เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๘ ก.ค. ๒๕๕๙

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๙
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรมะเนาะ ตั้งใจฟังธรรมะ ที่เรามาทำบุญกุศลกันนี้ เรามาแสวงหาสัจธรรม การมาถวายทาน เรามาถวายทานนี่เขาเรียกภัตตาหาร ภัตตาหารตามมา ตามมาคือบิณฑบาต พระบิณฑบาตแล้วพระธุดงค์ พระธุดงค์ ว่าพระธุดงค์ๆ ห่มผ้าสีดำๆ...ไม่ใช่ สีดำๆ นั่นมันเป็นแค่จีวร พระธุดงค์หมายถึงธุดงควัตร ธุดงควัตร ๑๓

ฉะนั้น พระเราพระธุดงค์ ถ้าพระธุดงค์ ตั้งแต่วันเข้าพรรษาไป วันที่ ๒๐ เราจะเริ่มถือธุดงควัตร ถือธุดงควัตรนะ เราจะบิณฑบาต อาหารต้องตกบาตรเท่านั้น คือบิณฑบาตเป็นวัตร สิ่งใดที่ตกบาตร พระจะฉันภัตตาหารเฉพาะตรงนั้น สิ่งที่ตามมาๆ เขาเรียกภัตตาหารตามมา ที่ภัตตาหารตามมามีวันนี้กับพรุ่งนี้วันสุดท้าย วันสุดท้ายสำหรับปีนี้ไง แล้วปีหน้าก็ค่อยว่ากันใหม่

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าพระธุดงค์ๆ เป็นธุดงควัตร ธุดงควัตรเป็นเหมือนศีลในศีล เราต้องมีทาน มีศีล มีภาวนา คำว่า “เสียสละทานๆ” มันเป็นสมบัติผู้ดี สมบัติผู้ดีเป็นคนที่ใจกว้างขวาง เป็นคนใจเป็นธรรม เราเห็นคนที่ทุกข์ที่ยากกว่าเรา เราจะเสียสละสิ่งนั้นเพื่อเขา แล้วถ้าเรามีบุญกุศลในหัวใจ เรามาทำบุญ ทำบุญเพราะอะไร ทำบุญเพราะผู้ทรงศีลไง

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาๆ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะดำรงชีพ ย้อนอดีตชาติ ย้อนอดีตไปว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ๆ ทำแบบใดไง พอทำแบบใด ต้องภิกขาจารๆ เลี้ยงชีพด้วยความชอบธรรมไง ถ้าเลี้ยงชีพด้วยความชอบธรรม วางธรรมวินัยนี้ไว้ ภิกษุ ภิกษุผู้ที่มาจากฆราวาส มาจากคนนี่แหละ เวลาบวชเป็นพระขึ้นมาแล้วเราจะไม่ดำรงชีพแบบคฤหัสถ์อีกแล้ว คฤหัสถ์เขาต้องทำมาหากิน เขาต้องขวนขวายของเขาเพื่อดำรงชีพของเขา ภิกษุเราเลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง เลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง ออกบิณฑบาตเป็นวัตรๆ นี่พูดถึงว่าเถรวาทเราไง ถ้าเถรวาทของเรา มหายานต่างๆ เขาก็ดำรงชีพของเขาไปเรื่องหนึ่ง

เถรวาทหมายความว่าพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ ทำสังคายนา แล้วลงญัตติไว้ว่าถ้าสิ่งใดที่ไม่เกินควรจะไม่แก้ไขไม่เปลี่ยนแปลงไป ถ้าไม่แก้ไขไม่เปลี่ยนแปลง เราเชื่อพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์นั้นตั้งแต่พระกัสสปะเป็นประธานนั้น เถรวาทถือตามกันมา เถรวาทคือพระเถระ ๕๐๐ องค์นั้น มหายานๆ เขาเชื่อตามๆ กันไป ตามที่ครูบาอาจารย์สั่งสอนไป

ฉะนั้น สิ่งที่เป็นภัตตาหาร เรามาถวายทาน ถ้าถวายทาน วัดทั่วไปเขาต้องมีคำถวายทาน ถ้าไม่ได้คำถวายทานก็ถือว่ายังไม่ได้ถวายทาน อันนั้นมันเป็นประเพณีวัฒนธรรม ประเพณีวัฒนธรรมที่ทำขึ้นมาเพื่อเป็นประเพณีวัฒนธรรมสอนเด็กๆ ไง เด็กๆ ที่มาวัดมาวาแล้วให้ผู้ใหญ่เห็นว่าเขาพาทำอย่างใด

แต่เวลาพระกรรมฐานเรา เรามีเจตนามาตั้งแต่บ้าน เราเป็นผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่เรามีใจเป็นบุญเป็นกุศล เราระลึกถึงที่บ้านว่าวันพรุ่งนี้เราจะไปทำทานของเรา มีเจตนามาตั้งแต่นั่น มีเจตนามาตั้งแต่นั่น ไม่ต้องมาตอกย้ำที่นี่ไง ถ้าไม่ตอกย้ำที่นี่ เราถวายทานๆ ถวายทานมันถวายขึ้นมาเพื่อผู้ทรงศีลๆ ผู้ทรงศีลเพราะเขาไม่มีอาชีพเหมือนเรา เขาไม่มีอาชีพเหมือนเรา เขาไม่ทำอาชีพแข่งขันกับโลก แล้วถ้าสัมมาอาชีวะๆ สัมมาอาชีวะอย่างไร เลี้ยงชีพด้วยปลีแข้งๆ เลี้ยงชีพดำรงชีพไว้ทำไม ดำรงชีพไว้ประพฤติปฏิบัติไง

เวลาเอหิภิกขุ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบวชให้ เวลาบวชให้ ถ้าเป็นพระอรหันต์ “เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด” แต่ถ้ายังเป็นปุถุชนหรือยังเป็นผู้ที่ต้องขวนขวายต่อไปนะ “เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด แล้วพยายามประพฤติปฏิบัติให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์” เวลาบวชมาแล้วสิ่งที่เป็นเอหิภิกขุ

ฉะนั้น เวลาพระก็มาจากมนุษย์ มนุษย์มาบวช บวชมา เวลาบวชมา บวชมาญัตติจตุตถกรรม บวชมาถูกต้องตามธรรมวินัย ถูกต้องตามกฎหมาย ถ้าบวชขึ้นมาแล้วเราจะไม่ดำรงชีพเหมือนฆราวาสเขาอีกแล้ว ถ้าไม่ดำรงชีพเหมือนฆราวาสเขาอีกแล้ว เราดำรงชีพแบบพระๆ ไง ถ้าแบบพระ เลี้ยงชีพชอบๆ คำว่า “เลี้ยงชีพชอบ” เลี้ยงชีพชอบด้วยปัจจัยเครื่องอาศัย ปัจจัย ๔ เวลาบวชขึ้นมา “นี่จีวรของเธอ นี่สังฆาฏิของเธอ นี่บาตรของเธอ ใช่หรือไม่”

อาม ภนฺเต อาม ภนฺเต ของกระผม ของกระผมทั้งนั้นน่ะ ของมันต้องสะอาดบริสุทธิ์มา นี่เป็นสมมุติสงฆ์ เลี้ยงชีพๆ ชอบ เลี้ยงชีพขึ้นมา เราเป็นภิกษุแล้ว เราเป็นภิกษุ เป็นผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ถ้าภัยในวัฏสงสาร วัฏสงสารมันคืออะไรล่ะ การเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย มันต้องประพฤติปฏิบัติขึ้นมาให้เป็นภิกษุขึ้นมาในหัวใจไง ถ้าเป็นพระในหัวใจ นี่ดับสิ้นการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย ที่ไหนมันพาเกิด เวลาเกิด ใครมันพาเกิด เราก็เกิดจากพ่อจากแม่ เกิดจากพ่อจากแม่ พ่อแม่ให้ชีวิตนี้มา แต่จริงๆ แล้วมันบุญกุศลพาเกิดไง บุญกุศล บุญของคนคนนั้นเป็นคนที่พาเกิดมา บุญกุศลของคนนั้น แต่จิตมันได้สายบุญสายกรรมร่วมกันมา ถ้าร่วมกันมา

กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน พอกรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน การเกิดมา เกิดเป็นคนเหมือนกัน แต่จิตใจของคนไม่เหมือนกัน จิตใจของคนไม่เท่ากัน ความรู้สึกนึกคิดของคนไม่เหมือนกัน ถ้าความรู้สึกนึกคิดของคนไม่เหมือนกัน มันมาจากไหนล่ะ มันมาจากอำนาจวาสนาการสะสมมานี่ไง

ถ้าเวลาเราบอกเราทำบุญกุศลแล้วไม่ได้บุญๆ

ทำบุญกุศลแล้วเป็นคนที่ฉลาด คนที่ฉลาดจะหาแต่สิ่งดีๆ เข้ามาใส่ตัวเรา หาสิ่งที่ดีๆ เข้าใส่ตัวเรา แล้วอะไรมันจะดีที่สุดเท่ากับไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย แล้วถ้าไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย “พูดเกินจริงหรือเปล่า มันจะเป็นไปได้อย่างไร”

มันพิสูจน์สิ มันพิสูจน์สิ พิสูจน์สิ ถ้าจิตใจคนมันต่ำต้อย จิตใจคนมันไม่เชื่อ มันก็ไม่เชื่อของมันไง บอกว่าเกิดมาชาตินี้ก็มีชาตินี้ ถ้าเกิดมาแล้วเสวยสุขกันไป สิ้นสุดมันก็จะตายไป ตายไปก็จบสิ้นกันไป แล้วจบสิ้นกันไป เวลาเกิดแล้วมันมีความรู้สึก มันยังมีอยู่ไหมล่ะ

ปฏิสนธิจิตเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ ถ้าเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ เราเกิดมาแล้วถ้ามันมีบุญกุศลขึ้นมา มันจะมีความรู้สึกนึกคิดที่ดีๆ ไง เวลาคนที่มีบุญกุศลคิดแต่เรื่องดีๆ นะ เวลาคนที่มีบาปอกุศลจะเกิดสูงส่งขนาดไหน คิดแต่เห็นแก่ตัว คิดแต่จะกว้านสมบัติทั้งหมดมาเป็นของเรา แล้วมันเป็นไม่ได้หรอก สมบัติของในโลกนี้ไม่ใช่ของใคร ผู้ที่มีปัญญา ผู้ที่มีปัญญาแสวงหาเป็นของคนคนนั้นชั่วคราว เงินทองจะมีมากแค่ไหน เขาก็ประกาศเลิกใช้นะ เงินนั้นจะไม่มีค่าทันทีเลย เงินที่เขาใช้ๆ เวลามันเสื่อมค่า มันมีค่าไหม นี่มันเป็นสมมุติ เขาสมมุติบัญญัติขึ้นมาให้เป็นอย่างนั้น เราอยู่ในสังคมอย่างนั้น เราก็เชื่ออย่างนั้น แต่มันก็เสื่อมค่าของมันไปอย่างนั้น

แต่บุญกุศล ความดีความชั่วมันอยู่ฝังใจนั้นไป ใครทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เพราะการกระทำของเราขึ้นมา เราถึงมีสติมีปัญญา เรามีสติปัญญา เราถึงขวนขวาย ขวนขวายสิ่งที่เป็นสัจธรรมในหัวใจของเรา นี่สิ่งที่เป็นสัจธรรมของเรา

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สุภัททะๆ ไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เขาเป็นคนที่มีปัญญามาก เขาไปศึกษามามากเลย ไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ลัทธิศาสนาไหนก็ว่าสุดยอดๆ ทั้งนั้นเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีความเห็นว่าอย่างไร

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพานนะ ท่านบอกว่า อย่าถามให้มากเสียเวลาไปเลย ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล

ศาสนาไหนไม่มีมรรคไง ถ้ามันไม่มีเหตุ มันมีผลมาได้อย่างไร มันไม่มีหรอก ถ้าศาสนาไหนมีมรรค ศาสนานั้นถึงมีผล ถึงให้พระอานนท์บวชให้ คืนนั้นภาวนาขึ้นมาได้เป็นพระอรหันต์คืนนั้นเลย นี่ไง มันต้องมีที่มาที่ไปทั้งนั้นน่ะ พระพุทธศาสนาเราสอน สอนที่มาที่ไป ที่เรามานั่งกันอยู่นี่ มันมีที่มาที่ไปทั้งนั้นน่ะ แต่มีที่มาที่ไปในภพชาตินี้ไง ก็มาจากบ้านทั้งนั้นน่ะ ก็ออกจากบ้านมาก็มาจากบ้านไง แล้วเดี๋ยวก็จะกลับบ้านไง กลับบ้านไปก็ไปนั่งอมทุกข์อยู่ที่บ้านนั่นไง

แต่ถ้าเรามาวัดมาวา มาวัด มาวัดใจของเรา เรามาวัดมาวาเพื่ออะไร ชีวิตนี้มาจากไหน อยู่เพื่ออะไร แล้วตายแล้วจะไปไหน มันค้นคว้าอย่างนี้ ถ้าค้นคว้าอย่างนี้ คนที่มาวัดมาวาเขามาทำอย่างนี้ ถ้ามาทำอย่างนี้ปั๊บ นี่เวลาที่ประพฤติปฏิบัติ

เวลามีการศึกษา เวลาศึกษาเขายกชั้นๆ สอบผ่านยกชั้นๆ ในการประพฤติปฏิบัติขึ้นมามันเหมือนงานฝีมือ ใครมีความสามารถมากน้อยแค่ไหน นี่ก็เหมือนกัน ในการประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มันต้องทำความสงบของใจเข้ามาก่อน ถ้าทำความสงบของใจเข้ามาก่อน ก็ทำสมาธิๆ สมาธิ ฤๅษีชีไพรเขาก็ทำสมาธิเหมือนกัน แต่ทำสมาธิแล้วเขาไม่ฝึกหัดใช้ปัญญาต่อเนื่องไป เพราะเขามีความรู้แค่นั้นไง แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านสอนศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าศีล ศีลคือความปกติของใจ ถ้าเป็นสมาธิ สมาธิสงบระงับเข้ามา ถ้าสงบระงับเข้ามา ตรงนี้มันจะวัดกันแล้ว วัดกันที่ว่าคนมีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร ความรู้สึกนึกคิดของคนแตกต่างกันไปทั้งนั้น

เวลากำหนดพุทโธๆ เวลาพุทโธ บอกไปคุ้นชินกับมันๆ คุ้นชินกับมันเพราะกิเลสตัณหาความทะยานอยากมันครอบงำไง ถ้าเรามีสติมีปัญญา มันเป็นปัจจุบัน มันสดๆ ร้อนๆ ไม่คุ้นชินนะ ของมันสดๆ ร้อนๆ เลยล่ะ ถ้ามันสดๆ ร้อนๆ สัจธรรมมันสดๆ ร้อนๆ กลางหัวใจ ถ้ามันสดๆ ร้อนๆ กลางหัวใจ พุทโธๆ มันสว่างไสว จิตใจมันเบิกบาน มันเบิกบานอย่างไร ถ้ามันเบิกบานขึ้นมา นี่สมาธิไง

พุทโธๆ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รัตนตรัยมันมีค่ามาตั้ง ๒,๐๐๐ กว่าปีมาแล้ว แล้วมันก็ยังมีค่าตอนนี้ อกาลิโก ไม่มีกาล ไม่มีเวลา มันเป็นปัจจุบัน ถ้าเป็นปัจจุบันขึ้นมา ถ้าจิตมันเป็นปัจจุบันขึ้นมา มันจะแจ่มชัดในหัวใจของเรา ถ้ามันแจ่มชัดในหัวใจของเรา แต่ถ้ากิเลสตัณหาความทะยานอยากไปคุ้นชินกับมันไง เพราะกิเลสไปคุ้นชินกับมัน ถ้าไปคุ้นชินกับมัน เราต้องมีสติของเรา ถ้ามีสติของเรา เราบริกรรมของเรา ถ้าบริกรรมของเรา เราฝึกหัดของเรา ได้ใช้ปัญญาแยกแยะของเราขึ้นไป มันเป็นปัจจุบัน มันไม่มีกาลไม่มีเวลา มันไม่มีชราคร่ำคร่า ไม่มีเก่าแก่ มันเป็นของสดๆ ร้อนๆ สดๆ ร้อนๆ ถ้าสดๆ ร้อนๆ มันอยู่ที่การกระทำไง

แต่เวลาคนทำ ไม่ต้องพูดถึงคนอื่นหรอก หัวใจของเราหัวใจดวงเดียวนี่แหละ เดี๋ยวเจริญแล้วเสื่อม เวลาเจริญ งอกงามดีขึ้นมา เจริญ ปลื้มใจมาก เวลามันเสื่อม เวลามันเสื่อม มันมีเจริญแล้วเสื่อม สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง ไม่มีสิ่งใดคงที่ แปรสภาพตลอด แต่มันแปรสภาพแบบโลก แปรสภาพแบบโลก มันเคลื่อนไปตลอด ไหล่ทวีปมันเคลื่อนไหวตลอด ทวีปมันซ้อนกันตลอด มันบดอัดกันตลอด โลกมีการเปลี่ยนแปลงไปตลอด แต่มันเป็นอจินไตย โลกนี้เป็นอจินไตย อจินไตย ๔

นี่ก็เหมือนกัน มันเปลี่ยนแปลงไปตลอด โลกนี้เป็นอนิจจัง แล้วเราจะมายึดมั่นถือมั่นความที่ของไม่จริงจะให้เป็นจริงขึ้นมาได้อย่างไรล่ะ ของมันไม่จริงอยู่แล้ว แต่ด้วยวัฏฏะไง ผลของมันเป็นธรรมชาติไง ธรรมชาติของมัน วัฏฏะคือกามภพ รูปภพ อรูปภพ มันมีของมันอยู่แล้ว มันหมุนเวียนของมันไปอยู่แล้ว ๑๐๐ ปีของเรานะ เท่ากับ ๑ วันของเทวดา แล้วเวลาของพรหมล่ะ ผลของวัฏฏะๆ วันเวลามันเปลี่ยนแปลง มันหมุนของมันไป ถ้าหมุนของมันไป ๑๐๐ ปีของเรา ๑ อายุขัยของเราแค่วันเดียวของเทวดา นี่ผลของวัฏฏะ แล้วเวลาเกิดเป็นเทวดา ๑ อายุขัยของเทวดา แล้วเราจะมาทันกันไหม แล้วเวลาของพรหมล่ะ นี่ไง ที่เวลามันหมุนของมันเป็นอนิจจังไง

สิ่งใดเป็นอนิจจัง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ เราเกิดสถานะไหน เรายึดมั่นที่ไหน เราพอใจที่ไหน เราว่าเราจะอยู่ค้ำฟ้า เราจะอยู่กับมันตลอดไป ก็สมบัติของเราไง สมบัติของเรา เราก็อยู่กับมันสิ ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด มันต้องหมดอายุขัยของมัน เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ

สิ่งใดเป็นอนิจจัง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งที่เป็นอนัตตาเพราะอะไร นี่เป็นธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สิ่งใดที่เป็นทุกข์ๆ สิ่งที่เรายึดมั่นถือมั่นที่เป็นทุกข์อยู่นี่ ถ้าเป็นทุกข์นะ เริ่มต้นทุกข์ครั้งแรกๆ มันแทบทนไม่ได้เลย แต่ถ้าใครมีสติมีปัญญาปลอบประโลมกันไว้ ทนได้พักหนึ่ง เดี๋ยวลืมแล้ว เดี๋ยวลืมแล้ว

นี่ไง สิ่งใดเป็นอนิจจัง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา มันไม่คงที่เหมือนกัน แต่เพราะกิเลสตัณหาความทะยานอยากไง มันก็จะเอาแต่ทุกข์มาเสริมตนไง คิดแต่เรื่องทุกข์ๆ คิดแต่เรื่องไม่พอใจ คิดแต่เรื่องเจ็บช้ำน้ำใจ ไอ้เรื่องดีๆ คิดไม่ออก เรื่องดีๆ คิดไม่เป็น มันจะคิดแต่เรื่องแผดเผามันๆ นี่กิเลสตัณหาความทะยานอยาก

เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาสอนถึงหัวใจของคนนี่ไง หลักเกณฑ์ของพระพุทธศาสนาสอนลงที่หัวใจนะ สอนลงที่ความรู้สึกความสุขความทุกข์ในใจนี่ สอนลงที่การแก้ไขนี่

โยมเป็นฆราวาสนะ จะเข้าพรรษาๆ อีก ๒ วันนี้ ถ้าเข้าพรรษาอีก ๒ วัน ในประเพณีวัฒนธรรมของเราให้งดเหล้า ให้เข้าวัดเข้าวา ผู้ที่ไม่มีสิ่งใดก็เสริมตรงนั้นไง ถ้าเป็นผู้ชายก็บวชเป็นพระ นี่ไง สิ่งที่เราบวชมา บวชมาเพื่ออะไร บวชมาเพื่อขัดเกลาไง ถ้าศึกษาๆ ศึกษาก็เป็นปริยัติ มันมีการศึกษา ศึกษาแล้วประพฤติปฏิบัติ ถ้าประพฤติปฏิบัติขึ้นมา สิ่งนี้มันจะเป็นจริงขึ้นมา มันจริง นี่มรรคมันจะเกิดขึ้นไง ถ้าปฏิบัติแล้วมันยังไม่เกิดมรรคเกิดผลขึ้นมา มันก็เป็นประสบการณ์ของจิต ฝึกหัดๆ ไง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย ก็ฝึกหัดดัดแปลงของตนมาจนเป็นนิสัย จนอาฬารดาบส อุทกดาบสหลอกเจ้าชายสิทธัตถะไม่ได้ เจ้าชายสิทธัตถะไปฝึกกับอาฬารดาบส อุทกดาบสนะ “เธอมีความรู้เท่าเรา มีความเสมอเรา” ยกย่องว่าเป็นอาจารย์เหมือนกัน ไอ้พวกเราปฏิบัติที่ไหน ถ้าอาจารย์ยกย่องนะ โอ้โฮ! มันลอยไปแล้ว

เจ้าชายสิทธัตถะปฏิเสธ เพราะความทุกข์มันยังมีอยู่ ความสงสัยในใจยังมีอยู่ นี่เวลาคนที่มีวุฒิภาวะ สิ่งที่ว่าวุฒิภาวะของจิต ที่จิตมันเจริญงอกงามขึ้นมาเพราะการกระทำเราทั้งนั้น เพราะการฝึกหัดทำสมาธิมันจะทำให้เรามีจุดยืน ทำให้เราไม่เป็นเหยื่อ ทำให้เราแก้ไขตัวเราได้ นี่สัมมาสมาธิ แล้วเกิดถ้ามันใช้ปัญญานะ ปัญญาคือภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดขึ้น ปัญญาที่มันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง เห็นกายก็เห็นกาย เราติดพันแต่เรื่องของร่างกายของคน

ถ้าเราเห็นกาย เห็นกายโดยจิตนะ ถ้าเห็นกายโดยจิต เวลามันจับต้องได้ มันพิจารณาของมันไป มันจะเป็นอนัตตา ถ้าเห็นกายโดยโลก เห็นกายมันยิ่งสดยิ่งสวย ยิ่งงอกยิ่งงาม ยิ่งเพิ่มตัณหาความทะยานอยาก แต่เห็นโดยธรรมๆ มันแยกมันแยะของมัน มันจะเป็นไตรลักษณ์ของมัน มันไม่คงที่ของมัน แล้วมันเร็วไง เวลาเราคิดทางวิทยาศาสตร์ เราเข้าใจได้ แต่ต้องใช้เวลาใช่ไหม

แต่ถ้าเวลาจิตมันนิ่ง จิตมันมีพลังของมัน มันกำหนด พับๆ พับๆ มันถึงแก้กิเลสกันได้ไง นี่ไง ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผลไง แล้วถ้ามันเกิดขึ้นมาในหัวใจ ถ้ามันเกิดขึ้นมาในหัวใจแล้วมันจะไปหวั่นไหวกับอะไรล่ะ มันจะหวั่นไหวถ้าเราไม่รู้ ถ้าเราไม่รู้ เราหวั่นไหว พระพุทธเจ้าพูดไว้อย่างนั้น ครูบาอาจารย์พูดไว้อย่างนั้น ไอ้เราเป็นอย่างนี้ เอ๊ะ! จริงหรือเปล่าวะ นี่ไปแล้ว

แต่ถ้าเป็นจริงของเราๆ เป็นจริงของเรา ในใจมันเป็นจริงขึ้นมาแล้วมันหวั่นไหวไปกับอะไร ที่มันไม่จริงก็เพราะมันไม่รู้ ถ้ามันไม่รู้ขึ้นมา แล้วพิสูจน์อย่างไร ก็พิสูจน์ขึ้นมาเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก ให้มันทำขึ้นมา ถ้ามันทำขึ้นมา พิจารณาของมันขึ้นมา แล้วครูบาอาจารย์ ใจที่สูงกว่าจะดึงจิตใจที่ต่ำกว่า ถ้าเรามีครูบาอาจารย์ใจที่สูงกว่า ท่านจะดึงเข้าสู่ธรรมไง

ถ้าเราไม่มีครูบาอาจารย์ที่สูงกว่า เวลาปฏิบัติไปแล้วจะดึงไปสู่โลก ดึงไปสู่โลกก็ดึงไปสู่ทฤษฎี ดึงไปสู่นะ เวลาถามปัญหาธรรมก็บอกพระพุทธเจ้าว่าอย่างนั้น ธรรมะตำราว่าอย่างนั้น

แล้วอาจารย์ว่าอย่างไรล่ะ ก็ตำราว่าไว้อย่างนั้น ถ้าตำราว่าไว้อย่างนั้นแสดงว่าไม่มีพื้นฐานในใจ แต่ถ้าเป็นหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นนะ “เออ! เหมือนเรา เหมือนเรา”

เวลาหลวงตาท่านขึ้นไปส่งการบ้านหลวงปู่มั่น เห็นไหม พิจารณาไปแล้วกายกับใจมันแยกออกจากกัน โลกนี้ราบหมดเลย “เออ! เหมือนเรา เหมือนเราที่ถ้ำสาริกาเลย แต่ของเรามียักษ์” พอท่านจิตสงบแล้ว พิจารณาไปแล้ว ราบไปหมดแล้ว ท่านยังมีอำนาจวาสนาไปเห็นพระภูมิเจ้าที่ต่างๆ แต่เวลาของมหาไม่มียักษ์ ไม่มียักษ์ แต่มันพิจารณาของมันไปแล้วมันเป็นความจริงของมัน มันแยกของมัน มันพิจารณาของมันโดยกำลังของมรรค มันเป็นจริงแล้วน่ะ

ถ้าครูบาอาจารย์ท่านมีจริง “เหมือนเราๆ” เหมือนเราคือมันผ่านประสบการณ์นั้นมาไง จิตใจที่สูงกว่าท่านได้ผ่านมาแล้วไง จิตใจที่สูงกว่าได้ผ่านมาแล้วเป็นพยานต่อกันไง ผู้ที่ปฏิบัติตามมา “เออ! เหมือนเราๆ”

แต่ถ้าเป็นอย่างเรา พระไตรปิฎกว่าไว้อย่างนั้น ครูบาอาจารย์ว่าอย่างนั้น เพราะกูไม่รู้ กูก็จำเขามาเหมือนกัน แต่ถ้าเป็นจริงๆ “เหมือนเราๆ เลย” คำว่า “เหมือนเรา” มันมีเหตุมีผล นี่ศาสนาที่มีมรรคมีผล มีมรรคมีผลคือมีเหตุการณ์จริงในหัวใจนั้น หัวใจนั้นได้ประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเป็นความจริงอันนั้นขึ้นมา แล้วมันมาจากไหนล่ะ มันมาจากการฝึกฝนนะ มันเป็นอกาลิโก ไม่มีกาลไม่มีเวลา มันจะเกิดขึ้นในหัวใจของเรา

หัวใจดวงนี้ทุกข์ยาก เราก็รู้ได้ เรามีสติปัญญาไม่ยอมให้มันไปกินของไม่ดี เรากำหนดพุทโธๆ บังคับ หัวใจนี้จงอยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ เราไม่ยอมให้หัวใจนี้มันเพ่นพ่านไปตามอิสระของมัน เราบังคับมันให้คบมิตรที่ดี ให้คบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้าตลอดเวลา พุทโธๆ เราบังคับของเราเอง เราทำของเราเอง ถ้าเราไม่บังคับ เราไม่ทำ ใครจะทำให้ เวลาเราพูดกัน เราก็ปลิ้นปล้อนหลอกลวงกันได้ทั้งนั้นน่ะ คิดอย่าง พูดอย่าง ทำอย่าง มนุษย์เป็นสัตว์ประหลาด เวลามันคิด มันคิดของมันนะ เวลาพูดก็พูดแต่สวยงาม เวลากระทำนี่เป็นโจรเลย คิดอย่าง พูดอย่าง ทำอย่าง

แต่เวลาหัวใจของเรา เราบังคับเอง บังคับเลย ให้ระลึกพุทโธๆๆ ใหม่ๆ มันจะดิ้นรนมาก ดิ้นรนมาก เพราะกิเลสมันกลัวธรรม มันไม่กลัวอะไรเลย มันกลัวธรรมะ มันกลัวองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันกลัวพุทธะ หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ เราพยายามจะเหนี่ยวนำให้หัวใจเรากับพุทธะเป็นอันเดียวกัน เวลามันพุทโธเข้าไปจนมันละเอียดจนเป็นอันเดียวกัน พุทธะอันเดียวกันเลย เหมือนกัน เหมือนกัน

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทุกข์ยากอย่างนี้ ตั้งแต่ท่านเป็นพระโพธิสัตว์ จนกว่าท่านมีบุญกุศลมากขึ้นๆ จนมีความสุขขึ้นมาบ้าง เวลาเป็นพระเวสสันดร เขาขับไล่ออกจากราชวังเลย เขาขับไล่เลย ขับไล่เพราะโลกเขาเห็นอย่างนั้นไง โลกเขาเห็น ถ้ากว้านมาเป็นของเรา ถูก ถ้าเสียสละออกไป ผิด แต่ทำกลับกัน ถ้าเสียสละเป็นของเรา ถ้ายึดมั่นเป็นของเรา เราตายเปล่า มันจะจมไปกับเรา แต่ถ้าเราสละออกไป ของเราทั้งนั้นเลย ตรงนั้นที่ไหน เพราะเราเป็นคนสละเอง

กิเลสมันตระหนี่ถี่เหนียวนะ กิเลสมันไม่ยอมหรอก แต่เราสละไปเอง มันจะฝังใจ คนเคยทำบุญกุศลที่ไหน จำได้หมด นั่นแหละเป็นทิพย์ ถ้าตายไปมันไปกับใจ สมบัติสละไปแล้ว ไม่อยู่กับเราแล้ว แต่ความทรงจำอันนั้นอยู่กับใจดวงนั้น กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน กรรมดีทำให้ใจดวงนั้นสูงขึ้น กรรมชั่วทำให้ใจนั้นต่ำลง ฉะนั้น เราต้องฝึกหัด ฝึกหัดของเรา ถ้าเรามีสติปัญญาของเราเพื่อรักษาใจของเรานะ นี่ธรรมะ

ไปวัดๆ พระไม่เห็นเทศน์สักที

ตะโกนอยู่นี่ ไม่ได้เทศน์ใช่ไหม พระเทศน์ก็เทศน์เรื่องหัวใจเรานี่แหละ เทศน์เรื่องสัจจะเรื่องความจริงในใจนี่แหละ พูดของเรา เตือนกันๆ เตือนกันให้มันมีสติมีปัญญาย้อนกลับมาดูแลหัวใจของตน เอวัง