ใจอ่อนแอ
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๐
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “พระ”
กราบนมัสการหลวงพ่อที่เคารพ
๑. หนูขอรบกวนถามหลวงพ่อเรื่องพระค่ะ พอดีหนูรู้จักกับพระองค์นี้มาตั้งแต่ท่านบวชเณรเพราะเป็นเพื่อนกับลูกชายหนู แต่ท่านเป็นพระมหานิกายอยู่วัดปฏิบัติธรรมที่ดำเนินฯ ค่ะ ท่านเคยถามว่า ท่านต้องการแสวงหาที่สัปปายะที่วัดหลวงพ่อ ท่านก็ถาม แต่หนูไม่รู้จะพาท่านมาที่วัดหลวงพ่อได้หรือเปล่า เพราะว่าท่านไม่ใช่ธรรมยุต ขอเมตตาหลวงพ่อตอบหนูด้วยนะคะ
๒. ตอนนี้ลูกชายหนูอายุครบบวชแล้ว หนูกับลูกก็เป็นลูกศิษย์หลวงพ่อมาหลายปีแล้ว แต่ว่าลูกหนูเขาบอกว่าเขาไม่กล้าบวชที่วัดหลวงพ่อเพราะกลัวปฏิบัติไม่ได้แล้วจะเป็นบาป เขาจะไปบวชที่วัดบ้าน หนูก็ทะเลาะกับเขาอีกว่า ทำไมพบพระแท้แล้วจะหนีไปหาพระเทียมอีก ลูกทำผิดหรือเปล่าคะ เพราะถ้าหนูถามคำถามไม่เหมาะสม หนูกราบขอขมาหลวงพ่อด้วยค่ะ
ตอบ : อันนี้พูดถึงว่าความวิตกกังวลระหว่างแม่กับลูก เวลาแม่ แม่ก็มีความปรารถนาดี มีความต้องการดีทั้งนั้นน่ะ แต่ความปรารถนาดี ความต้องการดีของแม่ก็เป็นความคิดอันหนึ่ง ทีนี้เวลาลูก ลูกเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ แค่มาวัดมาวานะ ไปวัดไปวามันก็เป็นบุญกุศลแล้วแหละ
เวลาเรามีลูกมีเต้าของเรา เราก็ต้องการให้ลูกเต้าเป็นคนดี ถ้าลูกเต้าเป็นคนดี เวลาเข้าถึงเรื่องศาสนา พระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาสอนถึงความเป็นคนดี แม่กับลูกกตัญญูกตเวที แม่กับลูกคุยกันได้ อันนี้เป็นบุญกุศลแล้ว
เวลาแม่กับลูก ลูกเวลาโตขึ้นมามันก็คบเพื่อนของมัน เวลาเราเลี้ยงลูกเลี้ยงเต้าของเรา ลูกเต้าของเราตอนเด็กเล็กๆ เราก็ดูแลเขา ไร้เดียงสา มันอาศัยพ่อแม่มันก็เป็นที่น่ารัก เวลาโตขึ้นมามันคบเพื่อนคบฝูงขึ้นมา โอ๋ย! เป็นเรื่องที่น่าปวดหัวทั้งนั้นน่ะ
การครองเรือนมันแสนยาก การครองเรือนนะ การครองเรือนการครองหัวใจของเรา เราต้องครองหัวใจของเรา ยังต้องครองหัวใจของคู่ครองของเรา พอคู่ครองของเรา เราต้องครองใจลูกหลานของเรา เห็นไหม ครองใจๆ ครองใจคือการสื่อสารไง คือการสื่อสาร คือการชักนำ คือการทำให้เป็นคนดีไง พอการทำเป็นคนดี การครองเรือนนี้เป็นเรื่องแสนยาก
ทีนี้พอเป็นเรื่องแสนยากขึ้นมาแล้ว เราเกิดเป็นมนุษย์เกิดมาพบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนากล่อมเกลาจิตใจของชาวพุทธเราไง ถ้ากล่อมจิตใจของชาวพุทธเรา ถ้าเราพาเข้าวัดเข้าวาแล้วเราคุยกันรู้เรื่อง นั่นก็เป็นบุญกุศลอันหนึ่ง
แล้วเวลาเขาเป็นคนดีแล้ว เวลาถ้าเขาจะบวชจะเรียน ถ้าเขาจะบวชจะเรียน ถ้าเขาบวชเรียน ถ้าที่ไหนถ้าเป็นประโยชน์กับเขาได้มันก็เป็นประโยชน์อันหนึ่ง แล้วถ้าหัวใจเขาพัฒนาขึ้นมา เขาจะหาครูบาอาจารย์ที่ดี ถ้าครูบาอาจารย์ที่ดี ครูบาอาจารย์ที่ประพฤติปฏิบัติ มันเป็นเป้าหมายไง
เวลาเทศน์กรรมฐานๆ เทศน์กรรมฐาน ท่านสอนให้มีสติให้มีปัญญา ให้มีสติปัญญา ปัญญาคืออะไร ปัญญาคือพาตัวเรารอดไง รอดจากสังคมไง สังคมที่มนุษย์กินมนุษย์ไง ถ้ามีสติมีปัญญาเอาตัวรอดได้ เอาตัวรอดแล้วไม่เอาตัวรอดเปล่านะ เอาตัวรอดแล้วเรายังเป็นผู้นำที่ดี เป็นที่ปรึกษา เป็นที่คอยชักนำสังคมให้สังคมเป็นสังคมที่ดี นี่พูดถึงว่าถ้ามีสติมีปัญญา แล้วถ้าคนมีอำนาจวาสนามากขึ้น เขาอยากจะประพฤติปฏิบัติให้พ้นจากทุกข์ ถ้าพ้นจากทุกข์ ในฆราวาส ฆราวาสที่จะประพฤติปฏิบัติให้พ้นจากทุกข์เขาก็ขวนขวายของเขา
เราเป็นฆราวาสนะ เราต้องมีสัมมาอาชีวะหน้าที่การงานของเราเพื่อเลี้ยงชีวิต เลี้ยงชีวิตแล้วเราต้องประพฤติปฏิบัติไง แต่ถ้าเริ่มต้นขึ้นมาเราก็แสวงหา ก็เลี้ยงปากเลี้ยงท้องให้มีสัมมาอาชีวะ มีอาชีพของเรา เวลาโตขึ้นมาแล้ว ชีวิตก็เป็นแค่นี้ เวลาจะปฏิบัติก็ปฏิบัติตอนแก่ตอนเฒ่า ตอนแก่เฒ่าเข้าวัดเข้าวาก็ประพฤติปฏิบัติไง หาทรัพย์สมบัติของใจ เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะให้มีทรัพย์สมบัติของมันไป นี่พูดถึงว่าถ้าใจมันพัฒนาเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา
แต่ถ้าใจมันยังไม่พัฒนาเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา เขาเกิดเป็นมนุษย์เกิดมาพบพระพุทธศาสนา ถ้าเขาจะบวชจะเรียนที่วัดไหนมันก็สมควรน่ะ ที่วัดไหนนะ ก็มันเป็นความสะดวก เป็นความสะดวกของเขา แต่นี่ความคิดของเราไง ความคิดของแม่ แม่ก็อยากจะให้มาบวชกับวัดหลวงพ่อ ไอ้ลูกชายก็บอกว่ามาบวชกับวัดหลวงพ่อก็กลัวจะปฏิบัติไม่ได้ ถ้าปฏิบัติไม่ได้
แต่ถ้าเด็กไง เด็กบางที ที่นี่ปีทั้งปีจะมีพระมาบวชเยอะแยะ จะมีพ่อแม่พามาบ้าง ไอ้ลูกบางทีลูกมาเองนะ ลูกขวนขวายมาเอง ไอ้ลูกขวนขวายมาเอง ลูกอยากปฏิบัติ ไอ้พ่อแม่ก็บอกว่า แหม! วัดข้างบ้านก็ได้ แหม! ทำไมมันต้องยุ่งวุ่นวายขนาดนี้
มี เวลาเขาพามาฝากนะ บางทีพามาฝาก ไอ้ลูกหลานจะมาบวช บวชให้พ่อแม่ที่ไหนก็ได้ บวชทั้งนั้นน่ะ เว้นไว้แต่บวชวัดหลวงพ่อไม่เอา บวชที่ไหนก็ได้ แต่ถ้าวัดหลวงพ่อไม่เอา มันกลัวลำบากมันไง ขนาดจะบวชนะ ขนาดวัดบ้านเขากินสองมื้อสามมื้อก็ยังวิตกกังวลเลยว่าจะอยู่ได้หรือไม่ได้ แหม! จะพามาบวชอย่างนี้มันทรมานกันเกินไป
แต่เด็กบางคนมันขวนขวาย มีนะ เด็กมันขวนขวายมาเองแล้วพาพ่อแม่มา เพราะธรรมดาจะบวช พ่อแม่ก็ต้องอนุญาตไง เขาก็มากันที่นี่ แล้วเราก็ให้เด็กไปคุยกับพระไง โอ้โฮ! พ่อแม่เขาอยู่กับเรา เขาบ่นออดแอดๆ บ่นน่าดูเลย มันยุ่ง มันวุ่นวาย บวชที่ไหนก็ได้ แหม! ทำไมต้องมาบวชไกลขนาดนี้ โอ๋ย! ลำบากลำบนไปหมดน่ะ แล้วเขาก็บวช พอบวชเสร็จแล้วพ่อแม่เขาก็มาเยี่ยมเป็นครั้งเป็นคราว เดี๋ยวนี้พ่อแม่มาบ่อยเลย เห็นไหม
เวลาเข้ามาซึมซับแล้ว ไอ้กรณีอย่างนี้มันเป็นกรณีที่ว่าวุฒิภาวะของจิต จริตนิสัยของจิตที่มันมีกำลังมากน้อยแค่ไหน ความเห็นของเขานะ ไอ้นี่พูดถึงความเห็น ความเห็นมันเป็นเรื่องจริตนิสัย แล้วทีนี้ความเห็นแล้วมันก็แบบว่าเป็นไปตามวัย ไอ้ลูกมันก็ว่าตัวเองจะได้หรือไม่ได้ ไอ้แม่ไม่ได้ทำก็บอกว่าได้ ดีที่สุด เจอพระแท้ ไปพระเทียมอะไร ก็ว่าไปนั่นน่ะ
ก็เอ็งไม่ได้ทำ เอ็งไม่ลำบาก ลองเอ็งลำบาก เอ็งจะทนไหวหรือเปล่า แต่ถ้ามันเป็นความขวนขวายของหัวใจนะ ไอ้กรณีนี้เราต้องคิด ต้องเห็นใจเขาใจเราไง
เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านเทศนาว่าการนะ เทวดาถาม“ควรทำบุญที่ไหน”
“ควรทำบุญที่เธอพอใจ”
เราฟังแล้ว เทศน์ทุกวันเรื่องอย่างนี้ “เธอควรทำบุญที่เธอพอใจ” คำว่า“พอใจ” มันยอมรับแล้วมันทำได้ ถ้ามันไม่พอใจนะ มันกีดมันขวาง มันไม่พอใจ มันไม่เอาหรอก
“ควรทำบุญที่ไหน”
“ควรทำบุญที่เธอพอใจ” ที่พอใจรีบๆ ทำนะ รีบๆ ทำ เพราะเดี๋ยวกิเลสมันหาเรื่อง นู่นก็ไม่ดี นี่ก็ไม่ดี ไม่ถูกต้องไปสักเรื่องหนึ่ง กิเลสมันไม่มีใครใหญ่กว่ามันหรอก แล้วถ้ามันลงที่ไหน มันพอใจที่ไหนนะ เอาที่นั่นเลย
แล้วท่านก็ถามว่า “แล้วถ้าน้ำหนักล่ะ บุญกุศลมากน้อยอย่างไรล่ะ”
โอ๋ย! ถ้าอย่างนี้ท่านพูดอีกเรื่องหนึ่งเลย นี่พระพุทธเจ้าพูดเองนะ อยู่ในพระไตรปิฎก “ควรทำบุญที่เธอพอใจ” เธอพอใจที่ไหนรีบๆ ทำเสีย เพราะกิเลสมันร้ายกาจนัก เดี๋ยวมันก็หาเหตุผลโต้แย้งจนไม่พอใจอยู่วันยังค่ำน่ะ
แล้วถ้าเอาเหตุเอาผลกันล่ะ เอาบุญกุศลล่ะ
อย่างนี้เป็นวิทยาศาสตร์แล้ว วิทยาศาสตร์มันเป็นที่เนื้อนาบุญของโลก ถ้าเนื้อนาที่ดี ดินดี น้ำดี หว่านพืชไปแล้วมันจะดี ถ้าดินมันไม่ดี ดินมันแห้งแล้ง ดินมันไม่สมบูรณ์ ให้ผลผลิตมันก็น้อย แล้วถ้าไปหว่านพืชบนลานหินที่ไม่มีดินเลย พืชมันจะงอกขึ้นมาไม่ได้ นี่พระพุทธเจ้าเปรียบเทียบอย่างนี้นะถ้าจะเลือกเนื้อนาบุญน่ะ นี่คนที่ฉลาดเขาจะขวนขวายของเขา
เราเคยอยู่กับหลวงตา มันมีคนไปทำบุญไกลๆ ไปทำบุญกับหลวงตา เขาถามกัน “ทำไมเอ็งต้องมาทำถึงที่นี่น่ะ ทำไมเอ็งต้องไปวุ่นวายกัน” ไปถามผู้เฒ่า ผู้เฒ่าบอกว่า “ของเรามีน้อย เราต้องเลือกที่นาของเรา”
ไอ้คนที่เขาคิดได้นะ เขาขวนขวายของเขา เขาทำของเขา ไอ้คนที่คิดไม่ได้นะ แม้แต่มันจะเสียสละมันยังเสียสละไม่ได้เลย
แล้วเวลามันก็ย้อนกลับมา เวลาหลวงตาท่านทำโครงการช่วยชาติฯ เวลาท่านพูดเลยนะ ลูกศิษย์ลูกหาที่ทำบุญกับท่านด้วยเต็มหัวใจนะ ท่านบอกว่า เงินทองไม่ใช่ของหาง่ายๆ นะ มันไม่ใช่น้ำท่าจะตักที่ไหนก็ได้ เวลาจะทำบุญกุศลทำแต่พอประมาณ ไอ้ที่เราพูดๆ นี่เราพูดถึงคนที่ไม่ได้ทำ ไอ้คนที่มันมั่งมีศรีสุข มันมีน้ำมหาศาลเลย แต่มันตระหนี่ถี่เหนียวของมัน มันปิดก๊อกไว้ มันไม่เคยเปิดให้ใครเลย
ท่านพูด ท่านพูดตรงนั้น ท่านพูดถึงคนที่มีกำลัง คนที่มีความสามารถที่จะช่วยใครได้ควรจะเจือจานคนอื่นบ้าง แต่เวลาพูดไป คนนั่งในศาลาใช่ไหม คนมันเยอะใช่ไหม ไอ้คนที่จิตใจเป็นธรรมมันก็เห็นครูบาอาจารย์ท่านขวนขวาย ก็รีบทุ่มเทๆ ท่านก็เห็นใจนะ
พอเห็นใจ ท่านบอกว่า น้ำท่านี่นะ เงินทองมันของหายาก จะทำอะไรก็พอประมาณ ไม่ต้องมากนักหรอก แต่ที่ท่านพูดอยู่นี่ท่านพูดถึงคนที่ไม่ทำๆ คนที่ไม่ทำเขามีกำลังจะช่วยคนอื่นได้มันไม่ช่วย นี่ท่านพูดถึงคนคนนั้น ท่านพูดถึงคนที่มันไม่ทำ ที่ท่านเทศนาว่าการท่านพยายามเจาะไอ้คนที่มันมีแล้วมันเก็บซ่อนไว้น่ะ แต่ไอ้คนที่มีแล้ว ทำแล้วๆ ก็ควรจะพอประมาณตน
หลวงตาท่านพูดเอง เวลาจะกลับจากสวนแสงธรรม ท่านจะพูดวันท้ายๆ แล้วเวลาวันสุดท้าย วันจะกลับนะ “เราทำให้ลูกศิษย์เราบอบช้ำ เราทำให้ลูกศิษย์เราบอบช้ำ”
คำว่า “บอบช้ำ” นะ แต่ก็เป็นบุญของเขา แต่ก็เป็นเจตนาของเขา เป็นความบริสุทธิ์ผุดผ่องของเขา แต่มันก็บอบช้ำ เห็นไหม
เราจะบอกว่า เรื่องของธรรมมันกว้างขวางยิ่งใหญ่นัก แต่เรื่องของโลก เรื่องของโลกมันก็มีความจำเป็นใช่ไหม มีความจำเป็นต้องใช้ต้องสอย
เราอยู่ทางโลกและทางธรรม ถ้าเป็นธรรม เป็นบุญกุศล เป็นเรื่องของธรรม ถ้าเป็นเรื่องของโลกนี่เป็นเรื่องของโลก นี่เราพูดถึงอำนาจวาสนาของคน ความรู้สึกนึกคิดของคน จิตใจกว้างขวาง จิตใจคับแคบสิ่งต่างๆ มันร้อยแปด
ฉะนั้น เวลาจะพูดถึงคนมันต้องมีหลักเกณฑ์อันนี้มันถึงมองคนได้ทะลุปรุโปร่งไง ไม่ใช่มองคนแล้ว “ประชาธิปไตยๆ” จะวัดกันเลย ควักมาคนละ ๕ บาทเท่ากัน
คนเราจิตใจมันสูงส่งนะ เขาไม่ให้ ๕ บาทหรอก เขาจะให้ ๕๐๐ ไอ้คนที่จิตใจมันคับแคบ ๕ บาท ๕ บาทนี้ไว้ซื้อยาคูลท์ให้ลูก มันไม่ให้ ประชาธิปไตยไง จะวัดกันเท่านั้นไง แต่ถ้าเป็นจิตใจ จิตใจของคน จิตใจมันกว้างขวาง จิตใจสูงต่ำมันแตกต่างกันนะ ถ้าแตกต่างกัน เห็นไหม
ถ้าเรามีหลักเกณฑ์อย่างนี้ เราวัดใจของคน ดูใจของคน มันจะเข้าใจไง เออ! ถ้าจิตใจมันยังแห้งแล้งอยู่นะ มันควักบาทเดียว โอ้โฮ! มันก็สุดยอดแล้วนะ กว่ามันจะควักได้ โอ้โฮ! บาทเดียวควักออกมาแล้วมันยังกำแล้วกำอีก มันยังไม่ให้เลย พูดอย่างไรให้มันคลายมือออก บาทนั้นได้มาก็สุดยอด นี่ใจของคนไง เพราะอะไร เพราะเขาทำใจไม่ได้ไง เขาทำใจไม่ได้
นี่ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามองที่นั่น นี่เราพูดถึงพื้นฐานของมนุษย์ พูดถึงเรื่องของหัวใจ อำนาจวาสนาของคน ใจอ่อนแอ ใจเข้มแข็ง
เวลาใจเข้มแข็งนะ อย่างเช่นหลวงตาเวลาท่านบวชแล้วท่านศึกษาก่อน ท่านอยากให้มีความรู้ก่อน เพราะท่านมีอำนาจวาสนาของท่าน ท่านต้องเป็นตัวของท่านเองก่อน พอตัวท่านเองเสร็จแล้ว เรียนจบเป็นมหา แล้วท่านมุ่งเป้าไว้เลยว่าถ้าท่านจะปฏิบัติต้องไปหาหลวงปู่มั่นอย่างเดียว
แล้วเวลาไปพักที่ท่าบ่อ ที่หนองคายนั่นน่ะ ท่านบอกว่าไปพักที่นั่น มีหลวงปู่กู่อยู่ที่นั่น หลวงปู่กู่ หลวงปู่กว่าก็เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน ท่านก็อุปัฏฐากหลวงปู่กู่ หลวงปู่กว่า แล้วหลวงปู่กู่ท่านจะให้อยู่กับท่าน แต่ท่านปักแล้วว่าท่านจะต้องไปหาหลวงปู่มั่น แล้วเขาก็ร่ำลือว่า โอ้โฮ! ดุมากๆ บังเอิญพระที่มาก็มาแวะหาท่านนั่นล่ะ บอกว่ามาจากวัดหนองผือ “อู้ฮู! ท่านดุมากนะ ท่านดุมากนะ”
ท่านคิดเลย ดุขนาดไหนก็จะไป ไอ้คำว่า “ดุๆ” นี่เป็นคำร่ำลือของสังคม ถ้ามันดุจริงไม่จริง เราต้องไปประสบเองไปพบเอง แล้วท่านก็บากบั่นขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น วันแรกเข้าไปก็เจอจริงๆ เจอจริงเลย “ผมๆๆ” กระเด็นเลย แต่ท่านบอกว่าเป็นบวก ยิ่งพูดอย่างไร เพราะอะไร เพราะคำพูดอย่างนั้นน่ะมันมีเหตุมีผล มันเข้าถึงหัวใจไง
นี่เราบอก คนที่จิตใจเข้มแข็ง คนที่มีเป้าหมาย เขาขวนขวาย เขาแสวงหา เขาต้องการ ครูบาอาจารย์ของเรานะ จะไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านเทศน์สั่งสอนอบรมไว้กี่วัน แล้วท่านให้อยู่ข้างๆ ท่านไม่ให้อยู่กับท่าน ถ้าอยู่กับท่านมีสององค์สามองค์เท่านั้นน่ะ
เราอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่เจี๊ยะบอกเลย หลวงปู่เจี๊ยะอุปัฏฐากหลวงปู่มั่นอยู่หลายปีไง บอกสมัยท่านอยู่กับหลวงปู่มั่นก็มีเฉพาะตัวท่านกับหลวงปู่มั่นเท่านั้นน่ะอยู่ในป่า อยู่กันองค์สององค์เท่านั้นน่ะ ท่านไม่ให้ใครเข้ามาคลุกคลี ไม่ให้ใครเข้ามาอยู่ใกล้หรอก
เวลาจะเข้ามา ท่านจะแนะวิธีการ ท่านจะบอกวิธีการ แล้วให้ออกไปปฏิบัติตรงนั้นๆ อยู่บริเวณรอบๆ เวลามีปัญหาจะเข้าไปหาท่านได้ทันที นี่เวลาคนที่ขวนขวายเขาขวนขวายกันขนาดนั้น
แต่ไอ้คนที่อยู่ทั่วไป “ไม่เห็นมีพระมาโปรดเลย อยากปฏิบัติเต็มที่เลย ไม่เห็นมีใครสั่งสอนเสียที” มันจะรอให้คนไปสอนมันที่บ้านน่ะ นี่จิตใจของคนมันแตกต่างกันไง ถ้าจิตใจของคนแตกต่างกัน
นี้เอาพวกนี้เป็นมาตรฐานก่อน แล้วถึงจะเข้ามาคำถามไง เพราะถ้าบอกว่า พอเราตอบปัญหาปั๊บ มันจบๆๆ ไป มันบอกว่า ทำไมหลวงพ่อมีมุมมองอย่างนั้น ทำไมสังคมมีมุมมองอย่างนี้
คำว่า “มุมมอง” มุมมองก็นี่ไง จริตนิสัยของคนไง อำนาจวาสนาของคนไง แล้วคนมันมีความรู้สึกนึกคิดอย่างไรไง แล้วเวลาเราคนที่คับแคบ เราก็พยายามทำให้จิตใจเขาเปิดกว้างออกมา อันนี้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว
ถ้าเขาไม่เปิดใจเลย ให้เขาเปิดใจก็นับว่าสุดยอดแล้ว ไอ้คนที่เปิดใจอยู่แล้ว เปิดใจแล้วให้ขวนขวาย ให้ประโยชน์ของตน แล้วคนที่พยายามปฏิบัติ คนที่ขวนขวายอยู่แล้ว เขาปฏิบัติขึ้นมาก็ต้องให้เขาปฏิบัติถูกต้องดีงาม ปฏิบัติแล้วให้เป็นสัมมาทิฏฐิ ให้มันเกิดมรรคเกิดผลขึ้นมาในใจ
แล้วถ้ามันยังไม่เกิด ไม่เกิดก็พยายามฝึกหัดเขาๆ ฝึกหัดเขาให้เขาพัฒนาใจเขา การฝึกหัด จริตนิสัยของใจๆ อำนาจวาสนามันมาจากไหน มันก็มาจากการประพฤติปฏิบัติ มันมาจากการฝึกหัดน่ะ
การทำบุญกุศล สิ่งใดที่มีบุญกุศลสูงสุดคือการภาวนานี่ไง เพราะทาน ศีล ภาวนา จะมีอำนาจวาสนาขนาดไหน ทำบุญกุศลมากน้อยขนาดไหน ถึงที่สุดจะพ้นจากทุกข์ต้องภาวนาอย่างเดียว เพราะภาวนานี้เป็นภาวนามยปัญญา ภาวนามยปัญญาเป็นมรรค ถ้ามันไม่มีมรรค มันจะเกิดผลไม่ได้ เหตุและปัจจัย ต้องมีเหตุของมัน มันถึงจะเป็นไปได้
ฉะนั้น เวลาจะสั่งสอนคนมันก็ต้องสั่งสอนแบบนี้ ตั้งแต่พื้นฐานขึ้นมาให้พัฒนาขึ้นมา ให้เขาเปิดใจเขาขึ้นมา เปิดใจแล้วให้เขาเข้มแข็งขึ้นมา เข้มแข็งแล้วให้เขาทำให้ถูกต้องดีงาม ถูกต้องดีงามแล้วให้ปฏิบัติขึ้นมา ให้เขามีอำนาจวาสนา
ถ้าไม่มีอำนาจวาสนา หัวใจมันไม่เปิด หัวใจไม่เปิด มันเกิดมรรคเกิดผลไม่ได้ ของมันปิดอยู่นี่ คนนอนหลับ ไปพูดกรอกหูมันขนาดไหนมันก็นอนหลับอยู่นั่นน่ะ มันไม่รู้อะไรกับเราหรอก ต้องปลุกให้มันตื่นขึ้นมาก่อน พอตื่นขึ้นมาแล้ว พูดกับมัน มันฟังไหม ถ้าไม่ฟังค่อยหาเหตุหาผล นี่พูดถึงจะชักนำคนไง ถ้าจะชักนำคน
เพราะเวลาไม่ชักนำคนอย่างนี้ เวลาเราคุยกันเราก็คุยกันเป็นธรรมะ คุยกันเป็นวิทยาศาสตร์ “ต้องอย่างนั้นๆๆ” เขาไม่ฟังหรอก ถ้าเขาฟังเขาก็ฟัง แต่ไม่ได้ยินน่ะ คุยกันเถอะ สอนไปเถอะ มันฟัง แต่มันไม่รู้เรื่อง ฟัง แต่ไม่ได้ยิน ฟัง แต่ไม่ทำ ฟังพอผ่านๆ ไป มันไม่เอาจริงหรอก
แต่ถ้าเป็นของจริงนะ ครูพักลักจำ ครูบาอาจารย์จะพูดอย่างไรก็แล้วแต่ มันเก็บหมดนะ เวลาหลวงตาท่านอยู่กับหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านจะพูดทีเล่นทีจริง แต่เราไม่เคยเล่นเลย จริงตลอด อัดเทปไว้เลย
ท่านจะพูดทีเล่นทีจริงนะ เพราะเวลาสั่งสอน เดี๋ยวก็เข้มข้น พอสั่งสอนเข้มข้นไปแล้วท่านก็พูดทีเล่น ทีเล่นก็ธรรมะทั้งนั้นน่ะ ทีเล่นคือพูดแบบเป็นพื้นฐาน แต่คนที่มีปัญญาจับได้ทั้งนั้นเลย เป็นประโยชน์หมด นี่ไง ท่านจะพูดทีเล่นทีจริง แต่เราจริงตลอด ไม่มีเล่น จริงตลอด นี่หัวใจของคนที่เข้มแข็ง หัวใจคนที่จะได้ประพฤติปฏิบัติ ถ้าความเป็นจริงไง
ฉะนั้น ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว เวลาเราจะเจรจา เราจะชักนำใคร มันต้องมองตรงนี้ด้วย มองที่ว่าเขามีอำนาจวาสนามากน้อยแค่ไหน ถ้ามีอำนาจวาสนา ครูบาอาจารย์ของเรานะ เวลาท่านพูด ท่านพูดธรรมดานี่ ไอ้คนฟังมันฟังแล้วมันดูดดื่ม
เวลาหลวงตาท่านจะกลับไปอยู่ที่วัดหนองผือ ท่านบอกว่ามีชาวบ้านมาบอกว่า สมัยที่หลวงปู่มั่นอยู่ ชาวบ้านเขาอบอุ่นมากเลย แล้วเขาก็ใส่บาตร อุปัฏฐากดูแลพระสงฆ์ พอหลวงปู่มั่นท่านเสียชีวิตไป วัดร้างหมดเลย
ท่านฟังแล้วท่านไม่พูดสักคำ หลวงตาท่านบอกท่านไม่ได้พูดตอบโต้อะไรเขาเลยนะ เขาพูดของเขาไป ท่านก็นั่งฟังเฉย พอเขากลับไปแล้วนะ หลวงตาท่านก็สั่งอาจารย์เพ็งไง เป็นสามเณร “เก็บของ ไปวัดหนองผือ ไปจำพรรษาวัดหนองผือ”
นั่นน่ะ ท่านไม่ได้พูดโต้ตอบเขาสักคำ ท่านฟังเฉยๆ นั่งฟังเฉยๆ นะ แต่ธรรมในใจของท่านมันสะเทือนน่ะ เขามีบุญคุณนะ เพราะมันไม่มีตลาด มันเป็นหมู่บ้านในบ้านป่า หมู่บ้านในบ้านป่าเขาต้องทำไร่ไถนา เขาต้องหาเองมันถึงจะมี ไม่มีสิทธิไปซื้อขายแลกเปลี่ยน แล้วพระ ๔๐-๕๐ องค์เขาเลี้ยงดูได้ นี่คิดถึงน้ำใจของเขา กลับไปปลอบใจเขา
นี่เวลาฟัง หัวใจของคนเวลามันคิดเป็น เห็นไหม ท่านไม่ได้โต้ตอบอะไรเลย ท่านฟังเฉยๆ นั่งฟังเฉยๆ เลย แต่มันสะเทือนใจ พอจบแล้วท่านสั่งให้เก็บของไปเลย ไปปลอบใจเขา ไปเพื่อความอบอุ่นของเขา
ถ้าหัวใจของคนถ้ามันแสวงหา มันเป็นความดีนะ พูดสิ่งใดแล้วมันเป็นเหตุเป็นผล แล้วมันสะเทือนใจท่านถ้ามันเป็นธรรม แต่ถ้ามันไม่เป็นธรรมนะ น้ำรดหัวตอ พูดไปเถอะ พูดขนาดไหนก็ไม่มีความหมาย แล้วไม่มีประโยชน์อะไรด้วย
ฉะนั้น ครูบาอาจารย์ท่านถึงเป็นจริงอย่างนี้ นี่ถ้ามองคนต้องมองอย่างนี้ก่อน ถ้ามองอย่างนี้แล้วก็ย้อนกลับมา ย้อนกลับมาที่ว่า “ลูกขอรบกวนถามหลวงพ่อว่า รู้จักพระองค์หนึ่งตั้งแต่ท่านบวชเณร เป็นเพื่อนกับลูกชาย เขาจะแสวงหาสัปปายะ แล้วท่านถามถึงว่าจะให้พามาที่วัดหลวงพ่อ”
เราจะบอกว่า ที่เขาอยู่ที่วัดที่ปฏิบัติแล้วมันก็ดีขึ้นมาแล้ว ถ้าเขาปฏิบัติแล้วนะ ตอนนี้หนังสือก็มี ต่างๆ ก็มี เขาก็ฟังของเขาเอง เราไม่ใช่รังเกียจว่าเป็นธรรมยุต มหานิกายหรอก เพราะวัดเราเคยมีพระมหานิกายมาจำพรรษาด้วย แต่สุดท้ายแล้วพอออกพรรษาแล้วเขาก็ไป แล้วมันจะเป็นบวกมันกลับเป็นลบอีกต่างหาก เขาบอกว่า มาอยู่ที่นี่ นู่นก็ไม่ดี นี่ก็ไม่ดี ไม่ดีสักอย่างหนึ่ง
แต่เขาไม่ได้เห็นเลยว่าเขาให้โอกาสตัวเองได้อยู่ บุญกุศลมหาศาลแล้ว เขาให้อยู่ด้วย เขาให้โอกาสทั้งนั้นน่ะ เวลาคนจะคิดได้นะ คิดได้เขาจะเห็นบุญคุณ ถ้าคิดไม่ได้นะ มันจะเป็นลบหมดแหละ แล้วมันจะพูดออกไปมากไม่ดี นี่หน้าไมค์ ถ้าหลังไมค์นี่ โอ้โฮ! มหาศาล
ฉะนั้น พระมหานิกายเคยมาจำพรรษาที่นี่ เราก็ให้จำพรรษาเพราะว่าเขาขวนขวายมาก แต่สุดท้ายแล้วนะ มันไม่เป็นบวก เป็นลบไปหมดเลย เป็นลบทั้งนั้นน่ะ เพราะว่าเขามองว่ามันเป็นทิฏฐิมานะไปหมด เขาไม่ได้มองว่าเป็นธรรมเลย
แต่ถ้ามันเป็นธรรมนะ ถ้าเป็นธรรม หลวงปู่มั่นเวลาท่านฝึก หลวงตาท่านพูดถึงท่านเจ้าคุณอะไรที่ทางเขาใหญ่ ท่านบอกว่ามหานิกายทั้งนั้นน่ะ มหานิกายลูกศิษย์หลวงปู่มั่นน่ะ ท่านไม่ให้ญัตติด้วย แล้วท่านฝึกหัดขึ้นมาจนมีคุณธรรมด้วย แล้วมีคุณธรรม ท่านอยู่ในวัดของท่าน ท่านไม่แสดงตัวเลย ใครอยากได้ความจริงต้องไปหาท่าน
นี่ก็เหมือนกัน จะเป็นธรรมยุต มหานิกาย หลวงปู่มั่นท่านบอกมันเป็นแค่ชื่อ พระมหานิกายที่เป็นพระฝ่ายปฏิบัติ พระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเยอะแยะไป ถ้าเป็นมหานิกาย ถ้ามันจะเป็นจริงมันก็แสวงหาสิ คนที่อยากได้ความจริงเขาแสวงหาของเขา แสวงหาครูบาอาจารย์ที่ดี
เพราะว่าธรรมและวินัยมันจะรู้ได้ต่อเมื่ออยู่ด้วยกัน ศีลนี่รู้ได้ตอนอยู่ด้วยกันเลย คนอยู่ด้วยกันจะรู้เลยว่าคนถูกหรือผิด แล้วคนจะรู้ได้ ธรรมะนี่รู้ได้ตอนพูดนี่ อ้าปากขึ้นมา คนโง่มันปล่อยไก่ห้าร้อยคอก ปล่อยไก่แล้วปล่อยไก่อีกไง
แต่ถ้าเป็นความจริงๆ ความจริงเถียงไม่ขึ้น ความจริงคือกิเลสมันเถียงไม่ได้ ความจริงที่มันทิ่มเข้าไปในหัวใจของคน นี่ถ้าเป็นความจริงนะ ธรรมจะรู้ได้ต่อเมื่อเทศนาว่าการ ธรรมจะรู้ได้ต่อเมื่อพูดนี่
ศีล ศีลจะรู้ได้ต่อเมื่ออยู่ด้วยกัน คนอยู่ด้วยกันรู้หมดน่ะ อยู่ด้วยกันเป็นปี ๕ ปี ๑๐ ปีจะรู้เลยว่าศีลมันขาดตกบกพร่องหรือไม่ ถ้าศีลมันขาดตกบกพร่อง มันก็จะแยกเป็นหมู่เป็นคณะแล้ว เพราะมีความรังเกียจต่อกัน แต่ถ้าศีลมันเสมอกัน ศีลมันเท่ากัน นี่สัปปายะ ๔ ทิฏฐิเสมอกัน ความเห็นเสมอกัน นี่เป็นสัปปายะ นี่สิ่งที่แสวงหานะ
ฉะนั้น ถ้าเขาแสวงหา บอกว่าแสวงหาที่เป็นสัปปายะ จะมาวัดหลวงพ่อ
โอ้โฮ! หลวงพ่ออยู่บนยอดไม้ ความเห็นอยู่บนยอดไม้ ไอ้พวกเราอยู่โคนต้นไม้ มันเข้ากันไม่ได้ ถ้าเข้ากันไม่ได้ มันก็ต้องดูจริตนิสัย
เวลาไปวัดไหนก็แล้วแต่ ถ้าอยู่ถึง ๖ ราตรี ราตรีที่ ๗ ถ้าไม่ขอนิสัยก็ต้องเก็บของไป นี่ไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปิดกว้างนะ เรียบง่ายมาก พระพุทธศาสนานี้เรียบง่าย เวลาเทศนาว่าการเข้าไปทิ่มตำกิเลสทั้งนั้นน่ะ แล้วถ้ามีสติมีปัญญาหาวิธีการที่เราฝึกหัดภาวนาเพื่อชำระล้างมัน ถ้าชำระล้างได้ นั่นประโยชน์แค่นั้นน่ะ ประโยชน์จริงๆ ประโยชน์อยู่ตรงนั้น ประโยชน์อยู่ตรงการชำระล้างกิเลส พยายามกำจัดกิเลส
ไม่ใช่ว่าพอกพูนกิเลส ต้องสะสมกิเลส ไปปฏิบัติที่ไหนนะ โอ่อ่า หลวงตาท่านบอกพระขุนนาง กลัวเขาจะไม่รู้ว่าตัวเองมีอำนาจวาสนา อยากจะเป็นขุนนาง ไปไหนต้องมีคนล้อมหน้าล้อมหลัง มันจะบ้ากันไปหมดแล้ว แต่ความจริงมันไม่เป็นอย่างนั้นหรอก
นี่พูดถึงว่า จะพาไปวัดหลวงพ่อ เป็นสัปปายะ
ภาษาเรา ทำที่นั่นแหละ ปฏิบัติที่นั่นแหละ ถ้ามันปฏิบัติที่นั่น ความเป็นสัปปายะ เพราะเขาเป็นมหานิกาย วัดหลวงพ่อเป็นธรรมยุต ก็เลยไม่กล้าพามาหาหลวงพ่อ
เราไปทุกข์ไปยาก เราทำคุณงามความดีของเรา เราส่งเสริม เราตักบาตร เราส่งเสริมผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ถ้าเขาทำได้ดีก็สาธุ ถ้าเขาทำของเขาโดยความเป็นจริง ถ้าความเป็นจริงมันขวนขวายเอง มันขวนขวายของมันเองนะ
ธรรมยุต มหานิกาย มันเป็นแค่ชื่อ แค่ชื่อจริงๆ แต่เวลาแค่ชื่อ ทิฏฐิมานะที่จะรังเกียจกันไม่มี แต่นานาสังวาส พอนานาสังวาสขึ้นมา เวลาลงสังฆกรรมมันก็ต้องทำตามนั้น
พระที่มาอยู่กับเราเวลาลงอุโบสถเขาก็อยู่ข้างนอก แล้วบอกบริสุทธิ์เอา ต้องอยู่นอกหัตถบาส ไม่อย่างนั้นสังฆกรรมนั้นจะเป็นโมฆะ ถ้านานาสังวาส ลงอุโบสถสังฆกรรมร่วมกันไม่ได้ นานาสังวาสจะทำสามีจิกรรมด้วยกันไม่ได้
ฉะนั้น เวลาไม่ได้ขึ้นมา เวลาฉันก็ฉันบาตรใครบาตรมัน เวลาทำต่างๆ ก็ดูแลกันไป ดูแลกันไปตามธรรมตามวินัย ทุกคนถือธรรมและวินัย ทุกคนถือตามกฎหมาย แล้วปฏิบัติตนตามกฎหมาย ปฏิบัติตนตามศีลธรรมนั้น ต่างคนต่างปฏิบัติ เพราะเวลาปฏิบัติมันเป็นเอกเทศ มันเป็นเรื่องส่วนตัวของตน ส่วนตัวของตนนะ
เรามีครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์เป็นผู้อบรมสั่งสอน เวลาประพฤติปฏิบัติก็ประพฤติปฏิบัติในใจของตน ปฏิบัติของตน ทำใจของตนให้ผ่องแผ้ว ทำใจของตนๆ ไปหาครูบาอาจารย์ก็ทำใจของตน อยู่ที่ไหนก็ต้องทำใจของตน แต่ทำใจของตนแล้ว ถ้ามีครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์จะชี้นำ
ฉะนั้น สิ่งที่ว่ามันจะไปจะมา ให้เราเป็นคนวินิจฉัยไง ให้เมตตาหลวงพ่อตอบด้วย ตอบด้วย
กรณีนี้ถ้าพูดไปก่อนมันเป็นการเรื่องออเซาะฉอเลาะ เราพูดอย่างนี้เลยนะ เป็นการออเซาะ เป็นการขอสิทธิ
เราอยู่ที่บ้านตาดเหมือนกัน มันมีนายตำรวจใหญ่ พลตำรวจตรีอะไรจำไม่ได้ พลตำรวจตรีอ้วนตุ๊บเลยนะมาขอบวช เวลาขอบวชเสร็จแล้วบอกว่าจะเอาทส.มาด้วย ท่านบอกไม่รับ ไม่ให้บวช ไล่เลย ไอ้นั่นเขาอยากบวช เขาศรัทธามาก อย่างนั้นบวช บวชก็ได้ บวชแล้วไม่ต้องเอาทส.มา คือบวชแล้วอยู่วัด
อ้วนตุ๊บเลยนะ บวชแล้วบิณฑบาตเดินไม่ทันเขา ท่านก็เลยบอกว่าให้บิณฑบาตในครัว พอบิณฑบาตในครัว อ้วนตุ๊บเลย แล้วหลวงตาท่านก็ดูเจตนาของเขา ดูความมุมานะของเขา เขามุมานะมากนะ เขาพยายามของเขามาก แล้วพอเขาพยายามของเขามาก พอเห็นว่าเขาพยายามสุดความสามารถแล้วเขาก็ยังทำของเขาไม่ค่อยสะดวก บวชแล้วนะ ท่านถึงอนุญาตให้ทส.มาช่วยดูแล
ไอ้ที่ว่าจะมาอยู่แล้วจะมาขอนู่นขอนี่ ท่านไม่ให้เลย แต่ท่านดูความขยันหมั่นเพียร ความจงใจของเขา ความตั้งใจเจตนาของเขา ถ้าเขาทำเต็มที่ของเขาแล้ว เขาขาดตกบกพร่องหรือเขาไม่สะดวก ท่านโอเคนะ ท่านอนุญาต
ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เราเคยอยู่กับครูบาอาจารย์มาไง เอ็งก็ต้องเข้มแข็ง เอ็งก็ต้องจริงจังก่อนสิ แล้วทำแล้วถ้าไม่ได้ก็พูดมาเป็นชิ้นเป็นอันเนาะ ไอ้อย่างนี้มันขาดตกบกพร่อง ไอ้อย่างนี้มันมีความจำเป็น ถ้าจะขออย่างนี้ เออ! ถ้าคุยกันเป็นชิ้นเป็นอันน่ะมันได้
แต่ยังไม่ทันมาเลย จะบอกว่าจะปลูกคอนโด ๕ ชั้น ทุกอย่างต้องพร้อมหมด ถ้าไม่อย่างนั้นฉันไม่บวชนะ ถ้าฉันบวชแล้วต้องดูแลฉันเป็นพิเศษ...มึงไปซะ มึงไปหาวัดที่มึงพอใจนู่น
เราจะไปอยู่กับใครเราก็ต้องมองสิว่าเขาอยู่กันมาอย่างนั้น หลวงตาท่านพูดนะ ตอนที่ท่านมีชีวิตอยู่ เราอยู่กับท่าน ท่านบอกว่า ใครจะคอยเพ่งโทษหรือคอยจับผิดอะไรในวัดป่าบ้านตาด ท่านบอกท่านไม่สนใจ เพราะเราไม่ได้คิดขึ้นเอง ท่านบอกท่านไม่ได้อวดอุตตริ ไม่ได้คิดขึ้นมาเอง ท่านดูแบบอย่างมาจากหลวงปู่มั่น
มันมีผู้ดำเนินการมา เราไม่ใช่มาคิดขึ้นมาเองว่าเราอยากจะทำนู่นทำนี่อวดใคร ไม่มี สิ่งที่เราทำๆ กันอยู่นี่มันมหัศจรรย์ตรงไหน มันมีมา ๒,๐๐๐ กว่าปีแล้ว มีตั้งแต่สมัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าน่ะ ข้อวัตรมันมีอยู่ในพระไตรปิฎก แล้วคนมันละทิ้งกันไปเอง คนมันไม่ทำกันเอง แล้วหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านพาทำ แล้วเราก็ทำตามๆ กันมา
ใครคิดขึ้นมาเอง มันไม่มีหรอก มันไม่ได้อวดอุตตริมาจากไหน ไม่ใช่มาโชว์เขาว่าฉันดีกว่าคนอื่นตรงไหน ทำเหมือนกัน มันธุดงควัตร มันทำ ทุกคนทำเหมือนกันหมดน่ะ แต่มันเป็นขุนนาง มันไม่ทำกันเอง แล้วถ้ามันทำขึ้นมามันจะทุกข์ยากตรงไหน ถ้ามันทุกข์ยากขึ้นมา มันอยู่มาได้อย่างไร ๒,๐๐๐ กว่าปีน่ะ
แล้วถ้าเขามาทำแล้ว อย่างที่ว่าพลตำรวจตรีอะไรเราจำไม่ได้ อ้วนตุ๊บเลย ทีแรกมาบวช ขอทส.เลย ท่านไล่เลย พอท่านไล่ก็ยังอยากบวช ทส.กลับไป บวชคนเดียว พอบวชคนเดียวแล้วไปเดินบิณฑบาตไม่ไหว ท่านก็ให้บิณฑบาตในครัว พอบิณฑบาตในครัว มันเต็มที่แล้ว ท่านถึงให้คนมาช่วยเหลือ
ท่านก็พูด เราก็นั่งฟังอยู่นั่นนะ เราถึง เออ! ท่านวินิจฉัยอย่างนี้เนาะ ท่านบอกว่า “เขาก็เจตนาเต็มที่แล้ว เขาขวนขวายเต็มที่แล้ว แต่มันไม่ไหวจริงๆ เราก็อนุญาต แต่ถ้ายังไม่ได้ฝึกเลย ยังไม่ได้ทำอะไรเลย จะมาขอนู่นขอนี่น่ะไม่ได้ ยังไม่ทันทำอะไรเลย อย่างนั้นก็มานั่งขอกันอยู่นี่แหละ ไม่ต้องปฏิบัติ ขอเอาๆ”
ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ที่ว่าจะพาพระไปพระมา แล้วจะเป็นอย่างไร ไร้สาระ กติกาคือกติกา มันเป็นสาธารณะ ใครก็รู้ได้ ถ้าทำได้มันก็คือได้ ถ้าทำไม่ได้ก็คือไม่ได้ แล้วถ้าบอกว่าอยากจะทำแล้วไม่ได้ ไม่ได้นั่นก็ดูอีกเรื่องหนึ่ง ฉะนั้น นี่จบเลยข้อที่ ๑.
“๒. ตอนนี้ลูกชายอายุครบบวช แล้วเขาจะไปบวชวัดบ้าน”
กรณีนี้มันค่อยๆ คุยกันไง ถ้าอย่างที่ว่า มันมีนะ คนที่จิตใจเข้มข้น เขาก็อย่างที่เขาพูด พระแท้ พระเทียม ถ้าเจอที่ไหนที่มันถูกต้องดีงามก็อยากจะไปอยู่ที่นั่นเพื่อให้มันเป็นสายบุญสายกรรม ให้มันมีวาสนาไง
อย่างเช่นหลวงตาท่านพูดไง โครงการช่วยชาติฯ ใครที่ร่วมมือกับท่าน ใครที่เห็นดีเห็นงามกับท่าน ท่านบอกว่ามันมีสายบุญสายกรรมร่วมกันมา สายบุญสายกรรมคือความเห็นมันใกล้ชิดกัน ความเห็นมันคล้อยตามกัน นี่ความเห็นไง นี่มันสายบุญสายกรรม
คำว่า “สายบุญสายกรรม” ดูสิ เวลาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก คนเราเข้ากันโดยธาตุ ท่านพูดเอง นี่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ บอกว่า ลูกศิษย์พระสารีบุตร ๕๐๐ เป็นปัญญาวิมุตติเหมือนพระสารีบุตร คือเข้ากันโดยธาตุ คือความชอบเสมอกัน ลูกศิษย์ของพระโมคคัลลานะนี่โดยฤทธิ์โดยเดช ผู้ที่มีฤทธิ์มีเดชชอบกัน นี่เขาเข้ากันโดยธาตุ ลูกศิษย์ของพระเทวทัต ๕๐๐ ลามกหมดเลย มันชอบลามก ชอบโกหกมดเท็จ นี่ไง มันเข้ากันโดยธาตุ นี่สายบุญสายกรรม
กรณีอย่างนี้ถ้าใครได้ศึกษาแล้วเขาก็ไม่อยากให้ลูกให้หลานเขาเข้าไปสายบุญสายกรรมที่ไม่ดีงาม เขาก็อยากจะคัด เหมือนหางเสือจะชักนำให้ลูกให้หลานเข้าไปในสายบุญสายกรรมที่ดีๆ ถ้ากรณีนี้เราก็เข้าใจได้ กรณีนี้
แต่ถ้ามันเป็นจริตนิสัย ความคิดของคน เอ็งจะคัดหางเสือขนาดไหนมันก็ไม่เข้ามา เรือมันหันหน้าออกไปตลอด คัดอย่างไรมันก็ไม่เข้ามาอย่างนี้ แต่ถ้าเขายังบวชยังเรียนอยู่มันก็เป็นประโยชน์นะ นี่พูดถึงเป็นประโยชน์ไง แต่ถ้าบอกว่าจะให้เข้มข้นเลยน่ะ เอาเขามาติดคุก
หลวงตาพูดอีกแหละ เวลาท่านถามพวกพระนะ “เอ๊ะ! พวกท่านมาทำไมเนี่ย” บอก “ที่นี่มันยิ่งกว่าคุกนะ”
คุกมันยังมีวันออก คุกนี้มันแบบว่าธรรมวินัยมันมีขอบเขต แต่เราพอใจ เราเอากิเลสมาติดคุก แต่ตัวเราไม่ติดเพราะตัวเราชอบ แต่กิเลสมันต้องโดนติดคุก
นี่ก็เหมือนกัน ท่านบอกว่ามันเข้มข้นเหมือนติดคุกนะ แล้วทำไมติดคุกทำไมมันเต็มวัดเลยล่ะ คุกมีแต่คนอยากจะออก ไอ้นี่คุกอะไรมีแต่คนอยากจะเข้า จะเข้าไปอยู่กับท่านไง นี่พูดถึงถ้าคนมีเจตนาที่คนมันตั้งใจดีก็เป็นแบบนั้น
ฉะนั้น แสดงว่า ลูกชาย มันเป็นจริตนิสัย ความเห็น ถ้าความเห็น คนมันเห็นอย่างนั้นมันก็อย่างนั้น ถ้าจะบวชวัดบ้านก็โอเค จะบวชที่ไหนก็โอเคทั้งนั้นน่ะ เราโอเคหมดน่ะ ขอให้เขาได้ทำคุณงามความดีให้เพิ่มอำนาจวาสนาบารมีของเขาให้ดีขึ้น
เราเป็นมนุษย์เกิดมาพบพระพุทธศาสนา เราก็ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันก็จริตนิสัยของคน คนชอบอย่างไร ชอบนุ่มนวล ชอบอ่อนหวาน ก็ยังดีนะ ถ้าชอบออเซาะฉอเลาะนี่เป็นเรื่องโลกๆ แล้ว แล้วถ้ามันชอบเข้มข้นชอบอะไร มันก็อยู่ที่คนชอบไง ถ้าชอบอย่างนั้นก็ไปอย่างนั้น ถ้าไม่ถูกจริตนิสัยเรามันก็ไม่ดีทั้งนั้นน่ะ
อย่างเราพวกปฏิบัติ เราก็อยากหาครูบาอาจารย์ที่ถูกต้องดีงาม แล้วถูกต้องดีงาม เวลาครูบาอาจารย์เวลาท่านกระหน่ำมา ดูสิ เวลาหลวงตาท่านพูดถึงหลวงปู่มั่น กลัวไหม กลัว กลัวนะ แต่รัก กลัว กลัว แต่ไม่หนีไง กลัวอะไร
กลัวกิเลสเราไง กลัวกิเลสเรามันฟูขึ้นมาไง กลัวกิเลสเรามันจาบจ้วงท่านไง กลัวกิเลสเรามันหาแต่โทษไง กลัว เพราะมีกิเลส เพราะความไม่รู้ กลัวจะไปลบหลู่ท่าน กลัวจะไปละเมิดท่าน กลัวจะทำความไม่ดีต่อท่าน กลัว แต่เวลาท่านด่ามา โอ้โฮ!
หลวงปู่เจี๊ยะกับหลวงตาท่านพูดเหมือนกัน เวลาเสียงท่านดังๆ ขึ้นมา“เฮ้ยๆ! ฟ้าร้องเว้ย ฟ้าร้อง” คือท่านจะเทศน์แล้ว ชอบ แล้วหลวงตาท่านพูดนะ เวลาท่านเทศน์ขึ้นมา เหมือนกับเด็กอ่อน เด็กทารกได้ดื่มกินนม
เด็กทารกเวลาหิวกระหายมันอยากกินนมแม่นะ นี่ก็เหมือนกัน ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติมันอยากฟังธรรม อยากให้คนชี้แจง แล้วหลวงตาท่านอยู่กับหลวงปู่มั่น ท่านอยู่มาด้วยความเคารพรักนะ แล้วฟังเทศน์บ่อยๆ เข้ามันก็คุ้นเคยไง วันไหนถ้าจะเทศน์ ท่านจะหาเรื่องประจำ ท่านบอกท่านจะขึ้นไปทำข้อวัตรก่อน “นู่นเขาว่าอย่างนั้น เขาว่าอย่างนี้ เขาว่าอย่างนู้น” คือพยายามจะพูดธรรมะที่มันแปร่งๆ คือพูดทิฏฐิที่ผิดๆ แล้วเวลาพูด ถามท่าน ถามท่านก่อน เพราะท่านรู้นี่ว่าวันไหนหลวงปู่มั่นจะประชุม จะขึ้นไปทำข้อวัตร “นี่เขาว่าอย่างนู้น เขาว่าอย่างนี้”
ท่านก็รอฟัง ถ้าหลวงปู่มั่นยังไม่พูด ท่านก็ยังแหย่ไปเรื่อยๆ นะ ถ้าหลวงปู่มั่นบอกว่า “ไม่ใช่!”
ท่านบอก เออ! ได้แล้ว ท่านก็กลับ แล้วเวลาประชุมท่านฟังเลย โอ้โฮ!
คำว่า “ไม่ใช่” ก็ไปถามไว้ไง ถามคำถามที่มันผิดจากธรรมวินัยไง แล้วท่านอธิบายนะ โอ้โฮ! น้ำไหลไฟดับเลยนะ ท่านบอกว่าถ้าวันไหนได้ไขก๊อก แหม! วันนั้นฟังแล้วมันชื่นใจ มันฟังแล้วมันทะลุปรุโปร่งไง
ถ้าวันไหนไม่ไขก๊อก ท่านก็เทศน์อย่างนั้นแหละ ท่านก็เทศน์เครื่องบินตั้งแต่ขึ้น ตั้งแต่สมาธิ ปัญญาขึ้นไป มรรค ๔ ผล ๔ เลย ก็เทศน์ของท่านไป แต่เทศน์โดยประสบการณ์ความสัตย์จริงในใจของหลวงปู่มั่น
แต่ถ้าวันไหนได้ไขก๊อก มันมีแง่มีมุมไง มันมีแง่มีมุม มีเทคนิค เพราะคำว่า“ใช่หรือไม่ใช่” คือผิดกับถูกอย่างไรเดี๋ยวท่านอธิบายเอง ท่านบอกเลย ถ้าวันไหนมันจะมีการประชุม ท่านจะไปไขก๊อก คือแกล้งไปทำถามผิดๆ ถูกๆ คือจะไปทำให้ไปสะเทือนใจท่านให้ได้ ไปสะเทือนธรรมะอันนั้น แล้วให้ธรรมะนั้นฝนตกฟ้าร้องให้ครอบคลุมมา ให้ชุ่มชื่นในใจของเราไง นี่เวลาครูบาอาจารย์ท่านอยู่ด้วยความคุ้นเคย
พอความคุ้นเคย มันก็เหมือนกับในประวัติหลวงปู่มั่น อาจารย์ทองรัตน์ เวลาพระไปอยู่กับหลวงปู่มั่นอยากฟังเทศน์ ให้อาจารย์ทองรัตน์อาราธนาเทศน์ไง อาจารย์ทองรัตน์ก็ไปชกลมที่ใต้กุฏิท่าน ฟุดฟิดๆ เลย นั่นน่ะอาราธนาเทศน์ อาราธนาธรรม ไปทำอย่างนั้นน่ะ พอทำแล้วเดี๋ยวเทศน์นะ โอ้โฮ! ไหลออกมาเป็นน้ำเป็นท่านั่นน่ะ แล้วคนฟังแล้ว โอ้โฮ! มันชื่นใจๆ เห็นไหม นี่ไง นี่คนแสวงหาไง เวลาคนต้องการไง ถ้าคนต้องการเขาต้องการอย่างนั้น เขาต้องการอย่างนั้น
แต่ถ้าคนมันจิตใจมันอ่อนแอมันก็ โอ้โฮ! อยากให้โอ๋ๆ เอาผ้ามาปู “ภาวนาต้องอย่างนี้นะ แล้วเดี๋ยวมันจะได้ธรรมะอย่างนั้นนะ” มันก็เป็นขุนนางกันไปหมดน่ะ แล้วภาษาเรานะ ศาสนาก็อ่อนแอ ทุกอย่างจะอ่อนแอไปหมดล่ะ
หลวงตาท่านบอกว่า ศาสนาจะอยู่ในหัวใจของผู้ที่ฉลาด คนที่ฉลาดต้องมีสติสัมปชัญญะถึงจะรักษาศาสนาได้ ถ้ายังอ่อนแอ ยังออเซาะฉอเลาะกันอยู่ มันจะรักษาได้แต่กิเลส คุ้มครองได้แต่กิเลส เข้าสู่สัจธรรมไม่ได้ ถ้าเข้าสู่สัจธรรมได้มันต้องจริงจังเข้มแข็งเข้มข้น แล้วจะรักษาสัจธรรมอันนี้ได้ ถ้ารักษาสัจธรรมอันนี้ได้มันถึงเป็นประโยชน์ได้ มันต้องหัวใจเข้มแข็งเนาะ
ฉะนั้นบอกว่า คำถามของเขา เขาบอกว่าถามเรื่องพระ แล้วถามเรื่องพระแล้วมันเกี่ยวพันมากับเราไง จะพาพระมาฝาก เขาเป็นมหานิกาย เราเป็นธรรมยุต แล้วลูกชายจะบวชที่วัดสะดวกสบาย ไม่อยากมาบวชที่วัดหลวงพ่อ
ขอให้เขาทำคุณงามความดีเป็นชั้นๆ ขึ้นไป ให้ใจเขาพัฒนาขึ้นไป ดีกว่าเราควบคุมไม่ได้ ดีกว่าคบเพื่อนพากันไปเสพยา พากันไปออกนอกลู่นอกทาง ให้คุ้มครองดูแล เรามีวาสนาแค่นี้ก็ยังดีกว่าปล่อยให้เหลวไหลไปกับโลก ถ้ามันมีวาสนาแค่นั้น
แต่ถ้าเขาจะจริงจัง เขาจะประพฤติปฏิบัติของเขา เขาจะต้องมีความพอใจของเขา เขาจะทำด้วยความมุมานะของเขา แล้วมันไม่สร้างผลกระทบทั้งพ่อทั้งแม่ ทั้งครูบาอาจารย์ที่วัด ทั้งสังคม ไม่กระทบกระเทือนไปหมดเลย แต่ถ้าทำอะไรแล้วมันมุมานะกันเกินไป กระทบกระเทือนกันไปหมด แล้วมีแต่ปัญหาไปทั้งนั้น
เอาแต่ความจริง เอาแต่ความสามารถของคนที่มันจะทำได้เพื่อเป็นบุญกุศลในใจของเขา มันก็เป็นความปรารถนาดีของพ่อแม่ก็เป็นอย่างนี้แหละ แต่พ่อแม่มันก็ต้องมีสติปัญญาอย่างที่เราพูดมาตั้งแต่ต้น การจะมองคนมันต้องมองที่วาสนาของคนก่อน ดูจริตนิสัยของเขา ดูความเป็นไปของเขา เขาได้มากได้น้อยแค่ไหนมันต้องมองมาตั้งแต่นั่น แล้วเราถึงจะชี้นำได้มากได้น้อย มันถึงจะไม่เป็นผลกระทบกับใครทั้งสิ้น เอวัง