เทศน์บนศาลา

ฉลาดในโง่

๒ ก.พ. ๒๕๕o

 

ฉลาดในโง่
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจ ฟังธรรมะนะ ธรรม ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะธรรมะนะ เราได้ยินได้ฟังว่ามีธรรม มีธรรมกันไง ขนาดอนาถบิณฑิกเศรษฐีไปทำการค้า ได้ยินนะ ได้ยินว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว นี่อนาถะนอนไม่ได้เลย คืนนั้นทั้งคืนเลย นอนไม่ได้เลย รอแต่ว่าเมื่อไหร่จะสว่าง จะไปกราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม คนที่ใฝ่ฝันนะ รอคอยแต่ว่า ถ้าเมื่อไหร่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสรู้ขึ้นมา

นี่เพราะทุกคนแสวงหา ทุกคนรอคอย เพราะอะไร เพราะเราไม่ได้สร้างบุญญาธิการมาอย่างนั้น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธจ้ากว่าจะตรัสรู้ได้แต่ละพระองค์ต้องสร้างบุญญาธิการมหาศาล บุญญาธิการมหาศาลเพราะอะไร เพราะผู้ที่ประพฤติปฏิบัตินะ เหมือนเราทำงาน คนทำงานเป็นกับคนทำงานไม่เป็นต่างกันนะ คนทำงานไม่เป็น เราทำไปสักแต่ว่าทำ แล้วเราก็ไม่รู้ว่าเป้าหมายอยู่ที่ไหน ไม่รู้อะไรเลย

แต่คนถ้าทำงานประสบความสำเร็จ มันจะนึกถึงอนุชนรุ่นหลัง ดูสิ เวลาพระกัสสปะออกบวชเมื่ออายุมากแล้ว เพราะว่าสร้างบุญญาธิการมา สร้างมามากเหมือนกัน เป็นลูกเศรษฐี อยากบวชตั้งแต่หนุ่ม แต่ว่าพ่อแม่ขอไว้ว่าให้มีครอบครัวก่อน แล้วครอบครัวก็บังเอิญด้วยว่า ฝ่ายผู้หญิงก็อยากออก ปรารถนาอยากออกบวชเหมือนกัน ถึงสัญญากันว่า เราแต่งงานกัน แต่เราจะไม่มีบุตร ไม่อยู่ร่วมกัน นี่อธิษฐาน

รออุปัฏฐากจนพ่อแม่เสียชีวิตหมด เห็นไหม แจกสมบัติอยู่นะ แจกจนหมดเลย แล้วออกบวช นี่ออกบวชเมื่อแก่ แต่ประพฤติปฏิบัติ เพราะสร้างบุญญาธิการมา เพราะพระกัสสปะเป็นผู้ทำสังคายนา พระกัสสปะเตรียมไว้พร้อมหมดแล้ว

เวลาสำเร็จเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถามพระกัสสปะ “กัสสปะเอย เธอก็เป็นพระอรหันต์แล้ว อายุก็ปานเรา ทำไมจะต้องถือธุดงควัตรอยู่” พระกัสสปะบอกว่า “ถือเพราะเพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้เป็นคติ ได้เป็นแบบอย่าง ได้เป็นที่อ้างอิงว่าถือธุดงควัตร” ธุดงควัตรเป็นการขัดเกลากิเลส แม้แต่พระอรหันต์ยังทรงข้อวัตร ทรงปฏิบัติไว้สภาวะแบบนั้น

แล้วเวลาพระอานนท์นิมนต์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน นี่เพราะมารดลใจ ดูสิ มารดลใจ พระอรหันต์มาดลใจได้อย่างไร องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มารดลใจได้อย่างไร ในเมื่อไม่มีกิเลสแล้ว มารดลใจได้อย่างไร

สิ่งนี้เป็นนามธรรมนะ นี่ธรรมะเป็นนามธรรม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ มารดลใจตลอด “อยากให้นิพพาน อยากให้นิพพาน” เพราะอะไร เพราะรื้อสัตว์ขนสัตว์ไง เวลาสาวกที่ว่าวิปัสสนาอยู่ แล้วตายไปพร้อมกับตรัสรู้ธรรม เห็นไหม พร้อมกับบรรลุธรรม นี่มารค้นหา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเตือนพญามารนะ “มารเอย เธอไม่เห็นหรอก เธอค้นอย่างไรก็ไม่เห็น ไม่เห็นพระอรหันต์ที่จิตที่สิ้นจากกิเลสแล้ว”

แต่ขณะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมีชีวิตอยู่ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน เข้าปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อากาสานัญจายตนะ เข้าสมาบัติ ย้อนกลับ จนพระอานนท์ถามนะ ถามประชุมสงฆ์ขึ้นมาในขณะนั้นว่า “บัดนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ปรินิพพานแล้วหรือ”

พระอนุรุทธะบอกว่า “ยัง”

นี่จิตมันมีไง มันมีที่เกาะเกี่ยว มีที่เกาะเกี่ยวขณะที่เข้าสมาบัติ แล้วมันระหว่างนั้นน่ะ ปรินิพพานตนนั้น นี่สิ่งที่มีอยู่ สอุปาทิเสสนิพพาน พระอรหันต์ยังมีชีวิตอยู่ มันมีธาตุ ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์ ขันธ์คือความรู้สึก มันมีที่เกาะเกี่ยว มันมีที่เป้าหมาย มีสถานที่ มีที่สัมผัสกันได้ มารถึงดลใจได้ มารนิมนต์ให้นิพพานตลอด

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดกับมารมาตลอดนะ “มารเอย เมื่อใดภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาของเรา ยังไม่เข้มแข็ง ไม่สามารถกล่าวแก้คำจาบจ้วงของเจ้าลัทธิต่างๆ ได้ เรายังไม่ยอมปรินิพพาน” เพราะจะวางศาสนาให้ตกมาถึงพวกเรานี่ไง

เราเกิดมานี่ ธรรม ธรรม ธรรมอันนี้ ธรรมที่เราได้พบอันนี้ประเสริฐมาก

จนสุดท้ายวันมาฆบูชา วันมาฆบูชา มารดลใจ “มารเอย บัดนี้ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาของเราเข้มแข็ง สามารถกล่าวแก้คำจาบจ้วง “คำจาบจ้วง...” เห็นไหม “...จากลัทธิต่างๆ ได้ อีก ๓ เดือนข้างหน้าเราจะปรินิพพาน” โลกธาตุหวั่นไหว พระอานนท์อุปัฏฐากอยู่ เห็นต้นไม้ เห็นโลกธาตุหวั่นไหว มันมีสิ่งที่มหัศจรรย์

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้ทั้งโลกนอกโลกใน โลกนอก โลกนอกคือสภาวะโลก โลกในคือโลกทัศน์ คือเรื่องของกิเลส เรื่องตัณหาความทะยานอยากในหัวใจ นี่รู้แจ้งโลกนอกโลกใน พระอานนท์เข้าไปกราบทูลถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “เหตุที่โลกธาตุหวั่นไหว สั่นไหวมันเป็นเพราะเหตุใด”

“อานนท์ เป็นเรื่องธรรมดา พระพุทธเจ้าเกิด ตรัสรู้ ปลงอายุสังขาร ปรินิพพานโลกธาตุหวั่นไหว”

พระอานนท์เสียใจมาก พยายามจะอ้อนวอนให้อยู่ นี่พระโสดาบันนะ...เราเป็นอะไรกัน เรานี่เป็นปุถุชน เราเป็นนักรบ เราเป็นผู้ศรัทธาในศาสนา เราจะไปประพฤติปฏิบัติเพื่อจะออกจากกิเลส เห็นไหม พระอานนท์เป็นผู้อุปัฏฐาก อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่มีบุญมาก เพราะอะไร เพราะอุปัฏฐากพระอรหันต์นะ อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เจ้าของศาสนาด้วย นี่มีบุญมหาศาล แต่ก็ยังมีปัญญา เป็นพหูสูต ผู้ที่ได้เป็นเอตทัคคะตั้ง ๕ ทาง นี่สร้างบุญญาธิการมาอย่างนั้น ยังอ้อนวอนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้มีชีวิตอยู่ เพื่อตัวเองจะได้มีผู้ชี้นำไง

“อานนท์ เราบอกเธอแล้วไม่ใช่หรือว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายก็ต้องดับไปธรรมดา แม้แต่ชีวิตขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีก ๓ เดือนข้างหน้าก็จะปรินิพพาน ธรรมทั้งหลายเราได้กล่าวไว้หมดแล้ว สิ่งต่างๆ ไม่มีกำมือในเรา เราได้บอกไว้หมดแล้ว” นี่พระอานนท์ ขนาดบอกไว้แล้วก็ยังสงสัย

พระอานนท์เป็นพระโสดาบันนะ กล่าวอ้อนวอน อ้อนวอนแล้ว “อานนท์ เราปรินิพพานไปแล้วจะมีสังคายนา เธอจะได้เป็นพระอรหันต์ เธอจะได้เป็นพระอรหันต์” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโลกนอกโลกใน รู้แจ้งอนาคต อนาคตต่างๆ สิ่งนี้ ขณะนั้นพระพุทธเจ้ายังไม่ได้นิพพาน พระพุทธเจ้าพูดบอกไว้ก่อนหมดเลย พระอานนท์จะตรัสรู้ จะได้บรรลุธรรมต่อเมื่อวันสังคายนา

พระกัสสปะ ผู้ทรงธรรม ทรงวินัยไว้ สืบทอดศาสนามาถึงเรานี่ สิ่งนี้ “กัสสปะ เธอก็อายุปานเรา เป็นพระอรหันต์ ทำไมต้องถือธุดงควัตร”

“เพื่อเป็นคติ เพื่อเป็นแบบอย่าง ให้อนุชนรุ่นหลังได้ถือเป็นแบบอย่าง”

เห็นไหม สิ่งนี้เป็นธรรมและวินัย ถ้าธรรมแท้ๆ มันเป็นอย่างนี้

แล้วโลกนี้โลกเจริญ เราเกิดมาพบศาสนา ถ้าไม่มีศาสนา มนุษย์เลวกว่าสัตว์นะ เพราะมนุษย์มีปัญญา มนุษย์มีคดโกงกัน มนุษย์ทำลายกัน ทำลายกันยิ่งกว่าสัตว์อีกนะ แล้วถ้าไม่มีตัวศาสนามาแบ่งแยก สิ่งที่มนุษย์จะต่างกับสัตว์ตรงไหน? เลวกว่าด้วย แต่เพราะมีศาสนาไง เพราะมีศาสนาให้ขัดเกลา ขัดเกลากิเลส ให้มีศาสนา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

เราเกิดเป็นชาวพุทธ เราเกิดมา พ่อแม่เป็นชาวพุทธ เกิดในครอบครัว ในตระกูลสัมมาทิฏฐิ ถ้าเกิดในครอบครัวมิจฉาทิฏฐิ เห็นไหม ดูสิ ดูพระสารีบุตร พระสารีบุตรเกิดมากับแม่ แม่ไม่ศรัทธา แต่พระสารีบุตรออกบวช ออกบวชก็ออกแสวงหา ออกแสวงหา ไปอยู่กับสัญชัย “สรรพสิ่งนี้ไม่ใช่ สิ่งใดๆ ก็ไม่ใช่ คำว่าไม่ใช่ ไม่ใช่ก็คือไม่ใช่” ปฏิเสธไปทุกอย่างเลย

แล้วด้วยตรรกะ ด้วยการศึกษา พระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะไปศึกษา ถึงที่สุดแล้วอาจารย์เราไม่มีอะไร ไม่มีอะไรเลย ถึงสัญญากันว่า ถ้าเราเจอครูบาอาจารย์ เจอผู้ที่ชี้นำ เราจะต้องบอกกัน ไปเจอการก้าวเดินบิณฑบาตของพระอัสสชิ นี่กิริยามันฝังใจ มันนุ่มนวล มันถูกใจมาก ความสงบของใจนะ การแสดงออกมาของผู้ที่ไม่มีกิเลส...ก็เดินตามไปนะ เดินตามไปจนขอฟังธรรม ฟังธรรมเพราะอะไร เพราะพระสารีบุตรปฏิบัติมากับสัญชัย

แล้วผู้มีปัญญา แล้วปรารถนา คำว่า “ปรารถนา” ผู้ที่เป็นพุทธมารดา เป็นสหชาติ พวกอุปัฏฐาก อัครสาวกเบื้องซ้ายเบื้องขวา นางวิสาขา นี่ที่ปรารถนาตำแหน่ง ตำแหน่งที่เกี่ยวพันกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ต้องเป็นสิ่งที่ปรารถนา ถ้าปรารถนา เหมือนกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ต้องปรารถนา ต้องพยายามสร้างฐาน สร้างกำลัง สร้างบารมีขึ้นมา สิ่งนี้ต้องปรารถนา นี่สร้างบารมีมาขนาดนั้นนะ

เวลาฟังธรรมของพระอัสสชิ เห็นไหม “ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้ไปดับที่เหตุนั้น” นี่ฟังธรรม เพราะใจพร้อม ใจเปิด ใจกว้าง แล้วมีอำนาจวาสนา อินทรีย์ ความรับรู้อันนี้ พอธรรมเข้าไปเปิดช่อง นี่ดวงตาเห็นธรรม ไปบอกพระโมคคัลลานะก็ดวงตาเห็นธรรม

ชวนกันไป เพราะสงสารอาจารย์ “เราจะไปหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” ไปชวนสัญชัยนะ สัญชัยถามพระสารีบุตรนะ “ในโลกนี้คนโง่มากหรือคนฉลาดมาก”

นี่ด้วยปัญญา ด้วยนักปราชญ์ “โลกนี้คนโง่มาก คนฉลาดน้อย”

“เธอไปอยู่กับคนฉลาดเถอะ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ พุทธะ สิ่งที่เข้าถึงพุทธะ เข้าถึงพุทธปัญญาอันนี้มันเข้าได้ยากมาก คนฉลาดมีน้อย ไปอยู่กับคนฉลาด เราอยู่กับคนโง่ คนโง่หลอกลวงง่าย”

สุดท้ายอ้อนวอนอย่างไรอาจารย์ก็ไม่มา พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ ไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขณะที่ไปเฝ้า...เวลามันพูดน่ะมันพูดได้นะ สัญชัยพูดอย่างนั้น แต่เวลาพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะไปแล้วนี่ กระอักเลือดเลย นี่ความฝังใจอันนี้ กิเลสมันฝังใจมาก เพราะอะไร เพราะสถานะมันรับไม่ได้

ดูสิ ดูสุภัททะ เห็นไหม สุภัททะ ขณะคืนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน นักปราชญ์เหมือนกัน ถือเนื้อถือตัวมาก ในเรื่องวรรณะในสมัยพุทธกาลมีมหาศาล เหมือนในปัจจุบันนี้ เขาถือกันมาก การถือนี่เป็นกิเลสนะ สิ่งที่เป็นกิเลสเพราะอะไร เพราะความถือนี้ไม่เป็นความจริง ถ้าความจริง ความจริงต้องแก้กิเลสได้ ความจริงมันต้องเข้าใจสัจธรรม ความจริงมันต้องรู้จักทุกข์ แก้ทุกข์ได้ นี่มันไม่ใช่ทุกข์ มันสงสัยไปหมด แต่ก็ถือกัน ถือตามกันมา แล้วก็ถือสภาวะแบบนั้น

เห็นไหม ไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “ในลัทธิต่างๆ บอกว่านั่นก็สุดยอด ไอ้นี่ก็สุดยอด”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฟันธงเลยนะ “ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล ถ้ามันไม่มีเหตุ มันจะเอาผลมาจากไหน” สุภัททะ พอฟังธรรมอย่างนั้นแล้ว ขอบวชคืนนั้นนะ แล้วปฏิบัติคืนนั้น สิ้นกิเลสในคืนนั้น เห็นไหม

โอกาสของผู้ที่สร้างบุญญาธิการมา ถ้าสิ่งที่มีประโยชน์เข้าไปมันถึงหัวใจ มันจะแทงใจมาก มันจะแทงเข้าไปในหัวใจ นี่สิ่งที่มีบุญญาธิการ การสร้างสมมาของธรรม ธรรมนะ ธรรมอันนี้เกิดมาจากไหน ธรรมที่มีอยู่ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกมีอยู่ แต่ถ้าพระปัจเจกพุทธเจ้ากับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้เองโดยชอบ แต่สาวกสาวกะทำบุญมหาศาลเลย เราก็ยังมืดมนอนธการกัน ยังคลำกันไปนะ เพราะอะไร

เพราะเดี๋ยวนี้โลกเจริญ เราศึกษา ที่ว่าศึกษา เราต้องมีพื้นฐาน เราศึกษาศาสนา...ศึกษาขนาดไหน การศึกษาศึกษาโดยใคร? ศึกษาโดยกิเลส ศึกษาโดยเรานะ

ธรรมะเป็นนามธรรม สิ่งที่เป็นนามธรรม ความรู้สึกนี้ก็เป็นนามธรรม แล้วเราพยายามจะทำเป็นรูปธรรมกัน เห็นไหม ถ้าเป็นรูปธรรม ดูสิ ดูการศึกษา ดูการวิจัยสิ การวิจัยทำออกมาเป็นรูปธรรม สิ่งที่เป็นรูปธรรมเราก็ตีความกันไป

ดูสิ ก่อนสมัยพุทธกาล ไม่มีใครกล้าปั้นรูปพระพุทธรูปนะ เพราะอะไร เพราะทำแล้ว...นี่ด้วยความเคารพไง เริ่มแรกไม่มี แต่พอเข้าไป พอทุกคน “ต้องเป็นรูปธรรม ต้องเป็นสิ่งที่เคารพ สิ่งที่บูชา” สิ่งที่เคารพบูชา สิ่งนี้มันเป็นเรื่องรูปธรรม

ในความคิดในปัจจุบันก็เหมือนกัน เราพยายามจะคิดกันว่า “ต้องเป็นอย่างนั้น” เราว่าเราฉลาดนะ ฉลาดอย่างมันฉลาดในความโง่ ฉลาดในความโง่จริงๆ เพราะอะไร เพราะอวิชชาในหัวใจเรา อวิชชาคืออะไร? อวิชชานะ รู้ แต่ไม่เข้าใจ เห็นไหม ไม่ใช่อวิชชาไม่รู้อะไรเลย เราตีความอวิชชา “อะ” คือไม่ “วิชชา”...คือไม่รู้วิชชา

สิ่งที่ไม่รู้วิชชา ไม่รู้วิชชา แล้วเรามีกิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจของเรา แล้วเราไปตีความธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม ดูทางโลกเขาสิ ทางโลกที่เขาอยู่กัน คนที่ฉลาดแล้วแกมโกง ทุกคนว่าฉลาดเพราะอะไร เพราะว่าสิ่งนี้เป็นประโยชน์กับตน สิ่งที่เราฉลาดแกมโกง สิ่งใดเป็นประโยชน์น่ะ สิ่งนั้นเอา สิ่งใดที่เป็นประโยชน์ สิ่งนั้นปฏิเสธ

แล้วสิ่งที่เราเอาหรือเราปฏิเสธโลกนี้มันก็มีอยู่อย่างนั้น ในโลกนี้เขามีของเขาอยู่อย่างนั้น แล้วสัจจะความจริงที่ในอริยสัจมันลึกซึ้งกว่านั้น ถ้าเราฉลาดในความโง่ เราก็ต้องโง่ตลอดไป เพราะอะไร เพราะมันไม่ย้อนกลับมา คนเราไม่สามารถทำลายตัวเองได้ ไม่สามารถเบียดเบียนตนเอง แต่เพราะสิ่งใดทำไป มันจะโต้แย้งว่าสิ่งนั้นมันเป็นอัตตกิลมถานุโยค

เพราะธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปิดไว้ เทฺวเม ภิกฺขเว เทศน์ธัมมจักฯ เลยนะ ทางสองส่วนที่เธอไม่ควรเสพ กามสุขัลลิกานุโยค การเสพและการสุขอยู่ในสมาธิ อยู่ในกาม สิ่งนั้นก็ไม่ควร อัตตกิลมถานุโยค แต่อัตตกิลมถานุโยคมันเป็นสิ่งที่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปทดสอบกับเจ้าลัทธิต่างๆ มา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทดสอบมา ในปัจจุบันนี้ยังมีอยู่ ที่เขาประพฤติปฏิบัติอยู่อย่างนั้น เขาทรมานตน ทรมานอยู่อย่างนั้นนะ

สิ่งที่ทรมานตนอย่างนั้นมันทรมานอะไร? มันทรมานร่างกาย แล้วสิ่งที่ใครเป็นคนทรมานร่างกาย? เพราะมิจฉาทิฏฐิ เพราะความเห็นผิดของกิเลส เพราะความเห็นผิดอันนั้น เพราะการกระทำ ร่างกาย การกระทำของเราทุกคน ถ้าไม่เกิดจากความคิด ไม่เกิดจากใจนี่ทำอะไรไม่ได้เลย ถ้าใจมันทำขึ้นมา เพราะมันมีความเห็นผิด มันถึงทำสภาวะแบบนั้น

แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไปทดสอบมาหมดแล้ว สุดท้าย ที่ว่าอดอาหาร เพราะสมัยนั้นเขาทำการอดอาหาร แต่การอดอาหาร ขณะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอดอาหารอยู่นั้น เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ได้บรรลุธรรม ขณะที่อดอาหารนี้ เพราะกิเลสอยู่กับเรา ต้องทำลายให้ได้ไง

แต่เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างบุญญาธิการมา สลบถึง ๓ หนนะ ก็ตายแล้วฟื้น ๓ หน สิ่งนั้นทำขนาดนี้แล้วก็ไม่ใช่ เริ่มต้นมาทบทวน ทบทวนถึงตอนที่ว่า พระเจ้าสุทโธทนะออกแรกนาขวัญ แล้วเจ้าชายสิทธัตถะไปอยู่ที่โคนต้นหว้า...นั่งทำความสงบของใจอย่างนั้น ทบทวนอย่างนั้น ตัดสินใจไง ออกมาฉันอาหาร ปัญจวัคคีย์ทิ้งไปเลย ทิ้งไปเลยนะ

เพราะทรมานอย่างนั้น มีทิฏฐิ คือความเห็นสมัยนั้น คนที่ทำอุกฤษฏ์ คนที่ต้องการชนะกิเลสมันต้องเข้มแข็งทำสภาวะแบบนั้น แล้วกลับมาฉันอาหารไง คิดว่าหมดหวังนะ ปัญจวัคคีย์ทิ้งไปเลย...แล้วกลับมาฉันอาหารของนางสุชาดา ร่างกายฟื้นขึ้นมา เพราะร่างกายฟื้นขึ้นมา เราประพฤติปฏิบัติสิ ขณะที่เราเข้มแข็งขึ้นมานี่มันมีฐาน จิตอย่างนี้มันมีพื้นฐาน เพราะเราไม่ใช้ปัญญา ไม่ใช้ความคิดจากหัวใจเลย ไม่ใช้ความคิดจากหัวใจเลยนะ ไม่ใช้ความคิดจากสมอง

ความคิดจากสมอง นี่สิ่งที่เป็นรูปธรรม สิ่งที่ว่าเพราะสมอง สมองมันเป็นศูนย์ประสาท ความคิดมันมาจากใจ ความคิดนี้มันมาจากใจ เพราะถ้าภาวนามยปัญญาจะเห็นความคิดออกมาจากใจ ในเมื่อความคิดออกมาจากสมองนี่มันเป็นสัญญา มันเป็นข้อมูล อย่างเด็กนี่เกิดมาไม่รู้อะไรเลย เราจะบอกเขาว่านี่สี แสง อย่างนั้น เขาจะจำข้อมูลไว้อย่างนั้น พอเขาเห็นสีอย่างนั้น เขาจะนึกออกว่าเป็นสี แสงอย่างนั้น เห็นไหม นี่มันเป็นสัญญา สมองมันเป็นเรื่องของสัญญา เป็นเรื่องของการจดจำไว้

ขณะที่ว่า การทรมานตนมันทรมานได้เท่านี้เอง มันไม่ได้ไปทรมานกิเลสไง แล้วกิเลสในหัวใจ ถ้ายิ่งตายไปมันยิ่งชอบใจ ชอบใจเพราะว่าไม่ได้ชำระกิเลส เห็นไหม ก็ต้องไปเกิดอีก ก็อยู่ใต้กฎของมาร แต่นี้เพราะสร้างบุญญาธิการ ฉันอาหารของนางสุชาดา ฟื้นขึ้นมา ฟื้นร่างกายขึ้นมา แล้วระลึกถึงที่นั่งที่โคนต้นหว้านั่น นั่นอานาปานสติ เห็นไหม คำว่า “อานาปานสติ” กำหนดลมหายใจเข้าและลมหายใจออก กำหนดดูลมพร้อมกับมีสติสัมปชัญญะ จิตเริ่มสงบเข้ามา จิตเริ่มสงบเข้ามานะ

แต่ขณะที่อยู่กับอาฬารดาบส ได้สมาบัติ ๘ สมาบัติ ๘ นะ เราเข้าสมาบัติ ๘ แล้ว ตั้งแต่ปฐมฌาน ทุติยฌาน...จตุตถฌาน ขึ้นมา รูปฌาน อรูปฌาน มันมีกำลังนะ จิตที่เข้าสมาบัติน่ะมันมีกำลัง ขนาดฤๅษีชีไพรในสมัยพุทธกาลเหาะเหินเดินฟ้าได้ สิ่งที่เป็นพลังอย่างนี้มันทำให้ถือตน มันทำให้ถือตนว่าเรามีกำลัง เราเป็นผู้วิเศษ ถ้าเป็นฌาน เป็นสมาบัติ พลังของจิตมันออกไปอย่างนั้น แล้วถ้าไม่มีสติ ไม่ปัญญา ไม่มีสติ ไม่ควบคุม มันจะเป็นความส่งออก

ถ้าเป็นอานาปานสติ เห็นไหม อานาปานสติ ศีล สมาธิ ปัญญา คำว่า สมาธิ กับฌาน กับสมาบัติต่างกัน ต่างกันด้วยคุณสมบัติ แต่ถ้าพูดถึงคนมีอำนาจวาสนา สิ่งนี้เอามาใช้ได้ถ้ามีสติควบคุมนะ ถ้ามีสติควบคุม จิตเข้ามา อานาปานสติ จิตสงบเข้ามา จิตสงบเข้ามา นี่จิตสงบถึงฐาน จิตสงบถึงฐานแล้วกำหนดออกดู บุพเพนิวาสานุสติญาณ ย้อนไป ข้อมูลนี่ไปดูที่ไหน

เราไปค้นคว้ากันนะ นักวิทยาศาสตร์ค้นคว้าสสารทุกอย่าง เราพยายามทำวิจัยให้เป็นรูปธรรมขึ้นมาต่างๆ แต่เราไม่ได้ค้นคว้าที่ใจ กิเลสมันอยู่ที่ใจ บุพเพนิวาสานุสติญาณ การระลึกอดีตชาติไม่มีต้นไม่มีปลาย ไม่มีต้นไม่มีปลายเราไปค้นคว้ากันที่ไหน นักวิทยาศาสตร์เขาไปทดลองกันในอวกาศ ทดลองสิ่งต่างๆ แต่ในหัวใจไม่มีใครทดลอง ในหัวใจไม่มีใครเคยเห็น ในหัวใจไม่มีใครเคยประสบไง สิ่งที่ไม่เคยประสบ นี่ธรรมะมันละเอียดอย่างนี้

แต่เวลาเราคิดกัน เราคิดกันด้วยสมอง คิดด้วยขันธ์ มันเป็นความฉลาดในความโง่ไง แต่ถ้าความฉลาดอย่างนี้ นี่ย้อนไปในอดีต มันสิ่งนี้...ด้วยบุญญาธิการขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ขณะที่สัมผัส เห็นอดีตชาติไปเรื่อยๆ ตั้งแต่พระเวสสันดรถอยกลับไปเลย สิ่งนี้ไม่ใช่ ไม่ใช่เพราะอะไร เพราะมันรู้ออกไป มันรู้ไปหมด แล้วสลดสังเวชด้วย นี่ย้อนกลับมา จุตูปปาตญาณ สัตว์เกิดหมด อดีต อนาคต

อาสวักขยญาณ เข้ามาชำระกิเลส ชำระกิเลส นี่มรรคญาณเกิดอย่างนี้ ปัญญาเกิดอย่างนี้ ภาวนามยปัญญาเกิดอย่างนี้ ถ้าเกิดอย่างนี้ ชำระกิเลสแล้วนี่ รู้แจ้งโลกนอกโลกใน โลกในมันโดนปิดกั้นไว้ด้วยอวิชชา โลกในมันโดนสิ่งที่มารอยู่ที่นี่ อยู่ที่ภาวสวะ อยู่ที่จิต ควบคุมที่นี่เพราะจิตตัวเกิดตัวตายไง จิตตัวเกิดตัวตาย ถ้าเข้าใจสภาวะแบบนี้ ปัญญาอย่างนี้เป็นปัญญาการชำระกิเลส ไม่ใช่ปัญญาในกิเลส ปัญญาในความโง่

ปัญญาโดยธรรม ถ้าจิตสงบเข้ามา เราต้องทำความสงบของใจ ถ้าใจมันจะสงบ สงบอย่างไร ถ้าใจไม่สงบนะ มันอยู่ใต้ความโง่ทั้งหมด ปัญญาที่เราคิดกันอยู่นี่โง่มาก เพราะเอาตัวรอดไม่ได้ไง เราคิดขนาดไหน เราใช้ปัญญาขนาดไหน มันเป็นโลกียปัญญา สิ่งที่เราใช้อานาปานสติ หรือกำหนดลม กำหนดพุทโธๆ เรากำหนดเพื่ออะไร

ถ้าไม่มีสมาธินะ มันไม่เป็นโลกุตตรปัญญา ถ้าไม่เป็นโลกุตตรปัญญา มันเป็นปัญญาในความโง่ นี่คิดว่าตัวเองฉลาดนะ เพราะอะไร เพราะถ้าเราค้นคว้าเอง เราอยู่กับนักปราชญ์ เรามีศาสดา เรามีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปค้นคว้ามาแล้ววางเป็นธรรมและวินัยไว้ แล้วชาวพุทธเราปัจจุบันนี้เอาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเป็นต้นแบบ แล้วก็ศึกษากัน

ในการประพฤติปฏิบัติยิ่งน่าสังเวชเข้าไปใหญ่ ในการประพฤติปฏิบัติ ประพฤติปฏิบัติกันเป็นเรื่องโลกๆ เรื่องโลกๆ ก็เอามาวิเคราะห์วิจัย ในการประพฤติปฏิบัติ ประพฤติปฏิบัติเป็นพิธีกรรมก็เป็นโลก เป็นโลกมันก็เรื่องของร่างกาย ไม่ใช่เรื่องของจิตใจเลย “แล้วบอกมันไม่ใช่เรื่องของจิตใจได้อย่างไร ก็ปฏิบัติอยู่”...ก็ปฏิบัติโดยกิเลส ปฏิบัติโดยโลก ปฏิบัติโดยความโง่ของตัวไง

ถ้าปฏิบัติโดยความจริงของตัว ดูสิ รถ ถ้าเราขับมา รถเราขับมา มันอยู่ในเกียร์ใช่ไหม ถ้าเราจอดนะ เราจอดแล้วเราปลดเกียร์ว่าง เวลาเราติดเครื่อง ขณะที่ติดเครื่อง ถ้าเกียร์มันคาอยู่ เราติดเครื่อง รถจะพุ่งออกไปเลย

นี่ก็เหมือนกัน โดยสัญชาตญาณของมนุษย์ โดยอำนาจวาสนา ความคิดของเรามันติด คนเราตั้งแต่เกิดนะ ติดเครื่องแล้วไม่เคยดับเลย ความคิดนี่ทุกข์มาก ทุกข์ เราทุกข์กับความคิดเรา ความคิด เห็นไหม ตั้งแต่เราตื่นนอนขึ้นมาจนหลับ มันก็แบกไว้ตลอด ถ้าหลับลึกมันก็ไม่ฝัน ถ้าหลับไม่ลึกมันก็ยังฝันอีกนะ แม้แต่หลับมันก็ยังคิดได้เลย นี่ความคิดในหัวใจมันจะมีสิ่งนี้มาตลอดไป เห็นไหม สิ่งนี้เราไม่เคยดับ

ฉะนั้น ถ้าเรากำหนดพุทโธๆ มันเคยคิดอย่างนี้แล้วเราก็เปลี่ยนความคิดมา คำว่า “คิดพุทโธ” นี้มาจากไหน? มาจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะอานาปานสติที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากำหนดมาตั้งแต่เริ่มต้นจะเข้าบุพเพนิวาสานุสติญาณ สิ่งถ้าจิตมันไม่สงบ มันเข้าถึงฐานข้อมูลของตัวเองไม่ได้ ถ้ามันเข้าฐานข้อมูลของตัวเองไม่ได้ มันจะไม่รู้อะไร แล้วจะไม่เห็นอะไรเลย แล้วในการปฏิบัติในปัจจุบันนี้มันไม่ได้ทำตรงนี้ ไม่ได้ทำตรงนี้มันก็ทำไปเป็นพิธีกรรม เพราะทำตามธรรมและวินัยด้วยสมองของเรา ด้วยคิดว่าเรานี่ฉลาด

พวกเรานี่ฉลาด เดี๋ยวนี้มีการศึกษา สังคมนี้เจริญมาก ในเมื่อมีการศึกษาแล้วนี่ เราเป็นปัญญาชน เราเป็นปัญญาชนเราก็ต้องวิเคราะห์วิจัยเรื่องของเรา ปัญญาคือความคิดนี้ไง ปัญญาก็คือความรู้สึก ความที่เราสามารถวิจัยเรื่องศาสนา เห็นไหม สามารถนะ สามารถขนาดที่ว่าแต่ง สามารถแต่งเป็นตำรับตำราออกมาให้คนประพฤติปฏิบัติตามนะ แต่ตัวเองทำอะไรได้ เห็นไหม นี่มันฉลาด ฉลาดเอาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา แต่โง่กับตัวเองไง โง่กับตัวเอง เพราะตัวเองไม่ได้รู้สิ่งใดเลย ไม่เคยเห็นสิ่งใดๆ เลย ถ้าเห็นสิ่งใดๆ จะพูดอย่างนี้ไม่ได้ จะทำอย่างนี้ไม่ได้ เพราะมันไม่ใช่เรื่องของนามธรรม

ถ้าเรื่องของนาม เพราะการชำระกิเลสนี้เป็นนามธรรมนะ เพราะใจเป็นนามธรรม...สิ่งที่เราเคลื่อนไหวกันไปในการประพฤติปฏิบัติ มันจะต้องเข้ามาถึงศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าเกิดปัญญาขึ้นมา ปัญญาจะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ถ้าปัญญาการชำระกิเลส นี่จิตมันจะไปเห็นกาย เวทนา จิต ธรรม ได้อย่างไร? “กรรมฐาน ๔๐ ห้อง” กรรมฐาน ๔๐ ห้อง ให้ทุกคนมีโอกาส ให้ทุกคน เห็นไหม จริตของมนุษย์ต่างๆ กันไป

ถ้าจริตของคนต่างๆ กันไป อยู่ที่การกระทำ ถ้าคำบริกรรมกำหนดพุทโธ กำหนดธัมโม สังโฆ ให้มีคำบริกรรม เพราะขณะที่จิตนี่ เวลารถที่มันติดเครื่องมา เราต้องดับเครื่อง เราดับเครื่อง หรือเราปลดเกียร์ว่าง ถ้าเราดับเครื่อง เราปลดเกียร์ว่างได้นะ สิ่งนี้มันจะเข้าเป็นสมาธิ ถ้ามีเกียร์ว่าง ถ้ารถไม่ได้ปลดเกียร์ว่าง รถนี้ใช้ไม่ได้หรอก รถนี้อยู่ในเกียร์ ติดเครื่องก็ไม่ได้ ขับเคลื่อนก็ไม่ได้ ทำสิ่งต่างๆ ก็ไม่ได้

ถ้าเรามีเกียร์ว่าง จอดเราก็เกียร์ว่าง เวลาออก ติดเครื่องเราก็ปลดเกียร์ว่าง เราก็ติดเครื่องแล้วออกไป ขณะที่ออกไปก็ต้องเข้าเกียร์ด้วย ถ้าไม่ได้เข้าเกียร์ก็ไปไม่ได้ เห็นไหม ความคิดเริ่มต้น ความคิดของปุถุชน ความคิดเริ่มต้น ความคิดที่เป็นความคิดอยู่นี่ให้ผลเป็นทุกข์ เราต้องหยุดความคิด การหยุดความคิดนี่ใช้คำบริกรรมก็ได้ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิก็ได้ ทำสิ่งต่างๆ อย่างไรก็ได้ให้เข้ามาที่เกียร์ว่าง ให้เข้ามาที่เกียร์ว่างนะ เข้ามาถึงตัวจริงของใจ ถ้าเข้ามาถึงตัวจริงของใจ แล้วเราเข้าเกียร์ ถ้าเราเข้าเกียร์นะ รถจะเคลื่อนที่ได้ ถ้าเราไม่ได้เข้าเกียร์นะ รถจะเคลื่อนที่ไม่ได้ รถเคลื่อนที่ไปไม่ได้หรอก

ที่ประพฤติปฏิบัติกันอยู่ในปัจจุบันนี้ แค่ปลดให้เกียร์ว่างไง มันโดยสัญชาตญาณของมนุษย์ มันโดยสัญชาตญาณนะ ดูสิ ดูเวลาเทวดา อินทร์ พรหม เรื่องเทวดานี่ยังมีความสัมพันธ์ มีความสัมพันธ์กับพระนะ พระในการประพฤติปฏิบัติ เทวดามาอุปัฏฐาก เทวดานี่มี แต่ในเมื่อคนที่ไม่เคยปฏิบัติ คนที่ไม่เคยเข้าถึงเกียร์ว่างจะเห็นสิ่งนี้ไม่ได้ แล้วจะไม่เชื่อสิ่งนี้ ถ้าไม่เชื่อสิ่งนี้ เห็นไหม เราก็ว่าเราฉลาดนัก เราไม่เชื่อสิ่งใดๆ เลย เราจะเชื่อสิ่งที่พิสูจน์ได้

สิ่งที่พิสูจน์ได้นี่กิเลสมันพาพิสูจน์ ถ้ามีกิเลสอยู่นี่ พิสูจน์สิ่งใดๆ ไม่ได้เลย เพราะอะไร เพราะสิ่งที่มีกิเลส ตัณหาความทะยานอยากมันไม่เป็นปัจจุบัน มันไม่เป็นสัจจะความจริง มันเป็นอดีตอนาคต เราคาดการณ์ เราเสียใจกับสิ่งที่ผ่านมา นี่สิ่งนี้เป็นตัณหา ถ้าตัณหาคือกิเลส ถ้ามันปิดบังอยู่ เราถึงไม่เป็นสัจจะความจริง

แต่ขณะที่เราทำความเป็นปัจจุบัน นี่ปลดเกียร์ว่างได้ ถ้าเป็นปัจจุบัน การที่ปัจจุบัน สิ่งใดสิ่งหนึ่ง สิ่งที่เป็นอนิจจัง สิ่งต่างๆ เป็นสิ่งอนิจจัง สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สภาวธรรมนี้เป็นอนัตตา

สภาวธรรมที่เป็นวิธีการนี่เป็นอนัตตา แต่สภาวธรรมที่เป็นผล เป็นอกุปปธรรม เป็นอกุปปธรรมนะ “อกุปปธรรม” ถ้าว่าเป็นอัตตา อัตตานี่ อัตตาต้องถึงที่สุด ถ้าอัตตามันเป็นตัวตน คำว่า “อัตตา” มันเป็นเรื่องของกิเลส แต่ถ้าคำว่า “มีอยู่” อย่างนี้มันไม่เป็นกิเลส เห็นไหม สิ่งมันมีอยู่ พอความมีอยู่ สิ่งใดมีอยู่ สิ่งนั้นมันแปรสภาพ สิ่งใดมีอยู่ สิ่งนั้นคงที่ไม่ได้

ถ้าเป็นอกุปปธรรม เริ่มต้นตั้งแต่เป็นโสดาบันขึ้นมา มันพัฒนาการได้ เป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไปจนถึงที่สุด ถึงที่สุดพัฒนาการไม่ได้ สิ่งที่พัฒนาการไม่ได้เพราะมันทำกระบวนการสิ้นสุดถึงบุคคล ๘ จำพวก มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ สิ่งนั้นถึงที่สุด สิ่งที่ถึงที่สุดมาจากไหนล่ะ? มาจากธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง แต่เวลาเราประพฤติปฏิบัติมาจากไหน? ก็มาจากการตีความของเรา มาจากความเห็นของมาร

เวลามารบอก พยายามดลใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “ไม่ให้เผยแผ่ ไม่ให้รื้อสัตว์ขนสัตว์” สิ่งที่ไม่ให้รื้อสัตว์ขนสัตว์เพราะอะไร เพราะถ้าไม่ได้รื้อสัตว์ขนสัตว์ สัตว์นั้นก็เป็นเรือน หัวใจ ภวาสวะเป็นที่อยู่ของมาร มารจะไปอยู่ที่ไหน? มารก็ไปอยู่ในหัวใจของสัตว์โลก สิ่งนี้เป็นบ้านเป็นเรือนของเขา แล้วบ้านเรือนของเขาถูกทำลาย เขาจะยอมได้อย่างไร เห็นไหม มารดลใจไง แล้วเวลาเราปฏิบัติ ปฏิบัติอยู่ในในมาร มารก็คือความโง่

“ฉลาดในโง่” ถ้าฉลาดในโง่มันก็ยังครอบงำจิตเราอยู่อย่างนี้ แต่ถ้าเราฉลาดในสัจจะความจริง เราจะต้องประพฤติปฏิบัติให้เป็นสันทิฏฐิโก ให้เป็นความจริงจากหัวใจ ถ้าเป็นความจริงจากหัวใจจะไม่ถามใครเลย ถ้าเป็นสมาธิธรรมนะ “ว่างๆ จิตอย่างนี้เป็นสมาธิหรือยัง” สิ่งนี้มันไม่ใช่ความจริงเลย แต่ถ้า “มันเป็นอย่างนี้ มันเป็นอย่างนี้” นี่เข้าถึงสัจจะความจริง ถ้าเข้าถึงสมาธิ เข้าถึงฐาน เข้าถึงใจของตัวเอง เข้าถึงเห็นไหม

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเริ่มอานาปานสติ บุพเพนิวาสานุสติญาณนี่มันคืออะไร ถ้าพูดถึงนะ มันเป็นข้อมูลในหัวใจ ถ้ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ขันธ์ ๕ มันเป็นอาการของใจ มันไม่ใช่ใจ ถ้าความคิดของเรายังเป็นความคิด ความปรุง ความแต่ง มันจะไปรู้ข้อมูลในหัวใจได้อย่างไร ในเมื่อมันเป็นอาการของใจ มันอยู่วงนอก มันอยู่รอบนอกของจิต มันไม่ใช่ตัวจิต

แต่ถ้าเวลาจิตมันสงบเข้าไป มันผ่านจากรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เข้าไปที่ตัวจิต เข้าไปที่จิต จิตคืออะไร? จิตคือธาตุรู้ ฐีติจิต จิตเวลาอานาปานสติ อัปปนาสมาธิถึงจะลงถึงฐานของจิต ถ้าลงถึงฐานของจิต เวลาจิตมันสงบมากขนาดนั้นมันวิปัสสนาได้ไหม มันทำงานได้ไหม? มันทำงานไม่ได้ ถ้าเป็นอุปจารสมาธิ สิ่งนี้มันทำงานได้ ถ้ามันทำงานได้ ออกทำงาน

การทำงาน คนเราจบการศึกษามา ถ้าไม่มีงานทำ ตกงาน จิตก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันสงบแล้วเราไม่ออกวิปัสสนา มันก็ตกงาน พอคนตกงาน จิตมันไม่ได้ทำงาน มันก็เสื่อมไป เสื่อมไป นี่สมาธิมันถึงเสื่อมไป เสื่อมไป

สมาธิ ถ้าทำขนาดไหนนี่น้ำล้นแก้ว อยู่ได้แค่นั้น ไม่มากกว่านั้น แต่ถ้าไม่มีสมาธิ ความคิดของเรามันก็เป็นความคิดในโง่เรา “ฉลาดในโง่” ถ้าฉลาดในโง่ มันเอาตัวไม่รอดหรอก มันอยู่สภาวะแบบนั้น ปฏิบัติไปมันก็เป็นการปฏิบัติบูชา ถ้าว่าปฏิบัติได้บุญไหม? ได้บุญนะ การปฏิบัตินี่ปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ถ้าพูดว่าผลล่ะ วิธีการน่ะ วิธีการกับผลมันต่างกัน

ถ้าถึงผลนะ ผลก็ต้องจิตดวงนั้นเป็นสันทิฏฐิโก จิตดวงนั้นต้องเป็นปัจจัตตัง ถ้าจิตดวงนั้นเป็นปัจจัตตังจะไปถามหาใคร? จะไม่ถามหาใครเลยว่าจิตของเราเป็นอย่างไร สมาธิของเราเป็นอย่างไร เพราะสมาธิ สมาธินี้เป็นชื่อ แต่ความรู้สึกที่เป็นสมาธินี่หยาบละเอียดอย่างไร เราจะเห็นของเราเข้าไปเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป

ถ้าเห็นเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป เห็นไหม มันต้องมีความชำนาญ ชำนาญในวสีนะ คนเราประพฤติปฏิบัติ ดูแชมป์สิ ดูที่นักกีฬาเขาครองตำแหน่งได้นาน เขาขยันอะไร? เขาขยันฝึกซ้อมนะ คนที่มีวินัยกับตัวเอง คนที่หมั่นฝึกซ้อม ตำแหน่งของเขาจะอยู่กับเขานานมาก ขณะที่เราได้แชมป์ขึ้นมา แต่เราขี้เกียจ เราไม่ได้หมั่นฝึกซ้อมนะ เดี๋ยวก็ต้องมีผู้ชิงเอาไป

นี่ก็เหมือนกัน สมาธิอยู่กับเรา ความตั้งมั่นอยู่กับเรา อยู่ที่เราขยันหมั่นเพียร อยู่ที่เราตรวจสอบจิตของเราตลอดเวลา สติสำคัญมาก การประพฤติปฏิบัติต้องตั้งสติตลอดไป คำว่า “สติ” เราเผลอนะ ทุกคนนะเผลอได้ ความเผลอนี่มันโดยสัญชาตญาณ โดยจิตธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น เราก็ต้องพยายามฝึกของเราขึ้นมา

ทำไมเราต้องกำหนดพุทโธล่ะ ทำไมต้องตั้งสติตลอดไปล่ะ เห็นไหม เพราะอะไร เพราะมรรคนะ มรรคได้ ๒ องค์เลย ทั้งสติชอบ ทั้งสมาธิชอบ สตินี่สติชอบ แล้วสติไม่ชอบคืออะไร มิจฉาสติมีไหม? มี มีสติแต่เอาไปทำสิ่งที่ผิดพลาด เอาไปทำสิ่งที่ไม่ดี ดูสิ เขาทำโจรกรรมกันต่างๆ เขาคดโกงกัน เขาใช้สติไหม? เขาใคร่ครวญ เขาวางเผย เขาใช้ปัญญา ใช้สติมากกว่าเราอีก คิดจนขนาดเราคิดทันไม่ได้นะ เราคิดไม่ได้เลย นี่ฉลาดแกมโกง ฉลาดเป็นอย่างนั้น

ฉลาดในความโง่ ฉลาดเบียดเบียนตน เอาได้ประโยชน์มาจากไหน มากมายขนาดไหนก็แล้วแต่นะ นี่พยายามกอบโกยแต่กรรม พยายามกอบโกยแต่สิ่งที่ให้หัวใจเศร้าหมอง ขณะที่ได้ประโยชน์มานะ เราโกงเขามา ฉลาดแกมโกง เห็นไหม แกมโกงเบียดเบียนเขามา ทำลายคนอื่นมาเพื่อเอาประโยชน์ของตัว นี่มันทำลายเขา ทำลายเขาก็นึกว่าเราได้ประโยชน์นะ แต่ความจริงคือทำลายเรา

เพราะคนที่ทำลายคือใคร? ก็จิตเราไปทำลายเขา ในเมื่อจิตทำลายเขา จิตเราเป็นเจ้าทุกข์ เป็นผู้กระทำ กรรมก็ต้องอยู่ที่จิตสิ นี่เราคิดว่าเราได้ เห็นไหม ฉลาดแกมโกง สุดท้ายแล้วกรรมก็อยู่กับจิตนั้นหมดเลย กิเลสมันหายไปไหนก็ไม่รู้ เพราะมันคิด มันต้องการ มันปรารถนา มันเสพแล้ว มันทำแล้วก็จบ แต่ผู้ที่ไปรับกรรมก็คือใจ ใจตัวนี้ไปรับกรรม เห็นไหม เวลาเกิดไป สิ่งที่ได้มาได้แต่ผลเป็นทุกข์เลย

แต่ถ้าฉลาดในธรรมนะ เสียสละ เสียสละแบ่งปัน ความให้เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ นี่เป็นธรรมมาตลอดเลย สิ่งที่เป็นธรรมมาตลอดนะ ขนาดที่ว่าธรรมอย่างนี้ ธรรมเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ธรรมจากเรื่องของทาน มันก็เป็นเรื่องฉลาดในโง่นี่แหละ ฉลาดใต้อวิชชานี่แหละ แต่มันเป็นการส่งเสริม เห็นไหม เราต้องส่งเสริมตัวของเราเอง เราจะเติบใหญ่ขึ้นมาได้อย่างไร จิตมันจะเติบโตขึ้นมาได้อย่างไรถ้าเราไม่ได้ฝึกฝนมัน

แล้วเวลาฝึกฝนว่า “สิ่งนั้นก็ไม่เป็นประโยชน์ สิ่งนี้ก็ไม่เป็นประโยชน์ เราทำ เราภาวนาของเราไปเลย แล้วภาวนาแล้วเราก็ภาวนาให้วิปัสสนาไปเลย ความเป็นไป...” เห็นไหม ความคิดโง่ๆ อย่างนี้มี ในศาสนาก็มี...มันไม่น่ามีนะ เพราะอะไร เพราะพุทธเจ้าก็วางไว้โดยสัจจะความจริงอยู่แล้ว เพราะมันเป็นอวิชชา มันเป็นความคิดโง่ๆ เลย โง่ ๒ ชั้น ๓ ชั้นเลยนะ ยิ่งปัญญาชนเดี๋ยวนี้ปฏิบัติ โอ๋ย! สุดยอดมาก ปัญญานี้รู้หมด รู้ไปทุกเรื่องเลย แต่ไม่รู้จักจิตของตัวเอง ไม่รู้จักวิธีการทำของตัวเอง ไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับเรื่องมรรค

ถ้าไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเรื่องมรรค เห็นไหม “สุภัททะ เธออย่าถามให้มากเลย ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผลหรอก” ทั้งๆ ที่มรรคญาณ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในพระไตรปิฎกก็วางไว้โต้งๆ ทฤษฎีโต้งๆ เลย เปิดอ่านเมื่อไหร่ สดๆ ร้อนๆ เลย เห็นไหม จุดไฟเมื่อไหร่ ไฟติดเมื่อไหร่ ตั้งน้ำเมื่อไหร่ต้องเดือด

นี้เราก็บอก เราก็ว่าเราเห็นอยู่โต้งๆ ติดไฟแล้วเราก็คิดว่าติดไฟแล้ว ตั้งน้ำเราก็คิดว่าตั้งน้ำแล้ว เดือดเราก็คิดว่าเดือดแล้ว เห็นไหม มันไม่เป็นความจริงสักอย่าง จุดไฟมันก็ต้องมีเตาสิ ตั้งน้ำก็ต้องมีกาสิ แล้วกาน้ำเอาน้ำใส่ไปในกา แล้วจะตั้งน้ำที่ไหนล่ะ แล้วน้ำเดือดน้ำก็ร้อน เราได้ดื่ม เราได้กินน้ำร้อน เราได้ฉันน้ำร้อนมันก็มีความสุข ถ้ามันเป็นความสุข อะไรเป็นความสุข? ก็จิตมันได้สัมผัส นี่มันต้องมีการกระทำ ทฤษฎีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ถูกต้อง ถ้าผู้ที่ประพฤติปฏิบัติถูกต้อง

ทางวิชาการ เห็นไหม เราทำ เราพิสูจน์แล้วตรงกับวิชาการมันก็ถูกต้อง แต่วิชาการก็คือวิชาการ แล้วการกระทำของเรานี่ทำตามวิชาการ แต่ทำตามวิชาการด้วยความนึกคิด มันไม่ได้ทำตามวิชาการด้วยรูปธรรม เห็นไหม ด้วยรูปธรรมนะ รูปธรรมเพราะอะไร เพราะจิตสงบนะ

จิตนี้คืออะไร ความสงบอยู่นี้ที่ไหน เราทุกคนต้องถามเลย เราเกิดมามีกายกับใจ แล้วใจอยู่ไหน จับไปสิ มือ จับไป ความรู้สึกร่างกายนี่จับได้หมดเลย มันเป็นอะไรล่ะ แล้วใจอยู่ไหน แล้วเป็นประโยชน์อะไรล่ะ แต่ถ้ากำหนดสตินะ กำหนดคำบริกรรมพุทโธๆ เข้าไป ถ้าพุทโธๆ ถ้าคนตรงกับจริตนะ จิตมันจะเริ่มเริ่มละเอียดขึ้น ละเอียดขึ้น พุทโธๆๆ ไปเรื่อยนะ

แต่ถ้ากิเลสมันหลอกนะ คิดว่าฉลาดไง ฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ “พุทโธๆ ไปนะ แล้วพุทโธมันจะกลืนกับจิต มันจะเป็นเนื้อเดียวกัน เนื้อเดียวกันแล้วจะพุทโธไม่ได้ พุทโธมันจะหายไป แล้วมันก็จะเป็นสมาธิ” แล้วก็นั่งหลับ พุทโธๆ ไป เพราะพุทโธมีสติ แล้วพุทโธมันชัดเจนใช่ไหม ในความรู้สึกของผู้มีปัญญา เราก็ต้องให้มันอ่อน ให้มันจางลงๆ เราจะรีบเข้าสมาธิ แล้วก็นั่งหลับกันไปเลยไง

พุทโธแรงๆ พุทโธๆๆๆ ไปอย่างนี้ ถ้าจิตมันสงบเข้ามานี่สติจะพร้อม มันจะเข้ามาจากความรู้สึกนี่ชัดเจนมาก จิต อาการของจิต มันจะลง มันจะเหมือนตกจากที่สูง มันจะมีสิ่งอาการต่างๆ อาการต่างๆ มันจะเปลี่ยนจากปุถุชนไง ความคิดที่ว่ารถเรา เราขับรถมามันอยู่ในเกียร์ ถ้าเราจะปลดเกียร์ว่าง ขณะที่เราปลดเกียร์ว่างนะ เราเหยียบคันเร่ง เครื่องมันจะเร่ง แต่มันไม่ส่งกำลังไปที่เพลา เพราะอะไร เพราะมันปลดเกียร์ว่าง

นี่ก็เหมือนกัน เวลาจิตถ้ามันลงจากที่สูง มันจะวูบ เราคิดว่าสิ่งนี้เป็นโทษนะ เราคิดว่าสิ่งนี้เป็นโทษ เวลามันวูบมันไหวไป “โอ๋ย นี่มันหยาบแล้ว มันจะออกแล้ว มันต้องหลับ นอนหลับโดยไม่มีสิ่งอะไรกระทบกระเทือนเลย” มันเหมือนกับรถในเกียร์ใช่ไหม เรากำลังอยู่ในเกียร์ เราเหยียบคันเร่ง พอเหยียบคันเร่งปั๊บ มันก็ให้ส่งกำลังไปที่เพลา ไปที่ล้อ รถมันก็วิ่งออกไป เห็นไหม นี่มันเป็นธรรมดา มันเป็นเรื่องธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ โดยสัจจะความจริง

แต่ถ้าเราปลดเกียร์ว่าง เราเหยียบคันเร่ง เครื่องจะเร่ง มีกำลังมา แต่กำลังจะไม่ถ่ายทอดมา เพราะมันตัดกัน เห็นไหม ขณะที่จิตมันเริ่มพุทโธๆๆ ไป แล้วมันมีอาการ จะวูบวาบอย่างไร จะตกจากที่สูงอย่างไร ปล่อยให้มันเป็นไป ปล่อยนะ ปล่อยอาการ เพราะจิตมันจะเปลี่ยนแปลง ความที่จิตเปลี่ยนแปลง จิตเป็นสมาธิ ปุถุชนคือความคิดปกติ ความคิดของโลกียะ กับถ้ามันจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นจิตโดยธรรมชาติ จิตที่ไม่มีความคิดไง

ถ้าสมาธิ จิตที่มันไม่มีความคิดของมัน มันเป็นเนื้อของจิต ถ้าเป็นเนื้อของจิตมันก็เหมือนเกียร์ว่าง มันจะมีอาการอย่างไรก็แล้วแต่เราตั้งสติไว้ คำบริกรรมมีประโยชน์ตรงนี้ ตรงขณะที่ว่าพอมันเหยียบคันเร่งไป มันไม่มีเครื่องเร่งขึ้นมา แต่ไม่มีการขับถ่าย เราตกใจไง พอเราตกใจเราก็มีอาการต่างๆ นี่ตกใจแล้วไปไหน? มันก็ออกไง ออกมาก็เป็นปกติ เราตกใจเราก็ใส่เกียร์เข้าไป มันก็มีกำลัง ก็ถ่ายทอดตลอดไป

ถ้าเรามีพุทโธๆ อยู่ พอมันมีอาการต่างๆ เราอยู่กับพุทโธไว้ ถ้าเหยียบคันเร่งไป มันไม่มีกำลัง เราก็เหยียบไปมันไม่มีกำลัง อ้าว! ไม่มีกำลังเพราะมันว่างไง มันเป็นเกียร์ว่าง รถเราจะจอดให้สนิท จิตมันจะลง นี่ถ้ามีสติ ถ้ามีปฏิกิริยา แม้แต่สมาธิมันก็มีการเข้าสมาธิออกสมาธิ ถ้าเข้าไม่เป็นออกไม่เป็น มันก็ทำสมาธิไม่ได้ ขณะที่เข้าสมาธิมันยังมีเหตุมีผลของขั้นของสมาธิเลย

แล้วถ้าทำกำหนดอย่างไรก็แล้วแต่ จิตมันลงนะ ลงขนาดไหน จากขณิกะ อุปจาระ แล้วถ้าเกิดนิมิต เกิดความเห็นต่างๆ มันก็อยู่ที่จิต จิตของคนสร้างสมบุญญาธิการมาไม่เหมือนกัน ถ้าเห็นสิ่งต่างๆ ขึ้นมา ความเห็นนั้นไม่จริง...เห็นน่ะจริง เราเห็นจริงๆ แต่ความเห็นนั้นไม่จริง เพราะเรายังฉลาดในโง่อยู่ เรายังมีกิเลสอยู่ เรายังมีกิเลสตัณหาความทะยานอยากอยู่ สิ่งที่เห็น เราผ่าน เราปล่อยวางผ่านเข้าไป ผ่านเข้าไป จิตมันก็จะละเอียดเข้าไป

เห็นนิมิต เห็นต่างๆ ถ้าเห็นนะ เราปล่อยให้หมด ถ้าไม่ปล่อยนะ เพราะเราเห็นสิ่งต่างๆ ผู้วิเศษเกิดนะ ถ้าผู้วิเศษ เราเป็นผู้วิเศษแล้ว เราได้เห็นต่างๆ เราเห็นอดีตอนาคตแล้ว นี่กิเลสมันสวมรอยเลย โง่ ๒ ชั้น ๓ ชั้น ทำมานะ หาทุนต้นมา ลงทุนลงแรงมหาศาลเลย แล้วก็ปล่อยให้มันไม่มีผลตอบแทน แต่ถ้าเราผ่าน นิมิตต่างๆ ก็ผ่าน สิ่งนี้วางไว้ รู้แล้วปล่อย รู้แล้ววางไว้ รู้แล้ววาง จิตมันจะละเอียดเข้าไป ละเอียดเข้าไป

ถ้ามันสงบขนาดไหน นั่นล่ะตัวจิต ถ้าจิตมันสงบเข้ามา เห็นไหม นี่ตัวจิต แล้วจิตนี่ จิตเราก็พยายามตั้งสติ เรากำหนดอย่างไร เราทำอย่างไร จิตของเราถึงได้มาเป็นสภาวะแบบนี้ นี่เป็นตัวฐาน ตัวเหตุตัวนี้ทำเข้ามา ถ้าเราไปอยู่ที่เหตุ รักษาเหตุไว้ ผลเกิดเอง

ไฟ เราพยายามรักษาไฟไว้ ถ้าความร้อนมันมี ทำอาหารก็ได้ จะต้มน้ำก็ได้ จะทำสิ่งใดๆ ก็ได้ ไฟในเตานะ อย่าให้มันลุกลามไปเผาบ้านเผาเรือน เห็นไหม นี่สติควบคุม ควบคุม ควบคุม ถ้ามันเผาบ้านเผาเรือนมันก็สงสัยไปหมด “นั่นเป็นอย่างนั้น นี่เป็นอย่างนี้” พิสูจน์ไป เราตั้งเตา เรารักษาไฟของเรา เราพิสูจน์

พอทำบ่อยครั้งเข้า ความชำนาญเกิดขึ้นมา เห็นไหม สมาธิเข้าง่าย ชำนาญในวสี ถ้าเราชำนาญในสมาธิ เรามีต้นทุน แล้วน้อมไป น้อมไปเห็นกาย เวทนา จิต ธรรม เพราะมีตัวสมาธิมาเป็นตัวฐาน ความคิดของเรามันก็ไม่โง่ไง ถ้าไม่มีตัวฐาน ความคิดมันโง่เพราะมีตัณหา เพราะมีตัวตน เพราะมีเราคาดหมาย เห็นกายก็เห็นเป็นโดยสัญญา เห็นสิ่งต่างๆ ก็เห็นด้วยสัญญา ด้วยว่านี่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องเห็นอย่างนี้ เราก็พยายามจะให้เห็น แล้วเห็นขึ้นมาก็เห็นโดยข้อมูลของใจ เห็นโดยข้อมูลของความโง่ ถ้าเห็นโดยข้อมูลของความโง่ นี่มันไม่สะเทือนหัวใจ

ถ้าเห็นโดยธรรมนะ ถ้าน้อมไปเห็นกาย ขนพองสยองเกล้า เพราะอะไร เพราะมันกระเทือน จิตใต้สำนึก จิตใต้สำนึกโดยสัญชาตญาณนี่ยึดหมด ยึดทุกอย่างเลย เห็นผิดหมด กิเลสพาให้ใจเห็นผิดหมดเลย แล้วถ้าจะให้เห็นถูก ถ้าเห็นถูกก็ต้องเข้าไปรื้อความเห็นผิดอันนี้

ถ้าความเห็นผิดมันจะเห็นอะไร? มันก็ต้องเห็นกาย เห็นกายมันก็สะเทือนถึงกิเลส สะเทือนนะ ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้วิภาคเลย มันจะสะเทือนกิเลสมาก เพราะมันไม่เคยเห็นของมัน เราไม่เคยเห็นโทษของเรา อย่างเช่นสมมุติว่า ถ้าเราว่าเราเป็นโรคร้าย แล้วจะต้องตายในวันสองวันนี้ เราจะตกใจมาก แต่ถ้าเขาบอกเรายังอยู่อีกชาติ อีกสิบชาติ ร้อยชาติ เราจะนอนจมกับเวลาเลย

นี่ก็เหมือนกัน พอเราไปเห็นกิเลส เห็นไหม ก็เราเห็นโรคไง มันรู้จักว่าเราเป็นโรคอะไร เราจะชำระกิเลสอย่างไร มันถึงสะเทือนใจไง มันสะเทือนใจเพราะเราไปเห็นโทษ พอเห็นโทษ ถ้ามีอำนาจวาสนา เห็นไหม มันวิภาค อุคคหนิมิต วิภาคะ ขยายส่วน นี่คือวิปัสสนา วิปัสสนามันเกิดตรงนี้ มันเกิดอย่างนี้ ไม่ใช่คิดเอา นึกเอา พยายามคิดเอา จินตนาการเอา แล้วบอกว่า...เห็นไหม นี่มันฉลาดในโง่นะน่ะ “สิ่งนี้เป็นวิปัสสนา ว่าวิปัสสนา...”

แต่ถ้ามันเข้าไปเห็นสัจจะความจริง วิปัสสนามันเกิดตรงวิภาคะ มันแยกส่วนขยายส่วน นี่คือวิปัสสนา แล้วแยกบ่อยครั้งๆ บ่อยครั้งเข้า การแยกครั้งหนึ่งลงทุนลงแรงมาก การตั้งสติ การจะทำพื้นฐานขึ้นมาให้จิตมันสงบเข้ามา พอจิตมีพื้นฐานสงบแล้วมันย้อนออกไปวิปัสสนาในกาย มันวิภาคะ แยกส่วน มันก็จะปล่อยๆ ปล่อยบ่อยครั้งเข้าๆ บ่อยครั้งนะ เพราะเป็นตทังคปหาน

คนเข้าใจผิดมากว่า มันต้องทำหนเดียว หนเดียวคือสมุจเฉท หนเดียวจริงๆ ขณะที่กิเลสขาดหนเดียว แต่ขณะที่มันยังไม่ขาด เพราะอะไร เพราะกิเลสมันแก่นกิเลส มันหลอกลวง มันซ่อนอยู่ในใจเรา มันพลิกแพลงตลอดนะ มันพลิกแพลงเอาตัวมันรอด เหมือนกับเราแข่งขันกีฬา มีคู่ต่อสู้ เขาต้องต่อสู้กันโดยสุดฤทธิ์เพราะอะไร เพราะมันต้องเอาชนะเอาแพ้กัน

นี่กิเลสกับธรรมในหัวใจ ถ้ามันเกิด เห็นไหม กิเลสกับธรรม ฟังสิ ถ้าฉลาดอันหนึ่งเป็นฉลาดโง่ ฉลาดใต้กิเลส ฉลาดอันหนึ่งเป็นฉลาดในธรรม ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่วางไว้ให้เราก้าวเดิน แล้วเราพยายามฝึกฝนขึ้นมา แล้วให้มันเป็นสัจจะความจริงขึ้นมา มันเป็นธรรมของเรา มันเป็นความเห็นของใจ ใจมันเห็นขึ้นมา ปัญญามันเกิดอย่างนี้

ถ้าจะพูดให้คนอื่นฟัง เขาจะไม่รับรู้อะไรกับเราเลย เว้นไว้แต่ครูบาอาจารย์ที่ผ่านแล้ว ครูบาอาจารย์ที่ผ่านแล้ว คนผ่านมานะ ถ้าเราไปเอ่ยการกระทำของเรากับครูบาอาจารย์ที่ผ่านแล้ว ท่านจะมองตาเลย เพราะอะไร เพราะสิ่งนี้มันหาได้ยาก มันไม่ใช่หาได้ง่ายๆ หรอก แก้วแหวนเงินทองมันหาได้ยาก ไอ้ก้อนกรวด ไอ้หินต่างๆ มีมหาศาลเลย แผ่นดินเหยียบตลอดเวลา

จิตที่มันจะพัฒนาการขึ้นมามันแสนยาก มันแสนยากนะ แต่ไม่สุดวิสัยของเราไง ไม่สุดวิสัยของมนุษย์หรอก ถ้าสุดวิสัย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่สอนหรอก ไม่สอนให้เราทำสิ่งที่ไม่มี...สิ่งนี้มีอยู่ แล้วประพฤติปฏิบัติได้ แล้วทำได้ นี่พยายาม พยายามเพราะเราเห็นผลไง มันปล่อยหนหนึ่งมันก็ว่างหนหนึ่ง ฆ่าแล้วฆ่าอีก ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่านะ

ถ้ายังมีจับได้ ยังมีเป็นภาระที่ทำได้ ทำบ่อยครั้งเข้า คาดบ่อยครั้งเข้า มันพอปล่อยหนหนึ่ง มันเหมือนกับสถานะ เรายึดที่นี่ แล้วเราวิปัสสนา วิภาคะ มันแยก มันทำลายมันไป แล้วใจเราจะอยู่ที่ไหนล่ะ? มันไม่มี พอไม่มีก็ปล่อย มันก็ฉลาดขึ้น เห็นไหม ที่ว่ามันโง่ๆ นี่มันฉลาดขึ้น ฉลาดขึ้นด้วยอะไร? ด้วยโลกุตตรปัญญา ปัญญาในการแก้ไขกิเลส จนฝึกซ้อมกันจนกิเลสมันเริ่มบอบช้ำ กิเลสที่มันว่ามันแก่นกิเลส มันยึดมั่นถือมั่นในหัวใจนี่ ยึดมั่นถือมั่นนะ

ธรรมะพูดกันปากเปียกปากแฉะนะ “กายไม่ใช่เรา นั่นก็ไม่ใช่เรา สิ่งนั้นสักแต่ว่า” สักแต่ว่ามันเป็นสักแต่ว่าของครูบาอาจารย์ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าถึงที่สุดแล้วนี่มันสักแต่ว่า แต่ถ้ามันเป็นเรา เราสักแต่ว่า มันสักแต่ว่าที่ปาก แต่จิตมันไม่สักแต่ว่าหรอก มันยึดมั่นถือมั่นของมัน มันไม่ยอมรับหรอก นี่เราพูดกันแต่ปาก แล้วเราก็พูดกันจนว่าฉลาด จนว่าเข้าใจไง เข้าใจสิ่งนี้ จนสังคมยอมรับ เออออกันไปหมดว่าสิ่งนี้เป็นธรรม

สิ่งนี้เป็นธรรมภาคปริยัติ สิ่งนี้เป็นธรรมภาคการศึกษา สิ่งนี้ไม่ใช่เป็นธรรมภาคปฏิบัติ สิ่งที่เป็นธรรมภาคปฏิบัติมันต้องเข้าไปรู้ เข้าไปทำลายกัน ซ้ำแล้วซ้ำเล่า พอมันขาดนะ กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ สักกายทิฏฐิ ๒๐ กายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย ทุกข์ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์เป็นทุกข์ต่างหาก ทุกข์เพราะอะไร? ทุกข์เพราะยึด

เราเอามือจับไฟสิ มือจับไฟนี่มันร้อน ร้อนมือพอง แล้วเรารู้ว่ามือจับไฟมันร้อน มือพองนี่ เราโง่จะไปจับไหม? เราไม่โง่ไปจับไฟหรอก เพราะจับเท่าไรมันก็ร้อนทุกที นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อมันเป็นทุกข์ มันยึดเมื่อไหร่มันก็ทุกข์ ถ้าไปจับแล้วมันก็ทุกข์ มันจะไปจับได้อย่างไร นี่ขณะวิปัสสนานะ แต่ถ้ามันขาดแล้วเอาอะไรไปจับ มันจับไม่ได้ มันสมุจเฉทปหานขาดออกไป สังโยชน์ ๓ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ไม่ลูบคลำในศีลนะ

คนเรานี่นะเห็นโอกาส เรามีโอกาสทำธุรกิจ แล้วเราทำแล้วเราได้เงินได้ทอง มันได้ผลประโยชน์มา เราอยากร่ำอยากรวยไหม ใครบ้างที่ไม่อยากร่ำอยากรวย อยากอย่างนี้อยากในธรรมนะ อยากในภาคปฏิบัติ เพราะการกระทำอย่างที่เราประสบมานี่ เราทำมาจากใจของเรา ใจของเราได้ปฏิบัติขึ้นมา มันเห็นผลขึ้นมา แล้วเราจะทำต่อไปมันต้องปฏิบัติอย่างนี้

นี่คนทำงานเป็น คนเรามีโอกาส แล้วเรามีตลาด เรามีทุกอย่างพร้อมเลย ทำไมมันจะไม่ก้าวเดิน ตลาดก็อยู่ที่ใจนี่ สติสัมปชัญญะก็อยู่ที่เรา ก้าวเดินต่อไปนะ ถ้าก้าวเดินต่อไป วิปัสสนาไป ยกขึ้น จะเห็นกายอีกชั้นหนึ่ง เห็นไหม พิจารณากายที่ว่า “กายๆ พิจารณากาย กายสักแต่ว่านี่” กายมันมีหลายชั้นนะ ถ้าวิปัสสนาขั้นต่อไป เอาอะไรไปวิปัสสนา ขณะที่มันปล่อยไปแล้ว เอาอะไรไปวิปัสสนาในเมื่อมันขาดไปแล้ว

เงินเรานี่เราใช้ไปแล้ว เราเอาเงิน เราแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งของมาแล้ว เงินเราหมดไปแล้ว นี่เหมือนกัน โสดาปัตติมรรคนะ เวลามันมรรคสามัคคี มรรคสามัคคีรวมตัว สมุจเฉทปหาน มรรคนี้หมด มรรคนี่โดนทำลาย เพราะตัวมรรค มรรคนี่เข้าไปทำลายสักกายทิฏฐิ เข้าไปทำลายกิเลส ขณะตัวมรรค ธรรมจักรเวลามันกลืนกินกัน มันทำลายตัวมันเอง

เหตุปจฺจโย เหตุ...อารมฺมณปจฺจโย สิ่งที่เป็นอภิธรรม สอนสิ่งที่สัจจะความจริง แต่มันต้องเป็นความจริงจากหัวใจ เห็นไหม มันมีเหตุมันมีผลของมัน แล้วจิตมันได้คายออกมาจากอริยสัจ สิ่งที่คายออกมาจากอริยสัจ เห็นไหม สิ่งที่คาย ความรู้สึกเหมือนกับพระอานนท์ เห็นไหม พระอานนท์เป็นพระโสดาบัน นี่ขั้นของโสดาบัน แล้วเราจะยกขึ้นไปต่อไปอย่างไร ยกขึ้นต่อไปต้องอาศัยจิต อาศัยสมาธิไง

ถ้าไม่มีสมาธิ จิตอยู่ไหน จิตเป็นสมาธิ สมาธิอยู่ที่ไหน? สมาธิอยู่ที่การบริกรรม สมาธิอยู่ที่เราใช้ปัญญาของเราเข้ามา ถ้าเราใช้ปัญญาของเราเข้ามา เรารวบรวมให้จิตเป็นสมาธิขึ้นมา แล้วจิตที่เป็นสมาธิน้อมไปในกาย น้อมไปในกายถ้าเห็นกาย การวิปัสสนาเริ่มต้น จากสักกายทิฏฐิ ให้มันวิภาคะแยกขยายส่วน มันจะแปรเป็นดิน มันจะพุ มันผุพอง มันจะโดนทำลาย โดนเผาทำลายขนาดไหน มันทำแล้วทำเล่า

ขณะที่เราไปเจอกายอีก เราวิปัสสนาเข้าไป ยกขึ้นไป ไปเห็นกายอีก แล้วเราวิปัสสนาซ้ำไป นี่มันเป็น ถ้าสิ่งต่างๆ มันความชำนาญของจิตมันมี แยกส่วนขยายส่วน เห็นไหม ขณะที่วิปัสสนาแยกส่วนขยายส่วน ดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ มันกลับคืนสู่ธรรมชาติเดิมของเขา สู่ธรรมชาติเดิมของเขา นี่บ่อยครั้งเข้า จิตมันโดนกระทำบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า มันก็ฉลาดขึ้นเรื่อยๆ

การฉลาดขึ้น การเห็นการกระทำมันเป็นความฉลาด วิปัสสนา เพราะการฝึกฝน การสอนจิตให้จิตมันมีความฉลาดขึ้น เพราะขณะที่เราวิปัสสนา ในเรื่องมาร มารมันอยู่ในใจ ระหว่างกิเลสกับธรรมที่มันต่อสู้กัน มันทำลายกัน มันจะโต้แย้งไปตลอด “สิ่งนี้เป็นธรรมแล้ว เวลาปล่อยว่างอย่างนี้เป็นธรรมแล้ว” มันสร้างอารมณ์นะ สร้างอารมณ์ความรู้สึกสิ่งนี้เกิดขึ้นมา

เราไม่เคยเจอนะ เราไม่เคยมีเงินมากๆ แล้วเรามีเงินมากๆ เราก็ไปเห็นผล ว่าเงินเท่านี้พอแล้ว...ไอ้เงินนี่พอแล้ว แต่มันก็ใช้จ่ายมันก็ใช้สอยไป มันก็หมดไป แล้วมันก็ต้องหาใหม่อยู่ตลอดไปใช่ไหม มันยังไม่คงที่ไง

แต่ถ้าเป็นเงินที่คงที่ เป็นอกุปปธรรมนะ มันแยกสลายขนาดไหนมันต้องมีเหตุมีผล ถ้าไม่มีเหตุมีผล ขณะจิตอยู่ที่ไหน ขณะที่เป็นไปอยู่ที่ไหน ขณะที่จิตมันสงบ ขณะที่มันทำลายกันมันอยู่ตรงไหน ถ้าไม่มีขณะจิต ไม่มีสมุจเฉทปหาน สิ่งนี้เป็นความจริงไปไม่ได้ สิ่งนี้อยู่ใต้กุปปธรรม คือเจริญแล้วเสื่อม สิ่งที่เจริญแล้วเสื่อม สมาธิเจริญแล้วเสื่อม ใช้ปัญญาแล้ว ปัญญาปล่อยวางขนาดไหน เดี๋ยวกิเลสมันยุบยอบลง เดี๋ยวกิเลสมันยืนตัวขึ้นมาได้นะ มันจะทำลายการกระทำของเราล้มลุกคลุกคลานเลย

ทุกข์ของโลกเขานะ ทุกข์ของโลกเขามันหน้าที่การงานของเขา ทุกข์ของผู้ที่ประพฤติปฏิบัตินะ เวลาประพฤติปฏิบัติมันต้องอดออม เทียบกำลัง กำลังของเรา กำลังของกิเลส ถ้ากิเลสมันมีกำลังนะ มันจะทำให้เราออกนอกลู่นอกทาง การเป็นอยู่มันจะขัดอกขัดใจไปหมดเลย แต่ถ้ามันมีสติ การขัดอกขัดใจมันก็เป็นเรื่องของกิเลสใช่ไหม แล้วการดำรงชีวิต พระเราผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ “ธุดงควัตร” การขัดเกลา ให้มีโอกาส ให้มีเวลาไง การดำรงชีวิตของเรา บิณฑบาตมาหนหนึ่งแล้วเราฉันของเรา เก็บหอมรอมริบ เห็นไหม ฉันแต่น้อย ฉันแต่พอประมาณ เพื่อไม่ให้กิเลสมันได้อาหารไปด้วย

เหมือนเชื้อโรคเลย เราเป็นโรคร้าย เรากินอาหารไป อาหารนี้ก็เป็นอาหารของเชื้อโรคด้วย นี่เหมือนกัน ถ้าเรากินอาหาร เราฉัน เราดำรงชีวิต ถ้าเราเราไม่มีสติ เราไม่ตัดทอน เห็นไหม เพราะธุดงควัตรมันเป็นสิ่งที่ว่าขัดเกลากิเลส มันเป็นการมักน้อย มันเป็นการสันโดษ มันมักน้อยไง มักน้อยฉันแต่พอควร สิ่งใดๆ ฉันแต่น้อย เพื่อจะไม่ให้สิ่งนี้ไปบำรุงกิเลสด้วย

ถ้าขัดเกลาอย่างนี้ขัดเกลากิเลส กำลังมันเริ่มอ่อนลง พยายามทอนกำลังของกิเลสด้วย แล้วเราก็ตั้งสติด้วย แล้วเราก็พยายามกำหนดคำบริกรรมด้วย ใช้ปัญญาอบรมสมาธิก็ได้ด้วย ถ้าขณะที่มันใช้ปัญญา บางคราวกำหนดแล้วมันกำหนดบ่อยครั้งเข้ามันฟั่นเฝือ เราก็ใช้ปัญญา ปัญญาอบรมสมาธิ ไม่ใช่ปัญญาฆ่ากิเลสนะ

ถ้าเป็นปัญญาฆ่ากิเลสมันต้องพร้อมด้วยมรรคไง ดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ งานชอบ งานในสมถะกับงานในวิปัสสนา ถ้าพูดโดยสัจจะความจริง สมถะกับวิปัสสนามันอยู่ในตัวเดียวกัน ในสมถะก็มีวิปัสสนา ในวิปัสสนาก็มีสมถะ เพราะอะไร เพราะถ้าในวิปัสสนาไม่มีสมาธิมันเป็นมรรคไปไม่ได้ ถ้าในสมถะไม่มีปัญญา มันไม่มีปัญญามันก็เป็นรู้ในโง่ ฉลาดในโง่ ถ้าฉลาดโดยธรรมมันก็เป็นธรรมขึ้นมา

แต่ขณะที่ประพฤติปฏิบัติมันถึงมีเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ ขณะที่เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติมันก็ต้องก้าวเดินให้ถูกต้อง ถ้าก้าวเดินถูกต้องมันก็เป็นธรรม ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เห็นไหม ไม่ต้องไปแสวงหา ไม่ต้องไปเรียกร้อง มันเป็นเอง มันเป็นของมันเอง เราสร้างแต่เหตุ เราทำแต่เหตุขึ้นมา ผลมันต้องสำเร็จเอง

หน้าที่ของเรา ปลูกต้นไม้ หน้าที่ของเรารดน้ำพรวนดิน รดน้ำ ดูแลใส่ปุ๋ย ต้นไม้มันจะเจริญงอกงามของมันขึ้นไปเอง เราไม่ได้รดน้ำพรวนดินเลย เวลาเสร็จแล้วจะเอาแต่ผล...ผลมันไม่ได้ออกที่โคนนะ ผลไม้มันออกที่ปลาย มันออกที่ปลายต้น มันออกที่กิ่ง มันไม่เคยออกที่โคนหรอก แต่เราก็ไปรดน้ำพรวนดิน แล้วก็จะเรียกร้องเอาตรงนั้น มันไม่มีหรอก มันเป็นไปไม่ได้

เหตุ เราสร้างเหตุ เรารักษาเหตุของเรา ทำรักษาเหตุ แล้วฝึกฝน เห็นไหม นี่ประสบการณ์ การประพฤติปฏิบัติมันเป็นประสบการณ์ตรงของจิต จิตถ้ามีการกระทำ มันเป็นงานชอบ มันมีงานชอบ มีการทดสอบ มีความเป็นไปของจริง มันเป็นภาคปฏิบัติไง ถ้าภาคปฏิบัติ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ปฏิเวธนี่ผลของการปฏิบัติ

แต่ถ้าเป็นปริยัติ ปฏิเวธของภาคปริยัติว่า “ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าศึกษา...” นี่ฉลาดในโง่ไง เพราะเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็ศึกษา...ใช่ ศึกษาจริงๆ ท่องจำได้หมดเลย แล้วก็สร้างอารมณ์ได้ด้วย สร้างอารมณ์ให้เหมือนไง สร้างอารมณ์ ทำไมจะสร้างไม่ได้ ดูสิ ดูวงการมายาเขา เขาสร้างได้ดีกว่าด้วย เราเขียนเรื่องขึ้นมา เขาสร้างได้ดีกว่าอีก สมจริงสมจังกว่าเยอะเลย

แล้วในใจของเรา เรื่องของใจมันมหัศจรรย์กว่านั้นนะ เราจะสร้างอะไรก็ได้ ดูสิ ดูสิ่งปลูกสร้าง ดูสิ่งต่างๆ ในโลกนี้มันมาจากไหน? มันมาจากใจของมนุษย์ ใจของผู้คิดค้นคว้า วิทยาศาสตร์ต่างๆ มาจากผู้ที่ค้นคว้าทั้งนั้นเลย สิ่งที่มีอยู่ในโลกนี้มนุษย์สร้างขึ้นมา มนุษย์หามา เพื่อประโยชน์การดำรงชีวิต เพื่อความสะดวกสบายของตัว นี่สิ่งนี้มันมี แล้วเวลามันเป็นเรื่องของเราเอง ทำไมมันจะสร้างไม่ได้ มันสร้างได้ทั้งนั้นล่ะ

ปริยัติ ปฏิเวธ มันก็เลยฉลาดในโง่ เพราะถ้าไม่มีปฏิบัติ แล้วถ้าปฏิบัติโดยโลก ปฏิบัติโดยกิเลส มันก็ลงรอยเดียวกัน สิ่งที่การประพฤติปฏิบัติ มันถึงว่า ถ้าเป็นสัจจะความจริงมันจะย้อนกลับมา มันจะสะเทือนกิเลส

ถ้าไม่รู้ มันจะเป็นครูเป็นอาจารย์เขาได้อย่างไร ครูบาอาจารย์นี่นะ ถ้าไม่รู้จริงนะ กลัวมาก กลัวลูกศิษย์ถามปัญหา ถ้าปัญหามันถามปัญหาขึ้นมา มันเหมือนกันเลย มันมีปัญหาขึ้นมา แล้วเราจะแก้เขาได้อย่างไร? แก้เขาไม่ได้ ถ้าจะแก้เขาได้ แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ที่รู้จริงนะ เรารู้จริง เริ่มตั้งแต่ ก.ไก่ ก.กา ขึ้นมาเลย

ทุกอย่าง นี่ภาคปฏิบัติต้องหาเองทั้งหมด ภาคปฏิบัติ เราจะสร้างรถ เราต้องทำต้นแบบ เราต้องหาวัตถุทุกอย่างทั้งหมด ทางโลกนะ เรามีพิมพ์เขียว เราอยากจะถอด แล้วเราสั่งทั้งหมด แต่สมาธิซื้อไม่ได้ ปัญญาซื้อไม่ได้ สรรพสิ่งต่างๆ ซื้อไม่ได้ มรรคนี่ซื้อไม่ได้ เงินซื้อไม่ได้ โลกไม่มีขาย มันมีเฉพาะในจิตของเรา แล้วจิตของเราไม่ใช่มีขึ้นมาเองด้วย เราต้องสร้างขึ้นมา

ถ้าเราสร้างขึ้นมา เห็นไหม มันถึงเป็นการยืนยันกันไงว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อย่างไร แล้วผู้ที่ประพฤติปฏิบัติมันชำระกิเลสอย่างไร ถ้ามันไม่มีเหตุการณ์ ไม่มีการกระทำ ไม่มี รถเกียร์ว่างตลอด มันใส่เกียร์ไม่ได้มันจะออกไปได้อย่างไร ถ้าปัญญามันไม่ก้าวเดิน รถมันจะเคลื่อนที่ไปได้อย่างไร มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

แต่สิ่งที่เป็นไปได้ เราต้องประพฤติปฏิบัติของเราเอง แล้วมีครูบาอาจารย์ที่เป็นผู้ที่รู้จริง สิ่งนี้มันเข้ากันได้หมด เพราะอะไร เพราะมันออกมาจากอริยสัจไง จิตนี้กลั่นออกมาจากอริยสัจนะ อริยสัจเป็นสัจจะความจริง สัจจะความจริงในใจของผู้รู้ แต่ถ้ามันไม่เป็นสัจจะความจริงนะ มันเป็นสัจธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันเป็นภาคปริยัติของเรา เห็นไหม ในการประพฤติปฏิบัติโลกๆ เป็นอย่างนั้น

ถ้าปฏิบัติของเรานี่ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ ถึงที่สุดแล้ว ดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ มันสมุจเฉทปหาน ขณะจิตที่มันเป็นนะ กามราคะ ปฏิฆะอ่อนลง อ่อนลงนะ เวลามันขาด สิ่งที่วิปัสสนามันขาด โลกนี้จะราบหมด มันปล่อยโลกนี้ราบหมดเลย ราบเลย เพราะจิตมันปล่อย มันขาด พอขาดออกมา สิ่งนี้มันเป็นขณะจิตไง รู้ที่ไหน เป็นที่ไหน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ที่โคนต้นโพธิ์

นี่ก็เหมือนกัน เราปฏิบัติที่ไหน ขาดที่ไหน สถานที่ก็บอก สถานที่เป็นที่อาศัย เหมือนบ้าน เราสร้างบ้านที่ไหน บ้านนั้นเดี๋ยวเขารื้อนะ พอถึงสภาวะ ถึงคราวเขามีการเปลี่ยนแปลง นี่ก็เหมือนกัน สถานที่เป็นสถานที่เราเคยอยู่เคยเป็น แต่จริงๆ คือใจเราเป็น ถ้าใจเราเป็น เห็นไหม โลกนี้ราบ ว่างหมดเลย สิ่งนี้กามราคะ ปฏิฆะอ่อนลง แล้วถ้าติดนะ ถ้าติดก็ติดอยู่อย่างนี้

แต่ถ้าไม่ติดนะ ถ้าไม่ติด จิตจะยกขึ้นเป็นมหาสติ จากสตินี่ สติที่เราทำ เราฝึกฝนอยู่นี่ สติอย่างนี้ พื้นฐานอย่างนี้ มันจะชำระกิเลสได้ขนาดนี้ แล้วถ้าเราฝึกฝน เพราะอะไร เหมือนฟุตบอล ฟุตบอลที่เขาลูกโทษจังหวะเดียว ระหว่างประตูกับผู้เตะนะ จังหวะเดียว นี่จิตมันเข้าไปถึงตัวของมัน ขันธ์ละเอียดเข้าไปมันจะเข้าไปเป็นอย่างนั้น มันถึงเป็นมหาสติ

จากสติ เห็นไหม ฟุตบอลเราเล่นกันโดยปกติ ประตูเขาก็รักษาของเขาไปอย่างนั้นล่ะ เพราะลูกมันอยู่ไกล ถ้าเขายิงมาลูกมันอยู่ไกล มันหน้าที่ก็รับไป มันพอมีโอกาสแก้ไข เป็นสติ ถ้าเป็นมหาสติมันเป็นเรื่องการดวลกันตัวต่อตัว เผลอเป็นเข้า ถ้าว่างอย่างไรก็ว่างขนาดนั้น ถ้าไม่มีมหาสติ มันจะไปเห็นกายภายใน กายนอก กายใน กายในกาย นี่เป็นกายอสุภะ

ถ้าจับตรงนี้ได้เป็นอสุภะ กามราคะ สิ่งที่เป็นกามราคะนะ นี่ปัญญายังอีกมหาศาลนะ เรื่องของกามราคะ สิ่งที่เราติดกันอยู่นี่ ติดเรื่องกามราคะ สิ่งถ้ามันไม่มีกามราคะนะ โลกนี้อยู่กันสงบสุขมาก โลกที่กัดฉีกกันอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะเรื่องนี้ เรื่องนี้เรื่องเดียวเลย แล้วถ้าเป็นทางโลกนะ นี่คือการดำรงเผ่าพันธุ์ไง พยายามจะอนุรักษ์กันนะ สัตว์จะสูญพันธุ์ นั่นก็จะสูญพันธุ์ นี่ก็จะสูญพันธุ์นะ อันนี้มันเป็นเรื่องธรรมชาติ โลกนี้หมุนไปโดยธรรมชาติของเขา

การรักษา การดูแลกัน มันเป็นเรื่องของการสละ เรื่องของทาน แต่สัจจะความจริงมันอยู่ที่นี่ ถ้ารักษาที่นี่ ทำลายที่นี่นะ ย้อนกลับมา ย้อนกลับมา “โอฆะ” ข้ามพ้นโอฆะได้ ถ้าจิตข้ามพ้นโอฆะได้นะ สิ่งที่รุนแรง รุนแรงของโลก ความดำรงชีวิตอย่างนี้ ความรุนแรงเราต้องแก้ไขดูแล

“รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง”

โลกนี้ รสของกามเป็นสิ่งที่ปรารถนา โลกนี้ปรารถนามาก รสของใดๆ ก็ไม่ฝังใจเท่ากับรสของกาม แต่ถ้ารสของธรรมนะ เรื่องของกาม แค่เข้าสมาบัตินี่ละเอียดกว่า ถ้าเข้าสมาบัติเหาะเหินเดินฟ้าได้ แต่ถ้าเรื่องนี้เข้ามากระทบนี่เสื่อมหมดเลย เห็นไหม นั่นเป็นเรื่องของฌานสมาบัติ

แต่ถ้าเรื่องของกามราคะ มันเรื่องของมรรคญาณ อนาคามรรคนี่นะ ย้อนกลับเข้าไปทำลาย จะทำลายด้วยอะไร? ต้องมีตัวฐาน ต้องมีตัวสติ มีสติ มหาสติ มหาปัญญา ตัวจิตนี่เข้าไปจับ จับสิ่งใดๆ มันชอบอะไร มันสงวนอะไร มันรักอะไร ทำไมสิ่งนี้มันสงวนนัก มันรักนัก มันพอใจนัก สิ่งที่พอใจเห็นโทษไหม เกิดตายอย่างนี้พอใจไหม ถ้าสิ่งนี้ สิ่งที่เราเกิดตาย

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาบำเพ็ญเป็นพระโพธิสัตว์ เกิดเป็นชาตินั้นๆๆ การเกิดการตาย เกิดเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นลูก มันเกิดต่างๆ กันมาตลอด สิ่งนี้มันสัมพันธ์กันมา นี่ไม่เข็ดไม่หลาบหรือ ไม่เข็ดไม่หลาบเพราะเราไม่รู้ เพราะเราไม่เห็น ถ้าเป็นกิเลสนะไม่เชื่อด้วย ไม่เชื่อ สิ่งนี้อย่ามาหลอกกัน

ถ้าคนไม่ปฏิบัติ ไม่เห็น แล้วมันก็ไม่องอาจกล้าหาญ แต่ถ้าเป็นสัจจะความจริงนะ เพราะอะไร เพราะเราจะทำลายเขา เราจะทำลายต้นเหตุ เพราะตัวใจมันเป็นตัวเก็บข้อมูล ดูสิ ดูสิ่งที่รูปที่เราเห็นต่อหน้า บางคนก็ว่าดี บางคนก็ว่าไม่ดี เห็นไหม ปฏิฆะคือข้อมูล สิ่งที่พอถูกใจ เกิดกามราคะ สิ่งที่เกิดกามราคะ ถ้าเข้าไปทำลาย ตัวใจนี่ตัวสำคัญมาก ถ้าไปทำลายตรงนี้หมด เห็นไหม สิ่งที่ทำลายตัวนี้หมด นี่พระอนาคามี

สิ่งที่เป็นพระอนาคามี การทำลายมันจะเข้ามาทำลายที่ไหน? มันเข้ามาทำลายที่ใจนะ มันละเอียดเข้ามาถึงที่ใจ ย้อนกลับมาที่ใจ ทำลายกันที่ใจ ทำลายกันที่ใจ ทั้งๆ ที่ใจเห็นอสุภะ แต่ถ้าเห็นอสุภะ เพราะใจมันเห็น เพราะใจมันมีเป้าหมายไง เวลาเรามองออกไป ตาเราไปกระทบกับอะไร จิตก็เหมือนกัน มันไปรู้อะไร? มันไปรู้จากข้างนอก สิ่งที่รู้จากข้างนอก เราวิปัสสนาบ่อยครั้งเข้ามันก็หดสั้นเข้ามาๆๆ มาเกิดดับที่ใจ เกิดดับที่ใจแล้วทำลายกันที่ใจนะ ครืน! ออกไปจากใจนะ นี่ขั้นของอนาคามี เป็นผู้ที่ไม่มีเรือน เห็นไหม ว่างหมดเลย แต่ตัวมันอยู่ไหน ตัวมันน่ะ

ตัวที่ว่าว่างๆ มันอยู่ในว่าง เห็นไหม นี่ความโง่อันละเอียด ฉลาดในโง่นะ ถ้าว่าสิ่งนี้เป็นความว่าง เราพิจารณาแล้ว พิจารณาอะไร? พิจารณาเศษส่วนของจิตงไ พิจารณาเศษส่วนของอนาคามี ๕ ชั้น พิจารณาแล้ว พิจารณาแล้วปล่อยหมด มรรค ๔ ผล ๔ ไง นี่อวิชชา ฉลาดในโง่

ฉลาดในโง่ โง่ตั้งแต่หยาบๆ นะ แล้ววิปัสสนาไปจะเห็นการขัดแย้ง การขัดแย้งให้การปฏิบัติเราก้าวเดินนะ ไอ้อวิชชา ไอ้มารนี่ เพราะมันเป็นเรา มันจะขัดแย้งไปตลอดเวลา แล้วเราก็ว่าเราผ่านขั้นนั้น ผ่านขั้นนี้ มันจะโดนหลอกตลอดเวลา เห็นไหม ฝึกซ้อม มีครูบาอาจารย์คอยชี้นำนะ ไอ้ตัวมัน ไอ้ตัวโง่อยู่ที่ไหน? ไอ้ตัวโง่คือตัวอวิชชา คือตัวภพชาติ คือตัวจิตปฏิสนธิ ถ้าตายตอนนี้เกิดบนพรหม อนาคามีแล้วก็ไป ทำลายตรงนี้ ย้อนกลับถึงมัน

ถ้าย้อนกลับถึงมัน เห็นไหม นี่ตัวโง่ ถ้าทำลายตัวโง่ ตัวอวิชชานี่จับ แล้วญาณ ปัญญาญาณอันละเอียดที่เข้าไปทำลายมัน ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ สิ่งนี้มันเป็นความมัธยัสถ์ มันเป็นความพอดีของเขา แล้วมันเข้าไปทำลายตัวมัน มันเป็นตัวมันเอง แล้วต้องเข้าไปทำลายตัวมันเอง มันเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนและลึกซึ้งมาก

ฉะนั้น สิ่งที่ละเอียดลึกซึ้ง การกระทำอย่างนี้มันถึงสิ้นกิเลสไง ถ้าสิ้นกิเลส แล้วจิตไปไหน? จิตนี้ไปไหน? สิ้นกิเลสไปแล้ว ไม่มีภวาสวะ ไม่มีภพ ทำลายแล้ว ทำลายตัวจิต คือทำลายตัวภวาสวะ ทำลายตัวสมาธิ ที่ว่าเป็นสมาธิๆ นี่ทำลายหมดเลย ตัวมันเองทำลายของมัน แล้วมันไปไหน? ก็จิตนี้มันพลิกออกไป จนมันเป็นไม่มีสิ่งใดๆ เลย นี่พระอรหันต์ถึงไม่มีจิตไง

จิตพระอรหันต์อยู่ไหน มีแต่คุณธรรม มีแต่ธรรมธาตุนี่ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน นี้คือตัวพุทธะ ตัวพุทธะที่ไหน ต้องทำลายพุทธะที่นั่น แล้วพุทธะนี้โดนทำลายโดยมรรคญาณของเรา เราทำลายพุทธะของเราหมดสิ้นไป เห็นไหม ความโง่ โง่ในพุทธะ ความโง่ในตัวตนอันนั้นมันไม่มี ความโง่ ฉลาด ไม่โง่ มันก็จบสิ้นกระบวนการ เห็นไหม มันก็เป็นใจล้วนๆ ไม่ใช่ฉลาด ไม่ใช่โง่ พ้นจากกิเลสทั้งหมด เอวัง