กลัวมีเกิดดับ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๕๙
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “นึกถึงพระคุณ”
หลวงพ่อ : นี่เขาเขียนมาเฉยๆ
ถาม : กราบนมัสการหลวงพ่อที่เคารพเป็นอย่างสูง ในวันนี้ไม่มีความทุกข์ความยาก เมื่อทุกอย่างลงตัวดีขึ้นทำให้ลูกนึกถึงพระคุณของหลวงพ่ออยู่บ่อยๆ ลูกแค่อยากจะกราบขอบพระคุณเท่านั้นค่ะ ลูกไม่มีปัญหาอะไรที่จะถามค่ะ
ตอบ : นี่พูดถึงคำถามเขาเนาะ “ขอบพระคุณ” ถ้าคำถามใครเขียนมาอย่างนี้หมดนะ โอ้โฮ! สุดยอดเลย “ไม่มีความทุกข์ค่ะ ไม่มีความทุกข์ไม่มีความยาก ทุกอย่างลงตัวหมด”
ถ้าทุกอย่างลงตัวหมด ทุกอย่างดีขึ้นหมด เวลาชีวิตของเราทำหน้าที่การงานประกอบสัมมาอาชีวะ มันก็มีทั้งนั้นน่ะ คนเรา การทำงาน การทำงานมันก็ต้องมีอุปสรรค ถ้ามีอุปสรรคนะ ถ้าเรามีสตินะ มีสติแล้วเรากัดฟันสู้หาเหตุหาผล หาเหตุหาผล หมายความว่า พยายามพิจารณาดูว่ามันมีอุปสรรคสิ่งใด มันจะแก้ไขสิ่งใด มันต้องแก้ไขผ่านไปได้
พอแก้ไขผ่านไปได้ เห็นไหม สิ่งนี้ไม่ทุกข์ไม่ยาก ทุกอย่างลงตัวหมด ทุกอย่างดีขึ้นหมด มีความสุขมากๆ อยากให้ทุกคนเป็นอย่างนี้หมดเลย อยากให้ทุกคำถามเป็นแบบนี้ ถ้าเป็นแบบนี้นะ
แต่ธรรมดาของคน คนเรามันก็มีการเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นธรรมดา ถ้ามีความเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นธรรมดา เวลาครูบาอาจารย์ท่านสอน ท่านสอนบอกว่า เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยก็ให้ป่วยคนเดียว คือให้ร่างกายนี้เจ็บไข้ได้ป่วยไป อย่าให้หัวใจเราเจ็บไข้ได้ป่วยไปด้วย
เวลาเราเจ็บไข้ได้ป่วย เจ็บไข้ได้ป่วยสองคน ร่างกายก็เจ็บไข้ได้ป่วย หัวใจก็เจ็บไข้ได้ป่วย แล้วก็ลากญาติพี่น้องมาเจ็บไข้ได้ป่วยไปด้วยกัน ถ้าเจ็บไข้ได้ป่วยก็ให้ร่างกายมันเจ็บไข้ได้ป่วยไป หัวใจเราอย่าเจ็บไข้ได้ป่วยไปกับเขา หัวใจของเรา นี่เป็นเรื่องธรรมดา ถ้าเรื่องธรรมดาแล้ว ธรรมดาก็ต้องมีการรักษา เจ็บไข้ได้ป่วยก็รักษา รักษาตามอาการนั้น ถ้ารักษาของเราเพื่อให้กลับมาเป็นสุขภาพปกติ
ฉะนั้น ถ้าเจ็บไข้ได้ป่วยก็ให้เจ็บไข้ได้ป่วยคนเดียว คือร่างกายนี้เจ็บไข้ได้ป่วย รักษาหัวใจนี้ไว้ หัวใจนี้มีคุณธรรม หัวใจนี้มีสัจธรรมในหัวใจของเรา มีสัจธรรมหมายความว่ามีเหตุมีผลไง มันเรื่องธรรมดา ถ้าเรื่องธรรมดา เห็นไหม
เวลาคนเราศึกษาธรรมะ เวลาเผชิญกับความทุกข์ความยาก ถ้าเผชิญกับความทุกข์ความยาก เราเข้าเผชิญกับความจริงแล้ว ถ้าเราเข้าเผชิญกับความจริง สิ่งที่เราศึกษามา เราฝึกฝนมา มันมีคุณค่ามากน้อยแค่ไหน ถ้ามีคุณค่ามาก มันก็จะเป็นประโยชน์ตอนนี้ ตอนที่เราเผชิญกับอุปสรรค เผชิญกับวิกฤติในชีวิตนี้ ธรรมะเข้ามาช่วยเหลือเรา ธรรมะเข้ามาแก้ไขวิกฤติของเรา
ถ้าวิกฤติของเราพอมันผ่านพ้นไป มันเป็นอนัตตา มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วมันก็ต้องดับไป ความทุกข์ความยากของเรา ถ้าเรามีสติปัญญาดูแลรักษา มันต้องคลายตัวออกเป็นธรรมดา ถ้าธรรมดาของมันแล้ว เห็นไหม
แต่นี้เวลาเรามีความทุกข์ความยากแล้วเราคอยตอกย้ำกับความทุกข์ความยากนั้น แทนที่มันจะคลายออกไปมันกลับเพิ่มมากขึ้นๆ มากขึ้นจนทนไม่ได้น่ะ
แต่ถ้าเรามีสติปัญญา เราขันติธรรม แค่ทนเฉยๆ นี่ขันติ ขันติคือความอดทน ยังไม่ได้ใช้ปัญญาเลยนะ แค่ขันติ แค่ทนได้ ขันติธรรมๆ ขันติคือความอดทน ถ้าอดทนได้นะ เหตุการณ์ต้องผ่านไปเป็นเรื่องธรรมดา แต่เราอดทนไม่ได้ พออดทนไม่ได้ คิดตอกย้ำๆ มันก็เลยมีความทุกข์ความยากมากขึ้น นี่เป็นสัจจะเป็นความจริง
แล้วมันอยู่ที่วุฒิภาวะหัวใจของใคร ถ้าหัวใจของใครมีวุฒิภาวะ มีสิ่งนี้เป็นเครื่องหล่อเลี้ยง มันก็จะผ่านพ้นไปได้ ถ้าผ่านพ้นไปได้ เราดีใจด้วยไง
เวลาหลวงตาท่านออกไปช่วยโลกๆ ท่านบอกไปเอาใจคนๆ
นี่ก็เหมือนกัน สุขทุกข์มันอยู่ที่ใจๆ เวลาพูดทุกคนพูดปากเปียกปากแฉะ ทีนี้เวลาปากเปียกปากแฉะ เวลาคนเราถ้ามันสุขทุกข์อยู่ที่ใจ เขาบอกว่าไม่ต้องมีเครื่องอำนวยความสะดวกเลย ดูซิอยู่ได้ไหม
อยู่ได้ พระอยู่ได้ แต่เวลาพูดมันพูดอย่างนั้น มันเป็นการพูดประชดประชันกันไง ถ้าสุขทุกข์มันอยู่ที่ใจ อยู่ที่ใจนี่มันเป็นนามธรรม แต่อยู่ที่ใจแล้ว เวลาใจ มโนกรรม ใจดวงนั้นต้องคิดก่อนมันถึงมีการกระทำไง เริ่มต้นมันอยู่ที่นั่นน่ะ ถ้าไปรักษาที่นั่นแล้ว จิตใจที่มีหลักเกณฑ์ มีหลักเกณฑ์มันจะแสวงหาสิ่งที่เป็นความจำเป็นกับชีวิต
สิ่งที่ไม่จำเป็นกับชีวิต ไม่มีความจำเป็นกับชีวิตนั้น สิ่งนั้นเขาไว้เพื่อเป็นสมบัติโลก ไว้เผื่อแผ่เจือจานกับสังคม เราใช้แค่นี้พอ เราใช้แค่นี้พอ เห็นไหม จิตใจที่เป็นธรรมๆ ถ้าจิตใจที่เป็นธรรมมันก็เป็นแบบนี้ นี่พูดถึง สาธุนะ ถ้ามีความสุข จบ
ถาม : เรื่อง “ความกลัวเรื่องงาน”
กราบนมัสการหลวงพ่อที่เคารพ ลูกขอโอกาสหลวงพ่อให้ความเมตตาวิธีการแก้ไขความกลัวเกี่ยวกับเรื่องงานด้วยเจ้าค่ะ ตอนนี้ลูกไม่ทราบเป็นอย่างไร มีแต่ความกลัวว่าจะได้รับมอบหมายให้ทำงานใหม่ๆ แล้วเกิดความกลัวว่าจะทำไม่สำเร็จ แม้ว่าตอนนี้จะยังไม่ต้องทำงานอะไรเพิ่ม แต่สำหรับงานที่มีอยู่แล้ว
เวลาลูกเกิดความกังวลหรือความเครียดแล้วนอนไม่หลับ ลูกเคยใช้สติตามความคิดไปแล้วความฟุ้งซ่านกังวลเครียดมากๆ ก็หายไป แต่จิตสงบขึ้นมาครู่หนึ่งแล้วก็กังวลอีก ตามดูไปอีกทีก็สงบได้อีกครู่หนึ่ง หลังจากนั้นเลยปล่อยวางเรื่องงานประเภทนี้ได้มากขึ้น เวลาเครียดกับเรื่องงานลักษณะนี้ก็พอหาวิธีกำจัดความเครียดได้ด้วยการรู้ตัวว่าเครียดอีกแล้ว และบางทีก็ใช้ปัญญาคิดว่าจะทำอย่างไร ก็เลยไม่เครียดมาก แต่ก็ไม่เคยจิตสงบอย่างที่เคยได้มาก่อน
ปัญหาตอนนี้คือพอมีอะไรมากระทบเกี่ยวกับเรื่องงานใหม่ๆ ที่เราไม่เคยทำ มันเกิดความคิดว่า เราทำไม่ได้หรอก กลัวและกังวล และคิดว่าทำไมคนอื่นเขาสามารถจัดการปัญหาได้แต่เราทำไม่ได้ ลูกไม่รู้ว่าจะพิจารณาอย่างไรดีเจ้าค่ะ ช่วงนี้เกิดปัญหานี้บ่อยมาก ขอกราบความเมตตาหลวงพ่อด้วย
ตอบ : อันนี้พูดถึงความกลัวๆ ไง ความกลัว ดูสิ ความกลัว ความกลัวนี้มันเกิดดับ ความกลัวนี้เกิดดับ คนเราถ้าเคยกลัวสิ่งใด ถ้าเราใช้สติปัญญาหาเหตุหาผลจนมีเหตุมีผลจนจิตใจมันยอมรับ ความกลัวนั้นก็จะหายไป แต่ความกลัวนั้นเดี๋ยวมันก็เกิดขึ้นอีก ความกลัวมันจะเกิดดับๆ อยู่ในใจนั่นน่ะ
ถ้าความกลัวมันเกิดดับนะ สิ่งที่จะดับมันได้ ดับมันได้ด้วยสติปัญญา ด้วยสติปัญญา ด้วยข้อเท็จจริงของเรา ถ้าด้วยข้อเท็จจริงของเรา สิ่งนั้นมันด้วยสติด้วยปัญญา มันเคลียร์ปัญหาให้จบแล้ว ความกลัวนั้นมันก็จะเบาบางลง ทีนี้คำว่า“เบาบางลง” เบาบางลงโดยความที่มันเป็นความวิตกกังวลนะ
วิตกกังวล เพราะคนวิตกกังวลเขาเรียกว่าจริต วุฒิภาวะ วุฒิภาวะที่อ่อนแอ คนจิตใจที่อ่อนแอ จิตใจที่อ่อนแอมันเชื่ออะไรง่ายๆ มันเป็นจริตของคน โทสจริต โมหจริต โลภจริต เวลาโลภจริตมันหลงไปเรื่อย ความโลภ ความโกรธ ความหลง ถ้ามันหลง มันก็จะหลงใหลไปกับสิ่งที่มันตอกย้ำในใจๆ ถ้าตอกย้ำในใจ พอมันตอกย้ำในใจมันก็ทำให้เกิดความกลัวๆ พอเรามีสติปัญญาขึ้นไปมันก็ดับ เดี๋ยวมันก็เกิดอีก เพราะมันมีเชื้อไขไง ถ้าความกลัวมันเกิดมาแล้วถ้ามีสติปัญญาเท่าทันก็ดับมันไป ถ้าดับมันไปโดยที่ว่าเรายังมีอวิชชาอยู่ เรายังมีความไม่รู้อยู่เป็นบางเรื่อง เดี๋ยวมันก็เกิดอีก
คำว่า “เกิดอีก” เกิดดับๆ คำว่า “เกิดดับของเขา” เห็นไหม ความกลัวเรื่องการงานๆ
เรื่องการงานมันก็การงาน คนที่มีหน้าที่รับผิดชอบสูงขึ้น คนที่ทำหน้าที่การงานที่มันเจริญขึ้นมันก็ต้องรับผิดชอบมากขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าความรับผิดชอบมากขึ้นมันก็อยู่ที่คนที่มีสติปัญญา ถ้ามีสติปัญญามันก็ไม่เชื่อสิ่งใดง่ายๆ ภาษาเราว่า ไม่ใช่ให้หวาดระแวง แต่จะเชื่อคนง่ายก็ใช้ไม่ได้ มันต้องมีเหตุผลไง มันจะเชื่อได้หรือไม่ได้
แล้วอย่างนี้มันก็อยู่ที่เวรที่กรรมนะ เขาดีมาตลอดเลย แต่ถึงเวลาแล้วเขามีความจำเป็นๆ เขามาหลอกเราครั้งหนึ่ง หลอกเอาตอนสุดท้าย นี่มันเป็นเรื่องเวรเรื่องกรรม เขาถึงต้องเป็นปัจจุบันตลอด ข้อมูลทางราชการต้องเป็นปัจจุบันตลอดๆ ข้อมูลนี้มันเป็นข้อมูลเมื่อชาติที่แล้ว แล้วเอามาวินิจฉัยตอนนี้มันไม่ได้ ข้อมูลมันต้องเป็นปัจจุบัน
นี่ก็เหมือนกัน เวลาทำงานๆ ถ้ามันเป็นปัจจุบันก็จบ เราไม่ไว้ใจอะไรที่เป็นอดีตอนาคต เขาจะน่าเชื่อถือมากน้อยขนาดไหนก็เรื่องของเขา ถ้าน่าเชื่อถือมันก็เป็นบารมีของเขา เป็นที่น่าเชื่อถือของสังคม สังคมเชื่อถือเขา
แต่ถ้าเป็นของเรา เราต้องอยู่ที่เนื้อหาสาระ เราก็พิจารณาของเราไง นี่ไง ถ้ามันข้อมูล ข้อมูลก็เป็นปัจจุบัน ถ้าข้อมูลเป็นปัจจุบัน เราก็ใช้ปัญญาของเราอย่างนี้ไปไง
นี่พูดถึงว่า ถ้าเวลาเราจะวินิจฉัยสิ่งใด เรื่องหน้าที่การงาน
ถ้าหน้าที่การงาน ถ้าเราอยู่กับปัจจุบัน เราอยู่กับปัจจุบันโดยที่เรามีหลักการของเรา เราจะฟังสิ่งใด เราจะใช้ข้อมูลสิ่งใดมาพิจารณาอะไร เราก็ต้องให้เป็นปัจจุบันน่ะ เคยดีมาก็ดี ใครจะดีมากดีน้อยเรื่องของเขา แต่ขณะปัจจุบันนี้โดยข้อเท็จจริงเหตุผลน่ะ เหตุผลโดยสถิติในการตัดสินใจ
นี่พูดถึงเรื่องงาน เห็นไหม เขาบอกว่าเขากลัวมาก เรามีความกลัว มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องงานๆ
เรื่องงานก็เป็นเรื่องงาน เราต้องทำงานน่ะ ถ้าเราทำงาน เรามีสติ หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ ถ้าเรามีสมาธิ เรามีหลัก ถ้าเรามีสมาธิ เรามีจุดยืนไง หลักของเรามีจุดยืน ถ้าหลักเรามีจุดยืน สิ่งใดที่เราจะทำสิ่งใดมันจะเป็นประโยชน์ไม่เป็นประโยชน์ นั้นเราค่อยรักษาของเรา
นี่พูดถึงความกลัวนะ เพราะความกลัว เราจะบอกให้มันหายไป ไม่มีความกลัวเลย เช่น อย่างบางคนกลัวผีมากๆ ถ้ากลัวผีมาก ถ้าเขาฝึกหัดๆ จนเขาหายจากกลัวผีเยอะแยะไปนะ แต่บางคนกลัวแล้วกลัวเล่า กลัวอยู่อย่างนั้นน่ะ ถ้ากลัวอยู่อย่างนั้นมันก็เป็นสัญชาตญาณของเขาเลย
ถ้าสัญชาตญาณของมนุษย์ทุกคนก็มีความกลัวทั้งนั้นน่ะ แต่กลัวแล้วเรามีสติปัญญาแยกแยะใคร่ครวญบ้างหรือไม่ ถ้าเรามีสติปัญญาแยกแยะใคร่ครวญ มันกลัวอะไร อะไรก็จะกลัวไปหมดเชียวหรือ ในเมื่อเราเป็นคน เป็นคนต้องอยู่กับคน ถ้าเป็นคนต้องอยู่กับคน เราจะไปอยู่คนเดียวได้อย่างไร เป็นคนมันต้องอยู่ในสังคมนี้อยู่แล้ว ถ้าอยู่ในสังคมนี้แล้วเราก็แยกแยะของเราสิ เราดูแลของเรา เพราะเราก็เป็นคนคนหนึ่ง เราจะหนีคนไปไหน
ดูสิ ดูพระปฏิบัติ พระปฏิบัติเวลาเข้าป่าเข้าเขาไปเพื่อแยกไปเพื่อไปหาความสงบสงัด สุดท้ายแล้วออกบิณฑบาต ออกไปมันก็ต้องอยู่กับคนน่ะ แต่อยู่กับคนแล้วเราไม่ไป เขาเรียกว่าไม่ฟูไม่แฟบไปกับเขาไง เหมือนเสาหลักที่ปักแล้วไม่ไปผูกมัดกับความเป็นกระแสสังคมอย่างนั้น เรื่องของเขา เราเป็นเรา ถ้าเราเป็นเรา ไม่ตื่นไปกับสังคม ไม่ตื่นไปกับโลก อยู่กับหลักของเรา ถ้าเรามีสติปัญญานะ ฝึกตรงนี้
กลับมานี่ กลับมาของเรา ที่เขาบอกว่า ลูกเคยวิตกกังวล ถ้าวิตกกังวล มันเครียด มันนอนไม่หลับเลย ใช้สติปัญญา เห็นไหม ใช้สติปัญญา ปัญญาอบรมสมาธิแยกแยะไปแล้วมันสงบลงได้
มันก็สงบลงได้สิ เพราะสิ่งที่มันเกิดขึ้นมันเป็นอุปาทานน่ะ งานยังไม่มาถึงเลย ทุกอย่างยังไม่มาถึงเลย เราไปคิดไว้ก่อน ถ้าเวลามาถึงจริงๆ แล้วมันไม่หนักหนาสาหัสสากรรจ์เหมือนที่เราคิดไว้หรอกว่าจะหนักหนาสาหัสสากรรจ์เท่านั้น แต่ทำงาน ทำงานไปแล้ว ทำงานจนชิน จนมีความรับผิดชอบสูงแล้ว งานนี้เป็นงานเรื่องเล็กน้อยทั้งนั้นน่ะ นี่มันผ่านไปได้
ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเขาบอกว่า มันจะแก้ไขอย่างไร ปัญหาตอนนี้ของเขากระทบกับเรื่องที่ทำงานใหม่ๆ แล้วก็มีความคิดว่าเราทำไม่ได้หรอกๆ
คนเราเขาต้องมีงานทำ ไม่มีงานทำ เราจะมีอาชีพเลี้ยงตัวหรือ ถ้าเรามีอาชีพเลี้ยงตัว เรามีอาชีพของเรา แล้วทำของเราแล้วเราประสบความสำเร็จ
ทีนี้ถ้าคนไม่มีที่พึ่งเลย ว้าเหว่อย่างนี้ แล้วถ้าคนไม่มีที่พึ่งเลยเขาก็ไปอ้อนวอนเอา ไปอ้อนวอน ไปขอเอา ไอ้ที่ไปอ้อนวอน ไปขอ
ในทางบริษัทที่ปรึกษาทางตะวันตก นั่นเขาใช้สถิติ เขาใช้สถิติของเขา ที่ปรึกษาๆ ไอ้นี่ของเราก็เหมือนกัน ของเราเวลาทำสิ่งใดก็ต้องวิจัยตลาด สมัยนี้ต้องเท่าทันทั้งนั้นน่ะ
ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ถ้าทำสิ่งใดเราจะทำไม่ได้หรอกๆ
ยังไม่ทำเลยก็กลัวไปก่อน ทีนี้ถ้าความกลัว ความกลัวจะไม่มีเลย มันมี กลัวจะไม่มีข้าวกินก็กลัว กลัวไปทั้งนั้นน่ะ แต่ถ้าเรามีสติปัญญานะ ไม่มีก็คือไม่มี ไม่เห็นเป็นอะไรเลย ไม่เห็นเป็นอะไร ไม่มีบ้างก็ไม่เป็นไร ยิ่งของเรา ยิ่งถ้าเราไม่มีสถานะทางสังคม เป็นพระธรรมดาไม่มีชื่อเสียงจะต้องรักษาสถานะของตนนี่สบายมาก เป็นอะไรก็ได้ มีก็ได้ ไม่มีก็ได้ ถ้ามีก็ได้ ไม่มีก็ได้ จบทั้งนั้นน่ะ ถ้าเราไม่ติดตัวเราก่อน ไม่ติดตัวเรา
เราตั้งความคิดของเราไว้สูงมาก เราจะต้องประสบความสำเร็จไปทั้งหมด จะต้องมีคนนับหน้าถือตา จะไปไหนต้องมีคนเคารพนบนอบ ทุกข์น่าดูเลย จะเดินจะก้าวจะเดินอะไรกลัวเขาติไปหมดน่ะ เพราะกลัวเขาไม่เชื่อ
แต่ถ้ามันเป็นเรื่องธรรมดา เรื่องธรรมดาของเขา จริตนิสัยของเขา ถ้ามันเข้ากันได้โดยธาตุนะ เขาเคารพบูชาทั้งนั้นน่ะ ถ้าเข้ากันไม่ได้โดยธาตุ เขาก็ไม่เชื่อ เป็นเรื่องธรรมดา จะให้ทุกคนมาเชื่อถือหมด นี่ติดเราแล้วก็ติดเขาไปหมด
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเป็นความกลัวๆ นะ ความกลัวมันเกิดดับ ความกลัวมันเกิดดับนะ บางคนเกิดความกลัวขึ้นแล้วเขาไล่ความกลัวเขาหมด เขาบอกว่าเขาบรรลุธรรมๆ...ไม่ใช่หรอก ความกลัวมันเกิดดับทั้งนั้นน่ะ ความกลัวถ้าเรามีสติปัญญาเท่าทันแล้วดับ คือว่างหมด เดี๋ยวก็เกิดอีก พอเกิดอีก เพราะจิตใต้สำนึกของเรามันมีไง จิตของเรามันมีไง ความกลัวมันเกิดดับทั้งนั้นน่ะ แต่มันเกิดแล้วเราใช้สติปัญญา
ถ้าเป็นคำถามนี้นะ เขาบอกว่า เวลาความกลัวมันเกิดขึ้น เขาใช้ปัญญาอบรมสมาธิมันก็หายกลัวได้
ถ้าหายกลัวได้มันเป็นเครื่องยืนยันอยู่แล้ว เห็นไหม มันเป็นนามธรรม มันมีอะไรเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ มันเป็นรูปธรรมอะไรที่เขาจะลงโทษได้ ไม่มีเลยน่ะ ไม่มีเพราะอะไร เพราะปัญญาอบรมสมาธิมันวางได้ไง มันวางได้คือว่าพอมันด้วยเหตุด้วยผลปั๊บ มันไม่เป็นอย่างที่เราคิด ไม่เป็นอย่างที่เราวิตกกังวล ปล่อยหมดเลย ปล่อยหมดมันก็จบ นี่มันก็ยืนยันชัดๆ อยู่แล้ว ถ้าชัดๆ อยู่แล้ว
แต่เขาบอกว่าทำได้ชั่วคราวแล้วเดี๋ยวมันก็กลับมากลัวอีก
ใช่ ไอ้เรื่องกลับมากลัวอีกเป็นเรื่องธรรมดา ถ้ากลับมากลัวอีก เพราะว่าเหตุผล จิตใจ เหตุผลนี้มันไม่ซาบซึ้งพอ แล้วเหตุผลมันผ่านไปแล้ว ถ้าผ่านไปแล้วเราก็ใช้ปัญญาของเราใคร่ครวญ แล้วถ้าจิตมันมีกำลังนะ จิตมีกำลังมันเห็นโทษแล้วมันไม่ไปคิดซ้ำไง ถ้าจิตคนอ่อนแอเวลามันเห็นโทษมันก็ปล่อย เดี๋ยวมันก็ไปคิดอีก เพราะอะไร เพราะจิตมันไม่มั่นคงไง
ไม่มั่นคง เราก็กลับมากำหนดพุทโธซะ ให้จิตมันมีกำลัง ให้จิตมีกำลัง มันก็ไม่ไปจับสิ่งที่ว่าเราวิตกกังวล ไม่ไปจับสิ่งที่เป็นความกลัวไง มันไม่หลอกให้จิตไปจับ ไม่หลอกให้จิตไปเสวย มันก็ไม่เกิดความคิดอย่างนั้น ถ้าไม่เกิดความคิดอย่างนั้น ความกลัวมันก็ไม่มี
แต่ทีนี้คนเรามันสิ่งมีชีวิต มันก็ต้องคิด สิ่งมีชีวิตมันก็ต้องเคลื่อนไหว การเคลื่อนไหวจะไม่ให้กระทบกระเทือนอะไรเลยอย่างนี้ มันก็เป็นไปไม่ได้หรอก
ทีนี้การเคลื่อนไหว การเคลื่อนไหว จิตมันเคลื่อนไหวเสวยอารมณ์ไปตลอด จิตมันต้องเคลื่อนไหว ทำงานก็ต้องใช้ความคิด มันต้องเคลื่อนไหว ถ้าเคลื่อนไหวแล้วเราก็มีสติปัญญาของเราไป
อ้าว! มันก็เป็นงาน ถ้าผิด ผิดก็ผิด เป็นอะไรไป ผิดก็แก้ไข คนที่ไม่ผิดก็คือคนที่ไม่เคยทำงาน เราทำงานถ้ามันผิด ถ้ามันผิดแล้วมันเสียหาย มันเสียหาย ถ้าโดยเป็นงานของเราก็เป็นเรื่องของเรา ถ้าเป็นงานโดยของคนอื่นเขาก็ต้องรับผิดชอบอะไรกันไป ก็ผิดก็ต้องแก้ไข ทีนี้เวลาที่เขารับคนทำงานเขาก็ต้องการคนทำงานที่ฉลาด คนทำงานแล้วไม่ผิดพลาด ไอ้นี่เราก็ดูแลเราอย่างนี้
เพราะว่าบอกว่าจะให้มันไม่มีอะไรเลย
คน สิ่งมีชีวิต สิ่งมีชีวิตมันต้องอยู่กับปัจจุบัน แล้วเราแก้ไขของเราไป นี่มันเป็นข้อเท็จจริงทั้งนั้นน่ะ ไม่ใช่ว่า แหม! ทุกอย่างมันจะสมบูรณ์ไปหมด ทุกอย่างมันจะดีงามไปหมด
คนที่สมบูรณ์แบบทั้งหมดไม่มี มันต้องมีขาดตกบกพร่องบ้าง จะเป็นทางไหนก็แล้วแต่ แต่ถ้าเรามีสิ่งนี้ในใจของเรา มันขาดตกบกพร่องของเรานี่แหละ แล้วพอขาดตกบกพร่อง อยากให้สมบูรณ์ พออยากให้สมบูรณ์ก็เป็นความทุกข์นี่ไง ก็เลยกลายเป็นความกลัววิตกกังวลซ้อนขึ้นมาอีก
เราพยายามฝึกหัดของเราให้มั่นคงให้แข็งแรง แล้วมีอะไรผิดพลาด ผิดพลาดก็เรื่องธรรมดา ผิดพลาดก็แก้ไข แล้วเราก็ทำของเราไป เดี๋ยวมันจะดีขึ้นไปเรื่อยๆ ดีขึ้นไปเรื่อยๆ ก็จะเป็นแบบคำถามแรก ไม่ทุกข์ไม่ยาก แล้วมีความสุขมาก อันนั้นเขามีความสุขมาก อันนี้ก็มีความทุกข์มาก นี่จบ
ถาม : เรื่อง “ปฏิปทาพระธุดงคกรรมฐานสายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตะ”
ราคาเท่าไร หาซื้อที่ไหน
ตอบ : พูดถึงราคานะ ถ้าราคาทางโลกเราไม่รู้ ราคาทางโลกเราไม่รู้หรอก เขาจะมีซื้อมีขายกัน เพราะเป็นหนังสือเก่า
แต่ถ้าเป็นของครูบาอาจารย์ของเรา ครูบาอาจารย์ของเรา หลวงตาท่านสอนไว้ “ถ้าพระให้กันไม่ได้ แล้วจะให้ใครให้”
พระเป็นผู้ที่เสียสละ พระต้องให้กันได้ เวลาให้ธรรมเป็นทานๆ ให้ธรรมเป็นทาน สิ่งนี้มันเป็นปฏิปทา เป็นประวัติศาสตร์ของพระกรรมฐานที่ได้ประพฤติปฏิบัติมา แล้วหลวงตาท่านได้เก็บจารึกไว้เพื่อเป็นบรรทัดฐานของพระกรรมฐาน ถ้าพระกรรมฐาน อยากรู้ว่าเป็นพระกรรมฐาน ไม่เป็นพระกรรมฐาน ให้ดูปฏิปทาพระธุดงคกรรมฐานฯ
ปฏิปทาพระธุดงคกรรมฐานฯ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นประวัติ เป็นเรื่องของหลวงปู่ขาว เรื่องของหลวงปู่ชอบ เรื่องของครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติ หลวงตาท่านเก็บรวบรวมไว้ เพียงแต่ท่านไม่ได้เอ่ยชื่อ
ถ้าบอกว่ามันมีราคาไหม
มันเป็นบรรทัดฐานนะ ถ้าเป็นบรรทัดฐาน ดูสิ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด นี่เป็นบรรทัดฐานของพระกรรมฐาน เพียงแต่ว่าครูบาอาจารย์ของเราท่านไม่ใส่ชื่อลงไปให้เป็นตัวบุคคล เป็นบรรทัดฐานของกรรมฐานเรา
ถ้าเป็นบรรทัดฐานของกรรมฐานเรา แล้วหลวงตาท่านเป็นคนจดจารึก ท่านเป็นคนเรียบเรียงไว้ แล้วท่านก็เป็นคนพิมพ์ด้วย แล้วท่านเป็นผู้ที่แจก แล้วท่านบอกเลย พระให้กันไม่ได้ ตัวศาสนาพุทธมันจะอยู่ที่ไหน เพราะศาสนาพุทธเริ่มต้นด้วยทาน เริ่มต้นด้วยการเสียสละ
ฉะนั้น ถ้าเป็นพระปฏิปทาพระธุดงคกรรมฐานในหมู่ของพระธุดงค์ ถ้าเป็นลูกศิษย์ของครูบาอาจารย์จริง ท่านแจกฟรี ท่านให้ ท่านให้กันไง ให้ธรรมเป็นทานๆ ไม่มีราคา ไม่มีราคาเป็นมูลค่าในทางตีราคาเป็นเงิน แต่มันจะมีมูลค่ามีราคามากในข้อเท็จจริง
ฉะนั้น สิ่งที่ว่า ปฏิปทาพระธุดงคกรรมฐานสายพระอาจารย์มั่นราคาเท่าไร
ราคาไม่มีมูลค่า ถ้าราคาในทางธรรมนะ ถ้าราคาในทางเป็นทางเงิน ถ้าเป็นกรรมฐานจริงเขาให้กันฟรีๆ เขาให้ เขาให้เพื่อประโยชน์กับโลกไง ถ้าราคาเท่าไรๆ เป็นเรื่องโลกแล้ว ถ้าให้เป็นเรื่องโลก เห็นไหม
ถ้าครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นธรรมๆ คำว่า “เป็นธรรม” เป็นธรรมคือการเสียสละ เป็นธรรมคือการมีน้ำใจต่อกัน เป็นธรรมคือการให้กัน ให้กันเป็นทาน ไม่มีการแลกเปลี่ยน แม้แต่แลกเปลี่ยน พระยังไม่ให้ทำเลย อยู่ในวินัย พระห้ามซื้อขายแลกเปลี่ยนทั้งสิ้น นี่ไง เราถึงหยิบเงินหยิบทองกันไม่ได้ ที่ว่านี่ไง ฉะนั้น พระจะแลกเปลี่ยน แลกเปลี่ยนกันด้วยวิสาสะ
วิสาสะ หมายความว่า พระด้วยกัน มีบริขาร แล้วอย่างบริขารจะแลกเปลี่ยนกัน แลกเปลี่ยนกันโดยพระ มีผ้า พอใจแลกเปลี่ยนกันโดยวิสาสะ แต่ซื้อขายแลกเปลี่ยนไม่มี เพราะถ้าซื้อขายแลกเปลี่ยนนั่นเป็นเรื่องโลก เรื่องโลกเป็นเรื่องของธุรกิจ
ถ้าเรื่องของธรรม บวชมาเป็นพระ ภิกษุห้ามใช้ชีวิตแบบฆราวาส ชีวิตของฆราวาสเขามีการซื้อ การขาย การต่อรองราคา พระเราไม่มี วินัยห้ามทำ แล้วครูบาอาจารย์ของเราไม่เคยทำ ยิ่งหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นไม่เคยทำ ท่านไม่ทำเรื่องอย่างนี้ ถ้าไม่ทำเรื่องอย่างนี้แล้ว ทีนี้เป็นวัดเป็นวาขึ้นมามันก็มีกรรมการวัด มันมีผู้ที่ดูแลรักษา ถ้าดูแลรักษาไป มันเป็นของวัดไป
นี่พูดถึงราคาไง เพราะเห็นอย่างนี้แล้วมันเศร้าใจ “ปฏิปทาพระธุดงคกรรมฐานสายพระอาจารย์มั่น ราคาเท่าไร”
ถ้าพูดถึงราคาเป็นเงินเป็นทอง ทางเราไม่คิดว่ามันมีมูลค่า แต่ถ้าพูดถึงราคาของธรรม ราคาของธรรมคือมูลค่าที่มันมีความสำคัญ มันมีความสำคัญมาก
คนเราตามืดบอดมา ทำอะไรมาก็ไม่เป็น แล้วทำอะไรก็ล้มลุกคลุกคลาน แล้วใครจะบอกล่ะ ถ้ามันมีตำราอยู่ มันมีปฏิปทาธุดงคกรรมฐานฯ สอนทุกอย่าง สอนอยู่ในนั้นน่ะ บอกหมดเลย กรรมฐานเขาทำกันอย่างไร
ถ้ากรรมฐานเขาทำกันอย่างไร มูลค่าอย่างนั้นสามารถทำให้พระที่ประพฤติปฏิบัติเข้าสู่มรรคสู่ผลได้ ทำให้พระที่ประพฤติปฏิบัติทำความเป็นจริงให้ชนะกิเลสของตนได้ ให้ชนะความเห็นผิดของตน ถ้ามันชนะความเห็นผิดของตน นี่ถ้ามันเป็นมูลค่า มูลค่าอย่างนี้ ราคาอย่างนี้
แต่ถ้าเป็นเรื่องราคา ไม่มี แล้วหาซื้อที่ไหน
ถ้าเรื่องเป็นโลกๆ นะ หาซื้อที่ไหนเราไม่สนใจ ไม่รู้ หาซื้อที่ไหนไม่รู้ ไม่เกี่ยว เพราะว่ามันเป็นเรื่องโลก ถ้าเรื่องโลกเป็นเรื่องของเขา แต่เรื่องของธรรมนี่ไม่มี ครูบาอาจารย์ของเรา ถ้าเป็นของเราแจกทั้งนั้นน่ะ มีแจกฟรี ให้ฟรี พระต้องให้กันได้
ฉะนั้น พระให้ไม่ได้ เวลาโม้กันนะ “ให้ธรรมเป็นทาน ให้ธรรมเป็นทานประเสริฐที่สุด” ให้ไปราคาเท่าไรไง ให้ไปแล้วเอากลับมา
ให้ธรรมเป็นทานก็ให้สิ ให้ ดูสิ แจกนี่หว่านเลย แล้วให้มีความเสมอภาคต่อกัน เอาไปใช้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่มี นี่ถ้าเป็นจริงนะ ฉะนั้น คนที่จะมีจุดยืนแล้วทำอย่างนี้ได้มันก็ต้องเห็นประโยชน์ ต้องเห็นประโยชน์นะ
ครูบาอาจารย์ เราจะทำสิ่งใดก็แล้วแต่ เราเห็นประโยชน์ถึงทำใช่ไหม ถ้าเห็นว่าเป็นโทษไม่มีใครทำหรอก ถ้าเห็นสิ่งนั้น ไม่มีใครทำ แล้วนี่เวลาเขาทำกันสิ่งนั้น โลกคิดกันอย่างนั้น อำนวยความสะดวก มีเงินแล้วแลกเปลี่ยนมาแล้วมันก็จบสิ้นกันไป
แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์เราท่านไม่ทำอย่างนั้น ท่านแจกท่านให้ พอแจกให้ขึ้นไปแล้ว มันเรื่องโลกๆ มันก็มีบุคคลสวมรอยเข้ามา สวมรอยเข้ามา มารับแจก รับแจกเยอะๆ แล้วก็เอาไปขาย ถ้าเอาไปขายกัน เห็นไหม
ทั้งๆ ที่จะเป็นธรรม ทั้งๆ ที่จะทำคุณงามความดี มันก็มีคนสวมรอยเข้ามาๆ ไอ้สวมรอยนั่นน่ะ เวลาครูบาอาจารย์ที่ท่านจะป้องกัน ป้องกันไอ้พวกสวมรอยนั่นน่ะไม่ให้สวมรอยเข้ามา ถ้าไม่ให้สวมรอยเข้ามา คือมารับแจกทานแล้วเอาไปขาย เอาไปซื้อเอาไปขายกันไง เห็นไหม เขาไม่ให้มีการซื้อขายกัน เขาให้มีการเสียสละกัน
เราเกิดไม่ทัน แต่หลวงตาท่านบอกท่านยังเกิดทันนะ สมัยท่านเป็นเด็กๆ ไม่มีตลาดไง พอไม่มีตลาด ดูสิ เดี๋ยวนี้ที่ป่าไม้ต่างๆ ธุรกิจเข้ามามันมีตลาดของมันขึ้นมา มันก็จะมีมูลค่าขึ้นมา ทำมาหมดเลย รุกป่ากันทั้งนั้น เริ่มต้นตั้งแต่มันสำปะหลัง เริ่มตั้งแต่อ้อย เริ่มต้นเข้ามา นี่รุกป่าทั้งนั้น แต่ทำไมเมื่อก่อนไม่เคยทำขนาดนั้น เพราะอะไร เพราะทำเฉพาะพอกิน ทำเฉพาะในครัวเรือน ถ้าในครัวเรือน แล้วมีสิ่งใดมาเก็บไว้ ไม่มีตู้เย็น บ้านนอกน่ะ เก็บไว้มันก็เน่า ได้สิ่งใดมาก็จะตัดแบ่งกันๆ แล้วบ้านไหนได้มาก็ตัดแบ่งกัน เขาเป็นมาอย่างนั้น
พระพุทธศาสนาสอนเริ่มต้นมา ถ้าเป็นฆราวาสนะ สมัยโบราณนะ คล้ายๆ พระเลย เข้าพรรษา เขาก็เข้าพรรษาด้วย ออกพรรษาก็ออกพรรษาด้วย เพราะอะไร เพราะมันใช้ชีวิตเหมือนกัน ชาวพุทธเหมือนกันไง
แต่ในปัจจุบันนี้มันมีตลาดมีทุกอย่างก็ซื้อขายเอา แลกเปลี่ยนเอา แล้วเวลาแลกเปลี่ยนเอามันเป็นเรื่องโลกๆ น่ะ ฉะนั้น ถ้าเป็นเรื่องโลกก็เป็นเรื่องของโลก ฉะนั้น ถ้ามันเข้ามาในเรื่องของธรรมไม่เป็นอย่างนั้น ถ้าเรื่องของธรรมไม่เป็นอย่างนั้น
ฉะนั้นถึงบอกว่า ราคาเท่าไร หาซื้อที่ไหน มันต้องไปถามพวกนักสะสมหนังสือ พวกนักสะสมหนังสือเขาจะรู้กันว่าซื้อที่ไหน ซื้อหากันที่ไหน แต่ของเราไม่มี ของเราไม่มี
ถ้าของเรานี่เราให้ทาน แล้วให้ทานแล้วเรายังขนไปแจกข้างนอกด้วย ถ้าเป็นไปนะ แต่บางทีมันก็ไม่แจก มันแจกไม่ลง ถ้าแจกไม่ลง เพราะว่าในเมื่อมันเป็นทิฏฐิ ในเมื่อมันเป็นมุมมองทิฏฐิของเขา ความเชื่อของเขา ถ้าความเชื่อของเขา แล้วแต่เขา แต่หนังสือของเรา หนังสือของเราจะแจกต่อเมื่อคนที่อยากค้นคว้า คนที่อยากศึกษาพระพุทธศาสนา ถ้าอยากศึกษาพระพุทธศาสนา ศึกษาแล้วอยากจะมีแนวทางในการปฏิบัติ แล้วจะปฏิบัติอย่างไร
ถ้าปฏิบัติ ดูสิ ที่เราสวดสังฆคุณกันน่ะ ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตรงต่อธรรม ถ้าปฏิบัติตรงต่อธรรม แล้วเริ่มต้นขึ้นมา แล้วปฏิบัติอย่างไรให้ตรงต่อธรรม
จะปฏิบัติกันถ้ามันไม่ตรงต่อธรรม มันก็ปฏิบัติบูชากิเลสน่ะสิ ถ้าปฏิบัติตรงต่อธรรมๆ ศีล สมาธิ ปัญญา แล้วทุกคนก็อ้างว่า ศีล สมาธิ ปัญญา อ้าง อ้างกับความจริง ถ้าความจริงมันไม่เป็นความจริงขึ้นมามันจะเป็นจริงไหมล่ะ ถ้ามันไม่เป็นจริง มันก็เป็นการปฏิบัติมันก็เหมือนนักศึกษาพวกนักเรียนออกค่าย เวลาเขาออกค่ายมันก็ไปสนุกครึกครื้นกัน มันก็มีความสุขนะ
นี่ก็เหมือนกัน พอปฏิบัติ “สบายๆ สบายๆ”
ไอ้เบิร์ดมันร้องเพลงสบายๆ มันได้ตังค์ด้วย ไอ้ของเราพระไม่มีร้องเพลงสบายๆ พระของเรามีแต่ศีล สมาธิ ปัญญา สบายๆ ไม่มี ไม่มี ถ้ามันไม่มีมันก็เข้าสู่ความจริง เพราะมันเหนือโลกไง มันจะเอาโลกมาเป็นใหญ่ได้อย่างไร
เวลาปฏิบัติแล้วต้อง “สบายๆ สบายๆ”
สบายๆ มันมักง่ายตั้งแต่ต้น แต่ของเรา ของเราขึ้นมา เราจะข่มขี่กิเลส เราจะเอาจริงเอาจัง กิเลสมันก็ต้องไล่ต้อนกันก่อน แต่พอปฏิบัติไปแล้ว พอมันชำนาญแล้ว รู้เท่าทันกันแล้ว รู้มือกันแล้ว มันก็เป็นไปได้ พอเป็นไปได้แล้วเป็นความจริงด้วย นี่ปฏิบัติตรงต่อธรรม ปฏิบัติตรงต่อธรรมคือปฏิบัติตรงสู่หัวใจของสัตว์โลก ปฏิบัติตรงสู่หัวใจของเรา เพราะกิเลสมันอยู่ในหัวใจของเรา เราปฏิบัติลงที่หัวใจของเรา เราพิจารณาลงที่นั่น แล้วพิจารณาลงที่นั่น ถ้าสงบ สงบลงที่นั่น สงบที่นั่น มันเป็นสัมมาสมาธิจริงๆ มันเป็นปัญญาจริงๆ
มันไม่ใช่สัญญาอารมณ์ คิดว่ามันเป็นปัญญา โอ้โฮ! คิดร้อยแปดเลยว่าเป็นปัญญา...เป็นสัญญาทั้งนั้น แล้วสัญญามันเกิดดับ เห็นไหม ทุกอย่างก็เกิดดับทั้งนั้นน่ะ พอเกิดดับขึ้นมาแล้วมันมีอะไรล่ะ เพราะมันไม่มีแนวทาง
แต่ถ้ามันเป็นสัมมาสมาธิ มันเป็นภาวนามยปัญญา มันมีช่องมีทางของมัน มันเคยทำของมันใช่ไหม เคยทำของมันน่ะ แม้แต่ครูบาอาจารย์สอนนะ สอนผิดมันยังไม่ฟังเลย คนที่พอปฏิบัติได้นะ ไปเจอครูบาอาจารย์ที่สอนออกนอกลู่นอกทางนะ มันดูถูกเลยนะ ดูถูกว่า “อู้ฮู! เป็นถึงอาจารย์ทำไมโง่ขนาดนี้”
แต่ถ้ามันเป็นความจริง เราจะรู้ของเราเลยนะ ถ้ารู้อย่างนี้ ถ้ามันมีช่องทาง มันเป็นไปได้ นี่ในการปฏิบัติมันจะปฏิบัติอย่างนี้ไง ถ้าปฏิบัติตรงต่อธรรม ถ้าปฏิบัติจริง ปฏิบัติตรง นี่มันเป็นความจริง
นี่พูดถึงว่า ความเป็นไป ปฏิปทามันมีความหมายไหม ถ้าว่ามีค่าไหม มีค่ามากๆ มีค่ามากๆ มันเป็นเหมือนลายแทง ลายแทงชี้เข้าไปสู่ใจๆ ถ้าเป็นความจริง เป็นความจริงอย่างนั้นนะ
ฉะนั้น สิ่งที่ถามว่า ราคาเท่าไร หาซื้อที่ไหน
เรามันเศร้าใจ เรามันเศร้าใจ แต่นี้มันก็เป็นเรื่องทางโลกนะ ทางโลกเขาถืออำนวยความสะดวก เขาบอกว่าถ้ามันมีการซื้อการขายมันจะกว้างขวางขึ้นไป ไอ้ให้ธรรมเป็นทานๆ มันจะคับแคบ มันจะได้เฉพาะกลุ่มชน มันจะได้แค่ในหมู่พวกเดียวกัน คนอื่นเขาจะไม่ได้รับรู้ด้วย ไอ้นั่นก็เป็นความเห็นของโลก ความเห็นของเขา
คำว่า “มีมูลค่า” มันมีมูลค่า มันมีคุณธรรมในตัวของมันเอง ถ้ามีในตัวของมันเอง เห็นไหม ดูสิ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากราบธรรมๆ กราบธรรมๆ มันกราบที่ไหน กราบที่ตัวเลขหรือ ก็กราบธรรมในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กราบสัจธรรมอันนั้น แล้วถ้าสัจธรรมอันนั้นมันเหนือโลก ค่ามันเหนือโลก เหนือตัวเลข เหนือทุกอย่างเลย แล้วนี่มันก็มีคุณค่าอย่างนั้น
ฉะนั้น มันมีคุณค่าในตัวของเขาเอง มีคุณค่าในตัวเองมากๆ นะ เพราะว่ามันไม่เคยมีหนังสืออย่างนี้ออกมาก่อน พอหนังสือ เพราะว่าหนังสือส่วนใหญ่แล้ว ถ้าเป็นหนังสือนะ การเขียนหนังสือเขาก็ค้นหาข้อมูลมาเขียนหนังสือใช่ไหม
แต่ปฏิปทาพระธุดงคกรรมฐานฯ มันเกิดจากข้อเท็จจริงที่หลวงปู่ชอบ หลวงปู่ขาว ครูบาอาจารย์ของเราปฏิบัติมาเจอข้อเท็จจริง เหมือนธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วผู้ที่มาประพฤติปฏิบัติมีข้อเท็จจริงอันนั้น ได้ประสบการณ์สิ่งนั้น แล้วเอาประสบการณ์สิ่งนั้นมารวบรวมไว้ เอาประสบการณ์ของผู้ที่ปฏิบัติรู้ถูกรู้ผิด ปฏิบัติไปแล้วมีอุปสรรคสิ่งใด เก็บข้อมูลอย่างนั้นน่ะมาบอกพวกเราให้เป็นช่องทาง นี่มันมีมูลค่าอย่างนี้
เราถึงบอก มันเป็นเรื่องปฏิปทาพระธุดงคกรรมฐานสายหลวงปู่มั่นนี่สุดยอด สุดยอดในผู้ที่ซื่อสัตย์เอาไปประพฤติปฏิบัตินะ แต่ถ้าพูดถึงว่า เราไม่มีแนวทางปฏิบัติเลย เราอ่านกัน เราค้นคว้ากันเป็นแนวทางไว้เฉยๆ นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ
เพราะเป็นที่ว่าครูบาอาจารย์ของเราเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติแล้ว แล้วได้ผล แล้วได้ผลนะ ปฏิบัติตามนั้น ได้ผลอย่างนั้น แล้วสิ่งที่ปฏิปทา สิ่งที่ปฏิบัติเอามาบอกเป็นแนวทาง เอามาบอกเป็นแนวทาง มันถึงมีคุณค่าในตัวของมันเอง
แต่เรื่องเป็นราคาเงินราคาทองไม่มีประโยชน์อะไรหรอก เพราะว่าธนาคารชาติมีมากกว่านี้ ยิ่งธนาคารโลกเงินยิ่งเยอะเข้าไปใหญ่ แล้วมันมีความสุขความทุกข์หรือไม่...ไม่มี
แต่ความสุขความทุกข์มันอยู่ในใจของสัตว์โลก มันอยู่ในใจของคน แล้วถ้าคนประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ธรรมอันนั้นเข้าไปเจือจานในหัวใจของสัตว์โลก
หลวงตาท่านถึงบอกไง เวลาท่านไปไหนๆ ท่านไปเอาหัวใจคนๆ เอาความรู้สึกของคนเจือจานเข้าไปในใจของคน ธรรมะมันเข้าอย่างนี้ ไม่ใช่ตัวเงิน ไม่ใช่ตัวเลข มันเป็นคุณธรรม เอวัง