เทศน์บนศาลา

ต้องรู้ต้องเห็น

๑๖ เม.ย. ๒๕๕o

 

ต้องรู้ต้องเห็น
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๕๐
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วันนี้วันพระ วันพระ วันแห่งการประพฤติปฏิบัติ ถ้าเป็นวันพระใน ๑ เดือนมี ๔ วัน ใน ๑ ปีล่ะ ๑๒ เดือน ถ้ารอการประพฤติปฏิบัติ เราจะประพฤติปฏิบัติแต่วันพระ ถ้าวันพระมันเป็นเรื่องของโยมเขา เรื่องของคฤหัสถ์ เพราะอะไร เขาต้องทำมาหากิน เขาต้องเลี้ยงชีวิตของเขา ในเมื่อเขาเลี้ยงชีวิตของเขา เขาต้องมีการมีงานของเขา ถ้าประเพณีเข้มแข็ง เขาจะไปวัดไปวา ถึงวันพระเขาจะหยุดของเขานะ

เพราะการเลี้ยงชีวิตในเรื่องของร่างกาย กับการเลี้ยงชีวิต การเลี้ยงธรรมะในหัวใจ ถ้ามีคนเห็นคุณค่า ศีลธรรมจริยธรรมเป็นหลักเป็นมั่นคง แต่ถ้าศีลธรรมจริยธรรม เห็นเป็นของไม่มีคุณค่า เราไปเห็นคุณค่าการทำหน้าที่การงานทางโลกนี้เป็นของที่มีคุณค่า แล้วพยายามแสวงหาสิ่งนั้นมาเพื่อเรา เพื่อศักยภาพ ไม่ได้คิดเลยว่าการแสวงหามาอย่างนั้น ถ้ามันได้มาโดยโลก มันเป็นการประดับเกียรติให้กิเลส กิเลสมันจะมีความเข้มแข็ง มันจะมีอำนาจเหนือเราไง มันจะคิดว่าสิ่งที่มันกระทำอยู่นี้ถูกต้อง

แต่ถ้ามีธรรมะเจริญในหัวใจของผู้ที่มีธรรมนะ ศีลธรรม จริยธรรม ถึงจะร่ำรวย ถึงจะมั่งมีศรีสุขขนาดไหน ถึงเวลาที่เราจะหาคุณงามความดีใส่ใจของเรา มันจะมีเวล่ำเวลาไง ถ้ามีเวล่ำเวลา ศีลธรรมจริยธรรมมั่นคงแข็งแรงในหัวใจของเรานะ สัตว์โลก สัตตะเป็นผู้ข้อง เราเป็นสัตว์โลก โลกคือสังคม โลกคือหมู่สัตว์ ถ้าหัวหน้าเป็นผู้ที่มีคุณธรรมในหัวใจ ถึงเวลามีการมีงานของเขา เขาจะให้ลูกน้องเขา ให้มีโอกาสได้แสวงหาสิ่งนั้นมา เพื่อประดับใจของเขา แล้วถ้าประดับใจของเขา นี่เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย

ในความต้องการ เราจะหาแต่ผลประโยชน์ของเรา เราไม่ได้เผื่อแผ่ใคร ถึงเวลาแล้วมันก็ไม่มีน้ำใจมากับเรา แต่ถ้าเรามีความเผื่อแผ่ไปกับเขา แล้วเรามีการเปิดโอกาสให้เขา สิ่งนั้นจะย้อนกลับมาหาเรา เพราะมันเสียไปสิ่งนี้ มันได้ความตอบแทนมา ได้มาด้วยคุณธรรม ได้ความเชื่อมั่น ได้ความเป็นไป ถ้าในหัวใจของหัวหน้ามีหลักมีเกณฑ์ มันยังเป็นประโยชน์กับโลกเลย สิ่งนั้นจะได้ประโยชน์จากใจดวงนั้น ใจดวงนั้นอยู่กับสัตว์โลก เราก็เป็นสัตตะตัวหนึ่ง เราเป็นผู้ข้องคนหนึ่ง

ถ้าเป็นวันพระ เราออกประพฤติปฏิบัติด้วยหัวใจของเรา แต่ถ้าเป็นภิกษุล่ะ ภิกษุนี่ปฏิบัติทุกเวลา การเคลื่อนไหวของเรา การเหยียดการคู้นี่เราจะมีสติสัมปชัญญะตลอดไป ถ้าเรามีสติมีสัมปชัญญะตลอดไป การขยับการเคลื่อนของเรามีสติ สิ่งนั้นมันจะย้อนกลับมา ถ้ามีการผิดพลาด มีการพลั้งเผลอ เราก็ตั้งสติของเรา มันตรวจสอบได้ตลอดเวลา ถ้าตรวจสอบจิตของเรา มันไม่ต้องรอวันพระไง

วันพระนี่เป็นวันสังฆกรรม เป็นวันอุโบสถศีล วันพิธีกรรม สังฆะ สงฆ์มารวมกันเพื่อสวดปาฏิโมกข์ เพื่อความสะอาดของสงฆ์ เพื่อความเป็นไปของสงฆ์นะ เป็นสงฆ์ภายนอก เวลานางวิสาขาไม่ได้บวชเป็นพระโสดาบัน สงฆ์ภายใน ถ้าสงฆ์ภายใน ใจของเราเป็นสงฆ์ เป็นพระอริยบุคคลตั้งแต่ชั้นโสดาบันขึ้นไปถึงที่สุด ถ้าใจเป็นสงฆ์ ใจเป็นสังฆะ มันสะอาดมาโดยธรรมชาติ สิ่งนี้มันสะอาดบริสุทธิ์โดยธรรมชาติของใจดวงนี้

ถ้าใจดวงนี้สะอาดบริสุทธิ์อย่างนั้น อารมณ์ความรู้สึกเข้าไม่ถึงใจ เพราะใจบริสุทธิ์ พลังงานตัวนี้ตัวของจิต ถ้าจิตสิ้นจากกิเลสไป จิตนี้มันจะพ้น อาสเวหิ จิตฺตานิ วิมุจฺจิง สูติ อาสวะสิ้นไป จิตนี้เป็นผู้วิมุตติ ถ้าวิมุตติไปแล้วไม่มีจิต จิตนี้มันเป็นสิ่งที่กระทบ มันไม่มีจิต พอไม่มีจิตเพราะมันไม่มีการกระทำ อารมณ์เข้าถึงจิตไม่ได้ แต่ถ้าจิตของพระอรหันต์ จิตของพระอรหันต์นี้เป็นสมมุติ เป็นบุคลาธิษฐาน ว่าใจดวงนี้เป็นพลังงานที่สะอาด

ถ้าพลังงานที่สะอาด ภารา หะเว ปัญจักขันธา ภาระ ขันธ์นี่ ความคิดความนึกเป็นภาระ เป็นภาระของธรรมธาตุอันนี้ไง เป็นพลังอันนี้ไง แต่เข้าไม่ถึงใจดวงนี้ เพราะถ้ามีจิต มีสถานะที่ตั้ง นี่ไม่เป็นภาระ มันเป็นมาร ขันธมารมันกดถ่วงไง ความกระทบจากภายนอกมันจะส่งต่อเข้าไปถึงตัวจิตตัวนั้น เพราะพลังงานตัวนี้มันสืบต่อกันด้วยสังโยชน์ สังโยชน์เห็นไหม รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา สังโยชน์เบื้องบน กับขันธ์นี่สืบต่อกัน มันก็เข้าสะเทือนถึงหัวใจ

ถ้าสะเทือนถึงหัวใจ ถ้าหัวหน้าไม่มีหลักมีเกณฑ์ สิ่งใดลำเอียงโดยรัก ลำเอียงเพราะรัก ลำเอียงเพราะโกรธ ลำเอียงเพราะกลัวอำนาจของเขา นี่ความลำเอียงเกิดขึ้นเพราะหัวหน้าใจไม่เป็นธรรม ถ้าหัวหน้าใจเป็นธรรม ธรรมออกมาจากใจผู้ที่เป็นธรรม มันจะเป็นธรรมที่สะอาด ธรรมที่บริสุทธิ์ มาให้ถึงพวกเราไง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ตั้งแต่วันวิสาขบูชา แล้วส่งเทศนาว่าการ เพื่อปลุกปั้นขึ้นมา เพื่อให้ใจสะอาด เพื่อให้ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา มีที่พึ่งที่อาศัย ถ้ามีที่พึ่งที่อาศัย เราก็อยากนะ เราพยายามประพฤติปฏิบัติกัน เพราะเราเป็นชาวพุทธ แล้วเราเป็นแก่นของศาสนา เพราะเราเชื่อมั่นในศาสนา เราเชื่อมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นแก้วสารพัดนึก แล้วแก้วสารพัดนึกจะนึกให้เกิดสภาวธรรมในหัวใจของเรา แก้วสารพัดนึก นึกแล้วต้องมีการกระทำ นึกเป็นอธิษฐานบารมี

เวลาบารมีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ต้องมีอธิษฐานบารมี ตั้งใจปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ แล้วพยายามสร้างสมบารมีเป็นพระโพธิสัตว์ สร้างสมจนกว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งพยากรณ์แล้ว ต้องไปข้างหน้าอย่างเดียว นึกๆ คือเรามีเป้าหมาย

ถ้านึกแล้วไม่มีการกระทำ แม้แต่นึกนี่นะเวลาใครใช้คำว่านึก มันฟังดูแล้วเป็นของที่แบบว่ามันจะเป็นสมมุติที่นึกเอาอะไรก็ได้ ถ้าคนไม่มีความนึกอย่างนี้ ไม่มีศรัทธาความเชื่อ เขาจะนึกเรื่องพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ไหม เขาคิดถึงแต่โลกไง นึกถึงแต่โลก นึกถึงแต่ความเห็นแก่ตัว นึกถึงแต่เรื่องของกิเลสตัณหาความทะยานอยาก แล้วเหยียบย่ำหัวใจ

นึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ธรรมะคืออะไร ธรรมะคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมไว้นี่ไง ถ้าแสดงธรรมเรามีความเชื่อมีศรัทธา แล้วเราจะเข้าถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่อธิษฐานบารมี แล้วพยายามประพฤติปฏิบัติ เริ่มต้นต้องสะอาดที่เราก่อน ถ้าจิตเราสะอาด เป็นสุภาพบุรุษ เปิดเผยความรู้สึกของตัวเองออกมากับธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ไม่ต้องไปเปิดเผยกับใครหรอก เปิดเผยกับธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วประพฤติปฏิบัติ นี่เข้าถึงธรรม

ถ้าเข้าถึงธรรมนะ จิตมันได้เป็นสันทิฏฐิโก มันได้สัมผัสของมัน เป็นปัจจัตตัง จิตนั้นจะมีความร่มเย็นเป็นสุข ถ้าจิตนั้นมีความร่มเย็นเป็นสุข แม้แต่สมาธิธรรมนะ ถ้าทำความสงบของใจให้ได้ เราพออยู่พอกิน มันมีหลักใจนะมันอยู่ได้ แต่ถ้าไม่มีหลักของใจนะ เรามองสิ มันมองออกไปด้วยกิเลส ทำไมชีวิตเราต้องมาทุกข์มายาก เขามีความสุขความสบายกัน แล้วทำไมเราต้องมาทุกข์มายาก เราทุกข์ยากเพราะเรามีศรัทธาไง เรามีความเชื่อไง

ไม้เปียกไม้ดิบจุดไฟไม่ติดหรอก ไม้ที่เปียกมันจุดไฟไม่ได้ มันไม่เป็นประโยชน์ ถ้าเขาเอาไปทำสร้างบ้านสร้างเรือน พอมันแห้งมันบิดมันงอนะ เสียหายไปหมดเลย แล้วถ้าไปจุดไฟมันก็จุดไม่ติด ไม้ต้องไม้แห้ง ไม้ที่จะเอามาทำทั้งบ้านทั้งเรือนกัน เขาต้องมาอบ เวลาเขาจะเข้าพื้นมันจะได้ไม่ห่าง เห็นไหม มันจะเป็นประโยชน์ นี่ก็เหมือนกัน ในการประพฤติปฏิบัติ เราจะทำของเรา จากดิบๆ คนดิบๆ ให้เป็นคนสุกขึ้นมา ให้มันแห้งแล้วมันพอจะทำหน้าที่การงาน

ถ้าเรามีความเห็นอย่างนี้ ในการประพฤติปฏิบัติมันก็มีคุณค่าไง สิ่งใดประพฤติปฏิบัติเป็นข้อวัตรปฏิบัติ มันจะเป็นประโยชน์กับเรา ให้เราทำอบไม้เราให้แห้ง จะสร้างบ้านสร้างเรือน มันก็จะเป็นประโยชน์กับเรา ไม้ไม่เคยอบไม่เคยทำอะไรแล้วจะให้เป็นไป นี่ด้วยความคิดของกิเลส ด้วยความคิดมักง่าย ด้วยความคิดของเรา อยากได้อะไรโดยรวดเร็ว อยากทำอะไรให้สมความปรารถนาโดยความเห็นของเรา มันไม่เป็นหรอก

ดูสิ ดูความคุ้นเคย เวลาเราบวชพระใหม่ขึ้นมา เวลาขอนิสสัย ๕ ปีนะ พอพ้นจากนิสสัย หมายถึงว่า ๕ ปีนี้เราต้องหมั่นศึกษา หมั่นค้นคว้า หมั่นเข้าใจ เพราะอะไร เพราะอนุศาสน์ ๘ เวลาเราบวชออกมาแล้ว เลี้ยงชีพด้วยการบิณฑบาต อยู่โคนไม้ คือว่าจะไม่เดือดร้อนใคร รุกขมูลอยู่โคนไม้ด้วยเป็นอิสรภาพ ไม่ต้องเป็นบุญเป็นคุณกับใคร บิณฑบาตเป็นวัตร บิณฑบาตแล้วแต่เขามีคนมีศรัทธามีความเชื่อ ชาวพุทธเขาอยากมีบุญกุศลของเขา เขาก็อยากใส่บาตร อยากจะจรรโลงศาสนา

เราเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เราออกบิณฑบาตจากเขามาแล้วเรามาฉัน เขาก็ปรารถนาสิ่งที่เป็นประโยชน์ เราก็ปรารถนาคุณธรรมของเรา สิ่งนี้บิณฑบาตเป็นวัตร อยู่โคนไม้ สิ่งนี้เราอยู่แล้วมันไม่ต้องให้ใครมาเดือดร้อน เราใช้ฉันยาด้วยมูตรเน่า ไม่อวดอุตริ สิ่งนี้นี่อนุศาสน์ สิ่งนี้ถ้ามันเป็นอนุศาสน์ในการดำรงชีวิตของเรา สิ่งที่จะดำรงชีวิตของเรา ถ้าสิ่งนี้มันเป็นประโยชน์กับเรา เราอยู่โดยสุขสบายนะ

ถ้าอยู่โดยสุขสบาย นี่ข้อวัตรปฏิบัติ ข้อวัตรปฏิบัติเพื่อใคร ก็เพื่อหัวใจดวงนี้ไง เวลาศึกษา เวลาฟังครูบาอาจารย์ อยากรู้อยากเห็น อยากเป็นไปหมดเลย ถ้าความอยากรู้อยากเห็น ดูสิเวลาการศึกษาภาคปริยัติ เราบอกต้องมีการศึกษา ถ้าเราไม่มีการศึกษา ไม่มีแผนที่เครื่องดำเนินเลย แล้วจะรู้ได้อย่างไร อยากรู้อยากเห็นนะ อยากรู้อยากเห็นจะไม่เห็นหรอก อยากรู้อยากเห็นเป็นไปไม่ได้หรอก

เราก็ไปดูสมบัติคนอื่น เราไปศึกษาธรรม ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ปรมัตถธรรม นี่ธรรมละ กิเลสมันซับไปหมดล่ะ กิเลสมันซับคำนี้เข้ามา แล้วเราว่าเป็นนักปฏิบัติ เราเป็นพระปฏิบัตินะ ผู้ที่ปฏิบัติธรรมต้องให้เกิดขึ้นจากสัจจะความจริง เวลาเราปฏิบัติเราก็อยากให้เป็น อยากเป็นไปนะ ถ้าอยากแล้วสิ่งนี้มันจะห่างออกไป เพราะกิเลสมันต้องการให้เราอยู่ในอำนาจของมัน

แล้วเรามีกิเลสในหัวใจไหม กิเลสในหัวใจเรามี ยิ่งอยากออกไปขนาดไหน ดูสิ น้ำนิ่งเห็นไหม น้ำนิ่งถ้ามีอะไรตกลงไปน้ำจะกระเพื่อม น้ำจะมีคลื่นของเขา นี่ก็เหมือนกัน ในหัวใจมีความอยากอยู่ มันทำให้เราฟุ้งซ่าน จะทำให้เราเป็นไป มันก็เป็นการสร้างภาพหมดเลย ถ้าเป็นสมาธิ ดูสิ ทำความสงบของใจ ใจมันมีแต่ความว่างๆ ความสงบนะ มันไปรู้ว่าว่าง รู้ว่าว่างนะ

ดูสิ เวลาเราคิดนี่เราคิดเรื่องอะไร เวลาความคิดขึ้นมา เราคิดแล้วมันเจ็บแปลบแสบร้อน ความคิดเราทำลายเรานะ ความคิดถ้าคิดถึงสิ่งที่ไม่ดี คิดถึงสิ่งที่มันกระเทือนหัวใจ จะกระเทือนหัวใจมาก ยิ่งการพลัดพรากจากของรักนะ น้ำหูน้ำตาไหล คิดทีไรก็เจ็บทุกที สิ่งนี้สะเทือนหัวใจมาก ความคิดทำลายเรา เห็นไหม

แล้วถ้าเรามาศึกษาธรรม เราประพฤติปฏิบัตินี่มันก็คิดว่าว่าง มันคิดว่าว่าง มันก็เป็นความคิด มันเป็นอาการของใจไม่ใช่ใจ ถ้าเรากำหนดพุทโธๆๆ แล้วมันก็ว่างๆ ว่างๆ ว่างๆ มันไปรู้ว่าว่าง เพราะมันเป็นอาการของใจ มันไม่เป็นตัวใจ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิก็เหมือนกัน ทุกอย่างเหมือนกันหมดเลย เราจะกำหนดดูจิตมันก็ว่างๆ ว่างๆ แต่ความว่างนี่มันต้องรู้ต้องเห็น

อยากรู้อยากเห็น หรือรู้เฉยๆ เห็นเฉยๆ มันเป็นไปไม่ได้ แต่รู้ว่าว่างก็มีความสงสัย รู้ว่าว่างแล้วจะทำอย่างไรต่อไป รู้ว่าว่างนะแล้วประพฤติปฏิบัติโดยกิเลส โดยที่เราไม่มีครูบาอาจารย์

ถ้าครูบาอาจารย์ท่านที่ประพฤติปฏิบัติมานะ ท่านจะรู้ว่าศีล สมาธิ ปัญญา ถ้ามีศีล มีความปกติของใจ เราจะมีศีลนะ ดูสิ เวลาเราเทศน์เห็นไหม เราไม่ได้พูดเรื่องศีลเลย เพราะศีลมันเป็นพื้นฐาน เราเป็นพระมา ศีลมันบริสุทธิ์อยู่แล้ว ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เราเข้ามาอยู่วัด เป็นคฤหัสถ์ เราก็ถือศีล ๘ ศีล ๑o ศีลนี่ความปกติของใจมันมีอยู่แล้ว เรื่องของศีล

ถ้าศีลมันมีอยู่แล้ว ถ้าเรามีความสะอาด มีความบริสุทธิ์ ไม่โกงตัวเอง ไม่หลอกตัวเอง สิ่งสภาวะแบบนี้ ถ้าเรามีความผิดพลาด เพราะมันผิดศีลหรือมีความลังเลสงสัย มันจะเกิดนิวรณธรรม เราจะต้องปลงอาบัติถ้าเป็นพระ ถ้าเป็นคฤหัสถ์เราก็ต่อศีลของเรา แล้วถ้ามันเป็นนักปฏิบัติก็วิรัติเอาเดี๋ยวนี้ไง สิ่งที่ผิดมาแล้วก็ผิดมาแล้ว แต่เราจะวิรัติเอาเดี๋ยวนี้ ศีลเกิดขึ้นมาจากความปกติของใจ เห็นไหม

สิ่งที่สะอาดบริสุทธิ์อย่างนี้ มันถึงทำเข้าไปแล้วจะเป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นความเห็นที่ถูกต้อง ถ้ามันเป็นมิจฉาทิฏฐินะ จริงอยู่ศีลเราไม่บริสุทธิ์ แต่เราอยากประพฤติปฏิบัติ แต่เรามีสติเรามีจิตใจเข้มแข็ง เราก็ฝืนของเราไปได้ ฝืนของเราเป็นสมาธิได้เหมือนกัน เป็นสมาธินะ แต่มันเป็นได้ส่วนน้อย มันเป็นคนที่ต้องมีหลักมีเกณฑ์ มันไม่ใช่คนที่อ่อนไหว

คนที่อ่อนไหวหรือมีความลังเลสงสัย แล้วกิเลสนี่นะมันมีแผลไม่ได้เลย มันมีสิ่งใดที่มันจะจุดชนวนได้ มันจะส่งเสริมทันที แล้วถ้ายิ่งเราสงสัย ยิ่งกำหนดเข้าไป มันจะออกมา

เวลาเราประพฤติปฏิบัติ มันยากๆ ตรงนี้ ยากตรงกิเลสในหัวใจเรา มันทำให้เราไขว้เขว มันทำให้เราออกนอกลู่นอกทาง มีอะไรแล้วแต่เป็นแผลเล็กน้อย มันก็จะขยายให้แผลนี้กว้างขึ้น จะทำให้เราลังเลสงสัย มันจะทำตลอดไป นี่ล่ะกิเลสของเรา

เวลาประพฤติปฏิบัติ สิ่งที่มันทำให้เราทำได้ยาก สิ่งที่ทำให้ไม่ต่อเนื่อง คือเรื่องของกิเลสทั้งนั้นนะ มันเป็นเรื่องของกิเลสของเรา สิ่งที่เป็นกิเลส แล้วมันเป็นจริตนิสัยด้วย ถ้าคนมันเข้มแข็ง มีความผิดพลาดบ้าง แต่ถ้ามีความเข้มแข็งมีความจงใจก็ทำได้ แต่ถ้ามันเป็นคนที่ทำออกมาโดยกิเลสเลยนะ ถ้าศีลไม่บริสุทธิ์ เป็นสมาธิได้ มันก็เป็นไปได้โดยเป็นมิจฉาไง ถ้าเป็นมิจฉา ดูสิ ดูคนที่เขาทำมนต์คุณไสยกันต่างๆ เขาไม่ใช้สมาธิเหรอ เขาใช้สมาธิทั้งนั้นล่ะ แต่สมาธิของเขาเพราะไม่มีศีล ดูเขาทำแล้วไปทำลายคนอื่นเห็นไหม ไปรังแกคนอื่น ธรรมะเป็นอย่างนั้นเหรอ ธรรมะแม้แต่ตัวเองยังต้องเมตตาเลย เราเมตตาเรา เมตตาตน เมตตาคนอื่น ถ้าความเมตตามันจะไปทำลายใครให้มีความเดือดร้อนล่ะ

ศีลทำให้เป็นปกติ ถ้าจิตมันสงบเข้ามานะ สิ่งที่เป็นปกติ สิ่งที่เรามีความขาวสะอาดนี่ทำขึ้นมา ถ้าทำความสงบของใจขึ้นมา ถ้าจิตมันสงบนะ กำหนดพุทโธๆๆ อย่าทิ้งนะ ถ้าทิ้งนะ พุทโธๆ ใครเป็นคนกำหนดพุทโธ ต้องมีความรู้สึกใช่ไหม เพราะพุทโธมันเป็นสังขาร มันเป็นความคิด ความปรุง ความแต่ง มันเป็นสังขาร มีสัญญา กำหนดไปพุทโธๆ แล้วมันทิ้งการกำหนด มันทิ้งความรู้สึกอันนี้ มันทิ้งคำว่าพุทโธ แล้วมันก็ไปรู้ว่าว่าง

เพราะอะไร เพราะธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกนะ และของครูบาอาจารย์บอก ถ้ากำหนดพุทโธๆ เข้าไปแล้ว พอจิตมันสงบเข้ามา ถ้ามันนึกพุทโธอยู่มันจะหยาบ ถ้าจิตมันเข้ามาเป็นตัวของมันเอง มันจะเป็นตัวจิต ตัวจิตคือไม่มีคำบริกรรม “คำบริกรรมมันหยาบ” มันไปคิดกันอย่างนั้น พอคิดอย่างนั้นนะ พอพุทโธๆ นี่มันก็หลอก หลอกว่าว่าง ปล่อยหมด ปล่อยอาการต่างๆ หมด

ตัวจิตไปรู้อาการของจิต คือตัวขันธ์ คือความรู้สึก เพราะขันธ์ ๕ ถ้าเราสงบเข้ามาไม่ผ่านขันธ์ ๕ เข้าไป มันไม่ถึงตัวจิต ถ้าถึงตัวจิต ตัวจิตเป็นตัวว่าง ไม่ใช่ตัวจิตไปรู้ว่าว่าง ถ้าตัวจิตไปรู้ว่าว่าง มันไปรู้อาการของขันธ์ สิ่งนี้มันก็หลอก ไม่รู้ แล้วพอมันว่างๆ ว่างๆ ก็ถามว่าว่างๆ แล้วต้องทำอย่างไร มันก็ปฏิบัติกันอยู่อย่างนั้นล่ะ มันไม่เข้าถึงเพราะไม่มีความเข้มแข็ง

ถ้ามีความเข้มแข็ง นี่เห็นไหมถึงบอกว่าวุฒิภาวะ ถ้าจิตมันอ่อนแอ จิตที่วุฒิภาวะอย่างนี้ แล้วก็เป็นความเข้าใจ อวิชชา เป็นความเข้าใจว่านี่เป็นสมาธิไง เป็นความเข้าใจว่าสิ่งนี้เราประพฤติปฏิบัติถูกต้องไง แล้วก็นี่ถูกต้องแล้ว ศาสนาจะมีมรรคผลไหม การประพฤติปฏิบัติเราจะทำได้ไหม หมดกาลหมดเวลาแล้ว เราไม่มีอำนาจวาสนา

นี่เป็นเรื่องของกิเลสทั้งนั้นเลย กิเลสก็หลอกให้เราทำโดยไม่เป็นสัมมาทิฏฐิ ไม่มีความถูกต้อง แล้วพอทำเข้าไปแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นมา มันก็เป็นสิ่งที่หลอกขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง แล้วก็สิ่งสภาวะแบบนี้คากันอยู่อย่างนั้น

ถ้าเรามีความเห็นถูกต้อง เรากำหนดพุทโธๆ ให้ชัดเจนเลย พุทโธๆๆ นี่สิ่งนี้ จิต อาการของจิต จิตจะรับรู้ ดูสิ ดูว่า ภารา หะเว ปัญจักขันธา ความคิดเป็นภาระของจิต สิ่งที่เป็นภาระของจิต จิตที่พ้นออกไปแล้วเป็นพระอรหันต์ เวลาสิ่งต่างๆ เข้ามา มันก็ปะทะได้แค่ความรู้สึก เพราะอะไร เพราะว่าเป็นสมมุติ คุยกันสื่อสารกัน สิ่งนี้เป็นสมมุติ ถ้าสรรพสิ่งนี้มันผ่านมา รับรู้แล้วมันก็แค่นั้น ไม่เข้าถึงจิตไง ถึงบอกว่า พระอรหันต์ เวทนาของใจนั้นไม่มี มีแต่เวทนาของร่างกาย เวทนาของร่างกาย เห็นไหม พระอรหันต์ก้าวเดินไปยังมีความรู้สึกอยู่ ต้องอาศัยสิ่งนี้ เพราะจิตอาศัยร่างกายนี้อยู่ แต่กระทบสิ่งนี้แล้วมันจะปล่อยวางตรงนี้

แต่เราประพฤติปฏิบัติเริ่มต้น การประพฤติปฏิบัติเริ่มต้นนี่เวลากำหนดพุทโธๆ ไป พุทโธมันเป็นอาการของจิตกับจิต สิ่งนี้อาการของจิตกับจิต ถ้ามีพุทโธๆ เข้าไปสิ่งนี้มันจะส่งต่อเข้ามา จากอาการของจิตจะหดสั้นเข้ามา หดสั้นเข้ามา พอถึงตัวจิต ดูสิถ้าถึงตัวจิต ถ้าเป็นอำนาจวาสนาของแต่ละบุคคล มันจะมีอาการไง อาการตกจากที่สูง อาการที่จิตมันจะเป็นไป มันจะมีอาการไหว มันเกิดปีติ มันเกิดต่างๆ อย่างนี้ มันมีขบวนการของจิต มันจะหดสั้นเข้ามา มันหดตัวเข้ามาเอง

ดูอย่างวัตถุสิ เวลามันหดเข้ามา มันยังทำตัวเองหดสั้นเข้ามาได้ อย่างเช่น ต้นไม้ เช่นอะไรต่างๆ มันจะหดของมันเองเป็น นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อจิตมันหดสั้นเข้ามา ถ้ามันมีอำนาจวาสนา มันรู้ของมัน ต้องรู้! รู้ตัวเอง มันสงบเข้ามา มันหดสั้นเข้ามา หดสั้นเข้ามาขนาดไหน อุปจารสมาธิ ถ้ามันออกเห็น เพราะอุปจารสมาธิจะเห็น เห็น! เห็นอะไร ถ้าเกิดนิมิตเห็นต่างๆ การเห็นสิ่งนั้น ถ้าจิตมันเห็นแล้วเราไม่รู้ ขณะที่เราเห็นนิมิตเรารู้อะไรไหม ถ้ารู้ทำไมสงสัย ถ้ารู้ทำไมต้องถามครูบาอาจารย์ แต่ถ้าผู้ที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เวลาจิตมันสงบเข้ามา พอเห็นสิ่งใด ถามความรู้สึกอันนั้น มันจะตอบมาไม่ให้เราสงสัยเลย

ต้องรู้ต้องเห็น ถ้าเราประพฤติปฏิบัติโดยสัจจะความจริง โดยข้อเท็จจริงในการประพฤติปฏิบัติ โดยการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม จิตสงบเข้ามาก็รู้ว่าจิตสงบ แล้วจะไม่บอกว่าว่างๆ เพราะตัวจิตมันสงบ มันจะไปรู้ว่างอะไร มันจะไปรู้ว่า “เอ๊ะ ครูบาอาจารย์ท่านเวลาเทศนาว่าการ ท่านก็บอกว่ามันว่าง” ความว่าง ความสงบของใจ จะมีความสงบมันก็ว่างอย่างนั้น จนถึงที่สุด อัปปนาสมาธินี่สักแต่ว่ารู้ แล้วมันรู้อะไร เพราะมันเข้าถึงอัปปนาสมาธิใช่ไหม ถ้าเป็นอุปจารสมาธิมันยังมีวงรอบอยู่ มันมีกระแสอยู่ มันออกรู้นิมิตอะไรต่างๆ แล้วถ้าเกิดมันเห็นกายล่ะ เห็นกาย เห็นแล้วก็ยังตกใจ เห็นแล้วสะเทือนหัวใจ

นี่เห็นก็ไม่รู้ เวลารู้ก็ไม่เห็น ถึงเวลาทำความสงบของใจเข้ามา เวลาที่ว่าว่างๆ สิ่งนี้มันเห็นโดยสัญญา รู้โดยอาการของใจ มันจะไม่เข้าใจสิ่งต่างๆ เลย ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ มันรู้โดยสัญญา รู้โดยความมึนชาของกิเลสนะ กิเลสมันมึนชา แล้วทำให้เราก้าวเดินไม่ถูกต้อง

แต่ถ้าใครทำความสงบของใจ ถ้าจิตมันเป็นสมาธิจริงๆ นะ เป็นสมาธิโดยตัวจิตว่างนี่มันจะร้องโอ๊ะโอ เพราะจิตมันไม่สื่อความหมายกับใคร จิตมันไม่ได้สื่อความหมายมาที่ขันธ์ จิตไม่ใช่ขันธ์ ขันธ์ไม่ใช่จิต ตัวจิตก็เป็นตัวจิต ตัวจิตมันว่างเข้ามาเอง ถ้าตัวจิตมันว่างเข้ามา ตัวมันเองเป็นความว่าง เหมือนกับเราทำความสะอาดตัวของเราเอง กับเราทำความสะอาดให้คนอื่น ดูสิ เราเลี้ยงเด็ก เด็กมันตัวสกปรกมา เราก็ทำความสะอาดตัวให้เด็ก แล้วบอกว่าเด็กนี่สะอาด เด็กมันสะอาดแต่เราสะอาดหรือเปล่าล่ะ เราไม่เกี่ยวกับเด็กนะ เราอาบน้ำให้เด็ก ไม่ใช่ตัวเราอาบน้ำนะ

จิตก็เหมือนกัน จิตกับขันธ์ไม่ใช่อันเดียวกัน มันคนละอันกัน ขันธ์เป็นขันธ์ จิตเป็นจิต แล้วเวลาขันธ์มันคิดฟุ้งซ่านอยู่ คิดแต่เรื่องต่างๆ เข้ามาเบียดเบียนใจมัน แล้วเราคิดตรึกถึงธรรมะ กำหนดพุทโธๆ แล้วขันธ์มันปล่อยมา มันปล่อยจากอารมณ์ความรุนแรงที่มันเบียดเบียนใจ แล้วมันมาคิดเรื่องความว่าง มันก็ว่าง เหมือนเราอาบน้ำให้เด็ก แต่เราไม่ใช่ผู้ทำความสะอาดใจของเราเอง

ถ้ากำหนดพุทโธๆ เข้ามา เพราะอะไร เพราะเราอาบน้ำให้เด็ก แล้วเด็กมันสะอาดไปแล้ว มันก็ว่างของมันอย่างนั้น แล้วเด็กไม่ใช่เรา เดี๋ยวเด็กมันไปเล่นก็สกปรกอีก ความคิดก็เหมือนกัน เวลาพอมันว่างๆ เดี๋ยวมันก็คิดของมันอีก มันเป็นอาการจาก ภายนอก แต่ถ้าเราทำความสะอาดของเราเข้ามา เรากำหนดพุทโธเข้ามาเรื่อยๆ จากเด็กเห็นไหม จะเป็นตัวเรา ถ้าเป็นตัวเรา ถ้าเราสงบเข้ามา เราก็รู้ ต้องรู้ รู้ชัดเจนเลย สมาธิเป็นอย่างนี้

ถ้าสมาธิเป็นอย่างนี้ นี่ไง นี่คือตัวจิตไง แล้วมนุษย์คือใคร เรานี่คือใคร นักปฏิบัตินี่คือใคร แล้วเราชี้ไปที่เรา ไม่มีเราเลย แล้วใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว จะหาใจของตัวเอง แล้วใจอยู่ไหนล่ะ จับไปที่ตรงไหนก็เป็นใจหมด

กำหนดพุทโธก็กำหนดไม่เป็นเลย กำหนดอานาปานสติ ก็กำหนดกันตรงไหนกำหนดพุทโธๆ อยู่ที่ความรู้สึกอันนั้น ถ้ากำหนดอานาปานาสติ ก็อยู่ที่ปลายจมูกนั้น กำหนดพุทโธๆๆ เข้าไป สิ่งนี้มันจะย้ำเข้ามา ย้ำความคิด กระแสพลังงานที่ส่งออก มันจะย้อนกลับมา เพราะสิ่งนี้เป็นสิ่งที่กองไว้ จนถึงที่สุด พุทโธๆๆ โดยธรรม โดยสัจจะความจริง ไม่ใช่ว่าเป็นผู้ใหญ่อาบน้ำให้เด็ก พุทโธๆ ไปอย่างนั้นล่ะ ถึงที่สุดแล้วมันต้องถึงตัวมัน เพราะสิ่งนี้เริ่มต้นจากจิต เริ่มต้นจากความรู้สึก เริ่มต้นจากจิตเราเป็นคนกำหนดพุทโธ เริ่มต้นจากเราเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ แล้วเรากำหนดของเรา พุทโธๆๆ อย่างนี้ตลอดไปน่ะ มันจะไปไหน

เพราะพลังงานนี้มันออกมาจากจิตใช่ไหม ความคิดความนึกต่างๆ กระแสมันต่อเนื่องกันมา เพราะขันธ์ไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่ขันธ์ พอจิตไม่ใช่ขันธ์ จิตมันเป็นอวิชชา มันไม่รู้ตัวมันเอง แต่เราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราศึกษาตามครูบาอาจารย์มา เราจะประพฤติปฏิบัติ เราก็ใช้คำบริกรรม เป็นกรรมฐาน ๔o ห้อง พุทธานุสติย้อนกลับมาพุทโธๆ กำหนดเข้ามา หรือเราจะกำหนดเป็นอานาปานสติ กำหนดอะไรต่างๆ เข้ามา สิ่งนี้จะย้อนกลับ มันเป็นสมถะ การทำใจของเราให้สงบ ศีล สมาธิ สมาธิจะเกิดตรงนี้ นี่ขั้นของต้องรู้ต้องเห็น

การปฏิบัติตามครูบาอาจารย์ท่านเทศนาว่าการ ปฏิบัติตามครูบาอาจารย์ที่สั่งสอน ถ้าเราปฏิบัติธรรมถูกต้อง ต้องรู้ต้องเห็น ตามความเป็นจริงอันนั้น แต่เราประพฤติปฏิบัติกันโดยความเห็นของเรา มันก็เลยไม่รู้ไม่เห็น เพราะเราไม่ทำตามความเป็นจริงไง มันไปทำตามกิเลสไง ไปอยู่ในอำนาจของกิเลส กิเลสมันก็เบี่ยงเบนไปตลอดอย่างนี้ แล้วก็ว่าเป็นการประพฤติปฏิบัติธรรม แล้วก็มาน้อยเนื้อต่ำใจ ว่าเราทำแล้วไม่ได้ประโยชน์ เราทำแล้วไม่ได้ผล

ไม่ได้ผลเพราะเราเป็นคนโลเล ไม่ได้ผลเพราะเราเป็นคนที่ไม่มีสัจจะ เราไม่เอาจริงเอาจังกับธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเราเอาจริงเอาจังกับธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรากำหนดพุทโธตลอดไป ผลมันจะเกิดขึ้นเอง หน้าที่ของเรานะ ถ้าเราจะต้มน้ำ เราต้องรักษาไฟของเรา หน้าที่น้ำเดือด น้ำมันจะเดือดของมันเอง หน้าที่ของเราก็รักษาไฟเราสิ

นี่ก็เหมือนกัน หน้าที่เราก็กำหนดพุทโธสิ ทำไมบอกว่ามันว่างๆ มันไปเคลิบเคลิ้มไปก่อนความเป็นจริงไง นี่กิเลสมันหลอกอย่างนั้นนะ มันก็เลยไม่ได้ผลกัน ถ้ากำหนดพุทโธๆ จิตมันสงบเข้ามานี่ อื้อฮือ นี่รู้จักตนรู้จักเรา โอ้..จิตเป็นอย่างนี้ แล้วจะฝังใจมาก แล้วต้องฝึกฝน ต้องมีความชำนาญ

ถ้ามีความชำนาญนะ สิ่งที่ชำนาญในวสี เหตุที่เกิด สัพเพ ธัมมา อนัตตา สภาวะต่างๆ นี้เป็นอนัตตาหมด แม้แต่ความสงบนะ แม้แต่ความทุกข์ความยาก ทุกอย่างเป็นอนิจจัง ทุกอย่างในโลกนี้ สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง สิ่งใดเป็นอนิจจังสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตา นี่มันเป็นอนิจจัง แม้แต่ชีวิตก็เป็นอนิจจัง สรรพสิ่งในโลกนี้ เป็นอนิจจังหมดเลย ถ้าเป็นอนิจจังปั๊บก็หมุนไปอย่างนี้

แต่เวลาทุกข์น่ะมันเข้ากับกิเลส กิเลสมันถึงไม่ยอมเป็นอนิจจังกับเรา มันเอามาเผาเราตลอดเวลา ถ้าความทุกข์เป็นความจริงนะ ขนาดทุกข์จนถึงที่สุดแห่งหัวใจนะ เราต้องดับขันธ์ เราต้องตายไปเลย แต่นี่ไม่ไง เพราะอะไร เพราะมันเป็นอนัตตา มันเป็นของที่ว่าถ้ามีถึงที่สุดแล้ว มันก็ผ่อนคลาย มันผ่อนคลายไปอย่างนั้น มันก็หมุนเวียนไปอย่างนั้นตลอดไป

แล้วเวลาประพฤติปฏิบัติธรรม สิ่งที่เป็น สมาธิก็เป็นอนิจจัง ปัญญาก็เป็นอนิจจัง เพราะมันเกิดๆ ดับๆ มันไม่อยู่กับเราคงที่หรอก สิ่งที่ไม่คงที่นะ สิ่งนี้มันเป็นไป แต่จำเป็นต้องทำ ถ้าไม่จำเป็นต้องทำ ศีล สมาธิ ปัญญา เพราะสิ่งที่เป็นสมาธิ สิ่งที่เป็นต้องรู้ต้องเห็นอันนี้ มันจะเป็นการเริ่มต้นให้เราเป็นพื้นฐานในการวิปัสสนา ถ้าไม่มีต้นทุนของการทำความสงบของใจ แล้ววิปัสสนาไป เขาวิปัสสนาไป อยากรู้อยากเห็น วิปัสสนาไปแล้วก็เคลิบเคลิ้มไปนะ มันปฏิบัติไปถึงที่สุดเลย นี่เป็นสิ่งที่ว่ากิเลสมันหลอก

วิปัสสนาด้วยปัญญา ว่าปัญญาวิมุตติ เราก็ใช้ปัญญาใคร่ครวญกันไป เวลาใคร่ครวญไป เวลาใช้ปัญญาหมุนไปมันมีความดูดดื่มในธรรม มันจะมีอาการไง จิตนี่มันมหัศจรรย์ เวลาเราตรึกในธรรมขึ้นมา มันจะมีอาการที่ว่าถ้ามันสงบขึ้นมา มันปล่อยวางขึ้นมา มันจะเกิดอาการของมัน มันจะปล่อยวาง วางอย่างนี้เหมือนกับผู้ใหญ่อาบน้ำให้เด็ก เวลาเด็กมันสกปรกใช่ไหม เราก็ตรึกว่าเด็กนี้สกปรก มันตรึกในความคิดไง ถ้าความคิดสิ่งนั้นสกปรก สิ่งนั้นมันให้ความเจ็บปวดแสบร้อน เอาธรรมะมาตรึก พอตรึกมันก็ปล่อยเข้ามา เด็กมันสะอาดไง แล้วก็ว่านี่เป็นธรรม นี่เป็นโสดาบัน นี่เป็นสกิทา พอปล่อยหนหนึ่งก็ว่าเป็นธรรมหนหนึ่ง เพราะจิตมันก็เวิ้งว้าง จิตมันก็หลอกไป เป็นอย่างนี้ทั้งนั้น แล้วสิ่งนี้จะแก้อย่างไร

ก็เหมือนกัน ฟังเทศน์ของครูบาอาจารย์เหมือนกันเลย ประพฤติปฏิบัติเหมือนกันเลย เหมือนโดยกิเลสไง กิเลสมันต้องการให้เหมือนอยู่แล้ว แล้วเราเป็นปัญญาชน ดูสิ ดูความคิดของบุคคลต่างๆ พูดอะไรไปเขาเข้าใจหมดเลย แล้วให้เขาไปทำสิ ทำผิดหมดเลย เพราะเขาไม่เข้าใจหรอก แต่เขาว่าทำได้ๆ นี่ล่ะคนทำงานด้วยปากอย่างหนึ่ง ทำงานด้วยปากนะ แล้วเวลาเราตรึกในธรรมขึ้นมา สิ่งนี้มันก็ว่าของมันเป็นไป แล้วจิตของมันเป็นไป

เวลาคุยกับเด็กสิ เด็กมันมีความคิดอย่างหนึ่ง เวลาเรามีความหมายอย่างหนึ่ง เราสื่อความหมายไป เขาตีความ เขาฟังว่าเขาเข้าใจ แต่เขาก็ไปเข้าใจอีกอย่างหนึ่ง แล้วเวลาประพฤติปฏิบัติว่าเหมือนกัน ก็เหมือนกันโดยกิเลสของเขา เหมือนกันโดยความคาดหมายของเขา ว่าสิ่งนั้นเหมือน แล้วมาพูดว่าเหมือนกันหมดเลย แต่ไม่เคยรู้ไม่เคยเห็นอะไรเลย

ถ้ารู้นะ สิ่งที่รู้ สื่อความหมายไม่ได้เพราะไม่เห็น จิตสงบขนาดไหนนะ ถ้ายกขึ้นวิปัสสนาจิตน้อมไปเห็นกาย จิตนี้น้อมไปเห็นกาย นี่รู้ เห็นนี่เห็น มีความรู้สึก เพราะมันสะเทือนหัวใจมากเลย มันสะเทือนหัวใจนะ เพราะมันไปเห็นสิ่งที่ว่า โดยสังโยชน์ สักกายทิฏฐิ ทิฏฐิของใจ สิ่งนี้มันมีอยู่โดยดั้งเดิม มันมีอยู่ในจิตใต้สำนึก มันเป็นทิฏฐิของปุถุชน เป็นทิฏฐิของทุกๆ คนโดยใต้สำนึกว่าต้องเป็นเรา สิ่งนั้นเป็นเรา สิ่งต่างๆ มันเป็นสักกายทิฏฐิ ความเห็นผิดอันนั้น เราก็ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็เข้าใจ

พระพุทธเจ้าบอก “ขันธ์ ๕ ไม่มีในเรา เราไม่มีในขันธ์ ๕ ขัณฑ์ ๕ ไม่มีในทุกข์ทุกข์ไม่มีในขันธ์ ๕” เราก็ศึกษา เราก็เข้าใจ นี่รู้โดยสัญญา รู้นะแต่ไม่เคยเห็น ถึงจิตมันสงบเข้ามาปล่อยวางทั้งหมด จิตไม่ใช่รู้ว่าว่าง ตัวจิตเองเป็นตัวว่าง พอตัวจิตเป็นตัวว่างมันก็เข้าใจ พอเข้าใจนี่เป็นผลของสมาธิ สิ่งนี้เป็นพื้นฐาน เพราะอะไร เพราะเวลาจิตมันรู้แล้ว เวลามันเห็น เห็นในอะไร มันเห็นในอริยสัจนะ

ถ้าเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม นี่มันเห็นอริยสัจ ด้วยผู้ที่มีวุฒิภาวะเห็น ไม่ใช่เด็กๆ เห็น ไม่ใช่ผู้ที่เอาสมมุติเห็น ถ้าเอาสมมุติเห็น เราศึกษาธรรมขึ้นมาเราเข้าใจหมดล่ะ นี่คือเอาสมมุติเห็น ถ้าเอาสมมุติเห็น มันก็เป็นสมมุติไปหมดเลย ถ้าเอาสมมุติไปเห็นแต่มันเป็นจริง สมาธิคือเป็นสมาธิจริงๆ เป็นสัมมาทิฏฐิจริงๆ ความเห็นจริงๆ สิ่งที่ความเป็นจริงมันเห็นจริง ผู้รู้รู้จริง เวลาเห็นก็เห็นจริง เห็นจริงก็ต้องวิปัสสนา นี่ความเห็น

วิปัสสนาไป ขณะวิปัสสนาแล้วย้อนไปสิ วิปัสสนาถ้ากำลังพอนะ สิ่งนี้ให้เป็นไปตามธรรมชาติ มันจะเป็นฟืนเป็นไฟเป็นอะไรแล้วแต่ ให้แยกแยะออกไป จะให้เป็นกระดูก เป็นเนื้อ จะให้มันเน่าเปื่อยไปอย่างไร ถ้าสมาธิมันเป็นไปได้นะ มันนึกปั๊บ เป็นไปตามนั้นเลย จะเป็นไปตามนั้นตลอดไป เป็นไปตามนั้นมันก็จะยิ่งเกิดความมหัศจรรย์ จิตนี้จะมหัศจรรย์มากเลย

ถ้าเห็นสภาวธรรม สภาวะวิปัสสนามันจะเป็นอย่างนี้ มันจะเห็นความเป็นไปเพราะอะไร เพราะมรรคมันก้าวเดินแล้ว นี่ล่ะรู้ ต้องรู้ รู้จริงๆ ความเห็นก็เห็นจริงๆ พอความเห็นจริงๆ มรรคญาณความถูกต้อง มันก็จะเป็นไป มันแยกแยะของมันไปไง มันแยกแยะของมันโดยกำลังของมัน ให้มันเป็นสัจจะ เป็นอำนาจวาสนา คนเราวิปัสสนา มันอยู่ที่อำนาจวาสนาของคน มันจะแปรสภาพไปอย่างไร แปรสภาพขนาดไหน ทำแล้วทำเล่า ฝึกฝนแล้วฝึกฝนเล่า มันจะเปลี่ยนไป เพราะถ้ามันฝึกฝนบ่อยครั้งเข้า การฝึกฝน การวิปัสสนานี่ใช้มรรคญาณบ่อยครั้งเข้า สิ่งนี้เป็นการวิปัสสนา เป็นการชำระล้างกิเลส

ถ้าเป็นการชำระล้างกิเลส ความที่ปล่อยมา ครูบาอาจารย์ที่ท่านประพฤติปฏิบัติมานะ ถ้าความสงบของสมาธิอย่างหนึ่ง ความว่างของสมาธินี่อย่างหนึ่ง ถ้าความว่างของการใช้ปัญญาวิปัสสนา เวลามันปล่อย มันจะว่างอย่างหนึ่ง แต่ขณะที่เราประพฤติปฏิบัติ เรารู้แต่ไม่เห็น เห็นก็ไม่รู้ เพราะอะไร เพราะขณะที่วิปัสสนาไป มันปล่อยอย่างนั้น แต่มันไม่รู้จริงไง มันยังไม่ไปรู้จริง

ถ้ามันทั้งรู้จริงทั้งเห็นจริงนะ ขณะที่รู้จริงเห็นจริงนะ เวลาสังโยชน์มันขาด อกุปปธรรมเกิดขึ้นมาจากจิต เวลาสังโยชน์มันขาด ขันธ์ไม่มีในเรา เราไม่มีในขันธ์ ความลังเลสงสัย สักกายทิฏฐิ มันไม่มีในจิต มันปล่อยหมด ทั้งรู้ทั้งเห็นนะ ถ้าเป็นปัญญาวิมุตติ สิ่งที่เห็นภาพ เวลาเราวิปัสสนา ถ้าวิปัสสนากายมันก็เห็นภาพได้ เห็นภาพก็แยกแยะได้ แต่ถ้าไม่เห็นภาพนี่ธรรมารมณ์

กาย เวทนา จิต ธรรม ถ้าพิจารณาเห็นกายโดยเจโตวิมุตติ มันจะเห็นกายโดยตาของใจ จะเห็นเป็นสัจจะความจริงเลย แล้วกำลังพอด้วยสมาธิ ให้แขนขาดไป ให้เน่าเปื่อยพุพองขนาดไหน เป็นไป มันจะคืนสู่สภาพเดิมของเขา พอคืนสู่สภาพเดิมของเขา ความเห็นสภาวะสัจจะความจริง ถ้ากำลังพอมันจะปล่อย ก็ว่างหมด นี่ล่ะว่างเพราะเข้าไปวิปัสสนาแล้ว เหมือนเราทำความสะอาดของใจ เราทำความสะอาดตัวเราเอง

เวลาเป็นขั้นของสมาธิ ถ้าเป็นมิจฉาสมาธิ รู้ว่าว่าง ก็เหมือนเราอาบน้ำให้เด็ก แต่ถ้าเป็นเราอาบน้ำให้ตัวเราเอง เราชำระตัวเราเอง นี่เราเป็นผู้ว่าว่าง ผู้ว่าว่างตัวนี้เป็นสัมมาสมาธิ นี่ล่ะกิเลสเต็มหัวใจเลย

แล้วถ้าวิปัสสนา ทำความสะอาดจากภายใน สักกายทิฏฐิความเห็นผิด มันเป็นสิ่งที่นอนเนื่องมากับใจ มันไม่ใช่ว่าใจเราสกปรก มันเป็นความนอนเนื่องมา เหมือนกับเราชำระล้างร่างกายเรา เราจะชำระล้างได้แต่เหงื่อไคล แต่เชื้อไข สิ่งที่อยู่ในเนื้อ ใต้ผิวหนังเราทำความสะอาดได้ไหม แต่ถ้าเป็นจิต มันมีตรงนี้ มันมีกระแส ดูสิ เรามีเส้นเลือด เรามีเอ็นอยู่ในร่างกาย เราจะมาซักทำความสะอาดได้ไหม ไม่ได้ เว้นไว้แต่คนไข้เข้าโรงพยาบาล เขาผ่าตัดโดยทางการแพทย์

แต่ถ้าเป็นธรรม วิปัสสนามันเป็นอย่างนี้เหมือนกัน เวลาเข้าไปเพราะอะไร เพราะไอ้สิ่งนี้มันนอนเนื่องอยู่ในใจ ถ้านอนเนื่องอยู่ในใจ เราวิปัสสนาคายมันออก ความที่คายมันออก ถ้าจิตมีกำลังเป็นพื้นฐาน วิปัสสนาให้แปรสภาพ จะเน่าเปื่อย จะพุพองขนาดไหน แปรสภาพไปแล้ว มันรวมลงสู่สภาพเดิมของเขานะ มันจะ เอ๊อะ ขึ้นมาในใจ เป็นอย่างนี้ๆ ถ้ากำลังพอ ปล่อยๆๆ ความว่างอย่างนี้ มันปล่อยบ่อยครั้งเข้า ถ้าเราไม่มีอำนาจวาสนานะ พอปล่อย เราก็ว่าสิ่งนี้เป็นอริยภูมิขั้นหนึ่ง นี่ก็รู้แต่ไม่เห็นตามความเป็นจริง

ถ้าเห็นนะ ทั้งรู้ทั้งเห็นนะ มันขาดนะ มันขาดอย่างไร รู้อย่างไร ขาดอย่างไร ทั้งๆ ที่ว่าเห็น ขนาดที่ว่าวิปัสสนาโดยปัญญาวิมุตติ พิจารณาขันธ์ พิจารณาความคิด พิจารณากาย หรือพิจารณาเวทนา เวทนานี่มันมีรูปร่างไหม เวทนามันอยู่ที่ไหน เวทนามันอยู่ที่หัวเข่า เวทนามันอยู่ที่กระดูกชิ้นไหน ใช้ปัญญาใคร่ครวญ สิ่งนี้มันเป็นความรู้สึก ถ้าเป็นความรู้สึกนะ เวลามันปล่อย เวทนามันหาย เวลามันปล่อยนะเวทนาสักแต่ว่าเวทนา นี่ปัญญามันใคร่ครวญไปแล้ว

ขณะที่มันปล่อย ปล่อยนี่ใครเป็นคนเห็น จิตนี้มันเห็นนะ จิตนี้มันรู้เพราะอะไร เพราะความที่มันปวด ใครเป็นคนแบกรับความปวดอันนี้ไว้ จิตนี้เป็นผู้ที่แบกรับรู้ความปวดอันนี้ไว้ ความรู้สึกเรานี่มันแบกรับความรู้สึกความเจ็บปวดอันนี้ไว้ แล้วเราใช้ปัญญาใคร่ครวญ ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ศีลนี่ความถูกต้อง ความเพียรชอบ การงานชอบ สิ่งต่างๆ ชอบ ถ้าชอบมันก็วิปัสสนาของมันไป มันใคร่ครวญของมันไป ใคร่ครวญไป อะไรเจ็บ อะไรปวด

ไม่มีหรอก สิ่งที่เจ็บปวดมันเป็นเรื่องของความรู้สึกหมดเลย สิ่งต่างๆ นี้ร่างกายก็คือร่างกาย แต่ทีนี้ว่าขณะที่เราเกิดเป็นมนุษย์ ในวงการแพทย์ เพราะเรานั่งแล้วอากาศมันเดินไม่สะดวก เรานั่งทับแล้วมันก็จะเป็นเหน็บชา มันก็ว่ากันไป เพราะมันเอาร่างกายนี้ มาอ้างอิงในทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น แล้วเวลาถ้าเกิดเด็กหรือผู้ที่เขาเล่นเพลิดเพลินของเขา เขานั่งเป็นวันๆ ทำไมเขาไม่เป็นล่ะ ไม่เป็นขณะที่เขาเพลินนะ แต่เวลาลุกแล้วเป็นเพราะอะไร เพราะมันกดทับจริงๆ แต่เวลาที่มันเพลิน มันเพลินเพราะมันส่งความรู้สึกไปที่อื่น

อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันวิปัสสนาแล้ว มันปล่อยวางได้โดยสัจจะความจริงของมันไง ปล่อยวางได้เพราะปัญญาใคร่ครวญ ปัญญาของเรานี่นะ มาใคร่ครวญในสิ่งที่ว่ามันเจ็บมันปวด สิ่งที่มันเจ็บมันปวดเพราะใครไปยึดมันล่ะ เพราะความเห็นผิดไง เพราะความรู้สึกนี้ออกไปรับรู้ไง ถ้าปัญญามันพอมันจะแยกบ่อยๆ ครั้งเข้า ไม่มีสิ่งใดเลย ตัวที่เป็นต้นเหตุคือตัวความรู้สึก ตัวจิตไปแบกเขา ถ้าตัวจิตไปแบกเขา มันใช้ปัญญาใคร่ครวญจนมันอาย มันก็ปล่อยวางเข้ามา พอปล่อยวางเข้ามา เพราะจิตเราเป็นคนแบกรับว่าเจ็บ เราเป็นคนแบกรับว่าทุกข์ เวลามันปล่อยวางๆ ก็ว่าง มันก็มีความสุข

มันก็ว่าง มันก็ทั้งรู้ทั้งเห็น เห็นบ่อยครั้งเข้าๆ ถึงที่สุดนะ เวทนาเป็นเวทนา จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ มันแยกออกจากกัน ขณะที่แยก ขณะที่จิตมันเป็นไป ทั้งรู้ทั้งเห็นอย่างนี้ มันถึงจะรู้ตามความเป็นจริง เป็นขั้นเป็นตอนขึ้นมา ถ้าเห็น เรารู้เราเห็น แต่เรารู้ รู้ว่าว่าง รู้กับเห็นไม่สมดุลกัน ถ้ารู้กับเห็นไม่สมดุลกัน ความเป็นไปของมรรคสามัคคี มันก็ไม่สมดุลกัน สิ่งที่ไม่สมดุลกันมันก็ปล่อยชั่วคราว มันเป็นกุปปธรรม คือของชั่วคราว ตทังคปหาน มันปล่อยวางชั่วคราว

ถ้าเราประมาท เราเลินเล่อ เราไม่ตรวจสอบซ้ำเข้าไป หน้าที่ของเราคือหมั่นตรวจซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า สิ่งที่มันยังมีในใจ มันไม่มีคำตอบไง มันไม่รู้เห็นตามความเป็นจริงไง ถ้ารู้เห็นเป็นความจริง เป็นอริยภูมิในหัวใจนะ ไม่ต้องถามใครเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่พยากรณ์ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติคนใดได้ขั้นใดๆ สิ่งที่เขาปฏิบัติมาแล้ว ตามความเป็นจริงเท่านั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยากรณ์อย่างนั้น แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้บอกให้เป็นอย่างนั้นๆ

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เป็นความจริงของเรา มันจะเป็นความจริงของเรา ถ้าไม่เป็นความจริงของเรา มันเกิดมาจากไหนล่ะ มันเกิดมาจากการคาดหมายของจิตนี้ ถ้าการคาดหมายของจิตนี้ นี่รู้ก็ไม่เป็นความจริง เห็นก็ไม่เป็นความจริง แต่ทั้งรู้ทั้งเห็น เพราะจะเป็นปัญญาวิมุตติก็แล้วแต่ เจโตวิมุตติก็แล้วแต่ ทั้งรู้ทั้งเห็นเพราะมันขาดพร้อมกัน มันเป็นเหตุผลเดียวกัน แล้วมันจะปล่อยเหมือนกัน ขาดเหมือนกัน แล้วจิตนี้พ้นออกมา สิ่งที่พ้นมานี่ มันใช้วิปัสสนาสูงขึ้นไปๆ ต้องทำบ่อยครั้งเข้า มันยังมีสิ่งที่เป็นอยู่ในหัวใจ

ในหัวใจ คือ กิเลสอย่างหยาบอย่างละเอียด สิ่งที่มรรค ๔ ผล ๔ ถ้าเราวิปัสสนาขึ้นไป สิ่งที่เป็นไป สิ่งที่กิเลสมันละเอียด มันก็หลอกอย่างละเอียดนะ สิ่งที่กิเลสอย่างละเอียดมันหลอกเรา เวลาจิตมันจะวิปัสสนาไปนะ มันอ้างนู่นอ้างนี่ไปทั่ว ถ้าจิตมันอ้าง นั่นล่ะใจมันไม่มีกำลัง ถ้ามีกำลัง อยู่กับครูบาอาจารย์นะ ครูบาอาจารย์ท่านจะให้กำลังใจมาก เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกประพฤติปฏิบัติ ๖ ปี นี่ทุกข์ยากขนาดไหน ทุกข์ยากนะขณะที่ประพฤติปฏิบัติ

การทำงาน งานใดบ้างที่ทำแล้วไม่อาบเหงื่อต่างน้ำ แล้วงานที่เอาชนะหัวใจ งานใดบ้างที่มันประพฤติปฏิบัติแล้วมันจะได้ผลง่ายๆ ถ้าสิ่งนี้ครูบาอาจารย์ท่านก็ประพฤติปฏิบัติมาก่อน อำนาจวาสนาของครูบาอาจารย์ท่านขนาดนี้ ท่านยังต้องประพฤติปฏิบัติมาขนาดนั้น แล้วของเราล่ะ ถ้าของเรา มันก็หน้าที่ของเรา เวลาเราตักอาหารใส่ปาก เราก็พอใจเพราะเราได้กลืนกินมันอยู่ในกระเพาะของเรา

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราได้เดินจงกรม เราได้นั่งสมาธิภาวนา จะเสียเหงื่อเสียพลังงานขนาดไหน พลังงานอันนี้เพื่อให้จิตสงบเข้ามาต่างหากล่ะ สิ่งใดที่เกิดขึ้นมา สิ่งใดกระทำขึ้นมาให้จิตมันสงบเข้ามา หน้าที่ของเรานะ งานอย่างอื่นเราทำแล้ว มันเป็นผลเป็นวัตถุเป็นชิ้นเป็นสถิติ แต่เวลาการประพฤติปฏิบัติ งานของเราคือความรู้สึกในหัวใจของเรา

ในความรู้สึกมันปล่อยวางไหม มันมีกำลังไหม ถ้าเป็นสมาธิจริงๆ มันจะมีกำลังของมัน มีกำลังนะ จิตเวลาปล่อยวางนะ จิตสงบอยู่ลึกๆ นี่เหมือนกับเราตัวเบา อยู่ที่ไหนเคลื่อนย้ายตัวนี่สบายมาก มันเคลื่อนย้ายไปโดยจิตมันลอยไปตลอดเลย ถ้ามันภาวนาแล้วไม่ลง ภาวนาแล้วมีความหนักหน่วงใจนะ ขานี่ก้าวแทบไม่ออกเลย มันหน่วงไปหมดเลยเวลาจิตมันถดถอย ถ้าจิตมันถดถอย เราต้องมีกำลังใจไง แล้วกำลังใจมาจากไหน กำลังใจนี่ตัดเพชรขาดนะ กำลังใจ สิ่งที่เรามีความมุมานะ สิ่งนี้จะเป็นประโยชน์กับเรา

ถ้าเวลาเราปลุกปลอบใจของเรา การงานอะไรเขาก็ต้องลงทุนลงแรงทั้งนั้น แล้วลงทุนลงแรงขึ้นมาแล้วอำนาจวาสนาไม่ดี ก็โดนคดโกงจนหมดเนื้อหมดตัว ถ้ามีอำนาจวาสนาขึ้นมา อำนาจวาสนาแข่งกันไม่ได้ไง ทำอะไรจะประสบความสำเร็จไปทั้งนั้นเลย เราก็เหมือนกัน เราจะประพฤติปฏิบัติ อำนาจวาสนาของเรา บ่อน้ำเราตื้น บ่อน้ำเราลึก การขุดน้ำใช้ บ่อน้ำตื้นบ่อน้ำลึกมันเป็นเรื่องของพื้นดิน เรื่องของธาตุจากภายนอก

ไอ้หัวใจนี่อยู่ในทรวงอกของทุกๆ คนเลย ถ้าเป็นหัวใจโดยวัตถุ เต้นอยู่ในหัวอกมันเต้นอยู่ตลอดเวลานะ มันสูบฉีดเลือดให้เรามีชีวิตอยู่ แต่ความรู้สึกเป็นคำเปรียบว่าจิตและใจ มันอยู่ในร่างกายเรา แล้วทุกคนทำความสงบเข้ามา ทำกำลังเข้ามา ทั้งๆ ที่ผ่าซี่โครงเข้าไปก็เจอหัวใจ แล้วทำไมมันต้องขุดลึกล่ะ การขุดลึกก็อยู่ที่บุญกุศลไง ใครสร้างมามากสร้างมาน้อยไง คนสร้างมานะ เวลาทางโลกเขาว่ากัน ทำบุญแล้วไม่ได้บุญ ทำบุญแล้วคนอื่นจะได้ผลประโยชน์ คิดกันไป

แล้วเวลาประพฤติปฏิบัติ สิ่งนี้มันจะเป็นการพิสูจน์เลย ถ้ามีอำนาจวาสนา ทำอะไรเข้าไป ทำแล้วมันจะมีหนทาง เวลาประพฤติปฏิบัติจะมีครูบาอาจารย์คอยชี้นำ จะมีคนเมตตาคอยส่งเสริมเรา แต่ถ้าเราไม่ได้สร้างบุญกุศลมา ทำไปเถอะ พบครูบาอาจารย์ก็เป็นครูบาอาจารย์ที่ชี้ไปทางที่ผิด เป็นเข็มทิศที่เสียแล้ว เข็มทิศที่ดี วางอยู่ที่ไหนมันก็ชี้ไปทิศเหนือนะ เข็มทิศที่เสียแล้ว เราก็ต้องเสี่ยงทายเอาเองว่า เวลาเราเอาขึ้นมาดู เข็มทิศมันจะชี้ไปทางไหน ถ้าเราไปเจอครูบาอาจารย์อย่างนั้น เราก็มีแต่ทางผิดพลาด

แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ที่ดี นี่ล่ะอำนาจวาสนา ถ้าอำนาจวาสนาสิ่งนั้นมันมีพร้อมอยู่แล้ว เราก็ต้องพยายามปลุกปลอบใจเรานะ ให้ใจเราเข้มแข็ง ให้เรามีหนทางเดิน ทางโลกเขาเดินกัน เขาเดินขนาดไหน ถึงที่สุดไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้าหรอก ถึงที่สุดนะทุกคนต้องพลัดพราก แล้วเวลาพลัดพรากก็พลัดพรากด้วยความทุกข์ความเศร้าในหัวใจ กับเราเตรียมพร้อม ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ เรามีโอกาสนะ

“คนมีโอกาส คนตื่น” คนตื่นอยู่ คนมีสติอยู่ ทำสิ่งใดถ้าจะผิดพลาดบ้าง ก็มีผิดพลาดเพราะความพลั้งเผลอ ผิดพลาดเพราะเราไม่เข้าใจ คนนอนหลับนะ คนไม่สนใจ ถ้าเกิดภัยพิบัติก็ตายทันที ถ้าเกิดสิ่งที่ว่ามีเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา ใครจะไปช่วยเหลือได้ เพราะเขานอนหลับ เขาไม่สนใจ จิตก็เหมือนกัน จิตที่เขาไม่สนใจประพฤติปฏิบัติ จิตของเขาเหมือนกับคนนอนหลับ เหมือนกับเขาไม่รู้จักตัวเขาเองเลย แต่เราเป็นคนที่ประพฤติปฏิบัติ เราเป็นคนตื่นอยู่ เราเป็นคนที่พยายามจะต่อสู้กับกิเลสของเรา ถ้าเกิดเหตุเภทภัยขึ้นมา เราตื่นอยู่เราหลบภัยได้

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าประพฤติปฏิบัติ เราต้องมีกำลังใจอย่างนี้ เราตื่นอยู่ เราพยายามจะสร้างส่วนของเราขึ้นมา มันจะอาบเหงื่อต่างน้ำ เดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนานี่เหงื่อไหลไคลย้อยมันเรื่องธรรมดา เราได้ผลของเรา ทำงานทางโลกทำมาพอแรงแล้ว ทีนี้ทำงานในหัวใจของเราบ้าง ถ้าทำงานในหัวใจของเรา ย้อนกลับมา จิตมันสงบเข้าไป ย้อนขึ้นไปเลย ย้อนขึ้นไป กาย เวทนา จิต ธรรม แต่อยู่ที่แง่มุมการเห็นนะ ไม่ต้องเป็นแบบแผน

ถ้าเป็นแบบแผน มันเข้าทางกิเลสนะ กิเลสต้องทำอย่างนี้ๆ เป็นแบบแผน มันอยู่ที่เรา ถ้าเราย้อนมาจิตมันสงบ ย้อนขึ้นไป ถ้ามันเห็นกายก็คือกาย เห็นจิตก็คือจิต เห็นเวทนาก็เวทนา สิ่งใดก็ได้ถ้ามีกำลังแล้วจับต้องได้ ดูสิ เวลาเจ้าหน้าที่เขาหาโจรผู้ร้าย เขาต้องแสวงหา เขาต้องหาว่าโจรผู้ร้ายนี่อยู่ที่ไหน ต้องสืบเสาะ เพื่อจะจับโจรผู้ร้าย เพราะเขาทำความผิดอยู่ เพื่อเอามาสะสางว่าผิดจริงหรือไม่ผิดจริง

นี่ก็เหมือนกัน ขณะที่จิตมันสงบขึ้นมา แล้วมันจะออกวิปัสสนา มันก็เหมือนหากิเลส หาโจรผู้ร้าย กิเลสมันเป็นนามธรรม มันเป็นความรู้สึก แล้วมันอยู่ที่ไหนล่ะ มันก็ซุกอยู่ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ทั้งๆ ที่เราวิปัสสนามันแล้ว ในกาย เวทนา จิต ธรรม แล้วเห็นสัจจะความจริง ทั้งรู้ทั้งเห็นปล่อยวางมา เป็นพระโสดาบันมา

ดูสิ ดูอย่างนางวิสาขา เป็นพระโสดาบันนะ เวลาหลานตายยังร้องไห้มาหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย พระโสดาบัน รู้จริงรู้สัจจะความจริงว่า กายไม่ใช่เรา แต่รักษาไปๆ เพราะต้องใช้ไป รู้อย่างนี้ไม่ถือมงคลตื่นข่าว จะไม่เชื่อลัทธิศาสนาต่างๆ เลยจะเชื่อธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แก้วสารพัดนึก เขาปฏิบัติได้แค่นี้ แต่เขาก็มั่นคงในศาสนา

พระโสดาบันจะมั่นคงในศาสนามาก เพราะพาดกระแสแล้ว ถึงที่สุดแล้วจิตดวงที่เป็นพระโสดาบันนี้ จะต้องเข้าถึงนิพพานเด็ดขาด ถ้ายังเกิดตายต่อไปก็ต้องถึงนิพพาน จิตดวงนี้วัฏฏะได้ย่นหดสั้นเข้ามาแล้ว วัฏฏะไม่หมุนเวียนไปโดยธรรมชาติ

ปุถุชนเราปฏิบัติขนาดไหนก็แล้วแต่ ถ้ายังไม่ถึงพาดกระแส มันอยู่ในวัฏฏะอยู่ มันยังเวียนตายเวียนเกิดอยู่ ไม่มีต้นไม่มีปลาย มันจะหมุนไปตามกรรม หมุนไปตามอำนาจ มีบุญกุศลก็เกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม ใช้บุญกุศลหมดถึงที่สุดแล้วก็ต้องเป็นไปตามอำนาจของกรรมที่ขับเคลื่อนไป นี่วัฏฏะเป็นอย่างนั้น

พระโสดาบัน อย่างมากอีก ๗ ชาติ แต่พระอานนท์ปฏิบัติเลย ถึงที่สุดในชาตินี้เลยถ้าปฏิบัติเลย ขณะที่ว่าขนาดพระโสดาบัน พระอานนท์ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพาน ร้องไห้เสียใจเลยล่ะ เพราะอยากให้มีคนสั่งสอนอยู่ แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพานไป เข้าใจสัจจะความจริงในเรื่องของสักกายทิฏฐิ ว่าร่างกายกับจิตใจมันแยกออกกันส่วนหนึ่ง แต่ความที่มีกิเลสอันละเอียดที่มันลึกซึ้งอยู่ มันจะทำให้เราไม่เข้าใจ

ถ้าเราไม่เข้าใจ เราก็พยายามทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าเป็นความสงบของใจเข้ามา มันไม่ให้เอากิเลสไง ถ้ากิเลสมันบอกมันรู้มันเห็น เคยประพฤติปฏิบัติมา เคยเห็นสภาวะแบบนั้นมา มันก็เห็นสภาวะแบบกิเลสนั่นล่ะ เห็นความเป็นไป แต่ถ้าสงบเข้ามานะ มันต้องเป็นสัมมา เพราะมรรคมันมีสัมมามีมิจฉา แม้แต่พระโสดาบันถ้าวิปัสสนาไปทางสูง มันติดเพราะกิเลสมันละเอียดกว่า

สิ่งที่กิเลสละเอียดกว่า เพราะกิเลสที่เป็นสักกายทิฏฐิในขั้นโสดาบันมันตายไปแล้ว ฆ่าตายแล้วฟื้นไม่ได้ แต่สิ่งที่มันเหนือกว่ามันก็หลบหลีก สภาวธรรมที่ทำความสงบของใจ เรารู้ๆ อยู่ จิตเราสงบเข้ามาขนาดไหน เพราะเราเคยผ่านงานมาแล้วหนหนึ่ง เราจะเข้าใจเลย จิตต้องสงบเข้ามาแล้วน้อมไปเห็นกาย ถ้าเห็นกายแล้ววิปัสสนากายไป วิปัสสนากายแยกแยะต่างๆ ถ้ารู้แล้วเห็นมันก็หลอกล่อ สิ่งที่หลอกล่อมันละเอียดลึกซึ้งมากนะ ทั้งหลอกทั้งล่อ

แต่ถ้าเรามีสัมมาสตินะ มีความเป็นไป หมั่นตรวจสอบทดสอบ หมั่นตรวจสอบทดสอบ พยายามวิปัสสนาไป ใคร่ครวญไป มันเป็นสภาวะแบบนั้น ถ้าเป็นธรรมนะเป็นปัจจุบันธรรมของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ แล้วแต่ผู้ที่มีอำนาจวาสนาขนาดไหน มันจะเห็นกายก็ได้ เวทนาก็ได้ จิตก็ได้ ธรรมก็ได้ อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่แล้ว ถ้าพูดถึงพิจารณากายแล้วมันจะเห็นกาย “กายนอก กายใน กายในกาย” เป็นชั้นเป็นตอนเข้าไปเลย ถ้าพิจารณานะ

ถ้ามีอำนาจวาสนา มันจะเปลี่ยนขั้นตอน เปลี่ยนจากกาย โดยเห็นกายบ้าง จากกายโดยธรรมารมณ์ไง เปรียบเทียบกับกาย เปรียบเทียบกับความรู้สึก เปรียบเทียบกับปัญญา ปัญญาจะเปรียบเทียบเลยว่า ร่างกายสภาวะแบบนั้นสภาวะแบบนี้ มันเป็นไป มันเป็นของชั่วคราว มันเป็นสมมุติอย่างไร มันจะเป็นไตรลักษณ์อย่างไร มันจะปล่อยวางอย่างไร

แล้วปัญญาอย่างนี้มันมีกำลังของสมาธิ ถ้ามีกำลังของสมาธิ กำลังของจิตมันสมดุลกัน มันถึงเป็นมรรค ถ้าไม่มีสมาธินะมันเป็นสัญญา มันเป็นการคาดหมาย แล้วเหนื่อยมาก พอเหนื่อยมากนะ เหนื่อยมากเพลียมาก เพราะมันไม่มีผลตอบแทน เราทำงานแล้วเราขาดทุนนะ ไม่มีผลตอบแทน ต้องควักทุนด้วย เพื่อจะทำงานใหม่ต่อไป แต่ถ้าเราทำงานนะได้ผลตอบแทน เราทำมาแล้ว เราทำอย่างไรก็แล้วแต่ มันเป็นกำไรเข้ามา

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันมีสัมมาสมาธิ มันมีกำลังไป มันวิปัสสนาแล้วมันจะปล่อย เพราะความสุขในสมาธินี้อย่างหนึ่ง ความสุขในการวิปัสสนาปล่อยวางอีกอย่างหนึ่ง คือได้ผลตอบแทนจากการทำธุรกิจแล้วเราได้ผลตอบแทนมา จิตก็เหมือนกัน ถ้ามันวิปัสสนาใช้ปัญญาแล้วปล่อยวาง ต้องรู้ต้องเห็น ปล่อยวางเลย แต่เป็นตทังคปหาน ปล่อยวางแต่กิเลสมันมีกำลังของมัน กิเลสมันยังมีแก่นของมัน มันปล่อยวางชั่วคราวๆ ก็ซ้ำแล้วซ้ำเล่าปฏิบัติไป

ซ้ำแล้วซ้ำเล่านี่เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะถ้าเป็นขิปปาภิญญาหนเดียวขาด ไอ้อย่างนั้นเป็นวาสนา แล้วขาดจริงๆ ถ้าขาดแล้วหากิเลสไม่เจอ ขาดแล้วหาไม่มี แต่ถ้ามันมีอยู่นะ เราบอกว่าขาด มันปล่อยวางแล้ว มันขาดที่ความรู้สึกเราน่ะสิ มันรู้ไม่จริง ถ้ามันรู้จริงน่ะ มันขาดๆ อย่างไร มันปล่อยวางๆ อย่างไร ถ้าปล่อยวางขาดพั้บ โลกนี้ราบเป็นหน้ากลองเลย ปล่อยหมด กายกับจิตแยกออกจากกันโดยธรรมชาติเลย นี่ล่ะกามราคะ ปฏิฆะอ่อนตัวลง เพราะอะไร เพราะอำนาจของวิปัสสนาของเรา ว่างหมด นี่รู้ได้ระดับหนึ่ง

แล้วถ้าเป็นเรื่องของกิเลสนะ เป็นเรื่องของสิ่งที่ว่าเราไม่มีอำนาจวาสนานะ เราก็จะติดอยู่แค่นี้ว่านี่คือนิพพาน ถ้าติดมันติดตรงนี้ ติดว่าสิ่งนี้คือนิพพานไง สิ่งนี้เป็นความว่างที่เราเข้าใจหมดแล้วไง แล้วมันก็มีผลรองรับด้วย ผลรองรับที่มันวิปัสสนาไปแล้วมันปล่อยวาง มันมีผลรองรับ เพราะอะไร เพราะมันมีตัวจิตไง ตัวจิตมันปล่อยวางเข้ามา ถ้าจิตมันปล่อยวางเข้ามา มันก็ว่างอยู่อย่างนั้นล่ะ ว่างอยู่อย่างนั้น แล้วเราไม่เห็นสิ่งที่มันละเอียดลึกซึ้งอยู่ในหัวใจ

ถ้ากำหนดเข้าไป ถ้ากำหนดจิตสงบเข้าไปอีก ว่างหมด ว่างแล้วเอาอะไรไปทำงานล่ะ ว่างแล้วทำไมต้องกำหนดจิตอีก เพราะตัวจิตมันตัวละเอียด ตัวสิ่งที่ละเอียดอยู่ในหัวใจมันไม่เห็น มันเป็นนามธรรม “นามธรรมจากภายนอก นามธรรมจากภายใน” ถ้านามธรรมจากภายใน ถ้าจิตสงบเข้ามามันย้อนกลับ มันย้อนกลับเข้าไป มันสงบเข้ามาเพราะย้อนกลับเข้าไป ถ้าเป็นวิปัสสนากาย นี่ล่ะจะเห็นอสุภะ

สิ่งที่เห็นมานะ เวลาสักกายทิฏฐิ เวลาพิจารณากาย กายมันจะพุพอง มันจะเปื่อยขนาดไหน มันเป็นความเข้าใจผิดเท่านั้นเอง มันเป็นความเข้าใจผิดของจิต เพราะจิตมันเข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นเรา แต่พอมันเปื่อยมันแปรสภาพ มันไม่ใช่เราเพราะอะไร เพราะมันคืนสู่สภาพเดิมของเขา มันเป็นธาตุ เพราะมันเป็นสภาวธรรม พอมันปล่อยอย่างนั้น มันปล่อย มันทั้งรู้ทั้งเห็น จิตมันก็ฉลาดขึ้น จิตมันก็เข้าใจขึ้น จนถึงที่สุดมันก็ขาดมา แต่วิปัสสนาเข้าไปอีก มันคืนสู่สภาพเดิมของเขา กายกับจิตแยกออกจากกัน

แต่ถ้าเป็นอสุภะล่ะ อสุภะมันเป็นเรื่องของกามราคะ กิเลสที่เป็นกามราคะมันฝังใจอยู่ ถ้าสิ่งที่ฝังใจอยู่ ขยับเขยื้อนตรงไหนมันก็เป็นกามไปหมดล่ะ สิ่งที่เป็นกาม พอวิปัสสนาไป พอเห็นกายจับกายได้ มันขึ้นมา มันแปรสภาพของเขา ถ้ากำลังของจิตพอนะ วิปัสสนา ทั้งรู้ทั้งเห็นไง รู้เพราะจับได้ มันเห็นอยู่แต่ยังไม่รู้ ไม่รู้เพราะความรู้ของโสดาบันกับความรู้ของสกิทาคา มันไม่ใช่ความรู้ของอนาคา

ถ้าไม่ใช่ความรู้ของอนาคา สิ่งที่เป็นกามราคะในหัวใจมันก็หลอกล่อได้ มันหลอกว่าเป็นสภาวะแบบนั้น แล้วความเข้าใจของเรา เราว่าเราเห็นกายแล้ว กายก็เคยเห็นแล้ว ดูสิดูไปที่ผิวหนังเราสิ เราเห็นผิวหนังเรา เราก็ว่าเห็นผิวหนังเราแล้ว แต่ผิวหนังมันแปรสภาพมาเท่าไหร่ล่ะ อยู่ที่อายุไง เด็กมันก็ผิวหนังอ่อน คนที่มีอายุขึ้นมา ผิวหนังมันก็เป็นอีกสภาพหนึ่ง เวลาคนเฒ่าคนแก่ก็ผิวหนังอีกสภาพหนึ่ง เพราะกาลเวลามันจะทำให้ผิวหนังนี้เปลี่ยนแปลงไปใช่ไหม

จิตก็เหมือนกัน การวิปัสสนาต่างจากพิจารณากาย กายจากภายนอก กายจากภายใน เห็นกายอีกแต่กายอันนี้มันเป็นกายที่ว่าสิ่งที่จิตมันพาดพิง จิตมันพาดพิงกับสิ่งนี้เพราะมันพอใจ กามราคะ จิตนี้เป็นกามราคะ พอกามราคะมันพาดพิงกับความรู้สึกอันนี้ ความรู้สึกอันนี้มันก็ออกมาเป็นความรู้สึกจากภายนอก แต่ถ้ามันวิปัสสนาเข้าไป จากเราเห็นอสุภะ แต่สิ่งที่ไปเห็นอสุภะ มันก็แยกแยะอสุภะ เพราะจิตนี้มันพาดพิงอสุภะ สิ่งที่เป็นอสุภะเพราะอะไร เพราะมันเป็นธรรม มันเป็นธรรมจักร จักรที่เกิดขึ้นมานี่ล่ะอนาคามรรค

ถ้าอนาคามรรคแล้วแยกแยะความเป็นไป สิ่งที่แยกแยะมันก็ปล่อย มันก็หลอก รู้ไม่เห็น ไม่เห็นคือไม่เห็นความเป็นไปไง แต่ถ้ามันวิปัสสนาไป มันกินตัวมัน วิปัสสนาปล่อยเข้ามาๆ มันละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ ละเอียดเข้าไปเพราะอะไร เพราะตัวจิตมันเป็นตัวกาม ถ้าเป็นตัวกาม สิ่งนี้มันเป็นตัวกาม มันว่ามันเข้าใจ ถ้าเป็นกิเลสมันเป็นตัวกาม มันเป็นสุภะ มันเป็นความพอใจ มันเป็นความสวยงาม

แต่ถ้าเป็นธรรม มันเป็นอสุภะ อสุภะเป็นสัจจะความจริง เพราะโดยธรรมชาติ โดยความเป็นไป คนเราเวลาตายไป ร่างกายนี้เปื่อยเน่าหมดล่ะ แต่โดยความสำคัญของจิต จิตมันสำคัญตนผิด จิตมันสำคัญตนว่าสิ่งนี้มันเป็นความพอใจ พอสิ่งนี้เป็นเรื่องของกิเลสใช่ไหม สำคัญตนว่าสิ่งนี้เป็นของสวยงาม สิ่งนี้เป็นความพอใจ นี่ตัวมันเองเป็นกามราคะ มันก็สำคัญตนสภาวะแบบนั้น ทั้งๆ ที่ถ้ามันเป็นธรรม มันจะเป็นอสุภะ

พอเห็นอสุภะมันก็เป็นการต่อสู้กันระหว่างธรรมกับกิเลส ถ้าเป็นไปของจิต จิตมันสำคัญผิด มันว่าสิ่งนั้นมันเป็นความพอใจ มันก็เป็นความปรารถนา ความปรารถนามันเป็นปฏิฆะ ปฏิฆะมันก็เป็นกามราคะ มันเป็นความพอใจ มันก็เหยียบย่ำตัวมันเอง เหยียบตัวมันเอง ตัวมันเองหลงตัวมันเอง มันก็ส่งออกมาเป็นกามราคะ ถ้าเป็นธรรมขึ้นไป มันย้อนกลับขึ้นไปมันเป็นกำลังของจิต กำลังของจิตมันย้อนขึ้นไปมันเป็นธรรม

สิ่งที่เป็นสภาวธรรมอย่างนี้ เวลาประพฤติปฏิบัติเข้าไป เหมือนเด็ก เด็กที่มันไม่มีวุฒิภาวะ มันจะไม่เข้าใจอะไร แล้วทำอะไรก็ไม่เหมือนผู้ใหญ่ เพราะเด็กมันอ่อนแอ แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่ ทำอะไรมันก็เข้มแข็งขึ้นมา จิตก็เหมือนกัน จิตมันผ่านโสดาบันมา สกิทามา พอเข้าไปถึงอนาคานี่ จิตมันมีวุฒิภาวะมาตั้งกี่ขั้นตอน เป็นมหาสติมหาปัญญาอยู่แล้ว

ถ้าเป็นมหาสติมหาปัญญา มันก็ใคร่ครวญของมัน พอใคร่ครวญของมัน มันเป็นเรื่องของธรรมะไง ธรรมะที่ว่ามรรคญาณมันเกิดขึ้น มันหมุนเข้ามาๆ มันก็ใกล้ชิดเข้ามา สืบทอดเข้ามา ใกล้เข้าไปถึงใจ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ จนถึงตัวมันเอง มันจะไปทำลายกันที่ตัวของมัน ทำลายที่ตัวมันเพราะอะไร เพราะรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สิ่งที่เป็นความพอใจ สิ่งที่เป็นข้อมูลคือสัญญา สัญญาอันละเอียดมันฝังอยู่ที่ใจ แล้วสิ่งที่สัญญามันพอใจอยู่ อย่างไรก็แล้วแต่มันก็พอใจในความสวยงาม พอใจในความพอใจของเขา

แต่ถ้าเป็นธรรม ธรรมเป็นอสุภะ จะเป็นอสุภะได้ต้องมีธรรม ต้องมีสมาธิ ต้องมีกำลัง ต้องเป็นความเพียรถูกต้อง ความเพียรถูกต้องแล้วมันก็ย้อนกลับขึ้นมา มันก็เป็นการให้ใช้ปัญญาใคร่ครวญกับจิต พอย้อนกลับไปที่ตัวจิต ถึงตัวจิต มันจะไปทำลายกันที่จิต พอจิตโดนทำลายพั้บ นี่ล่ะขันธ์อันละเอียดไง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ข้อมูลของจิต จิตไม่ใช่ขันธ์ ขันธ์ไม่ใช่จิต จะขาดกันตรงนี้เลย จิตนี่จะเวิ้งว้างหลุดออกไป

เหมือนกัน วิปัสสนานี่ถ้าปัญญาวิมุตติจะไม่เห็นเป็นอสุภะ มันจะเห็นเป็นข้อมูล เห็นเป็นขันธ์ เป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แล้วมันติดข้องอย่างไร ตัวจิตมันเข้าไปหลงใหลอย่างไร ใช้ปัญญาใคร่ครวญเข้าไป ทั้งรู้ทั้งเห็นนะ ถ้ารู้แล้วไม่เห็น เห็นแล้วไม่รู้นี่มันเป็นอาการๆ หนึ่ง มันเป็นตทังคปหาน มันเป็นไปไม่ได้ มันปล่อยวางไม่ได้

เพราะถ้าไม่รู้ไม่เห็น เวลาครูบาอาจารย์ของเรา ธรรมสากัจฉา เอตัมมังคะละมุตตะมัง ธรรมสากัจฉา เพราะมันจะเหมือนกัน จิตนี้กลั่นออกมาจากอริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มรรคกับความนิโรธ นิโรธะ มันดับสูญ ดับพร้อมอย่างไร ดับสูญดับพร้อม ทั้งรู้ทั้งเห็นนี่มันดับอย่างไร มันทำลายอย่างไร แล้วมันหลุดออกไปอย่างไร แล้วจิตเวิ้งว้างออกไปอย่างไร ถ้าเป็นอนาคามรรคนี่ปล่อย แล้วฝึกซ้อมเข้าไป ถ้ามีครูบาอาจารย์ที่สูงกว่า จะรู้วิธีการว่าหมั่นฝึกซ้อม

เหมือนกับเรามีข้อมูลไง เรานี่ทำอะไรทุกๆ อย่างมาหมดแล้ว แต่บัญชีเดิมยังมีอยู่ เราต้องไปทำลายต้นขั้วบัญชีนั้นอีกด้วย หมั่นฝึกซ้อมกับในอสุภะ ในความเป็นไปของจิต มันจะปล่อยเข้ามา นี่อนาคา ๕ ชั้น ปล่อยวางเข้ามาจนตัวจิตเป็นตัวจิตเลย พอตัวจิตเป็นตัวจิตนี่ว่างหมด ติดมากนะ นิพพานเป็นความว่าง นี่ก็เป็นความว่าง ติดไปหมดเลย แล้วกลัวจะไม่ว่างด้วย มันต้องรักษาตัวมันเองไว้ เพราะอะไร เพราะมันมีความสุข มีความทุกข์อันละเอียด

ผู้ใหญ่อาบน้ำเด็ก แล้วพอเด็กมันโดนทำลายหมดแล้ว ผู้ใหญ่เป็นตัวของผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่จะขยับออกไปไม่ได้เพราะไม่มีการสืบต่อ จิตไม่มีขันธ์เพื่อให้สืบต่อ มันก็ขลุกขลิกๆ ในตัวมันเอง

จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้หมองไปด้วยอุปกิเลส จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้ก็ขัดข้องในตัวจิตไง ความสุขความทุกข์อันละเอียด ความอาลัยอาวรณ์ ความต้องการคนนับหน้าถือตา ความเป็นไป ไม่มีใครมาสืบต่อนะมันก็อยู่ในตัวมัน นี่ทุกข์อันละเอียดขลุกขลิกๆ อยู่ในใจ แต่เราไม่เห็นหรอก

เพราะอะไร เพราะมันไม่ยอมย้อนกลับสู่ตัวมัน ถ้าย้อนกลับสู่ตัวมัน มันก็บอกว่าสิ่งนี้เป็นนิพพานแล้ว สิ่งนี้อย่าเข้ามาแตะต้องมัน อย่าเข้ามาหานะ ทำลายต่างๆ เข้ามาหมดแล้ว สิ่งนี้เป็นธรรมไง

ถ้าต้องรู้ ต้องเห็น ถ้าเป็นนิพพาน มันนิพพานอย่างไร สิ่งใดทำให้นิพพาน สิ่งที่ปล่อยเข้ามามันเป็นเรื่องของกามราคะทั้งนั้น แล้วที่ว่านิพพานน่ะ ถ้ายังมีความทุกข์อันละเอียดอยู่อย่างนี้ มันมีความสืบต่ออยู่ มันมีความขลุกขลิกอยู่ในใจ มันจะนิพพานได้อย่างไร

นี่ล่ะตัวภวาสวะ นี่ล่ะตัวจิต นี่ล่ะตัวอวิชชา จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส ผ่องใสจริงๆ ผ่องใสจนว่างหมดเลย ว่างอยู่อย่างนั้น ถึงที่สุดแล้วย้อนกลับ ถ้าเป็นอรหัตตมรรค ถ้ามีครูบาอาจารย์ที่สูงกว่าคอยเตือน หรือถ้าเรามีอำนาจวาสนา เราจะตรวจสอบจิตของเรา ถ้ามันเป็นความว่าง ทำไมต้องรักษา ถ้าเป็นนิพพาน ทำไมเวลาธรรมสากัจฉาแล้วไม่เหมือนกัน แล้วมันมีอะไรติดข้องอยู่ในหัวใจ แล้วถ้ามันนิโรธ นิโรธรักษาอย่างไร ถ้ามันออกจากจิต ออกมาอย่างไร สิ่งนี้มันเป็นการย้อนกลับ เป็นการตรวจสอบจิตตลอดแล้วถ้าย้อนกลับนะคืออรหัตตมรรค

ต้องรู้ สิ่งที่ว่าต้องรู้นี้นะสำคัญมาก การจับต้อง การหาผู้ที่ทำความผิด เจ้าหน้าที่หาคนทำผิด คนทำความผิดต้องหลบหลีก แล้วเจ้าหน้าที่นี่จักรพรรดิ เจ้าวัฏจักรเป็นตัวอวิชชา มันจะมีเล่ห์เหลี่ยมขนาดไหนที่เราจะจับตัวมันได้ แล้ววิธีการจับ จับอย่างไร ดูเจ้าหน้าที่เขาจับโจร จับสิ่งที่คดโกง เด็กๆ นี่เขาตรวจสอบ เขาเห็นพฤติกรรม เขารู้ทันหมดล่ะ เพราะอะไร เพราะเขาเป็นเจ้าหน้าที่ เขาผ่านเหตุการณ์อย่างนี้มามาก

นี่เหมือนกัน เวลาจิตมันวิปัสสนาไป มันก็ผ่านเหตุการณ์อย่างนี้มามาก มันผ่านมาตั้งแต่โสดาบัน สกิทา อนาคา มันผ่านมาอยู่แล้ว จับต้องอย่างนี้ แล้วจะจับต้องส่วนที่เป็นเจ้าวัฏจักร จะจับต้องอย่างไร เพราะไม่รู้ แต่ถ้ารู้ล่ะ จับต้องรู้ นี่ไงคือตัวอวิชชา นี่ไงคือตัวเจ้าวัฏจักร มันจะทึ่งมาก เห็นความเป็นไปของคำว่าภวาสวะเลย

คำว่าตัวภพ ตัวภพคือตัวที่ตั้ง คือตัวที่ ภารา หะเว ปัญจักขันธา ขันธ์เข้าสะเทือนถึงจิต ตัวนี้น่ะตัวสะเทือน ตัวขลุกขลิกๆ นี่มันสะเทือนของมันตลอดเวลา ตัวมันสะเทือนอยู่แต่มันไม่ยอมให้รู้มัน มันเป็นกิเลสอย่างละเอียด เป็นอุปกิเลส เป็นโอภาส เป็นความว่าง กิเลสอันละเอียดยิบอยู่ มันเป็นความว่าง ความผ่องใสอยู่นั้นล่ะ

ถ้าย้อนกลับเข้าไป จับได้ แล้ววิธีการล่ะ เห็นการเป็นไปเห็นอย่างไร ต้องรู้ต้องเห็น เหมือนกัน ต้องรู้ต้องเห็นตั้งแต่ขั้นสมาธิ ต้องรู้ต้องเห็นตั้งแต่ขั้นโสดาบัน สกิทา อนาคาขึ้นมา ต้องรู้และต้องเห็น

รู้แต่ไม่เห็น ไม่เห็นคือไม่เห็นการกระทำของมัน ปัญญาอันละเอียด ปัญญาญาณอย่างนี้มันเกิดอย่างไร ปัญญาญาณชำระกิเลสอย่างไร ตัวจิตเดิมแท้ที่เป็นความสว่าง เป็นความผ่องใส มันจะทำลายกันอย่างไร สิ่งที่ทำลายกัน กามราคะมันก็มีรสของกาม รสของความรู้สึกให้แสดงตัวออกมาให้เราทำลายมัน

แล้วสิ่งที่มันไม่มีกาม ความโลภ ความโกรธ ความหลง มันไม่มีตัวมันเอง มันเป็นธรรมชาติเฉยๆ มันมีโทษอะไรถึงต้องทำลายมัน มันมีโทษเพราะมันเป็นภวาสวะ มันเป็นที่ตั้ง มันเป็นอวิชชา แล้วสิ่งที่เข้าไปทำลายมันล่ะ สิ่งที่เข้าไปทำลายมันคืออรหัตตมรรค อรหัตตมรรคจับสิ่งนี้ได้ แล้วปัญญาที่จะเข้าไปเห็นไหม อรหัตตมรรคเป็นปัญญาญาณ ไม่ใช่ปัญญาขันธ์ ไม่ใช่ปัญญาความคิด ไม่ใช่ปัญญาที่ต่อสู้กิเลสมา

ถ้าเป็นปัญญาต่อสู้กิเลสมา มันก็ไม่มีปัญญาอันละเอียดที่จะเข้าไปทำลายอันนี้ ปัญญาอันละเอียดอย่างนี้ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา อุทธัจจะมันเป็นสังโยชน์ เอาสังโยชน์ไปแก้สังโยชน์ได้อย่างไร เอาสิ่งที่เป็นปัญญาความคิดไปทำลายความคิดได้อย่างไร มันเป็นปัญญาของมัน เป็นปัญญาโดยธรรมชาติอย่างนั้น ปัญญาอย่างนี้เกิดขึ้นมาอย่างไร

สิ่งที่ตรวจสอบหมุนไปอยู่ตลอด หมุนไปหมุนมา การกระทำถึงที่สุดแล้วเข้าไปทำลายตัวจิต อาสเวหิ จิตฺตานิ วิมุจฺจิง สูติ ทำลายตัวจิต จิตโดนทำลายทั้งหมด ถ้าจิตยังไม่โดนทำลาย ตัวจิตคือตัวกิเลส ตัวจิตคือตัวอวิชชา ตัวอวิชชาคือตัวภวาสวะ คือตัวภพ ตัวเจ้าวัฏจักร มันอยู่อย่างนี้มันจะสิ้นกิเลสได้อย่างไร ถ้ามันสิ้นกิเลสมันทำลายตัวมันเอง พอทำลายตัวมันเองน่ะ มันทำลายอย่างไร พลิกไปหมดถึงที่สุด พ้นจากกิเลสทั้งหมด

ถ้าพ้นจากกิเลส การพลิกการทำลายโดยปัญญาญาณ สิ่งนี้ถึงที่สุด เห็น ทั้งรู้ทั้งเห็น เห็นการเป็นไป เห็นถึงที่สุด เห็นนะ ที่ว่ายถาภูตัง สิ่งที่เป็นไป ญาณทัสสนะ เวลาผู้ที่สิ้นกิเลส พระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่ ที่ว่าเป็นเจโตวิมุตติ สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาได้มีอภิญญานี่ อภิญญามันเกิดจากไหนล่ะ สิ่งที่เกิดขึ้นมา สิ่งที่พ้นไปแล้วเห็นไหม

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน จิตที่มันเข้าสมาบัติ พระอนุรุทธะ ตั้งแต่ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน อากาสานัญจายตนะ เข้าไป ย้อนไปย้อนกลับ สิ่งที่ย้อนกลับ ถึงที่สุดแล้วปรินิพพานระหว่างรูปฌานกับอรูปฌาน สิ่งที่เป็นไปอย่างนี้ ความเป็นไปอย่างนี้ ถ้าเราเห็นอย่างนี้ มันพ้นไปอย่างไร มันปล่อยวางอย่างไร แล้วสิ้นสุดอย่างไร นี่ทั้งรู้ทั้งเห็นนะ

ถ้ามีครูมีอาจารย์คอยพูดชี้นำ เราประพฤติปฏิบัติตามครูตามอาจารย์ ต้องรู้ต้องเห็น แล้วต้องรู้ต้องเห็นเหมือนกันด้วย ต้องรู้ต้องเห็นถึงที่สุดไง ไม่ใช่ว่าสิ่งที่อยากรู้อยากเห็น อยากกระทำ อยากเป็นไป อยากพ้นทุกข์ ทุกคนอยากจะพ้นทุกข์นะ ความทุกข์นี่ทุกคนเกิดมา ความทุกข์เป็นอริยสัจ ความทุกข์เป็นความจริง เกิดมานี่มีความทุกข์ แล้วเวลาต่างลัทธิเขาบอกว่าเราเป็นทุกข์นิยม ไม่ใช่หรอก! มันเป็นสัจจะนิยม มันเป็นความจริงที่ใครปฏิเสธไม่ได้ แต่เขาปฏิเสธกัน เป็นสมมุติไง ปฏิเสธกันหลอกกัน เพื่อจะหาความสุข แล้วหาไม่เจอหรอก

แต่พวกเรานี่สัจจะนิยม เข้าเผชิญกับความจริง ถ้ามันเป็นความทุกข์ ทุกข์ควรกำหนด ความทุกข์นี่เราควรกำหนด แล้วเราควรแก้ไข เราควรมีการกระทำ เราเข้าเผชิญหน้ากับความจริง ความทุกข์นี่ ชาติปิ ทุกฺขา ชาติความเกิดเป็นทุกข์อย่างยิ่ง ชราปิ ทุกฺขา มรณมฺปิ ทุกฺขํ ทุกข์ทั้งหมดเลย แต่มันทุกข์ขณะที่มันเป็นไปใช่ไหม แต่นี่เรายังมีชีวิตอยู่ เรามีโอกาสแก้ไข เรามีโอกาสกระทำ

เหมือนกาลเวลาที่เรายังมีอยู่ เราต้องแก้ไขของเรา เราต้องต่อสู้กับความจริง ถ้าเราหลบหลีกความจริง มันจะเข้าไปเจอความจริงได้อย่างไร จะไปเจอความจริงที่ไหนล่ะ มันก็ได้ความจริงหลอกๆ กันอยู่อย่างนั้นไง แต่เราเป็นชาวพุทธ เราเกิดมามีอำนาจวาสนา เราพบพระพุทธศาสนา แล้วศาสนามีการประพฤติปฏิบัติโดยมีครูมีอาจารย์ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติตามข้อเท็จจริงจากครูบาอาจารย์ จะต้องรู้ต้องเห็นเป็นไป เพราะการกระทำนั้นมันเป็นสัจจะ

“สัจจะ อริยสัจจะ” ดูสิ เราเป็นปุถุชนกัน ถ้ามีการกระทำนี่คือสัจจะของปุถุชน ถ้าเป็นอริยสัจจะ พระโสดาบันก็เป็นอริยสัจจะของพระโสดาบัน พระสกิทาก็เป็นอริยสัจของพระสกิทา พระอนาคาก็เป็นอริยสัจของพระอนาคา พระอรหันต์ก็เป็นอริยสัจของพระอรหันต์ นี่ล่ะสัจจะนิยม แล้วถ้าทำขึ้นไป พยายามต่อสู้ไป จะเป็นอริยสัจจะเกิดขึ้นท่ามกลางในหัวใจของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เอวัง