เทศน์เช้า วันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๙
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ตั้งใจฟังธรรมะเนาะ เราเป็นชาวพุทธ เกิดเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา เรามีศาสนาประจำหัวใจ เราถึงเป็นมนุษย์ เป็นสัตว์ประเสริฐไง คน ถ้าคนไม่ทั่ว คนทั่วไปมีความสุขความทุกข์ความยากในหัวใจของเขา เขาก็บากบั่นในชีวิตของเขา เราเกิดเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนาไง
เราเจอเพื่อนเป็นพระฝรั่งเยอะมากนะ เขาบอกว่าเขามาบวชในพระพุทธศาสนา เขาเห็นเลย บอกว่าคนไทยเหมือนกบเฝ้ากอบัวๆ คำว่า กบเฝ้ากอบัว ของเขา เขาเป็นชาวตะวันตก เขามีการศึกษา เวลาเขามีการศึกษาแล้ว เวลาครูบาอาจารย์ของเราไปเผยแผ่ธรรมะในทางตะวันตก เขาจะฝึกหัดเรื่องการทำสมาธิ เขาจะฝึกหัดเรื่องปัญญา เขาจะฝึกหัดเรื่องการจะพ้นจากทุกข์ เวลาการฝึกหัดๆ ของเขา การฝึกหัดของเขา เขาได้ผลประโยชน์ของเขา เขามีความสงบร่มเย็นในใจของเขา ถ้าเขามีความสงบร่มเย็นในใจของเขา เพราะชีวิตของเขาในทางวิชาชีพเขาประสบความสำเร็จในชีวิตของเขา ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นอาจารย์สอนมหาวิทยาลัย เขามีความเป็นอยู่ของเขาที่ว่าอยู่กับทางโลกได้ไง แต่เขามีความทุกข์ในหัวใจๆ เวลาเขามาศึกษาในพระพุทธศาสนา เกิดความสงบร่มเย็นในหัวใจ เขามาบวชในพระพุทธศาสนา แล้วพอมาเห็นเราชาวไทย เขาบอกเลย เขาบอกว่า เห็นแล้ว เราคุยกันด้วยความสนิทคุ้นเคย เขาบอกเหมือนกบเฝ้ากอบัวๆ
กบคือมันสัตว์ มันไม่มีความรู้ไม่มีความเข้าใจสิ่งใดทั้งสิ้น มันเป็นสัตว์ มันมาอยู่บนดอกบัว มันเฝ้ากอบัวๆ เป็นที่หลบภัยของมัน นี่ก็เหมือนกัน เราเกิดเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาสอนเวลาสิ้นสุดแห่งทุกข์ คำว่า สิ้นสุดแห่งทุกข์ เราคิดว่ามันเป็นเรื่องสุดเอื้อม เรื่องไกลมือของเรา แต่ความจริงมันก็เป็นเรื่องความทุกข์ในใจของเรานี่แหละ คนเราเกิดมามีความทุกข์ประจำหัวใจ ถ้าพูดถึงใครพ้นจากทุกข์ไป มันก็สิ้นสุดแห่งทุกข์ การสิ้นสุดแห่งทุกข์มันเป็นไปไม่ได้หรือ ก็เราปรารถนา พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ แก่นของศาสนามันอยู่ที่นี่ไง
แต่เวลาแก่นของศาสนาอยู่ที่นี่ เวลาเผยแผ่ธรรมมาๆ สมัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ตรัสรู้ที่ไหน ตรัสรู้ในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เดียวใต้โคนต้นโพธิ์นั้น ไม่มีถาวรวัตถุ ไม่มีการก่อสร้าง ไม่มีประเพณี ไม่มีวัฒนธรรม ไม่มีสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรารถนารื้อสัตว์ขนสัตว์ เผยแผ่ธรรมๆ ไป ศาสนาเข้าไปในชุมชนใด เข้าไปในวัฒนธรรมใด มันก็เข้าไปเจือปนกับวัฒนธรรมนั้น พอวัฒนธรรมนั้น เวลามาถึงเมืองไทยของเรา เมืองไทยของเรา ผู้เฒ่าผู้แก่ในสมัยโบราณเป็นผู้ฉลาด นับถือพระพุทธศาสนา คำว่า นับถือพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาสอนถึงพ้นจากทุกข์ พ้นจากทุกข์ในใจของเรา พระพุทธศาสนาสอนให้เราขวนขวาย สอนให้เรากระทำคุณงามความดี ทำคุณงามความดีเป็นเรื่องของบุญกุศล ทำความชั่วเป็นบาปอกุศล ถ้าใครมีจิตใจ มีสติมีปัญญา จะพยายามประพฤติปฏิบัติขึ้นมา จะพ้นสิ้นสุดแห่งทุกข์ๆ
ฉะนั้น เวลาคนเราผู้มีการศึกษา เวลาศึกษาพระพุทธศาสนา ถ้าพระพุทธศาสนา แก่นของพระพุทธศาสนาสอนเรื่องสัจจะเรื่องความจริง เรื่องความจริง สัจจะในชีวิตของเราไง แต่นี้ถ้ามันเป็นประเพณีวัฒนธรรม ประเพณีวัฒนธรรมของเรา เรานับถือพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาสอนให้เราร่มเย็นเป็นสุข
คำว่า ร่มเย็นเป็นสุข มันร่มเย็นเป็นสุขมาจากสัจธรรม เรามีสติมีปัญญา เราเข้าใจสัจธรรมในสัจจะความจริงแล้ว ชีวิตของเราอยู่กับโลกด้วยความเข้าใจ ความเป็นโลกไง เข้าใจสังคม เข้าใจภาวะต่างๆ มันไม่เดือดเนื้อร้อนใจ นี่คือสัจจะ นี่คือความจริง
แต่เวลาคนเรา ประเพณีวัฒนธรรม อารมณ์ความรู้สึก โลกธรรม ๘ มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ มีลาภสักการะ อันนั้นก็ว่าเป็นความสุขของเขา เพราะเราคิดว่าสิ่งนั้นมันเป็นความสุข ก็สุขด้วยอามิสไง เราก็ทำบุญกุศลแล้วอยากให้ร่ำให้รวย ให้ประสบความสำเร็จๆ
ไอ้ประสบความสำเร็จ ทำคุณงามความดีมันก็เป็นคุณงามความดี คุณงามความดีอันนั้นสอนให้เราไม่ประมาทในชีวิต สอนให้เรามีสติปัญญาของเรา คนมีสติปัญญาทำสิ่งใดก็ประสบความสำเร็จ คนที่ประมาทเลินเล่อ คนที่ทำสิ่งใดที่ขาดสติ ทำอะไรก็มีความผิดพลาดไปตลอดมา เวลาเราทำธุรกิจการค้าของเรา ทุกคนก็บอกเราทำคุณงามความดี เราตั้งใจทำของเราแล้ว การตั้งใจทำแล้ว เราก็ทำเพื่อประโยชน์กับเรานั่นแหละ การตั้งใจทำแล้ว ก็ตั้งใจทำแล้ว
คนเรา ในพระพุทธศาสนาสอนเรื่องอำนาจวาสนา อำนาจวาสนาของคนมันแข่งกันไม่ได้ไง แข่งเรือแข่งพายแข่งได้ แข่งอำนาจวาสนา อำนาจวาสนามันมาจากไหน อำนาจวาสนาเราก็คิดว่าในชาติปัจจุบันนี้ อำนาจวาสนา ดูสิ มันสร้างมา ดูองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย การเป็นพระโพธิสัตว์คือสร้างคุณงามความดีมหาศาล เวลาสร้างคุณงามความดีมหาศาล สละแม้แต่กระทั่งชีวิต สละทุกๆ อย่าง คำว่า สละ ท่านสละด้วยสติปัญญาของท่าน ไม่ใช่คนโง่ๆ อย่างเราไง
ถ้าสละชีวิต สละชีวิตเพื่ออะไร ไปสละชีวิตทำไม แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาท่านสละ ท่านสละเพื่อปกป้องฝูง ท่านเป็นหัวหน้าฝูงลิง ท่านปกป้องฝูงลิงนั้นเพื่อให้ฝูงลิงนั้นพ้นจากการล่าของนายพราน เวลาท่านเป็นหัวหน้าสัตว์ ท่านปกป้องชีวิต ท่านเสียสละชีวิตของท่านเพื่อปกป้องฝูงของท่าน เวลาท่านเกิดเป็นมนุษย์ เป็นกษัตริย์ เป็นจักรพรรดิ ท่านสละชีวิตของท่านเพื่อประชาชนของท่าน
เวลาคำว่า เสียสละๆ ท่านเสียสละด้วยสติปัญญาของท่าน ท่านเสียสละเพื่อผลประโยชน์ไง ท่านเสียสละเพื่อความร่มเย็นเป็นสุข ท่านสละเพื่อคนอื่นไง ท่านไม่ได้เสียสละแบบโง่ๆ เสียสละชีวิต เสียสละชีวิตก็เดินเข้าไปให้เขาฆ่าใช่ไหม...ไม่ใช่ การสละอย่างนั้นมา สละอย่างนั้นมา เวลาท่านตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คำว่า ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยอำนาจวาสนาอันนั้น แต่เวลาจะตรัสรู้ ตรัสรู้ด้วยมรรคญาณ ตรัสรู้ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ตรัสรู้ด้วยการค้นคว้า ตรัสรู้ด้วยสติด้วยปัญญาของท่าน
เวลาตรัสรู้ด้วยสติด้วยปัญญาของท่าน เวลาท่านแสดงธรรมๆ คนที่มีจิตใจสูงส่ง คนที่จิตใจควรแก่คุณธรรม ท่านจะแสดงอริยสัจ เวลาท่านเผยแผ่ธรรมใหม่ๆ ไปเทศน์ธัมมจักฯ กับปัญจวัคคีย์ ไปเทศน์อาทิตตปริยายสูตร เทศน์อนัตตลักขณสูตร กับชฎิล ๓ พี่น้อง เพราะอะไร เพราะพวกนี้เป็นนักบวช พวกนี้เขาเป็นนักบวช เขาค้นคว้าของเขาอยู่แล้ว เขาพยายามประพฤติปฏิบัติของเขาอยู่แล้ว ชฎิล ๓ พี่น้องเขาบูชาไฟนะ เขาเป็นพราหมณ์ เขาทำเพ่งกสิณกันอยู่
เวลายสะ ยสะมีความทุกข์ความยากในบ้านในเรือน ที่นี่เดือดร้อนหนอ ที่นี่วุ่นวายหนอ
ยสะมานี่ ที่นี่ไม่เดือดร้อน ที่นี่ไม่วุ่นวาย
เขาเป็นเศรษฐีมีปราสาท ๓ หลังแบบเจ้าชายสิทธัตถะ แบบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเขามีความทุกข์ในหัวใจของเขา นี่คนมีความทุกข์ในหัวใจของเขา เขามีอำนาจวาสนาของเขา เขามีความทุกข์บีบคั้นในหัวใจของเขา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมๆ เขามีสติปัญญาใคร่ครวญในธรรมอันนั้น เขาเป็นพระอรหันต์หมดเลย เขามีสติมีปัญญาของเขา การเสียสละ เสียสละอย่างนี้ นี่พูดถึงว่าเวลาเขาเสียสละขึ้นมา อำนาจวาสนา แข่งเรือแข่งพายแข่งกันไม่ได้ แข่งอำนาจวาสนาไม่ได้ ถ้าแข่งอำนาจวาสนาไม่ได้ เราก็พยายามของเราไง
กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน การเกิดเป็นมนุษย์เป็นอริยทรัพย์ เรามีสิทธิเสรีภาพความเป็นมนุษย์ ความเป็นมนุษย์คัดเลือกได้ใช่ไหม ทำดีก็ได้ ทำชั่วก็ได้ ถ้าเรามีสติปัญญา เหมือนชาวตะวันตกของเขา ถ้าเขามาศึกษาพระพุทธศาสนา เขามีสติปัญญา เขาศึกษาพระพุทธศาสนา เขาศึกษาเรื่องอริยสัจ แต่เราศึกษาเรื่องพระพุทธศาสนา เราศึกษาเรื่องประวัติองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราศึกษาเรื่องประเพณีวัฒนธรรม แล้วเราศึกษาเรื่องประเพณีวัฒนธรรม เขาให้ศึกษาแล้วประพฤติปฏิบัติไง
ทีนี้เราเห็นในชุมชน วัฒนธรรมของเรา เราก็มีกตัญญูกตเวที เราก็มีความเชื่อตามๆ กันมาเป็นศรัทธา ศรัทธาอันนี้ ศรัทธามันก็ขัดเกลาในหัวใจ สยามเมืองยิ้มๆ มันก็ขัดเกลาศาสนานี่แหละ ศาสนา ไม่เป็นไร ให้อภัยต่อกันต่างๆ มันคุ้นชินกับความกตัญญูกับความกตเวทีในหัวใจ มันทำมาอย่างนั้นเป็นความเชื่อ ศรัทธาความเชื่อเขาชักนำขึ้นมาให้ประพฤติปฏิบัติไง
คนที่ไม่รู้สิ่งใดเลย สั่งสอนเขาด้วยเหตุด้วยผล เขาเชื่อเขาฟัง เขาว่าเป็นเหตุผลของเขา ไอ้นี่ของเราชาล้นถ้วย รู้เยอะ วัดอยู่ข้างบ้าน บ้านอยู่ติดวัดเลย เกิดมาก็เห็นพระมาตั้งแต่เด็กๆ เลย เข้าใจไปทุกเรื่องเลย แต่ไม่รู้อะไรเลย นี่ศรัทธาความเชื่อๆ ไง
ถ้ามันเอาความจริงๆ ขึ้นมา สิ่งนั้นมันเป็นศรัทธาเป็นความเชื่อของเรา ถ้าเราเอาจริงเอาจังขึ้นมา เอาจริงเอาจังขึ้นมาจะเป็นความทุกข์ความยาก เวลาไปวัดไปวาขึ้นมา เราไปเสียสละทานเป็นเรื่องของทาน ระดับของทาน ระดับของศีล ระดับของการภาวนา ดูสิ เวลาบอกว่าเราทำคุณงามความดีๆ ให้ธรรมเป็นทานชนะซึ่งการให้ทั้งปวง
ให้ธรรมเป็นทานก็พ่อแม่ให้ลูก ให้การศึกษา ให้ทุกๆ อย่าง ให้ธรรมเป็นทาน ให้เขาเจริญเติบโตขึ้นมา ให้ธรรมเป็นทานคือให้สติปัญญาเขา ให้เขาเอาตัวรอดได้ ให้เขามีอาชีพ แต่พระนักปฏิบัติของเรา เราประพฤติปฏิบัติ เราอยากพ้นจากทุกข์ๆ เราแสวงหาครูบาอาจารย์ไง ครูบาอาจารย์ที่ท่านจะพ้นจากทุกข์ได้ ท่านสร้างคุณงามความดีมาของท่าน ท่านต้องมีอำนาจวาสนาของท่าน ดูสิ อย่างเช่นหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านสร้างคุณงามความดีมาทั้งนั้น เวลาสร้างคุณงามความดีมา ชีวิตท่านพร้อมแล้วที่จะออกประพฤติปฏิบัติ เกิดมาเป็นลูกชาวนา เกิดมาเป็นลูกพ่อแม่ที่ใฝ่ในศีล ในธรรม ใฝ่ในพระพุทธศาสนา ลูกจะออกบวช มันมีความสะดวก มีความพร้อม มีความพร้อมที่จะกระทำไง เวลาทำแล้วๆ นี่อำนาจวาสนาไง
คนเราก็เกิดมาท่วมโลกเต็มโลกอยู่นี่ ความสนใจของคนมีมากน้อยขนาดไหน ท่านมีความสนใจของท่าน เวลาท่านออกประพฤติปฏิบัติของท่าน ท่านค้นคว้าของท่านนะ เวลาค้นคว้าของท่าน เริ่มต้นค้นคว้าของท่าน ในประวัติหลวงปู่มั่นท่านบอกเลยนะ เวลาธุดงค์ไปที่ไหน คนเห็นพระห่มผ้าสีดำๆ วิ่งหนีกันเลยนะ คิดว่าเป็นผีปอบ นั่นสมัยนั้นๆ ไง
แต่ท่านใช้ความมุมานะของท่าน พยายามของท่าน ทำของท่านจนในจิตใจของท่านประสบความสำเร็จ จิตใจของท่านประสบความสำเร็จคือท่านมีความอบอุ่นในหัวใจของท่าน ท่านทำสิ่งใดท่านมีเหตุมีผลในใจของท่าน ท่านไม่ไหลไปตามศรัทธาความเชื่อของสังคมไง
ศรัทธาความเชื่อของสังคมเขาไหลกันไป เห็นไหม ห่มผ้าสีดำๆ เพราะสมัยนั้นยังไม่มีใครสนใจทางนี้ไง นี่ไง เวลาท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ท่านมีสติปัญญาของท่าน ท่านค้นคว้าของท่าน ประสบความสำเร็จในใจของท่าน ท่านถึงมีหลักมีเกณฑ์ของท่าน
แล้วสมัยก่อน ความเชื่อมันยิ่งกว่านี้นะ ถือผีๆ กัน กองทัพธรรมๆ กองทัพธรรมเวลาเผยแผ่ไป เวลากระแสสังคมเบี่ยงเบนความเชื่อของประเทศเลยล่ะ สมัยนั้นเขาเชื่อกัน ดูผีบุญต่างๆ เขามีมหาศาลเลย ความเชื่ออย่างนั้นความเชื่อตามๆ กันไป เวลาหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านสร้างกองทัพธรรมของท่านขึ้นมา เวลาให้เชื่อ ให้เชื่อรัตนตรัย ให้เชื่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ให้เชื่อสัจธรรม ให้เชื่อ นี่พยายามชักนำเข้ามาๆ ไง ชักนำเข้ามาให้สู่สัจจะของเราในพระพุทธศาสนา
คนที่มีสติปัญญาเวลาเขาศึกษา เขาศึกษาเข้ามาที่สัจจะ ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ทุกข์ดับ วิธีการดับทุกข์ คนจะมั่งมีศรีสุขขนาดไหน เขาประสบความสำเร็จ นี่อำนาจวาสนาของเขา ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วนะ
ดูสิ เวลาเราเกิดมาเป็นมนุษย์เหมือนกัน ร่างกายของเราก็แตกต่างกัน เราเกิดเป็นคนเหมือนกัน แต่คนไม่เหมือนคน แล้วก็เกิดมาเป็นคน อะไรเป็นคนเกิด จิตเป็นคนเกิด จิตปฏิสนธิในไข่ ในครรภ์ ในน้ำครำ ในโอปปาติกะ กำเนิด ๔ พอกำเนิดขึ้นมาแล้วเป็นคนเหมือนกัน แต่อำนาจวาสนาของใจก็ไม่เหมือนกัน อำนาจวาสนาในใจมันอยู่ที่ไหน มันอยู่ที่อารมณ์ความรู้สึกความนึกคิดนี่ คนที่มีอำนาจวาสนาคิดแต่เรื่องดีๆ นะ
ดูสิ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระโพธิสัตว์ๆ คิดแต่เรื่องดีๆ คิดแต่ความปรารถนาให้คนอื่นมีความสุข คิดแต่ปรารถนาให้สังคมร่มเย็นเป็นสุข ถ้าทุกอย่างมีความสุข เราก็มีความสุขไปด้วยนะ คนแต่คิดดีๆ คิดดีๆ นี่แหละ แต่ถ้าเวลาคนอำนาจวาสนามันอ่อนด้อย มันคิดแต่เห็นแก่ตัว คิดแต่เบียดเบียนตนเองๆ
ครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติมาแล้ว ท่านเห็นโทษของมันไง ไปกว้านเอาฟืนเอาไฟมาเป็นสมบัติของเราไง ไปกว้านเอาความทุกข์ความยากขึ้นมา สร้างแต่บาปแต่อกุศลมาเป็นสมบัติของตนไง แต่เวลาคนที่คิดดีๆ เสียสละเพื่อเขา เสียสละ เสียสละด้วยสติด้วยปัญญา ถ้าไม่มีสิ่งใด สติปัญญา คนเรามันทุกข์มันยากขึ้นมา เขาไม่มีที่พึ่ง เรามีที่ปรึกษาของเขา เราคุยกับเขา มันเป็นบุญกุศลทั้งนั้นน่ะ อำนาจวาสนาที่เขาวัดกัน เขาวัดกันตรงนี้
ดูสิ เวลาเราเกิดมาเป็นคน เกิดมาเป็นคนเหมือนกัน แต่รูปร่างหน้าตาไม่เหมือนกัน ไม่เหมือนกันเพราะอะไร อำนาจวาสนาของคน รูปสมบัติ แล้วถ้ามันเกิดมา ในหัวใจถ้ามันคิดแต่เรื่องดีๆ เขาสร้างของเขามา เขาสร้างของเขามานะ ถ้าสร้างของเขามา ดูสิ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านสร้างของท่านมาสมบูรณ์ ท่านปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ หลวงปู่มั่นปรารถนาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลวงปู่เสาร์ท่านปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ท่านสร้างมา ถ้ามันจะสร้างต่อไปข้างหน้า มันก็จะต้องไปต่อไปข้างหน้า
แต่ด้วยสติด้วยปัญญาของท่าน ท่านคิดของท่าน ท่านใช้ปัญญาของท่าน ถ้าปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ ปรารถนาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ต้องสร้างสมบุญญาธิการอย่างนี้ตลอดไป ตลอดไปจนกว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะพยากรณ์ พยากรณ์แล้วก็ต้องไปต่อแถว ต่อแถวเสร็จแล้ว ถ้าจะสำเร็จเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นพระอรหันต์
ในสมัยปัจจุบันนี้ท่านได้สร้างบุญกุศลของท่านมา ท่านได้มีสติปัญญาของท่าน เวลาท่านออกบวชๆ ท่านออกบวชเป็นพระโพธิสัตว์ในความเป็นพระ ท่านก็สร้างคุณงามความดีของท่านไป แต่ด้วยสติด้วยปัญญาของท่าน ถ้าในสมัยปัจจุบันนี้ ถ้ามันมีมรรคมีผลอยู่ เราพยายามขวนขวายของเรา ถ้าเราสำเร็จในชาติปัจจุบันนี้ เราก็เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน ถ้าเราต้องบากบั่นๆ ต่อไปข้างหน้าๆ แล้วถ้าไปประสบความสำเร็จ ไปถึงจะได้ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน
แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีอำนาจวาสนา มีบารมีได้รื้อสัตว์ขนสัตว์ไง ได้วางรากศาสนาไว้ไง แต่ถ้าในชาติปัจจุบันนี้ท่านขวนขวายของท่าน ท่านทำของท่าน ถ้าสำเร็จก็เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน ตัดสินใจว่าจะเอาชาตินี้ ท่านเลยสละคุณงามความดีอันนั้นมา คำว่า สละๆ สละคือมันเป็นทิฏฐิมานะ เป็นมุมมอง เป็นสิ่งที่ข้องในหัวใจ แต่อำนาจวาสนาที่สร้างมาเป็นพระโพธิสัตว์มาๆ ท่านถึงมีอำนาจวาสนามาขนาดนี้ไง ท่านถึงมีอำนาจวาสนา ท่านมีอนาคตังสญาณ ท่านรู้วาระจิตของคน อันนี้มันเป็นการสร้างสมบุญญาธิการมา มันเป็นเรื่องฌานโลกีย์ เรื่องการลาภสักการะ เรื่องการสร้างมา
แต่เวลาถ้าเป็นเรื่องของมรรคๆ เรื่องของมรรคก็คือการวิปัสสนา เรื่องของสติปัญญา ถ้ามันเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาแล้ว ไม่มีกิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจ สิ่งนั้นจะเป็นประโยชน์กับโลกมากเลย เพราะท่านพยากรณ์ให้ตามความเป็นจริงไง แต่ไอ้พวกที่ประพฤติปฏิบัติ ถ้าเป็นพระโพธิสัตว์แต่ท่านทำฌานโลกีย์ แต่มันยังไม่ชัดเจน มันก็ผิดบ้างถูกบ้าง แล้วถ้าเป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยากก็เอาสิ่งนี้มาเป็นจุดขาย
ความจริงมันเป็นเครื่องมือ มันไม่ใช่จุดขาย คำว่า เครื่องมือๆ มันรู้สิ่งใดมาเพื่อประโยชน์ เพื่อเอากลับมาเป็นประโยชน์ใช่ไหม แต่ถ้าพระพุทธศาสนาสอนเรื่องทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ทุกข์ดับ วิธีการดับทุกข์ จุดขายของพระพุทธศาสนา จุดสำคัญมันอยู่ตรงนี้ มันไม่ได้อยู่ที่การรู้วาระจิต ไม่ได้อยู่ที่สิ่งต่างๆ นั้น แต่ด้วยอำนาจวาสนาของหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านทำของท่านมา ท่านก็มีของท่านโดยธรรมชาติ อำนาจวาสนามันมีโดยข้อเท็จจริง มันมีของมัน
คนที่มีอำนาจวาสนาทำสิ่งใดประสบความสำเร็จมันก็เป็นอำนาจวาสนาของเขา ไอ้เราคนทุกข์คนยาก ขอให้เราพ้นจากทุกข์เราก็พอใจแล้วล่ะ แล้วไอ้สิ่งที่มันไม่มีไม่เป็นในตนของเรา เราเอามาพูดทำไม เอามาเป็นโทษกับเราทำไม ถ้ามันไม่มีไม่เป็นในความเป็นจริง แต่ความสุขความทุกข์ในใจของเรา เรารู้ เรามีของเราใช่ไหม พระพุทธศาสนาเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก สอนเราเท่านั้นใช่ไหม ถ้าเรามีการกระทำตามความเป็นจริงของเรา นี่พระพุทธศาสนาๆ
คนที่มีการศึกษาเขาศึกษาพระพุทธศาสนาเขาศึกษาที่นี่ไง มันละเอียดลึกซึ้งเหนือโลกจนเราคาดการณ์ไม่ได้ไง แต่ถ้าเป็นฌานโลกีย์ เป็นการรู้วาระจิต เป็นความนึกคิดของคน อู๋ย! เก่ง มันก็เหมือนวัฒนธรรมนี่ไง วัฒนธรรมประเพณี ไอ้นี่มันเรื่องฌานโลกีย์ ฤๅษีชีไพรในสมัยพุทธกาลเขาทำได้ก่อนนั้นแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษากับเขา แต่เขาไม่มีปัญญา เขาไม่สามารถทำให้เกิดมรรคเกิดผลขึ้นมาในใจของเขาได้ แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษากับเขามา ๖ ปีแล้ววางไว้
เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะมาตรัสรู้ ตรัสรู้ด้วยอำนาจวาสนาบารมี ด้วยสติด้วยปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยการค้นคว้า ด้วยการค้นคว้า ด้วยการพิจารณา ด้วยวิปัสสนาญาณ เกิดสัจจะเกิดความจริงในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชำระล้างกิเลสในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสิ้นสุดแห่งทุกข์ แก่นของศาสนาอยู่ที่นี่
การศึกษา ทีนี้เวลาที่เขาศึกษา เขาศึกษากันที่นี่ไง ทางผู้ที่มีการศึกษาเขาศึกษาอย่างนี้ เวลาเขาปฏิบัติของเขา เรามีการศึกษาๆ เราเข้าใจทั้งหมดแหละ แต่เหมือนกับอาหารวางอยู่บนโต๊ะนั่นน่ะ ยังไม่มีใครได้ทานอาหารเลย ท้องยังหิวอยู่นี่ไง แต่ถ้าเดินไปตักอาหารแล้ว ใครได้ทานอาหารแล้ว โอ๋ย! อิ่ม อาหาร เราก็รู้ว่าอาหารทำมาจากอะไร อาหารนี้เป็นของใคร เราเอามาเอง เอามาจากบ้าน เราวางไว้นั่น แต่เรายังไม่ได้ทาน
ศึกษามาๆ ศึกษามา ยังไม่ได้ปฏิบัติ ศึกษามา ยังไม่เกิดขึ้นมาจากใจ ศีล สมาธิ ปัญญายังไม่มีขึ้นมา ไม่มีข้อเท็จจริง มีแต่ชื่อของมัน ศึกษามา พอศึกษาแล้วประพฤติปฏิบัติเป็นความจริงขึ้นมามันถึง โอ้โฮ! ทานอาหารแล้วอิ่มท้อง ยิ่งอาหารที่ถูกจริต โอ๋ย! มันสุข มันมีความสุขมีความพอใจของเรา นี่คือภาคปฏิบัติ ปริยัติศึกษามา ศึกษามาเพื่อปฏิบัติ เวลาปฏิบัติ ใครทำความจริงขึ้นมาแล้วมันจะได้ความจริงขึ้นมา นี่แก่นของศาสนา
เราเป็นชาวพุทธ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา ศึกษาแล้วศึกษาเพื่อผ่านทะลุประเพณีวัฒนธรรมความเชื่อเข้าไปสู่สัจจะความจริง แล้วสัจจะความจริงนี้มันอยู่กลางหัวใจของเราไง พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ถ้าใครได้สัมผัส นั่นน่ะคือทรัพย์สมบัติของเรา ใครประพฤติปฏิบัติถึงที่สุดแห่งทุกข์ ตั้งแต่อกุปปธรรมขึ้นไป นี่คุณธรรมในใจนั้น มันเป็นอกุปปธรรมกลางหัวใจของสัตว์โลก เอวัง