อุปัชฌาย์
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๖๐
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : คำถามเรื่อง “ความหมาย”
กราบนมัสการท่านอาจารย์ครับ กระผมอ่านประวัติพ่อแม่ครูอาจารย์แล้วอยากทราบถึงความหมายของ
๑. พระอุปัชฌาย์
๒. พระกรรมวาจาจารย์
๓. พระอนุสาวนาจารย์
ขอท่านอาจารย์เมตตาอธิบายความหมายด้วยครับ
ตอบ : นี่เขาพูดถึงเรื่องอธิบายความหมายเนาะ ไอ้กรณีนี้ถ้าพูดถึงคนเป็นเฉพาะส่วนบุคคล ถ้าส่วนบุคคลไม่เข้าใจคำว่า “อุปัชฌาย์ กรรมวาจาจารย์ อนุสาวนาจารย์” แสดงว่าไม่เคยบวช แต่ถ้าเป็นโดยปัญหานี่มันเป็นปัญหาพื้นฐาน มันเป็นความรู้พื้นฐานของชาวพุทธ ถ้าชาวพุทธ ๓ คำนี้เขารู้จักกันหมดแล้วแหละ ถ้ารู้จักเพราะอะไร เพราะเขาเคยบวช
คำว่า “เคยบวช” เวลาบวชต้องมีพระอุปัชฌาย์ เพราะอุปัชฌาย์บวชให้มาเป็นพระ พระกรรมวาจาจารย์ พระอนุสาวนาจารย์เป็นคู่สวด สิ่งนี้ถ้าใครเคยบวชแล้วเรื่องอย่างนี้จะเข้าใจ แล้วพระพุทธศาสนาตั้งแต่สุโขทัยมาก็มีการบวชการเรียนมาตลอด ถ้าการบวชการเรียนมาตลอด ๓ คำนี้มันเป็นคำเป็นวัฒนธรรมของชาวพุทธ
ถ้าผู้ถามเขียนมาอย่างนี้แสดงว่าผู้ถามไม่เคยบวช ถ้าไม่เคยบวชนะ ไม่เคยบวชแล้วเขาบอกว่าเวลาเขาไปอ่านประวัติครูบาอาจารย์ไง อ่านประวัติของครูบาอาจารย์แล้ว ไอ้ ๓ คำนี้มันอยากรู้
ถ้าอยากรู้นะ ๓ คำนี้ถ้าเป็นของครูบาอาจารย์นะ ๓ คำนี้ อย่างเช่นพ่อแม่ครูจารย์มหาบัว ว่าอย่างนั้นเลย เวลาท่านเขียนประวัติหลวงปู่มั่น แล้วหลวงปู่มั่นเวลาท่านเคารพศาสดา
“เคารพศาสดา” คำนี้มันมีที่มาที่ไป ถ้ามันมีที่มาที่ไปแล้ว ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ อย่างเช่นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากราบธรรมๆ แล้วถ้าครูบาอาจารย์ท่านกราบธรรมๆ เวลากราบธรรมมันที่มาที่ไปไง
ดูสิ ดูทางโลก เหมืองเพชร บ่อน้ำมันดิบ มันมาจากไหนล่ะ มันมาจากเหมือง มาจากบ่อน้ำมันใช่ไหม ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ศาสนาพุทธมาจากไหนล่ะ ว่าอย่างนั้นเลยนะ พระพุทธศาสนามันมาจากไหน พระพุทธศาสนามาจากไหน
เวลาพระพุทธศาสนามาจากไหน ไอ้เรานี่ เรามีศรัทธามีความเชื่อ แต่ครูบาอาจารย์ของเราท่านประพฤติปฏิบัติด้วยชีวิตของท่านนะ แล้วเวลาหลวงตาท่านบรรลุธรรม ท่านกราบแล้วกราบเล่า กราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นนะ หลวงปู่มั่นท่านบอกว่า หลวงตาท่านเป็นพระอุปัฏฐาก เวลาจะไปพักที่ไหนนะ ถ้ามีหนังสือวางอยู่เสมอ เช่น กุฏิพระโดยทั่วไป หนังสือจะกองอยู่กับเราใช่ไหม ท่านบอกท่านไม่ยอม ท่านต้องรื้อหนังสือยกให้สูงขึ้น ท่านบอกว่าตัวอักษร อักขระตัวอักษรมันสื่อธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ท่านเคารพขนาดนั้นนะ เวลาความเคารพ เคารพจากหัวใจ
อย่างเช่นเรารักพ่อรักแม่ พ่อแม่เราเป็นพ่อแม่ที่ดี เรารักพ่อรักแม่เรา ความรักอันนั้นพูดออกมาไม่ได้เลยนะ ความเคารพบูชานี่มันพูดออกมาไม่ได้เลย แต่ถ้าเวลาจะให้จินตนาการเขียนออกมาเป็นหนังสือ เป็นประวัติต่างๆ อันนั้นอีกเรื่องหนึ่งนะ แต่ความผูกพันหัวใจ เวลาเคารพบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ โอ้โฮ! มันสุดยอด แล้วถ้าครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติมา ฉะนั้น ด้วยน้ำใจอันนั้น ด้วยความเคารพบูชาอันนั้น มันถึงคำว่า “อุปัชฌาย์ๆ”
เราจะบอก “อุปัชฌาย์” มันก็มาจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้วไปเทศน์ปัญจวัคคีย์ พอปัญจวัคคีย์ขอบวชๆ ใครเป็นคนบวชให้
อุปัชฌาย์คือพ่อ เวลาเป็นพ่อเป็นแม่ไง เวลาเป็นพ่อแม่ พ่อแม่คลอดลูกออกมา คือคลอดลูก คลอดพระออกมา ถ้าไม่มีอุปัชฌาย์ เราจะบวชพระได้อย่างไร เราจะบวชอย่างไร
ทีนี้เพียงแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านเป็นอุปัชฌาย์องค์แรก ท่านเป็นศาสดาด้วย ท่านเป็นคนบวชให้ เอหิภิกขุ เอหิภิกขุท่านเป็นคนบวชให้ บวชให้พระอัญญาโกณฑัญญะเป็นองค์แรก แล้วก็บวชให้ปัญจวัคคีย์ บวชให้ยสะ
ด้วยเอหิภิกขุ “เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ศาสดาผู้ที่เป็นเจ้าของศาสนาอนุญาต” ก็เป็นภิกษุมาๆ นี่มาจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทุกอย่างมาจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดูสิ เวลาสวดปาฏิโมกข์ เวลาบัญญัติธรรมวินัย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้กระทำเอง เป็นผู้กระทำเองทั้งนั้นน่ะ
ทีนี้พอพระมันมากขึ้น พอพระมากขึ้นใช่ไหม พอมากขึ้น แบ่งเบาภาระองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ถึงไตรสรณคมน์ ให้ถึงไตรสรณคมน์ใช่ไหม ให้เป็นผู้บวช แล้วพอพระภิกษุมากขึ้นอีก พอมากขึ้นอีกก็ญัตติจตุตถกรรม พิธีกรรม สังฆกรรมๆ วิธีการบวช วิธีการบวชต้องมีอุปัชฌาย์
ทีนี้อุปัชฌาย์ เขาเรียกว่าพระอุปัชฌาย์ๆ พระอุปัชฌาย์นี่นะ โดยธรรมวินัยนะ ภิกษุเป็นผู้ฉลาด ๑๐ พรรษาขึ้นเป็นอุปัชฌาย์โดยอัตโนมัติ โดยธรรมชาตินะ โดยธรรมวินัยไม่ใช่โดยธรรมชาติ โดยธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ภิกษุองค์ใดเป็นผู้บวช ๑๐ พรรษา ๑๐ พรรษาขึ้นไปแล้วเป็นผู้ฉลาด เป็นผู้ฉลาด เป็นผู้ที่ให้ข้อวัตรได้ ให้สั่งสอนได้ ให้นิสัยได้ คือให้นิสัยคือเป็นผู้นำได้ เป็นผู้อบรมสั่งสอน อุปัชฌาย์บวชแล้วต้องอบรมสั่งสอน เป็นผู้ดูแล เหมือนพ่อ พ่อแม่มีลูก พ่อแม่ไม่ทิ้งไม่ขว้าง ต้องดูแลรักษา ทีนี้พอดูแลรักษา ดูสิ เวลาพระเรา เวลาเขาไปจับพระ พระบวชจากใคร ใครเป็นอุปัชฌาย์ ให้อุปัชฌาย์ถอนสังกัด คือถอนจากความเป็นพระ อุปัชฌาย์นี่เป็นผู้ถอน
ฉะนั้น เวลาพระอุปัชฌาย์บวชให้แล้ว ใครเป็นอุปัชฌาย์ เวลาพระไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถามว่าใครเป็นคนบวชให้
พระโสณะ พระโสณะเป็นสัทธิวิหาริกของพระกัจจายนะ พระกัจจายนะให้พระโสณะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ถามพระโสณะว่าใครเป็นคนบวชให้ นี่อุปัชฌาย์ๆ นี่ไง
ทีนี้อุปัชฌาย์ เริ่มต้นเราบอกว่า ถ้าเป็นพระเรา เราเคารพบูชานะ มันเคารพบูชามาจากหัวใจไง ก็พ่อของเรา โดยความเป็นมนุษย์นะ เราเกิดจากพ่อจากแม่ เราเกิดจากครรภ์ของแม่ เราเป็นสายเลือดของพ่อของแม่ แต่เวลาใครมาบวชเป็นพระ อุปัชฌาย์นี่เขาถือว่าเป็นพ่อคนที่ ๒ เวลาโบราณนะ เขาจะเคารพบูชามาก ใครเคยบวชเคยเรียนนะ เขาจะเคารพพ่อกับแม่เขา แล้วเขาจะมีพ่อแม่ที่ ๒ พ่อแม่คืออุปัชฌาย์ที่ให้ได้บวชได้เรียน ได้ให้มีสติให้มีปัญญาการครองเรือน ให้มีสติปัญญาการดูแลรักษาชีวิตนี้ อะไรผิด อะไรไม่ดีจะไม่ทำ เพราะพ่อแม่ก็สอน อุปัชฌาย์ก็สอน
เวลาอุปัชฌาย์ ดูสิ เวลาหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านไม่ได้เป็นอุปัชฌาย์ ไม่ได้เป็นอุปัชฌาย์เพราะอะไร เพราะว่าพอศาสนามันพัฒนาการมา พอพัฒนาการมา มีพระมากขึ้น มีสิ่งใดมากขึ้น ทีนี้อุปัชฌาย์ เวลาอุปัชฌาย์ที่มาบวชมันก็บวชแล้วไม่ค่อยรับผิดชอบ ว่าอย่างนั้นเลยนะ บวชแล้วไม่รับผิดชอบ เอาแต่พิธีการบวช เอาแต่พิธีกรรม แต่เนื้อหาสาระไม่ค่อยมี
พรบ.สงฆ์เขาถึงได้บัญญัติ ได้บัญญัติว่า การจะเป็นอุปัชฌาย์ต้องได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการหรือจากคณะสงฆ์ ถ้าคณะสงฆ์ก็เถรสมาคมนั่นแหละ ว่าอย่างนั้นเถอะ เขาต้องมีการสอบนะ เขาต้องมีการสอบให้เป็นอุปัชฌาย์ แล้วสอบให้เป็นอุปัชฌาย์แล้วต้องมีการอบรม อบรมถึงวิธีการบวช อบรมถึงให้ข้อวัตร ให้กรรมฐาน เสร็จแล้วเวลาบวชแล้วมันก็มีผลทางวินัย
เวลาอุปัชฌาย์บวชให้ เราต้องถือนิสัยอุปัชฌาย์ แล้วเวลาไปบวชแล้วเราต้องไปจำพรรษาที่อื่น หรือว่าในสมัยพุทธกาลนะ เวลาอุปัชฌาย์ตายไปไง เวลาอุปัชฌาย์ตายไป พระที่ไม่มีพ่อไม่มีแม่ ไม่มีใครดูแลก็สึก สึกหาลาเพศไปก็มี เรื่องนี้ไปถึงพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าถึงบัญญัติว่าให้ถือนิสัยอุปัชฌาย์ แล้วถ้าอุปัชฌาย์ตายหรืออุปัชฌาย์สึกไป ให้ถือนิสัยอาจารย์ ถือนิสัยอาจารย์ ไปอยู่กับอาจารย์องค์ใดจะขอนิสัยๆ ให้สังเกต
ในวินัยนะ ถ้าเราจะไปที่พักสงฆ์ใด ไปวัดใด หรือไปที่พักสงฆ์ที่มีครูบาอาจารย์ เข้าไปแล้วเราก็ให้สังเกตกัน ๗ วัน ถ้านิสัยเข้ากันได้ ทิฏฐิเสมอกัน ความเห็นเสมอกัน ให้ขอนิสัย ถ้าไม่ขอนิสัย ราตรีที่ ๗ ล่วงราตรีที่ ๗ ไปแล้วจะเป็นอาบัติปาจิตตีย์ ถ้าไม่ขอนิสัย เราต้องเก็บบริขารเราออกไป คือเราต้องไม่อาศัยท่าน
แล้วเวลาไปขอนิสัยท่านก็ไปขอนิสัย เห็นไหม พอขอนิสัยแล้วก็เหมือนว่าขอให้สั่งสอนข้าพเจ้า คือว่าไปยอมรับตามนิสัยคือข้อบังคับ ว่าอย่างนั้นเถอะ ยอมรับการสั่งสอน ข้าพเจ้าขอยอมรับการสั่งสอนนั้น แล้วอุปัชฌาย์ก็ให้นิสัย ถ้าให้นิสัยนะ อยู่ต่อได้
นี่พูดถึงว่า ถ้าอุปัชฌาย์ตายไป อุปัชฌาย์สึกหาลาเพศไป เขาให้ถือนิสัยอาจารย์ มันก็มีมาเป็นชั้นเป็นตอนไง
ฉะนั้น คำว่า “อุปัชฌาย์” คืออะไร
อุปัชฌาย์เป็นพ่อคนที่ ๒ ในชีวิตนี้ ในชีวิตนี้เพราะส่วนใหญ่แล้วชาวพุทธเราก็บวชหนเดียวไง เราเกิดมาเกิดจากพ่อจากแม่ใช่ไหม เวลามาบวชเราก็มีอุปัชฌาย์อาจารย์ใช่ไหม แล้วถ้ามันเคารพบูชากัน มันถึงคราวเขาจะไปกราบครูบาอาจารย์ของเขา กราบอุปัชฌาย์ของเขา ไปกราบอุปัชฌาย์ของเขามันก็เท่ากับไปฟื้นฟู ฟื้นฟูสติปัญญา ไปฟื้นฟูให้จิตใจมันเข้มแข็งไง
เวลาเราอยู่ทางโลก เวลาไปเผชิญสิ่งใดที่มันกระทบกระเทือน เราก็ท้อแท้ เราก็อยากมีที่พึ่ง เวลาถึงนักขัตฤกษ์ วันสำคัญ เขาก็จะไปกราบอุปัชฌาย์ของเขา สึกไปแล้วเขายังนึกถึงอุปัชฌาย์ของเขาไง เป็นพ่อคนที่ ๒ เป็นพ่อคนที่ ๒
นี่เขาถามว่า คำว่า “อุปัชฌาย์” มันคืออะไร
ถ้าไม่เคยบวชพระก็ไม่รู้ว่าอุปัชฌาย์มันคืออะไร แต่ถ้าบวชพระนะ อุปัชฌาย์เป็นผู้ที่ให้เราได้บวช ได้บวชได้เรียน นี่อุปัชฌาย์นะ
แต่เวลาพระกรรมฐานเรา เขาเคารพบูชามาก เขาเคารพครูบาอาจารย์ของเขามาก เขาเคารพทั้งนั้นน่ะ เพราะใครที่มีคุณๆ คนที่มีสติปัญญาเขากตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี นี่พูดถึงความรู้สึกนึกคิดนะ แล้วมันยังมีวินัยบังคับอีก เห็นไหม อุปัชฌาย์อาจารย์ อุปัชฌายวัตร สัทธิวิหาริก เขาทำข้อวัตรต่อกัน
การทำข้อวัตรต่อกัน แม้แต่เราไปพักกับครูบาอาจารย์องค์ใด เราก็ทำข้อวัตร สรงน้ำ นวดเส้น ดูแลความเป็นอยู่ของท่าน เพราะท่านให้คำสั่งสอนเรา เหมือนกับเราไปเรียนวิชา แต่เราตอบแทนบุญคุณของท่านด้วยการดูแลท่าน นี่มันเป็นเครื่องหมายของคนดีไง นี่พูดถึงว่าถ้ามีอุปัชฌาย์มีอาจารย์ นี่พระกรรมฐาน
คำว่า “พระกรรมฐาน” หมายความว่า ข้อวัตรปฏิบัติ หลวงปู่มั่นท่านฟื้นฟูขึ้นมา สมัยก่อนหน้าหลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ เพราะเราฟังครูบาอาจารย์ท่านเล่าให้ฟังไง ก็เหมือนวัดทั่วๆ ไป ก็ต่างคนต่างอยู่ เหมือนกับอิสระ คำว่า “อิสระ” นี่ประชาธิปไตยๆ ไง สิทธิความเป็นมนุษย์เสมอภาคกันๆ
ไอ้นั่นมันประชาธิปไตย ไอ้นี่ธรรมาธิปไตย มันจะเสมอภาคได้อย่างไร เราโง่อย่างกับเต่า ครูบาอาจารย์ท่านบวชของท่านมา ท่านศึกษาของท่านมา ท่านผ่านชีวิตของท่านมา มันจะเสมอกันได้อย่างไร เด็กมันจะเก่งมาจากท้องหรือ เด็กมันจะมีความรู้มาจากท้องได้อย่างไร โตมามันก็ต้องมีการศึกษา มันก็ต้องมีครูบาอาจารย์ฝึกหัดมันขึ้นมา จะประชาธิปไตยตรงไหน จะสิทธิเสรีภาพตรงไหน
ธรรมาธิปไตยๆ ความเป็นธรรมๆ เรายังมืดบอดอยู่ เราก็อาศัยท่าน อาศัยการชี้นำของท่าน นี่ไง ครูบาอาจารย์ของเราไง ถ้าครูบาอาจารย์ของเรา อุปัชฌาย์อาจารย์จะเป็นแบบนั้นไง
ถ้าเป็นแบบนั้น ถ้ายิ่งประพฤติปฏิบัติขึ้นไป ดูสิ เวลาหลวงตาท่านปฏิบัติของท่านนะ เวลาท่านบอกว่า โดยธรรมชาติ โดยธรรมดาเลย คืนไหนจะนอนถ้าไม่ได้กราบหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นก่อน คืนนั้นนอนไม่ได้ จะไปนอนที่ไหนก็แล้วแต่ ก่อนนอนต้องกราบหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นก่อน ถ้าไม่ได้กราบหลวงปู่มั่นก่อน นอนไม่ได้
มันก็ย้อนไปพระสารีบุตร เวลาไปได้ธรรมะจากพระอัสสชิ แล้วพระอัสสชิก็พาบวช ไปให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสั่งสอนจนเป็นพระอรหันต์ จะนอนที่ไหนก็แล้วแต่ ถ้าได้ข่าวว่าพระอัสสชิอยู่ในทิศทางใด จะนอนต้องเอาศีรษะไปทางนั้นๆ เคารพบูชา คิดถึงคุณๆๆ เวลามันคิดถึงบุญคิดถึงคุณ นี่พูดถึงถ้าเราเข้าถึงธรรมได้จริงนะ ไม่ใช่มารยาสาไถย
ไอ้ถ้าเป็นมารยาสาไถย ต่อหน้าก็คิด เครื่องหมายของคนดีก็อยากจะเป็นคนดี ก็พยายามกระทำ ทำแต่ผิวเผินไง แต่ในใจ ในใจเป็นไหม แต่ถ้าในใจมันเป็น มันเป็นจากหัวใจนะ เป็นจากหัวใจมันจะเป็นธรรมๆ ถ้าเป็นธรรม
นี่คำว่า “อุปัชฌาย์” กรรมวาจาก็คู่สวด
ก่อนบวชเขาต้องให้สามเณร ให้ไตรสรณคมน์ อุปัชฌาย์อาจารย์ให้ไตรสรณคมน์ พอให้ไตรสรณคมน์เสร็จแล้วก็ขอบวชใช่ไหม บวชเสร็จแล้วก็ต้องออกมาญัตติจตุตถกรรม เขาจะไปบอกว่า เป็นมนุษย์หรือเปล่า มีหนี้สินหรือเปล่า นี่เป็นหน้าที่ของกรรมวาจาจารย์ กรรมวาจาจารย์ก็จะไปซักไปถาม
ไอ้เราก็ “อามะ ภันเต อามะ ภันเต” ถูกครับ ถูกครับ ดีครับ นี่ “อามะ ภันเต อามะ ภันเต” นี่หน้าที่ของกรรมวาจาจารย์ เสร็จแล้วพระก็พาเข้าไปหาอุปัชฌาย์ อุปัชฌาย์ยกเข้าหมู่
การยกเข้าหมู่นะ “สุณาตุ เม ภันเตฯ” การญัตติ มันจะสำเร็จเป็นพระตรงนี้ ตรงที่เวลาญัตติ “สงฆ์ทั้งหลายจงฟังข้าพเจ้า บัดนี้...”
ถ้า “สุณาตุ เม ภันเตฯ” เขาเรียกญัตติ ญัตติจตุตถกรรม มันจะเป็นสงฆ์ไปตรงนั้นน่ะ ถ้าถึงตรงนั้นปั๊บ เขาจะบอกเลยว่า ถ้าไม่ใช่พระต้องให้อยู่นอกหัตถบาส เพราะเขาต้องการความสะอาดบริสุทธิ์
การคลอดในห้องปลอดเชื้อ เวลาเราคลอด เราคลอดในห้องคลอด เขาต้องปลอดเชื้อ ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เวลาจะยกสงฆ์เข้าหมู่ต้องให้เป็นสงฆ์แท้ๆ นี่พูดถึงสงฆ์แท้ๆ เห็นไหม ทีนี้พอธรรมวินัยมาๆ พอบวชมากขึ้น ผู้ที่แอบบวชแฝงบวชเข้ามาเพื่อหาผลประโยชน์ มันมาหาผลประโยชน์มันก็มีแล้ว วิบัติ ๔ อุปัชฌาย์วิบัติ กรรมวาจาวิบัติ สีมาวิบัติ อักขรวิบัติ วิบัติ ๖ บริขารวิบัติ มันมีวิบัติ ๔ วิบัติ ๖
ทีนี้วิบัติ ๔ วิบัติ ๖ ความวิบัตินี้มันเป็นวิบัติเพราะว่าเขาทำตัวเขาเอง อุปัชฌาย์ที่ท่านทำตัวท่านเองเศร้าหมอง แล้วท่านเศร้าหมอง ท่านเป็นพระโดยไม่สมบูรณ์ แล้วท่านยังมารับหน้าที่บวชพระอยู่นี่ เขาเรียกว่าอุปัชฌาย์วิบัติ
กรรมวาจาวิบัติ กรรมวาจาจารย์ พระอนุสาวนาจารย์ ถ้าเขาทำตัวเขาเองไม่สะอาดบริสุทธิ์หรือเขาทำตัวเขาเองเสียหายนี่เป็นวิบัติ วิบัติแล้วบวชพระเป็นพระไหม
ในวินัยบอกว่าเป็น เป็นขณะที่ไม่รู้นะ แต่ถ้าเมื่อใดวันไหนเรารู้ขึ้นมา เพราะเรารู้ พอเรารู้ขึ้นมา เพราะเราเป็นผู้บวช เป็นพระไหม เป็น ไม่เป็นพระเพราะอะไร ไม่เป็นพระไม่ได้ เพราะเราไม่รู้นี่ เราด้วยความสะอาดบริสุทธิ์ใช่ไหม
เวลาบวชมาเป็นพระไหม เป็น เพราะอะไร เพราะพระต้องเข้าสังฆกรรม พอบวชแล้วต้องลงอุโบสถ บวชแล้วต้องทำสังฆกรรมอยู่ในพระ ถ้าเป็นพระไหม เป็น ถ้าไม่เป็น สังฆกรรมนั้นเป็นโมฆะหมด สังฆกรรมนั้นเป็นโมฆียะหมด คือทำแล้วสูญเปล่า ไม่ได้อะไรเลย แต่ถ้าเป็นพระไหม เป็น แต่ถ้าวันไหนรู้นะ ไม่เป็น
นี่พูดถึงว่า ถ้าเป็นอุปัชฌาย์แล้ว อุปัชฌาย์ได้รับการแต่งตั้ง แต่ถ้าเป็นธรรมวินัย อุปัชฌาย์ตั้งแต่พระอายุ ๑๐ พรรษาขึ้นเป็นผู้ที่ฉลาด ผู้ที่ฉลาดคือพ้นจากนิสัย แล้วท่องปาฏิโมกข์ได้ คือรู้กฎหมาย เป็นผู้บวชได้โดยธรรมวินัย
ทีนี้พอโดยธรรมวินัย ในเถรวาทเรา พอธรรมวินัยมันเปิดช่องให้ ทีนี้เราก็รู้ๆ อยู่แก่ใจเนาะ ในสังคมทุกสังคมมีคนดีและคนไม่ดี ไอ้คนดีเขาก็ โอ้โฮ! ฟูมฟักนะ อุปัชฌาย์อาจารย์ที่ดูแลลูกศิษย์ลูกหา เราหากันเกือบเป็นเกือบตายนะ พ่อแม่ที่ดีเราหากันมาก
ทีนี้ทางโลกเขาเรียกว่า อุปัชฌาย์เป็ด อุปัชฌาย์ไก่ ไข่แล้วไม่ฟัก บวชแล้วไม่ดูแล ทิ้งๆ ขว้างๆ ทำให้เสียหายกันหมด มันเลยต้องมีพรบ.สงฆ์ไง พรบ.สงฆ์มันเป็นการบัญญัติ บัญญัติขึ้นมาโดยสภานิติบัญญัติ เป็นกฎหมายโลก กฎหมายออกโดยรัฐบาลเพื่อบังคับใช้กับภิกษุ
แต่ถ้าเป็นภิกษุเรา ไอ้นี่เราก็ต้องยอมรับ เราเป็นคนไทย บวชแล้วเป็นสงฆ์ เป็นสงฆ์ไทยต้องยอมรับกฎหมายไทย แต่นี้เวลาพูดถึงเวลามันมีที่มาที่ไป ที่มาที่ไปคือธรรมวินัยไง ถ้าธรรมวินัยมันเป็นไปโดยอัตโนมัติ แต่ทีนี้เราก็ทำไม่ได้ เพราะทำไม่ได้ ไม่ใช่ทำไม่ได้ ไม่ควรทำ
ถ้าจริงๆ แล้ว เวลาธรรมวินัยนี่สูง “ธรรมวินัยเป็นศาสดาของเธอ” ธรรมวินัยนี่สูงส่ง สูงที่สุด แต่นี้พอมาอยู่ในรัฐไทย ในรัฐไทยออกกฎหมายไทย ออกกฎหมายไทย เราก็ต้องยอมรับกฎหมายนั้น กฎหมายนี้เป็นลำดับที่ ๒ พอลำดับที่ ๒ ถ้าไม่ได้รับการเป็นอุปัชฌาย์ไปบวชพระถือเป็นคดีอาญา ติดคุก ๖ เดือน อุปัชฌาย์เถื่อน อุปัชฌาย์ต้องมีใบแต่งตั้ง นี่พรบ.สงฆ์นะ อันนี้ไม่มีในธรรมวินัย ในธรรมวินัย เพราะมันเปิดกว้าง พอเปิดกว้าง คนที่มันอาศัยไง อาศัยธรรมวินัยก็ทำให้เสียหาย
เพราะเขาบอกว่า ให้ท่านอาจารย์อธิบายเรื่องอุปัชฌาย์
ทีนี้เราจะบอกว่า อุปัชฌาย์ ในหัวใจเรานะ ในความรู้สึกของเรานะ ครูบาอาจารย์ที่เป็นธรรมสูงส่ง อุปัชฌาย์นี่เรายกให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย อุปัชฌาย์นี้เป็นผู้ทำการแทน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้บวชองค์แรก เป็นผู้บวชให้ปัญจวัคคีย์ เป็นผู้บวชให้ยสะ เป็นผู้บวชให้ชฎิล ๓ พี่น้อง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้บวชให้ แล้วบวชให้แล้วสอนให้เป็นพระอรหันต์ด้วย
เวลาวันมาฆบูชา พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยไม่มีการนัดหมาย เพราะอะไร เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบวชให้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้เป็นพระอรหันต์ทั้งหมด เวลาพระอรหันต์เสวยวิมุตติสุข ความสุขในหัวใจดวงนั้น ความสุขในใจดวงนั้นน่ะมันระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ระลึกถึงบุญถึงคุณ ถึงเวลาแล้วจะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไปเฝ้าด้วยกันโดยไม่ได้นัดไม่ได้หมาย
บวชให้ สอนให้จนเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด มีบุญมีคุณไหม ฉะนั้น อุปัชฌาย์ ถ้าพระครูบาจารย์เรา เราเคารพบูชากันอย่างนั้นเลย
ฉะนั้น พอถึงเวลาแล้วพระเทวทัตจะมาขอปกครองสงฆ์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “แม้แต่พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ เรายังไม่ให้เลย อัครสาวกเบื้องซ้ายเบื้องขวา เรายังไม่ให้ปกครองสงฆ์เลย เราจะให้เธอปกครองสงฆ์ได้อย่างไร”
ในการปกครอง ศูนย์อำนาจ ถ้าอยู่ที่ไหนแล้ว ถ้าเขาไปยึดศูนย์อำนาจนั้น มันก็ทำให้บิดเบือนได้ทั้งนั้นน่ะ ฉะนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงว่าให้สงฆ์ปกครองสงฆ์ ถ้าเป็นหมู่สงฆ์ สงฆ์ ๔ องค์ขึ้นไปให้ประชุมทำสังฆกรรม เวลาประชุมสงฆ์ขึ้นมา เวลาสวดปาฏิโมกข์ขึ้นมาเท่ากับตรวจสอบความสะอาดบริสุทธิ์ของตน ฉะนั้น มันเป็นการกระจายอำนาจ
การกระจายอำนาจ ที่ไหนมีพระ ๔ องค์ ที่นั่นให้ปกครองกัน ที่ไหนมีพระ ๔ องค์ ที่ไหนที่คุ้มครองกันได้ ให้สงฆ์ปกครองสงฆ์ เวลาสงฆ์ลงอุโบสถ เวลามีใครผิดใครถูก เขาจะชี้เลยว่าใครผิดใครถูกจากธรรมวินัยนี้ เขาจะปลงอาบัติกัน นี่ให้สงฆ์ปกครองสงฆ์
ทีนี้คำว่า “สงฆ์ปกครองสงฆ์” คือให้ปัจจุบันปกครองปัจจุบันไง มันก็เลยสืบต่อมาๆ จนเป็นเถรวาทเราอยู่ในปัจจุบันนี้ไง เพราะคนต้องตายใช่ไหม คนไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้าหรอก แต่ธรรมวินัยมันอยู่มาตลอด ๒,๐๐๐ กว่าปีมาแล้วไง แล้วมันมีการปกครองกันมาตลอดไง
ทีนี้ครูบาอาจารย์ที่เป็นธรรม ทีนี้เราเกิด มงคล ๓๘ ประการ มงคลชีวิตไง เราอยู่ในประเทศอันสมควร เราอยู่ในสงฆ์อันสะอาดบริสุทธิ์ เรามีความสุขนะ
เราไปอยู่สงฆ์ที่มีมารยาสาไถย โอ๋ย! เรากระเป๋าแฟบเลยล่ะ มันมีงานประจำน่ะ มีแต่ความจำเป็นทั้งนั้นน่ะ ไอ้เราก็ต้องหาไปช่วยเหลือเขาตลอด เพราะเราก็เป็นชาวพุทธไง เป็นบริษัท ๔ อุบาสก อุบาสิกา เราก็ต้องค้ำจุนใช่ไหม พอค้ำจุนขึ้นไปมันก็กระเป๋าแฟบน่ะสิ
แต่ถ้าเป็นความสะอาดบริสุทธิ์อย่างครูบาอาจารย์ของเรานะ การทำบุญที่ได้บุญมากที่สุดคือการนั่งลงแล้วนั่งขัดสมาธิ หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ การปฏิบัติบูชาสูงที่สุด
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระอานนท์ เวลาท่านจะปรินิพพาน“อานนท์ เธอบอกประชาชนทั้งหมดนะ ที่เขาเคารพบูชาน่ะ ให้เขาปฏิบัติบูชาเราเถิด ให้เขาปฏิบัติบูชาเราเถิด”
เวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศน์สั่งสอน เห็นไหม เขาบอกอามิสบูชาๆ เรื่องข้าวของวัตถุเราไปบูชา บูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ด้วยวัตถุ ด้วยอามิสไง แต่ถ้าเราปฏิบัติบูชา เราปฏิบัติด้วยหัวใจของเราไง หัวใจเราผ่องแผ้วขึ้นมาไง หัวใจเราสะอาดบริสุทธิ์ขึ้นมาไง การปฏิบัติบูชาได้บุญสูงสุดเลย
แล้วทำไมครูบาอาจารย์ที่เป็นธรรมทำไมท่านให้นั่งลงแล้วหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธล่ะ แล้วกระเป๋ามันจะแฟบไหม
มันไม่แฟบหรอก แล้วถ้ามันทำได้จริงนะ โอ๋ย! หัวใจผ่องแผ้วด้วย ยิ่งเคารพถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เคารพศาสนาขึ้นมา โอ๋ย! จิตใจมันยิ่งผ่องแผ้ว มันยิ่งลงใจ มันพอใจ มันลงใจหมด ถ้าเราเกิดในประเทศอันสมควร เกิดในครูบาอาจารย์ที่ดี ฉะนั้น ครูบาอาจารย์ที่ดีนะ
ฉะนั้น มันอยู่ที่สังคมสงฆ์ พระอุปัชฌาย์ พระกรรมวาจาจารย์ พระอนุสาวนาจารย์ มันเป็นรากเหง้าที่จะบวชศาสนทายาทผู้บวชพระ แล้วผู้ที่บวชพระแล้ว บวชมาเป็นพระ ใครบวชมาเป็นบุคคลที่สุกแล้ว
เป็นบุคคลดิบที่ยังไม่ได้ศึกษาธรรมวินัยจะไปมีครอบครัว สมัยโบราณเขาไม่ให้ ไปขอลูกสาวใครเขาก็ไม่ให้ แต่ถ้าบวชแล้วเรียนแล้ว ขอลูกสาวเขาก็ให้ เขาบอกว่าถือว่าเป็นคนสุก เป็นคนที่รู้จักการครองชีวิต เขาจะยกให้ นี่มันเป็นวัฒนธรรมของชาวพุทธ
แล้วโยมเขียนมาถาม โยมเขียนมาถามนี่ก็แปลกเนาะ ไอ้นี่มันเป็นพื้นฐานของชาวพุทธ มันเป็นเรื่องพื้นฐาน แสดงว่าเดี๋ยวนี้ในปัจจุบันนี้สมัยโลกเจริญ สมัยวิทยาศาสตร์ ดูสิ ชาวพุทธเรา ถ้าใครบอกว่าไม่นับถือศาสนาใดๆ เลยนี่เท่มากเลย ถ้านับถือศาสนาพุทธ เห็นพระทำตัวกันเหลวไหลมันอายเขา ไม่กล้าลงทะเบียนว่าเรานับถือศาสนาพุทธ ต่อไปทำบุญก็ไม่กล้าไปวัดนะ อายเขา อายเขา แต่ถ้าได้ทำตัวเป็นนักปราชญ์ ทำตัวเป็นผู้มีปัญญา โอ้โฮ! เก่งมาก กิเลสมันหลอกทั้งนั้นนะ
จะสูงส่งขนาดไหน เรามีพ่อมีแม่ นี่ก็เหมือนกัน เราเป็นชาวพุทธ เรามีอุปัชฌาย์อาจารย์ อุปัชฌาย์ของเรา ดูสิ คนที่บวชแล้วอุปัชฌาย์เขาดีๆ เขาระลึกถึงอุปัชฌาย์เขานะ ถ้าระลึกถึงอุปัชฌาย์เขา
เวลาครูบาอาจารย์ของเราท่านคิดถึง ดูสิ ในสมัยหลวงปู่มั่นน่ะ อุปัชฌาย์ที่ว่าบวชพระอริยบุคคล บวชพระอรหันต์มากที่สุด ท่านเจ้าคุณจูม ธรรมเจดีย์ เจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ นั่นน่ะลูกศิษย์หลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นส่งไปเรียนได้ ๓ ประโยค ได้เป็นพระอุปัชฌาย์ด้วย แล้วท่านบวชให้หมด หลวงปู่ขาว หลวงปู่แหวน ครูบาอาจารย์ที่มีชื่อเสียงๆ เป็นสัทธิวิหาริกของเจ้าคุณจูม ธรรมเจดีย์ ทั้งนั้นเลย
เพราะเจ้าคุณจูม ธรรมเจดีย์ ท่านเป็นอุปัชฌาย์ ท่านถึงได้ปกครองพระกรรมฐาน แล้วถึงเวลาแล้วท่านก็เอาหลวงปู่ขาวกับหลวงตาคุยธรรมะกัน ท่านจะเอาครูบาอาจารย์ของเราตรวจสอบธรรมะกัน คุยธรรมะกันเพื่อความสะอาดบริสุทธิ์ของหมู่สงฆ์
อุปัชฌาย์ที่ดี ครูบาอาจารย์ที่ดีนะ ท่านปกครองดูแลพระเรา แล้วท่านพูดด้วย หลวงตาท่านเล่าให้ฟัง ท่านบอกท่านไม่อยากเป็นหรอกเจ้าคณะภาค ไม่อยากเป็นอะไรเลย แต่ที่ท่านเป็นอยู่นี่เพราะเป็นเพื่อคุ้มครองกรรมฐานไง เพราะไม่ให้กรรมฐาน คนมาดูถูกเหยียดหยามไง
นี่หัวใจของอุปัชฌาย์ เจ้าคุณจูม ธรรมเจดีย์เป็นอุปัชฌาย์ ได้รับการแต่งตั้ง นี่อุปัชฌาย์โดยกฎหมาย อุปัชฌาย์โดยวัฒนธรรมของพระพุทธศาสนา ถ้าอุปัชฌาย์โดยธรรมวินัย โดยธรรมวินัยนี่เป็นอัตโนมัติเลย มันเป็นโดยเนื้อหาสาระเลย แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นองค์แรก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นคนบวชให้ ฉะนั้น ถ้าอุปัชฌาย์ เราระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เจ้าของศาสนาเลย
ฉะนั้น ใครที่ได้เป็นอุปัชฌาย์อาจารย์ต้องมีเกียรติภูมิเพื่อลูกหลาน เพื่อความดี เพื่อความมั่นคงในศาสนา ทำหน้าที่สิ่งใดแล้วต้องรับผิดชอบ รับผิดชอบนะ นี่ถ้าคนดีมันดีอยู่แล้วแหละ
ทีนี้เพียงแต่ว่าวันนี้เขียนมาก็เลยขอพูดนิดหนึ่ง นี่ขอพูดนิดหนึ่งนะ แต่โดยข้อเท็จจริงเขาบอกว่า “ขอความเมตตาให้พระอาจารย์อธิบายความหมายได้ไหมครับ”
นี่อธิบายความหมาย คำว่า “พระอุปัชฌาย์” เหมือนกัน แต่ได้รับการแต่งตั้ง เวลาบอกพระอุปัชฌาย์เป็นพระเหมือนกัน เราบวชมาเป็นพระๆ หมดล่ะ แต่เป็นพระมันต้องมีการศึกษามีการเล่าเรียนใช่ไหม พอเล่าเรียนมาแล้วได้เป็นมหาก็ได้พัดยศ ได้ต่างๆ ขึ้นมา เวลาพัดยศมันเป็นยศถาบรรดาศักดิ์ แต่โดยข้อเท็จจริงเป็นพระเหมือนกัน เป็นพระด้วยกัน เป็นพระนี่แหละ แต่ได้รับการแต่งตั้ง ต้องได้รับการแต่งตั้ง ได้รับตราตั้ง แล้วถึงจะทำหน้าที่นั้นๆ ตามแต่ตำแหน่งของตน แต่ถ้าไม่ได้รับตราตั้งในพรบ.สงฆ์ไปทำไม่ได้เพราะเราไม่ได้รับตราตั้ง คือเราไม่ได้สิทธิตามกฎหมายพรบ.สงฆ์ แต่ถ้าเราได้รับการแต่งตั้ง มันได้รับหน้าที่พรบ.สงฆ์
นี่พูดถึงว่าความหมายไง ความหมายของพระอุปัชฌาย์ แล้วความหมายของพระอุปัชฌาย์มันได้รับการแต่งตั้ง คำว่า “ความหมาย” ความหมายมาจากไหน
พระก็เหมือนพระ ทีนี้เวลาพระได้รับการแต่งตั้งเป็นสมณศักดิ์ เวลาสมณศักดิ์นี่เขาเรียกว่าพระสมณศักดิ์ลอย คือว่าได้สมณศักดิ์โดยคุณงามความดี แต่ถ้าได้สมณศักดิ์ด้วย แล้วได้รับตำแหน่งปกครองด้วย ได้รับตำแหน่งปกครองคือว่าเป็นเจ้าอาวาส เป็นเจ้าคณะตำบล เป็นเจ้าคณะอำเภอ เป็นเจ้าคณะจังหวัด เป็นเจ้าคณะภาค รองเจ้าคณะภาค ผู้ช่วยเจ้าคณะภาค แล้วก็ขึ้นไปเป็นชั้นๆ นี่ได้สมณศักดิ์ด้วย ได้ตำแหน่งปกครองด้วย นี่พระเหมือนกัน แต่มันมีตำแหน่งไง
ทีนี้บอกว่า พอเราศึกษาไปๆ อืม! ถ้าเมื่อก่อนนะ ถ้าโดยความสะอาดบริสุทธิ์ พระก็ธรรมาธิปไตย พระก็เหมือนพระ พระก็เท่าพระ คือเสมอภาค นั่นเป็นความคิดของโลก แต่เวลาเข้าไปแล้วมันมีตำแหน่งการปกครอง มันมีการพยายาม
เขาจะทำสังคายนามาหลายครั้งแล้วนะว่าให้มีตำแหน่งปกครอง แต่ไม่ให้มียศถาบรรดาศักดิ์ไง เพราะยศถาบรรดาศักดิ์เขาเลิกไปตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ว่าสมณศักดิ์เขาไม่ยกเลิกด้วย
ถ้ายกเลิก เราว่าดี เราก็อยากให้ยกเลิก แต่ให้มีตำแหน่งปกครอง มันจะได้ทำหน้าที่พระให้โดยสมบูรณ์ทุกๆ องค์ พระต้องทำหน้าที่พระ
หลวงตาท่านพูดเอง พระทรงธรรมทรงวินัยไม่ได้ ใครจะทรง
พระจะทรงธรรมทรงวินัยต้องพยายามฝึกหัดให้มีคุณธรรมในใจ แล้วพอมีคุณธรรมในใจแล้วเราถึงเอาคุณธรรมอันนั้นอธิบายสั่งสอนเขา ถ้าไม่มีคุณธรรม เราจะเอาอะไรไปอธิบาย เราทำไม่เป็น เราจะเอาอะไรอธิบาย ถ้ามันทำเป็นแล้วก็จบนะ ฉะนั้น หน้าที่ของพระควรทำตรงนี้ให้ได้ก่อน มันก็เลยเป็นแบบว่าพระไตรปิฎก เป็นทฤษฎี แล้วพอผู้ที่ปฏิบัติแล้วมันก็ได้คุณงามความดีหรือความเป็นจริงในหัวใจ มันจะอธิบายพระไตรปิฎกนั้นชัดเจนมากเลย
นี่ศึกษาพระไตรปิฎกมาด้วยความแห้งแล้ง ศึกษามา ศึกษามาด้วยความรู้ ด้วยความจำ แล้วก็อธิบาย อธิบายปากเปียกปากแฉะ ปากเปียกปากแฉะแล้วมันไม่ได้เนื้อหาสาระ
แต่ถ้าผู้ใด อย่างเช่นหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ในหัวใจท่านเป็นธรรมๆ เวลาครูบาอาจารย์เราท่านเทศนาว่าการก็อ้างอิงพระพุทธเจ้าทั้งนั้นน่ะ เพราะเราได้มาจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่มันอธิบายด้วยข้อเท็จจริง คือว่ามันมีรสมีชาติ มันมีความเป็นจริงไง นี่เราพูดถึงหน้าที่ของพระ พระควรทำตรงนี้ให้ได้ก่อน แล้วเรื่องอื่นมันมาทีหลังไง
นี่พูดถึงอุปัชฌาย์อาจารย์ มันมีที่มาที่ไป มันต้องมีการศึกษา มีการคุ้มครองดูแล มีการฝึกหัดกันขึ้นมา มันถึงจะส่งทอดมา ศาสนทายาท ธรรมทายาท องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านพยายามสร้างศาสนธรรม สร้างศาสนทายาท สร้างๆๆ
“มารเอย เมื่อใดภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาของเรายังไม่เข้มแข็ง ไม่สามารถกล่าวแก้คำจาบจ้วงของลัทธิต่างๆ ได้ เราจะไม่ยอมนิพพาน”
มารดลใจแล้วดลใจอีก จนถึงวันมาฆบูชา ครั้งสุดท้ายมารดลใจขึ้นมา “มารเอย บัดนี้ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาของเราเข้มแข็ง สามารถกล่าวแก้คำจาบจ้วง” คือการดูถูกดูแคลนน่ะ คนนู้นก็ดูถูกทีหนึ่ง คนนี้ก็ดูแคลนทีหนึ่ง ถ้าคนมันมีธรรมนะ มันกล่าวแก้ได้ไง มันพูดด้วยเหตุด้วยผล ถ้าจะคุยด้วยเหตุด้วยผล
แต่ถ้าเขาไม่คุยด้วยเหตุด้วยผล เอาสีข้างเข้าถูด้วยกิเลสตัณหาความทะยานอยากของเขา ด้วยความปิดหูปิดตา นั่นก็เรื่องของเขา เป็นกรรมของสัตว์ ถ้ากรรมของสัตว์ก็ยกให้กรรมของสัตว์ไป ยกให้กรรมของเขา
แต่ถ้ามันโดยความสะอาดบริสุทธิ์ ด้วยความสงสัย ด้วยการค้นหา ด้วยการอยากรู้ความจริง นั่นน่ะ ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ นี่เป็นมงคลชีวิตไง นี่ไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนาตรงนี้ไง ถ้าปรารถนาตรงนี้ เราทำขึ้นมา ฉะนั้น มันถึงต้องมีอุปัชฌาย์มีอาจารย์ฝึกฝนกันมา ต่อเนื่องกันมา ให้สงฆ์ปกครองสงฆ์ ให้มันเป็นธรรมมาจนมาถึงปัจจุบันนี้ จบ
ถาม : เรื่อง “กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์”
กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ที่เมตตาตอบคำถามครับ ท่านพระอาจารย์เมตตาตอบคำถามวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๖๐ ในชื่อ “ธรรมสอน” กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์มากครับ
ตอบ : ถ้ากราบขอบพระคุณ เราก็ตอบตามหน้าที่ของเรา ตอบตามหน้าที่ของเรา วันนั้นคือคำสอนหรือว่าทางเดิน เขียนมายาว คือเขาก็สงสัยในทางเดินของเขา ฉะนั้น เราถึงบอกว่า สิ่งที่รู้ที่เห็น สิ่งที่รู้ที่เห็นนี่ธรรมสอนๆ ไง ธรรมสอนคือว่าธรรมสังเวช
เวลาครูบาอาจารย์ของเราท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมานะ เวลาพุทโธก็ได้ ปัญญาอบรมสมาธิก็ได้ถ้าจิตสงบ พอจิตสงบขึ้นมามันจะเกิด อย่างเช่นหลวงตา หลวงตานี่นะ เวลาท่านเดินจงกรมของท่าน ท่านพิจารณาของท่านนะ ถ้าเดินจงกรมจิตมันดีขึ้น เวลามันพิจารณาไป มันมองไปด้วยสายตา ท่านบอกภูเขาเลากาทะลุไปหมดเลย อู้ฮู! ท่านก็มหัศจรรย์จิตของท่านน่ะ ท่านมหัศจรรย์มากเลย
ท่านบอกว่า พอเพลินๆ อยู่อย่างนั้นน่ะ ความคิดมันผุดขึ้นมาเลย “สิ่งที่รู้ที่เห็น ไอ้ที่ภูเขาเลากาทะลุปรุโปร่งไปเกิดจากจุดและต่อมนะ เกิดจากจิตของเรานะ”นี่ธรรมสอน เวลาธรรม ธรรมมันผุด เวลาธรรมสอนนะ
หลวงตาท่านพูดเอง ท่านบอกว่าเวลาท่านเห็นท่านมหัศจรรย์ จิตเรามหัศจรรย์มาก มันทะลุปรุโปร่งไปหมด ไม่มีวัตถุสิ่งใดจะปิดหูปิดตาได้เลย มันมองเห็นเหมือนตาทิพย์
ใครๆ ก็ต้องว่าตัวเองสุดยอดใช่ไหม แต่นี้ธรรมกลัวจะเพลิดเพลิน กลัวหลงไง มันผุดขึ้นมาเลยนะ “สิ่งที่รู้ที่เห็นเกิดจากจุดและต่อมหรือเกิดจากจิต” ท่านสะอึกเลยนะ ถ้าเกิดจากจิตต้องย้อนกลับมาที่จิตสิ พอย้อนกลับมาที่จิต ท่านก็มาค้นคว้าต่อ นี่เขาเรียกว่าธรรมเกิด พอธรรมเกิดขึ้นมา ถ้าเป็นธรรมๆ นะ มันจะสังเวช สังเวช มันภูมิใจ ธรรมสังเวชคือจิตมันพอง ธรรมสังเวช
แต่ถ้าเราสลดสังเวช มันทุกข์นะ มันเฉา มันหงอย แต่ธรรมสังเวช โอ้โฮ! มันตาพองเลย หูตานี่พองเลยนะ นี่ธรรมสังเวช เวลาธรรมสอนๆ ถ้าใครมีวาสนามันจะผุดขึ้นมา แต่คนเราเวลามันผุดแล้วไม่รู้ไง เวลาอะไรผุดขึ้นมาน่ะ เอ๊อะ! เอ๊อะ! งง งงเลย เอ๊ะ! นี่คืออะไร นี่คืออะไร ธรรมมันผุด ธรรมมันสอน
ฉะนั้น เวลาเขาเขียนมาหลายๆ หน้านั่นน่ะ
คำว่า “ธรรมสอน” หมายความว่า ประสบการณ์ที่โยมปฏิบัติมา ประสบการณ์ที่โยมปฏิบัติมาได้รู้ได้เห็น ได้จิตมันสงบบ้าง จิตมันล้มลุกคลุกคลานบ้าง นั่นน่ะธรรมะมันสอน ถ้าสอนแล้วเราเอาตรงนี้เป็นประสบการณ์ พอเป็นประสบการณ์นะ เราต้องมีการกระทำต่อเนื่องๆ ไป การกระทำต่อเนื่อง เพราะมันอยู่ที่อำนาจวาสนาของคน
วาสนาของคนที่เข้มข้นพอทำสิ่งใดแล้วมันจะฉลาด มันจะเกิดกำลัง มันจะเกิดปัญญา มันจะเกิดทะลุทะลวงไปเลย แต่ของเรานี่นะ ของเราเป็นผู้ที่มีบารมีแต่อ่อนด้อย เรามีปัญญาของเรานะ เราก็รู้ของเรานะ แต่มันไม่ทะลุทะลวงไง มันยังสงสัยอยู่ไง มันถึงต้องทำซ้ำๆ ทำซ้ำเพราะว่ามันยังสงสัย มันยังลังเล คิดได้ พิจารณาได้ แต่มันยังไม่ลงใจ ก็พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า นี่ไง นี่พัฒนาขึ้น เพราะมันอยู่ที่วาสนา อยู่ที่กำลัง อยู่ที่พันธุกรรมของจิตที่สร้างมามากหรือน้อย เราถึงบอกว่าธรรมสอน พอสอนแล้วให้พยายามฝึกหัดต่อเนื่องไป
ไอ้ที่พูดๆ นี่เพราะอยากให้กำลังใจ อยากให้ประพฤติปฏิบัติต่อไป เราไม่ต้องไปเอาสมบัติของคนอื่นมาเทียบเคียงกับเรา สมบัติของเขาเป็นของเขา แต่ของเราทำแล้วมันสุขหรือมันทุกข์ มันดีขึ้นหรือมันเลวลง เราพยายามทำให้เราให้ดีขึ้น พัฒนาของเราขึ้น เราทำเพื่อบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
หน้าที่ของพระๆ พระต้องทำให้มีคุณธรรมขึ้นมาในใจ หน้าที่ของชาวพุทธๆ เราก็ประพฤติปฏิบัติขึ้นมาให้มีคุณธรรมในใจของเรา ให้มีคุณธรรมไง ให้มีสัจธรรม นี่เป็นอาหารของใจๆ ไง เราเกิดมามีชีวิตเราก็หาปัจจัยเครื่องอาศัยดำรงชีพ แต่เราประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อหัวใจของเรา เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก รู้จำเพาะใจ รู้จำเพาะใจ รู้กลางหัวใจ นี้คือสมบัติของใจ เอวัง