วัวพันหลัก
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๐
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “รักษาใจอย่างใด”
ขอโอกาสหลวงพ่อ ผมบริกรรมพุทโธจนพุทโธค่อยเล็กลง และพุทโธก็หายไป ความคิดและเวทนาเข้ามาก็กำหนดรู้ความคิดและเวทนาที่มันเกิดดับ พอบริกรรมครั้งใหม่ก็พุทโธได้ตามปกติ จิตเสื่อมลงไป ๑๐ วัน พิจารณาเรื่องต่างๆ ไม่หายไป จึงกลับมาบริกรรมพุทโธ พร้อมกับการเต้นของหัวใจ ความคิดมันดับ เมื่อความรู้สึกเสียใจเกิดขึ้นมา จึงพิจารณาแยกออกจนมันดับไป จึงลองเอาความรู้สึกเสียใจเมื่อหลายปีก่อนมาพิจารณาบ้างก็ดับไป ความโกรธที่เคยมีนานหลายปีเอามาพิจารณา เราไม่ควรพอใจความรู้สึกอันนั้น ก็พิจารณาความรู้สึกต่างๆ จนมันดับไป
ผมควรปฏิบัติธรรมตามสมควรแก่ธรรมใช่ไหมครับ ไม่ควรเร่งหรือมองแต่ผล ไม่ควรหักหาญหรือท้อถอย ท้อแท้ ทำให้จิตต้องเสื่อมลงไปในที่สุด กราบขอบพระคุณหลวงพ่อครับ
หลวงพ่อ : คำถาม “รักษาใจอย่างไร รักษาใจอย่างไร”
ตอบ : นี้คำว่า “รักษาใจอย่างไร” เพราะอะไร เพราะเวลาเราภาวนา เริ่มต้นจากพื้นฐาน เราไม่มีสิ่งใดเลย ไม่มีสิ่งใด เราก็จับต้นชนปลายอะไรไม่ได้เลย
เวลาเราจะจับต้นชนปลายขึ้นมา เห็นไหมว่าการปฏิบัติแบบครูบาอาจารย์ของเราไง ถ้าครูบาอาจารย์ของเรานะ เวลาท่านปฏิบัติแล้วท่านมีสติ ถ้ามีสติแล้วทำสมาธิได้ การทำสมาธิได้
ถ้าทำสมาธิได้ คำว่า “ทำสมาธิได้” เราเน้นย้ำตรงนี้เลยนะ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วทำสมาธิไม่ได้ แล้วเข้าใจว่าได้ เข้าใจกันไปเองไง ทำสมาธิไม่ได้หรอก ถ้าทำสมาธิได้นะ มันจะมหัศจรรย์ของมัน แต่ส่วนใหญ่แล้วทำสมาธิไม่ได้ แล้วเข้าใจว่าได้ พอเข้าใจว่าได้ สังคมก็ยอมรับ โอเคกันว่าได้ แต่มันไม่ใช่
แต่ถ้ามันเป็นสมาธินะ ถ้าทำสมาธิได้ จิตมันจะสงบ มันจะมหัศจรรย์ คนเราเนี่ยเริ่มต้นจากการอ่านธรรมะ อ่านหนังสือของครูบาอาจารย์อ่านแล้วมันก็ดี มันก็น่าเชื่อ แต่ไม่เชื่อ เออ! มันน่าเชื่อ พอมันฟังครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติของท่านมา เออ! ก็น่าเชื่อ แต่ไม่เชื่อ ไม่เชื่อเพราะอะไร ไม่เชื่อเพราะใจมันไม่มีพื้นฐาน ใจเราไม่เข้าใจไง
แต่ถ้าใครมาฝึกหัดภาวนานะ พอจิตมันสงบตรงนี้จะเชื่อ มันจะเชื่อเพราะอะไร เพราะจิตมันสงบแล้วมันมหัศจรรย์ อ๋อ! ขนาดจิตสงบมันเป็นแบบนี้ แล้วครูบาอาจารย์ท่านพูดไว้อย่างนั้นๆ แล้วพูดไว้อย่างนั้นๆ นะ
แต่เวลาเราทำมันไม่ได้อย่างนั้น พอไม่ได้อย่างนั้นมันสร้างอารมณ์ว่างๆ ว่างๆ มันคล้ายไง มันเหมือนกับของเทียมกับของแท้ ถ้ามีของแท้ถึงมีของเทียม ถ้าไม่มีของแท้เขาไม่วิจัยมามันจะเอาอะไรมาเทียม เพราะมันไม่มีตัวอย่างใช่ไหม แต่ถ้าเขาทำวิจัยมาจนมีของแท้แล้วของเทียมจะตามมา ถ้าของเทียมตามมา ของเทียม ดูสิ มันดูสวยและดูดีกว่า แต่คุณประโยชน์ใช้สู้ของแท้ไม่ได้ นี่ก็เหมือนกัน เวลาศีล สมาธิ ปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา เราเข้าใจว่าได้สมาธิ เข้าใจว่าได้แต่ไม่ได้
แต่ถ้ามันได้นะ ถ้ามันได้เป็นเพราะอะไรล่ะ มันได้เพราะว่าจิตเราสงบไง จิตเราสงบแล้ว รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง จำคำนี้ไว้นะ รสของธรรม รสของธรรมถ้ามันสงบแล้วมันได้ลิ้มรส มันได้สัมผัส มันได้รสสัมผัสแล้ว เราสัมผัสแล้วมันจะตั้งใจแล้ว โอ้โฮ! โอ้โฮ! ร้องโอ้โฮ! โอ้โฮ! นะ
ถ้าเป็นมิจฉามันของเทียมไง ของเทียม หนึ่ง คนที่ทำของเทียมเลียนแบบ มันไม่ต้องทำวิจัยใช่ไหม ไม่ต้องคิดค้นใช่ไหม เวลาทำมามันไม่เห็นคุณค่าหรอก ไอ้ของเทียมเลียนแบบ พอมีใครคิดค้นสินค้าสิ่งใดได้ มันก็ไปทำเทียมรีบขายก่อนหน้าด้วย ดักหน้าขายเลย เพราะมันไม่ต้องลงทุน ไอ้คนลงทุนวิจัย ไอ้คนลงทุนทำปวดหัวเลยนะ กว่าจะทำสินค้าได้แต่ละชิ้น โอ้โฮ! ลงทุนลงแรงไปขนาดไหน
นี่ก็เหมือนกัน เวลาเรามาปฏิบัติ เราลงทุนลงแรงไปขนาดไหน มันถึงจะเป็นอย่างนั้น แล้วถ้ามันเป็นอย่างนั้นแล้วมันมีรสชาติเพราะอะไร เพราะเราทำเอง เราทำเองนะ เราคิด เราค้นคว้า เรากระทำแล้วมันได้ แต่ถ้าไปก๊อปปี้ เอ็งคิดไปเลย กูคอยไปสืบ เดี๋ยวกูทำแซงหน้าด้วย
นี่พูดถึงที่ว่า “คิดว่าได้สมาธิ” ไม่ได้! เพราะมันไม่ได้ไง แต่ถ้ามันได้นะ ถ้ามันได้มันจะเป็นพื้นฐาน พื้นฐานให้ เพราะคนที่ทำสมาธิได้ส่วนใหญ่แล้วจะปักใจลงเชื่อพระพุทธศาสนาเลย จะปักใจลงเชื่อเลยว่าศาสนานี้มีจริง จะปักใจลงเชื่อเลยว่า โอ้โฮ! พระพุทธเจ้าตรัสรู้มาอย่างไร จะปักใจลงเชื่อเลยถ้ามันทำสมาธิได้ แต่ส่วนใหญ่มันทำไม่ได้ พอส่วนใหญ่ทำไม่ได้แล้ว ทำไม่ได้ก็บอกว่าทำไม่ได้สิ แต่ทำไม่ได้แล้วบอกว่าได้ มันก็เลยครึ่งๆ กลางๆ เห็นไหม
เราจะบอกว่าเปรียบเหมือนวัวพันหลัก วัวมันพันหลัก วัว โดยเจ้าของวัว เห็นไหม เขาเมตตา เขาสงสาร เขาเอาไปเลี้ยง เขาปักหลักไว้ แล้วมันก็เดินกินหญ้าของมันนั่นน่ะ พอพันไปพันมา ถ้าเจ้าของไปเห็นก็แกะมันออก เจ้าของไม่ทันมันก็พันแข้งพันขามัน ถ้ามันแบบว่ามันหมุนมาก มันกระชากลากมากนัก ถ้ามันพันตัวมัน พันคอมัน มันจะพันจนมันตาย
ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เวลาประพฤติปฏิบัติเหมือนวัวพันหลัก วนอยู่นั่นน่ะ วนอยู่นั่นน่ะ วนอยู่นั่นเพราะอะไร วนอยู่นั่นเพราะกิเลสไง เพราะความสงสัยไง ไอ้นู่นจะดีกว่าไอ้นี่ ไอ้นี่จะดีกว่า ไอ้นั่น ไอ้นั่นจะแน่กว่าไอ้นี่ ไอ้นี่จะยอดกว่าไอ้นั่น วัวพันหลัก
ถ้ามันวัวพันหลักแล้ว ถ้าจะเริ่มต้นเอาให้ถูกต้องนะ วัวพันหลัก เห็นไหม ก็กลับมาพุทโธ ถ้าพุทโธ ผู้รู้กับพุทโธสำคัญมากจริงๆ นะ ถ้าเรามาอยู่กับพุทโธๆ มันไม่ใช่วัวพันหลักเพราะอะไร เพราะมันไม่มีเชือกผูกไว้ให้พันไง พุทโธของเราไปเรื่อย พุทโธๆ พุทโธจนมันสงบไง
ไอ้เชือก เชือกก็สงสัยไง ไอ้เชือกก็พวกลังเลไง ไอ้เชือกก็ไอ้ปัญญาที่ว่าคิดมากไง นั่นน่ะเชือกทั้งนั้น มันมัดมึงทั้งนั้น มัดตาย เหมือนวัวพันหลัก ภาวนาแล้วมันอยากได้ผล แล้วมันก็ไม่ได้ผลไง เพราะไอ้เชือกมันพันคอ ถ้ามันกลับมาพุทโธ พุทโธเวลากิเลสมันก็หลอกใช่ไหม โอ้โฮ! พุทโธมันไม่มีปัญญา พุทโธเราต้องใช้ปัญญาของเรา ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา ที่ไหน ที่ไหนก็สอนปัญญาทั้งนั้น ไม่มีใครเขาสอนพุทโธๆ อยู่เรื่อย อะไรก็พุทโธๆ เนี่ย
แต่เพราะพุทโธๆ ตั้งแต่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบา-อาจารย์ของเราเป็นพระอรหันต์ไปหมดแล้ว เพราะพุทโธๆ คือว่ามีสัตย์ มีความซื่อสัตย์ต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีความซื่อสัตย์ต่อองค์พุทธะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราได้ซื่อสัตย์ แล้วเราทำตามความเป็นจริง พุทธะ เห็นไหม พุทโธๆ อยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลามันเป็นจริงเป็นจังขึ้นมา มันเป็นจริงเป็นจังขึ้นมาจากพุทธะอันนั้น
แต่ไอ้วัวพันหลัก เวลาคิดกันไป มันเกิดจากจินตนาการ เกิดจากความคิดทั้งนั้นน่ะ เพราะวัวพันหลัก วัวพันหลักทำสิ่งใดก็หมุนไปหมุนมาอยู่นี่ นี้หมุนไปหมุนมาอยู่นี่ วางให้หมด สิ่งที่เขาบอก “สิ่งที่จะรักษาใจอย่างไร ใจที่มันเคยเป็นได้” ใช่! มันเป็นแล้ว มันเป็นแล้วเป็นอดีต ครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติเป็นนะ ถ้าจิตมันสงบแล้วก็คือสงบ พอเวลาถ้ารักษามันดี มันก็สงบได้มากขึ้น เพราะอยู่ที่การรักษา การรักษาคือสติ การรักษาคือสติ เห็นไหม แล้วมีคำบริกรรมรักษาไป แล้วถ้าไปกระทบ คนนะ รักษาอย่างไรก็แล้วแต่มันต้องกระทบ เพราะคนมีอายตนะใช่ไหม คนเรามันต้องเคลื่อนไหวใช่ไหม ต้องอยู่ในสังคมใช่ไหม มันต้องมีการกระทบเป็นธรรมดา
การกระทบนั้น ถ้าคนมีสติปัญญารักษาไว้ แล้วกลับมาพุทโธ แต่พอกระทบแล้วมันไม่อยู่กับพุทโธสิ มันคิดมาก มันคิดแต่เรื่องผลกระทบ คิดแต่ความเจ็บแค้น คิดถึงแต่ความจะเอาคืนเขา มันไม่กลับมาสู่พุทโธหรอก คำว่า “พุทโธ” พุทโธก็พุทธะ พุทโธคือคำบริกรรม แต่ไอ้กิเลสที่มันซ้อนมา ตัณหา ความพอใจ ไม่พอใจ ที่มันผลกระทบนั้นน่ะมันลากไป
ฉะนั้น เวลาเรากำหนดพุทโธ พอจิตมันสงบแล้ว พอสงบแล้วขึ้นมา มันรับรู้สิ่งใดนะ ก็ไปผูกพันมันอีกไง วัวพันหลัก ไอ้เชือกมันพันไปหมด ไอ้กิเลส ไอ้เชือก ไอ้สงสัย ไอ้อยากได้อยากดี ไอ้เชือกมันผูกทุกทีเลย ไอ้วัวพันหลัก พอพันไปแล้วมันก็มารัดคอตัวเองไง ภาวนาไปไม่รอดไง ภาวนาไปไม่ได้ไง มันต้องตัดทิ้งวางหมดเลย
พุทโธชัดๆ แล้วพอชัดๆ ขึ้นมา พอมันรู้เห็นสิ่งใด ขณะที่รู้เห็นนะ มันสะเทือนใจมาก ถ้ามันสะเทือนใจนะ อย่างเช่น พูดเมื่อวาน ติดใจมาก ติดใจอยู่อันหนึ่ง เห็นไหม บอกว่าถ้าสมาธิอ่อน การเห็นกาย การวิปัสสนามันก็ หลวงตาใช้คำนี้นะ หลวงตาเวลาท่านบอกว่า “ใครทำความสงบของใจแล้วฝึกหัดใช้ปัญญา” ท่านบอกว่า “วิปัสสนาอ่อนๆ”
วิปัสสนาอ่อนๆ คือการฝึกหัดใช้ปัญญา ถ้าจิตมันสงบแล้ว มันไปรู้ไปเห็นด้วยอำนาจวาสนา นั่นน่ะวิปัสสนาอ่อนๆ ถ้าสมาธิมันพอพื้นฐาน มันจะเห็นอย่างนั้น วิปัสสนาอ่อนๆ แต่ถ้ามันมีความสมดุลของมัน มัชฌิมาปฏิปทา ศีล สมาธิ ปัญญาสมดุล ปัญญามันจะเกิดตรงนี้ มันจะก้าวหน้าไปแล้วถ้าบอกว่าถ้าสมาธิมันเข้มข้นเกินไป สมาธิเข้มข้นเกินไป เห็นไหม มันจะใส มันจะพิจารณาไปไม่ได้ คนภาวนาเป็นมันจะรู้ของมันหมดล่ะ
ทีนี้เมื่อวานพูดถึงตรงนี้ใช่ไหม แต่ถ้าไม่ได้สมาธิแล้วเห็นล่ะ ไม่ได้สมาธิ ไม่ได้อะไรเลย ไอ้วัวพันหลัก ไม่รู้ไม่เห็นอะไรทั้งสิ้น พอไปเห็น เห็นแล้วก็จืดๆ ชืดๆ เพราะเห็นอย่างนั้นไง เห็นเพราะมันขาดสมาธิไง
ศีล สมาธิ ปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้ามีสมาธิขึ้นมา ตัวสมาธิมันทำให้สะเทือนใจ เพราะตัวสมาธิมันไม่มีกิเลสเข้ามาแทรกไง ไอ้เชือก ไอ้พันหลักมันไม่เข้ามาก่อกวนไง ถ้ามันรู้มันเห็น
ไอ้วัวที่เขาพันหลักไว้ เขาผูกไว้ เขาผูกไว้เพื่อประโยชน์ ผูกไว้เพื่อไม่ให้มันตื่น ไม่ให้มันหนีไปไหน เขาใช้ประโยชน์ไง แต่เพราะการหมุนเวียนอยู่นั่นน่ะ ไอ้วัวมันไม่รู้เรื่อง มันเดินวนๆ วนจนเชือกเป็นเกลียว เชือกมันรัดคอมันไปไง ไอ้นี่เขาเรียกวัวพันหลัก ผลที่มันให้โทษไง
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราหัดภาวนาของเรา ถ้าเราศีล สมาธิ ปัญญา แต่ทีนี้เวลาปฏิบัติไปแล้วมันมีกิเลสไง มันมีความจินตนาการ ความอยากได้ ความคาดหมาย ความเคยได้ ไอ้เคยได้นี่สำคัญมาก เพราะเคยได้แล้วตั้งเป้าเลยนะตรงนี้ จะเอาแบบนี้ๆ ทีนี้เวลาครูบาอาจารย์บอกว่าอดีตอนาคต สิ่งที่เป็นอดีตแล้วนั่นน่ะมันมาล่อมาหลอก มาทำให้เราไปอยู่กับอดีต แล้วก็คิดอยู่อย่างนั้นน่ะ มันก็ไม่ได้อย่างนั้นไง ฉะนั้น ถ้าไม่มีสมาธิเลย เห็นนะ เห็นด้วยการจินตนาการ เห็นด้วยการคาดหมายก็ได้ แต่เห็นอย่างนั้นนะ เห็นอย่างนั้นมันก็ไม่เข้าสู่มรรค
แต่ถ้าเริ่มทำสมาธิเป็น สมาธิได้ ถ้าสมาธิอ่อนๆ วิปัสสนาอ่อนๆ ถ้าสมาธิมันสมดุลขึ้นไป มัชฌิมาปฏิปทา ถ้ามันเข้มข้นขึ้นไป เหมือนการปรุงอาหาร สมาธิคือเกลือ สมาธิ การถนอมอาหารถ้าสมาธิคือเกลือ เห็นไหม ถ้าใส่เกลืออ่อนไป รสชาติก็ไม่ได้ ใส่เกลือพอดี รสชาติก็กลมกล่อม นี่มัชฌิมาปฏิปทา ใส่มากเข้าไป ขม กินไม่ได้เลย นี่ไง ถ้าเกลือก็การถนอมอาหาร การปรุงอาหาร สมาธิ ตัวสมาธิคือตัวเกลือ มันถนอมอาหารได้ มันทำทุกสิ่งได้ แล้วมันเป็นยุทธปัจจัย สมัยโบราณเขารบราฆ่าฟัน ก็เพราะการแย่งชิงเหมืองเกลือกันนะ
นี่ก็เหมือนกัน “สมาธิไม่จำเป็น สมาธิไม่สำคัญ เกลือไม่สำคัญ” อาหารมึงทำกันไปเถอะ มึงจะหาสารอะไรมาแทนเกลือ ก็เรื่องของเอ็ง แต่ถ้ามันโดยเป็นหลัก เห็นไหม ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าไม่มีสมาธิ การทำอะไรมันก็ผิดพลาด แต่ถ้าสมาธิมันเป็นไปได้ โอ้โฮ! มันดูดดื่ม คำว่า “ดูดดื่ม” คนเวลาใช้ปัญญาไปแล้ว โอ้โฮ! มันซาบซึ้ง มันดูดดื่ม นั่นแหละสมดุลของมัน มันสมดุล มรรคมันสมดุล
ถ้ามันจะละเอียดเข้าไปนะ เราไม่อยากจะพูดบ่อย ถ้ามันละเอียดเข้าไปมันจะเกิดเป็นญาณวิถี เกิดเป็นญาณวิถีของจิตเลย ถ้าเกิดเป็นญาณวิถีของจิต นั่นแหละ นั่นแหละ จิตดวงนั้นมันจะเป็นประโยชน์ ที่เราทำกัน ทำกันอยู่นั่น พอทำอยู่นั่น เราโดยธรรมชาติใช่ไหม ไอ้พวกเราก็ไม่กล้าคิดไง “โอ้โฮ! ขนาดนั้นเชียวหรือ เราภาวนายังไม่เป็นเลย แหม! เกิดญาณวิถีเชียวนะ”
“ในบรรดาสัตว์สองเท้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเสริฐที่สุด” ในบรรดาสัตว์สองเท้ามนุษย์ทำได้ทั้งนั้น มนุษย์ถ้าจิตใจมันสูงส่ง มนุษย์ทำได้ มนุษย์สิ้นกิเลสได้ ของหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น เทวดามาฟังเทศน์มนุษย์ ถ้ามนุษย์มันทำได้ แต่ถ้ามนุษย์มันทำได้ มันเป็นความจริงในใจของมนุษย์
แต่นี้ไอ้อย่างพวกเรา พอฟังเข้าไป โอ้โฮ! ร้องโอ้โฮ! เชียวนะ เพราะมันยังไม่เกิดไง โอ้โฮ! เดินจงกรมเกือบเป็นเกือบตายยังไม่ได้เห็นอะไรเลย โอ้โฮ! เล่นอย่างนั้นเลยหรือ แต่ถ้ามันเป็นจริง มันเป็นจริงอย่างนั้น นี่พูดถึงว่าวัวพันหลัก วัวพันหลัก
ไอ้นี่เขาบอกว่า “การรักษาใจ การรักษาใจ” ถ้าการรักษาใจ สิ่งที่เขาเขียนมาถาม พุทโธๆ จนมันเล็กลง พุทโธจนมันหายไป ถ้ามันหายไปจนมันดับไปหมด มันไปอยู่ที่เวทนา ถ้าเวทนาดับไปแล้ว ไอ้นี่คือการมุมานะ มุ่งมั่น คือว่าอยากจะได้ให้มันเป็นไป ฉะนั้น เราจะมุ่งมั่น มุ่งมั่นอย่างไรมันไม่ได้ มันจะทำสิ่งใด มัชฌิมาปฏิปทาคือความสมดุล เราใช้คำว่า “สมดุล” เป็นกลาง เป็นกลาง ส่วนใหญ่มันก็ร้อยหนึ่งก็ห้าสิบก็เป็นกลาง ร้อยหนึ่งแบ่งครึ่ง แล้วแบ่งครึ่ง มันเป็นความพยายามจะคิดว่าอะไรคือเป็นกลาง แล้วเราจะวางให้เป็นกลาง มันเลยไม่ได้ใช้ปัญญา
แต่ถ้าเราใช้ปัญญาๆ ปัญญาของเรา ถ้าปัญญามันเข้มข้น ใช้ปัญญาจนเครียด ใช้ปัญญา เออ! มันนอนแช่อยู่นั่น มันไม่ใช้ปัญญาเลย อย่างนี้ไม่ได้ใช้ปัญญา เออ! มันก็ใช้ปัญญาพิจารณาของเรา ใช้ปัญญาโดยที่มีสติ มีสมาธิคอยรองรับให้มันเป็นสมดุลของมัน เออ! มันกลาง มันกลางอย่างนี้ กลางที่มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา ไม่ใช่กลางวัดครึ่ง แล้วก็วางอารมณ์ให้มันเป็นตรงกลาง โอ้โฮ!พอคนอยากได้อยากดีแล้วมันคาดหมายอย่างนั้น
แต่ถ้าเราทำของเราตามความเป็นจริงนะ ถ้าเราทำความสงบของใจเราเข้ามา แล้วถ้ามันเห็นสิ่งใดเป็นปัจจุบันธรรม คำว่า “ปัจจุบันนะ” เวลาเห็นมันจะเห็นอย่างนี้ คนพิจารณากาย คราวนี้เห็นเป็นเส้นผม คราวนี้เห็นเป็นหัวกะโหลก คราวนี้เห็นเป็นตับไตไส้พุง คราวนี้เห็นร่างกายทั้งหมด เป็นคราวๆ ไม่ใช่ว่าคราวนี้เห็นเส้นผม คราวหน้าก็ต้องเห็นเส้นผมอีก ไม่ใช่! มันไม่ใช่ เขาเรียกว่าปัจจุบันไง ปัจจุบันที่มันจะเป็นไป ถ้ามันเป็นไป มันจะเห็นสิ่งใด นั่นแหละปัจจุบัน
เราไม่มีการคาดการหมาย คือว่าไม่มีเชือก ไม่มีวัวพันหลัก ไม่เอาเชือกนั้นมามัดให้จิตใจต้องเป็นอย่างนั้น ต้องทำอย่างนั้น ต้องคาดหมายอย่างนั้น ต้องให้มันลงอย่างนั้น ไม่ใช่! ให้มันเป็นปัจจุบันทั้งหมด ปล่อยมัน สิ่งใดจะเกิด ให้มันเกิดเป็นปัจจุบัน เกิดเป็นความจริงในปัจจุบันนี้ อะไรที่เกิดขึ้น เอาตรงนั้น แล้วถ้ามันไม่เกิดขึ้น ไม่เกิดขึ้นก็ทำความสงบของใจเข้ามา เข้ามาทำความสงบ ถ้าจิตมันสงบแล้วมันมีความสุข มันตั้งมั่นได้ ถ้าจิตมันไม่สงบนะ แหม! มันเคยได้ เวลามันจำกัดมันต้องเป็นอย่างนั้น มันไปบีบคั้นตัวเอง บีบคั้นตัวเองแล้วว่าต้องได้
ฉะนั้น บีบคั้นตัวเองไม่ได้ มันต้องปล่อยให้เป็นความจริง ถ้าบีบคั้นตัวเองมันก็เป็นตัณหา วิภวตัณหา ผลักไสไง ตัณหา วิภวตัณหา ผลักไส มันไม่ต้องการ ไม่ต้องเป็น มันผลักไส มัน ผลักไสมันก็เป็นตัณหา อยากได้ก็เป็นตัณหา ทำหงิมๆ ว่าไม่อยากได้ แต่มันอยากอยู่ ก็เป็นตัณหา เป็นอัพยากฤต ตัณหาคือมันมีเชื้อของมันอยู่ มันก็เป็นของมันตลอด ถ้ามันเป็นของมันแล้ว เราต้องมีสติ แล้วเรากำหนดลมหายใจของเราเข้ามา แล้วถ้าจิตมันสงบ เราค่อยพิจารณาของเราไป อย่าให้เป็นวัวพันหลัก
การที่เราภาวนากันไม่ได้ เพราะมันภาวนาแบบวัวพันหลักไง วัวพันหลักมันสงสัยไปหมด แล้วทำอย่างไร จับต้องสิ่งใดไม่ได้หมดเลย ภาษาเราทิ้งให้หมดเลย ง่ายๆ ไม่รับรู้อะไรทั้งสิ้น พุทโธอย่างเดียว มีสติ หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ มันจะเป็นอะไร มันเป็นแล้ว มันจะเป็นอะไร มันเป็นขึ้นมา ง่ายๆ ภาษาเรานะ ไม่ต้องคิดอะไรเลย ไม่ต้องใช้ปัญญาด้วย พระพุทธเจ้าคิดให้เสร็จแล้ว พระพุทธเจ้าทำไว้ให้เสร็จหมดแล้ว
ไอ้เรานี่อยากจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ อยากพิสูจน์ใหม่ ไม่ต้อง พระพุทธเจ้าทำให้เสร็จหมดแล้ว พุทโธไปเรื่อยๆ พุทโธไปเลย ก็พุทโธแล้วมันไม่ใช้ปัญญาไงปัญญามันจะเกิดต่อเมื่อมีสมาธิ ถ้าไม่มีสมาธิ ปัญญานั้นเป็นโลกียปัญญาๆ กิเลสหมด ปัญญาที่เราคิดกันอยู่เขาเรียกโลกียปัญญา ปัญญาจากการศึกษา ปัญญาจากการคาดหมาย คิดไปเถอะ คิดให้ตาย คิดให้ตายก็ตายอยู่กับความคิดนั่นน่ะ
แต่ถ้าจิตมันสงบแล้ว จิตสงบ เห็นไหม เกิดภาวนามย-ปัญญา ปัญญาเกิดจากจิตสงบ พอจิตสงบ ทำไมถึงจิตสงบ จิตสงบเพราะว่าตัณหามันสงบตัวลง จิตสงบแล้ว เห็นไหม ความคิดของเรา รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เขาเรียกขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ คนถ้ามีสติสัมปชัญญะ ขันธ์ ๕ มันทำงานอยู่ เรายังมีอารมณ์ความรู้สึก มันกระทบรับรู้ แต่ถ้าขณะว่าจิตมันไม่รับรู้นะ เราเห็นรูป แต่เราไม่เข้าใจว่ารูปไง บางทีเราเห็นภาพอะไร เรานึกถึงภาพนั้นไม่ได้ เห็นภาพแต่ไม่รู้ว่าภาพอะไร นั่นน่ะเห็นโดยอายตนะ แต่จิตมันไม่ทำงาน
แต่ถ้ามันสงบ อายตนะ ความรู้สึกนึกคิดมันจะดับลง เหลือแต่ผู้รู้ชัดๆ ผู้รู้เด่นๆ ผู้รู้ตัวเดียว ผู้รู้สักแต่ว่ารู้ นั่นแหละตัวจิต นั่นคือตัวสมาธิ แล้วฝึกหัดใช้ปัญญา เวลามันเป็นอย่างนี้แล้ว มันใช้ปัญญาไม่เป็นเหมือนกันนะ มันใช้ปัญญาไม่ได้ มันใช้ปัญญาไม่ได้เพราะมันใช้ไม่เป็น ถ้ามันน้อมไปให้เห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง ถ้ามันน้อมไปเห็นนะ ถ้าเห็นคราวนี้ เห็นคราวนี้การปฏิบัติแนวทางสติปัฏฐาน ๔ มันอยู่ตรงนี้ ไม่ใช่ว่ามาจากไหนก็สติปัฏฐาน ๔ มันนึกเอาเอง มันคาดหมายเอาเอง คอมพิวเตอร์มันดีกว่า
ทางงานวิจัยเขาสร้างภาพในคอมพิวเตอร์ พับ! พับ! พับ! โอ้โฮ! เดี๋ยวพระอรหันต์ไหลออกมาจากคอมพิวเตอร์เลย เพราะมันคำนวณได้ คอมพิวเตอร์มันคำนวณได้ มีจิตไหม คอมพิวเตอร์มันมีเวรมีกรรมไหม คอมพิวเตอร์มันเป็นสสาร มันเป็นเหล็กนะ เป็นทองแดง เป็นทอง มันมีชีวิตไหม เราจะบอกว่ามันไม่มีกิเลส คอมพิวเตอร์ไม่มีกิเลส แล้วเอาอะไรไปฆ่ามัน คือมันไม่มีเหตุให้ต้องไปฆ่า มันไม่มี แต่จิตเรามี ความรู้สึกเรามี กิเลสมันอยู่ที่นี่ มันต้องกลับมาที่ไง
ฉะนั้น จิตต้องสงบก่อน ไม่ใช่บอกว่า “พุทโธไม่ได้อะไร พุทโธไปทำไม พุทโธ...” อ้าว! ไม่อย่างนั้นพระพุทธเจ้าจะไม่บอกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา แต่พวกเราบอกว่าปัญญาๆ ตะบี้ตะบันว่าจะเป็นปัญญา ตะบี้ตะบันว่านี่สติปัฏฐาน ๔ เอ็งสติปัฏฐาน ๔ เอ็งคิดแบบแนวทางใหม่ ไม่เหมือนพระพุทธเจ้าสอน พระพุทธเจ้าคิดให้เสร็จหมดแล้ว พระพุทธเจ้าทำให้เรียบร้อยหมดแล้ว แล้วเวลาเขาพูด เขาพูดพุทธพจน์ด้วยนะ อันนั้นพุทธพจน์นะ ไอ้ของเราสาวกภาษิต เชื่อตามๆ กันมา ไม่ใช่พุทธพจน์ซะอีก มันยิ่งกว่าพุทธพจน์ พุทธพจน์ มันเป็นความจริง
นี่พูดถึงว่า ถ้าพูดถึงเขาบอกว่าเวลาเขาพูดว่าพุทโธ ไอ้พวกกรรมฐานไม่กล้าพูดว่าพุทโธ อาย เพราะเขาบอกว่าพุทโธไม่ใช้ปัญญา โอ้โฮ! ม้วนเลย กรรมฐานม้วนเลยนะ โอ้ย! พุทโธ มันไม่ใช้ปัญญา ปัญญา มันต้องใช้ปัญญา จะบอกว่าไอ้ที่ปัญญาๆ นั่นไม่ใช่พุทโธหรอก ไอ้นั่นมันควาย มันควายเพราะอะไร เพราะควายมันกินหญ้าเสร็จแล้ว มันก็ไปนอนแช่น้ำเคี้ยวเอื้องใช่ไหม ใช้ปัญญาไง นิพพานคือความสงบเย็น ความสงบเย็นก็ต้องแช่น้ำให้เย็นๆ แช่ไปเย็นๆ เลย นั่นน่ะ ปัญญาอย่างนั้นมันควาย มันกำลังเคี้ยวเอื้อง มันกินเข้าไปแล้วในกระเพาะมันขย้อนออกมาเคี้ยวอีก เคี้ยวเอื้อง นี่ปัญญา เคี้ยวเอื้อง
เวลาบอกพุทโธ จริงๆ แล้วเราไม่ค่อยพูดไปข้างนอก เพราะว่าเราเข้าใจ เพราะเวลาเขาบอกว่า “พุทโธไม่ได้ใช้ปัญญา” อู้ฮู! มันหน้าบาง มันอาย มันเจ็บ เลยไม่กล้าพูดพุทโธเลย ถ้าบอกพุทโธเขาจะบอก “อู้ฮู! ไอ้พวกพุทโธเป็นสมถะ มันไม่มีปัญญา” อู๋ย! อาย ม้วนเลย
แต่พุทโธสร้างพระอรหันต์มา ครูบาอาจารย์กรรมฐาน สร้างพระอรหันต์มาเต็มเลย แล้วเวลาหลวงปู่มั่นท่านสั่งหลวงตาไว้นะ อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ ไม่เสีย ใครทิ้งผู้รู้ ใครทิ้งพุทโธ ไอ้นั่นน่ะมันตัดรากของมัน มันจะเสีย มันจะเสียเพราะอะไร เพราะมันจินตนาการคิดไปเรื่อยๆ คิดไปเรื่อยๆ คิดไปเรื่อยจนไม่มีราก รากลอย แล้วเดี๋ยวมันก็ไปตายข้างหน้า แล้วก็บอกนี่ลูกศิษย์กรรมฐาน ลูกศิษย์กรรมฐานตายกันเป็นแพอยู่นู่นน่ะ ไอ้พวกที่เขาว่าโง่บรรลัย ไอ้พวกโง่เซ่อนั่นน่ะ อู้ฮู! อยู่วัดอยู่วามีความสงบร่มเย็น เพราะว่าจิตใจมันมีความสงบไง ไอ้ที่โง่ๆ เซ่อๆ โอ้โฮ! พระอรหันต์ทั้งนั้นเลย เพราะอะไร เพราะมันเป็นจริง
ฉะนั้น มันง่ายๆ มันพุทโธไป แล้วไอ้ที่ว่าใช้ปัญญาๆ ไป สิ่งที่มันศึกษามาไง ศึกษามาบอกว่าจิตเขาเสื่อมไป ๑๐ วัน แล้วพอเสื่อมไป ๑๐ วัน แล้วพิจารณาแล้ว เห็นไหม เรื่องต่างๆ มันหายไป หายไป ก็กลับมาอยู่ที่คำบริกรรมพุทโธ แล้วพุทโธแล้วก็กลับไปคิด พุทโธไปเรื่อยๆ ให้มันสงบแล้ว ถ้ามันพิจารณาของมันไปแล้วมันปล่อย พอปล่อยแล้ว พอปล่อยนะ เราพิจารณาแล้วแต่มันปล่อย มันปล่อยเราก็กลับมาอยู่กับพุทโธ เพราะอะไร ถ้ามันปล่อยอยู่เฉยๆ มันเร่ร่อน
ถ้ากลับมานี่ เห็นไหม ที่ว่า “อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ” เพราะอะไร เพราะถ้าจิตความรู้สึกถ้าปล่อยมัน มันไปเกาะอะไร ความรู้สึกมันปล่อยแล้วมันไม่มีสติใช่ไหม มันก็ต้องเกาะพุทโธไว้ ระลึกถึงพุทโธไว้ ระลึกถึงพุทโธ เราอยู่กับพระพุทธเจ้า แล้วจิตเกาะพระพุทธเจ้าไว้ ถ้ามันละเอียดมันก็ละเอียดเข้ามา ละเอียดเข้ามาจนพุทโธไม่ได้ เป็นตัวของมันเอง พอมันคลายตัวเราก็พุทโธต่อไป ถ้ามันมีสิ่งใดกระเทือนใจ สิ่งใดสะกิดใจ เราก็พิจารณาไป ถ้าพิจารณาไปนั่นคือวิปัสสนา นี่สติปัฏฐาน ๔ ถ้ามันเดินตามแนวทางนี้ ง่ายๆ ไม่มีอะไรพิสดารเลย มันจะพิสดารเพราะกิเลสมันหลอกนี่แหละ ไอ้วัวพันหลัก ไอ้ความวิตกกังวล ไอ้ความคิดมันพันคอ แล้วพันคอไป พอพันคอไปเป็นปัญญาหมดนะ หลวงพ่อไม่ฟังหนูเลย ของหนูถูกหมดนะ
เวลาใครมาถามปัญหา ส่วนใหญ่นะ ถ้าเราจะฟังเหตุผล ถ้าเขาทำของเขามา เขาถามว่าถูกไหม ถูก ถูกเพราะอะไร ถูกก็คือการกระทำมันมา พอกระทำมาแล้ว ผลกระทบแล้ว ตอบสนองแล้วมันจะมีความรู้สึก ความรู้สึกนั้นถูกไหม ถูก แต่ความรู้สึกนี้มันเป็นเบสิก ความรู้สึกของเรามันเหมือนเด็กๆ เราฝึกเด็กๆ ใช่ไหม เด็กๆ ทำอะไรได้ เด็กๆ ให้มันเก็บใบไม้ ให้มันช่วยผู้ใหญ่ถือของ ก็เท่านั้นน่ะ
ฝึกหัดภาวนาไปมันก็อย่างนั้นน่ะ ฝึกหัดภาวนาไป ก็ทำให้ตัวเองเป็นตัวของตน ทำจิตของเราให้มั่นคงขึ้นมา มันก็เหมือนเราฝึกหัดจิตของเราขึ้นมา เราบอกถูกไหม ก็ถูก เก็บใบไม้ไปทิ้งใบหนึ่งก็ดีแล้วไง เราทำความสะอาดเพื่อสังคมไง จะทำอะไร ดีทั้งนั้นน่ะ แต่! แต่ต้องเติบโตขึ้นมา ต้องเติบโตจากเด็กขึ้นมาให้เป็นผู้ใหญ่ แล้วผู้ใหญ่แล้วจะมีความรับผิดชอบ เพราะผู้ใหญ่ต่อไปจะเป็นหัวหน้าครอบครัว ต้องหาเลี้ยงชีพ มันต้องไปอีกไกลมากเลย
ฉะนั้น คำว่า “ถูกไหม” ถูก ถูกในการที่ว่าเราฝึกหัด แล้วมีหลักมีเกณฑ์ คำว่า “มีหลักมีเกณฑ์” คือถ้าไม่ฝึกหัดมันเหลวไหลนะ ถ้ากิเลสมันท่วมท้นนะ มันเที่ยวพาลพาโล ไปทำร้ายคนอื่นแล้ว ถ้าเราฝึกหัดจิตใจเราไม่ให้กิเลสมันพาไป ไอ้นี่มันก็ความดีแล้วแหละ แต่ความดี ความดีแค่หลบหลีกกิเลส ไม่ใช่ความดีเพื่อจะบรรลุธรรม ความดีเพื่อหลบหลีกกิเลสนะ ถ้าไม่หลบหลีกมัน มันก็จะพาเราไป พาเราไปทำสำมะเลเทเมา พาเราทำไปตามเรื่องของมัน ถ้าเราภาวนาปั๊บ อย่างน้อยที่เราได้มา กิเลสมันมายั่วยุเราไม่ได้ กิเลสมันจะชักชวนเราให้ไปทำผิดเสียหายไม่ได้
แต่เราภาวนา ภาวนาแล้วเราเจริญงอกงามขึ้นไปไหม ภาวนาแล้วเราดีขึ้นไปไหม ถ้าภาวนาแล้วดีขึ้นไป ง่ายๆ อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ แค่นี้จริงๆ แต่เวลาทำขึ้นมาแล้วผลที่ให้มันมหาศาลไง ผลที่ให้มันจะเป็นสัมมาสมาธิ ผลที่ให้มันจะเป็นสมถกรรมฐาน ฐานที่ก่อร่างสร้างตัว
ถ้าใครมีฐานที่ก่อร่างสร้างตัว เราจะสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาจากสมถกรรมฐาน เพราะมีสมถกรรมฐานมันถึงเกิดวิปัสสนาบนสมถกรรมฐาน สมถกรรมฐานคือจิตของเรา ภวาสวะคือภพ คือชีวิตเรา คือจิตวิญญาณของเรา ถ้าจิตวิญญาณของเราอยู่ที่นี่ แล้วคุณงามความดีมันเกิดบนจิตวิญญาณดวงนี้ นี่สมถกรรมฐาน
แล้วมันไม่มีสมถกรรมฐาน คือไม่มีที่ทำงาน ไม่มีตัวตนของตน แล้วมันคิดอะไรกันนั่นน่ะ ความคิดมันก็ลอยลมไง ความคิดมันไม่มีที่ไป นี่ที่ว่า “สติปัฏฐาน ๔ ใช้ปัญญาไปเลย ใช้ปัญญาไปเลยนี่แนวทางสติปัฏฐาน ๔” จริงๆ นะ เราเศร้าใจมาก ว่าสังคมพุทธทั้งสังคม ทำไมมันเหลวไหลกันอย่างนั้น ตัวตนของตนแท้ๆ ยังไม่รู้จักตัวตนของตน แล้วมันภาวนาอะไรกัน สัมมาสมาธิตัวของเราแท้ๆ คนไม่รู้จักคน มันทำงานได้ไหม คนไม่มีสติสัมปชัญญะว่าตัวเราคนนั้นจะเป็นคนดีหรือคนเลว คนมันจะดี มันจะเลว มันต้องมีสติสัมปชัญญะรู้จักตัวตนของตนก่อนนะ ถ้าตัวของตน เรารู้ว่าเราเป็นใคร เรามีสติสัมปชัญญะมากน้อยแค่ไหน แล้วเราจะทำงานต่อไปข้างหน้า นั่นน่ะมันถึงจะเป็นปัญญาขึ้นมา มันถึงจะเป็นวิปัสสนาขึ้นมา
นี่พูดถึงว่า จะรักษาใจอย่างไร รักษาใจไว้ ก็รักษาใจไว้ไม่ให้เป็นวัวพันหลัก ไอ้วัวพันหลักก็ไอ้เชือกที่มาพัน คือความสงสัย คือความลังเล คือความอยากได้ คือความต้องการ นั่นแหละวัวพันหลัก แล้วมันก็จะพันเอาหัวใจนี่ดับไปเลย ทุกข์มาก ถึงสิ้นแก่ชีวิตว่าอย่างนั้นเลยนะ วัวมันโดนพันจนตาย ฉะนั้น ตัดเชือกทิ้งซะ แล้วเราพุทโธของเรา เราทำเป็นของเรา
แล้วอย่างสิ่งที่ว่ามันเกิดขึ้น เขาบอกว่า “เอาความเสียใจมาคิด” นี่คือเหตุผล นี่คือปัญญา ใช้ได้หมดน่ะ คิดของเราไปเรื่อย ทำของเราไปเรื่อย พิจารณาของเราไป ถ้ามันพิจารณาไปแล้วมันไม่มีเหตุมีผล คือพิจารณาแล้วมันจืดชืด กลับมาพุทโธ ถ้ามันมีศีล สมาธิ ปัญญานะ มันดูดดื่ม มันมีรสชาติ รสของธรรม รสของสติธรรม รสของสมาธิธรรม รสของปัญญา แล้วรสของวิมุตติธรรม รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง มันมีรสมีชาติ
แต่ถ้ามันเป็นสัมมาสมาธิ มันเป็นความถูกต้องดีงาม โอ้โฮ! มันอิ่มอกอิ่มใจ มันเบิกบาน มันมีความสุข นั่นน่ะรสของธรรม รสของสมาธิธรรม ถ้ารสของปัญญานะ อู้ฮู! มันถอดมันถอน มันสำรอก มันมหัศจรรย์ จิตนี้มหัศจรรย์มาก แต่ถ้ามันอั้นตู้ อันนั้นกิเลส รสของกิเลส กิเลสมันปิดหูปิดตา อันนั้นรสของกิเลส ฝึกหัดอย่างนี้ พิจารณาไป เพราะในหัวใจเรามีกิเลสกับธรรม
หลวงตาท่านพูดอย่างนี้ ท่านบอกว่า “ใจเราเหมือนเก้าอี้ดนตรี กิเลสมันนั่งหรือธรรมะนั่ง ถ้าธรรมะนั่งก็รสของธรรม ถ้ากิเลสนั่งก็รสของกิเลส หัวใจเรานี้เหมือนเก้าอี้ดนตรี ระหว่างกิเลสกับธรรมมันต่อสู้คัดค้านกัน แก่งแย่งชิงที่นั่งบนนี้ ถ้ากิเลสมันนั่งในหัวใจ ทุกข์มากๆ เลย ถ้าคุณธรรมนั่งบนหัวใจเรา โอ้โฮ! ทำไมมันสุดยอดขนาดนี้ ทำไมมันสุดยอดขนาดนี้”
แต่มันก็ผลัดกัน มันขับไสกัน มันขับดันกันในใจนี้ เราปฏิบัติ เราก็สร้างสติ เราพยายามระลึกถึง คำว่า “สร้าง” เดี๋ยวเขาหาว่านี่ธรรมะสร้าง ไม่ใช่ของจริงอีกน่ะ คำว่า “สร้าง” คือฝึกฝน คือขวนขวาย ขวนขวายให้มันเป็นขึ้นมา ถ้ามันเป็นขึ้นมามันจะเป็นประโยชน์กับเรา ฉะนั้น สิ่งที่เขาทำมาๆ มันทำไป
ฉะนั้น คำว่า “จิตเสื่อม จิตเสื่อม” ไอ้จิตเสื่อมมันธรรมดานะ มันทำให้จิตเสื่อมลงไปเรื่อยๆ จิตเสื่อมมันเป็นเรื่อง คำว่า “ธรรมดา” คือว่าสิ่งใดที่มันเจริญขึ้นมันต้องเสื่อมลงเป็นธรรมดา สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง ทีนี้คำว่า “เจริญแล้วเสื่อม เจริญแล้วเสื่อม” มันต้องเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าเราฝึกหัด พอมันเสื่อมแล้วเราฟื้นฟูขึ้นมาด้วยสติ ด้วยคำบริกรรม พอฟื้นฟูขึ้นมา เราก็ฟื้นฟูของเราบ่อยๆ ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ ถ้าฟื้นฟูมันชำนาญแล้วมันจะเสื่อมไปไหน น้ำเทใส่ตุ่มเต็มอยู่ตลอดเวลา มันจะลดจากตุ่มไปได้อย่างไร เทจนล้นอยู่อย่างนี้
นี่ก็เหมือนกัน พุทโธอยู่กับผู้รู้ อยู่กับพุทโธตลอดเวลา สร้างเสริมตลอดเวลา รักษาอยู่ตลอดเวลา น้ำมันล้นโอ่งตลอดเวลา คือสมาธิมันล้นสมาธิอยู่แล้ว มันจะเสื่อมไปไหน สมาธิคือสมาธิ แค่น้ำเต็มแก้ว สมาธิก็แค่สมาธิมันเป็นอื่นไปไม่ได้ สติก็เป็นสตินี่แหละ แต่ถ้าฝึกหัดใช้ปัญญาได้แล้วมันก็เข้าสู่มรรค ถ้าฝึกหัดใช้ปัญญาไม่ได้มันก็ไม่เข้าสู่มรรคไง แต่ถ้าไม่มีสมาธินะ ว่างๆ ว่างๆ ก็น้ำในตุ่มไม่มีไง พอน้ำในตุ่มมันก็ว่างหมดไง ตุ่มน้ำ คว่ำน้ำทิ้งแล้วเหลืออะไร ว่างๆ ว่างๆ ว่างในตุ่มนั่นน่ะ ไม่มีอะไรเลย พูดถึงว่าการฝึกหัดของเรานะ เราฝึกหัดอย่างนี้ นี่คือการรักษาใจ รักษาใจ อันนี้จบนะ
หลวงพ่อ : ทีนี้ไอ้เขาว่าไม่ใช่คำถาม แต่เป็นคำที่อยากจะปรารภ เราก็รู้สึกว่าอยากจะอ่านซะด้วย
ถาม : กราบนมัสการหลวงพ่อเจ้าค่ะ วันนี้หนูไม่มีคำถามค่ะ หนูอยากจะเขียนมากราบขอบพระคุณหลวงพ่อในความเมตตาค่ะ ในวันนั้นหนูยังไม่เข้าใจในสิ่งที่หลวงพ่อชี้แนะ หนูได้แต่เสียใจ และน้อยใจหลวงพ่อมากค่ะ (ที่หลวงพ่อตอบคำถามหนูว่าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ในคำถาม-ตอบ)
เสียใจมากจนอยากจะกลับบ้านไปในวันนั้นเลย เหมือนสิ่งที่หนูพยายามทำมามันสูญเปล่า เหมือนหนูไม่เหลืออะไรเลย (ตอนนั้นหนูอยู่วัดเป็นอาทิตย์ ก็ยังไม่สงบเลย) ด้วยความน้อยใจมาก หนูจึงพยายามเดินจงกรมจนจิตสงบลงได้ หนูรู้สึกซาบซึ้งในพระคุณหลวงพ่อมากค่ะ ร้องไห้น้ำตาไหลบนทางจงกรมหลายรอบ หนูเข้าใจในสิ่งที่หลวงพ่อชี้แนะแล้ว จึงได้กลับไปทำใหม่ เริ่มต้นใหม่ ทิ้งอารมณ์เก่าๆ ที่เคยได้สัมผัสนั้นลง
ที่ผ่านมาหนูเหมือนโง่มาก โง่จริงๆ ค่ะหลวงพ่อ ฟังเทศน์เอาแต่ปีติ ภาวนาเอาแต่ปีติ กระทั่งหลวงพ่อเทศน์ว่า “แล้วสุขเอกัคคตารมณ์มึงไม่เอาหรือ” หนูถึงฟื้นขึ้นมาได้ค่ะ ตั้งแต่นั้นมา หนูรู้สึกว่าจิตสงบได้เร็วขึ้นค่ะหลวงพ่อ ปีติเกิดก็ปล่อยให้มันเกิดไป แล้วหนูก็พุทโธต่อ ทำอย่างนี้มาตลอดค่ะ ช่วงนี้รู้สึกว่าเดินจงกรมมาแล้วจิตมันลงได้เกือบทุกวันค่ะ บริกรรมพุทโธไปไม่นาน พุทโธมันก็ถึงหัวใจ และมันสะเทือนหัวใจมากค่ะ ร้องไห้สะอึกสะอื้น
หลวงพ่อ : แล้วอย่าเขียนมาด่าอีกนะ เวลาอย่างนี้ แหม! ชมจังเชียว เวลาไม่ถูกใจแล้ว แหม! เอาทีเดียวแหละ
ถาม : ร้องไห้สะอึกสะอื้นเหมือนกันค่ะหลวงพ่อ ทำไมคำว่า “พุทโธ” ถึงสะเทือนหัวใจเรารุนแรงขนาดนั้น จนเราถึงกับร้องไห้ออกมาเลย ตอนนี้ไม่ว่าจะมีอาการไหน หนูก็อยู่กับพุทโธค่ะ แต่ยังไม่กล้าออกพิจารณาต่อ กลัวจะเป็นจินตนาการทั้งหมดค่ะ ตอนนี้พยายามทำใจให้สงบให้ได้ง่ายขึ้นค่ะ อยู่กับพุทโธให้นานๆ
สุดท้ายนี้หนูขอกราบขอบพระคุณหลวงพ่อค่ะ ที่ช่วยทุบกิเลสหนู ให้หนูตื่นจากการหลับไหล บ้าในอารมณ์เก่าๆ ที่เคยได้ แล้วไม่ก้าวหน้า มีแต่เสื่อมถอยลงเรื่อยๆ ก่อนจะกลับบ้านหลังปีใหม่ หนูจึงอยากเขียนมากราบขอบพระคุณหลวงพ่อ และรายงานผลการปฏิบัติต่อ และอยากกราบขอกำลังใจจากหลวงพ่อให้ใช้ชีวิตในทางโลกต่อไปค่ะ จากลูกศิษย์ผู้โง่เขลา
หลวงพ่อ : เขาว่าอย่างนั้นนะ เวลาถูกใจล่ะแหม! ชอบ ชอบ เวลาไม่ถูกใจล่ะ โกร้ธ โกรธเลย
ตอบ : ไอ้ที่พูดนั่นนะ มันก็อย่างที่ว่านี่มันเป็นเบสิก มันเป็นเบสิกแล้ว ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าในสมาธิ สมาธิมันหลากหลาย แต่คนที่ไม่ชำนาญนะ ถ้าคนที่ชำนาญ เห็นไหม เวลาสมาธิเขาเรียกว่าฌาน เหมือนกับฌานสมาบัติ ฌานสมาบัติเพราะว่ามันจะไปอยู่ในปาราชิก ๔ ปาราชิก ๔ ภิกษุถ้าไม่มีในตน แล้วพูดอวดอุตตริเป็นปาราชิก คือขาดจากความเป็นพระ
เริ่มต้นตั้งแต่ฌานสมาบัติ คำว่า “ใครไม่มีสมาบัติ ว่ามีสมาบัตินะ” ขาดจากความเป็นภิกษุ เพราะอะไร เพราะมันเป็นอวดอุตตริมนุสสธรรม คือธรรมเหนือมนุษย์ไง พวกสมาธิ สมาธิมันเหนือมนุษย์นะ ถ้ามนุษย์ เราเป็นมนุษย์ธรรมดาใช่ไหม เราก็สร้างว่างๆ มันก็เป็นสมบัติของเรา แต่ถ้ามันเป็นสมาธิมันเหนือมนุษย์นะ เพราะอะไร เพราะมันอยู่ในอวดอุตตริมนุสสธรรม ถ้าอวดอุตตริมนุสสธรรมแสดงว่ามันต้องเป็นธรรมที่เหนือมนุษย์ สมาธิมันเหนือมนุษย์ มันเหนือกว่ามนุษย์ปุถุชน มนุษย์ปุถุชนมันจะรู้ได้อย่างไร
ฉะนั้น เวลาถ้ามันจะเป็นสมาธิ มันจะเหนือมนุษย์ แล้วเป็นสมาธิแล้วมันก็ไปลงในนั้น ลงในอจินไตย ๔ ในอจินไตย ๔ มีพุทธวิสัย คือปัญญาของพระพุทธเจ้านี้ใหญ่โตมาก ไม่มีใครจะรู้ได้ มันเป็นอจินไตยเลย แล้วก็เรื่องกรรม เรื่องโลก แล้วก็เรื่องฌาน เรื่องสมาธิ สมาธิมันกว้างขวางจนเป็นอจินไตยเลยนะ มันกว้างขวางจนจะคาดหมายกันไม่ได้เลยล่ะ
แต่ถ้าครูบาอาจารย์เราทำมาแล้ว คนรู้จริง คนรู้แล้ว ได้หมด ฉะนั้น พอมันได้หมดปั๊บ พอมันจะได้สิ่งใดมามันก็แบบว่า จะบอกว่า เราจะพูดไม่ได้ยกก้นตัวเองนะ ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ที่เป็นจริง ท่านจะบอกในแง่เป็นจริง เหมือนกับเชฟใหญ่เลย เชฟใหญ่ เห็นไหม น้ำตาลรสอย่างนี้ น้ำตาลมะพร้าว น้ำตาลทราย อาหารจะผสมด้วยน้ำตาลทราย หรือน้ำตาลมะพร้าว
นี่ก็เหมือนกัน สมาธิจะมาก จะน้อย สมาธิ ในปัญญาอบรมสมาธิ ในปัญญาวิมุตติ ในปัญญาวิมุตติมันจะมีศีล มีสมาธิ มีปัญญามากน้อยแค่ไหน ในเจโตวิมุตติ ในเจโตวิมุตติมันใช้สมาธิมากน้อยกว่าปัญญามากน้อยแค่ไหน มันเหมือนการปรุงอาหารเลย แล้วเชฟใหญ่ต้องรู้ แล้วเวลาผู้ที่ฝึกหัดมันหาส่วนผสมมา แล้วมันมาอวดกู มันก็ต้องอธิบายใช่ไหม พออธิบายไป โกร้ธ โกรธเลย นึกว่าอันนี้มันเป็นสุดยอดอาหารเหรียญทองแล้วไง
โธ่! ทีนี้มันก็เป็น ถ้ามีครูบาอาจารย์ที่ดี ครูบาอาจารย์ที่ถูกต้องนะ ท่านจะคอยแนะคอยสอน แต่มันจะสอนมันต้องมีอุบายไง อ้อมๆ ไปบอกนะ จะบอกมึงเรื่องนี้นะ กูต้องอ้อมโลกไปนู่นน่ะ แล้วค่อยมาบอกเอ็ง ถ้าบอกต่อหน้ามันโกรธ มันไม่ยอม แล้วกิเลสถ้ามันโกรธแล้วนะ มันเกิดทิฏฐิ สิ่งที่จะแก้ได้ เลยแก้ไม่ได้ สิ่งที่มันจะวางแล้วนะ ถ้าพูดไม่ให้มันเสียหน้า มันวางได้ ถ้าพูดให้เสียหน้านะ อย่างไรก็ไม่วาง
เนี่ยวิธีการจะสอน วิธีการจะแก้กิเลส หลวงปู่มั่นถึงบอกว่า “แก้กิเลสแก้ยากมากนะ ยากมากนะ” บอกตรงๆ โอ้โฮ! โกรธกันตายเลย ต้องอ้อมโลกเลยนะ กูต้องไปเที่ยวรอบโลกก่อน กลับมาก่อนแล้วค่อยมาเทศน์ให้มึงฟัง ต้องอ้อมโลกไปแล้วมาบอกมัน มันบอกว่า เออ! ใช่ค่ะ ใช่ค่ะ แต่ถ้าบอกมันตรงๆ นะ โอ้โฮ! มันโกรธตายเลย นี่ไง แต่ไอ้นี่ที่มันเขียนมา เราก็บอกตรงๆ แล้วเป็นปัญญาอบรมสมาธิ แต่เขาคิดว่ามันจะเป็น โอ้โฮ! โสดา-ปัตติมรรคแล้วมันจะได้มรรคได้ผลไปแล้วไง
ก็เตือน เตือน เตือนเพราะอะไร เตือนหมายความว่ามันกำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม จิตอยู่ในระดับนี้ถ้ามันทำอย่างนี้มันจะได้ประโยชน์อย่างนี้ จิตอยู่ระดับนี้ทำอย่างนี้มันจะได้ประโยชน์อย่างนี้ จิตอยู่ในระดับนี้แต่มันหลงไปแล้ว มันทำแล้วมันเสื่อมหมด ทำแล้วมันจะเสียหายหมดไง
ไอ้เราเพราะคำถามมันมา เราถึงบอกว่ามันอยู่ระดับนี้ มันควรทำอย่างนี้ ควรทำอย่างนี้ เพื่อประโยชน์อย่างนี้ พูดเป็นสัจจะเป็นความจริงนะ อู๋ย! โกรธจะเป็นจะตาย สุดท้ายแล้วก็หนูโง่มากค่ะ แล้วหนูก็ขอบพระคุณหลวงพ่อมากค่ะ นี่ก็พูดเอามาเป็นคติ เป็นตัวอย่างเฉยๆ เขาเขียนมา มันก็เป็นคติ เป็นตัวอย่าง เห็นไหม ไม่ให้เป็นวัวพันหลัก เอวัง