ความจริงไม่แบก
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
เทศน์บนศาลา วันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๔๙
ณ วัดป่าสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ฟังธรรมะนะ ธรรมะถ้าโลกเขาฟังกัน มันต้องแบกไง ดูสิ เวลาเราคุยกันน่ะต้องแบกเห็นไหม กลัว.. ความขุ่น ความรู้สึก การศึกษา เรากลัวเราจะจำไม่ได้ เห็นไหม ธรรมะต้องแบกไว้ ถ้าเรียนปริยัตินะ ธรรมะนี่แบกไว้เลย แต่ถ้าธรรมะตามความเป็นจริงนะ มันไม่ต้องแบก แบกไม่ได้หรอก เพราะไม่มีผู้แบก
เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้วนะ ธรรมอันนี้เป็นความจริง ความจริงเกิดจากไหน? ความจริงเกิดจากใจ ไม่ได้แบกเลย เพราะไม่มีเหตุ ไม่มีตัวตน ไม่มีสถานที่แบก ไม่มีข้อมูล ข้อมูลเดิมไม่มี แต่เป็นสภาวธรรม
เวลาเผยแผ่ธรรมขึ้นมา เวลาสอนปัญจวัคคีย์ เทศน์ธัมมจักฯ สิ่งที่เป็นธัมมจักฯ เป็นรากเค้ามูลของศาสนาพุทธนะ ธัมมจักฯ เทศน์เรื่องอริยสัจเรื่องสัจจะความจริง เพราะอะไร เพราะว่าพระปัจจวัคคีย์ได้อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ ๖ ปี ได้ประพฤติปฏิบัติด้วย คนที่อุปัฏฐาก เห็นไหม เราดูสิ เราดูครูบาอาจารย์ของเรา ผู้ที่เป็นผู้ที่อุปัฏฐากจะคอยดูแล จะคอยประพฤติปฏิบัติ สิ่งนี้พระปัญจวัคคีย์ทำอย่างนี้อยู่ ๖ ปี จิตถึงมีหลักมีเกณฑ์ มีหลักมีเกณฑ์
เหมือนเราเป็นผู้ที่มีกำลัง นักกีฬามีการฝึกซ้อม แต่ทักษะไม่มีผู้สอน นักกีฬาอะไร เราจะเล่นอะไรเราก็ยังไม่เข้าใจ แต่เรามีกำลังเราฝึกไว้ เราเตรียมตัวไว้ เพราะอะไร เพราะพระอัญญาโกณฑัญญะ เวลาเป็นพราหมณ์ พยากรณ์ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องออกบวชเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่นอน และเด็ดขาด ถึงได้เตรียมตัวรอ เตรียมตัวจะเล่นกีฬา เตรียมตัวรอพร้อมเลย แต่ไม่มีใครเป็นผู้ชี้นำ นี่เตรียมตัวมาตลอด
เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ตรัสรู้สัจจะความจริงไง นี่ความจริงไม่ต้องแบกนะ ความจริงมันเป็นสัจจะ ความจริงเป็นวิมุตติธรรม มันอยู่กับหัวใจ อยู่กับธาตุรู้ สิ่งที่เป็นธาตุรู้เห็นไหม เป็นความจริง
แต่ถ้าเราเป็นความแบกไว้ ในปัจจุบันนี้เราแบกธรรมกัน เราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในภาคปริยัติ เราแบกไว้ เรากลัวลืม เราต้องทบทวน ต้องศึกษา ทางปริยัติต้องศึกษา ต้องค้นคว้า ต้องวิจัยนะ ต้องแต่งธรรมบท บาลีต้องแต่งเป็นธรรม แต่งไปเรื่อยๆ มันมีเค้ามูลไง เค้ามูลคือธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
แล้วพูดด้วยนะ มันเป็นปรมัตถธรรม ทำไมศึกษาปรมัตถธรรม ผิดตรงไหน?
ผิดที่เรามีกิเลส ผิดที่มีตัวตนมันแบกไว้ไง ผิดเพราะอะไร?
ผิดเพราะว่ามีอวิชชา อวิชชาปกคลุมไว้นะ
ดูสิ เวลาโลก เราแสวงหาโลก ทางวิทยาศาสตร์เขาส่งยานอวกาศไปหาโลก ไปหาดวงดาวต่างๆ หาสิ่งที่มีชีวิต
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าอวิชชามันปกคลุมจิตใจเรา จิตใจของคนเกิดคนตาย แม้แต่พระโพธิสัตว์ก็แล้วแต่ พระโพธิสัตว์ก็มีอวิชชา อวิชชาปกปิดจิตใจของพระโพธิสัตว์ ทั้งๆ ที่ตั้งใจทำคุณงามความดี เพราะพระโพธิสัตว์สร้างแต่คุณงามความดี ยิ่งพระพุทธเจ้าพยากรณ์แล้ว สิ่งนี้ต้องไปข้างหน้าสถานเดียว แล้วสร้างคุณงามความดีไปตลอด เพราะใจมันคิดออกนอกลู่นอกทางไม่ได้ เพราะได้สร้างสมบุญญาธิการมามหาศาลเลย แต่ก็โดนอวิชชาปกคลุมไว้
เหมือนที่เราแสวงหาโลกกัน โลกเขาแสวงหาดวงดาวกัน แสวงหาสิ่งที่มีชีวิตกัน ถ้าจิตมันมีอวิชชา มันปกคลุมอยู่ สิ่งที่ปกคลุมอยู่ สิ่งนี้ ผิดเพราะตรงนี้ สิ่งที่ปกคลุมไว้นี่ไง มันแบกชีวิตนะ
ดูอย่างชีวิตเรานี่เราทุกข์ยากไหม หน้าที่การงานก็ทุกข์ยากนะ แต่เรื่องของจิตใจเรา เรื่องของร่างกายเรายิ่งทุกข์ยากกว่าอีก มันบีบคั้นตลอดเวลา มันบีบคั้นนะ ทางการแพทย์ แม้ขาดอากาศหายใจแค่ ๕ นาที สมองน่ะถ้าไม่ได้ออกซิเจน สมองจะตาย คนสามารถตายได้นะ สิ่งที่เราต้องเลี้ยงอยู่ตลอดเวลา แม้แต่อากาศที่เราเลี้ยงให้อาหารอันละเอียด ให้ร่างกายเราได้ออกซิเจน สิ่งนี้มันต้องเลี้ยงอยู่ แล้วเราต้องเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง
เราต้องมีธาตุไฟในร่างกายของเราขับเคลื่อนร่างกายไว้ตลอดเวลา เราต้องเปลี่ยนอิริยาบถ นั่งนานก็ไม่ได้ เดินนานก็ไม่ได้ นอนนานก็ไม่ได้ มันปวดมันเมื่อยไปหมดน่ะ นี่สิ่งนี้มันกดทับอยู่ ต้องแบกไหม? มันต้องแบกร่างกาย แบกมหาศาลเลย แต่เพราะเป็นสัญชาตญาณ เพราะสัญชาตญาณอิริยาบถเราเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา เราถึงว่าไม่เห็นว่าเป็นการแบกไง
เวลามีทุกข์มีร้อนเห็นไหม ดูสิ เวลาเราเป็นหนี้เป็นสิน จนก่ายหน้าผากนะ เวลาทำธุรกิจ เราก็ต้องก่ายหน้าผาก เห็นไหม แบกไหม? นี่มันแบกไปหมดเลย สิ่งนี้มันแบกเพราะอะไร เพราะมันมีอวิชชา
ดูสิ ดูอย่างที่โลกเห็นไหม สิ่งที่โลกยุคโบราณ สิ่งต่างๆ ทรัพยากรมหาศาลเลย แต่คนไม่มี สมัยโบราณนะ เขาต้องแสวงหาคนกัน เวลามีสงครามกัน เขาต้อน... ต้อน... ไปใช้งานกัน เพราะสมัยนั้นมันไม่มีแรงงาน ทางวิทยาศาสตร์ยังไม่เจริญ คำว่า ไม่เจริญ แต่ทุกข์อันนี้ ใจก็อันนี้ กวาดต้อนกันมาเพื่ออะไร? เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ไง
นี่ก็เหมือนกัน เราแบกชีวิตเรานี่เกิดตายๆ มันก็สร้างสมบุญญาธิการ เรากวาดต้อนบุญมา กวาดต้อนบาปมา เป็นสิ่งที่ในหัวใจเรา เห็นไหม แล้วสิ่งนี้มันก็ดัดแปลงไป แบกรับภาระ แบกชีวิตนี้ก็ทุกข์ยากมากนะ แล้วพอเกิดมาพบพระพุทธศาสนา เรานี่มีบุญกุศลมากได้เกิดเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา
นี่ศึกษาธรรม ธรรมนี้เป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปรมัตถธรรมสามารถชำระกิเลสได้ นี่ศึกษาธรรมกันมา ศึกษามาก็ไปแบกไว้หลังแอ่นเลย อริยสัจมันเป็นอย่างนั้น สภาวธรรมมันเป็นอย่างนั้นนะ สัมโพชฌงค์นะ ธัมมวิจยะ ศึกษาไปเรื่อย ศึกษาไป
มันไปแบกเพราะอะไร? เพราะมันมีอวิชชา เพราะกลัวจะไม่รู้ รู้แล้วก็กลัวผิดพลาดไง ทำอะไรต้องมืดมนอนธการไปหมดนะ
มรรค ๘ มรรค ๘ นะเป็นทางเครื่องดำเนิน เทฺวเม ภิกฺขเว ทางสองส่วนไม่ควรเสพ อัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค ทางสายกลาง มัชฌิมาปฏิปทา นี่มรรค ๘ มรรค ๘ เป็นทาง เป็นมคฺโคนะ เป็นทางอันเอกนะ
แต่เวลากิเลสเราศึกษา มรรค ๘ มืดแปดด้าน มืดไปหมดเลย เดินก็ไม่ถูก ทำก็ไม่ได้ มรรค ๘ ไอ้ตัวหนังสือน่ะ
มรรค ๘ เป็นปรมัตถธรรมของ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อยู่โคนต้นโพธิ์ ค้นคว้านะ บุพเพนิวาสานุสติญาณ มรรคมันไม่สมดุล มีสมาธิ มีปัญญา แต่มันออก มันย้อนกลับไปในอดีต ในอวิชชา ในใจ ในโลก โลกทัศน์ภายในขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใจที่สร้างสมบุญญาธิการมาเป็นพระโพธิสัตว์ นี่มันย้อนอดีตชาติไปมหาศาลเลย มันไม่มัชฌิมาปฏิปทา มันเอียงไปในอดีต
จุตูปปาตญาณ ก็เอียงไปในอนาคต ถ้าอดีต ย้อนไปอดีตมันไม่มีที่สิ้นสุด มันไม่ได้เป็นการชำระกิเลส แล้วอนาคตล่ะ ดูไปในจิต มันก็ผลักไสออกไปในอนาคต นี่ เทฺวเม ภิกฺขเว ทางสองส่วนที่ไม่ควรเสพเห็นไหม
เวลาออกมา อาสวักขยญาณ นี่สิ่งนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมาแล้ว เพราะอะไร? เพราะสิ่งนี้เป็นมรรคญาณ เป็นสิ่งที่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เกิดขึ้นกับใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไหม นี่ไม่ได้แบกสิ่งใดๆมาเลย นี่ธรรมะมีอยู่โดยดั้งเดิม แล้วใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เวลามาเทศน์ธัมมจักฯ แบกมาจากไหน ไม่ได้แบกเลย
แต่สิ่งที่ใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมอยู่โคนต้นโพธิ์ อาการปฏิกิริยาของใจ ที่มันหมุนไป มรรคญาณหมุนไปมันเป็นสภาวะแบบนี้ มันไม่ได้แบกมานะ ไม่ได้แบกมา แต่สิ่งที่มันมา นี่ธรรม สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สภาวธรรมที่เป็นอนัตตา ใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เกิดขึ้น แล้วเกิดการกระทำอย่างนั้น มันเข้าไปเป็นอาสวักขยญาณ เข้าไปชำระกิเลสอย่างนั้น
เวลามาเทศน์ธัมมจักฯ ขึ้นมา ถึงเทศน์ เทฺวเม ภิกฺขเว ญาณํ อุทปาทิ ปญฺญา อุทปาทิ วิชฺชา อุทปาทิ ถ้าญาณมันเกิด ปัญญามันเกิด นี่สิ่งต่างๆ มันเกิด แสงสว่างมันเกิด ปัญญาเกิดนี่ทำลายกิเลสในหัวใจ สิ่งนี้เป็นสัจจะความจริง สัจจะความจริงที่จิตหลุดพ้นออกมาจากกิเลส จากอวิชชา จิตที่หลุดพ้นออกไปจาก...
เวลามาเทศนาว่าการถึงไม่ได้แบกมา แต่ของเรามันไปเรียนปรมัตถธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กิเลสเต็มหัวใจมันก็ไปแบกไว้ แบกธรรมหลังแอ่นเลย แล้วปฏิบัตินะ ก็ไม่มีอะไรเข้าไปสัมผัสธรรม นี่เวลาเดินจงกรม เดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนา แบกไปหมด แบกธรรม แต่ถ้าเราปล่อย เราปล่อยให้มันเกิดเป็นปัจจุบัน
ถ้ามันตรึกในธรรม คำว่า ตรึกในธรรม เห็นไหม เวลาเราตรึกนะ ถ้าเราคิดออกไปในเรื่องชีวิตนะ คนเราชีวิตนี่มันไม่เหมือนกัน คนสร้างกุศลมา เกิดมาก็คาบช้อนเงินช้อนทอง ชีวิตนี้ก็ราบรื่น เวลาคิดถึงชีวิตมันก็มีความร่มเย็นเป็นสุข คนเราเกิดมา มีกุศลเกิดมาเป็นมนุษย์ แต่เกิดมาทุกข์มายากมันเป็นคราวเป็นกาล เราเกิดกับพ่อแม่ พ่อแม่เรานี่บางคราวก็ส่งเสริมมาดี บางคราวพ่อแม่อัตคัดขาดแคลน เราก็ทุกข์ยาก เวลาคิดไปถึงชีวิตเราก็เศร้าหม่นหมองในชีวิต ชีวิตนี้ก็หม่นหมอง เวลาเดินจงกรมไป มันก็เศร้าสร้อย
ถ้าเราตรึกในธรรม ย้อนกลับมาตรงนี้ ตรึกในธรรมเพื่อไม่ให้อารมณ์ความรู้สึกของเรามันจมอยู่ในมูตรในคูถ ในมูตรในคูถนะ มันหลงไปกับความรู้สึกของตัวเองไง มันน้อยเนื้อต่ำใจถึงชีวิต แต่ถ้ามันคนที่เกิดมามั่งมีศรีสุข ชีวิตนี้ก็เท่านี้ เราก็ไม่ต้องมาทุกข์มายาก เห็นไหม มันก็ไปติดในอดีตอีก สิ่งที่เป็นอดีต สิ่งที่ฝังใจมา สิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่ทำให้เราเกิดมา นี่สิ่งอวิชชาปกคลุม
เหมือนโลกที่ว่าไม่มีสิ่งมีชีวิตเลย แล้วเราก็พยายามแสวงหาแหล่งน้ำเพื่อจะให้สิ่งที่มีชีวิตเกิดมาได้นี่ นี่ก็เหมือนกัน โลกทัศน์ในใจไง พอมันมืดบอด มันมืดไปหมดเลย เห็นไหม มืดแปดด้าน มรรค ๘ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่ทางอันเอก ทางมคฺโค ทางอันเอก
เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกสุภัททะ สุภัททะ เธออย่าถามให้มากไปเลย ในศาสนาไหนไม่มีมรรค ในศาสนานั้นไม่มีผลหรอก แล้วในศาสนาต่างๆ ในโลกนี้เราก็พิสูจน์ได้ว่าศาสนาไหนมีอริยสัจไหม มีมรรคไหม ไม่มีหรอก
ในศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล นี่ในพุทธศาสนานี่มีมรรคเห็นไหม พระอริยบุคคล โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี พระอรหันต์ มีเฉพาะในศาสนาพุทธนี้เท่านั้น เพราะมันมีวิธีการ มันมีการกระทำขึ้นมา นี่บอกกับสุภัททะ สุภัททะไปถาม ถามขึ้นมา แล้วสุภัททะถามน่ะ นี่ไง ก็ยังแบกอยู่เห็นไหม นี่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก
แต่สุภัททะ เพราะมีความศรัทธาความเชื่อถึงได้ออก... ถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้พระอานนท์บวชให้คืนนั้น บวชคืนนั้น แล้วก็ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้าบรรลุธรรมขึ้นมานี่เข้าใจหมด เห็นหมดรู้หมด แล้วไม่ต้องไปแบกหาม ไม่ต้องไปวิตกวิจารณ์ว่าต้องทบทวน ต้องอะไร เพราะอะไร
เพราะอริยสัจมันอยู่ที่ใจ ความรู้สึกมันอยู่ที่ใจ ถ้าความรู้สึกของเรา เราก็มีความรู้สึกอยู่ แต่เราโดนอวิชชาปกคลุมอยู่ เราก็ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่มืดแปดด้าน มืดไปหมดเลย แต่มีศรัทธา มีความเชื่ออยากจะพ้นจากทุกข์ เพราะทุกข์นี่มันเผาลน
ดูสิ ดูไฟ เห็นไหม มันจุดเทียนไว้ ให้แสงสว่าง นี่มันไหม้ตัวมันเองนะ ชีวิตนี้ก็เหมือนกัน ทุกข์นี้มันเผาลนนะ เผาลนชีวิตเรานี่ สิ่งนี้มันเผาลน เพราะอะไร? เพราะมันบีบคั้นใจ สิ่งที่บีบคั้นใจ แล้วเราจะเอาอะไรแก้มัน ถ้าเราจะเอาอะไรแก้มัน เราถึงจะต้องศึกษาธรรมโดยสัจจะความจริง สัจจะความจริงนะ ศึกษาที่ภาคปฏิบัติ ถ้าจิตมันสงบได้ เราจะเข้าไปถึงความสงบนะ
สมาธิ มันก็อยู่ในหนังสือ สมาธิ เป็นตัวอักษร แล้วสมาธิเป็นอย่างไรล่ะ แล้วก็คุยกันเรื่องสมาธิ คุยกันเรื่องปัญญา ปากเปียกปากแฉะนะ เวลาท่องธรรมะกันนี่ปากเปียกปากแฉะ ถ้าคนที่เขาตาดีนะ มาเห็นคนตาบอด มืดแปดด้านมันโต้เถียงกันน่ะ มันน่าสลดสังเวชนะ มันน่าสลดสังเวชเพราะอะไร เพราะสิ่งนี้มันเป็นเรื่องของอวิชชาที่มันมีอยู่
ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า...จริง
ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเถียงกันด้วยแง่มุมอะไร ด้วยแง่มุมว่า ด้วยมุมมอง ด้วยอวิชชา ด้วยอวิชชานะ มุมมองต่างๆ กัน เหมือนกับกฎหมาย นักกฎหมายตีความต่างๆ กัน นี่ก็เหมือนกัน ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันอยู่ที่จริตนิสัย โทสะจริต โมหะจริต ราคะจริต สิ่งใด มันเป็นที่ว่า พอจริตนิสัยมันเป็นสภาวะแบบนั้น อะไรกระทบมันไปหมดนะ
คนโลภะ สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นมันเป็นไปหมดน่ะ โทสะ เวลาอะไรกระทบ มันจะเกิดรุนแรงกับตัวเอง แล้วมุมมองในธรรมะสิ มันก็มีมุมมองต่างๆ กัน แล้วมุมมองต่างๆ แล้วแบกธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาฟาดฟันกันนะ แล้วโต้เถียงแล้วมันได้อะไร? โต้เถียงแล้วมันก็ได้อารมณ์ อารมณ์ที่แพ้ชนะ อารมณ์แพ้ชนะมันเป็นอะไร มันไม่เป็นผลอะไรขึ้นมา
แต่ถ้าเราไม่โต้เถียง เราเอามาดัดแปลงตน ดัดแปลงใจเรามันหน้าที่ของเรา กิเลสของเราเป็นกิเลสของเรา ความเห็นของเขาเป็นความเห็นของเขา ความเห็นของเรานี่เพื่อชำระกิเลสของเรา ถ้าเพื่อชำระกิเลสของเรา เรามีเหตุมีผลแล้ว มีเหตุมีผลเพราะอะไร เพราะศรมันปักอยู่ที่ใจนะ ถ้าเราจับศรได้ เราดึงศรออกจากใจเรานะ รักษาแผล เรามีโอกาสหาย ถ้าศรปักอยู่ที่ใจ ฟังสิ คำว่า ลูกศรมันปักที่ใจ ดูแผลสิ มันฝังอยู่ มันเจ็บ มันปวด มันระบม มันต่างๆ เลย นี่มันเป็นแผล มันเป็นรูปธรรมที่เห็นนะ แต่กิเลสมันปักอยู่ที่ใจนี่เราไม่รู้เลย เราไม่เห็นเลย
กิเลสร้ายนัก ถ้ากิเลสร้ายนัก ถ้าเรามีทิฐิมานะ เราไม่ฟังใครเลย สิ่งนี้จะทำให้เราเวียนเกิดเวียนตายไป มันก็ไม่มีวาสนา ทำดีโดยที่ไม่ฟังใครเลย มันก็ไปประสามันนะ ไปตามประสามัน คือความดีหมุนไป ถ้าทำชั่ว ไม่มีสิ่งใดรองรับเลย ไปสุดๆ เลยเพราะอะไร เพราะมันยึดมั่นถือมั่นตัวเอง
แต่ถ้าเราเอาศีลเอาธรรม เข้ามาจำแนก เข้ามาเห็นว่า สิ่งนี้มันตรงกันไหม สิ่งนี้มันเป็นจริงไหม สิ่งนี้มันเริ่มแก้ไข แล้วเราแก้ไขเรานะ แก้ไขจากที่ไหนล่ะ แก้ไขเห็นไหม ดูคนทำงานสิ เขาอาบเหงื่อต่างน้ำ เขาบริหารจัดการน่ะ เขาทุกข์เขาเครียดเขาหาอะไร เขาหาเงินหาทองมานะ มันเป็นอำนาจวาสนานะ คนเราทำงานเหมือนกัน ประสบความสำเร็จก็ได้ ไม่ประสบความสำเร็จก็มาก โลกนี้ ทางธุรกิจเสียหายบ้าง กี่เปอร์เซ็นต์ๆ โลกเขายอมรับกัน
แต่ถ้าเป็นธรรมนะ เป็นไปไม่ได้เลย เป็นไปไม่ได้เพราะอะไร เพราะเราตั้งใจ เราศรัทธา เราศรัทธาในศาสนา เพราะอะไร เพราะเราสร้างบุญกุศลมาก แล้วเราคบมิตรดี เราคบครูบาอาจารย์ไง คบหมู่คณะไง คบบัณฑิต บัณฑิตทำงานอันละเอียด บัณฑิตทำงานในเรื่องงานของใจ
นี่คนเห็นไหม ดูสิ เขาทำงานของเขา เขาอาบเหงื่อต่างน้ำ เขาทำงานของเขา นี่มันเกิดมานะ เกิดมาสภาวะแบบนั้น เขาก็ทำงานของเขาอย่างนั้น เราก็บริหารจัดการของเรา แล้วถ้างานละเอียดในหัวใจล่ะ งานละเอียดนะ มันเข้ามาถึงความรู้สึกอันนี้ ความอบอุ่น ความดิ้นรน ใจมันให้ผลกับใจเรา สิ่งนี้ถ้าเรามีสติ เรามีศรัทธาของเรา มันจะย้อนกลับมาไง
ความสุขในโลกนี้ไปหากันที่ไหน หากันไปเถอะ โลกเขามีมหาศาลนะ
ตอนนี้นะ ขยะทางอุตสาหกรรมมหาศาลเลย แต่เราก็อยากใช้กันนะ เราอยากจะสะดวกสบาย เราจะอยากหาของบำรุงบำเรอเรานะ แล้วใช้ชั่วคราวนะ เพราะใจนี่นะ ถมไม่เคยเต็ม เหมือนทะเลนี่เขายังสามารถถมเป็นเกาะเป็นดอน สร้างเมืองได้เลยล่ะ แต่ในหัวใจเรานี่ถมด้วยอะไร
คนรักอะไร คนเล่นของอะไร สิ่งนั้นหามาเท่าไรมันก็ไม่เคยพอหรอก มันไม่มีที่สิ้นสุดหรอก เพราะอะไร เพราะนี่เรื่องของกิเลส มันจะมีสิ้นสุดได้ด้วยการ ไม่ ต่างหากล่ะ ไม่เอา ไม่ดู ไม่ทำ ชักออก
ไฟ ถ้าใส่ฟืนไปเท่าไรนะ ไม่มีวันดับ ถ้าชักฟืนออกมีวันดับ นี่ก็เหมือนกัน เราต้องพยายามชักสิ่งตัณหาความทะยานอยากในหัวใจ ชักออก ดึงออก ถ้ามีสติสัมปชัญญะเริ่มยับยั้ง นี่ทำแบบนี้ มันฝืน ฝืนกับกิเลส มันถึงทำยากไง
แต่ถ้าเป็นธรรมะที่แบกหามมานะ มันไปโอ้อวด มันไปพูดโม้กันปากเปียกปากแฉะนะ พูดธรรมะกันนะ แต่พฤติกรรมเป็นธรรมไหม? พฤติกรรมไม่เป็นธรรมเลย เพราะอะไร เพราะมันเป็นอกุศลในใจ เอาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาอ้างอิงตัวเองเก่ง อวิชชาในใจเอาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาอ้างอิง แต่จิตใต้สำนึกต้องการผลประโยชน์ ต้องการลาภสักการะ ต้องการให้เขานับถือบูชาว่า ฉันนี่เป็นคนเก่ง
สิ่งนี้มันเป็นอวิชชาทั้งนั้นล่ะ มันเป็นกิเลสในหัวใจทั้งนั้นน่ะ
แล้วอ้างธรรมะทำไม ไหนว่ามันเป็นธรรม เป็นปรมัตถธรรมไง
ปรมัตถธรรม ทำไม มันไม่ชำระกิเลสล่ะ?
ปรมัตถธรรม ทำไมมันไม่รู้จักสมาธิเป็นอย่างไรล่ะ?
ถ้าสัมมาสมาธิ มันเป็นสภาวะแบบใด นี่มันเป็นธรรมจริงๆ ไง
ถ้าธรรมจริง คนที่เวลาทำจิตสงบได้นะ เป็นสมาธิขึ้นมานะ อ๋อ สมาธิเป็นอย่างนี้ แล้วจะฝังใจมาก ฝังใจความสุขอย่างนี้นะ นี่ขั้นของสมาธิไง แล้วถ้าทำความสงบได้บ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า พยายามรักษาความสงบอย่างนี้มาบ่อยครั้งเข้า เห็นไหม สาวไปหาเหตุ นี่ถ้ามีอำนาจวาสนา เราได้ย้อนออกไป กาย เวทนา จิต ธรรม สิ่งนั้น นี่มรรค ๘ ไง มรรค ๘ มคฺโค ทางอันเอก แสงสว่าง ทางนี่ ญาณํ อุทปาทิ ญาณเกิดขึ้น ปัญญาเกิดขึ้น มันเกิดขึ้นอย่างไร
ถ้าเป็นธรรมแท้นะ มันจะเข้าใจสัจจะความจริง ความจริงอย่างนี้ ถ้ามันฝังใจกับผู้ที่ประพฤติปฏิบัติกับผู้ใดนะ สิ่งนี้จะพูดได้ทุกกาลทุกเวลา แต่ถ้ายังไม่ถึงที่สุด ถึงสมุจเฉทปหานก็ยังไม่รู้อีกว่ามันขาดอย่างไร มันสมุจเฉทปหานอย่างไร มันเป็นขั้นตอนอย่างไร มันแบกไว้เพราะอะไร เพราะมันเป็น สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ไง มันเป็นอนิจจัง
สิ่งใดเป็นอนิจจัง สิ่งนั้นเป็นทุกข์
ถ้าไม่เป็นทุกข์ เวลาเราปฏิบัติ จิตเสื่อมน่ะ เวลาปฏิบัติแล้วไม่ได้ผล เป็นทุกข์ไหม? ถ้าเป็นทุกข์ถามตัวเองสิ เดินจงกรมทั้งวันทั้งคืน แล้วจิตไม่สงบจิตไม่ลง เป็นทุกข์ไหม? เป็นทุกข์ เป็นทุกข์เพราะอะไร? เป็นทุกข์เพราะตัณหา เป็นทุกข์เพราะกิเลส เพราะจิตเคยสงบไง มันฝังใจ ความสุขอย่างนี้ฝังใจ แล้วพอฝังใจขึ้นมา ความอยากจะได้ความสุขอย่างนี้ ความอยากได้ความสุข แล้วมันเป็นจริงไหมล่ะ? มันไม่เป็นจริงหรอก
แต่ถ้ามันจะเป็นจริงเพราะอะไร เป็นจริงเพราะกายกับจิต เวลาเรานักปฏิบัติ ครูบาอาจารย์พาอดนอนผ่อนอาหารเพราะอะไร เพราะถ้าร่างกายนี้เข้มแข็ง สิ่งต่างๆ มันจะกดถ่วงกัน มันไม่สมดุลกันระหว่างร่างกายกับจิตใจ เราถึงต้องอดนอน ต้องผ่อนอาหาร อดมัน ฝืน ชักฟืนออกจากไฟ ถ้าชักฟืนออกจากไฟ ไฟมันจะมอดลง ถ้าไฟมันมอดลง มันก็มีความร่มเย็น จิตมันก็เริ่มอ่อนลง
ถ้าเดินจงกรม เราเดินจงกรมของเรา เรานั่งสมาธิของเรา เราตั้งใจเอง พุทโธๆ ก็ต้องพุทโธไป ถ้าปัญญาอบรมสมาธิก็ต้องใช้ปัญญาใคร่ครวญจิตไปตลอดเวลา ผลมันจะเป็นอย่างไร มันเป็นหน้าที่ของเขา ความสมดุลเห็นไหม เราตั้งน้ำไว้บนไฟ หน้าที่เรารักษาไฟ ถ้าไฟคงที่น้ำต้องเดือดแน่นอน จะช้าจะเร็วต้องเดือด แต่นี่เราไปต้องเร่งอยากให้น้ำเดือด แต่เราไม่รักษาไฟ
ไฟอะไร? ตบะธรรมไง ไฟคือสติ ไฟคือปัญญา ไฟคือความเพียรของเรา ความเพียรของเราหมั่นเข้าไป แต่นี่ไฟชักเข้าชักออกนะ เดี๋ยวก็ดับไฟ เดี๋ยวก็จุดไฟ แล้วน้ำมันจะเดือดได้อย่างไร
นี่ก็เหมือนกัน เวลาประพฤติปฏิบัติเห็นไหม สมาธิเป็นอย่างนั้น ปัญญาเป็นอย่างนั้น นี่ตัณหามันออกหน้าไปก่อน ถ้าตัณหามันออกหน้าไปก่อน โดยสัญชาตญาณของชีวิตนะ ทุกคนอยากดิบอยากดี ความอยากอย่างนี้มันเป็นความอยากจากจิตใต้สำนึก ควบคุมไม่ได้ แต่ความอยากตามความรู้สึกนึกคิดออกมานี่ควบคุมได้
ความอยากที่เป็นความรู้สึกออกมานี่ แต่ขณะที่มันออกมา เราไม่รู้ตัวไง พอเราไม่รู้ต้วมันถึง สิ่งนี้มันก็ดับ ทั้งดับไฟ ทั้งติดไฟเห็นไหม มันถึงไม่สงบไง ทั้งๆ ที่จิตเคยสงบนะ ทั้งๆ ที่จิตสงบได้ ทั้งๆ ที่เห็นว่าน้ำเดือด น้ำมันเคยเดือดต่อหน้าเรานี่ล่ะ แต่คราวนี้เราจะให้มันเดือดอีกมันเดือดไม่ได้ มันเดือดไม่ได้เพราะตัณหาตัวนี้ไง
แต่ถ้าเราพยายามตั้งสติแล้วปล่อยวาง แล้วรักษาไฟของเราไป คือรักษาสติ กำหนดพุทโธก็ได้ ปัญญาอบรมสมาธิก็ได้ มันต้องเดือดแน่นอน มันเดือดเพราะเรารักษาไฟ ไม่ใช่เดือดเพราะอยากได้สมาธิ ไม่ใช่เดือดเพราะเราต้องการธรรม
สิ่งที่เป็นสัจจะความจริง แม้แต่สมาธิมันก็เทียบเคียงได้ ผู้ที่ปฏิบัติจริง ได้รับความจริงขึ้นมาจะฝังที่ใจนั้น ผู้ที่ปฏิบัติไม่จริง แต่ธรรมะนั้น แบกสมาธิมานะ สมาธิเป็นอย่างนั้นนะ สติเป็นอย่างนั้นนะ ความเป็นไปนะ มันไม่เป็นสมาธิเลย เพราะอะไร เพราะยังอ้าปากถามอยู่ไง
เหมือนกับความเย็น เราได้กระทบกับความเย็น ความเย็น ใครต้องบอกเราว่าเย็นไหม มันเย็นจากสิ่งที่กระทบผิวหนังเรา เย็นจากใจของเรา ถ้าใจร่มเย็น เย็นจากสมาธิธรรม เย็นจากความเป็นไป สิ่งที่เป็นไปคือจิตมันเป็นปัจจัตตัง จิตได้สัมผัสเอง ความจริงเป็นแบบนี้ ความจริงอย่างไรที่เกิดขึ้นมา จิตมันจะรู้ความจริงได้แต่อำนาจวาสนาที่จิตได้สัมผัสเท่านั้น เลยกว่านั้นไป จิตรู้ไม่ได้ไง
เวลาเราฟังธรรมของครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ท่านเทศนาว่าการ ถึงที่สุด ครูบาอาจารย์ที่มีธรรมนะ ตั้งแต่เริ่มต้นตั้งแต่หัดยืน หัดเดิน หัดนั่ง หัดนอนไปเรื่อยๆ นะ จนถึงที่สุด ถึงที่สุดของธรรมะเห็นไหม ขั้นตอนมันจะมีของขั้นตอนนั้นไป เราฟังตลอดไป เราฟังเทศน์ครูบาอาจารย์ไป แล้วมันเป็นความจริงไหม
ขณะที่ฟังเทศน์เห็นไหม นี่ภาคปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ภาคปฏิบัตินะ ขณะที่ฟังเทศน์ เทศน์นี่ออกมาจากของจริง ออกมาจากของจริงจากใจของครูบาอาจารย์เรา เป็นธรรมะสดๆ นะ ธรรมะสดๆ ออกมาจากใจในปัจจุบันนั้น เดี๋ยวนั้นเห็นไหม เดี๋ยวนั้น แล้วใจเรามันถึงกันไง
ดูสิ ดูอย่างสื่ออย่างไฟฟ้า ถ้ามีสื่อ ไฟจะไปตามสื่อนั้น ความรู้สึกก็เหมือนกัน ความรู้สึกจากใจ กับใจของครูบาอาจารย์ สิ่งที่ออกมา มันอาศัยสิ่งนี้เป็นเครื่องกล่อมใจ เป็นเครื่องที่ว่า ใจนี่เรากำหนดพุทโธๆ ของเราเอง เวลาเราปฏิบัติของเราเอง แต่ขณะที่ฟังธรรมมันมีความลังเลสงสัยนะ เหมือนกับผู้ใหญ่คอยรักษาเด็กเลย เด็กมันจะซน เด็กมันจะเล่นของมัน ตามประสามัน จิตก็เหมือนกัน มันจะคิดของมันเรื่องธรรมะ สภาวะแบบนั้น ความเป็นไปของจิตสภาวะแบบนี้
ขณะที่เทศน์ของครูบาอาจารย์จะเข้ามาตบ ตบความรู้สึกอันนั้นออกไปว่า สิ่งนั้นไม่ใช่ สัจจะความจริงมันเป็นความจริงของมัน ความสงบคือความสงบของใจ ถ้าความสงบของใจยังไม่เกิดขึ้น ปัญญาที่เกิดขึ้นมันเป็นปัญญาของกิเลส เป็นธรรมะที่กิเลสมันหลอก มันแบกมาเชือดคอเราไง การประพฤติปฏิบัติน่ะมันโดนกิเลสแบกมา มันเชือดเอาจนตายนะ
ผู้ที่ปฏิบัติ เวลาจิตเสื่อม เห็นไหม จนท้อถอยน้อยใจ จนบอกว่าชาตินี้เรามีวาสนา เราก็ทำบุญกุศลไปตามสภาวะแบบนี้ การประพฤติปฏิบัติไม่ได้ ทั้งๆ ที่ยังมีลมหายใจเข้า และลมหายใจออก อยู่ นี่ดูสิ เวลากิเลสมันเอาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาทำลาย มาเชือดคอเรา ทำลายโอกาสของเราไง แต่ถ้ามีความเข้มแข็งขึ้นมานะ เราเข้มแข็งของเราขึ้นมา เราอาศัย เอาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง เป็นแบบอย่าง
แต่ขณะที่เราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะเคลมให้ธรรมนี้เป็นของเรา ทั้งๆ ที่ไม่ใช่เลย แบกจนหลังแอ่นนะ เพราะอะไร เพราะต้องทบทวน ต้องคอยค้นคว้า ต้องคอยเปิดตลอดเวลาเลย กลัวมันจะผิด...แล้วก็ผิด เพราะอะไร เพราะสิ่งนั้นมันเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่ธรรมของเรา
แต่ถ้ามันเป็นประโยชน์นะ เรามีสติสัมปะชัญญะ ย้อนกลับไปว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นครูเอกของโลก เป็นครูของเรา ดูสิ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกบวชสิ โอกาสมีไหม จะได้เป็นกษัตริย์อยู่แล้ว แล้วลูกก็พึ่งคลอด แล้วภรรยาล่ะ มันอาลัยอาวรณ์ขนาดไหน ท่านยังต้องพลัดพรากออกมา ท่านฉุดกระชากลากหัวใจของท่านออกมา เพื่อออกมาประพฤติปฏิบัติอยู่ ๖ ปี ท่านศึกษามากับเจ้าลัทธิต่างๆ ท่านไปตรวจสอบมาให้เราหมดแล้วว่า ในโลกนี้ ในสิ่งที่ลัทธิต่างๆ ที่เขาทำกันอยู่นี่ ไม่มีเลย ไม่มีสิ่งใดจะเป็นสัจจะความจริงได้เลย
แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สร้างบุญญาธิการมา ถึงมาบรรลุธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง เอาสิ่งนี้มาเป็นตัวอย่าง แล้วเราประพฤติปฏิบัติ แล้วได้รู้ธรรมอะไรล่ะ จิตสงบไหมล่ะ จิตไม่สงบมันก็สภาวะแบบนั้น เราเอามาเป็นคติ เป็นตัวอย่าง แล้วเดินตามครูตามอาจารย์ จะไม่ทำให้เราเสียการไง
แต่ถ้าเราคิดของเรา เราคิดว่า สิ่งนั้นเป็นธรรม กิเลสนะ มันซ้อนมานะ มันซ้อนมาในใจเรานี่ สิ่งนี้เป็นสภาวะแบบนั้น ยิ่งถ้าเวลาทุกข์เวลายาก เหมือนกับสัตว์ เวลาเรามัดไว้มันจะดิ้น เวลาเราจะให้อยู่กับเรา เราก็ผ่อนเขาหน่อยหนึ่ง สัตว์นั้นจะอยู่กับเรา
นี่ก็เหมือนกัน กิเลสมันมัดใจไว้ไง ถึงเวลามันก็ให้เราหายใจทีหนึ่ง แล้วมันก็มัดเราไว้อีก สิ่งที่เวลาจิตมันเคลิ้มไป เคลิ้มไป ว่าสิ่งนี้มันเป็นสมาธิ มันให้เราสบายใจหน่อยหนึ่ง มันหลอกไง เราถึงจะต้อง เชื่อตัวเองไม่ได้ เราเชื่อกิเลสในใจเราไม่ได้นะ
ถ้าเราเชื่อกิเลสเรานะ เวลาปฏิบัติธรรมไปมันไม่สมควรแก่ธรรม ถ้าไม่สมควรแก่ธรรม มันไม่เป็นสัจจะความจริง ไม่ใช่ความจริง มันก็เลยแบกไว้ไง เป็นสัญญา เป็นสัญญานะ สัญญาต้องคอยถาม ต้องคอยทบทวน เราจะต้อง... สัญญาคือความลังเลสงสัย ถึงจำได้ จำได้ก็เลือน เลือนก็จำได้ นี่มันไม่แน่ใจตัวเอง
แต่ถ้าเป็นความจริงนะ มันแน่ใจในตัวเอง ถ้าสงบขนาดไหน เราจะต้องหมั่นรักษาไว้ เพราะสิ่งนี้เป็นพื้นฐาน โลกเขาหาแหล่งน้ำกันเพื่อจะทำเกษตรกรรม เราก็หาจิตของเรา ถ้าจิตมันสงบขึ้นมาได้ รักษาจิตไว้ เพราะจิตนี้ออกวิปัสสนา เพราะกิเลสมันอยู่ที่จิต จิตเรามันโง่ มันโดนอวิชชาครอบงำไว้ มันถึงพาเกิดพาตาย
แบกรับภาระชีวิตนะ ภพหนึ่งชาติหนึ่งก็รับภาระชีวิตนั้นนะ ชีวิตนี้มีเท่านี้ แต่มันก็ตื่นไปกับโลก ตื่นไปกับชีวิต ตื่นไปตลอดเวลา ไม่เข้าใจสัจจะชีวิตตัวเองเลย ในปัจจุบันนี้ มีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ย้อนกลับมาที่เรา ย้อนกลับมาดูตัวจิต ถ้าจิตมันสงบได้ นี่จิตมันติดในอะไร สิ่งที่ว่าเป็นศรปักอยู่ที่ใจ มันเอาอะไรปักไว้ ศรยังจับได้เพราะมันเป็นศร แผลก็เห็นชัดเจนนะ แต่ถ้ากิเลสมันปักอยู่ที่ใจนี่มันไม่เห็นสิ่งใดเลย เพราะอะไร เพราะเวลาจิตมันสงบแล้วว่างหมด ว่างจนผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเข้าใจว่านิพพาน
ว่าง สิ่งที่เป็นความว่าง เป็นความว่าง อะไรมันเป็นความว่างล่ะ? สิ่งที่เป็นความว่าง ถ้ามีสติสัมปชัญญะนะ ความว่างออกมา คนมีสตินะ เทียบใจสิ เวลาออกไปเจอสิ่งใดที่เป็นที่ถูกใจ มันก็ยังชอบอยู่อย่างเดิม ความว่างอย่างนี้มันแก้กิเลสไหมล่ะ ความว่าง จริงอยู่ ขณะที่จิตมันสงบมันก็ว่าง แต่เวลาที่ออกมาแล้ว สิ่งนั้นมันคงที่ไหมล่ะ ฉะนั้นสิ่งที่เป็นความว่างมันเป็นอนิจจัง เพราะจิตเจริญแล้วเสื่อม สิ่งที่เจริญแล้วเสื่อมเราต้องรักษาไว้ สิ่งที่ต้องรักษาไว้
แล้วอะไรที่ไม่ต้องรักษาล่ะ สิ่งที่ไม่รักษาคือสิ่งที่เหมือนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไก่ตัวแรกที่เจาะฟองอวิชชาออกมา นี่ถ้าเป็นความจริงแล้วไม่ต้องรักษา ความจริงคือความจริง
แต่ถ้าเป็นสัญญาเป็นความปลอม มันเป็นสมมุติบัญญัติ ถ้าสมมุติบัญญัติมันยังไม่เป็นความจริง โลกนี้เป็นสมมุติบัญญัติ ชีวิตนี้เป็นเรื่องของโลกๆ เรื่องของโลกๆ ความคิดเราก็เป็นโลกๆ เพราะเป็นสมมุติบัญญัติ แต่สัจจะความจริงอันนี้ ถ้าเรากำหนดสติเข้าไป มันเห็นสัจจะความจริงอันนั้น แล้วย้อนไปไง ย้อนไปให้เห็นว่า ถ้ามันเป็นสมมุติ อะไรเป็นสมมุติ?
ความคิดเราก็เป็นสมมุติ ความคิดจริงๆ นี้ ความคิดที่เราใช้ปัญญาไปทางวิทยาศาสตร์น่ะ ทางวิทยาศาสตร์ สิ่งที่พิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์นี่เป็นสมมุติไหม? เป็นสมมุติ เป็นสมมุติกับจิต แต่สิ่งที่เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นข้อเท็จจริงของเขา สมมุติกับจิต เพราะจิต สิ่งนี้มันเป็นประโยชน์กับเราไหม มันเป็นประโยชน์กับจิต จิตนี้รักษาไว้
เรารู้หลักการ วิชาการทั้งหมดเลย วิชาการนี้แก้กิเลสได้หรือเปล่า วิชาการนั้นไม่ได้แก้กิเลสเลย วิชาการนั้นเป็นวิชาชีพ ถ้าใครมีหน้าที่อย่างใด วิชาชีพสิ่งใด เขาจะใช้สิ่งนึ้เป็นอาชีพของเขา อาชีพของเขาหาอะไร? หาปัจจัยเครื่องอาศัย โลกนี้ เครื่องยนต์กลไกต่างๆ เป็นปัจจัยเครื่องอาศัย เครื่องอาศัยจนกว่าชีวิตนี้มันต้องตายไป ถึงที่สุดชีวิตนะ ต้องตายไป แล้วเครื่องอาศัยก็ทิ้งไว้ให้คนอื่นอาศัยต่อไป จิตนี้ก็ไปตามบุญตามกรรม
แต่ถ้าจะรักษาจิต จะรักษาให้ตาย ให้กิเลสมันตายไปจากใจ ให้แผลที่สิ่งที่ลูกศรฝังอยู่นี่ ให้ถอนออกมา ถึงต้องย้อนกลับไปดูไง ดูเหตุดูผล เหตุผลของมัน เพราะจิตมันไม่เข้าใจตัวมันเอง มันไม่เข้าใจนะ
เกิดมาแล้วมันก็มีอดีตอนาคต ชีวิตนี้เป็นของเรา ร่างกายนี้เป็นของเรา สิ่งต่างๆ นี้เป็นของเรา ทั้งๆ ที่จิตวิมุตติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จิตนี้เป็นวิมุตติ เป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจริงๆ แต่จิตที่เราเกิดมาในปัจจุบันนี้นะ มันก็มีภาวะของจิตอยู่ แต่อวิชชามันครอบงำอยู่ ไม่ใช่ของเราหรอก
ไม่ใช่ของเรา เพราะอะไร เพราะมันเกิดตายไง เรายึดในปัจจุบันนี้ไม่ได้ ถ้ายึดในปัจจุบันนี้มันเป็นเรา เป็นพระหรือเป็นฆราวาสก็แล้วแต่ นี่เป็นเรา แล้วเดี๋ยวมันก็ตาย พอตายไปแล้วไปเกิดชาติใหม่ มันก็เป็นคนใหม่ไป ทั้งๆ ที่มีจิตอยู่นี่ มันไม่เป็นเราเพราะอะไร เพราะมันยังเปลี่ยนแปลง มันยังเปลี่ยนแปลงไปตามแรงขับของอวิชชา ฉะนั้นต้องศึกษา ต้องเข้าใจ
ถ้าเราค้นคว้าให้เห็นสัจจะความจริง สิ่งที่จะเป็นของเราขึ้นมามันจะอยู่แต่เมื่อเราสามารถกระทำได้ ถ้าเราทำได้นี่ความจริงมันจะเป็นความจริงขึ้นมา แต่ถ้ายังเป็นสิ่งที่ไม่เป็นความจริงขึ้นมา มันจะเป็นความแบกหาม มันจะเป็นความแบกหามด้วยความกังวล มันมีภพไง มันมีตัวจิตอยู่ มันมีภวาสวะ มันมีหน้าที่
คนเรานะ เวลาทำหน้าที่การงาน เวลาเหนื่อยต้องพักผ่อน จิตนี้ก็เหมือนกัน มันมีหน้าที่ของมัน มันแบกรับสิ่งนี้อยู่ ถ้าแบกรับสิ่งนี้อยู่ มันจะเป็นความจริงไปได้อย่างไรล่ะ ถึงต้องสอนไง สอนให้ออก มันถึงจะเป็นมรรค มรรค ๘ นี่นะ มันจะเป็นงานชอบ งานชอบจากที่เราสามารถทำความสงบของใจขึ้นมา นี่มันเป็นมรรคหยาบๆ ไง สิ่งที่หยาบๆ ปัญญาอบรมสมาธิถึงที่สุดของมันคือสมถะ คือการปล่อยวาง คือการปล่อยวางจากอารมณ์ความรู้สึกจากภายนอก แล้วจิตมันสงบได้ชั่วคราว เดี๋ยวมันก็คิดอีก เพราะมันมีแผลอยู่ มันมีอวิชชาอยู่ในใจ
ถ้าสงบบ่อยครั้งเข้า แล้วเราย้อนไปให้งานชอบอันละเอียดเข้าไป คือเห็นกาย เวทนา จิต ธรรม เห็นนะ เห็นโดยจิต ไม่ใช่เห็นโดยตาเนื้อ เห็นโดยตาเนื้อนี่สิ่งนี้มันเป็นเรื่องของโลกๆ เพราะตาเนื้อนี้มันหยาบมาก
เพราะมโนกรรม มันคิดมันใคร่ครวญของมัน ตานี่เห็นรูป มันคิดไปร้อยแปดเลย พอใจหรือไม่พอใจต่างๆ นี่มันคำนวณพร้อมหมด ขณะที่มันคำนวณอยู่ มันคิดอยู่ นี่ระยะห่างไง แต่ถ้าจิตมันสงบเข้ามา ระยะห่าง ระยะที่ว่าสิ่งที่ว่า มันออกมาจากความรู้สึกเป็นอาการของใจที่ออกมากระทบรูป นี่มันย้อนกลับไป พอย้อนกลับไปถึงที่ภวาสวะ คือตัวภพ คือตัวสมาธิ
ถ้าสมาธิ มันไปเห็นกาย มันถึงเห็นถึงต้นเหตุ ถ้าเห็นถึงต้นเหตุ เห็นสภาวะแบบนั้นมันถึงสะเทือนกิเลสไง ตาเนื้อเห็นน่ะ จิตมันมีโอกาสที่ได้ปรุง ได้แต่ง พอใจ ไม่พอใจร้อยแปด สิ่งนั้นไม่ได้กระเทือนกิเลสเลย มันเป็นสัญชาตญาณของสัตว์
สัญชาตญาณของจิตที่เกิดในวัฏฏะ แล้วแต่เกิดในสถานะของวัฏฏะ สถานะใด นี่มันเป็นธรรมชาติอย่างนั้น แต่ถ้ามันเป็นธรรม เป็นธรรมโดยมรรคญาณ มันเป็นตัวย้อนกลับไปตัวฐาน ตัวฐานคือตัวความรู้จริงจากสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิก็เป็นความจริง ย้อนไปเห็นกาย เวทนา จิต ธรรม ก็เป็นความจริง
ในเมื่อความจริงเกิดขึ้น นี่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา แยกขยายส่วนจนมันปล่อยวางเป็นครั้งเป็นคราว นี่ความเข้าใจ ปัญญาอย่างนี้ นี่มรรค ๘ ไม่ใช่มืดแปดด้านนะ มันสว่างแปดด้าน มันซึ้งใจมาก ซึ้งใจมากๆ เลยว่าปัญญาอย่างนี้ การกระทำอย่างนี้ เกิดขึ้นมาจากไหน? เกิดขึ้นมาจากการกระทำของเรา
เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เทศนาว่าการ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ชี้ทาง ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติต้องปฏิบัติด้วยตนเอง
แต่ถ้าเป็นธรรมะแบกหามนะ ความคิดของเราอ้างอิงเลยว่านี่มรรค ๘ นี่จำขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา มันจะผิดไปไหน มันต้องถูกสิ เพราะมันถูกโดยหลักการขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
แต่ขณะที่เราประพฤติปฏิบัติ มันเกิดขึ้นมา มันสว่างแปดด้าน ปัญญาก็สว่าง สติก็สว่าง ต่างๆ สว่างหมดเลย งานชอบ เพียรชอบ มันสว่างไสวไปในหัวใจ เพราะมันใคร่ครวญ แล้วมันปล่อยวาง สิ่งนี้เป็นความจริงเกิดจากจิต จิตมันกระทำอยู่ มรรคญาณเกิดอย่างนี้ งานภายในไง งานของคนที่มีอำนาจวาสนา มันจะเข้ามาจากภายใน แล้วมันปล่อยวางเป็นครั้งเป็นคราว ปล่อยวางนะ
เวไนยสัตว์ การประพฤติปฏิบัติต้องหมั่นคราดหมั่นไถ หมั่นพิจารณาของเราบ่อยครั้งเข้า เพราะอะไร เพราะสิ่งที่มันฝังมาจากใจ มันหยาบมันหนา นี่มันอยู่ที่อำนาจวาสนาของแต่ละบุคคล ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติมากน้อยขนาดไหน มันจะปล่อยวางขนาดไหนนะ ปล่อยวาง อย่าประมาทนะ
ถ้ายังประมาทอยู่นะ ความจริงอันละเอียดมันยังมีมหาศาลเลย สิ่งที่รู้นี่มันเป็นความจริงปลอมๆ นะ ความจริงอย่างนี้ที่ประพฤติปฏิบัติ แต่มันไม่ขาด พอมันไม่ขาด มันก็ยังมีกิเลสอยู่ ถ้ามีกิเลสอยู่ เวลามันมีความสุข เพราะมันปล่อยวาง แต่ถ้าเราประมาท สิ่งนี้มันจะเสื่อมหมดเลย
เวลาเสื่อมนะ เสื่อมหมด เพราะเป็นกุปปธรรม สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา กุปปธรรม กุปปะคือ สิ่งที่มันเกิด มันเป็นอนิจจัง แต่ถ้าเป็นอกุปปธรรม สิ่งที่ไม่เสื่อม มันมี ในศาสนาพุทธ ในอริยสัจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา
คำว่า อนัตตา อนัตตามันแปรสภาพ มันเสื่อม
แล้วอกุปปธรรมที่ไม่เสื่อมมันเป็นอย่างไร ความไม่เสื่อมมันเป็นอย่างไรในหัวใจนี้
จิตถ้ายังไม่มีพื้นฐานอันนี้รองรับนะ เวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะ ทำดีขนาดไหน ประพฤติปฏิบัติจนปล่อยวางขนาดไหนนะ สิ่งนี้ฝังใจ ตายไปแล้วจะมีบุญกุศล ไปเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม เห็นไหม ในเทวดา ในอินทร์ ในพรหมก็มีเทวดา อินทร์ พรหมที่เป็นพระอริยบุคคล และเป็นเทวดา อินทร์ พรหมที่เป็นปุถุชน
ขณะที่เรายังไม่ขาด เวลาเราเกิด เราต้องเกิดเป็นเทวดา นี่เป็นปุถุชน คือว่าไม่มีหลักประกันในการเวียนไป ปุถุชนคนหนา จิตใจยังหนาด้วยอวิชชา ไม่มีหลักประกันในขอบเขตของมัน แต่ถ้าเป็นพระโสดาบัน ถ้ามันวิปัสสนาไปบ่อยครั้งเข้า จนถึงที่สุดมันขาด มันขาดอย่างไร
ถ้ามันขาด กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ สักกายทิฏฐิ ๒๐ ต้องขาดออกออกไปจากใจ เห็นไหม หลักประกันเป็นอกุปปธรรม
นี่ความจริงส่วนหนึ่ง ไม่ใช่ความจริงทั้งหมดนะ ความจริงส่วนหนึ่งเกิดจากจิตดวงนี้ จิตดวงนี้เกิดอีก ๗ ชาติเท่านั้น ถ้าจิตดวงนี้ไม่มีการประพฤติต่อเนื่องไป จิตดวงนี้ หลักประกันของจิตดวงนี้เป็นอกุปปธรรม จะไม่เสื่อมจากสภาวะแบบนี้อีกเลย เพราะมันเกิดมาจากไหนล่ะ เพราะมันเกิดจากจิตไง เกิดมาจากตัวจิต จิตตัวนี้มันวิปัสสนาของมัน เพราะมันเป็นความจริงขึ้นมาจากจิตส่วนหนึ่ง แล้วจิตส่วนหนึ่งมันสามารถสำรอก คายกิเลสความลังเลสงสัย ความไม่เข้าใจในสักกายทิฏฐิ ในกาย ในกายที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์
นี่มันถึงว่า เป็นสมมุติบัญญัติไง สมมุติบัญญัติไม่ใช่ความจริงนะ บัญญัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ใช่ความจริงของเรา ถ้าเป็นความจริงของเรามันต้องรู้แจ้งขึ้นมาจากใจ รู้แจ้งจากวิปัสสนาญาณ ด้วยมรรคที่เป็นความสว่างกระจ่างแจ้ง ไม่ใช่มรรคมืดแปดด้าน ถ้าเป็นความจำ เป็นสัญญาที่แบกไว้มันมืดแปดด้าน จะไม่รู้สิ่งใดเลย จะพูดถึงมรรค พูดเป็นนกแก้ว นกขุนทอง ด้วยมรรค ๘ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ในปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีเจริญนะ ในคอมพิวเตอร์ คีย์เข้าไปออกหมดน่ะ มรรคขนาดไหน คอมพิวเตอร์มันไม่เป็นประโยชน์กับมันนะ เพราะมันไม่มีชีวิต แล้วเราก็ไปนกแก้วนกขุนทอง ไปสภาวะแบบนั้น ว่าเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นปรมัตถธรรม สิ่งที่เกิด สิ่งนี้เป็นธรรมๆ
กิเลสมันบังเงาอยู่หลังความรู้สึกเรา เรายังไม่รู้เลย กิเลสมันหลอกเรา มันให้เราออกมา ออกเสียเวลาไง เหมือนกับถ้าเราย้อนกลับไปที่ใจ เราก็สามารถไปชำระกิเลสได้ที่ใจ เพราะเราไม่เชื่อ หรือกิเลสมันขับดันออกมา มันถึงทำให้จิตสงบไม่ได้
ถ้าจิตสงบไม่ได้ ไม่ได้เอาจิตออกวิปัสสนา แก้กิเลสไม่ได้ เพราะกิเลสมันอยู่ที่จิต นี่ศรมันปักอยู่ที่จิต ถ้าจะถอนศรนั้น ต้องจับศรนั้นที่จิตนั้น ถึงจะถอนศรนั้นได้ ถ้าจับไปที่จิตเห็นไหม สมาธิมันสำคัญตรงนี้ไง สมาธิคือย้อนกลับไปที่จิตนะ ถ้าจิตนั้นมันเป็นสัมมาสมาธิ มันปล่อยวางอาการของใจทั้งหมด
อาการของใจที่เวลาตาเราเห็นรูป อาการของใจ นี่มันยังปรุงแต่งได้เห็นไหม แต่ถ้ามันเป็นถึงที่จิต เวลามันเห็นรูป มันปรุงแต่งไม่ได้ เห็นกายนะ แล้วทำวิภาคะคือขยายแยกส่วน มันจะเป็นสภาวะ แปรเป็นสภาวะที่มันเป็นสภาวธรรม สภาวธรรมเพราะมันไม่มีกาลเวลา ไม่มีสมมุติบัญญัติเข้ามาตรวจสอบ สอดแทรกขึ้นมาให้จิตมันคิด มันเห็นสภาวะ นี่กำลังมันพอ มันจะแยกขยายส่วนให้เปื่อยให้เน่า ให้หลุดออกไปเป็นชิ้นเป็นอัน มันจะตื่นเต้นกับสภาวธรรม ที่สว่างแปดด้านอย่างนี้ ตื่นเต้นมาก
ผู้ที่พิจารณากายโดยเจโตวิมุตติ ผู้ที่พิจารณากายโดยปัญญาวิมุตติ นี่สภาวะปัญญามันเกิด
ขณะที่ปัญญาเกิด มรรคสว่างแปดด้านเกิด จะเข้าใจสัจจะความจริงเลยว่า ปัญญาอย่างนี้ เวลาใช้ปัญญา ปัญญาใคร่ครวญ มันจะเลาะเป็นชั้นเป็นตอน มันจะปล่อยนะ สิ่งที่เป็นความสงสัยของใจ มันจะปล่อย ปล่อย ใจจะโปร่ง มันจะโล่ง จะโถง มันต่างกันมากนะ ในเมื่อเป็นปัญญาอบรมสมาธิ กับโลกุตตรปัญญา ที่เป็นมรรคสว่างอย่างนี้มันจะต่างกัน
สิ่งที่ต่างกันเพราะอะไร เพราะระยะของใจ มันไม่ได้มีอาการของใจเข้ามาเป็นตัวแทรก ไม่มีช่องว่างเว้นวรรคของตัวกิเลสมันเข้ามาแทรก ระหว่างปัญญาที่เกิดจากใจ ขณะที่เป็นปัญญาโดยสามัญสำนึกมันมีช่องว่าง กิเลสมันสอดได้ตลอดเวลา แต่ถ้าเป็นสมาธิ เพราะอะไร เพราะเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ จนมันไปถึงจิต เพราะจิตเป็นสมาธิ แล้วจิตทำงาน พอจิตทำงาน มันไม่มีช่องว่าง มันไม่ให้กิเลสเข้ามาแทรกได้ ถ้ามีกิเลสแทรกได้ มันก็ปลดศรออกจากจิตตลอดไป
ปัญญาเกิดขึ้นมาแต่ละรอบ เวลาปัญญาเกิดขึ้น เราเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ความเพียร ขณะที่ความเพียรเกิดขึ้น โดยสติสัมปชัญญะพร้อม มันจะย้อนกลับมาตรงฐานนี้ แล้วฐานนี้ก็ทำงาน โดยที่ว่ามันไม่ออกมีช่องให้กิเลสเข้ามา
แต่ขณะที่พิจารณาบ่อยครั้งเข้า ทำงานบ่อยครั้งเข้า ระยะห่างมันเกิด เกิดเพราะอะไร เกิดเพราะว่ากำลังของจิต เวลาสมาธิมันอ่อนลง ฐานนี้อ่อนลงๆ กิเลสที่มันอยู่ในฐานนี้ มันก็แสดงตัว มันก็มีช่องว่าง ช่องว่างเวลาใช้ปัญญา มันถึงไม่เป็นมรรค มันถึงไม่สมดุล มันถึงต้องกลับมาทำความสงบของใจอีกไง กลับมา
ถ้ามันวิปัสสนาไป ใช้ปัญญาไปแล้วมันไม่ปล่อยวาง ใช้ปัญญาอบรมสมาธิเข้ามาเลย หรือใช้พุทโธก็ได้ พุทโธเข้ามาตลอดเวลา สิ่งนี้การกระทำอย่างนี้ นี้คืออะไร? สิ่งที่ทำอย่างนี้ ถ้าไม่ใช่ครูไม่ใช่อาจารย์ที่ผ่านประสบการณ์อย่างนี้มา ไม่เข้าใจหรอก เพราะอะไร เพราะกิเลสมันอยู่ในใจเรานะ เวลาเราทำสิ่งใดที่สมประโยชน์กับเรา ทำสิ่งใดที่เป็นประโยชน์กับเรานี่มันจะโลภมาก
เวลาออกปัญญา ออกใคร่ครวญแล้ว มันก็อยากได้ อยากดี อยากจะพ้นทุกข์ มันก็ทำไปโดยกิเลส กิเลสเข้ามาแทรก จิตมันก็กำลังน้อยลง มันก็เป็นสัญญาไป มันก็เป็นสังขารไป มันก็เป็นความคิดโลกๆ ไป โลกคือสัตว์ โลกคือกิเลส กิเลสในหัวใจของเรา มันเข้ามาแทรก กิเลสมันเจือปนไป มันก็ปลอมไปเป็นความคิดโลกๆ มันก็ไม่เป็นประโยชน์ แต่กว่าจะรู้นะ กว่าจะรู้ว่าเป็นโลก เพราะเคยใช้ปัญญาแล้วมันปล่อยวาง ก็เข้าใจว่าสิ่งนี้ปล่อยวาง ก็มุมานะ พอจนประพฤติปฏิบัติไป จนท้อแท้ จนได้สติ อ้อ! นี่โลกแล้ว
นี่ประสบการณ์ตรงของการปฏิบัติ ทุกดวงใจจะมีประสบการณ์อย่างนี้
ถ้าการปฏิบัติโดยปัจจัตตัง โดยสัมผัสจากจิต จิตจะสัมผัสสภาวะแบบนี้ ธรรมะอย่างนี้เป็นธรรมะจริง ธรรมะจริงเพราะเกิดจากความจริง เกิดจากความจริงของจิตดวงนั้น ถ้าจิตดวงนั้นใคร่ครวญถึงที่สุด มันขาด จิตดวงนั้นเป็นพระโสดาบัน จิตดวงนั้นเป็นอกุปปธรรม บุคคล ๘ จำพวก สภาวะแบบนี้
แล้วสิ่งที่เหนือกว่าคือสิ่งที่มืดบอด ยังลูบคลำ ถ้าวิปัสสนาไป กิเลสมันจะหลอกนะ เราเข้าใจเรื่องของกายแล้ว เราไม่ต้องพิจารณากายแล้ว...สิ่งที่เข้าใจก็เป็นเรื่องของกายนะ กายก็มีหลายชั้น หลายระดับ จิตก็มีหลายชั้น หลายระดับ เวทนาก็มีหลายชั้นหลายระดับ แล้วเวลาวิปัสสนา เอาสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ถ้าขณะที่เราเกิดขึ้นมา มันจะมีกิเลสเข้ามาแทรกเวลาปฏิบัตินะ
นี่พิจารณากายแล้ว จะไปพิจารณาจิต พิจารณาเวทนา เป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป
มันอยู่ที่สิ่งใด ทำแล้วมันเป็นประโยชน์กับเรา เพราะกาย เวทนา จิต ธรรม สติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ฐานไง ฐานที่ตั้งของการชำระกิเลส จะสิ่งใดก็ได้ในหน้าที่การงานนั้น เช่น เวลาเราเดินทาง ในที่กันดาร มีอาหารอะไรเราก็กินอาหารอย่างนั้น พอดำรงชีวิตไป
นี่ก็เหมือนกัน จิตมันกันดารธรรมะ ธรรมะไม่เข้าถึงใจ มันมีแต่กิเลส ทั้งๆ ที่ว่ามีอกุปปธรรมของพระโสดาบันรองรับ มันยังต้องถ่อต้องพายไปอีก จิตนี้ยังต้องถ่อต้องพาย จะหาความจริงละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ จนถึงที่สุดให้เป็นความจริงทั้งหมดไง
ถ้าเป็นความจริงทั้งหมดนะ จะเข้าใจสัจจะความจริงทั้งหมด แล้วย้อนกลับมาดูที่ประพฤติปฏิบัตินะ เหมือนผู้ใหญ่ดูเด็กเลย เหมือนผู้ใหญ่ดูเด็กที่มันเล่นขายของกัน เพราะอะไร เพราะจิตมันต้องล้มลุกคลุกคลานมาอย่างนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาตรัสรู้ธรรมขึ้นมาถึงได้ท้อใจไง ทั้งๆ ที่ปราถนามารื้อสัตว์ขนสัตว์นะ ถ้ารื้อสัตว์ขนสัตว์
ทางวิชาการ รู้จริงก็สอนมาสิ รู้จริงก็บอกมา จะเดินไง
รู้จริงก็พูดตามความจริง แต่คนฟัง ฟังไม่รู้เรื่อง คนฟัง ฟังไปคนละภาษา ฟังไปเป็นเรื่องโลกๆ เป็นเรื่องการพิสูจน์ทางโลก
การจะพิสูจน์ทางธรรมมันต้องมีพื้นฐานของใจ เพราะเรื่องของใจ กิเลสมันอยู่ที่ใจ แต่เรื่องของโลก คิดโดยโลก ฟังโดยโลก มันก็เป็นเรื่องของโลก แล้วก็ปฏิบัติไปไม่ได้ผลอย่างนั้น ก็บอกว่ามรรคผลไม่มี สิ่งที่คนรู้จริงสอนแล้ว ประพฤติปฏิบัติแล้วยังไม่ได้ผลอย่างนี้เลย แล้วมันจะเป็นความจริงได้อย่างไร
นี่กิเลสมันแบกมา แบกธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา แต่ถ้าเป็นเรารู้จริงนะ ไม่ต้องแบก ความจริงอยู่กับจิต ดูสิ สิ่งที่เป็นอัติโนมัติ เวลาเขาขยับปั๊ป มันจะเคลื่อนที่ทันที มันจะทำงานทันที จิตก็เหมือนกัน จิตถ้ามันรู้จริงนะ อะไรจะเกิดขึ้นมันจะรู้ รู้ไปหมด รู้ไปหมดนะ สมควรหรือไม่สมควร เห็นไหม ดูสิ ดูอย่างภาษาไทยเรา เป็นภาษาโบราณ อักษรก็เป็นโบราณ ภาษามันมีศัพท์แสลงใหม่ๆ ตลอดไป ความเข้าใจเราก็เหมือนกัน มันจะมีสิ่งที่เป็นปัจจุบัน ถ้าพูดเป็นภาษาปัจจุบัน เราจะเข้าใจ พูดเป็นภาษาโบราณ เราก็ว่าสิ่งนั้นเราต้องทำความเข้าใจ
ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ว่าเป็นสมมุติบัญญัติเป็นอย่างนั้น แต่ความจริงไม่มี
ความจริงคือสุข ทุกข์ ความจริงคือเรื่องการเกิดและการตาย การเกิดและการตายนะ การเกิดและการตายโดยอารมณ์ความรู้สึก การเกิดและการตายโดยชีวิต นี่โดยชีวิตเลย ถ้าชีวิตสิ้นสุดการตายแล้วมันไปตามสภาวะเวรกรรม แล้วอย่างการตาย อย่างชีวิตจะตาย ผู้ที่ตั้งสติ ผู้ที่ตายโดยความสงบร่มเย็น ผู้ที่ตายโดยความทุกข์ความร้อน เห็นไหม ความตาย ขณะตายเหมือนกัน ยังไปต่างๆ กัน ไปต่างๆ กันนะ ระยะทางยังยาวไกลอีกนะในวัฏฏะนี้ แต่ถ้าเราไม่เห็นเราก็ไม่เชื่อ
ถ้าเราเห็นนะ เห็นที่ไหน? เห็นที่ใจไง ใจถ้าวิปัสสนากายนะ เห็นกายเป็นกายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย จิตมันถอนออกมา ความจริงเห็นอย่างนี้ มันเป็นเครื่องยืนยัน เพราะอะไร เพราะมันไม่เกิดความลังเลสงสัย ไม่สีลัพพตปรามาส ไม่ลูบคลำนะ ไม่ลูบคลำหัวใจ แล้วมันมีความมุมานะ มันอยากจะพ้นจากทุกข์ มันถึงพยายามไง พยายามเห็นไหม ความเพียรชอบ ความเพียรนะ
มรรคขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่นอนจมอยู่กับมูตรกับคูถ แล้วว่าสิ่งนี้เป็นมรรค องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บอกความเพียรชอบ ความเพียรของใจนะ ความเพียรของใจ เวลาเรานั่งสมาธินี่เรานั่งอยู่เฉยๆ แต่เวลาใจมันหมุนไป ใจมันคิดไป นี่สิ่งนี้กิเลสมันขับไส ถ้าสติสัมปชัญญะควบคุม เราตั้งสติ แล้วผู้ที่ประพฤติปฏิบัติมีหลักมีเกณฑ์มันจะกำหนดได้ง่าย นี่ความชำนาญไง
ความชำนาญ จิตกำหนดบ่อยครั้งเข้า จะกำหนดได้ ใช้คำบริกรรม ใช้สิ่งต่างๆ ผู้ที่ชำนาญจะทำได้ง่าย ถ้าทำได้ง่าย สิ่งนี้มันจะย้อนกลับไป นี่ย้อนกลับไปวิปัสสนา ย้อนกลับไปเป็นพลังงาน
พลังงานของใจมันมีมหาศาลเลย แต่เราปล่อยมันไว้โดยที่ไม่ใช้งาน ถ้าเข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นธรรม มันก็นอนจมอยู่อย่างนั้น แต่ถ้าเป็นความเพียรชอบ เราต้องทำความสงบของใจ แล้วใจน้อมไป กายนอก-กายใน-กายในกาย ถึงที่สุดกายของจิตก็มี
สิ่งที่วิปัสสนาไป สิ่งใดถ้าจับได้ สำคัญมากนะ สำคัญที่เราต้องหาผู้กระทำผิด หาตัวใจไง นี่หาตัวใจ ใจเป็นคนหา หาได้อย่างไร เพราะใจเป็นนามธรรม สิ่งที่เป็นสติปัฏฐาน สติปัฏฐาน เพราะมันเป็นที่อาศัย จิตที่อาศัย ภวาสวะนะ ตัวใจนี้คือตัวภพ ตัวภพเป็นฐานที่ตั้ง
ความคิดมันมาจากไหน ความรู้สึกมันมาจากไหน? ความรู้สึกหยาบ รู้สึกละเอียดมันจะมีอยู่กับใจเรา ขณะที่มันเพิกไปอีกชั้นหนึ่งมันก็เป็นความรู้สึกอย่างหยาบๆ ออกไป มันมีความรู้สึกอันละเอียด
ถึงว่า ใจจะสงบแล้วใจจะไปเห็นตัวใจ ถ้าเห็นตัวใจมันก็เป็นธรรมารมณ์
ถ้าใจไปเห็นกายอันละเอียด สิ่งนี้ถ้าวิปัสสนาไป มันจะกลับแปรสภาพเป็นธาตุ ๔ แปรสภาพเป็น ธาตุ ๔ เป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ บ่อยครั้งเข้า นี่สิ่งต่างๆ มันกลับไปแปรสภาพของเขา ทำซ้ำบ่อยครั้ง บ่อยครั้งเข้า จนปล่อยวางทั้งหมด ขาดนะ โลกนี้ราบเป็นหน้ากลอง โลกนี้ราบหมดเลย จิตนี้มันปล่อยจนไม่มีสิ่งใดในโลกนี้เลย
โลกนี้ แต่แค่อวิชชาปกคลุมแต่ทีแรก มันเป็นป่า ป่ารกชัฏ ที่มีสิ่งใดเราต้องถากต้องถาง ต้องทำที่อยู่ที่ทำมาหากิน ขณะที่วิปัสสนาไป จนถึงว่าโลกนี้ราบหมดเลย ไม่มีสิ่งใดๆ อยู่บนโลกนี้ได้เลย ขณะที่จิตมันปล่อย มันปล่อยขนาดนั้นนะ ถ้าจิตมันปล่อยว่านี่เรื่องของกาย เรื่องของขันธ์อย่างกลาง ถ้ามันปล่อยอย่างนี้ มันขาด ถ้ามันมีอาการขาด มันจะปล่อย โลกนี้ราบเป็นหน้ากลองเลย
แต่ถ้ามันปล่อยเฉยๆ มันปล่อยโดยวิปัสสนา มันปล่อยโดยปัญญานี่มันปล่อย วิปัสสนาไปนี่ปล่อย แต่ปล่อยแล้วมันไม่ขาด ไม่ขาด มันไม่เห็นสภาวะโลกนี้ราบเป็นหน้ากลอง ถ้าผู้ที่ปล่อยขาดจริง โลกนี้ราบหมดเลย ไม่มีสิ่งใดเลย นี่กามราคะ-ปฏิฆะนี้อ่อนลง สมุจเฉทปหาน นี่อกุปปธรรมอีกชั้นหนึ่ง
สิ่งนี้ถ้าวิปัสสนาซ้ำไป สิ่งนี้มันจะติด ติดเพราะอะไร เพราะเวลากายกับจิตแยกออกจากกันแล้วมันจะว่างหมด มีความสุขมาก ขณะที่มีความสุขนะ สุขในโลกนี้ สิ่งใดถ้ามันปรนเปรอหัวใจ ถ้าเป็นอามิสนะ ถ้าตอบสนองจิตแล้วมันก็พอใจ แต่ถ้าเป็นสมาธิ มันก็สุขของขั้นสมาธิ ขณะที่วิปัสสนา สุขของขั้นธรรมมันก็มีสุขของขั้นธรรมนะ สุขอย่างนี้เวลามันปล่อยวางหมด เพราะจิตมันไม่เคยเห็น เรานี่ จิตนี่อวิชชามันปกคลุมหัวใจมา แล้วมันมืด มันมืดแปดด้านมาตลอด ขณะที่มันปล่อยว่างอย่างนี้ ผู้ที่ติดได้ ว่าเข้าใจว่าว่างขนาดนี้ จับต้องสิ่งใดไม่ได้เลย
เพราะมันว่างหมด โลกนี้ราบเป็นหน้ากลองเลย แต่กิเลสมันฉลาด มันหลบมันซ่อนอยู่ในจิต มันฉลาดว่าถ้าเราแสดงตัว นี่ดาบเพชร ในเมื่อความสว่างเกิดขึ้นกับจิตดวงนี้ ปัญญาเกิดขึ้นกับจิตดวงนี้ จิตดวงนี้มีมคฺโค มีทางอันเอก มีสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์กับปัญญา มันจะกลับเข้ามาทำลายอวิชชาในหัวใจของเรา มันก็หลบ มันก็ซ่อน พอหลบพอซ่อนนี่เราไม่เคย เพราะการประพฤติปฏิบัติเรา ทางนี้ทางของจิต
ในวัฏฏะจะไม่มีต้นมีปลาย มันเวียนตายเวียนเกิดมามหาศาลเลย แล้วในบุคคล ๘ จำพวก ในการย้อนกลับเข้าไปทำลายกิเลส อวิชชาที่มันละเอียดอยู่มันก็หลบซ่อน มันก็ว่าง หากามราคะยากมาก นี่การค้นคว้า การจิตจะย้อนกลับเข้าไปหาอวิชชานี่มันมีสิ่งต่างๆ ที่ว่า ระยะห่างของจิต ระยะห่างของจิต ขันธ์อย่างหยาบ ขันธ์อย่างกลาง ถ้าย้อนกลับจะเป็นขันธ์อันละเอียด ขันธ์อันละเอียดนี่เป็นปฏิฆะ
ปฏิฆะคือข้อมูลของจิต สเปคของจิตแต่ละดวงไม่เหมือนกัน ความชอบของจิตแต่ละดวงไม่เหมือนกัน ความต้องการของจิตแต่ละดวงก็ไม่เหมือนกัน ความต้องการอย่างนี้มันเป็นปฏิฆะ เป็นข้อมูล กามราคะเกิด ถ้าสิ่งนั้นตรงกับความพอใจของตัว แต่ถ้าสิ่งที่มันไม่พอใจของตัว มันก็เป็นกาม แต่เป็นกามที่มันผลักไส กามที่ไม่ต้องการกับกามที่ต้องการเห็นไหม กามที่ไม่ต้องการ ขับไสอย่างไร มันขับไสเพราะจิตมันเป็นสภาวะแบบนั้น เพราะโดนกามฉันทะ ความพอใจ เพราะจิตมันละเอียดไง สิ่งที่ละเอียด นี่ปัญญาอย่างละเอียดจะย้อนกลับเข้ามา ย้อนกลับเข้าไปสู่จิตดวงนี้
จากตรงนี้ วิปัสสนาบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า มันจะเห็นอาการนะ เห็นว่าสิ่งต่างๆ ในโลกนี้มันเป็นสภาวะ ขณะที่ว่ามันเป็นอัตตกิลมถานุโยคนะ พิจารณาจนมันต่อต้าน จิตนี้มันต่อต้านได้ ต่อต้านการประพฤติปฏิบัติ ทำให้ขณะที่เราวิปัสสนาไป สิ่งนี้มันจะทำให้เราไม่ยอม ไม่ยอมใช้ปัจจัยเครื่องอาศัยกับโลกเลย จะทำให้เราถึงกับว่า ถ้าไม่ใช้ ฟังสิ ในเมื่อสิ่งที่มันจำเป็นกับการดำรงชีวิต มันต้องเข้าไป การสืบต่อชีวิตจึงยังมีอยู่ได้ใช่ไหม ถ้าขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ชีวิตนี้ต้องดับลง ถ้าชีวิตนี้ดับลง แต่อวิชชามันยังอยู่ที่ใจไง
กิเลสมันร้ายนักนะ ดูสิ มันสามารถทำให้เราหมดโอกาสได้ แต่ถ้าใช้ปัญญาใคร่ครวญ สิ่งที่เป็นปัจจัยเครื่องอาศัยของโลก ในเมื่อร่างกายเราเป็นโลก จิตใจในปัจจุบันก็เป็นโลก เพราะมันยังไม่ถึงที่สุด มันก็ต้องอาศัยชีวิตสืบต่อไปก่อน
เวลาประพฤติปฏิบัติกัน มรรคมันเป็นอย่างไร ความเห็นเป็นอย่างไร เราก็คิดใคร่ครวญเอาโดยธรรมะที่จำมา ธรรมะที่แบกหามมา เห็นไหม ใคร่ครวญสภาวะแบบนั้น แต่ถ้าเป็นธรรมะจริง เป็นมรรคญาณที่กำลังต่อสู้กับกิเลส มันจะเห็นการต่อสู้ เห็นการพลิกแพลงของกิเลส
ขณะที่ปัญญามันชนะ ป่าที่มันกำลังชำระกามราคะ มันจะมีแรงต่อต้าน มันมีแรงขับดัน มีการชัก พยายามดึงออกนอกลู่นอกทาง จนถึงที่สุด ถ้าเรายังมีสติ แล้วพยายามจะต่อสู้กับมัน มันสามารถปฏิเสธว่าโลกนี้สกปรก สิ่งต่างๆ นี้ไม่ควรเข้าไปเสพ ไม่ควรเข้าไปใช้สอย มันจะทำให้เราถึงกับสิ้นชีวิตในขณะที่ปฏิบัตินะ
แต่ถ้าปัญญา เห็นไหม มีครูมีอาจารย์ ๑ แล้วมีผู้ที่ชี้นำ ๑ มีการเปรียบเทียบโดยข้อมูล ๑ ข้อมูลคือธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง สิ่งนี้มันตั้งสติได้ แล้วระลึกอยู่นี่ควรหรือไม่ควร เป็นประโยชน์กับไม่เป็นประโยชน์
ดูสิ ดูคนตะกละตะกลามนะ เขากินอาหารจนแบบว่าเขาไม่รู้จักยับยั้งนะ จนเขาเป็นโรคเป็นภัย แต่ถ้าคนที่เขามีสติสัมปชัญญะ ถ้าเขาไม่ทุกข์ใจจนเกินไป เขาเลือกเขาเฟ้นได้ เขากิน เขารักษาชีวิตเขาพอสมควรของเขา เขายังเข้าใจถึงการแยกแยะได้เลย เราเป็นนักปฏิบัติ เราเป็นพระ เราเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ แล้วเราจะชนะกิเลส แล้วการถือพิธีการหยาบๆ อย่างนี้ ทำไมเรายังไม่เข้าใจ ถึงจะเอามาเป็นคติกับเราได้ แล้วเราจะไปชำระกิเลสของเราในหัวใจได้อย่างไร
ถ้าคิดย้อนกลับ ย้อนถอยหน้าถอยหลัง ปัญญามันจะย้อนกลับมาถึงเรา นี่ทวนกระแสเข้ามาถึงจิต เราก็ใช้ภาวะลดอย่างของโลกนี้ พอตามความจำเป็น พอตามความจำเป็นที่เราอาศัยอาหาร อาศัยต่างๆ ถึงจะสกปรกขนาดไหนก็อาศัยการดำรงชีวิต ดำรงชีวิตนี้ไว้เพื่อมีโอกาสได้ประพฤติปฏิบัติ
แล้วถ้าประพฤติปฏิบัติ ใจอยู่ในร่างกาย ถ้าชีวิตนี้ยังสืบต่ออยู่ ใจนี้ก็มีโอกาสได้ประพฤติปฏิบัติ ประพฤติปฏิบัติเพื่ออะไร? ก็เพื่อให้ธรรมะเกิด ธรรมะจริงๆ เกิด ให้ปัญญาเกิด ให้เห็นความปลิ้นปล้อนของกิเลสที่มันแบกธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา ว่านี่คือนิพพาน นี่คือหลอก นี่คือสิ่งกิเลสที่มันชักนำ ให้ว่าสิ่งนี้เป็นความว่าง ให้ชักนำสิ่งนี้เป็นของสกปรก ให้ชักนำว่า จิตนี้ไม่ยอมทำ เห็นไหม ย้อนกลับมาๆ สิ่งนี้มันเป็นกิเลสหลอก
ถ้าเราเห็นกิเลสหลอก ถ้าผ่านปัญญามันใคร่ครวญโดยมันปลดเปลื้องสิ่งที่เป็นความหลอกของกิเลสนี้ออกไปจากใจ มันจะสลดสังเวชมาก มันจะเห็นโทษของกิเลสในหัวใจของเราว่า มันทำเราได้ขนาดนี้เชียวหรือ มันสามารถจะหลอกเราให้เรารังเกียจปัจจัยเครื่องอาศัย จนชีวิตนี้จะดำรงอยู่ไม่ได้เชียวหรือ
มันถึงเห็นโทษของมัน เห็นโทษของมัน เราก็ใช้ดำรงชีวิตของเรา แล้วแต่ข้อวัตรปฏิบัติไป แล้วย้อนกลับมา ถ้าทันกิเลสรอบหนึ่ง ทันปมของกิเลสที่มันสร้างเงื่อนไขขึ้นมาหลอกเราชั้นหนึ่ง แล้วเราผ่านเกมของมันได้แต่ละชั้นนะ มันจะซึ้งธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็เห็นโทษของกิเลสมหาศาลเลย แล้วเราก็พยายามใคร่ครวญ ตั้งฐานขึ้นมา ใคร่ครวญเข้าไป
กามราคะ เพราะความโลภ ความโกรธ ความหลง เห็นไหม นางตัณหา นางอรดี แม่ทัพใหญ่ แม่ทัพใหญ่ของพญามาร พญามารเป็นตัวจักรพรรดิ เป็นเจ้าวัฏจักร เป็นผู้คุมนโยบาย แต่ขณะที่โลกขับเคลื่อนอยู่นี่ขับเคลื่อนด้วยกาม ขับเคลื่อนด้วยแม่ทัพ ขับเคลื่อนเพราะ แม่ทัพนายกอง ขับเคลื่อนไป
โลกคือโลก หมู่สัตว์อยู่ในวัฏฏะ คือโลกของจิต จิตนี้มันต้องเกิดต้องตายในวัฏฏะ มันยิ่งเห็นความเกิดความตายของจิตนี้มันต้องเกิดต้องตายซับซ้อนๆ เกิดตายๆ ถ้าเราจำอดีตชาติของเราได้ มันยิ่งกว่าสังคม ยิ่งกว่ามนุษย์ที่เกิดตาย เกิดตาย มหาศาลเลย ทั้งชาติหนึ่งๆ รวมไป
ย้อนกลับมาขณะที่ว่าเราเห็นความซับซ้อนของมัน เห็นความเป็นไปว่าสิ่งที่เป็นแม่ทัพนายกองมันต่อสู้กับธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ขณะที่เกิดขึ้นกับเรา เป็นความจริงกับเรา เป็นปัญญาญาณ เป็นมรรค ๘ ที่สว่างไสว เป็นปัญญาอันละเอียด เป็นอนาคามรรค
ขณะที่เป็นอนาคามรรค ใคร่ครวญกับจิต ใคร่ครวญมันบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า ถึงที่สุด มันต้องครืน! ลงในหัวใจ ขันธ์อันละเอียด สิ่งที่เป็นปฏิฆะ กามราคะ สิ่งที่เป็นสังโยชน์ ผูกไว้กับจิตนี่มันจะขาดออกไปจากใจ โลกนี้มันสะท้านหวั่นไหว ครืน! ออกไปจากใจเลย แล้วสิ่งนี้ มันถึงเห็นโทษไง
ขณะที่เราดำเนินมา ขณะที่เรากำลังต่อสู้กับกิเลสอย่างนี้ กิเลสต่อสู้อย่างนี้มันสร้างเงื่อนไข สร้างสิ่งที่จะให้เราไม่ต่อสู้กับมัน จนถึงเห็นโทษ เห็นโทษของการว่ามันจะพาให้เราปล่อยวาง ถึงกับชีวิตนี้อยู่ใต้อำนาจของกิเลสเลย แล้วเราพิจารณาไปจนถึงปล่อยวาง มันจะซึ้งใจมาก ความจริงที่เกิดขึ้นกับใจอย่างนี้มันเป็นอริยสัจที่ฝังอยู่กับใจดวงนั้น มันเป็นความจริงล้วนๆ กับใจดวงนั้น
แล้วเห็นโทษของมัน แล้วเริ่มดำเนินการวิปัสสนาบ่อยครั้งเข้า เศษส่วนของกามราคะ อนาคามี ๕ ชั้น มันมีเศษส่วนของมัน วิปัสสนาบ่อยครั้งเข้ามันก็ปล่อยวาง ปล่อยวาง การปล่อยวางอย่างนี้ เหมือนกับว่าสิ่งที่เราทำความสะอาดมาแล้ว แล้วเรามาเก็บพับให้มันเรียบร้อย สิ่งที่เป็นสัญญาข้อมูล เช่น เมื่อเช้าวันนี้ เราได้ฉันอาหารอะไร เราลองนึกถึงอาหารตอนเช้าสิ เราจะมีความรู้สึกไปกับเขาไหม? มีความรู้สึก ว่าสิ่งนั้นน่ะมันมีความรสชาติอย่างใด
นี่ก็เหมือนกัน ขณะที่กามราคะขาดออกไปจากจิต แต่สิ่งที่เป็นเศษส่วน ที่การวิปัสสนามันบ่อยครั้งเข้า ผู้ที่ไม่เคยประพฤติปฏิบัติจะติดตรงนี้ ติดตรงนี้ก็ขนาดที่เราวิปัสสนาเป็นเศษส่วน ก็เข้าใจว่าเป็นอรหัตตผลไง นี่จะติดอยู่อย่างนี้ ถึงเวลาจิตนี้ว่าง
ที่ว่า โมฆราช จงดูโลกให้เป็นความว่าง โลกนี้ว่างหมดเลย แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนว่าให้กลับมาถอนอัตตานุทิฏฐิ ที่เห็นว่าว่าง นี่เหมือนกัน เวลามันปลดปล่อยหมด มันว่างหมด ว่างหมด ว่างจนไม่เห็น ไม่มองดูตัวเองไง นี่จิตละเอียด
ดูสิ ถ้ามันเป็นธรรมะแบกหามนะ ขณะที่เข้าไปถึงอวิชชาก็ไปจำนนกับอวิชชา แต่ถ้าเป็นความสัจจะจริง มันจะว่าง มันจะละเอียดขนาดไหนก็แล้วแต่ ถ้ามันย้อนกลับ มันเป็นอรหัตตมรรค ถ้าอรหัตตมรรคมันจะจับจุดและต่อมได้ การที่จับจุดและต่อม หรือสิ่งต่างๆ ของหัวใจ สิ่งนี้มันเป็นธาตุรู้ มันเป็นธาตุ ธาตุรู้ สิ่งที่เป็นสสาร
ในความรู้สึกของเราเป็นมนุษย์ สิ่งที่เป็นความคิด เป็นนามธรรม มันก็แบบว่ามันเป็นสิ่งที่จับต้องยากอยู่แล้ว แล้วเวลาวิปัสสนาไป ขันธ์อย่างหยาบๆ โสดาบันนี่มันก็ว่ายากอยู่แล้ว แล้วขันธ์อย่างกลางเป็นสกิทาคามี ขันธ์อย่างละเอียดเป็นพระอนาคามีผ่านไป ขันธ์ไม่มี มันไม่มีขันธ์ ไม่มีขันธ์ ไม่มีรูปของจิต ไม่มีรูปของจิตแล้วสิ่งที่เป็นว่างๆ นั้นคืออะไร?
อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ นี่นามรูปๆ อรหัตตมรรคเข้าไปจับจิตสิ่งนี้ ถ้าจับสิ่งนี้ นั่นน่ะคือตัวอวิชชา
สิ่งที่ตัวอวิชชา แล้วปัญญาที่เราใช้อยู่นี้ อุทธัจจะ สังโยชน์เบื้องบน รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา นี่อุทธัจจะมันเข้าไป สิ่งนี้มันขยับไม่ได้เพราะมันเป็นสังโยชน์อันละเอียด ถ้าขยับไม่ได้ ถ้าเป็นความคิด คิดหมุนออกมามันเป็นสังโยชน์ทันที แต่ถ้าใช้อรหัตตมรรคย้อนกลับเข้า นี่เป็นปัญญาญาณไง
อาสวักขยญาณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่โคนต้นโพธิ์นั้นไง
แล้วถ้าผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ มันไปรู้จริงเห็นจริง เหมือนกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นอาสวักขยญาณ อรหัตตมรรค เข้าไปทำลายกิเลส ปัญญาญาณอย่างนี้มันจะไปชำระกิเลสอย่างไร มันจะไปทำลายอย่างไร มันจะเป็นปัญญาญาณที่ละเอียดอ่อนเข้าไปพลิก พลิกขึ้นมาจากอวิชชาเป็นวิชชา
ขณะที่มรรคกำลังดำเนิน สิ่งนี้มันยังสื่อความหมายได้ ยังเป็นสมมุติกันอยู่ไง
อรหัตตมรรค อรหัตตผล นิพพาน ๑ พ้นออกจากอรหัตตผลไป สิ่งที่สื่อถึงไม่ได้ สิ่งนั้นเป็นความจริง นี่ความจริงที่ไม่ต้องแบก
ความจำ การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเป็นปุถุชนแบกหมด ถึงเป็นพระอนาคามีก็ยังแบกอยู่ แบกสิ่งที่เป็นอวิชชาไว้ ไปเกิดบนพรหมนะ แต่ถ้าทำลายอวิชชาทั้งหมด ความจริงไม่ต้องแบก
สอุปาทิเสสนิพพาน พระอรหันต์ที่ยังมีชิวตอยู่ ไม่ได้แบกอะไรไว้เลย ไม่ได้แบกอะไรไว้เลย แต่แบกธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ เพราะมันเป็น สอุปาทิเสสนิพพาน เพราะอะไร เพราะมันเป็นเศษส่วนที่เกิดเป็นมนุษย์ แล้วเอามนุษย์มาประพฤติปฏิบัติจนบรรลุธรรมขึ้นมา ตรัสรู้ธรรมขึ้นมาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็อีก ๔๕ ปี นี่แบกสิ่งนี้ไว้
อนุปาทิเสสนิพพาน ตายสิ้นไปเป็นความจริงล้วนๆ ไง ความจริงล้วนๆ อย่างนี้มันเป็นวิมุตติสุข มันเป็นความจริง อันนั้นมันเป็นวิมุตติ สิ่งนี้ไม่มีข้อมูลสิ่งใดๆ เลย แต่พร้อมเสมอที่จะเป็นสัจจะความจริงออกมา สิ่งใดกระทบกับจิตดวงนั้น กระทบ เสวยอารมณ์ เสวยออกมา ออกมาสื่อกับโลก ออกมาเพื่อเป็นประโยชน์กับโลก นี่ดวงตาของโลกไง
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะปรินิพพาน พระอานนท์ร้องไห้ ร้องไห้มากเลย เพราะอะไร เพราะต้องการผู้สั่งสอนอยู่ ดวงตาของโลกดับแล้ว ดวงตาของโลก แต่ไม่ใช่ดวงตาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะธรรมที่เป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นสัจจะความจริง ความจริงทั้งหมด นี่ดวงตาของโลกมันก็เป็นสมมุติอันหนึ่ง นี่ผู้รู้ ผู้สั่งสอน นี่เพราะอะไร เพราะพระอานนท์เป็นพระโสดาบัน ต้องผู้ชี้นำ ดวงตาของโลก เพราะพระอานนท์รู้เข้าใจสัจจะความจริงส่วนหนึ่งแล้ว
แต่ของเราล่ะปุถุชน ของเรากิเลสหนา ถ้าศึกษาธรรมก็แบก ต้องทบทวน ต้องคอยรื้อค้น เพราะกลัวจะหลง กลัวจะลืม กลัวจะหลุดออกไปจากหลัก หลักคือธรรมและวินัย ธรรมและวินัย ข้อวัตรเครื่องดำเนิน สมมุติบัญญัติ เราทำจริง ทำด้วยหัวใจของเรา ตั้งใจเรานะ เพราะสิ่งนี้มันเป็นเครื่องดำเนิน ทวนกระแสเข้าไปถึงใจ ชำระกิเลสเป็นขั้นเป็นตอนเข้าไป จนถึงที่สุดเราจะพบความจริงที่ไม่ต้องแบก เอวัง