ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

จิตรวม

๑๓ พ.ย. ๒๕๕๙

จิตรวม

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๙

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

ถาม : เรื่อง “จิตไม่รวม

หลวงพ่อครับ ผมภาวนาต่อไปเรื่อยๆ จนรู้สึกว่าจิตไม่รับรู้สิ่งอื่นจากข้างนอก รู้สึกว่าทุกสิ่งนิ่งไปหมด รู้อยู่แต่ที่คำบริกรรมอย่างเดียว ผมภาวนาอานาปานสติในช่วงแรก จนถึงช่วงนี้ก็เปลี่ยนมาภาวนาเป็นเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ก็ภาวนาต่อไปเรื่อยๆ แต่ไม่รู้จะไปต่ออย่างไร เพราะรู้สึกว่ายังนึกคำบริกรรมได้อยู่ จิตเหมือนยังไม่รวมครับ

ผมอยากถามหลวงพ่อว่า ผมภาวนาต่อไปเรื่อยๆ ถูกทางหรือไม่ครับ แล้วเรื่องจิตรวมไม่รวมนี้จำเป็นหรือไม่ครับ ผมรู้สึกว่าภาวนาแล้วมันฝืนอยากให้จิตรวม มันเลยไม่รวมครับ

ตอบ : เพราะเราไปตั้งเป้าไง ตั้งเป้าว่าจิตมันต้องรวม ถ้าจิตมันรวมแล้ว คำว่าจิตรวม” จิตมันเป็นสมาธิอยู่แล้วน่ะ ถ้าจิตมันไม่เป็นสมาธินะ ถ้าคนภาวนาจิตไม่เป็นสมาธิ พุทโธของเราหรืออานาปานสติของเรามันจะไม่ต่อเนื่อง

คำว่า “ต่อเนื่องๆ” เราพุทโธๆๆ ต่อเนื่อง หรือกำหนดลมต่อเนื่องมามันก็มีสมาธิ มีสมาธิคือจิตเรามันอยู่กับคำบริกรรม อยู่กับเครื่องเกาะ อยู่ที่อาศัย เพราะจิตนี้มันเป็นนามธรรม ตัวมันเองไม่รู้จักตัวมันเอง แต่มันรู้อารมณ์ มันรู้สิ่งที่มันกระทบนะ มันรู้เรื่องรูป รส กลิ่น เสียง มันรู้เรื่องข้างนอกหมดล่ะ แต่มันไม่รู้จักตัวมันเอง เราอาศัยพุทโธๆๆ ก็เพื่อต้องการให้มันรู้จักตัวมันเอง

ทีนี้ถ้ามันกำหนดพุทโธหรือใช้อานาปานสติ ถ้ามันต่อเนื่องได้เรื่อยๆ มันก็มีสมาธิในระดับหนึ่ง มันมีสมาธิระดับหนึ่งนะ ถ้าไม่มีสมาธิ มันฟุ้งซ่านมาก มันเดือดร้อนมาก มันอึดอัดมาก มันส่งออก มันอึดอัดขัดข้องไปหมด

แต่ถ้าเราพุทโธๆๆ หรือใช้อานาปานสติ รู้สึกว่ามันไม่เดือดร้อน รู้สึกว่ามันระงับของมันได้ นี่ก็เป็นสมาธิ มีสมาธิแล้วบ้างบางส่วน แต่อย่างที่ว่าถ้าจิตรวมๆ ถ้าคำว่า “สมาธิ” สิ้นสุดของมันนะ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ อัปปนาสมาธิคือจิตรวมใหญ่ จิตรวมมันปล่อยหมดจนสักแต่ว่ารู้ แล้วเราก็มีเป้าหมายว่าเราต้องจิตรวมๆ

คำว่า “จิตรวม” จิตรวมแล้วเป็นอานาปานสติ มันวิปัสสนาไม่ได้นะ เวลาจิตรวมเข้าไปมันมีความสุขมาก ขณะที่ว่าเรากำหนด ผู้ภาวนา ผู้ถามบอกว่าเขาภาวนาอยู่เรื่อยๆ เขาภาวนาจนรู้สึกว่าจิตมันไม่รับรู้สิ่งข้างนอกเลย

ไม่รับรู้สิ่งข้างนอกเลย แต่มันต้องมีสตินะ เราไม่รับรู้สิ่งข้างนอกเลย แต่ของเรา เราก็ต้องสมบูรณ์ของเราเนาะ เราไม่รับรู้สิ่งข้างนอกเลย ข้างในก็ไม่รับรู้เลย มันก็แปลกๆ แล้ว

ไม่รับรู้สิ่งข้างนอกเลย ดี มันไม่ออกไปรับรู้ มันไม่ไปหาฟืนหาไฟมาเผาบ้านตัวเอง มันดีอยู่แล้ว เรามีสติสัมปชัญญะของเรา ถ้ามันพุทโธหรือใช้อานาปานสติ เวลาเราฝึกหัดๆ เราฝึกหัดเพื่อความสุข เพื่อความสงบ เพื่อความระงับนะ เราฝึกหัดเพื่อตัวเราเองนะ แต่ถ้ามันแบบว่าเราฝึกหัดจนได้เป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกิทาคามี พระอนาคามี เป็นพระอรหันต์ มันต้องมีมรรคมีผลของมันขึ้นไป มันต้องพัฒนาของมันขึ้นไป เห็นไหม บุคคล ๔ คู่ เวลาเราทำบุญ สังฆคุณ เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

เป็นผู้ปฏิบัติดี เป็นผู้ปฏิบัติตรง เป็นผู้ที่ปฏิบัติชอบ เป็นผู้ที่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม แล้วของเราปฏิบัติดีไหม ปฏิบัติดี เพราะเราฝึกหัด เราอยากปฏิบัติดี แล้วมันชอบหรือยังล่ะ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้เองโดยชอบ โดยชอบธรรมนี่มันฆ่ากิเลสหมดไง แต่เราปฏิบัตินี่ปฏิบัติดีไหม ปฏิบัติดี แต่มันชอบธรรมไหม มันชอบธรรมหรือมันสมดุลไหม มันปฏิบัติดี แต่เราก็ยังมีกิเลสของเรา เรายังหากิเลสเราไม่เจอ เรายังไม่ค้นคว้าหากิเลสของเรา เรายังไม่รู้เลยว่าเราเป็นโรคอะไร เราควรจะแก้ไขอย่างไร เราไปหาหมอ ถามหมอเลย หมอ เราเป็นโรคอะไร แล้วควรจะแก้ไขอย่างใด

นี่ก็เหมือนกัน เราทำความสงบของใจเราเข้ามา ถ้าใจมันสงบระงับแล้วเราพยายามโน้มน้าวของเรา โน้มน้าวไปให้เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เราจะตรวจสอบว่าเราเป็นโรคอะไร เราติดข้องในอะไร เห็นไหม ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติชอบ ความชอบธรรมมันจะต่อเนื่องไปที่นั่นไง

แต่ทีนี้พอบอกว่าต้องมาจิตรวมๆ

จิตรวม หลวงตาท่านพูดอยู่ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติหาจิตรวมได้น้อยมากนะ บางคนไม่เคยรวมเลย

คำว่า “ไม่เคยรวมเลย” แล้วเขาปฏิบัติได้อย่างไรล่ะ เขาก็มีสมาธิของเขา เขามีสมาธิ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อุปจาระนี่จิตมันสงบ แต่มันรับรู้เสียงได้ มันยังรับรู้ได้ ถ้ามันรับรู้ได้ แต่นี่เราบอกว่ามันยังติดข้องอยู่ เขาบอกเขาติดข้องอยู่เพราะเรื่องจิตรวม เขาอยากจะจิตรวมมาก ก็เลยกลายเป็นว่าจิตรวมมันก็เลยกลายเป็นว่ามันไปติดข้อง มันเลยไม่รวมเสียที มันเป็นการฝืนทนเป็นอะไร

คือเรามีเป้าหมายไง เรามีเป้าหมาย เป้าหมายของเรามันก็ดี เป้าหมายของเราดี แต่เรามีความสามารถอย่างนั้นไหม เรามีความสามารถอย่างนั้น ถ้าเรามีความสามารถอย่างนั้น เราทำได้ถึงที่สุดมันก็ถูกต้อง ถ้าเราไม่สามารถอย่างนั้น แต่เราสามารถในทางอื่นน่ะ เราไม่มีความสามารถทางนี้ แต่เรามีความสามารถทางอื่น เรามีความสามารถที่จะรักษาดูแลใจของเราได้ เรามีความสามารถอย่างนั้น เราก็ทำตามความสามารถของเราไง

นี่ก็เหมือนกัน คำว่า “จิตรวมๆ” ถ้ามันจิตรวมได้ สาธุ มันก็ดีนั่นแหละ ถ้าจิตมันรวมไม่ได้หรือถ้ามันยังไม่ทันรวม เราก็ไม่ต้องไปวิตกกังวลกับมัน เพราะคำว่าจิตรวมๆ” จิตรวมเป็นอัปปนาสมาธิ สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่ารู้นี่มันต้องคลายตัวออกมามันถึงเป็นอุปจาระ พออุปจาระแล้ว อุปจาระคือมันรู้ได้ มันรู้อารมณ์ได้ มันรู้สรรพสิ่งได้ ถ้ารู้สรรพสิ่งได้ จิตต้องเป็นสมาธิ

ถ้าไม่มีสมาธิ เห็นไหม เราพูดบ่อย ผู้ที่ทำเขาบอกว่า “ไม่ต้องทำสมถะ ไม่ต้องทำสมถะ ใช้ปัญญาไปเลย ใช้ปัญญาไปเลย”...อย่างนั้นก็เป็นโลกียปัญญา

คนเราทำอาหารไม่มีวัตถุดิบเลย จะแกง ไม่มีผัก ไม่มีหญ้า ไม่มีปลา ไม่มีเนื้อ ไม่มีอะไรจะแกงได้อย่างไร แกงไม่ได้ แกงไม่ได้ มันไม่มีเนื้อ ไม่มีสิ่งที่จะมาปรุงเป็นอาหารได้ มันปรุงไม่ได้หรอก ถ้าไม่มีสมาธิมันเป็นไปไม่ได้ มันไม่มี คนที่ไม่มี ดูสิ เข้าครัวแล้วมีแต่ภาชนะ แต่ไม่มีวัตถุดิบ ไม่มีเนื้อ ไม่มีปลา ไม่มีหมู ไม่มีอะไรเลย จะทำอาหารได้อย่างไร

แต่คนถ้าทำสมาธิได้ คนทำสมาธิเป็น มันมี มีหมู มีไก่ มีทุกอย่างเลย แต่มันไม่ปรุง มันไม่ทำ นี่ไง เวลาบอกว่าไม่ต้องทำสมาธิเลย มันก็แบบว่าไม่มีวัตถุดิบเลย ทำอาหารไม่ได้ มันไม่มีอะไรให้ทำ

แต่ถ้าทำสมาธิแล้ว เราทำสมาธิแล้วเราจะรอให้มันรวม จะรอให้มันเป็นไปเองอย่างนี้ นี่ได้สมาธิแต่ไม่รู้จักทำ ของมีอยู่ ปล่อยให้มันเน่า ของมีอยู่ ปล่อยให้มันเสีย ไอ้คนไม่มีเลยมันก็อวดว่ามันมี เพราะมันไม่มีมันก็ไม่เน่าไม่เสียใช่ไหม พอไม่เน่าไม่เสียมันก็ไม่ต้องไปรักษา ไม่ต้องรักษามันก็อยู่สบายของมัน แล้วมันก็อ้างว่านั่นน่ะวิปัสสนาๆ

วิปัสสนาอะไรก็ไม่รู้ เราบอกว่าถ้าไม่มีสมาธิทำไม่ได้ พอเราจะฝึกหัดสมาธิ พอมีสมาธิขึ้นมาแล้ว มีสมาธิขึ้นมาถ้าจิตมันสงบระงับ จิตมันมีความสุขของมัน ฝึกหัดใช้ปัญญาๆ ของเรามีแล้วเราฝึกหัดใช้สิ

รอจิตรวมๆ เวลาเราทำอาหารนี่นะ อาหาร วัตถุดิบมันพอที่ทำอาหารได้ก็ทำได้แล้ว มันไม่ต้องไปเอาตัวใหญ่ๆ แบบว่าเอาปลาวาฬมาเลยมาทำอาหาร ไม่ใช่ เอาปลาช่อน เอาปลานิลมันก็พอแล้ว มันทำได้แล้ว ถ้ามันทำได้แล้วมันก็ทำของมันไปไง

นี่พูดถึงว่า คำว่า “จิตรวม” นะ จิตรวมนี่มหัศจรรย์มาก สักแต่ว่ารู้ เพราะว่าถ้าจิตรวมนะ พอจิตรวมมันรวมใหญ่ คำว่า “รวมใหญ่” รวมใหญ่ ถ้าสมัยครูบาอาจารย์ของเรามีผู้ที่ปฏิบัติจิตท่านรวมบ่อย ท่านรวมได้ง่าย ท่านรวมแล้วมันติดใจ ท่านก็อยากมีความสุขอย่างนั้น เวลามีความสุขอย่างนั้นน่ะ ผู้ที่ติดในสมาธิๆ เวลามีความสุขมีความสงบก็ว่าสมาธิเป็นนิพพาน มันสุข มันสงบ มันระงับ โอ้โฮมันมหัศจรรย์มาก แล้วมันขี้เกียจ มันไม่ทำงาน เห็นไหม

เวลาจะทำงาน ถ้าติดสมาธิมันก็ไม่วิปัสสนา ถ้าวิปัสสนาต้องคลายตัวออกมา พอคลายตัวออกมาแล้วมันถึงวิปัสสนา แล้ววิปัสสนาอย่างไร ตรงนี้สำคัญมาก ครูบาอาจารย์ของเราผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ตรงที่เริ่มต้นวิปัสสนา เริ่มต้นจากทำความสงบเข้ามา สงบแล้วยกขึ้นสู่วิปัสสนา ตรงนี้ปากซอยเข้ากันไม่ได้ ถ้ามันเข้าปากซอยได้มันจะเข้าบ้านของตน ถ้าเข้าปากซอยได้มันจะเข้าสู่ปัญญาของตน

ถ้าสู่ปัญญา ปัญญามันเกิดจากอะไร ปัญญาเกิดจากจิต กิเลสมันอยู่ที่จิต เวลาจิตสงบเข้ามา จิตสงบ ถ้าเข้าสู่จิตสงบ จิตสงบแล้วออกฝึกหัดใช้ปัญญาๆ ฝึกหัดใช้ปัญญาหาความบกพร่องของจิตนั้น ถ้าหาความบกพร่องของจิตนั้น พิจารณาในจิตนั้น วิปัสสนาๆ แก้จิตนั้น จิตนั้นก็จิตเรานี่ไง จิตที่คนที่ภาวนานี่ไง

ฉะนั้น คำว่า เขาบอกว่าเขาติด เมื่อไหร่จิตมันถึงจะรวม ถ้ามันมีความกังวลอยู่นี่ ทีนี้คำถามถามว่า “เรื่องจิตรวมไม่รวมจำเป็นหรือไม่ครับ

คำว่า “จำเป็นหรือไม่ครับ” มันอยู่ที่จริตนิสัยนะ ถ้าจริตนิสัยที่เขาทำได้ สิ่งนั้นมันก็เป็นความปกติของเขา เขาทำได้ง่าย อันนั้นก็ไม่ผิด ไอ้ที่ว่าเราทำได้ยากๆ มีความจำเป็นหรือไม่

ไม่จำเป็น ไม่จำเป็นว่าจะต้องให้จิตรวม จิตรวมนี่นะ พอมันรวม มันสักแต่ว่ารู้ มหัศจรรย์มากนะ อัปปนาสมาธิ อัปปนาสมาธิมันยกขึ้นสู่วิปัสสนาไม่ได้

คำว่า “สักแต่ว่ารู้” มีคนไปถามหลวงตา หลวงตาบอกว่า อัปปนาสมาธิเหมือนคนนอนหลับ คนนอนหลับทำงานไม่ได้ แต่คนนอนหลับนี่นะได้นอนหลับพักผ่อนมีความสุขมากนะ

เราเป็นคนโรคนอนไม่หลับ นั่งอยู่ทั้งวันนี่ทุกข์ไหม ทุกข์เกือบเป็นเกือบตายนะ แล้วพอได้หลับทีหนึ่งได้นอนทีหนึ่ง โอ้โฮนั่นสุดยอดเลย นี่ก็เหมือนกัน คนนอนหลับทำงานไม่ได้แต่มันมีความสุขในการหลับนั้น รวมใหญ่ก็มีความสุขในรวมใหญ่นั้น แต่การทำงานก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง การทำงานอีกเรื่องหนึ่ง

ฉะนั้น “มีความจำเป็นหรือไม่

ไม่จำเป็น ไม่จำเป็น แล้วพอไม่จำเป็นก็ไม่ต้องไปทำมันเลยใช่ไหม

ถ้าคนเรามันมีสมบัติอย่างนั้นมันควรได้อย่างนั้น คนเรามันได้ขุมทรัพย์อย่างนั้นบอกไม่จำเป็น เราจะทิ้งขุมทรัพย์อันนั้นไปหรือ ขุมทรัพย์อันนั้นก็เป็นของเราไง ถ้าเรามีขุมทรัพย์อยู่ เราได้ขุมทรัพย์นั้น ขุมทรัพย์นั้นก็เป็นของเรา ถ้าจิตเรารวมอยู่ก็เป็นขุมทรัพย์ของเรา แต่ขุมทรัพย์นี้เราเอาไปทำประโยชน์หรือไม่ ถ้าเอาไปทำประโยชน์นั่นอีกเรื่องหนึ่งนะ

สมาธิเป็นสมาธิ วิปัสสนาเป็นวิปัสสนา ถ้าพูดถึงคนที่ภาวนาเป็นแล้ว ในสมาธิก็มีวิปัสสนา ในวิปัสสนาก็มีสมาธิ ถ้าคนทำได้นะ ถ้าทำได้มันก็เป็นแบบนั้น

ถามว่า “จำเป็นหรือไม่ต้องรวมใหญ่

เพราะเขาบอกว่า เพราะเขาติดอยู่ว่าจะต้องรวมใหญ่ มันก็เลยเป็นการที่ว่ามันเลยต้องฝืน จะต้องฝืนให้จิตรวมใหญ่ มันเลยไม่รวม มันเลยไม่รวม

ก็เหมือนกับคนเป็นหนี้ ถ้าเราไม่มีเงินไปใช้หนี้ เราก็ใช้หนี้เขาไม่ได้ เราก็เป็นห่วงว่าเราต้องหาเงินจะไปใช้หนี้เขา ก็เลยเป็นพะวักพะวนจะหาเงินๆ อยู่นั่นน่ะ งานอื่นเลยไม่ทำไง

นี่ก็เหมือนกัน “จำเป็นต้องรวมใหญ่หรือไม่

เพราะจำเป็นต้องรวมใหญ่ เราก็ต้องพยายามจะทำให้รวมใหญ่ งานอื่นเลยไม่ได้ทำไง แต่ถ้าเราทำความสงบของใจเราเข้ามา พอจิตใจมันสงบนะ จิตใจมันสุขของมัน มีความสงบของมัน ฝึกหัดใช้ปัญญา ฝึกหัดเลย ฝึกหัดใช้ตรึกในชีวิตเรานี่ เกิดมาจากไหน เกิดมาทำไม เกิดมาเพื่ออะไร ตายแล้วไปไหน ในร่างกายนี้ชีวิตนี้มันดำรงอยู่อย่างไร ชีวิตนี้มันต้องการอาหารอย่างใด ความทุกข์ๆ ที่มันเกิดกับจิตนี้ เวลามันทุกข์ ถ้ามันขาดสติทำไมมันทุกข์รุนแรงขนาดนั้น ถ้าสติมันทัน มันใคร่ครวญแล้ว ความทุกข์นี้ มันปล่อยวางความทุกข์ไปได้อย่างไร ไอ้ความทุกข์ที่มันทุกข์อยู่กับจิตนี้มันทุกข์เกือบเป็นเกือบตาย เวลามันปล่อยแล้วทำไมมันไม่เห็น มันไม่มีเลย นี่ใช้ปัญญาพิจารณาอย่างนี้

ถ้ามีสมาธินะ มันพิจารณาไปแล้ว โอ้โฮปัญญามันจะแจ่มชัดมาก นี่ฝึกหัดใช้ปัญญาๆ ถ้ามันชัดเจนขึ้น มันละเอียดขึ้น เดี๋ยวมันเข้าไปเห็นเลยล่ะ เห็นที่เวลามันจะเกิด เวลาทุกข์มันจะเกิด เกิดแล้วมันก่อตัวอยู่ แล้วมันทำลายเราอยู่ นี่ยังไม่เห็นมันนะ ถ้ามันละเอียดเข้าไปเดี๋ยวมันจะไปรู้ไปเห็นน่ะ นั่นแหละ นี่ภาวนาอย่างนี้

คำว่า “จิตรวมจำเป็นหรือไม่จำเป็น” คำถามมันถามตรงนี้ไง ติดว่าจิตรวมไม่รวมเลยทำให้ภาวนาทุกข์ยากไปเรื่อย

ภาวนานะ ภาวนาอย่างเราปุถุชนภาวนาเพื่อความสุข ความสงบ ความระงับ การภาวนานี่ภาวนาเพื่อเหตุนี้ แล้วภาวนาไปแล้วถ้ามันเป็นการเป็นงานขึ้นไปอันนั้นก็เป็นสมบัติของเรา มันจะเป็นประโยชน์มากขึ้นไป นี่คำว่า “จิตรวม” จบ

ถาม : เรื่อง “ผมขอกราบเรียนถามปัญหาแนวทางการปฏิบัติจากหลวงพ่อดังนี้

ผมปฏิบัติสมาธิภาวนาก็ประมาณ ๘ ปีแล้ว แต่ยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร คือทำมาโดยตลอดมา ประกอบกับต้องทำงานและไม่มีพ่อแม่ครูบาอาจารย์คอยชี้นำ แนวทางของผมคือเอาคำบริกรรมพุทโธบ้างกับอานาปานสติคู่กันไป เพราะจริตถูกกับดูลมกับพุทโธมาก เวลาใจฟุ้งซ่านมากๆ ก็เอาพุทโธเข้าใส่ แต่ถ้าจิตเป็นสมาธิก็นั่งดูลมไปเรื่อยๆ จนครั้งหนึ่งจิตสงบมาก เกิดความสงบแบบแสงสว่างจ้ากลางอกข้างซ้าย เย็นจิตเย็นใจมากมายตลอดมา รู้ลมเป็นอัตโนมัติ รู้ความคิดความปรุงเกิดขึ้น เหมือนเรานั่งอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมนั่งดูความคิดความปรุงเกิดขึ้น แต่คือความดูเฉยๆ แต่ก็เผลอบ่อยๆ ครับ เพราะต้องเอาจิตไปดูสิ่งภายนอกเวลาทำงาน พยายามทำอย่างนี้ตลอดมาก็รู้สึกแน่นหนาในจิตใจขึ้นเรื่อยๆ ขอหลวงพ่อแนะนำเพิ่มเติมถ้าขาดหรือบกพร่องประการใด

เวลาเกิดราคะความกำหนัดใคร่ในกาม ผมรู้สึกว่าต้านทานไม่ค่อยได้ นอกจากจะลดอาหาร อดกินไปบ้าง ความรู้สึกนี้ก็ทุเลาลงไปเยอะ แต่เพราะต้องใช้กำลังกายในทางโลกมากก็ต้องกินเพื่อให้มีกำลัง กินมันก็เกิดก็เพิ่มขึ้นอีก หลวงพ่อมีวิธีการแนะนำอย่างไรบ้าง

เวลาที่ต้องเผชิญกับภาวะทางโลกที่ต้องใช้เวลาในการทำงานจนบางวันหรือหลายวันที่ไม่ได้ปฏิบัติ แต่ผมจะต้องนอนกำหนดจิตพร้อมฟังเทศน์คู่กันไปจนกว่าจะหลับไปเองเกือบทุกคืนเพื่อทรงสมาธิให้อยู่ ไม่อย่างนั้นมันจะเสื่อมหรือคลายลง เพราะเคยเกิดเหตุการณ์สมาธิคลายคือกำหนดอย่างไรก็ไม่ได้เลย แต่เพราะสังเกตอารมณ์ของใจตัวเองได้เร็ว เลยกลับมาฟื้นเข้าที่ได้โดยเร็วครับ ทำแบบนี้ถูกต้องหรือไม่

เวลาที่เราเกิดความโกรธครอบงำคืออารมณ์โกรธถึงขีดสุดกับใครสักคน เหมือนเราส่งจิตหาคนคนนั้น เหตุการณ์ต่างๆ เหมือนที่เรากำหนดอยากให้เป็นก็เกิดขึ้นจริง จะมีวิธีการควบคุมอย่างไรหรือจะพยายามระงับอย่างไร เพราะปกติผมไม่ค่อยโกรธ หรือโกรธก็เก็บอารมณ์ หรือให้สงบภายในใจจนจิตใจลงได้ดีอยู่แล้ว ขอโอกาสด้วยความเมตตาหลวงพ่อด้วยครับ

ตอบ : นี่คำถามเนาะ ๔ ข้อ ข้อที่ ๑เขาเคยทำสมาธิ พอทำสมาธิได้ พอทำสมาธิได้ จิตของเขาดี เวลานั่งสมาธิจนจิตเห็น จิตเห็นเป็นอัตโนมัติ เห็นว่าตัวเองอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมในความคิด ความปรุง ความแต่งต่างๆ

ถ้าจิตมันสงบแล้ว พอสงบแล้วฝึกหัดใช้ปัญญาของเรา ถ้าฝึกหัดใช้ปัญญาของเราแล้วย้อนกลับมา ย้อนกลับมาที่ทำความสงบ ถ้าความสงบแล้วใช้สติปัญญาของเราไป

แต่เขาบอกว่าเขามีหน้าที่การงานของเขา เขาต้องทำอาชีพของเขา

เวลาทำอาชีพ เราจะบอกว่า เวลาเราภาวนาเราก็ภาวนา เวลาทำงานเราก็ทำงาน เวลาทำงานเสร็จแล้วเราไปทำงานของเรา พอทำงานของเรา คนที่ทำงาน เขาเรียกว่าคนที่มีศีล คนที่มีศีลอยู่กับทางโลก อยู่กับทางโลก คนที่มีศีล เวลามีศีล มีสมาธิ มีปัญญาของเรา หน้าที่การงานเราก็ทำประกอบสัมมาอาชีวะ แล้วเสร็จแล้วเวลาเสร็จจากงานแล้วเรากลับบ้านของเรา เราก็ภาวนาของเรา

คนที่มีศีลมีธรรมอยู่ทางโลกมันเหมือนคนแปลกๆ เพราะคนที่ทางโลกเสร็จงานแล้วเขาต้องมีการสังสรรค์ของเขา เขาต้องมีการพบกันทางสังคม แต่ของเราเวลาเราทำหน้าที่การงานของเรา เสร็จแล้วเราจะปฏิบัติของเราไง ถ้าปฏิบัติของเรา อยู่สังคมมันต้องแบบว่าให้อยู่กับสังคมได้ ว่าอย่างนั้นเถอะ

ถ้าเราอยู่กับสังคมได้แล้ว ถ้าเราสังเกตของเรา เวลาทำงานเรามีสติไปพร้อมกับงาน แต่เวลาเราทำความสงบของใจเข้ามาใช่ไหม ใจมันสงบเข้ามานี่ เขาบอกว่าเขาเหมือนเข้าไปอยู่ในห้อง นั่งอยู่ในห้องแล้วคอยดูความคิดของตนๆ

ถ้าจิตมันดีมันก็ทำของมันได้ใช่ไหม ถ้าจิตมันมีหน้าที่การงาน มันต้องแบ่งเวลาให้ถูก เราต้องแบ่งเวลา เวลางานเราก็อยู่กับงานเลย ถ้าเราไปอยู่กับงาน เราก็มาคิดว่าจะอยู่ในห้องของเรา มันก็เหมือนทำงานสองหน้าที่ในเวลาเดียวกัน

นี่เราทำงานเราก็ทำงานของเรา แต่เวลาเราเสร็จจากงานแล้วเราก็มาดูแลจิตของเรา ถ้ามันจะเข้ามาอยู่ในห้องนั้นได้ พิจารณาได้มันก็พิจารณา ถ้าพิจารณาแล้วมันจะละเอียดขึ้นดีขึ้น ถ้าดีขึ้นนะ มันจะละเอียดมากขึ้น แล้วมันจะเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง

แต่ถ้าอยู่ในห้องๆ มันก็เหมือนอารมณ์ อารมณ์ เหมือนกับอยู่ในอารมณ์ของเรา มันก็อยู่ในห้องของเรา มันสมมุติอันหนึ่งน่ะ แต่เวลาพิจารณาไปแล้วสรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง ในห้องนั้นมันก็ต้องทำลายลง ในห้องนั้นมันก็ต้องแปรสภาพของมันไป พอแปรสภาพไปแล้วมันเหลืออะไร มันแปรสภาพจากห้องนี้ไปเป็นอะไร มันแปรสภาพจากมุมหนึ่งไปเป็นมุมหนึ่ง มันพิจารณาอย่างไร นี่แบบว่าถ้ามันจะก้าวหน้าไปนะ มันไม่ย่ำอยู่กับที่ มันจะพัฒนาของมันไป นี่ข้อที่ ๑.

ข้อที่ ๒เขาบอกว่าเวลาเขาเกิดกามราคะนะ เขาจะกำจัดได้ด้วยการผ่อนอาหาร ทีนี้การผ่อนอาหาร เขาต้องทำงานหน้าที่ทางโลก มันก็ต้องกินอาหาร พอกินอาหารมันก็มีอารมณ์อย่างนั้นอีก

ถ้ามีอารมณ์อย่างนั้นอีก เรามีสติ เราฝึกหัดของเรา มันแบบว่า ราคจริต โทสจริต โมหจริต ถ้าจริตของใครเป็นอย่างไรมันก็จริตเป็นอย่างนั้น ถ้าจริตเป็นอย่างนั้น เรามีสติปัญญาของเราพร้อมของเรา พิจารณาของเราเลย สรรพสิ่งในโลกนี้มันเป็นญาติกันโดยธรรม คนนั้นเป็นญาติ เป็นพ่อเป็นแม่ เป็นพี่เป็นน้อง เป็นญาติกัน แล้วเราอย่าคิดไปเรื่องอื่นไกลกว่านั้น แล้วเราทำงานของเราไป ถ้าเราจะถือพรหมจรรย์ของเรา

แต่ถ้าเราไปทางโลก นั่นส่วนทางโลก มีสติปัญญาดูแลรักษาของเราไป เรื่องอดอาหาร เรื่องผ่อนอาหารมันเป็นวิธีการ เป็นวิธีการ เป็นเครื่องมือที่เราจะต่อสู้กับกิเลสของเรา ไอ้นี่มันเป็นวิธีการนะ แล้วถ้าเป็นพระมันจะต่อสู้ได้มากกว่านี้ นี่เราเป็นฆราวาส เราเป็นฆราวาสเราก็รู้วิธีการ เราก็เอามาใช้ประโยชน์กับเรา นี่ข้อที่ ๒.

ข้อที่ ๓เวลาเราต้องอยู่กับทางโลก เขาบอกว่าเขาต้องทำงานกับทางโลก แล้วเวลาเขาทำงานหลายๆ วันแล้วจิตมันเสื่อม เวลาจิตมันเสื่อม เวลาทำงานแล้วเราก็วิตกกังวลว่าจิตมันจะคลายออกไป เราจะรักษาจิตของเราอย่างไร

ถ้ารักษาจิตของเราอย่างไร คนที่มันเป็น คนว่ายน้ำเป็นลงน้ำก็ว่ายน้ำเลย ขึ้นจากน้ำเขาไม่ต้องว่ายน้ำเพราะเขาอยู่บนบก นี่ก็เหมือนกัน ถ้าคนที่ฝึกหัดจนชำนาญเขามีสติของเขา จิตมันจะเสื่อมมันบอกเลย มันเริ่มร้อนนะ เริ่มร้อน เริ่มอยู่ไม่ได้ ถ้าอยู่ไม่ได้ โอ้โฮจิตเราไม่ดีแล้ว เราก็ต้องเริ่มหลีกเร้นของเรา

แต่ถ้ามันอยู่ของมันได้ มันเหมือนคนว่ายน้ำเป็น คนขี่จักรยานเป็นจับจักรยานเขาขี่ไปเลย คนเล่นกีฬาเป็นเขาก็เล่นอันนั้น นี่เหมือนกัน ถ้าภาวนาเป็น ภาวนาเป็น เวลาจิตของเราถ้ามันมีสิ่งใด สิ่งใดที่มันกระทบกระเทือน เราหลบหลีก ถ้ามันอยู่ของมันได้ เราก็ทรงตัวของเรา มันเป็นน่ะ คือคนเป็น คนว่ายน้ำเป็นลงน้ำก็ว่ายน้ำได้ คนขี่จักรยานได้เวลาขึ้นจักรยานก็ขี่ไปได้ ถ้าคนไม่ได้มันก็ต้องจูงจักรยานมันไป

นี่ก็เหมือนกัน รักษาจิตของเราให้ได้ เรารักษาจิตของเรา ฝึกหัด ฝึกหัดพอมันเป็นขึ้นมา เวลาอยู่กับงานอย่างที่ว่าทำงานอย่างเดียว เวลาอยู่กับงานก็อยู่กับงาน ทำงานเสร็จแล้วก็จบ มีสติอยู่กับปัจจุบัน ดูแลรักษาใจของเรา รักษาใจของเรา

เพราะเราต้องอยู่กับโลก คนเราเกิดมานะ มีหน้าที่การงาน หน้าที่การงานนั้นมันเป็นเครื่องแสดงออกถึงคนรับผิดชอบมากหรือรับผิดชอบน้อย เรารับผิดชอบหน้าที่การงานของเรา เรารับผิดชอบหัวใจของเรา เรารับผิดชอบชีวิตของเรา เราดูแลชีวิตของเราอย่างนี้ นี่ข้อที่ ๓.

ข้อ ๔เขาบอกว่าเวลาที่จิตเขาดีไง เวลาจิตเขาดีแล้วเขาคิดสิ่งใด เราพิจารณาสิ่งใดแล้วมันจะเกิดจริงอย่างนั้น

ถ้าเกิดจริงอย่างนั้น ถ้าเกิดจริงอย่างนั้นแสดงว่าเราเข้าใจว่าจิตของเรามันกำหนดได้ ถ้าจิตกำหนดได้ เราไม่ควรทำอะไรทั้งสิ้น กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กันนะ มีการกระทำ แต่เราอภัยไง เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร การกระทบกระทั่งกันมันกระทบกระทั่งกันโดยความผิดพลาดก็ได้ กระทบกระทั่งกันโดยที่ไม่มีเจตนาก็ได้

ฉะนั้น ถ้าเรามีสติปัญญาแล้ว อโหสิกรรมให้เขาทั้งหมด แล้วเราไม่คิดอย่างนั้น ระงับจิตใจของเราไง เราระงับจิตใจของเราเพื่อความดีงามในใจของเรา เราสร้างบุญกุศลเพื่อใจของเรา เราไม่ทำอย่างนั้น

นี่พูดถึงว่าเวลาเขากำหนดนะ คิดสิ่งใดแล้วมันจะเกิดขึ้นจริงตามนั้น นี่ตามที่เขาว่า ถ้ามันเกิดขึ้นตามนั้น เราก็ไม่สร้างเวรสร้างกรรมของเรา แล้วเราก็ไม่เป็นเหยื่อของใครทั้งสิ้นด้วย นี่พูดถึงในการปฏิบัตินะ

ถาม : เรื่อง “รายงานการปฏิบัติช่วงอธิษฐานพรรษา

กราบพ่อแม่ครูจารย์ หนูอธิษฐานพรรษาไว้ว่า ถ้ามีเวลาหรือรู้สึกตัวจะนั่งสมาธิทันทีเท่าที่จะทำได้ไม่ว่ากลางวันหรือกลางคืน ไม่ได้อธิษฐานเข้มข้นเหมือนครั้งที่ผ่านมาว่านั่งตลอดรุ่งทุกวันพระ ผลของการนั่งสมาธินั่งได้สงบพอสมควร ไม่ลึก ไม่เคยได้ลึกเหมือนแต่ก่อน แต่มีความสงบ พิจารณาได้บ้างสลับกับมีสมาธิ และสลับกับจิตส่งออกตลอดเวลา มั่วกันอยู่อย่างนี้เจ้าค่ะ แต่ผลทางจิตรู้สึกว่าตนเองตัวเล็กลง ไม่มีความภูมิใจเหมือนแต่ก่อนว่าตนใช้ได้เหมือนกัน

ตอนนี้รู้สึกว่าภูมิธรรมไก่กามากและไม่อยากถามอะไรหลวงพ่อเลย เพราะรู้ตัวว่าจะถามอะไรได้ ตัวเองก็ยังหัดเขียน ก.ไก่อยู่เลย ยังไม่มีวาระติดอะไรทั้งสิ้นแหละ เพราะไม่ไปถึงไหนเลย มันรู้ตัวเอง

เมื่อหนูเผชิญสิ่งใดในทางโลก จากผลการปฏิบัติดีหน่อยที่ทำให้จิตชะงักได้เร็วขึ้น สติทันมากขึ้น ไม่ไล่ตามอารมณ์ และพิจารณาเนื้อเรื่องทางโลกได้ชัดขึ้น และปล่อยความคิดทางโลก ละวางได้ง่ายขึ้น ไม่ค่อยทุกข์ร้อนกับทางโลกเท่าใด แต่ทางธรรมอ่อนใจ คงต้องพยายามต่อไป จึงเรียนมาเพื่อขอคำแนะนำสั่งสอนข้อคิดจากพ่อแม่ครูจารย์และอยากเขียนหาครูบาอาจารย์เท่านั้น

ตอบ : นี่คำถามเนาะ อ่านตั้งนาน งงใหญ่เลย เวลาคำถามถามมาอย่างนี้ ถ้าคำถามถามมาอย่างนี้ เพราะว่าถามมาถึงการประพฤติปฏิบัติ ฉะนั้น เวลาถามมาถึงการประพฤติปฏิบัติ ถามมาถึง เขียนมาเป็นวิสาสะ เขียนมาเป็นวิสาสะว่า ทางโลก เวลาปฏิบัติทางโลกมันก็มีผลการปฏิบัติทางโลก แต่ถ้ามันปฏิบัติทางธรรม ทางธรรมก็ต้องเข้มข้น

คำว่า “ทางธรรม” เห็นไหม มีโลกกับธรรมๆ เวลาประพฤติปฏิบัติไป โลกียปัญญา ปัญญาทางโลก ถ้าปัญญาทางโลก คนที่มีวุฒิภาวะระดับนั้นก็คิดว่าการประพฤติปฏิบัติแนวทางสติปัฏฐาน ๔ อย่างไรก็แนวทางสติปัฏฐาน ๔ พยายามจะให้เข้าใกล้ชิดองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามากที่สุด แต่ทำแล้วมันจะมีผลไม่มีผลมันเป็นสังคมที่เขารับรู้กันอย่างนั้น

แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ของเรา ถ้าปฏิบัติ เกิดมาจากโลก อยู่กับโลก ศึกษาก็ศึกษาด้วยโลกนี่แหละ ศึกษาก็ด้วยสมมุติเรานี่แหละ แต่ศึกษาแล้วเรามีครูบาอาจารย์ประพฤติปฏิบัติแล้ว

ด้วยวุฒิภาวะที่สร้างสมมา เห็นไหม เวลาหลวงปู่มั่นท่านปฏิบัติ เวลาพิจารณากายไปแล้วออกมาก็เหมือนเดิมๆ มันไม่พัฒนาขึ้นเลย ทำไมถึงไม่พัฒนาขึ้นล่ะ ก็ปฏิบัติแบบโลกๆ ไง แล้วท่านแสวงหาของท่าน ท่านถึงพิจารณาของท่าน อ๋อเราเคยอธิษฐานเป็นพระโพธิสัตว์ไว้ ท่านถึงได้ลาความเป็นพระโพธิสัตว์ของท่าน พอลาความเป็นพระโพธิสัตว์ของท่าน เวลาท่านมาปฏิบัติพิจารณาเหมือนเดิมนั่นแหละ พิจารณากายเหมือนกัน แต่เวลาพิจารณาไปแล้วมันถอดมันถอนนะ

นี่ไง พิจารณาแบบโลกๆ พิจารณาแบบพระโพธิสัตว์ พิจารณาแล้วสร้างสมบุญญาธิการมา พิจารณาแล้วทำคุณงามความดีสร้างสมให้จิตใจนี้มันมีกำลังมากขึ้น มันมีโอกาสมากขึ้น แต่เวลาพิจารณาทางธรรมๆ ทางธรรมมันถอดถอน มันถอดถอน มันละ มันละความหมักหมมในใจของตนเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป เห็นไหม

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าปฏิบัติ ที่เขาปฏิบัติแบบโลกๆ ปฏิบัตินั้นก็เพื่อประโยชน์ของเขา แล้วถ้ามีวุฒิภาวะแค่นั้น การปฏิบัติอย่างนั้นปฏิบัติเพื่อมีคุณธรรมในใจ

แต่เวลาครูบาอาจารย์ของเราท่านปฏิบัติจริงๆ นะ ถ้าจะมีคุณธรรมในหัวใจมันต้องเข้าสู่โสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค เข้าสู่มรรคสู่ผลไง ถ้าไม่เข้าสู่มรรคสู่ผล พระโพธิสัตว์ๆ ก็ปฏิบัติด้วยฌานโลกีย์ คำว่าฌานโลกีย์” สร้างสมบุญญาธิการ รู้วาระต่างๆ รู้ต่างๆ ก็รู้ด้วยกำลังของจิตทั้งนั้นน่ะ รู้ด้วยกำลังของจิต

นี่ก็เหมือนกัน เวลาที่เราจะปฏิบัติ เวลาเราปฏิบัติของเรา เราปฏิบัติของเรา เพราะถ้าวุฒิภาวะนะ จิตสงบรับรู้สิ่งต่างๆ โอ้โฮมันมหัศจรรย์มาก สิ่งที่มหัศจรรย์นั้นก็มหัศจรรย์แบบโลกๆ นั่นน่ะ

อันนั้นเราจะบอกว่า เวลาเราเกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมา เห็นไหม เวลาอริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทุกข์คืออะไร ทุกข์คือ ชาติปิ ทุกฺขา ทุกข์คือการเกิดมีภพมีชาติ ที่ไหนมีการเกิด ที่นั่นมีตัวตน ที่นั่นมีความทุกข์ ที่นั่นมีความทุกข์ ฉะนั้น ชีวิตของเรามันเป็นสัจจะเป็นความจริง มันก็มีทุกข์เป็นอริยสัจ ทุกข์เป็นความจริงอยู่แล้ว

ฉะนั้น เราเกิดมาเป็นมนุษย์เกิดมาพบพระพุทธศาสนา เราประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อคลายทุกข์ไง เพื่อบรรเทาๆ ถ้าบรรเทาทุกข์ นี่ธรรมโอสถๆ ปฏิบัติทางโลกก็ปฏิบัติเพื่อคลายทุกข์ๆ ที่เราปฏิบัติกันน่ะ

บอกว่าเราปฏิบัติแล้วจะไม่ได้อะไรเลย ปฏิบัติแล้วมันจะไม่มีสิ่งใดเป็นผลงานของเราเลย

มันก็เป็น ลองไม่มีสติ ไม่มีการประพฤติปฏิบัติ ไม่มีธรรมโอสถคอยชโลมหัวใจอยู่บ้าง มันจะร้อนกว่านี้อีกกี่เท่า มันจะร้อนกว่านี้ไหม มันจะไม่มีทางออกเลย มันจะทุกข์หัวใจ ทุกข์ตรอมตรมในหัวใจเลย แต่เรามาปฏิบัติบ้างมันมีธรรมโอสถช่วยบรรเทาๆ ไง ถ้าปฏิบัติทางโลกมันก็ได้ผลอย่างนี้ไง ได้ผลว่าเราได้บรรเทาทุกข์

เขาบอกมันจะไม่ได้อะไรเลย มันก็ได้บรรเทาทุกข์ไง มันได้บรรเทาทุกข์ มันมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง พุทธมามกะ เรามีรัตนตรัย มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง เห็นไหม เวลามันทุกข์มันร้อนขึ้นมาเราก็หลบหลีกมา หลบหลีกมาให้มีธรรมะ กางร่ม กางร่มเพื่อความดับร้อนของเรา นี่ปฏิบัติทางโลก

แต่ถ้าปฏิบัติจะเข้าสู่ทางธรรมเลย ทางธรรมจะเอาจริงเอาจังขึ้นมาก็ต้องมีสมาธิ จะเข้าสมาธิ เวลามันเป็นปัญญาขึ้นมามันจะเป็นโลกุตตรปัญญา ถ้าเป็นโลกุตตรปัญญามันก็เป็นความจริงความจังของเราไง ถ้าเป็นความจริงความจังของเรา เราก็อยู่ที่ว่าเราจะวินิจฉัย วินิจฉัยว่าเราจะเอาทางไหน

ถ้าเราเกิดมาเราอยู่กับโลก เราก็มีธรรมะบรรเทา เพราะเราเกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นมนุษย์เกิดมาพบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาสอนเรื่องการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย และไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย เราเกิดมาพบธรรมโอสถ เราเกิดมาพบพระพุทธเจ้า ธรรมวินัยเป็นศาสดาของเรา มันก็เป็นโอกาส เป็นความชอบธรรมของเราไง ถ้าทำทางโลกได้ก็ทำ ทีนี้พูดถึงว่าเขาปฏิบัติทางโลก

แล้วเวลาปฏิบัติทางธรรมก็ย้อนกลับมาว่า ถ้าจิตมันดีขึ้น มันทำจิตให้มันชะงักได้เร็วขึ้น สติมันทันมากขึ้น ไม่ตามอารมณ์จนเกินไป พิจารณาเรื่องนี้แล้วทางโลกแล้วได้ชัดขึ้น ปล่อยวางความคิดทางโลกเร็วขึ้น วางอารมณ์ได้ง่ายขึ้น แต่ในทางธรรม แต่ในทางธรรมอ่อนใจ อ่อนใจว่าต้องพยายามต่อไป จึงเรียนมาเพื่อขอคำแนะนำ

ถ้าเป็นทางธรรมๆ ถ้าเป็นทางธรรมเราก็ขวนขวายของเรา เราเกิดมาในชาตินี้แล้วด้วยต้นทุนของเรา ด้วยต้นทุนของชีวิตนี้ไง ด้วยต้นทุนของเรา เกิดมามีต้นทุนอยู่แล้ว มีชีวิตของเรา ถ้าเราจะจริงจังปฏิบัติเราก็ปฏิบัติของเราเลย ถ้าไม่จริงจังปฏิบัติ เวลาบอกว่ารอไปอนาคต อนาคตตายไปแล้วไปเกิดเป็นอะไรก็ไม่รู้ แล้วถ้าเกิดแล้วเกิดอยู่ในวัฒนธรรมไหนก็ไม่รู้ ถ้าเกิดในวัฒนธรรมไหนก็มีความเชื่ออย่างนั้น

นี่ไง เราเกิดมา เกิดมาเกิดในประเทศอันสมควร มีพ่อมีแม่ พ่อแม่เป็นชาวพุทธ พ่อแม่ก็พาลูกเข้าวัด ถ้าเราไปเกิดในประเทศไม่สมควร ถ้าเกิดพ่อแม่ชนชาติใดล่ะ เขามีความเชื่ออย่างใดเราก็ต้องไปตามนั้น ถ้าเรามีความเห็นของเรา เราก็ต้องฝืนของเรา มันก็ลำบากมากขึ้น แล้วถ้าเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เกิดในตม เกิดในอะไรนั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง นี่พูดถึงว่าอนาคต ถ้ายังหวังพึ่งอนาคต แต่ถ้าเราต้นทุนเหมือนกัน มีชีวิตเหมือนกัน ถ้าเราปฏิบัติเดี๋ยวนี้เราก็เอาจริงเอาจังของเรา ถ้าเราทำได้ก็เป็นประโยชน์กับเรา ถ้าประโยชน์กับเราในทางธรรม

เรียนมาเพื่อขอคำสั่งสอนไง

คำสั่งสอนก็เตือนสติเท่านั้นแหละ เตือนสติในปัจจุบันนี้ ดูสิ เวลานี่กลืนกินชีวิตสัตว์โลกทั้งหมด ทุกคนเดินไปข้างหน้าแล้วมันจะพิจารณาของมันเอง มันจะเอาจริงเอาจังแค่ไหน ถ้ามันจะเอาจริงเอาจังได้มันก็เป็นต้นทุนของเรา แล้วทำได้ก็แค่นั้น นี่เราเกิดมา เกิดมานี่ผลของวัฏฏะ เกิดมาชีวิตหนึ่ง เกิดมาชีวิตหนึ่งถ้ามีสติปัญญามากน้อยแค่ไหน ทำได้มากน้อยแค่ไหน

คำถามถามมาเท่านี้ ถามมาไง ถามมาว่า เคยปฏิบัติแล้วว่าตัวเองมีมุมมองที่ดี แล้วตอนนี้ปฏิบัติแล้วในพรรษานี้ แล้วในปีนี้

นี่เราตอบของเรา เราตอบของเรา เราตอบของเราว่าธรรมโอสถ เวลาหลวงตาท่านพูดถึงเหมือนห้างสรรพสินค้า มันมีตั้งแต่แก้ไขอวิชชา กามราคะ ความอุปาทาน แก้ไขสักกายทิฏฐิ แล้วก็แก้ไขความทุกข์ทางโลก เห็นไหม มันมีธรรมโอสถอยู่เต็มไปหมดเลย เราจะหยิบฉวยอะไร เราจะใช้ธรรมโอสถนั้นบำบัดโรคภัยไข้เจ็บในจิตใจของเรามากน้อยแค่ไหนมันอยู่ที่สติปัญญาของเรา มันอยู่ที่อำนาจวาสนาของเรา นี่ธรรมโอสถ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหมือนห้างสรรพสินค้า แล้วใครเข้ามาในห้างสรรพสินค้านั้นจะได้มรรคได้ผลมากน้อยแค่ไหน

ชีวิตหนึ่งของเราเหมือนกัน เราเกิดมาแล้วเราจะเอาจริงเอาจังของเรา เราจะประพฤติปฏิบัติของเราได้มากได้น้อยแค่ไหนอยู่ที่อำนาจวาสนาของบุคคลคนนั้น เอวัง