ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

พรากของเขียว

๒๗ ส.ค. ๒๕๕๙

พรากของเขียว

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๙

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

ถาม : เรื่อง “พระตัดต้นไม้มาย้อมจีวรและทำแปรงสีฟัน ผิดวินัยไหมครับ

กราบเรียนท่านอาจารย์ที่เคารพ ผมมีข้อสงสัยเรื่องการตัดต้นขนุนเพื่อนำแก่นมาซักย้อมจีวร และตัดต้นไม้มาทำไม้แปรงสีฟันนั้นผิดวินัยหรือมีข้อยกเว้นไหมครับ ผมเห็นในปาจิตตีย์วรรคที่ ๒ ข้อที่ ๒ ภูตคาม สิกขาบทที่ ๑ เรื่องภิกษุชาวรัฐอาฬวี ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงห้ามภิกษุพรากของเขียว และไม่เห็นข้อยกเว้นครับ ถ้าความผิดวินัย จะมีวิธีการปฏิบัติอย่างไรให้ถูกต้องโดยไม่ผิดวินัยครับ รบกวนช่วยชี้แนะด้วยครับ

ตอบ : นี่พูดถึงกรณีอย่างนี้ที่เมื่อ ๒-๓ วันนี้เขามีการลงประชามติที่บอกว่าคุ้มครองพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท โอ้โฮมีปัญหาทันทีเลย มีปัญหาฝ่ายเถรวาท

มันก็คุ้มครองทั้งหมดนั่นแหละ แต่พูดถึงว่าเขาเน้น เน้นเพราะอะไร เพราะว่าในปัจจุบันนี้ในฝ่ายเถรวาท เถรวาทคือพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ที่ทำสังคายนากันมา ถ้าทำสังคายนากันมา เพราะว่าพระกัสสปะก็ขอญัตติไว้ท่ามกลางสงฆ์ เพราะว่าพระอานนท์บอกว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสั่งไว้ว่า ถ้าต่อไปภายภาคหน้าในอนาคต ถ้าวินัยนี้ถ้ามันของเล็กน้อยที่มันพอจะยกเว้นได้ให้ยกเว้น

แต่พระกัสสปะขอญัตติไว้เลย ขอญัตติท่ามกลางสงฆ์ว่า เพราะถามพระอานนท์ว่า ที่ว่าเล็กน้อย เล็กน้อยแค่ไหน ที่ว่าให้ยกเว้นได้ ยกเว้นได้แค่ไหน

พระอานนท์บอกว่าไม่รู้ เพราะท่านบอกว่าของเล็กน้อย

เล็กน้อยแค่ไหนไม่รู้ เล็กน้อย เล็กน้อยของใครล่ะ ก็เลยขอญัตติว่าเราจะไม่แก้ไขไง เราจะไม่แก้ไขในพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ที่ทำสังคายนากันมา นี่คือเถรวาท ฉะนั้น ถ้าฝ่ายเถรวาท เถรวาทจะถือตามๆ กันมาอย่างนี้ คือว่าไม่แก้ไขไม่ดัดแปลง ถ้าไม่แก้ไขไม่ดัดแปลง ก็ถือตามกันมา

แต่เมืองไทยตั้งแต่สุโขทัยมา ๗๐๐ กว่าปี แล้วเวลาพระพุทธศาสนามาจากนครศรีธรรมราช นครศรีธรรมราชมาจากลังกา ลังกาก็มาจากอินเดีย อินเดียมาลังกาใช่ไหม ลังกาเผยแผ่มาตามทะเล ก็มาขึ้นที่นครฯ แล้วสุโขทัยก็มาจากนครฯ

เราจะบอกว่า สองพันกว่าปีมันแบบว่า เวลาเกิดศึกเกิดสงครามชาติล่มจม ศาสนาแตกกระสานซ่านเซ็น แล้วพอรวมตัวกันมา มันก็มีนักบุญ มีผีบุญ ผีบุญต่างๆ ก็ต้องมีปราบกัน นี่พูดถึงว่าในธรรมวินัยที่ว่าเถรวาทมั่นคงๆ

มั่นคงเพราะตอนนี้มัน ๒๕๕๙ เป็นประชาธิปไตย ประเทศชาติมั่นคงขึ้นมา เราก็มาบอกว่าศาสนาเราจะมั่นคง ธรรมวินัยเราจะขาวสะอาด

ไม่รู้หรอกว่ามันผ่านศึกผ่านสงคราม ผ่านบ้านแตกสาแหรกขาดมาไม่รู้กี่รอบ เรื่องของศาสนา ทีนี้เรื่องของศาสนามันผ่านบ้านเมืองแตกสาแหรกขาด มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้นมา

ฉะนั้น เวลาเรามาศึกษามาค้นคว้าในปัจจุบันนี้ ในทางเทคโนโลยีเจริญขึ้นมา กดได้หมดล่ะ เมื่อก่อน อู้ฮูจะต้องแสวงบุญ จะต้องไปถึงอินเดีย จะต้องเดินผ่านเส้นทางสายไหม เอาชีวิตแลกมา กว่าจะได้ค้นคว้าวินัยแต่ละข้อๆ มา นี่เวลาคนโบราณเขาขวนขวายของเขา

ฉะนั้น เวลาเผยแผ่ธรรมมาสมัยปัจจุบัน ธรรมยุตเกิดจากพระจอมเกล้าฯ พระจอมเกล้าฯ ท่านศึกษาๆ อยากประพฤติปฏิบัติให้มันมั่นคงขึ้นมา แต่ถึงเวลาแล้วตำราชี้ไปอย่างหนึ่ง เวลาพระที่ประพฤติปฏิบัติมันก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ท่านพยายามขวนขวายของท่าน สุดท้ายแล้วด้วยอำนาจวาสนาของท่าน ท่านก็ออกไปเป็นกษัตริย์ เวลาหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านมาประพฤติปฏิบัติของท่าน ค้นคว้าเหมือนกัน ค้นคว้ามา สิ่งที่ทำๆ เห็นไหม

เราจะบอกว่า เวลาคำถาม คำถามถึงบอกว่า เวลาพระตัดต้นขนุนเพื่อนำแก่นมาย้อมผ้าจีวรนั่นผิดศีลหรือไม่ เพราะในวินัย ภิกษุห้ามพรากของเขียว

ห้ามพรากของเขียว พรากของเขียวออกจากขั้วเป็นอาบัติปาจิตตีย์ แล้วมีข้อยกเว้นไหม ไม่มี เป็นอาบัติร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีข้อยกเว้นหรอก พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้อย่างนี้ก็เป็นอย่างนี้

ทีนี้พอเป็นอย่างนี้ปั๊บ ทีนี้เพียงแต่ว่าเราอยู่กับทางโลกใช่ไหม เราก็เห็นพระทำงานกันทั่วไป เราก็คิดว่า อ๋อพระเขาทำ เขาพรากของเขียวได้ อันนั้นมันเป็นข้อยกเว้นของพระบ้าน พระบ้านเขายกเว้นกันมา เขาทำกันมา ทำกันมาจนมันเคยชินน่ะ

แต่พูดภาษาเรา เราบอกว่า ถ้าเวลาจะพูดสิ่งใดมันต้องมีที่มาที่ไปไง อย่างเช่นกฎจราจรไฟเขียวไฟแดงมันมีมากี่ร้อยปีนี้เอง เขาตกลงกันเมื่อไหร่จะเป็นสากลกันจะเป็นไฟเขียวไฟแดง ไอ้นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่มันใช้กันมาทำกันมาจนเป็นความเคยชินไง เพราะทำเป็นความเคยชิน แล้วทีนี้บอกว่า ถ้าคิดว่าพระตัดต้นไม้ พระจะทำอะไร ทำตามที่เราเห็นไง

ฉะนั้น เราบอกว่า เวลาพระไปตัดต้นไม้ ไปตัดต้นขนุนเพื่อเอาแก่นของมันมาซักผ้าอย่างนี้มันจะเป็นความผิดหรือเปล่า

นี่เราคิดไปเองไง เวลาคนถามคิดไปเองไง เพราะเห็นพระสภาพบ้านเมืองเป็นแบบนั้นไง เห็นสภาพพระที่เขาทำกันอย่างนั้นไง แต่ความจริงพระป่าเขาไม่ได้ทำ เขาไม่ได้ตัด เขาไม่ได้ทำ ต้นไม้เขาไม่ได้ตัด โยมต่างหากเขาตัดให้

ดูสิ แก่นของเราที่โรงรถเต็มเลย คนนู้นก็จะตัดมาให้ คนนี้ก็จะตัดมาให้ เราไม่ได้ไปตัดเลย เราไม่ได้ตัด พระไม่ได้ตัด พวกอุบาสกอุบาสิกาเขาปรารถนาบุญกุศลของเขา เขาเห็นพระใช้สอยอย่างนี้ อุบาสกเขาเห็นว่าพระมีความจำเป็นต้องใช้แก่นขนุนใช่ไหม ย้อมผ้าด้วยน้ำฝาดใช่ไหม

ธรรมวินัยไง ถ้าพระอยู่ในร่องในรอย ถ้าธรรมะ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมะสอนไว้ว่า เราใช้ผ้า ผ้าบังสุกุล เก็บเอาผ้าฝ้าย ผ้าดิบ เก็บมาแล้วมาซักมาย้อม ย้อมด้วยน้ำฝาด ย้อมด้วยเปลือกไม้ อุบาสกที่เขาเห็นบุญกุศลเขาแสวงหาให้ เขาตัดมาให้ พระไม่ได้ตัด แล้วอาบัติมันมาจากไหน มันไม่มี พระไม่ได้พรากของเขียว ไม่มี

โยมอุบาสกเขารู้ อุบาสก นี่ไง คนที่ไปวัดไปวาเขามีการศึกษาของเขา เขาศึกษาแล้วเขาค้นคว้าของเขา เขาอุปัฏฐาก เห็นไหม คนที่จะอุปัฏฐากพระเขาต้องศึกษาว่าพระทำอย่างไรได้อย่างไรไม่ได้

ดูสิ ใบปวารณา “ข้าพเจ้าขอถวายปัจจัย ๔ แก่พระด้วยมูลค่า ถ้าพระคุณเจ้าต้องการประสงค์สิ่งหนึ่งสิ่งใดอันควรแก่สมณะบริโภค ขอได้โปรดเรียกจากไวยาวัจกรผู้ได้รับมอบไว้ตามความประสงค์เถิด” นี่ใครทำ พระไม่ได้ทำ ไวยาวัจกร ผู้ที่อุปัฏฐากเขาเป็นคนทำ แล้วพระไม่ได้ทำ

แล้วบอกว่า เห็นว่าการตัดต้นขนุน

เวลาการกระทำไง เวลาวินัยบัญญัติไว้ พรากของเขียวเป็นอาบัติปาจิตตีย์ อันนี้เวลาจะใช้สอย อย่างเช่นคำถามถามว่า เวลาตัดต้นขนุนเพื่อมาย้อมผ้า ตัดต้นไม้ จำชื่อไม่ได้ เอามาทำไม้สีฟัน

เพราะว่าอะไร เพราะเราอยู่กับพระ เป็นเรื่องของพระไง ถ้าอยู่กับพระนะ เวลาพระผู้ที่เป็นเจ้าอาวาส ผู้ที่เป็นผู้รับผิดชอบ มันมีนะ เมื่อก่อนเราอยู่บ้านตาด ก่อนเข้าพรรษาหลวงปู่ลีท่านพาไปหาไม้ตาด ไม้ตาดก็ไม้ไผ่เล็กๆ ในป่า เอาพวกโยมไป เขาก็ไปตัด พระก็ไปด้วย พระไปนะ เขาตัดเสร็จแล้วพระก็มัด พระก็มัดเอามารวมกันแล้วเอาขึ้นรถ ขึ้นรถเอามาตากให้แห้ง ตากให้แห้งแล้วเอาปลายต่อปลายเข้าไม้ไผ่ เราต้องเตรียมไว้สามอัน ในพรรษาใช้ประมาณสามอัน ในพรรษาจะไม่ให้มีเสียงกระทบกระเทือนกันเลย ไม่มีเสียงก๊อกเสียงแก๊กเลย หลวงปู่ลีเป็นคนพาทำ

พระส่วนใหญ่จะมีไม้กวาดอยู่คนละสามอัน ไม้กวาดที่จะไว้กวาดวัด เพราะสามอันก็สามเดือน สามเดือนออกพรรษา ในพรรษา สามเดือนนั้นจะไม่ให้มีเสียง ไม่มีการสิ่งใดทั้งสิ้น พอสามเดือน ต่างคนต่างถือเนสัชชิก ต่างคนต่างเร่งภาวนา

เวลาผู้ที่บริหารนะ ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นครูบาอาจารย์ของเรามาท่านจะเตรียมพร้อมของท่าน ฟืน หาฟืนมากองไว้ ก่อนเข้าพรรษานะ จะไปเก็บไม้ฟืนกันมา จะมาตัดกองไว้ที่โรงไฟ เพราะเราต้องต้มน้ำย้อมผ้า ต้มน้ำเพื่อสรงน้ำครูบาอาจารย์ของเรา เราจะเตรียมพร้อม ก่อนเข้าพรรษาเขาจะเตรียมของเขา เตรียมการอยู่จำพรรษา นี่เขาเตรียมที่เตรียมทางของเขา ฉะนั้น ถ้ามีครูบาอาจารย์ที่ดี เห็นไหม

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่บอกว่าไปตัดไม้โกทา ภาษาอีสานเรียกไม้โกทา ที่ไปตัดกันเราก็ไป แต่พระไม่ได้ทำ พระไป แต่มีเณร มีอุบาสกไป อุบาสกเขาเป็นคนตัด แล้วพระเราอยู่ไปเราเป็นงานนะ พออุบาสกตัดต้นไม้ กิ่งไม้ขาดจากต้น ขาดจากต้นแล้ว มันขาดมาจากต้นแล้ว ตอนนั้นน่ะพระทำได้แล้ว พระก็ต้องช่วยเก็บช่วยอะไร คือพระก็ต้องเป็นไง

ไม่ใช่พระไม่ได้ทำอะไรแล้วพระก็นั่งกระดิกเท้าอยู่ ให้โยมทำให้ เขาทำให้เหมือนกัน ทำให้หนเดียว คราวหน้าชวนไปนะ ไม่มีใครไปด้วยเลย แต่ถ้าเราชวนเขาไปใช่ไหม เราชวนเขาไปหรือเขาชวนเราไป อุบาสกเขาอยากได้บุญนะ ถึงเวลาถึงหน้ากาลของเขา เวลาของเขา ถึงเวลาหรือยัง จะไปหรือยัง ที่ไหน

ในป่ามันจะมีไม้บางชนิดเป็นที่ของเขา พระเราจะรู้แหล่ง รู้แหล่งแล้วเราก็ไป ไปปุ๊บอุบาสกเขาก็ตัดให้เลยๆ กองหน้าก็ตัดไว้ก่อนแล้ววางไว้ๆๆ พอตัดแล้วมันขาดจากต้นแล้ว พระทำได้แล้ว พระก็เก็บรวบรวม ต้องใช้กิ่งใดก้านใดที่เป็นประโยชน์ก็เอากิ่งนั้นขึ้นรถๆๆ ก็กลับวัด

นี่พูดถึงว่า เขาบอกมีวิธีการอย่างใดที่จะหลบเลี่ยงวินัย

ไม่มี เขาทำถูกต้อง ถูกต้องเพราะอะไร ถูกต้องเพราะว่าหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น วัตรปฏิบัติท่านวางไว้ หลวงตาท่านพูดบ่อยมาก เวลาหลวงปู่มั่น เวลาท่านปฏิบัติของท่านจะมีพระอรหันต์สมัยพุทธกาลมาอนุโมทนา แล้วมีพระอรหันต์สมัยพุทธกาลมาอนุโมทนา แล้วพระสมัยพุทธกาลเขาดำรงชีพอย่างไร ทำอย่างไร ตัดผ้าอย่างไร ย้อมผ้าอย่างไร ผ้าสีอะไร หลวงปู่มั่นท่านรื้อฟื้น รื้อฟื้นอย่างนี้ขึ้นมา

หลวงตาท่านถามหลวงปู่มั่นเองเลย วัตรทำอย่างไร วัตรปฏิบัติๆ วัตรปฏิบัติมันมีอยู่แล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติธรรมวินัยไว้เอง แล้วเราทำของเราเองไง ทีนี้เวลาเราพูด พระกรรมฐานเราจะทำถูกต้องตามธรรมวินัย

แล้วเวลาทางโลก เราบวชใหม่ๆ มีคนเขาพูดกันอยู่ “อู้ฮูมันจะทำได้จริงหรือ จะทำได้จริงหรือ

หลวงปู่ฝั้นท่านพูด ไม่ใช่ทำได้จริงหรอก ทำตามทุกตัวอักษรเลย นี่หลวงปู่ฝั้นพูดเองนะ เราจะถือธรรมตัวอักษรทุกตัวอักษรเลย คนที่มุมานะ คนที่ทำจริงเขาทำจริงของเขาอย่างนั้น

แล้วทำจริง อย่างเราไปเราก็ทำไม่ได้ใช่ไหม เราก็คิดแบบวิทยาศาสตร์ไง เกลียดตัวกินไข่ ไม่พรากของเขียว ให้คนอื่นตัดให้...มันว่าไปนู่นน่ะ เวลากิเลสนะ เห็นเขาทำๆ มันจะทิ่มเขาเรื่อยล่ะ มันจะทิ่มให้เขาล้มไปให้ได้ แต่เวลาทำ ทำไม่เป็น เวลาทำไม่เป็นเพราะอะไรล่ะ

กรรมมันคลุกเคล้าไง อารมณ์ความรู้สึกของเรามันคลุกกันไปหมดเลย แล้วมันแบ่งแยกอะไรไม่ถูก แล้วก็ทำอะไรไม่ได้ “อู้ฮูศีลทำลำบาก ศีลปฏิบัติไม่ได้ ศีลมันเยอะเกินไป” นี่คนไม่มีวาสนาไง “ทำไม่ได้ มันลำบาก อู๋ยมันยุ่ง

หลวงปู่ฝั้นท่านบอกเลย ไม่ใช่ทำไม่ได้นะ ทำทุกตัวอักษรด้วย เพราะอะไร เพราะคนปรารถนาไง ปรารถนาสมาธิ ปรารถนาปัญญา ปรารถนาจะพ้นจากทุกข์ ถ้าปรารถนาจะพ้นจากทุกข์ทำไมจะทำไม่ได้ ดูสิ เวลาด้วยความหิวกระหาย เวลาหลวงปู่หล้าบิณฑบาตได้มา

อะไรที่ถูกใจ ของเราที่ถูกใจเราต้องเก็บซ่อนไว้เลยเนาะ เดี๋ยวจะฉัน อะไรไม่ถูกใจจับปาทิ้ง คนทำอย่างนี้มันเหมือนกับสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลยนะ มันเหมือนกับเราพูด เราพูดกันเพื่อมาอวดอ้างกัน พวกใครก็ว่าพวกของตัวเองถูกตัวเองดีทั้งนั้นน่ะ

แต่นี่ของท่าน ท่านทำของท่านเอง สิ่งใด เพราะมันตรงกับธาตุขันธ์ คือเราอยู่ชุมชนภูมิภาคใด อาหารท้องถิ่นที่เราเคยกิน โอ้โฮอันนั้นอร่อยที่สุดในโลก แล้วถ้าใครได้อาหารท้องถิ่นที่ตัวเองเคยกินมันก็ถูกใจใช่ไหม มันซ่อนไว้ใต้บาตร

ท่านเอานะ แล้วปาเข้าป่า มันทำเพื่ออะไรน่ะ ท่านทำเพื่อดัดกิเลสตนไง อยากได้ อยากได้ ไม่เอา แล้วเอาอะไร เอาที่ไม่อยากได้น่ะ เอาที่เอ็งไม่ชอบ เอ็งไม่ชอบอะไร ฉันอย่างนั้น

นี่ไง คนที่เขาจะประพฤติปฏิบัติเขามีเป้าหมายอย่างนี้ เพราะอะไร เขามีเป้าหมายของเขา เขาทำเพื่อประโยชน์ของเขาข้างหน้าของเขา เราละเรื่องความอยากอย่างหยาบๆ เราต้องการเอาคุณธรรม เอาสิ่งที่ละเอียด แม้แต่การขบการฉัน การขบการฉัน สิ่งใดที่ชอบใจ ไม่เอา แล้วถ้าชอบใจ กินแต่ของดีๆ แล้วนั่งสัปหงกโงกง่วง การไปนั่งสมาธิภาวนาเพื่ออะไร ก็เพื่อคุณธรรมอันนั้นน่ะ

ฉะนั้น เวลาถ้าเราทำไม่เป็น กิเลสมันคลุกเคล้า ความรู้สึกของเรามันคลุกเคล้า แล้วทำอะไรไม่ถูก ทำอะไรไม่ได้เลย นี่ไง เวลาบวชมา ถ้าจะบวชสมัยหลวงปู่มั่นต้องเป็นปะขาว เป็นปะขาว ตัดผ้าย้อมผ้าได้ สวดปาฏิโมกข์ได้ ท่านถึงให้บวช สมัยหลวงปู่มั่นนะ ท่านดูว่าเราเอาจริงเอาจังหรือเปล่า

เวลาเราบวชมา บวชมา ๑๐-๒๐ ปียังสวดปาฏิโมกข์ไม่ได้เลย แต่หลวงปู่มั่นท่านเอาก่อนเลย ต้องสวดปาฏิโมกข์ได้เลยนะ ต้องตัดผ้าได้ ย้อมผ้าได้ ทำได้ทุกอย่าง พอมันทำได้ทุกอย่าง เวลามาเป็นพระแล้ว ไอ้อย่างที่ว่า มันยิ่งกว่านี้นะ ในธรรมวินัยบอกว่า หนึ่ง ภิกษุพรากของเขียวไม่ได้ พืชคาม ภูตคาม ภูตคาม กปฺปิยํ กโรหิ แม้แต่พรากของเขียวยังไม่ทำ แล้วสิ่งที่กิ่งก้านเมล็ดที่มันเกิดได้ สิ่งที่เกิดได้ สิทธิของมันมี พระยังห้ามก้าวล่วงสิทธิ์เขาเลย

เวลามาถวาย ที่เขามาถวายพระๆ ถั่วเขียวต้มน้ำตาล เวลาฉันไปแล้วมันยังไปงอกได้ไง พระก็เลยรังเกียจ สมัยพุทธกาล ฉะนั้น เวลาคนเขามาถวายพระ พระไม่ยอมฉัน ไอ้คนถวายก็เสียใจ ไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเรียกพระมา “ทำไมเธอถึงไม่รับของเขา

ข้าพเจ้าฉันแล้วถ่ายออกมามันยังเกิดได้

นี่มีพระรังเกียจ ถ้าพระรังเกียจแล้วให้ทำ กปฺปิยํ กโรหิ กปฺปิย ภนฺเต ของนี้สมควรแก่สงฆ์หรือ เวลาเขาทำสุกแล้ว ประเคนก็จบใช่ไหม ของทั่วไป แต่ถ้าสิ่งที่มันเกิดได้ จะประเคนแล้วต้องอีกชั้นหนึ่ง เพราะรังเกียจ

ของนี้สมควรหรือ กปฺปิยํ กโรหิ ไอ้คนที่ทำมานะต้องทำให้มันพรากจากกัน กปฺปิย ภนฺเต สมควรค่ะ สมควรค่ะ สมควรที่สุดเลย เพราะมันก็มีสิทธิ์ของมัน แต่เราไปแสวงหามา ผู้ที่เป็นเจ้าของไปแสวงหามา ผู้ที่เป็นเจ้าของเขาต้องการถวายทาน ถ้าถวายทานมันมีสิทธิ์ของมัน นี่อีกชั้นหนึ่ง ภูตคาม พืชคาม ภูตคามมีค่าเท่ากัน

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าพรากของเขียวๆ เพราะคำถาม ไอ้เรื่องนี้เรื่องจุดไต้ตำตอ เรื่องนี้มันเป็นพื้นฐานของพระที่บวชมาต้องรู้หมด ฉะนั้น เพียงแต่ว่าเวลาที่เราเห็นๆ กันนั้นมันเป็นสิ่งที่ว่าเขาทำกันจนเป็นประเพณีของเขา

แต่เวลาของเรา เรามีเป้าหมายใช่ไหม เรามีเป้าหมายว่าเราอยากภาวนาเป็น เราอยากจะมีคุณธรรม ถ้าอยากจะมีคุณธรรม ทาน ศีล ภาวนา ทานเราก็เสียสละความสะดวกสบายของเรา บิณฑบาตได้สิ่งใดมาเรามาเจือจานกัน เราเสียสละทานกัน เรามีน้ำใจกว้างขวางต่อกัน เพื่อหมู่คณะเป็นสัปปายะ มีความรู้ความเห็นเสมอกัน นี่ทานก็ทำแล้ว ได้รักษาศีล ถ้ารักษาศีลๆ รักษาศีลทำอย่างไร นู่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ได้ ไม่ได้จริงๆ นะ

เวลาภาคปฏิบัติ เวลาปฏิบัติแล้วเวลาธมฺมสากจฺฉา เราจะคุยกันนะ เพราะว่าจริตนิสัยบางคนก็มีความเห็น ความเห็นของพระเรามันก็มีความแตกต่าง แต่ความแตกต่าง เพราะของนี้มีอายุเท่าไร ของนี้มีคุณค่าอย่างไร เราจะคุยกัน เพราะอะไร เพราะนิสสัคคิยปาจิตตีย์ เวลาบวชเป็นพระมาแล้ว สิ่งใดที่มันเป็นของที่เขาเรียกว่า เวลาของที่ว่ามันจับต้องไม่ได้ จับต้องเป็นอาบัติ ในวินัยมี

ฉะนั้น เวลาพระที่จับต้องไม่ได้ พอจับต้องไม่ได้ขึ้นมา เขาเว้นไว้แต่สมมุติ สมมุติให้ใครเป็นผู้ดูแล เห็นไหม ภิกษุเก็บของกินไว้ในที่กุฏิไม่ได้ ภิกษุเก็บของไว้ในที่ส่วนตัวไม่ได้ แต่วัดทั่วไปมันก็ต้องมีกุฏิกลางที่จะเก็บของใช่ไหม พอเก็บของสิ่งนั้นก็ต้องตั้งสมมุติ ดูสิ ไปอ่านในวินัยมุข เว้นไว้แต่สมมุติๆ สมมุติที่ให้เป็นผู้ดูแลรักษาไง สมมุติให้เป็นผู้แจกทานไง สมมุติเป็นผู้ที่ให้แบ่งของของสงฆ์ไง

เวลาเกิดขึ้นเป็นของของสงฆ์ใช่ไหม ของอย่างนี้อย่างเช่นยาสีฟันต่างๆ มันเป็นกองกลางใช่ไหม ภิกษุเวลามีใครขาดเหลือขาดแคลนก็มาเบิกเอาจากผู้ให้สมมุติ สมมุติเป็นผู้ที่ดูแลไง ถ้าไม่มีผู้ดูแลก็คิดว่าพระก็สะสม ต่างคนต่างสะสม มันทำไม่ได้ เวลามันอยู่ในนิสสัคคิยปาจิตตีย์ มันมีหมดน่ะ พอมีหมดแล้ว เวลาครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติไง

นี่คำถามเขาถามว่า “มันมีวิธีการปฏิบัติอย่างใดให้มันถูกต้องโดยที่ไม่ผิดวินัย

ไม่ผิดวินัย ไม่ผิดวินัย ทีนี้เพียงแต่ไม่ผิดวินัยเพราะว่าในองค์ประกอบวินัยข้อนั้นเราไม่ได้ทำผิด แต่มันผิดกิเลสคนไง กิเลสคน เราจะบอกว่า นี่ไง เราหลบไปหลีกมาไง

มันไม่ใช่หลบไปหลีกมา เพราะห้ามพรากของเขียว เขาไม่ได้พรากของเขียว ของเขียวนี่นะ มันมีอุบาสกเขาเป็นผู้ทำให้ การกสงฆ์เป็นผู้ทำให้ แล้วผู้ทำให้ เวลาขณะทำให้ ภิกษุห้ามพรากของเขียวเองก็ดี ห้ามใช้คนอื่นพรากก็ดี นี่ไง ก็บัญญัติซ้ำอีกนะ ซ้ำว่าเราทำก็ไม่ได้ สั่งก็ไม่ได้ ถ้าสั่ง สั่งก็เป็นผู้ทำ แล้วไปกับอุบาสก แล้วอุบาสกทำอย่างไรล่ะ

เขาเรียกว่าอะไรนะ ตอนบวชใหม่ๆ นะ อยู่ในยุทธจักร เรื่องนี้ชำนาญมาก ต้องไปแยกไปแยะ เดี๋ยวนี้มาอยู่คนเดียวอย่างนี้ ๓๐-๔๐ ปีนะ มันไม่ได้อยู่ในยุทธจักรมันเลยพูดไม่คล่องไง เมื่อก่อนเราอยู่ในยุทธจักรนะ อ้าวพระด้วยกันธุดงค์เจอกัน จะทำอะไรมันถูกมันผิดไปหมด อู้ฮูได้เถียงกัน ถ้ามันเถียงกัน ธมฺมสากจฺฉา พอได้คุยกันปั๊บ เหมือนมันยกประเด็นแง่กฎหมาย พอยกประเด็นแง่กฎหมายแล้วคุยกันไม่จบก็ต้องคุยกันด้วยเหตุผลจนกว่าจะลงใจกัน ถ้าลงใจกัน เออให้ลงใจกัน ให้ทำร่วมกัน ภิกษุอยู่ด้วยกันต้องมีความเสมอกัน เห็นไหม

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราพรากของเขียวก็ไม่ได้ ตัดเองก็ไม่ได้ ใช้คนอื่นก็ไม่ได้ เขาเรียกว่ากัปปิยโวหาร อาจจะผิดนะ เพราะมันวางมือมานาน มันวางมือมานานแล้ว เขาเรียกว่าโวหารน่ะ ฉะนั้น โวหาร

มันมีนะ มีโยมมาอยู่ที่นี่แล้วเขามาถามเรา เขาจะกลับนะ โยมเขาฉลาด เขาจะกลับเขามาถาม “หลวงพ่อ วันนั้นผมไม่รู้เรื่อง ผมอยู่ที่นี่น่ะ พระเขาบอกว่าให้พิจารณาไอ้นี่ทีหนึ่ง ให้พิจารณานี่ที ผมก็ไม่รู้ว่าพิจารณาอะไรหลวงพ่อ เอ๊ะผมจะกลับผมก็มาถามหลวงพ่อว่าเวลาพระมาพูดกับผมอย่างนี้ผมควรทำอย่างใด เขาบอกว่าให้พิจารณาที

ธรรมดาที่วัดนี้มันจะมีคนงานช่วยดูแล เพราะพระเรา เราให้พระพรากของเขียวไม่ได้ ฉะนั้น ตอนนี้คนงานไม่ค่อยมีใช่ไหม เพราะว่าคนงานเขาเข้มงวด ฉะนั้น มันก็ขึ้นรกไปหมด ของเขียวนี่ ทีนี้พระเขาก็อยากจะให้ช่วยเอาพวกวัชพืชออกจากทางเดินน่ะ ก็ไปบอกโยมบอกว่าโยมพิจารณาตรงนี้ให้ที เขาก็นั่งงงนะ เอ๊ะพิจารณาอะไร เขาก็ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์จะให้มานั่งพิจารณาหญ้านี่มันพิจารณาอย่างไร

เขาก็มาถามเรานะ “หลวงพ่อๆ วันนั้นพระเขามาคุยกับผมว่าให้พิจารณาตรงนี้ทีๆ เขาพูดอะไรน่ะผมไม่เข้าใจ

เราก็อธิบายให้เขาฟัง บอกนั่นแหละเขาต้องการให้โยมช่วยดูให้เขา คือว่าให้ถากหญ้าให้ ว่าอย่างนั้นเลย แต่ก็ใช้เองนะ ภิกษุพรากของเขียวก็ดี ใช้ผู้อื่นก็ดี เป็นอาบัติปาจิตตีย์ เขาจะบอกให้โยมถากหญ้าไม่ได้ ถ้าพระใช้ให้โยมถากหญ้า ถ้าพระใช้ให้โยมทำเขาก็ผิดด้วยไง คือเขาอยากให้โล่งเตียนแต่เขาไม่อยากผิดเลย เขาไม่อยากรับรู้อะไรทั้งสิ้น เขาก็บอกโยมว่า “โยมพิจารณาตรงนี้ให้ที พิจารณาตรงนี้

กัปปิยโวหาร ทำเองก็ดี ใช้ให้คนอื่นทำก็ดี ผิดหมด แต่ปาจิตตีย์ก็ปาจิตตีย์ แต่นี้เขาวัดปฏิบัติ ตั้งแต่สมัยหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านฝึกกันมา เขาเรียกว่ากัปปิยโวหาร ถ้ากัปปิยโวหาร โยมเข้ามาต้องมาฝึกหัด เห็นไหม “โยมพิจารณานี้ให้ที” พิจารณานี้ใช่ไหม ก็ฉับขาดเลย อ้าวพิจารณาให้แล้วเรียบร้อย พระก็รับมา มันไม่มีปาจิตตีย์หรอก

แต่คนมันจะแถนะมันก็บอกว่า “อย่างนั้นน่ะหน้าไหว้หลังหลอก จะทำก็ทำไม่จริง ถ้าทำจริงก็อย่ามายุ่ง” นี่คิดแบบทิฏฐิมานะ คิดแบบโลกไง ไม่ทำอะไรเลย ขาวสะอาดเลย เกิดมาก็เป็นพระอรหันต์เลย เกิดมาก็ไม่มีกิเลสในใจเลย มันเป็นไปได้อย่างไร

คนเราเกิดมาต้องฝึกหัด คนเราเกิดมาต้องฝึกฝน คนเราเกิดมาต้องมีการกระทำ แล้วการกระทำ เวลาศีล สมัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช่ไหม พระองค์หนึ่งจะไปลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าจะสึก โอ้โฮอะไรก็ผิด อะไรก็ผิด อยู่ไม่ได้แล้วแหละ ร้อน ก็จะไปสึก

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถามเลย ถ้าศีลเหลือข้อเดียวอยู่ได้ไหม ได้ ศีลมีอยู่ข้อเดียวเลย รักษาใจไว้ ไม่มีเจตนาทำผิด ไม่มี อย่างนั้นอยู่ได้ อยู่ต่อ

ตอนแรกจะสึกนะ อู้ฮูสองหมื่นกว่าข้อ ทำอะไรไม่ได้เลย ขยับเป็นผิดๆ จนจะไปลาสึก นี่อยู่ในพระไตรปิฎกก็มีนะ

อันนี้ก็เหมือนกัน สิ่งที่ว่าวัตรปฏิบัติๆ เราไม่ใช่เกลียดตัวกินไข่ ไม่ใช่ว่าหลีกเลี่ยง ไม่ใช่เหยียบเรือสองแคม ทำเองก็ไม่ได้ ใช้คนอื่นก็ไม่ได้ แต่ในเมื่อชีวิตมันต้องดำเนินต่อไปใช่ไหม สิ่งที่เราอยู่ในป่าในเขา กรณีอย่างนี้เราคิดถึงหลวงปู่มั่นเลย ไอ้ตอนเสือเย็นๆ ตอนไปมูเซอ ไปถึงไปมูเซอ ธุดงค์ไป ไปถึงชาวมูเซอเขาคิดว่าเป็นเสือเย็น แล้วอยู่ที่นั่นนะ โอ้โฮมันป่าเขา มันมีแต่รากไม้ทั้งนั้นน่ะ เดินก็เดินอยู่อย่างนั้นน่ะ อยู่จนเขามาเฝ้า ส่งคนมาเฝ้า เฝ้าจนมันไม่ใช่ เข้าไปถามท่านเถอะ

พอคุยไปแล้วพอมีศรัทธาขึ้นมานะ มูเซอมาบอกไง “อยู่ได้อย่างไรเนี่ย ที่อยู่อย่างกับที่อยู่ของหมูอย่างนั้นน่ะ ที่อยู่ของสัตว์ป่า ไปอยู่ได้อย่างไรนั่นน่ะ

แล้วท่านอยู่อย่างนั้นน่ะ อยู่จนเขายอมรับ พอเขายอมรับนะ เขามาจัดการให้ เขามาทำให้ แล้วเขาก็เศร้าใจของเขานะ พวกมูเซอเขาเศร้าใจมากนะ เวลาเขาศรัทธาแล้ว โอ้โฮเขาสะเทือนใจ โอ๋ยมาปล่อยให้ครูบาอาจารย์อยู่ทุกข์อยู่ยากอยู่อย่างนี้ แล้วท่านก็ไม่ทำอะไร ทำไม่ได้ แต่พอมูเซอมันศรัทธามันมาปรับแต่งให้เรียบกริ๊บเลย

ถ้าเข้าใจกันแล้วก็จบ ถ้ามันไม่เข้าใจกัน จับผิด เพ่งโทษ แล้วพยายามหาความผิดใส่กัน แล้วมันมีประโยชน์อะไรล่ะ ฉะนั้น สิ่งที่เขาเชื่ออย่างนั้นก็เชื่ออย่างนั้น ถ้าเราเชื่อของเรา เราเชื่อของเรา เรามีครูบาอาจารย์ของเรา วัตรปฏิบัตินี้ครูบาอาจารย์ของเราฝึกหัดของเรามา

พรากของเขียวเองก็ดี ใช้ให้คนอื่นพรากก็ดี เป็นอาบัติปาจิตตีย์ อย่าว่าแต่มันทำอย่างไรจะไม่ให้ผิดวินัย

เวลานะ กุฏิของสงฆ์เวลาปลวกมันขึ้น เวลาปลวกมันขึ้นนี่พระเขี่ย พระทำอะไรได้ไหม พระทำอะไรไม่ได้ เดี๋ยวไปทำให้ปลวกมันตาย มันเป็นปาณาติปาตาฯ มันเป็นการทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง อันนี้เป็นความเห็น

แต่ของเรานะ ของของสงฆ์ใช่ไหม ของของสงฆ์ เวลาภิกษุ เวลาพระมา เราก็มีของสงฆ์ให้เขาใช้ เวลาเขาจะกลับเขาต้องซักต้องล้างคืนให้สงฆ์ ถ้าไม่ซักไม่ล้างคืนให้สงฆ์ ไปโดยไม่ให้ใครทำเป็นอาบัติปาจิตตีย์ เป็นอาบัติเหมือนกัน

นี่ของของสงฆ์ ของของสงฆ์ กุฏิก็เป็นของของสงฆ์ กุฏิอยู่ที่วัดน่ะ แล้วเรารักษาสมบัติของวัด รักษาสมบัติของวัด เราพยายามทำไม่ให้มันถึงแก่ชีวิต เราพยายามของเรา แต่เรารักษาของสงฆ์ ถ้าไม่รักษาของสงฆ์ สิ่งที่เขาสร้างไว้ในถาวรวัตถุในศาสนา ใครจะดูแลรักษา

การดูแลรักษาก็เรื่องหนึ่งนะ แต่ถ้าดูแลรักษาปั๊บ กิเลสมันบอกไง ปลวกมันตาย ทำอะไรไม่ได้...ทำอะไรไม่ได้ ไม่ได้หรอก ให้ปลวกมันกิน เขาสร้างให้พระอยู่ ไม่ได้สร้างให้ปลวกอยู่ ใครสร้างวัดให้ปลวกอยู่ ไม่มีเลย เขาสร้างให้พระอยู่ พระต้องดูแลรักษา ถ้าเรามีสติมีปัญญาจะรักษา เราก็รักษาของเรา แต่ทำไมมันมีมุมมองที่ไม่เห็นด้วย สิ่งใดที่ไม่เห็นด้วย ไม่เห็นด้วยก็ศึกษาค้นคว้าสิ

เพราะศึกษาค้นคว้านะ เราต้องศึกษาค้นคว้าเข้าไปในกฎกติกานั้น เพราะเราดูนะ วินัยมุข วินัยมุข ๑ ๒ ๓ บุพพสิกขา ส่วนใหญ่แล้วสมณเจ้าเป็นผู้ที่เรียบเรียงมาอีกชั้นหนึ่ง แต่ถ้าเป็นปาฏิโมกข์ มันจะเข้ากับพระไตรปิฎก ปาฏิโมกข์ ๒๒๗ เวลาเทียบเคียงแล้วมันจะเข้า เพราะเวลาสวดแล้วเวลาไปเปิดพระไตรปิฎก

ฉะนั้น สิ่งที่เวลาเราศึกษาค้นคว้าเข้าไปดูที่มาที่ไปไง เช่น ตำราเล่มนี้ เล่มนี้ใครเป็นผู้รจนามา ใครเป็นผู้แต่งมา แล้วใครเรียบเรียงมา ถ้าเรียบเรียงมานะ ถ้ามันมีมหามกุฏฯ มหาจุฬาฯ เพราะเวลาพระเราจะคุยกัน เราจะหาเหตุหาผลกัน จะเข้าไปถึงต้นขั้วเลยว่าต้นขั้วใครเป็นคนพูด ใครเป็นคนสั่ง สั่งด้วยเหตุผลอะไร มันมาที่ไหน มันมาอย่างไร เราจะเข้าไปถึงนั่นเลยเวลาโต้แย้งกันนะ

ชีวิตเรานะ ใครบวชหรือใครปฏิบัติ ชีวิตเรานะ เราจะต้องเอาความจริงนะ เพราะเราต้องการความจริง แล้วเราจะไปเชื่อสิ่งที่ไม่มีเหตุไม่มีผลได้อย่างไร ฉะนั้น สิ่งที่ว่าสิ่งที่ศึกษาๆ อย่างเช่นตำรับตำรา อย่างวินัยมุขต่างๆ อันนี้ประสาเรานะ เราเห็นด้วยเพราะมันเป็นเรื่องของสังคม แต่ถ้าเป็นเรื่องความจริงๆ มันจะมาปฏิบัติที่นี่เลย นี่พูดถึงว่าถ้ามันเป็นความจริงเราจะสืบค้นกันเลยว่ามันมาจากไหน มันมาอย่างไร

อย่างเช่นการประพฤติปฏิบัติเหมือนกัน เวลาพระเรา พระที่ด้อยประสบการณ์เวลาจะมาโม้อะไรนะ “โอ้โฮฉันปฏิบัติไปแล้วรู้อย่างนั้นเห็นอย่างนั้น

โถครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติมาวงในรู้หมด วิทยานิพนธ์ของใครล่ะ ของหลวงปู่ขาวก็อย่างหนึ่ง ของหลวงตาก็อย่างหนึ่ง เพราะอะไร มันต้องมีที่มาที่ไป แต่ถ้ามันซ้ำกันแสดงว่าซ้อนกัน วิทยานิพนธ์ซ้อนไม่มี

ฉะนั้น เวลาไอ้พวกอ่อนด้อย ด้อยประสบการณ์ ฟังอะไรมา มาจับปั๊บ โอ้โฮ!ไปจินตนาการเลยว่าเป็นอารมณ์ของตน แล้วก็จะมาเที่ยวโฆษณา ฟังทีเดียวรู้เลยจำใครมา

มันมีที่มาที่ไปไง ย้อนกลับเข้าไป ครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติมา ครูบาอาจารย์ที่เป็นพระอรหันต์น่ะ ท่านมีวิทยานิพนธ์ของท่าน ท่านมีความจริงในใจของท่าน แล้วท่านเทศนาว่าการโดยความถนัดของท่าน ท่านทำของท่าน ท่านมีกึ๋น ว่าอย่างนั้นเลย มีความรู้ ในใจมีมรรคมีผล ถ้ามีมรรคมีผลจะเป็นอย่างนั้น

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าพรากของเขียวๆ โอ้โฮมันเยอะนะ จะบอกว่า สิ่งที่โยมถามมาไง บอกว่าสิ่งที่พระไปตัดต้นขนุนเพื่อมาย้อมผ้า แล้วทีนี้พระพรากของเขียวมันเป็นอาบัติปาจิตตีย์ แล้วพระไปตัดต้นขนุนมาย้อมผ้าได้อย่างไร แล้วถ้าตัดอย่างไรไม่ให้มันเป็นอาบัติล่ะ ตัดอย่างไรที่ไม่ให้มันเป็นความผิดล่ะ

คำถามมันถามผิดไง เพราะว่าพระเขาไม่ได้ตัด อุบาสกอุบาสิกาเขาตัดมาให้ ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ที่ไม้สีฟันๆ อุบาสกอุบาสิกาเขาไปทำให้ แต่เขาไปทำให้เขาไปตัดให้เพราะเขาอยากได้บุญกุศล แต่เขาไม่มีเวลาทำให้หรอก ไอ้ทำไม้สีฟันมันต้องใช้สติใช้ความรอบคอบนะ พอได้ไม้มาแล้วเขาก็ทุบให้ข้างบนมันเป็นฟู ให้มันเป็นใยแล้วค่อยเหลา เหลา พระก็ตั้งสติ พระก็พยายามทำด้วยความประณีต เพราะทำเพื่อถวายครูบาอาจารย์

สิ่งที่ถวายครูบาอาจารย์มันตั้งสติ มันเป็นเครื่องแสดงออกถึงความกตัญญู เครื่องแสดงออกถึงน้ำใจ ท่านปกป้องดูแลเรา ท่านสั่งสอน ท่านคุ้มครองดูแลเรา เรามีสิ่งใดที่แบ่งเบาภาระท่านได้ สิ่งใดที่เป็นประโยชน์ได้ เราทำของเราๆ อย่างนี้ เรามีน้ำใจต่อกัน แต่มันทำถูก ทำถูกตามขั้นตอน ไม่ได้ตัดไม้ แต่ทำไม้เจีย ไม่ได้ตัดไม้ แต่ถาก ไม่ได้ตัดไม้

อย่างเช่นการจุดไฟ ภิกษุจะจุดไฟสิ่งที่ไม่เคยจุดไม่ได้ เพราะมันมีจุลินทรีย์ มันมีสิ่งมีชีวิต แต่ถ้าเป็นเตาที่มันเป็นเตาไฟอยู่นะ ภิกษุจุดได้ เพราะเขาก็จุดไฟอยู่ตลอดเวลาใช่ไหม มันเป็นที่เขาจุดไฟ ภิกษุทำได้ ภิกษุทำให้อาหารสุกเองไม่ได้ แต่ภิกษุปรุงอาหารได้ ปรุงรสได้ แต่ภิกษุทำให้ของดิบเป็นของสุกไม่ได้ ไม่ได้ๆ ไม่ได้เยอะแยะเลย

กรณีอย่างนี้มันเป็นประสบการณ์ของการจะเป็นผู้นำคน แค่กิริยาแค่การกระทำเขาก็รู้แล้วว่ารู้จริงหรือรู้ไม่จริงไง ถ้ารู้จริง บุคคลตัวอย่าง หนึ่งตัวอย่างดีกว่าร้อยคำสั่ง หลวงปู่มั่น หลวงตาท่านชื่นชมมาก เราก็ชื่นชม เราชื่นชมที่ไหน เราชื่นชมที่ว่าท่านได้สร้าง ได้เป็นแบบอย่าง สร้างเป็นวัฒนธรรมของกรรมฐานเลย คนที่ไม่มีอำนาจวาสนาจะเป็นบุคคลตัวอย่างอย่างนั้นไม่ได้ ทำได้ยากนะที่ทำให้คนยอมรับ แล้วทำให้คนยอมรับแล้วทำให้คนทำตาม

นี่หลวงปู่มั่น เพราะหลวงตาท่านอยู่กับหลวงปู่มั่นแล้วท่านชื่นชมหลวงปู่มั่นมาก เพราะหลวงตาท่านไปศึกษาของท่านมา แล้วบุคคลตัวอย่างมันหายากไง ทีนี้พอหลวงปู่มั่นเป็นตัวอย่างขึ้นมา แล้วหลวงปู่มั่นสั่งไว้ว่า พูดกับพระไว้ไงว่า ถ้าท่านล่วงไปแล้วให้มหานะ มหาดีทั้งนอก ดีทั้งใน

นอกก็คือข้อวัตรปฏิบัติ ในก็ในใจของท่าน แล้วท่านก็พยายามทำท่านเป็นตัวอย่างเหมือนกัน ท่านเสียสละนะ สิ่งใดที่เป็นความสุข ความสุขทางโลกนะ ความสุขคือความสะดวกน่ะ ความสุขคือความสะดวก คือความคล่องตัว ท่านยังเสียสละเลย ท่านเสียสละไว้เพื่อให้พระที่มันรุ่นต่อไปได้เห็นแบบอย่าง พอให้ได้เห็นแบบอย่างปั๊บ

ไอ้นี่เขาทำๆ อยู่ แต่เห็นครึ่งเดียว เห็นตอนเขาทำแล้วก็คิดว่าเขาไปตัดไม้เอง แต่ความจริงเขาไม่ได้ไปตัด แก่นขนุนเขาก็ไม่ได้ตัด ไม้โกทาเขาก็ไม่ได้ตัด ไม้โกทาส่วนใหญ่แล้ว ภิกษุขับรถเองไม่ได้ ฉะนั้น เวลาไปจะมีคนขับรถไปให้ ไอ้คนขับรถมันตัดได้อยู่แล้ว แล้วอุบาสกที่ไปด้วยก็ตัดให้ได้ พอตัดเสร็จแล้ว ตัดแล้วมันพ้นจากอาบัติแล้ว เพราะมันหลุดจากต้นมันแล้ว ตอนนั้นน่ะทำได้หมด

เวลาทำได้ เราก็ไม่รู้อีก อ้าวก็มันยังเขียวๆ อยู่

เขียวๆ ก็เขาตัดมาแล้ว มันออกมาจากต้นแล้ว คือมันไม่เห็นตอนทำไง แล้วมันคิดไปเองไง ถ้าคิดไปเองก็เลยถามนี่ไง ในเมื่อภิกษุพรากของเขียวไม่ได้แล้วภิกษุเอาแก่นขนุนมาต้มน้ำย้อมผ้าได้อย่างไร

สงสัยก็เลยถามมา พอถามมา เห็นไหม เขาไม่ได้ทำ เราไม่ได้เห็นว่าเวลาเขาทำ เขาทำอย่างไร ถ้าเราเห็นเขาทำแล้วก็จบเลย เราถึงบอกว่าคำถามนี้มันเหมือนจุดไต้ตำตอเลย มันเป็นเรื่องชีวิตประจำวันของพระ แล้วชีวิตประจำวันมันทำกันมาจนเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้ามันไม่มีที่มาที่ไปมันก็ทำไม่เป็นนะ แต่เพราะมันมีที่มาที่ไป มีครูบาอาจารย์ท่านพาทำมา เราก็ทำต่อเนื่องกันมา มันก็เลยเป็นการว่าพ้นจากอาบัติ

แต่เราจะบอกว่า พระกรรมฐานผู้ที่ปฏิบัติโดนสังคมเขาเพ่งเล็งตรงนี้ “พูดอย่าง ทำอย่าง”...ก็รู้ครึ่งๆ กลางๆ ไง รู้ไม่จริงไง ถ้ารู้ไม่จริงก็บอกว่าพระเกลียดตัวกินไข่ ไม่รับตังค์แต่ใช้ตังค์ อู้ฮูใส่กันเละเลย

เราจะบอกว่าสิ่งนี้มันทำให้ศาสนามั่นคงนะ มันมีบุคคลที่สาม บุคคลที่ดูแล ถ้าเราทำเองไม่ได้ ถ้าเขาตัดให้เรา มันต้องมีสติยับยั้งแล้วนะ มันเป็นความดีทั้งนั้นน่ะ มันเป็นการพรากออกไปจากผลประโยชน์ เรื่องดีๆ ทั้งนั้นน่ะ แต่เขาไม่ชอบ เขาอยากจะกระโจนลงไปอยู่กับผลประโยชน์อันนั้นไง แต่ตามวินัยมันกันพระกับเรื่องผลประโยชน์ออกจากกันนะ กันให้ห่างๆ กันไว้ มันไม่ดีตรงไหน มันดีน่ะ แต่กิเลสมันไม่ชอบ กิเลสมันจะกระโจนเข้าไปไง แล้วพอกระโจนเข้าไปแล้วมันก็เป็นฝักฝ่ายใช่ไหม ไอ้พวกที่ไม่กระโจนเข้าไปเกลียดตัวกินไข่

ไม่ใช่ เคารพ หลวงตาท่านบอกว่า เคารพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าธรรมและวินัยเป็นศาสดาของเธอ” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้บัญญัติไว้ ถ้าเราเคารพที่นั่น เราก็เท่ากับเคารพธรรมวินัย แล้วเคารพตัวเองด้วย ถ้าเคารพธรรมวินัย เคารพตัวเอง ตัวเองต้องมีศักดิ์ศรี ตัวเองมีความซื่อสัตย์ ในการประพฤติปฏิบัติมันก็เป็นเหตุเป็นผลขึ้นมา

ไอ้นี่เริ่มต้นจากสกปรกหมดเลย ไม่เชื่อใครไม่ฟังใครทั้งนั้นเลย ดื้อด้านหมดเลย แล้วทำแล้วได้อะไรขึ้นมา แต่ถ้าเราเคารพเราก็มีสัจจะ เราก็มีตัวมีตนของเรา เราทำคุณงามความดีของเรา เราทำของเราได้มากได้น้อยขึ้นมามันก็เป็นประโยชน์กับเรา ถ้าประโยชน์กับเราแล้วนะ

ไอ้นี่ไง จุดไต้ตำตอเลย เขาไม่ได้ทำอย่างที่เราถาม เขาทำของเขา ชีวิตของพระป่า ชีวิตเขาปฏิบัติมามันหลายชั่วอายุคนแล้ว เขาอยู่สุขสบาย โยมเพิ่งเข้ามาแล้วโยมก็ถามเลยว่า พระตัดต้นไม้ ตัดต้นขนุนมาย้อมผ้าได้อย่างไร

เขาไม่ได้ตัด อย่างนี้เขาเรียกแจ้งความเท็จๆ ต้องแจ้งความ มันแจ้งความเท็จ มันไม่มีมูล ไม่มีมูลมันก็จบ แต่ทีนี้พอถามมาแล้วมันเป็นโอกาสให้เราพูด เราก็พูดขึ้นมา การพรากของเขียวผิดหมด ไม่มีข้อยกเว้น ทำเองก็ดี ใช้คนอื่นก็ดี

น้ำ น้ำที่ต้องมีไว้ น้ำมีตัวสัตว์ ใช้น้ำนั้นก็เป็นอาบัติทันที น้ำมีลูกน้ำ มีทุกอย่าง เป็นอาบัติทันที เราถึงมีผ้ากรอง มีธมกรก มีทุกอย่างพร้อม แล้วใช้เป็นใช้ไม่เป็น ต้องใช้ให้เป็น ใช้ให้ได้ แล้วใช้ให้เป็น ใช้ให้ได้ ใช้จากพระผู้ใหญ่พาทำ สังคมพาทำ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นพาทำ เราถึงทำกันมา เวลาบวชแล้วต้องมีธมกรก คนเราขาดน้ำไม่ได้ ถ้าขาดน้ำไม่ได้ น้ำที่มีตัวสัตว์ใช้ไม่ได้

ไปดูศาสนาเชนแก้ผ้าหมดเลย ไม่ติดอะไรทั้งสิ้น เวลาไปไหนก็มีพัดอันหนึ่งคอยปัดแมลงๆ นี่มันสุดโต่ง สุดโต่งไปอย่างนั้นน่ะ ติดนะ ฉันมีของใช้สอย ติด ต้องไม่มีอะไรเลย ชีเปลือยไง เดี๋ยวนี้ยังมีอยู่ มีความเชื่ออย่างนี้อยู่ แล้วความเชื่อ นี่ไง

แต่พระพุทธศาสนาเราเวลาใช้ ใช้ปิดเพื่อความอาย ด้วยความเป็นสุภาพบุรุษ ไม่อยู่ในที่โล่งแจ้ง มันเป็นไปได้ๆ พระพุทธศาสนามันมีเหตุมีผล แต่เราไม่เคยกระทำถึงได้ถามอย่างนี้มา ถ้าถามมาแล้ว นี่ตอบแล้ว

ไม่ได้พราก ไม่ได้ทำอะไรเลย ทำความถูกต้องดีงาม ถ้าผู้ที่เป็นธรรมนะ

แต่ถ้าผู้ที่มีกิเลส ผู้ที่มีกิเลสมันกดดันอยู่มันก็มีความผิดพลาด ถ้าความผิดพลาด ถ้าเขามีความสำนึกได้เขาต้องปลงอาบัติ ถ้าเขาไม่ปลงอาบัติของเขามันดินพอกหางหมูไง

การปลงอาบัติมันไม่จบสิ้นหรอก กรรมคือกรรม ใครทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ใครทำแล้วเป็นกรรมทั้งหมด ปลงอาบัติแล้วกรรมก็อยู่อย่างนั้นน่ะ เพียงแต่ปลงอาบัติแล้วมันเหมือนกับเราสารภาพแล้วเราจะเริ่มต้นใหม่ นับหนึ่งใหม่ เราจะเริ่มต้นทำคุณงามความดี การปลงอาบัติน่ะ

ฉะนั้น ใครทำสิ่งใดสำนึก ให้ปลงอาบัติ ปลงอาบัติแล้วให้เริ่มต้นเป็นคนดี เริ่มต้นเพื่อฝึกฝนเอาใหม่ เอาใหม่ ทำใหม่ ชีวิตใหม่ จะเริ่มต้นใหม่ สิ่งที่ได้ทำไปแล้วนั่นก็เป็นกรรมข้างหน้า มันจะตัดทอนอย่างไรอีกเรื่องหนึ่ง แต่เราจะเอาความจริงอย่างนี้ นี่พูดถึงว่าถ้าคนที่มีสำนึกๆ ทำคุณงามความดี

ฉะนั้น ธรรมวินัยเป็นธรรมวินัย ไม่มีการยกเว้นทั้งสิ้น แต่เขาทำถูกต้องดีงามของเขาด้วยวัตรปฏิบัติของเขาโดยที่เขามีครูบาอาจารย์ของเขามา เอวัง