วัตรปฏิบัติ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๖๐
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “พระเล่นโยคะ”
กราบเรียนหลวงพ่อ กระผมมีเรื่องจะเรียนถามความเห็นหลวงพ่อ เรื่องพระเล่นโยคะ จากที่เป็นข่าวทางสื่อต่างๆ มีพระฝรั่งท่านอาศัยปฏิบัติธรรมอยู่ทางแม่ฮ่องสอนว่า ท่านปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ แล้วมีคนนำมาลงเฟซบุ๊ก ทั้งภาพนิ่ง ภาพวิดีโอ ผมไม่ได้มีเจตนาประมาทท่านนะครับ จากที่ผมได้หาข้อเท็จจริงมา ผมวินิจฉัยได้ดังนี้
๑. ท่านเล่นโยคะ ยินยอมให้โยมถ่ายรูปเผยแพร่ มีท่าทางต่างๆ ทั้งตีนชี้ฟ้า ผมวินิจฉัยว่า หากท่านเล่นเพื่อสุขภาพ ปกปิดมิดชิด อาจจะไม่เสียหาย ไม่เป็นโลกวัชชะ แต่ถ้าท่านเล่นเผยแพร่ลงอินเทอร์เน็ต ดูไม่งามเลย
๒. กุฏิท่านชำรุด ท่านขอบริจาคสร้างกุฏิเอง ผมกลัวท่านจะเป็นอาบัติสังฆาทิเสส แต่ข้อเท็จจริงก็ต้องสืบว่าเข้าข่ายหรือไม่
๓. ท่านฉันผลไม้ ปลูกผัก ผลไม้เอง ไม่แน่ชัดว่าท่านเก็บ หรือโยมเก็บให้ แต่ที่แน่ชัดคือท่านปลูกเอง ซึ่งต้องขุดดิน เป็นอาบัติปาจิตตีย์แน่นอน
๔. ท่านบิณฑบาต โยมนั่งรับพร ท่านแสดงธรรม เป็นอาบัติแน่นอน ผมอยากเรียนถามหลวงพ่อว่า ท่านแสดงธรรมบอกว่า ท่านปฏิบัติธรรมมา ๒๐ ปี เข้าถึงสมาธิ ความสุขความเป็นอิสระของจิต และมีคนแสดงความคิดเห็นว่าท่านต้องมีภูมิจิตขั้นสูง ที่สามารถอยู่ป่าได้ แต่ในมุมมองของผม ผมวินิจฉัยว่าท่านปฏิบัติได้สมาธิ แต่แนวทางของท่านจะเป็นแบบฤๅษีชีไพร สมาธิที่ไม่ชอบธรรม สมาธิที่ไม่เข้าสู่มรรคผล เพราะเรื่องวินัยไม่สมบูรณ์ ขอบคุณครับ
หลวงพ่อ : โธ่! แล้วใครเป็นอัยการส่งฟ้องล่ะ ใครจะเป็นเจ้าพนักงานสืบสวน ใครเป็นเจ้าพนักงานสืบสวน แล้วใครเป็นคนแจ้งความ แล้วใครส่งอัยการ แล้วอัยการจะฟ้องศาล แล้วศาลไหนจะเป็นผู้ตัดสินล่ะ เห็นไหม
ตอบ : เวลาพูด เราอยู่กับครูบาอาจารย์ของเรา หลวงตาท่านเป็นพระผู้ใหญ่นะ แล้วท่านมีจิตใจรักศาสนามาก อย่างเช่น หลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านรักศาสนามากนะ แต่เวลาท่านเทศนาว่าการ เทศนาว่าการเรื่องแนวทางปฏิบัติ ท่านจะให้ประพฤติปฏิบัติ การศึกษามาให้วางไว้ก่อน ให้ใส่ลิ้นชักไว้ แล้วลั่นกุญแจมันไว้ อย่าให้ออกมา ถ้ามันออกมาแล้ว ในการปฏิบัติมันจะเตะมันจะถีบ คือมันขัดแย้งน่ะ คือมันจะเป็นอุปาทานน่ะ คือมันจะสร้างภาพ ท่านบอกว่าให้วางไว้ก่อน
ฉะนั้น เวลาบอก ท่านเวลาจะประพฤติปฏิบัติ สิ่งที่ศึกษามาแล้ว ภาคปริยัติให้วางไว้ก่อน แล้วปฏิบัติตามความเป็นจริงเราขึ้นมา ถ้ามันเป็นจริงเป็นจังขึ้นมา มันเป็นจริงตามข้อเท็จจริงนั้น ถ้ามันเป็นตามข้อเท็จจริงนั้น ในการประพฤติปฏิบัติ ถ้าเป็นความจริงๆ มันเข้าสู่ใจไง เวลาพูดอย่างนี้ไป เพราะเขาบอกว่ากรรมฐานไม่เคารพพระพุทธเจ้า
คำว่า “ไม่เคารพพระพุทธเจ้ามันเป็นไปไม่ได้หรอก” เวลาหลวงตาท่านเป็นผู้อุปัฏฐากหลวงปู่มั่นซะเอง เวลาท่านบอกหลวงปู่มั่นมาที่บ้านภู่หรืออย่างไร ท่านไม่ยอมนอนกุฏินะ เพราะที่กุฏิมีหนังสือ ท่านบอกว่าแม้แต่ตัวอักษรหนังสือ มันยังเผยแผ่ธรรมะของพระพุทธเจ้าได้ ท่านต้องยกให้สูงกว่าท่านไง ท่านต้องยกขึ้นไปบนชั้นลอย ท่านถึงจะยอมนอนกับกุฏินั้น
ถ้าคนอยู่ใกล้ชิดนะ จะรู้สึก ความรู้สึกว่าหลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ท่านเคารพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสุดจิตสุดใจ สุดหัวใจ การเคารพสุดหัวใจนั่นมันเคารพมาจากใจไง ถ้าการเคารพบูชามาจากหัวใจ เห็นไหม สิ่งนี้ แต่เวลาการประพฤติปฏิบัติขึ้นมามันต้องปฏิบัติตามข้อเท็จจริงนั้น ถ้าปฏิบัติตามข้อเท็จจริงนั้น ความจริงมันจะเกิดขึ้นมาอย่างนั้น แล้วเวลาถ้ามันเป็นความจริงอย่างนี้ เวลาหลวงตาท่านพูด เห็นไหม “มันเรื่องของเขา ใครจะดี ใครจะชั่วมันเรื่องของเขา เราจะทำคุณงามความดีว่ะ ทำคุณงามความดีว่ะ”
เพราะมันเรื่องสังคมมันหลากหลายนัก ถ้ามันหลากหลายนัก ดูพระเรา พระเราเวลาธุดงค์ไป เห็นไหม จะไปพักวัดไหน เราเข้าไปหาพระแล้ว เราต้องดูกันว่า เรานิสัยจะเข้ากันได้ไหม ให้ดูได้ ๗ วัน ถ้า ๗ วันแล้วถ้ามันยังไม่ขอนิสัย ต้องให้เก็บบริขารไป จะอยู่ที่นั่นไม่ได้ เพราะว่าถ้ามันเลย ๗ ราตรีไปแล้วมันจะเป็นอาบัติปาจิตตีย์ เพราะต้องขอนิสัย ขาดนิสัยมันเป็นอาบัติ เห็นไหม เราจะไปขอนิสัยใคร เราจะไปอยู่กับใคร เราต้องสังเกตก่อนว่าท่านรุนแรงเกินไปไหม ท่านพูดมีเหตุมีผลหรือไม่ เราฟังแล้วเรายอมรับเหตุผลนั้นได้หรือไม่ ดูกันอยู่ ๗ วัน ถ้าครบ ๗ วันแล้ว ถ้าไม่ขอนิสัย เราต้องเก็บบริขารไป เราอยู่ไม่ได้ ถ้าอยู่เป็นอาบัติทันที เพราะว่าขาดนิสัย
คำว่า “ขอนิสัย ขอนิสัย” มันได้นิสัยครูบาอาจารย์นี้มา ถ้าความเป็นอิสระไง นี้เป็นเรื่องของเขา เรื่องของเรา คำว่า “เรื่องของเขานะ” เรื่องของเขา แล้วเรื่องของเขา เวลาพูดถึงเรื่องของศาสนา ทำไมมันมีปัญหาแล้วมันสะเทือนกันไปหมดล่ะ ทำไมเราไม่รับผิดชอบล่ะ ความรับผิดชอบ มันรับผิดชอบมันต้องแบบว่าสายบุญสายกรรม มันเชื่อมันฟังกัน มันก็รับผิดชอบได้ ถ้ามันเชื่อมันฟังกัน เห็นไหม มันถึงกัน
หลวงตาใช้คำว่า “ถึงกัน” คำว่า “ถึงกัน” ก็ไปมาหาสู่กัน ยอมรับเหตุรับผลกัน เวลาเกิดปัญหาขึ้นมา ผู้ที่อาวุโสกว่าจะเตือนผู้ที่อาวุโสอ่อนกว่า แล้วมันจะฟัง มันจะเป็นความออมชอม มันเป็นความสุข ความสงบในสังคม แต่ถ้ามันเป็นเรื่องอย่างนี้ เพราะเรื่องอย่างนี้มันเป็นเรื่องของเขาไง แล้วเป็นเรื่องของเขา มันเป็นเรื่องของสังคม แต่เขียนมาถามเรา
ถ้าเขียนมาถามเรา มันเป็นเว็บไซต์ มันเป็นเรื่องศาสนา เห็นไหม เขาบอกว่า เขาถาม ถามว่า เขาเป็นพระฝรั่ง พระฝรั่งแล้วไปอยู่ทางแม่ฮ่องสอน ถ้าอยู่ทางแม่ฮ่องสอน นี่พูดถึงว่าเวลาเราออกประพฤติปฏิบัติกัน เราก็ออกวิเวกทั้งนั้น การออกวิเวก ออกวิเวกไปเพื่อเป็นสัปปายะ ออกวิเวกไปเพื่อค้นหาใจของตน ไม่ใช่ออกวิเวกไปเพื่อเอาดีกรี ออกวิเวกไปเพื่อเอามาเป็นผลงานของตนไง นี่ไง เพิ่งออกมาจากป่าสดๆ ร้อนๆ เลยนะเนี่ย ออกมาจากป่า
ป่าก็คือป่าน่ะ ป่าก็คือป่านะ ถ้ามันออกมาจากป่า แต่เวลาครูบาอาจารย์เราเข้าป่าไป เข้าไปเพื่อดัดนิสัยตน แล้วเวลาเราเข้าป่าเข้าเขาไปเพื่อดัดนิสัยเรานะ เพราะมันไม่มีสิ่งใดสะดวกสบายสมความปรารถนาของเรา แล้วสิ่งที่มันคลุกเคล้ากันในสังคม เห็นไหม เราก็หลีกเร้นของเราไป เพื่อประโยชน์กับเราไงฉะนั้น เวลาถ้าเขาไปอย่างนั้นแล้ว เวลาเขาไปปฏิบัติ การประพฤติปฏิบัติมันต้องปฏิบัติเพื่อละกิเลสของตน
ฉะนั้น บอกว่า พอเขาเข้าไปแล้วเขาไปเล่นโยคะ การเล่นโยคะนี่นะ เหมือนถ้าเป็นครูบาอาจารย์ของเรา เช้าขึ้นมาเขาเดินจงกรมมันการออกกำลังกายอยู่แล้ว แต่ออกกำลังกายเขายืดเส้นยืดสาย การยืดเส้นยืดสาย มันยืดเส้นยืดสายด้วยท่า ด้วยท่าเป็นความปกติไง การยืดเส้นยืดสายเพราะมันเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา มันจะมีปัญหาของมัน แต่ว่าถ้าการไปเล่นโยคะแล้วเผยแพร่ออกไป แล้วบอกว่าสิ่งนี้เพื่อ ถ้าบอกว่าเป็นเพื่อสุขภาพ
ไอ้นี่บอกว่า “ถ้าเขาทำอย่างนั้น ถ้าเขาปิดมิดชิดโดยสุขภาพมันก็เรื่องหนึ่งนะ” เวลาครูบาอาจารย์ของเรา เห็นไหม เวลาอายุมากขึ้นมาต้องยืดเส้นยืดสายนะ ต้องมีการบริหาร ไม่ให้ร่างกายเส้นมันยึด มันเรื่องธรรมดา เรื่องธรรมดานะ ดูสิ เวลากรรมฐานเรา ถึงเวลาแล้วเรานวดเส้นครูบาอาจารย์ เห็นไหม กลางคืนน่ะ เราไปนวดเส้นครูบาอาจารย์ เราต้องสรงน้ำท่าน มันเป็นข้อวัตร มันเป็นข้อวัตรเลยแหละ แต่ถ้าเป็นข้อวัตรมันก็เป็นข้อวัตรที่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านรื้อฟื้นขึ้นมา ทีนี้เวลาพระแล้ว ตอนนี้เวลาใครเจอประวัติของครูบาอาจารย์ จะไปถ่ายกันตรงนั้นน่ะ ถ่ายกันออกมาไง ไอ้นั่นออกมามันเป็นเรื่องของการประชาสัมพันธ์
ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เขาบอกว่า “ถ้ามันทำเพื่อความปกปิด เพื่อความมิดชิด มันก็เป็นเรื่องธรรมดา มันไม่เป็นโลกวัชชะ” ถ้าเป็นโลกวัชชะมันต้องแยกให้ถูกนะ สมณสารูป ถ้าสมณสารูป เวลาอยู่กับครูบาอาจารย์นะ เวลานอนท่านจะให้ในที่มิดชิด ไปดูในประวัติหลวงปู่มั่น เวลาเทวดาจะมาฟังธรรมหลวงปู่มั่น ท่านลงมาเห็นพระไม่เรียบไม่ร้อย ก็ยังไปบอกหลวงปู่มั่น ให้หลวงปู่มั่นเตือน หลวงปู่มั่น “ก็พระนอนหลับ” เทวดาบอกว่า “ถึงจะนอนหลับก็ควรจะมิดชิด”
สุดท้ายแล้วนะ เวลาเทวดาจะมาฟังเทศน์หลวงปู่มั่นทางไหน พระที่นั่นท่านไม่ให้นอน ให้เดินจงกรม นั่งสมาธิซะ แล้วถ้านอนก็ให้นอนไป แม้แต่เทวดาเขายังติเตียนเลยเป็นโลกวัชชะ นี้โลกวัชชะ เวลาออกมาแสดงอย่างนั้น แต่เวลาคนมันชื่นชมไง ถ้าใครชื่นชม ใครเห็นดีงาม ก็เห็นด้วยความชื่นชม แต่คนที่เขาไม่เห็นด้วยความชื่นชมนะ เขาติเตียนได้ทั้งนั้น นี้เขาติเตียนได้ พอติเตียนได้มันก็เป็นผลของเรื่องศาสนาใช่ไหม ผู้กระทำมันต้องคิดไง
ฉะนั้น บอกว่า ถ้าเป็นการนวดเส้น เป็นการอะไร เพราะครูบาอาจารย์เราก็ทำ แต่เวลาทำแล้วท่านทำในที่รโหฐานของท่าน ท่านทำ ถึงเวลาท่านทำข้อวัตรของท่าน เราก็เคยนวดเส้นครูบาอาจารย์มาทั้งนั้นน่ะ เราก็เคยทำของเรามา ถ้าทำของเรามาอย่างนี้ ทีนี้เขาบอกการเล่นโยคะ การเล่นโยคะ ตอนนี้สังคมกำลังตื่นตัว ตื่นตัวกันเรื่องการออกกำลังกาย ก็เลยถ้ามันเป็นอย่างนั้นไป เวลาหลวงตาท่านพูดเรื่องโลกๆ เรื่องโลกๆ เรื่องอย่างนี้มันเรื่องโลกๆ นะ ไปโรงพยาบาลมีกายภาพบำบัด กายภาพบำบัดเขาทำได้ดีกว่า เขาทำได้ทุกๆ อย่าง แล้วเขามีหมอ มีทุกอย่างด้วย แล้วเราเป็นพระ เราจะไปอวดว่าเราจะมีความรู้อย่างนั้น
นี่ก็เหมือนกัน เวลาบอกว่าเป็นพระแล้วต้องช่วยเหลือสังคม ใช่! ช่วยเหลือสังคม ให้ปัญญาเขา ให้ปัญญาเขานะ แต่เรื่องนั้น คำว่า “เป็นเรื่องโลกๆ โลกๆ” ถ้าพระออกไปเรื่องโลกๆ มันก็เป็นโลก แต่หน้าที่ของพระ หน้าที่ของพระเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา เอาคุณธรรมในใจขึ้นมาสิ หน้าที่ของพระ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา ภาวนามยปัญญา ปัญญาขุดคุ้ยหากิเลส ปัญญาชำระล้างกิเลส ชำระล้างกิเลสนี่หน้าที่ของพระ หน้าที่ของพระ
หลวงตาท่านพูด “พระถ้าไม่มีศีล ไม่มีธรรม พระไม่มีคุณธรรม ใครจะมี พระพุทธศาสนาเวลาสอนเรื่องมรรคเรื่องผล ถ้าพระทำไม่ได้ พระปฏิบัติไม่ได้ พระที่เป็นนักรบ ถ้าพระทำไม่ได้ แล้วใครจะทำได้ ถ้าทำได้ ทำได้ พระควรจะเป็นหลัก ถ้าเป็นหลักแล้วมันจะเข้ามาสู่ที่นี่ เข้ามาที่งานของพระไง”
ถ้างานของพระ งานเรื่องมรรคเรื่องผล ถ้างานเรื่องเล่นโยคะ เล่นโยคะตอนนี้มันเป็นเรื่องของสุขภาพ ตอนนี้โลกกำลังตื่นเต้นกันอยู่ นี้พอไปเห็นพระทำทึ่งเลยนะ เวลาองค์สมเด็จพระ-สัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อยู่โคนต้นโพธิ์นะ เวลาครูบาอาจารย์ของเรา เวลาที่ถ้ามีสัญลักษณ์ เห็นไหมเวลาจะถ่ายภาพ ก็พระนั่งสมาธิ นั่งสมาธิ ส่วนใหญ่เดินจงกรม นั่งสมาธิทั้งนั้น ไอ้นี่เล่นโยคะออกไป มันก็แปลกๆ นี่ว่ามันแปลกๆ นะ
“๒. กุฏิท่านชำรุด ท่านขอเงินบริจาคสร้างกุฏิเอง ผมกลัวว่าท่านจะเป็นสังฆาทิเสส และข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรอีกเรื่องหนึ่ง”
ไอ้นี่กรณีอย่างนี้เรื่องของเขา เรื่องของเรา เราไม่รู้ไม่เห็นเรื่องความจริงของเขา เวลาพระด้วยกันนะ สิ่งที่อาบัติที่ไม่มีอยู่จริง แล้วเราไปตู่ เราเป็นอาบัติเสียเองนะ เหมือนกับแจ้งความเท็จน่ะ ถ้าแจ้งความเท็จ คนแจ้งความนั้นติดคุก
ไอ้นี่ก็เหมือนกัน “ถ้าท่านสร้างกุฏิเอง แล้วด้วยการขอบริจาคด้วยตัวเอง ผมกลัวว่าท่านจะเป็นสังฆาทิเสส” ไอ้นี่เวลาศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า วินัยไง สังฆาทิเสส ๑๓ มันก็มีอยู่ข้อหนึ่ง ข้อที่ว่าถ้าสร้างกุฏิของตน โดยใหญ่ไป โดยที่ไม่ได้แจ้งหมู่สงฆ์ เป็นสังฆาทิเสส สังฆาทิเสส แต่ถ้าสร้างเป็นของวัด สร้างเป็นของของสงฆ์ ไม่ใช่ของตนเอง ทีนี้มันถึงจะเป็นอาบัติสังฆาทิเสส เขาก็ทำของเขา
ถ้าผู้ที่ศึกษามา ศึกษาธรรมะ ศึกษาธรรมวินัยมาแล้วเข้าใจได้ แล้วเวลาเห็นเขาทำไม่รู้ว่าเขาทำสมบูรณ์หรือไม่สมบูรณ์ ใครเป็นคนเรี่ยไร ใครเป็นคนขอ ใครเป็นคนทำ ถ้าเขาไม่คิดละเอียดอย่างนี้ เขาคิดว่าถ้าเขาไปอยู่ที่นั่น แล้วมีประชาชนเขาช่วยเหลือเจือจาน เราก็เริ่มสงสัยแล้วแหละ มันต้องมี เพราะไม่อย่างนั้นมันจะมาออกเฟซบุ๊กได้อย่างไรล่ะ ใครเป็นคนเอามาออก ใครเป็นคนถ่าย มันต้องมีคนทำ มันทำคนเดียวไม่ได้ใช่ไหม แล้วทำคนเดียวขึ้นมา มันทำคนเดียวมันก็ขาด ขาดความรอบคอบ ว่าอย่างนั้นเลย
แล้วไอ้เรื่องกรณีเรื่องการบริจาค เรื่องกุฏิของท่าน ไอ้นี่แบบว่า มันไม่มีพนักงานสอบสวน สอบสวนเสร็จต้องส่งอัยการ อัยการต้องจดสำนวนก่อน ไอ้นี่ถ้าเราไม่รอบคอบ สิ่งที่มันไม่เป็นจริงขึ้นมา เราไปพูดสิ่งที่มันไม่มีอยู่แล้ว มันเสียเวลา
“๓. ท่านฉันผลไม้ ปลูกผัก ผลไม้เอง ไม่แน่ใจว่าท่านเก็บเองหรือให้โยมเก็บ แต่ที่แน่ชัดคือท่านปลูกเอง ก็ต้องขุดดิน เป็นอาบัติปาจิตตีย์” เขาว่านะ
ไอ้ที่ว่าท่านปลูกเอง ผู้ถามเห็นด้วยหรือ แล้วท่านปลูกเองจริงหรือเปล่า สร้างกุฏิยังต้องไปวินิจฉัยกันว่ามันจริงหรือไม่จริง
ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ท่านปลูกเองหรือไม่ปลูกเอง ถ้าท่านปลูกเองหรือไม่ปลูกเอง ไอ้นี่มันแบบว่า คือว่าขาดนิสัย ขาดนิสัยไง เวลาอยู่กับครูบาอาจารย์มา กรณีหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่น เวลาหลวงตาท่านพรรษาท่านมากขึ้น ท่านก็ดูแลหลวงปู่มั่นนี่แหละ ท่านบอก “พระที่มีพรรษามากไม่ต้องขึ้นมานะ ให้พระที่พรรษาน้อย พรรษาน้อยเข้ามา มันจะได้มีข้อวัตรติดหัวมันไป มันจะได้มีข้อวัตรติดหัวใจมันไป” ถ้ามันมีข้อวัตรติดหัวใจมันไป สิ่งที่ทำๆ มันทำเองไม่ได้
ดูสิ เวลาพระเราจะฉัน เห็นไหม พืชคาม ภูตคาม พืชคาม ภิกษุพรากของเขียวเป็นอาบัติปาจิตตีย์ สิ่งที่เกิดได้ ถึงประเคนแล้ว ภิกษุฉัน ถ้าไม่ทำ กปฺปิยํ กโรหิ เป็นภูตคามมันเกิดได้ เป็นอาบัติปาจิตตีย์
ถ้ามันทำขนาดนี้ เวลาทำมันรู้ เวลาอยู่กับครูบาอาจารย์ เวลาขบเวลาฉัน เราเป็นพระผู้น้อยมามันต้องอุปัฏฐากพระผู้ใหญ่มาก่อน เป็นผู้อุปัฏฐากพระผู้ใหญ่มาก่อนมันก็ได้ศึกษา ได้เรียนรู้มา ถ้าศึกษาเรียนรู้มา เวลาเป็นพระผู้ใหญ่ขึ้นมา เรารู้อยู่ว่าสิ่งนี้มันผิด มันผิดกฎหมาย ผิดกฎหมายทั้งนั้น แล้วผิดกฎหมาย เวลาจะปฏิบัติ เราจะทำให้เราผิดกฎหมายหรือไม่ มันผิดกฎหมาย ผิดกฎหมาย แล้วเราเป็นพระ เราเป็นผู้ปฏิบัติขึ้นมา เราจะทำให้ผิดกฎหมายเสียเอง
กรณีนี้ไปอยู่ในป่า ในป่า มันเหมือนกรณีนี้ กรณีที่หลวงปู่มั่นท่านจะไปถ้ำสาริกาไง ตอนที่หลวงปู่มั่นจะไปถ้ำสาริกา มันพ.ศ. เท่าไร ๔๖๐ กว่าหรืออย่างไรนี่แหละ จำพ.ศ. ตัวเลขไม่ได้ เวลาจะไป ตอนนั้นมันยังเป็นที่อยู่ในป่าอยู่ไง ป่ามันยังสมบูรณ์อยู่ ไปถึงชาวบ้านคอตกเลยนะ “ท่านอย่าไปเถอะ ท่านอย่าไปเลย”
หลวงปู่มั่นว่า “ทำไมถึงไม่ให้ไปล่ะ” “โอ้! ไปส่ง ๓ องค์ ๔ องค์ไม่กลับมาเลย ตายหมด ตายอยู่ในถ้ำนั่นน่ะ” “อู้ฮู! ขนาดนั้นเชียวหรือ อู้ฮู! น่ากลัวเนาะ อาตมาก็กลัว แต่ขอให้พาไปดูหน่อย ขอให้พาไปดูหน่อย ไม่อยู่ก็ได้” เพราะโยมที่เขาพาไป พาไป พระไปอยู่นั่นตายหมดล่ะ ก็ไม่อยากให้พระไปตายซ้ำไง สุดท้ายหลวงปู่มั่นบอกว่า “ถ้าอย่างนั้นเราไม่อยู่ก็ได้ แต่ขอพาให้ไปดูนิดหนึ่ง”
เพราะหลวงปู่มั่นท่านเป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ท่านอ่อนน้อมถ่อมตน ท่านไม่แอ็คชั่น ท่านไม่พูดเว่อร์ ชาวบ้านเขากลัว ถ้าเป็นพระที่อื่นนะ “ไหนลองดูหน่อยซิ จะพิสูจน์” แต่ท่านไม่พูดอย่างนั้นนะ ท่านบอก “โอ้โฮ! น่ากลัวเนาะ แต่ขอพาให้ไปดูนิดหนึ่ง ขอไปทัศนศึกษาหน่อยหนึ่ง” เวลาชาวบ้านเขาก็พาไป พอพาไปถึงนั่นปั๊บ ท่านก็ไปดู “โอ้โฮ! มันน่ากลัวอยู่เนาะ” โยมบอกว่า “กลับเถอะ” “โยมกลับไปเถอะ เราไม่กลับ ขออยู่เนี่ย”
แล้วพอท่านอยู่นั่นแล้วท่านก็ปฏิบัติของท่าน ท่านบอกพระไปตายที่นั่น ๒ องค์ เพราะอะไร เพราะเช้าขึ้นมาไปบิณฑบาตมันไกล พอบิณฑบาตมันไกล กลับมา กลับมาฉันอาหารแล้วเหลือไว้ฉันอีกวันรุ่งขึ้น ถ้าเป็นวินัยเขาเรียกว่านิสสัคคิยปาจิตตีย์ ของเก็บไว้แรมคืน ท่านบอกว่า เพราะเหตุนี้แหละเป็นต้นเหตุ ทำให้เจ้าที่เจ้าทางเขาก็ทำให้เจ็บไข้ได้ป่วยจนเสียชีวิตไป ๒ องค์
นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่ว่าเราไปฉันผลไม้ ปลูกผักเอง ทำอะไรเอง ถ้าเป็นที่แรงๆ แบบถ้ำสาริกาไม่เหลือ เวลาไปทำ ไปทำ ไปทำที่แรงๆ นะ ไปทำที่จริงๆ จังๆ นะ พระไปทำผิด เดี๋ยวก็อยู่ไม่ได้ ถ้าถึงเวลาแล้ว ถ้าถึงเวลานะ เขาทำให้เจ็บไข้ได้ป่วยนะ เป็นโรคถ่ายท้อง ถ่ายเป็นเลือดเลย ถ่าย! ถ่าย! ถ่าย! แล้วก็เสียชีวิต เสียชีวิตเลย
นี่พูดถึงว่า ถ้าเป็นการกระทำที่ว่า ถ้ามีนิสัย มีครูบา-อาจารย์ที่ท่านประพฤติปฏิบัติมา ครูบาอาจารย์ท่านวิเวกมา ท่านปฏิบัติมานะ อย่างเช่น เวลาหลวงตาท่านอยู่กับหลวงปู่มั่น เวลาท่านจะลาไปเที่ยวไปไหน เวลาออกพรรษาแล้ว “ปีนี้จะไปทางไหน” “จะไปทางวาริชภูมิ” “เออ! ตรงนั้นดี ตรงนี้ดี” พอปีหน้าว่า “เดี๋ยวนี้จะไปทางไหน” “จะไปทางกาฬสินธุ์” “อ้อ! ตรงนั้นดี ตรงนั้นดี”
คือว่าท่านทะลุปรุโปร่งหมดแล้ว ครูบาอาจารย์ท่านเดินธุดงค์มาหมดแล้ว ท่านจะรู้เลยว่าตรงไหนเป็นอย่างไร ตรงไหนเป็นอย่างไร นี่ไป ไปลาท่าน “ปีนี้จะไปทางไหน” “อ๋อ! จะไปทางนี้นะ” ท่านจะบอกเลย “อ๋อ! ตรงนี้จะเป็นอย่างนั้น จะเป็นอย่างนั้น” เวลาครูบาอาจารย์ท่านไป ท่านไปอย่างนั้น ถ้ามันมีนิสัย ที่ว่าทำข้อวัตรครูบาอาจารย์ มันจะมีนิสัยติดหัวมันไป แล้วจะไปทำผิดซะเองอย่างนี้ ไปทำผิดซะเอง เห็นไหม
หลวงปู่มั่นสอน “ต้นคด ปลายตรงไม่มี”
เริ่มต้นด้วยความทุจริต แล้วมันจะเอาความสุจริตมาจากไหน แล้วเวลาทำทุจริต ทำสุจริต เราก็ทำของเราใช่ไหม ทำอยู่ในป่า เวลาเขาไปป่า ไปป่า เขาไปประพฤติปฏิบัติกันเพื่อสัจจะ เพื่อความจริง ไอ้นี่ไปทำเสร็จแล้วนะ ถ่ายเฟซบุ๊ก ออกวิดีโอ ไปอยู่ในป่า เอาออกมาประจานทั่วท้องตลาด แล้วไอ้คนไม่เป็นมันก็สาธุ โอ้โฮ! พระฝรั่ง แหม! น่าศรัทธา แต่คนเป็นมันเศร้าใจ คนเป็นเขารู้ มันก็เศร้าใจ เห็นไหม เพราะการไปอยู่ป่า อยู่ป่า อยู่ป่าเพื่อเป็นอุบายวิธีการค้นคว้าหาความเป็นจริงในใจของตน มันไม่ใช่ไปอยู่ป่าเพื่อเหตุนั้น ถ้าไปอยู่ป่าเพื่อเหตุนั้น นี่ไง เวลาไปแล้ว ก็ฉันอยู่ป่า ไม่มีใคร ฉันก็ปลูกเอง ฉันทำเอง
ตอนนี้เราพิมพ์หนังสือประวัติของหลวงปู่จวน ไปดูสิว่าหลวงปู่จวนเวลาท่านออกวิเวก ท่านไม่มีจะกิน จนชาวบ้านเขาไล่หนี ไม่ใส่บาตรให้กิน แล้วท่านปลูกไหม ท่านไม่มีอะไรจะกิน จะกินลม กินลมเลย ฉันลม จนชาวบ้านเดือดร้อนกันไปหมดล่ะ ท่านไม่เห็นทำเลย ครูบาอาจารย์ หลวงปู่มั่น หลวงปู่ชอบ เวลาท่านวิเวกไป ท่านไม่เห็นต้องไปปลูกผักปลูกหญ้าเลย ทำไมท่านอยู่ได้ ไม่มีก็ไม่กิน ๗ วัน ๘ วันไม่ต้องกิน พอไม่ต้องกิน ถึงเวลาชาวบ้านเขามา ครูบาอาจารย์ท่านทำอย่างไร นี่ในประวัติครูบา-อาจารย์นะ
ตอนนี้เราเพิ่งทำหนังสือหลวงปู่จวนเสร็จใหม่ๆ เรื่องนี้ชัดๆ เลย ไปอยู่ที่ถ้ำจันท์ จนชาวบ้านเดือดร้อนหมดล่ะ เดือดร้อนอะไร เดือดร้อนเพราะพระไม่มีข้าวฉัน เดือดร้อนเพราะหลวงปู่จวนไม่มีที่บิณฑบาต จนเขาต้องไปส่ง ดูหลวงปู่ขาวสิ หลวงปู่ขาวไปอยู่ที่ถ้ำกลองเพล ชาวบ้านแต่ละตำบลเขาจัดเวรกัน ถึงเวลาเอาข้าวสารไปส่ง เอาข้าวสารไปส่ง ทุกคนต้องเอาข้าวสารไปส่ง ถ้ำกลองเพลเนี่ย
ครูบาอาจารย์เราอยู่ที่ไหน มีแต่อัตคัดขาดแคลนทั้งนั้นน่ะ แต่ท่านไม่เห็นเคยปลูกผัก ปลูกหญ้าเอง เว้นไว้แต่แม่ชี หรือปะขาว เขาทำของเขา ถ้าเขาทำของเขา นั่นเป็นเรื่องของเขา แต่พระเขาไม่ทำกันหรอก นี่พูดถึงถ้ามีนิสัยนะ ถ้ามีนิสัย มีข้อวัตรติดหัวมันไป ที่หลวงปู่มั่นท่านทำ ท่านทำ ท่านทำเพื่อเหตุนี้ ทำให้มันปฏิบัติเป็นไง ถ้าปฏิบัติไม่เป็นก็เป็นอย่างนี้
“๔. ท่านบิณฑบาต โยมนั่งรับพร ท่านแสดงธรรม นี่เป็นอาบัติแน่นอน”
การแสดงธรรมโดยความไม่เคารพ เห็นไหม โดยที่ว่าฆราวาสเขาไม่ป่วย เขานั่งอยู่ เรายืนแสดงธรรม เป็นอาบัติในเสขิยวัตรหมดล่ะ เว้นไว้แต่ฆราวาสเขาเจ็บไข้ได้ป่วย คนป่วยมันลุกไม่ได้ มันต้องนอนอยู่อย่างนั้น คนป่วยอย่างนั้น เราแสดงธรรมได้ แต่ถ้าคนเขาไม่ป่วย เขานอนอยู่ เขานั่งอยู่ แล้วเรายืนแสดงธรรม การยืนคือการเคารพ ถ้าการเคารพ การแสดงธรรม ผิดเสขิยวัตร ปาฏิโมกข์ที่สวดกันอยู่นี่ ปาฏิโมกข์ที่สวดกันอยู่นี่ผิดหมด นี่พูดถึงข้อที่ ๔ ไอ้นี่มันชัดเจน
นี้อารัมภบท ผมอยากเรียนถามหลวงพ่อว่า “เวลาท่านแสดงธรรมบอกว่าท่านปฏิบัติธรรมมา ๒๐ ปี เข้าถึงสมาธิ ความสุข ความเป็นอิสระของจิต และมีคนแสดงความคิดเห็นว่าท่านต้องมีภูมิธรรมชั้นสูง จึงสามารถอยู่ป่าได้”
ไอ้คำว่า “สามารถอยู่ป่าได้” ฟังแล้วมันตะขิดตะขวงใจนะ ทั้งๆ ที่ว่าพระป่า พระป่า อรัญวาสี คามวาสี มันมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล วินัยธรกับธรรมกถึก วินัยธรคือเรียนทรงจำธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็ปกครองด้วยวินัย
ธรรมกถึก ธรรมกถึก ผู้ที่บวช ผู้เฒ่า ผู้ที่บวชแล้วอยากจะพ้นจากทุกข์ เขาจะขอกรรมฐานจากองค์สมเด็จพระสัมมา-สัมพุทธเจ้า แล้วเขาขอไป พยายามค้นคว้าปฏิบัติให้เป็นความจริงขึ้นมา พอเป็นความจริงขึ้นมา เห็นไหม ความจริงที่เกิดขึ้นจากใจ แสดงธรรมออกมาจากหัวใจอันนั้น เขาเรียกธรรมกถึก คือว่าความเป็นจริงในใจที่แสดงออกมา วินัยธรกับธรรมกถึก เห็นไหม
ฉะนั้น บอกคำว่า “พระป่า พระป่า” เขาเรียกพระป่า พระปฏิบัติ นี่ธรรมกถึก ความรู้เป็นความจริงมันเกิดขึ้นจากหัวใจดวงนั้น ถ้ามันเกิดจากหัวใจ เขาเรียกพระป่า พระป่า ก็เลยอยากจะเป็นพระป่ากัน ถ้าเป็นพระป่านะ พระป่า เราก็เป็นลูกศิษย์ครูบาอาจารย์ เราก็อยู่ในสังคมนี้เหมือนกัน ถ้าอยู่ในสังคมนี้เหมือนกัน บางทีมันก็น่าละอาย เพราะคำว่า “พระป่า พระป่า” เราอยู่ป่าอยู่เขา เห็นไหม หลวงตาท่านเผดียงลูกศิษย์ประจำ สมัยท่านอยู่ป่า อยู่ป่านะ น้ำตาลทรายอย่างนี้ โกโก้ กาแฟ ขอมาถ่ายรูปยังไม่มีเลย อย่าจะว่าเอาไว้ฉัน
พระป่า พระป่าของเรา ท่านทุกข์ท่านยากมาในป่าของท่าน ท่านทุกข์ท่านยาก มันไม่มี ท่านก็ประสาไม่มี เวลาฉันน้ำร้อน น้ำร้อนก็น้ำเสือโคร่ง น้ำร้อนก็น้ำสมุนไพร ถึงเวลาฉัน ก็ฉันไอ้พวกสมุนไพรต้ม ไม่มีอะไรหรอก มีแค่นี้
แต่! แต่เป็นข้อวัตรไง หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ ถึงเวลาก็มาประชุมร่วมกัน มาประชุมก็ธมฺมสากจฺฉา ก็สนทนาธรรมไง ใครปฏิบัติแล้วติดข้องอย่างไร ใครมีความเห็นอย่างไร ก็ถาม ครูบาอาจารย์ก็จะตอบ เวลาฉันน้ำร้อนมันก็เป็นการอบรมพระเวลาหนึ่ง เขาฉันน้ำร้อนด้วยความสามัคคี ด้วยการกระทำพร้อมกันไง
ทีนี้บอกว่าพระป่า พระป่า พระป่าคืออะไร พระป่าคืออะไร พระป่าไปอยู่ป่า ถ้าพระไปอยู่ป่ามันมีคุณงามความดี แล้วคนชาวไทยภูเขา เขาก็อยู่ป่า เขาอยู่ตั้งแต่เกิด เขาอยู่ตั้งแต่เกิดจนตาย อ้าว! เขาอยู่ป่ามาเหมือนกัน แล้วเขาอยู่ป่า กับเราไปอยู่ป่า มันต่างกันตรงไหนล่ะ ถ้าใช้คำว่า “ป่า” ถ้าใช้คำว่า “อยู่ป่า” ก็ไปดำรงชีพในป่าแล้วว่าดี แล้วว่าเด่น แล้วคนป่ามันไม่ดีเท่าเราหรือ เขาอยู่ก่อนเราอีก เพราะเราธุดงค์เข้าไปหาเขา แล้วเขาอยู่ป่าจนเขาตายไง
เวลาหลวงปู่มั่นท่านไป เห็นไหม พวกมูเซอ ไปถึงเขาเห็น ไปหาเขา “โฮ้!พวกนี้พวกเสือเย็น” เพราะเขาก็ถือผีของเขา เขาถือผีถือสางของเขา เขามีประเพณีของเขา เป็นพระเข้าไป เขาไม่แน่ใจ เขาว่าเป็นเสือเย็น เสือสมิง ก็เอาคนมาเฝ้า เห็นเดินไปเดินมา ทีนี้เวลาผู้ใหญ่บ้านที่ว่า เพราะเขาประชุมกันบ่อย จนสุดท้ายผู้ใหญ่นั้นเขาเอะใจขึ้นมาไง บอกว่า “เป็นเสือเย็น เสือเย็น” ก็จัดโยมไปเฝ้า “นี่มาหลายเดือนแล้วนะ ก็ไม่เห็นมีอะไรเลย ต้องเข้าไปคุยกับท่านบ้าง”
พอไปคุยกับเขา มาทำไมกันน่ะ “โอ้! พุทโธหาย พุทโธตุ๊หาย ตุ๊เดินจงกรมหาพุทโธอยู่” เวลาไปฝึกไปสอนเขา
“แล้วอย่างนี้ชาวบ้านช่วยได้ไหม” “ได้ ยิ่งชาวบ้านช่วยยิ่งดีใหญ่เลย มันยิ่งได้เห็นได้เจอพุทโธเร็วๆ จะได้รีบจากไป” อย่างนั้นชาวบ้านเขาช่วย พอชาวบ้านเขาช่วย เขากำหนดพุทโธๆ โอ้โฮ! จิตเขาลง มันสว่างไปหมดเลย นี่ตรงที่มันสว่างไปหมด เขาไปทำสมาธิกัน เขาไปทำสมาธิ เขาไปประพฤติปฏิบัติกัน เขาไม่ใช่ไปอยู่ป่าแบบสัตว์ป่า
นี่ก็ไปอยู่ป่ามา ถ้าเขาไม่มีภูมิจิต ภูมิธรรม เขาอยู่ป่าไม่ได้ อ้าว! แล้วชาวไทยภูเขาทำไมเขาอยู่ได้ อ้าว! แล้วทำไมสัตว์ป่ามันอยู่ในป่า คำว่า “ไปอยู่ป่า อยู่ป่า” เราเอาแต่พฤติกรรมความไปอยู่ป่า เอามาอ้างว่าเป็นคุณงามความดี ไม่ใช่!ถ้ามันเอาคำว่า “อยู่ป่า” มาอ้างว่าเป็นคุณงามความดี คนป่ามันก็อยู่ป่า ตำรวจตระเวนชายแดนมันก็ไปอยู่ป่า ทหารพรานมันลาดตระเวนอยู่ในป่า ยิ่งพวกป่าไม้ พวกลาดตระเวนในป่าไม้ เขาก็อยู่ป่า ที่อุทัยมาขอข้าวทุกเที่ยวเลย ถึงเวลาจะออกเดินสำรวจมาแล้วมาแวะที่วัด เห็นไหม ได้กาแฟ ได้ทุกอย่างพร้อมหมด
พระเราก็อยู่ป่า เขาก็อยู่ป่า พึ่งพาอาศัยกัน แล้วใครดีกว่าใครล่ะ อ้าว! อนุรักษ์นะ รักษาทรัพยากรของชาตินะ ดูแลสัตว์ป่าด้วย นี่อยู่ป่า คำว่า “อยู่ป่า”มันก็เหมือนกับเราดำรงชีพอย่างไรเท่านั้นเอง แต่เขาไปอยู่ป่าแล้ว ครูบาอาจารย์ที่ไปอยู่ป่า หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านไปอยู่ป่า
ดูสิ อย่างที่ว่าหลวงปู่จวน ไปอยู่ป่าจนไม่มีจะกิน ไม่มีจะกินนะ ไม่มีจะกินก็ไม่ต้องกิน อดอาหาร ถึงเวลาก็บิณฑบาตหาพอยังชีพ ไปอยู่ป่าจนที่ว่าหลวงปู่ชอบมาจากพม่าไง เดินมา เวลาท่านทุกข์ยากขึ้นมา ท่านก็รำพึงขึ้นมาในใจ คิดขึ้นมา “เวลาอยู่ปกติ อยู่สะดวกสบาย เทวดาก็มาหาประจำ ตอนนี้จะตายแล้วนะ ไม่ได้ฉันข้าวเลย” นั่นน่ะ อยู่ในประวัติหลวงปู่ชอบนั่นน่ะ ถ้าคุณงามความดี จนเทวดายังต้องเกื้อกูล
ความอยู่ป่า อยู่ป่า ต้องสร้างคุณงามความดี อยู่ป่าอาศัยเป็นชัยภูมิ ประพฤติปฏิบัติ อยู่ป่าอาศัยเป็นชัยภูมิเท่านั้น อยู่ป่า อยู่ป่า อยู่ป่าแล้วเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาหรือไม่ จิตสงบหรือไม่ จิตมันเกิดวิปัสสนาญาณหรือไม่ เกิดปัญญาญาณหรือไม่ เขาอยู่ป่า อยู่ป่า เขาฝึกหัดใจของเขา การไปอยู่ป่า อยู่ป่าเพื่อประพฤติปฏิบัติ ไม่ใช่การไปอยู่ป่าเพื่อเอาความเป็นอยู่ป่านั้นมาอวดมาอ้างกัน ถ้าเอาความอยู่ป่ามาอวดมาอ้างกัน หิน ทราย ปูน ต้นไม้ก็เกิดในป่า ก็กราบต้นไม้ซะ ต้นไม้อยู่ในป่า อายุ ๒๐๐ - ๓๐๐ ปี
คำว่า “อยู่ป่า อยู่ป่า” เพราะเราเห็นเขาอ้างกันมาบ่อยไง นี่ก็บอกว่า “พวกโยมเขาเห็น อู้ฮู! ต้องมีภูมิจิต ภูมิธรรมขั้นสูง ไม่อย่างนั้นจะอยู่ป่าไม่ได้” แล้วก้อนหินมันอยู่ป่า ภูเขาอยู่ในป่า ไม่ไปกราบมันบ้างล่ะ ดูสิ อยู่ป่ามันมีหนอง เห็นไหม มันมีหนองน้ำ มันมีสัตว์น้ำ อยู่ในป่ามันมีเสือมีสาง มีสัตว์ป่า อ้าว! แล้วมันก็อยู่ป่าเหมือนกัน ทำไมไม่กราบมันบ้างล่ะ
ไอ้เราไปอยู่ป่า อยู่ป่า อยู่ป่าเพื่อเป็นข้อวัตร อยู่ป่าเพื่อค้นคว้าหาใจของตน ถ้าค้นคว้าหาใจของตนแล้วอยู่ที่ไหนมันก็ดีทั้งนั้นน่ะ ถ้าอยู่ป่าก็อยู่ป่าเพื่อเหตุนั้นไม่ใช่อยู่ป่าเพื่อเอามาอวดว่าฉันอยู่ป่า พวกเอ็งอยู่บ้าน ดีไม่เท่าฉัน ฉันอยู่ป่า คนอยู่ป่ามันจะดีกว่าคนอยู่บ้านหรือ คนอยู่บ้านก็ส่วนคนอยู่บ้านสิ วัดบ้านเขาก็ศึกษาของเขา วัดป่า เราจะบอกว่าวัดป่า พระป่า มันต้องประพฤติปฏิบัติ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
อยู่ในพระไตรปิฎก เราศึกษามาเยอะ ท่านบอกเลยพระป่าต้องสวดมนต์ ต้องนั่งสมาธิภาวนามากกว่าพระบ้านสองเท่า ไปดูในวินัยสิ มีพระไปถามพระพุทธเจ้าว่าเราต้องทำประพฤติตัวอย่างไร ขนาดเขาอยู่บ้านกัน เขายังทำวัตรสวดมนต์ เราอยู่ป่าทำต้องมากกว่าสองเท่า สองเท่าเพราะอะไร สองเท่าเพราะว่ามันอยู่ในที่มันวิกฤติ อยู่ในป่ามันมีภัยไปทั้งนั้น
ถ้าอยู่ในวัดในวา มันมีผู้คุ้มครองดูแลใช่ไหม มันมีกุฏิวิหารปกป้องดูแลใช่ไหม ไปอยู่ป่ามันก็มีแต่ผ้ามุ้งทั้งนั้นน่ะ มีมุ้งหลังหนึ่ง แล้วก็เสือสางช้างม้าเต็มไปหมด มันจะเหยียบหัวเอา ถ้าอยู่ป่า อยู่ป่าเขาก็สวดมนต์ทำวัตร เขาต้องมีสติพร้อม อยู่ป่าต้องมีสติสัมปชัญญะมากกว่าพระบ้านสองเท่า อยู่ในพระไตรปิฎก การไปอยู่ป่า อยู่ป่าเพื่อประพฤติปฏิบัติ ไม่ใช่อยู่ป่าเพื่อไปเอาชื่อเสียง ไปเอาคำว่า “อยู่ป่า” แล้วมาอวดอ้างกัน ไม่ใช่! อยู่ป่าเพื่อประพฤติปฏิบัติ อยู่ป่าเพื่อค้นคว้าความจริงของเราขึ้นมา
นี่เขาบอก “ผมอยากเรียนถามหลวงพ่อว่า ท่านแสดงธรรมว่าท่านปฏิบัติธรรมมา ๒๐ ปี เข้าถึงสมาธิ เข้าถึงความสุข ความเป็นอิสระของจิต และมีคนแสดงความคิดเห็นว่าท่านต้องมีภูมิธรรมชั้นสูง ท่านสามารถอยู่ป่าได้ แต่! แต่ในมุมมองของผม ผมวินิจฉัยว่าท่านปฏิบัติได้สมาธิ ในแนวทางของท่านเป็นแนวทางของฤๅษีชีไพร สมาธิที่ไม่ชอบธรรม สมาธิที่ไม่เข้าสู่มรรคสู่ผล เพราะเรื่องธรรมวินัยของท่านไม่สมบูรณ์”
นี่พูดถึง ถ้าเราจะวินิจฉัย เห็นไหม กาลามสูตร ไม่ให้เชื่อใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าไม่เชื่อใดๆ ทั้งสิ้น มันก็เชื่อโดยทฤษฎี เชื่อโดยธรรมวินัย เห็นไหม เอาธรรมวินัยเข้าจับไง พอธรรมวินัยเข้าจับ ธรรมวินัยของท่านไม่สมบูรณ์ ถ้าไม่สมบูรณ์ของท่าน เห็นไหม ถ้าไม่สมบูรณ์ของท่าน มันก็ต้องอยู่ที่ว่าท่านมีความจำเป็นสิ่งใด เห็นไหม อย่างเช่น เวลาพระของเรา พระเราเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย มันก็ได้รับการยกเว้นในวินัยได้บ้าง
นี่ก็เหมือนกัน ท่านมีความจำเป็นอะไร ท่านขาดสิ่งใด เวลาปฏิบัติไง ไม่ใช่ว่าเราศึกษาธรรมวินัยแล้วมันจะเลี่ยงบาลี เลี่ยงบาลี ไม่ใช่! เพราะอย่างนี้ เพราะคำว่า “เลี่ยงบาลีปั๊บ” กิเลสมันออกช่องนั้นน่ะ เราปฏิบัติมา ดูสิ คนที่ปฏิบัติ ที่ไม่ได้สมาธิ ไม่ได้สมาธิเพราะเหตุนี้ นั่งสมาธิมาเกือบเป็นเกือบตายเลย พอถึงจะได้จะเสียนะ เอาไว้ก่อน พอมันเอาไว้ก่อน แล้วเดี๋ยวก็ไปเริ่มต้นใหม่ เริ่มต้นใหม่ นี่ก็เหมือนกัน เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา โอ๋ย! มีความจำเป็น ต้องอย่างนั้น ต้องอย่างนี้
ทีนี้เวลาครูบาอาจารย์ของเรา เห็นไหม พระป่า พระป่า เวลามันจะตาย อะไรตายก่อน เวลาตาย สละตายเลย อ้าว! ขอให้ตายไปเลย ให้มันรู้ไปสิว่าปฏิบัติแล้วมันตาย เพราะว่าพอสละตายขึ้นไปแล้ว กิเลสมันหายหน้าไปเลยนะ จิตมันลงฟว้าบ! เลยนะ ไม่เห็นมีอะไรตาย
หลวงตาท่านพูดบ่อย ท่านบอกเลยนะ เวลาท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เวลาเข้าด้ายเข้าเข็ม “อะไรจะตายก่อน ขอดูตายซิ” สุดท้ายท่านบอกว่า “เราไม่เคยตาย กิเลสตายหมด” หลวงตาท่านพูดของท่านน่ะ เวลาเข้าด้ายเข้าเข็มนะ มันจะเป็นจะตายขึ้นมา พิสูจน์กันเลย ขอดู อะไรตาย ขอดู สุดท้ายแล้วท่านบอกกิเลสตายหมด ตัวยังอยู่
แต่ของเราไม่ใช่ ขอหยุดก่อน กลัวตาย กิเลสมันเลยเฟื่องฟูไง ของเรา โอ้โฮ! ปลูกต้นไม้เอง ปลูกผักเอง หาผลไม้กินเอง ปลูกกุฏิเอง ทำเองหมดเลย กลัวตาย กิเลสเลยตัวใหญ่เลย ไอ้คนข้างนอกก็อู้ฮู! สุดยอด สุดยอดเลย ท่านอยู่ได้ ลืมไป ว่าชาวบ้านเขาก็อยู่ในป่าเหมือนกัน ชาวบ้านเขาอยู่ที่นั่นเหมือนกัน เขาอยู่กันมาหลายครอบครัวด้วย เขาอยู่มาแต่ไหนแต่ไร แล้วเราออกมาแล้ว เขายังอยู่ที่เก่านะ
ดูสิ หลวงปู่มั่นเวลาท่านจะลาจากมูเซอ เห็นไหม ตอนเข้าใจผิดก็คิดว่าท่านเป็นเสือเย็น พอท่านประพฤติปฏิบัติ พอจิตใจมันเป็นจริงขึ้นมา เห็นไหม โอ้โฮ! มาติหลวงปู่มั่นอีกนะ “ทางจงกรมก็ขรุๆ ขระๆ มีแต่รากไม้ เดินสะดุด เดินได้อย่างไร ฮู้! ทำไมทำไม่เรียบร้อย” สุดท้ายมาทำให้อย่างดีเลย ทำให้อย่างดีแล้วอุปัฏฐากอุปถัมภ์เพราะอะไร เพราะมันได้ความจริงในหัวใจ มันได้ความจริงไง
“พุทโธตุ๊หาย หมู่เฮา หมู่เฮาช่วยหาได้บ่”
“อู้ย! หมู่เฮาช่วยหามันยิ่งดีสิ มันจะได้พบไวๆ” เวลามันพบขึ้นมา มันพบในหัวใจ “โฮ้! พุทโธตุ๊ไม่หาย มันเป็นความโง่ของชาวบ้านต่างหาก” มันซาบซึ้งใจขนาดนั้น เพ่งโทษหลวงปู่มั่นจะเป็นจะตาย ท่านมีแต่ความเมตตาดูแลมาทั้งหมด แล้วเวลามันเป็นจริงขึ้นมา รักเคารพบูชามาก เวลาท่านจะจากไปนะ “ตุ๊จะไปไหน ตุ๊จะไปไหน ถ้าตุ๊จะเป็นจะตาย ชาวบ้านก็จะเผาศพให้ได้ ตุ๊จะเป็นอะไร ชาวบ้านก็ทำให้ได้ทั้งนั้น ชาวบ้านทำให้ได้หมดเลย ชาวบ้านไม่ยอมให้ตุ๊ไป”
เวลามันเป็นจริงขึ้นมา มันผูกพันกันอย่างนั้น มันรักกันอย่างนั้นน่ะ มันรักกันด้วยหัวใจ รักกันด้วยความจริง
ถ้าเป็นความจริงเกิดขึ้น เห็นไหม ไปอยู่ป่า อยู่ป่าอย่างนั้น อยู่ป่าทำให้เขาเป็นคนซื่อ คนตรง เวลาปฏิบัติจริงๆ มันก็ได้ธรรมะจริงๆ ขึ้นมา ถ้าจริงๆ ขึ้นมา อยู่ป่าเพื่อประพฤติปฏิบัติ อยู่ป่าเพื่อดัดแปลงหัวใจของตน ไม่ใช่อยู่ป่าเพื่อเอามาคุยกันว่าอยู่ป่ามา ๕ ปี ๑๐ ปี เราได้ยินมาเยอะไง วันนี้มันได้โอกาสพูดไง แหม! ออกจากป่ามา ออกจากป่ามา แล้วสัตว์ป่าล่ะ เหมือนกัน เวลาหลวงตาไปไหน ท่านบอกโอ๋ย! ที่นั่นได้ ที่นี่ได้ ท่านไปเยี่ยมด้วยน้ำใจของท่าน ไอ้ความดี ความเลวมันอยู่ที่เรานี่แหละ มันดีจริงหรือเปล่า ถ้ามันความดีจริง มันดีจริงๆ ขึ้นมา
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าพระมันปฏิบัติดีปฏิบัติชอบขึ้นมา อย่างที่ว่า ถ้าปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมันมีนิสัยนะ ถ้าเป็นกรรมฐานต้องถือธรรมวินัยมากกว่าวัดบ้าน ๒ เท่า ฉะนั้น ไอ้เรื่องที่ผิด ที่ผิด แล้วถ้ามันมีวัตรปฏิบัติ มันอยู่กับครูบาอาจารย์มา ครูบาอาจารย์ทำมาอย่างไร ถ้าครูบาอาจารย์ทำมาอย่างไร มันจะทำตามนั้น มันมีวัตรปฏิบัติ ถ้ามีวัตรปฏิบัติขึ้นมาแล้ว วัตรปฏิบัติ นี่แหละที่เป็นข้อวัตร นี่แหละมันเป็นเครื่องพิสูจน์ ถ้าพิสูจน์ได้จริง พิสูจน์ได้จริง ทำมา เรามีครูมีอาจารย์ขึ้นมาไง มันมีวัตรปฏิบัติขึ้นมา มันก็เป็นความจริง
วัตรปฏิบัติสำคัญ เพราะวัตรปฏิบัติมันจะเป็นการฝึกหัด เพราะอยู่ป่า อยู่ป่าเพื่อประพฤติปฏิบัติ อยู่ป่าเพื่อฝึกหัดไง อยู่ป่าเพื่อให้จิตใจเราเป็นจริงขึ้นมาไง มันจะสมกับความเป็นวัดป่า ไอ้การว่าอยู่กับป่าเอาเวลามาอวดกัน ไร้สาระ การอยู่ป่า อยู่ป่า มันต้องมีศีล มีสมาธิ มีปัญญาหรือไม่ มีมรรคมีผลหรือไม่ เขาอยู่ป่าเพื่อเหตุนั้น เขาเข้าไปอยู่ป่า อยู่ป่ากันเพื่อไปดัดแปลงตน เพื่อไปแสวงหาหัวใจของตน เพื่อไปชำระล้างกิเลสของตน
ถ้ามันชำระล้างได้แล้ว เห็นไหม ขณะที่ว่าพระอยู่ป่า อยู่ป่า ถ้ามันจืดชืด ถ้ามันอยู่แล้วจำเจ พอมันจำเจ กิเลสมันก็โผล่แล้ว กิเลสมันก็ออกมาเพ่นพ่านแล้ว แล้วท่านก็ย้ายที่ไปอยู่ที่ใกล้ๆ เสือ ใกล้ๆ สัตว์ ให้มันตื่นตัวตลอด เขาไปอยู่ป่าเพื่อบังคับหัวใจของตน เขาไปอยู่ป่าเพื่อดัดแปลงตน พระป่า พระป่าเขาเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่อยู่ป่าเพื่อเอามาโม้มาอวดกัน เอวัง