ต้องมีสาระ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๙
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “กราบขอขมา”
กระผมขอขมาหลวงพ่อที่เขียนคำถามมาโดยขาดสติ พิจารณาให้รอบคอบผมได้นำเอาคำเทศน์ไปพิจารณาแล้ว หลวงพ่อพูดถูกทุกอย่าง และเป็นอย่างนั้นจริงๆ ต่อไปผมจะสำรวมระวังในการถามและการประพฤติปฏิบัติมากขึ้น กราบเท้าหลวงพ่อด้วยความเคารพอย่างสูง
ตอบ : ไอ้นี่เวลาคำถาม เขาบอกเป็นพระที่เขียนถามมา ถ้าเป็นพระที่เขียนถามมานะ เวลาถามมา ถ้ามันแนวทางปฏิบัติ เวลาปฏิบัติเริ่มต้น นี่เราพูดโดยส่วนรวมเลย ทั้งพระด้วย ทั้งผู้ถามนี้กับผู้ถามที่ถามมา ถามมานะ จากทางเหนือทางเหนือมีผู้ปฏิบัติหลายๆ คนถามมานะ เวลาถามมา เวลาเขาปฏิบัติ นักปฏิบัติกับนักปฏิบัติด้วยกันมันจะเห็น มันจะมีประสบการณ์คล้ายๆ กัน พอประสบการณ์คล้ายๆ กัน ปฏิบัติครั้งแรกมันจะล้มลุกคลุกคลาน แล้วพอมันจะได้สมาธิบ้าง มันจะออกรู้สิ่งต่างๆ บ้าง เวลาเขาเขียนถามมานี่
พอเราอ่านแล้วเราเห็นช่องทางอย่างนั้น เราเห็นอย่างนั้นปั๊บ เราก็พยายามอธิบาย อธิบายนะ เวลาปฏิบัตินี่อธิบาย แล้วคนที่เขียนถามมา ตอนนี้อุทธรณ์เลยล่ะ เขียนถามมากันเยอะ เขียนถามมาว่าปฏิบัติไปแล้วจะไปรู้อย่างนั้น เห็นจิตอย่างนั้น เห็นอาการอย่างนั้น เห็นต่างๆ เราก็พยายามจะอธิบายๆ อธิบายต่อเนื่องไป
ทีนี้อธิบายต่อเนื่องไป เวลาเขาปฏิบัติแล้วเขามีประสบการณ์ต่างๆ เขียนถามมา เราก็พยายามจะตอบ พยายามจะตอบ ถ้าตอบอย่างนี้มันจะเป็นประโยชน์ ทีนี้เวลาคนที่เขาเขียนถามมาแล้วก็ตอบๆ ไปนะ คนที่ปฏิบัติไปแล้ว เวลาเขาปฏิบัติแล้วมีช่องทาง มีคนคอยชี้นำ เขาก็จะมุมานะ เขาก็จะขยันหมั่นเพียร เขาจะทำมา
ฉะนั้น คนที่เขียนปัญหามามันก็เป็นบุคคลๆ ไป พอเขียนมาฉบับที่ ๑ นะ พอครั้งที่ ๒ มันต่อเนื่องที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ นะ แล้วสุดท้ายก็หายเงียบเลย หายหมดเลยหายเกลี้ยง เพราะมันไปๆ แล้วมันปฏิบัติมันยาก มันยากอย่างนี้
ฉะนั้น เวลาคนที่ปฏิบัติแล้วนะ เรามีช่องทางถามสิ่งใดมา เราจะคอยบอกคอยบอกคอยชี้ทาง คอยพยายามประคองกันไป ว่าอย่างนั้นเถอะ ฉะนั้น เวลาไปแล้วมันจะเสื่อม เวลาเสื่อมนะ มันเหมือนกับที่เวลาเขาทำงานกัน พอทำอย่างนี้เสร็จแล้ว แล้วต่อไป อะไรต่อไปล่ะ จบแล้วคืออะไรต่อ ปฏิบัติแล้วอะไรต่อ แล้วทำต่อเนื่องอย่างไร แล้วจะไปตรงไหน แล้วจะก้าวเดินไปอย่างไร นี่เวลาปฏิบัติมันจะมีช่องทางของมันอย่างนี้
ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์ที่ท่านประพฤติปฏิบัตินะ เวลาจะไม่ได้ผล ท่านก็พยายามให้กำลังใจ พอให้กำลังใจไปแล้ว เหมือนเด็กทำงานเลย เด็กทำงานมันจะถูกไหม เด็กๆ หัดฝึกงานมันจะถูกไหม มันก็มีความผิดบ้างเป็นธรรมดา แต่ให้มันทำเถิด ให้มันทำ พอมันทำไปแล้วถูกผิด เราค่อยบอกมัน ถ้าบอกมันนะ ถ้าเขาทำแล้ว เขาทำเป็น ทำแล้วดี เขาจะปลื้มใจของเขา เขาภูมิใจของเขา เขาจะขวนขวายของเขา เขาจะทำต่อเนื่องของเขา ทำไปแล้วทำผิดทำถูก ทำถูกทำผิดแล้วมันไม่ก้าวหน้า พอมันไม่ก้าวหน้า ชักเริ่มโลเล พอเริ่มโลเลแล้วชักไม่มีกำลังใจ สุดท้ายแล้วก็หายไปๆ
ลูกศิษย์หลวงปู่มั่นเท่าไร ลูกศิษย์หลวงตา ลูกศิษย์ครูบาอาจารย์เราเท่าไรแล้วเหลือมาเท่าไร นี่ในการปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติมันทุกข์ยากอย่างนี้ถ้ามันทุกข์ยากอย่างนี้แล้วมันก็เกี่ยวกับวาสนา ถ้าวาสนาของคนนะ มันแบบว่าวาสนาของคนถ้ามันเข้มแข็ง มันพยายามของมัน แล้วทำของมันนะ ทำต่อเนื่องไปๆ อย่างนี้จะเป็นประโยชน์
ฉะนั้น เวลาคนถามปัญหามา ปัญหาที่การปฏิบัติถามมา ทีนี้พอถามมาแล้วเวลาปฏิบัติขึ้นไป ถ้าเราไปเห็นเข้ามันจะเป็นถามในภาคปฏิบัติ แต่ถ้าเราไปค้นคว้าๆ ถามมา มันเป็นเหมือนเราไปหาข้อมูลแล้วเอาข้อมูลมาถาม ไม่ใช่เราแล้วแล้วยิ่งเวลาปฏิบัติไป เวลามันเสื่อมค่า เสื่อมค่าไป มันเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วมันต้องฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ ฟื้นฟูขึ้นมาใหม่
ฉะนั้น เวลาไอ้คนที่เขียนมามันไม่เข้าใจไง ไม่เข้าใจว่า ที่ถามไปๆ เวลาเขียนมาถามนะ ถามคำถามดีๆ ก็ดีมากๆ เลย แล้วเวลาดีมากๆ เลย เวลาถ้าต่อเนื่องไปมันจะเพิ่มขึ้น มันจะเข้มข้นขึ้น มันจะชัดเจนขึ้น แต่คำถามต่อไปมันกลับไปถามเริ่มต้นใหม่อย่างนี้ แสดงว่ามันเสื่อมไง แล้วเราปฏิบัติมันไปเริ่มต้นใหม่
ฉะนั้น เวลาคำถามของคนนะ ถ้าเป็นบุคคลคนนั้น เวลาถามแล้วคำถามของเขาต้องละเอียดขึ้น คำถามของเขาต้องลึกขึ้น คำถามของเขาจะดีขึ้น แสดงว่าเขาภาวนาดี
ถ้าคำถามทีแรกคำถามลึกซึ้งดี พอคำถามต่อไปเริ่มชักผิวเผินแล้ว แล้วถ้าคำถามเดิมไปถามเรื่องโลกๆ เลยนี่มันออกนอกทางแล้ว พอออกนอกทางไป ทีนี้คำถาม ผู้ที่เขียนมาถามมันมีปัญหาตรงนี้ไง ปัญหาที่ว่าเวลาเขียนมาบอก โอ๋ย! จิตผมดี๊ดี ดีไปหมด พอเดี๋ยวอีกทีหนึ่งเขียนมา จิตไปเกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น ไปเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้...นี่มันบอกหมด คำถามมันบอกหมด เห็นไหม
มันต้องมีสาระ ถ้าสาระ สาระของโลก สาระของในภาคปริยัติ สาระในการศึกษา เขามีปฏิภาณของเขา เขามีความชำนาญของเขา เขาแต่งบาลีของเขาเวลาเขาสอบของเขา แต่งกระทู้ เขาแต่งต่างๆ นั่นก็เป็นสาระของเขา วัดภูมิกันตรงนั้น
ในภาคปฏิบัติเขาวัดภูมิกัน ถ้าวัดภูมิกันว่าจิตสงบหรือไม่สงบ ถ้าสงบ เวลาพูดออกมามันละเอียดลึกซึ้งมาก ถ้าจิตมันสงบนะ แล้วสงบแล้วถ้าออกใช้ปัญญานะ ถ้าเป็นภาวนามยปัญญา ปัญญาจากภายในนะ โอ้โฮ! มันหาฟังยาก
ฉะนั้น เวลาหลวงตาท่านไปหาหลวงปู่แหวน เห็นไหม ผู้ไม่รู้ถามไม่ได้ ผู้ไม่รู้จะถามปัญหาของธรรมะไม่ได้ ผู้ตอบถ้าไม่รู้ธรรมะเลย ตอบไม่ได้ ตอบไม่ได้หรอก
คนถามถ้ามันไม่รู้ไม่เห็นตามความเป็นจริงถามไม่ได้ ถ้ามันถามมันก็ไปหาข้อมูลมาถาม ไปอ่านหนังสืองงๆ แล้วก็มาถาม มันไม่ได้ถามมาจากประสบการณ์ของมัน ถ้ามันถามจากประสบการณ์ของมันนะ มันเห็นอะไร มันทำสิ่งใด เหมือนเรา คนที่เห็นผีเขาจะจินตนาการเรื่องผี ถามเราได้ชัดเจนเลย ไอ้คนไม่เคยเห็นผีก็งงนะ “เอ๊! เขาไปกลัวอะไรก็ไม่รู้เนาะ เอ๊! เขาไปกลัวผีได้อย่างไร ผีมันไม่มี เขาไปกลัวได้อย่างไร” เพราะเขาไม่เคยเห็นไง แต่ถ้าคนไปเห็นผีนะ เขาจะถามอย่างนั้นมา
ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ในภาคปฏิบัติ ถ้าคนปฏิบัติแล้วจิตมันเป็นอย่างไร เขาถามมาโดยความเป็นจริงของเขา ถ้าถามมาโดยความเป็นจริงของเขานะ ถ้ามันมีสาระนี่เป็นสาระหมดล่ะ ถ้ามันไม่มีสาระ ไม่มีสาระแสดงว่าเขากำลังหาช่องทางของเขาอยู่ ถ้าหาช่องทางของเขาอยู่ ครูบาอาจารย์ที่เป็นจริงท่านก็จะอธิบายอธิบายของท่าน ถ้ามันเป็นสาระ ถ้ามันไม่เป็นสาระ ไม่เป็นสาระแสดงว่ามันส่งออก มันไปรู้อะไร
บารมี บารมีคนอ่อนแอ อ่อนแอมันจะไม่รู้สิ่งใด เห็นสิ่งใดมันก็เป็นแบบว่าที่มันไร้สาระ มันไร้สาระจากธรรมะนะ มันไร้สาระจากการประพฤติปฏิบัติ แต่มันเป็นสาระของคนที่ปฏิบัตินะ เพราะเป็นสาระของคนปฏิบัติ มันรู้มันเห็นของมัน มันตกใจของมันไง นี่ไง สิ่งที่รู้เห็นนั้นรู้เห็นจริงไหม จริง แต่ความรู้ความเห็นนั้นไม่จริงไง
ที่ว่าเวลาหลวงปู่ดูลย์ท่านพูด ที่เห็นนิมิตเห็นจริงไหม จริง แต่ความเห็นนั้นไม่จริง แต่คนที่มันเห็นน่ะ คนที่เห็นนะ มันมีอารมณ์ มันมีความรู้สึกกับสิ่งนั้น มันถึงเป็นสาระของคนคนนั้นไง มันถึงเป็นรสชาติของจิตดวงนั้นที่เห็นไง แต่จิตที่ไม่เห็นก็ไม่รับรู้รสชาติอย่างนั้นไง
แต่ครูบาอาจารย์ที่ท่านเคยประพฤติปฏิบัติมา เพราะจิตสงบมันไม่เป็นอย่างนั้น จิตสงบ สงบโดยตัวมันเอง จิตที่รู้ที่เห็นมันพาดพิงอะไร มันรับรู้สิ่งใดมันก็เห็นสิ่งนั้น ถ้ามันรับรู้สิ่งนั้น มันส่งออกไปอย่างนั้น
เรานั่งกันอยู่เฉยๆ เสียงผ่านหูเราไป เราได้รับรู้ว่าเสียง เราได้ยินเสียงนะ แต่เราไม่รู้ว่าเสียงนั้นเขาพูดเรื่องอะไร นี่สักแต่ว่ารู้ แต่ถ้าเราตั้งใจฟัง พอเราตั้งใจฟังเสียงนั้นมันกระทบหูเรา เรารับรู้ เขาพูดเรื่องอะไร เราเข้าใจเรื่องคำพูดของเขา
นี่ก็เหมือนกัน จิตเวลาถ้ามันออกไปรับรู้ ออกไปรับรู้ รับรู้แล้วงงๆ รับรู้ แต่ถ้ามันรับรู้ รับรู้นะ ถ้ามันเห็นกับรับรู้ มันสัมผัสของมัน นี่ส่งออกทั้งนั้นน่ะ แต่ถ้าเป็นจริงขึ้นมา พุทโธๆ พุทโธมันทวนกระแสกลับ ปัญญาอบรมสมาธิมันเข้าไปสู่จิตจิตมันสงบของมัน ถ้าสงบของมันนะ ความสงบอันนั้นมันเป็นหนึ่ง นี่มันเป็นหนึ่ง
เราอธิบายอารมณ์ความที่เป็นหนึ่งไม่ได้ เราอธิบายสิ่งที่จิตมันไปรับรู้ได้ เราอธิบายสิ่งที่มันรับรู้นะ แสงสีเสียง เรื่องความรู้สึก เราอธิบายได้ แต่เราอธิบายถึงธาตุรู้ไม่ได้ เพราะมันไม่เคยสงบไง ถ้ามันสงบขึ้นมามันอธิบายถึงธาตุรู้ของมันได้นั่นคือสมาธิ
สมาธิจริงๆ มันเป็นอย่างไร นี่สมาธิยังไม่รู้จักสมาธิ แต่พูดกันว่างๆ ว่างๆ นี่พูดถึงว่าค่าของมัน คนที่ปฏิบัติเขารู้ของเขา นี่พูดถึงว่าถ้ามันถามโดยที่มีสาระนะมันต้องมีสาระ
ฉะนั้น สิ่งที่ถามมา ถามมา ที่ตอบๆ นี่ตอบ เวลามันดี เราก็ดีด้วยนะ เราก็เห็น แบบว่าเราก็ดีใจด้วย แต่ถ้าเวลามันทุกข์มันยาก แสดงว่าจิตมันไม่มีจุดยืนเลย ถ้าจิตมันจากปุถุชนจะเป็นกัลยาณปุถุชน กัลยาณปุถุชนมันจะควบคุมจิตได้จะดูแลจิตตัวเองได้ จิตตัวเอง ปรอทมันไม่ขึ้นสูงนัก ไม่ลงต่ำนัก ถ้าปรอทเวลามันพุ่งเลยนะ ปรอทมันขึ้นเต็มที่เลย
นี่เหมือนกัน เวลาดีก็ดีไปเลย ถ้าเวลาจิตมันตกก็ตกไปเลย พอตกไปเลยแล้วตอนนี้มันก็พูดไง ถามมาๆ ถามมาถ้ามันเป็นข้อเท็จจริง เราก็ตอบตามข้อเท็จจริงนั้น ตอบตามข้อเท็จจริงนั้นยังพยายามส่งเสริมด้วยนะ เว้นไว้แต่ภาวนาผิดภาวนาออกนอกลู่นอกทาง แล้วจะเอาสิ่งนั้นว่าเป็นสิ่งที่ถูก อย่างนี้เราจะเสียงดังเลย เอาจริงเอาจังเลย เอาจริงเอาจังเพราะไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง เพราะในวงกรรมฐานนะ ในวงกรรมฐานของครูบาอาจารย์เรา ในวงกรรมฐานของครูบาอาจารย์ถ้าเป็นความจริง สัจจะความจริง นี่มันแก่น แก่นของศาสนา
เวลาหลวงตาท่านพูดเลย หลักในสมัยพุทธกาลนี้ ในกึ่งพุทธกาลนี้ สิ่งที่ท่านเห็นว่ามีหลักเกณฑ์ที่สุด เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดคือหลวงปู่มั่น เวลาหลวงปู่เสาร์หลวงปู่มั่นท่านทำความจริงของท่าน ถ้าความเป็นจริงของท่านมันมีหลักมีเกณฑ์ในใจของท่าน ถ้ามีหลักมีเกณฑ์ในใจของท่าน แล้วเวลาท่านก็มีลูกศิษย์ลูกหามหาศาลเลย แล้วลูกศิษย์ลูกหาก็มีความเห็นแตกต่างกันไปทั้งนั้นเลย ถ้ามีความเห็นแตกต่างกันทั้งนั้น ความเห็นแตกต่างนั้นเป็นความเห็นแตกต่าง ถ้ามันมีคุณธรรมในหัวใจจริงนะ
ถ้ามีคุณธรรมในหัวใจจริง ดูสิ เวลาหลวงตาท่านตรัสรู้ธรรมขึ้นมา กราบแล้วกราบเล่า กราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเวลาระลึกถึงหลวงปู่มั่นนะ ท่านบอกเลย ถ้าไม่ได้กราบหลวงปู่มั่นก่อน นอนไม่ได้
ขนาดหลวงปู่มั่นนิพพานไปแล้วนะ ท่านบอกว่า ถ้าคืนไหนท่านไม่ได้กราบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ได้กราบหลวงปู่มั่นก่อน ท่านนอนไม่ได้ ก่อนจะหลับก่อนจะนอนต้องระลึกถึงหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น กราบหลวงปู่มั่น นี่คนที่มันมีคุณธรรมในหัวใจ คนที่ได้ธรรมมาจากผู้ใดที่สั่งสอน จากผู้ใดที่ยื่นให้ พ่อแม่ครูจารย์ ดูแลทั้งชีวิตความเป็นพระของเรา ดูแลทั้งหัวใจที่ให้มันภาวนาถูกต้องดีงามให้เข้าสู่สัมมาทิฏฐิ
เวลากิเลสมันเกิด กิเลสมันเกิดมันหลอกเราแล้วแหละ หลอกเราแล้ว แล้วเราก็ดิ้นรนของเรา เราก็ไปหาท่าน จะให้ท่านรับรองกิเลสของเราไง แล้วบอกว่าเราปฏิบัติดีอย่างนั้น ปฏิบัติดีอย่างนั้น ครูบาอาจารย์องค์นั้นไม่ยกย่องเรา ครูบาอาจารย์องค์นี้ไม่ยกย่องเรา
ครูบาอาจารย์องค์ไหนท่านจะยกย่องกิเลสของคนล่ะ ครูบาอาจารย์ท่านจะยกย่องท่านก็ยกย่องธรรมะ ยกย่องสัจธรรม ไม่มีครูบาอาจารย์องค์ไหนหรอกที่ไปเที่ยวยกย่องกิเลสให้มันใหญ่กว่าธรรม เป็นไปไม่ได้ ฉะนั้น เวลาปฏิบัติไปมีความรู้ความเห็นขึ้นมาก็จะให้ท่านยอมรับ ถ้าท่านไม่ยอมรับก็ไปไม่พอใจท่าน
แต่ถ้าคนที่มีคุณธรรมในใจอย่างเช่นหลวงตา ถ้าวันไหนจะนอน ไม่ได้กราบหลวงปู่มั่นก่อน นอนไม่ได้
คำว่า “กราบหลวงปู่มั่น” ท่านนิพพานไปแล้ว แล้วท่านกราบของท่าน กราบด้วยหัวใจของท่านไง คนที่มีคุณธรรมจะมีกตัญญูกตเวที จะมีกตัญญูกตเวทีต่อครูบาอาจารย์ของเรา ถ้ามีความกตัญญูกตเวทีกับครูบาอาจารย์ของเรา อาจารย์ของเราท่านประพฤติปฏิบัติอย่างไร อาจารย์ของเรามีคุณธรรมอย่างไร แล้วคุณธรรมมันเกิดขึ้นจากอะไร
เกิดขึ้นจากข้อวัตรปฏิบัติ เกิดขึ้นจากศีล สมาธิ ปัญญา เกิดขึ้นจากมัคโคเกิดขึ้นจากทางอันเอกนี้ ครูบาอาจารย์ที่เป็นธรรมๆ ท่านจะสงวนสิ่งนี้ สงวนเรื่องการประพฤติปฏิบัติ สงวนเรื่องข้อวัตรสิ่งที่ทำมา ท่านไม่ไปสงวนเรื่องวัตถุหรอกท่านไม่ไปสงวนเรื่องชื่อเสียงกิตติศัพท์กิตติคุณหรอก
ครูบาอาจารย์ของเรา ดูสิ หลวงปู่ลี ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นธรรม ท่านอยู่วัดของท่าน ท่านอยู่ในที่สงัดของท่าน ท่านไม่ออกมาเกลื่อนกล่นวุ่นวายกับโลกเขา ไอ้นั่นมันโลกเป็นใหญ่ ไม่ใช่ธรรมเป็นใหญ่ ถ้าธรรมเป็นใหญ่นะ หัวใจเป็นใหญ่ หัวใจที่มีคุณธรรมเป็นใหญ่ ถ้าหัวใจเป็นใหญ่ สิ่งนั้นเป็นความจริง ถ้าเป็นความจริง
เวลาบอกว่า “ลูกศิษย์หลวงปู่มั่นเยอะแยะไป แล้วปฏิบัติหลากหลายแนวทางหลากหลาย”
แนวทางหลากหลายแต่มันมีธรรมหรือเปล่า ถ้ามีธรรมหรือเปล่า มันมีธรรมจริงๆ มันจะเคารพ ถ้ามันเคารพมันจะเคารพ ในสมัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพาน พระอานนท์เป็นผู้อุปัฏฐาก สุดท้ายเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว ที่ใดที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยประทับ ที่ใดที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยนอน เคยจำวัตร พระอานนท์ปฏิบัติเหมือนกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมีพระชนม์ชีพอยู่เลย จะกันที่ตรงนั้นไว้ จะไม่เข้าไปวุ่นวาย จะไม่เข้าไปแตะเลย ท่านเคารพแม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วนะ สิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยประทับนั่ง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยใช้สอยสิ่งใด เขาจะเคารพมาก เขาจะไม่ไปรื้อ ไม่ไปทำลาย
ไอ้นี่บอกเคารพๆ เคารพมันจะแสดงศักยภาพของมันไง มันจะสร้างให้คนรู้ว่าฉันเป็นคนสร้างไง มันจะสร้างสิ่งใดไว้เพื่อให้ประกาศชื่อเสียงของมันเองไง แต่อ้างชื่อครูบาอาจารย์น่ะ
นี่พูดถึงว่าการเคารพไง การเคารพมันแตกต่างกัน ถ้าการเคารพ พอเคารพแล้วจิตมันลงยอมรับแล้วจบ สิ่งอย่างนั้นมันเป็นเรื่องอำนาจวาสนาของคน
ไอ้นี่ไม่อย่างนั้นน่ะ ไปรื้อหมด ไปทำลายหมด สิ่งที่ท่านได้ดำรงชีพมา สิ่งที่ความเป็นอยู่ของท่านมา รื้อออกหมด สร้างแต่ความเห็นของตนเข้าไป แล้วบอกเคารพ
นี่มันบอกถึงหัวใจ มันบอกถึงคุณธรรมในใจ มันบอกถึงเลยล่ะ ตาเป็นหน้าต่างของใจ ศีลจะรู้ได้ต่อเมื่ออยู่ด้วยกัน ธรรมะจะรู้ได้ต่อเมื่อแสดงออก
นี่พูดถึงว่าเวลาคำถาม เวลาที่มันมีคำถามมา คำถามมา แล้วในวงปฏิบัติเราเอากันตรงนี้ไง เราเอากันที่วัตรปฏิบัติ แล้วถ้าปฏิบัติ จิตใจของคนที่มันสูงส่งดีงามขึ้นไป มันจะสูงส่งดีงามขึ้นไป มันต้องมีสาระ สาระตั้งแต่ต้น ตั้งแต่มีสติ ถ้ามีสติ การปฏิบัติมันก็จะเป็นปฏิบัติโดยธรรม ถ้าขาดสติแล้วมันเป็นเรื่องโลกทั้งนั้นน่ะ เรื่องจินตนาการ สัญญาอารมณ์มันคิดมันจินตนาการไปร้อยแปด ถ้าร้อยแปดไปแล้ว เห็นไหม ทางโลกเขาเวลาเขาทำไปแล้ว คนที่ไม่มีสติปัญญาก็เอาสิ่งนั้นเป็นโลก เหมือนการเข้าทรงทรงเจ้า เข้าทรงทรงผี เข้าผีเข้าเจ้านั่นน่ะ เขาทำอะไรกันไป นี่เรามอง แล้วมอง เรามาคิดว่าอย่างนี้เป็นธรรมหรือเปล่า เป็นธรรมหรือเปล่า
เวลาเป็นธรรมจริงๆ มันไม่เป็นอย่างนั้นหรอก เวลาเป็นธรรมจริงๆ มันชนะใจของตนเอง ถ้าไม่ชนะใจของตนเอง เอาใจของตนเองเป็นสัมมาสมาธิไม่ได้ แล้วถ้าไม่เกิดภาวนามยปัญญาในพระพุทธศาสนาขึ้นมามันจะไม่มีวิปัสสนา วิปัสสนาคือปัญญาที่รื้อค้นจะเกิดวิปัสสนา ถ้าอย่างนั้นไม่เกิดหรอก ถ้ามันจะเกิดอย่างนั้นมันจะเป็นความจริงอย่างนั้น ถ้าเป็นความจริงอย่างนั้นมันจะเป็นประโยชน์อย่างนั้น
นี่พูดถึงว่าวันนี้เขาขอขมา คำถาม “กราบขอขมาหลวงพ่อ ที่เขียนคำถามมาโดยขาดสติ พิจารณาโดยรอบคอบ ผมได้นำคำเทศน์ไปพิจารณาแล้ว หลวงพ่อพูดถูกทุกอย่างและเป็นอย่างนั้นจริงๆ และเป็นอย่างนั้นจริงๆ”
มันเป็นอย่างนั้น มันเป็นอย่างนั้น เวลาเราตอบปัญหาอยู่นี่ เราไม่เคยเห็นหน้าคนถามแม้แต่คนเดียวเลยนะ ไอ้คนที่เขียนมาๆ เราไม่รู้จักใครทั้งสิ้นเลย ดูเอาตามตัวหนังสือนี่ ทีนี้คนถามมันเคยถามมา เคยถามมาว่าภาวนาดีอย่างนั้นๆเดี๋ยวคำถาม สักพักมาแล้ว จิตตกขณะนั้นๆ เดี๋ยวคำถามก็จะอย่างนั้นๆ จะให้บอกว่าเหมือนกับให้เรายอมรับความเป็นไปของจิตที่มันขึ้นๆ ลงๆ อย่างนั้นเลยหรือ
เวลาจิตถ้ามันขึ้นมาดี เออ! เราก็ เออ! มันก็น่าสนใจ เขาก็ประสบการณ์ นี่วัตรปฏิบัติของเขา เวลาจิตมันตกมันก็ตกน่ะ เวลาจิตมันตก ความเป็นอยู่ในเพศของสมณะมันทุกข์มันยากน่ะ จิตมันตกแล้ว แล้วเดี๋ยวบอกว่าจิตมันดีตลอดแล้วไม่เคยมีเสียหายอะไรเลย เราว่า อืม! มันแปลก เขียนมาแปลกๆ
“ผมได้นำคำเทศน์ของหลวงพ่อไปพิจารณาแล้ว”
ได้เทศน์ไปอย่างนั้นแหละ ถึงได้เทศน์ไปอย่างนั้น เทศน์ไปอย่างนั้นให้คนได้คิด ให้คนได้คิด เพราะว่าอย่างที่เวลาหลวงตาท่านพูดถึงคนที่ปฏิบัตินะ เวลาพูดไป พูดไปโดยความเห็นของตน เวลาท่านพูดนะ ผู้ที่เขารู้จริงมีอยู่นะ แต่คนที่เขารู้จริงส่วนใหญ่แล้วเขาจะเงียบ เขาจะไม่ค่อยพูด
ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เราพูดออกไป คนรู้จริงมีอยู่นะ
ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เขียนมาๆ จะให้เห็นด้วยๆ ถ้ามันเขียนมามันดีอย่างนั้นมันก็ดีแค่พื้นฐานน่ะ คนเรามันจะแสวงหาจิตใจของตนก่อน นี่สมถกรรมฐาน ถ้าค้นหาได้แล้วยกขึ้นสู่วิปัสสนาได้คือหัดทำงานเป็น เออ! มันจะก้าวหน้าของมันไป แล้วถ้าก้าวหน้าของมันไป คนที่ก้าวหน้า คนที่ประกอบสัมมาอาชีวะเขาประสบความสำเร็จก็เป็นสมบัติของเขา ไอ้เราก็เป็นแค่ที่ปรึกษา ไอ้เราก็เป็นแค่ที่มองดูสังคมมันเจริญงอกงามขึ้นมา มันไม่เป็นสมบัติอะไรของเราเลย แต่สุดท้ายแล้วเวลาเราพูด เราก็ต้องพูดตามความเป็นจริง เพราะธรรมไง
ธรรมไม่มีลูบหน้าปะจมูก ผิดเป็นผิด ถูกเป็นถูก จริงเป็นจริง เว้นไว้แต่เวลาผู้ที่เขียนมาด้วยความทุกข์ความยากก็พูดให้กำลังใจ ภาษาเราก็ยกตูด ว่าอย่างนั้นเถอะ เวลามันทุกข์มันยากมาก็เลียตูด ยกตูดมัน เป่าลมตูดมันให้มันพองเลย ให้มันมีกำลังใจ ก็แค่นั้น ไม่ได้ไปแสวงหาผลประโยชน์อะไรกับใคร
ฉะนั้น เวลามีสิ่งใดมามันก็ต้องพูดจริงเป็นจริง ธรรมะถูกเป็นถูก ผิดเป็นผิดตามนั้น แต่เพียงแต่ว่าถ้ามันเป็นประโยชน์ก็เป็นประโยชน์ แต่ถ้ามันเกินเลยไปอย่างครั้งที่แล้วมันแบบว่ามันเหมือนจะหลอกใช้ ก็เลยว่าไปตามนั้น
นี่พูดถึงว่ามันต้องมีสาระ ถ้ามันไม่มีสาระ ไม่มีสาระอะไรเลยมันก็ไร้แก่นสารการปฏิบัติไง ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธ พระธรรมพระสงฆ์
พระธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม เวลาแสดงธรรมขึ้นมา พระอัญญาโกณฑัญญะมีดวงตาเห็นธรรม สัจธรรมนี้มันมีค่ามาก สัจธรรมนี้สัจธรรมนี้มันสูงส่งมาก แล้วเราจะมาลูบหน้าปะจมูก เราจะมาเล่นขายของกันแล้วก็บอกว่านี่เป็นชาวพุทธ จะประพฤติปฏิบัติ...มันไม่สมไง มันไม่สมกับความเป็นชาวพุทธ มันไม่สมกับกรรมฐาน มันไม่สมกับที่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านรื้อค้นมา มันไม่สมกับครูบาอาจารย์เราสละชีวิตมา มันไม่สมกับความเป็นธรรมฉะนั้น เราถึงพูดไปอย่างนั้น
ฉะนั้น คำถามสิ่งใดมาต้องมีสาระ ถ้ามันไม่มีสาระเลย ไม่มีสาระเลยแล้วกิเลสมันครอบงำด้วย มันก็พลิกไปพลิกมาอยู่อย่างนี้ ฉะนั้น เอาให้จริงๆ เราพูดเพื่อให้เป็นประโยชน์ทั้งนั้นน่ะ ถ้าไม่พูด มันสังคมอย่างนั้นน่ะ สังคมที่ลูบหน้าปะจมูก เออออห่อหมกไปหมด แล้วก็เขียนมาให้พระสงบเห็นด้วยๆ แล้วก็จะไปพูดข้างนอกเลย นี่ไง ถามพระสงบ พระสงบเห็นด้วยๆ ไง
เวลามันเหลวแหลก สังคมเหลวแหลก เราก็โจมตีกันว่าสังคมไม่ดี เวลาจะมาใช้สอยก็จะดึงเข้าไปในสังคมนั้น ฉะนั้น เวลาไม่ได้ดั่งใจก็ว่าไม่ดีทั้งนั้น เวลาจะอ้างก็อ้างแต่ไอ้คนไม่ดีนั่นแหละมันรับประกัน เป็นอย่างนั้นหมดนะ เวลาไม่ถูกใจพระสงบใช้ไม่ได้ ไม่ดี เวลาไปอ้างก็อ้างว่าพระสงบยอมรับ พระสงบเห็นด้วย
อ้าว! ก็คนไม่ดี มันไปเห็นด้วยได้อย่างไร คนไม่ดี ไม่มีเครดิต สังคมเขาจะยอมรับได้อย่างไร นี่เวลาไม่พอใจก็ว่าไม่ดี เวลาจะเอาไปใช้ก็ว่านี่เป็นคนยอมรับแล้วก็เขียนมาๆ ถึงได้เตือนสติ จบ
ถาม : เรื่อง “อาการส้มหล่น”
กราบนมัสการหลวงพ่อเจ้าค่ะ ตามที่หลวงพ่อเคยเทศน์ว่าอาการส้มหล่นเกิดจากอำนาจวาสนา เกิดขึ้นแล้วมันก็หลุดไป แล้วถ้าหากเราปฏิบัติไปเรื่อยๆ อาการส้มหล่นที่เกิดขึ้นนั้นจะสามารถเกิดขึ้นกับเราได้จริงๆ หรือไม่เจ้าคะ
ตอบ : นี่คำถามเนาะ อาการส้มหล่นๆ อาการส้มหล่นคือธรรมมันเกิด คนเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาโดยข้อเท็จจริง เห็นไหม คนที่มีความคิดดีๆ คนที่มีอำนาจวาสนาเขาจะคิดบวกตลอด เขาเรียกว่าโรคคิดบวก คิดบวกเขาจะคิดเพื่อประโยชน์กับเขา คนที่ตกทุกข์ได้ยาก เวลาคิด คิดลบ คิดเห็นแก่ตัว คิดพยายามจะขวนขวายเอาตัวรอด มันเลยไม่รอดไง ถ้ามันไม่รอด นี่พูดถึงว่าสิ่งที่เป็นจริตเป็นนิสัย
ทีนี้เวลาคนสร้างสมบุญญาธิการมา คนที่ทำบุญกุศลมาบ้าง เวลาเรามีศรัทธามีความเชื่อ เราจะประพฤติปฏิบัติใช่ไหม ถ้าประพฤติปฏิบัติเริ่มต้นก็ล้มลุกคลุกคลาน ถ้าไปสังคมที่หลอกลวง สังคมที่ฉ้อฉล เอาธรรมะมาเป็นสินค้ามาหลอกขายกัน เข้าสังคมนั้น ไปอยู่ในสังคมนั้น มันก็อยู่กันแบบแกนๆ อย่างนั้นแล้วก็บอกว่าดีไปด้วยกันทั้งหมด
แต่ถ้าเรามีอำนาจวาสนา เราไปเจอครูบาอาจารย์ที่ดี ครูบาอาจารย์ที่ท่านจะสั่งสอนให้เราพึ่งตัวเองให้ได้ ธรรมะคือการพึ่งตนเองได้ ธรรมะคือจิตใจที่เป็นอิสระ จิตใจที่เป็นศาสนทายาทที่มันสามารถยืนตนขึ้นมาได้ แล้วประพฤติปฏิบัติขึ้นมาจนใจดวงนั้นพ้นจากทุกข์ไป
ใจที่พ้นจากทุกข์นั้น เห็นไหม จากใจดวงหนึ่ง ใจที่พ้นจากทุกข์นั้น จะพ้นจากทุกข์ได้ต้องมีมรรคมีผล ความที่มีมรรคมีผล บุคคล ๔ คู่ จิตใจที่เป็นปุถุชนปฏิบัติขึ้นมาเป็นกัลยาณปุถุชน โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล มรรค ๔ ผล ๔ แล้วก็นิพพาน ๑
ถ้านิพพาน ๑ แล้ว ถ้าจิตใจอย่างนี้ ครูบาอาจารย์ที่เป็นแบบนี้ท่านพยายามจะสั่งสอนเรา ท่านพยายามชักนำเรา ชักนำเราให้จิตใจเป็นอิสระ ให้จิตใจพึ่งตนเองได้ ถ้าพึ่งตนเองได้ นี่มันจะมีมรรคมีผลขึ้นไป เห็นไหม ถ้าเราไปเจอครูบาอาจารย์อย่างนั้น ครูบาอาจารย์พยายามสั่งสอนเรา แล้วเราประพฤติปฏิบัติพยายามทำสิ่งนั้นให้ได้ แต่มันยังทำไม่ได้
ทำไม่ได้ หมายความว่า มันไม่เกิดมรรคเกิดผลขึ้นมา แต่เราปฏิบัติไปปฏิบัติด้วยวัตรปฏิบัติของเรา ด้วยความเป็นจริงของเรา แล้วมันรวมลง มันสงบลง มันมีความรู้ความเห็น นี่ส้มหล่น
ส้มหล่นคือว่ามันเป็นสัจธรรม มันเป็นธรรมสังเวช มันเกิดแล้วมันสังเวช เกิดแล้วมันมีความสุข เกิดแล้วมันมีความฝังใจมาก นี่มันเกิดธรรมสังเวช พอธรรมสังเวชอย่างนี้เกิดแล้วเราควบคุมไม่ได้ เพราะเราไม่ได้ควบคุมมาใช่ไหม เราไม่ได้ทำศีล สมาธิ ปัญญา เราไม่ได้ตั้งสติมา เราไม่ได้ดูแลของเรามา
ถ้าเราดูแลของเรามา เวลาเป็นสมาธิ มันเสื่อมจากสมาธิ เราก็ฟื้นฟูมันมา ถ้าจิตสงบแล้วยกขึ้นสู่วิปัสสนา วิปัสสนาแล้วถ้ามันพิจารณาแล้วมันเป็นตทังคปหานคือมันมีปัญญารอบรู้มันก็ปล่อย ถ้าปัญญามันอ่อนด้อย กิเลสมันฟื้นฟูขึ้นมามันมีมากกว่า มันก็ทำให้การปฏิบัติของเราล้มลุกคลุกคลาน
ถ้าเรามีการกระทำแบบนี้ เรามีการกระทำแบบนี้ ถ้าเวลามันเจริญแล้วเสื่อมเสื่อมแล้วเจริญ เราก็ฝึกหัด เราก็แก้ไข แก้ไขแต่ละชั้นแต่ละตอนขึ้นไปจนถึงที่สุดเวลามันขาด นี่มันเป็นชั้นเป็นตอน เป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป อย่างนี้มันเป็นมรรคเป็นผล มันเป็นบุคคล ๔ คู่ มันเป็นสัจธรรมไง
แต่เวลาเราทำของเรา เวลามันส้มหล่นๆ ส้มหล่นคือมันเป็น มันไม่มีเหตุผลอย่างนี้ไง แบบว่าเราทิศเหนือทิศใต้ หลงทิศ แม้แต่ทิศ เรายังไม่รู้ว่าทางไหนเหนือทางไหนใต้เลย แล้วถนนหนทางเป็นอย่างไรก็ไม่รู้นะ แต่มันรวมลงอย่างนี้ นี่ส้มหล่น
ส้มหล่นเพราะเราไม่รู้ทิศทางใช่ไหม น้ำหนักใช่ไหม ต่างๆ เราไม่ได้ทำเองแล้วมันรวมลง อย่างนี้ส้มหล่น ถ้าส้มหล่นมันก็เหมือนบุญกุศลของเรา เราก็ทำของเราเหมือนกัน แต่มันไม่ชัดเจนไง
มรรคผลมันชัดเจนนะ ครูบาอาจารย์จะให้เราพึ่งตัวเองได้ ให้เรามีสติปัญญาพึ่งตัวเองได้ เราทำจนเป็นประโยชน์กับเรา อย่างนี้มันจะเป็นมรรคเป็นผล
บุคคล ๔ คู่ หลวงตาท่านพูดบ่อย จิตนี้มหัศจรรย์นัก มันเป็นบุคคลได้ ๘บุคคล ตั้งแต่โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล บุคคลคู่หนึ่งๆ ๔ คู่ จิตนี้มันเป็นได้มันพัฒนาขึ้นไปด้วยความสามารถ ด้วยมรรคด้วยผล มันเป็นอย่างนี้ขึ้นไป อย่างนี้เป็นการประพฤติปฏิบัติโดยแนวทางสติปัฏฐาน ๔ โดยความเป็นจริง
แต่ถ้ามันเป็นส้มหล่นๆ มันเป็นส้มหล่นเพราะมันเป็นบุญเป็นวาสนา เป็นบุญวาสนา เราก็พยายามทำของเรา เราก็พยายามทำของเรา ฝึกหัดให้มันเป็นจริงขึ้นมา ฝึกหัดให้มันเป็นจริงขึ้นมา เหมือนกับเราฝึกให้มันทำได้ มันทำได้มันก็ทำของเราขึ้นมา
ฉะนั้นบอกว่า “แล้วถ้าเราปฏิบัติไปเรื่อยๆ อาการส้มหล่นนั้นจะสามารถเกิดขึ้นกับเราจริงๆ ได้หรือไม่”
อาการส้มหล่นนั่นน่ะมันเป็นธรรมสังเวช มันเป็นสัจธรรม เป็นสัจธรรมๆ แต่มันปิดเกมไม่ได้ไง คือมันจบไม่ได้ มันเป็นสัจธรรมอันหนึ่ง แล้วเวลาเรามาปฏิบัติๆ มันจะเป็นสัจธรรมตลอดสายเลย มันไม่ใช่สัจธรรมอันหนึ่ง สัจธรรมจุดหนึ่ง จุดใดจุดหนึ่ง ส้มหล่นๆ คือมันเป็นอาการอาการหนึ่ง มันเป็นระหว่างทางอันหนึ่ง แต่เวลาเราปฏิบัติมันต้องยิ่งกว่าส้มหล่นนะ มันชัดเจนเลย ส้มหล่นเป็นกระบวนการอันหนึ่ง แล้วกระบวนการอันหนึ่งเวลาเราปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญาขึ้นมา
“เวลาถ้าเราปฏิบัติเรื่อยๆ แล้ว อาการส้มหล่นจะสามารถเกิดขึ้นกับเราได้จริงๆ หรือไม่”
ได้ แล้วยิ่งกว่าได้ด้วย ยิ่งกว่าได้ หมายความว่า คิดดูสิ เวลาเราส้มหล่นเรายังรู้ได้เลย แล้วเวลาเราจะรู้จริงขึ้นมานี่มันรู้รอบ รู้รอบกระบวนการของส้มหล่นอยู่ในกระบวนการนั้นด้วย เราก็รู้กระบวนการของศีล ของสมาธิ ของปัญญาด้วย รู้กระบวนการ ถ้ามันขาดสติ มันขาดปัญญา เวลามันส้มหล่น อาการของมัน มันเป็นอาการแบบว่าส้มหล่น แต่ถ้ามันเป็นความจริง อ๋อ! เพราะมันมีอย่างนี้ๆๆ มันถึงมีอาการอย่างนี้ๆๆ แล้วเราก็ทำของเราไปต่อเนื่องๆ ไป มันจะชัดเจนขึ้นมาๆ
อาการส้มหล่นนั่นน่ะมันเป็นกระบวนการหนึ่งในมรรคในผล
“แต่ถ้าเป็นกระบวนการหนึ่ง เวลาส้มหล่นมันก็ต้องมีมรรคมีผลสิ”...ไม่มี
มันเป็นกระบวนการอย่างนั้น มันเป็นกระบวนการที่บุญไง บุญวาสนาไง บุญวาสนาอันหนึ่ง แล้วมันก็เป็นกระบวนการ แต่เราไม่ได้ทำเอง คือมันไม่ปัจจัตตังไม่สันทิฏฐิโก คือกระบวนการทั้งหมดเราไม่ได้ทำของเราขึ้นมา มันไม่ชัดเจนกับเรา เราไม่ได้ทำเอง
ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก ครูบาอาจารย์ของเราสั่งสอนเราให้เราพึ่งตนเองได้ ให้เรามีสติได้ ให้เรามีสมาธิได้ เราฝึกหัดใช้ปัญญาจนมันคล่องตัวขึ้นมาได้ มันเป็นปัญญาขึ้นมา นี่กระบวนการอย่างนี้กระบวนการของมรรค มัคโค ทางอันเอก จิตมันเดินบนกระบวนการนี้ มันก็เดินกระบวนการมรรค ศีล สมาธิ ปัญญา แล้วจิตมันเดินไปด้วยความชัดเจนของมัน เห็นไหม เราทำด้วยมือของเรา เราทำด้วยทุกอย่างของเราพร้อม มันชัดเจนอย่างนี้ แล้วมันชัดเจนอย่างนี้ ผลของมันเกิด ส้มหล่นเกิดอาการปล่อยวาง เกิดอาการที่รู้เห็นแล้วมันว่างหมด แต่เวลากระบวนการของมันที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นด้วยความชัดเจนของเรา กระบวนการมันเกิดขึ้นชัดเจนกว่า ชัดเจนกว่า เห็นไหม
ฉะนั้น “แล้วหากว่าเราปฏิบัติไปเรื่อยๆ อาการส้มหล่นที่เกิดขึ้นนั้นจะสามารถเกิดขึ้นกับเราได้จริงหรือไม่”
ยิ่งกว่าจริงอีกด้วย อาการส้มหล่นเป็นอาการอาการอันหนึ่ง แต่ถ้ากระบวนการที่มันเกิดขึ้นทั้งหมด กระบวนการทั้งหมดเราเป็นคนทำเอง ถ้าเราเป็นคนทำเอง มันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโกนี่ไง
นี่ไง ที่ว่าหลวงตาท่านบอก พระพุทธเจ้ายกให้กับสัจธรรม ยกให้ปัจจัตตังสันทิฏฐิโก ปัจจัตตังเกิดเฉพาะตน สันทิฏฐิโกรู้จากภายในของเรา นี่ความจริงความจริงเป็นแบบนี้ ถ้าความจริงเป็นแบบนี้มันจะเกิดกับเราชัดเจนมากๆ
ฉะนั้น อาการส้มหล่นมันเป็นส่วนหนึ่ง เป็นส่วนหนึ่ง เป็นแนวทางที่ว่าเรามีช่องทาง เพียงแต่ว่าเราจะเข้มแข็ง เราจะทำจริงอย่างนี้หรือเปล่า เราจะมีความสามารถทำให้มันได้อย่างนี้หรือเปล่า
สิ่งที่เป็นอย่างนี้เหมือนเป้าหมายที่เราได้เห็นแล้ว เป้าหมายที่เรารับรู้แล้วว่านี่เป้าหมายของมัน แต่มันยังไม่จบไม่สิ้นกระบวนการ คือว่ามันยังไม่จบ กิเลสยังไม่ได้จับมันชัดเจน ยังไม่ได้จับมันมาไต่สวนชัดเจน เดี๋ยวมันจะเกิดอีก เดี๋ยวมันจะฟื้นมา นี่ไง แต่ถ้าเป็นจริงๆ แล้วจบเลย สิ้นกระบวนการทั้งหมด นี้พูดถึงว่ามันเป็นจริง
ต้องมีสาระ คำว่า “มีสาระ” มีสาระหมดล่ะ สาระตั้งแต่เริ่มต้นตั้งแต่คำถามสาระตั้งแต่ส้มหล่นที่การปฏิบัตินี้ ต้องมีสาระ มีสาระคือมีมรรคมีผล ไม่มีมรรคไม่มีผลมันไม่เป็นสมบัติของเรา สมบัติของเราคือเราต้องทำของเราเอง นี่มันจะเป็นความจริงขึ้นมา
นี่คำถามสด
ถาม : กราบนมัสการหลวงพ่อ ดิฉันจะถามคำถามดังนี้
๑. ดิฉันสงสัยว่าจิตตัวเองบิดเบี้ยว คือจะมีความสุขเมื่อมีความทุกข์ รู้สึกสะใจที่มีความทุกข์ พูดง่ายๆ วันหนึ่งขณะบริกรรมพุทโธ อยู่ๆ ก็ร้องไห้ ความรู้สึกคือทุกข์เหลือเกิน แต่ขณะที่ร้องไห้ก็ยิ้มไปด้วย
อยากทราบว่าเกิดอะไรขึ้นกับจิตดิฉัน การภาวนาจะช่วยแก้อะไรได้หรือไม่จะปฏิบัติตัวอย่างไรให้จิตคืนเป็นปกติ ขณะนี้ทานยาทางจิตเวชอยู่ หมอบอกว่าเกิดจากสารเคมีในสมอง ในการภาวนามีข้อควรระวังอะไรหรือไม่สำหรับจิตที่มีอาการแบบนี้
ตอบ : จิตที่มีอาการแบบนี้ ดูสิ เส้นตรง เวลาเส้นตรงขึ้นมามันจะเป็นประโยชน์ เส้นตรงเรารับรู้กันได้ เส้นโค้ง เส้นหยักฟันปลา นี่ก็เหมือนกัน จิตโดยธรรมชาติของมัน มันต้องเป็นจิตตรง ถ้าจิตตรง จิตที่เราตรง เรามาประพฤติปฏิบัติ เราทำสัมมาสมาธิ พุทโธๆๆ ถ้าจิตมันสงบก็คือมันสงบ แต่ถ้ามันจิตไม่สงบ เขาบอกว่า จิตมันบิดเบี้ยว จิตมันบิดเบี้ยวคือว่ามันจะมีความสุขต่อเมื่อมีความทุกข์
มันจะมีความสุขต่อเมื่อมีความทุกข์ มันเป็นความคิดของเรา มันเป็นความคิดของเรา แต่ถ้ามีการประพฤติปฏิบัติขึ้นไป กระบวนการของมันที่สุด เวลาปฏิบัติมันทุกข์
เขาบอกว่า เวลาจิตมันบิดเบี้ยว มันจะมีความสุขต่อเมื่อมีความทุกข์
เพราะมีความทุกข์ๆ มันสิ้นสุดของความทุกข์มันก็เป็นความสุข สิ้นสุดของความสุขมันเป็นความทุกข์ มันสิ้นสุดของมันไง กระบวนการของมันเป็นแบบนั้นแต่สติปัญญาของเราต่างหากไม่ทันจิตของเราเสียเอง พอจิตของเรามันเป็นเสียเอง แต่เราเองกลับสงสัยจิตของเราเสียเอง
นี่ผู้ถาม จิตเราเป็นเองนะ แต่ถามหลวงพ่อว่าจิตมันบิดเบี้ยวหรือเปล่า บิดเบี้ยวเพราะอะไร เพราะมันจะมีความสุขต่อเมื่อมีความทุกข์ มันรู้สึกสะใจถ้ามีความทุกข์ พูดง่ายๆ มันรู้สึกสะใจว่ามีความทุกข์
มันรู้สึกสะใจหรือมันรู้สึกปล่อยวาง ถ้ามันรู้สึกสะใจ มันก็จะสะใจอยู่อย่างนั้นถ้ามันรู้สึกว่าการปล่อยวาง เห็นไหม เวลามันทุกข์ เวลามันทุกข์ยากๆ อยู่นี่ ถ้าถึงที่สุดแห่งทุกข์มันจะมีความสุขขึ้นมา ที่สุดแห่งทุกข์คือมันปล่อยวางขึ้นมา ถ้ามันปล่อยวางขึ้นมามันต้องแลกมา เราต้องแลกมาด้วยความเพียรของเรา เราลงทุนลงแรงด้วยความเพียรของเรา ถ้าลงทุนลงแรงด้วยความเพียรของเรา ความเพียรมันไปถึงที่สุดไง ถึงที่สุดเพราะอะไร เพราะว่ามันถึงเวลาแล้วมันไม่มีอะไรเป็นที่ยึด มันก็ไปมีความทุกข์มาก แล้วก็ไปเสียใจอยู่กับมัน มันก็เลยมีความสุขขึ้นมา
เออ! เขาว่าอย่างนั้นนะ ก็เลยว่าต่อไปนี้มันจะมีความสุขก็ต้องทำความทุกข์กับตัวเอง นี่มันคิดอย่างนี้
ถ้าเป็นเส้นตรงก็เป็นเส้นตรง ถ้ามันคิดอย่างนี้ปั๊บ เราพูดถึงว่า ถ้ามันจะมีความสุข คือว่าความคิดของตนเชื่อไม่ได้ ความคิดของตนเชื่อไม่ได้ ถ้าความคิดของตนเชื่อได้ว่าเราจะเกิดความสุขต่อเมื่อมีความทุกข์ มันก็จะไปเล็งเป้าหมายตรงนั้นไง
แต่ถ้าความจริงของเรานะ ถ้าเราใช้พุทโธ เราก็มีคำบริกรรมพุทโธไปกับเราเราปรารถนาจะเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรามีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง เรามีรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง เราไม่ต้องหวังพึ่งสิ่งใดเลย เราไม่หวังพึ่งสิ่งใด ถ้าเราหวังพึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราพุทโธของเราไปพุทโธของเราไปแล้วเรามีสติของเราไป
ถ้าจิตมันละเอียด คำว่า “ละเอียด” คือมันพุทโธได้ไง คำว่า “ไม่ละเอียด” คือมันพุทโธแล้วมันแฉลบไง เวลามันพุทโธแล้วมันแฉลบพุ่งไปนู่นพุ่งไปนี่ พุทโธแล้วมันอึดอัด นี่คือมันไม่ละเอียด
ถ้ามันละเอียดนะ พุทโธกับเราเป็นอันเดียวกันไง พุทโธง่ายๆ ไม่ต้องพุทโธมันพุทโธเองเลยนะ เออ! เวลามันละเอียด เดินไปมันพุทโธมันเสียเองเลย เพราะพุทโธกับจิตมันกล่อมกัน มันจะเป็นอันเดียวกันแล้วเพราะมันมีที่พึ่ง พุทโธๆ จนพุทโธไม่ได้เลย นั่นน่ะมันเป็นความจริงของมัน นี่เส้นตรง ถ้าเป็นเส้นโค้ง เส้นโค้งเส้นสลับฟันปลา เส้นต่างๆ มันก็เป็นอย่างนี้ ฉะนั้น เป็นเส้นตรงอย่างนี้ปั๊บ เราต้องยึดพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ก่อน นี่เป็นรัตนตรัย เป็นที่พึ่งของเรา
ฉะนั้น เขาบอกว่า เวลาสิ่งที่เขาเป็นขึ้นมามันทุกข์มาก
มันจะทุกข์มันจะยากอย่างไร เราเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่งเราแนะนำตลอดนะ เราแนะนำทุกๆ คนเลย เวลาเราปฏิบัติกัน เราจะพยายามให้นึกว่าเราปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่าเอาตัวเอาตน อย่าเอากิเลส อย่าเอาความทุกข์ความยากเข้าไปกีดขวางไง
ส่วนใหญ่แล้วเวลาปฏิบัติน่ะ “วันนี้จะเป็นสมาธิไหมนะ ปัญญาจะมาหรือยัง”...มันยังไม่ได้ทำเลย
แต่ถ้าทำนะ จะทำอย่างไรก็แล้วแต่ ถวายพระพุทธเจ้า ทำถวายพระพุทธเจ้าแล้วตั้งใจดีๆ เวลามันเกิดขึ้นมา เออ! สมควรแก่ธรรม ผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ธรรมะจะให้ผล อย่าไปคิด อย่าไปคาดหมาย อย่าไปคาดหวัง ถวายพระพุทธเจ้าเลย ถ้าถวายพระพุทธเจ้าเลย มันเป็นข้อเท็จจริงหมดแล้ว มันเป็นค่าทางเคมี มันเป็นค่าทางฟิสิกส์ ทำเท่าไรได้เท่านั้น ลงเท่าไรได้เท่านั้น ถูกต้อง ไม่ถูกต้อง ไม่ถูกต้องมันก็บิดเบี้ยว ถวายพระพุทธเจ้าเลย แล้วเราทำของเราไป ทำของเราไปเลย แล้วไม่ต้องไปคิดมาก ถ้าจะไปคิดมากมันยุ่ง มันยุ่งเพราะอะไรเพราะเราไม่ทันกิเลสเราเองไง กิเลสมันซ้อนกิเลส
ฉะนั้นบอกว่า เวลาพุทโธไปแล้ว สิ่งที่ว่าเวลามันพุทโธไปแล้วขณะนั้นที่มันจะร้องไห้มันก็ยิ้มขึ้น
มันยิ้มขึ้นคือมันปล่อยวางได้ ทีนี้คำว่า “ปล่อยวาง” ทีนี้มันมาติดตรงนี้ ติดตรงที่ว่า สิ่งที่ว่าเขาปฏิบัติอยู่นี้ เขาว่าจิตของเขาจะคืนสู่ปกติ ขณะนี้ทานยาทางจิตเวชอยู่ หมอบอกว่าเกิดจากสารเคมีในสมอง
ไอ้นี่มันเป็นเรื่องหมอนะ หมอต้องพูดอย่างนั้น หมอพูดอย่างนั้นเพราะเขาเรียนมาอย่างนั้น เขาเรียนมาอย่างนั้นทางวิทยาศาสตร์ แล้วพิสูจน์กันด้วยทางวิทยาศาสตร์ ด้วยเคมี ด้วยต่างๆ เขาก็พิสูจน์อย่างนั้น พิสูจน์ทางอย่างนั้นเพราะอะไร พิสูจน์อย่างนั้นเพราะพอมันมีปฏิกิริยาแล้วมันจะมีอาการอย่างนั้น สารจะหลั่งอย่างนั้น แล้วเขาก็ต้องมียาเข้าไประงับอย่างนั้น นี้พูดถึงว่าทางวิทยาศาสตร์หมอพูดอย่างนั้นก็ถูกของเขา
แต่เราพูดว่า สิ้นสุดของทางวิทยาศาสตร์คือเข้าสู่ธรรม สิ้นสุดของวิทยาศาสตร์เลย ด้วยเหตุด้วยผลของวิทยาศาสตร์แล้ว ธรรมะมันเหนือวิทยาศาสตร์ไง ถ้าธรรมะเหนือวิทยาศาสตร์ เราก็ต้องย้อนกลับมาที่เราไง ถ้าหมอพูดอย่างไร เราก็ทำตามนั้น แล้วเราก็พุทโธเบาๆ
คือว่าเวลาหมอเขาบอกมันเป็นสารเคมี มันหลั่งเคมีออกมา มันต้องมีอะไรเราก็ว่าตามนั้น เราก็คุมยาของเรา แล้วเราก็พุทโธเบาๆ
สิ้นสุดของวิทยาศาสตร์นะ สิ้นสุดของโลกคือธรรม สิ้นสุดของโลกคือธรรมสิ้นสุดของกระบวนการของทางวิทยาศาสตร์ ของทางการแพทย์ แล้วถ้าปฏิบัติต่อเนื่องนั่นคือธรรม ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศีล สมาธิ ปัญญาไปตรงนั้นไง
ฉะนั้น เวลาที่เราดูแลตัวเราเอง เราต้องมียาช่วย เพราะเรากินยาของเราแล้วเพราะว่าอะไร เพราะร่างกาย เวลาสมอง เวลาต่างๆ มันหลั่งสารออกมา เราควบคุมมันไม่ได้ถ้ามันผิดปกติ แล้วเราก็พยายามรักษาใจของเรา แล้วถ้าทุกอย่างมันเข้ารูปเข้ารอยนะ มันจะกลับมาเลย กลับมาเป็นเส้นตรง แต่ตอนนี้มันเป็นเส้นโค้ง จะมีความสุขก็ต้องโค้งไปจักรวาลแล้วค่อยกลับมาไง แต่มันก็เป็นการควบคุมดูตัวเองนะ โดยเส้นตรงและเส้นโค้ง
โดยเส้นตรง เส้นตรงของเรา ศีล สมาธิ ปัญญาเป็นเส้นตรงของเรา แต่ชีวิตของเรา ด้วยความจำเป็นของเรา ด้วยความจำเป็นของใครก็แล้วแต่ที่ผิดปกติทางใด บ้าห้าร้อยจำพวก จำพวกไหนมันก็ชอบของมันทั้งนั้นน่ะ แล้วถ้าได้ตามใจตัวล่ะ แหม! สุดยอด คืนนี้จะภาวนาให้ยอดเลย แล้วไม่ได้ภาวนา นอนทั้งคืนเลยเพราะมันได้ตอบสนองใจมันแล้ว
อยากได้อะไร เขาเอามาให้หมดเลย อื้อหืม! สมบูรณ์แบบ คืนนี้จะภาวนาเต็มที่เลย เพราะบ้าห้าร้อยจำพวกไง มันได้ตามใจมันแล้ว คืนนี้มันจะภาวนา แล้วก็นอนหลับทั้งคืนเลย เพราะมันอยู่ข้างนอก บ้าห้าร้อยจำพวกคือจริตนิสัย
พุทโธ การภาวนาจะเข้าสู่จิตของบุคคลคนนั้น จากข้างนอกไง หลวงตาท่านสอน ว่างข้างนอก เราคิดกันว่างๆ คิดกันให้สุข คิดให้สบาย แต่ข้างในไม่ว่างข้างในทุกข์ยาก มันว่างแต่ข้างนอก แล้วเราก็คิดว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้ปล่อยวาง ให้สู่ความว่าง ให้สู่ความสงบระงับ เราก็ไปสงบระงับกันอยู่ข้างนอก ข้างนอกว่าง สร้างสิ่งเป็นความว่างขึ้นมาหลอกใจตัวเอง การปฏิบัติก็ปฏิบัติเพื่อหลอกใจตัวเอง สร้างแต่ความว่างข้างนอก ข้างในไม่ว่าง
ฉะนั้น สิ้นสุดของโลกคือธรรม สิ้นสุดของวิทยาศาสตร์คือธรรม เราต้องตั้งใจตรงนี้ สัจจะตรงนี้ รักษาตรงนี้ให้เป็นเส้นตรง ให้เป็นเส้นตรงนะ
แล้วถ้าเมื่อมีอาการแบบนี้ มีข้ออะไรควรระวังบ้างจากอาการอย่างนี้
ก็ตั้งสติไว้ ตั้งสติไว้แล้วย้อนกลับมา ชีวิตนี้มาจากไหน ชีวิตนี้ของเรา เราต้องรับผิดชอบ หมอก็ช่วยดูแลแค่นั้น คนรอบข้างก็ช่วยดูแลแค่นั้น เราต่างหาก เราจะเอาอะไร เราจะทำอย่างใดเพื่อจิตของเรา กลับมาที่เรา นี่ไง ครูบาอาจารย์ของเราต้องให้ทุกๆ คนช่วยเหลือตัวเองได้ ทุกๆ คนพึ่งตัวเองได้ ทุกๆ คนมีสติปัญญาเพื่อเอาตนเองรอดได้ เอวัง