มีแต่ไม่เอา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๙
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “น้ำปานะ”
๑. น้ำผลไม้ตามพระวินัยอยู่ได้ ๑ วันกับ ๑ คืน คือถ้าเลยกว่านั้นจะเสียแล้วกลายเป็นเมรัย แต่สมัยปัจจุบันนี้เขาทำมาเป็นกล่องเก็บไว้ได้นานๆ เราจะพิจารณาอย่างไรครับ
๒. อันนี้ขอออกตัวว่าถามเพื่อความเข้าใจ ไม่มีเจตนาแหวกแนวนะครับ คือความรู้พิเศษต่างๆ นอกเหนือจากอริยสัจ ถ้ามันมีมากเกินไป ผมควรทำอย่างไรคือมันจะเป็นเอาตอนเวลาปกติ สำหรับตอนภาวนาละเอียดจริงๆ ไม่มีมากวน
๓. คือผมพิจารณาตามที่หลวงพ่อเคยแก้ไขให้ผม คือเวลามันสำรอกคายก็ให้พิจารณาซ้ำเข้าไปๆ ของคนอื่นอาจจะสำรอกทีเดียวเสร็จ ของผมอาจเป็นสิบๆครั้งจนมันสำรอกออกอีกครั้งหนึ่ง มาถึงเดี๋ยวนี้ผมเข้าไปอย่างเก่าอีก มันกลับนิ่งละเอียดสุขุม จับหาอะไรไม่ได้เลย สติก็ละเอียด ปัญญาก็ละเอียด แต่หาอะไรไม่ได้เลย ละเอียดลึกซึ้งอยู่อย่างนั้น ผมต้องทำอย่างไรครับหลวงพ่อ ด้วยความเคารพอย่างสูง
ตอบ : เขาเขียนว่าพระป่าชนบท พระป่าชนบทเขียนมานานเนกาเล เวลาเขียนมาก็ถามปัญหามาร้อยแปด ถ้าเขียนปัญหาธรรมวินัย เราก็ตอบ แต่เวลาเขียนแล้วบางทีเขาเขียนถึงบอกว่าเขาเรื่องการภาวนา ภาวนามันยอกย้อนไปยอกย้อนมา ยอกย้อนไปยอกย้อนมา
การภาวนาเราก็เข้าใจได้นะว่าการภาวนานี้มันแสนยาก จิตใจของคนเดี๋ยวก็เจริญ เดี๋ยวก็เสื่อม แต่ถ้ามันมีเจตนาที่สะอาดบริสุทธิ์มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ ถ้าเป็นเจตนาที่ว่าถามเพื่อให้มีคำถาม ถามเพื่อให้ได้โต้ตอบ แล้วก็ว่าได้โต้ตอบกับพระสงบ พระสงบเดี๋ยวนี้ชักมีราคานะ เมื่อก่อนไม่มีใครมองหรอกพระสงบ เดี๋ยวนี้ชักมีราคา เราแปลกใจมาก
นี่ก็เหมือนกัน เวลาพูดไป เวลาตอบนะ เวลาเขียนมา เวลาจิตมันไม่ดีขึ้นมาโอ้โฮ! โอดโอยโหยหวนนะ อู๋ย! ไม่มีที่พึ่ง อยู่คนเดียว ปฏิบัติลำบาก...เราก็ให้กำลังใจไป ถึงเวลาแล้วก็ร้อยแปด ฉะนั้น เวลาเขียนมาอย่างนี้จะให้โต้ตอบโต้ตอบเพราะอะไร เพราะหนังสือ เวลาเราเป็นวรรคเป็นตอน เราตัดมาเป็นคำพูดถ้าไม่ดูทั้งประโยค มันก็เหมือนพูดไปอีกอย่างหนึ่ง แต่ถ้าดูทั้งประโยค มันจะพูดไปอีกอย่างหนึ่ง
นี่ก็เหมือนกัน คำถามมันถามมายอกย้อนมาตลอด แล้วเวลาเขียนมาก็เขียนมาร้อยแปด ถ้าเราจะตอบ ถ้ายอกย้อนมา เราก็ยอกย้อนกลับ มันไม่มีประโยชน์มันไม่มีประโยชน์ มันเหมือนกับมันไม่จริงจัง ไม่เอาจริง ไม่เอาจริงแล้วมันจะเป็นประโยชน์อะไรล่ะ
แต่ถ้าเป็นเอาจริงเอาจังขึ้นมา ถาม ถ้ามันถามจริงๆ ถามจริงๆ ว่าเราติดขัดอย่างไร เราทำอย่างไร สุดท้ายแล้วนะ มันก็เป็นแค่ความลังเลสงสัย ถ้ามันเป็นความลังเลสงสัย ถ้าจริงจังขึ้นไปมันต้องผ่านสิ่งนั้นเข้าไป ถ้ามันผ่านสิ่งนั้นได้ มันก็ตัดความสงสัยไป พอตัดความสงสัยไปมันก็มีความมั่นคง พอความมั่นคง การกระทำมันก็ดีขึ้นพัฒนาขึ้น
ไอ้นี่มีแต่ความสงสัย แล้วก็รู้สิ่งใดก็จะมาให้คนคอยรับรองๆ ให้คนรับประกันน่ะ ไอ้เขียนมามันเขียนมาอย่างนั้นน่ะ ฉะนั้น จะตอบ
“๑. น้ำผลไม้ที่เก็บไว้ได้ ๑ วันกับ ๑ คืน ถ้าเลยกว่านั้นจะถือว่าเป็นเมรัย”
มันก็เป็นเมรัยอยู่แล้ว ของมันเบสิก มันง่ายๆ ง่ายๆ น้ำผลไม้คือน้ำผลไม้สดที่เราคั้นมันก็อยู่ภายใน ๑ วัน ไอ้น้ำในกล่องๆ มันยูเอชที มันได้ความร้อนแล้วถ้าเป็นน้ำปานะ เป็นผลไม้สด ถ้าผลไม้สดมันมีเนื้อเป็นน้ำผลไม้ แต่ถ้ามันได้ผ่านการต้ม ผ่านการทำความร้อนมา เขาถึงไม่ใช่น้ำปานะ มันเป็นสัตตาหกาลิก มันสัตตาหกาลิกแล้วมันก็จบไปแล้วภายใน ๗ วันไง ของนี้ถ้ามีส่วนผสมของน้ำตาลน้ำตาลอายุมัน ๗ วันใช่ไหม สิ่งที่อายุที่สั้นที่สุด พวกนี้เขาผสมด้วยน้ำตาลทั้งนั้นน่ะ แล้วก็แต่งกลิ่นแต่งรสมา ถ้าแต่งกลิ่นแต่งรสมา ถ้าเราถวายมา เราก็นับอายุของน้ำตาลก็ ๗ วัน
ฉะนั้น น้ำผลไม้สดที่เราคั้นกัน น้ำปานะ ไอ้อย่างนั้นน่ะ ถ้าอย่างนั้นเราถือว่ามันผ่านการต้ม ผ่านความร้อน ผ่านการต้มมา มันไม่เน่าไม่บูดไม่เสีย แต่ไม่เน่าไม่บูดไม่เสียเพราะว่า เริ่มต้นเมื่อก่อน น้ำตาลก็เก็บได้ตลอดไป มันมีพระ เราจำชื่อไม่ได้ อยู่ในพระไตรปิฎก ที่หมู่บ้านหนึ่ง ในบ้านเขามันมีผีสิง มันมีสิ่งที่พระมันก็แก้กันไม่ได้ เขาก็นิมนต์พระองค์นี้ไป แล้วพระองค์นี้ไปแก้ ไปแก้ไขแล้วญาติพี่น้องเขาหายไง กลับมาเขาถวายน้ำตาล น้ำผึ้ง แล้วก็ไปแขวนไว้ตามกุฏิที่หน้าต่างแขวนไว้
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรวจวัดไปเจอเข้า แขวนไว้ มดมันขึ้นไงเพราะมันมีมาก มีมากมันก็ใช้ได้นานใช่ไหม พระพุทธเจ้าเลยบัญญัติว่าห้ามเก็บสะสมไว้ ให้ได้เพียง ๗ วัน ๗ วันต้องสละ คือว่าให้กุฏิของพระเป็นที่อยู่ของพระไม่ใช่ที่อยู่ของมด ไม่ใช่ที่อยู่ของแมลง นี่มันก็เป็นธรรมวินัยมาตลอด มันมีต้นบัญญัติ ๒๒๗ ข้อ ไปดูสิ ใครเป็นคนทำผิดไว้ พระพุทธเจ้าบัญญัติเพราะใคร แล้วบัญญัติอย่างไร
นี่ก็เหมือนกัน ไอ้พูดอย่างนี้พูดถึงน้ำตาล น้ำตาล น้ำผึ้ง น้ำอ้อย นี่เรื่องหนึ่งฉะนั้น เรื่องของน้ำปานะก็เป็นเรื่องหนึ่ง ฉะนั้น ไอ้เรื่องอย่างนี้มันกาลิก ถ้าเป็นพระบวชแล้วมันต้องเข้าใจเรื่องอย่างนี้ทั้งนั้นน่ะ ถ้าเข้าใจแล้ว ถ้าเป็นพระ ๗ วัน พระเพิ่งบวชเดือนสองเดือนนั่นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าพระบวชเป็นพรรษาไปแล้ว เรื่องอย่างนี้มันต้องรู้แล้ว เพราะอะไร เพราะมันเป็นการดำรงชีพของพระ ถ้าพระดำรงชีพอย่างไร มันต้องรู้ธรรมรู้วินัย ถ้าไม่รู้ ลังเลสงสัยทำ เป็นอาบัติ ทำเพราะฝืนเป็นอาบัติ เป็นอาบัติทั้งนั้นน่ะ ถ้าเป็นอาบัติแล้ว เราประพฤติปฏิบัติ เราจะเอาอาบัติมาพอกตัวเราหรือ เราก็ทำให้มันถูกต้องดีงามทั้งนั้นน่ะ ศีล สมาธิ ปัญญาถ้ามันทุศีล ปฏิบัติไปแล้วมันจะไปไหนล่ะ ถ้ามันเป็นสัมมาทิฏฐิ ศีลถูกต้องดีงามมันก็ปฏิบัติมาได้ นี่พูดถึงว่าน้ำปานะ
“๒. อันนี้ขอออกตัวก่อนว่าไม่ใช่แหวกแนว”
ไอ้แหวกแนวไม่แหวกแนว ไอ้เรื่องส่งออกไร้สาระทั้งนั้นน่ะ เวลาที่เราฟังนะเราฟังคำถามจากญาติโยมที่เขาถามกันมา เวลาคนปฏิบัติไป ไปเจอสิ่งใดแล้วเขาเขียนถามมาๆ มันเป็นการที่เขาเข้าไปประสบ มันเข้าไปเจอ พอเจอแล้วเขาสงสัย พอสงสัยขึ้นมา ถ้าอ่านหนังสือแล้วเขียนถามมาก็อย่างหนึ่ง เวลาคนเข้าไปรู้ไปเห็นขึ้นมามันมหัศจรรย์ก็เขียนมาอย่างหนึ่ง
คำว่า “มหัศจรรย์” หมายความว่า เขาไปเห็นแล้วมันตื่นเต้น พอตื่นเต้นขึ้นมาก็เพราะเป็นความเห็นของเขา นี่เขาเขียนมาอย่างนี้ เราตอบ แต่จริงๆ แล้วมันก็เป็นอย่างนี้ มันก็เป็นแบบที่ว่าเรารู้เราเห็นร้อยแปด ส่งออกทั้งนั้นน่ะ
จริงๆ แล้วถ้าจิตมันสงบแล้วมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าจิตสงบขึ้นมามันปล่อยวางไว้หมดเลย ปล่อยวางสิ่งที่รู้ที่เห็น พอจิตมันออกไป สมาธิ สมาธิคือจิตตั้งมั่นจิตเป็นหนึ่ง จิตเป็นหนึ่ง จิตมันไม่มีอารมณ์ ไม่พาดพิงกับสังขาร ไม่พาดพิงกับสัญญา มันก็ไม่มีอารมณ์ มันเป็นหนึ่ง ถ้ามันเป็นหนึ่ง มันไม่มีอารมณ์ มันอารมณ์หนึ่งเดียว หนึ่งเดียวนั่นเป็นสัมมาสมาธิ
แต่ถ้าไปรู้ไปเห็นนั่นเป็นสอง เพราะจิตมันรู้มันเห็นไง ถ้ามันรู้มันเห็นมันก็เป็นสอง แต่เวลาใครเขียนมานี่เราจะตอบ เพราะเราเห็นใจว่าเขาปฏิบัติมา เขาล้มลุกคลุกคลานมา เขาต้องนั่งสมาธิมาเป็นหลายๆ วัน เป็นเดือนๆ กว่าเขาจะรู้จะเห็นอย่างไรมาบ้าง ถ้าถามมาอย่างนี้เราจะตอบ เวลาตอบเราก็ตอบว่า มันเป็นประสบการณ์ แล้วให้มันผ่านไป ให้มันผ่านไป หมายความว่า รู้แล้ววางไว้ วางไว้แล้วเราปฏิบัติต่อเนื่องไปๆ มันก็เป็นต่อเนื่องไป นี่พูดถึงผู้ที่ปฏิบัติ
ไอ้นี่เป็นพระ “มีความรู้ความเห็นแปลกๆ ไม่ใช่แหวกแนว”
จะแหวกแนวไม่แหวกแนว มันเป็นการกระตุ้นให้ออกไปข้างนอก มันเป็นการกระตุ้น มันไร้สาระ ถ้ามันเป็นจิตคึกจิตคะนองอย่างเช่นจิตหลวงปู่มั่น จิตหลวงปู่มั่นพอจิตสงบปั๊บ เห็นตัวเองขึ้นไปนั่งอยู่บนก้อนเมฆ ไปเดินจงกรมอยู่บนก้อนเมฆไอ้อย่างนี้มันจริงๆ มันเป็นจริงๆ แล้วมันมหัศจรรย์จริงๆ
ครูบาอาจารย์เราเวลาจิตมันสงบปั๊บ ตัวเองลอยขึ้นไปเลยนะ เหมือนปุยเมฆเลยอย่างนี้ แล้วเขามีสติสัมปชัญญะ เออ! มันก็ลอยอยู่อย่างนั้น ทำไม ก็ไม่เห็นมันตื่นเต้นอะไร มันก็ไม่เห็นมันตื่นเต้นอะไร นี่ถ้าจิตมันเป็นอย่างนั้นมันก็เป็น เพราะจิตมันสงบมันจะเป็นอย่างนั้นนะ พอจิตสงบ มันไปแล้ว จิตสงบ มันไปแล้ว ถ้ามันไม่สงบมันก็ไม่เป็น ถ้าพอเป็นก็เป็นอย่างนั้น เพราะเป็นจริตเป็นนิสัย ก็เหมือนเรานิสัยอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น มันก็เป็นแค่นี้ เขาเรียกว่าจิตคึกจิตคะนอง แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์ที่ทันมันก็เป็นประโยชน์ไง
แต่นี่เขาบอกว่าอันนี้เป็นถามเรื่องว่าไม่แหวกแนว มันจะมีความรู้พิเศษ
รู้พิเศษอะไร พิเศษก็ไปฝากธนาคารไว้ มันไม่เกี่ยว มันไม่ใช่การประพฤติปฏิบัติ ถ้าการประพฤติปฏิบัติมันจะเข้าสู่จิตๆ ทั้งนั้นน่ะ ถ้ามันจะเข้าสู่จิต มันปล่อยวางไว้หมด มันวางไว้หมด จะมีความรู้ความเห็นมากน้อยขนาดไหน วางไว้หมด มันเป็นความพะรุงพะรังของใจ
ใจ เรื่องพะรุงพะรังมาก แบกรับอำนาจวาสนา แบกความรู้ของตน แบกเรื่องที่ว่ามันมีความพิเศษนั่นน่ะ มันทิ้งหมดแหละ พอทิ้งหมดมันก็เข้าสู่หัวใจของตนก็เป็นสัมมาสมาธิ ไอ้นี่พูดถึงว่าเวลาถ้ามันจะเป็นจริง
“๓. คือผมพิจารณาตามที่หลวงพ่อบอก เวลามันสำรอกมันคายออกๆ”
สำรอกนี่มันเหมือนสำรอกแบบนกเพนกวินหรือเปล่า นกเพนกวินมันลงทะเลมันไปจับปลา แล้วมันก็กลับมาหาลูกมัน แล้วมันก็สำรอกให้ลูกมันกิน สำรอกอย่างนั้นหรือ สำรอกแบบเพนกวินมันไปหาเหยื่อ ไปกินปลามาป้อนลูกมัน หรือสำรอกแบบหมาป่า หมาป่ามันไล่ล่า ล่าก็กินในพุงมันเต็มเลย พอกลับมาถึงรังของมัน ถึงลูกของมัน มันก็สำรอกออก อาหารให้ลูกมันกิน สำรอกอย่างนั้นหรือ
เพราะว่าสำรอกๆ สำรอกอะไร การทำนี่มันรู้ได้ คนทำมันไม่เป็นบ่อยๆ หรอกคนทำมันจะเป็นได้มันเป็นไปได้ยากมาก ถ้าเป็นได้ยากมาก มันเป็นขั้นตอนไง ที่ว่าปฏิบัติแนวทางสติปัฏฐาน ๔ ปฏิบัติแนวทางสติปัฏฐาน ๔ แล้วปฏิบัติอย่างไรล่ะ ก็ปฏิบัติแล้วรู้เท่าทันอารมณ์ใหญ่ อารมณ์น้อย อารมณ์ที่เป็นฐาน สุดท้ายแล้วก็ต้องให้อาจารย์ตรวจสอบอารมณ์ ต้องตรวจสอบอารมณ์...มันไม่มีปัจจัตตังใช่ไหม ไม่มีสันทิฏฐิโกหรือ จะให้ใครตรวจสอบ
แนวทางสติปัฏฐาน ๔ ถ้ามันเป็นจริงๆ ขึ้นมา ถ้าจิตมันสงบแล้วถ้ามันเห็นของมัน มันรู้ของมันน่ะ มันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามอบให้ปัจจัตตัง มอบให้สันทิฏฐิโกนู่น ถ้ามันเป็นจริงมันจะสำรอกอะไรสำรอกที่ไหน
พอสำรอกนะ พอสำรอกแล้วเดี๋ยวนี้มันสุขุมลุ่มลึกเลย
สุขุมลุ่มลึกใช่ไหม แล้วครั้งที่แล้วเขียนมาบอกว่าเห็นผู้หญิงก็ไม่ได้ ครั้งที่แล้วเขียนถามมาไงว่าเป็นพระนี่ทุกข์ยากมาก เห็นผู้หญิง เกิดอารมณ์ความรู้สึกแล้วหลวงพ่อวางอารมณ์อย่างไร แต่คราวนี้บอกว่า มันกลับนิ่งละเอียดสุขุม หาอะไรก็ไม่ได้ หาอะไรก็ไม่เจอ ปัญญามันละเอียด
แล้วเวลาเห็นผู้หญิงทำไมมันไม่ละเอียดล่ะ เห็นผู้หญิงทำไมไม่รู้เท่าล่ะ เห็นผู้หญิงมันเป็นอสุภะไหม เห็นผู้หญิง เห็นไหม
นี่ไง เพราะคำถามมันยอกย้อนน่ะ เพราะว่าพระป่าชนบทเขียนมาบ่อย เพิ่งเขียนมาครั้งที่แล้ว ครั้งที่แล้วเขียนมา ที่เราพูดนี่มีอารมณ์เลยนะ เพราะครั้งที่แล้วเขียนมา “โอ๋ย! ผมเห็นผู้หญิงไม่ได้เลย หลวงพ่อวางอารมณ์อย่างไรน่ะ” คราวนี้เขียนมาเลยนะ “โอ้โฮ! มันสุขุมลุ่มลึก ละเอียดลึกซึ้ง หาอะไรก็ไม่ได้ในใจละเอียดมาก”
แล้วเวลาอายตนะ จักขุวิญญาณกระทบเห็นรูปผู้หญิง ละเอียดไหม เป็นอสุภะหรือเปล่า
นี่มันยอกย้อนไง เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ร้าย แล้วเขียนมา เขียนมาเพื่อให้ตอบสนองเฉยๆ ไง นี่ไง เขียนมาเริ่มต้นเรื่องน้ำปานะกลบเกลื่อนไว้ก่อน แล้วก็มาเป็นผู้วิเศษ แล้วยังมาจิตใจที่ละเอียด
ละเอียด ละเอียดอย่างไร สำรอก สำรอกอย่างไร แล้วสำรอกแล้วมันเป็นประโยชน์ตรงไหน มันไม่เป็นประโยชน์ไง มันไม่เป็นประโยชน์ ฉะนั้น สิ่งที่ว่ามันจะละเอียดมันจะลึกซึ้งอย่างไร แหม! จะให้เราชมไง แต่ครั้งที่แล้วเขียนมาเลยว่าเห็นผู้หญิงไม่ได้เลย มีความทุกข์มาก เผาลนหัวใจตลอดเวลา หลวงพ่อวางอารมณ์อย่างไร แก้ไขอย่างไร
เราก็เทศน์ไปตั้งครึ่งชั่วโมง ครั้งที่แล้วนะ สอนไปตั้งครึ่งชั่วโมงค่อนชั่วโมงเลย แล้วคราวนี้บอก โอ้โฮ! ละเอียดลึกซึ้ง ปัญญานี่เท่าทันหมดเลย แต่เห็นผู้หญิงต้องเขียนมาถามแล้วกันแหละ
เวลาเราหาครูบาอาจารย์นะ ครูบาอาจารย์ท่านฟังอะไร ท่านจับสิ่งใด นี่ไงประวัติคนไข้ๆ ไปหาหมอ คนป่วยคนใดไปหาหมอประจำคนใด เวลาเขาเจ็บไข้ได้ป่วยเขาจะไปหาหมอนั้น เพราะหมอนั้นเขาจะรักษาตามอาการนั้นเพราะเขามีประวัติคนไข้อยู่แล้ว ไอ้นี่ก็เหมือนกัน พอเขียนมาถามๆ มันร้อยแปด จิตมันพัฒนาการอย่างไร เป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมาอย่างไร จิตมันมีคุณภาพอย่างไร ถ้าคุณภาพอย่างไร ถ้ามันไปไม่ได้มันก็แค่นั้น ถ้ามันเสื่อมลงมาก็เสื่อมลงมา ไอ้นี่วกวนอยู่ตรงนี้
ตอนสมัยหลวงตาอยู่ เราก็นั่งฟังอยู่เวลาคนมาถามปัญหา มาถามเอาหน้ากันน่ะ ถามซ้ำๆ ซากๆ คนถามนะ มันถามแล้วมันต้องพัฒนาขึ้นไปใช่ไหม มาถามเรื่องของเท้า พอครั้งต่อไปก็ถามเรื่องหัวเข่า พอตอนต่อไปก็ถามเรื่องบั้นเอว ต่อไปก็ถามเรื่องทรวงอก ขึ้นมาบนศีรษะ เออ! มันพัฒนา ไอ้นี่ถามเรื่องเท้า ตอบไปแล้วถามเรื่องฝุ่น ถามเรื่องรอยเท้า แล้วมันจะพัฒนาขึ้นไปได้อย่างไรล่ะ
คำถามมันฟ้องเลยนะว่าคนภาวนาได้ภาวนาอยู่จริงหรือเปล่า ถ้าคนภาวนาอยู่จริง เราถามเรื่องฝ่าเท้า ฝ่าเท้ามันเจ็บปวด แล้วถ้าแก้ฝ่าเท้าได้ ครั้งต่อไปมันเส้นเลือด เวลาความรู้สึกประสาทมันก็ขึ้นไปสู่หัวเข่าใช่ไหม แล้วก็ถ้าถึงหัวเข่ามันพัฒนาการอย่างไร จากหัวเข่าขึ้นไปบั้นเอวใช่ไหม จากบั้นเอวมันขึ้นไปหัวใจใช่ไหม หัวใจขึ้นไปทรวงอกใช่ไหม ทรวงอกขึ้นไป นี่คำถามมันจะพัฒนา ถ้าคำถามมันมีแต่ต่ำลงๆ มันฟ้องเลยว่าคำถามนั้นน่ะคำถามถามเอาหน้าเอาตา ไม่ได้ถามเพราะความสงสัย เพราะคำถามมันยิ่งต่ำลงๆ มันไม่สูงขึ้นน่ะ คนที่ปฏิบัติต้องสูงขึ้น
เราฟังหลวงตาตอบปัญหาอยู่ ฟังแล้วท่านก็เมตตาตอบเนาะ มันก็คงเหมือนเรานี่ พระป่าชนบทเขียนมาเยอะ วันนี้ ครั้งที่แล้วเพิ่งเขียนมาบอกเห็นผู้หญิงไม่ได้ครั้งนี้เขียนมาบอกแหม! จิตละเอียดลึกซึ้งสุขุมคัมภีรภาพ สำรอกคายออก...นกเพนกวินน่ะ มันคายปลาให้ลูกมันกิน มันเป็นอย่างนั้นน่ะ
นี่พูดถึงว่า ถ้าไม่มีปัญหาก็ไม่ต้องเขียนมา ไม่ต้องเขียนมาหรอก ถ้าเขียนมาแล้ว ด้วยความรู้สึกของเราว่าเขียนมาเพื่อให้เราเห็นด้วย...ไม่รับรอง แล้วเวลาเขียนมาด้วยความทุกข์ความยาก เราเห็นเพราะความทุกข์ความยาก
เวลาคนเรานะ ทำหน้าที่การงานตกทุกข์ได้ยากมา เราเห็นใจกัน เวลาครูบาอาจารย์ หลวงปู่มั่นท่านประพฤติปฏิบัติมา เวลาท่านพูดกับพระตอนที่อายุขัยท่านใกล้จะสิ้น “ให้พระปฏิบัติมานะ แก้จิตแก้ยากนะ ผู้เฒ่าตายไปแล้วจะหาคนแก้ไม่ได้นะ ให้รีบขวนขวายเข้า ให้รีบขวนขวายเข้า ผู้เฒ่ายังอยู่ ผู้เฒ่าจะแก้ว่ะ ผู้เฒ่าจะแก้ว่ะ การแก้จิตแก้ยากนะ” ฟังอย่างนี้แล้วขนลุก
คนปฏิบัติมามันทุกข์มันยากมา มันรู้ว่ามันทำลำบากแค่ไหน แล้วอารมณ์ความรู้สึกจะปลดเปลื้องไอ้ความฝังใจไม่ใช่ของง่ายๆ หรอก แล้วท่านทำมา แล้วมันทำมา ที่คนปฏิบัติมามันเห็นความทุกข์ความยากมาอย่างนั้น มันถึงเห็นใจอย่างนั้น
พอเห็นใจขึ้นมานี่ ไอ้นี่เขียนมาร้อยแปดพันเก้า มันแบบว่า ยอกย้อนมาก็ยอกย้อนกลับ จบ
ถาม : เรื่อง “ตุ๊กแกมาเกาะ”
กราบเรียนหลวงพ่อ กราบเรียนครูบาอาจารย์เมตตาหนู หนูติดตามมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๔
๑. มีหลวงปู่องค์หนึ่งท่านเมตตาสอนคำว่า “มีแต่ไม่เอา” ท่านอธิบายให้หนูฟังว่า วันนี้เราไม่สบายและง่วงนอนมาก แต่เราไม่เอา เวลาเปิดพัดลมปัดมาโดนตาท่านยิ่งทำให้ง่วง แต่ท่านว่าไม่เอา อยากอ้าปากกว้าง แต่ท่านไม่เอา และ ทำแต่เฮา เป็นอย่างเฮา ให้ได้อย่างเฮา
๒. หลวงปู่สอนให้หนูว่า ดูเฮา เฮาเป็นพระ ดูผ้าเหลืองของเฮาสิ มีตุ๊กแกมาเกาะที่ผ้าเหลืองของเฮา
ตามธรรมดาของคนเรามองขนตาของเราไม่เห็นจริงหรือไม่ หนูตอบว่าจริงค่ะและทำอย่างไรเราถึงจะเห็นขนตาของเรา หลวงปู่ได้ตอบว่าให้พิจารณาดู และหลังจากนั้นหนูไป มีโอกาสกลับไปตอบท่านบางส่วนของคำว่า “มีแต่ไม่เอา” การพิจารณามันทรมานมาก เฉย แต่มันดิ้นทุรนทุราย สักพักก็เข้าใจคำว่า “มีแต่ไม่เอา” ความเข้าใจคือมันเหมือนโล่งอก ส่วนเรื่องตุ๊กแก หนูไม่เข้าใจและยังติดอยู่หนูโง่มาก และหนูหมดโอกาสที่จะเข้าไปกราบหลวงปู่โดยตรงเนื่องจากท่านละสังขารไปเสียแล้ว จึงขอโอกาสครูบาอาจารย์มา ณ ที่นี้
๓. ด้วยความเคารพอย่างสูง นี่เป็นครั้งแรกที่ได้เขียนส่งมา ขออภัยที่พูดยาวหวังว่าพระอาจารย์คงให้อภัยกับเด็กที่ไม่รู้
ตอบ : นี่เขาถามเนาะ มีแต่ไม่เอา มีแต่ไม่เอาเป็นคำพูดของครูบาอาจารย์เราหลายองค์ๆ นะ มีแต่ไม่เอา มีแต่ไม่เอา คำว่า “มีแต่ไม่เอา” มันก็เหมือนเป็นการยืนยันไง เป็นการยืนยันถึงมรรคผลนิพพานมันมี ถ้ามรรคผลนิพพานมันมีเห็นไหม มี เวลาครูบาอาจารย์ที่ท่านมีคุณธรรม คนไปถามท่านว่ามีทุกข์ไหม ท่านบอกมีแต่ไม่เอา
บอกถ้ามันไม่ทุกข์ ไม่ทุกข์คือไม่มีความรู้สึกน่ะสิ ไม่ทุกข์ก็เหมือนกับขอนไม้ใช่ไหม คนเราประพฤติปฏิบัติมาถ้ามีคุณธรรมในใจ ไอ้สุขกับทุกข์มันรับรู้ได้ แต่ท่านวางได้ไง ท่านทันมันไง เหมือนคำว่า “มีแต่ไม่เอา” เป็นธรรมที่สูง เพราะมันมีความรับรู้ มีความรู้สึกอยู่ วิมุตติสุขๆ มันมีความสุขของมันอยู่ แต่มันก็ไม่ติดความสุขนั้น มันไม่ติดใดๆ ทั้งสิ้น มีแต่ไม่เอา
บอกว่า เราไม่โกรธ เราไม่รับรู้อารมณ์อะไรเลย มันมีความรู้สึก มันรับรู้ได้ไงมันสื่อสารได้ แต่ไอ้ความโลภ ความโกรธ ความหลง นี่เป็นกิเลสอีกอันหนึ่ง แต่เรารับรู้ได้ อย่างเรา คนชมเราก็รู้ว่าชมใช่ไหม คนด่า เราต้องรู้ว่าด่าใช่ไหม แต่เราจะโกรธหรือไม่โกรธนั่นอีกเรื่องหนึ่งนะ
คนชมเรา เราจะเหลิงไหม คนชมเรา เราจะลอยไปกับเขาไหม คนชมเรามาถ้ามันเป็นคำพูดคำชมของเขา เออ! เขามีหูมีตา เขาเข้าใจได้ มันเป็นปัญญาของเขา นั่นเรื่องของเขา ไอ้คนจะติฉินนินทาขึ้นมานั่นก็ความเห็นของเขา เขามีความเห็นอย่างนั้นเขาถึงได้ด่าเรา มันก็เป็นความเห็นอย่างนั้น
คำชม คำด่า เรารับได้ไหม รู้ได้ มี เอาหรือไม่เอาล่ะ เอาหรือไม่เอา เอาคำชมก็ลอยไปกับเขา เอาคำด่าก็เจ็บช้ำไปกับเขา นี่ไง มีแต่ไม่เอามันเป็นแบบนี้ มันมีของมันอยู่ แต่เขาไม่เอา ครูบาอาจารย์ท่านทำของท่าน ท่านรู้ของท่าน มีแต่ไม่เอา ฉะนั้น มีแต่ไม่เอา มันเป็นคำพูดของครูบาอาจารย์หลายๆ องค์ที่ท่านประพฤติปฏิบัติของท่านมา
นี่ก็เหมือนกัน ครูบาอาจารย์ของเราท่านบอกว่าท่านไม่เอา ท่านไม่เอา ทีนี้ท่านไม่เอา สิ่งใดท่านก็ไม่เอา แล้วท่านสอนโยมให้โยมประพฤติปฏิบัติ โยมก็ประพฤติปฏิบัติของโยม โยมก็ทำของโยมดีขึ้น ถ้าดีขึ้นมันก็เป็นประโยชน์กับเราไง ถ้าดีขึ้นก็เป็นประโยชน์กับเรา ถ้าเริ่มต้นถ้ามันปฏิบัติไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้ กลับมาพุทโธทั้งนั้นน่ะ
ย้อนกลับไปพระป่าชนบทด้วย จะทำอะไรไป มันจะพิเศษไปอย่างไร พิเศษมาหลอกทั้งนั้นน่ะ มันส่งออกทั้งนั้นน่ะ แต่ถ้ามันจะจริงๆ ขึ้นมา หนึ่ง จิตต้องสงบก่อนจิตต้องเข้าสู่สัมมาสมาธิ ศีล สมาธิ ปัญญา
สมาธิมันเป็นทางสองแพร่ง ถ้าไม่เป็นสมาธิ เป็นโลกหมด เป็นโลกคือโลกียะคือเรื่องของโลกๆ ทั้งหมด ถ้าเข้าสู่สมาธิแล้ว ถ้ามันจะเกิดปัญญา มันจะเป็นโลกุตตระ
สมาธิเป็นทางสองแพร่ง ถ้าไม่มีสมาธิ เป็นโลกียะทั้งหมด เป็นเรื่องโลกๆ ทั้งนั้น ถ้าโลกๆ ทั้งนั้น มันก็เป็นจริตนิสัย เป็นความชอบของตน แต่ถ้ามันเป็นสัมมาสมาธิแล้ว ถ้ามันไม่มีอำนาจวาสนา มันก็ขึ้นสู่มรรคไม่ได้
ไอ้นี่ก็เหมือนกัน มีแต่ไม่เอา ถ้ามีแต่ไม่เอา เราไม่เข้าใจสิ่งใด เรากลับมากลับมาพุทโธ กลับมาทำความสงบของใจก่อน ถ้าจิตสงบแล้วมันจะมีปัญญา มันจะใคร่ครวญได้
สิ่งที่ว่าหลวงปู่ท่านถาม เพราะคำที่เขาเขียนมานี่เขาบอกว่าครูบาอาจารย์เขาล่วงไปแล้ว ว่าอย่างนั้นเถอะ แล้วมันมีอะไรคาใจอยู่ เขาก็เขียนมาถาม เผื่อพระสงบพอจะพูดกันได้บ้าง
แต่ครูบาอาจารย์เขาล่วงไปแล้ว ที่เขียนมานี่เพราะว่าเขาไปศึกษาจากครูบาอาจารย์เขามา แล้วครูบาอาจารย์เขาล่วงไปแล้ว ฉะนั้น สิ่งที่ยังประพฤติปฏิบัติอยู่ยังคุยกับใครไม่ได้ไง ก็ลองถามพระสงบว่าพระสงบจะเข้าใจว่าอย่างไร เออ! ถ้าอย่างนี้พระสงบเข้าใจว่ามีแต่ไม่เอาเป็นแบบนี้ ฉะนั้น เป็นอย่างนี้แล้ว ทีนี้คำสอนของท่าน เห็นไหม
“๒. หลวงปู่สอนหนูว่า เฮาเป็นพระ ดูผ้าเหลืองของเฮาสิ มีตุ๊กแกมาเกาะอยู่ที่ผ้าเหลืองเฮา”
ถ้าความเห็นของเรานะ ถ้าความเห็นของเรา ถ้าเราเป็นพระ ถ้าเราเป็นพระที่สะอาดบริสุทธิ์ ตุ๊กแกมันก็ไม่เกาะ แต่ถ้าเราเป็นพระ เราทำสิ่งใดถ้ามันขาดตกบกพร่อง ตุ๊กแกมันก็เกาะ ถ้าตุ๊กแกมันมาเกาะ ดูสิ ตุ๊กแกมันเกาะผ้าเหลืองของเรามันก็เหมือน ถ้าการตีความของเรานะ นี่ความเห็นของเรา ถ้าแบบว่าถ้ามันไม่มีตุ๊กแกเกาะ ไม่มีสิ่งใดเกาะ ก็แสดงว่าท่านสะอาดบริสุทธิ์ เห็นไหม ก็เหมือนเราไม่ผิดศีลผิดธรรม ผ้าเหลืองเราก็เป็นผ้าเหลืองที่สมควรที่จะเอามาห่ม แต่ถ้าเราห่มผ้าเหลืองมีตุ๊กแกมีจิ้งจกมาเกาะ มันมีความสกปรกมาเกาะ มันก็เหมือนกับถ้าเราทำอะไรแล้วมันผิดพลาด นี่พูดถึงว่าเป็นคติธรรม
แต่ถ้ามันไม่มีสิ่งใดเลย เพราะจริงๆ แล้วมันไม่มี จริงๆ มันไม่มีอะไรเกาะหรอก แต่ท่านพูดให้เป็นปริศนาธรรมไง เพราะอะไร เพราะคำถามเขาบอกว่าหลวงปู่ท่านบอกว่าท่านห่มผ้าเหลือง ดูสิ ดูผ้าเหลืองเรา ผ้าเหลืองเรามีตุ๊กแกเกาะอยู่ แต่โยมเขาบอกว่า แต่หนูไม่เห็น หนูมองไม่เห็น มันไม่มีตุ๊กแกเกาะ ไม่มีอะไรเกาะ หนูมองไม่เห็น แต่ท่านบอกว่ามีตุ๊กแกเกาะในผ้าเหลืองของเรา นี่มันเป็นปริศนาธรรมไง ถ้าเป็นปริศนาธรรม
ทีนี้โยมบอกว่าคิดจนหัวแตกเลย โยมยังเข้าใจไม่ได้ ลองถามพระสงบดู
ทีนี้ความเข้าใจของพระสงบ พระสงบคิดว่าอย่างนี้ คิดว่า ถ้ามันสะอาดบริสุทธิ์มันก็ไม่มีสิ่งใดจะเกาะ แต่ถ้าท่านพูดอย่างนั้นท่านพูดให้เป็นคติธรรม ท่านพูดให้เราได้พิจารณา แล้วเราก็ไปพิจารณาดูว่ามันเป็นอย่างนั้นหรือไม่ มันมีหรือไม่ ถ้ามันมีหรือไม่ ไอ้พวกประเด็นอย่างนี้มันเป็นพวกมหายาน พวกเซน พวกเซนเขาจะมีโฉลกอย่างนี้ให้เราได้คิด ให้เราได้คิดได้พิจารณา มันจะได้ไม่ไปข้างนอก
ถ้าพูดประสาเรานะ มันก็เหมือนกับเราให้พุทโธนี่แหละ พุทโธๆๆ จิตสงบ ไอ้นี่พอมันคิด มันก็ไม่คิดเรื่องอื่นไง ท่านให้โฉลกธรรมมาให้คิดเรื่องนี้ ให้คิดเรื่องนี้ตั้งประเด็นให้คิด เราก็คิดแต่เรื่องนี้ เพราะอาจารย์ให้การบ้านมา คิดใหญ่เลยคิดใหญ่เลย
คิดไม่ออกหรอก คิดให้หัวแตกเลย คิดจนกว่ามันจะสงบ อ๋อ! ไม่เห็นมีอะไรเลย หลอกให้คิด ก็หลอกให้อยู่นี่ไง หลอกให้จิตมันสงบไง นี่ไง อุบาย ถ้าพูดภาษาโลกเขาว่าหลอก แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ก็อุบาย อุบายสอนคนโง่ อุบายสอนคนไม่เป็น อุบายสอนคนทำไม่ได้ให้มันทำได้ ถ้าทำได้มันก็เป็นประโยชน์ใช่ไหม
นี่ไง ถ้าพูดถึงเขาบอกว่า หลวงปู่บอกว่าตุ๊กแกเกาะบนจีวรเฮา แต่เฮาบอกไม่เห็น นี่หลวงปู่ท่านพูดอย่างนั้น ให้ไปพิจารณาดู หลังจากนั้นหนูก็มีโอกาสได้กลับไปตอบท่านบางส่วน เช่น คำว่า “มีแต่ไม่เอา” การพิจารณามันทรมานมาก เฉยแต่มันดิ้นทุรนทุราย สักพักก็เข้าใจคำว่า “มีแต่ไม่เอา”
มันมีของมันอยู่ ความรู้สึกมันมีของมันอยู่ ถ้าความรู้สึกอันนั้นมันจะพัฒนาของมันขึ้นมาหรือไม่ ถ้าพัฒนาขึ้นมาก็เป็นประโยชน์กับเรา ถ้าเป็นประโยชน์กับเรา เห็นไหม
ส่วนเรื่องตุ๊กแก เราตีความอย่างนี้ ถ้าเขาตีความเข้าใจได้ก็จบ ถ้าเขาตีความไม่ได้ หรือจะตีความได้ละเอียดกว่านี้ขึ้นไป มันก็อยู่ที่ปัญญาของคน ถ้าปัญญาของคนมันเป็นประโยชน์นะ มันจะเป็นประโยชน์ ถ้าปัญญาของคนไม่เป็นประโยชน์ มันก็ไม่ได้ประโยชน์ไง นี่เราฝึกหัดปัญญาของเรา ถ้าฝึกหัดปัญญาของเรา
ครูบาอาจารย์ท่านล่วงไปแล้ว ถ้าท่านล่วงไปแล้วนะ สิ่งใดมันก็เหมือนกับพวกเรา แต่ดั้งเดิมทุกคนเกิดมาก็อยากจะพบอยากจะเจอหลวงปู่มั่น แต่เวลาครูบาอาจารย์ของเราท่านไปอยู่กับหลวงปู่มั่น ท่านบอกว่าดุมากๆ ดุมากๆ
เวลาดุมากๆ หลวงตาท่านพูดเอง หลวงตาท่านบอกว่าท่านได้ยินกิตติศัพท์กิตติคุณของหลวงปู่มั่นตั้งแต่ท่านเป็นเด็กๆ แล้วเวลาท่านเรียนจบมหาไปแล้วท่านตั้งเป้าว่าจะไปอยู่กับหลวงปู่มั่น แล้วเขาก็ร่ำลือว่าหลวงปู่มั่นดุมากๆ
ท่านบอกว่าท่านคิดเองเลย พระอรหันต์ พระอรหันต์จะดุร้ายขนาดไหน พระอรหันต์ไม่ทำลายใครหรอก คำว่า “เป็นพระอรหันต์” มันสะอาดบริสุทธิ์ มันจะดุอย่างไรล่ะ ขอพิสูจน์สิ แล้วเข้าไปก็เจอจริงๆ เปรี้ยง! หงายท้องเลย ดุจริงๆ แต่ดุกิเลสของคน ดุความไม่รอบคอบของเรา ถ้าคนเข้าใจได้อย่างนี้นะ
เวลาหลวงปู่เจี๊ยะ เวลาหลวงตาท่านบอกท่านอยู่กับหลวงปู่มั่น เคารพบูชาท่านมาก แต่ก็กลัวมากเหมือนกัน กลัวนะ ทั้งกลัว ทั้งรัก ทั้งรักและทั้งกลัว กลัวเพราะอะไร กลัวเพราะกลัวหัวใจของเราไง หัวใจของเราน่ะ ดูสิ เวลาหลวงตาท่านอุปัฏฐากท่าน หลวงปู่มั่นท่านเป็นวัณโรค แล้วหน้าหนาว ถ้าหน้าหนาวมันหายใจไม่สะดวกเลย หน้าหนาวนะ โรคหอบ โรคหืด แล้วหน้าหนาว หนองผือน่ะ ท่านอุปัฏฐากอยู่ๆ มันยังแลบเลย “พระอรหันต์เผลอหรือเปล่า” เออ! มันยังคิด เห็นไหมนี่ขนาดว่ากลัวนะ กลัวมากๆ เลยนะ แล้วเคารพมากๆ เลย แต่ไอ้กิเลสของเรามันสงสัย สงสัยว่าความเป็นพระอรหันต์นี่นะมันจะเผลอไหม สิ่งที่ว่าท่านดูแลของท่าน
แต่ท่านบอกว่าพอคิดอย่างนั้นปั๊บ สติท่านทัน เพราะตอนนั้นท่านได้พระอนาคามีแล้ว พอคิดปั๊บ ท่านตบเลย คิดอย่างนี้ไม่ได้ คิดอย่างนี้ไม่ได้ คิดอย่างนี้ไม่ดี
นี่ไง เวลาเราอยู่ใกล้ครูบาอาจารย์มันมีผลอย่างนี้ อยู่ใกล้ครูบาอาจารย์มันจะเป็นประโยชน์มาก ประโยชน์ที่มันอบอุ่นไง
เพราะเราอยู่บ้านตาด วันไหนหลวงตาอยู่นะ วัดนี่แหม! สดชื่นมากเลย วันไหนท่านไปข้างนอก วัดนี้ว้าเหว่มากเลย อยู่กับครูบาอาจารย์อย่างนั้นนะ ท่านออกจากวัดไป วัดเหมือนกับวัดร้าง เวลาท่านอยู่ในวัดขึ้นมา โอ้โฮ! ทุกคนเงียบกริบเลย กลัว เดี๋ยวท่านมาตรวจ แต่ในวัดนี่คึกคักนะ แต่ถ้าวันไหนท่านไม่อยู่ เหมือนวัดร้าง ใบไม้เหมือนเหี่ยวหมดเลย เหลืองทั้งวัดเลย นี่เวลาเป็นอยู่มันเป็นอยู่อย่างนั้นนะ กลัวไหม กลัว กลัว กลัวน่าดูเลย แต่มันก็อบอุ่นนะ นี่เวลาอยู่กับครูบาอาจารย์นะ สิ่งนั้นเวลาที่เราอยากพบอยากเห็น
ฉะนั้น นี่เขาบอกว่าอาจารย์เขาล่วงไปแล้ว กรณีที่ว่าเวลาครูบาอาจารย์ล่วงไปแล้ว คนมันก็ว้าเหว่ เราก็เห็นใจอยู่ เวลาครูบาอาจารย์ของเราล่วงไปมันก็สะเทือน สะเทือนมากๆ นะ แต่เวลาถึงที่สุดแล้วมันต้องพิจารณาให้มันเป็นธรรมไงคำว่า “เป็นธรรม” เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพาน “อานนท์ เราบอกเธอแล้วไม่ใช่หรือ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายก็ต้องดับไปเป็นธรรมดา แม้แต่เราตถาคตก็จะต้องตายในคืนนี้” เราตถาคต เราคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ต้องปรินิพพานไป มันเป็นเรื่องจริงๆ
ทีนี้เรื่องจริง วันเวลามันผ่านไปๆ เรามีสติปัญญา เราจะย้อนกลับมาที่ตัวเรานะ อย่าคิดว่าจะมานั่งอยู่นี่ได้ทุกวันนะ เดี๋ยวก็คลานมา มาไม่ไหวหรอก พอเดี๋ยวแก่แล้วคลานมาเลย นั่งๆ อยู่ตอนนี้มันนั่งอยู่ได้เพราะมันยังมาได้ ต่อไปล่ะ โอ้โฮ! คลานมาเลย จะต้องคนพยุงมานู่นน่ะ แล้วยิ่งไป ไปไม่ได้เลย ฉะนั้น ให้ตื่นตัวตลอดเวลา
ฉะนั้น คำถามว่า “มีแต่ไม่เอา” มีแต่ไม่เอา มันเป็นธรรมะที่ครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติแล้วท่านได้ของท่าน ฉะนั้นจะบอกว่า เวลาได้สัจธรรมแล้วเป็นเหมือนกับของไม่มีชีวิต ไม่มีความรู้สึก...ไม่ใช่
ไวมาก ไวมาก รับรู้ได้ทั้งนั้นเลย รับรู้ได้หมดเลย รับรู้แล้ววางไว้ด้วย แล้วรู้เท่าทันหมดเลย เท่าทันกับความรับรู้อันนั้น เท่าทันสิ่งที่มันจะออกไปกระทบ เท่าทันหมดเลย แล้วมันเป็นประโยชน์ไม่เป็นประโยชน์ ถ้าเป็นประโยชน์ ท่านปล่อยเลย พับ! โต้ตอบเลย
แต่ถ้าไม่เป็นประโยชน์ ท่านไม่ทำ ไม่ทำเพราะอะไร เพราะหนึ่ง มันไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นประโยชน์แล้วมันจะสร้างโทษให้คนรอบข้าง คนรอบข้างอย่างที่ว่าหลวงตาท่านไปสงสัยเรื่องหลวงปู่มั่น มันเป็นโทษกับเขานะ แต่ถึงที่สุดแล้วมันเป็นกรรมของสัตว์ กรรมของสัตว์ ถ้าสัตว์มันมีคุณธรรม มันสร้างกรรมดีขึ้นมา มันก็คิดแต่เรื่องดีๆ ไง ถ้าสัตว์ที่มันมีความรู้สึกนึกคิดแบบนั้นมันจะสร้างแต่บาปแต่กรรมของมันน่ะ เราจะทำดีแค่ไหนล่ะ เราจะนั่งนิ่งเป็นพระพุทธรูปเลย เขาก็ติ ถ้ามันเป็นกรรมของสัตว์ สัตว์มีเวรมีกรรมต่อกัน เขาต้องมีความคิดความเห็นอย่างนั้น แต่ถ้าสัตว์มันไม่มีเวรมีกรรมต่อกันนะ ครูบาอาจารย์ท่านจะรักษาไว้ไม่ให้กระทบกระเทือน ถ้าเขาจะได้ เขาควรได้ประโยชน์ของเขาไป อย่าให้เขาได้โทษของเขาไป
นี่ไง ฉะนั้นถึงว่า มีแต่ไม่เอา มีแต่ไม่เอาเป็นคำพูดของครูบาอาจารย์ ถ้าใครเขาเอามาเป็นปริศนาธรรม แล้วเขาใช้ปัญญาของเขาพิจารณาของเขา เขาได้ประโยชน์ของเขา เราก็สาธุ
ฉะนั้น เขาบอกว่าที่เขาคิดยังไม่ออก เราก็คิดของเรา เราตอบสนองของเราแล้วเราปฏิบัติของเรา ปฏิบัติบูชาครูบาอาจารย์ของเรา นี่ปฏิบัติบูชาครูบาอาจารย์ของเรา แต่หัวใจของเราจะเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เราปฏิบัติธรรมบูชาครูบาอาจารย์ แต่ใจของเราจะเป็นพุทธะ ใจของเราจะเป็นผู้ที่สว่างไสว ใจของเราจะเป็นคุณธรรม เราทำเพื่อสัจธรรม นี่ไง สัจธรรมเป็นความจริง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตนไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เป็นสัจธรรม เราแสวงหาสิ่งนี้ ถ้าเป็นสัจธรรมในหัวใจของเราจะเป็นประโยชน์กับเราเพื่อประโยชน์กับเรา ให้เป็นคุณธรรมของเรา เอวัง