ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

พระเกี่ยวข้าว

๔ ธ.ค. ๒๕๕๙

พระเกี่ยวข้าว

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๕๙

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

ถาม : เรื่อง “พระเกี่ยวข้าว

หลวงพ่อ : เขาถามเลยนะ พระเกี่ยวข้าว ดูทีวีแล้วไม่มีอะไร ดูข่าว ดูข่าวเสร็จแล้วเขียนมาถาม

ถาม : กราบนมัสการหลวงพ่อครับ ผมเคยบวชและสนใจในพระวินัยครับ เพราะเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงห้าม ผมฟังธรรมหลวงพ่อซึ่งวินิจฉัยพระวินัยได้แจ่มแจ้งและเป็นประโยชน์มากครับ วันนี้ดูโทรทัศน์แล้วกระทบใจ จึงมีเรื่องถามหลวงพ่อ

มีรายงานข่าวในโทรทัศน์ พระช่วยชาวนาเกี่ยวข้าว ทราบว่าเป็นความตั้งใจดี แต่เรื่องนี้มีข้อยกเว้นในวินัยไหมครับ

พระโพสต์ธรรมะทางโซเชียล ทราบว่าเป็นความตั้งใจดีเหมือนกัน แต่มีคนเตือนว่าแหล่งที่มาผิด ผู้โพสต์ก็ว่าเน้นเนื้อหาใจความที่เป็นประโยชน์เป็นสำคัญ ผมไม่แน่ใจว่ากระทบพระวินัยหรือไม่ แต่ใจมันค้านน่าดูเลยครับ

ผมเคารพพุทโธสุดหัวใจ แต่เสียนิสัยเรื่องเพ่งโทษผู้อื่น ขอหลวงพ่อให้อุบายพิจารณาแก้ไขด้วยครับ

ตอบ : เรื่องเพ่งโทษผู้อื่นเนาะ นี่พูดถึงว่า ๓ ข้อ นี้พอ ๓ ข้อขึ้นมาแล้วมันเป็นเรื่อง เห็นไหม ถ้าเราเป็นผู้มีศรัทธาความเชื่อแล้วอยากจะค้นคว้าอยากจะหาทางประพฤติปฏิบัติ มันจะหาครูบาอาจารย์นะ เวลาหาครูบาอาจารย์ขึ้นมานี่เราก็แสวงหา

เวลาพูดถึงคำถาม พูดถึงประสบการณ์ของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เราจะย้อนมาที่ตัวเรา ตัวเราก็เหมือนกัน ก่อนที่จะบวชนะ โอ้โฮมันแสวงหานะ ไปทั่ว ไปหาครูบาอาจารย์ แล้วไปนะ ไปประสาเรา ตอนนั้นเราก็เหมือนโยม เราก็เป็นโยม เป็นโยมขึ้นมา มันก็เป็นความรู้ของทางโลก มันจะไปรู้เรื่องธรรมวินัย รู้ความละเอียดลึกซึ้ง รู้ความซับซ้อนของสังคมพระ มันรู้ไปไม่ได้หรอก

แต่มันอยากบวชมาก อยากจะพ้นจากทุกข์ เพราะตอนนั้นมีปัญหา มีปัญหาคืออยากจะบวช แต่บวชแล้วเราจะบวชทางไหน เพราะเราเคยบวชมหานิกายมาแล้ว วัดเฉลิมอาสน์ เคยบวชมาหนึ่งพรรษา หนึ่งพรรษาขึ้นมา เราอยู่วัดเฉลิมอาสน์ บวชที่วัดเฉลิมอาสน์นี่แหละ แล้วไปอยู่ทางอยุธยา อยู่กับฝ่ายมหานิกาย เขาก็บอกว่าธรรมยุตส่วนน้อย เขาก็พูดของเขาร้อยแปด เราฟังแล้วมันก็เคลิ้มนะ ใช่

แต่พอมันจะมาบวชใหม่ เราก็แสวงหาครูบาอาจารย์ พอแสวงหาครูบาอาจารย์ปั๊บ ถึงเวลา เราเคยไปทางอุทัยฯ เขาก็บอกว่า อู้ฮูโยมที่มานั่งอยู่นี่มีอำนาจวาสนาบารมีทั้งนั้น จะสิ้นกิเลสไปทั้งนั้นน่ะ แหมมันก็ภูมิใจนะ ใจนี้พองหมดเลย แต่พอพูดไปบอกว่า ถ้าบวชแล้วต้องบิณฑบาตกับเทวดาอย่างนี้ โอ้โฮอย่างนั้นถ้าเราบวชแล้วอดตายแน่ๆ เลย เพราะเรารู้ว่าเทวดาไม่ใส่บาตรเราแน่ๆ เพราะเราไม่มีคุณงามความดีอะไรถึงขนาดนั้น

แล้วพอมาศึกษาๆ มาอ่านประวัติหลวงปู่มั่นนี่แหละ มาศึกษาประวัติหลวงปู่มั่น เพราะตอนนั้นมันออกวิทยุทางศูนย์หนึ่ง พอมาฟังทางนี้ เอออย่างนี้เราทำได้ อย่างนี้เราทำได้ อย่างนี้เราทำได้ ถ้าอย่างนี้ทำได้ เพราะประวัติท่านเป็นพระใช่ไหม ท่านก็ธุดงค์ไปตามประสาชาวบ้านใช่ไหม ก็บิณฑบาตกับคนทุกข์คนจน บิณฑบาตกับในชายป่า อย่างนี้ทำได้ แต่ถ้าบิณฑบาตกับเทวดาคงอดตาย

ก็เลยพยายามคิดแสวงหาแล้วก็มาบวชทางนี้ เพราะเวลาเราจะบวช เราคิดว่าเราบวชแล้วเราอยากมีครูมีอาจารย์ เราอยากมีคนชี้นำ เพราะเราเองเราไม่สามารถจะเอาตัวเองรอดได้ เราต้องอาศัยผู้นำที่ดี เราก็เลยมาบวชทางนี้

ทีนี้ย้อนกลับไปไง ย้อนกลับไป ทางโลกก็เหมือนกัน คำถามนี้ ในปัจจุบันนี้มันก็เหมือนก่อนที่เราจะบวช เราจะบวชเราก็เป็นฆราวาสนี่แหละ มันก็สัพเพเหระ วุฒิภาวะมันเท่าๆ กัน ความเห็นมันเหมือนๆ กัน ความเห็นมันหลากหลาย หลากหลายโดยที่ไม่มีจุดยืน ไม่มีสิ่งใดเป็นหลักเกณฑ์ไง มันก็เชื่อ เห็นภาพก็คิดว่าทำได้ ทำได้เพราะอะไร ทำได้เพราะมันอยู่ในสังคมไทย สังคมไทยมันมีกฎหมายไทย พอกฎหมายไทย มันทำไม่ผิดกฎหมายมันถึงอยู่รอดมาได้ ก็คิดว่ามันถูกต้องดีงามไปหมดไง แต่ความจริงพอบวชไปแล้วมาศึกษาแล้วมันไม่ใช่เลย มันไม่ใช่เลย

กรณีอย่างนี้เราถึงย้อนนะ สาธุ ไม่ได้ยกตีตัวเสมอท่าน คิดถึงพระจอมเกล้าฯ พระจอมเกล้าฯ เวลาท่านบวชแล้วท่านศึกษาธรรมวินัยแล้วท่านอยากประพฤติปฏิบัติ มันก็เป็นอย่างนี้ มันเห็นสภาพพระทั่วๆ ไปไง แล้วทำกันอย่างนี้ แล้วในพระไตรปิฎกมันก็ไม่เหมือนกันไง

แล้วพระจอมเกล้าฯ ท่านปฏิบัติแล้วท่านก็ธุดงค์ด้วยนะ ตอนที่ท่านเป็นพระอยู่ท่านออกธุดงค์ ท่านออกค้นคว้า เพราะท่านก็อยากจะสิ้นทุกข์เหมือนกัน ท่านค้นคว้าของท่านแต่ท่านยังไม่มีครูบาอาจารย์ไง ท่านค้นคว้าจากตำรับตำราไง แล้วคิดดูสิว่าค้นคว้าจากตำรับตำราแล้วใช้สมองมนุษย์นี่วินิจฉัย

เราค้นคว้าจากตำรับตำรา ธรรมวินัยเป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดา เป็นพระอรหันต์ เป็นธรรมที่ลึกซึ้งที่เราจะรู้ได้ยาก แล้วมันไม่มีใครบอก เพราะสมัยที่ท่านบวชก็ท่านเห็นสังคมเป็นอย่างนั้นน่ะ แล้วท่านก็ใช้สมองใช้ปัญญาของท่านค้นคว้าเข้าไปในตำรับตำราไง ท่านถึงได้บวชซ้ำๆ เขาบอกว่าบวชสามหนกลางแม่น้ำเจ้าพระยาน่ะ เพราะเวลาพิธีกรรมบวชมันถูกมันผิดอย่างไรก็พยายามจะทำ เพราะท่านไม่มีครูบาอาจารย์คอยชี้นำไง

เราคิดถึงหัวอกอันนั้นนะ หัวอกของมนุษย์ หัวอกของคนที่อยากจะประพฤติปฏิบัติ หัวอกของคนที่จะหาช่องทางไป มันก็เป็นอย่างนั้นน่ะ เราถึงคิดถึงหัวอกเราสิ หัวอกที่มันทุกข์มันยาก หัวอกที่มันอยากจะพ้นจากทุกข์ แล้วมันจะหาช่องทางไปน่ะ แล้วมันหลากหลาย มันสะเปะสะปะไปหมดเลย แล้วเราจะทำอย่างไร เราจะทำอย่างไร

นี่หัวอกนะ เวลาเรามาคิดถึงตอนที่เราจะบวชน่ะ แล้วเรามาบวชแล้วตอนนั้นก็ยังไม่มีความคิดแบบที่พูดอยู่ทุกวันนี้หรอก มันก็มีความคิดแบบโลกๆ นั่นน่ะ แต่ที่พูดอยู่ทุกวันนี้เพราะมันบวชแล้ว มันปฏิบัติแล้ว แล้วถึงเอาสิ่งนี้มาเทียบเคียงกัน ถึงได้พูดแบบนี้ไง

พูดถึงคำว่า “หัวอก” หัวอกของคนที่ไม่รู้ หัวอกคนที่ไม่เข้าใจมันสะเปะสะปะแค่ไหน แล้วตัวเองก็ต้องเอาตัวเองรอดให้ได้ แล้วตัวเองก็ไม่มีใครคอยบอก หัวอกๆ มันมืดแปดด้านนะ หัวอกของคนปฏิบัติมันจะคิดอย่างนี้

ดูสิ เวลาหลวงตาท่านศึกษาจนเป็นมหา ท่านก็บอกว่าท่านตั้งสัจจะว่าเป็นมหาแล้วจะออกปฏิบัติ เวลาจะออกปฏิบัตินะ ท่านศึกษาจนเป็นมหาแล้วนะ ไอ้เรานี่ตอนออกบวชเรายังไม่มีการศึกษาในทางธรรมะ ธรรมวินัยไม่รู้เรื่องเลย

แต่นี่เวลาหลวงตาท่านเป็นมหา มหามั่นใจแล้ว แล้วตั้งสัจจะไว้แล้วว่าจะออกปฏิบัติ เวลาจะไปปฏิบัติขึ้นมากลับสงสัยว่ามันจริงหรือเปล่า ถึงตั้งสัจจะว่า ถ้าจะออก ถ้านั่งสมาธิในคืนนี้ ถ้ามันมีสิ่งใดก็ให้บอกนิมิต ถ้าไม่มีนิมิต ให้ฝันก็ได้

เวลานั่งไม่ได้อะไร แต่เวลาพักผ่อนแล้วไปนอนคืนนั้นฝัน ฝันว่าท่านเหาะลอยขึ้นไปบนเมืองหลวงสามรอบสี่รอบ เออมันก็มีเหตุไว้ให้ได้ ฉะนั้น เวลาจะไปแล้วก็ต้องหาครูบาอาจารย์ที่ดี ท่านถึงพุ่งเป้าไปหาหลวงปู่มั่นไง นี่พอบอกพุ่งเป้าไปหาหลวงปู่มั่น หมายความว่า มีครูมีอาจารย์ มีคนคอยบอก ฉะนั้น ศึกษามาแล้วมันต้องมีคนคอยบอกนะ ทีนี้ถ้าไม่มีคนบอกมันก็สะเปะสะปะใช่ไหม นี่พูดถึงว่าคนตั้งใจ คนตั้งใจ เห็นไหม

ในป่ามีไม้เบญจพรรณ มีไม้แก่น มีไม้เนื้อแข็ง มีไม้ที่ดีๆ ไม่กี่ต้นน่ะ นอกนั้นเป็นไม้เบญจพรรณ ไม้ทั่วๆ ไป ในต้นไม้มีแก่น มีกระพี้ มีเปลือก ในแก่นของศาสนา ในความเป็นจริงของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ของเราท่านเป็นแก่น เป็นแก่นคือท่านรู้จริง ท่านรู้จริง นั่นน่ะสิ่งที่เป็นประโยชน์แท้ไง แต่ในป่ามันชุมชน ในป่า ไม้เบญจพรรณ ไม้ต่างๆ มันมากมายไป

ในสังคมของคน ในสังคมของคนมันก็มีความเห็นแตกต่างกันไป แล้วจุดยืน ถ้าเป็นไม้แก่น เป็นแก่น หมายความว่า คนที่มีอำนาจวาสนา มีจุดยืน มีสติมีปัญญาจะพิจารณาแยกแยะถูกผิด แต่ถ้ามันเป็นพวกกระพี้ พวกกระพี้ก็มีความคิดไม่มั่นคง แล้วเป็นเปลือกแล้วเป็นกระพี้ยิ่งเหลวไหลเลย พอเหลวไหลไปแล้วมันก็เลยสังคมก็เป็นแบบนี้ สังคมเป็นแบบนี้เพราะอะไร

เพราะมันเป็นส่วนใหญ่ไง ปลาต้องอยู่กับน้ำ พระต้องอยู่กับประชาชน ถ้าพระอยู่กับประชาชน ประชาชนคิดอย่างไร ประชาชนมีความรู้ความเห็นเป็นอย่างไร พระต้องปรับตัวเข้ากับประชาชน นี่พูดถึงความเห็นของเขานะ

แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ของเรา ไม่ ครูบาอาจารย์ของเราพยายามประพฤติปฏิบัติเอาตัวรอด ครูบาอาจารย์ของเราดึงประชาชน เอาประชาชนยกประชาชนขึ้น

แต่ถ้าพูดถึงคนที่ไม่มีหลักมีเกณฑ์อาศัยประชาชนดึงต่ำลงไป ดึงไป เพราะปลาอาศัยน้ำก็ห่วงว่าเขาจะไม่ศรัทธา เขาจะไม่เคารพ เขาจะไม่รัก ก็ว่าตามคนนั้นไป เชื่อเขาไป ตามเขาไป ให้สังคมให้ประชาชนเขามาชี้นำ

แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ของเรา ท่านเป็นปลาแต่ปลาใหญ่ ปลาอยู่น้ำลึก ท่านไม่สนใจไอ้น้ำตื้นๆ นั่นหรอก ท่านอยู่น้ำลึกนั่น นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเป็นครูบาอาจารย์นะ นี่พูดถึงว่า โดยหัวอกก่อน มันเป็นคำถามไง เพราะคำถามถามอย่างนี้ เราถึงเป็นหัวอกที่ว่ามองเห็นไง ที่มองเห็นนี่ก็ย้อนกลับไป เห็นไหม

คำถามเขาบอกเขาเคารพธรรมวินัยมาก แล้วเวลาเขาดูข่าวดูในทีวีเห็นพระช่วยชาวนาเกี่ยวข้าว ทราบว่าเป็นความตั้งใจดี แต่เรื่องนี้มีข้อยกเว้นในวินัยหรือไม่

นี่ทราบว่าเป็นความตั้งใจดี ใช่ เป็นความตั้งใจดี เพราะพระ เวลาพระต้องบิณฑบาตก็บิณฑบาตจากประชาชน แล้วเวลาประชาชนทุกข์ยาก พระควรจะคิดอย่างไร ทีนี้ย้อนกลับมานะ นี่กรณีหนึ่ง

อีกกรณีหนึ่งกรณีของหลวงตา หลวงตา เวลาประเทศชาติทุกข์ยาก ประเทศชาติมีปัญหา ท่านก็ออกมาช่วยประชาชนเหมือนกัน เวลาการออกมาช่วยประชาชน ท่านออกมาช่วยประชาชน เขาบอกไม่ใช่กิจของสงฆ์ๆ ท่านถึงบอกว่าพระก็ลูกชาวบ้าน ถ้าพระก็ลูกชาวบ้าน เวลาชาวบ้านเขาเดือดร้อน พระจะช่วยชาวบ้านได้ไหม พระมันก็ควรช่วยชาวบ้านได้ อันนี้เป็นความช่วยชาวบ้านที่ว่าท่านช่วยชาวบ้านโดยที่ท่านพยายามไม่ให้ท่านผิดธรรมวินัย

แต่ไอ้เรื่องพระเกี่ยวข้าว ตั้งใจช่วยชาวบ้าน ใช่ ความตั้งใจดี แต่เกี่ยวข้าวนี่พรากของเขียวเป็นอาบัติปาจิตตีย์ เป็นอาบัติแน่นอน ทีนี้คำว่า “เป็นอาบัติแน่นอน” เป็นอาบัติแน่นอนในพระที่ออกประพฤติปฏิบัติใช่ไหม ภิกษุพรากของเขียวเป็นอาบัติปาจิตตีย์ แล้วไปเกี่ยวข้าว นี่มันเริ่มต้นจากการเป็นอาบัติ ทีนี้ว่าเป็นอาบัติ แต่ว่าเขาเป็นความตั้งใจดี

ถ้าความตั้งใจดีนะ ความตั้งใจแล้วเป็นความตั้งใจ แต่เริ่มต้นจากความผิด มันเป็นความผิดแน่นอน ถ้าเป็นความผิดแน่นอน เขาบอกว่า แล้วเรื่องนี้มีข้อยกเว้นในวินัยหรือไม่

ถ้ายกเว้นในวินัย ยกเว้นในบาลีนะ ไม่มี แต่ถ้ายกเว้นโดยการปกครอง โดยการปกครองฝ่ายวัดบ้านเขาทำได้ ในฝ่ายวัดบ้านเขาพรากของเขียวเป็นเรื่องปกติไง ไอ้นี่มันคืออะไร มันเกิดจากอะไร มันเกิดจากว่าฝ่ายปกครองเขาให้ทำกัน เพราะฝ่ายปกครองเขาถือว่ายอมรับได้ แต่ถ้าเป็นพระป่าเราไม่ได้ ก็อย่างนี้เขาถึงว่า นี่ไง ที่เกิดว่าเป็นนิกายๆ นานาสังวาส ถือวินัยแตกต่างกัน ถ้าถือวินัยแตกต่างกันไป

ฉะนั้น ถ้าถามเรา เราจะตอบแบบว่าให้มันไม่กระทบกระเทือนกันไง คำว่าไม่กระทบกระเทือนกัน” ถ้าเขาเห็นว่าทำได้ นั่นก็เป็นนิกายของเขา เป็นความเชื่อ เป็นความเห็นของเขา แต่ถ้าเป็นธรรมยุตไม่ได้ ธรรมยุตพรากของเขียวไม่ได้ พรากของเขียวเป็นอาบัติปาจิตตีย์ ฉันนมไม่ได้ พูดถึงฉันสิ่งที่เป็นอาหารในยามวิกาลไม่ได้ แล้วภาษาเราว่า ความตั้งใจ ในการที่บอกว่าไม่ให้หยิบเงินหยิบทอง ไม่ได้ ไม่ได้ทั้งนั้น แต่พระทั้งหมดทำอย่างนั้นจริงหรือเปล่า นั่นอีกเรื่องหนึ่งนะ ไม่ใช่บอกว่า โอ้โฮชื่อนี้ดีแล้วชื่อพระนี้ดีหมด

ชื่อนายดีติดคุกเยอะแยะเลย นายสวรรค์ก็อยู่ในคุก นายพรหมก็อยู่ในคุก มันไม่ใช่ดีที่ชื่อ มันดีที่การประพฤติปฏิบัติ มันดีที่การกระทำ มันไม่ได้ดีที่ชื่อ ฉะนั้น ไม่ได้ดีที่ชื่อ ทีนี้ไอ้เรื่องชื่อเสียงเราแขวนไว้ เราไม่เอามาเกี่ยว ทีนี้ไม่เอามาเกี่ยว

ที่เขาบอกว่า พระที่มาเกี่ยวข้าว ทราบว่าความตั้งใจดี แต่ความตั้งใจดีมันมีข้อยกเว้นหรือไม่

ไม่มี ถ้าเราตั้งใจดี เราก็ต้องยอมรับผิดอันนั้น ถ้ารับผิดอันนั้นนะ เวลาเกี่ยวข้าวเสร็จแล้วต้องปลงอาบัติ ปลงอาบัติปาจิตตีย์ แล้วเป็นอาบัติปาจิตตีย์กี่ตัว เกี่ยวกี่ครั้ง เกี่ยวอย่างไร นั่นมันเรื่องวินัย วินัยต้องไปตรงนั้น นี่พูดถึงว่าพรากของเขียวเป็นอาบัติปาจิตตีย์ นี่พูดถึงวินัยนะ พูดถึงบาลี ไม่เกี่ยวกับนิกาย ไม่เกี่ยวกับความเชื่อ ไม่เกี่ยวกับอะไรทั้งสิ้น

แต่ถ้าบอกว่าทีนี้พูดถึงว่าเจตนาไง พูดถึงธรรม เวลาเขาพูดถึงธรรม วินัยคือนิติบัญญัติ คือนิติศาสตร์ วินัยคือนิติศาสตร์ ธรรมคือรัฐศาสตร์ การปกครอง รัฐ ธรรมๆ นี่พูดถึงธรรมนะ

แต่เรื่องนี้มีข้อยกเว้นหรือไม่ เพราะว่าเขาเจตนาดี

นี่คือการปกครอง การปกครองคือธรรม ถ้าพูดถึงข้อบังคับคือวินัย คือกฎหมาย กฎหมายนี่ผิด แต่ในการปกครองผิดหรือไม่ ถ้าในการปกครองผิดหรือไม่ ในเมื่อวินัยมีข้อยกเว้นหรือไม่ พูดถึงธรรม ถ้าธรรม ถ้ามันผิดกฎหมาย ถ้ามันผิดมา เราจะยกเว้นได้หรือไม่ ถ้ายกเว้นแล้วสังคมอยู่กันอย่างไร

ถ้าสังคมเหยียบย่ำกฎหมาย ทำลายกฎหมาย แล้วพูดถึงเราก็ยกเว้น ยกเว้นให้คนที่เจตนาดี แล้วไอ้คนที่มันเจตนาไม่ดีที่มันจ้องลักจ้องขโมยมันจะทำว่าเจตนาดี แล้วมันทำบ้างได้หรือไม่ นี่พูดถึงการปกครองนะ นี่พูดถึงธรรม ว่าในเมื่อเขาเจตนาดี

เจตนาดีส่วนเจตนาดี เพราะเจตนามันจะเอามาเหนือ เห็นไหม ที่หลวงตาท่านพูด เหยียบหัวพระพุทธเจ้าไปแล้วแสดงธรรม เหยียบหัวพระพุทธเจ้าคือเหยียบหัวธรรมและวินัย ธรรมและวินัยเป็นศาสดา ถ้าเราเหยียบย่ำธรรมและวินัยก็เหยียบย่ำพระพุทธเจ้า ถ้าเหยียบย่ำพระพุทธเจ้าแล้ว แล้วเราจะปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกหรือ

ถ้าเราจะเคารพพระพุทธเจ้า ถ้าเรารู้แล้ว เรารู้แล้วเราก็ไม่ทำ แต่ถ้าเราไม่รู้ หนึ่ง เราไม่รู้นะ แล้วพระไปเกี่ยวข้าว มันมีผู้ที่ควบคุมดูแลไป ถ้าเราเป็นพระผู้น้อย เราเป็นผู้ไม่รู้ เขาใช้ไป เรามีความจำเป็น เราก็ไปกับเขาเพราะความไม่รู้ แต่ถ้ารู้แล้วล่ะ ถ้ารู้แล้วมันต้องแก้ไข รู้แล้วมันก็อีกเรื่องหนึ่ง

นี่พูดถึงพระเกี่ยวข้าว มันมีข้อยกเว้นหรือไม่ เพราะเขาบอกว่าเขาก็เคยบวช เขาก็ศึกษาวินัยเหมือนกัน เพราะเขารู้ว่าผิดไง เขารู้ว่าผิด เขาก็รู้อยู่ ก็นักกฎหมายน่ะ นักกฎหมายทำอะไรผิดมันก็ต้องรู้ว่าผิด นักกฎหมายมันมองออก นักกฎหมายรู้เลยว่านี่ผิดกฎหมาย แต่ก็รู้ว่าเขาเจตนาดี แต่ตัวเองก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะไปชี้ขาดได้ เพราะว่าเราไม่ใช่ผู้พิพากษา

แต่ถ้ามันเป็นคนที่ทำนะ คนที่ทำมันก็ต้องคิด ถ้าคิดอยากจะช่วยเขา ทีนี้มันมีเยอะ เราก็ดูข่าวเหมือนกัน ข่าวเราก็เห็น พระทำนั่น พระทำนั่นน่ะ มันทำเหมือนโลกเลย พระทำไอ้นู่นขาย พระทำไอ้นี่ขาย เห็นแล้ว แหมเศร้าใจมาก

เพราะเวลาบวชแล้ว พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้นะ เพศหญิง เพศชาย พอบวชแล้วก็เป็นเพศภิกษุ ภิกษุจะดำรงชีพแบบคฤหัสถ์ไม่ได้ สมณสารูป สมณสารูปนะ ต้องอยู่ในเพศของภิกษุ สมณสารูป ภิกษุยืนดื่มน้ำเป็นอาบัติทุกกฏหรือปาจิตตีย์ ยืนดื่มน้ำแบบฆราวาสก็ไม่ได้ ภิกษุจะดื่มน้ำต้องนั่งลง ภิกษุจะฉันอาหารจะกินของที่เขาไม่ได้ประเคนเป็นอาบัติปาจิตตีย์ทุกคำกลืน ภิกษุเราจะดำรงชีพแบบฆราวาสไม่ได้

เวลาพระจะสึก สิกฺขํ ปจฺจกฺขามิ จงจำข้าพเจ้าไว้ว่าเป็นคฤหัสถ์แล้ว คำว่าเป็นคฤหัสถ์” เขาจะใช้ชีวิตแบบคฤหัสถ์ อย่างเช่นคฤหัสถ์เขามีสิทธิตามกฎหมาย เขาทำสิ่งใดก็ได้ใช่ไหม แต่ถ้าเป็นพระ เราก็ต้องอยู่ใต้บังคับของกฎหมายด้วย ต้องอยู่ในใต้ของศีลด้วย ต้องอยู่ในใต้การปกครองด้วย

ฉะนั้น ภิกษุทำอย่างนั้นไม่ได้ ถ้าทำอย่างนั้นนะ ภาษาเรา พระกับโยมมันไม่แตกต่างกันน่ะ อีกหน่อยพระจะใส่บาตรอีกไหม อ้าวโยมก็ทำมาค้าขาย พระก็ตั้งบริษัททำมาค้าขาย แล้วทำไมจะต้องไปใส่บาตรอีกด้วยวะ

อ้าวโยมทำมาค้าขายแต่พระท่านไม่ได้ทำอะไร ท่านภิกขาจาร อาชีพของท่านเป็นพระ เราถึงตั้งใจทำบุญใส่บาตรกันไง อ้าวถ้าเราค้าขาย เขาก็ค้าขาย เช้าขึ้นมาเขาก็ขายแข่งกับเรา เสร็จแล้วเขาต้องบิณฑบาตให้เราใส่บาตรเขาอีกหรือ

นี่พูดถึงว่า ทำกันต่อไปเรื่อยๆ มันจะลงไปตรงนั้นน่ะ ถ้าทำกันต่อไปเรื่อยๆ แล้วใครก็ทำได้ๆ ต่อไปนี่

พระทำไม่ได้ ฆราวาสเขาทำมาค้าขาย โย ปน ภิกฺขุ ชาตรูปรชตํ อุคฺคณฺเหยฺย วา อุปนิกฺขิตฺตํ วา สาทิเยยฺย นิสฺสคฺคิยํ ปาจิตฺติยํ พระซื้อขายไม่ได้ พระต่อรองราคาไม่ได้ พระแลกเปลี่ยนอะไรไม่ได้ เว้นไว้แต่พระด้วยกัน เช่น พระมีผ้าผืนหนึ่งแต่มันเล็กหรือใหญ่เกินไป พระอีกองค์หนึ่งสูงหรือต่ำ ถ้าไม่เท่ากัน จีวรสมควรที่จะแลกเปลี่ยนกันเพื่อเขาใช้ได้ประโยชน์ นี่ให้แลกเปลี่ยนต่อเมื่อเป็นวิสาสะคือให้แลกเปลี่ยนในพระกับพระด้วยกัน วินัยอนุญาต แต่ข้างนอกไม่ได้ ไม่ให้ทั้งสิ้น ไม่ได้ทั้งนั้น

ฉะนั้น พอคำว่า “ไม่ได้ขึ้นมา” สิ่งที่พระดำรงชีพแบบฆราวาสไม่ได้ น่าเศร้าใจนะ น่าเศร้าใจที่ว่าเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปจำพรรษาอยู่กับพราหมณ์ พราหมณ์นิมนต์ไว้ที่เมืองอะไรจำไม่ได้ แล้วมันเป็นภัยแล้ง พอภัยแล้งเขาไม่มีอาหารจะกินอยู่แล้ว แล้วเขาลืมใส่บาตรด้วย เพราะมารไปดลใจ พระอานนท์ไปบิณฑบาต ไปบิณฑบาตมันมีพ่อค้าโคต่างเขามาค้าม้า เขาก็ไล่ม้ามาข้ามเมืองไง เขาก็มีอาหารม้ามาคือข้าวกล้องมาด้วย เขาให้ข้าวกล้องม้าวันละหนึ่งทะนาน เขาถวายพระองค์ละหนึ่งทะนานเหมือนกัน

พระอานนท์ได้ข้าวนั้นมานะ พระทำอาหารให้สุกเองไม่ได้ ต้มหุงหาอาหารเองไม่ได้ พระอานนท์เอาข้าวนั้นน่ะแล้วบดให้เป็นผง แล้วเอาน้ำพรมๆ แล้วถวายองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องฉันแป้งดิบๆ นี่อยู่ในพระไตรปิฎก สุตตันตปิฎก ไปเปิดดู

สมัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สมัยครูบาอาจารย์ของเราท่านไม่ดำรงชีพแบบฆราวาส ท่านไม่ทำอะไรแบบฆราวาส ท่านทำแบบภิกษุ ทำแบบพระ นี่สมัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ตัวองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเองเลย พระอานนท์เองเลย นี่ยังไม่ทำเลย แม้จะทุกข์ยากขนาดไหนท่านก็ไม่ทำของท่าน ท่านไม่ทำผิดวินัยของท่าน นี่พูดถึงนะ แล้วเวลาพระทำอย่างนู้นทำอย่างนี้ แหมนี่ความคิดเรานะ

ฉะนั้น “ข้อที่ ๑มีรายงานข่าวในโทรทัศน์ พระช่วยชาวนาเกี่ยวข้าว ทราบว่าเป็นความตั้งใจดี แต่เรื่องนี้มีข้อยกเว้นในวินัยหรือไม่

วินัยคือบาลี ไม่มีใครยกเว้นได้ แต่ในสมัยปัจจุบันนี้ ในความรู้ของเรานะ เรารู้ว่าในทางปกครองเขาอนุญาตกัน ในการปกครองน่ะ ฉะนั้น พอในการปกครองอนุญาต เขาก็เลยทำอย่างนั้นกันอยู่ แต่ถ้าในการปกครองอนุญาตหรือไม่อนุญาตก็แล้วแต่ คนทำเขาคิดว่า ผู้ที่บวชใหม่บางทีไม่รู้จริงๆ นะ บวชเข้ามาเห็นเขาทำก็ทำตามเขา ไม่รู้ว่าเป็นอาบัติ ไม่รู้ อ้าวก็ฝ่ายปกครองเขาอนุญาต แต่อาบัติของเรานะ

ฝ่ายปกครองเขาอนุญาต เพราะเขาอนุญาตให้ทำได้ ทีนี้ฝ่ายปกครองเขาอนุญาต เขามีอำนาจในวินัยนั้นไหม เขาไม่มีอำนาจหรอก เขามีอำนาจปกครอง แต่ผู้ทำผิดศีลเป็นอาบัติทั้งนั้นน่ะ แล้วอาบัติมันก็สุมในหัวนั้นน่ะ สุมๆ ไปเรื่อยๆ เพราะด้วยความไม่รู้ ด้วยความไม่รู้ เพราะผู้ที่ไม่ได้ศึกษานะ แต่ผู้ศึกษาแล้วเขาก็ทำของเขาไปตามนั้น

นี่พูดถึงว่า มีข้อยกเว้นหรือไม่

ไม่มี แต่ถ้าเขายกเว้นก็ยกเว้นกันในทางปกครองเขา ถ้าทางปกครองเขานี่แขวนไว้ นี่เป็นเรื่องของภิกษุ พูดแล้วมันจะกระเทือนกันน่ะ เรื่องของภิกษุส่วนเรื่องของภิกษุ แต่เรื่องของธรรมไม่เกี่ยว เรื่องของธรรม ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ผู้ปฏิบัติเข้าไปมันจะรู้ของมัน สัจจะความจริงมันรู้จริงของมัน ถ้ารู้จริงแล้วนะ สาธุ มันรู้จากภายในน่ะจบเลย

พระโพสต์ธรรมะทางโซเชียล ทางอินเทอร์เน็ตนั่นน่ะ ทราบว่าเป็นความตั้งใจดีเหมือนกัน แต่มีคนเตือนว่ามันที่มาผิด ผู้โพสต์ก็ว่าเน้นเนื้อหาใจความที่เป็นประโยชน์เป็นสำคัญ ผมไม่แน่ใจว่ากระทบกับวินัยหรือไม่

ถ้าผู้โพสต์นะ ถ้าผู้โพสต์ถ้ามันผิดนะ ภาษาเราน่ะ กฎหมายถ้าโยมทำแล้วผิด พระทำแล้วถูกมันไม่มีหรอก ถ้าโยมทำผิด พระทำก็ผิด อ้าวก็พระก็เป็นคนน่ะ ถ้าในทางกฎหมายนะ ถ้าโยมทำผิดนะ พระผิดเป็นสองเท่า เพราะพระผิดทั้งกฎหมายด้วย ผิดทั้งวินัยด้วย ถ้าโยมผิดนะ ถ้าโยมทำผิด ผิดแน่นอน ถ้าทางกฎหมายผิด พระก็ผิด

แต่เขาบอกว่า เวลาพระเขาบอกว่า นั่นเขาทำเพื่อความเนื้อหา ฉะนั้น ไอ้ทางโซเชียลอะไรเขาทำของเขานี่มันเรื่องของเขา แต่ส่วนใหญ่แล้วพระ ถ้ามันมีอยู่ในท้องตลาด เราจะพูดอย่างนี้นะ เราจะพูดอย่างนี้ ถ้าพูดถึงคนที่เขารู้ว่าผิดแล้วเขาทำผิดไป อันนั้นเจตนาเขาไม่ดี

แต่เราจะบอกว่าคนที่ไม่รู้ อย่างเช่นเรา เราไม่รู้เรื่องอย่างนี้เลย ถ้ามันทำนะ สมมุติเราทำ นี่เราจะเปรียบเทียบ ถ้าเราทำของเรา เราทำของเรา เราเองเราก็ไม่ได้ทำหรอก ส่วนใหญ่แล้วคณะผู้ที่ทำเขาทำกันเอง ผู้ที่ทำคือว่าลูกศิษย์เขาทำ ว่าอย่างนั้นเถอะ ถ้าเขาทำนะ เขาก็ซื้อหาของเขา เขาก็ทำของเขา พระไม่รู้เรื่อง พระไม่รู้เรื่องเลย แต่ถ้ารู้เรื่อง ถ้ารู้เรื่อง เพราะเราไม่รู้เราก็ใช้ของเรา

เราจะบอกว่า ถ้าของมันมีอยู่ในท้องตลาด ถ้าเป็นเรา เราก็ใช้ เราก็ใช้ประสาเรานี่แหละ แต่ถ้ามันเป็นเรื่องลิขสิทธิ์ นี่เรื่องลิขสิทธิ์นะ แต่ถ้าของพระนี่เขาเรียกด่านขนอน ถ้าด่านขนอนมันแบบว่าภาษี คำว่า “ภาษี” ถ้าพระนำสิ่งของข้ามด่านขนอน ก้าวเท้าเข้าไปข้างหนึ่ง ยังไม่ได้ก้าวอีกข้างหนึ่งมันยังไม่ผิด ถ้าก้าวข้ามพ้นจากด่านศุลกากร ถ้าเราเอาของผิด ภาษีที่แตกต่างกันเข้ามานะ เป็นปาราชิก คือว่าโกงไง โกงค่า โกงภาษี

ทีนี้คำว่า “ก้าวข้ามด่านขนอน” เราเป็นคนทำเองใช่ไหม มันชัดเจนไง แต่นี่ของลิขสิทธิ์ ลิขสิทธิ์ๆ ถ้ามันมีขายอยู่ในท้องตลาด แต่ถ้ามันรู้ว่าผิดนะ เราบอกว่า ถ้ากฎหมายว่าโยมผิด พระก็ผิด ว่าอย่างนั้นเลย แต่ที่เราพูดนี่เราพูดว่า ถ้าคนมันไม่รู้ เพราะมันไม่ได้ก้าวข้ามด่านขนอน มันอยู่ในพื้นที่ไง มันอยู่ในท้องตลาด ว่าอย่างนั้นเถอะ มันอยู่ในท้องตลาด แล้วพระที่เขาไปซื้อ ถ้าพระโง่ๆ อย่างเรานะ ถ้าพระฉลาดมันรู้ว่าผิดนะ กฎหมายผิดมันก็รู้ว่าผิด

เพียงแต่เราจะบอกว่า ถ้าเจตนาคนที่ไม่รู้ทำผิดด้วยความไม่รู้ อันนั้นอีกเรื่องหนึ่งนะ แต่ว่าวินัยก็บอกแล้ว ผิดเพราะไม่รู้ ผิดเพราะทำผิด ผิดเพราะสงสัยแล้วทำนี่ผิดหมดเลย ทำผิดก็ผิด สงสัยทำก็ผิด ไม่รู้ทำก็ผิด ถ้ามันผิด ผิดทั้งนั้นน่ะ

นี่ในทางโซเชียลกับในการพระเกี่ยวข้าว เขาเทียบมาสองข้อไง พระเกี่ยวข้าวมันก็เป็นความผิดอันหนึ่ง แล้วทีนี้ในทางอินเทอร์เน็ตก็เหมือนไปฉ้อโกงเขา ถ้าไปฉ้อโกงเขาน่ะ เป็นพระมันต้องสะอาดบริสุทธิ์ ถ้าสะอาดบริสุทธิ์แล้ว เรื่องศีล ความสะอาดบริสุทธิ์

นี่พูดถึงความเห็นของเขานะ แต่เป็นพระปฏิบัติ เราก็ไม่พูดทั้งหมดว่าพระปฏิบัติจะดีไปทั้งนั้น เพราะอะไร เพราะว่า ถ้าพระปฏิบัติใจมันมีสูงมีต่ำใช่ไหม เวลาใจมันตกต่ำขึ้นมา พอมันถือโทรศัพท์อยู่นี่มันก็ไปกดๆๆ แล้วมันติด แล้วมันไปเลย ทีนี้พอมันติดแล้วมันก็เหมือนคนติดการพนัน มันก็ไปเรื่อยเฉื่อย ถ้าไปเรื่อยเฉื่อยแล้ว ไอ้ตรงนี้ที่มันจะพาให้ผิดไป แต่โดยธรรมชาติของเรา ลับหูลับตา โทรศัพท์คุยกันสองคน ลับหูไหม

จริงๆ โทรศัพท์ หลวงตาท่านไม่ให้ใช้เลย เราเองเราก็ไม่เคยใช้ อ้าวพูดอย่างนี้เลยนะ ไม่เคยใช้เพราะเราไม่มี แต่ใช้อยู่ ใช้เวลาเขาโทรศัพท์มาที่วัดนี้แล้วเขามีธุระด่วน เขามาให้พูด เราก็จะพูด เราไม่มีโทรศัพท์ โดยส่วนตัวไม่มีโทรศัพท์ แล้วถ้าใครบอกว่าคุยกับพระสงบทางโทรศัพท์อะไรๆ ไปบอกได้เลยว่าเอ็งโม้ เพราะกูไม่มีโทรศัพท์ กูรับเองไม่ได้ เราไม่มีโทรศัพท์ส่วนตัว แต่ที่วัดนี้มีอยู่ของวัด ถ้าเขาโทรมาที่วัดแล้วพระวิ่งมาให้พูดเรื่องวัด เรื่องนี้พูด

นี่ไง เราจะบอกว่าลับหูลับตา ลับหูลับตา พูดมันลับหู มันพูดอะไรก็ได้จริงไหม ลับหูลับตามันอนิยต ๒ ไง แล้วประสาเราด้วย นิสัยเรานะ โทรศัพท์นี่เกลียดมาก เราเห็นโยมเขาเรียกกัน ไอ้กล่องขี้ข้า

แล้วเราเห็นอย่างนั้นจริงๆ กล่องขี้ข้า มาจากไหนก็ไม่รู้ โทรศัพท์มาสั่งงานกูผัวะๆๆ กูเป็นขี้ข้ามึงหรือ เราบวชมาเราเป็นอิสระ กูบวชมาน่ะ นกมันมีปีกกับหาง ใครจะมาสั่งไม่ได้ แล้วโทรศัพท์มาๆ นี่ไร้สาระ ไอ้กล่องขี้ข้า แล้วกูไม่ใช่ขี้ข้าด้วย กูไม่เคยรับ เว้นไว้แต่วัด เพราะวัดมันอยู่ในการปกครองไง เวลาฝ่ายปกครองเขาโทรอะไรมามีอยู่

ฉะนั้น นี่พูดถึงไอ้โซเชียล เราไม่รู้จริงๆ นะ เดี๋ยวจะบอกว่า แหมเวลาจะผิดบอกว่าไม่รู้ เวลาจะเอาล่ะรู้ทุกเรื่องเลย ไอ้คำว่า “รู้เรื่องโลก” เราไม่รู้ เพราะเราไม่ได้ใช้ เราไม่สนใจ ไม่สนใจเลยนะ เพียงแต่ว่า เราอยู่ในโลก ในวัดนี้โทรศัพท์ของวัดมี แต่โดยพระที่บวชใหม่มี เรารู้ เพราะธรรมดาเรื่องโทรศัพท์เดี๋ยวนี้มันเป็นของที่ว่าใครไม่มีคนนั้นเถื่อน มันมีกันเป็นเรื่องปกติ

แต่ในทางปฏิบัตินะ หลวงตาท่านพูดเลยนะ ไอ้พวกนี้มันเป็นภัย มันเป็นภัยในการปฏิบัติ ถ้ามันเป็นภัยขึ้นมาแล้วมันจะมากระตุ้นความรู้สึก กระตุ้นให้เราฟุ้งซ่าน กระตุ้นให้เราส่งออกไปจนหมด มันเป็นความกระตุ้น

ถ้าเรามีความสัตย์ แล้วคำว่า “มีความสัตย์” เราเป็นคนสอนคน เราเป็นคนสอนคนน่ะ แล้วเราสอนเขา แล้วเราทำตัวอย่างไร นี่เราเป็นคนสอนเขา เราทำให้ดูนะ กูไม่มี กูไม่มี แล้วไม่ใช่ไม่มีแล้วไม่ใช่น้อยเนื้อต่ำใจนะ บอกว่าไม่มีๆ นี่อยากได้ อยากให้โยมถวาย พระสงบไม่มีโทรศัพท์นะ ใครอยากถวาย เชิญ จะเอาสักสี่ห้าเครื่อง มันไม่มีหรอก เราไม่มี นี่พูดถึงผลของโซเชียลที่เขาอันนั้นกัน

ฉะนั้น สิ่งที่เขาทำ เพราะว่าโทรศัพท์มันมีหลายๆ อย่าง วิทยาศาสตร์ที่เขาค้นคว้ามานี่ แล้วผู้ที่ค้นคว้าทีแรกเขาได้รับรางวัล สุดท้ายแล้วเขาเสียใจนะ เขาเสียใจว่าผู้ใช้เอาไปใช้ในทางที่ผิด เขาค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์มาเพื่อใช้ประโยชน์กับโลก เพื่อให้โลกใช้ประโยชน์

โทรศัพท์ก็เหมือนกัน โทรศัพท์นี่วิทยาศาสตร์เขาค้นคว้ากันมาเพื่อให้การสื่อสาร เพื่อให้คนที่อยู่ไกลสื่อสารกัน มันก็ไปฉ้อไปโกงกัน ไปหลอกไปลวงกัน นี่ไง สิ่งนี้เขาค้นคว้ามาให้เป็นประโยชน์ ให้การสื่อสาร ให้ทางโลกเขาสื่อสารกัน ให้เขาทำธุรกิจเพื่อมันจะได้สะดวกสบาย ไอ้คนก็เอาเรื่องนี้มาหาผลประโยชน์ต่อกัน

ไอ้นี่ย้อนกลับมาๆ แล้วเราเป็นพระๆ เรามีธุรกิจอะไรจะต้องไปสื่อสารกับเขา กลัวหรือว่าธรรมะที่มันเผยแผ่ไป กลัวว่าโยมจะไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ต้องรีบๆ สื่อสารเลย เขาจะได้เป็นพระอรหันต์กันทุกๆ คนเลย อย่างนั้นหรือ มันก็ไม่เป็นอย่างนั้น

แต่ถ้าของที่มันมีอยู่แล้ว ถ้าคนใช้ประโยชน์มันก็ใช้ประโยชน์ไป ถ้าคนรู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์มันก็เป็นประโยชน์ไง แต่ถ้าคนไม่รู้จักใช้ หนึ่ง ตัวเองไม่มีกำลัง ไม่มีกำลัง ไม่สมควรจะไปใช้ สุดท้ายมันเป็นเรื่องเป็นเงินเป็นทองทั้งนั้นน่ะ

ฉะนั้น เวลาเว็บไซต์เรามีคนถามมาเรื่อย “หลวงพ่อ ใครเป็นคนออกตังค์ หลวงพ่อขาดเงินไหม” เราจะบอกเลย โทษ บอกเลยนะ อย่าเสือก กูหาเรื่องเอง กูต้องหาเงินเอง ทั้งๆ ที่บอกว่าเมื่อกี้เราไม่ได้ทำ

เราไม่ได้ทำ มันมีลูกศิษย์เขาเป็นคนทำมันขึ้นมา แต่ในเมื่อเราเป็นผู้นำ เราเป็นคนรับผิดชอบ เราก็ต้องหาค่าใช้จ่ายทั้งหมด เราเป็นคนออกค่าใช้จ่าย เราเป็นคนทำทุกๆ อย่าง ไม่ใช่ เราเป็นคนรับผิดชอบทุกๆ อย่าง แต่เขาเป็นคนทำๆ ทีนี้เขาเป็นคนทำแล้วมันก็ต้องทำให้มันถูกต้อง นี่พูดถึงความถูกต้อง

เขาบอก พระโพสต์ธรรมะ เขาถามเรื่องพระโพสต์ธรรมะ พระเกี่ยวข้าวเรื่องหนึ่ง กับพระโพสต์ธรรมะ แล้วเขาบอกว่า “ในใจผมว่ามันกระทบวินัยหรือไม่ ในใจผมมันค้านน่าดูเลย

ในใจของคนถามนี่มันค้านน่าดูเลย ความสะอาดบริสุทธิ์ ความใสสะอาด มันจะเอามาตรฐานใดไปวัด ถ้ามาตรฐานของเขา เขาก็ว่าเขาถูกของเขา แต่มาตรฐานของคนถาม เห็นไหม มันค้านหัวใจมากเลย มันบีบคั้นหัวใจผมมากเลย เพราะพระเป็นผู้ที่สูงส่ง แล้วพระมาทำแบบนี้ทำให้คนที่จิตใจเขาสูงส่งเขารับไม่ได้ ถ้าเขารับไม่ได้

มันก็ต้องบอกว่า ภาษาเรา พระก็มีพระ ในสังคมพระมันก็มีดี มีที่ดื้อด้าน มันก็มีอย่างนั้นน่ะ ถ้ามีอย่างนั้นมันก็เรื่องของพระ นี่เรื่องของพระนะ นี่เรื่องของโพสต์ธรรมะ

โพสต์ธรรมะ พระมันมีด่านขนอน ไอ้เรื่องความเสียภาษี แต่เรื่องลิขสิทธิ์มันเพิ่งมีมาไง ลิขสิทธิ์ ทรัพย์สินทางปัญญาเพิ่งมาเกิดขึ้น ถ้าทรัพย์สินทางปัญญามันเกิดขึ้นสมัยพุทธกาลนะ พระพุทธเจ้าจดทะเบียนไว้แล้ว พระไตรปิฎกจะไม่ได้มีใครแก้ไขเลยไง พระไตรปิฎกจะชัดเจนเลยเพราะว่าได้จดทรัพย์สินทางปัญญาไว้ไม่ให้ใครไปแก้ไข นี่ล่อกันมั่วกันมาเละเลย

แต่ไอ้นี่มันเป็นธรรมวินัยที่ชี้เข้าไปสู่ใจ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเราท่านประพฤติปฏิบัติแล้วเวลามันเป็นจริงๆ ขึ้นมาในหัวใจนะ หลวงตาเวลาท่านบรรลุธรรมท่านกราบแล้วกราบเล่า กราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์ของเราทุกๆ องค์นะที่ท่านมีคุณธรรมในหัวใจ ถ้าท่านมีคุณธรรมในหัวใจ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ในใจของท่านรวมเป็นหนึ่งเดียวใสสะอาดบริสุทธิ์อยู่ในใจของท่าน คำว่า “อย่างนั้นน่ะ” ท่านจะลบหลู่ ท่านจะดูหมิ่น ท่านจะหมิ่นแคลนเรื่องศาสนา มันเป็นไปไม่ได้เลย

ครูบาอาจารย์ของเรานะ ที่หัวใจของท่านนะ ที่พุทธ ธรรม สงฆ์รวมเป็นหนึ่งเดียวในใจของท่าน ท่านจะเคารพบูชาธรรมและวินัยเหนือเกล้า เหนือเกล้า ท่านจะไม่ทำให้เศร้าหมอง ท่านจะไม่ทำให้ด่างพร้อยเลย

ไอ้ที่มันด่างพร้อย ไอ้ที่โยมที่รับไม่ได้ ผู้ที่พบธรรมะอยากจะแสดงธรรม อยากจะเผยแผ่ธรรมะ แล้วทำให้โยมคัดค้านในหัวใจ เห็นไหม แต่ครูบาอาจารย์ของเรานะ หัวใจของท่านมันใสมันสะอาดบริสุทธิ์อยู่แล้ว

นี่พูดถึงพระโพสต์ธรรมะ พูดไปไกลเลย เพราะเราก็มีเว็บไซต์เหมือนกัน แล้วเราเป็นคนจ่ายตังค์จ่ายทุกๆ อย่าง เราเป็นคนหา ตังค์มาจากไหน ตังค์มาจากคณะศรัทธา ศรัทธาที่เขามาบำรุงศาสนา พระไม่ได้มีการซื้อขาย ไม่มีอาชีพ ไม่มีอะไรทั้งสิ้น แต่เขาศรัทธาของเขา นี่มันเรื่องของเขานะ

ผมเคารพพุทโธสุดหัวใจ แต่เสียนิสัยเรื่องเพ่งโทษผู้อื่น ขอหลวงพ่อช่วยให้อุบายด้วย

คำว่า “เพ่งโทษ” นะ เพ่งโทษคือจิตใจมันอคติแล้วเราเพ่งโทษเขา แต่ถ้าเรื่องการศึกษาธรรมวินัยมันไม่ใช่การเพ่งโทษ เราเคยอยู่กับหลวงตา หลวงตาท่านเคยพูดกับเราข้อนี้ ข้อที่ว่า แต่เดิมนะ ที่เวลาหลวงปู่มั่นท่านเสียไปแล้ว แล้วครูบาอาจารย์ท่านบ้านแตกสาแหรกขาดไง ทีนี้หลวงตาท่านก็พยายามหาที่อยู่ของท่านเหมือนกัน เวลาท่านอยู่ของท่านได้ ท่านสร้างวัดป่าบ้านตาดแล้ว

นี่ท่านพูดกับเราเป็นส่วนตัวเลยนะ ท่านบอกว่ามันก็ห่วงหมู่คณะไง เพราะว่าห่วงหมู่คณะ พระก็ยังธุดงค์อะไรกันอยู่ ทำอะไรผิดอะไรถูก ท่านบอกว่าท่านก็จะไปสนทนาธรรม คือว่าไปชี้แนะบางอย่าง แล้วพอไปชี้แนะ เหมือนเด็กๆ นะ อย่างพระเรา อย่างพวกเรากำลังทำงานกันอยู่ คนนู้นก็คอยมาบอก คนนี้ก็คอยมาจี้ มันก็รำคาญเนาะ

ท่านก็พูดว่า หมู่คณะเขาหาว่าเราชอบเพ่งโทษ ชอบเพ่งโทษ เขาก็อึดอัดไง แต่หลวงตาท่านบอกว่ามันไม่ใช่ ไม่ใช่การเพ่งโทษ มันเป็นการบอกกล่าว เป็นการบอกเป็นการชี้แนะไง อย่างเช่นท่านบอก ท่านพูดกับเราอย่างนี้จริงๆ นะ อย่างเช่นเราเดินไป เราจะเดินไปชนกับตอไม้ เดินไปชนกับสิ่งที่มันเป็นขวากเป็นหนาม แล้วเราคอยชี้แนะๆ อย่างนี้เป็นการเพ่งโทษหรือไม่

นี้ท่านพูดกับเรานะ ท่านคอยบอกว่า เดินไปเราจะเหยียบหนาม ท่านชี้ว่านี่หนามนะ อย่าเหยียบนะ แล้วท่านก็ผลักเรากันเราไม่ให้เหยียบหนาม อย่างนี้เป็นการเพ่งโทษหรือไม่ อย่างนี้มันเป็นการป้องกันด้วย เป็นการชี้แนะ เป็นผู้ที่ว่ามีประสบการณ์ แล้วบอกคนที่มองไม่เห็นไง นี่เวลาท่านพูดกับเรานะ กรณีนี้ ฉะนั้น กรณีนี้กรณีหนึ่ง

อีกกรณีหนึ่ง เวลาเห็นพระทำผิดๆ เราจะพูดได้หรือไม่ เวลาเราพูดแล้วกลัวเป็นบาปเป็นกรรมนะ คำว่า “เป็นบาปเป็นกรรม” วัฒนธรรมของชาวพุทธเราไง ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์ ไม่กล้าพูดเพราะกลัวจะเป็นเวรเป็นกรรมไง

แต่ความรู้สึกของเรานะ ความรู้สึกของเรา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเยาะเย้ยมาร “มารเอย เมื่อใด ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาของเรายังไม่เข้มแข็ง ไม่สามารถกล่าวแก้คำจาบจ้วงของลัทธิต่างๆ ได้ เราจะไม่ยอมนิพพาน

จนท่านเผยแผ่ธรรมจนมั่นคงไง “มารเอย บัดนี้ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาเข้มแข็ง สามารถกล่าวแก้” กล่าวแก้คือกล่าวแก้ปกป้องศาสนา มันจะเป็นบาปเป็นกรรมตรงไหน มันเป็นการปกป้อง เป็นการคุ้มครอง เป็นการดูแล มันเป็นบุญทั้งนั้นน่ะ

ฉะนั้น เวลาการเพ่งโทษ ถ้าคนทำผิด คนทำโจ๋งครึ่มอย่างนี้ เราเพ่งโทษตรงไหน เราเพียงแต่บอกเขาว่ามันผิด ก็มันผิดจริงๆ มันผิดกฎหมาย มันผิดทั้งข้อเท็จจริง ผิดทั้งข้อกฎหมาย มันผิดทั้งนั้นเลย เราจะบอกให้มันถูกได้อย่างไร ถ้ามันผิดมันก็เป็นความผิดทั้งนั้นน่ะ อย่างนี้เป็นการเพ่งโทษหรือ

ถ้าอย่างเช่นครูบาอาจารย์เราสิ อย่างเช่นหลวงตา หลวงตาเวลาท่านเทศน์นะ ท่านบอกหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นเวลาเทศน์ทีนี่ โอ้โฮน้ำไหลไฟดับเลย หลวงตาเทศน์นี่ โอ้โฮแรงมาก เวลาแรงมาก เขาก็บอกว่า อู้ฮูนี่โทสะๆ...อย่างนี้เพ่งโทษ เพ่งโทษเพราะเราไม่รู้ไง เราไม่รู้ว่ากิริยาที่การแสดงออกอย่างนั้นมันกิริยาแสดงออกของธรรมหรือกิริยาแสดงออกของกิเลส

เวลาเราเห็นคนโกรธคนโมโหโกรธาจะฆ่าฟันกันน่ะ นั่นน่ะกิริยาของโทสะ กิริยาของมาร มันจะทำร้ายกัน หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น หลวงตา เวลากิริยาท่านออกอย่างนั้นน่ะ กิริยาอย่างนั้นมันกิริยาของธรรม มันกำลังจะปราบมาร มันกำลังจะทำลายกิเลสในใจของสัตว์โลก มันพยายามจะทำลายกิเลสของลูกศิษย์ลูกหา ลูกศิษย์ลูกหาที่กิเลสมันปิดบังหัวใจ กิเลสที่มันทับถมหัวใจ มันจะพาพระให้ไปเสียหาย แล้วท่านเทศนาว่าการน่ะท่านกำลังจะปราบกิเลสในใจของลูกศิษย์นั่น อย่างนั้นหรือเป็นกิเลส

เวลาธรรมถ้ามันแสดงออก ถ้าเราไปเพ่งโทษ นั่นน่ะเพ่งโทษ ถ้าเพ่งโทษ เพราะเราไม่รู้ไง เราไม่รู้ว่ากิริยาที่แสดงออกอย่างนั้นน่ะมันเป็นกิริยาของธรรม เป็นกิริยาของธรรม ธรรมะ ธรรมะ อำนาจของธรรมที่กำลังจะประหัตประหาร กำลังจะทำลายกิเลสไง แต่เราไม่รู้ เราไม่รู้ นี่ถ้าเราไปติเตียนนั่นล่ะเพ่งโทษ

ฉะนั้น หลวงตาท่านถึงอาจหาญมาก เวลาท่านออกมาโครงการช่วยชาติฯ เวลาท่านเทศนาว่าการแรงๆ เวลาไอ้พวกช่อง ๓ ช่อง ๘ ช่อง ๑๐ อะไรมันมาถ่ายไป ท่านบอกห้ามตัดนะ ห้ามตัดนะ ให้ออกอย่างนั้นเลย แต่ไอ้ทางโลกมันไม่ได้ โอ้โฮมันแรงเกินไป อู๋ยอย่างนี้มันกิริยา

ท่านบอกห้ามตัด คือห้ามตบแต่งให้กิริยาท่านสวยงาม กิริยาอย่างไรให้ออกอย่างนั้น กิริยาของธรรมมันออกอย่างไรให้ออกอย่างนั้น ห้ามแต่ง ห้ามตัด ห้ามๆ

แต่ไอ้พวกโลกๆ นะ มันต้องเข้าฟิตเนสก่อน กว่าจะเทศน์นี่ต้อง อู้ฮูจัดฉากก่อน ต้องธรรมะคอนเสิร์ต ต้องแสงต้องดี ไอ้นั่นล่ะด่าได้เลย เวลาไปเจออย่างนั้นนึกว่าอย่างนั้นเป็นธรรม แต่เวลาเจอครูบาอาจารย์ของเราที่ออกมาโดยธรรมมันบอกว่ากิเลส อย่างนี้ถึงจะเพ่งโทษ คำว่า “เพ่งโทษ” นะ

ฉะนั้น เขาบอกว่า “ผมเคารพพุทโธสุดหัวใจ แต่นิสัยเสีย ชอบเพ่งโทษผู้อื่น

อันนี้เราจะพูดถึงว่าการเพ่งโทษ ถ้าเพ่งโทษนะ ฉะนั้น การเพ่งโทษนั่นเป็นเรื่องหนึ่งนะ ฉะนั้น อย่างที่ว่า สิ่งที่ทำๆ เรามองของเราสิ ไอ้นั่นมันเป็นเรื่องโลกๆ คำว่า “โลกๆ” เขายังถือธรรมวินัยขนาดนั้น แต่ถ้ามันละเอียดลึกซึ้งเข้าไปนะ สติ มหาสติ ปัญญา มหาปัญญา มันจะละเอียดลึกซึ้งขึ้นไปจนเป็นอธิศีล

พอขึ้นเป็นอธิศีลแล้ว อย่างเช่นหลวงตาท่านว่า มันเป็นแค่กิริยาแล้ว มันพ้นไปแล้ว สติวินัย สติวินัยคือมันเป็นที่สวดปาฏิโมกข์ ๗ อย่างที่ไม่ผิดวินัย สมฺมุขาวินโย ทาตพฺโพ สติวินโย ทาตพฺโพ อมูฬฺหวินโย ทาตพฺโพ

อมูฬฺหวินโย ทาตพฺโพ คือว่าเราได้เจรจา คือได้จัดการเรียบร้อยแล้ว สติวินัย สมฺมุขาวินโย ทาตพฺโพ สติวินโย ทาตพฺโพ อมูฬฺหวินโย ทาตพฺโพ ๗ ชนิด ๗ อย่างนี้ไม่เป็นอาบัติ ไม่มีความผิด ไม่เป็นอาบัติคือไม่มีโทษ สะอาดบริสุทธิ์หมดเลย

แล้วกรณีอย่างนั้นเราเข้าใจกันได้ไหม เราเข้าใจกันไม่ได้หรอก แต่เวลาครูบาอาจารย์ท่านเข้าใจของท่านได้ ฉะนั้นถึงว่า การเพ่งโทษ เรามีสติมีปัญญาควบคุมไว้ เราไม่ได้เพ่งโทษ เพียงแต่ว่าเห็นอะไรผิดอะไรถูก เราพิจารณาของเรา เราใช้ปัญญาของเราเพื่อประโยชน์กับเราไง

นี่พูดถึงว่า พระเกี่ยวข้าวเนาะ คำว่า “พระเกี่ยวข้าว” ถ้าพระเกี่ยวข้าว เรายังตัดสินวินัยกันแบบโลก คำว่า “แบบโลก” ก็แบบวัตถุ แบบโลกก็แบบศาล แบบโลก แต่ถ้าการตัดสินธรรมวินัย การตัดสินธรรมวินัยแบบธรรม ถ้าแบบธรรมมันจะละเอียดเข้ามาเป็นชั้นๆ เข้ามา ถ้าแบบโลกมันก็ต้องเถียงกันอยู่อย่างนี้

ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์พระป่าที่ปฏิบัติ ท่านจะตัดสินกันกลางหัวใจ ตัดสินกันกลางหัวใจ แต่กลางหัวใจของใครก็แล้วแต่ มันจะหลอกตัวเองไม่ได้ไง ใครจะมีความผิดพลาดเรื่องอาบัติจะรีบปลงอาบัติทันทีๆ เพราะกิเลสมันจะเอาตรงนี้เป็นตัวยุแหย่ เอาตรงนี้ไปทำให้ปฏิบัติเราล้มเหลว ฉะนั้น เราจะต่อสู้กับกิเลสอยู่แล้ว เราพยายามทำตัวของเราให้สะอาดบริสุทธิ์ พยายามทำตัวเราให้ดีที่สุด แล้วพยายามเข้ามา แล้วพอมันเห็นจากภายใน ไอ้ที่ถามๆ มานี่ไร้สาระเลย คือว่าเรื่องโลกกับธรรมไง

เรื่องโลกเป็นเรื่องโลกๆ เรื่องธรรมคือสัจธรรมในหัวใจ สัจจะความจริงเป็นธรรม ไอ้เรื่องธรรมนี่สำคัญกว่าโลกหลายเท่าเลย แต่นี้เราไม่มีคุณธรรมๆ เราก็พูดกันเรื่องโลก พูดแบบวิทยาศาสตร์ไง ถ้าพูดเรื่องวิทยาศาสตร์ก็พูดถึงวัตถุ พูดถึงตัวอักษรไง แต่ถ้าความจริงมันเป็นธรรมจากภายใน เขาเอากันตรงนี้ พระกรรมฐานเขาเอาตรงนี้ แล้วเอาตรงนี้แล้ว พอเข้าใจแล้วนะ มันวางได้หมดเลย โลกก็คือโลก แล้วสงสารด้วย วุฒิภาวะอ่อนด้อย วุฒิภาวะแค่นั้นรู้ได้แค่นั้น ทำได้แค่นั้น

แต่เวลาพระกรรมฐานนักปฏิบัติเราจะเอาจริงเอาจังในหัวใจของเรา เราจะรู้ลึกกว่านั้น เอาใจอันนั้น แล้วพอรู้แล้วนะ นิ่งอยู่ อย่าดูถูกความนิ่งอยู่ของพระอริยเจ้า พระอริยเจ้านิ่งอยู่ในหัวใจแล้วครอบคลุมรู้แจ้ง เอวัง