ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ไม่มีใบขับขี่

๒๔ ธ.ค. ๒๕๕๙

ไม่มีใบขับขี่

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๙

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

ถาม : เรื่อง “ไม่เห็นขันธ์ ๕ เป็นทุกข์

ผมได้เพียรปฏิบัติมาโดยตลอดตามคำชี้แนะของหลวงพ่อ ขณะนี้มีสิ่งกวนใจในการปฏิบัติ จึงขอคำชี้แนะ ปัญหาคือ

ผมเข้าใจเอาเองว่าต้องพิจารณาให้ถึงใจให้ได้ว่า ขันธ์ ๕ เป็นสิ่งไม่เที่ยง เป็นทุกข์ แล้วเหตุของการลงใจนี้ก็จะเกิดผลคือความมีปัญญาเพื่อดับอวิชชา ปัญหาคือผมนั่งภาวนาก็ได้แต่การเห็นสภาวะความขัดข้องในจิตมันเกิด แล้วก็ทำให้มันจางคลายดับไป เกิดสภาวะโล่งอกโล่งใจ มีปีติสบายเกือบทุกครั้งเท่านั้น มันไม่เห็นอริยสัจจังของลูก ผมพยายามตั้งประเด็นการเสื่อมเน่าเสียของผม ขน เล็บ ฟัน หนัง แต่ใจมันไม่ยอมรับครับ มันคิดเสมอว่าเราคิดเอาเอง ปรุงเอาเอง ไม่ลงใจ จึงขอให้หลวงพ่อชี้แนะด้วยครับ (ผมเคยฟังหลวงพ่อบอกว่าให้พุทโธย้ำลงไป ผมทำแล้วมันก็ได้ความว่างสบายครับ ติดเพลินแล้วอามิสสัญญาก็เกิดกลายเป็นวิจิกิจฉา ต้องเขียนมาถาม)

คำว่า “น้ำนิ่งแต่ไหล” คือเราสงบเฝ้าดูจิตมันปรุง มีสัมปชัญญะที่เรียกว่าจิตผู้รู้ใช่หรือเปล่าครับ คือเราจะเห็นความคิดแล้วเราก็ดึงกลับมาเป็นระยะๆ ขอเมตตาหลวงพ่ออธิบายด้วย เพื่อเป็นการฝึกเจริญสติครับ

ตอบ : นี่คำถามสองคำถามเนาะ คำถามที่ว่าการประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม เวลาปฏิบัติไปแล้วถ้ามันดีขึ้น ขณะที่เวลาดีขึ้นมันก็ดีขึ้นมาก แต่เวลามันเสื่อมลง เวลามันเสื่อมลงหรือมันก้าวหน้าไม่ได้ มันเดินหน้าก็ไม่ได้ ถอยหลังก็ไม่ได้ แล้วก็มีแต่ปัญหา มีแต่ความเข้าใจผิดอยู่ตลอดเวลา แล้วประพฤติปฏิบัติ เวลาบอกปฏิบัติแล้วจะถึงที่สุดแห่งทุกข์

การปฏิบัติจะถึงที่สุดแห่งทุกข์มันก็ต้องมีสติมีปัญญา คือมันมีความเพียร มีความพยายามของมัน ถ้ามีความเพียรพยายามของมันนะ มันมีสติมีปัญญาสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของแต่ละขั้นแต่ละตอนไปได้ การประพฤติปฏิบัติมันระยะทางที่ว่าระยะทางอีกยาวไกล

เวลามีคนมาถามเรื่องการปฏิบัติ ถ้าเขาเริ่มตั้งสติได้ เขาเริ่มพุทโธได้ เขาเริ่มทำสมาธิได้ เขาถามว่าถูกไหม ถูก แล้วถ้าเขาพิจารณาของเขาไปแล้วเขาปล่อยวางถูกไหม ถูก เพราะอะไร เพราะพวกที่เขาทำมานั้นมันถูก แต่เวลามันถูกแล้วมันต้องพัฒนา มันต้องก้าวหน้าของมันขึ้นไป ถ้ามันก้าวหน้าของมันขึ้นไปมันจะไปรู้ไปเห็นของมัน ถ้ารู้เห็นนะ รู้เห็นด้วยสติปัญญานะ แล้วก็แก้ไขด้วยสติด้วยปัญญา ด้วยสติด้วยปัญญา

เวลามีปัญญาขึ้นมามันจับต้องได้แล้วมันพิจารณาของมัน มันจะเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป ถ้าเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป ระยะทางที่จะต้องก้าวเดินไปมันอีกยาวไกลนะ แต่การอีกยาวไกลขนาดไหนมันก็เริ่มต้นจากการล้มลุกคลุกคลานนี่

ฉะนั้น เวลาคนที่ล้มลุกคลุกคลาน เวลาปฏิบัติมานี่บอกว่าถูกไหม ถูก เริ่มต้นขอให้ปฏิบัติมันก็ถูกแล้ว เพราะหลวงตาท่านสอนประจำนะ ขอให้นั่งสมาธิสักห้านาทีสิบนาทีก็ยังดี ขอให้นั่งสมาธิห้านาทีสิบนาทีก็ยังดี มันเป็นการฝึกหัดนิสัย มันเป็นการฝึกหัดนิสัย ฝึกหัดให้เราขวนขวาย ให้เราตั้งใจ ให้เราฝึกหัดของเรา ถ้าเราฝึกหัดของเรานะ มันเป็นการเริ่มต้น อย่างนี้ถูกไหม อย่างนี้ก็ถูก

แต่ถ้าคนที่เขาไม่สนใจเลย คนที่เขาไม่ปฏิบัติเลย เขาเห็นว่า การปฏิบัติเป็นความทุกข์ซ้ำซ้อน ชีวิตนี้มันมีความทุกข์อยู่แล้วนะ ไม่ต้องให้ชีวิตมันมีความทุกข์ซ้ำซ้อน เขาก็ไม่ทำของเขา เพราะเขาไม่ทำคือเขาไม่ทุกข์ไง เวลามาประพฤติปฏิบัติขึ้นมาแล้วมันทุกข์มากขึ้น มันเป็นการทุกข์ซ้ำซ้อนไง

แต่เวลาครูบาอาจารย์ของเราท่านบอกว่า ให้ฝึกหัด ให้พยายามประพฤติปฏิบัติของเราวันละห้านาทีสิบนาทีก็ยังดี ให้มันเป็นจริตเป็นนิสัย ให้มันฝังใจเราไป ขอให้เราเป็นแนวทางของเรา อย่างนี้ถูกไหม ถูก เวลาถูกนี่ถูกเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมาทั้งนั้นน่ะ แต่ระยะข้างหน้านี่ โอ้โฮยังอีกยาวไกลมาก ถ้าอีกยาวไกลมาก เห็นไหม

ฉะนั้น เวลาการประพฤติปฏิบัติ เวลาครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติ เริ่มต้นใครก็ปฏิบัติได้ แต่เวลาปฏิบัติไปแล้วมันจะก้าวหน้า มันจะพัฒนาไปเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป มันต้องมีวิธีการของมัน

ฉะนั้น เวลาคนถามเขาบอกว่า ไม่เห็นขันธ์ ๕ เป็นทุกข์

เพราะคำว่า “ไม่เห็นขันธ์ ๕ เป็นทุกข์” เพราะมันไปตั้งโจทย์ไว้แล้วว่ามันต้องเป็นอย่างนั้นไง พอมันต้องเป็นอย่างนั้นปั๊บ ถ้าเห็นว่า ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ไอ้นี่คือการละสักกายทิฏฐิ ๒๐

การละสักกายทิฏฐิ ๒๐ การละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส นี่คือการละสังโยชน์ ถ้าการละสังโยชน์ จะมีคุณธรรมต้องมีคุณธรรมขึ้นมาอย่างนี้ ถ้ามีคุณธรรมอย่างนี้ปั๊บ เราก็รู้แล้วว่ามันต้องการละ นี่ว่าขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ แล้วมันไม่เห็นว่าเป็นทุกข์น่ะ มันไม่เห็นตามความเป็นจริง ทำอย่างไรล่ะ

ถ้ามันเห็นตามความเป็นจริง มันก็ต้องฝึกหัดประพฤติปฏิบัติขึ้นไป มันเหมือนกับทางการแพทย์ ทางการแพทย์เรื่องอาหาร เรื่องสารพิษ เขาจะรู้ว่าสิ่งใดที่เป็นสารพิษ เขาจะไม่ให้เข้าร่างกายเขาเลย แต่ถ้าเราไม่รู้ เราไม่รู้ หรือเรารู้ แต่รู้แต่ทฤษฎี แต่เวลามันปนเปื้อนมานี่เราจะแยกแยะอย่างไร มันปนเปื้อนมา ทีนี้พอปนเปื้อนขึ้นมา มันมีความจำเป็น เราก็ต้องทานอาหาร เราใช้สอยอะไรมันก็ปนเปื้อน นี่ความปนเปื้อน แต่เรารู้ว่าเป็นพิษไหม รู้ แต่เราไม่มีเครื่องวัด ไม่มีสิ่งใดว่ามันปนเปื้อนหรือไม่ปนเปื้อน แล้วมันจะพิสูจน์อย่างไร มันก็ต้องเข้าห้องแล็บ

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่ว่าเราบอกว่า ไม่เห็นว่าขันธ์ ๕ เป็นทุกข์

แต่ในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ นี่ละสักกายทิฏฐิ ๒๐ ถ้ามันละได้ สักกายทิฏฐิ ๒๐ มันก็ละได้จริง ละได้จริงมันก็ละสังโยชน์ ละสังโยชน์ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส มันจบมันไป เพราะมันชัดเจนของมันอยู่แล้ว ถ้ามันเป็นอย่างนี้ มันเป็นธรรมอย่างนั้น ฉะนั้น เราตั้งเป้าไงว่าจะให้เห็นอย่างนั้น ทีนี้ถ้าให้เห็นอย่างนั้นมันก็ต้องเริ่มต้น

เริ่มต้นเวลาเราตอบปัญหาก็ตอบปัญหาอย่างนี้ เวลาคนขับรถเป็นมันก็พอขับได้ เวลาขับรถ ขับรถได้กับขับรถเป็น ขับรถได้ มันขับได้ ขับรถนี่ขับได้ แต่เวลาขับรถไปนะ เราออกไปการคมนาคม มันมีเจ้าหน้าที่นะ มันมีด่าน มันมีกฎจราจร ถ้ามีกฎจราจร เขาถึงบอกคนขับรถต้องมีใบขับขี่ ถ้าคนที่มีใบขับขี่แสดงว่าได้สอบใบขับขี่ แสดงว่าเราขับรถได้ด้วย ขับรถเป็นด้วย รู้กฎกติกาด้วย นี่การเดินทาง การเดินทางเข้าไปในที่ชุมชน ในสัญญาณจราจร เราต้องเข้าใจ เราต้องรู้ไปหมด แล้วเราจะผ่านอย่างนั้นไปได้

นี่ก็เหมือนกัน ในการประพฤติปฏิบัติ เราไม่มีใบขับขี่ไง เราขับรถได้ เราก็ถอยไปถอยมาได้ เราขับในที่ส่วนบุคคลของเราได้ แต่ถ้าเราจะออกไปสาธารณะมันต้องมีใบขับขี่นะ มันต้องมีใบขับขี่หมายความว่ามีใบอนุญาต ถ้ามีใบอนุญาตมันก็ขับรถได้ใช่ไหม ไอ้นี่ก็เหมือนกัน จิตใจของเรา เราจะฝึกหัดปฏิบัติ ถ้าเราฝึกหัดปฏิบัติ

อย่างข้อที่ ๑คำถาม “ผมเข้าใจเอาเองว่าต้องพิจารณาให้ถึงใจให้ได้ว่า ขันธ์ ๕ เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ แล้วเหตุของการลงใจนี้จะเกิดผลคือความมีปัญญาไปดับอวิชชา

แล้วมันจะเกิดผลๆ” นี่มันเป็นจินตนาการ มันเป็นการจินตนาการของมันไปว่ามันจะเกิดผล มันจะเกิดผล มันจะเกิดอย่างไร สัญญามันยุมันแหย่ เวลาปฏิบัติไปมันล้มลุกคลุกคลานทั้งนั้นน่ะ

ฉะนั้น เวลาปฏิบัติ เรามีใบขับขี่ เรามีเป้าหมายว่าเราจะไปจังหวัดใด เราก็ไปตามการคมนาคมสิ่งนั้น นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราตั้งใจว่าเราจะปฏิบัติ ให้มีกำลังใจว่า ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ มันก็ต้องพิจารณาของมันไปไง

ถ้าจิตมันพิจารณา ถ้าพิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม ถ้าพิจารณาธรรมารมณ์ ในธรรมารมณ์นั้นมันมีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันเป็นขันธ์ ๕ ถ้ามันมีรูป ถ้ารูป ถ้าพิจารณากายมันก็พิจารณากายได้เหมือนกัน ถ้าพิจารณากาย กายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย กายไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่กาย ถ้ามันพิจารณาของมันไป ถ้ามันถึงที่สุดของมันจะเป็นแบบนั้น

แต่ก่อนที่จะถึงที่สุดนั้นน่ะมันต้องมีความเพียร มีความเพียร มันต้องทำความสงบของใจ ถ้าใจสงบแล้วมันจะเห็นขันธ์ ๕ เห็นรูป เห็นเวทนา เห็นสัญญา เห็นสังขาร เห็นวิญญาณตามความเป็นจริง

ถ้าจิตไม่สงบนะ มันเป็นสัญญา มันเป็นสัญญาคือการเทียบเคียง การคาดหมาย การคาดหมายมันก็เป้าลวงแล้ว ถ้าเป้าลวงนะ พอเป้าลวง เราเป้าลวง เราพิจารณาไปมันก็ไม่เข้าสู่ใจ ถ้าไม่เข้าสู่ใจ ผลของมันก็แตกต่างกัน

ทีนี้คำว่า “แตกต่างกัน” นี่ความชำนาญ ถ้ามีใบขับขี่ด้วย มีความชำนาญด้วย มันพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทีนี้การพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่ามันต้องมีสติมีปัญญา มีสติมีปัญญาทำแล้วทำเล่า มันต้องแบบว่ามีบารมี ว่าอย่างนั้นเถอะ ถ้ามีบารมี

ทีนี้เวลาครูบาอาจารย์ของเราท่านประพฤติปฏิบัติท่านเอาจริงเอาจังของท่าน ท่านทำของท่านน่ะ เวลาประสบการณ์ของหลวงตานะ ท่านบอกว่า ในการปฏิบัติของท่านที่มันทุกข์มันยากมากก็พรรษานี้ พรรษาที่ปฏิบัติครั้งแรกคือพรรษาที่ ๑๐ ท่านออกปฏิบัติพรรษา ๙

๙ พรรษาท่านออกปฏิบัติ พรรษาแรกที่การปฏิบัติคือพรรษาที่ ๑๐ ในชีวิตนักบวชของท่าน ท่านบอกพรรษา ๑๐ นี่เป็นพรรษาที่ทุกข์ยากมาก ทุ่มเทมากๆ ก็นี่ไง ก็นี่ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ นี่แหละ เริ่มต้นจากตรงนี้ แล้วเวลาพรรษาที่ ๑๐ ท่านผ่านตรงนี้ แต่ท่านทุ่มเทขนาดนั้น

แล้วย้อนกลับมา ย้อนกลับมาความจริงจังของเรา เราได้ทุ่มเทขนาดนั้นหรือไม่ ถ้าการทุ่มเทขนาดนั้นแล้วสติปัญญาของเรามันได้เห็นตามความเป็นจริงอย่างนั้นหรือไม่ ถ้ามันไม่เห็นตามความเป็นจริง เพราะเราศึกษามาก เราศึกษาธรรมะของครูบาอาจารย์มันมีใช่ไหม เราก็พิจารณา

ผมเข้าใจเอาเอง แล้วพิจารณาไป ถ้าเห็นขันธ์ ๕ มันจะเกิดผล คือการเข้าไปดับอวิชชา

เป้าหมายเขาเป็นอย่างนั้นจริงๆ ถ้าเป้าหมายเป็นอย่างนั้นจริงๆ นะ แต่ครูบาอาจารย์ท่านวางไว้หมดนะ ท่านให้เกิดขึ้นกับเราไง ให้เกิดขึ้นกับเรา เกิดขึ้นจากความเป็นจริงของเรา ถ้าเรารู้เราเห็นของเรา เราเกิดปัญญาของเรา เราพิจารณาของเรา มันก็เป็นของของเรา

ธรรมะเป็นธรรมชาติๆ ก็นี่ไง ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ นี่ตามความเป็นจริงเลย สังโยชน์ ๑๐ ละสังโยชน์ ๓ ตัวเป็นพระโสดาบัน กามราคะปฏิฆะอ่อนลงเป็นพระสกิทาคามี เพราะกามราคะปฏิฆะขาดไปเป็นพระอนาคามี พระอรหันต์ต้องละรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา สังโยชน์อีก ๑๐ ข้อ ถึงจะเป็นพระอรหันต์

แล้วเวลาครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นพระอรหันต์หรือเป็นพระอริยบุคคลท่านคุยกันตรงนี้ ที่ว่าหลวงตาท่านขึ้นไปถามหลวงปู่แหวนก็นี่ คำถามแรกถามเข้าไปเลย ท่านตอบมา พอตอบมา ถ้าคำถามแรกถูก ท่านถามต่อไปเลย อวิชชาอย่างไร ท่านบอก อู๋ยไหลมาเป็นน้ำท่าเลย ถ้ามันเป็นจริง มันเป็นจริงอย่างนี้

ถ้าถามไม่เป็น คนไม่รู้ถามไม่ได้ คนไม่เป็นก็ตอบไม่ได้ คนไม่รู้ถาม เอาอะไรไปถาม เพราะเราไม่รู้นี่ว่าต้นเหตุมันคืออะไร แล้วเหตุผลมันคืออะไร ถามก็นี่ไง นกแก้วนกขุนทองไง อ่านตำรามาแล้วก็มาคุยกัน โม้ โอ๋ยพูดแจ้วๆ เลย นกแก้วนกขุนทอง มันไม่มีเหตุมีผลหรอก เพราะคนเป็นมันรู้

คนขับรถไม่มีใบขับขี่นะ เจอด่านนี่ โอ้โฮมันสั่นเลยแหละ เจอด่านนี่ออกอาการแล้ว ถ้าไม่มีใบขับขี่นะ ถึงมีใบขับขี่ไม่ได้เอาใบขับขี่มา เจอตำรวจมันก็หนาวแล้ว เพราะอะไร เพราะตำรวจเขาต้องขอดูใบขับขี่ ไม่มีใบขับขี่เจอด่านน่ะมันมีอาการ ตำรวจเขาเห็นแล้ว เขารู้ มีพิรุธ แล้วก็จับได้

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราปฏิบัติ เราขับรถได้แต่ไม่มีใบขับขี่ คำว่า “ไม่มีใบขับขี่” นะ มันปลอดภัย มันเข้าออกได้ มันพิจารณาของมันได้ มีความชำนาญของเราได้

นี่ก็เหมือนกัน การพิจารณาว่าขันธ์ ๕ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์

มันไม่เที่ยงมันต้องไม่เที่ยงจริงๆ สิ ไอ้นี่เรารู้อยู่ไม่เที่ยงแล้ว ก็เหมือนเรารู้โจทย์หมดแล้ว เราทำให้มันเป็นอย่างนั้น ให้มันเป็นอย่างนั้นมันก็เป็น มันเป็นแล้วมันละกิเลสไหม เพราะเราจะให้มันเป็นอย่างนั้น มันไม่ได้เป็นตามความเป็นจริง เราอยากให้มันเป็นแบบนั้น เพราะเรารู้แล้ว มันต้องตอบว่าเป็นอย่างนั้น แล้วพิจารณาไปมันก็เป็นแบบนั้น เป็นจริงๆ เป็นแล้วก็ว่างด้วย สบายด้วย แต่มันไม่ได้ละกิเลส ไม่ได้ละหรอก

แต่ถ้ามันเป็นจริงของเรา เวลาเป็นจริงของเรานะ โอ้โฮมันถึงจิตใต้สำนึก โอ๋ยมันสะเทือนหัวใจมาก แล้วเวลามันปล่อยวางขึ้นมาคุณค่ามันแตกต่างกัน แล้วเวลาพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า เวลามันขาด เวลามันขาดนี่เราไม่รู้ตัวเลยนะ แต่ขาด แล้วเวลาขณะขาดนี่รู้ตัว ขณะขาดนี่ชัดเจนมาก

แต่คำว่า “ไม่รู้ตัว” คือเราไม่รู้ว่ามันจะขาดเมื่อไหร่ ไม่รู้มันจะมาเมื่อไหร่ ไม่รู้เบื้องหน้าความสมดุลมันจะลงตรงไหน อย่างเช่นมันปล่อย มันปล่อยแล้วปล่อยเล่า เวลาปล่อยเราก็รู้ใช่ไหม อย่างพิจารณาหนหนึ่งมันก็ปล่อย ครั้งที่สองก็ปล่อย ครั้งที่สามก็ปล่อย เพราะปล่อยก็รู้ว่าปล่อยไง ก็ปล่อยไง

แต่เวลามันขาด มันไม่ใช่ปล่อย มันขาด ถ้ามันปล่อยกับขาด มันก็เขียนอักษรกันคนละตัว ความหมายก็คนละอย่าง ความรู้สึกก็คนละอย่าง คนละอย่างทั้งนั้นน่ะ

เวลาปล่อยก็คือปล่อย ถ้าปล่อยมันไปเดี๋ยวก็มา เพราะปล่อยมันใช่ไหม ปล่อยสัตว์ไปก็ตามจับมันก็กลับมา เลี้ยงสัตว์ไว้มันเชื่อง ปล่อยมันไปเดี๋ยวมันก็กลับมาหาเจ้าของ อ้าวปล่อยไปเดี๋ยวก็มา แต่ถ้าสัตว์มันตายล่ะ ปล่อยไปแล้วหมาคาบไปนี่มันตาย ทำอย่างไร เวลามันตายกับเวลามันปล่อย ปล่อยเดี๋ยวมันก็กลับมานะ เพราะมันมีชีวิตใช่ไหม เดี๋ยวมันก็กลับมา นี่ก็เหมือนกัน พิจารณาไปแล้วมันก็ปล่อย ปล่อยก็ปล่อย เดี๋ยวก็กลับมา

อ้าวแล้วเวลามันขาด สัตว์เราเลี้ยงนะ แล้วมันตายต่อหน้าเรานี่มันตายจริงๆ มันตาย อารมณ์ของเรา เพราะมันตายแล้วเราเอากลับมาไม่ได้ มันกลับมาไม่ได้หรอก ถ้ามันกลับมาไม่ได้ นี่ขับรถเป็น มีใบขับขี่ด้วย มีใบขับขี่เพราะอะไร เพราะว่ามันชัดๆ อยู่อย่างนี้ ถ้าไม่มีใบขับขี่คือว่าเราทำแล้วต้องทำซ้ำทำซากไง

นี่คำถามไง ทำไมมันเป็นแบบนี้ ทีนี้ปัญหาของผมนะ การเห็นสภาวะ เห็นความขัดข้องใจ มันทำให้ดับไปได้ สภาวะมันโล่งอก

อย่างนี้มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ มันพิจารณาของมันไป พิจารณาของมันไปซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันจะละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ เพราะมันละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ นะ พอเดี๋ยวถ้าจิตมันเห็นตามความเป็นจริง โอ้โฮมันจับ มันสั่นไหวไปหมด พอมันสั่นไหว พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำอีกๆ มันก็เป็นอย่างนี้ มันก็ปล่อยๆ แต่มันจับได้ ถ้ามันจับได้มันมีเหตุมีผล มันมีเจ้าทุกข์ มันมีเจ้าทุกข์ มันมีการสอบสวน มันมีการกระทำ แล้วถ้ามันเป็นจริงนะ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเลย นี่ถ้าซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันต้องมีใบขับขี่ ว่าอย่างนั้นเลย พอมีใบขับขี่แล้วเราจะได้เดินทางได้ตลอดเวลา การเดินทาง การเข้าการออก การพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ไอ้ที่ว่าที่ใครมาถามว่าปัญหาอย่างนี้ถูกไหม ถูก ถูกทั้งนั้นน่ะ ถูกเพราะอะไร ถูกเพราะมันทำถูก ทำมานี่ถูก แต่มันถึงเป้าหมายไหมล่ะ ถูกแล้วมันมีเหตุมีผลอะไรขึ้นมาบ้างล่ะ ถ้ามันถูกแล้ว มันทำถูกแล้ว ทำถูกแล้วมันถึงต้องถึงเป้าหมายด้วย นี่ทำถูก

ดูสิ ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาจากพระไตรปิฎกมันผิดตรงไหน ถูกทั้งนั้นน่ะ แต่ทำแล้วเป็นผลขึ้นมาหรือเปล่าล่ะ ถ้าเป็นผลขึ้นมาก็เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก เป็นท่ามกลางหัวใจของเรา เป็นสมบัติของเรา

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานนะ “อานนท์ เราเอาของเราไปคนเดียวนะ ของสาธารณะ ของบุคคลอื่น เราไม่ได้เอาไป

ถ้าเรามีดวงตาเห็นธรรมมันก็เป็นสมบัติของเรา เราก็รู้ของเรา ก็สมบัติของเรา แล้วใครแย่งไม่ได้ด้วย แล้วเป็นความรู้ของเรา ใครจะลอกเลียนแบบอะไรนั่นคือการลอกเลียนแบบ แต่ไม่ใช่ความรู้ ถ้าความรู้ของเราก็ความรู้ของเรา นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันเป็นจริงมันก็ต้องเป็นจริงของเรา ถ้าเป็นจริงของเรา

ไอ้ที่ว่านี่มันก็จะเป็นจริงอย่างที่ว่านี่ ขันธ์ ๕ มันเป็นอนิจจังอยู่แล้ว ความรู้สึกนึกคิดเป็นอนิจจังอยู่แล้ว พออนิจจังแล้ว ถ้าสิ่งใดเป็นอนิจจัง สิ่งนั้นต้องเป็นทุกข์อยู่แล้ว สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นต้องเป็นอนัตตา มันสมบูรณ์ในตัวของมันอยู่แล้ว

แต่เราพิจารณาของเรา เรารู้อย่างนั้นแต่เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น เราไม่ได้ชัดเจนอย่างนั้น แต่ถ้ามันชัดเจนอย่างนั้นน่ะมันขาด เพราะมันขาด มันขาดไปแล้วมันถึงเป็นอกุปปธรรม มันถึงสิ่งที่เป็นจริง เพราะมีใบขับขี่ตลอดชีพ ไม่ใช่ตลอดชีพนะ เขายกเว้นเลย ไม่มีการตรวจสอบ มันเป็นจริงของมันทั้งนั้นเลย อันนี้มันเป็นความจริงของมัน

ฉะนั้น เวลาเขาบอกว่าเขาพิจารณาของเขามาแล้ว แล้วพอเขาค้นคว้าของเขาเอง เขาหาทางออกของเขาเอง เขาบอกว่า “ผมเคยได้ฟังหลวงพ่อบอกว่าให้พุทโธย้ำลงไป ผมก็ทำแล้ว มันก็ได้แค่ความว่างสบาย ติดเพลิน แล้วอามิสสัญญาก็เกิดกลายเป็นวิจิกิจฉา เลยต้องเขียนมาถาม

เวลาทำเสร็จแล้ว สิ่งที่ทำไปแล้วมันก็เป็นอดีตไปแล้ว ทีนี้เวลาปฏิบัติ ปฏิบัติมันเป็นปัจจุบัน ปัจจุบันเราก็ทำความสงบของใจเข้ามา แล้วถ้าจับได้เราก็รื้อค้นไป พอรื้อค้น มันปล่อย ปล่อยมันก็มีความสุข ความสุขเดี๋ยวเราก็จับต่อเนื่องไป มันต้องขยันหมั่นเพียรไง ไม่ใช่ปล่อยแล้วก็นอนสบายๆ ไม่ใช่ เขาต่อเนื่องตลอด

เวลาครูบาอาจารย์ของเราท่านปฏิบัติ ๒๔ ชั่วโมง แล้วปล่อยแล้วปล่อยเล่า พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ แล้วอย่างที่เวลาหลวงตาท่านจะประสบความสำเร็จนะ หลวงตาท่านพิจารณาเวทนาไง ท่านบอกว่านั่งตลอดรุ่งนั่นแหละ เวลา ๓-๔ ชั่วโมง หลานเวทนามันมา พอสัก ๖-๗ ชั่วโมง ลูกเวทนามันมา ถ้ามันมากขึ้นไป เดี๋ยวพ่อมันมา เดี๋ยวปู่มันมา แล้วเวลามันมานี่มันแรงขึ้นเรื่อยๆ เวทนามันแรงขึ้นเรื่อยๆ

เริ่มต้นเวทนามา เราพิจารณามันได้มันก็ปล่อยวางได้ พอปล่อยวาง พอมันนั่งต่อไป เวทนาทีนี้มันยิ่งซับซ้อนขึ้นไป มันทุกข์ทรมานมาก แต่พิจารณาซ้ำเข้าไปอีกมันก็ปล่อย มันปล่อยอีก ปล่อยก็อย่างนี้ ปล่อยก็แบบผู้ถามนี่ มันก็มีความสุขไง ความสุข เพราะนั่งต่อเนื่องไป นั่งตลอดรุ่ง ๑๒ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง พอ ๘ ชั่วโมง ๙ ชั่วโมงขึ้นไป เวลามันเจ็บปวดขึ้นมาอีก เวทนา เห็นไหม ปล่อยแล้วมันก็ยังมาอีก ปล่อยแล้วก็ยังมาอีก ปล่อยแล้วก็ยังมาอีก เวลาไปถึงปู่มันนะ เราพิจารณาถึงที่สุดแล้วนะ ดับหมด

พอดับหมดไปแล้วท่านถึงบอกว่า เวทนาหน้าไหนมันจะหลอกเราอีกวะ ตั้งแต่ลูกหลานปู่ย่าตายายมันมา เราได้สะสางมันหมดแล้ว แล้วมันจะมีอะไรเหลืออีกไหม มันจะเอาเวทนาหน้าไหนมาหลอกเราอีกวะ เพราะเวทนามันก็เกิดดับ มันจะเอาอะไรมาหลอกเราอีกวะ นี่เวลามันขาด นี่เวทนาไม่ใช่เรา เราไม่ใช่เวทนานะ เดี๋ยวมันจะมีอีก มีอีก ขั้นตอนต่อไปมันก็จะมีของมันอีก เพราะว่ากิเลสมันอาศัยขันธ์ ๕ อาศัยจิตเราอยู่ เป็นนามธรรมทั้งนั้นน่ะ นี่เวลามันเป็นจริง มันเป็นจริงอย่างนั้นไง

ฉะนั้น เขาบอกว่า “หลวงพ่อบอกว่าให้ย้ำที่พุทโธ ให้ย้ำที่พุทโธ

คนเรานะ ถ้ามันทำสิ่งใดแล้วมันแบบว่ามันไม่มีสิ่งใดที่จะจับต้องได้ ก็ให้อยู่กับพุทโธ เห็นไหม อยู่กับพุทโธ ถ้ามันสงบเข้ามา มันละเอียดเข้ามา มันจะเห็นเวทนาอีก มันจะเห็นขันธ์อีก เห็นขันธ์อีกก็จับพิจารณาต่อไป พอถ้าสติปัญญาด้วยกำลังของสมาธิมันดี ปัญญามันดี มันชนะไง ธรรมะมันชนะ ชนะกิเลส กิเลสมันก็ปล่อยวาง ปล่อยวางมันก็ว่างหมด ว่างหมด มันปล่อยวางนี่

เราปล่อยสัตว์เลี้ยงออกไป เดี๋ยวมันก็บินกลับมา เราปล่อย มันว่างหมด ขณะที่เราปล่อยด้วยปัญญา พอมันกลับมา เราพิจารณาซ้ำสิ ซ้ำ มันก็ปล่อยอีก พิจารณาซ้ำ พิจารณาถึงที่สุด ถึงที่สุด สัตว์เลี้ยงมันตายลง ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา มันต้องขาดออกไป อันนั้นมันจะถึงที่สุด นี่ถ้าถึงที่สุด

มันต้องมีใบขับขี่ เวลาใบขับขี่มันทำได้บ่อยๆ ไง ไอ้นี่ไม่มีใบขับขี่ขับรถได้วนไปวนมาอยู่นี่ มันไม่มีใบขับขี่ ต้องหาใบขับขี่เนาะ ต้องมีความชำนาญ ถ้ามีความชำนาญมันจะทำของมันได้

นี่พูดถึงว่า การภาวนา ถ้ามีครูบาอาจารย์ท่านจะคอยตรวจสอบ ถ้าอยู่กับครูบาอาจารย์นะ อย่างเช่นหลวงตาท่านอยู่กับหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นจะถาม “มหา จิตเป็นอย่างไร” สามวันสี่วันถามแล้ว “มหา จิตเป็นอย่างไร” คือท่านจะถามถึงความดำเนินการ ถามถึงการต่อเนื่อง ถามถึงการปฏิบัติที่มันได้ผลมากขึ้นหรือไม่ ท่านจะถามตลอดนะ

ไม่ใช่ว่าพอถาม เพราะหลวงตาท่านพิจารณาปล่อยหมดแล้ว ท่านถาม “จิตเป็นอย่างไร จิตเป็นอย่างไร พอมันปล่อยแล้วมันเหลืออะไร ปล่อยแล้วทำอย่างไรต่อ ปล่อยแล้วทำอีกหรือเปล่า

โธ่มันต้องมีใบขับขี่ แล้วครูบาอาจารย์ก็เหมือนด่านตรวจน่ะ มันจะมีของมันไง นี่มันเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่ปล่อยแล้วเลินเล่อ ปล่อยแล้วก็แล้วกัน เดี๋ยวก็ทำใหม่

หลวงพ่อบอกให้ย้ำพุทโธลงไป

คำว่า “ย้ำพุทโธลงไป” คือรักษาไม่ให้เสื่อม ถ้าพอเวลามันปล่อยแล้ว จิตมันปล่อยแล้ว ตัวมันจะทรงตัวอย่างไร ถ้ามันทรงตัวไม่ได้ ต้องอยู่กับคำบริกรรม คือจิตมันต้องอาศัยอะไรเกาะไว้ ให้มันเกาะพุทโธไว้ ถ้ามันสงบลง สงบลงจนละเอียดขึ้นมา พอมันออกมาแล้วนึกพุทโธต่อไป นึกพุทโธต่อไป แล้วถ้าจิตมันดีมันก็จะไปเห็นขันธ์ ๕ อีกน่ะ ถ้าเห็นขันธ์ ๕ มันมีอยู่แล้ว ลึกๆ ในหัวใจมันมีความรู้สึกอยู่ ถ้ามันมีความรู้สึกอยู่ จับตรงนั้นน่ะ

ไอ้นี่ส่วนใหญ่แล้วพอมันปล่อยแล้วนะ ไม่มี ไอ้ความคิดของเราพยายามจะบอกว่าไม่มี คือทุกคนอยากจะประสบความสำเร็จ ทุกคนอยากจะถึงเป้าหมาย แต่มันไม่ถึงเพราะมีกิเลสกั้นอยู่ ทุกคนคิดอย่างนั้น แต่มันมีกิเลสกั้นอยู่ แต่ทำเป็นมองไม่เห็น

แต่ถ้าคนที่มีวาสนาบารมีเขาพยายามค้นคว้าของเขา มันจะอยู่อย่างไร เขาจะหาของเขา เพราะเขาต้องการความสะอาดบริสุทธิ์ เขาต้องการตรวจสอบใจของเขา ถ้าคนจริงเขาจะตรวจสอบตลอด

มันมี มันมีคืออะไร คือ เอ๊ะเอ๊ะนั่นแหละตัวมันชัดๆ เลย เอ๊ะคือสงสัย มันยังมีความสงสัย มีความระแวง มันไม่สะอาดบริสุทธิ์ แต่ถ้ามันขาดนะ อย่างไรก็ไม่มี ไม่มีคือไม่มี แต่มีแล้วพยายามคิดว่าไม่มี นี่มี มันมีแต่มันคิดว่าไม่มี มี นี่มันพิจารณาอย่างนั้นนะ

ทีนี้ถ้ามันมีอย่างนั้น คำว่า “มี” นะ กิเลสมันปิดกั้นอยู่ ปิดกั้นอยู่ก็ต้องพุทโธต่อเนื่องๆ ที่เราย้ำพุทโธเพราะเป็นคำสั่งคำสอนของหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านสั่งหลวงตาไว้ หลวงตาท่านเทศน์ประจำ แล้วเราก็จำต่อ อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ ไม่เสีย

ถ้าปล่อยนะ พอจิตมันเริ่มลังเลสงสัย พอมันบอกมันย้ำไปแล้ว พอมันว่างๆ ไปแล้วมันก็เกิดเป็นอามิสสัญญา สุดท้ายมันก็เป็นวิจิกิจฉา

นี่มันไปแล้ว มันไปเรื่อยเลย เพราะมันเบื่อ ทำแล้วทำเล่าๆ มันไม่มีวาสนา แต่ถ้าคนที่เขามีวาสนานะ ทำแล้วมันแจ่มแจ้งมันชัดเจน มันรื่นเริง มันอยากทำ มันไล่เข้าไป มันหาเข้าไป มันทำต่อเนื่อง นี่ถ้าคนมีวาสนานะ มันไม่เป็นอามิสหรอก มันไม่เป็นวิจิกิจฉาหรอก เป็นวิจิกิจฉาเพราะอะไร เพราะว่าปล่อยมันไง แล้วก็นอนจมอยู่กับมันไง พอนอนจมอยู่กับมัน มันก็กลายเป็นความสงสัยไง มันก็จะพอกพูนไง มันก็เป็นดินพอกหางหมูไง แล้วมันก็ทำ “โอ๋ยภาวนาแล้วเป็นอย่างนี้” นี่พูดถึงคนมีวาสนาไม่มีวาสนานะ ถ้ามีวาสนาเขาจะต่อเนื่องไป

คำว่า “น้ำนิ่งแต่ไหล” คือความสงบเฝ้าดูจิตมันปรุงใช่ไหม

น้ำนิ่งแต่ไหล หมายความว่า จิตที่มันสงบมันมีกำลังของมัน ธรรมดาคำว่าจิตสงบ” คือสมาธิ คือมันนิ่งๆ แต่ความจริงคือน้ำนิ่งแต่ไหล น้ำมันนิ่ง มันไม่เหมือนกับคลื่นลม คลื่นลมมันพัด มันเกิดคลื่นลมขึ้นมามันทำลายไปหมดน่ะ คืออารมณ์ความรู้สึกของเรามันมีคลื่นมีลมมีความรู้สึกมันกระทบกระเทือนกันทั้งนั้นน่ะ

แต่เวลาเราทำพุทโธๆ จนจิตมันสงบ สงบนี่คือน้ำนิ่ง น้ำนิ่งแต่ไหล น้ำนิ่งแต่มันมีพลังของมันน่ะ ถ้าน้ำนิ่งไม่ไหลคือนอนหลับ คือตกภวังค์ น้ำนิ่ง น้ำนิ่งไม่ไหลมันก็จะเป็นน้ำเน่าไง

น้ำนิ่ง แต่มันเคลื่อนไหวตลอด มีพลังมาก นี่คือสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิ จิตตั้งมั่น จิตที่มีกำลัง จิตที่มีกำลังนะ เพียงแต่คนใช้มันไม่เป็น คนใช้ไม่เป็นคือไม่พามันออกทำงาน ไม่พามันออกค้นคว้า กำลังมันมีอยู่แล้ว แต่ใช้ไม่เป็น

เวลามันไม่มีกำลังก็อยากจะมี พอมีแล้วก็ไม่รู้ว่ามันเป็นกำลังอีกนะ มันเป็นน้ำเน่า มันจะนิ่งแล้วก็เน่าไปเลย นั่นน่ะมันจะนอนหลับ แล้วมันก็จะฟอนเฟะไปเลย แต่ถ้าเป็นสัมมาสมาธิ น้ำนิ่ง แต่มันเคลื่อนไหวตลอด มีกำลัง มีออกซิเจนพร้อม มีสิ่งมีชีวิตพร้อมหมดเลย แต่ไม่รู้จักใช้ ใช้ไม่เป็น

ถ้าใช้เป็น พาออกวิปัสสนา นั่นน่ะน้ำนิ่งแต่ไหล น้ำนิ่งแต่ไหลคือสัมมาสมาธิ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ นี่มันมีสมาธิของมัน แล้วออกฝึกหัดใช้ปัญญา น้ำนิ่งแต่ไหลคือสมาธิที่มีกำลัง สมาธิเป็นสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิคือมีสติ มีสติเป็นผู้บริหารผู้จัดการ เป็นเจ้าของไง

อ้าวจิตมันเป็นเอกัคคตารมณ์ จิตมันตั้งมั่น จิตเป็นหนึ่ง แล้วมันมีเจ้าของได้อย่างไร

ก็สติไง ก็มีสติ มันพร้อมของมันไง นี่ไง น้ำนิ่งแต่ไหล ถ้าไม่เคยเป็นมันก็ไม่รู้จัก แล้วก็อธิบายไม่เป็นเพราะไม่เคยเห็น ไม่รู้ถึงคุณภาพของมัน แต่ถ้ารู้ถึงคุณภาพของมันนะ น้ำนิ่งแต่ไหลคือสัมมาสมาธิ ถ้ามันออกฝึกใช้ปัญญามันจะเป็นประโยชน์กับมัน ฝึกหัดอย่างนี้ นี่พูดถึงว่า เวลาจะฝึกหัดเนาะ

ฉะนั้น สิ่งที่ทำมามันอยู่ที่วาสนานะ ถ้าวาสนาของคนมันมีสติมีปัญญา ฝึกหัดของเราไป เพราะประสบการณ์การปฏิบัติ เราขับรถมีใบขับขี่ เราจะไปไหน ไปธุระที่ไหนก็แล้วแต่ เราจะไปจอดรถที่ห้ามจอด ห้ามจอด เราก็ไม่จอด เราไปจอดที่จอดรถ เราไปจอดทำตามกฎระเบียบของกฎจราจร เราไปไหนเราก็สะดวกสบาย แล้วเราก็ไปได้ตลอดเวลา เราจะไปก็ได้ จะกลับก็ได้ จะพิจารณาก็ได้ จะทำอย่างไรก็ได้ เห็นไหม มีใบขับขี่ เราจะบอกว่า ต้องฝึกหัด ต้องมีการกระทำตลอด

รถก็จอดไว้บ้าน แล้วก็เดินเข้าป่าไป แล้วก็คิดว่าเราทำอะไรเรียบร้อยหมด ไม่ใช่ รถก็จอดอยู่บ้าน รถคือจิตของเราไง อยู่ที่บ้าน แล้วไอ้เข้าป่าไปก็คิดไปร้อยแปดพันเก้า ไม่มีประโยชน์อะไรเลย

แต่ถ้ามีความชำนาญ เราเป็นผู้ขับ รถก็อยู่กับเรา ใบขับขี่ก็พร้อม ฝึกหัดของเรา ดูแลจิตใจของเรา มันจะพัฒนาของเราไปอย่างนี้ มันถึงจะเป็นไปได้ ไม่อย่างนั้นไม่เป็นไปได้ เพราะคำถามมันฟ้องหมด คำถามก็ฟ้องอยู่แล้ว เพราะอะไร เพราะว่าเขาบอกว่า “ถ้าจิตเห็นว่ามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ถ้าการลงใจอย่างนี้ก็จะเกิด

คำว่า “ก็จะเกิด” มันจะเกิดเองหรือ “ก็จะเกิด” คือความมีปัญญา มันไม่ใช่ก็จะเกิด มันมีสติสัมปชัญญะ น้ำนิ่งแต่ไหลแล้วพามันทำ มันเห็นชัดเจน คือเราเป็นคนทำ เราเป็นคนเห็น เราเป็นคนชัดเจนหมด มันเป็นปัจจัตตัง มันจะเกิดอะไร มันเกิด

นี่ไง เวลาเกิดแล้วถึงบอก เกิดแล้วยังไม่รู้ แล้วไม่รู้ว่าคืออะไรด้วย แต่ครั้งที่สองจะดีขึ้น ครั้งที่สามจะชัดเจนขึ้น แต่นี้คนไม่มีวาสนามันได้ครั้งเดียว มันไม่มีครั้งที่สอง ครั้งที่สองนี่ทำแสนยากเลย ถ้าคนมีความชำนาญมันจะมีครั้งที่สองครั้งที่สาม เพราะครูบาอาจารย์ท่านทำกันมาอย่างนี้ เว้นไว้แต่ขิปปาภิญญา ผู้ที่ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย คือปฏิบัติทีเดียวแล้วสำเร็จไปเลย มี แต่น้อยมาก แต่ครูบาอาจารย์ของเรามันต้องมีชำนาญในวสี ชำนาญในการเข้าการออก ชำนาญในการวิปัสสนา ชำนาญในการบำรุงรักษา แล้วชำนาญจนถึงที่สุด กุปปธรรม อกุปปธรรม

จากกุปปธรรม สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา นี่กุปปธรรม กุปปธรรมคือสภาวะที่มันเป็นอนัตตา สภาวะที่มันพัฒนา พอมันถึงที่สุดแล้วมันจะไปพัฒนาอะไร มันจบแล้วก็เป็นอกุปปธรรม อฐานะที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง จากกุปปธรรมเป็นอกุปปธรรม ชัดเจนมาก แล้วเหตุผลมันสมบูรณ์ทั้งชื่อ ทั้งข้อเท็จจริง ทั้งการกระทำ ทั้งปัจจัตตังที่รู้ขึ้นมา โอ้โฮร้อยแปด ชัดๆ จบ

ถาม : เรื่อง “ไม่ใช่คำถามค่ะ

กราบนมัสการหลวงพ่อ ไม่มีคำถามค่ะ แต่ลูกเป็นคนช้า จึงใช้เวลานานมากกว่าจะตั้งสติระลึกได้ว่า ชีวิตของลูกรวมถึงครอบครัวที่ผ่านมาราบรื่นขึ้นมากด้วยเพราะบารมีความเมตตาของหลวงพ่อที่แผ่มาให้สัตว์โลกผู้ยากไร้โดยตลอดอย่างทั่วถึงทุกชนชั้น เพิ่งมีสติระลึกได้ เมื่อนึกได้จึงต้องรีบกราบขอบพระคุณระลึกถึงบุญคุณของหลวงพ่อ เมื่อชีวิตสบายขึ้น กิเลสก็พอกพูนมากขึ้นตามลำดับ ต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการกำจัดกิเลส การฟังจากเว็บไซต์หลวงพ่อทำให้ช่วยขัดเกลาจิตใจได้และทำให้เข้าใจแนวทางการปฏิบัติมากขึ้น ขอบพระคุณค่ะที่มีเมตตาต่อลูกและครอบครัวมาโดยตลอด ทั้งๆ ที่ไม่ค่อยได้ไปวัดเท่าไร

ตอบ : นี่เขาเขียนมานะ นานๆ จะเจอคนยกตูดสักที นานๆ จะเจอสักทีเนาะ

ถ้ามันเป็นประโยชน์นะ มันเป็นประโยชน์ เห็นไหม พูดถึงโดยข้อเท็จจริงนะ เวลาหลวงตา เวลาครูบาอาจารย์ของเรา หลวงตาท่านมาสวนแสงธรรม ท่านมาเยี่ยมลูกศิษย์ ท่านบอกว่า “ไปเอาหัวใจเขา ไปเอาหัวใจเขา” คือไปแล้วมันแช่มชื่นมันแจ่มใส ไปแล้วแบบว่ามันอบอุ่น ท่านไปเอาหัวใจของคนไง

นี่ก็เหมือนกัน เพราะธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม แสดงธัมมจักฯ ไป พระอัญญาโกณฑัญญะมีดวงตาเห็นธรรม สัจธรรมๆ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระพุทธ พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม พระอัญญาโกณฑัญญะก็มีดวงตาเห็นธรรม สัจธรรมอันนั้นมันมีคุณค่าๆ ศาสนาพุทธ “เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด” แต่สัจธรรมอันนี้มันอยู่ในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันอยู่ในใจของพระอัญญาโกณฑัญญะ ครูบาอาจารย์ของเราถ้าจิตใจที่เป็นธรรมๆ แล้ว สัจธรรมมันมีคุณค่าเหนือ ๓ โลกธาตุ

ทีนี้สัจธรรมนี้มีคุณค่า ที่หลวงตาท่านไปเอาหัวใจของคนๆ ก็ต้องการให้ใจมันได้สัมผัสธรรมๆ ถ้ามีความสัมผัสธรรมแล้ว โอ๋ยอะไรบ้างมันจะมีคุณค่าไปกว่านี้ อะไรบ้างในโลกนี้มันจะมีคุณค่าไปกว่าสัจธรรมอันนี้

ที่โลกเขาบอกเขามีธรรมๆ กันแล้วแสวงหาเงินแสวงหาทอง แสวงหาลาภสักการะ เราเห็นแล้วมันแปลกใจ ไหนว่ามึงมีธรรมไง ถ้ามีธรรม ธรรมมันเหนือโลก เหนือ ๓ โลกธาตุ มันเหนือทุกอย่าง แล้วอะไรมันจะมีคุณค่าไปกว่าธรรมไง

นี่ก็เหมือนกัน ครูบาอาจารย์ที่ท่านได้สัมผัสธรรม ท่านมีคุณธรรมในหัวใจ ธรรมะจะคุ้มครองๆ ไง ถ้าธรรมะคุ้มครองก็เพื่อหัวใจของชาวพุทธไง ถ้าหัวใจของชาวพุทธนะ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชี้เข้าไปในใจของสัตว์โลก แล้วหลวงตาท่านก็พูดด้วยว่า สิ่งที่สัมผัสธรรมได้ไม่มีอะไรนอกจากหัวใจของคนๆ หัวใจของคนมันสัมผัส นี่ข้อเท็จจริงไง สัมผัสสุข สัมผัสทุกข์ สัมผัสสัจธรรม สัมผัสความเป็นจริงไง นี่ใจมันสัมผัสไง เวลาทุกข์ จิตใจเราทุกข์มาก เวลามันจะมีความสุข หัวใจของเราสุขมาก หัวใจนี้มีคุณค่ามาก

ฉะนั้น ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าสู่หัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมเข้าสู่หัวใจของพระอัญญาโกณฑัญญะ

มนุษย์เรา ชาวพุทธเรา ชาวพุทธเราสิ่งที่มีชีวิตอยู่เพราะมันยังมีหัวใจๆ สิ่งนี้มันสัมผัสธรรมได้ๆ ธรรมะถ้ามันมีอยู่จริง ธรรมะมันควรเป็นที่พึ่งอาศัยของหัวใจไง นี่ไง ธรรมะจะคุ้มครองไง ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

แต่ของเรา เราเป็นชาวพุทธแล้วเราระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นแก้วสารพัดนึก ถ้าเราระลึกถึงคุณธรรม ระลึกถึงสัจธรรม มันก็นึกนะ

แต่นี่ทางโลกเขาจะนึกว่ารวยๆๆ เขาอยากสัมผัสธรรม แต่เขาบอกรวย...ไอ้นั่นมันกระดาษ เอ็งอยากได้สัมผัสธรรม แต่พยายามนึกถึงกระดาษแล้วมันจะเข้าถึงธรรมได้อย่างไรล่ะ

ถ้าเข้าถึงธรรมได้ ความสุขความทุกข์ ความดีงามนี่ไง ความดีความงามของเรานี่แหละ การกระทำของเราสิ่งนี้มันเป็นความสัมผัสธรรม ถ้ามันสัมผัสธรรมได้อย่างนี้ มันก็เข้าคำถาม ไม่ใช่คำถาม เขาบอกไม่มีคำถาม

ถ้ามันสัมผัสธรรมได้มันก็จะเกิดความราบรื่น ในครอบครัวถ้ามีคุณธรรมต่อกันนะ ธรรมน่ะ มันมีสติปัญญาไง คำว่า “ธรรม” นะ หนึ่ง มีความกตัญญู ระลึกถึงบุญถึงคุณ

คนอยู่ด้วยกัน เห็นไหม ทุกดวงใจเกลียดความทุกข์ ปรารถนาความสุข เขาก็อยากมีความสุขแบบเรา เราจะไปพูดจากระทบกระเทือนเขาทำไม เขาก็ปรารถนาความดีทุกคน ทุกคนปรารถนาความดีทั้งนั้นน่ะ เขาอาจจะพลั้งเผลอบ้างอะไรบ้าง ถ้ามันมีความกระทบกระเทือนกัน คนที่มีธรรมเขาก็ให้อภัยต่อกันนะ ราบรื่นไหม

ในบ้านในครอบครัวจะราบรื่นเพราะทุกดวงใจมีคุณธรรมนะ ไม่กระทบกระเทือนกัน ไม่ทำให้บาดหมางกัน ถึงบาดหมางกันก็ให้เป็นความดีซะ มีอะไรที่เขาทำด้วยความผิดพลาด เขาก็ให้อภัยต่อกัน นี่ไง ครอบครัวก็ราบรื่น มันมีราบรื่น ชีวิตดีขึ้น

ทีนี้พอกิเลสมันพอกพูนขึ้น กิเลสพอกพูนขึ้นก็ต้องนี่แหละ เพราะธรรมดากิเลสมันจะพอกพูนขึ้นๆ เราก็รักษาของเรา ตั้งสติของเรา ฝึกหัดปฏิบัติของเราให้มันเบาบางลง ถ้าเบาบางลงแล้วนะ มันก็จะมีความสุขแบบทางโลกๆ

ความสุขในครอบครัวนะ กามคุณไง กามคุณ ๕ กามคุณ ๕ เวลาปฏิบัติ กามคุณน่ะนะ มันเป็นกามโทษของผู้ที่ปฏิบัติ เพราะอะไร เพราะมันวัตถุกาม สิ่งที่เราแสวงหานี่เป็นวัตถุกาม คือความปรารถนาเป็นกามในวัตถุนั้น นี่กามกิเลส ไอ้เรื่องกาม กามฉันทะ แต่ถ้าเป็นทางโลก กามคุณ เขาว่าเป็นคุณ นี่แสวงหากันเป็นคุณ เป็นคุณเพราะอะไร เป็นคุณเพราะใช้จ่ายไง เป็นคุณเพราะเอามาดำรงชีวิตไง เป็นคุณไง มีลูกมีหลานขึ้นมานี่เป็นคุณไง ครอบครัวมั่นคง กามคุณ ๕ แต่ถ้าปฏิบัติแล้วเป็นโทษทั้งหมด ถ้าเป็นโทษทั้งหมด สิ่งที่เป็นโทษทั้งหมด เรามีสติปัญญาแล้วฝึกหัดของเรามันก็จะเป็นประโยชน์กับเรา ฉะนั้น ถ้ามันพัฒนาขึ้นมันดีขึ้นมันก็จะเป็นประโยชน์ขึ้น

นี่พูดถึงว่าเขาระลึกได้ แต่เขาว่าระลึกได้ก็รีบเขียนมาบอกไง ไอ้เราก็ แหมนานๆ เจอลูกยอเข้าไปที มันจะลอยเลยนะมึง ลูกยอนี่หายาก มีแต่ก้อนหิน ก้อนหินนี่เจอบ่อยมาก ไอ้ลูกยอนานๆ เจอทีหนึ่งเนาะ เอวัง