กายหายไป
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๙
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “ข้อเท็จจริงการปฏิบัติภาวนา”
กราบนมัสการครูอาจารย์ ครั้งที่แล้วผมได้กราบเรียนเรื่อง จิตสงบ จิตเป็นสมาธิ จิตรวม หลวงพ่อได้ตอบอย่างละเอียดมากๆ ครับ นับว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้ปฏิบัติมาก
ครั้งนี้ขอเรียนถามเรื่องภาวนาครับ ผมได้ภาวนาโดยกำหนดคำบริกรรมพุทโธพร้อมทั้งลมหายใจเข้าออก ใช้วิธีเดินจงกรมเกือบทั้งวันทั้งคืนมานานพอสมควร จึงเกิดผลคือคำบริกรรมพุทโธได้หายไปในขณะเดินจงกรม และลมหายใจค่อยๆ เบาลงและละเอียดลงจึงไปนั่ง ปรากฏว่าลมหายใจได้หายไป และกายก็หายไป มีความรู้คือจิตเด่นขึ้นมาแทน แต่หูได้ยินเสียงรอบข้าง แต่ไม่เก็บมาปรุงแต่ง สักแต่ว่าได้ยินเท่านั้น เฝ้ามองผู้รู้มานานพอสมควรจึงคลายออก มีความรู้สึกสดชื่นเบิกบาน ร่างกายก็ไม่ปวด เป็นครั้งแรกรู้สึกตื่นเต้นมาก แต่ตอนนี้ไม่ตื่นเต้นแล้วครับ เพราะเป็นหลายสิบครั้งแล้ว เป็นต่อเนื่องกันมาหลายเดือนแล้ว ขอถามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นครับ
๑. อาการที่เกิดขึ้นนี้เรียกว่าอะไร
๒. เป็นวสีหรือยัง (เวลาทำวัตรเสร็จ อ่านหนังสือ เดินจงกรมก็เริ่มเข้าอาการนี้ได้แล้วครับ)
๓. ทำอย่างไรต่อไป (ประเด็นอยู่ตรงนี้ครับ) ขอความเมตตาชี้ทางเดินแบบละเอียดและชัดๆ ครับ เพราะอยากทำต่อ ทำงานของพระ กราบขอบพระคุณ
ตอบ : นี่เขาว่าเขาเป็นพระเหมือนกัน ถ้าเป็นพระเหมือนกัน ครั้งที่แล้วเขาถามมาเรื่องจิตสงบ สมาธิ จิตรวม เหมือนหรือแตกต่างอย่างใด
เราอธิบายหมดแล้ว จิตสงบนะ พอคำว่า “จิตสงบ” ของที่เคลื่อนที่มันก็ไม่สงบใช่ไหม ถ้านิ่งอยู่ ถ้านิ่งอยู่มันก็สงบ คำว่า “จิตสงบ” มันจิตสงบของใครล่ะ สงบของปุถุชน สงบของโสดาบัน สงบของสกิทาคามี สงบของอนาคามี สงบของพระอรหันต์
พระอรหันต์นะ ดูพระอรหันต์เอาอะไรมาสงบล่ะ เพราะมันไม่มีกิเลสไง แต่ถ้าเป็นสงบของโสดาบันก็ส่วนหนึ่ง สกิทาคามีก็ส่วนหนึ่ง อนาคามีก็ส่วนหนึ่ง เพราะว่าพระโสดาบันก็มีวุฒิภาวะละสังโยชน์ ๓ ตัว พระสกิทาคามีก็ละสังโยชน์ ๓ ตัว ทั้งกามราคะปฏิฆะอ่อนลง ถ้าพระอนาคามี ปฏิฆะ กามราคะ สังโยชน์ชั้นต่ำหมดเลย พระอรหันต์สังโยชน์ ๑๐ ไม่มีเลย ไอ้สังโยชน์ ๑๐ นั่นแหละมันเป็นเครื่องวัดว่าสงบมากสงบน้อย แต่คำว่า “สงบ” ก็สงบเหมือนกันนั่นแหละ การเคลื่อนไหวนิ่งอยู่ก็สงบ คนทั่วไปก็สงบได้ คำว่า “จิตสงบ” ไง
ถ้าจิตเป็นสมาธิ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ สมาธิมันก็แตกต่างกัน
ถ้าบอกจิตรวม จิตรวมถ้ารวมใหญ่ รวมใหญ่คือถ้าทำความสงบเข้ามามันก็รวมใหญ่ได้ ทำสมาธิรวมใหญ่ รวมใหญ่นี่นิ่งหมดเลย รวมใหญ่ เดี๋ยวจะอธิบายเรื่องรวมใหญ่ต่อ
แล้วถ้าพูดถึงพิจารณาไป เวลาพิจารณาไป สังโยชน์ ๓ ตัวมันขาดไป จิตนี้เวิ้งว้างหมดเลย พิจารณาซ้ำเข้าไป เวลากายกับจิตมันแยกออกจากกัน นั่นน่ะ อาการอย่างนั้นน่ะ อาการคล้ายๆ อย่างกับรวมใหญ่ แต่มันรวมใหญ่พร้อมกับกิเลสขาดไป
เราถึงบอกการรวมใหญ่มีสองอย่าง อย่างหนึ่งรวมใหญ่โดยพร้อมกับกิเลสขาดไปด้วย พิจารณาไป พิจารณาสติปัฏฐาน ๔ แล้วกิเลสขาดไปด้วย แล้วก็รวมใหญ่ลงด้วย มหัศจรรย์มาก แต่โดยปุถุชนมันรวมใหญ่ รวมธรรมดาไง รวมใหญ่เหมือนกัน เขาเรียกว่ารวมใหญ่ สมาธิ ทำสมาธิเขาเรียกว่ารวมใหญ่ ครูบาอาจารย์บอกรวมใหญ่
รวมใหญ่นะ เวลาพิจารณาไป ดูสิ หลวงตาท่านมาพูดที่โพธารามบ่อยว่าท่านเนตรๆ เวลาภาวนานะ คนเรามันอยู่ที่นิสัย นิสัยมันเข้มแข็ง นิสัยคนมันเด็ดขาด พอเด็ดขาดมันต้องวิกฤติมันถึงจิตมันจะลง พยายามจะนึกถึงเสือ ดูสิ อย่างเช่นหลวงปู่จวน อย่างครูบาอาจารย์ท่านจะไปนั่งบนหน้าผา ถ้าวูบก็ตกหน้าผาตายเลย คนที่จิตเขาเข้มแข็งเขาไปหาสถานที่อย่างนั้นเพื่อจะเอาความจริง อย่างนั้นมันรวม เวลารวมลง ๗-๘ ชั่วโมง
ถ้าคนไม่เคยจิตรวมพูดเรื่องจิตรวมไม่ถูก ไม่เป็น ไม่มี คนที่จิตรวมเท่านั้นจะพูดถึงเรื่องจิตรวมถูก แล้วคนที่เคยจิตรวมปกติธรรมดานั้นเคยรวมอย่างไรแล้วถูกด้วย แล้วพอพิจารณาไปๆ เวลาพิจารณาไป สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาสขาดไป ถ้าพิจารณาไป กามราคะปฏิฆะขาดไป โอ้โฮ! มันรวมลงนะ โลกนี้ราบหมดเลย กายเป็นกาย จิตเป็นจิต แยกจากกันโดยกายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส ที่ชินเชาพูดกับเว่ยหล่างไง
เขียนหนังสือ ถ้ามันมี หมั่นเช็ดกระจก มีหนังสือ เช็ดกระจก แล้วกระจกมันจะติดอะไร ที่เขาว่าไง “กายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส” ชินเชาว่าอย่างนั้น “กายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส” อู้ฮู! ลูกศิษย์สาธุกันใหญ่เลย เว่ยหล่างมันบอกเลย“กายก็ไม่มี จิตก็ไม่มี แล้วฝุ่นมันจะเกาะอะไร”
นี่มันเป็นชั้นๆ ไป เวลาพูดมารู้เลยว่าวุฒิภาวะเขาแค่ไหน “กายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส” นั่นสกิทาคามี “กายก็ไม่มี จิตก็ไม่มี ใสหมดเลย” นั่นน่ะอนาคามี
เสร็จแล้วสังฆราชของเขาเอาไม้ไปเคาะ เขาเป็นคนตำข้าวไง ไปเคาะที่ครกตำข้าวสามที หนึ่ง สอง สาม อนาคามี แล้วตีสามให้เข้าไปหา ฝึกเว่ยหล่างจนเว่ยหล่างสิ้นไป นี่คำพูดคำเดียว คนภาวนาเป็นฟังทะลุปรุโปร่งเลย แต่ถ้าคนไม่เป็นวนอยู่นั่นน่ะ ไม่รู้เรื่องหรอก
นี่พูดถึงว่าถ้าจิตรวม รวมโดยปกติก็ได้ รวมพร้อมกับกิเลสขาดก็ได้ จะรวมชนิดใดร้อยแปด จิตนี้เป็นได้หลายหลากนัก คนที่ภาวนาเป็นแล้วจะเข้าใจได้หมด คนที่ภาวนายังไม่เป็นก็พยายามของเราไง
นี่พูดถึงว่า เวลาเขาถามมาครั้งที่แล้ว จิตสงบเป็นอย่างไร
สงบของใครล่ะ เคลื่อนไหวอยู่ก็ไม่สงบ นิ่งอยู่ก็สงบแล้ว วัยรุ่นมันก็ทำได้ คนปกติก็ทำได้ เรานั่งนิ่งๆ ก็สงบนะ ถ้าเราเคลื่อนไหว อาบเหงื่อต่างน้ำนี่ไม่สงบ นั่นสงบของใครล่ะ แต่สงบของพระอริยเจ้าก็เป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป เห็นไหม
ฉะนั้น หลวงตาท่านพูดบ่อย ว่างข้างนอก ไม่ว่างข้างใน ข้างนอกว่างหมดน่ะ แต่ข้างในยังไม่ว่าง แล้วถ้าข้างในว่าง ข้างในว่างขั้นไหน ข้างในมันว่างตั้งหลายขั้น นี่วงกรรมฐาน ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ครูบาอาจารย์เราเวลาเขาคุยธรรมะกันเขาคุยกันแบบนี้ คุยแล้วเข้าใจกันหมด ใครมีมากมีน้อย ใครมีสูงมีต่ำ จบ อ้าปากมาน่ะหมดเลย กี่ไส้กี่ขดๆ เรียบร้อย แต่ไอ้คนพูดยังไม่รู้นะ ยังแจ้วๆๆ อยู่ ยังขี้โม้ต่อไป ไม่รู้หรอกว่าไส้กี่ขดมันได้แผ่ไปกลางตลาด ขายตลาดหมดแล้ว เขารู้หมด นี่ถ้าคนเป็นนะ
นี่พูดถึงว่า การที่ว่าเขาถามมา ถามว่าเรื่องจิตสงบเป็นอย่างไร สมาธิเป็นอย่างไร จิตรวมเป็นอย่างไร อธิบายไปแล้ว แต่อธิบายไปแล้ว เวลาเข้าไปปฏิบัติแล้วมันย้อนกลับมา ย้อนกลับมาเป็นคำถาม คำถามนี่นะไม่ถูกเลย ผิดหมด นี่ไง ผิดหมด ผิดหมดตรงไหนล่ะ
เขาบอก เวลาเขาพูดอย่างนี้ เพราะอะไร เพราะว่ามันเป็นจินตนาการของนักปฏิบัติไง ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติใหม่ๆ มันเข้าใจกันไปเอง ความเข้าใจว่า เข้าใจผิด เข้าใจไม่ถูกต้อง ความเข้าใจไม่ถูกต้อง เข้าใจไม่ถูกต้องเพราะอะไร เข้าใจไม่ถูกต้องเพราะว่ากิเลสของเรา อวิชชาของเรา ความไม่รู้ของเราดั้งเดิมมันมีของมัน จิตใต้สำนึกมันไม่รู้ มันไม่เป็นความจริง พอไม่เป็นความจริงปั๊บก็เลยเขียนถามมา เขียนถามมานี่
เวลาธมฺมสากจฺฉา แค่เขียนถามมานี่ คนอ่านจบแล้วรู้หมด แล้วเพียงแต่ว่าจะอธิบายอย่างไรเท่านั้นเอง อธิบายให้เห็นว่า ที่เขียนมามันถูกอย่างไร มันผิดอย่างไร ตรงไหนมันถูก แล้วตรงไหนมันผิด ที่มันถูก ที่มันถูกอย่างที่ว่า อย่างไรเรียกว่าจิตสงบ อย่างไรเรียกว่าเป็นสมาธิ อย่างไรเรียกว่าจิตรวม อธิบายไปแล้วรอบหนึ่ง นี่อธิบายรอบสอง รอบสองนะ ย้อนกลับมา จะเข้ามาที่คำถามไง เวลาที่คำถามเขาบอกเขาพุทโธๆ เขาทำปฏิบัติพุทโธจนพุทโธมันหายไป
พุทโธหายไปมันหายได้ตั้งหลายอย่าง หายไปด้วยความเร่ง ด้วยความเร่งของเราไง พุทโธๆๆ จนพุทโธหายไปเลย แล้วหายไปไหนล่ะ มันไม่ได้หายไปไหนหรอก มันไม่หายด้วย เราทำให้มันหายไง เวลาพุทโธหายมันหายด้วยการปฏิเสธ หายด้วยสติมันอ่อนแอ หายด้วยการไม่รับรู้ มันก็หายไปของมันโดยที่ว่าเราไม่ได้เป็นข้อเท็จจริงไง
แต่ถ้าพุทโธๆ มันจะหายจริงนะ พุทโธๆ นะ ถ้าพุทโธมันหายจริง เราจะเปรียบเทียบให้เห็นเลยว่าถ้ามันจะหายจริงมันหายอย่างไร ถ้ามันหายไม่จริงมันหายอย่างไร
เขาบอกพุทโธๆ คำบริกรรมจนพุทโธหายไป แล้วกลับไปนั่งมันก็ละเอียดขึ้น แต่ละเอียดขึ้น สิ่งที่ว่าเวลานั่งไปแล้วกายก็หายไป ทุกอย่างก็หายไป ทีนี้พอทุกอย่างหายไป แต่คนไม่เป็นน่ะ มันหายไปมันก็หายไปหมดเลย
เวลาว่าจิตรวม จิตรวมโดยปุถุชนนะ เวลาเราพุทโธๆ พุทโธละเอียดขึ้นๆ พุทโธมันละเอียดจนมันระลึกไม่ได้ พอระลึกไม่ได้ แต่สติเรายังพร้อมนะ สติเราพร้อมอยู่ ทีนี้เราพร้อมอยู่ ที่ว่าเขากลับไปนั่งแล้วมันกายหายไป จิตหายไป
คำว่า “หายไปๆ” นี่ตกภวังค์ทั้งนั้นน่ะ จะบอกว่าเป็นมิจฉา เป็นมิจฉาเลย เพราะมันหายไปโดยที่ไม่มีสิ่งใดสืบต่อ ไม่มีสิ่งใดนะ เหมือนเราตามสิ่งใดเข้าไปแล้วมันหายไปจนเราหามันไม่เจอ หามันไม่เจอ แต่ถ้าเราพุทโธของเราไปเรื่อยๆ พุทโธของเราไปเรื่อยๆ พุทโธไปเรื่อยๆ มันอย่างไรมันก็รู้ตลอด
ถ้าพุทโธมันหายไปจริงนะ เขาจะไม่เขียนมาถามเลย เพราะเราเคยพุทโธหายไง เราก็เคยพุทโธหาย ทุกคนก็เคยพุทโธหาย แล้วพอมันหายไปแล้วนะ เข้าใจแจ่มแจ้งชัดเจน ไม่มีสิ่งใดสงสัยเลย
หลวงตาถึงพูดไง ตอนที่เขามากล่าวตู่กรรมฐานไง บอกว่า ต่างคนต่างว่ามีความรู้ธรรมๆ ใครเป็นคนรับประกัน ใครเป็นคนพยากรณ์
หลวงตาท่านบอกว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านยกไว้ให้กับปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก รู้จำเพาะตน รู้แจ่มแจ้ง รู้ชัดเจน ยกให้กับปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก
ถ้าพุทโธหายนะ อื้อหืม! ไม่มีเขียนมาถามเลย ไม่ถาม ชัดเจนมากเลย
เพราะเราก็หายของเราเอง เราก็หาย แต่พุทโธหายนะ คำว่า “พุทโธหาย”ดูสิ เวลาหลวงปู่มั่นท่านขึ้นไปมูเซอ แล้วท่านเดินจงกรมของท่านอยู่ แล้วพวกชาวบ้านเขาเข้าใจว่าเป็นเสือเย็น เขาก็เข้ามาเฝ้ามาดูแลหลวงปู่มั่นตลอดว่ามาทำอะไร หลวงปู่มั่นภาวนาจนเขาสงสัย เขามาถาม ถามว่า “ตุ๊ ตุ๊หาอะไรน่ะ เห็นเดินไปเดินมา เดินมาเดินไป”
“พุทโธเราหาย”
“เฮ้ย! แล้วอย่างนี้ชาวบ้านช่วยค้นหาได้ไหม”
“ได้ๆ ช่วยกันหาเลยนะ”
“ให้ค้นหาอย่างไรล่ะ”
“ก็ให้หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ”
เวลาเขาไปพิจารณาของเขา เขาไปหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ จนพุทโธเขาหาย พอพุทโธเขาหายนะ จิตเขาสว่างหมดเลย เขาส่งมองไปที่หลวงปู่มั่น “โอ้โฮ! พุทโธตุ๊ไม่หาย พุทโธตุ๊สว่างไสว พุทโธตุ๊ครอบ ๓ โลกธาตุ พุทโธตุ๊หายไปไหน พวกเราต่างหากพุทโธหาย พวกเราต่างหากโง่เขลาเบาปัญญา ให้บอกว่าพุทโธหาย ให้เราช่วยหา จริงๆ แล้วพุทโธตุ๊ไม่ได้หาย”
มันหายแต่พวกคนโง่เง่าเต่าตุ่นอย่างพวกเรานี่ไง แล้วพวกเราก็พุทโธๆ จนมันหายไป พอมันหายไปมันชัดเจน พอพุทโธมันหาย อู้ฮู! มันสว่างไสวหมดเลย มันหันกลับไปดูหลวงปู่มั่น โอ้โฮ! มันเศร้า คนพอรู้แล้วมันสังเวชตัวเองไง คนอวดฉลาดน่ะมันโง่ คนไหนอวดฉลาด คนนั้นน่ะโง่ ไอ้คนที่รู้แจ้งนะ โอ้โฮ! มันไม่หาย มันสว่างไสวนั่นน่ะ
แต่คำว่า “พุทโธหาย” ของท่าน ท่านเป็นอุบายสอนให้พวกคนโง่เง่าเต่าตุ่นมันทำน่ะว่าให้ช่วยหาๆ ของมันหายใช่ไหม เราก็ต้องตั้งใจดูตั้งใจชัดเจนนะ เพราะเขาจะค้นคว้า ค้นคว้าเอาไปฝากหลวงปู่มั่น ของท่านหาย เราจะมาดูแลให้เจอ จะหาให้เจอ ยิ่งจะหาให้เจอ ยิ่งพอมันหาย มันหายจริง นี่ไง พุทโธหาย หายแบบหลวงปู่มั่น หายแบบผู้ใหญ่บ้านมูเซอน่ะ เวลามันหาย มันสว่าง มันกระจ่างแจ้ง โอ้โฮ! มันชัดเจนน่ะ ถ้าพุทโธหายนะ
ไอ้นี่บอกว่า พุทโธผมหายไป กายก็หายไปด้วย แต่ได้ยินเสียงนี่มันชัดๆ
ได้ยินเสียงมันผ่านอายตนะ ถ้าพุทโธมันหายไปนะ สักแต่ว่ารู้ แม้แต่กายกับใจอยู่ด้วยกัน หัวใจนี้มันสลัดร่างกายนี้ทิ้งเลย
โดยธรรมชาติของความเกิดเป็นมนุษย์นะ มนุษย์สมบัติมีกายกับใจ หัวใจนี้มันอยู่ในร่างกายนี้ หัวใจมันตั้งแต่ปฏิสนธิในไข่ นั่นน่ะตั้งแต่จิตหยั่งลงสู่ครรภ์แล้ว แล้วอยู่ในครรภ์เก้าเดือน นั่นน่ะจิตพร้อมสมบูรณ์ เวลาคลอดออกมาเป็นมนุษย์ กายกับจิตก็อยู่ด้วยกันมาสมบูรณ์ จนหมดอายุขัย จิตนี้ออกจากร่างนี้ไปคือคนตาย มันทิ้งร่างกายนี้ไว้ จิตมันก็จะเสวยภพเสวยชาติของมันต่อไป นี่มันโดยธรรมชาติเป็นแบบนี้เลย โดยข้อเท็จจริง โดยธรรมชาติผลของวัฏฏะเลย
แต่เวลาเราพุทโธๆๆ พอมันละเอียด พอมันสักแต่ว่า พอมันจะหาย มันทิ้งร่างกายนี้เลย ทั้งๆ ที่มันอยู่ด้วยกันนี่ คนเราชีวิตจิตใจอยู่ในร่างกายนี้ แล้วมันรวมลง มันทิ้งร่างกายนี้เลย แล้วเด่นชัด เด่นชัด สักแต่ว่ารู้
แปลกมาก หลวงตามาโพธารามท่านชอบพูดเรื่องนี้ เรื่องรวมใหญ่ๆ แล้วท่านก็พูด เราก็นั่งยิ้มๆ ทุกที ท่านบอกว่า คนทำไม่เป็นพูดไม่ได้ รู้ไม่ได้หรอก คนไม่เคยเห็นพูดไม่ได้ แต่ท่านพูดที่โพธารามบ่อยมาก มาโพธารามทีไรท่านเทศน์ก็จะเข้าตรงนี้ จะรวมใหญ่ๆ จะรวมใหญ่ จะมารวมใหญ่ที่โพธารามบ่อยมาก แล้วคนอื่นไม่รู้ คนอื่นไม่รู้ คนที่ไม่รู้คือไม่รู้ ถ้าคนที่ไม่รู้
นี่ไง อย่างที่ว่า พอพุทโธมันหายไปแล้ว แต่หูยังได้ยินเสียงรอบข้าง แต่ไม่ปรุงแต่ง
ได้ยินเสียงนั่นน่ะมันไม่พุทโธหรอก ได้ยินเสียงมันไม่หายหรอก มันยังอยู่ของมัน อยู่ของมันเพราะอะไร เพราะเสียง จิตมันจะรับรู้เสียงได้ด้วยอะไร ด้วยร่างกายนี้ไง ด้วยโสตประสาท ถ้าไม่มีโสตประสาท จิตมันจะรับรู้ได้ไหม ฉะนั้น มันจะหายไปได้อย่างไร มันยังชัดๆ อยู่นั่น มันไม่หาย
ก็บอกว่าคำถามมันไม่จริงไง แล้วมันไม่จริง มันไม่จริงคือว่ามันหายไม่จริง ว่าอย่างนั้นเถอะ จะบอกว่าไม่จริง “โอ้โฮ! หลวงพ่อ ผมเป็นพระนะ ผมไม่ได้โกหกนะ ผมพูดจริงๆ”
ก็จริงๆ นี่ไง ปัจจัตตัง คนรู้แค่ไหนพูดได้แค่นั้น คนภาวนาได้แค่ไหนพูดได้แค่นั้น พูดได้แค่ที่ตัวรู้นั่นน่ะ แต่ถ้ามันเป็นจริงมันจะเป็นจริงอย่างนั้น
ฉะนั้นจะบอกว่า ถ้ายังหูได้ยินเสียงอยู่มันไม่เข้าองค์ประกอบของพุทโธหาย ถ้าพุทโธหาย พุทโธหายหมายความว่าอัปปนาสมาธิ รวมใหญ่นี่คืออัปปนาสมาธิ ถ้าอัปปนาสมาธินี่นะ เวลากำหนดอานาปานสติมันก็จะดูลมเข้าไปเรื่อยๆ ดูลมเข้าไปเรื่อยๆ เกาะลมเข้าไปเรื่อยๆ ถ้าเข้าไม่ได้ ลมจะใส นั่นน่ะมันเหมือนกับพุทโธสักแต่ว่า ก็ยังรู้อยู่ พุทโธอยู่ ถ้ามันอานาปานสติจนลมใสก็ใสอยู่อย่างนั้นน่ะ แต่มันละเอียดเข้าไปๆ แล้วลมใสจะโยนทิ้ง จะให้ทิ้งยังไงก็ทิ้งไม่ได้ เพราะจิตมันไม่ละเอียดพอ วุฒิภาวะของจิตมันไม่ละเอียดพอ มันเข้าสถานะอย่างนั้นไม่ได้ มันต้องกลมกล่อม มันต้องบริกรรมจนกลมกล่อม จนละเอียดกว่า
สิ่งที่ละเอียดกว่า เหมือนน้ำตะกอน ถ้าตะกอนมันจะนอนก้น มันต้องมีน้ำหนักของมัน มันถึงจะนอนก้นของมัน จิตก็เหมือนกัน มันต้องบริกรรมของมัน ถ้าไม่บริกรรมของมัน มันจะเป็นอย่างนั้นไม่ได้ ถ้าไม่บริกรรมนะ มันก็ต้องอานาปานสติของมันจนกว่ามันจะละเอียดของมันเข้าไป ถ้าพอมันละเอียดเข้าไป เหมือนกับละเอียดเข้าไปใช่ไหม อย่างไอ้พวกตะกอนในน้ำต้องตกผลึกแตกต่างกันไป
จิต จิตมันบริกรรมพุทโธของมัน ใช้อัปปนาสมาธิของมัน ถ้ามันละเอียดเข้าไปๆ ละเอียดเข้าไปจนพุทโธไม่ได้ พุทโธไม่ได้ ตะกอนในแก้วน้ำนั้นกับน้ำนั้นมันอยู่ด้วยกัน
นี่ก็เหมือนกัน มันบริกรรมไม่ได้ แต่จิตมันลงสักแต่ว่า ทิ้งร่างกายนี้ เขาบอกว่ามันทิ้งร่างกายนี้ ร่างกายนี้มันทิ้งหมดนะ ทั้งๆ ที่อยู่ด้วยกันนะ ทิ้งไม่ได้นะ ทางวิทยาศาสตร์ทิ้ง ตายนะ แต่โดยจิตมันทิ้งเลย มันอิสระของมันเลย นี่อัปปนาสมาธิ ไม่เป็นพูดไม่ได้หรอก ไม่เป็นรู้ไม่ได้ คนเป็นเท่านั้น คนเคยเป็นอย่างนั้นถึงจะเป็น
แล้วไอ้ที่ว่า ถ้าหูได้ยินอยู่นี่ มันแค่อุปจาระ ถ้าทำสมาธิเขาบอก นี่คำถามนะ“ผมทำสมาธิ ผมเดินจงกรมทั้งวัน มันมหัศจรรย์ มันตื่นเต้น มันมีความสุขมาก”
สาธุนะ ผู้ปฏิบัตินี่เขาปฏิบัติได้ หลวงตาท่านจะสอนว่า “การปฏิบัติมียากอยู่ ๒ คราว คราวเริ่มต้นกับคราวถึงที่สุด” นี่คราวเริ่มต้นไง มันจะทุกข์มันจะยากหน่อยแต่ก็ทำได้เก่งแล้วล่ะ
นี่เป็นพระนะ ที่เขียนมาคือพระ แต่เพราะเขียนมาแล้ว นี่ถามปัญหา เราเป็นจิตที่สูงกว่าคือเป็นอาจารย์ที่เขาถาม เราต้องตอบให้ชัดเจนให้เคลียร์ให้ปัญหานี้จบเลย
ฉะนั้น ไอ้ที่บอกว่าพุทโธหาย อะไรหาย มันหายโดยความเข้าใจไง หายโดยความเข้าใจของผู้ปฏิบัติไง แต่มันไม่ใช่หายแบบที่ว่าองค์ของอัปปนาสมาธิ องค์ของความรู้จริง
องค์ของความรู้จริง ถ้าหายอย่างนั้นมันหายแบบชัดเจน หายแบบหูตาสว่างกระจ่างแจ้ง หายแบบรับรู้ ไม่ใช่หายแบบไม่รู้เรื่องๆ เทศน์เมื่อวานไง ไม่รู้เรื่องว่านิพพานไง ไม่รู้อะไรเลย นิพพาน ก็มันไม่รู้น่ะ ปฏิเสธมันไปเรื่อย
จริงๆ นะ เวลาภาวนา ที่ภาวนากันไม่ได้เพราะเหตุนี้ หายเพราะการปฏิเสธ หายเพราะความสะเพร่า หายเพราะความเข้าใจผิด เพราะเราเข้าใจผิดนะ คนปฏิบัติเข้าใจผิดเยอะมาก พุทโธไปแล้วพุทโธต้องหาย มันก็เลยพุทโธเบาๆ นิ่งๆ แบบคล้ายๆ ว่าอยากจะลืมมันน่ะ อยากจะให้มันหาย...หายแบบนี้หายโดยที่ภาษาเรานะ พยายามจับยัด แล้วมันก็หายจริงๆ แต่หายไปในมิจฉา ไม่ได้หายไปตามข้อเท็จจริง
หายตามข้อเท็จจริงมันจะละเอียดของมัน อย่างที่ว่า ละเอียดรอบคอบของมันแล้วชัดเจนของมัน หายอย่างนี้หายโดยคุณสมบัติขององค์ของสมาธิ ไม่ใช่หายแบบจับยัด ถ้าจับยัดไว้ด้วยการบังคับโดยให้มันหายก็หาย วางยาสลบก็หาย หลับไปเลย แล้วถ้าหายอย่างนี้บ่อยๆ เข้า เดี๋ยวเข้าภวังค์ แล้วจะเป็นผลเสียของการปฏิบัติ
ฉะนั้น การปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ต้องให้เป็นข้อเท็จจริง ให้เป็นข้อเท็จจริงแล้วพยายามส่งเสริม พยายามทำให้มันเป็นจริงขึ้นมา ถ้ามันจะหาย มันจะหายอย่างนั้น
ฉะนั้น ผู้ถามนะ ไอ้ที่ถามมานี่นะ ให้ขยันให้หมั่นเพียรนะ
“แหม! หลวงพ่อพูดทีเดียวใจหายวูบเลย เลิกดีกว่า”
โอ้โฮ! เสียเลยนะ แต่เพราะว่าเราอธิบายแล้วรอบหนึ่ง แล้วเขามั่นใจของเขาไง อธิบายมาแล้ว ครั้งที่แล้วว่าจิตสงบ สมาธิ จิตรวม เราได้อธิบายมาแล้วรอบหนึ่ง คำว่า “อธิบายรอบหนึ่ง” เขาเป็นคนถามเอง เพราะเขาเป็นคนถามเอง เขาต้องเอาคำตอบของเราไปทดสอบกับจิตของเขาแล้ว
คนเรานะ ไปหาหมอครั้งหนึ่ง หมอได้ตรวจอาการแล้ว แล้วเราเป็นคนไข้ เราอยากหาย เราก็ต้องวัดอาการของเรา แล้วคราวนี้เป็นคำถามที่สอง คำถามที่สองเขาบอกว่า “จิตมันหาย กายมันหาย ใจทุกอย่างหายหมดเลย” แต่เพราะเขาพยายามอธิบายเอง “แต่เสียงได้ยินอยู่”
ใช่ ถ้าเสียงได้ยินอยู่นี่อุปจาระ เพราะว่าถ้าจิตสงบเข้ามาแล้วเป็นอัปปนา อัปปนานี่สักแต่ว่า พิจารณาไม่ได้หรอก แต่มันเป็นฐานของจิต จิตที่มั่นคงมาก แล้วเวลาจะพิจารณานะ คลายตัวออกมา เวลาเข้าอัปปนาสมาธิ จิตรวมใหญ่ สักแต่ว่า สักห้าชั่วโมง แปดชั่วโมงก็แล้วแต่ เวลามันคลายออกมา มันเริ่มซ่าออกมา เหมือนกับคนเราที่ว่าเป็นเหน็บชาแล้วเราพยายามจะเดินได้
จิตก็เหมือนกัน เวลามันจะคลายตัวออกมา พอมันสักแต่ว่า มันเงียบ เด่นชัด แต่พอมันจะรับรู้นะ มันรับรู้เรื่องร่างกายเรานี่แหละ มันรับรู้ถึงความรู้สึก ถึงความรู้สึกเรื่องกาย มันจะรับรู้ออกมา แผ่ซ่านออกมา ขยายตัวออกมา พอออกมามันก็ร้อง เออ! กูนั่งอยู่นี่ อ๋อ! เนื้อนี่ออกไปผิวหนัง ขยับได้ รับรู้ได้
นี่ไง รับรู้ได้ก็รับรู้เสียงนี้ได้ไง อายตนะมาสมบูรณ์ไง ถ้ามาสมบูรณ์ ขันธ์ก็สมองก็ทำงานไง เรื่องสมอง เรื่องขันธ์ เวลาทำงาน ขันธ์ เรื่องความคิด ความปรุง ความแต่งไง พอมันออกมาปั๊บ ถ้ามันเคยเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ก็เริ่มพิจารณาตรงนี้ไง ถ้าออกมาอุปจาระ ตรงอุปจาระนี่ ตรงหัดใช้ปัญญา วิปัสสนาญาณเกิดตรงนี้ วิปัสสนาญาณเกิดตรงอุปจารสมาธิ
ขณิกสมาธิมันก็แบบว่ากำลังมันอ่อนเกินไป บางคนก็ทำได้ ทำได้เล็กๆ น้อยๆ แต่ทำแล้วมันไม่เป็นชิ้นเป็นอันไง มันก็ทำความสงบให้มากขึ้นๆ มันเป็นอุปจาระ มันก็เป็นชิ้นเป็นอัน งานเป็นชิ้นเป็นอัน
แล้วถ้าคนที่งานเป็นชิ้นเป็นอัน แต่มันไม่เป็นชิ้นเป็นอันเสียทีหนึ่ง เราก็บอกว่าให้กำหนดให้ลึกเข้าไป ให้เข้าไปสู่อัปปนา เข้าไปสู่ข้อมูลเดิม เข้าไปรื้อค้นว่า เรา จิตดวงนี้ควรทำงานอย่างใด จิตดวงนี้มีอำนาจวาสนาแค่ไหน ก็เข้าไปเพื่อเข้าไปหาข้อมูลของตน แล้วถ้ามันคลายตัวออกมา เราก็ฝึกหัดทำงานของเรา
นี่มันสำคัญๆ ครูบาอาจารย์ทุกองค์สำคัญมาก สำคัญ ยกลูกศิษย์ ยกหัวใจขึ้นสู่วิปัสสนา ยกหัวใจขึ้นสู่การทำงานไง งานของพระพุทธศาสนา งานของการวิปัสสนา มันสำคัญที่ใจของคนยกขึ้นสู่วิปัสสนา แล้วมันจะยกอย่างไรล่ะ ยกอย่างไร ไอ้ยกตรงนี้แหละ คนที่ภาวนากันแล้วไม่ก้าวหน้า ภาวนาแล้วไม่เจริญงอกงาม ภาวนาแล้วไม่มีเหตุมีผลเพราะตรงนี้ ถ้าไม่เข้ามามันก็อยู่ในโลกียปัญญา อยู่ในจินตนาการ อยู่ในการตะครุบเงาอยู่นั่นน่ะ ถ้าตะครุบเงาแล้วตะครุบเงาอีก มันก็ไม่ได้ประโยชน์ไง
แล้วถ้าเราจะไม่ตะครุบเงา เราจะเอาจริงเอาจัง มันก็ต้องเข้าสู่สมาธิให้ลึกขึ้นไง ให้เรามีสถานะมากขึ้นเพื่อจะได้เป็นชิ้นเป็นอันไง เป็นชิ้นเป็นอันมันก็เป็นอริยสัจ เป็นชิ้นเป็นอันก็เป็นวิปัสสนาญาณ นี่ญาณวิถี ว่าอย่างนั้นเลย เกิดญาณวิถี เกิดความหยั่งรู้ เกิดปัญญา นี่พูดถึงถ้าเป็นวิปัสสนานะ
ถ้าไม่วิปัสสนา “เอ๊ะ! พระกรรมฐานเขาคุยอะไรกันน่ะ เฮ้ย! กรรมฐานเขาทำอะไรน่ะ ทำไมเขาไม่มาเรียนปริยัติ เขาทำอะไรกันน่ะ เขาทำอะไรกัน”
เพราะมันไม่มีตรงนี้ไง มันทำไม่เป็นไง แต่ถ้าคนเขาทำเป็นเขาก็หาตรงนี้กัน เขาหาครูบาอาจารย์กัน
ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเขาพูด “เวลาปรากฏว่าลมหายใจมันหายไป กายมันหายไป ผู้รู้หรือจิตนี้เด่นขึ้น”
ไอ้นี่มันเป็นไปได้ มันเป็นไปได้โดยความไม่ละเอียด ความไม่รอบคอบของเรา แต่ถ้ามันหายจริงๆ มันต้องหายแบบที่เราอธิบายมานั่น แต่นี่พอมันบอกพอมันหายแล้ว ทีนี้เพียงแต่ว่ามันสรุปลงที่ว่า “แต่ว่า”
เพราะมันต้องพูดข้อเท็จจริงไง เพราะคนเราเวลาเราไม่รู้ เราก็อยากจะถามผู้รู้ ฉะนั้น เวลาถามผู้รู้ เราก็ต้องบอกสมุฏฐานของโรคทั้งหมดเพื่อผู้รู้เขาจะได้วินิจฉัยได้ถูกต้อง
ฉะนั้น เขาถึงบอกว่า “ลมหายใจหายไปเลย กายหายไปเลย จิตนี้เด่นมากเลย แต่เสียงรู้ยังมีอยู่”
นี่คืออุปจาระ มันจะเข้าไป แต่เพราะว่าเขาบอกว่าเขาสุขมาก เขาไม่เคยเห็นอย่างนี้มาก่อน
ใช่ จิตเป็นขณิกะ เป็นอุปจาระก็สุขมาก สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี จิตสงบนี้มีความสุขมาก แต่พอมันสุขมันสงบบ่อยๆ มันสงบแล้วสงบเล่ามันก็เลยชักจืดชืดไง เมื่อก่อนเวลาคนที่มีปีติ พอปีติแรกก็ โอ้โฮ! มหัศจรรย์มาก พอมีบ่อยๆ ครั้ง บ่อยๆ ครั้ง “ปีติมันไม่มีเลยเดี๋ยวนี้” มันมี แต่มันคุ้นชินไง นี่ก็เหมือนกัน พอมันสงบบ่อยๆ ครั้งเข้ามันคุ้นเคย พอคุ้นเคยเข้า ทำอย่างนี้มันเป็นบ่อยๆ เป็นอย่างนี้มาเยอะแยะแล้ว
กลับไปจับพุทโธใหม่ แล้วพุทโธชัดๆ ไม่ให้มันหาย มันจะหาย นี่ชัดๆ ไปเลย ชัดๆ ไปเลย ไม่ให้มันหาย
แล้วมันก็วูบหายไป วูบหายไปทุกที เพราะคนเคยเป็น พอตกภวังค์แล้วนะ มันจะตกบ่อยๆ แล้วมันยิ่งร่อง เราเปรียบเทียบเหมือนกับคอสะพาน เวลาน้ำหลาก พอคอสะพานขาด รถมามันตกคอสะพานหมดน่ะ นี่ก็เหมือนกัน พอพุทโธ เพราะมันวูบหาย นั่นน่ะคอสะพานระหว่างโลกียปัญญามันจะเข้าโลกุตตระ ถ้ามันจะเข้าสู่ความสงบ
ไอ้คอสะพานนี่ร้ายกาจนัก เพราะมันตกประจำไง แต่เราเข้าใจว่า เราข้ามสะพานไปแล้ว เข้าไปว่างหมดเลย ทั้งๆ ที่มันอยู่คอสะพานนั่น มันไม่ได้เข้ามาหรอก มันตกอยู่คอสะพานนั่น จิตอยู่แค่นั้นน่ะ
ฉะนั้น แก้ ถมคอสะพานนั้น ถมคอสะพานนั้นจนมันเป็นถนนเรียบ รถเราจะข้ามผ่านจากคอสะพานนั้นข้ามสะพานนั้นไป นี่ก็เหมือนกัน พุทโธชัดๆ พุทโธชัดๆ ถมมันด้วยสติ ถมมัน แต่ยากมาก เพราะเราเคยถมมาแล้วไง เราเคยตกภวังค์มาเต็มที่แล้ว นักปฏิบัติทุกคนเคยสมบุกสมบันมาทั้งนั้นน่ะ เพียงแต่ว่าจะยกตรงไหนมาอธิบาย จะจับตรงไหนมาอธิบายไง ถ้าคนผิดทางนี้ เราก็เคยผิดมาแล้ว ก็จับตรงนั้นอธิบาย คนผิดอย่างนี้ เราก็เคยผิดอย่างนี้ ก็จับตรงนั้นมาอธิบาย
ครูบาอาจารย์ที่แต่ละองค์ที่จะผ่านมานะ เคยผ่านสมบุกสมบันมาทั้งนั้นน่ะ แล้วตกที่ไหน ตกอย่างไร จิตมันเป็นอย่างนี้มาตลอด เพียงแต่ว่าคนที่ทำมามันเป็นจริตไง บางคนผิดอย่างนี้ บางคนผิดชนิดนี้ บางคนผิดชนิดนี้ บางคนผิดอย่างนี้
แต่อย่างเรานี่ผิดหมดทุกเรื่องเลย ไม่รู้สร้างกรรมอะไรมา ผิดมันทุกเรื่องเลย แล้วต้องแก้มาทุกเรื่องนะ แก้แล้วถึงได้เห็นว่ามันผิด ถ้าไม่แก้นะ สำคัญตน
เราเคยเป็น นั่งทีหนึ่ง ๗-๘ ชั่วโมง หายไปเลย ๗-๘ ชั่วโมง มาคุยด้วยทุกวัน แล้วพอหายไปแล้วนะ พอเลิกภาวนา เพราะเขานั่งภาวนาบนศาลา พอภาวนาจบแล้วนะ มันสำคัญตนนะ เราเก่ง เก่งเพราะอะไร เพราะภูมิใจว่าทำได้ไง คำว่า“ทำได้” เราทำงานร่วมกันใช่ไหม แล้วเราทำได้เราจะภูมิใจไหม ทุกคนภูมิใจทั้งนั้นน่ะ มันภูมิอกภูมิใจ แหม! เก่ง ใช้ได้ เราเป็นพระ เราปฏิบัติดี
แต่มีวันหนึ่งนั่งภาวนาเสร็จมันเปียกที่หน้าอกไง หยิบขึ้นมาดมไง เฮ้ย! นี่น้ำลาย ที่เอ็งภูมิใจๆ เอ็งนั่งหลับตลอดเลย เอ็งนั่งหลับมาตลอดเลย โอ้โฮ! ใจนี่แป้วเลยนะ แล้วก็เกิดความมุมานะ เกิดการบากบั่น ก็จะแก้ไข
เพราะได้อ่านประวัติหลวงปู่มั่น ได้อ่านประวัติครูบาอาจารย์มาเยอะว่าตกภวังค์มันไม่ดี อะไรไม่ดี แล้วเราก็ไม่รู้ว่าตกภวังค์เป็นอย่างไรไง แต่เราก็นั่งไปแล้ว ๗-๘ ชั่วโมง ก็ภูมิใจนะ ยังนึกถึงเดี๋ยวนี้ว่าตอนนั้นภูมิใจจริงๆ ตอนที่ยังไม่รู้ว่าภวังค์นี่ภูมิใจมาก แต่พอน้ำลาย น้ำลายของตัวเองมันสอน อาจารย์ใหญ่ของเราคือน้ำลายของเราเอง ยกขึ้นมาดม น้ำลายนี่ไม่มีใครเอามาแกล้งเราหรอก มันต้องไหลจากปากเราเอง ไม่มีใครแกล้งกูหรอก กูเป็นเอง พอเป็นเอง โอ้โฮ!คอตกเลยนะ เศร้าใจ แล้วก็หาทางแก้ไขมาๆ
นี้พูดถึงว่าเวลาที่ว่ามันหายไปเลยๆ เราหายทีหนึ่ง ๘ ชั่วโมง น้ำลายไหลยืดเลย หายทีหนึ่ง ๘ ชั่วโมง ๑๐ ชั่วโมง สบายๆ แล้วภูมิใจมาก ยังคิดแล้วมันเสียวนะ ถ้าตอนนั้นสำคัญตนว่าตัวเองเก่ง ตัวเองดีนะ ไปอีกนะ มันไม่รู้ว่ามันจะไปไหนน่ะ แล้วมันจะกลับมาอย่างไรน่ะ ที่มันกลับมาได้เพราะน้ำลาย กลับมาได้เพราะน้ำลายของตัวเอง แล้วกว่าจะกลับมาได้เกือบปี เกือบตาย
พอรู้ว่าตกภวังค์ปั๊บก็คิดถึงพระโมคคัลลานะ เวลาเราศึกษา ศึกษาพระพุทธเจ้า ศึกษาหลวงปู่มั่น เวลาคิดถึงพระโมคคัลลานะเลย พระโมคคัลลานะตกภวังค์ นั่งหลับ พระพุทธเจ้ามาแก้อย่างไร ที่สอนพระโมคคัลลานะ ทำหมดเลย แล้วไม่ได้เรื่อง ไม่ได้สักอย่าง ถามตัวเองว่าทำไมมันไม่ได้
ท่านบอกให้ตรึกในธรรม ตรึกในธรรมก็ตรึกจนแบบนกเขา เปรียบเหมือนนกเขากับแมว แมวมันจะกินนกเขา นกเขาอยู่ในกรง พอนกเขามันเห็นแมวมันก็ตกใจมันก็ดิ้น ก็วิ่งบินไปบินมาไปข้างกรง เสร็จอีก ไอ้นี่ก็ตรึกไปตรึกมาตกภวังค์อีก ตรึกไปตรึกมาหายไปเลย แก้ไม่หาย แก้อย่างไรก็ไม่หาย ทำแบบพระโมคคัลลานะนั่นน่ะไม่ได้เรื่อง
สุดท้ายผ่อนอาหาร อดอาหาร ได้เพราะอดอาหาร ไม่กิน อ้าว! มึงหลับไป ไม่กิน จนเดินแทบไม่ได้ เดินนี่จะล้มเลย อดกับมัน สู้กับมัน นี่แก้มาแล้ว
ฉะนั้น เวลาคำถาม เราเคยเป็นมาแล้วไง มันถึงตอบผู้ถามได้ชัดๆ ยิ่งได้ยินเสียงแล้วว่าจิตมันหาย
กิเลสมันทำให้หายได้ หายด้วยความคาดหวังของเรา หายด้วยความต้องการของเรา หายอย่างนั้นน่ะ แล้วพอหายแล้วไม่ธรรมดานะ ถ้าเขาอยู่ต่อหน้าเรา เขาจะบอกเลย อู๋ย! มันมีความสุขมากนะ อู๋ย! มันมหัศจรรย์มากนะ
กิเลสมันหลอกอย่างนั้นน่ะ หลอกว่ามหัศจรรย์ หลอกว่ามันสุดยอดไง หลอกอย่างเดียวไง แล้วให้มึงจมอยู่นั่นไง เอ็งรู้จักกิเลสไหม รู้จักหน้ากิเลสหรือเปล่า ไม่รู้จักน่ะสิ ไม่รู้จักนี่มันบังเงาไง เอาธรรมะมาบังไง แล้วเราก็สำคัญตนไง นี่ครูบาอาจารย์ท่านเป็นแล้ว
ที่พูดนี้ไม่ใช่โกรธนะ เดี๋ยวมาบอก “โอ้โฮ! หลวงพ่ออิจฉา กลัวเขาจะภาวนาเท่าหลวงพ่อ อัดใหญ่เลย”...ไม่ใช่ เราทุกข์มาก่อน ทุกข์มาก อาการแบบนี้ทุกข์มาก แต่เวลาแก้มาแล้ว อย่างที่ตอบไป จิตสงบ สมาธิ จิตรวมใหญ่ แตกต่างกันอย่างไร
แตกต่างกันหมด เพราะอะไร แตกต่างกันเพราะเคยเป็นมาหมด
นี่ก็เหมือนกัน คำถามที่ ๑. “อาการแบบนี้คืออะไร”
ตกภวังค์
“เป็นวสีหรือยัง”
ถ้าเข้าไม่ถูก มันจะเป็นวสีได้อย่างไร เป็นวสีมันต้องชำนาญเข้าที่ถูก เริ่มต้น ท่ามกลาง ที่สุดถูกหมด ไอ้นี่เริ่มต้นถูก แล้วท่ามกลาง มันเป็นสมาธิ สมาธิมีสัมมาและมิจฉา มิจฉาสมาธิก็ได้ สัมมาสมาธิก็ได้
ถ้ามันถูกต้องดีงามมันต้องมีสติรอบคอบหมด นั่นเป็นสัมมาสมาธิ ถ้าเป็นสมาธิโดยความเข้าใจ โดยกิเลสมันจับยัด เป็นมิจฉา มิจฉาสมาธิคือให้เราติดอยู่ที่นั่น ไม่ก้าวเดินไป มิจฉาสมาธิก็ได้ ถ้ามันสัมมา สัมมาต้องมีสติปัญญาพร้อม พร้อมยกขึ้นสู่วิปัสสนา ถึงเป็นสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิก็เข้าสู่มรรค มิจฉาสมาธิก็เข้าสู่มิจฉามรรค เข้าสู่กิเลส
“๓. ทำอย่างไรต่อไป”
อธิบายมาตั้งแต่ต้น อธิบายมาตลอด ทำอย่างไรต่อไป เริ่มต้นทำให้ชัดๆ นะ คือว่าถ้ามันเป็นสมาธิก็เป็นสมาธิ ถ้าเป็นสมาธิแล้วก็ฝึกหัดใช้ปัญญาได้ ฝึกหัดใช้ปัญญา แล้วพอมันเข้าสมาธิ ไม่จำเป็นจะต้องเข้าอัปปนาสมาธิ ไม่จำเป็นต้องเข้าถึงที่สุด ฝึกหัดมันๆ แล้วพยายามดูพยายามสังเกตความถูกต้องว่ามันถูกต้องไม่ถูกต้อง แล้วทำให้มันดีหรือทำให้มันไม่ดีไง แก้ไขตรงนี้ไง
ถ้าจะทำอย่างไรต่อไป ประเด็นอยู่ตรงนี้ ประเด็นที่ว่า จะทำอย่างไรต่อไป ถูกหรือผิด แล้วจะทำอย่างไรต่อไป
ตั้งสติไว้ กำหนดลมหายใจเข้าออก พุทก็พุท โธก็โธ ชัดๆ อยู่อย่างนี้ ทำข้อเท็จจริงชัดๆ ถ้าชัดๆ ก็สติสมบูรณ์ หลวงตาบอกว่า จะทำสิ่งใดขาดสติ นั้นคือเป็นมิจฉาทั้งหมด ถ้าทำให้มันถูกต้อง ต้องมีสติ สติอยู่กับพุทโธของเรา พุทโธของเรา อยู่กับพุทโธ อยู่กับอานาปานสติ อยู่ชัดๆ ชัดๆ
แล้วถ้าชัดๆ นะ เวลาถ้ามันจะเป็นนะ ไอ้ที่ว่ามันจะหาย โอ้โฮ! มันละเอียดเข้ามานะ ละเอียดจนอย่างว่า คิดดูสิ มันเหมือนคน จะบอกว่าวางยาสลบมันก็ไม่เหมือนกัน ถ้าวางยาสลบ คนมันไม่รู้ มันนอนใช่ไหม แล้ววางยาแล้วมันก็หลับไป
แต่นี้เราเป็นคนเดินอยู่ เพราะเริ่มต้นเราเป็นคนเดินอยู่นะ เดินจงกรมอยู่นี่มันเดินไม่ได้ พอเดินไม่ได้ เราก็ยืน ยืนกำหนดลมหายใจ กำหนดพุทโธ ยืนก็ยืนไม่ได้ พอยืนไม่ได้เพราะอะไร เพราะมันไม่มีสติจะสามารถบังคับให้เส้นประสาทให้กายมันตรงอยู่ไง เราก็เลยนั่งลง นั่งลงทางจงกรมนั่นแหละ มันก็ละเอียดๆ จนมันทิ้งกายเลย พอมันทิ้งกาย นั่นน่ะรวมใหญ่ แล้วโดยทางวิทยาศาสตร์นะ มันหายไปหมดเลย แต่ไม่หายหรอก จิตเด่นชัดมาก จิตเด่นชัดมาก แต่เป็นสักว่ารู้ จิตล้วนๆ
คนเรามันมหัศจรรย์นะ มหัศจรรย์ วิทยาศาสตร์พิสูจน์ไม่ได้นะ พิสูจน์ว่าให้แยกความรู้สึกกับร่างกายนี้ออกจากกันให้คนยังมีชีวิตอยู่ ทำไม่ได้ แต่รวมใหญ่เป็นอย่างนั้น ชัดเจนมาก ไม่มีที่ว่าได้ยินอยู่ในหู หยาบมาก ได้ยินอยู่นี่ปวดหัวเลย มันไม่เป็นอย่างนี้หรอก แต่ถ้ามันเป็นอย่างนี้ เราจะบอกว่าเป็นอย่างนี้แสดงว่าผู้ปฏิบัติปฏิบัติได้อย่างนี้ ถ้าปฏิบัติได้อย่างนี้มันก็เป็นผลของเขา คือว่าเขาบอกว่าไม่เคยเห็นเลยนะ มหัศจรรย์มากเลยนะ สุดยอดมากเลยนะ...ก็แบบว่าสูงสุดของผู้ปฏิบัติไง
แต่ทีนี้เพียงแต่ว่าจะทำอย่างไรต่อไป คำถามมันอยู่ที่ตรงนี้ไง ถามว่า “แล้วทำต่ออย่างใด จะก้าวเดินอย่างไรจะให้มันถูกต้องต่อไป”
เพราะเขาถามมานะ เดี๋ยวเวลาถ้าเขาถามเสร็จแล้วเขาไปทำแบบว่าลูกล่อลูกชนแล้วไปคุยกับคนอื่น “พระสงบรับประกันแล้ว” ยุ่งเลย “ถามพระสงบมาแล้ว พระสงบบอก อู้ฮู! ภาวนาเก่ง สุดยอด” เออ! ก็แค่นี้แหละ กรรมฐานก็มีอยู่แค่นี้ กรรมฐานก็หางอึ่งนี่ไง
แต่ถ้ากรรมฐานความจริงนะ โอ้โฮ! เป็นสมาธิต้องเป็นสมาธิจริงๆ ยกขึ้นสู่วิปัสสนาต้องวิปัสสนาจริงๆ แล้วมันจะเป็นความจริง
ไอ้นี่ขนาดว่าครึ่งๆ กลางๆ ยังมหัศจรรย์ขนาดนี้ ครึ่งๆ กลางๆ ไอ้คนถามยัง โอ้โฮ! มหัศจรรย์มากๆ แต่มีอยู่อันเดียวเท่านั้นน่ะ แต่มันเป็นบ่อยนะ มันไม่ตื่นเต้นแล้วแหละ มันจืดชืดแล้ว มันเป็นวสีหรือเปล่า
ของถ้าเป็นของจริงนะ สดๆ ร้อนๆ รสชาติเข้มข้นตลอด ไม่มีว่าจืดชืด คำว่า“จืดชืด” มันเข้าไปคุ้นชิน ไอ้จืดชืด จืดชืดแบบโลกๆ กินทีเดียวใช่ไหม นี่ไง คนเคยภาวนาเห็นกายทีหนึ่งแล้วบอกเห็นตลอดไป...ไม่ใช่
ภาวนากายเป็นปัจจุบัน เป็นปัจจุบันตลอด แต่ถ้าเป็นสัญญา เห็นกายเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ นี่ก็เหมือนกัน เข้าได้หนเดียว ครั้งที่สองเป็นสัญญา ไม่มี หนเดียว หนเดียวเท่านั้น สดๆ ร้อนๆ ชัดๆ รสชาติเข้มข้น ไม่มี ไม่มีที่ว่าจืดชืด ไม่มี นี่พูดถึงถ้าเป็นความจริงนะ
ฉะนั้น ทำใหม่ ที่ทำมาแล้วก็แล้วไป เราก็ยังถือว่าเก่งนะ ยังทำได้ขนาดนี้ถือว่าเก่ง ใช้ได้อยู่
ฉะนั้นที่ว่า ถ้าพุทโธหายให้หายตามข้อเท็จจริง อย่าคิดหวังอยากให้หาย อยากประสบความสำเร็จ อยากดีงาม ก็เลยรู้โจทย์ก่อน ก็ทำให้มันหายไปซะ หายแบบนี้หายแบบไม่มีเหตุมีผลไง หายแบบให้เขาดูถูกกรรมฐานไง
กรรมฐานมีข้อเท็จจริงนะ มีองค์ความรู้จริง มีมรรคมีผล ไม่ใช่หายโดยนึกว่า ลืมไป หายหรือเป็นจริงแล้วพูดไม่ได้ ไม่มี หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์เรามาได้เลย จะร้อยประโยคก็มา มาเถอะ ถ้าความจริงมันมีอยู่ แต่ความจริงมันไม่มี มันจบที่นั่นไง
ฉะนั้น ทำให้จริงให้จังขึ้นมาแล้วฝึกหัดปฏิบัติของเราให้ตามข้อเท็จจริงอย่างที่ว่ามานี้เนาะ เอวัง