ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

จะพูดจะทำ

๑๑ ก.ย. ๒๕๕๙

จะพูดจะทำ

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๕๙

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

ถาม : เรื่อง “พระอรหันต์

ตอบ : ถ้าเขาถามเรื่องพระอรหันต์นะ ถามเรื่องพระอรหันต์แล้วยังยกถึงเรื่องของครูบาอาจารย์เรามาแล้วบอกว่าให้หลวงพ่ออธิบายให้ที เพราะหลวงพ่อเคยอยู่กับครูบาอาจารย์มาไง นี่เขาพูดถึงเรื่องพระอรหันต์

คำว่า “พูดถึงเรื่องพระอรหันต์นะ” เวลาเราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นพระอรหันต์ แล้วเวลาสิ้นสุดแห่งทุกข์ในพระพุทธศาสนาคือเป็นพระอรหันต์ คือสิ้นสุดแห่งทุกข์ นี่คือเป้าหมายของชาวพุทธเราไง ถ้าเป็นเป้าหมายของชาวพุทธนะ เวลาเขาพูดถึงพระอรหันต์ พระอรหันต์ประเภทใด หลวงพ่อช่วยอธิบายที

ให้อธิบายอย่างนี้มันเหมือนกับเราพูดกันเป็นเรื่องการพูดเล่น เป็นการพูดเล่น เป็นการพูดแบบว่าไม่ได้เคารพบูชาไง

แต่ถ้าเป็นการเคารพบูชานะ เรื่องพระอรหันต์ เราพูดถึงหลวงปู่มั่นบ่อย เวลาเราจะอ้างอิงๆ เราอ้างอิงหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น แล้วเราประกาศประจำ เราเชื่อของเราว่าหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นเป็นพระอรหันต์ๆ

เวลาคนอื่นพูดเรื่องพระอรหันต์ บอกว่าอย่าไปพูดถึงพระอรหันต์ แต่เวลาเราพูดเราก็ยืนยันว่าพระอรหันต์ๆ

แล้วอะไรเป็นพระอรหันต์ อะไรไม่เป็นพระอรหันต์ล่ะ

คำว่า “พระอรหันต์” เป็นความจริงไง ความจริงในใจของหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ความจริงในใจของครูบาอาจารย์ท่านเป็นพระอรหันต์ เวลาท่านเป็นพระอรหันต์แล้วท่านสั่งสอนอย่างไร ท่านดำรงชีพอย่างไร ท่านทำตัวอย่างไร นั่นเวลาเราพูด เราพูดอย่างนี้ เราพูดถึงว่าท่านสิ้นกิเลสอย่างไร

เวลาท่านสิ้นกิเลส ท่านต่อสู้กับกิเลสของท่านมา ท่านทุกข์ท่านยากมาอย่างไร แล้วท่านทุกข์ท่านยากขึ้นมา เวลามันเพลี่ยงพล้ำ เพลี่ยงพล้ำอย่างไร เวลาท่านรวมกำลังของใจขึ้นมา ท่านต่อสู้แล้วท่านชนะอย่างไร

แล้วท่านเห็นพวกเราเป็นไอ้พวกโง่บ้าเซ่อ ไอ้พวกเซ่อๆ ซ่าๆ ไอ้พวกเดินก็สะดุดขาตัวเองล้มแล้วบอกว่าจะภาวนา ท่านเห็นแล้วมันไปขวางตาท่านไง ขวางตาท่าน ท่านก็คอยชี้นำ ถ้าภาษาโลกก็คอยเหน็บคอยแนม

แต่การเหน็บแนมของครูบาอาจารย์มันไม่ใช่เหน็บแนมเพื่อโทษไง การเหน็บการแนม เหน็บแนมให้ได้สติไง บอกเราให้ได้สติ แต่บอกตรงๆ ขึ้นมากิเลสมันก็ต่อต้าน ท่านก็ต้องตีวัวกระทบคราด ไปบอกอ้อมๆ ให้พอมันได้คิด ให้มันได้ยั้งคิด นี่เวลาเราพูดถึงพระอรหันต์ เวลาเราพูดถึงครูบาอาจารย์ของเราไง ทีนี้เวลาพูดถึงครูบาอาจารย์ของเรา เราพูดอย่างนี้ เราพูดเพื่อด้วยการเคารพบูชา ด้วยการเชิดชู

แต่ถ้าเป็นทางวิชาการ ทางวิชาการเราศึกษาๆ เวลาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม เวลาท่านเทศนาว่าการพระอัญญาโกณฑัญญะมีดวงตาเห็นธรรม สัจธรรมๆ สัจธรรมอันนั้นน่ะ เวลาสัจธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากราบธรรมๆ

เราพูดทุกวันว่ากราบธรรมๆ สัจธรรมอันนี้ เห็นไหม เวลาคนที่สิ้นกิเลสหัวใจเป็นธรรมมันพ้นจากวัฏฏะ พ้นจากวัฏฏะมันเป็นสัจจะเป็นความจริงอันนั้นไง ถ้าเป็นสัจจะเป็นความจริงอันนั้น เวลาเราพูดถึงพระอรหันต์ด้วยการเชิดชูด้วยการเคารพบูชา

ไม่ใช่เอามาพูดกัน เวลาพูดกัน พูดกันในเชิงลบหลู่ เวลาเราได้ยินนะ บางทีเวลาเขาพูดกันน่ะพูดในเชิงลบหลู่ พูดโดยเชิงเอามาเป็นสินค้า พูดโดยเชิงว่าเอามาเป็นฐานเหยียบก้าวข้ามขึ้นไป ฟังแล้วเศร้า ฟังแล้วเศร้าใจนะ

เราปรารถนาสิ่งนั้นน่ะ เพราะสิ่งนั้นสัจธรรมมันสูงส่งนะ มันเหนือโลก เหนือโลกก็คือเหนือทรัพย์สมบัติ เหนือโลกธรรม ๘ เหนือลาภ เหนือสักการะ เหนือทุกๆ อย่างน่ะ ไอ้นั่นมันเป็นเป้าหมาย เป็นสิ่งที่เราเชิดชู

แล้วถ้าครูบาอาจารย์ของเราท่านทำได้จริง ดูสิ เวลาหลวงปู่มั่นท่านไปอยู่เชียงใหม่ เจ้าคุณอุบาลีฯ ท่านให้พระครูไง ให้เป็นเจ้าอาวาสที่วัดเจดีย์หลวงไง เวลาท่านรักษาดูแลอยู่พักหนึ่งแล้วท่านก็บอก “พระครูให้เฝ้าโบสถ์นี้ไว้นะ พระมั่นจะเข้าป่าแล้วล่ะ

ใจครูบาอาจารย์ของเราท่านเป็นธรรมนะ แล้วท่านทำโดยเบื้องหลัง ท่านทำด้วยตัวท่านเองไง สุดท้ายท่านมาเล่าให้หลวงตาฟังไง “พระครูเฝ้าวัดนะ พระครูเฝ้าวัด พระมั่นจะเข้าป่า

ท่านทำของท่านมันเรื่องธรรมดา มันเรื่องจิตใจที่เหนือโลกแล้วมันมองเห็นทุกอย่างเป็นของประจำโลก ไม่แสวงหา แม้แต่เขาให้ตำแหน่งมายังให้เฝ้าวัดไว้เลย แล้วตัวเองก็ไปแล้ว ไปเพราะอะไร เพราะมันเป็นความจริง ผู้ที่อยู่ในวัดนั้น ผู้ที่รองลงไปก็รักษาดูแลกันไป ท่านก็ไปแสวงหาความสงบสงัดของท่าน ท่านไปหาความจริงของท่าน ท่านไปอยู่กับสัจจะความจริงแล้วมันปลอดโปร่งมันโล่งโถง มันมีความสุขของท่าน นี่เวลาพระอรหันต์ท่านเป็นแบบนั้น

ฉะนั้น คำว่า “พระอรหันต์” ถ้าพูดด้วยการเชิดชู อันนั้นเวลาเราพูด เราก็พูดด้วยความเชิดชู พูดด้วยเป็นบุคลาธิษฐาน พูดด้วยเป็นแบบอย่าง เวลาเราจะพูด เราจะพูดในเชิงแบบอย่าง ในเชิงที่ครูบาอาจารย์เราท่านดำรงชีพอย่างนี้ ท่านทำอย่างนั้น เราพูดด้วยความเคารพบูชา

ไม่ใช่ว่า ถามเรื่องพระอรหันต์ พระอรหันต์ประเภทใด แล้วเอาพระอรหันต์มาวิเคราะห์วิจัยกัน

เวลาหลวงตาท่านพูดนะ ไอ้พวกหมาบ้า ตอนนี้โรคพิษสุนัขบ้ากำลังกลับมาระบาดอีกแล้วนะ คนน่ะ ดูสิ ที่ว่าเขาเป็นตำรวจที่เขาไปดูแลไปเลี้ยงสุนัข เขามีใจเมตตา สุดท้ายแล้วไปโดนมันกัดเสียชีวิต เสียชีวิตเลย

นั่นน่ะเวลาหลวงตาท่านพูดนะ ไอ้พวกหมาบ้า คำว่า “หมาบ้า” มันย้อนมากัดธรรมะไง ย้อนมาขบมากัด ไอ้พวกหมาบ้า ธรรมะท่านไม่เอามาเล่น ธรรมะท่านไม่เอามาพูดเล่นพูดหัว พูดหยอกพูดล้อ ไม่มี หลวงตาท่านไม่ทำอย่างนั้น หลวงปู่เสาร์ ครูบาอาจารย์เราไม่ทำอย่างนั้น หลวงปู่มั่นไม่ทำอย่างนั้น ท่านเคารพท่านบูชาของท่าน ท่านเคารพบูชาของท่าน

เวลาเราแสดงธรรมๆ เวลาเราตอบปัญหา เวลาเราจะพูดถึง เราพูดถึงในทางเคารพบูชา เราพูดถึงในการเชิดชู เราพูดถึงเป็นเป้าหมายของเราที่เราจะประพฤติปฏิบัติ เราจะค้นคว้า เราจะให้ได้อย่างนั้น

แต่จะให้เราพูดถึง ให้พูดถึงครูบาอาจารย์ว่าเราเคยอยู่กับครูบาอาจารย์มา ให้อธิบายมา เป็นอย่างไร พระอรหันต์เป็นอย่างไร

แหมกลัวเขาไม่รู้ว่าเป็นพระอรหันต์เนาะ กลัวเขาไม่รู้ว่าเรามีวุฒิมีภูมิเหรอ กลัวเขาไม่รู้ว่ามีภูมิ

โธ่เราเคารพบูชาของเรา เราเคารพบูชาของเราอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ามันเป็นเหตุเป็นผลไง อย่างเช่นใครทำงานใช่ไหม เวลาทำงานมันมีอุปสรรคใช่ไหม เวลาเราจะบอกว่าวิธีการจะแก้ไขอย่างไร เออถ้าอย่างนั้นน่ะใช่ ถ้าอย่างนั้นถึงเวลาแล้ว

เพราะจะบอกว่าถึงเวลา หลวงตาท่านสอนนะ มีดคมในฝัก ชักออกมาจากฝักจะได้ประโยชน์ทุกที มีดไม่ใช่อยู่นอกฝัก บาดทั้งตัวเอง บาดทั้งคนอื่น บาดเขาไปทั่ว ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถ้ามันมีจริงมันคมในฝัก อย่าให้ชัก ชักออกมานี่ได้เสียหมด ชักออกมานี่ขาดหมด ทุกอย่างต้องเป็นอย่างนั้น เป็นจริงๆ ตลอด

ฉะนั้น หลวงตาท่านถึงบอกอย่างนั้น ธรรมะคมในฝัก แล้วมันเก็บอยู่ในฝัก ฝักมีดมันไม่บาดใครหรอก ฝักมีดมันรักษาคมอันนั้นไว้ นี่ก็เหมือนกัน สัจธรรมๆ อย่างนี้หลวงตาท่านชื่นชม ท่านชื่นชมว่าคมในฝัก ให้มันเป็นความจริงอย่างนั้น อย่าให้เป็นหมาบ้า อย่าให้เที่ยวระรานเขา อย่าให้เที่ยวทำลายเขา อย่าให้เที่ยวเอาไปเป็นสินค้า นี่พูดถึงพระอรหันต์

เขาจะให้ตอบเรื่องพระอรหันต์ โอ้โฮเวรกรรมเลย เวลาเขาจะให้พูด เราไม่พูดหรอก เวลาเขาไม่ให้พูดน่ะชอบพูด เวลาเขาไม่ให้พูด แหมยกตัวอย่างเป็นคุ้งเป็นแควเลย ต้องเป็นอย่างนั้นๆ เวลาเขาไม่ให้พูดนะ เวลาเขาจะชวนให้พูดน่ะไม่พูด ไม่พูดเลย

เพราะว่าผู้ถามเขายกชื่อครูบาอาจารย์มาเป็นแถบเลย ถ้าผู้ถามเขาเชื่อมั่น เขาบอก นี่พระอรหันต์แต่ละองค์ตั้งแต่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นลงมาเลย เป็นสิบๆ องค์

ถ้าเราเคารพบูชาของเราแล้วเราก็เคารพบูชาของเรา เราเชื่อมั่นในใจของเรา ฉะนั้น จะเอามาให้เราชี้แจงๆ นี้มันเป็นเรื่องอะไร

ถ้ามันจะเป็นไปได้มันเป็นทางวิชาการ ถ้าทางวิชาการน่ะได้ ทางวิชาการ ทางวิชาการเปิดกว้าง เวลาทางวิชาการเขาประชุมกัน เขาหาข้อมูลกัน ได้เลย อธิบายเลย ให้มันชัดเจนไปเลย นั่นทางวิชาการ ทางวิชาการเขาเปิดกว้างได้

แต่ในทางปฏิบัติมันมีเขามีเรา มันมีแนวทางปฏิบัติๆ นะ ถ้าแนวทางปฏิบัติ หลวงตาท่านพูด ในครอบครัวกรรมฐานเขาจะรู้กันเองว่าใครจริงใครไม่จริง แล้วมันมีจริงหรือมีไม่จริง แล้วถ้ามีจริงก็มีอย่างนี้ มีเวลาว่าเวลาวิกฤติ เวลามีปัญหาขึ้นมาชักออกจากดาบเลย ดาบนี่ชักออกจากฝักเลย ฟันชัวะๆๆ เลย นั่นน่ะมีจริง มีจริงมันจะตัดสินนะ มันจะพิจารณาเป็นฉับๆๆ เลย

แต่ถ้าไม่มีจริงทำอะไรไม่ได้ หันรีหันขวางเลย พระอรหันต์ตาขวางไง หันไปหันมา หันรีหันขวาง ทำอะไรไม่ได้เป็นชิ้นเป็นอันเลย แต่พระอรหันต์เป็นชิ้นเป็นอันเลย ถ้าชักออกจากฝักก็ฉับๆๆ เลย นั่นตอนนั้นมันถึงจะรู้ว่า เออจริงหรือไม่จริง แล้วถ้ามันเป็นจริง มันเป็นจริงอย่างนั้น นี่พูดถึงพระอรหันต์ จบ

ถาม : เรื่อง “เปลี่ยนคำบริกรรมบ่อยๆ

กราบนมัสการหลวงพ่อที่เคารพ กระผมอยู่ในช่วงที่จิตเสื่อม เลยขออนุญาตกลับมาคำถามถามเหมือนคนที่ไม่เคยภาวนาอีกครั้งครับ หวังว่าหลวงพ่อจะเมตตา

เนื่องจากแต่ก่อนผมภาวนาพุทโธ หรือธัมโม หรือสัมมา อะระหัง หรือคำอื่นๆ แต่หลังๆ กิเลสทันกระผมแล้วครับ ทันทุกคำบริกรรมเลย ทำให้ทุกคำบริกรรมมันยากมากๆ ที่จะให้มันชัดๆ กระผมเลยไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร กระผมก็เลยใช้วิธีเปลี่ยนคำบริกรรมบ่อยๆ เลย

ในการนั่งสมาธิครั้งหนึ่งกระผมเปลี่ยนคำบริกรรมถึง ๔-๕ คำ เช่น พอ “พุทโธๆ” ไปสักพัก พอไม่ไหว มันหนักอึ้ง ผมก็เปลี่ยนคำบริกรรมทันทีเป็น “จิตตะๆ” พอไม่ไหวอีกก็เปลี่ยนเป็นคำว่า “พุทธานุสติๆ” พอไม่ไหวอีกผมเปลี่ยนเป็นคำว่าสัมมา อะระหัง” วนลูปไปอย่างนี้ ปรากฏว่ามันได้ผล แต่พอเปลี่ยนคำมันก็แน่นชัดขึ้นมา แต่ก็ต้องเปลี่ยนไปเรื่อยๆ อยากถามความมั่นใจกับหลวงพ่อว่า

ในการนั่งสมาธิครั้งหนึ่งถ้าผมเปลี่ยนคำบริกรรมไปเรื่อยๆ หลายๆ คำแบบนี้ แต่ว่ายังมีสติกับทุกคำ ไม่ให้แว็บ ถือว่ายังถูกต้อง ใช้ได้หรือเปล่าครับ

เวลาท่องคำบริกรรมผมไม่กำหนดจิตอยู่ตรงไหนเป็นเฉพาะ ผมท่องคำบริกรรมให้คำบริกรรมอยู่ท่ามกลางความมืด เพราะผมเคยกำหนดจิตอยู่ที่ปลายจมูกบ้าง หน้าอกบ้าง แต่ว่ามันกลายเป็นว่าสติไม่จับคำบริกรรม แต่ไปจับที่ปลายจมูกหรือหน้าอก แล้วคำบริกรรมกลายเป็นแค่เสียงเอ็กโค ผมเลยว่าไม่เอาจิตไว้ที่ไหนดีกว่า เอาแต่สติจับไว้กับที่คำบริกรรมไปเลย ถือว่าผิดหรือเปล่าครับ ผมกลัวจะเป็นการทำผิดแบบแผ่นเสียงตกร่องโดยไม่รู้ตัวว่าผิดแล้วยังดื้อดึงทำไป แล้วร่องมันจะกว้างขึ้นเรื่อยๆ กราบขอเมตตาหลวงพ่อด้วยครับ

ตอบ : นี่พูดถึงเวลาคำถามเนาะ เรื่องคำบริกรรม เวลากำหนดพุทโธๆ เราจะพูดอย่างนี้ เราจะพูดถึงนะ เวลาเราตอบคำถาม เวลาเราตอบคำถาม เราตอบเฉพาะบุคคลบุคคลนั้น ถ้าบุคคลนั้นเขามีอุปสรรคของเขา เราก็ตอบเพราะบุคคลคนนั้น แต่ถ้าใครฟังแล้วมันเป็นประโยชน์ เราเอาไปทดลองของเรานะ แต่ถ้ามันไม่ตรงจริตกับเรา ถ้าเราทำของเราดีอยู่แล้วเราพยายามทำของเราไปก่อน อย่าจับจด เวลาที่เราปฏิบัติ เส้นทางของเราหรือการปฏิบัติของเราถ้ามันเป็นเส้นทางที่ดี เราปฏิบัติพอมันจะเป็นไปได้ เราทำในเส้นทางของเรา

แต่เวลาหลวงพ่อตอบปัญหามันหลากหลายใช่ไหม จริตของคนมันไม่เหมือนกันใช่ไหม ทุกๆ คนมันมีอุปสรรคของมันใช่ไหม เวลาเราอธิบายไป อธิบายเฉพาะคนคนนั้นไง เฉพาะคนคนนั้น หมายความว่า เช่น เวลาเขาขับรถไป ทางที่ขับรถไปมีก้อนหินขวางหน้าเขาอยู่ หรือถ้าเขาขับรถไปในหนทางนั้นมีหลุมขวางทางเขาอยู่ เขาต้องหลบหลีกไป แต่ในทางของเรา ในทางของเรามันเป็นถนนไฮเวย์ มันไม่มีก้อนหินขวางอยู่ มันไม่มีหลุมขวางอยู่ เราขับตรงๆ ไป เราขับไปบนถนนไฮเวย์ มันเรียบ มันสะดวกสบายอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าถนนไฮเวย์มันไม่มีก้อนหินนะ เวลาหลวงพ่อตอบว่าถ้าไปเจอก้อนหินต้องหลบไปทางซ้ายนะ ไอ้เราไม่มีก้อนหินเลย เราก็ดันจะหักหลบไปทางซ้าย เราจะถามว่าบ้าหรือเปล่า

ฉะนั้น เวลาฟังตอบคำถาม ถ้ามันตรงกับเรา มันเป็นอุปสรรคที่มันมีอยู่ข้างหน้าเรา เราก็เอามาเป็นอุบายได้ แต่ถ้ามันไม่ตรงกับเรา ไม่ต้องหยิบจับไปใช้นะ ทางของเราดีอยู่แล้ว ทางของเราราบรื่นดีงาม ไม่มีอะไรเลย ทางของเขา เขาไปเจอก้อนหินขวางหน้าอยู่เขาก็ต้องหลบหลีกเป็นธรรมดา ไอ้คนฟังก็ไม่รู้ ไอ้เราไม่มีก้อนหินก็อยากจะหลบบ้างน่ะ ก็ทำให้การภาวนาเสีย

เขามีก้อนหิน เขาต้องหลบของเขา ไอ้เราไม่มี ไปหลบอะไร ไม่มีอุปสรรค อยากจะมีหรือ แล้วพอมีขึ้นไปแล้วเดี๋ยววุ่นวายเลย เดี๋ยวภาวนาล้มลุกคลุกคลานแล้วก็จะมาโทษ “ภาวนาแล้วไม่ได้ผลๆๆ

ก็เราจะเอาไปหมดเลย ทางของเรามันไม่มีอุปสรรค ทางของเรามันราบเรียบอยู่แล้ว ก็ตรงๆ ไปนี่แหละ ตรงๆ ไปมันก็จบ มันจะถึงเป้าหมายเอง ไอ้ทางที่เขาจะหลบจะหลีกเพราะเขามีอุปสรรคของเขา เขาก็ต้องหลบหลีกของเขาเพื่อแก้ไขอุปสรรคของเขา เราทางเราดีแล้ว เราก็ไปดีแล้ว ถ้าใครมีอุปสรรคใช้ประโยชน์นั้นได้ก็ใช้ประโยชน์นั้น

นี่พูดถึงเวลาตอบปัญหา ตอบปัญหาคนคนหนึ่ง อีกคนคนหนึ่งเอาไปใช้ แล้วดีๆ อยู่น่ะเสียเลยนะ ถ้าเราดีอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องเอาไปใช้ แต่ถ้ามันมีอุปสรรคที่เอามาปรับใช้ได้ เออใช้ได้ นี่พูดถึงเวลาตอบปัญหา

เวลาผู้ถาม เขาถามบอกจิตมันเสื่อม แต่ก่อนเขาบอกว่าเขาเคยถามปัญหามา ถามปัญหาธรรมะ หลวงพ่อตอบเป็นคุ้งเป็นแคว เขาก็ภาวนาดีเลิศเลย ตอนนี้บอกว่าจิตผมเสื่อมหมดแล้ว เขียนมาเลยนะ จิตผมเสื่อมหมดแล้ว

เราจะบอกว่า เวลาจิตเสื่อม เวลาคนเรามันท้อถอย เวลาคนมันทุกข์มันยาก ตอนนี้เอามาแก้ไขนี่ใช่ แต่ตอนที่มันภาวนามันดีอยู่ ภาวนาดี ภาวนาที่ราบรื่นน่ะ เราก็ใช้ปัจจุบันไปเลย ไม่ต้องกลับมาแก้ไข ไม่ต้องมาห่วงหน้าพะวงหลัง

แต่ถ้าเวลาคนจิตเสื่อม เราจะบอกว่า เวลาภาวนาไป เวลามีอุปสรรค เวลาแก้ไขแก้จิตมันมีเป็นวรรคเป็นตอนน่ะ มันไม่เหมือนกัน มันไม่เหมือนกันหรอก ปัจจุบันนี้ถ้าจิตมันดีมันก็ดีของมันอยู่แล้ว ถ้าจิตมันเสื่อมก็ต้องแก้ไปตามภาวะที่จิตเสื่อมนั้น มันเป็นวรรคเป็นตอน มันไม่เหมือนกันนะ

จิตนี้เป็นหลากหลายนัก จิตนี้มหัศจรรย์นัก จิตนี้มันร้อยแปด แล้วเราก็จะไปรวบหมดเลยว่าเรามีอุปสรรคทุกอย่างเลย...อืมเราจะทำกรรมมาขนาดนี้เชียวหรือ เราก็ต้องมีกรรมดีของเราบ้างล่ะ

นี่ก็เหมือนกัน นี่เราบอกว่า เวลาจิตเสื่อม เวลาแก้ก็ต้องแก้ แต่เวลาจิตเราไม่เสื่อมมันไม่ต้องแก้ เราก็รักษา เราก็พุทโธของเราไปเรื่อยๆ พุทโธของเราไป อันนี้มันก็ถูกต้อง

นี่พูดถึงไอ้ข้อแรก นี่จะพูด เวลาจะพูดถึงมรรคถึงผล เวลาเราจะพูดถึงทางวิชาการ เราก็พูดให้มันถูกต้องดีงาม ไอ้นี่เวลาจะทำ เวลาจะทำๆ เวลาทำดีๆ ทำดีต้องได้ดีไง ทำดีต้องได้ดี แต่กิเลสมันมาบังเงาไง กิเลสมันมาชักนำให้เราเสียหายไง กิเลสมันทำให้เราเสื่อมไง เราเสื่อม เราก็ทำของเรา

ฉะนั้น คำถามที่ว่า แต่เดิมเขาว่าพุทโธชัดๆ เวลาพุทโธชัดๆ

เพราะเราตอบปัญหาเยอะ คำว่า “พุทโธชัดๆ” เวลาครูบาอาจารย์ท่านตอบปัญหานะ ทำอะไรต้องมีสติ ท่านจะพูดถึงสติก่อน พอสติเสร็จแล้วเราค่อยระลึกพุทโธ พุทโธเสร็จแล้วพร้อมกับสติ

แต่นี้เราจะตอบรวบรัดว่า “พุทโธชัดๆ” ถ้าคำว่า “ชัดๆ” สติไม่พร้อมมันชัดไม่ได้ สติมันต้องมีพร้อมมันถึงพุทโธชัดๆ มันพร้อมทั้งสติ พร้อมทั้งคำบริกรรม พร้อมกับจิตที่สมบูรณ์ขึ้นมามันก็พุทโธชัดๆ

นี่เขาบอกว่า เวลาเมื่อก่อนเขาพุทโธชัดๆ ตอนนี้พุทโธชัดๆ ไม่ได้แล้ว แล้วเขาก็แก้ไขของเขาไป

เราจะบอกว่า คนเรานะ มันมีเชาวน์มีปัญญา เวลาเรามีอุปสรรคอะไร ถ้าปัจจุบันเราแก้เองได้หรือเรามีปัญญาค้นหาได้นั้นทำเลย ทำเลย ภาษาเรา ใครมีบาดแผลก็ต้องทำความสะอาดบาดแผล ต้องปิดบาดแผล ต้องใช้ยา ว่าอย่างนั้นเถอะ

นี่ก็เหมือนกัน เวลาจิตเราเสื่อม เวลาจิตเรามีอุปสรรค เรามีบาดแผล เราก็แก้ไขของเรา ขณะที่แก้ไขมันจะมีอุบายมีวิธีการอย่างนี้ใช้ได้ เราจะบอกว่าใช้ได้

อย่างเช่นคำถามนี้คำถามว่า เขาจะบริกรรม คำบริกรรมที ๔-๕ คำไง วนไปเรื่อยอย่างนี้

นี่มันก็เป็นโอกาสไง มันเป็นที่ว่าถ้าเราพุทโธอย่างเดียวแล้วมันเสื่อมหมดเลย เราทำอะไรแล้วมันเหลวไหลหมดเลย เราก็พลิกแพลง ขณะ เห็นไหม เหมือนกับรถ เวลาขณะที่ว่ารถมันติด มันต้องรอเขาก็ต้องรอ ไอ้ทางข้างหน้ามันไม่ติด เราจะเหยียบคันเร่ง เราก็ต้องไปของเรา มันอยู่ที่เหตุการณ์เฉพาะหน้า เวลาขับรถไปน่ะ ถ้ารถเขามีอุปสรรค มีอุบัติเหตุข้างหน้า เขาไปไม่ได้ ไปไม่ได้ เราก็ไปทางอื่นซะ หาทางอื่นหลบหลีกกันไป นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราจะแก้ของเรา มันจะเป็นอุปสรรคกับเรา เราก็แก้ไขของเราอย่างนี้ นี่พูดถึงเวลาแก้ไขนะ

แต่เวลาปกติ เราก็ควรจะทำต่อเนื่อง ทำของเรา บริกรรมสิ่งใดก็เป็นคำๆ ไป แต่ถ้ามันมีปัญหาขึ้นมา เวลาเขาบอกว่า เวลาเขาใช้คำบริกรรมของเขา ๔-๕ คำเลยนะ พอพุทโธๆ ไป มันชักหนักอึ้ง หนักอึ้งขึ้นมา เขาก็เปลี่ยนไปจิตตะ พอมันไปสักพักหนึ่งมันเปลี่ยนเป็นพุทธานุสติ พอสักพักเปลี่ยนเป็นสัมมา อะระหัง ก็เปลี่ยนของเขาไป แต่เขาบอกว่ามันดี

เห็นไหม นี่เวลามันแก้ไขๆ ระยะแก้ไข ระยะแก้ไข ระยะที่เราจะให้ยา เวลาเราจะรักษาบาดแผลของเรา เราจะรักษาตัวเราเอง อุบาย อุบายร้อยแปดเลย

เวลาหลวงตาท่านพูดอย่างนี้ ท่านบอกว่า เวลาเราคำบริกรรม เราทำสมาธิ เวลาถ้ามันสงบขึ้นมามันก็เหมือนน้ำล้นแก้ว น้ำแก้วหนึ่ง คือสมาธิก็แค่สมาธิไง เวลาขั้นของปัญญาไม่มีขอบเขต ปัญญาไม่มีขอบเขตนะ มันหาเหตุหาผลไปได้ทั่วเลย ไอ้นั่นคือว่า ศีล สมาธิ ปัญญา

แต่ตอนนี้ของเรา ถ้าจิตเราเสื่อม เราก็ฝึกหัดใช้ปัญญาของเรา เราจะแก้ไขจิตเราด้วยปัญญา ถ้าแก้ไขด้วยปัญญา ไม่มีขอบเขตเหมือนกัน จะคำไหน จะอะไร ถ้าจิตใจมันนิ่งสงบให้เรามีความสุขอยู่บ้าง เวลาจิตมันเสื่อมมันร้อน เวลาจิตมันเสื่อมมันทุกข์มาก เวลาจิตมันเสื่อม

ดีนะ จิตเสื่อมแล้วยังทนภาวนาได้ คนเราพอเวลาจิตเสื่อม จิตมันไม่เอานะ เลิกเลย คนภาวนาเยอะมาก ภาวนา ๕ ปี ๑๐ ปีแล้วหยุดไป แล้วกลับมาถามปัญหาเราใหม่ “หลวงพ่อ ผมเคยเป็นอย่างนั้นๆ เมื่อ ๑๐ ปีที่แล้ว ๒๐ ปีที่แล้ว” คือถึงเวลาเขาเลิกเลย ถึงเวลาเขาจะเลิกแล้วกลับมาใหม่ก็ต้องมาเริ่มต้นกันใหม่ แต่นี่เวลาจิตเสื่อมแล้วก็ยังสู้ยังทำอยู่ นี่เราถือว่าใช้ได้

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเขาทำอยู่นี่ ขณะที่อุบายแก้ไขนี่ได้

ฉะนั้น คำถามว่า “ในการนั่งสมาธิครั้งหนึ่ง ถ้าผมเปลี่ยนคำบริกรรมไปเรื่อยๆ หลายๆ คำแบบนี้ แต่ว่ามีสติกับทุกคำ ไม่ให้มันแว็บ ถือว่าทำถูกต้องได้หรือเปล่าครับ

ถ้าคำถามที่ ๑เพื่อยืนยันว่าเขาทำความถูกต้อง ถ้าทำความถูกต้อง ขณะที่แก้ไข คนเราเจ็บไข้ได้ป่วยมันก็ต้องรักษาตัวไป นี่ก็เหมือนกัน ร่างกายเราปกติเราก็ทำงานโดยปกติ ถ้าเรามีอุบัติเหตุมา ร่างกายบางส่วนใช้งานไม่ได้ เราก็ทำงานส่วนที่ใช้ได้ มันก็แตกต่างกันไป การภาวนาต้องเป็นแบบนี้ การภาวนาอยู่ที่ปัจจุบันไง ไม่ใช่ว่าต้องอย่างนี้ตลอด แล้วเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยมาซีกหนึ่งทำงานไม่ได้ก็ต้องทำอย่างนั้นตลอด ก็เลยไม่ทำไง

โดยปกติเราต้องทำงานโดยปกติ แต่เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา ซีกหนึ่งมันยังไม่รู้สึกตัว เราก็ทำงานด้วยซีกหนึ่งของเราไป เดี๋ยวมันฟื้นฟูขึ้นมา ถ้ามันสมบูรณ์แล้วเราก็กลับมาทำเหมือนเดิม

นี่ก็เหมือนกัน ข้อที่ ๑ที่ทำอย่างนี้มันถูกต้องใช้ได้หรือไม่

ได้ ได้ ได้เพราะว่าถือว่า เพราะคำถามเริ่มต้นบอกว่า “ปัจจุบันนี้จิตผมเสื่อมหมดเลย ทุกข์ยากมาก” คำนี้มันเปิดกว้างแล้วแหละ เพราะจิตเสื่อม ไม่ใช่ว่าเพราะเราไม่รู้ เพราะเราขี้เกียจ เพราะเราภาวนาแล้วเราจะเอาแนวทางนี้ ไม่ใช่ เพราะจิตเสื่อม

เราเคยทำมาได้ เราเคยทำมาดี จิตใจเราเคยดี จิตใจเราเคยดี เราเคยมีสมาธิ เราเคยมีปัญญาของเรา แต่ถึงคราวหนึ่งจิตมันเสื่อมไป หลวงตาท่านบอกเวลาจิตเสื่อมเหมือนเศรษฐีล้มละลาย ไอ้คนที่ทำมาหากินขึ้นมาโดยที่ไม่เคยเป็นเศรษฐีเลย เขาพยายามขวนขวายของเขา เขาไม่คาดหมายของเขา ไอ้เศรษฐีเป็นเศรษฐีแล้วล้มละลาย เวลามันทำอะไรแล้วมันห่วงหน้าพะวงหลัง เพราะเคยเป็นเศรษฐี มันเคยรู้ถึงว่ามันมีเงินมากน้อยแค่ไหนไง ล้มลุกคลุกคลานอยู่อย่างนั้นน่ะ นี่เวลาจิตเสื่อม ฉะนั้น จิตเสื่อมไปแล้วเราแก้ไขของเรา

เวลาท่องคำบริกรรม ผมไม่กำหนดจิตอยู่ที่ไหน เพราะว่ากำหนดอยู่แล้วจิตมันไปที่ปลายจมูก ไปที่หน้าอก

เวลาจิตมันคำบริกรรมมันไปจับที่ปลายจมูก คือว่ามันแยก มันเหมือนกับเราบริกรรมหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ เวลาหายใจเข้านี่เป็นอานาปานสติ หายใจเข้า หายใจออก เป็นอานาปานสติเพราะเรากำหนดลมหายใจ แต่พุทโธๆ เป็นพุทธานุสติ

แต่ครูบาอาจารย์ของเราฉลาด ฉลาดที่ว่า คนที่ปฏิบัติใหม่ๆ มันเป็นนามธรรม มันจับต้องอะไรมันไม่ถนัดไง หายใจเข้าให้นึกพุท หายใจออกให้นึกโธ มันเป็นรูปธรรมไง เป็นรูปธรรมที่มันชัดเจนขึ้น มันหยาบที่สุดที่สติมันจะจับได้ มันให้ของที่ชัดเจนที่สุด

ก็ฝึกหัดๆ แต่เวลาพอไปๆ แล้วมันก็จะตกภวังค์เสีย เพราะกว่าจะนึกพุทกว่าจะนึกโธ มันเกี่ยวเนื่องกับลมหายใจด้วยไง แล้วก็ให้พุทโธอย่างเดียว ให้กำหนดลมหายใจอย่างเดียว เอาอย่างใดอย่างหนึ่งให้ชัดเจน ให้จิตสมบูรณ์ ให้จิตละเอียดมากขึ้น ให้จิตละเอียดมากขึ้น

แต่เดิมเราจับ จับทั้งพุทโธด้วยและลมหายใจด้วย ถ้าเราจับลมหายใจอย่างเดียว พุทโธอย่างเดียว มันก็ทำงานเฉพาะ ทำงานเฉพาะมันก็จะทำงานที่ละเอียดขึ้น มันก็ดีขึ้น

นี่ก็เหมือนกัน เวลามีคำบริกรรม แล้วคำบริกรรมแล้วพุทโธด้วย มันก็จะไปอยู่ที่คำบริกรรม เขาบอกกำหนดจิตไว้ที่ไหนไง

กำหนดไว้ที่ตรงไหนก็ได้ กำหนดไว้ตรงไหนก็ได้ ถ้ามันจะรวมลงมาเดี๋ยวมันรู้เอง หดสั้นเข้ามาๆ เวลามันจะรวมมันละเอียดเข้ามาๆ แล้วมันหดเข้ามาๆ หดสั้นเข้ามานะ หดสั้นเข้ามา จากที่อายตนะที่รับรู้ร่างกายมันจะหดเข้ามาถึงตัวมันเอง หดเข้ามา แล้วมันจะรวมลงที่ไหนล่ะ จิตแท้ๆ อยู่ตรงไหน จิตแท้ๆ จิตแท้ๆ จิตชัดๆ เวลาทำขึ้นมามันจะเป็นอย่างนั้นเลย

ฉะนั้น คำว่า “เวลาเป็นอุปจารสมาธิ” มันจิตสงบ แต่มันไม่หดเข้ามา มันรับรู้ แต่ถ้ามันทำงานได้ เราก็ทำงานได้แล้ว มันขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ

อุปจาระนี่ทำงาน แต่ถ้าเราต้องการให้ละเอียดลึกขึ้น ให้มีกำลังมากขึ้น เราจะทำเข้าสู่อัปปนาสมาธิ อันนั้น อันนั้นน่ะมันเข้าไปพัก เข้าไปเพื่อดูถึงจริตนิสัยของตน แต่ถ้ามันเป็นอุปจาระที่มันพิจารณาได้มันก็พิจารณาแล้ว นี่พูดถึงว่าในการพิจารณา

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเขาถามว่า สิ่งนี้ที่ว่าจิตมันไม่จับคำบริกรรมเลย มันผิดหรือไม่ผิด เพราะเขาบอกว่า ตอนนี้เขาไม่กำหนดจิตไว้ที่ไหนเลย เขาคำบริกรรมอย่างเดียว

แก้ไขไปก่อน แก้ไขของเราไป ไม่กำหนดไว้ตรงไหนเลยก็ได้ พอไม่กำหนดไว้ที่ไหนเลย ทีแรกมันก็ดี ดีนะ เพราะถ้ากำหนดไว้แล้วเหมือนมันบังคับ พอปล่อยมันสบายของมัน มันก็สบายของมัน แต่พอจิตมันจะละเอียดขึ้นมา มันจะหาตัวตนมันไม่เจอ ทำอย่างไร

ถ้ามันจะกลับมากำหนดก็ได้ เราจะบอกว่า ถ้ามันไม่กำหนด ถ้ามันดี มันฝึกหัดภาวนา คือยังภาวนาอยู่ ยังทำงานอยู่ เป็นคนดีอยู่ คนไม่ใช่ทิ้งเลย ไม่เอาไหนเลย ไม่ทำอะไรเลย นั่นคือคนเหลวไหล

แต่คนทำงานอยู่ เวลางานที่มันจะละเอียดขึ้น งานที่มันจะประสบความสำเร็จ คือถ้ากำหนดพุทโธๆ ไป กำหนดคำบริกรรมอะไรไปก็แล้วแต่ ถ้ามันไม่จับสิ่งใดเลยก็ไม่เป็นไร

แต่ถ้าพอมันจะละเอียด พอมันละเอียด หมายความว่า เราจะกำหนดอะไร เราจะบริกรรมอะไร ถ้ามันยังจับได้ มันยังไปได้ มันยังบริกรรมอยู่ไง แต่บริกรรมไปแล้วมันจับอะไรไม่ได้เลย ตอนนั้นเราค่อยมากำหนดไง ถึงตอนนั้นมันทำอะไรไม่ได้เลย แล้วก็ไม่มีอะไรที่จะทำเลย แล้วก็ไม่รู้จะทำอะไรเลย เดี๋ยวมันจะไปยุ่งอีกเรื่องหนึ่งไง

ฉะนั้น ถ้ามันไม่กำหนดแล้วมันดี ดีมาเรื่อยๆ แต่ถ้าไปข้างหน้ามันจะมีอุปสรรคอะไร เราจะไปแก้กันตรงนั้นอีกทีหนึ่ง แต่ถ้าพูดถึงถ้ามันไม่มีอุปสรรค ถ้ามันดีได้ ดี ใช้ได้เลย

ฉะนั้น เขาขอคำการันตีว่า ที่ทำมานี่ถูกต้องหรือไม่ ที่คำถามถามว่า เขาทำอย่างนี้ใช้ได้หรือไม่

ได้ คนเรามีปัญหาแล้วแก้ไข ได้ทั้งนั้นน่ะ ระยะความแก้ไข ระยะที่แก้ไขสิ่งที่ไม่ถูกให้มันถูก อะไรก็ได้ ขอให้กลับมาถูก เพราะพอถูกแล้ว อย่างที่ว่า พอบริกรรมไปแล้วถ้าไม่กำหนดอะไรเลยก็ได้ ขอให้มันรวมตัวเข้ามา แล้วถ้าถึงเวลามันจะรวมตัวจริงๆ แล้วจะรวมที่ไหนล่ะ แล้วจะกลับมากำหนดใหม่ก็ไม่เป็นไร ถึงตอนนั้นมันต้องแก้ไขไป การแก้ไข นี่คือการภาวนา การภาวนาเวลามันอุปสรรคเฉพาะหน้า เราจะแก้ไขไปด้วยความเป็นอุปสรรคเฉพาะหน้า นี้จะทำ

จะพูดก็พูดแต่สิ่งที่ดีงาม พูดก็พูดเป็นประโยชน์ แล้วถ้ามันจะทำ ถ้าทำได้นะ กลับไปพูดชัดเจนมาก เวลาจะทำ ทำให้มันได้ประโยชน์ จะพูดจะทำให้มันถูกต้องดีงาม ถ้าถูกต้องดีงามแล้ว ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม สมควรแก่ธรรม ไม่เบียดเบียนใคร เบียดเบียนกิเลสเราเท่านั้นน่ะ เวลาประพฤติปฏิบัติ เราจะต่อสู้กับกิเลสของเรา เราจะค้นคว้าหากิเลสของเรา เราจะฟาดฟันกับกิเลสในใจของเราเพื่อให้ใจของเราเป็นธรรม เอวัง