ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ก้าวแรก

๑๘ มิ.ย. ๒๕๖o

ก้าวแรก

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๖๐

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี


ถาม : เรื่อง “นั่งกับเดิน”

การภาวนานั้นจำเป็นต้องเดินจงกรมทุกครั้งหรือไม่ ได้ยินครูบาอาจารย์บอก เพราะผมไม่ค่อยเดินเกี่ยวกับการรู้ธรรม หรือว่าการเดินทำให้เห็นรูปนามชัดเจนกว่าการนั่งครับ

ตอบ : นี่พูดถึงว่าคนเริ่มภาวนาใหม่ เวลาคนภาวนาใหม่ฝึกหัดภาวนา อันนี้สุดยอด คำว่า “สุดยอด” หมายความว่า เวลาคนจะทำงาน งานโดยทั่วไปใครๆ ก็ทำได้ งานบริหารก็ต้องผู้ที่มีสติมีปัญญา งานของผู้รับผิดชอบ งานของผู้ดูแลสูงสุด มันยิ่งละเอียดเข้าไป

นี่ก็เหมือนกัน ในการทำบุญกุศล ในเรื่องของชาวพุทธ แม้แต่เชื่อเรื่องศาสนาเขายังไม่เชื่อเลย เวลาเชื่อขึ้นมาก็เชื่อโดยความศรัทธา เวลาศรัทธาขึ้นมา มีความผิดพลาดขึ้นไปก็เสียอกเสียใจ อันนี้พูดถึงความเชื่อ

ความเชื่อนี่นะ ในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าเป็นอริยทรัพย์ เพราะความเชื่อเหมือนกับหัวรถจักร ถ้ารถจักรไม่มีหัวนะ มันไม่สามารถลากขบวนนั้นไปได้ แต่เพราะความเชื่อนั้นน่ะลากขบวนนั้นเข้ามาศึกษาธรรมะไง เพราะความเชื่ออันนั้นทำให้เราเข้าวัดเข้าวา เพราะความเชื่ออันนั้นทำให้เราได้พิสูจน์ เพราะความเชื่ออันนั้น แต่ความเชื่ออันนั้น ความเชื่อแก้กิเลสไม่ได้ การแก้กิเลสด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ต้องมีปัญญา

แต่ถ้าไม่มีความเชื่อ ไม่ลากเราเข้าไปศึกษาเลย เราจะโง่ฉลาดได้อย่างไร ถ้าโง่ก็คือความไม่รู้ ฉลาดก็คือมีปัญญา แล้วปัญญามันเกิดจากไหน ก็เกิดจากการศึกษาการค้นคว้า ถ้าการค้นคว้าอันนั้น เห็นไหม ถึงว่าเป็นอริยทรัพย์ ศรัทธาเป็นอริยทรัพย์ แต่ศรัทธาถ้าขาดปัญญา ถ้าขาดปัญญามันก็แบบว่าให้เขาหลอกลวงได้ ให้เขาชักนำได้

แต่ความจริงแล้ว เวลาครูบาอาจารย์มีการชักนำไหม ครูบาอาจารย์เป็นคนบอกทางๆ แต่เวลาเราจะประพฤติปฏิบัติ เราต้องประพฤติปฏิบัติด้วยตัวของเรา เราปฏิบัติด้วยความเป็นจริงของเรา มันต้องปฏิบัติรู้ ปฏิบัติความรู้แจ้งของเรา อันนั้นถึงเป็นการปฏิบัติ

ถ้าปฏิบัติแล้วมันไม่เชื่อสิ่งใดเลย เหมือนกับพระสารีบุตร พระสารีบุตรบอกไม่เชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่เชื่อใดๆ ทั้งสิ้น พระได้ยินเข้า ไปฟ้อง ไปฟ้องพระพุทธเจ้า ก็นิมนต์พระสารีบุตรมา

“เธอพูดอย่างนั้นจริงๆ หรือ” “จริง” “จริงเพราะอะไร”

“อ้าว! จริงเพราะว่าความเชื่อมันแก้กิเลสไม่ได้”

ไอ้นั่นเป็นความจริงในใจของพระสารีบุตรไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสาธุ

แต่ก่อนที่พระสารีบุตรจะเป็นพระอรหันต์ ไปฟังเทศน์พระอัสสชิ เวลามาบวชกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นพระโสดาบันมาจากพระอัสสชิ เวลามาอยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการจนพระโมคคัลลานะเป็นพระอรหันต์ไปแล้ว พระสารีบุตรยังไม่ได้เป็นน่ะ

ตอนที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ เหมือนกับเราทำงาน เราทำงานอยู่ก้ำกึ่ง จะได้หรือไม่ได้ เราพยายามของเราขนาดไหน ตอนนี้เชื่อหรือไม่เชื่อ ถ้าไม่มีคนบอก ไม่มีคนควบคุม งานที่มันก้ำกึ่งๆ มันไม่เสร็จสักที

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการหลานพระสารีบุตร พระสารีบุตรฟังเทศน์อยู่ด้วย พระสารีบุตรบรรลุธรรมตอนนั้น ตรัสรู้ธรรมตอนนั้นเลย พอตรัสรู้ธรรมไปแล้วไม่เชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะการตรัสรู้ของพระสารีบุตรเป็นการตรัสรู้ในใจของพระสารีบุตร แต่อาศัยการฟังธรรมจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

นี่ไง เวลาไม่เชื่อสิ่งใดๆ เลย ถ้าเป็นกาลามสูตรจะเป็นแบบนั้น ไม่เชื่อสิ่งใดเลย แต่เคารพมาก พระสารีบุตรนะ เวลาจะนอนที่ไหนนะ ถ้าได้ข่าวพระอัสสชิอยู่ทิศใด จะนอนศีรษะไปทางนั้น หลวงตาท่านบอกว่า ถ้าคืนไหนถ้าไม่ได้กราบหลวงปู่มั่นก่อน นอนไม่ได้ ก่อนที่จะนอน ท่านต้องกราบหลวงปู่มั่นก่อน นี่เวลามันเคารพบูชา เคารพบูชาขนาดนั้นน่ะ

ไม่เชื่อ แต่เห็นบุญเห็นคุณนะ เห็นบุญเห็นคุณคนที่ปกป้องดูแลเรา คนที่คุ้มครองดูแลเรามา คนที่ชี้นำเรามา เห็นบุญเห็นคุณเลย แต่จริงๆ แล้วเราต้องทำของเราเองเป็นจริงของเราขึ้นมา นี่พูดถึงว่า ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก

ฉะนั้น คำถามว่า การภาวนาจำเป็นจะต้องเดินจงกรมทุกครั้งหรือไม่ ได้ยินครูบาอาจารย์บอก

คำว่า “ได้ยินครูบาอาจารย์บอก” ครูบาอาจารย์มันก็เป็นจริตนิสัย เราเคยไปถ้ำสหาย ไปกราบหลวงปู่จันทร์เรียน หลวงปู่จันทร์เรียนท่านพูดกับเราไง พูดเล่น พูดเล่น บอกก่อน ท่านบอกว่า “หลวงปู่ชอบภาวนาสู้เราไม่ได้”

เราฟังเราก็งงเลยนะ เพราะหลวงปู่ชอบเป็นอาจารย์ของหลวงปู่จันทร์เรียนนะ อาจารย์จันทร์เรียนเป็นลูกศิษย์หลวงปู่ชอบ

ท่านบอก “หลวงปู่ชอบภาวนาสู้เราไม่ได้”

เราก็นั่งฟังเลย วันนี้มันมีเคสอะไร

ท่านบอกว่า หลวงปู่ชอบท่านถนัดเดินจงกรม ท่านไม่ถนัดนั่งภาวนา แต่หลวงปู่จันทร์เรียนท่านถนัดนั่ง เวลาหลวงปู่จันทร์เรียนท่านนั่งทีหนึ่ง ๗-๘ ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ นั่งทีหนึ่ง ๑๒ ชั่วโมงนะหลวงปู่จันทร์เรียน

ท่านบอกหลวงปู่ชอบนั่งสู้ท่านไม่ได้ แต่ถ้าเดินจงกรม ท่านสู้หลวงปู่ชอบไม่ได้ หลวงปู่ชอบเดินจงกรมทั้งวันทั้งคืน หลวงปู่ชอบถนัดในการเดินจงกรม

นี่เขาถามว่า “การภาวนาต้องเดินจงกรมทุกครั้งไปหรือไม่ ได้ยินครูบาอาจารย์บอกมาอย่างนั้น”

มันอยู่ที่จริตนิสัยไง เช่น หลวงปู่ชอบถนัดในการเดินจงกรม หลวงปู่สิงห์ทองถนัดในการเดินจงกรม หลวงตามหาบัว หลวงปู่เจี๊ยะ ท่านจะชื่นชมหลวงปู่สิงห์ทองมาก บอกว่า เวลาเดินจงกรมเป็นเหวไปเลย ทางนี่เป็นร่องไปเลย ท่านถนัดในการเดินจงกรม

ถ้าผู้ที่ถนัดในการเดินจงกรม การเดินจงกรมนั้นถูกจริต การเดินจงกรมนั้น เดินจงกรมแล้วมันภาวนาสะดวก เดินจงกรมแล้วจิตสงบ เดินจงกรมแล้วมันจะใช้ปัญญาใคร่ครวญ ขณะอยู่ในทางจงกรมใช้สติปัญญาค้นคว้าหากิเลส ใช้ปัญญาพิจารณาแก้ไขกิเลสในทางเดินจงกรมนั้น

หลวงตาท่านก็ถนัดในทางเดินจงกรม เราก็ถนัดในทางเดินจงกรม เดินจงกรมนี่แหละ เวลารวม รวมในทางจงกรมนี่แหละ เรานี่เดินจงกรมอยู่นะ เวลาจิตมันจะเข้าอัปปนาสมาธิ เดินไปเดินมาละเอียดขึ้นเรื่อยๆ ลมหายใจละเอียดขึ้นเรื่อยๆ เดินจนเดินไม่ได้ ต้องยืน ยืนๆ อยู่นี่มันละเอียดขึ้นไป ต้องนั่งอยู่ทางจงกรม เรานี่นั่งลงบนทางจงกรมเลย เวลามันเป็นนะ เป็นบนทางเดินจงกรมก็เยอะ เป็นโดยนั่งสมาธินี่ก็เยอะ นี่พูดถึงว่าถ้าคนถนัดนะ

ไอ้เรานี่มันเป็นเป็ด ลงน้ำก็ได้ บินก็ได้ ไม่เหมือนไก่ ไก่มันลงน้ำไม่ได้นะ ไอ้เรานี่เป็ด ลงน้ำก็ได้ บินก็ได้ ทำอะไรได้ทั้งนั้น ถนัดไปทุกอย่างเลยแหละ ทำได้ทั้งนั้น เพราะมันเป็นนิสัย นิสัยเรามันเป็นแบบว่าคนใฝ่รู้ ชอบ ชอบมาก ที่ไหนมีวิชาการมีการศึกษานี่ไปเลย แล้วพยายามศึกษา ศึกษาเสร็จแล้วนะ ลองว่าจริงหรือเปล่า

ฉะนั้น เวลาลองไปแล้ว บางอย่างโกหก บางอย่างจริง โกหก หมายความว่า ทำตามนั้นแล้ว ทำอย่างไรก็ไม่ได้อย่างนั้น แสดงว่าคนพูดไม่จริง แต่ถ้ามันเป็นความจริง เราทำแล้วต้องได้จริง อันนี้มันเป็นเหมือนกับหลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่เจี๊ยะท่านเคยเล่าให้ฟังบอกว่า หลวงปู่ลี วัดอโศการาม ท่านพ่อลี ท่านพ่อลีท่านไปอินเดีย ไอ้พวกเพ่งไฟ เพ่งอะไร ที่อินเดียเขาทำกันน่ะ

ท่านพ่อลีพูดกับหลวงปู่เจี๊ยะ “เจี๊ยะเอ้ย แม้แต่ฆราวาสเขายังทำได้ เราเป็นพระต้องทำได้”

ท่านพ่อลีท่านชอบเรื่องนี้ ใครมีที่ไหนท่านจะไปศึกษา แล้วฝึกให้ได้อย่างนั้น ฝึกให้ได้เลย เพราะท่านใช้คำว่า แม้แต่ฆราวาสยังทำได้ เขาศีล ๕ ศีล ๑๐ เขายังทำได้ เราศีล ๒๒๗ เราเป็นพระ ทำไมเราทำไม่ได้

นี่คำพูดคำนี้หลวงปู่เจี๊ยะท่านเล่าให้ฟัง จำแม่นเลยนะ ท่านบอกว่าท่านพ่อลีพูดกับท่าน พูดกับหลวงปู่เจี๊ยะเอง “เจี๊ยะเอ้ย ทำไมฆราวาสเขายังทำได้ เราเป็นพระแท้ๆ ทำไมทำไม่ได้” ฉะนั้น ท่านฝึก ท่านทดสอบ อันนั้นเป็นท่านพ่อลี

แต่ของเรามันขี้กลาก มันไม่ได้อย่างนั้นหรอก แต่ฟังแล้วมันชอบ ฟังคำพูดอย่างนี้แล้วมันฝังใจ มันชอบ มันชอบ

ฉะนั้น เวลาเราไปกราบหลวงปู่จันทร์เรียน ท่านพูดคำนี้ ท่านพูดกับเราเอง ทีแรกฟังแล้ว เอ๊อะ! วันนี้หลวงปู่จันทร์เรียนจะให้อะไร ว่าอย่างนั้นเลยนะ ท่านพูดแล้วเราจับเลย วันนี้หลวงปู่จันทร์เรียนจะให้อะไร

ท่านบอกว่า “หลวงปู่ชอบภาวนาสู้เราไม่ได้”

เอ๊ะ! เรางงเลยนะ ตานี่ตาโตเลย แล้วท่านก็อธิบายว่าหลวงปู่ชอบท่านไม่ถนัดในการนั่ง แต่ท่านถนัดในการเดิน “แต่ผม” หมายถึงตัวท่าน ตัวหลวงปู่จันทร์เรียนท่านถนัดในการนั่ง แต่ท่านไม่ถนัดในการเดิน

อันนี้เราพูดถึง ยกขึ้นมาให้เห็นว่า การภาวนาต้องเดินจงกรมทุกครั้งไปหรือไม่

นี่ผู้ถามไง ถ้าเราไม่ถนัด เราถนัดในการนั่ง เรานั่งแล้วภาวนาได้ดี ไอ้การนั่งภาวนาของเรานี่สมบูรณ์แล้ว แต่พอเรานั่งภาวนาไปแล้ว เราภาวนาแล้วมันติดขัด เราภาวนาแล้วมันไม่ได้สมความปรารถนา แล้วมีคำพูดอย่างนี้ก้องอยู่ในหูน่ะ มันก็คิดเลย เอ๊ะ! เราต้องเดินจงกรมหรือเปล่า เราต้องทำอย่างนี้หรือเปล่า เราต้องทำอย่างนั้นหรือเปล่า

ถ้าเราคิดอย่างนี้ปั๊บ เราก็ทดสอบสิ เราก็นั่งภาวนาของเราเต็มที่เลย ถ้าจิตมันลงไม่ได้ จิตมันมีอุปสรรคสิ่งใด เราก็ลุก แล้วเราเข้าไปทางจงกรม แล้วเดินจงกรมไป ในทางจงกรมมันก็พิสูจน์กันว่าเราถนัดทางไหน

ถ้าเราถนัดในทางนั่ง เรานั่งภาวนาอยู่นี่ จิตมันดี จิตมันสงบ นั่งแล้วมันมีความสุข เวลาไปเดินจงกรม โอ้โฮ! มันหงุดหงิด มันไม่ชอบ นั่นมันก็รู้ได้แล้ว บอกว่า อ๋อ! เรานี้ไม่ถนัดในการเดินจงกรม ฉะนั้น ไม่ถนัดในการเดินจงกรมนั้นเราก็แขวนไว้ การเดินจงกรมเราก็เก็บไว้ เก็บไว้เป็นอิริยาบถ ๔ อิริยาบถ ๔ มันเป็นอาวุธของพวกเราไง

หลวงตาท่านสอนนะ จะสู้เสือด้วยมือเปล่าใช่ไหม ไม่มีอะไรไปสู้เสือเลยหรือ จะสู้เสือมันก็ต้องมีอาวุธไปสิ

นี่ก็เหมือนกัน อิริยาบถ ๔ เวลาเรานั่งจนเมื่อยแล้วเพลียแล้ว เราก็ลุกไปยืน ลุกไปเดิน มันเป็นอิริยาบถ ๔ เอาไว้ให้เราผ่อนคลาย เอาไว้ให้เรา การภาวนาของเรามันสืบต่อต่อเนื่อง เราเก็บไว้ตรงนั้นไง เราเก็บไว้ ไม่ใช่ว่าเราปฏิเสธไม่ทำเลย นี่มันเป็นสมบัติของเราไง มันเป็นสมบัติของเราว่า ถ้าเราภาวนาอย่างนี้แล้วมันติดขัด ภาวนาอย่างนี้แล้วไม่ได้สมความปรารถนา เราก็เปลี่ยนอิริยาบถไปเดินจงกรม เดินจงกรมเสร็จแล้วเราก็กลับมานั่ง เรานั่งเสร็จแล้วเราก็ไปยืน ยืนก็ได้ เพียงแต่ว่ามีสติ มีสติประคองจิตตลอด

นั่งภาวนาพุทโธๆ จิตสงบแล้ว หรือจิตมันถอนออกมา ถอนออกมาลุกขึ้นแล้วเดินไปเข้าทางจงกรม เรากำหนดจิตของเราตลอดไป พอเข้าทางจงกรม เท้าก็ก้าวไป เราก็กำหนดของเราไป เป็นการกำหนดของเรา เป็นการใช้ปัญญาของเรา ในทางจงกรมนั่นแหละ มันต่อเนื่อง ไอ้นี่คนภาวนาแล้วจะถนัดแล้วจะเข้าใจได้เลย ยืน เดิน นั่ง นอน ต่อเนื่องได้เลยทั้งวันๆ

เพราะที่เขาถามนี่ วันๆ พระทำอะไร

๒๔ ชั่วโมงก็ภาวนานี่ไง ภาวนา ๒๔ ชั่วโมงเลย นั่ง นั่งเสร็จแล้วลุก ลุกเข้าทางจงกรมแล้วตั้งสติไว้ ประคองจิตไว้ เข้าทางจงกรมไปแล้วก็เดินต่อเลย เวลาลงจากทางจงกรม ถ้าเท้ามันเลอะจะล้างเท้าก่อน ไม่ล้างเท้าก่อนนะ นั่งเลย นั่งต่อเนื่องกันไป นี่ต่อเนื่องอย่างนี้

นี่พูดถึงว่า การเดินทุกครั้ง การภาวนาทุกครั้งต้องเดินจงกรมหรือไม่ เพราะได้ยินครูบาอาจารย์บอกมาอย่างนั้น

อันนี้เป็นอิริยาบถ ๔ เป็นความถนัด จะเอาความถนัดของคนคนหนึ่งไปให้อีกคนคนหนึ่งฝึกหัดไม่ได้ การถนัดของคนคนหนึ่งเป็นของคนคนนั้น แล้วถ้าเราปฏิบัติ เราก็ค้นหาความถนัดของเราเอง อะไรที่มันปฏิบัติแล้วมันสมบูรณ์ ปฏิบัติแล้วมันคล่องตัว นั้นน่ะคือทางของเรา

ก็มีคนไปถามหลวงตาประจำ “หนูปฏิบัติอย่างไรดีคะ หนูปฏิบัติอย่างไร”

ท่านบอกว่า “ถ้ากำหนดแล้วมันโล่งๆ สบายๆ ของเราทั้งนั้นน่ะ” นี่หลวงตาท่านสอนอย่างนั้น

นี่พูดถึงว่า “จำเป็นต้องเดินจงกรมหรือไม่”

เราจะบอกว่า ถ้าคนถนัด จำเป็น ถ้าคนไม่ถนัด เอาไว้เป็นอิริยาบถ เอาไว้เวลาผ่อนคลาย เอาไว้ในการปฏิบัติต่อเนื่อง เราไม่ใช่ปิดประตูตายว่าเราต้องทำหน้าเดียวแล้วทำอย่างอื่นไม่ได้อีกเลย เอาไว้เวลาผ่อนคลาย แต่เอาความถนัดของตนเป็นตัวตั้ง เอาความถนัด เอาความมุมานะนี้เป็นตัวตั้ง

ฉะนั้น “ผมไม่ค่อยเดินเกี่ยวกับการรู้ธรรม”

การรู้ธรรม ตอนนี้ถ้ามันคิดอย่างนี้ไปแล้ว เวลาบอกว่าถ้าเกี่ยวกับการรู้ธรรม มันเป็นความเข้าใจของคนถามหรือไม่ ว่าที่เขาเดินจงกรมในฝ่ายที่ว่าเขาต้องรู้ตัวทั่วพร้อม เขาใช้ปัญญาของเขา นั่นคือการรู้ธรรม...ไม่ใช่ ไม่ใช่

การรู้ธรรมมันต้องศีล สมาธิ ปัญญา การรู้ธรรมต้องจิตสงบแล้วจิตเกิดภาวนามยปัญญา ปัญญาที่รู้ธรรม มันอยู่ในอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน ได้ทั้งนั้น

นอนๆๆ นอนภาวนานะ ไม่ใช่นอนหลับ นอนหลับภาวนาไม่ได้ ฝันก็ภาวนาไม่ได้ มันต้องกิริยานอน แต่ใจไม่ได้นอน ใจสว่างโพลง ใจตื่นอยู่ แล้วใจพิจารณาอยู่ในอิริยาบถนอน แต่น้อยนัก ทีนี้กรรมฐานเรา ครูบาอาจารย์ส่วนใหญ่ท่านจะสอนยืน เดิน นั่ง นอนท่านบอกเก็บไว้ ไม่ต้องไปใช้มัน เพราะนอนก็หลับทุกที ถ้านอนเดี๋ยวก็หลับ

ฉะนั้นบอกว่า การเดินก็เกี่ยวกับการรู้ธรรม

ถ้าการเดินเกี่ยวกับการรู้ธรรม เราจะไปผูกว่าการรู้ธรรมต้องอยู่ในอิริยาบถเดินอย่างเดียวหรือ การรู้ธรรมมันอยู่ในอิริยาบถนั่งก็ได้ ในอิริยาบถยืนก็ได้ ในอิริยาบถเดินก็ได้ ในอิริยาบถนอนก็ได้ อิริยาบถ คำว่า “อิริยาบถ” คือกิริยา ไม่ใช่ความจริง

ความจริงคือจิต ความจริงคือภาวนามยปัญญา ความจริงคือมรรค ความจริงคือปัญญาที่มันหมุนนั้น ความจริงที่ปัญญาที่หมุนนี้มันอยู่ในอิริยาบถใด คนเดิน ในอิริยาบถเดิน ปัญญามันหมุนของมันอยู่ นั่นก็คือมรรค เวลานั่งอยู่นี่ กายนั่งอยู่นี่ แต่ปัญญามันหมุนของมันในจิต ปัญญาหมุนติ้วๆๆ นั่นก็คือมรรค การยืน อยู่ในอิริยาบถยืน ถ้าจิตมันหมุนอยู่ จิตมันหมุน ศีล สมาธิ ปัญญานะ ปัญญามันมีศีล มีสมาธิมาเป็นตัวหนุน เวลามันเกิดปัญญาขึ้นมา โอ้โฮ! มันสว่างของมันไปหมดน่ะ ไม่ใช่ความจำของเราอย่างนี้

นี่พูดถึงว่า การรู้ธรรมๆ เพราะคำถามไง พออ่านคำถาม เราถึงว่าคนถามเข้าใจผิด เข้าใจผิดว่าการเดินนั้นคือการเดินรู้ธรรม

ถ้าอย่างนี้ไม่ได้เดินก็ไม่รู้น่ะสิ การเดินรู้ธรรม เดินรู้ธรรมก็นี่ไง มันเป็นโวหารไง โวหารของสำนักปฏิบัติบอกว่ามันต้องปฏิบัติ การรู้ธรรมก็ต้องใช้ปัญญา ปัญญาการรอบรู้

รอบรู้อย่างนั้นนั่นคือสัญญาทั้งนั้น ท่องจำมา ท่องจำพุทธพจน์แล้วมาตีความเอา การท่องจำมาคือการเราไปเก็บข้อมูลมาแล้วมาขยายความในทางจงกรมเท่านั้นน่ะ

อันนี้ถ้าเป็นการปฏิบัตินะ เขาเรียกปัญญาอบรมสมาธิ คือว่าเราคิดเองไม่ได้ เราคิดเองไม่ได้ เราก็ไปเอาบาลี เอาคำถามมา แล้วเรามาเป็นหัวข้อ แล้วเราใช้ปัญญาใคร่ครวญ นี่คือปัญญาอบรมสมาธิ เพราะมันใช้ปัญญาใคร่ครวญ พอมันปล่อยหมด ปล่อยหมดก็เหลือจิตไง ถ้าเป็นสัมมาสมาธินะ ถ้าคนที่ปฏิบัติโดยสัมมาทิฏฐินะ

แต่ถ้าคนที่ปฏิบัติโดยมิจฉาทิฏฐิความหลงผิดนะ มันไปเอาธรรมของพระพุทธเจ้ามาวิเคราะห์ พอวิเคราะห์ พอมันเข้าใจแล้ว เออ! บรรลุธรรม

บรรลุธรรมของพระพุทธเจ้าใช่ไหม ก็เอ็งไปเอาของพระพุทธเจ้ามาวิเคราะห์ เอ็งไม่ได้เอาของเอ็ง เพราะเอ็งไม่เห็นตามความเป็นจริง เอาบาลีมาตั้ง เอาหัวข้อมาตั้ง แล้ววิเคราะห์ วิเคราะห์เสร็จ เข้าใจ เข้าใจแล้วอะไร วิเคราะห์ธรรมะพระพุทธเจ้าไง เราก็ไปดูบัญชีคนอื่นไง ขอดูบัญชีหน่อยตัวเลขเท่าไร อู้ฮู! เงินเยอะ แต่ไม่ใช่ของเรา ของเจ้าของบัญชีนั้น

นี่ก็เหมือนกัน การเดินรู้ธรรม เขาบอกว่า “ผมไม่ค่อยได้เดินเกี่ยวกับการรู้ธรรมหรือไม่ หรือว่าการเดินให้เห็นรูปนามชัดเจนขึ้น”

การเดินก็คือการเดิน การปฏิบัติมันต้องมีสติ ถ้ามีสติแล้วกำหนดพุทโธก็ได้ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิก็ได้ จิตสงบแล้วฝึกหัดใช้ปัญญา ฝึกหัดใช้ปัญญา ฝึกหัดใช้ไปเดี๋ยวจะรู้เอง พอฝึกหัดใช้ไปนะ เพราะปัญญามีหยาบ มีกลาง มีละเอียด ปัญญานี่ เพราะปัญญาอย่างหยาบๆ มันก็จับ ตื่นเต้นนะ ถ้ามันละเอียดเข้าไปนะ โอ้ๆๆ ร้องโอ้ๆ เลยล่ะ เพราะรสชาติ

เพราะเวลาคนที่ฝ่ายอภิธรรมเขาบอกเขาใช้ปัญญาๆ มา

เราพูดบ่อย ให้เขาพุทโธก่อน เขาไปพุทโธแล้ว พอเขาฝึกหัดใช้ปัญญาเขาบอกว่า โอ้โฮ! มันต่างกัน

เห็นไหม มันจะต่างกันโดยรสชาติ รสของธรรม รสของสติ รสของสมาธิ รสของปัญญา รสของมรรคญาณ รสชาติมันจะชัดเจนมาก แล้วคนไม่เคยรู้รสเลย ก็เหมือนเราไม่เคยกินอาหารเลย ไม่รู้จักรสชาติมันเลย แล้วก็พูดธรรมะไปเรื่อยเฉื่อยนะ แต่ถ้ามันมีรสมีชาติขึ้นมา มันจะรู้เลย อ๋อ! ไอ้ที่เราเข้าใจอยู่ๆ มันไม่ใช่ มันไม่ถูกทาง ถ้าถูกทางมันจะมีรสชาติอย่างนี้

รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง รสของสติธรรม รสของสมาธิธรรม รสของปัญญาธรรม รสของมรรค มรรคสามัคคี ศีล สมาธิ ปัญญารวมกัน ศีล สมาธิ ปัญญาส่งเสริมกัน สมดุลพอดีต่อกัน หมุนไป เข้าไป เข้าไปชำระล้างกิเลส อย่างนี้ถึงเป็นภาวนามยปัญญา ถึงจะเป็นวิปัสสนา วิปัสสนาคือปัญญารู้แจ้ง รู้แจ้งในอวิชชา รู้แจ้งในความไม่รู้ของตน ถ้ามีความรู้แจ้งอันนี้มันจะเป็นความจริงไง

แต่จะบอกว่าถ้าเป็นการเดินเพื่อให้เป็นการรู้รูปนามชัดเจนขึ้น

อันนี้คือปัญญาแบบผู้ฝึกหัดไง ปัญญาแบบผู้ฝึกหัด เราก็ฝึกหัด เราผู้ฝึกหัดใหม่ เราก็คิดของเรา เราก็จินตนาการของเรา อันนี้เป็นความคิดของผู้ที่ฝึกหัดใหม่นะ นั่นพูดถึงผู้ฝึกเดิน ผู้หัดเดิน

ไอ้นี่เป็นก้าวแรก ก้าวแรกของการปฏิบัติ พอก้าวแรกเราจะก้าวเดินของเรา ก้าวแรกหรือก้าวเดินไปแล้วมันก็จะมีปัญหา ถ้ามีปัญหาขึ้นไป เพราะการปฏิบัติที่หวังพึ่งครูบาอาจารย์ก็ตรงนี้ ถ้ามันไม่มีสิ่งใดเลยเราก็ฝึกหัดของเราไป ถ้ามันพอมีสิ่งใดที่ข้องใจ สิ่งใดที่แก้ไขไม่ได้ เราก็ไปหาครูบาอาจารย์ของเรา ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ของเรานะ เราข้องใจ เราแก้ไขของเราไป

กรณีอย่างนี้ เวลาหลวงตาท่านพูด กับเราเวลาปฏิบัติแล้วมันเหมือนกัน เหมือนกันที่ว่า ถ้าเราข้องใจเรื่องอะไรขึ้นมา มาเดินจงกรม ใช้ปัญญาใคร่ครวญอยู่นั่นน่ะ ๒ วัน ๓ วันกว่าจะปลดประเด็นในใจเรื่องหนึ่งๆ

หลวงตาท่านพูดเอง ถ้าเราแก้ไขเองนะ อย่างน้อย ๒ วัน ๓ วัน ถึงบางทีแก้ไม่ได้เลย ติดใจไปอยู่อย่างนั้นน่ะ แต่พอไปหาหลวงปู่มั่น ผัวะ! หลุดเลย ผัวะ! หลุดเลย ไม่ต้องเป็นวันๆ นะ แค่โดนธรรมะทิ่มเข้าไปทีเดียวมันแทงใจเลย

เหมือนกัน เวลาหลวงตาท่านพูดอะไรนี่ แหม! มันซึ้ง เพราะกูก็โง่อย่างนี้ กูก็โง่อย่างนี้ กูก็โดนอย่างนี้ล่อกูมานาน เวลาเราสงสัยเรื่องอะไร เรามีประเด็นในใจขึ้นมา เดินจงกรมไปเถอะ ใคร่ครวญ คิดแล้วคิดอีก พิจารณาของเราไปเรื่อย ๒ วัน ๓ วันยังแก้ไม่ได้

ถ้าเวลามีครูบาอาจารย์ สังเกต เราฟังเทศน์ไหม ฟังสิ ๑๐๓.๒๕ เวลาหลวงตาท่านพูดคำไหนมามันสะเทือนใจน่ะ ผัวะ! ผัวะ! ถ้าฟังเทศน์ที่มีธรรมจะเป็นอย่างนั้น

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่ว่าวิปัสสนาการรู้แจ้ง รู้แจ้งอย่างไร ที่บอกว่าเห็นนามรูปๆ นามรูป เมื่อวานก็มาพูดบอก แหม! จิตเขาเห็นตลอด

ไม่เชื่อ เห็นโดยอุปาทานเห็นได้ทั้งนั้นน่ะ ถ้าเห็นโดยอุปาทาน เราบอกเลยนะ เหมือนกับพวกเสพยาบ้า ไอ้พวกเสพยาบ้าจนหลอนน่ะ มันเห็นคนจะมาทำร้ายมันนะ ไอ้เสพยาบ้าเสพหนักๆ เข้าจนหลอนเลย อยู่ด้วยตัวคนเดียวไม่ได้ วิตกกังวลคนอื่นจะมาทำร้าย ต้องไปทำร้ายคนอื่นก่อน นั่นน่ะขาดสติไง

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน “เห็นกายๆ”...เสพยามากี่เม็ด เอ็งเสพยามากี่เม็ดวะ

ถ้ามันเห็นความจริงมันไม่เห็นอย่างนั้น คนเห็นกายนะ โอ้โฮ! การเดิน การเหยียด การคู้ สติจะพร้อม พอจะพร้อม เวลามันพิจารณาของมันนะ เพราะอะไร เพราะมันระวัง เพราะการเห็นนั้นน่ะ โอ๋ย! มันไหวนี่มันหลุดเลย ต้องระวัง

ไอ้นี่เหมือนคนบ้าเดินไปเดินมา เห็นกายตลอดเวลา เอ็งเสพยาบ้ากี่เม็ด

นี่ก็เหมือนกัน ย้อนกลับมาว่าเห็นนามรูปชัดเจน ชัดเจนอย่างไร ถ้าเห็นอย่างนั้นชัดเจน เราจะบอกว่ามันเป็นทฤษฎีทั้งนั้น มันเป็น ว่าพุทธพจน์ๆ เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งนั้น แล้วท่องจำกันมา แล้วพยายามทำให้เหมือน ไม่เหมือนหรอก ก็เป็นอย่างนี้

แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ของเรานะ อย่างที่ว่า เวลาหลวงตาท่านไปหาหลวงปู่มั่น “มหา มหาเรียนธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามานี่ประเสริฐมากนะ สูงสุด เราเทิดใส่ศีรษะไว้ แล้วใส่ในลิ้นชักสมองไว้ แล้วลั่นกุญแจมันไว้ แล้วเราฝึกหัดภาวนาไป ถ้าถึงที่สุดแล้วมันจะเป็นอันเดียวกัน”

คำสอนพุทธพจน์น่ะของจริง แล้วเราปฏิบัติตามความเป็นจริงขึ้นไปแล้วนะ โอ้โฮ! มันซาบซึ้งมาก ชื่อมันก็ใช่ ตัวมันก็ใช่ ความรู้ก็ใช่ ใจเราก็ใช่ มันใช่ไปหมดเลย มันไม่มีอะไรโต้แย้งเลย มันไม่มีอะไรสงสัย มันไม่มีอะไรที่สามารถที่จะทำให้เราลังเลได้เลย ถ้ามันใช่

แต่ถ้ามันจำมามันไม่ใช่ เสพยาบ้ามาหลายเม็ด หลอนไปหมดเลย แล้วหลอนแล้ว คิดดูสิ คำว่า “หลอน” ตัวเราทั้งตัวใช่ไหม เห็นกายๆ แต่มันหลอนไปหมดเลย รู้รูปนามชัดเจนใช่ไหม ชัดเจนอย่างไร ชัดเจนอย่างไร

อันนี้เราพูดถึงผู้ที่ปฏิบัติ เพราะว่าคนที่เป็นอย่างนี้แล้วมาปรึกษาเราเยอะ แล้วเราจะบอกว่า ให้กำหนดพุทโธอย่างเดียว หรือกำหนดลมหายใจ

แต่ส่วนใหญ่แล้วเขาคิดว่าพวกนี้เป็นสมถะ มันต่ำทราม มันต่ำช้า มันไม่ใช้ปัญญา แต่ปัญญาของเขานี่สัญญาทั้งนั้น โวหารทั้งนั้น ไม่มีสิ่งใดเป็นจริงเลย แล้วก็มีทิฏฐิมีตัวตนอีกตัวหนึ่งต่างหาก มันก็เลยกลายเป็นทิฏฐิมานะในใจ ถือว่าตัวเองก็รู้ว่าแน่ แต่ความจริงไม่รู้อะไรเลย แล้วมันแบบกำกวมในใจ อู๋ย! ทำหน้าชื่นอกตรม เพราะมันกำกวม ความคิดอย่างหนึ่ง อารมณ์อย่างหนึ่ง ธรรมะพระพุทธเจ้าอย่างหนึ่ง แล้วก็ทิฏฐิมานะก็อย่างหนึ่ง โอ้โฮ! ผู้ปฏิบัติธรรมๆ

แต่ครูบาอาจารย์เราไม่เป็นอย่างนั้น ครูบาอาจารย์เราให้หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ ทำความสงบของใจให้เข้มแข็ง ใจเข้มแข็งแล้วฝึกหัดโดยสุภาพบุรุษ ถ้ามันเห็นของมัน สะเทือนกิเลสทันที พอสะเทือนแล้วนะ จับให้ได้ แล้วพิจารณาไป พิจารณาให้เป็นไตรลักษณ์ คือมันทำลายตัวมันเอง พอมันทำลายตัวมันเอง แล้วใครเป็นคนไปรู้เห็นการทำลายนั้นมันจะปล่อยวางอย่างนั้น นี่พูดถึงว่าถ้าเห็นจริงเป็นแบบนี้

ฉะนั้นบอกว่า เป็นการนั่งหรือการเดิน ความถนัดของมัน นี่พูดถึงก้าวแรกของการปฏิบัติเป็นอย่างนี้ ก้าวแรกของการปฏิบัติ เห็นไหม เพราะเราเป็นฆราวาส เราเป็นปุถุชน เราจะมีความรู้สึกนึกคิดด้วยวิชาการ เวลาเราไปศึกษาธรรมะมันก็เป็นมุมมอง เป็นทัศนคติของวิทยาศาสตร์ที่จะไปจับต้องวินัย จับต้องธรรมมาใคร่ครวญ มันก็เลยเป็นอย่างนี้ไง

แต่ถ้าเราพุทโธ หายใจเข้า หายใจออก แล้วใช้กำหนดลมหายใจเข้าหายใจออก ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าจิตมันสงบแล้ว จิตสงบตามข้อเท็จจริง ตามจริตนิสัย ตามอำนาจวาสนาที่ปฏิบัติ มันไม่เป็นวิทยาศาสตร์

วิทยาศาสตร์นี่คิดเลยนะ ศึกษามาแล้วพุทธพจน์ตายตัว แล้วจะปฏิบัติให้เป็นอย่างนั้น มันก็เลยเป็นอุปาทาน จะเป็นก็ใช่ จะไม่เป็นก็ใช่ จะว่าไม่เป็นมันก็เห็น เห็นกาย เห็นกายเห็นอย่างไร เห็นกายด้วยการเสพยาบ้า มันไม่ได้เห็นกายโดยข้อเท็จจริง มันเป็นอย่างนั้นน่ะ ถ้ามันปฏิบัติจากเริ่มต้น เบสิกเริ่มต้นเรามา เราทำของเรามาไม่ชอบธรรม มันจะเป็นของมันขัดแย้งกันไปหมดเลย

แต่ครูบาอาจารย์ของเรานะ ท่านจะบอกว่า หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ทำความสงบของใจให้ได้ นี่เริ่มต้นด้วยชอบธรรมให้มันเป็นสัจจะเป็นความจริงตามธรรม สมาธิธรรม แล้วฝึกหัดใช้ปัญญามันจะเกิดวิปัสสนาขึ้นมา อันนั้นจะเป็นความจริงของเรา

นี่พูดถึงการนั่งหรือการเดิน ก้าวแรกของการเดินมันจะล้มลุกคลุกคลาน แต่พยายามฝึกหัดของเราให้เป็นทรัพย์สมบัติของเรา เป็นอริยทรัพย์ในหัวใจของเรา จบ

ถาม : เรื่อง “กราบที่หลวงพ่อเมตตาค่ะ”

กราบนมัสการหลวงพ่อค่ะ วันนี้ได้ฟังคำตอบที่หลวงพ่อได้เมตตาตอบข้อสงสัยของลูกที่เขียนมาถาม รู้สึกซาบซึ้งมากค่ะ ลูกเปิดฟังหลายรอบ ฟังแล้วแต่ละรอบมีความรู้สึกว่าได้คำตอบชัดเจนมากขึ้น เคยไปกราบหลวงพ่อหลายครั้ง และเคยได้ฟังที่หลวงพ่อเมตตาตอบปัญหาธรรมะที่คนอื่นถาม คงจะเป็นธรรมะชั้นสูงเกินกว่าที่ลูกจะเข้าใจ เพราะยังปฏิบัติไปไม่ถึงไหน (เหมือนเด็กเริ่มหัดใหม่) จะถามหลวงพ่อก็ไม่กล้า บอกตามตรงค่ะ กลัวหลวงพ่อมาก ในความรู้สึกว่าหลวงพ่อดุ ถ้าทำผิดพลาดอะไรคงจะโดนดุแรงๆ แบบไม่ไว้หน้า

ลูกไปหลายวัด แต่ไม่ได้ถามพระถึงแนวทางปฏิบัติที่เคยสงสัย เพราะบางครั้งก็ไม่มั่นใจว่าคำตอบที่ตอบมาจะถูกต้องหรือเปล่า แต่กับหลวงพ่อนั้นลูกมั่นใจว่าหลวงพ่อรู้จริง ทุกคำตอบที่หลวงพ่อตอบมาต้องถูกต้องแน่นอน แต่ก็ไม่กล้าเรียนถามเอง เปิดฟังที่หลวงพ่อเคยตอบคำถามคนอื่นก็ไม่มีคำถามเหมือนที่ลูกสงสัย หรืออาจจะหาไม่เจอ ตัดสินใจอยู่นานกว่าจะกล้าเขียนมาถาม หลังจากที่เขียนมาถามแล้วรอคอยว่าหลวงพ่อจะตอบเมื่อไหร่ วันนี้ลูกไม่มีคำถามเพิ่มเติมค่ะ

ตอบ : อันนี้พูดถึงว่าคำถามอันนั้น คำถามอันนั้นเขาถามเรื่องพุทโธ ธัมโม สังโฆ การบริกรรม ถ้าการบริกรรมแล้ว มันจะบริกรรมอย่างไร

เห็นไหม มันเหมือนกับที่หลวงตาท่านสอนไว้ ครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติไปนะ ผู้ที่เวลาการประพฤติปฏิบัติที่ยาก ยากอยู่คราวหนึ่งคือคราวเริ่มต้นนี่ แล้วจะยากอีกคราวหนึ่งก็คราวถึงที่สุด

คราวเริ่มต้นมันเหมือนคนฝึกงานๆ คนฝึกงานยังทำงานไม่เป็น ทำอะไรมันผิดพลาดไปทั้งนั้นน่ะ เวลาฝึกงานๆ พอทำงานเป็นแล้วมันจะก้าวเดินของมันไป

นี่ก็เหมือนกัน เขาบอกว่าเขาท่องพุทโธ ธัมโม สังโฆ ท่องอย่างนี้ได้หรือไม่ แล้วท่องไปแล้วมันจะไปเข้ากับทางโลกหรือไม่

ฉะนั้น เราถึงตอบไปบอกว่า จำขี้ปากหลวงตามา ท่านบอกว่า ถ้าขาดสติ การทำงานทุกชนิดถ้าไม่มีสติ ถือว่าเป็นการปฏิบัติที่ไม่สมบูรณ์แบบ

การปฏิบัติใดก็แล้วแต่ ถ้ามีสติ ถ้ามีสติขึ้นมาแล้ว เราจะท่องอย่างที่เขาว่าไหม เขาบอกว่าเขาท่องจนบางทีเป็นเสียงเพลงเลย

โอ้โฮ! ท่องจนเป็นเสียงเพลงมันก็ท่องโดยสัญชาตญาณใช่ไหม ถ้ามีสติ เราถึงบอกว่ามันเน้นย้ำที่สติเลย ถ้ามีสติปั๊บ การท่องนั้นชัดเจนขึ้น

เวลาใครมาถามปัญหา มีปัญหามาร้อยแปดเลย

คำตอบเรา พุทโธชัดๆ พุทโธชัดๆ ถ้าคำว่า “ชัดๆ” สติมันสมบูรณ์ไง ถ้าไม่มีสติมันจะชัดไหม

ตอนนี้โดยทั่วไปครูบาอาจารย์บอกว่าตั้งสตินะ สติคือความระลึกรู้ คือให้รู้ตัว คือสติระลึกรู้ๆ แล้วก็ท่องพุทโธ ท่องพุทโธ แล้วมันก็มาเรียงเลย เรียงสติ เรียงคำบริกรรม เรียงเป็นชั้นขึ้นมาเลย

แต่ของเรา เราบอกว่า พุทโธชัดๆ ชัดๆ เลย

เพราะถ้าไปบอกสติ มันก็ต้องไปค้นคว้าก่อน สติมันคืออะไร สติมันเป็นตัวอย่างไร สติมันตัวอ้วนๆ หรือตัวผอมๆ แล้วมาพุทโธ พุทโธของพระพุทธเจ้าหรือพุทโธของเรา แล้วถ้าพุทโธพระพุทธเจ้าก็อยู่ในตำรา ถ้าพุทโธของเรา เราก็ท่องขึ้นมา อู๋ย! มันต้องไปวิเคราะห์วิจัยวิธีอีกครึ่งวันเลย

ถ้าบอกว่าพุทโธชัดๆ มึงไม่ต้องทำอะไรเลย พุทโธชัดๆ ถ้ามันพุทโธชัดๆ เห็นไหม แล้วพุทโธชัดๆ โอ้โฮ! มันเป็นยาพารา ใครเจ็บไข้ได้ป่วยให้พาราเลย พุทโธแก้ได้ทุกเรื่องเลย เพราะถ้าเรามีสติสัมปชัญญะ เราจะไม่ทำอะไรผิด

ธรรมะของพระพุทธเจ้านะ เวลาพระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด”

พวกเราทำงานผิดพลาดเพราะความประมาท ความเลินเล่อ ความไม่เอาไหน ความไม่ตั้งใจ แต่ถ้ามันมีสติสัมปชัญญะ มันพ้นจากความประมาท พ้นทุกๆ อย่างเลย ฉะนั้น พุทโธชัดๆ พุทโธชัดๆ

แล้วมีคนมาถามเยอะ เวลาเขามีปัญหาอะไร บอกพุทโธชัดๆ แล้วเรารอฟังข่าวเลย “หลวงพ่อ หายแล้ว” เดี๋ยวมาแล้ว “หลวงพ่อ ดีขึ้นเยอะเลย”

พุทโธชัดๆ เวลาเราพุทโธชัดๆ ของเรา เราพูดไปเหมือนกับเราขำอยู่คนเดียวนะ แต่มีคนที่ได้รับไปแล้วไปทำ แล้วจะกลับมาหาเรา “หลวงพ่อ หายแล้ว หลวงพ่อ ดีขึ้นแล้ว หลวงพ่อ มันสะดวกขึ้น” นี่จบเลย แต่ถ้ามันบอกไปนะ มันจะพูดไปร้อยแปดเลย

อันนี้ย้อนกลับมาคำถามก็เหมือนกัน คำถามเขาก็ถามมาอย่างนี้ บอกว่าเขาท่องอย่างนี้ เขาทำอย่างนี้ ถูกหรือไม่

เราก็ย้ำมาเลยว่า มันต้องมีสติสัมปชัญญะ

แล้วเวลาตอบ เขาบอกว่าคำถามนี้มันเป็นคำถามที่ว่าตอบเฉพาะเขาเอง เขาฟังแล้ว ฟังหลายรอบ รู้สึกว่ามันตอบชัดเจนมากขึ้นๆ แล้วเวลาเขาบอกว่าเขาเคยฟังเทศน์เวลาเราตอบปัญหาคนอื่นเยอะแยะเลย แล้วฟังไม่รู้เรื่อง ธรรมะที่คนอื่นถามคงจะเป็นธรรมชั้นสูง

ไม่ใช่ เวลาส่วนใหญ่แล้วเราตอบ ถ้าธรรมชั้นสูง คนปฏิบัติแล้วถ้ามันมีปัญหาขึ้นมามันเป็นขั้นของผู้ใช้ปัญญา ก็ตอบเรื่องปัญญา ถ้าเริ่มต้น อย่างเมื่อวานนี้ เมื่อวานก็ตอบอะไรนะ ฝึกเดิน “หัดเดิน” ก็นี่ วันนี้ก็มาเจออีก “ก้าวแรก” แล้วไอ้ขอบคุณมาก็อย่างนี้ เหมือนกันหมดเลย แต่มันเจอคนละประเด็นไง

แล้วเราบอกเลยนะ กิเลสนี่เป็นเจ้าวัฏจักร เวลามันสร้างมุก สร้างมุกขึ้นมาหลอกผู้ปฏิบัติมันก็เป็นอุปสรรคอย่างนี้ แล้วพอเราพุทโธชัดๆ พอเรารู้เท่าทันมัน เราแก้ประเด็นนี้ได้นะ ไอ้กิเลสนี้มันก็ไปหลอกแนวใหม่ ไอ้กิเลสตัวเดิมนี่

ทีนี้ไอ้คนฟังเขาบอก “ฟังธรรมะของคนอื่นมันเป็นธรรมะชั้นสูง หนูเลยฟังไม่รู้เรื่อง แต่พอของหนู หนูเลยเข้าใจ”

ไม่ใช่หรอก มันเป็นมุกที่เขาหลอกเอ็งอย่างนี้ไง พอบอกตรงมุก ตรงที่เขาหลอก มันก็ เออ! เข้าใจ แต่คนอื่นมันเป็นการหลอกมุกอื่นไง แต่กิเลสก็คือกิเลส แล้วเราจะบอกเลย คนที่ปฏิบัติไปมันมีอุปสรรค พอเราแก้อุปสรรคนี้จบ กิเลสนะ มันก็ไปสร้างเรื่องใหม่ มันจะมีปัญหาให้เราอยู่อย่างนี้ ให้เราแก้อยู่อย่างนี้

ฉะนั้น ตอนนี้เราใช้พุทโธชัดๆ พุทโธชัดๆ เราไม่ต้องไปยุ่งกับมัน เราทำความสงบของใจให้ใจมีกำลังก่อน พอใจมีกำลังก่อน พอมันมาหลอกเรื่องอะไรเรา คนมีกำลังใช่ไหม คนมีกำลัง คนมีสติ มันจะไปแก้ไขอะไรมันก็ชัดเจนใช่ไหม

ไอ้เรามึนๆ มึนๆ ตื่นมางัวเงียๆ แหม! ปัญญาเลิศ ไม่มีหรอก คนเราตื่นมาต้องชัดเจนน่ะ อันนี้เก็บไว้เข้าที่ก็เก็บไว้เข้าที่ซะ อะไรไม่ถูกต้องก็ทำให้ถูกต้องซะ

นี่ก็เหมือนกัน พุทโธชัดๆ พุทโธชัดๆ มันทำให้จิตมันตื่นตัว มีสติ ไม่อยู่กับความประมาท สิ่งใดเกิดขึ้นใคร่ครวญตามความเป็นจริง แก้ไปเรื่อยๆ แก้ของเราไปเรื่อยๆ แก้ของเราไป เดี๋ยวมันดีขึ้นๆ

ฉะนั้นบอกว่า สิ่งที่กิเลสมันหลอก มันเป็นมุก เดี๋ยวหลอกเรื่องนั้น เดี๋ยวหลอกเรื่องนี้ แต่ภาษาเรานะ เรารู้ เรื่องเดียวกันนั่นแหละ จะมากี่คนก็ถามกูเรื่องนี้ พุทโธชัดๆ พุทโธชัดๆ

นี่ไม่ได้แกล้งพูดนะ พอพุทโธชัดๆ ไป เราให้การบ้านไปทีละคนๆ จะกลับมาเลย “หลวงพ่อ ดีขึ้น หลวงพ่อ หายแล้ว” เยอะแยะ

แต่ไอ้คนอื่นฟังคิดว่าเราพูดเล่นนะ คิดว่าเราไม่รับผิดชอบ อะไรก็พุทโธชัดๆ เหมือนกับสูตรสำเร็จ ไม่รับผิดชอบอะไรเลย ใครมาก็โยนให้เขาอย่างนู้น โยนให้เขาอย่างนี้

แต่เรานั่งอยู่ที่นี่ คนที่เอาไปใช้แล้วกลับมารายงานผลเยอะแยะ เยอะแยะ ไอ้คนที่บอกว่าเป็นไอ้นู่นเป็นไอ้นี่ พอกลับมา “หลวงพ่อ ดีขึ้น หลวงพ่อ หายแล้ว หลวงพ่อ” เยอะแยะไปหมด

พุทโธชัดๆ เพราะอะไร

เพราะว่า เราปฏิบัติมา เรามีปัญหามา ถ้าปัญหามันเกิดขึ้นมาแล้ว เวลาแก้ไขมาก็อย่างที่ว่า ถ้าเรายังไม่รู้ เราก็แก้ไขทีละเรื่องๆ แล้วแก้ไขไป ๑๐ เรื่อง ๒๐ เรื่อง มันก็เรื่องเดียวกันนั่นน่ะ

แต่กว่าจะรู้ได้ กว่าจะรู้ได้มันต้องภาวนาไปจนเข้าใจรู้แจ่มแจ้งแล้ว อ๋อ! ถ้าอ๋อแล้ว เวลาตอบปัญหามันเหมือนไม่ให้คนไข้รู้ ถ้าคนไข้รู้ คนไข้มันรู้แล้ว มันก็อุปาทาน มันแก้ไม่หาย แต่ถ้าเราบอกมันโดยปัจจุบัน มันแก้ของมันได้ พอแก้ของมันได้ก็จบไง นี่พูดถึงว่าเวลามันรู้หรือไม่รู้ไง ถ้ารู้แล้วมันก็เข้าใจของมัน

ฉะนั้นบอกว่า สิ่งที่เขามาบอกแล้ว เขากลัวหลวงพ่อมาก ไม่กล้าถามอะไรเลย เพราะทำอะไรไปแล้ว เพราะกลัวหลวงพ่อจะดุแรงๆ แบบไม่ไว้หน้า

ไอ้ไม่ไว้หน้านี่ไม่หรอก ส่วนใหญ่แล้วคนมาถามปัญหา ถามแล้วถามเล่าเรื่องเก่า เราดุไปหลายคนมากเลย เวลาตอบปัญหาแล้ว มันเหมือนกับคนไข้ ให้ยาไปแล้วมันควรใช้ยาหรือเอายานั้นให้หมดก่อน ถ้ายานั้นมันใช้หมดแล้ว ถ้ามันไม่หายค่อยว่ากัน

ไอ้นี่ไม่อย่างนั้นน่ะ เดี๋ยวเรื่องนั้น เดี๋ยวเรื่องนี้ อย่างนี้ดุ ดุมาก ดุเหมือนคนที่ว่าไม่จริงไม่จัง ไม่เอาไหน ไม่ตั้งใจ นี่ดุ ถ้าเขาตั้งใจ เขาทำตามนั้น เพราะว่าทางวิทยาศาสตร์เวลาเขาให้ยาไปครบคอร์สเขาแล้ว ถ้ากินตามนั้นมันต้องหาย ถ้ามันไม่หาย เขาก็เพิ่มยาให้มากขึ้น

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ปฏิบัติน่ะ ถ้าจบแล้วมันต้องหาย ถ้าหายแล้วไม่ต้องถามปัญหานี้อีก แต่นี้เดี๋ยวก็ถามปัญหาเดิม เขียนมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า แสดงว่ามันเป็นปัญหาเก่า ปัญหาเก่าคือเรื้อรัง พอเรื้อรัง มันจะดุทันทีเลย

ไอ้จะดุนี่มันอยู่ที่เหตุผลว่า ไม่เอาไหน ไม่แก้ไข ไม่รักษาตัวเอง แล้วสำมะเลเทเมาอย่างนี้จะเป็นชาวพุทธได้อย่างไร สำมะเลเทเมาอย่างนี้ เราจะเป็นบริษัท ๔ ได้อย่างไร คนที่เป็นบริษัท ๔ เขาต้องตื่นตัวสิ อย่างนี้ดุ

นี่พูดถึงคำว่า “ดุ” นะ มันจะออกแล้วล่ะ

ไม่ดุหรอก แหม! เราโดนหลวงตาทุบมาหัวแบะมาตั้งกี่รอบแล้ว หลวงตายังไม่ดุเลย ยังชอบยังรักหลวงตาอีกต่างหาก ถ้าไม่มีหลวงตา ไม่ใช่เป็นเราหรอก เพราะหลวงตา เพราะอะไรรู้ไหม เพราะคนอื่นมันตอบไม่ได้

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน กลัวว่าหลวงพ่อดุแล้วดุแรงๆ แบบไม่ไว้หน้า

ก่อนจะดุแรงๆ กระซิบก่อน ทำอย่างนี้นะ อย่างนี้นะ ถ้ากระซิบแล้วมันยังไม่เอาก็พูดดังขึ้น แล้วถ้าดังขึ้นแล้วมันยังไม่เอานะ ทีนี้ดุต่อหน้าเลย

หลวงตาท่านบอกนะ มีพระ มีพวกโยมไปหาท่าน บอกหลวงตา หลวงตาจะสอนพระ อย่าฉีกหน้าพระต่อที่ธารกำนัลสิ

เพราะหลวงตาเวลาท่านดุพระจะดุกลางศาลาเลย

หลวงตาบอกว่า กลางศาลานี่พอดีเลย สมควรที่สุด เพราะมันดื้อ คุยกันตัวต่อตัวคุยกันมากี่ร้อยรอบแล้ว บอกมันมา บอกมันจนไม่เอาไหน ประจานมันต่อหน้าศาลาเลย

โธ่! คนอย่างหลวงตาต้องไปสอนหรือ แต่นี่พวกโยมใช่ไหม เรารู้แต่ปลายเหตุไง รู้แต่ตอนดุบนศาลา ไม่รู้หรอกว่าเขาสอนกันมาตั้งแต่กี่รอบแล้ว แล้วมันยังดื้ออยู่ไง ทีนี้ก็เชือดเลย เชือดกลางศาลาเลย

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ไอ้นี่บอกว่าดุๆ นะ บอกว่าไม่ดุหรอก แต่ดุ ดุคนที่หน้าด้าน คนที่ไม่เอาไหน คนที่ลองของ โดนแน่นอน

แต่ปัญญาชน คนรู้จักแก้ไข เราคุยกันเรียบๆ คุยกันก็จบ เราคุยกันได้ ปัญญาชน เราเป็นคนที่มีปัญญา เราไม่ใช่คนพาล แต่กิเลสมันพาล กิเลสมันหน้าด้าน นี้จะเอากิเลสต้องเชือด อันนี้พูดถึงว่าดุไม่ดุ

ฉะนั้นบอกว่า ไม่ดุหรอก แต่มันอยู่ที่กาลเทศะ อยู่ที่เหตุและผล ว่าอย่างนั้นเลยนะ จะบอกว่าไม่ดุหรือ แล้วไม่ดุก็ให้มันย่ำเล่นใช่ไหม ภาษาเรานะ เราไม่ค่อยอยากพูด กิเลสมันหยามนะ มันทั้งเหยียดหยามดูถูกดูแคลน กิเลสนี่ มันเหยียดหยามดูถูกดูแคลนว่ามันเก่ง แล้วมันก็เหยียบย่ำเขา กิเลสน่ะ ฉะนั้น ถ้ามึงทำอย่างนั้น เจอกูแน่นอน แต่ถ้าเป็นบัณฑิตมา ใครจะไปทำ ไม่ทำหรอก

แต่นี้พูดอย่างนี้ไปปั๊บ มันก็อยู่ที่กาลเทศะ อยู่ที่ข้อเท็จจริง จะบอกว่าไม่ดุ แล้วให้เขามาเหยียบย่ำใช่ไหม ให้เขามาหยามใช่ไหม

โธ่! เราอยู่ที่โพธารามนะ เรารับไม่ได้ อยู่ข้างในน่ะ คนมานั่งภาวนากันอยู่เต็มศาลา ฟังเทศน์อยู่ คนคนหนึ่งมาส่งเสียงแจ๊ดๆๆๆ แล้วพวกคนที่นั่งอยู่นี่ไม่ใช่คนใช่ไหม เป็นคนเฉพาะมึงคนเดียวหรือ แล้วมึงเข้ามาวัดกูทำไม ที่นี่เขาที่ปฏิบัติ เขานั่งปฏิบัติกันเต็มศาลา เอ็งมาจากไหน อย่างนี้เจอแน่นอน เพราะอะไร

เรารับไม่ได้ รับไม่ได้ที่ว่าเราปล่อยให้ปัญญาชน ให้คนปฏิบัติ ให้กิเลสมันมาเหยียบหัวเล่นอย่างนี้ แล้วผู้นำปล่อยให้กิเลสมาเหยียบหัวนักปฏิบัติ มึงทำอย่างนี้ได้อย่างไร เรานี่ใส่เลยนะ

ทีนี้เวลาคนเขาอยากจะอวด เขาอยากจะพูดอะไรต่อหน้าธารกำนัลให้คนเห็นค่า ก็ชอบพูดตอนมีคนไง ถ้าตอนมีคนน่ะ แต่ในมุมมองเราถือว่ามึงย่ำหัวเขา มึงเหยียดหยามเขา กิเลสมันพองตัวอย่างนั้นน่ะ เหยียดหยาม เยาะเย้ย เชือดเลย ไม่เอาไว้

นี่พูดถึงว่าดุไหม จะบอกว่าไม่ดุ บอกว่าไม่ดุปั๊บ มันจะเอาคำพูดวันนี้ ต่อไปใครก็เอาคำพูดนี้มาอ้างเลย หลวงพ่อห้ามดุนะ มันจะเย็บปากไว้ แล้วมันก็จะย่ำ ถึงบอกว่าอยู่ที่กาลเทศะ

นี่พูดถึงว่า ฉะนั้น เขาบอกว่า คำถามเขาถามมาอย่างนั้น วันนี้ไม่มีคำถามเนาะ เขาขอบคุณมา

ขอบคุณมาก็เรื่องของเขา เพียงแต่นี่เวลามันพูด เราจะพูดว่า สิ่งที่เราบอกว่ากิเลสมันไม่ใช่ของเรา อะไรไม่ใช่ของเรา เราจะแสวงหาของเรา แต่เวลาถ้ามันฟังแล้วมันเป็นของเรา เขาก็ภูมิใจ เขาบอกว่า เขาฟังแล้วฟังเล่า ฟังหลายรอบมาก หลายรอบเพราะอะไร หลายรอบเพราะเป็นปัญหาของเราไง แล้วหลวงพ่อตอบเราด้วย หลวงพ่อตอบเราตรงๆ นะ แหม! ฟังแล้วชื่นใจ ถ้าหลวงพ่อตอบคนอื่น ฟังแล้ว แหม! ไม่รื่นหูเลย

เขาฟังหลายรอบ ฉะนั้น อันนี้มันเป็นคุณประโยชน์ไง ภาษาเรา เขาบอกว่าเขาไม่กล้าเขียน กลัวมาก แต่พอถามแล้ว ได้รับคำตอบแล้ว เขาเลยปลื้มใจ ถ้าปลื้มใจแล้วมันก็เป็นบุญเป็นกุศล

เราจะบอกว่า ถ้าเป็นบุญเป็นกุศล มันเป็นประโยชน์ สิ่งใดที่เป็นบุญนะ พวกเรามันมีแต่บุญและบาปติดหัวใจเราไป เอวัง