เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๗ เม.ย. ๒๕๖o

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๖๐
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรมะเนาะ ตั้งใจฟังธรรม ฟังธรรมเพื่อประพฤติปฏิบัติธรรม เวลาประพฤติปฏิบัติธรรม เห็นไหม น้ำเชี่ยวไม่ขวางเรือ คำว่า “น้ำเชี่ยว” น้ำเชี่ยวไม่ขวางเรือ มันเป็นสุภาษิต น้ำเชี่ยวไม่ขวางเรือเพราะมันเกิดอันตราย แต่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นไป คนเรามันต้องสัจจะตามความเป็นจริง

ผลของวัฏฏะเหมือนสวะที่ลอยไปในน้ำ ตามธรรมะบอกว่า ถ้าสวะมันลอยไปในน้ำ ถ้าไม่มีสิ่งใดกีดขวางมัน มันจะลงสู่ทะเล นี่ก็เหมือนกัน เวลาการประพฤติปฏิบัติ ปฏิบัติไปแล้วมันจะถึงที่สุดแห่งทุกข์

น้ำเชี่ยวอย่าขวางเรือ คำว่า “น้ำเชี่ยวอย่าขวางเรือ” สิ่งที่ขวางเรือ เรือมันล่มไง เรือมันล่ม สิ่งที่คนจะไปคมนาคมทางน้ำ มันไปไม่ได้ นี่ก็เหมือนกัน ประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน เวลาประพฤติปฏิบัติ เวลาเราประพฤติปฏิบัติมันด้วยวุฒิภาวะ ถ้าวุฒิภาวะของคนอ่อนด้อย จะเจอสิ่งใดแล้วก็ว่าสิ่งนั้นเป็นสัจธรรมๆ

มันเป็นธรรม แต่เวลามันเป็นธรรมมันมีหยาบ มีกลาง มีละเอียด มีละเอียดสุด มันต้องละเอียด มันต้องพัฒนาของมันขึ้นไป ถ้ามันพัฒนาของมันขึ้นไป มันจะเข้าไปสู่สัจธรรมความจริงอันนั้น

แต่ถ้าคนที่วุฒิภาวะที่สูงส่ง ขิปปาภิญญา ปฏิบัติทีเดียว ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย ปฏิบัติทีเดียวถึงที่สุดแห่งทุกข์ไง นี่ผู้ปฏิบัติได้ตามความเป็นจริงอันนั้น ถ้าเราปฏิบัติไม่ได้ตามความจริงอันนั้น เราต้องพัฒนาของเราเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป การพัฒนาเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไปอยู่ที่วุฒิภาวะ วุฒิภาวะคือว่า มีความเพียร มีความวิริยะ มีความอุตสาหะไง

แต่ถ้าน้ำจะไปขวางเรือๆ ตอนนี้ถ้าปฏิบัติแล้วมันมีแต่การโฆษณาชวนเชื่อ เวลาการโฆษณาชวนเชื่อ คนโง่มากหรือคนฉลาดมาก เวลาคนโง่มากกว่าคนฉลาดอยู่แล้ว เวลาคนโง่มันชักจูงได้ง่ายทั้งนั้นน่ะ เวลาชักจูงมันเกิดเป็นกระแสสังคม พอเกิดกระแสสังคม เวลาคนไปสนทนาธรรมกันไง เวลาสนทนาธรรม โต้แย้งกันด้วยธรรมะๆ สู้เขาไม่ได้หรอก สู้เขาไม่ได้เพราะอะไร เพราะว่าคนโง่มากกว่าคนฉลาด คนโง่มากกว่าคนฉลาด คนโง่มันกล่อมง่ายไง คนโง่มันไปตามกระแสสังคมได้ง่ายไง

แต่ถ้าคนฉลาดๆ คนฉลาดเขาต้องมีสติมีปัญญานะ เวลาเราบอกเราเป็นคนที่ฉลาด แล้วเราบอกเรามีสติปัญญาของเรา เรามีเจตนาของเรา ตั้งเป้าของเราจะทำคุณงามความดีๆ ดูสิ เวลาเทศกาลสงกรานต์ คนที่เขากลับไปเยี่ยมบ้านเยี่ยมเรือนของเขาเจตนาดีไหม เจตนาดีทั้งนั้นน่ะ ถ้าเจตนาดี คนที่เจตนาดีไปประสบอุบัติเหตุเจ็บไข้ได้ป่วยก็มี คนไปประสบอุบัติเหตุถึงสิ้นชีวิตก็มี เจตนาดีๆ ทั้งนั้นน่ะ แต่เวลาทำไปแล้วมันเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา เจตนาดีมันก็ตายทั้งนั้นน่ะ มันเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา เจตนาดีมันก็เจ็บไข้ได้ป่วยทั้งนั้นน่ะ นี่พูดถึงเวลาเจตนา

ส่วนเจตนาสิ แต่กิเลส กิเลสคือกิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจใช่ไหม นี่ก็เหมือนกัน อุบัติเหตุๆ ข้างหน้า เห็นฝนตกถนนลื่น คนเมา ร้อยแปดพันเก้า เราต้องพาชีวิตของเราให้ไปถึงที่สุด พาชีวิตของเราให้เราปลอดภัยใช่ไหม ไอ้นี่ประพฤติปฏิบัติมันละเอียดลึกซึ้งกว่านั้นนะ เวลาละเอียดลึกซึ้ง เวลาเข้าไปในหัวใจของเรา ในหัวใจของเรา เราคิดว่าเราทำคุณงามความดีๆ เจตนาดีๆ ทั้งนั้นน่ะ เจตนาดีมันก็ดีจริงๆ นั่นแหละ เวลาดีจริงๆ เวลาทำขึ้นไป ถ้ามันจิตสงบได้ จิตมันมีหลักมีเกณฑ์ของมันได้เป็นครั้งเป็นคราว เป็นครั้งเป็นคราวนะ พอเป็นครั้งเป็นคราวขึ้นมา จิตเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญขึ้นมา เวลามันเสื่อมไป มันมีความทุกข์ความยากทั้งนั้นน่ะ

ฉะนั้น ถ้าเจตนาดี เจตนานี้เป็นเรื่องหนึ่ง ข้อเท็จจริงเป็นเรื่องหนึ่ง เวลาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่ากาลามสูตรๆ กาลามสูตร เขาบอกถ้ากาลามสูตร มันจะเลื่อนลอย มันจะพึ่งสิ่งใดไม่ได้เลย

แต่กาลามสูตรในภาคปฏิบัตินะ เวลามันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโกในหัวใจ มันชัดเจนทั้งนั้นน่ะ เวลามันชัดเจนขึ้นมาแล้วมันไม่มีอะไรโต้แย้งได้หรอก เวลาธมฺมสากจฺฉา ลูกศิษย์ถามอาจารย์ เวลาอาจารย์พูดคำใด ถ้าอาจารย์ที่เป็นธรรมนะ ท่านพูดคำเดียวจบ จบทั้งนั้นน่ะ

เราอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะไง เวลาคนถ้าภาวนามา หลวงปู่เจี๊ยะถามเลยบอกว่า พูดถึงการที่ว่าไม่กำหนดสิ่งใดเลยมันจะเป็นสมาธิได้หรือไม่ได้ มันจะแก้กิเลสได้หรือไม่ได้

“ไม่ได้” คำเดียวก็พอ ถ้าคำเดียวก็พอ ถ้าคำเดียวมันทั้งลูกศิษย์และอาจารย์ อาจารย์มีภูมิความรู้ มันนั่งอยู่ในหัวใจอยู่แล้ว ไอ้ลูกศิษย์พูดมาก็ใช่

ถ้าลูกศิษย์มันอธิบายแล้วอธิบายเล่า นั่นล่ะจะออกทะเลแล้ว ถ้าออกทะเลไปก็ออกทะเลของมันไป

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราทำคุณงามความดีของเราๆ เห็นไหม น้ำเชี่ยวอย่าขวางเรือ ถ้าน้ำเชี่ยวอย่าขวางเรือ หมายความว่า สังคมมันเชี่ยวกราก มันจะมีกระแสสังคม สังคมมันเชี่ยวกรากมาก แล้วมันปลุกกระแสขึ้นมาแล้ว พอปลุกกระแสขึ้นมาแล้ว มีคนมาถามปัญหาบอกว่า เขาก็ยืนยัน เขายืนยันว่าเขาเชื่อธรรมะของหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ของครูบาอาจารย์ของเรา แต่สังคมตอนนี้เขาเชื่อกัน ทำสมาธิบ้าบอคอแตกอยู่นั่นน่ะ เขาบอกไปโต้แย้งกับเขาแล้วโต้แย้งกับเขาไม่ได้

นั่นน้ำเชี่ยว น้ำเชี่ยวเราไม่ต้องไปขวางเรือ เพราะขวางเรือมันขวางไม่ได้หรอก เพราะขวางไม่ได้ ชีวิตเราจะอยู่รอดไม่ได้ แต่ถ้าเราเอาความจริงของเราไง เราเอาความจริงของเรา เราไม่ไปตามกระแสนั้น ถ้าเราไม่ตามกระแสนั้น เราจะมีสติปัญญาของเรา

ถ้าสติปัญญาของเรา เวลาสติปัญญา ความที่มันมีมาตรฐาน ความที่มันมีสัจจะความจริง ความที่มีสัจจะความจริงมันทำยาก มันทำยากเพราะหัวใจมันรักษายาก ถ้าหัวใจมันรักษายาก แต่เรามีความมุ่งมั่นรักษาหัวใจของเรา ถ้าเรามีความมุ่งมั่นรักษาหัวใจของเรา สิ่งนี้อย่างที่ว่ามันเป็นทาน ศีล ภาวนา

ถ้าไม่มีทาน ไม่มีทานคือไม่มีการเสียสละให้จิตใจมันเข้มแข็งขึ้นมา ถ้าจิตใจมันเข้มแข็งนะ คนเป็นผู้ใหญ่ คนที่ให้อภัยได้ คนที่เห็นสิ่งใดแล้วเราเข้าใจได้ มีจุดยืน ไม่ไหลไปตามกระแส นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันรู้จักฝึกหัดของมัน หัวใจที่เป็นสาธารณะมันฟังเหตุฟังผลได้ เวลาคนเขาโต้แย้งกัน เรามีจุดยืน เราฟังก่อนว่าอะไรจริงอะไรเท็จ ไม่ใช่เขาพูดอะไรก็เชื่อเขาไปหมดๆ เพราะอะไร เพราะวุฒิภาวะมันอ่อนด้อยนี่ไง

นี่พูดถึงระดับของทาน ระดับของทานเพราะการทำบุญกุศล การสร้างทานของเรา เราอย่าไปเชื่อเขา ถ้าเราพอใจแล้วเราถึงจะทำ ถ้าพอใจแล้วถึงทำนะ ทำด้วยสติปัญญาของเรา ทำแล้วเราพอใจของเรา ถ้าเราพอใจของเรา สิ่งนั้นพัฒนาขึ้น ทาน ศีล ภาวนา พอมีศีลคือความปกติของใจแล้ว ถ้าใจมันปกติ ใครจะมายุใครจะมาแหย่ ใครจะมาหลอกมาลวงได้

แต่นี่ไม่อย่างนั้นน่ะ น้ำเชี่ยว น้ำเชี่ยวกระแสสังคมไปอย่างนั้น แล้วเขาก็ไหลไปตามกันไปอย่างนั้น เขาไม่มีจุดยืนของเขา ถ้าเขามีจุดยืนของเขา ดูสิ เวลาครูบาอาจารย์ หลวงตาท่านมีชีวิตอยู่ ใครฟังธรรมๆ ก็มีจุดยืนของเขา แล้วเวลาปฏิบัติๆ ถ้ามันได้จริงขึ้นมามันก็จบ

ถ้ามันไม่ได้จริงขึ้นมา เวลาครูบาอาจารย์ท่านล่วงไปแล้วมันก็เรรวน พอเรรวนขึ้นมา มันหาที่เกาะที่ยึดไม่ได้ ถ้าหาที่เกาะที่ยึดไม่ได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงสอนไง “เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลย” ถ้ามีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด เราก็มีสติปัญญาของเราไง แต่คนเรา ชีวิตมันต้องอาศัยปัจจัยเครื่องอาศัย ชีวิตมันต้องมีปัจจัย ๔ ถ้าไม่มีปัจจัย ๔ ชีวิตจะอยู่ได้อย่างไร

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่มีสติไม่มีปัญญาของเรา เราจะรักษาหัวใจของเราอย่างไร “เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่ง” ถ้ามีธรรมเป็นที่พึ่ง เรามีสติปัญญาของเรา ในเมื่อมีครูบาอาจารย์อยู่ เราก็ขวนขวายของเรา เราก็กระทำของเราด้วยความมุมานะ แต่ด้วยอำนาจวาสนาไง คำว่า “อำนาจวาสนา” นะ ถ้าอำนาจวาสนา กรรมเก่ากรรมใหม่ เวลากรรมเก่าของเรา ถ้ามีกรรมเก่าขึ้นมา กรรมเก่า หมายถึงว่า มีเจตนาที่ดี ความมุ่งหมายที่ดี นี่กรรมเก่า แล้วถ้ากรรมใหม่ กรรมใหม่ก็ปัจจุบันนี้ทำสิ่งที่ดี

แล้วถ้ากรรมเก่ามันส่งเสริมไม่ถึงที่สุด เราปฏิบัติกรรมใหม่ๆ คือกรรมที่เราพยายามภาวนาอยู่นี่ ภาวนาอยู่นี่ให้กรรมเก่ามันเพิ่มขึ้นมา ให้กรรมเก่าคือเจตนาของเรา ความมั่นคงในใจของเราให้เข้มแข็งขึ้นมา พอเข้มแข็งขึ้นมา เวลาเราใช้ปัญญาของเรา เราแยกแยะได้ สิ่งที่เป็นจริงก็คือเป็นจริง สิ่งที่เป็นอดีตอนาคต สิ่งที่เราได้ประพฤติปฏิบัติมา เราได้สัมผัสมานี่เป็นอดีต สิ่งที่เป็นอดีต แล้วในปัจจุบันกับอดีตมันตรงต่อกัน จริตนิสัยๆ มันส่งเสริมกันๆ ถ้าส่งเสริมกัน เราภาวนาของเรา แล้วถ้ามีจุดยืนของเรา มันสงบระงับแล้ว

ถ้าใจสงบระงับนะ น้ำเชี่ยวขนาดไหนเราเข้าใจได้ ถ้าเราเข้าใจได้ มีจุดยืนได้ เราไม่ตามกระแสนั้นไง แต่ถ้าคนไม่มีจุดยืนมันไปตามกระแสนั้น ไปตามกระแสนั้นนะ เราเกิดมา เกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา แล้วพระพุทธศาสนาสอนสัจจะความจริงๆ แล้วสัจจะความจริงมันเป็นกันอย่างนั้นหรือ

ในเรื่องการโฆษณาประชาสัมพันธ์ทางโลกเขา เวลาเขาปลุกกระแสกัน เวลาปลุกม็อบๆ กัน ถ้ามันจุดติด นี่ไง เวลาคนมันตื่นคนๆ มันแสนอันตราย แล้วถ้าเรามีสติปัญญา เราไม่ไปกับเขา มันไม่มีเหตุมีผลพอ ถ้าไม่มีเหตุผลพอ เราจะไม่ทำอย่างนั้น ถ้าเราไม่ทำอย่างนั้น เราเป็นชนกลุ่มน้อย ชนกลุ่มน้อย ถ้ามีสติปัญญาของเรา เราก็รักษาหัวใจของเรา ถ้ารักษาหัวใจของเรา ปฏิบัติเพื่อแบบนี้

เรามาวัดมาวากัน มาวัดมาวาเพื่อวัดหัวใจของเรา ถ้าวัดหัวใจของเรา ถ้ามันพัฒนาของมันขึ้น มันทำคุณงามความดีของมันขึ้น ถ้าทำคุณงามความดี ถ้าทำคุณงามความดีของเรา มันจะทุกข์มันจะยาก เราภูมิใจ

เวลาครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติของท่านมาก่อน เวลาท่านปฏิบัติของท่านมาก่อน ท่านล้มลุกคลุกคลานมาก่อน คำว่า “ล้มลุกคลุกคลาน” นะ หัวใจมันพัฒนาหรือไม่พัฒนา ดูสิ เวลาหลวงปู่มั่นๆ เวลาท่านพูดถึงว่าท่านปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ๆ เวลาคำว่า “พระโพธิสัตว์” ดูสิ ดูวุฒิภาวะ ดูภูมิปัญญาของท่าน เวลาภูมิปัญญาท่านบวชใหม่ๆ ท่านต้องอาศัยหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่เสาร์เป็นผู้ที่พาออกธุดงค์นะ แล้วเวลาออกธุดงค์ วัยรุ่นเวลามันเจอเพื่อนๆ เพื่อนคุยกันน่ะ ท่านเห็นถึงความไม่ปลอดภัย ถ้าอย่างนี้ไม่ปลอดภัยแล้ว ท่านพาออกอีก ท่านพาออกธุดงค์ไป

เราจะบอกว่า ตอนที่เริ่มต้น เวลาบวชใหม่ๆ ท่านต้องอาศัยครูบาอาจารย์ อาศัยหลวงปู่เสาร์ ทีนี้พอหลวงปู่เสาร์ พอต่างคนต่างค้นคว้าๆ ไป เวลาจิตมันสงบแล้วพิจารณากายแล้วก็เหมือนเดิม คือว่ามันไม่สามารถชำระกิเลส มันไม่สามารถทำให้กิเลสมันยุบยอบลงได้ เพราะด้วยความปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์อันนั้นน่ะมันต้องสร้างอำนาจวาสนาต่อไปข้างหน้าเพื่อไปเป็นพระพุทธเจ้า แต่เวลาท่านลาของท่าน ท่านลาความเป็นพระโพธิสัตว์ของท่าน แล้วท่านมาพิจารณาของท่าน เวลาจิต เวลามันพิจารณากายไปแล้วมันถอดมันถอน “เออ! มันต้องอย่างนี้สิ” พออย่างนี้สิปั๊บ ท่านกลับไปแก้ไขหลวงปู่เสาร์ เพราะหลวงปู่เสาร์ หลวงตาท่านบอกปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า คำว่า “พระปัจเจกพุทธเจ้า” ปัญญา ความรอบรู้ ความกว้างขวาง มาตรฐานของหัวใจมันไม่เท่ากับพระโพธิสัตว์

เวลาวุฒิภาวะที่มันมีวุฒิภาวะ วุฒิภาวะแล้วถ้ามีจุดยืน แล้วถ้ามีสติปัญญามามากมาน้อย ทั้งๆ ที่ว่าปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ เวลาประพฤติปฏิบัติก็ต้องอาศัย อาศัยหลวงปู่เสาร์ไปก่อน เวลาท่านแก้ไขในใจของท่านได้ เพราะหลวงปู่เสาร์พยายามประคองขึ้นมาจนท่านทำสมาธิได้ จนท่านมีกำลังของท่านได้ เวลาค้นคว้าด้วยหัวใจของท่าน ท่านต้องไปละเอง สละเอง

ถ้าเราไม่ละเอง เราไม่สละเอง เราเป็นคนติดเอง เราเป็นคนยึดมั่นถือมั่นความคิดเราเอง ความรู้ความเห็นของเรา เราจะยอมทิ้งไหม เราทิ้งของเราไม่ได้หรอก แต่ถ้าเราทิ้งไม่ได้ ถ้ามีครูบาอาจารย์ที่ท่านแนะได้มันก็มีโอกาสที่จะได้พิจารณา แต่ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ที่จะคอยชี้แนะได้ แต่ด้วยวุฒิภาวะ ด้วยบุญกุศลของตน ด้วยอำนาจวาสนาของตน มันคิดเอง แยกแยะเอง พิจารณาเอง แล้วก็สละเอง

พอสละเองขึ้นไปแล้วท่านก็ย้อนกลับไป เพราะท่านสละของท่านเองใช่ไหม เวลาไปบอกหลวงปู่เสาร์ ไปแก้หลวงปู่เสาร์ว่าให้หลวงปู่เสาร์สละความเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าเหมือนกัน

เวลาคนที่จะไปแก้ไขครูบาอาจารย์มันต้องมีอำนาจวาสนาแค่ไหน เวลาวุฒิภาวะๆ อย่างนี้ ที่ว่าพันธุกรรมของจิตๆ จิตของคน กรรมเก่าๆ กรรมเก่า ถ้าไม่มีกรรมเก่า พระโพธิสัตว์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย คำว่า “กรรมเก่า” ท่านสร้างมาขนาดนั้น ท่านสร้างมาต่อเนื่องมาๆ ถ้าไม่ต่อเนื่องมันจะพัฒนาขึ้นมาได้อย่างไร เวลามันพัฒนาขึ้นมา

ทีนี้เราก็มาคิดกันเอง ชีวิตนี้ตายแล้วสูญ ภพชาติไม่มี

ถ้าภพชาติไม่มี การพัฒนาของจิตมันมาอย่างไร ดูสิ ในทางความเป็นมนุษย์ เราก็คิดกันได้ ดีเอ็นเอ เราพิจารณาได้ พันธุกรรม เราพิจารณาได้ เราวิเคราะห์วิจัยได้ มันมาอย่างไร มันมีผลตอบสนองอย่างไร แล้วเราป้องกันอย่างไร เราป้องกันกันนะ ตอนนี้พยายามพิจารณากันจะไปตัดดีเอ็นเอ ให้โรคภัยไข้เจ็บไม่ให้มีเลย นี่พัฒนาของมันขึ้นไป

นี่ก็เหมือนกัน เวลาบุญ กรรม เวลาจิตมันกระทำ เจตนาดี สิ่งที่การกระทำๆ ทีนี้เวลาการกระทำขึ้นมาแล้วมันผลของวัฏฏะ กึ่งพุทธกาล แล้วในปัจจุบันนี้สิ่งที่ว่า เวลาที่ว่าน้ำเชี่ยวอย่าขวางเรือ น้ำเชี่ยว กระแสสังคม กระแสสังคมมันไม่เป็นความจริงหรอก เห็นไหม น้ำขึ้น น้ำลง เวลาน้ำเชี่ยว ฝนตกแดดออก เวลาฝนตก ฝนตกที่รุนแรงมันจะเกิดน้ำป่า มันเป็นของชั่วคราว แต่กระแสน้ำสิ ที่เป็นแม่น้ำลำคลอง มันมีของมันเป็นฤดูกาลเลยนะ น้ำขึ้น น้ำลง ไอ้นี่สัจจะความจริงๆ มันเป็นความจริง

แต่ถ้ามันเป็นกระแสชั่วคราว มันเป็นภัยพิบัติอย่างนั้นน่ะ แล้วมันชั่วคราวแป๊บเดียวเดี๋ยวก็ไป แต่ถ้าเป็นข้อเท็จจริง ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ มันประกอบกันเป็นโลก มหาภูตรูป แล้วเวลาธาตุ ๔ เวลาอารมณ์ความรู้สึกของเราล่ะ ภพน้อย ภพใหญ่ในใจ เวลาเขาพิจารณากัน พิจารณาภพน้อย ภพใหญ่ แล้วเวลาพูดแล้วก็พยายามจะส่งออกไป

แต่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ทวนกระแสกลับมา ครูบาอาจารย์เราให้ทวนกระแสกลับมา ถ้าทวนกระแสกลับมานะ สิ่งนั้นเป็นเรื่องโลกๆ ตอนนี้มันก็อยู่ที่อำนาจวาสนา

เราเกิดมา เกิดมาร่วมภพร่วมชาตินะ เกิดมากึ่งกลางพระพุทธศาสนา เกิดมาร่วมสมัยกับหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ใหญ่ ท่านพาออกๆ พาออกด้วยการกระทำ ด้วยความมุมานะความเป็นจริงของท่าน ถ้าพาออกอย่างนั้น สิ่งที่มีครูบาอาจารย์เป็นที่พึ่ง เป็นผู้ชี้นำ แล้วต่อไปจะเรียวแหลมไปเรื่อยๆ เพราะคนที่มีอำนาจวาสนาอย่างนั้นมันจะหาได้น้อยลงเรื่อยๆ แล้วทีนี้มันก็มีแต่ความจอมปลอม นี่ไง น้ำเชี่ยวๆ

เขามาคุยมาปรึกษาไง บอกว่าตอนนี้ในสังคมเขาพูดกันแต่เรื่องสัพเพเหระ การภาวนาแบบลูบๆ คลำๆ แล้วก็โต้แย้งกับเขา แต่สู้เขาไม่ได้

สู้เขาไม่ได้มันก็น่าเห็นใจ เพราะมันเป็นคนส่วนน้อยไง ใครอยากลำบาก ใครๆ ก็อยากสบายทั้งนั้นน่ะ ใครๆ ก็อยากชุบมือเปิบ ใครๆ เขาก็อยากได้สมความปรารถนาโดยที่ไม่ต้องทำอะไรเลย แล้วก็ยืนยันกันว่ามันเป็นจริงๆ เป็นจริงเพราะนี่ไง คนโง่มากกว่าคนฉลาด คนโง่มากมันชักจูงกันได้

แต่ถ้าเป็นจริงนะ เป็นจริงอย่างไร ดูสิ เจ้าชายสัทธัตถะ อาฬารดาบส อุทกดาบสบอกว่า “มีความรู้เสมอเรา มีความเห็นเหมือนเรา ได้สมาบัติ ๖ สมาบัติ ๘ เป็นอาจารย์สอนได้”

เจ้าชายสิทธัตถะไม่เอา นี่ไง เหมือนกันๆ ท่านไม่เอาหรอก มันเหมือนกันมาจากไหน ดีเอ็นเอมันเหมือนกันได้อย่างไร ดูลายนิ้วมือคนก็ไม่เหมือนกัน พันธุกรรมของจิตของคนก็ไม่เหมือนกัน ความรู้สึกนึกคิดของคนไม่เหมือนกัน กิเลสของคนหยาบหนาไม่เหมือนกัน ถ้าไม่เหมือนกัน คนที่มีอำนาจวาสนาสร้างศีล สมาธิ ปัญญา การว่าสร้าง สร้างคือการกระทำขึ้นมา ถ้ากระทำขึ้นมา ถ้ามันตรง ตรงต่อกิเลส มันตรงต่อจิต ตรงต่อการพิจารณา มันต้องเป็นอย่างนั้น

พูดถึงว่า ที่ไหนแห้งแล้ง มันก็ต้องได้ความชุ่มชื้น ที่ไหนต้องการน้ำ นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อกิเลสมีแต่ความเร่าร้อนในใจ มันต้องการอะไรล่ะ

มันต้องการศีล สมาธิ ปัญญา มันต้องการ มันต้องการคือไปปราบปรามกิเลส แต่กิเลสมันกลัว กิเลสมันต้องการ กิเลสสวมกิเลสไง กิเลสบังเงาไง อ้างธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง แล้วบอกว่าสิ่งนั้นเป็นธรรมๆ นั่นไง คนอำนาจวาสนาน้อยมันเป็นอย่างนั้นน่ะ

ถ้าคนมีอำนาจวาสนามันจะสะสมไปเรื่อยๆ ถ้าถูกต้องแล้วก็ถูกต้องเรื่อยไป เห็นไหม เรามีจุดยืนของเรา เราทำของเรา ฉะนั้น น้ำเชี่ยว เราไม่ขวางเรือ น้ำเชี่ยวก็ปล่อยให้มันเชี่ยวตามกระแสสังคม แล้วมีแต่คนที่มีปัญญามากปัญญาน้อยเท่านั้นแหละไปตามกระแสอย่างนั้น

ของเรา เรามีเกาะมีดอนของเรา เรามีครูบาอาจารย์เป็นที่พึ่ง ทีนี้เวลามีครูบาอาจารย์เป็นที่พึ่ง เวลาประพฤติปฏิบัตินะ มันจะทุกข์มันจะยาก ทุกข์แบบนี้ทุกข์เพื่อจะแก้ทุกข์ ไอ้ทุกข์แบบโลกๆ เหงื่อไหลไคลย้อย มีแต่ความทุกข์ความยาก แล้วก็ซ้ำๆ ซากๆ ทุกข์แล้วทุกข์เล่าไม่มีวันจบวันสิ้น แต่ความทุกข์ของเรา เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา การทำหน้าที่การงานทุกข์ทั้งนั้นน่ะ มันเป็นงาน พอเป็นงาน มันต้องลงทุนลงแรงทั้งนั้นน่ะ

เวลาลงทุนลงแรงไปแล้ว สิ่งที่ว่าเป็นความทุกข์ๆ ทุกข์เพราะพอใจไง ถ้าทุกข์ไม่พอใจ ทำไมเราเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนากันได้ตลอดเวลา แล้วเวลาจิตมันสงบ จิตมันลงได้ นั่นล่ะความสุข ความสุขเกิดขึ้นจากจิต ความสุขเกิดขึ้นจากจิตสงบ สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี แล้วถ้ามันใช้สติปัญญาไป มันจะไปเห็นความมหัศจรรย์

ความมหัศจรรย์ที่ว่า เหมือนกับคนจนตรอกจนมุม แต่เวลามันมีปัญญา มันไปของมันได้ มันเลาะ มันถากมันถางของมันไป เวลามันเป็นจริงเป็นจังขึ้นมา นี่ความมหัศจรรย์ ในบรรดาสัตว์สองเท้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเสริฐที่สุด ในบรรดาสัตว์สองเท้า ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติถึงที่สุดแห่งทุกข์แล้ว นั่นล่ะสะอาดบริสุทธิ์ในหัวใจอันนั้น พ้นจากวัฏฏะไปๆ

โลกนี้ไม่มีสิ่งที่จะพ้นไปได้ เว้นไว้แต่ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เวลาสิ้นสุดแห่งทุกข์ นั่นแหละพ้นจากวัฏฏะ มันจะเห็นชัดๆ เลย การเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ ต้องเกิด ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย กับตรงข้ามที่ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย แล้วมันอยู่ที่ไหนล่ะ ถ้ามันทำจบสิ้นแล้ว นี่ไง เหนือโลก เหนือโลก เหนือสงสาร เหนือวัฏฏะ เหนือทุกๆ อย่าง แล้วอยู่ที่ไหน อยู่ที่ใจของสัตว์โลก อยู่ที่คนที่มีอำนาจวาสนา อยู่ที่ผู้ที่ค้นคว้า อยู่ที่ผู้ประพฤติปฏิบัตินี้ ถ้ามันเป็นจริงขึ้นมามันอยู่ที่นี่

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชี้เข้ามาที่ใจของสัตว์โลก เพราะจะมารื้อสัตว์ขนสัตว์ไง รื้อสัตว์โลกออกจากวัฏฏะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนา ดูสิ เป้าหมายของศาสนา ความยิ่งใหญ่ของพระพุทธศาสนา เอวัง