เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๔ ธ.ค. ๒๕๕๙

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๙
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วันนี้วันพระเนาะ วันนี้วันพระ เรามาทำบุญกุศลกัน วันพระ วันพระเพราะมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธะไงถึงมีวันพระ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมไปมีพระธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธัมมจักฯ มีพระสงฆ์ รัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่อาศัยของเรา ถ้าเป็นแก้วสารพัดนึก คำว่า “แก้วสารพัดนึก” มันอยู่ที่วุฒิภาวะของบุคคลคนนั้น บุคคลคนนั้นมีอำนาจวาสนามากน้อยแค่ไหน ถ้าบุคคลคนนั้นมีอำนาจวาสนาทางโลกก็บอกว่าอยากให้มีบุญกุศล อยากทำประสบความสำเร็จในชีวิต อันนี้มันเป็นประสบความสำเร็จชีวิตในทางโลกไง

แต่ถ้าคนจิตใจที่ละเอียดลึกซึ้งเข้าไป ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด เขาเห็นถึงการพลัดพรากของชีวิตนี้ เขาเศร้าใจของเขา ถ้าเศร้าใจของเขา เราจะมีอะไรเป็นที่พึ่งไง ถ้าเรามีที่พึ่ง เราจะเริ่มศึกษาเรื่องศาสนา คำว่า “ศึกษาเรื่องศาสนา” ศาสนามันคืออะไร ศาสนาคือตอบโจทย์ของชีวิตได้ทั้งหมด ศาสนาคือสิ่งเป็นที่พึ่งอาศัยของสิ่งมีชีวิต

สิ่งที่มีชีวิต ดูสิ ดูศีล ๕ ของเรา ไม่เบียดเบียนกัน ปาณาติปาตา สัตว์โลกที่เกิดมาทุกคนรักความสุข เกลียดความทุกข์ทั้งนั้น ทุกคนปรารถนาแต่คุณงามความดีทั้งนั้น ทุกคนรักชีวิตของตน เห็นไหม ถ้าเรื่องของศาสนาตอบโจทย์ของชีวิต เรื่องของชีวิตเรื่องการเกิด แก่ เจ็บ ตายทั้งสิ้น นี่เรื่องของศาสนาไง

ทีนี้เรื่องของศาสนา วันนี้วันพระ ถ้าวันพระขึ้นมา เป็นพระที่ไหนล่ะ เป็นพระถ้าจิตใจของคนที่มีอำนาจวาสนา เขาจะระลึกถึงคุณธรรมในใจของเขา ถ้าระลึกถึงคุณธรรมในใจของเขานะ ถ้าระลึกถึงการเกิดและการตาย มันเศร้าใจ พอมันเศร้าใจนะ คำว่า “เศร้าใจ” นี่มรณานุสติ คำว่า “เศร้าใจ” นี่ธรรมสังเวช เกิดคุณธรรมขึ้นมาในหัวใจ

สิ่งที่จะดิ้นรนไปทางโลก เห็นไหม หน้าที่การงานเราต้องทำ คนเกิดมาต้องมีหน้าที่การงานของเรานะ ถ้าไม่มีหน้าที่การงาน ปัจจัยเครื่องอาศัย เราจะดำรงชีวิตได้อย่างไร สิ่งที่มีชีวิตนี้มีคุณค่าๆ หัวใจเราก็มีคุณค่าไง ความรู้สึกเราก็มีคุณค่าไง หัวใจนี้มันอาศัยร่างกายนี้อยู่ไง ร่างกายนี้ต้องการอาหาร ร่างกายนี้ต้องการปัจจัย ๔ ไง แต่ปัจจัย ๔ นี้เพื่อเลี้ยงร่างกายนี้ไง เลี้ยงร่างกายนี้ไว้ทำไม ดูสิ พระบิณฑบาตมา บิณฑบาตมาเพื่ออะไร บิณฑบาตมาเพื่อดำรงชีวิต หยอดล้อเกวียนไว้ไม่ให้เสียงมันดังจนเกินไป

เรารักษาชีวิตนี้ไว้เพราะว่าเช้าขึ้นมาต้องบิณฑบาตเป็นวัตร บิณฑบาตเป็นวัตรเพราะชีวิตมันต้องการอาหารต่อเนื่องกันไป อาหารต่อเนื่องไป ภัตกิจเสร็จแล้วเข้าสู่เรือนว่าง เข้าสู่คูหา เข้าสู่ถ้ำของตน ค้นคว้านี่ไง ค้นคว้าจิตของเราไง ค้นคว้าสิ่งที่มีชีวิตนี้ไง

สิ่งที่ปัจจัย ๔ ปัจจัย ๔ ดำรงชีวิตไว้ ดำรงชีวิตไว้เพื่อประพฤติปฏิบัติ เพื่อค้นคว้าหาสัจจะความจริง ถ้าค้นคว้าหาสัจจะความจริง เวลาสมัยพุทธกาลนะ ผู้ที่จะมาบวชเป็นพระ ผู้ที่บวชเป็นพระเขามีศรัทธามีความเชื่อของเขา

เวลามาบวชกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เอหิภิกขุมา “เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด” เพราะเขามีเจตนา เขาปรารถนาของเขา เขามีเจตนาเป้าหมายของเขาคืออยากจะพ้นจากทุกข์ ดูสิ ยสะ “ที่นี่เดือดร้อนหนอ ที่นี่วุ่นวายหนอ” ชีวิตของเขามันเดือดร้อนหนอ วุ่นวายหนอ

แล้วถ้าที่ไหนมันไม่วุ่นวายไง “ยสะ ที่นี่ไม่วุ่นวาย” ถ้าไม่วุ่นวาย ไม่วุ่นวายที่ไหน ถ้าไม่วุ่นวายนะ จิตใจที่มันพ้นจากทุกข์ไปแล้วจะไม่วุ่นวายไง แต่จิตใจที่เป็นทุกข์มันวุ่นวายไหม มันยิ่งกว่าวุ่นวายอีก เราอยู่ในสังคมเราว่ามีความวุ่นวาย เราหลีกเร้นไปอยู่ในที่สงบสงัดนะ เวลาหลีกเร้นไปที่สงบสงัดว่ามันจะสงบระงับไง จิตใจมันยิ่งดิ้นรนๆ ไง ยิ่งดิ้นรนมันยิ่งต่อรอง มันยิ่งมีความคิดขึ้นมา

เขาบอกเวลาประพฤติปฏิบัติอธิษฐานไม่พูด ไอ้คนไม่พูด จิตใจมันพูดอยู่ตลอดเวลา จิตใจมันดิ้นรนอยู่ในหัวใจตลอดเวลา เวลาคนที่ทำทางโลกเขาก็คิดของเขาไปไง แต่จิตใจมันหยุดไม่ได้ ถ้ามันหยุดไม่ได้เพราะอะไร สิ่งนี้มันเป็นสิ่งมีชีวิต สิ่งที่มันต้องดิ้นรนของมัน มันต้องมีอาหารของมันไง เวลาร่างกายของเราต้องการปัจจัยเครื่องอาศัย แต่ถ้าจิตใจของเรามันต้องการคุณธรรม คุณธรรมคืออะไร เหตุและผล เหตุและผลคือธรรมไง

เวลาปัญญาอบรมสมาธิ ดูสิ เวลาความรู้สึกนึกคิดนี้มันขึ้นมา มันคิดขึ้นมาทำไม มันมีเหตุอะไรกระตุ้นขึ้นมา เราใช้ปัญญาไล่เข้าไปนะ เหตุและผลมันยอมจำนนกับธรรมะ กิเลสกลัวอย่างเดียวคือกลัวเหตุและผล กลัวข้อเท็จจริง แต่กิเลสมันไม่มีข้อเท็จจริงของมันทั้งสิ้น กิเลสมันไม่มีเหตุมีผลในตัวมันเอง มันดิ้นรนของมันตลอดเวลาไง

แต่ธรรมๆ คำว่า “ธรรม” ธรรมไม่ใช่กิเลส กิเลสไม่ใช่ธรรม ถ้ากิเลส กิเลสคือแรงกระตุ้นในหัวใจของเรา แต่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้งแต่เริ่มต้น ตั้งแต่เด็กๆ ขึ้นมา เด็กๆ ก็มีเหตุผลของเด็กๆ ของเขาไป เวลาโตขึ้นมามันมีประสบการณ์ขึ้นมาแล้วเหตุผลนั้นใช้ไม่ได้ เหตุผลนั้นมันใช้ได้เฉพาะคราว มันไม่มั่นคง มันจะมีเหตุผลที่ลึกซึ้งกว่า มีเหตุผลที่ดีกว่า ถ้าดีกว่า มันทิ้งสิ่งนั้นมา มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด เวลาคนที่มีกตัญญู คนที่มีความรู้สึกนึกคิด คิดสิ่งใดขึ้นมาได้มันซาบซึ้งๆ นี่หยาบๆ พอละเอียดเข้าไปๆ มันละเอียดเข้าไปไง

แต่ถ้าเราไปติดที่หยาบๆ นั้นไง สิ่งที่ความรู้สึกนึกคิดนี้เป็นสิ่งที่ดี สิ่งที่ดี คนทำคุณงามความดี ดีทั้งนั้นน่ะ แต่คนทำคุณงามความดีแล้วต้องตายไหม คนทำคุณงามความดีขนาดไหน มันถึงที่สุดแล้ว ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด มันจบไหม ทำคุณงามความดีอย่างนี้เป็นความดีทางโลก โลกียปัญญาๆ ปัญญาของเรา แต่มันก็ต้องเริ่มจากตรงนี้ ถ้าไม่เริ่มจากตรงนี้จะเริ่มต้นจากตรงไหน มันก็เริ่มต้นจากที่มันมีน้ำใจต่อกัน จากที่เราระลึกถึงต่อกัน แต่น้ำใจๆ น้ำใจที่เขาจะชักลากไปทางไหนก็ได้เพราะเขามีน้ำใจ เพราะวุฒิภาวะเขามีมากน้อยแค่ไหน

แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสิ เวลาอนุปุพพิกถา เวลาคนที่เขามาเริ่มต้นก็ให้เขาฝึกหัดหัวใจของเขาก่อน ฝึกหัดหัวใจของเขา คำว่า “ฝึกหัดหัวใจของเขาก่อน” คือให้สำนึกถึงตน สำนึก ถ้าสำนึกนะ ถ้าสำนึก เริ่มต้นจากจุดเริ่มต้น จุดเริ่มต้นถ้ามันสำนึกแล้วเริ่มเปิดใจกว้าง เปิดใจกว้างยอมรับเหตุผลๆ การเสียสละทานนี่แหละคือการยอมรับเหตุผล

อเสวนา จ พาลานํ ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา อเสวนา คนพาลไม่คบ คนพาลคือคนเห็นแก่ตัว คนพาลคือคนยึดมั่นถือมั่น แต่ถ้ามันเป็นบัณฑิตๆ บัณฑิตเป็นผู้เสียสละ แต่การเสียสละแบบนี้มันเสียสละแบบเปลือกๆ ไง การเสียสละแบบมีเจตนาความเชื่อ แต่เจตนามันดี สติมันดี มีปัญญามันก็ยอมทำ แต่ถ้ากิเลสมันท่วมท้นมันไม่ยอมทำหรอก พอไม่ยอมทำขึ้นมา พอเสียสละทานขึ้นมาแล้ว ถ้าเขามีอนุปุพพิกถา

ถ้าการเสียสละอย่างนี้ เวลาการกระทำอย่างนี้ การกระทำ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้เชื่อเรื่องกรรม กรรมคือการกระทำ เราทำของเราๆ มันมีบุญกุศล มันต้องมีเหตุ มันต้องมีการกระทำ มีการเคลื่อนไหว มันต้องมีผลตอบสนอง ถ้ามันมีการกระทำ มันมีเจตนาของมัน มันทำของมัน นี่ระดับของทาน ถ้าทานมันเสียสละไปมันมีการกระทำๆ จิตใจมันมีการเคลื่อนไหวของมัน การเคลื่อนไหวมันกระเทือนใจ ถ้ามันกระเทือนใจ มันกระเทือนใจ มันมีสติปัญญา มันค้นคว้าของมันได้ไง ถ้าค้นคว้าของมันได้

นี่เริ่มอนุปุพพิกถามันมีการกระทำนะ มันจะได้ผลของมัน ถ้าผลของมันไปเกิดเป็นเทวดา เกิดให้ถือเนกขัมมะ สุดท้ายแล้วท่านถึงแสดงธรรมๆ แสดงธรรมเพื่ออะไร แสดงธรรม สัจจะที่มันเคลื่อนไหวอยู่นี่มันคืออะไร ถ้ามันคืออะไรขึ้นมาแล้ว ถ้าเรามีการกระทำ ทำแล้วมันไม่เจริญงอกงาม ไม่เจริญงอกงามเพราะอะไร

ความปกติของมัน ดูสิ มันเคลื่อนไหวเพราะมันไม่ปกติ ถ้ามันจะปกติ ปกติมันก็ต้องไม่เคลื่อนไหว ถ้าเคลื่อนไหวทำอย่างไร ศีลคือความปกติของใจไง ถ้าเรามีศีลมีธรรม มีศีลคือรั้วกั้นของมัน มีขอบเขตของมัน ถ้ามีขอบเขตของมัน เรามีสติปัญญาไล่เข้ามาแล้ว ถ้าไล่เข้ามา ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าศีล สมาธิ ปัญญา ปัญญาที่มันเกิดขึ้นถ้าเกิดสัมมาสมาธิ เกิดความสุข ความสงบ ความระงับ

สิ่งที่เราแสวงหาอยู่นี่ ที่ว่าจิตใจที่มันแสวงหาทางโลกมันก็เป็นเรื่องโลกๆ ถ้าแสวงหาทางธรรมมันก็ได้ทางธรรมไง ถ้าแสวงหาทางธรรม แสวงหาที่ไหน ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหมดชี้เข้ามาที่ใจของสัตว์โลก เวลาจิตใจของสัตว์โลก ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นปริยัติคือการศึกษา จำเป็นต้องศึกษาไหม ถ้าไม่จำเป็นต้องศึกษา เราจะก้าวเดินกันอย่างไร แต่พอไปศึกษา ศึกษานั้นเป็นแนวทาง แนวทางๆ แต่เวลาใจของเราเวลาทำขึ้นมามันเกิดที่ใจนี้ ถ้ามันเกิดที่ใจนี้ แนวทางนั้นมันเป็นแนวทางธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะบารมีธรรมไง ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้เองโดยชอบ

เวลาพระอรหันต์แต่ละองค์ ดูสิ เวลาเอตทัคคะ พระอรหันต์เหมือนกัน ทำไมไม่ตั้งทั้งหมดให้เป็นเอตทัคคะทั้งหมดล่ะ เพราะเขาไม่มีความชำนาญเฉพาะทางไง ความชำนาญเฉพาะทางมันเป็นจริตนิสัย คือสิ่งที่ได้สร้างสมมา การสร้างสมมาอย่างนั้น สิ่งที่ทำมาอย่างนั้น เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมามันย้อนกลับมาที่ใจของตน พอมันชำระล้างกิเลสในใจของตน ความชำนาญเฉพาะทางมันเป็นแค่เฉพาะทางที่เขาสร้างของเขามา เขาทำของเขามาเพื่อประโยชน์กับใจของเขา เขามีความชำนาญของเขา เขาก็แสดงธรรมอย่างนั้นเพื่อเป็นแนวทางๆ

ถ้ามันเป็นแนวทางขึ้นมา สิ่งที่วันพระๆ ถ้ามันจะประเสริฐได้ ประเสริฐได้เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมนะ ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม ธรรมและวินัยเป็นศาสดาของเรา ธรรมและวินัยเป็นศาสดาของเรา แต่เวลาเป็นศาสดาของเรา ศาสดา เราเป็นผู้เดินตาม ภิกษุอยู่ถึงชนบทประเทศ ถ้าทำตามเรา เหมือนกับชายจีวรเราไว้ ถ้าอยู่กับเรา กอดเราไว้เลย แต่ไม่ปฏิบัติตามเราๆ ปฏิบัติตามเราคือปฏิบัติตามศาสดาธรรมวินัยอันนั้น

เวลาปฏิบัติตามอันนั้น วิธีการๆ เวลาปฏิบัติธรรมวินัยอันนั้น จิตมันสงบสงบอย่างไร ความสงบเข้ามา เพราะความสงบเข้ามามันเป็นปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก มันมีหลักมีเกณฑ์ไง คือมันมีจุดยืนไง ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ของเรานะ เช่น หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเรา ถ้าท่านมีสติปัญญา ท่านพิจารณาของท่านแล้วนะ สิ่งนี้จะเป็นสมบัติ คำว่า “มีสมบัติ” คือมีองค์ความรู้ มีคุณธรรมในใจ คือมันมีจุดยืน มันไม่เหลวไหล มันไม่เหลวไหลไปตามกระแสโลก มันไม่เหลวไหลจนกิเลสมันจะพลิกแพลงไง คำว่า “เหลวไหล” มันแบบว่าเราไว้ใจกันไม่ได้ เห็นหน้าไม่รู้จักใจ ดีแต่ตอนต้น ตอนท่ามกลางยังพอใช้ได้ พอบั้นปลายมีความเสียหาย

ดูสิ เวลาตอนต้นขึ้นมามีแต่ความฟุ้งซ่าน มีแต่ความทุกข์ความยาก แต่ถ้าเรามีสติปัญญาของเรานะ เริ่มต้นมันเหลวไหลๆ เพราะมันเป็นกิเลสมันก็เป็นของมันอยู่อย่างนี้ แต่ถ้ามันพัฒนาดีขึ้น ท่ามกลาง ถ้าที่สุดมันดีขึ้นมา พอที่สุดมันดีขึ้นมาแล้วเป็นอกุปปธรรม ถ้าอกุปปธรรม อฐานะที่จะมีการเปลี่ยนแปลง อฐานะที่มันจะทำความชั่ว อฐานะที่มันจะไปเพราะอะไร เพราะมันเป็นในใจ มันเป็นมาจากความรู้สึกนึกคิด มันเป็นจากหัวใจอันนั้นน่ะ ถ้ามันมีองค์ความรู้อย่างนี้ มีองค์ความรู้อย่างนี้ ครูบาอาจารย์ของเราที่ท่านปฏิบัติแล้วท่านมีความจริงอย่างนี้ในใจอย่างนี้ มันไม่มีความเหลวไหล

แต่ของเรานะ มันเป็นกิริยาภายนอก มันมีแต่ความฟุ้งซ่านๆ ความคิดเกิดดับๆ ความคิดก็อารมณ์ความรู้สึกมันเกิดดับ ถ้ามันเกิดดับขึ้นมา ถ้ามีสติปัญญาก็รักษาควบคุมมัน ดูแลมัน มันก็อยู่ในร่องในรอย แต่ถ้าวันไหนขาดสติ วันไหนไม่มีกำลังที่จะยับยั้งมัน มันไปหมดล่ะ แล้วมันไว้ใจใครได้ล่ะ มันไว้ใจไม่ได้ มันไว้ใจกิเลสในใจของคนไม่ได้ ถ้ามันไว้ใจกิเลสของคนไม่ได้ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ว่าวันพระๆ ถ้าพระผู้ประเสริฐ ประเสริฐที่นี่ไง

เวลาหลวงปู่ฝั้นท่านสอน พุทโธเป็นผู้ผ่องใส พุทโธเป็นผู้สว่างไสว พุทโธมีความสุข ความสุข ความสงบ ความระงับ พุทโธ พุทธะ พุทธะหาให้เจอ ถ้าหาให้เจอ เรามาวัดมาวาก็มาวัดที่นี่ไง

วันพระๆ นะ ทำบุญกุศลมันเป็นระดับของทาน ดูสิ ลัทธิศาสนาไหนก็ทำทั้งนั้นน่ะ เวลาบอกว่าลัทธิศาสนาอื่นเขาสอนให้คนเป็นคนดี ดีอย่างไร ดีก็ดีประจำโลกนี้ไง ดีแล้วเอาตัวรอดไม่ได้ไง ถ้าดีมันเอาตัวรอดได้ มันจะมีมรรคในหัวใจ มีมรรคในหัวใจคือมรรคญาณ ญาณวิถี ความหยั่งรู้ภายใน ความหยั่งรู้ภายในเท่านั้นมันถึงจะยับยั้งกิเลสตัณหาความทะยานอยากภายใน ความหยั่งรู้ภายใน

เวลาบอกว่าภายนอกภายในก็พลิกเอา ภายนอกภายใน ภายนอกก็คือภายนอก ความคิดมันเป็นภายนอกทั้งนั้นน่ะ ความคิดมันส่งออกทั้งหมดแหละ เวลาภายใน ภายในมันต้องมีสัมมาสมาธิ มันมีรสมีชาติ เวลามีรสมีชาติ มันพลิกเข้าไปอยู่ข้างใน ถ้าพลิกเข้าไปอยู่ข้างใน แล้วข้างในเป็นชั้นเป็นตอน บุคคล ๔ คู่ โสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค มันมีวุฒิภาวะ มันมีความหยาบละเอียดแตกต่างกันอย่างไร คำว่า “ภายในๆ” มันปอกเป็นชั้นๆ เข้าไป

เวลาผู้ที่ปฏิบัติของเขา เขาบอกจิตของเขาเปรียบเหมือนหอม เปรียบเหมือนกระเทียม เขาลอกออก เขาปอกออกเป็นชั้น เป็นชั้นเข้าไป ปอกจนไม่มีอะไรเหลือเลย ไม่มีอะไรเหลือ สิ่งที่เป็นนามธรรมมันไม่มีสิ่งใดที่จะหมายใช่ไหม สิ่งที่เราหมายกันเราก็หมายกัน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

สัญญาๆ นี้สำคัญมาก สัญญาๆ นะ ดูสิ บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย ใครเป็นคนชี้นำล่ะ ใครเป็นคนบอกว่า ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย แล้วพระพุทธเจ้าองค์ไหนเป็นผู้พยากรณ์พยากรณ์พระโพธิสัตว์ต่อไปว่าจะเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วมันจดไว้ที่ไหน การเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย มันจดไว้ที่ไหน มันบันทึกไว้ที่ไหน แล้วใครเป็นคนทำไว้ ใครเป็นเจ้าของ ใครเป็นผู้รับผิดชอบล่ะ ก็จิตดวงนี้ ไอ้สัญญาๆ ที่มันสัญญาละเอียด อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ

ปัจจยาการ ปัจจยาการที่มันเป็นหนึ่งเดียว ไม่ใช่ขันธ์ๆ มันซับๆๆ ซับของมัน ถ้าไม่ซับของมัน มันมีข้อมูลย้อนอดีตชาติได้อย่างไร คนที่จะย้อนอดีตชาติไปมันย้อนไปจากอะไร ข้อมูลที่เป็นนามธรรม ข้อมูลที่เป็นนามธรรมกับจิตนี้มันกลับชัดเจนไง ถ้าชัดเจน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันนี้มันเป็นขันธ์ ถ้าขันธ์นี้มันเปลือกส้ม เปลือกส้มมันในชาติปัจจุบันนี้ ในชาติปัจจุบันนี้ตั้งแต่เด็กเราจำได้ ความจำได้คือสัญญา ความจำได้หมายรู้คือสัญญา แล้วความจำได้หมายรู้ ถ้าจิตมันละเอียด ถ้าใครทำความสงบของใจเข้าไป มันย้อนไป ถ้าย้อนได้ ถ้าย้อนได้ตามความเป็นจริงนะ อย่าให้กิเลสหลอก

ในปัจจุบันนี้กิเลสหลอกทั้งนั้น มันความพอใจไง ถ้ามันไม่ความพอใจนะ ครูบาอาจารย์ของเรา ดูสิ เช่น หลวงปู่ชอบท่านบอกของท่านนะ เวลาท่านรื้อของท่าน อดีตชาติท่านเกิดเป็นไก่นะ ท่านรู้ของท่านจริงๆ แล้วรู้แล้วท่านก็วางของท่านไว้ สิ่งที่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะมันซับลงที่ใจทั้งนั้นน่ะ เพราะเราเป็นนะ

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านพูดนะ เวลาบุพเพนิวาสานุสติญาณ ท่านบอกท่านเคยเป็น คำว่า “เคย” เพราะจิตมันเป็นทั้งนั้นน่ะ คำว่า “เคยเป็น” นั้นคืออดีต แต่ปัจจุบันนี้เป็นเจ้าชายสิทธัตถะ แล้วประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปัจจุบันนี้จิตขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปัจจุบันเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เราเคยเป็น

เวลาสมัยพุทธกาลนะ เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมามีอะไรขัดแย้งจะไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำไมเป็นอย่างนี้

อ๋อ! เมื่อชาตินั้นๆ เราเกิดเป็นชื่อนั้นๆ พระผู้นี้เกิดเป็นชื่อนั้นๆ เคยได้อยู่ร่วมกันที่นั้นๆๆ เราเคยเป็น เราเคยเป็น สัญญามันซับลงที่นั่น เราเคยเป็นไง เราเคยเป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแจ่มแจ้ง แต่พระที่มีปัญหาไม่รู้เรื่อง ไม่รู้เรื่องในปัจจุบันนี้ไง นี่ผลของวัฏฏะๆ

ถ้ามันเป็นจริง มันเป็นจริงในข้อเท็จจริงนั้น ถ้าคนที่เป็นจริงแล้วมันเห็นเป็นเรื่อง มันก็เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ เป็นเรื่องจักรวาลที่มันหมุนของมันไปน่ะ มันหมุนของมันไป แต่มันไม่มีชีวิต แต่จิตมันมีชีวิต แล้วคนที่รู้คนที่เห็นมันต้องมีสัจจะความจริงในใจของตนนะ ถ้ามันมีสัจจะความจริงในใจของตนมันจะเป็นประโยชน์ไง เป็นประโยชน์เหมือนหมอ หมอจะรู้ว่าโรคนี้โรคอะไร มันมาเพราะเหตุใด นี่ก็เหมือนกัน กิเลสมันมาเพราะอะไร มันมาเพราะอย่างไร มันมาเพื่ออะไร แล้วมันจะจบลงได้หรือไม่ได้ รักษาหายหรือไม่หาย ถ้ารักษาหายหรือไม่หายก็มรรคญาณนี่ไง

วันพระ เรามาค้นคว้าหาสัจจะความจริงในใจของเรา ไปวัดนะ ภิกษุสมมุติสงฆ์ ภิกษุ รัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รัตนตรัยของเรา เรานะ เราเป็นอุบาสกอุบาสิกา เราก็ขวนขวายของเราเพื่อประโยชน์กับเรา เราทำเพื่อบุญกุศลของเรา แต่มันก็ผลของธรรมและวินัยที่บัญญัติไว้

นี่ไง เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติธรรมวินัยนี้ไว้ให้มีการบวช ให้มีการประพฤติปฏิบัติ ให้มีบริษัท ๔ ให้มีการค้นคว้า ให้มีสัจจะ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนารื้อสัตว์ขนสัตว์ เราเป็นสัตว์โลก เราเป็นสัตว์โลกเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ แล้วได้รับมรดกตกทอดในเรื่องของพระพุทธศาสนา แล้วเราจะขวนขวายไหม เราจะทำไหม ให้เป็นประโยชน์ของเราไหม ถ้าเป็นประโยชน์ของเรา พอประโยชน์ของเราถึงสิ้นสุดแล้ว สิ้นสุดแล้วมันไปสู่สัจจะความจริงอันเดียวกัน เอวัง