ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ชักสื่อ

๗ ส.ค. ๒๕๕๙

ชักสื่อ

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๙

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

ถาม : เรื่อง “สงสัยเรื่องชักนำคู่ครองให้เลิกกันครับ

กราบนมัสการหลวงพ่อ ขอความเห็นเกี่ยวกับเรื่องกิจของสงฆ์ในการชักหรือแยกคู่ครองของชายหญิงว่าสามารถทำได้หรือเปล่าครับ หากว่าสามีภรรยาจดทะเบียนสมรสอยู่กันมา แล้วสามีไปมีกิ๊กถึงขั้นมีลูก ซึ่งภรรยาก็ไม่ค่อยพอใจนัก แต่สามีก็ยังอาศัยอยู่กับภรรยา แต่ส่งเสียกิ๊กกับลูก ซึ่งภรรยาหลวงก็เป็นศิษย์ของพระองค์หนึ่ง พระก็หวังดีว่าไม่อยากให้ลูกศิษย์ซึ่งก็คือภรรยาคนนี้อมทุกข์ พระก็ได้บอกภรรยาให้เรียกสามีให้มาคุยกับพระ แล้วพระก็พูดถึงบาปกรรมว่าการมีคู่ครองหลายคนจะเป็นกรรมหนัก และภรรยาคนนี้ก็ต้องรับกรรมหนักด้วยเช่นกัน เพราะว่าสามีไปมีลูกกับคนอื่น ทำให้สถานะความเป็นเจ้าของของสามีคนนี้ก็คือกิ๊กไปแล้วเพราะมีลูกกัน ภรรยาจะต้องผิดศีลข้อ ๓ ไปตลอดชีวิตถ้ายังอยู่กันอย่างนี้

และพระก็กล่าววาจากับสามีว่า “ให้ปล่อยภรรยาไปเถอะ” สามีเกิดความกลัวว่ากรรมจะตกอยู่กับทั้งตนและภรรยา ผิดศีลข้อ ๓ ทั้งคู่เวลาที่อยู่ด้วยกันตามที่พระบอก ก็จึงทำตามคำบอกของพระแล้ว โดยการเลิกกับภรรยาไป ซึ่งภรรยาก็ยอมเลิกเพราะกลัวผิดศีลข้อ ๓ เช่นกัน

อยากสอบถามว่า กรณีนี้ถือว่าพระต้องอาบัติหรือเปล่าครับ เพราะเห็นในพระไตรปิฎกไม่ได้พูดถึงกรณีนี้ไว้ ขอหลวงพ่อเมตตาช่วยบอกด้วย

ตอบ : ในพระไตรปิฎกมันมีกรณีถึงการชักสื่อ ชักสื่อให้เขาแต่งงานกันหรือทำให้ครอบครัวเขาแตกแยกกัน การชักสื่อนะ ถ้ามันมีการสวดหรือเปล่าไม่รู้ มันเป็นสังฆาทิเสส

การชักสื่อ เพราะสมัยโบราณมันมีไง ในพระไตรปิฎกมันมีพระอุทายีหรืออย่างไรนี่แหละ พ่อผู้หญิงก็เขียนจดหมายฝากพระให้ไปถึงพ่อผู้ชาย พ่อผู้ชายก็เขียนจดหมายฝากพระมาถึงพ่อผู้หญิง พระก็ถือสาส์นไปถือสาส์นมา เขาก็ได้แต่งงานกันไง ชาวบ้านเขาติเตียน

นี่อยู่ในพระไตรปิฎกเริ่มต้นมาอย่างนี้ เริ่มต้นมาตั้งแต่การชักสื่อ ชักสื่อให้เขา เหมือนกับเป็นนายหน้า นายหน้าหาคู่ครองน่ะ ครอบครัวนี้อยากได้ลูกสาวบ้านนั้น ครอบครัวนั้นอยากได้ผู้ชายบ้านนั้น แล้วพูดกันไม่ได้ก็อาศัยพระ อาศัยพระไปพูดให้ นี่มันเป็นสังฆาทิเสส นี่การชักสื่อ นี่อยู่ในพระไตรปิฎกไง

แต่การทำให้คู่ครองแตกแยกมันก็เข้าข่าย ไอ้พูดถึงเวลาคำว่า “อาบัติของการชักสื่อ” ถ้าชักสื่อ มันไม่ควรชักสื่อ มันไม่ควรให้เป็นอย่างนั้น

แต่ถ้าเป็นว่าเขาชอบพอกันเองโดยธรรมชาติของเขา เขาชอบพอกันเอง เขาชอบพอกันเอง อย่างว่ามันกรรมของสัตว์ ถ้ากรรมของสัตว์ ชุมชนไหนเขาไปเห็นกัน เขาไปรู้จักกัน ไอ้นั่นมันเรื่องส่วนตัวของเขา ไอ้นี่เรื่องพระมันแยกตัวออกมาต่างหากไง

สิ่งที่เวลามีแล้ว ส่วนใหญ่แล้วเขาก็คิดว่า ถ้าได้ลูกศิษย์พระมันจะดี พระคงจะอบรมให้เป็นคนดีไง อยากได้คนดีทั้งนั้นน่ะ อยากได้ลูกศิษย์พระ ถ้าได้ลูกศิษย์พระนั่นอีกเรื่องหนึ่งใช่ไหม ถ้าอยากได้ลูกศิษย์พระนั่นเรื่องของเขา แต่ตัวพระเองๆ มันต้องแยกเป็นสองประเด็นไง ประเด็นหนึ่งคือประเด็นของคฤหัสถ์เขา คฤหัสถ์เขามันเป็นเหตุของเขา เป็นเรื่องของเขา

ถ้าเรื่องของพระๆ ดูสิ คำว่า “ความเป็นพระ” ความเป็นพระคือไม่ใช่คฤหัสถ์ เราจะไม่ดำรงชีพแบบคฤหัสถ์ เราจะไม่ดำรงชีพแบบคฤหัสถ์ ถ้าเราจะดำรงตนแบบพระ ถ้าเป็นพระ เราจะทำเรื่องอย่างนี้ไม่ได้ ทำเรื่องอย่างนี้ไม่ได้หรอก

เว้นไว้แต่เวลาคู่ครองของเขา อย่างเรารับรู้เรื่องเยอะ รับรู้เรื่องเยอะ หมายความว่า ทั้งฝ่ายสามีมีทุกข์ก็มาปรึกษา ทั้งฝ่ายภรรยามีทุกข์ก็มาปรึกษา ไอ้นี่คือแสดงธรรม แสดงธรรมคือจะปลดทุกข์ ปลดทุกข์จากใจของเขา แล้วถ้าใจของเขาพ้นจากทุกข์ ใจของเขาเบาบางลงแล้ว ในครอบครัวเขามันก็เบาบางลงทั้งนั้นน่ะ

แล้วในครอบครัวทุกครอบครัวมันก็มีปัญหา ถ้าเขามาปรึกษาเรื่องทุกข์ใช่ไหม มาปรึกษาเรื่องธรรมะ ต้องพูดอย่างนี้ชัดๆ ถ้าเขามาปรึกษาธรรมะ ไม่ใช่ปรึกษาเรื่องหาเนื้อคู่ ถ้าเขาปรึกษาเรื่องเนื้อคู่อีกเรื่องหนึ่ง ถ้าเขาปรึกษาเรื่องธรรมะ เราแสดงธรรมๆ ถ้าอย่างนี้มันไม่เข้าข่ายไง

แต่ถ้ามันเข้าข่าย แล้วกรณีอย่างที่ว่า สิ่งนี้มันเป็นกิจของสงฆ์หรือไม่ คำว่าเป็นกิจของสงฆ์หรือไม่” เพราะอะไร เพราะเขาเรียกมาพูดไง เขาเรียกมาพูดแล้วบอกให้ปล่อยไปเถอะ อะไรเถอะ

โอ้โฮนี่ไปบงการชีวิตเขาเลยหรือ ไปบงการชีวิตเขาเลยหรือ ชีวิตของเขาๆ เพียงแต่พระแสดงธรรมๆ เราพยายามดึงให้เขาสูงขึ้นต่างหาก ให้จิตใจเขาสูงขึ้นๆ พอจิตใจเขาสูงขึ้นนะ

ดูสิ ถ้าพูดถึงจิตใจที่สูงส่ง พระกัสสปะ พระกัสสปะก็ปรารถนาอยากจะบวชตั้งแต่ต้น มีลูกชายคนเดียว แล้วภรรยาก็เป็นลูกสาวคนเดียวเหมือนกัน ปรารถนาอยากจะบวชเหมือนกัน แล้วพอปรารถนาจะบวชขึ้นมา พ่อแม่ก็อยากให้ลูกทั้งสองฝ่ายมีเรือน ก็บังเอิญสองตระกูลนี้เขามาดองกัน

พอดองกัน พระกัสสปะกับภรรยาอธิษฐานร่วมกันว่าเราจะอยู่กันโดยครองคู่โดยชื่อเสียง แต่ว่าโดยความเป็นจริงเราอยู่พรหมจรรย์ แล้วอธิษฐานไว้ไง ก็รอจนพ่อแม่สองฝ่ายเสียชีวิตทั้งคู่ แจกสมบัติทั้งหมดเลย แล้วพระกัสสปะก็ออกบวช

พระกัสสปะในพระไตรปิฎกเรานี่ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถามพระกัสสปะไง “กัสสปะเอย เธอก็อายุเท่าเรา...” คืออายุ ๘๐ เท่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “...เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน ทำไมเธอต้องถือธุดงค์

ถือธุดงค์นะ แล้วไปเก็บผ้าบังสุกุลมาปะสังฆาฏิ ๗ ชั้น แล้วมันหนาไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขอแลกเลย ก็มีองค์เดียวที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขอแลก ขอแลกผ้าสังฆาฏิของพระกัสสปะเป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอาของท่านแลกกับพระกัสสปะ

นี่มันมีมาตั้งแต่ต้น อำนาจวาสนาบารมีโดยตระกูลทั้งสองตระกูลก็อยากจะมั่นคงใช่ไหม นี่ก็มาแต่งงานกัน แต่งงานก็อยู่กันโดยพรหมจรรย์ รอให้พ่อแม่ทั้งสองฝ่ายสิ้นชีวิตไปทั้งหมดเลย สมบัติของสองตระกูลแจกหมดเลย แจกหมดเสร็จแล้วก็ออกบวชเหมือนกันเลย นี่คนมีวาสนาบารมีมันเป็นแบบนั้น ถ้าเป็นอำนาจวาสนาของคนก็เป็นของคน

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เราจะบอกว่า ถ้าในครอบครัวใดก็แล้วแต่ เวลามันจะทุกข์จะยาก เขามีครูบาอาจารย์ เขาก็จะไปปรับทุกข์ พอไปปรับทุกข์นะ ครูบาอาจารย์ท่านก็คอยบอกคอยชี้คอยแนะ ชี้แนะให้มีความสุข ไม่ใช่ไปสร้างปัญหาให้เพิ่มขึ้น

ไอ้นี่ถ้าสร้างปัญหาให้เพิ่มขึ้น เราว่าการชักสื่อ ชักสื่อให้ได้กัน ชักสื่อให้เลิกจากกัน กรณีนี้มันเข้าหมด เพราะชีวิตการครองเรือนนั้นเป็นชีวิตของคฤหัสถ์ ถ้าชีวิตของคฤหัสถ์เขาก็ต้องมีครูมีอาจารย์เป็นที่ปรึกษา ถ้าที่ปรึกษา จะมีทุกข์มียากขึ้นมา เราก็บรรเทาทุกข์เขา แล้วให้อยู่ด้วยกันให้ได้ ให้เป็นไปให้ได้ แต่ถ้าเขาจะพลัดพรากจากกัน อันนั้นมันก็สุดวิสัยๆ แต่พระไม่ใช่ต้นเหตุ

ไอ้นี่ถ้าพูดถึง นี่พูดบอกเลย เพราะไอ้นี่มันอยู่ที่คำถามเนาะ มันเป็นเรื่องของบุคคลที่ ๓ เราไม่เกี่ยว แล้วเราก็ไม่รู้ว่ามันจะเรื่องจริงหรือเรื่องเท็จแค่ไหน

นี่ไง แล้วพระก็เรียกมาพูด คำว่า “พูดว่ามันจะมีกรรมหนักนะ กรรมหนักนะ

มันกรรมอะไร มันกรรมอะไร มันกรรมของสามีที่ผิดศีล แล้วภรรยามันผิดศีลที่ไหนล่ะ ภรรยาไปทำอะไรภรรยาถึงมีกรรมอะไรหนัก ภรรยาทำอะไรด้วย ภรรยาไม่เห็นทำอะไรเลย ภรรยาเขาก็เป็นภรรยาที่ดี สามีต่างหากไปมีกิ๊ก แล้วสามีต่างหากเป็นผู้ผิดศีล ภรรยาผิดไปด้วยหรือ ภรรยาไม่เห็นผิดตรงไหน แต่ภรรยาทุกข์ไหม ทุกข์สิ แหมคู่ครองไปมีกิ๊ก ใครจะไม่ทุกข์ ไอ้ทุกข์ก็ทุกข์เกือบตาย แต่บาปหนักกรรมหนาอะไรก็ว่ากันไป

นี่พูดถึงเราจะบอกว่า เราก็ได้แต่ดูตามตัวอักษรนะ เราก็ไม่อยู่ในเหตุการณ์ว่าใครทำอะไร ใครผิดอย่างไร แต่ถ้าเป็นการพูดอย่างนี้ พระให้เรียกมาคุยกัน พอเรียกมาคุยกันแล้วมันจะเป็นกรรมหนัก กรรมหนักทั้งสามี กรรมหนักทั้งภรรยา กรรมหนักเลย

เวลาทางโลกเขาบอกว่า เอาบุญมาเป็นสินค้า เอาบุญเอากรรมมาขู่กรรโชกทรัพย์ เวลาเราเห็นภาพอย่างนั้น เราเห็นแล้วน่าสังเวช แล้วถ้าพูดถึงเอาเรื่องเวรเรื่องกรรมมาข่มมาขู่กันอย่างนี้ แล้วใครไปข่มไปขู่ล่ะ

การชักสื่อก็เรื่องหนึ่งนะ แต่กรณีนี้ไปเห็นแล้วมันแปลกๆ มันแปลกๆ นะ มันแปลกๆ ให้ปล่อยเขาไปเถอะ ปล่อยไปไหนล่ะ ให้สามีปล่อยภรรยาไปเถอะ แล้วสามีก็ปล่อยไปจริงๆ ก็เลิกกันไป นี่ตามคำที่เขาพูดมานะ ปล่อยไปแล้วนะ แล้วปล่อยไปแล้ว แล้วใครจะไปดักเอาอยู่ข้างหน้าล่ะ นี่พูดถึงเรื่องของเขานะ

ทีนี้เพียงแต่ว่า “อยากจะสอบถามกรณีนี้ ถือว่าพระต้องอาบัติหรือเปล่าครับ เพราะไม่เห็นในพระไตรปิฎก

พระต้องอาบัติหรือเปล่าครับ” มันก็อยู่ที่เจตนา มันเป็นทั้งนั้นน่ะ ถ้าพูดถึงเรื่องธรรมวินัยนะ ถ้าศึกษาๆ แล้วมันควรศึกษา ชาวพุทธ ศีล ๕ ต้องรู้อยู่แล้ว ฉะนั้น เวลาศีล ๕ พระกรรมฐานเราเวลาเทศน์เรื่องศีลท่านจะไม่ค่อยพูดถึง เพราะถือว่ามันเป็นเรื่องปกติของชาวพุทธ มันเป็นเรื่องปกติของเรา เราต้องรู้ มันเป็นเรื่องปกติ คนเราเกิดมาต้องกิน คนเราเกิดมาต้องมีที่พึ่งอาศัย มันเป็นสิ่งที่ต้องมีต้องรู้อยู่แล้ว ไม่ต้องไปบอกกันมันก็ต้องรู้ แล้วมาพูดแต่เรื่องจ้ำจี้จ้ำไชอย่างนั้นน่ะ แต่เรื่องสมาธิ คนรู้ไม่ได้ ฉะนั้น ครูบาอาจารย์ของเราท่านเทศนาว่าการท่านจะเทศน์เรื่องทำความสงบของใจเข้ามา

เรื่องศีล แล้วโดยทั่วไปก็บอกว่า ทำไมพระไม่เทศน์เรื่องศีล ไม่ขอเรื่องศีล

เวลากินข้าวต้องถามพระหรือเปล่าวะ เวลากินข้าว เอ็งก็กินเองทั้งนั้นน่ะ ไม่ถามเลย ตักขึ้นมาช้อนนี้เข้าทางทวารไหนครับ เข้าทางหูหรือทางตา...มันก็เข้าทางปากทั้งนั้นน่ะ

นี่ก็เหมือนกัน ศีล ๕ ศีล ๕ ถ้าเป็นชาวพุทธมันก็ต้องรู้ของมันนะ นี่พูดถึงศีลไง ถ้าศีลมันเป็นแบบนั้น ถ้าศีลเป็นแบบนั้น ทีนี้สิ่งที่ว่า ไอ้คนถามมามันสงสัยเฉยๆ คนถามมามันก็ไม่ใช่เป็นเจ้าทุกข์เนาะ แต่เขาถามมาเพราะสงสัย สงสัยกรณีชักสื่อนะ

ถ้าพูดถึงการชักสื่อ เราบวชใหม่ๆ ขนาดว่าบวชใหม่ๆ ไฟแรงมาก แล้วพระก็บวชใหม่ๆ ด้วยกัน เวลาเขานิมนต์ไปงานนะ ตอนบวชใหม่ๆ เป็นพระผู้น้อย เราไปฉันที่บ้านมาเยอะ ขึ้นบ้านใหม่ งานสวดศพ ไปสวดมาหมดแล้วแหละ

แล้วทีนี้ไปงานมงคลนี่ไง ไปงานแต่งงาน พระบางองค์เขาบอกเขาไม่อยากไป ไม่อยากไปเพราะว่าเราเป็นส่วนร่วมไง เขาคิดว่าเป็นการชักสื่อไง เพราะว่าถ้างานมงคลสมรส ถ้าพระไม่ไปสวด งานจะเสร็จไปไม่ได้ พระต้องไปสวดให้เขาไปมีคู่อีก พระบวชใหม่คิดกันขนาดนี้นะ ไอ้กรณีคิดอย่างนี้เราก็คิดได้ ใครก็คิดได้ โยมก็คิดได้ทั้งนั้นน่ะ แต่มันผิดกฎหมายหรือไม่ผิดกฎหมายไง อย่างนี้มันก็ต้องทนาย ทนายเขาจะชัดเจนเรื่องกฎหมายใช่ไหม แล้วชัดเจนเรื่องกฎหมาย อย่างนี้เข้าองค์ประกอบของความผิดไหม แล้วถ้าเข้าองค์ประกอบความผิด มันผิดมากไหม

นี่ก็เหมือนกัน เราก็คิดเอง เราก็คิด คิดว่าเรามีส่วนไหม เราก็มีส่วนจริงๆ นะ เรามีส่วน แต่ความผิดมันครบองค์ประกอบ มันเป็นความผิดไหม แต่ตอนที่เราบวชใหม่ๆ พระคุยกัน คุยกันอย่างนี้ เวลาไปงานมงคลสมรสไม่อยากไป เพราะถือว่าเรามีส่วนเหมือนกับการชักสื่อให้เขาได้เป็นคู่ครองกัน นี่คุยกันขนาดนั้นนะ นี่เวลาเราบวชใหม่ๆ ไง แต่ตอนนี้บวชมาเก่าแล้ว บวชมาเก่าแล้วคือยกเลิกหมดเลย กิจนิมนต์ไม่มี

เพราะไปอยู่กับหลวงตา หลวงตาท่านเป็นคนพูดเอง กิจนิมนต์นะ กว่าเขาจะเอารถมารับไปสวดมนต์ สวดมนต์เสร็จกว่าจะฉัน ฉันเสร็จแล้วกลับมา ล้างบาตรเสร็จบ่ายสองโมง บ่ายสองโมง อย่างน้อยๆ ก็บ่ายโมง ไปฉันเช้าเสียเวลาไปวันหนึ่งแล้ว แล้วเวลานั่งรถไปนั่งรถมา แล้วไปในงานมันไปเห็นแสงสีเสียง มันไม่เป็นประโยชน์อะไรเลย กลับมาก็ต้องมาลบภาพนั้น เพราะเราจะทำความสงบของใจ มันไม่เป็นประโยชน์กับการปฏิบัติเลย แล้วถ้าไม่เป็นประโยชน์กับการปฏิบัติเลย

ทางโลกเขาบอกว่า พระปฏิเสธกิจนิมนต์ไม่ได้ ต้องรับกิจนิมนต์

วัดเยอะแยะไป พระที่เขาศรัทธาก็มี อย่างของเรามาอยู่โพธารามตั้งแต่ปี ๒๕๓๐ ไม่มีกิจนิมนต์เลย ไม่เห็นเป็นอะไรเลย พระเต็มไปหมดนะ อำเภอโพธาราม วัดเป็นร้อยๆ วัด พระจะเอาเท่าไร นู่น เชิญตามสบาย

ของเรามันพระปฏิบัติ เราจะปฏิบัติ ไม่เคยรับกิจนิมนต์เลย เมื่อก่อนนะ จะไปก็ไปแต่งานหลวงตา เวลาหลวงตาโครงการช่วยชาติฯ ถ้าพอไปได้ ไป ถ้าพอไปไม่ได้ มันไกลนักก็ไม่ได้ไป นี่พูดถึงว่าเรื่องกิจนิมนต์นะ นี่กิจนิมนต์

ถ้าเรื่องการชักสื่อๆ เราจะบอกว่า มันอยู่ที่การเอื้อเฟื้อในธรรมวินัยหรือไม่เอื้อเฟื้อในธรรมวินัย ถ้าเอื้อเฟื้อในธรรมวินัย มันจะเคารพบูชาในธรรมวินัย ถ้าไม่เอื้อเฟื้อ กฎหมายบัญญัติให้เป็นคนดี ธรรมวินัยบัญญัติเลย พระบวชแล้วต้องเป็นพระอรหันต์หมดเลย มันไม่มี กฎหมายบังคับใช้ แต่คนเลี่ยงกฎหมาย คนพยายามหลบเลี่ยงเยอะแยะไปหมด แต่ถ้าใครทำทัณฑ์ก็เอามาปรับโทษกัน ถ้าไม่ทัณฑ์ก็แล้วไป แต่กรรมมันไม่มี กรรมมันให้ผลตลอด

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเขาเอื้อเฟื้อ เอื้อเฟื้อในธรรมวินัยมันก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่นี่ภาษาเรา เจ้าหน้าที่ ไอ้เรื่องกฎหมายก็เอามาเป็นผลประโยชน์ของตนไง หาผลประโยชน์จากกฎหมายนั้น

นี่ก็เหมือนกัน เป็นพระนะ เดี๋ยวจะเป็นกรรมหนักนะ ปล่อยเขาไปเถอะ สุดท้ายแล้วเขาก็บอกว่าเขาก็เลิกกันไป นี่พูดถึงคนถามเขาว่านะ เขาว่าอย่างนี้ผิดศีลหรือไม่

เราถึงบอกว่า เราไม่อยู่ในเหตุการณ์นั้น เราจะคาดคะเนว่ามันจะขนาดไหน แต่ถ้าเราคิดว่ามันไม่สมควร มันไม่สมควรหรอก ความจริงถ้ามันจะเลิกมันต้องเลิกกับกิ๊ก ถ้าเราเป็นพระองค์นั้นนะ ต้องบอกเลยว่า อ้าวเขาเป็นสามีภรรยากันมาก่อน แล้วเขาไปมีกิ๊ก แล้วนี่บอกว่าให้เลิกกับภรรยาของตน ให้ไปอยู่กับกิ๊ก บอกว่ามันเป็นสมบัติของกิ๊กไปแล้ว

อืมพระองค์นี้รู้สึกว่าเขาตัดสินได้ แต่เราคงตัดสินไม่ได้ เราไม่มีสิทธิ์ไปตัดสินชีวิตใคร แต่เขาคงตัดสินกันได้ ฉะนั้น จะเป็นอาบัติหรือไม่เป็นอาบัติ นั่นกรรมมันเกิดแล้ว เขาทำของเขาแล้ว จบแล้ว จบ

ถาม : เรื่อง “การสมาทานศีล ๘

กราบนมัสการพระอาจารย์ที่เคารพ กราบขอโอกาสท่านอาจารย์ได้โปรดพิจารณาให้ความชัดเจนเกี่ยวกับการสมาทานศีล ๘ ด้วยเจ้าค่ะ

ตามปกติการสมาทานศีล ๘ จำเป็นต้องมีคำว่า “วิสุง วิสุง” เหมือนการสมาทานศีล ๕ หรือเปล่าคะ

ถ้าหากคำว่า “วิสุง วิสุง” จะมีผลอย่างไรกับการรักษาศีล ๘ คะ

เคยได้ทราบมาว่าการสมาทานศีล ๘ จะไม่กล่าวคำว่า “วิสุง วิสุง” และหากศีล ๘ ของตนขาดข้อใดข้อหนึ่งหมายถึงศีลขาดทุกข้อ หรือต้องสมาทานใหม่หมดใช่หรือเปล่าเจ้าคะ

ตอบ : นี่พูดถึงเขานะ

วิสุง วิสุง” เวลาเขาอาราธนาศีล ๕ อาราธนาศีล ๕ เราอยู่บ้านตาด ตอนที่อยู่บ้านตาดนะ ท่านก็ให้ศีลอยู่ ท่านให้ศีลวันพระ ถ้าวันพระเขาจะอาราธนาศีล แล้วหลวงตาท่านจะให้ศีล พอถึงศีล ๘ ท่านบอกว่าศีล ๕ ครบแค่นี้ แล้วท่านจะให้ศีล ๘ ต่อไปเลย พอให้ศีล ๘ เสร็จแล้วท่านก็ให้กลับไปภาวนาที่บ้าน แล้วถ้าวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ท่านจะเทศน์ตอนเช้า เทศน์เสร็จแล้วท่านบอกว่ากลางคืนไม่ต้องมานะ ใครมาจะดักตีหน้าแข้งเลย

เวลาท่านให้แล้วท่านให้ประพฤติปฏิบัติ แล้วเวลาท่านเทศน์ของท่าน ท่านเทศน์ของท่าน บอกเวลารับศีลไปแล้วถ้าไม่ปฏิบัติมันก็เป็นศูนย์ เป็นศูนย์ไง มันไม่มีศีลไง คำว่า “เป็นศูนย์” ไอ้เรื่องอาราธนาขอจากพระ ให้พระเป็นพยานเท่านั้นไง ให้พระเป็นพยาน

หลวงปู่ฝั้นท่านบอกนะ ศีล ๕ ศีล ๕ คือศีรษะ ๑ แขน ๒ ข้าง เท้า ๒ ข้างเป็นศีล ๕ คือศีล ๕ มันมีประจำอยู่กับมนุษย์อยู่แล้วไง

ศีล ๕ เพราะอะไร เพราะศีล ๕ อาราธนาศีล ขอศีล มันเป็นเพียงเหมือนเราประกาศตนน่ะ ประกาศตนแล้วให้พระเป็นพยานเท่านั้นน่ะ แต่ถ้าศีลมันจะเกิดจากเราไม่ก้าวล่วง ข้อบังคับ ๕ ข้อ ข้อบังคับ ๘ ข้อ ข้อบังคับ ๒๒๗ ข้อ ข้อบังคับ ศีลคือข้อบังคับ คือกฎหมาย ถ้าเราไม่ทำล่วงกฎหมาย เราก็ไม่ผิดศีล

แล้วถ้าเราไม่ทำล่วงกฎหมาย โดยทั่วไปเราก็ขอศีล ขอศีลกันจนเป็นประเพณีไง พอขยับที่หน่อยก็ต้องขอศีลๆ จนพระกรรมฐานเราบอกว่ามันเป็นพิธีกรรมจนเกินไป ท่านก็เลยแบบว่าให้วิรัติเอา วิรัติเอาคือตั้งใจ วิรัติเอา แล้วถ้าปฏิบัติไปๆ คนจริงๆ แล้วมันเกิดจากศีลโดยอธิศีล มันเป็นศีลโดยหัวใจเลย

ฉะนั้น กรณีเรื่องศีล เวลาถ้าเป็นงานพิธีกรรม การขอศีล การอาราธนาศีล เราเห็นด้วย เพราะคำว่า “พิธีกรรม” พิธีกรรม ถ้ามันไม่มีพิธี มันจะเป็นกรรมได้อย่างไรล่ะ มันก็ต้องมีพิธี มันถึงจะเป็นกรรม ฉะนั้น คำว่า “พิธีกรรมต่างๆ” เขาจัดเป็นพิธีกรรม เป็นเรื่องศาสนพิธี มันก็ต้องให้ถูกต้องตามนั้น เวลาเขามีพิธีกรรม มีงาน มีงานขึ้นบ้านใหม่ มีอะไร เขาต้องมีพิธีกรรม ก็ต้องอาราธนาศีล แต่เป็นเรื่องปกติ มันอาราธนาศีลอะไรกัน ในวัดอาราธนาแล้วอาราธนาอีก มันอะไรกัน

แล้วอย่างของเรา เราอาราธนาแล้ว แล้วถ้าเราไปในพิธีกรรม เราไปในงานเขาก็เพื่อเจ้าภาพ เพื่อสังคม เขาอาราธนาศีล เราก็อาราธนาไปกับเขา แต่โดยปกติเรามีสมบูรณ์อยู่แล้ว แล้วถ้าเรามาไม่ทัน เรามาไม่ทันในงาน เขาอาราธนาเสร็จแล้ว โอ๋ยเราจะไม่มีศีล

เรามีมากกว่า เพราะเรามีอยู่แล้ว ไม่ต้องไปห่วง แต่มันเป็นพิธีกรรมๆ นะ มันเป็นมารยาทสังคมน่ะ เราจะบอกว่าสิ่งที่เขาทำๆ นั้นผิดหรือ มันก็ไม่ผิด มันเป็นศาสนพิธี

พระพุทธศาสนามันอยู่ได้อย่างไร พระพุทธศาสนาจะอยู่ได้อย่างไรถ้ามันไม่มีพิธีกรรมเลย ไม่มีวัฒนธรรมเลย แล้วมันจะมีการปฏิบัติได้อย่างไรล่ะ

ทีนี้การปฏิบัติมันก็มาจากวัฒนธรรมต่างๆ ขึ้นมา ฉะนั้น พอวัฒนธรรมต่างๆ ขึ้นมาแล้ว พอมันโตขึ้นมา โตขึ้นมาแล้ว ไอ้คำ “วิสุง วิสุง” จะมีหรือไม่มีนั่นอยู่ที่ที่ จะบอกว่าจังหวัดหนึ่งมี จังหวัดหนึ่งไม่มี หมู่บ้านหนึ่งมี หมู่บ้านหนึ่งไม่มี หมู่บ้านนี้อาราธนาศีลชัดเจนกว่าหมู่บ้านนั้น ไอ้นี่มันอยู่ที่ว่าผู้นำหมู่บ้าน ผู้นำเป็นชั้นๆ ไป แต่ถ้ามันจบจากกระบวนการนั้นมันก็กระบวนการนั้น นี่พูดถึงเรื่องอาราธนาศีล

หากว่าถือศีล ๘ ของตนขาดไปข้อใดข้อหนึ่งหมายถึงว่าศีลขาดทุกข้อหรือเปล่าคะ

โอ้มันจะทำอย่างไรล่ะ ศีลขาดก็คือศีลขาด ศีลขาดก็คือต่อ ถ้าต่อศีลก็ขอศีลใหม่ แต่ถ้าศีลขาดนะ อย่างกรรมฐานเรา ถ้าศีลขาด ศีลขาดก็วิรัติเอาใหม่เลย

มันมีอยู่ในพระไตรปิฎก มันมีชาวประมงไปหาปลาอยู่ เขาเป็นชาวประมง เขาลากอวนมาปลาเต็มเรือเลย แล้วกำลังจะเข้าฝั่ง เกิดพายุลมแรง เกิดพายุมาปัจจุบันทันด่วน เรือมันจะคว่ำไง เขาวิรัติเลย “ข้าพเจ้าขอถือศีล ๕ ด้วยความสะอาดบริสุทธิ์” แล้วเรือก็คว่ำ เขาก็ตาย

เขาไปลากมานะ ฆ่าสัตว์มานะ ลากปลามาเต็มเลย แล้วเรือคว่ำกลางทะเลเลย ตายเดี๋ยวนั้นเลย ไปเกิดอยู่บนเทวดา เพราะจิตใจเขาไง คนเรามันถึงเวลาตายมันเกาะศีลเลยนะ ทั้งๆ ที่เขาเพิ่งฆ่าสัตว์มานะ แล้วนี่เขาไปขอศีลกับใคร อยู่ในพระไตรปิฎกชัดเจนมาก เราอ่านมา เพียงแต่จำชื่อไม่ได้นะ เป็นชาวประมง

กรณีอย่างนี้มันมีนะ แต่มันต้องคนใจเด็ดไง ที่เขาพูด ชื่ออะไรที่เขาเป็นอะไรที่ว่าออกรบกลับมาแล้วชนะไง แล้วให้เป็นกษัตริย์ แม่ทัพ เมาหยำเปเจ็ดวัน แล้วพระพุทธเจ้าบอกว่านี่จะสำเร็จเป็นพระอรหันต์

โอ้โฮประชาชนหัวเราะกันใหญ่เลย เพราะเมาหยำเปเลยนะ กำลังเมาแอ้ๆ เลย เพราะรบกลับมาชนะ ชนะมาก็ฉลอง ฉลองให้เป็นกษัตริย์เจ็ดวัน โอ้โฮเมาแป้เลย ทีนี้พอเมาๆ อยู่ ภรรยาตายต่อหน้า ตายปัจจุบันทันด่วนเลย โอ้โฮช็อกเลยนะ รักที่สุด เราไปชนะมาด้วยกันนะ เราก็มีอำนาจด้วยกันนะ มันด้วยความเสียใจสุดๆ ไง พอเสียใจสุดๆ สติมันกลับมาไง พิจารณาเดี๋ยวนั้นเลยนะ ไปได้ ฉะนั้น กรณีอย่างนี้มี ในพระไตรปิฎกมีอยู่บ้าง แต่ใครจะทำได้ขนาดนั้นล่ะ ใครจะทำได้ คนจะทำได้มันต้องมีวาสนามาก อำนาจวาสนาของเขาต้องมีของเขา ถ้ามีของเขา

นี่มันคิดอย่างนั้นไม่ได้ โอ๋ยถ้าเป็นอย่างเรานะ เมาแป๋เลย ภรรยาตายหรือ เรากระโดดเข้ากองไฟเลย ตายพร้อมกัน ใครมันจะคิดได้ ภรรยาตาย กูก็กินยาตายตาม มันไม่ได้คิดหรอกว่าสติมันจะฟื้น

โธ่เหตุการณ์หนึ่งนะ คนไม่มีอำนาจวาสนาบารมีนะ ความคิดมันแตกต่างกันทั้งนั้นน่ะ มันไปไม่ได้หรอก แต่คนจะคิดอย่างนั้นได้ โอ้โฮต้องมีวาสนามามาก นี่พูดถึงว่าถ้าวาสนาของคนนะ

ฉะนั้น นี่พูดถึงว่า เวลาศีลของเราขาดข้อใดข้อหนึ่งก็ขาดข้อนั้นน่ะ ทำอาบัติข้อใดหรือทำความผิดอย่างใดมันก็ให้เหตุผลอย่างนั้นน่ะ ไอ้ที่ทำความผิดน่ะ เราทำความผิดข้อหนึ่ง จะให้เราผิด ๕ ข้ออย่างนี้ มันเกินไป เวลาคนเราคิด คิดกันอย่างนี้ ศีล ๕ ใช่ไหม ปาณาติปาตาฯ เราฆ่าสัตว์ล่วงไปมันก็ผิดศีลข้อนั้น ไม่ได้ลักทรัพย์นี่ ไม่ได้โกหกใครนี่

ไม่ใช่ผิดศีลข้อหนึ่งก็ผิด ๕ ข้อเลย ผิดศีล ๘ ผิดข้อหนึ่งก็เท่ากับผิด ๘ ข้อ ไม่ใช่หรอก ทำอะไรผิดก็ผิดแค่นั้น แก้กันตรงนั้น แล้วแก้แค่นั้น จบแค่นั้น แล้วจบแค่นั้นแล้วตั้งสติ อย่าทำมันผิดอีก ตั้งสติให้ได้แล้วไม่ทำความผิดมากไปกว่านั้นมันก็ไม่ผิด นี่ถ้ามันเป็นอย่างนั้น นี่พูดถึงศีลนะ

ฉะนั้น มันมีอีกข้อหนึ่ง

ถาม : “ไม่มีคำถามค่ะ กราบขอบพระคุณ เข้าใจถ่องแท้แล้วค่ะ

ตอบ : ข้อนี้พูดถึงวาสนาไง วาสนาบารมีที่ครั้งที่แล้ว วาสนาบารมีก็พูดไป พูดให้มีสติเท่านั้นน่ะ เพราะอะไร เพราะเรื่องวาสนาๆ คนที่มีวาสนานะ วาสนา ดูสิ เวลาหลวงตาท่านพูด ท่านพูดบ่อยนะ ก่อนที่จะออกมาโครงการช่วยชาติฯ หลวงตาท่านบอกว่า “เราเป็นคนวาสนาน้อย เราเป็นคนวาสนาน้อย” ทั้งๆ ที่คนแบบหลวงตานี่หรือวาสนาน้อย

หลวงตาอยู่กับหลวงปู่มั่นนะ หลวงปู่มั่นประกาศกับสงฆ์เลย เพราะหลวงปู่เจี๊ยะเล่าให้ฟัง บอกว่า จะมีพระหนุ่มๆ องค์หนึ่งจะเป็นที่พึ่งของทางโลกและทางธรรม

ทางโลก โครงการช่วยชาติฯ ทางธรรมคือเข้าหัวใจ แสดงว่าต้องมีวาสนามากถึงเข้าเรดาร์ของหลวงปู่มั่น แล้วหลวงปู่มั่นก็รอ รอพระหนุ่มๆ องค์นี้ เวลาใครมาๆ เวลามีพระเข้ามา หลวงปู่เจี๊ยะท่านไปอุปัฏฐาก ไปถาม “ใช่องค์นี้ไหม

ไม่ใช่

ใช่องค์นี้ไหม

ไม่ใช่

เวลาหลวงตาเข้าไป “ใช่องค์นี้ไหม

ไม่พูด เฉย เฉยเลยนะ

แต่เวลาท่านพูดท่านบอกว่าท่านวาสนาน้อยๆ

เราจะบอกว่า วาสนามันมีประจำจิตอยู่แล้ว ใครทำมามันฝังอยู่ที่จิต แต่มันสำคัญตรงนี้มากนะ ใช้อำนาจวาสนาไปทางบวกหรือทางลบ ถ้าใช้ไปทางบวกมันจะบวกมากๆ ขึ้น ใช้ไปทางลบมันจะทำให้จิตใจมีเวรมีกรรมไปไง

มันอยู่ที่วาสนามันมีแล้วเราทำอะไรต่อเนื่องไป ทำดีหรือไม่ทำดี วาสนามันส่วนวาสนา วาสนานะ อำนาจวาสนาบารมี เห็นคนไหม คนที่มีอำนาจวาสนาบารมีมากเลย เขาทำแต่กรรมชั่ว เขาทำแต่ความเลวทรามของเขา เขามีโอกาสทำดีทำไมเขาไม่ทำ เห็นไหม นี่วาสนาก็เป็นวาสนาไง

ทีนี้จะย้อนกลับมาที่หลวงตาหรอก มันคิดได้ เวลาเขาขอบคุณมาไงขอบพระคุณ เข้าใจแล้วค่ะ

เขาเข้าใจ วาสนามันส่วนวาสนา อำนาจวาสนาเราแข่งกันไม่ได้ แข่งเรือแข่งพายแข่งได้ แข่งอำนาจวาสนาบารมีกันไม่ได้ แต่ใครมีอำนาจวาสนาบารมีแล้วจะทำความดีเพิ่มขึ้น หรือจะเอาวาสนาโอกาสนั้นไปทำเห็นแก่ตัวไง ไปทำชั่วให้ตัวเองมีกรรมชั่วไง วาสนามันไม่มีดีและไม่มีชั่ว แต่คนที่ไปทำทำดีหรือชั่วนั่นน่ะ อาศัยอำนาจวาสนาอันนั้น ถ้าอำนาจวาสนามันดี มันมีอยู่แล้วนะ แล้วมันสร้างความดีเพิ่มขึ้นๆ มันจะเจริญขึ้น ถ้ามีอำนาจวาสนาแล้วไปทำความชั่ว มันลบหมดเลย กลับไปได้บาปได้กรรมน่ะ นี่พูดถึงว่าวาสนา

ฉะนั้นว่า วาสนามันจะสำคัญหรือไม่สำคัญ ครั้งที่แล้วเขาถามปัญหามาไงว่า วาสนาบารมีมันสำคัญจริงหรือ

มันสำคัญจริงไม่สำคัญจริง เวลาหลวงตาท่านพูดนะ ท่านพูดบ่อยมาก “เราเป็นคนอำนาจวาสนาน้อย

แหมฟังแล้วมันจั๊กกะจี้

ท่านพูดบ่อยนะ “เราเป็นคนวาสนาน้อย เป็นคนวาสนาน้อย

นี่ไง ท่านมีอำนาจวาสนา ท่านไม่เหิมเกริมไง ท่านไม่เหิมเกริม ท่านไม่คิดว่าอำนาจวาสนาจะไปทำเอารัดเอาเปรียบใครไง ท่านมีอำนาจวาสนา ท่านอยู่กับหลวงปู่มั่นท่านบอกว่าเหมือนกับบ๋อยกลางวัดเลย เพราะท่านเป็นผู้บริหารจัดการดูแลวัดหมดเลย ถ้าวันไหนลมแรง มันเป็นป่าใช่ไหม พอป่า ลมมันมา ใบไม้มันจะร่วงเต็มเลย เช้าขึ้นมา ฝนตกขึ้นมา ถ้าท่านไม่พาทำก่อน จะไม่มีใครกวาดเลย นี่คนมีอำนาจวาสนาต้องเป็นหัวหน้า เป็นคนพาทำ จะทำอะไรต้องออกหน้าๆ

ท่านบอกท่านเหมือนบ๋อยเลย บ๋อยๆๆ ก็พาพระทำงานไง ท่านถึงบอกว่าท่านมีอำนาจวาสนาน้อย แต่จริงๆ ท่านมีอำนาจวาสนามาก

เพราะว่าถ้าเราเป็นคนมีอำนาจวาสนาน้อย อย่างเราไปพาเขากวาด เขาก็ไม่กวาดหรอก ถ้าเราไปกวาดนะ กูกวาดคนเดียว ไม่มีใครกวาดตามเลย วัดทั้งวัด กูต้องกวาดอยู่คนเดียว ไม่มีใครเอาด้วย ถ้าคนไม่มีวาสนา ไม่มีใครทำตามไง

แต่นี่เวลาลมพัดมาใบไม้เต็มวัดเลย ท่านบอกว่าท่านต้องกวาดลงเป็นคนแรกเลย พอหลวงตาลง พระก็ลงตามไปไง แล้วมีวันหนึ่งฝนตก ใบไม้ตกเต็มเลย แล้วเสียงเงียบกริบ หลวงปู่มั่นต้องเรียกพระมาเลยน่ะ เรียกพระมา พอเรียกพระมา ไม่มีใครทำ “โอ้มหาไม่สบาย” คือวันนั้นท่านป่วย ป่วย ไม่สบาย หลวงปู่มั่นท่านพูดไง “โอ้มหาป่วยองค์เดียว พระป่วยทั้งวัดเลยเนาะ” ผู้นำคนเดียวนำไม่ได้ วัดทั้งวัดไม่มีใครกวาดเลย นี่วาสนาไม่วาสนา

นี่พูดถึงเขาเขียนมาอีกทีไง เขาขอบคุณเรื่องวาสนา เพราะเราไปเข้าใจว่าวาสนากับการกระทำเป็นอันเดียวกันไง การกระทำที่เขาจะมาทำให้เราเจ็บช้ำน้ำใจ เขาจะมาทำเบียดเบียนเรา นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ แต่ถ้าเขามีวาสนา เขามีวาสนา เขามีโอกาสของเขา แต่ถ้าวาสนาเขาดีแล้ว ถ้าเขาทำคุณงามความดี มันจะสร้างบุญกุศลให้เขามหาศาลเลย

หลวงตาท่านมีอำนาจวาสนาบารมี แล้วท่านทำดี ท่านพาทำหมดไง มันไปอยู่ในใจหลวงปู่มั่นนะ “โอ้มหาป่วยคนเดียว พระป่วยทั้งวัดเลย” หัวหน้าผู้พาไม่มี หัวหน้าผู้พากวาดวัดป่วยคนหนึ่ง ป่วยทั้งวัดเลย นี่วัด

แต่เวลาท่านพูดท่านบอกว่า “เราวาสนาน้อยเนาะ เราเป็นคนวาสนาน้อย

คือมันอ่อนน้อมถ่อมตนไง อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ทะเยอทะยานไง ทำแต่คุณงามความดี นี่คนมีอำนาจวาสนา แล้วรู้จักใช้ในทางเป็นมรรค รู้จักใช้เป็นทางบวก รักษาหัวใจของเรา แต่มันต้องเป็นความมุมานะนะ ท่านถึงได้บอกว่าเราเหมือนบ๋อยอยู่กลางวัด ท่านบอกว่าท่านเหมือนบ๋อยอยู่กลางวัดป่าหนองผือ อยู่กับหลวงปู่มั่นเหมือนบ๋อยเลย เป็นหัวหน้าควบคุมพระทั้งหมด เพราะหลวงปู่มั่นท่านชราภาพ ท่านควบคุมดูแลทั้งหมดเลย ท่านมีอำนาจวาสนาหรือไม่มี

ฉะนั้น สำคัญ อำนาจวาสนาสำคัญ แต่มันต้องมีสติมีปัญญาไง เราใช้ให้มันเป็นธรรม อย่าใช้ให้เป็นกิเลส อย่าใช้ให้เป็นโลก ใช้เป็นโลกมันไปบาดหัวใจคน มันทำให้คนเจ็บช้ำน้ำใจ แต่ถ้าเราใช้เป็นบวก เราต้องลงทุนลงแรง แล้วคนเขาจะชื่นชม เขาจะทำตาม นั่นอำนาจวาสนา เอวัง