เข้าใจไม่ตรงกัน
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๗ มกราคม ๒๕๖๐
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “ความเหมาะสม ถูกต้อง สมควรตามศีลธรรม จริยธรรม”
หลวงพ่อ : นี่คำถามเนาะ พูดถึงคำถาม คำถามนะ ข้อ ๑๙๙๘ ความเหมาะสม ถูกต้อง สมควรตามศีลธรรมและจริยธรรม คำถามแต่รายละเอียดเราจะไม่อ่านเลย รายละเอียดยกไว้ แล้วรายละเอียดนี้แบบว่าให้แขวนไว้เลย แล้วจะบอกว่า เราจะพูดโดยสัจจะ โดยความเป็นจริงนะ แล้วโดยสัจจะโดยความเป็นจริง เว็บไซต์ของเรา เราเป็นเว็บไซต์พระปฏิบัติ ถ้าพระปฏิบัติ เขาจะตอบปัญหาเรื่องการปฏิบัติ
ตอบ : แล้วถ้าเรื่องการปฏิบัตินะ เวลาหลวงตาท่านพูด วิถีแห่งจิต เวลาขันธ์นะ เวลาจิตมันทำงาน มันทำงานอย่างไร ถ้าทำงานอย่างไรนะ เวลาคนถาม เขาจะถาม ถามเรื่องปัญหาอย่างนั้น ถ้าถามเรื่องปัญหาอย่างนี้ ถ้าพูดถึงปัญหาของพระปฏิบัติ เขาจะตอบเรื่องการประพฤติปฏิบัติ เขาไม่ตอบเรื่องปัญหาสังคม ปัญหาต่างๆ มันปัญหาร้อยแปด
ฉะนั้น เวลาเว็บไซต์ทั่วไป ถ้าเว็บไซต์ทั่วไปเขาก็ตอบปัญหาร้อยแปด ถ้าตอบปัญหาร้อยแปด ถ้าคนจิตใจของคน ถ้ามันมีความชอบ ชอบอย่างนั้น เขาก็เข้าไปในเว็บไซต์อย่างนั้น แต่เว็บไซต์ของเราเป็นเว็บไซต์ตอบปัญหาปฏิบัติธรรม ถ้าเว็บไซต์ตอบปัญหาปฏิบัติธรรมนะ เวลาหลวงปู่มั่นท่านพูดไง “แก้จิตแก้ยากนะ ถ้าแก้จิตแก้ยากนะ ผู้เฒ่าจะแก้ว่ะ”
ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เว็บไซต์ของเรา เราเปิดเว็บไซต์ไว้ เวลาผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ประพฤติปฏิบัติเรามีความเห็นผิด หรือการปฏิบัติไปมันมีปัญหาขึ้นมาให้ถามปัญหามา เราจะตอบเรื่องการประพฤติปฏิบัติ ถ้าการปฏิบัติธรรม เราจะตอบเรื่องปฏิบัติธรรม แต่ถ้าเป็นเรื่องของทาน เรื่องของศีล เรื่องของภาวนา เห็นไหม ถ้าเรื่องของทาน เรื่องของทานมันเรื่องระดับของสังคม ถ้าระดับของสังคม สังคมมีปัญหาอย่างใด สังคมมีความกระทบกระเทือนกันอย่างใด คนทำบุญๆ ทำบุญเพื่อร่ำเพื่อรวย เพื่อพ้นจากทุกข์ เพื่อพ้นจากความทุกข์ความยากอันนั้น เพื่อประสบความสำเร็จ อันนั้นระดับของทาน
ระดับของศีล ระดับของศีล มันผู้ที่มีศีลมีธรรม เห็นไหม ระดับของภาวนา ระดับของภาวนา เรื่องภาวนา พระปฏิบัติ พระปฏิบัติเขาจะตอบปัญหาเรื่องภาวนา ถ้าเป็นเว็บไซต์ของเรา เราจะตอบปัญหาเรื่องภาวนา ถ้าพูดถึงปัญหาทางโลก ปัญหาทางสังคม ปัญหาครอบครัว ปัญหาอย่างนี้มันเป็นปัญหาสังคม ถ้าปัญหาสังคม ทั่วๆ ไป เว็บไซต์ทั่วไปมันมี
ฉะนั้น เราจะบอกว่า สำหรับผู้เขียนปัญหานี้มาเลย ว่าถ้าต่อไปนี้ ต่อไปนี้ถ้าจะปัญหาสังคมก็ต้องไปเว็บไซต์ที่เขาตอบปัญหาสังคมนั้นไง แต่ถ้ามาเว็บไซต์เรา เว็บไซต์เรา เห็นไหม มันเป็นความเข้าใจที่ไม่ตรงกันน่ะ ถ้าเป็นความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน มันก็จะพูดแต่เรื่องสังคม เรื่องสังคมอย่างนี้ ถ้าพูดถึงปัญหาสังคม เรื่องปัญหาในครอบครัว ปัญหาในบ้าน ร้อยแปดพันเก้า แล้วก็จะบอกบุญกุศลเป็นอย่างไร ทานเป็นอย่างไร ศีลเป็นอย่างไร มันไม่จบไม่สิ้นน่ะ
คำว่า “ไม่จบไม่สิ้น” มันเป็นปัญหาสังคม ถ้ามาในเว็บไซต์เรานะ ถ้าเว็บไซต์เรามันเป็นปัญหา ปัญหาในการประพฤติปฏิบัติ ถ้ามีปัญหาในการประพฤติปฏิบัติได้เลย แต่ถ้าปัญหาสังคมให้จบไป ฉะนั้น ให้จบแล้ว เพราะว่าเราพยายามจะพูดไง เวลาจะพูดนะ ผู้ที่เวลาเว็บไซต์ที่ประพฤติปฏิบัติน่ะเขาพูดกันไม่ลูบหน้าปะจมูก พูดตรงไปตรงมา แล้วพูดหนเดียว พูดหนเดียวแล้วก็จบไง อย่างเช่น ปฏิบัติแล้วมีความเห็นอย่างไรใช่ไหม มีความเข้าใจผิดอย่างไร ก็พูดให้เข้าใจ แล้วเวลาถาม ถามคำถามเดิม คำถามซ้ำมาแสดงว่าขาดสติ แสดงว่าพูดไปแล้วไม่เข้าใจหรือไง
ถ้าพูดแล้วไม่เข้าใจแล้ว พูดแล้วมันจะวนอยู่นั่น ถามซ้ำถามซาก ถามเรื่องเดิม ถามอยู่อย่างนั้น เอ๊ะ! มันแปลกใจ คนที่เขาจะประพฤติปฏิบัติเขาต้องมีสตินะ แล้วเวลาพูดสิ่งใดมันจะเข้าใจ ถ้าเข้าใจแล้วมันก็ปฏิบัติต่อเนื่องไป นี้ผู้ที่ปฏิบัติต่อเนื่องไป คนที่เขาประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม คนที่เขาถามปัญหามา ถามปัญหามาที่เว็บไซต์เรานี่เยอะมาก แล้วพอถามปัญหาไป มันก็จบไป จบไป เงียบไปหมดล่ะ เงียบไปหมด แล้วทำไมไม่ถามล่ะ ไม่มีปัญหาให้ถาม ไม่มีปัญหาให้ถามเพราะอะไร
ศีล สมาธิ ปัญญา สมาธิคำเดียวปฏิบัติ ๑๐ ปียังไม่ได้เลย แล้วถ้าบอกให้เกิดปัญญาๆ ปัญญาที่ฝึกหัดขึ้นมา มันจะฝึกหัดได้ขนาดไหน มันถึงได้ปัญญา ไอ้นี่มีปัญหาทุกวันเลย โอ้โฮ! มันภาวนาดีขนาดนั้นเชียวหรือ มันก็ไม่ใช่ปัญหาภาวนา มันก็เป็นปัญหาสังคม พอปัญหาสังคม ปัญหาสังคมแล้วเอามาถาม ก็พระปฏิบัติ คำว่า “พระปฏิบัติ” มันไม่ใช่พระบ้าน มันไม่ใช่พระที่ว่าดูฤกษ์ ดูยาม ดูแก้เคล็ด ไอ้นั่นมันเป็นพระบ้านไง ไอ้นี่ปัญหาสังคม ปัญหาสังคมไม่จบหรอก
ปัญหาในเว็บไซต์ที่คนเขาถามมาเนี่ย แล้วน่าสงสารนะ ผู้ที่จะมาวัดมาวา เวลาเขามาวัดมาวา หรือปัญหาที่ถามมา ถามว่า
“๑. พ่อแม่ไม่เห็นด้วย พ่อแม่ไม่อยากให้ไปวัด พ่อแม่ไม่เชื่อในพระพุทธศาสนา พ่อแม่...”
ถ้ากรณีอย่างนี้ถามมาเราก็ให้กำลังใจเขา เราก็จะตอบเขา เวลาตอบบ่อยนะ พ่อแม่ไม่เห็นด้วย พ่อแม่ไม่ให้ไปวัด พ่อแม่ไม่เชื่อเรื่องศาสนา พ่อแม่ไม่เชื่อเรื่องนรกสวรรค์ ไม่เชื่อ ไอ้กรณีนี้ ถ้าเราจะแก้ไข เราจะแก้ไขว่าให้เราทำตัวเราให้ดี พ่อแม่เลี้ยงลูกมา พ่อแม่เขาจะรู้แล้วว่าลูกเรานิสัยเป็นอย่างไร แล้วถ้าเวลาเขาไปวัดไปวาแล้ว เขาพัฒนาตัวดีขึ้น เขาปฏิบัติดีขึ้น พ่อแม่เขาจะเห็นผล ถ้าพ่อแม่เห็นผล เออ! ลูกเราไปวัดแล้วดีขึ้น ลูกเราไปวัดแล้วมันจิตใจเป็นธรรม มีเมตตาธรรมในใจ
กรณีอย่างนี้จะไปแก้ไอ้ความที่เขาไม่เห็นด้วย ความที่เขาขัดแย้ง เพราะอะไร เพราะลูกไปแล้วดี เวลาปัญหาที่เขาถามปัญหามา ส่วนใหญ่เป็นปัญหาอย่างนี้ ปัญหาที่พ่อแม่กีดกัน พ่อแม่เสียใจ พ่อแม่ไม่อยากให้ไปวัด พ่อแม่ไม่เชื่อเรื่องพระพุทธ-ศาสนา แล้วไอ้ลูกที่ดี เห็นไหม ลูกที่ดีเวลาทำคุณงามความดีไปแล้ว เห็นพ่อแม่ไม่เชื่ออย่างนี้ ก็อยากให้พ่อแม่ได้บุญกุศล ถ้าได้บุญกุศล เห็นไหม มันเป็นอุบายไง ถ้าปัญหาอย่างนี้เราตอบ
นี่เป็นปัญหาในครอบครัวไหม ใช่! นี่ปัญหาในครอบครัวเหมือนกัน แต่เวลาปัญหาในครอบครัวของผู้ถามมันเป็นทิฏฐิ-มานะ ถ้ามันเป็นทิฏฐิมานะนะ กรณีอย่างนี้ ไม่ใช่โยมเป็นหรอก เราก็เป็น มนุษย์ทุกคนเป็นหมดเลย มนุษย์ทุกคนเป็นหมดเพราะอะไร เพราะมนุษย์มีพ่อมีแม่ มนุษย์มีพี่น้อง มนุษย์มันอยู่ในสังคม มีกระทบกระเทือนทั้งนั้น ทำไมมนุษย์เขาจัดการเรื่องอย่างนี้ได้ล่ะ เรื่องอย่างนี้เขาจัดการได้แล้วถ้ามันจะภาวนามันเรื่องของเรานะ เรื่องของเรา เห็นไหม พระพุทธศาสนาสอนที่ใจของเรา สอนเรื่องใจของเรา ใจเราพัฒนาหรือใจของเราไม่พัฒนา
ถ้าใจเราพัฒนานะ เรื่องที่เกิดขึ้นมันก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้น เรื่องที่เกิดขึ้นมันมีอยู่แล้ว ปัญหาสังคมไม่มีวันจบสิ้น ปัญหาสังคมไม่จบสิ้น ปัญหามันเกิดขึ้นแล้ว เราก็พัฒนาที่ใจเราใช่ไหม เรารู้แล้ววางใช่ไหม ถ้ามันวางได้ มันปล่อยวางได้ มันก็จบไง ไอ้นี่มันปล่อยวางไม่ได้ มันไปแบกไปหามมาไง พอไปแบกไปหามมาแล้วก็มาบอกว่านี่เป็นปัญหาภาวนา นี่เป็นปัญหาเรื่องบุญ เรื่องบาป มันเป็นปัญหาหนึ่ง แต่มันเป็นปัญหาที่ปลายเหตุ
คำว่า “ปลายเหตุนะ” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาท่านบวชแล้ว เห็นไหม ญาติข้างพ่อกับญาติข้างแม่แย่งน้ำกัน ท่านไปห้ามถึง ๒ หน หนแรกไปห้ามนะ ญาติข้างพ่อแม่ยกทัพมา เพราะมันเป็นภัยแล้ง มันเป็นในภาษาบาลี เราจำชื่อไม่ได้ชื่อเมืองน่ะ น้ำมันผ่านมาแล้วเขาแย่งน้ำใช้ แย่งกันทำนา ยกทัพมาจะทำสงครามกัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถามญาติข้างพ่อและข้างแม่เลยว่า
“น้ำกับชีวิตของมนุษย์ อะไรมีค่ากว่ากัน”
พวกญาติบอกว่า “ชีวิตของมนุษย์มีค่ากว่า”
“ถ้าชีวิตของมนุษย์มีค่ากว่า เราจะมารบกันเพื่อน้ำ สิ่งที่มีค่ากว่าเอามาแลกกับสิ่งที่มีคุณค่าน้อยกว่า” ได้สติยั้งคิด ก็เลิกรากันไป
พอกลับไปแล้ว ด้วยความขาดแคลนใช่ไหม ขาดน้ำทำนา ก็ยกทัพมาอีก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไปห้ามครั้งที่ ๒ ก็แยกเลิกกันไปได้ พอครั้งที่ ๓ เขายกมานะ รบราฆ่าฟันกัน ญาติข้างพ่อและญาติข้างแม่มันคนละเมืองไง เวลาแต่งงานกันมา ดองกันมา แล้วถึงเวลามันเกิดภัยแล้ง รบราฆ่าฟันตายหมดเลย
แล้วเรายกย้อนกลับมา เห็นไหม นางโคตมีเป็นน้านะ เป็นน้าขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย แล้วเป็นแม่บุญธรรม เพราะว่าพระนางมหามายาเสียชีวิตจากคลอดเจ้าชายสิทธัตถะ นางมหาโคตมีเป็นผู้เลี้ยงดูมา เราจะบอกว่า องค์-สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดา องค์สมเด็จพระสัมมา-สัมพุทธเจ้าเป็นศาสดาจะมีความกตัญญูกตเวทีไหม จะระลึกถึงคุณของผู้เลี้ยงดูมาไหม ต้องระลึกถึงคุณแน่นอน นางโคตมีเดินด้วยเท้าเปล่าจะมาขอบวชนะ เดินมาแล้วเดินมาเล่า ท่านไม่อนุญาต จนพระอานนท์ต้องไปถามว่า
“ผู้หญิงบวชแล้วจะบรรลุธรรมได้หรือไม่ได้”
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “ได้”
“ได้แล้วทำไมนางมหาโคตมี มีคุณกับองค์สมเด็จพระ-สัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างนั้น อย่างนั้น อย่างนั้น ทำไมองค์สมเด็จ-พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่อนุญาตให้บวช”
ท่านบอกว่า “ถ้าอนุญาตให้บวชแล้วเป็นภิกษุณี ถ้าภิกษุณีเข้ามาในศาสนาแล้ว ทำให้ศาสนามันแบบว่ามีผู้หญิงเข้ามา มันการปกครองมันยากไง”
ฉะนั้น พระอานนท์บอกว่าถ้าผู้หญิงบรรลุธรรมได้ มันก็ควรให้นางโคตมีบวช เพราะท่านมีบุญคุณ ถ้าจะให้บวชก็ต้องมีกติกา ภิกษุณีจะบวชถึงกี่พรรษาก็แล้วแต่ ต้องไหว้ภิกษุแม้แต่บวชในวันนั้น ภิกษุณีจะสอนภิกษุไม่ได้ ภิกษุณีจำพรรษาเองไม่ได้ ภิกษุณีเวลา ๑๕ ค่ำจะต้องมีภิกษุเข้าไปอบรมธรรมตลอดเวลา
นี่ไง เราจะให้เห็นว่าเรื่องส่วนตัว เรื่องส่วนตัวขององค์-สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าน่ะเป็นเรื่องส่วนตัว แต่เวลาองค์-สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติธรรมวินัย เป็นเรื่องส่วนรวม เป็นเรื่องสาธารณะ เรื่องผลประโยชน์ของศาสนา ว่าศาสนาจะมั่นคงได้อย่างไร ท่านไม่เอาเรื่องส่วนตัวมาเจือปนกับเรื่องส่วนรวม เรื่องของศาสนาเพื่อความมั่นคงของศาสนา
เวลาพระอานนท์ พระนันทะ นี่เป็นญาติพี่น้องกันทั้งนั้นเลย แล้วพระเทวทัต พระเทวทัตเป็นลูกพี่ลูกน้องเหมือนกัน เวลาพระเทวทัต เห็นไหม เวลาให้จ้างคนมาฆ่าองค์สมเด็จพระสัมมา-สัมพุทธเจ้า ปล่อยช้างจะมาฆ่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะบอกว่าญาติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระที่ดี พระนันทะ พระอานนท์ หลายองค์ แล้วญาติขององค์สมเด็จ-พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบวชแล้วเป็นเทวทัต แม้แต่องค์สมเด็จพระ-สัมมาสัมพุทธเจ้ามันก็ยังมีปัญหาครอบครัวเลย ปัญหาครอบครัวมีทุกคนน่ะ เพราะอะไร เพราะสายบุญสายกรรม เวรกรรม เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ มันต้องมีการกระทบกระเทือนกันมา
ฉะนั้น สิ่งนี้ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมาแล้วให้รู้ ไม่ใช่ว่ามีญาติพี่น้องแล้วไม่รับรู้ รับรู้แต่วางไว้ไง วางไว้เพราะอะไร วางไว้เพราะมันเป็นทิฏฐิมานะของเขา มันเป็นกิเลสในใจของเขา เราไปแก้เขาไม่ได้หรอก เราก็มีแต่เราทำคุณงามความดี ทำคุณงามความดีของเรา ให้เขาเปรียบเทียบว่า ให้เห็นคุณงามความดีของเรา ฉะนั้น ไอ้นี่มันเป็นปัญหาสังคม มันเป็นปัญหาทางโลก มันไม่ใช่เป็นปัญหาในการประพฤติปฏิบัติ
ฉะนั้น โยมไม่ต้องเขียนมาอีกแล้ว โยมไม่ต้องเขียนมาหาเราอีกแล้วล่ะ มันไม่จบไม่สิ้น แล้วเราตอบไป เวลาเราตอบไปเราก็ตอบอย่างนี้ เวลาเราตอบไปนะ ด้วยความเห็นใจนะ เราจะบอกว่าด้วยความเห็นใจ เพราะว่าเขาอยู่เมืองนอก ด้วยความเห็นใจว่าคนอยู่ไกลบ้านไกลเรือน นี้คนอยู่ไกลบ้านไกลเรือนนะ ดูสิ มาจากเยอรมัน มาจากฝรั่งเศส มาจากเมืองนอก ลงเครื่องบินมาหาเราเลย คนที่อยู่เมืองนอกเขาแบบว่า เราไปแล้วมันก็ธรรมดาใช่ไหม มันก็คิดถึงบ้าน มันต่างๆ ร้อยแปด
เราเป็นชาวพุทธ เราอยากจะมีที่พึ่ง เราก็เมตตานะ แต่เวลาพูดถึงธรรมะนะ เวลาหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านอยู่ป่าอยู่เขาของท่านนะ ผู้ที่จะเข้าไปหาต้องดั้นด้นเข้าไปนะ ดั้นด้นเข้าไปหาไปหาท่าน แล้วเวลาไปหาท่าน เวลาท่านสอนก็ต้องสอนเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา ท่านไม่สอนเรื่องอื่นหรอก ท่านไม่สอนเรื่องอื่น ไอ้นี่มันเป็นปัญหาอย่างนั้น ปัญหาอย่างนั้น เรื่องคนนั้น เรื่องคนนี้ เรื่องคนนี้ เรื่องคนนั้น โอ๋ย! มันวุ่นวาย มันวุ่นวาย
ขนาดในคำถามที่ถามเรามาเนี่ยนะ เวลาบอกว่าคนนู้นฝากถาม คนนี้ฝากถาม เราไม่ตอบ หรือว่าเพื่อนสงสัย ส่วนใหญ่เขียนว่าเพื่อนสงสัย คนนู้นฝากถาม แล้วฝากถามแล้วเวลาเขาสงสัย เวลาตอบไปแล้ว เอ็งฟังแล้ว แล้วเขาได้ฟังไหม เอ็งต้องไปบอกเขาอีกต่อหนึ่ง แล้วเดี๋ยวก็เถียงกัน แล้วก็มาถามใหม่ มันไร้สาระ เอาคนนั้นน่ะ เอาคนที่มีปัญหาแล้วถาม แล้วถามคนนั้น คำว่า “ถามๆ นะ” ถามเราถึงจะตอบ แต่ถ้าไม่มีปัญหาไม่ต้องตอบก็ได้ ไม่ต้องถามก็ได้
สิ่งที่เราประพฤติปฏิบัติ เวลาวัดปฏิบัติ เขาปฏิบัติกันอย่างนี้ อย่างเช่น เช่น มาวัดเรา วัดปฏิบัตินะ วัดปฏิบัติ กติกาของวัดนี้ เวลาใครมาจำศีลอยู่ที่นี่ เขาไม่ให้ไปคุยกันในกุฏิของคนอื่น เพราะว่าอะไร เพราะคนที่ทุกข์ร้อนมาจากทางโลก เห็นไหม เขามาเขาก็อยากจะประพฤติปฏิบัติ ทุกคนก็อยากจะอยู่เป็นส่วนตัวของตน เพราะต่างคนต่างเร่งปฏิบัติ ถ้าเรารู้ว่าใครไปคุยกับคนอื่น หรือคนอื่นเขาได้รับความเดือดร้อนจากคนที่มาปฏิบัติ คนคนนั้นเราให้ออก เราให้ออกเลย
เรื่องของโลกปัญหาสังคม ปัญหาทางโลกมันเยอะอยู่แล้ว ไม่ต้องเอามาติฉินนินทากันในวัดหรอก ในวัดที่มานี่ก็มาประพฤติปฏิบัติ วัดปฏิบัติก็เป็นวัดปฏิบัติ แล้ววัดปฏิบัติเขาคุยกันเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าเรื่องทางโลกเขาเรียกติรัจฉานวิชา วิชาทำให้เนิ่นช้า วิชาติรัจฉานวิชา วิชาทำให้เนิ่นช้า เห็นไหม เรื่องทำมาหากิน เรื่องความเป็นอยู่ เรื่องต่างๆ ติรัจฉานวิชาทั้งนั้นน่ะ มันทำให้คนปฏิบัติเสียเวลากับในเรื่องนั้น
ถ้าจะคุยกัน ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ก็ว่าตั้งสติอย่างไร ทำสมาธิอย่างไร ฝึกหัดใช้ปัญญามีกลอุบายอย่างไร เป็นอุบายอย่างไร ถ้าเราคุยกันอย่างนี้ คุยกันในแง่การประพฤติปฏิบัติ อย่างนี้เราจะคุยกัน วัดปฏิบัติเขาคุยกันเรื่องอย่างนี้ เขาไม่คุยกันหรอกว่าคนนั้นเป็นอย่างนี้ คนนี้เป็นอย่างนั้น คนนั้นจะทุกข์จะยาก มันเป็นเรื่องไร้สาระมากเลย เราจะบอกว่ามันเป็นเรื่องของทานไง ระดับของทาน ระดับของศีล ระดับของภาวนา
ถ้าพระปฏิบัติ พระปฏิบัติเขาจะคุยกันเรื่องภาวนา ในเว็บไซต์เราส่วนใหญ่มันจะมีเรื่องภาวนาใช่ไหม ถ้าเทศน์บนศาลานั่นพูดถึงว่าโดยข้อเท็จจริงเลย แล้วถ้าเทศน์พระ พระโดยล้วนๆ เลย ถ้าตอบปัญหา ตอบปัญหา ปัญหาก็มันเป็นปัญหาความสงสัย ความสงสัยมันเป็นจริตเป็นนิสัย มันก็มีแง่มุมของมัน เราก็จะตอบตามนั้น แล้วถ้าเทศน์ตอนเช้า ตอนเช้า เห็นไหม ดูสิ ตอนเช้าคนมาทำบุญมาหลากหลาย ความหลากหลายหลวงตาท่านบอกว่า แกงหม้อใหญ่
ถ้าแกงหม้อใหญ่เพราะคนมันเยอะใช่ไหม เพราะคนมันเยอะ คนที่เพิ่งเข้ามาวัดยังไม่เข้าใจเรื่องศาสนา ยังไม่เข้าใจสิ่งใด เราก็จะพูดระดับของทาน ระดับของทาน แต่ระดับของทาน คนที่มีวุฒิภาวะ ระดับของทาน ฟังแล้วมันก็ยังดูดดื่ม ระดับของทานนะ ระดับของทานคือการช่วยเหลือเจือจานกัน ช่วยเหลือเจือจานก็เพื่อหัวใจไง ระดับของทาน
ถ้าโดยทั่วไป วัดทั่วไป เขาพูดเรื่องทาน เรื่องของทานนะ แล้วถ้าโดยทั่วไปถ้าเรื่องของศีล เห็นไหม วัดที่เขามีศีลมีธรรมขึ้นมาน่ะ เขามีระเบียบมากขึ้น แล้วถ้าเป็นระดับของภาวนา วัดป่า วัดปฏิบัติ เขาจะมีระเบียบมาก ระเบียบของเขาเพราะอะไร เพราะไม่ให้กวนกันไง ไม่ให้กระทบกระเทือนต่อกัน ใครมาวัดก็ต้องรีบปฏิบัติ
แล้วถ้าไอ้เรื่องทางโลก ทางโลก ทางโลกมันมีอยู่ ๓ โลกธาตุอยู่แล้ว มันเยอะอยู่แล้ว ไม่ต้องเข้ามากวน ไม่ต้องเข้ามากวนในวัดปฏิบัติ ถ้าวัดปฏิบัติเขาจะเอาจริงเอาจังของเขา ถ้าเอาจริงเอาจังของเขา เห็นไหม มันเป็นความเข้าใจผิด มันเป็นความเข้าใจผิด แล้วเราเข้าใจไม่ตรงกัน ถ้าเราเข้าใจไม่ตรงกัน มันก็จะไปเอาปัญหาร้อยแปดเลย
หลวงตาท่านพูด “มันเรื่องของเขา มันไม่ใช่เรื่องของเรา มันเรื่องของเขา ใครจะดีจะชั่วมันเรื่องของเขา เราเองจะทำคุณงามความดีกัน เราจะประพฤติปฏิบัติของเรา เราจะประพฤติปฏิบัติของเรา เราจะดูแลหัวใจของเรา ไอ้นั่นมันเรื่องของเขา” แล้วเรื่องของเขาไปแบกโลกไง ถ้าแบกโลกนะ กรณีถ้าแบกโลกมันก็ต้อง ถ้ามีปัญหานะ ต่อไปโยมก็ไปถามเอ็นจีโอ ถ้าไม่ก็องค์การสหประชาชาติเลย เวลาพวกลี้ภัยนั่น มันไม่จบไม่สิ้นหรอก ไอ้นี่มันเรื่องโลกๆ เรื่องการช่วยเหลือมันเป็นธรรมไหม ใช่! มันก็เป็นธรรม การช่วยเหลือ การเจือจานกันนะ องค์การสห-ประชาชาติ พวกลี้ภัย พวกเขาก็ดูแลทั้งนั้น ชีวิตของคนมันมีค่าทั้งนั้น แต่มันมีค่ามันเป็นเรื่องของโลกไง
แต่ถ้าจะประพฤติปฏิบัติแล้ว ถ้าเราจะประพฤติปฏิบัตินะ เราจะประพฤติปฏิบัติ วัดเนี่ยเว็บไซต์ของเราเพื่อการประพฤติปฏิบัติ ฉะนั้น ถ้ามีปัญหาเรื่องการภาวนา เรื่องการภาวนาคือเรื่องความสงสัย ว่าถ้าปฏิบัติแล้วมันเจออะไร จิตใจของเรามันคงที่หรือไม่คงที่ จิตใจของเรามีความชำนาญหรือไม่ เวลาหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น เวลาท่านวางข้อวัตรนี้ไง ท่านบอกว่า หัวใจผูกไว้ ผูกไว้กับพุทโธ เวลาก้าวเดินก็อยู่กับพุทโธตลอดเวลา เวลาปฏิบัติท่านเอาจริงเอาจัง
แต่! แต่มันก็เป็นปัญหาของโยมน่ะ อ้าว! ก็พวกหนูเป็นฆราวาสไม่ใช่ปฏิบัติจะให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ แค่ปฏิบัติเพื่อบรรเทาทุกข์ ถ้าปฏิบัติบรรเทาทุกข์ เวลาพูดอะไรในวงปฏิบัติ หลวงตาท่านพูดบ่อยนะ เวลาท่านพูดกับใคร แล้วคนนั้นฟังไม่รู้เรื่อง ถามครั้ง ๒ ครั้ง ๓ ท่านจะเอ็ดเลย “ไม่ใช่คนเมานะ ขาดสติขนาดนั้นเชียวหรือ ถ้าขาดสติแสดงว่าเอ็งไม่ได้ตั้งใจ ถ้าเอ็งไม่ได้ตั้งใจตั้งแต่ต้น แล้วเอ็งจะทำอะไร”
เวลาครูบาอาจารย์ เวลาหลวงตาท่านอยู่กับหลวงปู่มั่น เห็นไหม หลวงปู่มั่นจะพูดทีเล่นทีจริง แต่ท่านจริงตลอด ท่านจริงตลอด ท่านฟัง ท่านซับ ฟังแล้วเข้าใจ คือคำพูดแต่ละคำที่ครูบาอาจารย์ท่านจะพูด มันมีความหมาย ถ้ามีความหมาย ผู้ที่ฟัง ฟังแล้วมันควรจะเอาไปขยายความ ฟังแล้วมันได้ประโยชน์
ไอ้นี่เราคุยกันมา ๗ ปี ๘ ปี ไอ้เราก็แหม! รำคาญมาก รำคาญสุดๆ เลยว่าเมื่อไหร่มันจะจบสักที มันไม่ใช่ปัญหา พูดแล้วมันต้องเข้าใจ พูดแล้วมันต้องมีประโยชน์ พูดแล้วมันต้องพัฒนา พูดแล้วก็คือพูด ว่าอย่างนั้นเถอะ แล้วนี่มันพูดแล้วมันก็วนมาที่เก่า ซ้ำที่เก่า ซ้ำอยู่อย่างนั้น ซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ ถ้าซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ต้องถาม ไม่ต้องถาม คอยเปิดเว็บไซต์ฟังเอา ไม่ก็ไปเว็บไซต์อื่นเลย ไปที่อื่น คือว่ามันเข้าใจผิด เข้าใจไม่ตรงกัน คือเขาคิดว่าถ้าเป็นพระแล้วจะต้องมีความเมตตา จะต้องโอ๋กันไปตลอดเลยล่ะ นั่นมันไม่ใช่แล้ว
ถ้าเป็นพระ ความเมตตาของท่านนะ ความเมตตาของท่าน ท่านเห็นสิ่งใดท่านเก็บไว้ คือท่านไม่แบกรับไง รู้แล้ววาง รู้แล้ววาง คำว่า “รู้แล้ววาง” ใครบ้างไม่มีชีวิตจิตใจ มีชีวิตจิตใจทั้งนั้น แต่รู้สิ่งใดรู้แล้วมันแก้ไขได้หรือแก้ไขไม่ได้ มันแก้ไขไม่ได้เพราะเขาไม่แก้ไข แก้ไขไม่ได้เพราะจริตนิสัยเขาเป็นอย่างนั้น แก้ไขไม่ได้เพราะเขาชอบอย่างนั้น แล้วเวลาเขาชอบอย่างนั้นนะ เวลาพูดเขาก็พูดอย่างหนึ่ง พูดอย่างหนึ่ง คิดอย่างหนึ่ง ทำอย่างหนึ่ง มนุษย์เป็นสัตว์ประหลาด คิดอย่างหนึ่ง พูดอย่างหนึ่ง ทำอย่างหนึ่ง แล้วเวลาพูดกับเรา เขาก็พูดคำหวาน เวลาเขาทำ เขาก็ทำอีกอย่างหนึ่ง แล้วเขาก็ทำของเขาไปอยู่อย่างนั้น แล้วมันก็เป็นเวรเป็นกรรมของสัตว์ มันเป็นเวรเป็นกรรมของเขา แล้วเราจะต้องไปแบกรับอะไรล่ะ
ใครบ้างไม่อยากให้ใครเป็นคนดี ใครบ้างไม่อยากให้สังคมรอบข้างเราเป็นคนดีทั้งหมด แต่ในเมื่อเขาดีไม่ได้ มันก็ต้องปล่อยเขา ไอ้นี่พอเขาดีไม่ได้ ตีโพยตีพายมาหาเราหมดเลย โอ้โฮ! แล้วกูจะต้องรับผิดชอบอะไรล่ะ ว่าอย่างนั้นเลยนะ มันเกินไป มันเกินไปมันแบบว่าเราจะบอกว่า นี่ที่เขาถามมา เขียนถามมานี่ไม่เอาแล้ว จบแล้ว จบแล้ว ไม่เอาอีกแล้ว
ฉะนั้น เวลาถ้าจะมีคำถามมาอีกนะ เราไม่ตอบ เราไม่ตอบแล้ว พอกันที ให้ไปที่อื่น ให้ไปสิ่งที่เขาพอใจไง นี่พูดถึงนะ เราจะจากกันด้วยดี ไม่ใช่โกรธแค้น แต่มันเบื่อหน่าย มันซ้ำๆ ซากๆ คำถามที่มันซ้ำมันซาก มันรู้ถึงว่าเขาไม่ได้ปฏิบัติ มันไม่พัฒนาขึ้นไป ถ้ามันปฏิบัติขึ้นไป จิตใจเราเข้มแข็งขึ้นนะ ถ้าจิตใจที่เข้มแข็งขึ้น รอบข้างของเราเขาจะอ่อนแอ เขาจะเข้มแข็งกว่าเราก็แล้วแต่ จะเขาพัฒนาขึ้นของเขาได้ ต่างคนต่างมีหลักในหัวใจ ถ้าต่างคนต่างมีหลักในหัวใจ มันพึ่งพาอาศัยกันได้ การพึ่งพาอาศัยกัน เห็นไหม
ไอ้นี่ไม่อย่างนั้นน่ะ มันไปแบกโลก แบกรับไว้ทั้งหมดเลย แล้วก็กังวลไปทั้งสิ้นเลย แล้วก็เขียนมาถาม เขียนมาถามมันเรื่องร้อยแปด ชีวิตคนนะ สพฺเพ สตฺตาสัตว์ทั้งหลาย เป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น สพฺเพ สตฺตา เลย แล้ว สพฺเพ สตฺตา เราแก้ไขสิ่งใดๆ ที่เป็นทิฏฐิมานะของคนไม่ได้ แต่เราทำตัวเราเองเป็นตัวอย่างได้
เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม ที่ว่าเวลาท่านตรัสรู้ธรรมขึ้นแล้วทอดธุระ ทอดธุระ มันลึกลับมหัศจรรย์ไง ลึกลับมหัศจรรย์ที่ไหน มันลึกลับมหัศจรรย์ในใจของผู้นั้น ในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อวิชชา กิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจ ท่านสำรอก ท่านคายมันออกทั้งสิ้น
แล้วใจดวงอื่นเขาสะสมไว้ เขาหมกไว้ในหัวใจ แต่เวลาเขาออกไปข้างนอก หน้าไหว้หลังหลอกไง มนุษย์เป็นสัตว์ประหลาด คิดอย่างหนึ่ง พูดอย่างหนึ่ง ทำอย่างหนึ่ง แล้วมันจะไปแก้ไขอย่างไร มันอยู่ไม่ได้ มันรักษาใจตัวเองไม่ได้ เอาแต่ผลประโยชน์ เอาแต่ได้ แล้วเอาแต่ผลประโยชน์ เอาแต่ได้ แล้วเราก็ไปวิตกกังวล เราก็ไปทุกข์ร้อนแทนเขา แล้วไปทุกข์ร้อนแทนเขา ก็บอกว่าเราดีหรือไม่ดี เรามีความทุกข์อะไร
กรณีอย่างนั้น มันเป็นกรณีของคนอื่นที่เราแก้ไขไม่ได้ กรณีธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้แก้ไขที่ใจของตน ไอ้ที่เราตอบปัญหาอยู่นี่ ตอบปัญหาอยู่นี่ก็ตอบปัญหาที่ใจของผู้ถาม ใจของสัตว์โลก ที่อยากจะพัฒนา ที่อยากจะแก้ไขใจของตน ถ้าอยากแก้ไขใจของตน พอแก้ไขใจของตนแล้ว เราก็อยู่สังคมอย่างนั้นน่ะ แล้วมันก็วางได้ไง ใครจะมีปัญหาอย่างใด ใครจะมีความรู้สึกอย่างไร เขาจะคิดอย่างไร นั่นเป็นสิทธิ์ของเขา มันเป็นเรื่องในใจของเขา เราไม่สามารถไปบังคับให้เขาคิดตามความปรารถนาของเรา หรือเราจะไปคิดแทนเขามันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้หรอก
แต่ถ้าเมื่อใด เมื่อใดที่เขาคิดได้ ดูสิ คำว่า “คิดได้ คิดได้” ดูเทวทัตสิ เทวทัตนะเป็นลูกผู้น้อง พระเจ้าสุทโธทนะเป็นพี่ชายของพระเจ้าสุปปพุทธะ สุปปพุทธะเป็นน้องชาย น้องชายของพระเจ้าสุทโธทนะ เป็นลูกพี่ลูกน้องกันแท้ๆ เลย แต่เวลาความมักใหญ่ใฝ่สูง ความต้องการต่างๆ ต้องการแย่งชิงอำนาจไง สุดท้ายแล้วเขาก็คิดได้ คิดได้จะมาขอขมาๆ แต่กว่าจะคิดได้ มันเกิดความกระทบกระเทือนกันในศาสนานี้เยอะมาก ด้วยความทิฏฐิมานะของเขา
ไอ้นี่ก็เหมือนกัน จะเป็นพี่เป็นน้อง เป็นญาติ เป็นอะไรกัน มันเรื่องของเขาทั้งนั้น มันมีทุกคน แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมา-สัมพุทธเจ้าก็มี พระองค์ใดก็มีทั้งนั้น ในสมัยพุทธกาลนะ พระ-รัฐบาล เป็นลูกชายคนเดียวที่จะบวช พ่อแม่ไม่ให้บวช พอพ่อแม่ไม่ให้บวชนะ อดข้าว อดข้าวเลยนะ ทีนี้พ่อแม่ก็ไปเอาเพื่อนมา เอาเพื่อนมาปลอบ เวลาเพื่อนเข้าไปคุยแล้ว ก็ไปถาม บอกแม่ “แม่อยากเห็นหน้าลูกไหม ถ้าแม่อยากเห็นหน้าลูก แม่ต้องให้บวชนะ ถ้าแม่ไม่อยากเห็นหน้าลูกนะ แม่ไม่ให้บวช เขาจะอดข้าวจนตาย” เพราะว่าถ้าพ่อแม่ไม่อนุญาตบวชไม่ได้ไง
สุดท้ายแล้วพ่อแม่อยากเห็นหน้าลูก ไม่อยากพลัดพรากจากลูก ก็อนุญาตให้ลูกไปบวช พอลูกไปบวชไปภาวนา ภาวนาเสร็จแล้วกลับมาเยี่ยมบ้าน กลับมาเยี่ยม แม่ก็คิดประสาแม่ คิดประสาโลกไง สมบัติเยอะมาก เอาเงินเอาทอง นิมนต์มาฉันที่บ้าน พอนิมนต์มาฉันที่บ้าน ก็เอาเงินเอาทองมากองไว้เต็มบ้านเลย แล้วถามลูกชาย ถามพระลูกชายน่ะ “ลูก พ่อแม่มีทรัพย์สมบัติขนาดนี้ จะให้พ่อแม่ทำอย่างไร จะให้พ่อแม่ทำอย่างไร” เพราะพ่อแม่ก็มีลูกชายองค์เดียว พระรัฐบาลบอกว่า “แม่ ให้เอาล้อมาเข็นนะ เอาทองใส่นั่น แล้วเข็นไปที่แม่น้ำ แล้วดัมพ์ทิ้งไปเลย”
นี่อยู่ในสุตตันตปิฎก เรื่องจริงๆ อยู่ในบาลีนะ ให้เข็นไปที่แม่น้ำ แล้วดัมพ์ทิ้งไปเลย เพราะ เพราะแม่ก็เห็นทรัพย์สมบัติ โอ้โฮ! ทำมาทั้งชีวิตนะ แล้วก็มีลูกคนเดียว ลูกก็ไปบวชซะ แล้วใครจะรักษาต่อ นี่ความคิดของแม่ ไอ้ความคิดของลูกนะเป็นพระอรหันต์ พระอรหันต์อะไรจะมีคุณค่ากว่าคุณธรรมในใจท่าน แล้วคิดดูสิว่า เอาทองคำนะ เอาทองคำเป็นกองๆ เลย เอาทรัพย์สมบัติเป็นกองๆ เลย มาวัดค่าหัวใจของพระอรหันต์ พระอรหันต์บอกว่า ใส่ล้อ ใส่รถ แล้วไปถึงก็ดัมพ์ใส่แม่น้ำไปเลย
เพราะในใจของท่าน คุณค่าของพ่อแม่ก็เห็นว่าเงินทองมันมีค่าไง อุตส่าห์แสวงหามามีทรัพย์สมบัติขนาดนี้ แล้วไม่มีใครรับผิดชอบต่อไป แล้วตัวเองก็ต้องตายต้องหมดชีวิตไป ท่านเป็นทุกข์มากนะ ถ้าเป็นทุกข์มากนะ ถ้าไม่ได้แก้ไขนะ ตายไปเกิดเป็นตุ๊กแกแน่ๆ เลย มาเฝ้าทองนั่นน่ะ เกิดเป็นตุ๊กแก เป็นอะไรนะ โตเทยยพราหมณ์ นี่ไง เวลาตายไปแล้วไปเกิดเป็นหมา มาเฝ้าไหทองคำของตัวเองไง
นี่ก็เหมือนกัน ลองที่ไม่ได้แก้ไข ลองผูกพันอย่างนั้น เวลาตายไปก็มาเกิดเป็นตุ๊กแกเฝ้าอยู่นั่นน่ะ เป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์อยู่นั่นน่ะ แทนที่มันจะได้มรรคได้ผล ได้คุณงามความดี นี่ก็มีความคิดอย่างนั้น แต่พระรัฐบาลท่านเป็นพระอรหันต์ไง ท่านบอกให้ดัมพ์ทิ้งไปเลย ไม่ผูกพัน ไม่ติดพันอะไรทั้งสิ้น เพราะเอาคุณธรรมในใจ ถ้าคุณธรรมในใจมันก็จบใช่ไหม
ถ้าพูดถึง พระปฏิบัติ สำนักปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติ ท่านจะเอาตรงนี้ไง เราเข้าใจคนละทาง เราเข้าใจกันคนละทาง เพราะว่าเรื่องทางโลกๆ เราไม่สนใจอยู่แล้ว เรื่องทางโลกๆ ไม่สนใจอยู่แล้ว แต่ที่เปิดเว็บไซต์ เปิดเว็บไซต์เพิ่งมาเปิดตอนหลังๆ นี่เอง เปิดเว็บไซต์ขึ้นมาก็เพราะว่าเห็นคนปฏิบัติแล้วมันถูลู่ถูกัง แล้วคนที่จะตอบการประพฤติปฏิบัติ ถ้าเขาไม่เคยผ่านประสบการณ์มาก่อน เขาก็ตอบผิดๆ ถูกๆ คาดเดากันไป แล้วถ้าพูดถูกใจขึ้นมาก็คอยจะไถเงินเขา
ไอ้ของเรานี่นะ เวลาคนมาถาม เรามีเว็บไซต์ทุกอย่าง ทุกคนจะมาช่วยนะ เราบอกไม่ต้อง เราหาเรื่องเอง เราต้องเดือดร้อนเอง เราหาของเราเองหมดล่ะ เราไม่ให้ใครมาเดือดร้อน จริงๆ คนมาวัดมาวาก็ไม่ควรเดือดร้อน คนจะทำสิ่งใดแล้วไม่ควรเดือดร้อน เขาควรจะมีความสุข เขาควรจะหาคุณงามความดีของเขา เราไม่เอาภาระนี้ไปให้ใครแบกหามเลย ภาระที่ของเราที่โยมจะเข้ามารับผิดชอบ ไม่ต้อง ขออย่างเดียวเท่านั้นน่ะ ขอมาแล้วให้ปฏิบัติจริงจัง ขอให้ปฏิบัติเลย
ทุกคนมีสิทธิ ทุกคนมีหัวใจ ปฏิบัติแล้วให้มันเป็นขึ้นมา แล้วถ้ามันผิดพลาดขึ้นมา เราก็คอยแก้ไข เราคอยแก้ไข เราคอยบอก เราคอยเตือน เพื่อจะชักให้มันถูกทาง แต่ถ้าปฏิบัติแล้วมันล้มลุกคลุกคลาน มันยังไม่ได้อย่างสมความปรารถนา อันนี้ก็เป็นอำนาจวาสนาบารมี ก็อยู่ที่ความสามารถ ความสามารถของเรา จริตนิสัยของเรา เราทำแล้วมันได้แค่นี้ไง ถ้ามันทำได้แค่นี้ เราก็พยายามทำของเรา เห็นไหม เหมือนนักกีฬาเลย นักกีฬาถ้ายังมีเวลาแข่งขันอยู่ เราทำได้มากน้อยแค่ไหน เราก็พยายามจะทำเอาผลงานเพื่อความเป็นผู้ชนะ
นี่ก็เหมือนกัน เวลาเรายังมีชีวิตอยู่ เราอยากประพฤติปฏิบัติ เราก็เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาได้มากได้น้อยแค่ไหน เราก็ทำสุดความสามารถของเรา แล้วถ้ามันผิดมันถูกขึ้นมา ครูบา-อาจารย์ก็คอยให้อุบาย คอยให้อุบาย คอยบอกวิธีการ เห็นไหม วางอารมณ์อย่างนี้ ถ้ามันคิดเรื่องอย่างนั้นก็อย่าไปคิดมันมาก ก็ตั้งสติไว้ ยับยั้งมัน
ครูบาอาจารย์ท่านคอยชี้ คอยแนะ วิธีการอย่างนี้ เพราะวิธีการอย่างนี้ให้เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ให้มีศีล ให้มีสมาธิ ให้มีปัญญาขึ้นมาในใจของเรา ให้เหมือนกับพระรัฐบาลไง พระ-รัฐบาล เห็นไหม จิตใจที่เป็นคุณธรรม มันมีค่าสูงส่งกว่าแก้วแหวนเงินทอง มันมีค่าสูงส่งกว่าตำแหน่งยศถาบรรดาศักดิ์ มันมีค่ากว่าทุกๆ อย่างเลย แล้วมันมีค่าอย่างไรล่ะ มันมีค่าอย่างไร แล้วเราก็จะปฏิบัติกันอยู่นี่ไง ถ้าเราจะปฏิบัติอย่างนี้ ถ้ามันเป็นจริง มันเป็นจริงอย่างนั้นไง
ไม่เอาเรื่องโลกๆ เรื่องโลกๆ ที่เอามาถาม ถามกันอยู่นี้ มันเป็นความเข้าใจไม่ตรงกันหนึ่ง แล้วเราจะบอกว่าถ้าเป็นความเข้าใจผิดของเขาก็ได้ ความเข้าใจผิดของเขา ว่าถ้าบุญกุศลคือการดลบันดาลได้ทุกๆ อย่าง บุญกุศลคือคงทำให้สิ่งที่เป็นอุปสรรคนั้นไม่มีอะไรเลย เขาคงคิดของเขาอย่างนั้น แล้วถ้าบุญกุศล ถ้าทำแล้วมันจะสมความปรารถนา ทุกอย่างจะสมความปรารถนา ถ้ามันเป็นบุญกุศล เป็นความสะอาดบริสุทธิ์ มันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่! แต่คนเรามันมีเวรมีกรรมไง
ดูองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสิ ดูพระโมคคัลลานะสิ พระโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย เหาะเหินเดินฟ้า รู้ไปทุกเรื่องเลย เวลาเขาจะมาทำลายศาสนา เขาจะฆ่ามือขวาก่อน เขาก็ไปฆ่าพระโมคคัลลานะ เห็นไหม จ้างคนเอาไม้มาทุบ ฆ่าจนตาย ท่านมีฤทธิ์มีเดชนะ แต่เพราะเศษเวรเศษกรรมที่ท่านเคยทำมา พระโมคคัลลานะ
คนเรามันมีเวรมีกรรม มันมีเวรมีกรรมที่ได้สะสมมาน่ะ ไอ้เวรกรรมมันจะสนองเราเมื่อไหร่เราไม่รู้ แต่เราก็พยายามทำคุณงามความดีกันอยู่นี่ไง ถ้าเวรกรรมยังมาไม่ถึงใช่ไหม หรือมันยังไม่ได้ เราก็พยายามใช้สติปัญญาของเรา พยายามพาหัวใจของเราให้มันมีคุณธรรมขึ้นมา แต่ถ้ามันปฏิบัติแล้วมันยังไม่ได้ผล ด้วยเวรด้วยกรรม เราก็หาหนทางหาช่องทางการประพฤติปฏิบัติไป หาช่องทางมันเป็นช่องทางที่จะพาให้เรารอดพ้นไปได้ ถ้าไม่อย่างนั้นเราก็จะเวียนว่ายตายเกิดอย่างนี้
แล้วก็อย่างนี้ จะถามแต่เรื่องซ้ำๆ ซากๆ ถามแต่เรื่องสังคม เรื่องโลก ไปถามยูเอ็น ไปถามยูเอ็นเลย เอ็นจีโอก็ได้ มันไม่ใช่ปัญหาพระตอบ ถ้าพระจะตอบ พระจะตอบว่าศีลถูกผิดอย่างไร สมาธิถูกผิดอย่างไร สติถูกผิดอย่างไร แล้วใช้ปัญญาเป็นปัญญาโลกๆ หรือเป็นปัญญาทางธรรม แล้วถ้าทำขึ้นมาเขาหาครูบาอาจารย์อย่างนี้กัน เขาหาครูบาอาจารย์ที่ตอบตรงๆ ไอ้นี่ จะตอบตรงๆ ไอ้นี่วันนี้ถามอย่างนี้ พรุ่งนี้ถามอย่างนั้น ถามแต่เรื่องอะไรก็ไม่รู้ แล้วบอกเรื่องภาวนาบอก “ไปถามพระองค์นั้นก็ว่าอย่างนั้น ไปถามพระองค์นี้ก็ว่าอย่างนี้” ถ้าพระตลาดก็เป็นอย่างนั้นน่ะ ไปถามพระตลาดซะ พระตลาดเขาจะทำการตลาด ไอ้นี่เราพระปฏิบัติ
ไอ้เรื่องการจะโต้ตอบกันมันก็เรื่องหนึ่ง แต่ไอ้เรื่องที่ว่า พูดไปแล้วไม่เข้าใจ พูดซ้ำพูดซาก เอ๊ะ! มันแปลกใจ มันแปลกใจนะ ปัญหาที่ตอบไปแล้ว ปัญหาที่ตอบไปแล้วมันก็ควรจะจบ ถ้าคนมีสติมีปัญญา ด้วยการแก้ไข ถ้าจบแล้วคือมันจบ แล้วถ้าเราจะแก้ไขได้ไม่ได้นั่นอีกเรื่องหนึ่งนะ จบคือความเข้าใจแล้วว่าที่ทำไม่ถูกต้องแล้วจะทำให้ถูกต้อง
การทำที่ถูกต้องนะ ให้ทำสมาธิ ๑๐ ปียังทำไม่ได้เลย เวลาครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ทั้งชีวิตด้วย ถ้าจะเอาจริง ถ้าเอาความจริงมาถามกัน มันไม่มีจะถามหรอก เอาความจริงในใจมาถามกัน ไม่มีให้ถาม แต่ถ้าเอาอารมณ์มาถาม มีเยอะ เอาอารมณ์ เอาอารมณ์ความรู้สึกมาถาม ไม่ได้เอาความจริงมาถาม อารมณ์ความรู้สึกมันเกิดทุกวัน แล้วเกิดร้อยแปด เราก็จดบันทึกไว้ เดี๋ยวถามหลวงพ่อ เดี๋ยวถามหลวงพ่อ อารมณ์อะไรเกิดก็จดไว้ เดี๋ยวถามหลวงพ่อ โอ้! ไม่เอา จบแล้วนะ
ฉะนั้น บอกว่า มันเป็นความเข้าใจผิด หรือเป็นความเข้าใจไม่ตรงกัน ของเราน่ะเข็มทิศชี้ไปทางเหนือ ของเขาจะชี้ไปทางไหนไม่รู้ แล้วจะมาตอบปัญหากันอยู่อย่างนี้ไม่เอา ไม่เอาแล้ว
ฉะนั้น ปัญหาที่เขียนมาถาม ยังไม่อยากอ่านเลย มันก็เป็นปัญหาเหมือนเดิมอีกน่ะ ก็ปัญหาในบ้านนั่นแหละ แล้วมันเรื่องอะไรกัน เราตอบเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา เรื่องการประพฤติปฏิบัติ เรื่องปฏิบัติแล้วมันผิดอย่างไร แล้วถ้าปฏิบัติไปแล้วน่ะ ที่มันผิด มันผิดเพราะอะไร ถ้ามันผิดอย่างที่ว่า ถ้ามันผิดเพราะเวรเพราะกรรม เพราะเวรเพราะกรรมนั้นเราก็ต้อง เห็นไหม สพฺเพ สตฺตา เพื่อไม่จองเวรจองกรรมต่อกัน อโหสิกรรมต่อกัน ไม่จองเวรจองกรรมต่อกัน แล้วต่างคน เราพยายามประพฤติปฏิบัติ แล้วถ้าเราทำความสงบได้ เราก็แผ่เมตตาให้เขา
เราแผ่เมตตา เห็นไหม ให้สงบ ให้ระงับ ให้ต่างคนต่างเจริญงอกงามขึ้นไป ถ้าเขาเจริญงอกงามได้ แล้วเราก็พยายามทำความเจริญงอกงามในใจของเรา
เพราะเราเกิดเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา โอกาสของเรา เราจะบำรุงหัวใจของเราให้มีคุณธรรม ถ้ามันจะต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ ก็ให้มันเกิดดีขึ้น เกิดมาแล้วไม่ต้องทุกข์ต้องยากจนเกินไป แต่ถ้าใครปฏิบัติถึงที่สุดแห่งทุกข์ด้วยนะ สาธุ! ถ้าใครประพฤติปฏิบัติได้ความเป็นจริงขึ้นมา มันละมันถอนขึ้นไปเป็นชั้นเป็นตอน จนสิ้นสุดแห่งทุกข์ อันนี้จะเป็นเป้าหมายของชาวพุทธเรา เอวัง