แค่ทำ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๙
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “ขอยกเลิกคำถาม แต่มีคำถามใหม่”
หลวงพ่อ : มันก็เป็นคำถามเก่านั่นแหละ อธิบายไปแล้ว ครั้งที่แล้วอธิบายดีนะ แต่นี่เขาก็ถามมาซ้ำไง
ถาม : กราบนมัสการหลวงพ่อที่เคารพเป็นอย่างสูง ลูกทำสมาธิแบบพุทโธที่จุดกลางอกแล้วค่ะ (พอเข้าใจบ้างแล้วค่ะ) ลูกแค่ต้องการถามเพื่อความกระจ่างแจ้งว่าลูกเข้าใจถูกต้องไหมคะ
๑. เมื่อบริกรรมพุทโธผ่านความคิดต่างๆ ไปแล้ว จิตสงบแยกลงไปต่ำมากๆเหมือนเสือนอนหมอบอยู่กับพื้น แยกออกไปจากความคิดต่างๆ ชัดเจน (ที่เป็นเหมือนแมลงที่บินตอมอยู่บนฟ้าไกลๆ ข้างบน) ลูกเข้าใจว่านี่คือความสงบ ซึ่งลูกทำได้แค่เพียงครั้งเดียวเท่านั้นเมื่อครั้งเริ่มนั่งสมาธิใหม่ๆ
๒. เมื่อบริกรรมพุทโธผ่านระยะแน่นๆ ไปแล้ว (บางครั้งก็ไม่มีอาการนี้) มันสว่างโพลงเบาสบายว่างๆ ลูกเข้าใจว่านี่คือสมาธิ แต่หลวงพ่อบอกว่าไม่ใช่ว่างๆ
๓. เมื่อบริกรรมพุทโธผ่านไปแล้วถึงจุดสบายๆ เล็กน้อยก็สงบอยู่ในระดับหนึ่ง รู้อยู่ มีความคิดผ่านเข้ามาบ้าง แต่ไม่ฟุ้งซ่านมากนัก พอประคับประคองตัวไปได้ เมื่อพุทโธชัดๆ เข้าไว้ ลูกเข้าใจว่านี่คือจิตยังฟุ้งซ่านอยู่ ยังไม่สงบดี ก็มักพยายามบริกรรมต่อไปเพื่อจะให้จิตสงบเหมือนแบบที่ ๑ หรือที่ ๒ แต่ก็มักจะติดอยู่ในแบบนี้บ่อยๆ ลูกเข้าใจผิดไปไหมคะ
เมื่ออยู่ในแบบที่ ๓ ลูกควรทำอย่างไรคะ ควรพิจารณาหรือทำความสงบใจให้มากกว่าเดิมคะ ขอหลวงพ่อช่วยอธิบายด้วยค่ะ
ตอบ : ฟังนะ จะอธิบาย การทำความสงบ การฝึกหัดทำสมาธิ การฝึกหัดการภาวนาเพื่อเป็นการฝึกหัดให้คนฉลาด คนเราฉลาดขึ้นมาด้วยการทำความสงบฉลาดด้วยการภาวนา
เด็กน้อยเขาส่งให้มีการศึกษา ถ้าใครมีการศึกษาแล้ว ศึกษาจนมีวิชาชีพศึกษาจนจบทางวิชาการ เขาจะเป็นคนที่มีองค์ความรู้ องค์ความรู้นั้น เขาให้ใช้สติปัญญาเพื่อประโยชน์กับเขา การศึกษา ศึกษาเพื่อฉลาด ศึกษาเสร็จแล้วต้องมาฝึกหัด ใครศึกษาจบแล้วเขาต้องหางานทำของเขา ถ้าใครทำงานของเขา ทำประสบความสำเร็จของเขา เขามีความรู้ด้วย เขาทำงานแล้วประสบความสำเร็จด้วย
นี่ก็เหมือนกัน การศึกษาของเราเป็นภาคปริยัติ ศึกษาแล้วเพื่อมาปฏิบัติเวลาปฏิบัติขึ้นมาเขาปฏิบัติให้ฉลาด ปฏิบัติให้มีความรู้ ปฏิบัติให้เท่าทันตน เขาไม่ใช่ปฏิบัติให้เป็นคนโง่ ปฏิบัติแล้วหันรีหันขวาง หันรีหันขวางอยู่อย่างนี้ การหันรีหันขวางเพราะอะไร เพราะเราตั้งเป้าหมายไง
เวลาตั้งเป้าหมายนะ อธิษฐานบารมี เป็นบารมี ๑๐ ทัศนะ บารมีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ แล้วเรามีเป้าหมายแล้วเราพยายามทำให้ถึงเป้าหมายนั้น นี้คือการเราพยายามขวนขวายของเรา
แต่ในการประพฤติปฏิบัติ เราจะเอาสมาธิ เราจะเอาปัญญา เราจะเอาๆ เราจะเอา แต่ไม่รู้เลย สิ่งที่คิดขึ้นมามันเป็นกิเลสหรือมันเป็นธรรม ถ้ามันเป็นธรรมนะเป็นธรรมคือจิตถ้ามันสงบแล้วมันใช้สติปัญญาแยกแยะของมัน ฝึกหัดใช้ปัญญาของเราขึ้นมา นี่มันจะเป็นธรรม
ถ้าเป็นธรรมแล้วจะเอาอย่างนั้น จะเอาอย่างนี้ มันไปตั้งเป้าหมายไว้ ตั้งเป้าหมายไว้แล้วมันก็สมบัติบ้า ทำธุรกิจคราวนี้เราจะได้ผลต่อประโยชน์ร้อยล้าน ทำครั้งต่อไปเราจะเอาพันล้าน ครั้งต่อไปเราจะเอาหมื่นล้าน แล้วก็ตั้งเป้าหมายกันไว้แล้วก็ล้มลุกคลุกคลาน แล้วก็จะมีความทุกข์ความยาก
ปฏิบัติไปเถอะ การปฏิบัติขึ้นไปแล้วมันจะฉลาดมากฉลาดน้อย ดูคน ดูสิบ้านนอกคอกนาตอนนี้ การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน การท่องเที่ยวแบบธรรมชาติตอนนี้ทุกคนใฝ่หา ทุกคนจะไปหาลำคลอง หาแม่น้ำ หาสถานที่เป็นธรรมชาติเพื่อความร่มเย็นเป็นสุข แล้วคนในพื้นที่นั้นเขาอยู่ในบรรยากาศที่ดีของเขา เรามองในสายตาของเราว่าเขาไม่ทันคนในเมือง คนในเมืองเขาจะมีสิ่งอำนวยความสะดวก มีของทุกอย่างสะดวกพร้อมเพรียงของเขา อยู่บ้านนอกคอกนามันต้องขวนขวาย ต้องปากกัดตีนถีบของเขา แต่เขาอยู่ในที่ชัยภูมิอย่างนั้น เขามีความสุขของเขา เขามีความสุขของเขา
นี่ก็เหมือนกัน ในภาคปฏิบัติขึ้นมา จะอยู่คอนโด ๕๐๐ ชั้น จะอยู่บนก้อนเมฆเสร็จแล้วก็ตั้งเป้าหมายไว้แล้วก็ทำไม่ได้ ทำไม่ได้
เราปฏิบัติเพื่อความสงบระงับนะ เราปฏิบัติของเราไป ถ้าปฏิบัติได้มากน้อยแค่ไหนมันก็เป็นได้มากน้อยแค่ไหน นี่ไง นี่เขาบอกว่า ให้หลวงพ่อแนะนำด้วย ให้หลวงพ่อสอน
กรณีอย่างนี้นะ ถ้าเราไม่มีสิ่งใด เราวางให้หมดเลย เราใช้ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วกำหนดพุทโธของเราไป พุทโธของเราไป
ไอ้นี่พุทโธของเราไป เดี๋ยวจะเอาอย่างนั้น เดี๋ยวจะเอาอย่างนี้ จะเอาอย่างนั้น...เราไปตั้งเป้าหมายทั้งนั้นน่ะ เราไปตั้งเป้าหมาย เราวางไว้หมดเลย เรารู้พุทโธ รู้อานาปานสติกำหนดลมหายใจชัดๆ ไว้ตรงนี้ ถ้าชัดๆ ไว้ตรงนี้ เห็นไหม เราชัดๆ ไว้ตรงนี้มันเป็นสัจจะเป็นข้อเท็จจริง ถ้าเป็นข้อเท็จจริงขึ้นไปแล้ว เอาความเห็นอันนี้ มันจะสูงมันจะต่ำ เอาพุทโธของเราไว้ มันจะสูงจะต่ำ ถ้ามันจะสูงจะต่ำมันก็เหมือนกับเราไปสร้างภาพ เวลาปฏิบัติแล้วว่างๆ ว่างๆ
ที่บอกว่าหลวงพ่อบอกไม่ใช่ว่างๆ
ว่างๆ นี่เป็นอารมณ์ อารมณ์ว่าง เราสร้างอารมณ์ว่าง แต่ถ้าเราไม่สร้างอารมณ์ว่าง มันก็อารมณ์คิด เราจะคิดอย่างอื่นไปร้อยแปดเลย แต่เรามาคิดให้มันว่างเป็นอารมณ์ว่าง แต่ถ้าเราพุทโธๆ เราต้องการให้ตัวมันว่าง ถ้าตัวมันว่างขึ้นมามันจะมหัศจรรย์ มันจะไปสูงไปต่ำนี่อาการทั้งนั้น มันจะเป็นอย่างไรเรื่องของมันแต่เราพุทโธของเราไว้
ทีนี้เพียงแต่ว่าเวลามันทำแล้วมันต้องลงแรงไง พอเรานั่งสมาธิขึ้นมาแล้วเราต้องตั้งใจของเรา พอเราตั้งใจของเราแล้วเราก็อยากได้ผลตอบแทน ใครทำงานสิ่งใดก็อยากได้ผลตอบแทน อันนี้เวลาถ้ามันจะได้ผลตอบแทน มันได้ผลตอบแทนที่เราเป็นมนุษย์นี่ ถ้าได้ผลตอบแทนก็ความเป็นมนุษย์มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ นี่แหละคือผลตอบแทน ผลตอบแทนทำให้เรามีความยั้งคิด นี่คือผลตอบแทน ถ้าไม่มีผลตอบแทน มันไปหาบทุกข์ ไปกว้านมาหมดเลย จินตนาการนะ เอามาเหยียบย่ำหัวใจของตน
มนุษย์มันจะมีอะไร มนุษย์มันก็มีหัวใจดวงนี้ ถ้าหัวใจดวงนี้มันปลอดโปร่งหัวใจดวงนี้มันก็แค่นี้ มันแค่นี้นะ ถ้าเราฝึกหัดใช้ปัญญาต่อไปข้างหน้า อันนั้นมันถึงจะเป็นผลของมัน
นี่พูดถึงมันคิด เพราะว่าคนเราพอภาวนาแล้วอยากได้สมาธิ พอเคยได้สมาธิไอ้ความอยากซ้อนความอยาก อยากซับอยากซ้อน ความทุกข์มันเกิดตรงนี้ แล้วก็วางไม่เป็น พอวางขึ้นมาก็ไม่เห็นมีอะไรเลย
ไม่มีอะไรเลยนั่นยอดคน คนที่ปฏิบัติแล้วมีสติสัมปชัญญะ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ปากเปียกปากแฉะ ไม่นินทากาเล นั่นแหละยอดคน แล้วถ้ามันเป็นสมาธิมันก็เป็นสมาธิของมันขึ้นมา นี่ก็พอแล้ว
นี่พูดถึงว่าให้หลวงพ่อสอนไง ฉะนั้น เขาบอกว่าคำถามที่ ๑. เพื่อความแน่ใจว่ามันถูกต้องหรือไม่ เมื่อบริกรรมพุทโธผ่านความคิดไป จิตมันสงบ ที่มันแยกลงต่ำเหมือนเสือหมอบ
ไอ้นี่มันเป็นความรู้สึกไง ไอ้ที่ว่า เวลามันว่างๆ หนูก็เข้าใจว่าสมาธิ หลวงพ่อก็บอกว่าไม่ใช่ว่างๆ พอลงไปนอนไปหมอบอยู่ข้างล่างก็คิดว่าเป็นสมาธิ ไอ้บินขึ้นไปสูงๆ เหมือนแมลงหึ่งๆๆ ก็คิดว่าสมาธิ
อะไรที่มันจะเกิดขึ้นมันก็ต้องเกิดขึ้น เวลามันเกิดขึ้นมันก็เกิดขึ้น ใครไปห้ามมันไม่ได้ทั้งสิ้น แต่เรามีสติพร้อมไง นี่ยอดมนุษย์ไง
มนุษย์นี่นะ ถ้ามันรู้สึกตัวอยู่ รู้สึกตัว รู้สึกมีสติสัมปชัญญะ แล้วเรากำหนดพุทโธๆ ให้จากความเป็นยอดมนุษย์มันจะเข้าสู่ยอดธรรม ถ้ามันเข้าสู่ยอดธรรม อันนั้นมันเป็นความสามารถ มันเป็นคุณวิเศษของมนุษย์ที่จะทำขึ้นมา
ในปาราชิก ๔ อวดอุตตริมนุสสธรรม ธรรมที่เหนือมนุษย์ เริ่มจากฌานสมาบัติก็สมาธินี่ขึ้นไป ทำฌานสมาบัติ อวดอุตตริมนุสสธรรมที่ไม่มีในตน เป็นปาราชิก อวดอุตตริมนุสสธรรมในตน เริ่มต้นจากสมาบัติ ๘ ขึ้นไป ศีล สมาธิปัญญานี่แหละ
ฉะนั้น ที่ว่ายอดมนุษย์ มนุษย์ถ้าให้มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ นี่สมบูรณ์แล้วแล้วถ้ามันจะมียอดธรรมๆ ถ้าจิตมันสงบขึ้นมามันจะเป็นยอดธรรม พ้นจากคำถามที่ถามมานี้ทั้งสิ้น คำถามที่ถามมานี่แบบว่ามันเป็นอาการ
คนฝึกหัดงาน คนฝึกหัดงานมันก็ต้องทำงานผิดพลาดบ้างเป็นธรรมดา คนฝึกหัดงานก็ฝึกหัดงานไป ความผิดพลาดนั้นมันจะสอนให้มีความชำนาญขึ้น ถ้าฝึกหัดงานครั้งแรกผิด ครั้งที่ ๒ ครั้งที่ ๓ ครั้งที่ ๔ ฝึกมันบ่อยๆ ถ้ามันผิดๆ มันจะผิดไปถึงร้อยครั้งก็ให้มันผิดสิ เราจะโง่เง่าขนาดนั้นก็ให้มันรู้ไป ทำงานแล้วทำงานเล่า มันจะผิดก็ให้มันรู้ว่ามันผิด
นี่ก็เหมือนกัน เรากำหนดพุทโธๆ ของเรา มันจะเกิดอาการอย่างไรขึ้น เราก็กำหนดพุทโธของเราไว้ ถ้ามันจะเป็น มันจะเป็นของมันไปเอง ไอ้ที่ว่าไปหมอบลงต่ำๆ ไอ้ที่ไปบินสูงๆ นั่นอาการของใจทั้งนั้น อาการของใจนะ ดูหลวงปู่ดูลย์บอกดูจิตๆ จนจิตเห็นอาการของจิต
ไอ้นี่ตัวเองไม่ได้เห็นอาการของจิต ตัวเองเป็นอาการโดยสมบูรณ์ ตัวเองไปอยู่กับอาการ อาการนั้นมันลากจิตนั้นไปโดยสมบูรณ์ แต่ถ้าดูจิตๆ จนจิตมันสงบขึ้นมา แล้วจิตเห็นอาการของจิต อาการที่มันเป็นอยู่นี่มันเป็นอาการ แต่ทีนี้อาการอย่างนี้ จิตของเราไปอยู่กับมัน จิตของเราอยู่ในอาการนั้น จิตนี้เป็นอาการโดยสมบูรณ์ อยู่กับอาการนั้นโดยสมบูรณ์ จิตไม่ได้แยกออกมาเป็นความสงบ
จิตถ้ามันแยกออกมาเป็นความสงบแล้วจิตเห็นอาการของจิต นั่นจิตจะวิปัสสนา มันชัดๆ ของมันอยู่อย่างนี้ ข้อเท็จจริงมันเป็นของมันอยู่อย่างนี้
ทีนี้คำถามก็ถามไปเพื่อความชัดเจนๆ ทีนี้คำถามที่ถามมา ครั้งที่แล้วตอบไปตอบไปด้วยความละเอียดเลย แต่คราวนี้จะเอาชัดๆ ชัดๆ มันเหมือนกับคนถามปัญหา พอตอบมาชั้นหนึ่ง โอ้โฮ! หลวงพ่อตอบดี จะเอา ๕
ไอ้การตอบอย่างนี้มันงก มันงก มันอยากได้ ไอ้ความอยากได้ของคนเลยไม่ได้อะไรไง คนที่ไม่ต้องการอะไร กำหนดพุทโธๆ ของเราไป มันจะเป็นของมัน จะลงต่ำๆ จะลงสูงๆ เป็นอาการทั้งนั้น แล้วเรากับอาการเป็นอันเดียวกัน เราอยู่ในอาการนั้น เราเลยไม่รู้ แต่ถ้าคนที่เขาทำเป็น จิตเขาสงบแล้วเขาเห็นอาการขึ้นมาโอ้โฮ! มันสะเทือนมาก
เหมือนเรา เราใช้ชีวิตสำมะเลเทเมากันนะ เพราะเราไม่รู้ พวกหมอมันไม่ยอมนะ พวกหมอจะกินอะไรมันก็ระวังนะ เพราะมันรู้ว่ากินเข้าไปแล้วมันเป็นโทษเป็นภัย หมอเขาใช้ชีวิตของเขา เขาระวังตัวของเขา แต่เขาก็มีเวรมีกรรมเหมือนกันเพราะหมอก็เจ็บไข้ได้ป่วยเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าอาชีพเป็นหมอแล้วเขาจะพ้นจากการเจ็บไข้ได้ป่วยก็ไม่ใช่
อาชีพเป็นหมอเขาก็เป็นหมอโดยวิชาชีพของเขา แต่ถ้าเกิดเขามีเวรมีกรรมของเขา เขาก็เจ็บไข้ได้ป่วยเหมือนเรา แต่เรา เราไม่มีอาชีพอย่างนั้น เราก็ใช้ชีวิตของเรานะ โดยที่ไม่รู้ ไม่รู้ ทำอะไรก็ได้ ถ้าบอกไอ้นี่กินไม่ได้นะ เป็นพยาธิในตับ...เหรอ กินเข้าไปแล้ว แต่ถ้าหมอเขาไม่กินนะ เห็นไหม นี่ถ้าคนเขารู้ ไอ้เราไม่รู้สบาย ทำอะไรก็ได้ สบายๆ
นี่ก็เหมือนกัน ปฏิบัติขึ้นไปแล้วเราไม่รู้อะไร เราไม่รู้อะไรเราก็พุทโธของเราขึ้นไป มันก็ไม่มีปัญหาอะไร
เรียนหมอแล้วโดนรีไทร์ออกไป ไอ้ว่าจะไม่รู้มันก็รู้นะ ไอ้จะบอกให้รู้ก็รู้ไม่หมดเหมือนกัน ไอ้นี่ยิ่งทำอะไรไม่เป็นเลย นี่ไง ปฏิบัติอย่างนี้ นู่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ได้จะไปก็ไม่ได้ จะถอยก็ไม่ได้ ทำอะไรก็ไม่ถูกสักอย่าง
พุทโธชัดๆ แล้วทำ เราจะบอกว่า ทำด้วยความสบายใจ ทำของเราไป ไอ้ที่เราทำนั่นน่ะเราอยู่ใกล้ชิดพระพุทธเจ้าแล้ว แต่ไอ้ที่มันมีปัญหาขึ้นมาว่า สมาธิเป็นอย่างไร แล้วก็สร้างอารมณ์สมาธิ ปัญญาเป็นอย่างไร เราก็คิดปัญญา...มันเป็นอาการคิดทั้งนั้นน่ะ เป็นอาการคิด มันเป็นอาการคิดแล้วมันปฏิบัติมันก็เป็นอย่างนี้
ข้อที่ ๑. ถ้าบอกให้หลวงพ่อสอนก็สอนอย่างนี้ สอนมาตั้งแต่ต้น บอกไม่ต้องวิตกกังวลอะไรทั้งสิ้น เรามีศรัทธาความเชื่อ เราก็ปฏิบัติของเราไป เราปฏิบัติของเราไป เรามีศรัทธามีความเชื่อของเรา เพราะการปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันเป็นการบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่สูงสุดที่ประเสริฐที่สุดแล้ว แล้วปฏิบัติแล้วได้สิ่งใดมาก็อย่างที่เราพูดนี่ ได้ความเป็นยอดมนุษย์คือสติสัมปชัญญะ ความรู้ที่สมบูรณ์ ถ้ามันยังไม่เกิดสมาธิ ยังไม่เกิดปัญญาขึ้นมาเราก็ได้บูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเป็นชาวพุทธแล้ว
แต่ถ้ามันเป็นจริงขึ้นมา เราจะเป็นพุทธะในใจของเราเอง ถ้าเราเป็นพุทธะในใจของเราเอง เราจะเกิดสติเกิดปัญญา เกิดมรรคเกิดผลขึ้นมาในใจ ถ้าเกิดมรรคเกิดผลในใจ มันเป็นสันทิฏฐิโก มันเป็นอกุปปธรรม มันเป็นสัจธรรมในใจดวงนั้นแล้วมันจะไปหวั่นไหวอะไรกับใคร
แต่นี่เพราะจิตมันอ่อนแอไง มันอ่อนแอขึ้นมาก็ถามไปร้อยแปด พอถามไปร้อยแปด ถามมาครั้งท้ายๆ เออ! ยังเข้าท่าบ้าง ครั้งที่แล้วเขียนมาทีหนึ่ง ๔-๕กระดาษ ไม่มีอะไรเลย น้ำท่วมทุ่ง อารมณ์ของตัวเองไปคนเดียว ฉะนั้น ครั้งที่แล้วตอบแบบดีที่สุดแล้วนะ ฉะนั้น ถ้าต่อไปมันจะตอบได้ไม่ดีเท่าครั้งที่แล้ว วันนี้ตอบไม่ได้ดีกว่าครั้งที่แล้วหรอก เพราะว่ามันเป็นคำถามเดียวกัน ไอ้สูงๆ ต่ำๆ นี่
ฉะนั้น ข้อที่ ๑. กำหนดของเราไว้ เขาบอกกำหนดพุทโธ ถ้ามันผ่านสิ่งใดไปแล้ว ไอ้ที่มันทั้งสูงทั้งต่ำเป็นอาการทั้งหมด อาการก็เหมือนเราหิวข้าวแล้วเราจะทานข้าว พอทานข้าวคำแรกก็อร๊อยอร่อย ไม่อยากกลืนเลย จะอมไว้อย่างนั้นน่ะแล้วมันจะทานข้าวได้หมดมื้อไหม คำแรกอร่อยแค่ไหนก็กลืนเข้าไป คำที่ ๒ อร่อยน้อยลงก็กลืนเข้าไป กลืนทุกคำเข้าไปเดี๋ยวก็อิ่ม
นี่ก็เหมือนกัน มันจะสูงมันจะต่ำก็ผ่านไป สูงก็ผ่านไป ต่ำก็ผ่านไป ซ้ายก็ผ่านไป ขวาก็ผ่านไป เพราะมันเป็นคำข้าวคำแรกๆ ที่เรากำลังจะกลืนเข้าไปๆ มันยังไม่อิ่มไม่เอิ่มอะไรหรอก กลืนมันเข้าไป ผ่านมันไป อาการน่ะผ่านมันไป พุทโธไว้ชัดๆ เดี๋ยวมันไปถึงตัวมันเอง
นี่คำแรกก็ “อร๊อยอร่อย นี่มันคืออะไร นี่มันคืออะไร”
กลืนเข้าไปสิ เดี๋ยวพอคำที่ ๒ มันก็อะไรๆ อยู่นั่นน่ะ คำแรกก็น้ำพริกกะปิ คำที่ ๒ ก็น้ำพริกเผา คำที่ ๓ ก็น้ำพริกกะเหรี่ยง คำที่ ๔ ก็น้ำพริกแจ่ว อ้าว! มีอะไรอีกล่ะ ก็กลืนเข้าไปสิ ก็ผ่านไปๆ นี่อาการทั้งนั้นน่ะ
“๒. เมื่อบริกรรมพุทโธผ่านระยะติดๆ ขึ้นไปแล้ว บางครั้งมันก็มีอาการขึ้นมามันสว่างโพลง เบา ว่างๆ ลูกเข้าใจว่านี่เป็นสมาธิ หลวงพ่อก็บอกว่ามันไม่ใช่ว่างๆ”
คำว่า “เบา สบาย” ถูก ว่างๆ อะไรก็ว่างๆ ว่างๆ ถ้ามันว่าง จิตมันเป็นจริงมันก็ถูกของมัน ไอ้ที่ว่าว่างๆ ว่างๆ เพราะมันไม่จริง ส่วนใหญ่แล้วมันไม่จริง เราถึงบอกว่ามันไม่ใช่ คำว่า “ไม่ใช่” มันเป็นคำเล่าต่อๆ กันมา มันเป็นคำบอกเล่าต่อๆกันมา แล้วเราได้ยิน เราได้เข้ามาแล้วเราก็จะสร้างอารมณ์ให้เหมือนกับเขา มันรู้ได้นะ คนที่ทำได้จริงมันเป็นความจริงของเขา
คนที่ทำได้จริง หนึ่ง สติเขาสมบูรณ์ คนที่ทำสมาธิได้เขาจะนิ่ง เขาจะไม่ค่อยพร่ำๆๆ ไอ้ขี้โม้นั่นน่ะมันไม่ได้ทำหรอก เพราะมันขัดแย้งกับความเป็นจริง ถ้ามันเป็นจริงมันจะนิ่ง แล้วนิ่งนะ คนที่เป็นจริงนะ เขาไม่อยากพูด เพราะพูดออกไปนะคนที่หัดภาวนาแล้วที่เขียนคำถามมาถามเขาจะบอกว่า “หลวงพ่อ ผมไม่กล้าคุยกับใคร เขาจะหาว่าเราบ้า” คนส่วนใหญ่ที่เขาเป็นนะ เขาจะพูดอย่างนี้ เราไม่กล้าคุยกับใคร เราไม่กล้าบอกใคร เราจะปรึกษาแต่ครูบาอาจารย์ของเรา เพราะมันไปพูดแล้วเขาจะบอกว่าบ้า เพราะเขาไม่เคยรู้เคยเห็นอย่างนี้ไง ฉะนั้น คนที่เป็นจริงเขาจะ อื้อหืม! มันมหัศจรรย์ จะพูดกับใครได้อย่างไร ถ้าพูดแล้วจะหาว่าเรานี่เกินบาท เขาก็จะเก็บไว้
แต่ไอ้ที่พูดว่างๆ ว่างๆ ไปไหนก็ว่างๆ ว่างๆ
เราก็ถือลูกโป่งใบหนึ่งก็ได้ เป่าให้เป็นลูกโป่ง ว่างๆ ว่างๆ ในลูกโป่งมันว่างแล้วลูกโป่งมันมีชีวิตไหม มันรู้สึกตัวมันไหม
ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ที่เราพูดนี่เราพูดเพราะว่าเราเสียดายจิตของคน เราเสียดายความรู้สึกของคน ความรู้สึกของคนถ้ามันทำสมาธิได้ มันทำสติปัญญาได้ มันจะประเสริฐมากเลย แต่นี้มันทำไม่ได้ แล้วมันก็ไปคิดไปพูดอย่างนั้นน่ะ เราถึงบอกว่ามันไม่ใช่ มันไม่ใช่ มันไม่จริง เราถึงบอกว่ามันไม่ใช่
แต่ถ้าเราภาวนาของเรา ถ้ามันพุทโธๆ แล้วมันสว่างขึ้นมา นั่นก็เป็นอาการเหมือนกัน จิตเห็นแสง จิตเห็นความสว่างไสว นี่คือนิมิตทั้งนั้นน่ะ เพราะจิตสงบแล้วมันเห็นไง ไอ้ที่ว่ามันสว่างเป็นโพลง ไอ้ที่มันเป็นแสงสว่าง ใครเป็นคนเห็นใครเป็นคนเห็น ถ้าจิตมันไม่สงบ จิตมันจะเห็นหรือ
จิตมันสงบ จิตมันก็เห็นใช่ไหม เห็นแสงสว่าง เห็นอะไร ความเห็นอันนั้นมันก็เป็นนิมิต ถ้าจริงๆ แล้วมันต้องย้อนดึงกลับมาให้มันสงบในตัวมันเอง ไม่ต้องรู้ต้องเห็นสิ่งใด นั่นคือตัวจริง ตัวจริงมันเป็นแบบนั้น
ฉะนั้น ถ้ามันสบายๆ ถ้าจิตมันสบายก็บอกว่ายอดมนุษย์ไง เราประพฤติปฏิบัติแล้วเรามีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ นี่ยอดคน นี่ถูกต้องแล้ว ถ้ามันสว่างโพลงมันสบาย ก็ถูก ก็ถูกต้องแล้ว เพราะมันเป็นการปฏิบัติ แต่ไอ้ว่าว่างๆ ไอ้นี่ความคิดนะ เราคิดว่ามันว่าง ถ้าเราคิดว่ามันว่างนั่นเรื่องหนึ่ง ถ้าตัวมันว่างนะ อ๊ะ! มันพูดไม่ออก ถ้ามันรู้จริงมันจะเป็นอย่างนั้น ถ้าเป็นความจริง
ฉะนั้น ไอ้ที่ว่าว่างๆ ว่างๆ ใครจะพูดก็ได้ ถ้าใครจะพูด เสร็จแล้วถ้าเป็นเรานะ ถ้าคุยกันโดยธมฺมสากจฺฉา เราจะบอกว่า ความว่างมันเป็นผลของใครไม่คัดค้าน แต่เหตุล่ะ ถ้าเหตุ ถ้าเหตุทำไม่ถูก มันไม่มีเหตุ ไม่มีที่มา มันจะว่างอย่างไร เหมือนเรา เรามีเงินอยู่ล้านหนึ่ง สรรพากรมาถามว่าล้านนี้ทำอะไรมาตอบไม่ได้นะ ยุ่งนะ
ถ้าเรามีเงินอยู่ล้านหนึ่ง สรรพากรถามว่าล้านนี้ได้แต่ใดมา
อ้าว! เพิ่งทำงานมาเดี๋ยวนี้ เขาจ่ายเป็นค่าแรงมา
เสียภาษีหรือยัง
โอ๋ย! เขาหัก ณ ที่จ่ายเรียบร้อย จบไหม
เรามีอยู่ล้านหนึ่ง สรรพากรถาม ตอบไม่ได้ จบ ยึดหมดเลย
ว่างๆ
จะว่างๆ อย่างไรไม่สำคัญ สำคัญว่าทำอย่างไรมา ถ้าคนเป็นนะ
นี่พวกเราทำไม่เป็นไง พอพวกเราทำไม่เป็นแล้วก็ไม่รู้ว่ามันมาจากทางไหนไงถ้าคนเป็นอย่างเราทำอย่างไรมา กำหนดอะไร ใช้ปัญญาอย่างไรมันถึงว่าง ตอบไม่ได้ เพราะมันเหมือนกับว่ามันไม่มีที่มาที่ไป ถ้าไม่มีที่ไป เราถึงว่าว่างๆ อย่างนี้ผิด มันเป็นฟังเขาเล่าว่า ฟังเขาบอกมา
แต่ถ้าเป็นของเราจริงนะ เราพุทโธๆ มันละเอียดเข้ามานะ โอ้โฮ! จิตมันละเอียดมาก ละเอียดเข้ามาจนพุทโธไม่ได้เลย กลัวมากเลย แต่ตั้งสติดีๆ มันก็เลยพุทโธต่อเนื่องได้ พอต่อเนื่องเข้าไป มันพุทโธจนพุทโธไม่ได้เลย พอพุทโธไม่ได้เลย ตัวมันเป็นพุทโธ...เออ! มันก็ต้องมีที่มาสิ ถ้ามันว่างอย่างนี้ใช่ ใช่
ว่างๆ ไม่เป็นไร จะว่างๆ อย่างไรไม่สำคัญ สำคัญที่ว่าทำอย่างไร ทำอย่างไรถ้ามันทำจริงมันก็เป็นความจริง ถ้าความจริงมันก็ถูกต้อง
“๓. เมื่อบริกรรมพุทโธผ่านไปแล้วถึงจุดที่สบายๆ เล็กน้อย ก็สงบอยู่ในระดับหนึ่ง รู้อยู่ มีความคิดผ่านเข้ามา แต่ไม่ฟุ้งซ่านมากนัก พอประคับประคองตัวไปได้เมื่อพุทโธชัดๆ ขึ้นไป ลูกเข้าใจว่าจิตยังฟุ้งซ่านอยู่”
เวลามันจะดี เราก็คิดไปเอง คิดว่าจิตมันจะเป็นอย่างนั้น มันจะเป็นอย่างนี้มันจะเป็นอย่างนั้น มันเหมือนกับคนอ่อนแอทางความคิด คิดไปเรื่อย แล้วอีกอย่างหนึ่งเวลาพุทโธๆ แล้วมันต้องมีการกระทำ มันเหนื่อยมันยากไง อยากจะได้อะไรที่มันสะดวกสบาย แล้วพอทำแล้วนะ เราพูดไว้ตรงนี้เลย เวลาคนภาวนาขึ้นมาแล้ว พอเป็นสมาธิแล้วมันมีความสุขมีความสบายมาก แต่เสร็จแล้วมันก็คลายตัวออกมา การที่คลายตัวออกมาแล้ว เราจะทำเข้าไปอีกแล้ว เราจะต้องมีความพยายาม
ฉะนั้น เวลาส่วนใหญ่คนจะคิดว่าเราทำสมาธิแล้ว พอมันคลายตัวออกมา ก็คิดว่าการคลายตัวออกมามันยังเป็นสมาธิอยู่ ก็คิดว่าตัวเองได้สมาธิตลอดไป มันไม่ใช่ สมาธิจะเกิดขึ้นต่อเมื่อเรามีคำบริกรรมหรือเรามีวิธีการรักษา เรามีวิธีการมันมีเหตุทำให้เป็นสมาธิได้ จิตก็จะเป็นสมาธิตลอดไป เวลามันคลายตัวออกมาเราก็กำหนดพุทโธต่อเนื่องไป หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ มันก็เข้าไปสู่สมาธิอย่างเดิม เห็นไหม มันต้องมีการรักษา มันต้องมีการกระทำ เราจะบอกว่ามันต้องเหนื่อยยากตลอดไป การดูแลรักษาเป็นความเหนื่อยยากมากนะ เราต้องมีสติมีปัญญาดูแลรักษาของเรา มันถึงจะเป็นความสงบต่อเนื่อง ความสงบของเราอยู่ตลอดเวลา
ฉะนั้น ถ้าเรามีหน้าที่การงาน เราต้องทำหน้าที่การงานของเรานะ เราก็ทำหน้าที่การงานของเรา ทำหน้าที่ก็อยู่กับงานนั้น พอพ้นจากงานนั้น เราก็มาดูแลใจของเรา มันฝึกหัดอยู่อย่างนี้ให้มันเป็นความดีของเรา เป็นความดีของเราเพราะว่าเราเป็นชาวพุทธเกิดมาพบพระพุทธศาสนา เรามีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำหัวใจของเรา เราก็อยู่ใกล้ชิดกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้ชีวิตของเราไม่ทุกข์ยากจนเกินไป
หน้าที่การงานอาบเหงื่อต่างน้ำ มันก็เป็นหน้าที่ที่บากบั่น ต้องทำมาหากินอยู่แล้ว แล้วทำมาหากินแล้วเราก็ต้องให้หัวใจของเราได้มีคุณธรรมในหัวใจของเราให้มันมีความสุขของมันบ้าง มันบ้างไง แล้วถ้ามันทำของเรามันจะดีขึ้นของมันไปเรื่อยๆ ไง
ฉะนั้น ถ้าทำ ทำอย่างนี้ กำหนดพุทโธของเรา ใช้ปัญญาอบรมสมาธิของเราแล้วอาการต่างๆ ให้มันผ่านไป มีสิ่งใดเกิดขึ้นเป็นความประทับใจ คือเราเคยเห็นแล้วทำต่อเนื่องขึ้นไปๆ นี่พูดถึงว่าการปฏิบัติต่อเนื่องให้ทำแบบนี้ แค่ทำน่ะ เราจะบอกว่า ให้แค่ประพฤติปฏิบัติ ให้แค่บำรุงรักษาหัวใจ แล้วอย่าไปคาดหวังมากการคาดหวังมาก ที่มันมีปัญหาก็ “สมาธิจะเป็นอย่างนั้น สมาธิจะเป็นอย่างนี้สมาธิจะเป็นอย่างโน้น”
จริงๆ คือสมาธิมันอยู่กับใจเรา ทั้งๆ ที่เป็นสมาธิมันยังไม่รู้เลย เพราะมันไปคาดหมายว่าแก้วแหวนเงินทองมีค่ามากกว่า
อาการอย่างนั้นๆ อาการอย่างนั้นเป็นเรื่องของเขา แต่ของเราจิตสงบ แล้วมันมีความอิ่มใจ เบาว่างหมดเลย เบาว่างไม่ใช่เบาแบบปุยนุ่นลอยไปนะ เบาว่างหมดเลย สติสมบูรณ์ มีสติพร้อม สติสำคัญ อย่างนี้มันก็เป็นสมาธิ
สมาธิก็เป็นสมาธิไง พอมีสมาธิ เราฝึกหัดจนเรามีความชำนาญของเรา เราก็ฝึกหัดใช้ปัญญาของเรา ถ้าฝึกหัดใช้ปัญญาของเรามันจะเกิดมรรคเกิดผล เกิดการปฏิบัติที่เป็นความเป็นจริง มันก็จะเป็นประโยชน์กับเรา นี่พูดถึงคำถามว่ามันจะถูกต้องหรือไม่
ถาม : เรื่อง “ท้อเรื่องเรียน”
กราบนมัสการหลวงพ่อที่เคารพ ผมท้อมากครับกับชีวิตตัวเองเหลือเกินครับโดนคนดูถูก เรียนก็ไม่ค่อยเก่งเหมือนคนอื่นเขา แนวทางการดำเนินชีวิตก็ไม่มีผมท้อเหลือเกินครับ อยากให้หลวงพ่อสอนผมด้วยครับ ผมมันลูกศิษย์ที่สมองไม่มี หลวงพ่อสอนก็ไม่จำ ผมท้อเหลือเกินครับหลวงพ่อ ผมอยากเรียนจบ
ตอบ : นี่ไง ถ้าเด็กนะ เราเคยไปธรรมศาสตร์ เด็กจะเข้ามาถามเยอะมาก“หนูควรเรียนอะไร หนูควรเรียนอะไร” ไอ้พวกที่เรียนจบไปแล้วก็จบไปแล้ว ไอ้พวกที่เรียนไม่จบมันจะมาถาม “หนูควรเรียนอะไร หนูควรเรียนอะไร”
เราจะบอกเขา เพราะหนูควรเรียนอะไร เขามีอุปสรรคแล้ว เขามีปัญหาชีวิตเขามีปัญหาชีวิตมาก เพราะว่าเราเป็นนักปฏิบัตินะ พอเรานักปฏิบัติ กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน พอกรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน จิตแต่ละดวงที่มาเกิดมันก็มีเวรมีกรรมของมันมานะ เด็กที่เกิดมาไอคิวสูงๆ ไอคิว เขามีบุญกุศลของเขาเม็ดในของเขาคือสร้างกรรมของเขา กรรมมาดี ไอ้ของเรา เราสร้างกรรมของเราปานกลาง เราเกิดมาเป็นชนชั้นกลางใช่ไหม ไอ้เราสร้างเวรสร้างกรรมของเรามาจนไม่มีสติปัญญาของเรา เราก็สร้างของเรามา ทีนี้พอสร้างของเรา นี่มันคือกรรมมันคือการกระทำที่มันเสวยภพชาติ
จูฬปันถก เห็นไหม มหาปันถกเป็นพี่ พอมหาปันถกเป็นพี่ เป็นลูกกำพร้าทั้งคู่มาอยู่กับปู่ สุดท้ายแล้วก็บอกกำพร้า ก็มาบวช พอพี่บวชแล้วพี่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ พี่ก็ไปเอาน้องมาบวช พอเอาน้องมาบวชนะ ให้น้องท่องมนต์ตอนเดียวท่องไม่ได้ ท่องไม่ได้ จนพี่ให้น้องไป ไล่น้องไปเลย เพราะอาย ไล่น้องไปเลย ให้ไปสึก
พระพุทธเจ้าไปดักอยู่ข้างหน้าเลย “จูฬปันถก เธอจะไปไหน”
“จะไปสึก พี่ไล่ให้ไปสึก”
“เธอบวชเพื่อใคร”
“บวชเพื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”
“ถ้าอย่างนั้นถ้าเธอบวชเพื่อเราก็มานี่สิ พี่ว่าก็ไม่เกี่ยว ไม่ต้องไปยุ่งกับเขา มานี่ๆ”
ก็เรียกมา เรียกมาก็ให้ผ้าขาวผืนหนึ่งแล้วให้เอามือลูบ ให้เอามือลูบ “ผ้านี้ขาวหนอ ผ้านี้ขาวหนอ” ลูบไปเรื่อย ลูบไปเรื่อย พอลูบไป ผ้าขาวๆ มันเริ่มเศร้าหมอง ปัญญามันเกิด ปิ๊ง! เป็นพระอรหันต์เลย เขาก็ไปถามพระพุทธเจ้าว่าทำไมมันเป็นแบบนี้ ทำไมมันเป็นแบบนี้
พอเป็นพระอรหันต์แล้ว อู้ฮู! ปัญญาเยอะนะ
พระพุทธเจ้าบอกว่า มีอยู่ชาติหนึ่งเขาเป็นกษัตริย์ เป็นกษัตริย์นะ แล้วเขาออกตรวจพล กษัตริย์ แล้วเขาใช้ผ้าเช็ดหน้าเช็ดหน้าไง เช็ดหน้าของเขา มันเห็นแล้วมันสะเทือนใจ โอ้โฮ! ทำไมมันสกปรก เพราะชาตินั้นเขานุ่มนวลมาก แล้วมาเกิดอีกชาติหนึ่งมาเป็นพระ พอเป็นพระ พระเขาท่องปาฏิโมกข์อยู่ ไปหัวเราะเยาะเขา
เวลาเราท่องหนังสือมันก็ผิดๆ ถูกๆ ใช่ไหม เขาก็นั่งขำจนไอ้คนท่องมันอายไม่กล้าท่อง กรรมอันนั้นน่ะ กรรมอันนั้นทำให้สมองทึบ แต่เวลาที่จะเป็นพระอรหันต์ เป็นพระอรหันต์เพราะเป็นกษัตริย์ที่ไปตรวจพลนั่นน่ะ เอาผ้าเช็ดหน้าเช็ดหน้า พอเช็ดหน้ามันเกิดความสกปรก มันก็ฝังใจ มันก็เป็นอสุภะฝังใจมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอนาคตังสญาณรู้ถึงว่าเขาสร้างเวรสร้างกรรมอะไรมาแล้วสอนเอาผ้าขาวมาลูบ
นี่ไง ถ้าพูดถึงว่ามันเป็นเวรเป็นกรรม ถ้าเป็นเวรเป็นกรรม เราจะย้อนกลับมาคนถาม “หลวงพ่อ ผมก็ท้อกับชีวิตขนาดนี้ แล้วหลวงพ่อยังบอกว่าเป็นกรรมของผมอีก ชีวิตผมยิ่งเศร้าใหญ่เลย”
เราจะบอกว่า ชีวิตที่เราทำมานี่เราทำของเรามาแล้ว ชีวิตปัจจุบันนี้ก็แค่ทำให้มันถูกต้องเท่านั้นแหละ ใครมันจะดูถูก คนเขาจะดูถูก เราก็เคยดูถูกคนมาไม่ภพใดชาติใด เพราะเราทำมาอย่างนี้ เราถึงมาเจอสภาวะแบบนี้ ถ้าเราเจอสภาวะแบบนี้ เราตั้งสติไง เราตั้งสติของเรา เราตั้งสติ แล้วก็แค่ทำให้มันผ่านไปไง แค่ทำให้ชีวิตนี้ให้มันผ่านไป แค่ทำชีวิตนี้ให้มันผ่านไป ผ่านไปด้วยความเพียรของเราไง ด้วยความเพียรของเรา เห็นไหม
“ผมเรียนก็เรียนไม่เก่ง แนวทางการดำเนินชีวิตก็ไม่มี”
ถ้าเราเรียนไม่เก่ง เราก็เรียนน่ะ เราพยายามจะทำอย่างไรก็ได้ให้มันจบเพราะอะไร เพราะว่าคนเรามันต้องมีการศึกษาไง พอคนมีการศึกษา ศึกษาจบแล้ว เราถ้ามีหน้าที่การงานอย่างไร เราก็ทำ ถ้าไม่มีหน้าที่การงานอย่างไร เราก็พยายามตั้งสติของเราไว้
เวลาเราตกทุกข์ได้ยากไปอยู่ในสถานะใด สิ่งนั้นมันจะบีบคั้นเรา แต่เวลาเราอุดมสมบูรณ์ เรามีความสุข เราก็เพลิดเพลินจนลืมกับชีวิตของเราไปไง นี่ไง ชีวิตมันเป็นแบบนี้ มันขาดสติไง มันขาดสติ มันไม่ได้ดูแลรักษาไง
แต่ในปัจจุบันนี้ ในปัจจุบันนี้เราเกิดเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนาพระพุทธศาสนา เขาบอกว่า “ผมท้อกับชีวิตนี้มาก แนวทางการดำเนินชีวิตก็ไม่มี” นี่เราคิดของเรา
พระพุทธศาสนา เรามีครูมีอาจารย์ไง ถ้ามีครูบาอาจารย์ ดูสิ เวลาลูกศิษย์กรรมฐานเรา เวลาเราจะออกประพฤติปฏิบัติกัน เราก็แสวงหาครูหาอาจารย์ที่ชี้นำเราได้ ถ้าพูดอย่างนี้แล้วคิดถึงหลวงตาทันทีเลย หลวงตาท่านบอกว่าท่านจบเวลาบวช ศึกษามาๆ ไปเรียนธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คนทำบุญแล้วไปเกิดเป็นเทวดา อยากไปเป็นเทวดา ศึกษาละเอียดเข้าไป ถ้าทำบุญมากขึ้นไปเกิดเป็นพรหม อยากไปเป็นพรหม ศึกษามากขึ้นไป ถ้าเป็นเทวดา เป็นพรหมก็ยังเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ ถ้าเป็นพระอรหันต์สิ้นไปเลย ก็อยากเป็นพระอรหันต์
อยากแล้วศึกษานะ ตั้งสัจจะ พ้นจากได้เป็นมหาแล้วจะออกปฏิบัติ เวลาจะออกปฏิบัติ งงอีกนะ จะจริงหรือเปล่า ทั้งๆ ที่มันเชื่ออยู่ครึ่งหนึ่ง กิเลสในใจเราทำให้สงสัยอย่างนี้ สุดท้ายท่านก็ตั้งปฏิภาณเลยว่าต้องไปหาหลวงปู่มั่นเท่านั้นน่ะเวลาไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านบอกว่า “สิ่งที่ศึกษามามันมีคุณค่ามาก มีคุณค่ามาก”
นี่ไง เขาบอกเขาท้อชีวิต เขาไม่มีเป้าหมายในชีวิตไง
นี่ก็เหมือนกัน จะปฏิบัติไปมันจะไปทางไหน มันจะไปอย่างไร เขาก็ไปหาครูบาอาจารย์ ไอ้นี่เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา มันมีครูมีอาจารย์อยู่ ครูบาอาจารย์ท่านจะชี้นำของท่านในการดำรงชีวิต
แต่ของเราดำรงชีวิต เราก็ต้องดำรงชีวิตของเราเองใช่ไหม เพราะครูบาอาจารย์ท่านจะทุกข์จะยากก็ทุกข์ยากของท่าน เวลาท่านประสบความสำเร็จท่านก็มีความสุขของท่าน ความทุกข์ความยาก ความเพียรชอบ มันสุขของท่าน แต่ท่านต้องกระทำของท่าน แต่ของเรา เราต้องกระทำของเรา แต่เรามีครูบาอาจารย์เป็นแบบอย่าง มีครูบาอาจารย์เป็นตัวอย่างๆ
คำว่า “ตัวอย่าง” ครูบาอาจารย์ถ้าท่านเป็นจริงๆ แต่ละองค์นะ ท่านไม่ขี้คุยท่านไม่พูดออกมาเท่านั้นน่ะ เพราะถ้าครูบาอาจารย์ของเรา ถ้าเป็นตัวอย่างของเรา ท่านต้องทุกข์ยากมาก่อน เราจะใช้คำนี้เลย คนที่ปฏิบัตินะ แต่ละขั้นแต่ละตอนจะผ่านมาได้มันทุ่มเทนะ ท่านต้องทุกข์ยากมาก่อน แต่ท่านไม่เอาความทุกข์ความยากมาขู่พวกเราไง ลองบอกสิว่าปฏิบัติทุกข์ขนาดนี้ หนีหมดเลย ไม่มีใครทำเลย
ท่านต้องทุกข์ยากมาก่อนนะ แต่เวลาท่านมาพูดถึงความสุขของท่านๆ ท่านต้องทุกข์ยากมาก่อน ท่านเคยทุกข์เคยยากมา แล้วท่านประสบความสำเร็จ ท่านถึงมีความสุขของท่านมา
ฉะนั้น เวลาเรา การดำรงชีวิตท่านก็ทำของท่านมา ท่านถึงประสบความสำเร็จของท่าน ฉะนั้น ของเรา เราก็พยายามทำแค่หน้าที่ ไม่ต้องบอกไบรต์นะ พ่อแม่จะให้เรียนหมอ ไม่ต้องหรอก เอาแค่ให้เรียนจบพอ ไม่ต้องทำเพื่อพ่อแม่หรอกพ่อแม่จะให้เรียนหมอ ใครๆ ก็จะให้เรียนหมอ ถ้าอย่างนั้นเราเครียดตายเลย เราเรียนให้จบ
เราจะบอกว่าแค่ทำ ถ้าคนจะดูถูก ใครมันไม่ทำความผิด คนก็ทำความผิดมาทั้งนั้นน่ะ ถ้าคนทำความผิดขึ้นมาแล้วนะ เขาสำนึกถึงความผิดของเขา ไม่ใช่ทำความผิดแล้วประชดชีวิต มันจะเสียตอนที่ประชดประชันน่ะ เราพอจะทำได้ แต่ไม่ทำ เราพอจะทำได้ แต่เราไม่ทำ เพราะเราจะประชดคนอื่น ไอ้คนที่ดูถูกดูแคลนเรา เรายิ่งประชดมันยิ่งเสียไง
เราไม่ต้องไปประชดประชันใครทั้งสิ้น เราทำของเรามา แค่ทำของเราให้ดีที่สุด ไม่ต้องไปแบกรับภาระใดๆ ทั้งสิ้น แค่ทำของเราให้ดีที่สุด แล้วถ้ามันเรียนมันมีปัญหาขึ้นมา วิชามันแบบว่าซ่อมได้ เปลี่ยนได้ ทำได้ แก้ไขได้ ถ้าแก้ไขได้เราแก้ไขของเราจนจบ พอจบแล้วนะ
เวลาเราเรียนมา เขาบอกว่า เราเรียนมา เราท้อมาก เรามีแต่คนดูถูก เราเรียนมา เราไม่ใช่คนเรียนเก่ง
ไอ้คนที่เรียนไม่เก่งนะ มันเป็นเถ้าแก่เยอะแยะเลย ไอ้คนที่เรียนไม่เก่ง ทางโลกมันทันคนนะ ทางโลกมันมีสติปัญญา มันไปทำอาชีพแล้วมันจะไปจ้างไอ้คนที่เรียนเก่งๆ มาเป็นลูกน้องหมดเลย ไอ้ที่เรียนเก่งๆ มันมากินเงินเดือนเรา อนาคตใครจะไปรู้
ฉะนั้น เราตั้งใจของเรานะ แค่ทำ แค่ทำของเราให้ดีที่สุด ไม่ต้องบอกว่าโอ้โฮ! จะต้องมีเป้าหมายอย่างนั้น จะต้องเรียนให้ได้ไบรต์อย่างนั้น โอ้โฮ! จะเอาเกียรตินิยม...ไม่ต้องหรอก เรียนให้จบๆ ถ้าเรียนให้จบนะ
“แค่นี้ก็เรียนไม่จบแล้ว แค่นี้ก็ทุกข์ยาก”
แค่ทำดีๆ แค่ทำ แค่ทำให้ดี แค่ทำเท่านั้นแหละ ทำให้มันสุดความสามารถของเรา แค่ทำ แค่ทำให้ดี ทำให้ถูกต้องดีงามเท่านั้น ชีวิตมันจะราบรื่นมันไป อย่าไปวิตกกังวล อย่าไปบีบคั้นจนเกินไป
ในบ้านบ้านหนึ่ง ในครอบครัวหนึ่งมีพี่มีน้อง โอ้โฮ! พี่นี่เรียนดีมากเลย ไอ้น้องเกร็งหมดเลย เพราะว่าสู้พี่ไม่ได้...ไม่เป็นไร พี่เราดีก็ดีแล้วไง ก็พี่เรา เราเองเราก็ทำแค่ดีที่สุดของเรา น้องดี อ้าว! น้องดีก็น้องเราไง น้องดีก็ดีแล้ว เราก็ไม่ต้องไปดูแลเขาเพราะน้องเราดี
ใครจะดีก็สาธุ สาธุ ให้เขาดี สังคมดี ทุกอย่างดี ดีหมด เราดีด้วย ฉะนั้น ถ้าบอกเขาดีแล้วมากดดันเรา เขาดีแล้วมากดดันเรา คนนู้นก็ดูถูก ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้ดูถูกเลย เขาอาจจะพูดให้กำลังใจก็ได้ เขาจะพูดดีกับเราก็ได้ แต่เราคิดไปเองฉะนั้น แค่ทำให้ดี มีสติสัมปชัญญะ แค่ทำให้ดี
เรานะ ในวงกรรมฐาน ในวงการปฏิบัติมันก็มีการปฏิบัติแข่งกันอดนอน อดนอนแข่งกัน อดอาหารแข่งกัน เขาก็แข่งกันมาทั้งนั้นน่ะ อดนอน ๗ วัน ๑๐ วันก็แข่งกันมา แต่อดนอนมาก อดนอนน้อย ภาวนาไม่เป็น อดบ้างไม่อดบ้างเกิดภาวนาเป็น เพราะมันมัชฌิมาปฏิปทา มันพอดีของมัน มันสมดุลของมัน มันก็ได้เห็นไหม
เวลาถึงที่สุด มันจะทำดีมากน้อยขนาดไหนมันเป็นภาพ สภาวะแวดล้อมภาพสังคม แต่จริงๆ มันเกิด มันเกิดจากปัญญา เกิดจากความรู้ความเห็นจากภายในของเรา
นี่ก็เหมือนกัน เราเรียนไม่ดี ไม่เก่งเท่าเขา เขาจะดูถูกดูแคลนเราอย่างไร อันนี้มันช่วงเวลาเริ่มต้น ช่วงเวลาการศึกษา ชีวิตของเรานะ เวลาการศึกษา ๒๐-๓๐ปีใช่ไหม จะว่า ๒๐ ปีมันเกินมาแล้ว ๒๐-๓๐ ปี แล้วถ้าเกิดว่าชีวิตต่อไปล่ะ ถ้าคนอายุ ๑๐๐ อีกเกือบ ๗๐ ปี อันนั้นพิสูจน์กันตอนนั้น พิสูจน์กันตอนเรียนจบแล้วไปทำงาน ตอนเรียนจบแล้วเรามีอาชีพ เราต้องมีชีวิตต่อเนื่องไปนะ ไอ้นี่มันแค่เริ่มต้นน่ะ ฉะนั้น แค่ทำให้มันดีที่สุด แค่ทำให้มันผ่านไป ทำให้ดีเพื่อชีวิตของเราไง
นี่พูดถึงว่า ชีวิตเรามันท้อแท้นัก ชีวิตเราไม่มีคุณค่า ไม่มีคุณค่าเพราะกิเลสมันซ้ำเติมไง แต่ถ้าเรามีสติปัญญา ชีวิตนี้มีค่านัก การเกิดเป็นมนุษย์นี้แสนยากเกิดแล้ว เกิดมาในสังคมที่ร่มเย็นเป็นสุข สังคมแบบเราสังคมที่ไม่บีบคั้นจนเกินไปมีโอกาสให้เราทำหน้าที่การงานของเรา มีโอกาสเลี้ยงชีพของเรา แล้วเราจะทำคุณงามความดีของเรา สร้างคุณงามความดีเพื่อชีวิตนี้ เอวัง