใช่ว่าไม่มีอารมณ์ทางโลกนะครับ มี แต่ใจไม่ไปข้องกับเรื่องนอกๆ) ผมก็เลยคอยดูไปเรื่อยๆ ทีนี้มันเลยเห็นกิเลสที่อยู่ในใจว่า อ๋อ! กิเลสมันโลภ โกรธ หลงความพอใจ ไม่พอใจ ความถือดี ความแน่ใจ ความขี้เกียจ ความปรารถนาดี มันเป็นแบบนี้ ซึ่งเมื่อก่อนก็แค่ได้ยิน แต่ไม่รู้จักมัน พอรู้จักมัน เห็นมัน มันอยู่ในใจของเรานี่เอง เวลาเห็นจะเห็นที่ใจเข้าไปสัมผัสทุกครั้งตลอด ตื่นนอนกระทั่งหลับนอน เป็นอย่างนี้ทุกวัน เลยมีอีกครั้งหนึ่งผมไปเห็นผู้หญิงสวยๆ เข้า ใจมันนึกว่าคนนี้สวยจริงๆ ทันใดนั้นเห็นตาที่มองไปที่ผู้หญิง แล้วเห็นใจก็เข้าไปรวมกับผู้หญิงที่มอง เหมือนมีอะไรสักอย่างมาตัดการมองนั้น พอตัดปุ๊บ ผมเห็นผู้หญิงเป็นผู้หญิง ไม่มีความรู้สึกว่าชอบ สวย หรือน่าหลงใหล หลังจากนั้นพอได้ยินเสียงผู้หญิงพูดอีก ก็เห็นใจที่เข้าไปรวมกับเสียง แล้วเห็นการปรุงคลุกเคล้าว่าเสียงนี้น่าฟัง ทันใดนั้นก็เหมือนมีอะไรสักอย่างตัดการกระทบของใจที่ไปคลุกเคล้า เลยได้ยินเหมือนแค่ได้ยิน ไม่ไปสำคัญว่าอะไรเป็นอะไร
ทันใดนั้นในจิตเลยผุดขึ้นว่า นี่คือการเกิดดับ และดูได้แค่นี้ แล้วสมาธิมีกำลังแค่นี้ ผมเลยเข้าใจว่าสมาธิมีความสำคัญมากเหมือนกัน (ทุกวันนี้พอผมเห็นผู้หญิงสวยๆ เหมือนเห็นเด็กๆ หรือเห็นอะไรสักอย่าง เวลามองปั๊บ มองว่างามว่าสวย ใจมันจะผุดขึ้นมานะครับว่าจิตนี้มาเพียงแค่อาศัยกายนี้เท่านั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่หลุดนะครับ บางครั้งก็หลุดเหมือนกัน แต่ก็กลับมาได้ไวขึ้น)
ผมเคยถามพระนะครับ ผมเป็นแบบนี้ๆ พระบอกว่าคิดเอาเอง ผมเข้าไปในความคิด ผมบอกแบบนี้คิดเองได้อย่างไร ผมเห็นที่ใจ บางทีมองคนหรือเห็นอะไรสักอย่าง ผมจะเห็นแค่ขยับไปขยับมา แต่ว่ารู้ไหมว่าอะไรเป็นอะไร รู้ครับ แต่ไม่ไปสำคัญอะไรทั้งนั้น
หลังจากนั้นผมก็เจริญสติแบบเคลื่อนไหวมาเรื่อยๆ แต่พอมานานๆ เข้ามันเลยนึกถึงสมาธิ เพราะเวลานั่งภาวนา ผมจะนั่งเจริญสติเคลื่อนไหว ไม่ได้นั่งหลับตา
ทีนี้ผมก็เลยทำใหม่ครับ คือเดินจงกรมก็เจริญสติแบบเคลื่อนไหว พอนั่งภาวนา ผมก็จะหลับตาพุทโธสลับกันไปแต่ละวัน ผลที่ได้รู้สึกเลยครับว่าสมาธิผมมีกำลัง แล้วเห็นว่าขณะที่จิตไม่ได้แนบแน่นกับสติ มันจะไหลออก (เพราะผมจะเอาสติเป็นหลักใหญ่) ผมเลยเข้าใจว่าการเจริญสมาธิจะทำให้จิตตั้งมั่นและแนบแน่นกับตัวสติได้ดี
(แต่ก่อนผมเจริญสติแบบเคลื่อนไหว ผมเอาแต่สติ ไม่เคยสนใจสมาธิ เพราะครูอาจารย์ว่าเจริญสติอย่างเดียวมันจะเป็นทั้งสติ สมาธิ ปัญญา แล้วไม่ต้องไปพิจารณาอะไรทั้งนั้น มันจะเป็นของมันเอง)
เพราะเวลาภาวนา เหมือนตัวผมมันแน่นไปหมดทั้งตัว เหมือนขันน็อต ยิ่งขันยิ่งแน่น และเห็นใจมันดูตัวเองตั้งแต่หัวจรดเท้า เป็นอย่างนี้ทุกวันครับ จนบางครั้งสวดมนต์ไหว้พระ เวลากราบพระ ผมจะเห็นแผ่นหลังของผมฉีกออกจากกัน แต่เห็นแป๊บเดียว หรือบางทีก็เห็นตัวเองนั่งสวดมนต์เหมือนผมมองคนอื่นอย่างนั้นนะครับ (จริงๆ รายละเอียดมีมากนะครับ แต่ไม่รู้จะเขียนอย่างไร เลยเอาที่สำคัญและจำเป็น) อยากรบกวนท่านอาจารย์ครับว่าที่ผมภาวนานี้มีจุดไหนที่อาจารย์เห็นพิจารณาว่าจะต้องแก้ไข
ตอบ : เราจะบอกว่า มันไม่มีจุดไหนเป็นชิ้นเป็นอันเลย มันไม่มีเลย มันไม่มีเพราะอะไร มันไม่มีเพราะเขาบอกว่าเขาไปภาวนาการเคลื่อนไหว การเคลื่อนไหวๆ แล้วการเคลื่อนไหว พอจะบอกว่าการเคลื่อนไหวผิดหรือการภาวนาสิ่งใดผิด มันไม่ใช่
การภาวนาทุกอย่างมันเป็นวิธีการภาวนาทั้งนั้นน่ะ มันเป็นวิธีการๆ จะผิดจะถูก มันมีมรรคหรือไม่มีมรรค มันจะเป็นผลหรือไม่เป็นผลไง
ถ้ามันบอกว่าการเคลื่อนไหวผิด เดินจงกรมก็ผิด เพราะเดินจงกรมก็เคลื่อนไหว หลวงปู่มั่นก็เดินจงกรม ครูบาอาจารย์เราก็เดินจงกรม การเดินจงกรมแต่ท่านเดินจงกรมต้องมีสติ หลวงตาท่านจะสอนว่า ถ้าการภาวนาของเราขาดสติก็เหมือนการทำนั้นเป็นสักแต่ว่า มันไม่ใช่เป็นการภาวนา เพราะขาดสติ ถ้ามีสติทำสิ่งใดนะ มันมีสติแล้วมีการกระทำนั้น การกระทำนั้นมันก็จะเป็นมรรคเพราะมีสติ มีสติมีปัญญา มีการควบคุม มีการดูแล ทำแล้วถ้าได้ผลก็ได้ผล ถ้าไม่ได้ผลมันก็คือมันไม่ได้ผล
นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราภาวนาด้วยการเคลื่อนไหวๆ เราจะไม่ใช่บอกว่าการเคลื่อนไหวนั้นผิด แต่การเคลื่อนไหว การเคลื่อนไหวมันต้องมีสติ การเคลื่อนไหวเวลาเดินจงกรม นั่งสมาธิ มันต้องมีสติมีปัญญา แล้วถ้ามีการเคลื่อนไหว มันรู้เท่าทันตัวมันไหม ถ้ารู้เท่าทันตัวมัน จิตสงบไหม ถ้าจิตมันไม่สงบขึ้นมามันไม่มีกำลังหรอก มันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นเรื่องโลกๆ นี่
ฉะนั้น เวลาหลวงตาท่านสอนบอก เดินจงกรมให้มีสตินะ ถ้าไม่มีสติ เลวร้ายกว่าสุนัข ท่านพูดอย่างนี้ ท่านบอกว่าหมามันมี ๔ ขา มันเดินดีกว่าเราอีกหมามี ๔ ขา เดินไม่ล้มด้วย เรามี ๒ เท้า เราเดินเดี๋ยวก็ล้ม เดินเดี๋ยวก็สะดุดตัวเอง เห็นไหม เราต้องมีสติไง แล้วบอกมีสติมีปัญญา ทำแล้วมันต้องเป็นประโยชน์มันต้องเป็นมรรคเป็นผล ถ้ามันไม่เป็นมรรคเป็นผล มันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้
แล้วนี่บอกมันเป็นไป สิ่งที่เวลาเขาภาวนากันน่ะ ที่มันจะเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ มันไม่ใช่มรรค มันไม่ใช่มรรคตรงไหน เพราะว่าเวลาหลวงปู่มั่นท่านพูดท่านสอนประจำ หลวงปู่มั่นท่านสอนประจำ จิตนี้เป็นได้หลากหลายนัก จิตนี้เป็นได้ร้อยแปด
ถ้าจิตนี้เป็นได้ร้อยแปด ถ้าจิตมันเป็นไปได้ร้อยแปด ถ้าการภาวนา การภาวนาถ้าคนจิตมันคึกจิตมันคะนอง เวลาจิตมันจะเป็นสมาธิ มันจะรู้มันจะเห็นอะไรแปลกๆ ไปทั้งนั้นน่ะ แต่ถ้ามันจะรู้มันจะเห็นอะไรแปลกๆ ขึ้นมา เรารู้เราเห็นเราส่งออกหมดแหละ ถ้าเราส่งออก มันต้องดึงกลับมาๆ ถ้าดึงกลับมาได้มันก็กลับมาพุทโธ ดึงกลับมาได้มันก็กลับมาที่ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้ามันดึงมาได้ ถ้ามันดึงกลับมาไม่ได้ มันก็หลุดออกไป นี่มันเป็นเรื่องโลกๆ ทั้งนั้นน่ะ
หนึ่ง เป็นเรื่องโลกๆ นะ แล้วเป็นการยืนยันไง “แต่ก่อนผมเจริญสติแบบการเคลื่อนไหว เอาแต่ตั้งสติไม่เคยสนใจสมาธิเลย แล้วครูบาอาจารย์ท่านสอนว่าให้เจริญสติอย่างเดียว เคลื่อนไหวอย่างเดียว แล้วมันจะเป็นทั้งสติ เป็นทั้งสมาธิ มันจะเป็นทั้งปัญญา แล้วมันจะเป็นของมันเอง” นี่จบเลย ถ้าจะเป็นของมันเอง มันก็รอมันผุดสิ
กรณีนี้ก็เหมือนเมื่อก่อน กรณีดูจิต การดูจิตของหลวงปู่ดูลย์ไม่ผิด หลวงปู่ดูลย์ท่านสอนดูจิต แล้วท่านสอนพุทโธด้วย แต่ท่านสอนเป็นมรรค เป็นมรรคเพราะอะไร เพราะท่านใช้ปัญญาอบรมสมาธิด้วยการเพ่ง ด้วยการดู พอดูขึ้นมาแล้วท่านมีสติปัญญาของท่าน พอจิตมันสงบไง พอจิตมันสงบแล้ว จิตเห็นอาการของจิตนะ มันจะเห็นสติปัฏฐาน ๔
เวลาคนสอนเป็นมันเป็นมรรคเป็นผล คนสอนไม่เป็นมันไม่เป็นมรรคไม่เป็นผล มันทำตามเขา ทำตามแบบฟอร์ม ทำตามแบบฟอร์มแล้วมันมีผลไหม มันไม่มีผล ถ้ามันไม่มีผลขึ้นมาแล้วมันเป็นมรรคไหม มันไม่เป็น ถ้าไม่เป็นมรรคมันก็ว่างเปล่า
ฉะนั้นบอกว่ามันจะเป็นไปเองนี่จบเลย ไม่มี ไม่มีเป็นเอง ถ้ามันเป็นไปเองกรรมก็ไม่มีผลน่ะสิ กรรม ใครทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ใครทำผิดก็เป็นมิจฉาทิฏฐิใครทำถูกก็เป็นสัมมาทิฏฐิ ถ้าใครทำถูกต้องดีงาม มันก็เป็นมรรค ใครทำมิจฉามันก็เป็นอกุศล มันไม่มี มันไม่มีของมันอยู่แล้ว มันไม่มีมรรคไม่มีผล ถ้าไม่มีมรรคไม่มีผลขึ้นมา มันไม่เป็น
ทีนี้การเคลื่อนไหวส่วนการเคลื่อนไหว จะบอกว่าถ้าบอกว่าการเคลื่อนไหวผิดเดินจงกรมก็ผิด เออ! เดินจงกรมก็เคลื่อนไหวเหมือนกัน แต่เคลื่อนไหวแบบสำรวมระวัง
เวลาอยู่บ้านตาดนะ ใครเดินจงกรมโดยที่ไม่ตั้งสติ เดินจงกรมทำเล่นนะหลวงตาท่านไล่ออกจากวัดเลย ท่านรับไม่ได้ ท่านบอกว่ามันเป็นการสบประมาทธรรมะ เวลาฟังธรรมๆ นะ ถ้าใครนอนฟัง ใครไม่เคารพธรรม หลวงตาท่านรับไม่ได้ ท่านบอกธรรมะนี้สูงส่งมากเลย ท่านจะพูดจะสอนสิ่งใดก็แล้วแต่ ธรรมต้องเป็นใหญ่ ความถูกต้องต้องเป็นใหญ่ เวลามีปัญหากันต้องหาเหตุหาผล ถ้าหาเหตุหาผลสมดุลแล้ว อันนั้นเป็นธรรม เป็นธรรม ธรรมต้องเป็นใหญ่ ใครจะเหนือธรรมไม่ได้
ฉะนั้น เวลาเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ถ้าใครมาทำเล่นๆ ท่านไล่ออกเลยท่านถือว่าไม่จริงไม่จัง คือว่าไม่เคารพธรรม ถ้าไม่เคารพธรรมมันก็ไม่ได้ธรรมเหมือนเรา เราไม่เคารพพ่อแม่ เราไม่เคารพพ่อแม่ เราก็ไม่เชื่อฟังพ่อแม่ ถ้าเราเคารพพ่อแม่ เราก็เชื่อฟังพ่อแม่ นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเขาไม่เคารพธรรมมันก็เหยียบย่ำธรรม ถ้าเอ็งเหยียบย่ำธรรมแล้วเอ็งจะมาภาวนา เป็นไปไม่ได้
ฉะนั้น การทำต้องมีความเคารพ ถ้าความเคารพ ท่านเดินจงกรมท่านต้องเอามือประสานไว้ระหว่างใต้สะดือแล้วเดิน อย่าไปแกว่งแขน แกว่งแขน สติมันแตกออกไป ท่านไม่ให้แกว่งแขนนะ ใครเดินแบบสบายๆ นะ ถ้าเห็นนะ ท่านพูดประจำ หลวงตา เราอยู่กับท่านนะ ท่านพูดคำไหนจะคอยจับ เพราะอะไร เพราะสายตาของท่าน สายตาของท่าน ปัญญาของท่าน ท่านวินิจฉัยแล้วท่านพูดออกมานี่เราเก็บหมดเลย มีสิ่งใดดี เก็บๆๆ เลย แล้วมาวินิจฉัย ถูกไหม ถ้ายังไม่ได้ภาวนาก็ยังไม่เห็นโทษของมัน ถ้าใครภาวนาจะเห็นโทษเลย
“ภาวนามาเป็นปีๆ ไม่ลงสักที ภาวนาไปแล้วทำไมมันทุกข์ขนาดนั้น”
ก็กิริยาของเอ็งน่ะ ก็ศรัทธาความตั้งใจน่ะ ทำก็ทำลวกๆ ทำเล่นๆ แต่จะเอาผลจริงๆ ทำ ถ้าทำจริงก็ได้ผลจริง ทำเล่นก็ได้ผลเล่นๆ ไง ได้ผลเล่นๆ ก็เหมือนคำถามนี้ คำถามเวลาทำไปแล้วจิตนี้เป็นได้หลากหลายนัก ถ้ามันเป็นมรรค เป็นมรรค ศีล สมาธิ ปัญญา เวลามีศีล ศีลคืออะไร ศีล ๕ ขอไม่ขอศีล ๕ มันก็อยู่ในหนังสือเต็มไปหมดเลย หนังสือมันมีอยู่แล้ว ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ อยู่ในหนังสือเต็มไปหมดเลย เอ็งขอ ไม่ทำ เอ็งก็ไม่ได้ ถ้าเอ็งทำขึ้นมามันก็อยู่กับเอ็ง
ศีลคืออะไร ศีลคือความปกติของใจ ถ้าใจมันทำสมาธิได้ สมาธิมันตั้งมั่นแล้ว มันมีความสุขของมันแล้ว มีความสุขของมัน ถ้าฝึกหัดใช้ปัญญา ปัญญามันจะเกิดขึ้น ปัญญามันเกิดอย่างไร ปัญญามันเกิดในสติปัฏฐาน ๔ เห็นกายพิจารณากาย แยกแยะกายให้เป็นไตรลักษณ์ ถ้าจับเวทนาได้ พิจารณาเวทนาไปถ้ามันเห็นจิต จิตเศร้าหมอง จิตผ่องใส ถ้าเห็นธรรมก็พิจารณาของมันไป นี่คือการฝึกหัดใช้ปัญญา
หลวงตาท่านบอกเลย บอกว่า ถ้าปัญญาไม่ต้องฝึก ให้มันมาเอง ถ้าอย่างนั้นท่านไม่ติดสมาธิ ๕ ปี ท่านมีสมาธิแนบแน่นมากเลย ติดสมาธิอยู่ ๕ ปี มันไม่เห็นเป็นปัญญาสักที
นี่ไง บอกว่ามันเป็นเองๆ ถ้ามันเป็นเอง คนติดสมาธิไม่มี ถ้ามันเป็นเองนะอาฬารดาบส อุทกดาบสก็เป็นพระอรหันต์ไปแล้ว เพราะเขาได้สมาบัติ ๘ ถ้าปัญญามันจะเป็นเอง ทำแล้วมันจะเป็นเอง คำว่า “ทำแล้วจะเป็นเอง”
“อาจารย์ท่านสอนว่าการเคลื่อนไหวให้เพ่งสติไว้ แล้วมันจะเป็นสมาธิ เป็นปัญญาไปหมดเลย”...เออ! จบ จบข่าว มันบอกอยู่แล้วนะว่าไม่ใช่มรรค
ถ้ามรรคนะ โอ้โฮ! มรรคนะ โสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค ทำไมมีมรรค ๔ ล่ะ มรรค ๔ เพราะอะไร เพราะกิเลส หลานกิเลส ลูกกิเลส พ่อกิเลส ปู่กิเลส คำว่า “ปู่กิเลส” นี่นะ พญามารนี่ โอ้โฮ! มันช่ำชอง มันช่ำชอง มันเล่ห์กลร้อยแปดเลย ฉะนั้น จะเข้าไปสู่พญามารมันถึงเป็นอรหัตตมรรค อรหัตตมรรค ศีล สมาธิ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ครบหมดเลย แต่ถ้าเป็นโสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค นี่เวลามรรคผลมันยังแตกต่างเลย เพราะกิเลสมันแตกต่าง กิเลสมันมีลูกหลานของมัน
ไอ้อย่างเรานี่ไม่ใช่กิเลสด้วย แค่ลมพัดลมเพก็ล้มหมดแล้ว ทำอะไรไม่ไหวสักคนหนึ่ง ไม่ต้องไปพูดถึงกิเลสหรอก แค่ลมพัดใบไม้ไหวก็ตกใจตายแล้ว แล้วไปเจอกิเลสอีก
ฉะนั้น เวลาที่ว่าเพ่งดูเฉยๆ เคลื่อนไหวเฉยๆ แล้วจะมาเอง ไม่มี ไม่มีหรอกฉะนั้น ถ้ามันไม่ใช่มรรค คำว่า “ไม่ใช่มรรค” มันไม่มีเหตุ จะเอาผลมาจากไหน ถ้ามันเป็นมรรคนะ สตินะ ใครฝึกหัดสตินะ เวลาเราเครียด เวลาเราตึงเครียด เรามีความฟุ้งซ่าน พอสติมันสมบูรณ์นะ จบเลยนะ สตินี่กั้นไว้หมด
หลวงตาท่านใช้คำว่า “สติเปรียบเหมือนฝ่ามือ ฝ่ามือสามารถกั้นคลื่นทะเลได้”
คลื่นทะเล ดูสิ เวลาทะเลมันมีมรสุม มันพัดเข้ามามันทำลายหมดเลยอารมณ์เวลามันเกิด ความตึงเครียดในใจเวลามันเกิด มันทำลายตัวเราทั้งหมดเลย พอเราพยายามมีสามัญสำนึก แล้วเราใช้ปัญญาของเรา ถ้าสติมันคืนมานะกึ๊ก! หยุดหมดเลย
หลวงตาท่านใช้คำว่า ท่านบอกว่า “ฝ่ามือสามารถกั้นคลื่นทะเลได้” ท่านพูดเอง คำนี้เป็นคำพูดหลวงตา แล้วเราฟังแล้ว อืม! ใช่ เพราะอะไร เพราะถ้าสติมาปั๊บ มันหยุดหมด เหมือนเรา สังเกตได้ไหมเวลาเราสติสมบูรณ์ ไอ้ความคิดที่มันเข้ามาทำลายเราหายหมดเลย เงียบ นี่ไง ถ้ามีสตินะ
ทีนี้คำว่า “สติ” แล้ว เวลาทำไปแล้วมันสติใช่ไหม ฝึกหัดสติแล้ว ฝึกหัดสติการปฏิบัติถ้ามีสติมันจะเป็นมรรค มันมีการกระทำก่อน พอมีการกระทำก่อน ศีลมันจะเกิด จะเกิดจากการกระทำของเรา
สิ่งใดเวลาพระอาบัติ อาบัติเพราะพระทำ ทำแล้วเป็นอาบัติ แต่เวลาพระคิดไม่เป็นอาบัติ เพราะอาบัติในความคิดมันไม่มี แต่เวลาเราปฏิบัติขึ้นมา มโนกรรมเวลาเราคิด เราฟุ้งซ่าน เรามีความกังวลในใจ นี่มโนกรรม มันเป็นอาบัติไหม มันเป็นความผิดไหม ความผิดมันยังไม่ได้ทำ แต่มันเป็นไฟเผาเรา มันเป็นไฟเผาเราเราก็ทำไม่ได้นี่ไง
ถ้าทำไม่ได้ ถ้าเรามีสติปัญญาขึ้นมา ศีลจะสมบูรณ์ตรงนี้ ศีลคือความปกติของใจ ศีล ๑ เวลาพระในสมัยพุทธกาลจะไปลาพระพุทธเจ้าสึก โอ้โฮ! ศีลร้อยแปด ยุ่งไปหมดเลย อะไรก็ผิดๆ
พระพุทธเจ้าบอกว่า ถ้าศีลเหลือข้อเดียวอยู่ได้ไหม
ได้
อย่างนั้นมีศีลข้อเดียว รักษาใจ เจตนานั่นน่ะ รักษาศีลข้อเดียว จนพระองค์นี้เป็นพระอรหันต์เลย
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเรารักษาศีลของเรา ศีลคือความปกติ ศีล สมาธิ ถ้าสมาธินี่ฝึกหัด เดินจงกรมเคลื่อนไหวก็ได้ อะไรก็ได้ ลืมตาก็ได้ หลับตาก็ได้ แต่หลับตาดีกว่า เพราะหลับตายังไม่เป็นสมาธิเลย ลืมตาจะเป็นอย่างไร ทำอะไรก็ได้ให้มันเป็นสมาธิ ถ้ามันเป็นสมาธิได้โดยเป็นสัมมาสมาธินะ อย่าเป็นมิจฉา มิจฉาก็ว่างๆว่างๆ ว่างๆ สร้างอารมณ์ว่าง
คิดสิ เวลาเราคิด เรานี่ทำบุญเยอะ เรานี่เป็นคนทำบุญเยอะมากเลย พอทำบุญเยอะมาก เราคิดว่าเรามีบุญเยอะเลย เราคิดแต่เรื่องบุญกุศลของเราเลยจิตใจเราก็ว่าง เราคิด เราคิดว่าว่าง แต่ยังไม่มีสมาธิ
เราจะมีบุญกุศลขนาดไหน เราทำมากน้อยขนาดไหน ต้องบริกรรม ต้องฝึกหัด ต้องให้จิตมันกระทำ จิตกระทำจนจิตมันว่าง จิตกระทำจนจิตว่าง น้ำไหลแต่นิ่ง น้ำเคลื่อนไหว ออกซิเจนเต็มเลย ปูปลาเต็มเลย กุ้งหอยปูปลาเยอะแยะไปหมดเลย แต่นิ่ง นิ่งหมดเลย เห็นไหม นี่ไง สมาธิ ถ้าสมาธิเป็นอย่างนี้ปั๊บมันจะเข้าใจ ถ้าคนทำสมาธิเป็น
เพราะครูบาอาจารย์ หลวงตาท่านฟังพระเทศน์ๆ พระเทศน์มันยังแจกแจงสมาธิไม่ถูก ถ้าคนแจกแจงสมาธิไม่ถูก มันจะรู้จักสมาธิได้อย่างไร คนที่รู้จักสมาธิแล้ว ท่านจะเห็นว่าสมาธิกับอารมณ์สามัญสำนึกมันแตกต่างกันอย่างไร อารมณ์ของอารมณ์สามัญสำนึกกับอารมณ์ที่เป็นสมาธิมันแตกต่างกันอย่างใด
อารมณ์สามัญสำนึก เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ร้าย แล้วถ้าเป็นอารมณ์สมาธิมันเป็นหนึ่งเดียวที่ไม่พาดพิงอารมณ์สิ่งใดเลย ไม่พาดพิงอารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น มันทรงตัวของมันได้นี่ พุทโธๆ เพื่อให้มันทรงตัวได้ ถ้ามันทรงตัวได้มันถึงเป็นสมาธิได้สมาธิตั้งมั่นไม่พาดพิงอารมณ์ ไม่พาดพิง มันไม่ต้องพาดพิงอาศัย ไอ้นี่จิตอยู่ไหนก็ไม่รู้ แต่อารมณ์ดี อารมณ์ดี๊ดี อารมณ์ขี้ทุกข์ อารมณ์ขี้ยาก นี่จิตมันพาดพิงอารมณ์
นี่ไง ถ้าเป็นสมาธิไง ถ้าเป็นสมาธิขึ้นมา แล้วถ้าเป็นปัญญาเป็นภาวนามยปัญญา ถ้าภาวนามยปัญญา หลวงตาก็พูดอีกแหละ คนไม่เคยเห็น พูดไม่ได้ คนไม่เคยมีภาวนามยปัญญา ไม่รู้ว่าภาวนามยปัญญามันเกิดอย่างไร
ถ้าภาวนามยปัญญาเวลามันเกิดขึ้นมา ศีล สมาธิ ปัญญาสมบูรณ์แล้ว พอสมบูรณ์แล้วมันก็มรรค ๘ แล้ว มรรค ๘ พอเราพิจารณาไปแล้วมันจะหมุนของมันแล้ว ไปแล้ว ที่ว่าปัญญามันหมุน ธรรมจักรมันหมุน จักรมันหมุน จักรมันจะเข้าไปทำลายอวิชชาในใจ เวลามันหมุน มันเคลื่อนตัวไป มันเป็นของมันไป
แล้วถ้ามันไม่มีล่ะ “เดี๋ยวมันจะเป็นเอง เดี๋ยวจะเป็นเอง” มันไม่ใช่มรรค การเคลื่อนไหวหรือไม่เคลื่อนไหว อันนี้ไม่ใช่ประเด็น ประเด็นว่าทำแล้วมันเป็นมรรคเป็นผลหรือไม่ เพราะว่าการเคลื่อนไหว หลวงปู่มั่นท่านก็สอนเดินจงกรม ในประวัติหลวงปู่มั่น ในปฏิปทาธุดงคกรรมฐาน มันก็นั่งสมาธิ เดินจงกรม อิริยาบถ๔ ยืน เดิน นั่ง นอน ได้หมด แต่มันมีสติปัญญาพร้อมสมบูรณ์หรือไม่ แล้วทำแล้วมันเป็นมรรคเป็นผลหรือไม่ ถ้ามันไม่เป็นก็จบ มันไม่เป็นก็จบ ก็ทำไป ทำไปมันก็แบบว่ามันเป็นมิจฉาทิฏฐิเสียด้วยนะ ทำไปแล้วมันเข้ากระแสสายบุญสายกรรมไง
เวลาเข้ากันโดยธาตุ ลูกศิษย์พระสารีบุตรเป็นปัญญาวิมุตติทั้งนั้น ลูกศิษย์ของพระโมคคัลลานะเป็นเจโตวิมุตติทั้งนั้น มีฤทธิ์ทั้งนั้น ลูกศิษย์พระเทวทัตถือลามกทั้งนั้น มันชอบ มันเข้ากันโดยธาตุ โดยธาตุคือการกระทำบ่อยๆ มันชอบใจพอชอบใจมันก็ยึดเป็นอารมณ์ ยึดเป็นอารมณ์มันก็เป็นจริตนิสัย พอเป็นจริตนิสัยมันก็ไปเลย
นี่ก็เหมือนกัน ให้มันถูกต้องดีงามเท่านั้นก็จบ นี่พูดถึงว่า นี่มันเป็นอย่างไรอันนี้เขาบอกว่าเวลาเขาพิจารณาของเขา มาเข้าสู่คำถามเนาะ คำถามนี่เขาถามบอกว่า เราจะพูดถึงการเคลื่อนไหวก่อน การเคลื่อนไหวนะ เขาบอกว่าเขาภาวนาแบบการเคลื่อนไหว ทีนี้การเคลื่อนไหว เราออกตัวไว้ก่อนไง ออกตัวไว้ก่อนเพราะว่าการเคลื่อนไหวกับการเดินจงกรม
เดินจงกรมก็เคลื่อนไหว แต่เดินจงกรมถูก เดินจงกรมผิด หลวงตาท่านไล่ออกจากวัดเลย ท่านบอกว่าไม่เคารพในธรรม ไม่เคารพในธรรมมันก็จะปฏิบัติธรรมไม่ได้ธรรม ทำโดยความสบประมาท ทำโดยความไม่เคารพบูชา แต่ถ้าเราทำด้วยความเคารพความบูชาของเรา ถึงมันจะไม่ได้ เราก็เคารพบูชาของเรา นี่อาจารย์ท่านสอนกันมาแบบนี้ ถ้าสอนมาแบบนี้มันต้องทำด้วยความเคารพ ทำด้วยความจงใจ ทำด้วยความตั้งใจ เราอยากได้ของจริง เราไม่อยากได้ของเล่นๆ
ฉะนั้น นี่กรณีหนึ่ง นี่พูดถึงการเคลื่อนไหว จบ
ทีนี้การเคลื่อนไหว นี่มาพูดถึงว่า “มีอยู่ครั้งหนึ่งเดินจงกรมในบ้าน เห็นเป็นวัตถุลูกใหญ่ๆ”
ไอ้เห็นนิมิตเห็นได้ร้อยแปด การเห็นนิมิตนะ เวลาเราเห็นกาย เห็นกายมันก็เป็นนิมิต แต่เห็นกาย จิตมันสงบ มันเห็นกายใช่ไหม เพราะนิมิตที่เป็นกาย นิมิตที่จะเป็นสติปัฏฐาน ๔ มันตั้งได้แล้วมันพิจารณาได้ มันแยกแยะได้ ถ้าจิตไม่เป็นสมาธิ ตั้งไม่ได้ แยกแยะไม่ได้ นิมิตที่มาเหมือนกัน มันไหลมา มันรู้มา มันรู้มาโดยนิมิต ถ้านิมิตมีถูกมีผิด ถ้าเป็นปุถุชน นิมิตผิดหมด
แต่ถ้าเป็นนิมิตของพระอรหันต์ ดูสิ เวลาหลวงตาท่านพูด หลวงตาท่านพูดบ่อย “เมื่อคืนฝันว่าเทวดามาขอฟัน” นั่นก็นิมิต เห็นไหม หลวงตาท่านพูดในเทปน่ะ ท่านบอกว่าท่านตื่นนอน ท่านฝัน ฝันว่าเมื่อคืนเทวดามาขอฟัน ท่านพูดบ่อยเลยตอนช่วงท้ายชีวิตท่านน่ะ นิมิตของพระอรหันต์มันก็ถูกต้องดีงามหมด นิมิตของปุถุชน กิเลสทั้งนั้น กิเลสท่วมหัว มันก็อุปาทานทั้งนั้น นี่พูดประสาเราไง
นี่เขาบอกว่าเขาเห็นวัตถุก้อนใหญ่ๆ หลุดออกไป แล้วก็เปรียบเหมือนว่ามันเป็นเรื่องกิเลสหลุดไป อ๋อ! กิเลสมันเป็นเช่นนี้เอง แล้วพอกิเลสเป็นเช่นนี้เอง แต่คำถามเขาบอกเขาพิจารณาเฉยๆ มันจะเป็นไปเองๆ
มันเป็นไปเองก็เห็นนิมิตไปเอง เหมือนเราเวลาเรานั่งอยู่ที่ศาลา ถ้าเป็นลูกศิษย์ของเรานะ พอมาหาเรานี่ “โอ๋ย! หลวงพ่อดี๊ดี หลวงพ่อดี๊ดี” มีแต่คนชม แต่ถ้าคนที่ไม่เห็นด้วยกับเรานะ “โอ้โฮ! หลวงพ่อนี่ดุมาก หลวงพ่อเป็นคนไม่ดี”
มันจะมีผลอะไร มันจะมีผลอะไร โลกธรรม ๘ สรรเสริญนินทาก็เรื่องของเขาแต่ตัวฉันดีหรือไม่ดีมันอยู่ที่ตัวฉัน ไอ้นั่นมันสรรเสริญนินทา ไอ้นี่ก็เหมือนกัน นิมิตเราส่งออกไปรู้ไปเห็น แล้วมันจริงหรือเปล่า ถ้าเป็นจริงไม่จริงก็เป็นแบบนี้
ฉะนั้น เขาบอกว่า เวลาเขาภาวนาอย่างนี้ เขาเห็นอย่างนี้ เห็นเรื่องโลกๆ นี่เขาคิดของเขาไปนะ แล้วเขาบอกว่า อ๋อ! มันเป็นอย่างนี้เอง กิเลสมันเป็นแบบนี้เอง มันเป็นความโลภ ความหลง มันรู้เท่าแล้วก็จบ นี่คือความคิดของเขา
ถ้าพูดถึงเป็นการประพฤติปฏิบัตินะ เราจะบอกการประพฤติปฏิบัติเริ่มต้นทุกคนปฏิบัติโดยกิเลส โดยความเห็นของเรา ถ้าโดยความเห็นของเรา โดยสามัญสำนึก โดยสัญชาตญาณของเรา ถ้าโดยสามัญสำนึก โดยสัญชาตญาณของเรา ถ้าเราพุทโธได้ โดยสัทธาจริตมันก็พุทโธได้ เป็นสมาธิได้ แต่ถ้ามันเป็นพุทธจริต คนที่มีปัญญามาก ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาอบรมสมาธิคือสติปัญญาเท่าทันความคิด
เท่าทันความคิดก็ที่เขาถามนี่ไง พอภาวนาสังเกตต่อเนื่องไป เขาก็เห็นว่ามันมีสิ่งที่วิ่งอยู่ในตัวเอง มันเป็นความโลภ ความโกรธ ความหลง แล้วเขารู้เท่ารู้ทันความโลภ ความโกรธ ความหลง
นี่มันเป็นสามัญสำนึก มันเป็นความคิด ถ้ามีสติเท่าทันมันจบได้ มันจบได้ก็เป็นปัญญาอบรมสมาธิ เป็นสมาธิ เป็นสมาธิ เป็นสมาธิเพราะอะไร เป็นสมาธิเพราะมันเป็นสามัญสำนึก มันเป็นโลก มันเป็นเรา ปุถุชนน่ะ ปุถุชนมันก็มีอารมณ์ความรู้สึกเป็นเรื่องธรรมดา อารมณ์ความรู้สึกเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าเราเท่าทันอารมณ์ความรู้สึก มันปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกมันก็เป็นสมาธิไง ถ้าเราปล่อยวางอารมณ์ไง
สมาธิคือจิตตั้งมั่นที่ไม่พาดพิงอารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น นั่นคือตัวสมาธิ แต่ถ้ามันยังพาดพิงอารมณ์ใดอยู่ สมาธิ ขณิกสมาธิมันเป็นสมาธิ มันมีหลักของมัน แต่มันยังพาดพิงอยู่ เพราะมันรับรู้ได้ อุปจารสมาธิมันคิดได้ มันเป็นอุปจารสมาธิ เป็นสมาธิอยู่ มันพาดพิงได้ แต่ถ้ามันเป็นอัปปนาสมาธิ สักแต่ว่ารู้ ไม่พาดพิงอะไรเลยถ้ามันเป็นสมาธินะ
ฉะนั้น เวลาเรามีอารมณ์ มีอารมณ์นี่เป็นสามัญสำนึกของเรา แต่ถ้ามันเป็นสมาธิแล้ว มันตั้งมั่นแล้ว เวลาเราเห็นอาการของจิต เราจะจับสติปัฏฐาน ๔ อันนั้นเพราะจิตมันเป็นสมาธิ จิตมันตั้งมั่น จิตมันมีกำลัง แต่สามัญสำนึกของเรา เราเป็นโลก เราเป็นโลก เป็นโลกหมายความว่าเราไม่รู้เรื่องอะไรเลย เราคิดว่าสิ่งนี้เป็นเราๆ ไปหมด พอเราไปเห็นอะไรรู้อะไรมันก็ว่านี่เป็นธรรมๆ ไง มันเป็นโลกไง เป็นโลกคือโลกทัศน์ เป็นโลกคือสัญชาตญาณ
เป็นมรรค เป็นมรรคเพราะจิตมันเป็นสมาธิแล้ว จิตเป็นสมาธิ จิตมันตั้งมั่นตั้งมั่นมันก็มีความสุข ตั้งมั่นก็เป็นอิสระ ตั้งมั่น กิเลสมันก็ครอบงำไม่ได้ พอมันครอบงำไม่ได้ มันเห็นอาการของมัน มันเห็น เพราะมันมีสติมีปัญญา มันเห็น มันเห็น มันรู้ได้ มันพิจารณาของมันได้ นี่เป็นมรรค นี่พูดถึงว่าปฏิบัติใช่มรรคหรือไม่ใช่มรรค
ฉะนั้น สิ่งที่พูดมานี้ คำถามว่า เห็นความโลภ ความหลงไปหมดเลย แล้วพิจารณาไปทุกครั้งมันก็เห็นของมันไปนะ เวลาผมเห็นผู้หญิง เห็นผู้หญิงที่ว่าเวลามันสวย เวลามันมีอะไรมาตัด
คำว่า “มีอะไรมาตัด” มันไม่ใช่ปัญญา ถ้ามีปัญญานะ เวลากรรมฐานเรา เห็นไหม คนเรามันสวยงามที่ผิวหนัง ลองลอกผิวหนังออกมาสิ ผิวหนังลอกออกมาแล้วมีหญิงมีชายหรือไม่ ถ้ามันทะลุ มันมองทะลุผิวหนังไปเลย
เวลาหลวงตาท่านสอน ครูบาอาจารย์เราสอน เวลานั่งกรรมฐานแล้วจิตมันสงบลง มันมีผู้หญิงหนีสามีมาเดินผ่านไป แล้วสามีเขาก็ตามมา มาเจอพระ ถามพระว่า “เห็นภรรยาผมเดินมาทางนี้ไหม”
“ไม่เห็น เห็นแต่โครงกระดูกมันเดินไป ไม่เห็นคน เห็นแต่โครงกระดูกมันเดินไป”
นี่มันคนละเรื่องเลย เห็นแต่โครงกระดูกไง เพราะจิตใจของท่านเป็นธรรมท่านมองทะลุหมดเลย ท่านมองไปเห็นโครงกระดูกเลย ไม่เห็นคน เห็นแต่โครงกระดูกมันเดินไป สามีเขาก็ไม่ติดใจ เขาก็ตามของเขาไป แต่อันนี้มันอยู่ในพระไตรปิฎก
นี่เหมือนกัน เห็นผู้หญิง มันตัดปุ๊บ มันเป็นเรื่องโลกๆ ไง แต่คำว่า “โลกๆ” เราไม่ได้ตินะว่าทำแล้วมันผิดมันอะไร เราไม่ได้ตินะ เพราะอะไร เพราะว่าเขาทำอย่างนี้เขาก็พยายามฝึกหัดของเขา
เราจะบอกว่า เด็กน้อยฝึกหัดทำสิ่งใดมันก็ต้องมีผิดพลาดเป็นเรื่องธรรมดาไม่ใช่ว่าทำแล้วจะถูกไปหมด ดีไปหมดไง แต่ทีนี้เขาถามเรา เขาถามว่านี่ใช่หรือไม่ ที่ปฏิบัตินี่เราเห็นด้วยหรือไม่
ทีนี้ที่พูด พูดอย่างนี้ ที่พูดเพราะอะไร เพราะมันมีประเด็น ประเด็นที่เขาบอกว่าครูบาอาจารย์เขาสอนไว้ว่าเพ่งไว้เฉยๆ รู้เท่าไว้เฉยๆ ศีล สมาธิ ปัญญามันจะเป็นเอง มันจะเป็นเอง มันจะเป็นเอง เพราะไม่จับไม่ทำไง
เหมือนเราทำงาน เราทำงานเราทำไม่สมบูรณ์ เรามีอุปกรณ์มีทุกอย่างที่ควรจะทำให้มันเป็นชิ้นเป็นอัน แต่เราไม่ทำ เราจะเพ่งอยู่เฉยๆ เพราะมันไม่มีครูบาอาจารย์คอยบอกไง
แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์คอยบอกนะ ถ้ามันทำ ดูหลวงตาเวลาท่านพิจารณาอสุภะสิ พิจารณาไปแล้วมันไม่ไหว ท่านต้องปล่อย ปล่อยกลับมาพุทโธให้จิตมันสงบก่อน ให้กลับมามีกำลังก่อน พอมีกำลังเสร็จแล้วท่านก็กลับไปพิจารณาต่อ นี่มันมีครูบาอาจารย์คอยแนะคอยสอนคอยบอกอะไรควร ไอ้เราเวลาไปจับสิ่งใดได้เราก็เคลมว่าเป็นอย่างนั้นๆ เลย แต่มันไม่เป็น
ทีนี้เรื่องผู้หญิงเรื่องต่างๆ มันเห็น เพราะอะไร เพราะมันเป็นวิภาคะกันระหว่างหญิงกับชาย หญิงกับชายมันเป็นวิภาคะกันมาแต่ไหนแต่ไร ทีนี้แต่ไหนแต่ไร เวลาเราถือพรหมจรรย์มันก็แยกระหว่างหญิงกับชาย หญิงก็พรหมจรรย์ ชายก็พรหมจรรย์ ก็แยกจากกัน แยกจากกัน เราอยู่กับพรหมจรรย์ เราประพฤติพรหมจรรย์เพื่อพรหมจรรย์
แต่ถ้าประพฤติพรหมจรรย์แล้วมันก็มีสิ่งเร้า สิ่งเร้า เราต้องมีปัญญาอย่างไรที่จะระงับ เราต้องมีสติปัญญาที่จะระงับ ถ้าเราระงับได้ มันระงับอยู่ในขอบในเขตมันก็จบ ถ้ามันจบ เราก็ภาวนาของเราต่อเนื่องไป เว้นไว้แต่คนที่เขามีเวรมีกรรมเขาระงับไม่ได้ มันก็มีเวรมีกรรมต่อเนื่องไป ถ้ามันไม่มีเวรมีกรรม เราถือพรหมจรรย์ เราจะเกิดมาเพื่อพรหมจรรย์ ถ้าพรหมจรรย์ เราก็ปฏิบัติของเรา
ฉะนั้น นี่พูดถึงว่าคำถามของเขา ฉะนั้น เขาบอกว่าเขาเคยไปถามพระองค์หนึ่ง พระบอกว่าผมคิดเอาเอง ผมคิดเอาเอง มันจะคิดเอาเองได้อย่างไร เขาว่านะ
พระนั้นเขาก็พูดอธิบายอย่างที่เราพูดนี่ไง มันเป็นการภาวนาที่เกิดขึ้น อย่างนี้มันแบบที่ว่าหลวงปู่มั่นท่านบอก จิตนี้เป็นได้หลากหลายนัก จิตนี้มันเป็นได้หลากหลายนัก มันเป็นกึ่งๆ ก็ได้ เวลามันไม่ภาวนาเลยมันก็ดิบๆ เวลามันภาวนาแล้วมันก็รู้มันก็เห็นของมันน่ะ แต่สติปัญญามันไม่สมบูรณ์ สติปัญญาไม่สมบูรณ์มันก็กึ่งๆ ของมัน กึ่งๆ ของมันอย่างนี้
เวลามันกึ่งๆ ของมันอย่างนี้ปั๊บ จะว่าไม่ใช่ธรรม เราก็รู้ ถ้าจะเป็นธรรม รู้อะไร รู้อะไรล่ะ จับอย่างไร เราจับกิเลสอย่างไร จับกายอย่างไร จับสมาธิ จับจิตจับเวทนาอย่างไร แล้วถ้าจับได้ พิจารณาอย่างไร
เพราะของยืมอย่างหนึ่งนะ เรากู้เงินใช้นี่อย่างหนึ่ง เราหาเงินเองนี่ทุกข์ยากมากก็อย่างหนึ่ง เพราะเงินของเรา ถ้าเราหาเงินเอง เงินของเรา เราใช้จ่ายเป็นเงินของเราไม่มีดอกเบี้ย ถ้าเราไปกู้เขามาใช้ เรากู้เขามา เราต้องใช้สอย เราต้องมีดอกเบี้ย ต้องใช้คืนเขานะ
นี่ก็เหมือนกัน เราปฏิบัติ ธรรมะของพระพุทธเจ้าทั้งนั้นน่ะ เราศึกษามา เรารู้มา เราก็พูดได้ เราพูดได้ทั้งนั้นน่ะ เงินกู้ทั้งนั้นน่ะ เรากู้เขามา พอกู้เขามา ถึงเวลามันเสื่อมแล้วต้องใช้ดอกอีกด้วย ใช้ดอกเพราะมันทุกข์มันยากไง แต่ถ้ามันเป็นเงินของเรานะ เราได้ประสบความสำเร็จของเรา เราทำแล้วมันเป็นเรื่องของเรามันเป็นประโยชน์กับเราไง นี่พูดถึงเวลาที่มันเป็นประโยชน์
ฉะนั้น เขาบอกว่าเขาไปถามพระแล้วพระเขาบอกว่ามันคิดเอาเอง แต่ผมว่าผมทำของผมได้ แล้วผมก็มาปฏิบัติการเคลื่อนไหวของผมไปเรื่อยๆ แต่สุดท้ายแล้วเขาก็มานึกได้เรื่องสมาธิ พอเรื่องสมาธิแล้ว ตอนนี้เขาก็บอกว่า เวลาเขาปฏิบัติแล้วเขาก็พุทโธบ้าง เคลื่อนไหวบ้าง พุทโธบ้าง พอมีสมาธิขึ้นมามันก็เป็นประโยชน์แล้ว มันเป็นประโยชน์เพราะว่าเขาจับของเขาได้ เขาเห็นสติเขาใหญ่ขึ้นสติเขาดีขึ้น ทุกอย่างของเขาดีขึ้น นี่ถ้าดีขึ้นนะ
เราฝึกของเราไป ถ้าฝึกของเราไป ไอ้การเคลื่อนไหวนั้นมันเป็นวิธีการเท่านั้นแต่ทำแล้วจิตมันสงบหรือไม่ จิตเป็นสมาธิหรือไม่ อย่างที่เราพูดนะ แต่ก่อนเขาจะมีสติแบบเคลื่อนไหว “เอาแต่ตั้งสติ ไม่เคยสนใจสมาธิ เพราะครูบาอาจารย์ว่าเจริญสติอย่างเดียวมันจะเป็นทั้งสติ สมาธิ ปัญญา และไม่ต้องพิจารณา”...ตรงนี้เน้นย้ำเลย “และไม่ต้องพิจารณาอะไรทั้งนั้น มันจะเป็นของมันเอง”...มันเป็นไปไม่ได้ พอมันเป็นไปไม่ได้
หลวงตาท่านพูดบ่อย ถ้าใครบอกว่าทำสมาธิแล้วปัญญาจะเกิดเองๆ ท่านพูดประจำบอกว่า “ถ้าปัญญามันจะเกิดเอง เราไม่ติดสมาธิ ๕ ปี” ถ้าปัญญาจะเกิดเองหลวงตาไม่ติดสมาธิอยู่ ๕ ปี
อยู่กับหลวงปู่มั่นแท้ๆ หลวงปู่มั่นพอเวลาจะดึงออกมาจากสมาธิ ดึงออกมาจากที่ท่านติด ท่านคิดว่าตอนนั้นท่านเป็นนิพพาน เวลาท่านพิจารณาของท่าน จิตกับกายแยกออกจากกัน ก็ไปหาหลวงปู่มั่น แล้วท่านบอกว่าเหมือนเราที่ถ้ำสาริกาไง แล้วพอตอนหลังจะเอาอีก ท่านบอก มันมีหนเดียวเท่านั้นแหละ เวลากิเลสมันตาย ตายหนเดียว คนตายได้ครั้งเดียว คนไม่ตายได้สองครั้งสามครั้งหรอก กิเลสมันตายไปแล้ว กิเลสขั้นนั้นมันตายไปแล้ว
ก็เข้าใจว่ามันครั้งเดียว ก็เลยติดอยู่ ๕ ปี แล้วติดอยู่ ๕ ปีเพราะความเข้าใจว่านั่นคือนิพพาน แล้วพอเข้าใจว่านิพพานแล้ว ถ้าติดสมาธิ ถ้าเป็นสมาธิแล้วจะเกิดปัญญาเอง มันจะติดไหม มันก็ต้องออกมาพิจารณาต่อเนื่องไปสิ เพราะ แหม! สมาธิมันแนบแน่นน่ะ ติดอยู่นั่น ๕ ปี
นี่มันจะเป็นเองไง มันจะเป็นเองก็เห็นมาหมดแล้ว ฉะนั้น คำว่า “มันจะเป็นเอง” ๑. เพราะเขาสอน ๒. เราเชื่อเขาแล้วมันจะเป็นเอง
เป็นเอง สิ่งที่ทำมันเป็นผลพลอยได้ เวลาเราเคลื่อนไหว ปฏิบัติมา ๔-๕ ปีนะเขาบอกว่าเขาปฏิบัติตอนหลังๆ อีก ๒-๓ ปี ตั้งใจมาก ถ้าตั้งใจมาก ปฏิบัติมาแล้วมันก็ปฏิบัติบูชา แต่มันเป็นมิจฉาหรือสัมมา ถ้าเป็นมิจฉามันก็มีความผิดพลาดไป ถ้าเป็นสัมมาทิฏฐิความเห็นถูกต้องดีงาม มันจะเข้าถึงมัชฌิมาปฏิปทามัชฌิมาปฏิปทาคือสมดุลพอดี ความสมดุลพอดีระหว่างธรรมะ ศีล สมาธิ ปัญญาสมดุลแล้วมันสมุจเฉทปหาน มันจะฆ่ากิเลส พอมันฆ่ากิเลส เห็นไหม มันจะเกิดเองไหม
เพราะเวลาฆ่ากิเลส มันยังมีตทังคปหานคือการประหารชั่วคราว เราใช้สติใช้ปัญญาเต็มที่เลยถ้าเราจับต้องได้ แล้วพิจารณาไปมันปล่อยมันว่างหมดเลย นี่มันชั่วคราวเพราะมันไม่สรุป
เวลาสรุป เพราะถ้ามันมีตทังคปหาน แล้วถ้ามันสรุป มันขาด มันจะมีสมุจเฉทปหาน ถ้ามันสมุจเฉทปหาน เห็นไหม กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส มันเป็นขั้นเป็นตอนน่ะ พระโสดาบันละสังโยชน์ได้ ๓ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส แล้วละอย่างไร แล้วเวลาพระพุทธเจ้าสอนในพระไตรปิฎกด้วย ถ้าเวลาละ เวลาขาดดั่งแขนขาด คนเราตัดแขนขาด มันไม่รู้ว่ากิเลสมันขาดหรือ
ไอ้นี่อะไรก็ไม่รู้ ไปเรื่อยเฉื่อย แล้วก็บอกว่า “อ๋อ! ความโลภ ความโกรธความหลงมันเกิดดับอย่างนี้เอง”...มันไม่มีเหตุมีผลอะไรเลย มันไม่ใช่มรรค ถ้ามันไม่ใช่มรรค
เวลาครูบาอาจารย์ เวลาหลวงตาท่านขึ้นไปหาหลวงปู่แหวน เวลาหลวงตาท่านคุยกับหลวงปู่ขาวอย่างนี้ เวลาหลวงตาท่านคุยกับหลวงปู่พรหม คุยกับครูบาอาจารย์ มันมีเหตุมีผลนะ ถ้ามันไม่มีเหตุมีผล มันไม่มีการรับรองกันหรอก ไอ้นี่มันมีเหตุมีผล มันเป็นจริงไง ไอ้นี่มันไม่มีเหตุมีผลอะไรเลย แล้วพูดออกไปแล้วสรุปเอง
เพราะใครจะมาทางไหน วัวใครก็เข้าคอกเจ้าของคนนั้น นี่ก็เหมือนกัน เรามีความเชื่อ มีความเห็นมากขนาดไหน มันก็ฟ้องมาหมดไง “ไม่ต้องพิจารณา ไม่ต้องพิจารณาทั้งนั้น มันจะเป็นของมันเอง” มันเป็นของมันเองมันก็วนอยู่ในอ่างนั่นน่ะ สวะก็อยู่ในนั้นน่ะ มันไม่ไปไหนหรอก มันก็วนอยู่ในนั้นน่ะ มันไม่มีที่มันจะจบสิ้น ถ้ามันเป็นจริงมันจะจบสิ้นของมัน
ฉะนั้น คำถามสุดท้าย เพราะว่าเขาก็ภาวนาเหมือนกัน แล้วมันแนบแน่นขึ้น“อยากให้ท่านอาจารย์ว่าที่ผมภาวนามีจุดไหนบ้างที่จะพิจารณาแล้วเห็นว่าต้องแก้ไข แล้วปฏิบัติให้ถูกต้อง รบกวนอาจารย์ชี้แนะสั่งสอนด้วยครับ”
ถ้าพูดถึงเขากำหนดพุทโธอยู่แล้วใช่ไหม เรากำหนดพุทโธ ลมหายใจเข้าพุทลมหายใจออกโธ พยายามชัดๆ ชัดๆ ของเรา พยายามสู้กับมันอยู่พักหนึ่งเลยล่ะแล้วถ้าไม่ได้ ปัญญาอบรมสมาธิ ต้องให้จิตเข้ามาเป็นสมาธิ
คือจะบอกว่า จิตจะต้องปล่อยความรู้ความเห็นที่รู้มาทั้งหมดนี้หมดเลย ถ้าจิตลงสู่สมาธิ ที่ถามๆ มานี่มันวางหมดเลย พอเข้าสมาธิแล้ว อ๋อ! มันเป็นเช่นนี้เองถ้าเข้าสมาธินะ ถ้ามันปล่อย มัน อ๋อ! มันเป็นเช่นนี้เอง พอเป็นเช่นนี้เองแล้วมันจะยกขึ้นสู่วิปัสสนา มันต้องทำต่อไป
เพราะที่ทำมาๆ มันเป็นอย่างนั้นๆ มันเป็นที่เรารู้เราเห็น เรารู้เราเห็นนะครูบาอาจารย์ท่านสอนนะ จิตที่คึกจิตที่คะนองคือจิตที่มีอำนาจวาสนามันจะรู้มันจะเห็นต่างๆ มันจะต้องมีครูบาอาจารย์ที่ความรู้มากกว่ามันถึงดูแลกันได้ ถ้าไม่ดูแลออกไปรู้เห็นกาย เราก็รู้กาย ตำราสอนอะไร เราก็รู้ก็เห็น แต่ตำราสอน แต่เรารู้เราเห็น แต่เราเห็นโดยกิเลส เราไม่ได้เห็นโดยธรรม ถ้าเห็นโดยกิเลส ใครเห็นอะไรไม่มีปัญหา
มีพระมาหาบ่อยมากบอกว่า ทำให้จิตสงบสิ จิตสงบแล้วก็พิจารณากาย แล้วเขาก็บอกว่าเขาจิตสงบแล้วเขาพิจารณากาย แล้วก็มาถามว่าทำอย่างไรต่อ แล้วทำอย่างไรล่ะ ก็นึกเอาทั้งนั้น จิตสงบแล้วพิจารณากาย พิจารณาอย่างไร ในตำราเขาบอกไว้อย่างนั้นน่ะ แต่ทำ ทำอย่างไร ถ้าเห็นกาย เห็นอย่างไร ถ้าเห็นกายมันสะเทือนกิเลสไหม เห็นจริงหรือเห็นปลอม เห็นโดยอุปาทาน เห็นโดยจินตนาการเห็นโดยกิเลส ถ้าจิตสงบแล้วเห็นโดยธรรม พอเห็นโดยธรรม จับมันไม่อยู่แล้ว
เห็นโดยธรรมนี่นะ มันจะเคลื่อนไหว เพราะอะไร เพราะมันจะรองรับด้วยสมาธิ จะรองรับด้วยจิตของเรา ถ้าด้วยจิตของเรา ถ้าจิตของเรามีกำลังขนาดไหนเห็นไหม ในสัมโพชฌงค์ไง ในสัมโพชฌงค์ท่านพูดถึงอินทรีย์ อินทรีย์แก่กล้า คนที่จะประพฤติปฏิบัติมันต้องมีอินทรีย์ มีพละ มีกำลังของจิต จิตต้องมีกำลังมีพละของมัน ถ้าจิตมีกำลังขึ้นมาแล้ว พอเวลามันตั้งมั่นได้แล้วมันมีกำลังที่สามารถทรงได้ ที่สามารถเคลื่อนไหวได้ ที่สามารถพิจารณาได้ มันเทียบได้หมดแหละ เวลามานี่เหมือนหมอเลย คนไข้มานี่เป็นอะไร สมุฏฐานโรคเรารู้ทันที ถามนี่รู้ทันที
นี่ก็เหมือนกัน เวลามา พิจารณาเป็นอย่างไรว่ามา เขาจะบอกอาการเลยพิจารณาอย่างนั้นๆ จบ รู้ทันทีว่ามันขาดอะไร ขาดสติ ขาดสมาธิ ขาดปัญญา มันขาดตรงไหน ตรงไหนเข้ม ตรงไหนอ่อน รู้ทันที แต่อธิบายแล้วเขาจะทรงได้ไหมเขาจะทำความสมดุลได้ไหม ถ้าทำความสมดุล เขามีมัชฌิมาปฏิปทาไง ถ้าเขาทำความสมดุลของเขาได้ก็เป็นมัชฌิมาปฏิปทา ถ้ามัชฌิมาปฏิปทาก็จุดเดือด
ข้าว อาหารที่มันสุก มันสุกเพราะอุณหภูมิจุดที่มันสุก นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามัชฌิมาปฏิปทาความสมดุลของมันใช้ได้มันก็ใช้ได้ ถ้ามัชฌิมาปฏิปทามันอ่อนมันแข็งอย่างไร สิ่งใดอ่อน สิ่งใดไม่มีกำลังไม่พอ ไม่พอมันก็ไม่สมดุล ไม่สมดุลก็ไม่มัชฌิมาปฏิปทา เป็นไปไม่ได้
นี่ไง นี่พูดถึงว่า ถ้าจุดไหนควรจะทำอย่างใด
กลับมาเลย สิ่งที่เป็นไปๆ ที่เห็นๆ มา จิตเป็นได้หลากหลายนัก เราไม่ใช่บอกว่าที่เห็นมานั้นไม่ใช่ไม่เห็น เห็น แต่เห็นแล้วเขียนมาถามนี่งงๆ
แต่ถ้าเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโกนะ หลวงตา หลวงปู่มั่นท่านบอกว่า“แม้แต่นั่งอยู่หน้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่ถาม” ถ้าเป็นจริงมันเป็นสันทิฏฐิโก รู้จำเพาะตน เวลากิเลสขาดดั่งแขนขาด ขาดเลย จบเลย แล้วจบสิ้น นี่ธรรมะมันเด็ดขาดอย่างนั้น ถ้ามันเด็ดขาดอย่างนั้น เห็นไหม
กลับมาที่พุทโธ สิ่งที่รู้ที่เห็น เห็นแบบโลกียปัญญา เห็นแบบโลกๆ เป็นโลกียปัญญา เห็นจากจิต จะบอกว่าไม่เห็น...เห็น แต่เป็นโลกหรือเป็นธรรม เป็นมรรคหรือไม่เป็นมรรค ใช่มรรคหรือไม่ใช่มรรค เอวัง