ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ชีวิตมีค่า

๔ มี.ค. ๒๕๖o

ชีวิตมีค่า

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๖๐

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี


ถาม : เรื่อง “จะดำรงตนอยู่ในเพศพระภิกษุอย่างไร” ขอความเมตตาจากท่านอาจารย์ ผมมีคำถามเรียนถามครับ ตั้งแต่พระอาจารย์บวชอยู่ในเพศพระภิกษุมาจนถึงปัจจุบันนี้ พระอาจารย์เคยมีความคิดที่จะสึกหรือมีมารมากวน มาส่งเสริมกิเลสจนเป็นเหตุให้อาจจะสึกบ้างไหมครับ แล้วถ้ามี พระอาจารย์จะมีคติข้อคิดข้อเตือนใจ หรืออุบายสอนใจที่จะระงับกิเลสให้ผ่านช่วงเวลานั้นอย่างไร จนทำให้ได้ดำรงตนอยู่ในเพศพระภิกษุได้นานตราบจนถึงวันนี้ครับ ที่ผมถามพระอาจารย์เพราะถามวางแผนว่าจะบวชตอนอายุ ๔๐ ปี เพราะผมเชื่อว่าการอยู่ในเพศพระภิกษุจะเอื้อประโยชน์ต่อการปฏิบัติมากกว่าเพศฆราวาส แต่ก็ยังกลัวว่าบวชได้ไม่นานจะแพ้กิเลส เพราะรู้ดีว่าการอยู่ในเพศพระภิกษุนั้นจะต้องใช้ความอดทนอย่างมาก และจะต้องต่อสู้กับกิเลสอย่างมากด้วย มากกว่าเพศฆราวาสอย่างแน่นอน ปัจจุบันผมอายุ ๓๗ ปี ไม่มีหนี้สิน ไม่มีครอบครัว มีพี่น้อง ๕ คน ผมเคยบวชตอนช่วงเข้าพรรษา ๓ เดือนในสายวัดป่า ช่วงบวชรู้สึกมีความสุข สบายใจ ไม่วุ่นวายใจ ไม่ต้องแบกรับภาระหน้าที่ ไม่ต้องปวดหัวกับเรื่องของโลกๆ ดีครับ แต่ผมก็ไม่รู้ว่าความรู้สึกสุขที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เคยบวชนั้น มันเกิดจากกิเลสมันหลอกเราหรือไม่ แต่ผมก็ตั้งใจว่าถ้ามีโอกาสจะขอบวชอีกครั้ง ผมจึงขอความเมตตาพระอาจารย์ชี้แนะ ขอให้พระอาจารย์สุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง


ตอบ : อันนี้พูดถึงว่าความคิด คิดดีนะ ถ้าความคิดคิดดี ถ้าความคิด คนเราเวลามีความคิดได้ ก็คิดว่าเราอยากจะบวช อยากจะเรียน อยากจะศึกษา อยากจะประพฤติปฏิบัติ ถ้าคิดได้อย่างนี้ถ้ามีโอกาสมันก็สมควร แต่คนส่วนใหญ่ คนส่วนใหญ่เขาไม่คิดแบบนี้ไง เขาคิดว่าการบวชเป็นความทุกข์ความยาก เวลาบวชแล้ว อย่างเช่น บวช บวชสายวัดป่าด้วย ฉันมื้อเดียว การฉันมื้อเดียวมันจะมีความสุขไปได้อย่างไร แล้วเวลาการประพฤติปฏิบัติจะเอาชนะกิเลสจะเอาชนะอย่างไร เขาเห็นว่าความอยู่ทางโลกเป็นความสุข ความสุขเพราะอะไร ความสุขเพราะได้กินวันละ ๓ มื้อ ได้เที่ยวเตร่ตามแต่ใจมันชอบ ได้ทำตามความพอใจของตน นี่เขาคิดว่าชีวิตอย่างนั้นเป็นสุข แต่ถ้าคนมีสติมีปัญญานะ เวลาเขาอยากบวชอยากเรียน เขาอยากจะประพฤติปฏิบัติ เพราะว่าความสุขแบบโลกๆ มันเป็นความสุขจอมปลอมไง แต่ความสุขทางพระพุทธศาสนา ความสุขในการสิ้นสุดแห่งทุกข์ เป็นความสุขอันประเสริฐ ถ้าความสุขอันประเสริฐ แต่ความสุขอันประเสริฐเวลาจะประพฤติปฏิบัติมันก็ต้องลงทุนลงแรง คำว่า “ลงทุนลงแรง” หมายถึงว่า คนต้องทำจริงทำจังไง ทำจริงทำจังมันจะเป็นขึ้นมา แล้วคนถ้ามีอำนาจวาสนาประพฤติปฏิบัติมันถึงจะได้ผลไง ถ้าคนไม่มีอำนาจวาสนา คนเราทำจริงทำจังนะ มันก็เหมือนเปรียบเทียบทางโลก ทางโลกผู้บริหารไง ผู้บริหารเขานั่งโต๊ะนะเงินเดือน ๓ แสน ๔ แสน พวกกรรมกรแบกหามโอ้โฮ! มันทำงานทั้งวันเลยมันได้วันละ ๓๐๐ เวลาเขาขวนขวายของเขา กรรมกรแบกหาม กรรมกรก่อสร้าง มันเป็นแรงงานวันละ ๓๐๐ บาท แต่เวลาผู้ที่นั่งโต๊ะนั่งบริหาร เงินเดือนเขามหาศาล เวลาคนที่หน้าที่การงาน เราบอกว่าเวลามุมานะๆ คนบอกต้องมุมานะ มุมานะก็เหมือนกรรมกรแบกหามไง กรรมกรแบกหามมันมุมานะของมันทั้งวัน มันต้องทำหน้าที่การงานของมันนะ ได้วันละ ๓๐๐ ไอ้คนนั่งๆ สบายๆ เงินเดือนเดือนหนึ่งเป็นหลายๆ แสน มันมุมานะ มุมานะมันต้องมีปัญญา มุมานะมันต้องมีอำนาจวาสนาไง คนที่มีอำนาจวาสนานะ คนที่จะเป็นเจ้าของบริษัท คนที่ทำอะไรเขาต้องล้มลุกคลุกคลานมาพอสมควร เขาถึงจะได้อย่างนั้น ไอ้คนที่ลงทุนลงแรง กรรมกรแบกหามทำงานทั้งวันเหงื่อไหลไคลย้อยวันละ ๓๐๐ วันละ ๓๐๐ นั้นเขาเป็นกรรมกร เขาทำของเขา จะบอกว่าต้องมุมานะ เวลาจะประพฤติปฏิบัติแล้วต้องทุ่มเท จะทุ่มเทขนาดไหน ทุ่มเทถ้ามันมีอำนาจวาสนา ทุ่มเทที่ไม่มีสติปัญญาก็วันละ ๓๐๐ ไง วันละ ๓๐๐ วันละ ๓๐๐ แล้วเมื่อไหร่เราจะตั้งบริษัทของเราได้ เมื่อไหร่เราจะทำของเราได้ นี่คืออำนาจวาสนาบารมี ถ้าอำนาจวาสนาบารมีมานะ การทุ่มเทก็การทุ่มเทมันต้องมีสติมีปัญญา มีอำนาจวาสนา มันพยายามหาทางออกอันนั้นได้ ถ้าหาทางออกได้นะ นี่ในการบวชเป็นพระ การบวชเป็นพระ บวชมาแล้ว ถ้าบวชมาด้วยความซื่อสัตย์นะ บวชมาด้วยความมุมานะ การกระทำมันก็ขวนขวาย เวลาบวชไปแล้วมันจะมีหมู่มีคณะไง ถ้ามีหมู่คณะถ้าเรามีอำนาจวาสนา เราจะเป็นหมู่คณะที่ดี ดูสิ เวลาหลวงตาท่านบวชนะ เวลาท่านบวชแล้วท่านก็อยากศึกษาก่อน เพราะประเพณีทางโลกเขาต้องศึกษาก่อน ท่านก็ตั้งใจว่าท่านได้มหา ได้มหาแล้วท่านจะไปหาครูบาอาจารย์ เวลาหาครูบาอาจารย์ท่านก็มุ่งสู่หลวงปู่มั่นๆ เวลาบอกว่าบวชแล้วต้องมีหมู่คณะไง ถ้ามุ่งสู่หลวงปู่มั่น เวลาชื่อเสียงกิตติศัพท์ กิตติคุณของหลวงปู่มั่นว่าดุมาก ดุมาก ทุกคนจะกลัวมาก กลัวมาก แต่ท่านมีความคิดว่าพระอรหันต์ ร่ำลือว่าหลวงปู่มั่นเป็นพระอรหันต์ ถ้าพระอรหันต์อย่างไรก็ต้องมีเหตุมีผล ไม่ใช่ดุแบบพาล ไม่ใช่ดุแบบโลก ไม่ใช่ดุแบบทำร้ายกัน ไม่มีหรอก การดุ การว่าดุมาก ดุมาก มันก็ดุเพราะว่ากิเลสของคน ความพลั้งเผลอของคน คนสติปัญญามันน้อย ท่านก็พยายามจะเปิดหู เปิดตา ท่านเชื่อใจของท่านอย่างนั้นนะ เวลาท่านจะไปหาหลวงปู่มั่น เห็นไหม เขาร่ำลือกันนะ มีพระออกมาจากหลวงปู่มั่น โอ้โฮ! ท่านถามใหญ่เลยว่า “เข้าไปแล้วเป็นอย่างไร” เขาก็บอกว่า “ดุนะ ดุนะ” ท่านก็ตั้งใจนะ ก็จะขอไปเห็นด้วยตา ดุมันดุอย่างไร ถ้าพระอรหันต์จะฆ่าคน ขอให้มันเจอเถอะ แล้วท่านเข้าไปท่านก็โดนจริงๆ แล้วโดนหนักด้วย แต่โดนจริงๆ แล้วท่านกลับภูมิใจไง ท่านพูดมีเหตุผลไง คนเราถ้าเป็นธรรมเป็นธรรมนะ เวลาหลวงปู่มั่นท่านดุไง “ผม ผม ผม ผมคืออะไร” ท่านบอกเวลาหลวงปู่มั่นท่านพูดมามันไม่มีข้อคัดค้านได้เลย มันเป็นจริงหมด แต่เราบกพร่อง เราบกพร่อง เราผิดพลาด แต่เราไม่ได้ดูความบกพร่องความผิดพลาดของเรา ไอ้กิเลสมันพาล “ทำไมไม่เอาใจเรา ทำไมไม่อุ้มชูเรา ทำไมมาติเตียนเรา” แต่ถ้าเป็นคนมีปัญญาแบบหลวงตานี่ “หลวงปู่มั่นพูดอย่างไร หลวงปู่มั่นพูดอย่างไรถูกหมดเลย เราผิดพลาดเอง เราผิดพลาดเอง” นี่พูดถึงว่า ถ้าคนมีอำนาจวาสนามันมีอำนาจวาสนาอย่างนี้ แต่คนมีอำนาจวาสนาชื่อเสียงว่าดุมากมันไม่ไปเลย มันไปหาทางอื่นเลย ไปหาที่สุขที่สบาย ที่สุขที่สบายก็ไปสุมหัวกัน นินทากาเล สุดท้ายแล้วก็แสวงหาลาภสักการะ นี่พูดถึงว่าเวลาจะออกบวช ถ้ามีอำนาจวาสนาจะได้หมู่คณะที่ดี แต่ถ้าอำนาจวาสนาเราก็ขวนขวายนะ เพราะเราบวชแล้ว ถ้าจะบวช ถ้าบวชแล้วนะ ถ้ามีครูบาอาจารย์นะ ท่านคอยชี้นำ ท่านคอยพาเราเร่งความเพียร พาเราประพฤติปฏิบัติ นั้นเป็นครูบาอาจารย์ที่ถูกต้อง ถ้าครูบาอาจารย์สุมหัวกันพาออกกิจกรรม พาออกไปเว็บวัฒนธรรม พาออกไปเพื่อสังคม โอ้โฮ! นี่เป็นการเผยแผ่ธรรมนั่นน่ะอย่าไปกับเขา การเผยแผ่ธรรมตอนนี้คอมพิวเตอร์ดีกว่าอีก คอมพิวเตอร์ไปรอบโลก นี่พูดถึงถ้าความคิด ฉะนั้น สิ่งที่ว่านี่เขาถามว่า “ท่านอาจารย์บวชมาตั้งแต่เป็นพระภิกษุจนถึงปัจจุบันนี้ มีคิดอยากจะสึกบ้างหรือไม่” เออ! เขาถามเนาะ ไม่โง่หรอก ใครจะโง่ ไม่เคยคิดเลย โดยตัวเองไม่เคยคิดจะสึกเลย ไม่เคยคิด แล้วไม่เคยคิดมันก็มีเวรมีกรรมนะ เวลาไม่เคยคิด ตอนบวชใหม่ๆ เพราะตอนบวชใหม่ๆ ก็ไม่เคยคิดจะสึกแต่มันภาวนาไม่ลง เวลาภาวนาใหม่ๆ ภาวนาไม่ได้ โอ๋ย! ทุกข์ยากมากนะภาวนาไม่ได้ มันเหมือนเรายืนอยู่กลางแดดกลางฝน ไม่มีที่หลบภัย โอ้โฮ! มันทุกข์มันยาก แล้วมันทุกข์มันยาก มันทุกข์มันยากในหัวใจ เพราะมันความคิดเราใช่ไหม ในหัวใจของเรามันรู้ อยู่ในกุฏิ อยู่ที่ไหนมันมีที่คุ้มหัวทั้งนั้น แต่ในหัวใจเหมือนอยู่กลางแดดกลางฝนไม่มีที่พึ่งที่อาศัยไง นี่มันทุกข์ยาก ทุกข์ยากอย่างนั้น ทุกข์ยากเพราะกิเลสของเราไง แต่! แต่โดยวาสนามันก็พยายามแสวงหาครูบาอาจารย์ แต่แสวงหาครูบาอาจารย์ด้วยความเราไม่เหมือนหลวงตา หลวงตาท่านพุ่งเข้าหาหลวงปู่มั่นเลย เราก็ออกฝึกหัดปฏิบัติ ธุดงค์ไปเจอพระมันหลอกทั้งนั้นเลย ธุดงค์ไปมันหลอกทั้งนั้นเลย หลอกทั้งนั้นไปไหนมาสามวาสองศอก แต่ตอนนั้นยังไม่รู้ เขาพูดอะไร มันแปลกๆ ใจ แต่ก็ยังเชื่อเขาอยู่ แต่พอไปเจอหลวงปู่จวนนั่นน่ะ เออ! ตั้งแต่นั้นมานะ กูไม่ฟังใครอีกแล้ว เพราะมันเปรียบเทียบได้ไง มันเปรียบเทียบได้ แต่ตอนที่ยังเปรียบเทียบไม่ได้ อ้าว! พระก็คือพระ เขาพรรษามากกว่าเรา เขามีสถานะดีกว่าเรา เวลาพูดมาก็น่าเชื่อถือทั้งนั้น แต่ปฏิบัติไปแล้ว โอ้โฮ! ขี้โม้ทั้งนั้น โกหกทั้งนั้น แต่ครูบาอาจารย์ที่จริงท่านทิ่มเข้ามาในหัวใจเลย อย่างอื่นไม่มี หลังจากนั้นมา พอหลวงปู่จวนท่านเครื่องบินตก เราก็พุ่งเข้าหาหลวงตาเหมือนกัน เพราะว่าเข็ด เข็ดจากการที่ไปคุยกับใคร ถามปัญหาใครแล้วไปไหนมาสามวาสองศอก ถ้ามีสติมีปัญญาแล้วนะมันจะจับได้ เหมือนคนป่วยไปให้หมอรักษา รักษาแล้วหมอมันเลี้ยงไข้ เราเสียเงินฟรี โอ้โฮ! มันช้ำใจนะ ถ้าไปหาหมอที่ดี เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยหมอรักษาฉีดเข็มหนึ่งหาย เข็มหนึ่ง มันภูมิใจ ยังไม่ทันฉีดเลยไปเห็นหน้าหมอหายแล้ว ยังไม่ต้องฉีดยา แต่ถ้าอย่างนั้น โอ๋ย! ไอ้หมออย่างนั้น นี่พูดถึงว่าเวลาที่มันทุกข์มันยาก มันทุกข์มันยาก มันไม่ทุกข์ไม่ยากเพราะใครหรอก มันทุกข์มันยากเพราะกิเลสของเราเนี่ย เวลาบวชใหม่ๆ ไง “หลวงพ่อมีความคิดจะสึกไหม” ไม่มี! แต่ทุกข์ยากน่าดู ทุกข์มาก เวลาทุกข์ ทุกข์มาก แต่เวลาไปหาครูบาอาจารย์แล้ว พอเข้าสู่หลักสู่เกณฑ์แล้ว เออ! ไปได้ พอไปได้ พอไปได้หมายความว่ามีที่พึ่งแล้ว ถึงจะอยู่ในกุฏิมันก็มีศีล มีสมาธิ มีปัญญาในหัวใจให้เป็นที่พึ่งที่อาศัย ไม่ร้อน ไม่เร่าร้อนเหมือนเดิม แล้วนี่มันก็จะทุกข์อันหนึ่ง ทุกข์ที่ว่าตะเกียกตะกายจะเอาให้มากกว่านี้ไง ตะเกียกตะกายจะเอาให้สูงกว่านี้ มันก็ต้องตะเกียกตะกาย ตะเกียกตะกายมาก พยายามจะให้ได้ อดนอนผ่อนอาหารนี่ทำมาเต็มที่ อดนอนนี่อดนอนทั้งพรรษาเลย อดนอนตลอด แล้วเวลานี่พูดถึงว่า “คิดจะสึกหรือไม่ หรือมีมารมากวนมาเสริมกิเลสหรือไม่” เยอะแยะ มารมากวน เราอยู่กับหมู่คณะ เวลามารมากวน เห็นไหม หมู่คณะที่ดีก็ป้องกันให้ เขาช่วยกันดูแลถ้าหมู่คณะที่ดี ถ้าหมู่คณะที่ไม่ดีนะมันพยายามจะไปหาเขา ทอดสะพานเข้าหากัน ตบมือสองข้างไง เวลาไปอยู่กับครูบา-อาจารย์ท่านคอยกันให้ กันให้เลย มันมีทุกคน เพราะว่าบวชใหม่ๆ ไปเดินทางมีหมอดูเขาขอดูลายมือหน่อยหนึ่ง เราไม่ให้ดูหรอกเพราะเราไม่เชื่อ เขาอ้อนวอนขอดู เขาเอาลายมือเราดูเลย พอดูเสร็จแล้วเขาบอก “นี่อยู่ไม่ได้ ต้องสึก” อู้ฮู! ใจนี่หายวาบเลย ไม่มีทาง ถามว่า “สึกเพราะอะไร” “โอ้โฮ! นี่มีเนื้อคู่” เราถามเลย “อย่างนั้นพระในประเทศไทยก็สึกหมดเลย เพราะใครบ้างไม่มีเนื้อคู่ ทุกคนมีเนื้อคู่ทั้งนั้น พระเมืองไทยยังอยู่อีกเต็มเลย” เออ! พอเราเถียงเท่านั้น หมอดูเงียบเลยนะ เอ้อ! มีปัญญา คือหมอดูหลอกเราไม่ได้ อู๋ย! ถ้าหมอดูมันหลอกได้นะ พอเอามือให้ดู “ต้องสึก” พอถามว่า สึกเรื่องอะไร อ้าว! นี่เนื้อคู่ชัดๆ อยู่นี่เลย เราถามเขากลับเลย “อย่างนี้แสดงว่าเมืองไทยไม่มีพระสักองค์ ต้องสึกหมดเลย เพราะทุกคนเกิดมาไม่มีเนื้อคู่เป็นไปไม่ได้ มีเพศหญิงกับเพศชายเป็นของคู่กันอยู่แล้ว ถ้าของคู่กันอยู่แล้ว เกิดมามันก็ต้องของคู่ทั้งนั้น ทำไมท่านยังอยู่ของท่านได้ล่ะ” เงียบเลยนะ หมอดูตอบไม่ได้ ก็ยังอยู่กันจนถึงเดี๋ยวนี้ เขาถามว่า “แล้วมีมารมารบกวนหรือไม่” ไอ้กรณีนี้มันก็มีมารบกวนทั้งนั้น แล้วมันไปแล้ว เห็นไหม อยู่ที่ในสมัยพุทธกาล สมัยพุทธกาล พระสีวลีมีลาภสักการะมหาศาล เวลาพระอรหันต์ที่ว่าไม่เคยฉันข้าวอิ่มเลยสักมื้อหนึ่ง นี่เพราะอะไร เพราะเขาสร้างของเขามา เวลาสิ่งใดจะเกิดขึ้นมันต้องย้อนกลับมาที่เราไง ย้อนกลับที่เราทำมาอย่างนี้ เราทำมาอย่างนี้ แต่ส่วนใหญ่แล้วคนเรามันไม่คิดอย่างนี้ไง มันคิดว่าประชาธิปไตย บวชมาแล้วพระ ๑๐ องค์ต้องได้เหมือนกันหมด ถ้าตักอาหาร อาหารต้องเหมือนกันทั้งนั้น ถ้าเขาถวายผ้าก็ต้องได้ผ้าเหมือนกันทั้งนั้น แล้วขาดไม่ได้ต้องได้ครบสิบ จะได้สักแปด ขาดสองก็ไม่ได้ ประชาธิปไตยๆ คนอย่างนี้ทุกข์ตายเลย ทุกข์ตายเพราะอะไร เพราะมันต้องการให้เสมอภาคไง ถ้ามันต้องการ เสมอภาค อ้าว! พระ ๑๐ องค์ เขาถวายผ้า ๓ ผืน แล้วอีก ๗ องค์ทำอย่างไร ฉะนั้น ถ้าเป็นพระที่มีคุณธรรมนะ ใครได้มาก็สาธุ ถวายครูบาอาจารย์ก่อนครับ แล้วครูบาอาจารย์ที่ท่านดี อย่างเช่น เช่น หลวงปู่มั่น ท่านเวลากับหลวงตา เห็นไหม สมัยสงครามโลก ผ้ามันหายาก เวลามาเราก็วางไว้ วางไว้ คนนู้นก็หยิบหนุบ คนนี้ก็หยิบหนับ แต่ท่านสังเกตนะ ครูบาอาจารย์ที่ดีท่านจะดูแลหมู่คณะไง เวลาท่าน ท่านบอกว่า “เก็บผ้าไว้ก่อน” ไม่ให้ใครเลย “ไม่ให้หยิบ ให้มหามาเลือกก่อน” ทำไมต้องให้มหามาเลือกล่ะ เวลาท่านพูด นี่พูดถึงวงการพระนะ ไอ้นี่มันออกไมค์มันน่าเกลียด “มันจะเห็นหำอยู่นั่นน่ะ” คือผ้ามันขาด ผ้ามันปะจนจะเห็นหำอยู่แล้ว “ทำไมไม่เปลี่ยน ทำไมไม่เอาผ้า” นี่เวลาครูบา-อาจารย์ท่านสังเกตลูกศิษย์สังเกตอย่างนี้ไง คือมันสิทธิ ผ้าที่มันควรจะได้ มันควรแล้ว ทำไมยังไม่เปลี่ยน ทำไมยังไม่เอา แสดงว่าจิตใจเป็นอย่างไร เห็นไหม จิตใจเป็นผู้เสียสละให้ผู้อื่นก่อนไง ท่านถึงบอกว่า “เก็บไว้ให้มหาก่อน ให้มหาก่อน” แล้วพอเวลาให้หลวงตาท่านเลือก ท่านก็บอก “ผมพอแล้ว ให้หมู่คณะ ให้หมู่คณะ” ท่านถึงให้พระองค์ต่อไปได้แบ่งปันกัน นี่พูดถึงว่า ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ที่เป็นธรรมไง เวลาเป็นธรรม เป็นธรรมแบบนี้ แต่ถ้ามันจะทุกข์มันจะยากก็ทุกข์ยากตรงนี้ ประชาธิปไตยต้องได้เหมือนกัน มันจะเหมือนกันมาได้อย่างไร ของที่เขาบริจาค เราไม่ได้สั่งซื้อมา ของที่เขาบริจาคมันก็อยู่ที่น้ำใจของเขา อยู่ที่ฐานะทางเศรษฐกิจของเขาๆ เขามีกำลังมากหรือกำลังน้อย มันได้สิ่งใดมา เราก็มีน้ำใจมาเจือจานกันเอง ผ้าใครเก่าก่อน ผ้าใครขาดมากกว่าก็องค์นั้นควรจะได้ ใครที่ขาดแคลนก็คนคนนั้นควรจะได้ ไม่ใช่ประชาธิปไตย ใครขาดแคลนไม่ขาดแคลนต้องได้เท่ากันหมด ใครจะอย่างไรต้องได้เท่ากันหมด มันคิดอย่างนั้น แล้วมันบอกอาจารย์อย่างนี้ดี นั่นน่ะอาจารย์ซื่อบื้อ อาจารย์ซื่อบื้อหมายความว่าไม่รู้จักความเหมาะสม ไม่รู้จักกิเลสของคน ไม่รู้จักการใช้สอย คนที่ควรใช้สอย คนที่ควรได้ ก็ไอ้คนนั้นได้ก่อน คนที่ยังไม่ควรได้ก็ให้เขารอไปก่อน แล้วความขาดแคลนมันก็ไม่เท่ากัน ไม่เสมอกัน คนใช้สอยต่างๆ เขาใช้สอยแตกต่างกัน บางคนที่เขาดูแลรักษาดีเขาใช้ ๓ ปี ไอ้คนที่ใช้ไม่เป็นปีเดียวขาดแล้ว นี่เขาจะดูนิสัยคนใช้คนสอย ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นจริงท่านจะสอนอย่างนี้ นี่พูดถึงว่า เวลาเรื่องประสบการณ์ไง ประสบการณ์ว่ามันมีการมาส่งเสริมกิเลสหรือไม่ แล้วมีบางครั้งที่อยากจะสึกบ้างหรือไม่ ไม่มี ไม่อยู่อย่างเดียวก็นี่เคยฝันว่าสึก ตื่นมาตกใจเลย จับ โอ้! ยังไม่ได้สึก ไม่มี ไม่มีเพราะอะไร ไม่มีเพราะอยู่ให้มันไกลๆ มันไว้ไง อยู่ให้มันไกลๆ ไว้ เพราะเวลาเราไปอยู่กับครูบา-อาจารย์ทางอีสาน เวลาฟังถึงเวลาท่านในวงครูบาอาจารย์ท่านจะเตือนกันไง “เวลาภาวนาให้ภาวนาให้จริงจังนะ ภาวนาจริงจัง เวลาพิจารณากามราคะ กามราคะ กิเลสมันหลอก อย่าหลงตัวเองนะ หลงตัวเอง พระที่พิจารณาแล้วบอกคิดว่าตัวเองแน่ คิดว่าตัวเองดี ไปเทศน์สอนแม่ชี ไปได้เสียกับแม่ชีเยอะแยะเลย” ท่านเตือน ครูบาอาจารย์ที่เป็นธรรมๆ ท่านคอยเตือน ท่านคอยบอก ถ้าคอยเตือนคอยบอก เราศึกษามา ศึกษามาก่อน เป็นคติธรรมไว้ก่อน แล้วเวลาถึงตัวเอง ตัวเองก็อยู่ให้ห่างๆ ไว้ ห่างๆ ไว้ เพราะอยู่กับหลวงตา หลวงตานะสมัยที่อยู่กับท่าน ผู้หญิงห้ามคุยด้วย ผู้หญิงนี่ห้ามคุยด้วยเลย ขนาดหลวงตานะเวลาผู้หญิงเขามากราบมาไหว้ ท่านเดินหนี ร้องไห้นะเสียใจว่าหลวงตาไม่เมตตา แต่ถึงเวลาท่านบอกเลยมันไม่ได้ ภิกษุคุยกับมาตุคามตัวต่อตัวไม่ได้ ภิกษุจะคุยกับใครไม่ได้ เวลาพระอานนท์ถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง “ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว ภิกษุเราก็ต้องมีการปฏิสันถารกับญาติโยมเขา แล้วทำอย่างไร” “ไม่รู้ไม่เห็นนั่นแหละดี” “อ้าว! มันเป็นญาติเป็นพี่เป็นน้องกัน เวลาเขาเป็นญาติไง ญาติกับพระองค์นั้นเป็นพี่เป็นน้องกับพระองค์นั้น เขามาเยี่ยมมาเยียนกัน” “ถ้าเป็นพี่เป็นน้องกัน ตั้งสติไว้” “แล้วถ้าอย่างนั้น ถ้าเป็นโดยปกติ” “ถ้าไม่มีใครมาเลย ให้พูดไม่เกิน ๖ คำ” เขามา เขามาก็คุยกับเขา ๖ คำ ถามมาจากไหน ไปไหนมา ๖ คำ แล้วออกไป นี่อยู่ในพระไตรปิฎกทั้งนั้น ถ้าพูดถึงว่า “เคยคิดว่าจะสึกหรือไม่ มีอุปสรรคเรื่องกิเลสหรือไม่” เยอะแยะ คน คนอยู่ในสังคมมันเจอทั้งนั้น เพียงแต่ว่าเรามีหลักใจหรือเปล่า เรามีแนวคิดอย่างไร ถ้าเรามีหลักใจ เราอยู่กับครูบาอาจารย์มา เราถึงพูดทุกวันว่าหลวงปู่มั่นท่านพูดกับหลวงตาไว้ “มหา มหาพรรษามากแล้ว ไม่ต้องขึ้นมาก็ได้นะ ให้พระเด็กเณรน้อยมันขึ้นมา มันจะได้มีข้อวัตรติดหัวใจมันไป” ก็นี่ไง ข้อวัตรติดหัวใจมันไป ข้อวัตรติดหัวใจ เราดูสิครูบาอาจารย์ทำอย่างไร นี่ข้อวัตร ครูบาอาจารย์ทำอย่างนี้ เราทำตาม เขาเรียกวัตรปฏิบัติ เราทำตามปฏิบัติว่านี่ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นครูบาอาจารย์เรา ท่านรักษาตัวมาอย่างไร ท่านทำอย่างไรถึงตัวท่านรอดได้ นั่นน่ะวัตรปฏิบัติ มีข้อวัตรติดหัวมันไป แล้วเราทำตามนั้น ทำตามนั้น นี่พูดถึงว่าทำตามนั้นเลยนะ แล้วพอทำตามแล้ว เราต้องมีสติมีปัญญาของเราด้วย ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร ศึกษาเอา นี่พูดถึงว่า “การดำรงตนอยู่ในเพศภิกษุ พูดถึงมีอุปสรรคไหม” มีแน่นอน นี่อุปสรรคข้างนอกนะ อุปสรรคข้างในยิ่งร้ายกาจใหญ่ อุปสรรคข้างในหัวใจ อู้ฮู! มันน้อยเนื้อต่ำใจ มันปฏิบัติ จะได้อย่างนั้น มันหลงทางมาร้อยแปดเลย นี่พูดถึงเวลาจะสู้กับกิเลสนะ เวลาพูดอย่างนี้ปั๊บ “อ้อ! หลวงพ่อพูดให้กำลังใจหรือหลวงพ่อพูดให้ถอดใจ หลวงพ่อพูดให้กำลังใจหรือพูดให้ถอดใจ” พูดถึงปัญหาไง ปัญหานี่คัดเลือก พูดให้กำลังใจนะ เวลากำลังใจ ชีวิตนี้มีค่ามาก ชีวิตนี้มีค่า ถ้ามีค่าแล้ว ๖๐ ปี ๗๐ ปี ๘๐ ปีตายหมด แล้วชีวิตนี้มีค่ามาก แล้วเราใช้ชีวิต เราใช้ชีวิตทางฆราวาส ชีวิตทางโลกก็อย่างหนึ่ง ถ้ามันมีค่ามากเราเสียสละของเรา เรามาบวชเป็นพระแล้วจะต่อสู้ ถ้าต่อสู้นะนี่แหละเขาบอกอุดมชาติ หินชาติ ชาติที่เล็กน้อย ชาติที่ไม่มีค่า ถ้าอุดมชาติ ชาติที่มีคุณค่า ถ้าชาติที่มีคุณค่า บวชเป็นพระแล้วประพฤติปฏิบัตินี่สุดยอด ชีวิตนี้มีค่ามาก เกิดเป็นมนุษย์เกิดมาพบพระพุทธศาสนา แล้วเราจะเอาสมบัติสิ่งใดไป ถ้าสมบัติสิ่งใดไปจะเป็นประโยชน์กับเรา เห็นไหม เขาบอกว่า “เขาจะบวช ถ้าเขาเคยบวช กลัวว่าบวชแล้วจะบวชไม่ได้นาน จะแพ้กิเลส” แพ้กิเลส ถ้าเรามีสติปัญญาเราก็สู้กับมันนะ นี่พูดถึงว่าการสู้กับเขา ฉะนั้น จะต้องต่อสู้กิเลสอย่างมาก ถ้าอยู่ในเพศของนักบวชต่อสู้แน่นอน เวลายังไม่บวชพระนี่คิดเลย อะไรก็ได้ ทำได้ทั้งนั้น พอบวชเข้าไปตูม โอ้โฮ! นู่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ได้นะ เวลากิเลสมันบอกว่าได้มันก็ว่าได้ เวลากิเลสมันบอกว่าไม่ได้ อู้ฮู! ล้มลุกคลุกคลาน แล้วบอกเคยบวชมา บวชมา ๓ เดือนมีความสุขมาก ไม่ต้องรับภาระหน้าที่อะไรเลย ตอนนั้นเป็นลูกวัดไง เวลาเราธุดงค์ไปคนเดียวนะ เวลาธุดงค์ไปคนเดียวเราก็ต้องรับผิดชอบแล้ว เวลารับผิดชอบต้องรับผิดชอบ ฉะนั้น เวลาจะธุดงค์ศึกษาเอา ศึกษานิดหน่อย ศึกษาให้รู้วินัยสูตรต่างๆ เวลาออกวิเวกไง ถ้าไม่ได้ออกวิเวกเราอยู่วัดอยู่วามีครูบาอาจารย์ มันก็อย่างนี้ นี่เวลาครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ท่านบอกท่านเป็นหัวรถจักร รถไฟตอนนี้เขาทำรถไฟรางคู่เพื่อจะสินค้า หัวรถจักรสำคัญมากมันลากขบวนนั้นมาไง หัวรถจักรมีอะไรหัวรถจักรมันชนก่อน เรามีครูบาอาจารย์ที่ดี ครูบาอาจารย์ที่ดีรับผิดชอบเรา เราก็อย่างที่ว่านี่เคยบวชมา ๓ เดือน รู้สึกว่ามีความสุขมาก มีความสงบใจไม่วุ่นวาย ไม่ต้องแบกรับภาระหน้าที่ ไม่ต้องปวดหัวกับเรื่องโลกๆ ไม่ต้องปวดหัวถ้าอยู่ท้ายขบวน แต่คนเรานี่โดยธรรมชาติเวลามันจะโตขึ้นมาไง พอโตขึ้นมามันจะอยู่หัวขบวน ขบวนรถไฟข้างหน้าจะแก่เฒ่า ครูบา-อาจารย์ท่านจะล่วงไป หัวขบวนจะหายไปๆ จนเราขึ้นมาต้องเป็นหัวขบวน ถ้าหัวขบวนแล้วมันก็ต้องศึกษาไว้ๆ แล้วถ้ามีสติมีปัญญาเราก็จะเป็นหัวรถจักรไปข้างหน้า ถ้าผู้ที่บวชนะ ถ้าบวชแล้ว แล้วทำอย่างนี้ ไอ้สิ่งที่ไม่ปวดหัว ไม่ปวดหัวเพราะอยู่ท้ายขบวนไม่ปวดหัว ให้หัวรถจักรมันลากไป ใช้ลากเราไปเรื่อย เออ! ลากแล้วต้องฝึกหัดสิให้มันโตขึ้นมา พอโตขึ้นมาเราก็มีกำลังจะลากท้ายขบวนขึ้นมาบ้าง อันนี้พูดถึงว่าหน้าที่รับผิดชอบนะสิ่งที่บวช ฉะนั้น บวชนี่เห็นด้วย ชีวิตนี้มีค่ามาก แล้วมีค่าที่ว่าเรามาประพฤติปฏิบัติ แล้วถ้าได้บวชได้เรียนขึ้นมา โอ้โฮ! ยิ่งมีค่ามาก โอกาสนี่หายาก โอกาสอย่างนี้หายากมาก แต่ว่าทำไมคนจะมีสติปัญญามากน้อยแค่ไหน จะมาบวชได้จริงหรือไม่จริงนะ ฉะนั้น สิ่งที่มันเป็นจริง เป็นจริงแบบนั้น เขาบอกว่าเขาอยากจะบวช เพียงแต่ว่ากลัว กลัวแล้วก็ถามหาครูบาอาจารย์ไง ว่าครูบาอาจารย์ทำตัวอย่างไร อุปสรรคมันมีทุกคน มันอยู่ที่เวรที่กรรม คนสร้างเวรสร้างกรรมมามากมาน้อยมันก็เจอเวรกรรมของตน กรรมเก่ากรรมใหม่นะ แต่เรามาสร้างกรรมดี กรรมดีเพื่อจะพ้นจากทุกข์ ถ้ามันพ้นได้ อันนี้สาธุเลย สุดยอด จบ


ถาม : เรื่อง “จะบาปไหมถ้าทำตามหน้าที่” หนูทำงานเป็นเสมียนเฝ้าร้านให้เถ้าแก่ ที่ร้านมีลูกอยู่คนเดียว ทีนี้บรรดานกกระจอกมากมายมาทำรังทุกวัน ลูกก็รื้อรังเขาทุกวัน เพราะลูกกลัวเถ้าแก่ว่าเฝ้าร้านอย่างไร วันๆ ไม่มีลูกค้า แต่ปล่อยให้นกมาอยู่มากมาย ลูกจะถามว่านกกระจอกมานะสร้างรังของมัน แต่ลูกก็รื้อรังของมัน ลูกจะบาปไหมและลูกทำให้เขาไม่มีที่อยู่ เวรกรรมจะทำให้ลูกไม่มีที่อยู่เหมือนที่ลูกทำกับนกไหมคะ


ตอบ : พูดถึงถ้าเป็นเวรเป็นกรรมนะ ถ้าเราเจตนาเราทำร้ายเขา มันเป็นอย่างนี้ เรื่องกรรม เรื่องกรรม กรรมคือการกระทำ ใครทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว การกระทำของเรา มันทำแล้วมันมีผลทั้งนั้น กรรมมันมีผลทั้งนั้น มีมากหรือมีน้อย ถ้ามีเจตนาไปทำร้ายเขา ดูสินายพรานล่า นายพรานล่าไปหารังเขา ไปเอาลูกนก ไปเอาต่างๆ นี่นายพรานล่าครอบครัวของเขา ไปทำให้ครอบครัวเขาแตกแยก นี่บาปกรรมทั้งนั้น แล้วเขาทำของเขาด้วยสิทธิส่วนตัวของเขา ด้วยเจตนาของเขา ด้วยการกระทำของเขา ด้วยอาชีพของเขา เขาบอกนี่เป็นอาชีพของเขา เขาหาเลี้ยงชีพของเขา แต่เลี้ยงชีพของเขา นี่การเลี้ยงชีพนะ อาชีพในโลกนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็สอนไว้แล้ว ถ้าใครเรียนนักธรรมมันมีอยู่แล้วอาชีพที่ไม่ควร อาชีพค้าอาวุธ อาชีพค้าเครื่องจับสัตว์ เป็นอาชีพที่ไม่สมควร อาชีพที่สมควร อาชีพสมควรอาชีพชาวนา ชาวนาทำพืชทำไร่ อาชีพนี้อาชีพที่สมควร สิ่งที่พระพุทธศาสนาสอน สอนเรื่องสัมมาอาชีวะ นี้เรื่องสัมมา-อาชีวะนะ พวกนายพรานเขาก็ไปล่า ล่าขึ้นมา ไปล่าเขา ไปทำลายรังเขา ไปทำบ้านของเขา มันมีเวรมีกรรมทั้งนั้น นั่นเขาทำของเขาด้วยเจตนาของเขา แต่ถ้าเป็นการกระทำของเรา เห็นไหม “เราเป็นเสมียนเฝ้าร้าน เราอยู่ในร้าน เราทำหน้าที่การงานของเรา เราก็อยากจะได้ เพราะว่าทำแล้วมันมีร้านค้า เราดูแล แล้วนี่เวลานกมันมาทำรังทุกวัน” เราตั้งใจสิว่าที่นี่มันเป็นร้านค้า มันเป็นร้านค้านะ เราเป็นลูกจ้างเขา เราเป็นผู้ดูแล เราต้องทำความสะอาด บอกเขาสิ บอกเขาเลย บอก “ให้ทำไปรังที่อื่น ที่นี่ทำไม่ได้ ที่นี่ก็ไม่ใช่ของเราเหมือนกัน แต่หน้าที่เรารับผิดชอบ เราก็ต้องดูแลรักษานะ” นี่เราทำอย่างนี้เราก็ทำลายรังเขา เราทำลายรังเขาคือเราต้องทำความสะอาด เราต้องเจตนาว่าร้านค้ามันต้องสะอาด ถ้าร้านค้าไม่สะอาด ใครเขาจะมาซื้อของ มันเป็นหน้าที่ของเราๆ แล้วยังเป็นหน้าที่ที่ว่าทำให้กับเถ้าแก่ด้วย เดี๋ยวถ้าเราไม่ทำขึ้นมาเราก็ตกงาน เราก็ไม่มีจะกินอีกต่างหาก มันเป็นหน้าที่ของเรา ฉะนั้น เราบอกเขา เราจะทำลายรังนก เราบอกว่าเป็นหน้าที่ของเรา เราจะทำหน้าที่ของเรา เราไม่ได้รังแกใคร เราไม่ทำโหดร้ายเพื่อใคร ให้เขาไปทำที่อื่น บอกเขาเลยให้นกไปทำรังที่อื่น แล้วนกมันก็พยายามทำรังของมันทุกวันๆ หนูก็ทำลายทุกวันๆ อย่างนี้มันจะเป็นบาปไหม คำว่า “บาปกรรม บาปกรรม” บาปกรรมมันอยู่ที่เจตนา อยู่ที่เราเที่ยวจะไปทำร้ายเขา แต่นี่มันเป็นหน้าที่ของเรา มันเป็นที่ความรับผิดชอบของเรา เรารักษา มันเหมือนกับตำรวจ ตำรวจเจอโจรก็ต้องจับ ถ้าตำรวจเขาเจอโจร เขาจับโจรไปแล้ว จับโจรไปแล้ว โจรมันก็มีครอบครัว จับหัวหน้าครอบครัวไป แล้วก็ห่วงภรรยาเขา ห่วงลูกเขา ถ้าตำรวจมันไม่จับโจร จับไม่ได้ เดี๋ยวเมียเขาไม่มีใครหาให้กิน เดี๋ยวลูกเขาไม่มีที่อยู่อาศัย ตำรวจนั้นถูกหรือตำรวจนั้นผิด นี่มันก็เหมือนกัน ไอ้นี่หน้าที่การงานเราเหมือนตำรวจเจ้าหน้าที่ไง เรามีหน้าที่ หน้าที่เราก็ดูแลรักษาเรา เราก็ดูแลรักษาเพราะเป็นหน้าที่ ถ้าเราไม่ทำเดี๋ยวเขาก็ไม่ให้ทำงาน แล้วเราก็ไม่มีที่อยู่ที่กิน เราคิดของเราอย่างนี้ อันนี้ไม่ใช่เลี่ยงบาลีนะ ไอ้คนเลี่ยงบาลีก็ส่วนเลี่ยงบาลี ถ้าไอ้เถรตรง เถรตรงก็ทำอะไรไม่เป็นเหมือนกัน เวลาเขาบอกว่าเลี่ยงบาลี เราไม่ได้เลี่ยงบาลี มันเป็นหน้าที่ มันเป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้า เหตุการณ์เฉพาะนี้ที่เราต้องจัดการ เราต้องตัดสิน ถ้าเราตัดสินเราแก้ไขของเรา เหตุการณ์ตัดสินอย่างนี้ ถ้าไม่เหตุการณ์ตัดสินอย่างนี้ เราจะบอกว่าไปทำงานที่อื่น ไปทำอย่างไรก็เจออย่างนี้ เราอยู่กับคนไง เราอยู่กับสังคม สังคมมันแตกต่างหลากหลาย สังคมความคิดมันแตกต่าง มันต้องมีผลกระทบอยู่แล้ว ถ้ามีผลกระทบอยู่แล้ว มันอยู่ที่หัวใจสูงหรือหัวใจต่ำ ถ้าหัวใจสูงก็อย่างที่เราพูดว่านี่ หัวใจที่เขาสูง เขาทำของเขาได้ ไอ้หัวใจต่ำๆ มอง โอ้โฮ! เวลาเทศน์ธรรมะนี่สูงส่ง นี่มารังแกสัตว์เลย รังแกสัตว์ ถ้ารังแกสัตว์ เราไปทำลายเขา แต่เราป้องกัน ป้องกัน ป้องกันเหตุมันจะเกิดขึ้นอีกนะ แล้วมันก็กรรมเก่า กรรมใหม่ ไอ้กรรมเก่ามันมีเวรมีกรรมกันมา มีเวรมีกรรมมา มันก็จะมาเจอกัน เราก็อโหสิต่อกันนะ เป็นหน้าที่ เราไม่มีอะไรผูกพันทั้งสิ้น ทำหน้าที่ของเรา ดูแลของเรา ให้เขาไปทำที่อื่น ถ้าเขาบินไปหาที่อื่น ทีนี้นกเวลามันไปมากๆ นะ มันก็แย่งที่กันนะ นี่มันแย่งที่อาศัยกัน มันก็เป็น เวลานกอพยพมันมาเยอะมาก ไอ้นี่นกกระจอก เขาว่า นกกระจอกของเขามาสร้างรัง มันก็พยายามทำของมัน เราก็พยายามรักษาของเรา รักษาของเรา ลูกจะบาปไหม เขาถาม “ถ้าลูกจะบาปไหม แล้วลูกทำให้เขาไม่มีที่อยู่ เวรกรรมมันจะมีไปไหม” ไม่มีที่อยู่มันไปอยู่ที่อื่น เวลาไปอยู่ที่อื่น เฉพาะเคสนี้นะ เฉพาะสิ่งที่มันเพราะหนึ่งมันมีเจ้าของที่ เราเป็นลูกจ้าง แล้วมันมีนก มันเป็นเฉพาะเคสนี้ไง แต่ถ้ามันเป็นที่อื่นนะ มันเป็นที่บ้าน ถ้าไปเจอบ้านที่ใจเป็นธรรมนะ มาเลยๆ เขามีน้ำมีข้าวให้นกกินด้วย บ้านของคนที่ถึงเวลาเขาก็มี อันนั้นเขาไม่มีใครบังคับบัญชาเขา จิตของเขามีเมตตาๆ เขาก็รักษาได้ แต่นี่ของเรา ถ้าเป็นบ้านของเรา เราก็อนุโลมใช่ไหม เพราะเราไม่มีเถ้าแก่ เพราะมันเป็นบ้านของเรา ไอ้นี่มันเป็นร้านค้าของเถ้าแก่ มันไม่ใช่ของเราด้วย แล้วเราเป็นลูกจ้าง เราจะดูแลรักษา มันสถานะที่เราต้องดูแล เฉพาะเคสนี้ ไอ้นี่ของเราเฉพาะหน้า ผู้มีปัญญาเขาใช้เหตุการณ์เฉพาะหน้าแล้วแก้ไขไป ไม่ใช่ว่าจะเป็นอย่างนี้ตลอดไป แต่ถ้าหัวใจมันสูงนะ หัวใจมันสูง หัวใจมันให้อภัยตั้งแต่ต้น ให้อภัยตั้งแต่ต้นนะ เขาทำอะไรง่ายๆ เลย ครูบาอาจารย์ของเราท่านทำอะไรสะดวกมาก เพราะท่านมีประสบการณ์ของท่าน กรณีอย่างนี้ควรทำอย่างไร เพราะมันมีโยมผู้ถวาย มันมีพระเป็นผู้รับ แล้วรับแล้วจะแบ่งปันกันอย่างไร ให้มันถูกต้องตามธรรมตามวินัย ไม่ต้องให้โยมเขารู้ก็ได้ เวลารับไว้ เขาทำอะไรให้เขาทำไป ให้เขากลับไป พระทำเบื้องหลัง เบื้องหลังก็อุปโลกน์ของเรา แบ่งกับของเรา เป็นของของสงฆ์ทั้งหมด แต่แบ่งให้มันถูกต้อง คนที่เคารพธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธ-เจ้าเขาแอบทำ เขาไม่ทำต่อหน้าหรอก แต่เวลาเทศน์สอน แต่คนจะมาทำต่อหน้า มาแอคชั่น ท่านไม่เล่นด้วยหรอก เวลาเทศน์นะ ต้องเป็นอย่างนั้น อย่างนั้น เอาเลยนะ สร้างสถานการณ์มาจะให้เข้าแบบนั้น จะเอาแบบนั้น โอ๋ย! ไร้สาระ เรารับไว้ได้ เรารับไว้ได้เลย เราอยู่ของเราอยู่คนเดียว เมื่อก่อนเขาใส่อะไรมาเยอะแยะ เอาไว้ข้างบาตรไม่เคยฉันเลย เพราะไม่มีคนกัปปิฯ ให้ ไม่มีคนกัปปิฯ ให้ก็วางไว้นั่น เวลาเขามาก็รับของเขา เวลาไปบิณฑบาตบ้านเขา เขาทำให้เลยนะ กัปปิยัง กโรหิ เขาทำให้เสร็จเลย แล้วเขาก็วางไว้นั่น แล้วถึงใส่บาตรมา เราก็ไม่ฉัน เพราะทำเบื้องหลัง ไม่ได้ทำต่อหน้า เวลาเขาทำ เขาเห็นแล้วเขาอยากทำให้เหมือนกับที่เขาทำวินัยกรรม แต่มันไม่ใช่วินัยกรรม มันทำข้างเดียว วินัยกรรมมันต้องทำสองข้าง ทำระหว่างผู้ที่ละอายคือพระ ทำต่อหน้าพระ พระเป็นผู้ถาม ถามเสร็จแล้วโยมเป็นผู้ทำ แต่เขาทำมาจากบ้าน เขาทำเบื้องหลัง เราก็รับ เพราะเขาว่าเขาทำแล้ว เขาทำถูกต้องธรรมวินัย ดีกว่าพระอีก ไอ้พระก็รับไว้ ถ้าพระเซ่อๆ มันก็รับไปเลย ฉันไปเลย แต่พระที่ฉลาดก็รับไว้แต่ไม่ฉัน ถ้าจะฉันต้องทำซ้ำ วินัยกรรมต้องทำต่อหน้า วินัยกรรม มันเป็นวินัยกรรม มันเป็นกรรมการกระทำ วินัยแล้วกรรมด้วย มันอยู่ที่การกระทำนั้นมันถึงเป็นวินัยกรรม วินัยก็คือวินัย นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันอยู่ที่ผู้ที่จิตใจสูง จิตใจต่ำ ถ้าผู้จิตใจที่ต่ำไม่ต้องทำ ฉันได้หมด มาเถอะ โอ้โฮ! ใส่ปากก็ฉันได้เลย ไอ้ผู้ที่จิตใจต่ำมันก็คิดไปอย่างหนึ่ง ผู้ที่จิตใจสูงก็คิดไปอย่างหนึ่ง มันอยู่ที่หัวใจสูงต่ำนะ หัวใจสูงต่ำ กรณีนี้เหมือนกัน เราจะบอกว่าคนที่หัวใจต่ำ มองคนที่หัวใจสูงเขาทำ มันมองแล้ว เอ๊ะ! ไอ้นี่มันสีข้างเข้าถู มันทำไม่จริงไม่จัง แต่มันไม่ใช่ มันเป็นข้อเท็จจริงเป็นชั้นๆ ชั้นๆ คือจิตใจของเขา เขาเข้าใจของเขา เขาทำของเขา ไอ้เราจิตใจของเรามันต่ำเอง จิตใจมันต่ำมันมองไม่ถึง มันมองไม่เห็น มันมองไม่ได้ พอมองไม่ได้แล้วก็เอาสีข้างเข้าถู อ้างเลยวินัยบัญญัติไว้อย่างนั้น วินัยบัญญัติไว้อย่างนั้นนั่นวินัยแล้วธรรมล่ะ ธรรมไปพูดต่อหน้าเขา ไปสอนเขาต่อหน้า แล้วให้คนอื่นเป็นกรณีศึกษา ถ้าเป็นกรณีศึกษาจริงก็ทำได้ แต่ไม่ใช่กรณีศึกษา มันเป็นกรณีที่ว่าเขามีกิเลส เขาอยากเป็นที่สนใจ เขาอยากให้คนมองหน้า เขาก็สร้างสถานการณ์มา อย่างนี้ไร้สาระ ผู้ที่หัวใจสูง หัวใจต่ำ มันเป็นอย่างนั้นนะ ถามว่า “ลูกจะเป็นบาปหรือไม่” เราเข้าใจว่ามีบ้าง เพราะมันก็มีความเพียรของมันไง มันก็ต้องมีบ้างใช่ไหม คนเราเขาปรารถนาอย่างหนึ่ง เราพยายามจะเบี่ยงเบนให้มันเป็นอีกอย่างหนึ่ง เขาก็ต้องมีความไม่พอใจเป็นเรื่องธรรมดา อย่างเช่น พ่อแม่สอนลูก ลูกนี่มันก็อยากได้ตามประสาเด็กคิด พ่อแม่มีประสบการณ์ พ่อแม่ก็พยายามจะชักนำให้ลูก เห็นไหม ดำเนินการไปให้มันถูกต้อง ลูกมันก็มีความคิดของมันเหมือนกัน ทั้งๆ ที่เจตนาที่ดีนี่แหละ นี่ก็เหมือนกัน เวลาสัตว์มันก็อยากอยู่ มันก็สร้างรังของมัน แต่หน้าที่ของเราต้องทำความสะอาดใช่ไหม เราก็ต้องรักษาความสะอาดของเรา แล้วถ้ามันพูดกันรู้เรื่องนะ เขาควรไปทำรังที่อื่น แต่นี่มันพูดกันไม่ได้ สัตว์มันเห็นที่เหมาะสมของมัน เห็นที่ปลอดภัย มันก็จะทำของมัน มันเป็นเรื่องที่ว่าความไม่เข้าใจกัน มันคนละสถานะกัน ฉะนั้น เขาว่า “ลูกจะมีบาปหรือไม่” ในเมื่อมีความขัดใจมีความเศร้าหมอง มีความขัดแย้งในใจ มันก็ต้องมีผลกระทบกระเทือนมีผลบ้าง “ลูกทำให้เขาไม่มีที่อยู่” ไอ้ไม่มีที่อยู่ ที่อยู่ที่อื่นก็ได้ มันเป็นปัญหา ถ้ามีที่อยู่ก็ไปซื้อรังนกมาแขวนๆ ไว้เลย บริการเขาเสร็จเลย นี่ก็ทำไม่ได้ มันมีรังนกเทียม เขาขายกันอยู่ เราก็ซื้อมาแขวนๆ แขวนไว้เลย เอ็งไปอยู่นั่นนะ เอ็งอย่ามาอยู่ตรงนี้นะ “เวรกรรมจะทำให้ลูกไม่มีที่อยู่หรือไม่” เวรกรรมมันก็เวรกรรม แต่ถ้าไม่มีที่อยู่เราก็สร้างของเรา เราก็ทำของเรา มันเป็นหน้าที่ของเรา เวลาเราพ้นจากหน้าที่การเป็นคนเฝ้าร้าน เราเป็นเถ้าแก่เสียเอง เราจะทำอย่างไรก็ได้ ถึงเวลาเราจะทำดีๆ เราทำดีได้เต็มที่ถ้าโอกาสที่เราจะทำดี แต่ตอนนี้เราเป็นลูกจ้างของเขา เราทำหน้าที่ของเขา เราก็ต้องทำหน้าที่ของเราให้สมบูรณ์ ถ้าหน้าที่ของเราไม่สมบูรณ์ หน้าที่การงานเราก็ไม่มั่นคงเหมือนกัน ทำตรงนี้ให้สมบูรณ์ มันเป็นวาระ มันเป็นวาระของกรรมที่มันให้ผลอย่างนี้ ถ้ามันพ้นจากวาระนี้ไป มันเป็นวาระอื่น มันก็เป็นกรณีอื่นนะ เป็นเคสอื่นที่ไม่ใช่เป็นวาระอย่างนี้ นี่พูดถึงว่า “จะเป็นบาปถ้าทำตามหน้าที่หรือไม่” ไอ้เรื่องบาปกรรม ไอ้ที่บอกว่าจะไม่มีเลย เราก็พูดไม่ได้ว่าไม่มีเลย เพราะ เพราะเราไปกีดขวางที่อยู่ของเขา คำว่า “กีดขวาง” นะ มันก็มีผลกระทบกระเทือนบ้างแหละ แต่กรรมดีล่ะ เราทำให้เถ้าแก่ ทำให้ทุกคนที่เขาเห็นแล้วสบายตา ทำให้ทุกคนเห็นแล้วชื่นใจ อันนี้ก็เป็นบุญนะ มันก็เป็นบุญอันหนึ่ง ไปทำปล่อยให้นกมันสร้างรัง เถ้าแก่มา เถ้าแก่เห็นแล้วก็ทุกข์ใจ เราก็ได้บุญ บุญให้นกมันได้สร้างรัง แต่เราก็มีบาปกรรมทำให้เถ้าแก่บอกว่าเราเป็นคนที่ไม่เอาไหน เป็นคนที่ไม่รับผิดชอบ เห็นไหม มันมีทั้งสองทาง ฉะนั้น บอกว่าจะไม่มีเลยมันก็เป็นไปไม่ได้ เราเกิดเป็นคนไง กรรมคือการกระทำ เราได้ทำแล้วมันต้องมีกรรม กรรมดี กรรมชั่ว กรรมดีเราก็ได้ทำแล้ว ทำถูกต้องหน้าที่ของเรา แล้วเวลากรรมบาปอกุศล จะว่ากรรมชั่วไม่ใช่ กรรมบาปอกุศลเราทำแล้วมีกระทบ มีผลกระทบแล้ว มันก็เป็นคน คนเกิดมามันก็ต้องมีผลกระทบทั้งนั้น ดีหรือชั่ว เราทำหน้าที่ของเรา ทำเพื่อประโยชน์กับเรา ทำความดีของเราเพื่อความดี เอวัง