ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

เชื่อตามกัน

๓ มิ.ย. ๒๕๖o

เชื่อตามกัน

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๖๐

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

ถาม : เรื่อง “ทำถูกหรือผิด

กราบนมัสการหลวงพ่อ ลูกมีปัญหาเกี่ยวกับการทำบุญตักบาตรในตอนเช้ามาเรียนถามหลวงพ่อ โดยที่ลูกทราบมาว่า เวลาทำบุญใส่บาตรเสร็จ พระโดยทั่วที่พบเห็นจะยืนและให้พรเป็นไปตามปกติ โดยปกติคนทั่วไปส่วนมากก็จะก้มรับพร(พระจะขึ้นด้วย ยถา สพฺพีฯแต่หากผมทราบว่าสิ่งที่พระคุณเจ้าทำไปแล้วเป็นอาบัติ หลังจากใส่เสร็จ ผมเดินออกมาเลยโดยไม่รอรับพร พระคุณเจ้ารูปนั้นก็ทำท่างงๆ

ผมทำถูกหรือไม่ครับ หรือผมควรที่จะก้มรับพรทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่าจะทำให้พระเป็นบาป ผมมีจิตที่ต้องการจะทำบุญใส่บาตร รบกวนหลวงพ่อช่วยชี้แนะแนวทางที่ควรปฏิบัติให้สังคมปัจจุบันที่ต้องเจอด้วยครับ

ตอบ : ถ้าให้สังคมปัจจุบัน สังคมปัจจุบันเวลาปกติ เมื่อก่อนเราใส่บาตร ใส่บาตรเสร็จแล้ว พระกลับไปวัดไปวาแล้วท่านถึงจะไปให้พรที่นั่น เวลาท่านจะฉันของท่าน ท่านฉันแล้วท่านจะ สพฺพีติโยฯ ให้พร

คำว่า “ให้พร” สิ่งที่พระให้พร เมื่อก่อนนะ สมัยพุทธกาล เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปฉันที่บ้าน ท่านจะให้พระให้พร การให้พรก็คือการให้ธรรมะ สอนธรรมะ แล้วปัจจุบันศาสนามันล่วงเลยมาๆ เวลาพระให้พร ให้พรก็เหมือน อายุ วรรณะ สุขะ พละ อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ ทั้งอายุ ทั้งวรรณะ ทั้งสุขะ ทั้งพละ ให้เราแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ ไอ้นี่เวลาสรุปนะ

แต่เวลาสมัยพุทธกาลน่ะ ให้พระเป็นคนให้พร องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นคนชี้ให้พรๆ นี่สมัยพุทธกาลนะ แล้วมันเลยมาๆ มาในปัจจุบันนี้ สพฺพีติโยฯ แบบว่ามันเป็นสิ่งที่ทางนักปราชญ์ คือว่าครูบาอาจารย์สมัยยุคก่อนเขาเรียบเรียงไว้ให้ แล้วให้พระท่องตรงนี้เป็นการให้พร แล้วถ้าท่องตรงนี้เป็นการให้พร สิ่งที่ให้พรๆ มันก็กลายเป็นว่าการให้พร ให้พรเวลาถึงที่วัดที่วา

ฉะนั้น สมัยพุทธกาล เวลาพระให้พร องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ชี้ว่าใครเป็นคนให้ หรือว่าท่านจะให้เอง นั่นคือการให้พร

ทีนี้ในปัจจุบันนี้มันก็ทำกันมาอย่างนั้น พอในปัจจุบัน สมัยโดยพระปัจจุบัน พระก็ให้พรที่วัด แต่ในปัจจุบันนี้ที่ว่าพระให้พรๆ มันทำตามๆ กันมาไง มันทำตามๆ กันมา เวลาทำตามกันมา ส่วนใหญ่นะ มันเป็นวัฒนธรรมพื้นถิ่น มันเป็นเรื่องของท้องถิ่น

เรื่องของท้องถิ่น ถ้าเราบอกว่าสิ่งใดจะเป็นความผิดไปหมด เวลาแถวชุมชนการคมนาคมทางเรือ เขาพายเรือบิณฑบาตนี่ผิดไหม เวลาพายเรือบิณฑบาตมันไม่ผิดหรอก เพราะว่ามันเป็นการคมนาคมทางน้ำที่เขาพายเรือบิณฑบาต แต่เวลาในบ้านเรา พระขับรถบิณฑบาตผิดไหม มันน่าเกลียดนะ ส่วนใหญ่เขาไม่ทำกันหรอก เขาก็เดินบิณฑบาต

เราจะบอกว่า ถ้ามันจะผิดไปทั้งหมดนะ เราต้องมองว่ามันเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่น ฉะนั้น สิ่งที่ว่าผิด ถ้าเราบอกว่าการให้พรผิด แต่เราว่าผิดแน่นอนอยู่แล้ว ผิด ถ้าผิด แล้วนั่นมันมาจากไหนล่ะ

ที่เขาบอกว่าเขาอยากจะทำบุญ เวลาไปทำบุญ เวลาพระให้พร เวลาให้พรโดยทั่วไปเขาทำเป็นปกติ

มันเป็นปกติที่ไหน แต่เดิมมันไม่มีนะ ตั้งแต่สมัยเราเด็กๆ ไม่มีหรอก พระยืนให้พรอย่างนี้มันไม่มี ในภาคกลางเราไม่มี ในภาคกลางนะ ถ้าในประเทศไทย เขาถือว่าภาคกลาง เขาถือตัวว่าเป็นนักปราชญ์ เป็นดินแดนแห่งนักปราชญ์

ในภาคอีสาน ในภาคเหนือ เวลาสมัยก่อนเวลาจะเรียนหนังสือนะ เขาต้องส่งพระมาเรียนในกรุงเทพฯ นะ มหามกุฏฯ มหาจุฬาฯ ในต่างจังหวัดนะ สำนักเรียนเขามีนักเรียนเป็นพื้นฐาน เวลาจะเรียนสูงขึ้นไปตั้งแต่เปรียญ ๓ ประโยค ๔ ประโยค เขาจะส่งเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ กัน ในกรุงเทพฯ สมัยก่อนมันก็แบบว่าวัดบวรฯ เป็นที่ก่อตั้งมหามกุฏฯ มหามกุฏฯ ที่วัดบวรฯ

เวลาวัดเรียนในกรุงเทพฯ เป็นวัดเรียนที่มีชื่อเสียงๆ ฉะนั้น เราจะบอกว่า ภาคกลางของประเทศไทย ถ้าในประเทศไทยนะ เขาถือว่าภาคกลางเป็นดินแดนของนักปราชญ์ราชบัณฑิต เป็นผู้ที่มีปัญญา ทำสิ่งใดต้องถูกต้องดีงาม ถ้าทำถูกต้องดีงาม

สมัยเราเด็กๆ เราเคยเห็นพระบิณฑบาตแล้วให้พรไหม ไม่มีหรอก เพราะเสขิยวัตร เสขิยวัตรนี่นะ พระบิณฑบาตนะ บิณฑบาตเป็นวัตร ในเสขิยวัตร ในอุโบสถ เวลาสวดอุโบสถ

พอพูดอย่างนี้ปั๊บเขาก็เถียงแล้ว บอกว่า ที่พระเขาสวดปาฏิโมกข์กัน อุโบสถคือปาฏิโมกข์ ปาฏิโมกข์ เสขิยวัตร ๗๒ มันอยู่ในปาฏิโมกข์ด้วย เขาบอกว่ามันเขียนมาทีหลัง เวลาเขาเถียงกัน

เขียนมาทีหลังก็พระพุทธเจ้ายังดำรงชีพอยู่ พระพุทธเจ้าก็เพิ่มมาด้วย พระองค์ไหนทำผิด พระพุทธเจ้าก็บัญญัติๆๆ มา พระพุทธเจ้าเป็นเจ้าของพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าเป็นเจ้าของสวน จะป้องกันคนไม่ให้เข้ามาลักผลไม้ในสวน ทำไมพระพุทธเจ้าจะตั้งกติกาไม่ได้ ถ้าตั้งกติกาได้ ตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วกฎหมายถึงสิ้นสุดตรงนั้นเพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่อยู่แล้ว

แต่สมัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดำรงชีพอยู่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะบัญญัติวินัยๆ มาตลอด ถ้าพระทำผิด มีคนไปฟ้อง ท่านจะบัญญัติๆ มา บัญญัติมันก็เพิ่มมาตลอด

นี่บอก “เสขิยวัตร พระพุทธเจ้าไม่ได้บัญญัติ เสขิยวัตรนี่ก็แต่งขึ้นมา

อ้าวถ้าเขามีความคิดอย่างนั้นก็เรื่องของเขา เราจะบอกว่ามันเป็นสิทธิ์ไง เวลาผู้ถามถามหลวงพ่อมา “ผมเป็นคนอยากทำบุญ รบกวนหลวงพ่อชี้แนะแนวทางที่ปฏิบัติในสังคมปัจจุบัน

คำว่า “สังคม” สังคมคือส่วนรวม แต่ถ้ามันเป็นสิทธิ์ของคนที่มีความเห็น ไอ้นี่ก็เหมือนกัน นี่มันก็เป็นสิทธิ์ของเรา เป็นสิทธิ์ของเรา เป็นสิทธิ์ที่เราจะมีความเห็นอย่างไร แล้วบังเอิญว่าเราเคยอยู่กับครูบาอาจารย์มา เราอยู่กับครูบาอาจารย์มาหลายองค์ แล้วครูบาอาจารย์ของเรา เวลาเราจะไปอยู่กับใคร เราเลือก ถ้ามันไม่ตรงจริตไม่ตรงนิสัย แล้วเห็นว่าถ้าแนวทางที่มันไม่ถูกต้อง ไม่ถูกต้องคือมันแปลกๆ เราจะไม่เคยเข้าไปหาองค์นั้นเลย

เวลาเราจะเข้าไปหา เราจะเข้าไปหาครูบาอาจารย์องค์ที่หลวงปู่มั่นท่านได้ฝากฝังไว้ แล้วได้ประพฤติปฏิบัติกับหลวงปู่มั่น ท่านเคารพหลวงปู่มั่นด้วยหัวใจ ไม่ใช่เคารพหลวงปู่มั่นด้วยความอยากมีลาภมีสักการะ อยากให้เขาเชื่อถือศรัทธาว่าเป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่น แต่ความจริงไม่เคารพหลวงปู่มั่นด้วยหัวใจเลย

แต่เราจะเคารพบูชาพระที่เคารพหลวงปู่มั่นด้วยหัวใจ เราอยู่กับหลวงตา อยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะมา เวลาท่านพูดถึงหลวงปู่มั่นนะ หลวงปู่เจี๊ยะร้องไห้เลย เราอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะนะ เราเป็นคนอุปัฏฐากเอง เราเป็นคนเลื่อนอาหารให้ท่านตักเอง แล้วท่านน้ำตาไหล พอโยมเขากลับไปแล้วเราก็ถาม “หลวงปู่ หลวงปู่ร้องไห้ทำไม

ร้องไห้คิดถึงหลวงปู่มั่น เพราะหลวงปู่มั่นไม่เห็นกุ้งหอยปูปลาอย่างนี้เลย ถ้าอยู่ทางภาคเหนือได้ปลาสร้อยตัวหนึ่ง วันนั้นถูกรางวัลที่หนึ่ง” ได้ปลาสร้อยตัวเดียวเท่านั้นน่ะ ได้ปลาตัวเล็กๆ ตัวเดียว

แล้วหลวงปู่เจี๊ยะเป็นคนอุปัฏฐากหลวงปู่มั่นอยู่ ๓ ปี ผู้ที่อุปัฏฐากใกล้ชิดกันขนาดนั้นจะรู้ เพราะท่านเป็นคนจัดอาหารใส่บาตรให้เองด้วย หลวงตา หลวงปู่เจี๊ยะ เป็นคนจัดอาหารใส่บาตรให้กับหลวงปู่มั่นเอง ฉะนั้น หลวงปู่มั่นจะขบฉันอะไรท่านรู้ท่านเห็นหมดน่ะ

เวลามันเจอสิ่งที่ว่าอุดมสมบูรณ์น่ะ ร้องไห้เลย ร้องไห้ทำไม ร้องไห้ว่าครูบาอาจารย์ของเราไม่เคยพบไม่เคยเห็นอย่างนี้ไงเวลาท่านอุปัฏฐากอยู่ นี่เราเคารพบูชาครูบาอาจารย์แบบนี้ เวลาเราเข้าไปหาครูบาอาจารย์ เราเข้าไปหาครูบาอาจารย์ที่ท่านเคารพกันด้วยหัวใจไง

ไม่ใช่เคารพกันด้วยชื่อเสียง ด้วยความอยากเป็นลูกศิษย์เพื่อเอาไปโฆษณาหารับประทานกันไง ถ้าอย่างนั้นเราไม่เคยเข้าไปเลย นี่มันเป็นสิทธิ์ มันก็เป็นสิทธิ์ของเราเหมือนกัน แล้วเป็นสิทธิ์ของเรา หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น แล้วครูบาอาจารย์ท่านสอนมานี่ไม่มี บิณฑบาต หลวงตาน่ะ ถ้ายังล่อกแล่กๆ ท่านเอาตายเลย

แล้วไปบิณฑบาต เวลาเข้าไปในหมู่บ้าน เวลาเดิน เดินให้แข็งแรง ไม่ใช่คนป่วย เวลาเดินทำย่องๆ ทำเป็นออเซาะนั่นน่ะ เหมือนคนป่วยเพิ่งผ่าตัดมา เดินสำรวม เวลามันสำรวมมันก็ไม่สำรวมโดยธรรมชาติไง เวลาสำรวมก็แบบว่าเหมือนกับคนเพิ่งออกมาจากโรงพยาบาล เวลามันคึกคะนองมันก็จะบิณฑบาตไป จะฟ้อนรำไปไง

ท่านบอกว่า บิณฑบาตให้ชายตาลงไปเบื้องหน้า ก้มลงไปให้เห็นแค่ ๓ ก้าว เวลาเขาใส่บาตรให้เห็นแต่มือที่กำอาหารใส่บาตรเท่านั้นน่ะ ให้เห็นแต่มือ นี่เวลาเสขิยวัตรอยู่ในปาฏิโมกข์

แล้วก็มาตรงนี้ด้วย มาตรงที่ว่าเรายืนอยู่ ผู้ที่ยืนอยู่เป็นความเคารพไง เรายืนอยู่ โยมนั่งอยู่ แสดงธรรมเป็นอาบัติทุกกฏ เว้นไว้แต่เขาเป็นไข้ เขาป่วย ถ้าเขาป่วย เรายืนอยู่ได้ ถ้าจะนั่งอยู่ มันไม่มีหรอกไอ้ให้พรๆ เพราะให้พร

มันไม่มี

เป็นอาบัติ

แล้วทำไมทำกันล่ะ การทำกัน เราบอกว่ามันเชื่อตามๆ กันมาไง ถ้าการเชื่อตามๆ กันมา แล้วมันไม่มีครูบาอาจารย์คอยคุ้มครองดูแลไง

นี่ไง ในทางโลกนะ ในทางวิชาการ ภาษา ภาษาที่ไม่ตายมันจะเคลื่อนไปเรื่อยๆ ไอ้นี่ก็เหมือนกัน วัฒนธรรม วัฒนธรรมมันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ถ้าเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย มันต้องคนที่มีหลักเกณฑ์ไง

นี่เขาบอกว่าเพื่อเป็นแนวทางในสังคมๆ

เพราะสังคมเขาเชื่อกันอย่างนั้น เพราะฆราวาส โยม ถ้าโยมศึกษา โยมจะรู้ทันทีนะ เพราะคำถามนี้คนถามเยอะมาก แล้วมีหลายๆ คนที่มาถามนะ แล้วทำแบบผู้ถาม วันนั้นโยมเขามาถาม บอกหนูใส่บาตรเสร็จหนูลุกหนีเลย หนูไม่เอา

คำว่า “ให้พร” เราเห็นคนใส่บาตร คนทำบุญ เราอนุโมทนา เราก็ได้บุญแล้ว แต่ไอ้นี่มันยืนแสดงธรรม การยืนแสดงธรรม ภาษาเรา ก็เท่ากับส่งเสริมนะ พอส่งเสริมไปเรื่อย แล้วธรรมดาในฝ่ายปกครองเขาก็ผ่อนผันมาเรื่อย

พอผ่อนผันไปๆ มันผ่อนผันไง เหมือนจราจรเลย ตำรวจจราจร กฎจราจรมันก็เป็นกฎจราจรใช่ไหม แต่ตำรวจเวลามันจะยืนซุ่ม ยืนในพุ่มไม้ รอให้เอ็งผิดออกมา แล้วมันก็ออกมาจับ มันไม่ยืนอยู่บนสี่แยก ถ้ายืนสี่แยก รถจะเรียบร้อย รถจะหยุดตามกฎจราจรเลย จราจรมันจะซุ่มๆ อยู่นะ เวลารถฝ่าไฟแดง มันโผล่มาเลย ฝ่าไฟแดงๆ

อันนี้ก็เหมือนกัน ผู้ที่มีอำนาจการปกครองทำไมไม่พูด ทำไมไม่บอก ตำรวจพระก็มี ทีนี้ตำรวจพระก็มี เวลาพูดไปมันเป็นปัญหาสังคม ปัญหาสังคมเพราะว่าการยืนให้พรมันมาจากไทยใหญ่ มันมาจากทางภาคเหนือ ถ้าภาคเหนือเขาทำเขาเรียกปันพร ถ้าเราบอกว่าเราผิด แล้วเขาทำกันน่ะ ทีนี้แบบไทยใหญ่ แบบอาจริยวาท เชื่อตามครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ทำตามๆ กันมาก็เชื่อตามๆ กันมาไง

แต่เถรวาทในเมืองไทยเราเชื่อพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ พระอรหันต์ที่สิ้นกิเลส ๕๐๐ องค์ทำสังคายนา แล้วก็ทำญัตติจตุตถกรรมเอาไว้ว่า สิ่งใดที่พระพุทธเจ้าไม่ได้บัญญัติ พวกเราก็จะไม่เพิ่มขึ้น สิ่งใดที่พระพุทธเจ้าบัญญัติแล้ว พวกเราก็จะไม่แก้ไข เราเชื่อตามวินัยไง ตามกฎหมาย ตามกฎหมายในเสขิยวัตรบอกไว้ชัดเจนว่า ภิกษุยืนแสดงธรรมเป็นอาบัติทุกกฏ

แล้วยืนให้พรมันคือยืนแสดงธรรม แล้วผู้รับนั่งอยู่ มันเป็นอะไรล่ะ มันเป็นอาบัติชัดๆ มันเป็นอาบัติอยู่แล้ว แต่นี้พอมันทำกันไปมันเป็นวัฒนธรรม พอเป็นวัฒนธรรม พวกโยมก็เกรงใจพระไง เวลาพระนะ พระศีล ๒๒๗ เราศีล ๕ ใช่ไหม เราก็ไม่กล้าโต้แย้ง พระจะทำอะไรก็โอเคๆ พระทำก็ถูกหมดน่ะ แต่ถ้าเราศึกษาแล้วมันผิดล่ะ มันผิดแล้วทำไมพระพาทำ

อย่างเช่นเราอบรมสั่งสอนลูกของเรา ถ้าสิ่งใดที่เป็นความผิดๆ ลูกเราทำ เราจะปล่อยให้ทำไหม ถ้าปล่อยให้ทำมันก็เสียไปเรื่อยๆ มันก็จะทำมากขึ้นไปเรื่อยๆ แต่นี่เขาทำตามๆ กันมาไง

แต่สำหรับเราไม่เคย เวลาเขาจะขอพรก็ให้เขาคำสองคำจบ ถ้าเขาจะขอจริงๆ นะ แต่ไม่ค่อยเจอ ไม่เจอหรอก ไม่เจอเพราะอะไร เพราะแค่เราเดินไปบิณฑบาตนะ เราบิณฑบาตอยู่ที่โพธาราม มันมีช่างตัดผมเขาเคยใส่บาตรอยู่ แล้ววันหนึ่งเขาก็ใส่บาตรเรา เขาบอกว่า “หลวงพ่อๆ ผมใส่บาตรหลวงพ่อแล้วผมชื่นใจ แปลกเนาะ หลวงพ่อเนาะ เวลาหลวงพ่อมาบิณฑบาตทำไมมันดูเรียบร้อย ทำไมพระที่อื่นเขามาบิณฑบาต เวลารถวิ่งมามันเวิบวาบไปหมดเลย

เพราะเขาไม่ได้ซ้อนผ้าไง เวลาเขาห่มจีวรแล้วบิณฑบาต เวลารถสิบล้อมันวิ่งมา ลมมันพัดมามันจะเวิบวาบไปหมดเลย แต่พระป่าเรามันซ้อนสังฆาฏิ มันทั้งจีวร ทั้งสังฆาฏิ ซ้อนผ้าออกบิณฑบาต เวลาสิบล้อมันวิ่งผ่านไปผ่านมา ผ้ามันก็ยังนิ่ง อันนี้เป็นคำชมนะ เราจำเลยนะ

พอคำชมของเขา ไอ้คำชมของเขา เราก็ยกให้กับวินัย ยกให้ข้อวัตรปฏิบัติของพระป่าเรา พระป่าเราก่อนออกบิณฑบาต เราซ้อนผ้าออกบิณฑบาต ผ้า ๓ ผืนซ้อนแล้วออกบิณฑบาต พอเวลามันเจอสิ่งใดมันนิ่ง ผ้ามันทิ้ง มันไม่ชะเวิบชะวาบไง

เขาบอกว่า “ผมใส่บาตรหลวงพ่อแล้วผมชื่นใจ แต่เวลาพระที่อื่นผมไม่อยากใส่ ไม่อยากใส่

อันนี้ก็ยกให้วินัยนะ ยกให้ข้อวัตรปฏิบัติที่ทำ เราทำถูกต้องตามธรรมวินัย ทำถูกต้องตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติ เราไม่รู้ เราคิดไม่เป็นหรอก เราไม่รู้หรอกว่าทำอย่างไร กูคิดไม่เป็นหรอก แต่กูทำตามที่อาจารย์กูสอนน่ะ ทำตามหลวงปู่มั่น ทำตามหลวงตา ทำตามครูบาอาจารย์ที่ท่านทำมา บิณฑบาตส่วนใหญ่เราจะซ้อนผ้าออกบิณฑบาต

กรณีนี้หลวงปู่จันทาท่านเล่าให้ฟังเวลาท่านอยู่กับหลวงปู่ขาว หลวงปู่จันทาท่านก็เป็นพระสำคัญนะ เวลาอยู่กับหลวงปู่ขาวที่ถ้ำกลองเพล เวลาหลวงปู่ขาวท่านจะออกบิณฑบาตไง บิณฑบาตในครัว คือบิณฑบาตในวัด เพราะหลวงปู่ขาวท่านชราภาพแล้ว ทีนี้ชราภาพแล้ว หลวงปู่จันทาท่านอยากจะฟังเทศน์ท่านบอกว่าไม่ต้องซ้อนผ้าเนาะ บิณฑบาตใกล้ๆ

โอ้โฮหลวงปู่ขาวเอาตายเลย “มันจะใกล้มันจะไกลก็ข้อวัตรน่ะ

แล้วมันจะใกล้นะ เวลาบิณฑบาตใกล้ๆ ท่านบอกว่า “ไม่ต้องติดลูกกระดุมเนาะ” ธรรมดาท่านติดนั่นแหละ แต่ท่านจะอาราธนาเทศน์ ท่านบอกว่า “บิณฑบาตใกล้ๆ ไม่ต้องติดรังดุมเนาะ

โอ้โฮหลวงปู่ขาวกระหน่ำเลยนะ แล้วหลวงปู่จันทาท่านไม่ใช่พระขี้ดื้อนะ แต่ท่านเป็นพระที่รักหลวงปู่ขาว ท่านเป็นพระที่รักครูบาอาจารย์มากนะ แต่ลูกศิษย์อยากฟังเทศน์ ลูกศิษย์อยากจะฟังข้อชี้แนะจากครูบาอาจารย์น่ะ เวลาพระที่ดีๆ นะ เวลาท่านอาราธนาเทศน์ มันรู้ได้ แต่ถ้าพระขี้ดื้อมันเป็นอีกอย่างหนึ่งนะ มันทำความเสียหายให้หมดน่ะ

คำนี้หลวงปู่จันทาเล่าให้เราฟังเอง เล่าให้เราฟังเลยบอกว่าท่านทำกับหลวงปู่ขาวอย่างนี้ๆ แล้วท่านก็บอก ท่านเล่าให้ฟังท่านก็จะเน้นย้ำพวกเราไงว่า หลวงปู่ขาวเวลาท่านออกบิณฑบาตใกล้ๆ ท่านก็ยังซ้อนผ้า ท่านก็ยังกลัดรังดุม ท่านยังทำของท่านน่ะ ทั้งๆ ที่พระลูกศิษย์ลูกหาบอก “ไม่ต้องหรอกหลวงปู่ ไม่ต้องหรอกหลวงปู่ ไม่ต้องหรอก

เดี๋ยวกระหน่ำฟาดหัวเลย ไม่ต้องๆ อย่างไร

นี่ครูบาอาจารย์ของเรา เราทำตามครูบาอาจารย์กันมาไง ถ้าเราทำตามครูบาอาจารย์กันมา เราไม่ได้เชื่อตามๆ กันมา เราศึกษามา ศึกษามาแล้วมันอยู่ในข้อวัตรปฏิบัติ มันอยู่ในธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช่ไหม ถ้ามันอยู่อย่างนั้นน่ะ เราทำตามนั้นไง

ไอ้นี่เห็นว่าการให้พรมันเป็นการแบบว่าแสดงธรรมกับญาติโยม ถ้าญาติโยมทำอะไรให้เพิ่มขึ้นไปเขาจะศรัทธา นี่มุมมองของเรา แล้วเรามองไปนั่น

แต่ถ้าเราบิณฑบาตแล้ว เราบิณฑบาตเป็นวัตร ทอดสายตาลงต่ำ ยังไม่ถึงโยม ยังไม่แหวกผ้า แหวกผ้าแล้ว บาตรเราเปิดฝาบาตร เขาใส่บาตรแล้วปิด แล้วเราก็ไปของเรา เขาก็ไปของเขา นี่ทำถูกต้องตามเสขิยวัตร บิณฑบาตเป็นวัตรๆ

บิณฑบาตไปแล้วก็แสดงคอนเสิร์ตเลยนะ ยืนเรียงแถวเลย พอใส่บาตรเสร็จสพฺพีติโยฯ” โอ้โฮมันแสดงคอนเสิร์ตกลางถนนกันเลย เราเห็นเรื่องนี้มาเยอะ แล้วเราก็สลดใจนะ แต่เราไม่มีอำนาจ ไม่มีอำนาจที่จะไปทำสิ่งใด

แต่ถ้าญาติโยมเขาบอกว่า พระโดยทั่วไปที่เห็นไปยืนให้พรเป็นไปตามปกติของเขา โดยปกติของส่วนมาก

โดยปกติทำผิดซ้ำๆ ซากๆ โดยความเป็นปกติไง แต่ถ้ามันเป็นความผิดๆ มันเป็นปกติได้อย่างไรล่ะ ดูสิ คนทำผิดกฎหมาย หนึ่งความผิดก็หนึ่งกระทง วันนี้ก็ทำผิดหนึ่งกระทง พรุ่งนี้ก็ทำผิดอีกหนึ่งกระทง ต่อไปก็ทำผิดอีกหนึ่งกระทง ความผิดทำซ้ำทำซากมันมีความผิดอันเดียวกันหรือ ความผิดแต่ละครั้งมันให้ผลแต่ละครั้งๆ ใช่ไหม แล้วมันเป็นปกติได้อย่างไร

นี่เขาบอกว่าเขาทำกันเป็นเรื่องปกติไง ทำเป็นเรื่องปกติแต่มันก็มีโทษทุกๆ ครั้งที่ทำไป แล้วคนที่รับมันก็มีทุกครั้งที่ทำไป มันไม่เป็นปกติ มันเป็นปกติไปไม่ได้ มันเป็นความผิดก็คือความผิดวันยังค่ำ ถ้าเป็นความผิดวันยังค่ำ นี่ถ้าการให้พร ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเขาทำอย่างนั้น

แต่หากผมทราบว่าพระคุณเจ้าทำไปมันเป็นอาบัติ หลังจากที่ใส่บาตรเสร็จแล้วผมก็เดินออกจากการไม่รับพรท่าน พระคุณเจ้ารูปนั้นทำงงๆ เลย ผมทำถูกต้องหรือไม่

ถ้าพูดถึงทำนะ ทำถูกต้อง ทำถูกต้อง แต่ถูกใจเขาหรือเปล่าล่ะ เราจะบอกว่า ทำถูกต้องแต่มันไม่ถูกใจ ไม่ถูกใจสังคม ถ้าสังคมมันเชื่อตามๆ กันมา แล้วเขาเชื่ออย่างนั้นแล้ว เราเองต่างหากเป็นคนผิดนะต่อไปน่ะ ต่อไปคนทำถูกเป็นผิด ไอ้คนทำผิดเป็นถูกนะ ไอ้ที่เขาทำๆ กันน่ะถูกหมดเลย เขาให้พรกัน เขาเล่นคอนเสิร์ตกัน โอ้โฮมีคนชมคอนเสิร์ตกันเต็มไปหมดเลย แต่ทำหนึ่งครั้ง ความผิดหนึ่งกระทง ความผิดหนึ่งครั้ง อาบัติต่อเนื่อง

ที่ปลงอาบัติ ถ้าอาบัติเป็นอาจิณ ถ้าความเป็นอาจิณ เหมือนกับความผิดทำบ่อยครั้งจนเป็นนิสัย เวลาตัดสินโดยความลงโทษก็ลงโทษเต็มที่เลย แต่ทำความผิดโดยความประมาทเลินเล่อ ทำความผิดโดยไม่ตั้งใจก็ลงโทษตามความผิดนั้น แต่เขายังให้อภัยโทษกันบ้าง เพราะว่าไม่ได้ตั้งใจ

แต่ทำผิดจนเป็นอาจิณๆ เป็นอาจิณเพราะอะไรล่ะ เป็นอาจิณเพราะไม่รู้ไง เป็นอาจิณเพราะไม่ศึกษาไง เป็นอาจิณเพราะว่าไม่ได้กระทำไง

แต่ถ้ามันเป็นจริงขึ้นมาๆ เราก็ไม่ทำ ไม่ทำตามนั้น ถ้าเราไม่ทำตามนั้น เราจะทำความถูกต้องของเรา เราทำถูกต้องของเรา เราจะใส่บาตรก็ใส่บาตร ใส่บาตรแล้วก็จบ ถ้าใส่แล้ว

จริงๆ เวลาใส่บาตร แบบว่าเดี๋ยวนี้พระก็คงที่ใช่ไหม แต่ประชาชนมากขึ้นๆ ประชาชนมากขึ้น ทุกคนก็อยาก เวลาทำไปแล้วมันก็ไปรวมอยู่ที่พระหมด แล้วเวลาเห็นพระบิณฑบาตมา “โอ้โฮพระอะไรขี้โลภ อู้ฮูพะรุงพะรังไปหมดเลย

ก็เอ็งไปใส่ที่อื่นบ้างก็ได้ เอ็งไม่ไปใส่ที่อื่นล่ะ ทำไมใส่กับองค์นี้ล่ะ เพราะเอ็งก็อยากสะดวก เอ็งก็อยากจะใกล้ๆ ทำอะไรให้จบๆ ฉะนั้น ผู้ที่รับก็ต้องรับด้วยสติด้วยปัญญา ทำอะไรอย่าทำให้ศรัทธาไทยเขาตกล่วง ฉะนั้น สิ่งที่เราจะใส่บาตร ใส่บาตรเราก็ใส่ของเราแล้วเราก็หลบหลีกของเราไป

ฉะนั้น เขาบอกว่าถ้าหากพระคุณเจ้านั้นเป็นอาบัติ แล้วเราอยากทำบุญ เราใส่บาตรเสร็จแล้วเราลุกหนีเลยอย่างนี้ ทำอย่างนี้ถูกต้องไหม

ถ้าคำว่า “ถูกต้อง” มันถูกแน่นอน แต่อย่างว่าถ้างงๆ ไปแล้ว แล้วสิ่งที่เขามองมันเป็นจุดเด่นเกินไป ทำอะไรสังคมมันเป็นอย่างนี้ มันเป็นนิติศาสตร์กับรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์คือกฎหมาย รัฐศาสตร์คือธรรมะไง สิ่งที่เป็นธรรมๆ สิ่งที่เป็นธรรม ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นธรรมนะ สิ่งใดที่ผิดพลาด ท่านจะเก็บไว้ในใจ แล้วพยายามจะไปอบรมสั่งสอนกันภายหลัง ถ้าอบรมสั่งสอนกันได้

หลวงตาฉลาดมาก หลวงตาท่านมีสิ่งใดนะ พูดผิดพูดถูก ท่านเก็บไว้ในใจเลย เวลาคนอื่นมาแสดงธรรมพูดผิดพูดถูก ท่านก็เก็บไว้ในใจ เพราะมันไม่เป็นประโยชน์ไง เวลาพูดไปแล้วมันสะเทือนไปหมด

เราก็แบ่งแยกเป็นพวกเขาพวกเรา เวลาพูดไป “พระป่าก็คิดอย่างนี้ พระป่าก็ทำอย่างนี้” เวลาเขาพูด “กายนอก กายใน กายในกายเป็นโวหาร” เวลาเราฟังแล้วเราเศร้ามากนะ เวลาพวกปริยัติเขาพูด “กายก็คือกายไง” เขาบอก “มีกายนอก กายใน กายในกาย มันมีอยู่จริงหรือ

แต่ลองปฏิบัติไปสิ เวลาพิจารณากายนอก กายนอก พิจารณากายโดยสัจจะโดยข้อเท็จจริง ถ้ามันสมุจเฉทปหาน นั่นน่ะโสดาบัน แล้วโสดาบันพิจารณากายไปแล้ว กายใน กายในก็พิจารณากายซ้ำ แต่มันเป็นกายคนละเรื่อง กายคนละชั้น กายนอก กายใน กายในกาย แล้วกายในกาย กายเป็นอย่างไร

ไอ้นี่พอมันไม่เป็นขึ้นมา เวลาครูบาอาจารย์ท่านพูดของท่าน ท่านมีความหมาย มีเหตุมีผลตลอด แต่พวกเราปฏิบัติไม่ถึง ปฏิบัติไม่เป็น ปฏิบัติไม่เห็นตามความเป็นจริงไง แล้วซ้ำซากอยู่อย่างนั้นไง แล้วก็คิดว่าพิจารณากาย ๔ หนไง พิจารณากายแล้วกายเล่าก็จบไง

แต่ความจริงมันไม่ใช่ กายขั้นหนึ่งก็ต้องพิจารณาจนเป็นไตรลักษณ์ จนสมุจเฉทปหานไปเลย จบสิ้นกระบวนการ นั่นคือกายนอก เพราะมันจบสิ้นกระบวนการ สังโยชน์ ๓ มันขาดไป

แล้วถ้าพิจารณาต่อเนื่องไป กามราคะ ปฏิฆะมันก็เรื่องของร่างกายนั่นแหละ แต่ร่างกายอีกชั้นหนึ่ง พิจารณาจนมันขาดไป กามราคะ ปฏิฆะอ่อนลง

ทีนี้พอเข้าไปพิจารณากาย พิจารณาอสุภะ นั่นกายในกายเลย พิจารณาอสุภะอันนั้นน่ะมันต้องเป็นมหาสติ มหาปัญญา พิจารณาอสุภะนั่นน่ะมันจะไปแก้กามราคะ ถ้าแก้กามราคะ พิจารณาอย่างนั้นถ้าเวลามันขาด ถ้าเวลามันขาดไป นี่พิจารณากายมันเป็นกายเป็นชั้นๆ เข้าไป กายนอก กายใน กายในกาย กายของจิตอะไรที่ว่านี่

เวลาปริยัติเขาบอก เราได้ยินเวลาเขาโต้แย้ง เขาพูดเขาเสียดสีไง “มีแต่โวหาร ไม่มีการศึกษา สติปัฏฐาน ๔ กายานุปัสสนา มีกายนอก กายใน กายในกาย มันเป็นโวหาร” เขาว่าอย่างนั้นนะ แต่เวลาเขาพูดเป็นโวหารเขาไม่ได้พูดเป็นโวหาร คำว่า “โวหารของเขา” คือไม่มีเนื้อหาสาระ ไม่มีข้อเท็จจริง ศึกษาคือจำมา แต่ครูบาอาจารย์เราปฏิบัติ ท่านเห็นจริง ท่านเห็นจริงเห็นจังนะ

เวลาถ้ามันเป็นคณะเป็นอะไรก็บอกว่าพวกเขาพวกเรา ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ถ้าพูดถึงกรรมฐานเรา ครูบาอาจารย์ของเรานะ ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าศีลมันผิดพลาด ศีลมันไม่ถูกต้อง ท่านอยู่ไม่ได้หรอก กิเลสมันไหว ฉะนั้น เวลาจะปลงอาบัติ ฉะนั้น หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเราท่านถึงทำรอบคอบ แล้วทำเป็นตัวอย่าง ฉะนั้น เวลาทำเป็นตัวอย่างขึ้นมา มันทำแล้วเวลาประพฤติปฏิบัติ เวลาคนจะปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา ไอ้ศีลตัวนี้สำคัญมาก แต่ยังไม่ได้ปฏิบัตินี่ มันศูนย์น่ะ ศีลเศิลนะ

นี่เป็นการเสียดสีนะ ไม่ได้ว่าใครนะ เขาบอกว่า “ทุกกฏ ตดก็หาย ปาจิตตีย์ ขี้ก็หาย” เขาพูดกันอย่างนั้นน่ะ แล้วบอกว่า “ไอ้กรรมฐาน ไอ้พวกย่ามใหญ่” ไอ้พวกย่ามใหญ่คือขี้โลภ บาตรลูกก็ใหญ่ ย่ามลูกก็ใหญ่ ของเขาลูกเล็กๆ เป็นขุนนางกันน่ะ

ไอ้นี่เวลาพูด เวลาพูดไป เราพูดไว้ก่อน เพราะพูดไป เพราะเขาทำกันอย่างนั้น ทำกันอย่างนั้นเพราะเห็นแก่ลาภ ถ้าจะให้เราพูดนะ เวลาใส่บาตรแล้วให้ศีลให้พรน่ะเห็นแก่ลาภ เห็นแก่สิ่งที่เขาจะให้ แล้วให้แล้วสรรเสริญเขา ยกย่องเขา ให้เขาให้มากขึ้น ไม่ได้คิดว่าบิณฑบาตเพื่อดำรงชีพ ถ้าบิณฑบาตดำรงชีพถูกต้องตามธรรมวินัย มันจะทำอย่างนั้นได้อย่างไร นี่มุมมองเรานะ นี่เป็นสิทธิ์เหมือนกัน มีคนเดียวในโลกนี้ ไม่มีใครมองอย่างนี้

แล้วเราจะทำให้ถูกต้องตามธรรมวินัย เคารพพระพุทธเจ้าไง ถ้าเคารพพระพุทธเจ้า เคารพพระพุทธเจ้า ทำตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสั่งสอน แล้วทำตามนั้น มันจะได้หรือไม่ได้ช่างหัวมัน ต่อไปเขาให้พรกันหมดเลย เราไปบิณฑบาตได้ลมกลับมาก็ช่างมัน พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ ได้กินลมก็ช่างมัน นี่พูดถึงว่าความเชื่อไง

นี่ทำตามๆ กันมา ไม่ศึกษานี่ แล้วพอทำตามๆ กันมา เราผู้บวชใหม่นะ ผู้บวชใหม่เข้ามาเห็นผู้บวชเก่าทำอย่างนั้น หรือผู้บวชใหม่ขึ้นมาไปเดินต่อท้ายแถวเขา เขาทำอย่างนั้นก็คิดว่าอย่างนั้นถูกต้องตามธรรมวินัยนั่นน่ะ เขาคิดว่าอย่างนั้นถูกนะ แต่ถ้ามันผิด มันผิดทำไมพวกไทยใหญ่ พวกทางภาคเหนือเขาทำกันอย่างนี้

ไอ้นั่นเป็นวัฒนธรรมของเขา วัฒนธรรมของเขา เขาเชื่อตามครูบาอาจารย์ของเขา เวลาเจ้าคุณอุบาลีฯ ขึ้นไปทางภาคเหนือก็ไปเห็นอย่างนี้ เห็นพระกินเหล้าเมายา พระขี่ม้ากันน่ะ ท่านร้องไห้เลย เจ้าคุณอุบาลีฯ สมัยที่ขึ้นไป เจ้าคุณอุบาลีฯ ขึ้นไปทางภาคเหนือนะ ไปเห็นพระทำตัวกันนะ ร้องไห้เลยนะ

แต่เราย้อนกลับมานี่ เราไปดูแต่เขา แล้วมาดูพระภาคกลางสิ ในกรุงเทพฯ เขาทำตัวกันอย่างไร เราอย่าไปว่าเขา นี่พอพูดถึงวัฒนธรรม มันเป็นชุมชนใช่ไหม มันเป็นมวลชน แต่ในกรุงเทพฯ เรา ในกรุงเทพฯ เรา ไปดูสิ แถวปทุมฯ เขาทำกันน่ะ มันยิ่งกว่าเขากี่ร้อยเท่าน่ะ

มันก็ต้องแบบว่า ถูกผิดเป็นเรื่องบุคคลๆ ไป ถ้าบุคคลไป ทำอย่างนี้ทำถูกแล้ว นี่พูดถึงว่า “ผมทำอย่างนี้ผิดหรือถูกครับ

นี่พูดถึงการให้พร เขาเชื่อตามๆ กันมานะ

ฉะนั้นบอกว่า “ผมมีจิตที่อยากจะทำบุญใส่บาตร รบกวนหลวงพ่อชี้แนะแนวทางการปฏิบัติให้สังคมปัจจุบันนี้ที่ต้องเจอด้วยครับ

ในสังคมปัจจุบันนี้เนาะ ถ้าหลบหลีกอย่างนี้ ในสังคมปัจจุบัน หมายถึงว่า สังคมเขาเชื่อกันอย่างนั้น แล้วเราไป เราเป็นแกะดำ ทำความดีเป็นอย่างนั้นจริงๆ นะเดี๋ยวนี้ ถ้าทำตามสังคมไป อยู่สุขอยู่สบาย ถ้าจะทำคุณงามความดีนี่สัตว์ประหลาด พอสัตว์ประหลาดแล้วอยู่ไม่ได้ด้วยถ้าจิตใจไม่เข้มแข็ง

ถ้าจิตใจเข้มแข็งนะ เวลาเราอยู่กับหลวงตา หลวงตาท่านบอกเลยนะ “เราไม่เคยหวั่นไหว เพราะเราไม่ได้คิดขึ้นมาเอง เราทำตามหลวงปู่มั่น” เพราะหลวงปู่มั่นท่านได้ทำทั้งชีวิตของท่านแล้ว แล้วครูบาอาจารย์ได้ทำทั้งชีวิตของท่าน

ไอ้นี่เราก็เหมือนกัน เราไม่ได้คิดขึ้นมาเอง ถ้าเอ็งเปิดใจเสียอย่าง เอ็งดูหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ดูครูบาอาจารย์ทำ ท่านทำอย่างไรมา ถ้ามันผิด มันผิดมาตั้งแต่นั่น ท่านทำถูกมาตลอดเพราะท่านเป็นพระอรหันต์ แล้วสังคมเป็นพระอะไร แล้วเอ็งทำตามๆ กันไป แล้วเราจะไปเชื่อเขาหรือ ถ้าเราไม่เชื่อเขา เราก็ต้องมีจุดยืนของเรา แต่จะโดนเสียดสี โดนเหยียดหยาม ถ้าเรามีจุดยืนนะ ไร้สาระมาก นั่นโลกธรรม ๘

เราเชื่อ เราเชื่อดวงตา เชื่อความเห็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เชื่อดวงตา เชื่อความเห็นของครูบาอาจารย์ของเรา แล้วเราประพฤติปฏิบัติเพื่อความมั่นคงของศาสนา เพื่อความมั่นคงของบุญกุศลในหัวใจของเรา เอวัง