ความไม่ประมาทในสังขารทั้งสอง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
เทศน์บนศาลา วันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๔๑
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
หัวใจของศาสนาคือหัวใจของผู้ปฏิบัติ ต้นไม้มีแก่น ต้นไม้มีกระพี้ ต้นไม้มีเปลือก ต้นไม้จะอยู่ได้ในป่า มีคุณค่า ป่านั้นมีคุณค่าก็ต้องต้นไม้ที่มีแก่น ป่านั้นถึงมีคุณค่าขึ้นมา อันนี้ป่าก็ต้องอาศัย ถ้าต้นไม้ใหญ่ยืนอยู่ต้นเดียว หรือต้นไม้ใหญ่น้อย ลมพัดมาต้นใหญ่ก็ล้ม อาศัยกัน แบ่งกัน ไปแล้ว อันนั้นก็บุญกุศลส่วนหนึ่ง
ทาน ศีล ภาวนา หลักของศาสนา ส่วนใดเป็นประโยชน์เราเอาหมด เราก็ทำประโยชน์นั้นแล้ว ตั้งแต่เช้ามาได้ทำทาน ได้ถวายทำบุญกุศล ได้เวียนเทียน เวียนเทียนนี้เป็นการเคารพด้วยดอกไม้ เห็นไหม ดอกไม้ธูปเทียน กับอาหารการกิน เห็นไหม ตอนเช้าเป็นอาหาร ถ้าคนเห็นเฉพาะวัตถุอันนั้นก็หลงแต่อันนั้น แต่บุญกุศล เพราะมันจะให้ใจอิ่มไง
ใจหิวกระหาย ใจหาเครื่องเกาะเกี่ยว ใจหาที่พักไง อันนี้พระพุทธเจ้าตรัสรู้ตรงนี้ ใจพระพุทธเจ้าอิ่มก่อน ใจพระพุทธเจ้าเต็มหมดแล้ว ไม่บกพร่อง แล้วถึงได้ประกาศ เป็นประโยชน์ตนเองแล้วถึงเป็นประโยชน์ผู้อื่นต่อไป นี่องค์ศาสดาองค์เอก เอกจริงๆ พระพุทธเจ้าเกิดได้องค์เดียวแต่ละกาลๆ แต่ก็มา อย่างกัปนี้ก็พระพุทธเจ้า ๕ องค์...เกิดได้องค์เดียวเท่านั้น ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้า ศาสนาไม่มีนะ
คิดสิ ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้า ไม่มีใครสามารถรู้ได้ จะรู้ได้โดยเฉพาะตนก็เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าเท่านั้น กับพระพุทธเจ้า แล้วพระพุทธเจ้ามีบารมีมากกว่าถึงได้วางพระพุทธศาสนานะ แล้วก็ห่วงพวกเรามาก มีเมตตาล้นมากเลย อยากจะให้ขนรื้อหมู่สัตว์ไป แต่คนไปไม่ได้เพราะเราไม่สนใจกันเองนะ เรา ฟังสิ ไม่ใช่พระพุทธเจ้า เพราะเราไง
อย่างเช่นวันจะปรินิพพาน ไปเทศน์ได้สุภัททะเป็นพระอรหันต์องค์สุดท้ายนะ แล้วก็พูดสอนนะ ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เป็นกาลสุดท้ายของเราแล้ว ใครต้องการสิ่งใดอยากรู้ต่อหน้าพระพุทธเจ้า ถามเถิด พระพุทธเจ้าล่วงไปแล้วจะเสียใจภายหลังไง พระเงียบเพราะต้องการฟังพระพุทธเจ้าพูดองค์เดียว เพราะธรรมประเสริฐ
จนไม่มีใครพูด พระพุทธเจ้าฝากไว้นะ ภิกษุทั้งหลาย พิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด แล้วจะเอาตัวรอดปลอดภัยได้
พิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด ห่วงขนาดนั้นนะ พิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด เราประมาทกันหรือเปล่า สังขารภายนอก สังขารภายใน
สังขารภายนอก เห็นไหม ร่างกาย นี่สังขารภายนอก พิจารณาด้วยความไม่ประมาทเถิด เราประมาทไหม? ประมาททุกคน ถ้าทางโลกเราว่าเราไม่ได้ประมาทเลย เรารักษาร่างกายเราอย่างเต็มที่ เรารักษาร่างกายเราอย่างปกติตามที่ว่าเขารักษากัน เห็นไหม นี่เรารักษา อันนั้นรักษาแบบหลง รักษาแบบไม่รู้เท่าไง นี่ถึงว่าเราไม่รู้เท่า เรารักษาประสาที่เรารักษา ถึงว่า เราถึงไปเป็นความประมาท ประมาทหมายถึงว่าเราไม่รู้ตามความเป็นจริง เราไม่เห็นร่างกายนี้เป็นตามความเป็นจริง
เราเกิดมาเรามีหัวใจ เรามีร่างกาย เราเกิดมาแล้วเราก็ตายไป ใช่ไหม เกิดมาใช้ชีวิตชีวิตหนึ่งอยู่แล้วก็ตายไป เหมือนกับผลไม้ ผลไม้อะไรก็แล้วแต่ ถ้าผลไม้ผลนั้นออกมา เราเก็บไว้จนผลไม้นั้นเน่าเสียไปนี่ได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา ได้ประโยชน์ไหม? ไม่ได้ ผลไม้นั้นออกมา แก่ เราต้องเก็บผลไม้นั้นไว้ใช่ไหม แก่ แล้วเราบ่มให้สุก แล้วเราต้องกินผลไม้นั้นใช่ไหม ถ้าเรากินเข้าไปเราจะได้รสจากผลไม้นั้น เราจะได้คุณค่าจากผลไม้นั้น เห็นไหม เราต้องกินเข้าไป เราต้องใช้ประโยชน์จากผลไม้นั้น ผลไม้นั้นจะมีประโยชน์ขึ้นมา
ร่างกายสังขารภายนอกก็เหมือนกัน เราเกิดมาแล้วเราก็ตายไปเหมือนกับผลไม้ไง เก็บรักษาจนเน่าจนเสียหายไปโดยไม่ได้ประโยชน์ ร่างกายขึ้นมา เราเป็นมนุษย์ขึ้นมา เราเกิดขึ้นมา แล้วเราก็ดำรงชีวิตอยู่แล้วก็ตายไป เห็นไหม ผลไม้ผลนี้ก็เสื่อมไปโดยไม่มีประโยชน์ แล้วเราว่าเรารักษาร่างกายเราตามความเป็นจริงไง หลงไหม? หลง หลงเพราะเราไม่เข้าใจ เราไม่รู้ เราถึงว่ามีโลภ มีโกรธ มีหลงอยู่ในหัวใจทุกๆ ดวงที่เกิด
พระพุทธเจ้าถึงได้เตือนไง จงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด ไม่ประมาทอย่างไร? ไม่ประมาทเพราะว่าเราไม่ลุ่มหลงไปในสิ่งที่หัวใจที่พาหลงไง เราไม่ได้ว่าเราหลงโดยธรรมชาติที่เราอยากหลงนะ แต่เราไม่รู้เท่า เราถึงหลง ถ้าคนรู้มันจะหลงได้อย่างไร คนรู้ต้องไม่หลง คนหลงต้องไม่รู้ แต่เราหลงเพราะเราเข้าใจตามความสมมุติ เข้าใจตามความเป็นจริงของทางโลกเขาไง ร่างกายต้องรักษาไปแล้วก็ตายไป เห็นไหม พระพุทธเจ้าสอนว่าให้พิจารณาตามความเป็นจริงที่มันต้องบุบสลายใช่ไหม แล้วให้หัวใจมันเข้าใจไง
ถึงว่า ถ้าเราพิจารณาโดยปกติของเรากัน เราพิจารณาโดยโลกียะ โดยความเห็นของโลก พระพุทธเจ้าถึงสอนให้ทำทาน ทำศีล สมาธิ...มีศีล ศีลเพื่อรักษาไม่ให้จิตใจมันฮึกเหิมเกินไป เรามีฮึกเหิมไหมในหัวใจเรา เราเคยสงบร่มเย็นไหม? ไม่เคยสงบร่มเย็น มันเคยหาเรื่องยุแหย่ในใจเราตลอดไป ไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่ง มันฟุ้งอยู่ตลอด แล้วเราก็คิดตามความคิด มันเริ่มต้นจากมันจุดประกายในหัวใจ แล้วก็เอาเบ็ดเกี่ยวจมูกเราก็ลากไป แล้วเราก็โดนลากไปตลอด ความคิดนั้นลากเรากระเสือกกระสนไปจนหนังนี่ไม่มีเหลือ เลือดซิบๆ นะ นี่เปรียบถ้าเป็นวัตถุ แต่นี่เราไม่เห็นตรงนั้น พอเราไม่เห็นตรงนั้นมันคิดไป เราก็คิดตามไปๆ เลยไม่เห็นว่ามันผิดตรงไหน
ผิด ผิดเพราะหัวใจไม่เคยสงบ หัวใจเราไม่เคยสงบ เราวิ่ง เราเดินอยู่ เราจะมองของสิ่งใดไม่ตามความเป็นจริง เพราะการเคลื่อนไหวของสายตาเรา เราเห็นภาพนั้นเลือนหมด ความคิดทางโลกียะก็เป็นอย่างนั้นน่ะ คิดจากเรานั่นล่ะ แต่คิดออกไปๆ...ไม่ได้ มันเป็นโลกียะ ความคิดเหมือนกัน สังขารเหมือนกัน แต่สังขารภายใน พระพุทธเจ้าถึงสอนให้ทำใจให้สงบไง เราถึงต้องทำสมถกรรมฐานกัน
ทำสมถกรรมฐานเพื่อให้ใจสงบ สงบจากแรงดึงดูดของโลก สงบจากแรงดึงดูดของไอ้ตัวพาคิดในหัวใจ ถ้ามันพาคิดอยู่ มันอาศัยความคิดแล้วก็พาคิดไปตามกิเลส ทำใจให้สงบก่อน ก็อาศัยความคิด แต่เป็นความคิดจากธรรม เห็นไหม พระพุทธเจ้ารู้ตรงนี้ พระพุทธเจ้ารู้ก่อนแล้วถึงวางแนวทางไว้ให้เราเดินตามไง
ถ้าใจสงบมันจะมีความสุขเกิดอันดับ ๑...ของที่ฟุ้งซ่าน ไฟที่เผาโลกอยู่นี่ เราดับไฟนั้น ไฟสงบลง พอไฟสงบลง ความร้อนไม่มี สิ่งที่เสียหายไม่มี เห็นไหม ความร้อนไม่เกิด มันไม่เผาผลาญ จิตที่สงบมันจะมีความสุขดูดดื่มมาก ดูดดื่มจากไฟมันเผาผลาญหัวใจสงบลง จะมีความสุข มีความดูดดื่มในการที่ใจนั้นสงบจากความคิด เพราะตัวหัวใจมีพลังงานอยู่ แต่ไอ้ความปรุงแต่ง ความไสออกไป ไอ้ที่ว่าเราวิ่งออกไป พอมันสงบเข้ามา ไอ้ความที่เกาะเกี่ยว ให้ลากเราจนเลือดซิบๆ มันไม่มี แต่มันก็ยังมีพลังงานอยู่ เพราะมันเป็นใจ มันเป็นธรรมชาติรู้ นี่ความสงบอันนี้ไง พระพุทธเจ้าถึงสอนให้พยายามทำใจให้สงบ
ก่อนจะทำใจให้สงบก็อย่างที่ทำกันมาเมื่อก่อนนี้ก่อนหน้านั้นแล้ว เหตุนั้นถึงจะทำให้เราสงบเข้ามาได้ ถ้าไม่มีเหตุนั้นเราก็คิดไปฟุ้งซ่านไปตามโลก อาศัยเหตุนั้นล้อมเราเข้ามาไง ถึงว่า ต้องมีศีล ศีลคือความปกติของใจ ความผิดศีลเกิดจากมโนกรรมก่อน เราจะทำสิ่งใดผิด เราเกิดจากใจคิดอยากทำ หรือทำโดยความพลั้งเผลอ เห็นไหม พอเริ่มมีศีล ศีลนั้นทำให้เราเป็นปกติ เราไม่ทำความผิดพลาดจากข้างนอก พอมีศีลเข้ามา เรากำหนดพุทโธๆ เข้ามา จิตใจที่มีศีลทำให้ใจนี้ไม่คิดฟุ้งซ่านออกไป เพราะมันมีขอบเขต แล้วกำหนดพุทโธซ้ำเข้าไปอีกๆ ให้ใจนี้สงบเข้าไปๆ ความสงบของใจนี่ความสุขเกิดขึ้น ความดูดดื่มเกิดขึ้น ความแตกต่างจากความคิดเดิมเกิดขึ้น
แต่เดิมเราคิดว่าเราถูกต้อง เราคิดไปตามประสาเราคิดหมดเลย แต่ความสุขอันนี้เกิดขึ้น เอ๊ะ! ความคิดแบบนี้มีด้วยเหรอ ความคิดที่คิดในตัวเองที่ไม่เกาะเกี่ยวออกไปภายนอกมีด้วยเหรอ นี่ความแปลกประหลาดจะเกิดขึ้นทันทีเลย สิ่งนี้พระพุทธเจ้าผ่านมาแล้วนะ ความแปลกประหลาดเกิดขึ้นแล้วก็ความตื่นเต้นเกิดขึ้น พอความตื่นเต้นนั้นเกิดขึ้น ยกขึ้น ยกขึ้นมาพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาท
พอจิตมันสงบมันไม่หมุนไปตามความคิด ความคิดเราเกิดมาต้องตาย ผลไม้ต้องเสียแน่นอน ผลไม้นี้ต้องเน่าต้องเสื่อมสภาพไปตามความเป็นจริง ทุกคนรู้แต่ทฤษฎี ทุกคนรู้จักความคิด ทุกคนรู้จักตำรา แต่ความเห็นจริงยังไม่เกิด ความเห็นจริง เช่น เวลาร่างกายเราเป็นไป หรือว่าญาติพี่น้องหรือคนใกล้ตัวเราเสียไป เราจะมีความไหวในหัวใจมากเลย เห็นไหม ถ้าความจริงเกิดมันจะสะเทือนเข้าไปถึงหัวใจ
ถ้าใจมันสงบขึ้นมา ยกกายขึ้นพิจารณา พิจารณาตามความเป็นจริงเป็นปัจจุบันธรรม การเห็นกายภายใน การเห็นผลไม้ภายใน เห็นไหม มันเป็นการเหมือนเราใช้ผลไม้นั้น เราได้ทำลายผลไม้นั้น หรือเราได้กินผลไม้นั้นเข้าไป จิตที่พิจารณาก็เหมือนกัน จิตที่เริ่มพิจารณากายน่ะ เหมือนกับเราใช้หินลับปัญญา เอาหัวใจ เอาปัญญานั้นลับลงที่กาย เห็นไหม นั่นเราจะใช้ประโยชน์ขึ้นมาน่ะ พิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด มันจะเห็นตามความเป็นจริงด้วยความไม่ประมาท
จากเดิมมีแต่ความประมาทนะ เราประมาท ประมาทมาก ประมาทเพราะความไม่รู้ เพราะความหลง ความหลงเพราะว่าสิ่งที่อยู่ในความคิดในหัวใจในกิเลสมันไสออกมา สิ่งที่เราทำอยู่นี้ย้อนกลับเข้าไง ต้องไปทำลายความเห็นผิดอันนั้น ความหลงอันนั้นให้เห็น ถ้าความหลงอันนั้นเบาบางลง แต่ความหลงอันนั้นไม่หายไป ไม่มีทางยอมแพ้
แต่เพราะความมุมานะ เพราะธรรมของพระพุทธเจ้า กิเลสมันกลัวธรรม กลัวความเป็นจริง กลัวความมุมานะของผู้ที่ปฏิบัติ หัวใจดวงที่เป็นขี้ข้าอยู่ใต้อำนาจของกิเลสนี่ไง แล้วใจดวงนี้ขึ้นมาต่อสู้ หัวใจของเราต่อสู้เพื่ออิสระของใจของเราเอง หัวใจของเราที่เป็นทุกข์อยู่นี้มันต้องหาทางออกจากความทุกข์ด้วยกิริยาที่ต่อสู้ด้วยตนเองไง พระพุทธเจ้าถึงบอกว่าเป็นอตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน
เราหิว เราต้องกิน เราจะอิ่ม เราหิว เราให้คนอื่นกินแทน เราได้แต่มองแต่ปากเขา เราก็หิวตลอดไป เห็นไหม ความคิดที่จะแก้ไขต้องเป็นแบบนั้น มันหิว มันหิวที่ใจ มันจะอิ่ม มันจะอิ่มจากใจเรา มันหลงมันก็หลงที่ใจเรา มันหลงเพราะเราไม่รู้ พอไม่รู้มันก็คิดไปตามประสาหลงนั้น
พอใจสงบ ความที่หลงนั้นมันเบาบางลง ความเห็นออกไป เราตั้งกายขึ้นมา จากภาพภายใน ตาธรรมนะ ตาใน ตาในเห็นกายตามความเป็นจริง ไม่ใช่ตานอก ไม่ใช่ตาเนื้อ ถ้าจิตสงบแล้วจะเห็นได้ ถ้าจิตไม่สงบมันเป็นสัญญา มันเป็นความคาดหมายทั้งหมด ความเป็นคาดหมายเหมือนเป้าหลอก เรายิงไม่โดนเป้า ถ้ามันเป็นตามความเป็นจริง เกิดขึ้นตามความเป็นจริงเป็นเป้าจริง
เพราะจิตมันติดตรงนั้น เป็นเป้าจริง พิจารณาตรงนั้น มันสลายตรงนั้น ความสลายลงไปตรงนั้น กายพังลงต่อหน้า กายที่พังลงต่อหน้า ความสลดสังเวช ทำไมเราหลงสิ่งนี้ มันจะเกิดความรู้ว่าทำไมเราหลงสิ่งนี้ไง เพราะสิ่งนี้เห็นตามความเป็นธรรม ธรรมตามข้างใน ธรรมจากการประพฤติปฏิบัติ ธรรมจากมรรคอริยสัจจัง ต้องเป็นผู้เห็นเอง
เกิดจากการเราไม่ประมาท เราไม่ประมาทคิดตามความคิดเดิม เราเชื่อในธรรมของพระพุทธเจ้า เชื่อในความเป็นจริงว่าสิ่งที่เกิดขึ้นได้ มันมีดำต้องมีขาว มันมีทุกข์มันต้องแก้ทุกข์ได้ มันมีความมืดมันต้องมีความสว่าง ความติดข้องของใจมันต้องแก้ได้ เห็นไหม ความติดข้องของใจที่ติดสิ่งนี้ต้องแก้ไขออกไปได้ทั้งหมด เพราะผู้ที่ผ่านพ้นไปแล้วมีนี่ มันจะมีสิ่งที่ก่อกวนขึ้นมาจากหัวใจว่า เป็นไปไม่ได้ ไม่มีอำนาจวาสนา สิ่งนี้ใหญ่เกินกว่าอำนาจของเรา สิ่งนี้ใหญ่มากจนเราแบกไม่ไหว...นี่มันเป็นการเสี้ยมออกมาจากไอ้ความลุ่มหลงภายในน่ะ
กิเลสนี้เป็นนามธรรม เกิดขึ้นจากหัวใจแล้วจะต่อต้านไปตลอดนะ การประพฤติปฏิบัติจะยากตรงที่กิเลสมันต่อต้าน จะยากตรงที่กิเลสมันคอยเสี้ยม คอยสอน คอยสอดออกมาแม้แต่ท่ามกลางการนั่งปฏิบัติอยู่นั้น นี่มันยาก มันยากตรงนั้น แต่ธรรมไม่ยาก เราไปเข้าใจว่าธรรมนี่ลำบาก...ไม่ ธรรมนี้ประเสริฐทั้งหมด น้ำที่สะอาดมีคุณทั้งนั้น ใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด ธรรมะพระพุทธเจ้านี่ใสสะอาด ออกมาจากพระเมตตาคุณของพระพุทธเจ้าทั้งหมดเลย มันเป็นคุณทั้งนั้น เพียงแต่กิเลสในหัวใจเรา กิเลสที่ตัวต่อต้านน่ะ กิเลสในหัวใจเราอันนั้นต่างหากที่มันไปทำสิ่งนี้ให้คลาดเคลื่อน
ฉะนั้น ถ้าเราเห็นตรงความคลาดเคลื่อนของกิเลสตัวนี้ เราจะมีกำลังใจไง เหมือนกับมีสิ่งที่เป็นไปได้ เราจะล้มต่อเมื่อว่าสิ่งที่เป็นไปไม่ได้หนึ่ง แล้วเราทำจนสุดความสามารถแล้วเราไม่ได้ผล ความที่ไม่ได้ผลของเรา เห็นไหม เรา ฟังสิ คำว่า เรา เราทั้งนั้น คนอื่นไม่มีคุณค่านะ ไม่มีคุณค่าสำหรับมาประพฤติปฏิบัติ จะมีคุณค่าต่อเมื่อเราไปปรึกษาหรือเราไปฟังธรรม ตรงนั้นมีคุณค่า แต่ขณะที่เราจะสู้กับกิเลส ต้องเราเท่านั้นเลย เราคนเดียว
เราเข้าท่ามกลางสนามรบ แล้วเราลงไปสู่สงครามน่ะ นักรบไม่ใช่นักหลบ รบอะไร? รบกับกิเลสของใจ รบกับความลุ่มหลงไง รบกับความที่ใจมันลุ่มหลงไปอยู่นี่ พอภาพที่เห็นพิจารณากายจนแตกสลายเห็นตามความเป็นจริง มันจะสลดสังเวช จะปล่อยออกจากความยึดมั่นถือมั่นของใจ ปล่อยทันทีนะ ปล่อย ถ้าเห็นตามความจริงแล้วจะปล่อย ปล่อยแล้วได้อะไรขึ้นมา? ปล่อยแล้วก็รู้เท่าตามความเป็นจริงน่ะ มันสอนใจให้ไม่หลงไง
ถ้าใจเริ่มไม่หลง มันจะเห็นกายเป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่กายนั้นก็คือเรา แต่กับเห็นยึดกาย หลงกาย อันนั้นทุกข์อย่างมาก กับเห็นกายนี้เป็นคุณประโยชน์ เห็นกายว่ากายนี้เราเกิดเป็นมนุษย์สมบัติแล้วเราได้ประพฤติปฏิบัติ เหมือนกับเห็นคุณค่าของผลไม้ไง เรากินผลไม้ เราได้ประโยชน์จากผลไม้ เราพิจารณากายตามความเป็นจริง เห็นค่าจากกายเพราะอะไร เพราะเรามีกายมีใจแล้วถึงได้มาประพฤติปฏิบัติ ถึงได้เป็นลูกศิษย์ตถาคตแล้วเดินตามพระพุทธเจ้าไง แล้วจนเห็นคุณค่าขึ้นมาตามความเป็นจริงอันนั้นน่ะ มันเป็นคุณค่ามหาศาลจากกายของเรานี้ ไม่ใช่หลงตามกายนี้
เดิมเราหลงตามกายนี้ เราก็โดนกายนี้จูงจมูกลากเราไปด้วยความทุกข์ เห็นตามความเป็นจริงนี้เราเห็นคุณค่าของการเกิดเป็นมนุษย์สมบัติแล้วพบพระพุทธศาสนา แล้วได้ประพฤติปฏิบัติ ประพฤติปฏิบัติจนมีคุณค่า ใจนี้เหนือกายไง ใจนี้เห็นกายเป็นบ่าวจริงๆ ไม่ใช่กายนี้เป็นนาย เดิมกายนี้เป็นนาย กายนี้สั่งเราทั้งนั้นนะ หิวก็ต้องหามาให้กิน เจ็บไข้ได้ป่วย มันสั่งทั้งหมด กายสั่ง กายเป็นนาย ใจเป็นบ่าว แล้วพลิกกลับจากธรรมโอสถ ธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นยาขนานเอกเข้าไปชำระความลุ่มหลงของใจนั้น ให้เห็นกายนี้เป็นบ่าว ใจนี้เป็นนาย
บ่าวทำให้นายเป็นประโยชน์ไหม เรามีบ่าว บ่าวนั้นก็ต้องให้มีคุณประโยชน์กับเจ้านาย เพราะให้เจ้านายสูงขึ้นๆ ร่างกายนี้ก็ส่งเสริมใจขึ้นมา เพราะเราพิจารณาตรงไปตรงนั้นอีก เห็นไหม เพราะการเกิดนี้เป็นวาสนา วาสนามาก เราเกิดเป็นมนุษย์ วาสนาจริงๆ เพราะการเกิดของใจนี้ธรรมชาติต้องเกิด เราปฏิเสธการเกิดไม่ได้เลย เราปฏิเสธไม่ได้ เราไม่สามารถปฏิเสธวัฏฏะ ไม่สามารถปฏิเสธความเป็นไป เช่น เกิดพายุหมุนหรือว่าเราอยู่ท่ามกลางพายุนั้น เราจะปฏิเสธพายุนั้นไม่ได้เลย กิเลสในหัวใจเรายังพาหมุนอยู่ เราปฏิเสธการเกิดการตายไม่ได้เด็ดขาด
แต่การเกิดการตายภพชาติปัจจุบันนี้เราได้ประพฤติปฏิบัติจนใจนี้เป็นนาย กายเป็นบ่าว ฟังสิ ทำไมจะไม่มีคุณประโยชน์ล่ะ มันเป็นคุณประโยชน์เพราะเราเกิดมาท่ามกลางไง เกิดมาพบพระพุทธศาสนา แล้วเราได้ประพฤติปฏิบัติ เราได้ทำตามความเป็นจริง เห็นตามความเป็นจริง เราพาใจพ้นขึ้นมาๆ
จากความเชื่อ จากความที่ว่าพระพุทธเจ้าเป็นห่วงมากนะ กลัวแต่พวกเราจะลงโอฆะ เราจะลงต่ำไปตลอด ถึงเตือน แม้แต่จะสิ้นลมก็ยังเตือน ยังเตือนตลอด ไม่ให้ประมาทๆ นี่เกิดขึ้นจากการไม่ประมาทในการดำรงชีวิต เกิดขึ้นจากความไม่ประมาทในการประพฤติปฏิบัติ
ในการประพฤติปฏิบัติ ถ้าประมาท กิเลสมันก็ยังเสี้ยมอยู่น่ะ เห็นไหม นี่ความไม่ประมาทถึงเป็นคุณไง เป็นคุณทั้งข้างนอก เป็นคุณทั้งข้างใน แล้วเป็นคุณตลอดไป ความไม่ประมาทแล้วมีปัญญา ปัญญาคุณ ปัญญาเป็นภาวนามยปัญญาเสียด้วย ไม่ใช่ว่าปัญญาในการสุตะที่การศึกษา การจำมา เห็นไหม สุตมยปัญญา จินตะ การคิดใคร่ครวญ ภาวนาจะเกิดไปเรื่อยๆ ยกขึ้นวิปัสสนา ต้องวิปัสสนาเท่านั้น ปัญญาเท่านั้นชำระกิเลส ปัญญาเท่านั้น ปัญญาเป็นการต่อสู้กิเลส
ถ้าเราไปจิตสงบแล้วไปเพ่งไว้เฉยๆ เห็นไหม การเพ่ง การดูอยู่ เป็นขันติ เป็นที่พักไง สมมุติว่าเราทำงานเหนื่อยมาก เราทำงานจนล้ามาก เราอาศัยขอพักไว้ก่อน นี่การเพ่งอยู่ การกำหนดจ่ออยู่ เป็นที่พัก ไม่ใช่เป็นการใช้วิปัสสนา วิปัสสนาคือฟันด้วยปัญญา ปัญญานี้เหมือนมีดคมกล้าไง ฟันเข้าไปทุกที่ ฟันเข้าไปๆ มันจะขาด มันจะละลายลงไปด้วยปัญญา ปัญญาวุฒิ
นั่นคือวิปัสสนา ยกขึ้นๆ ต้องยกขึ้น ต้องหมุน ต้องสับ ต้องเวียน ต้องเป็นผู้ที่ไม่ประมาท ฟังสิ ไม่ประมาทแม้แต่การใช้ปัญญา เพราะการที่ปัญญาฟันลงไปๆ กิเลสมันยุบยอบได้ มันหลบได้ มันเลี่ยงได้ มันบอกว่ามันสิ้นแล้ว มันหมดแล้ว มันทรุดลงไป
อาการของใจ อาการของความเป็นไปภายใน มันจะเวิ้งว้างนะ มันจะเวิ้งว้าง มันจะมีความสุข นั่นคือการคาดการหมาย กิเลสมันหลอก เราไม่เชื่อตรงนั้น เราใช้ปัญญาฟันเข้าไปๆ ฟันที่กายนั่นน่ะ พิจารณาตรงไหนก็หลุดตรงนั้นถ้าสมาธิพอ หลุดไปๆ จนถึงจุดหนึ่งแล้วมันจะเป็นไปตามความเป็นจริง กายสักแต่ว่ากาย จิตสักแต่ว่าจิต หลุดออกจากกันไป ทุกข์เป็นทุกข์ กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ความรู้เกิดขึ้นจากตามความเป็นจริง นี่ปัญญาวุฒิต้องไม่ประมาท ต้องไม่ประมาท...ซ้ำๆๆ การซ้ำคือการใช้ปัญญาฟันเข้าไปเรื่อยๆ ถึงว่า ไม่ตื่นกับความเวิ้งว้าง ไม่ตื่นกับความที่ว่า เพราะจิตนี้มันมหัศจรรย์ไง สิ่งใดๆ ในโลกนี้ไม่มีคุณค่าเท่ากับหัวใจ ไม่มีคุณค่าเท่ากับความรู้ เวลาทุกข์ถมเข้ามานี่มันเครียด มันทุกข์มาก เวลามันสุข อะไรมันจะสุขเท่ากับใจ
ทีนี้ ความสุขที่มันไปเสพ ไปเจอเข้านี่ เราไม่ใช้ปัญญาใคร่ครวญ ความประมาทนั้นทำให้เสียโอกาส ถึงให้ใช้ปัญญาไม่ให้ความประมาทเข้ามาแย่งชิงในวิธีการประพฤติปฏิบัติแม้แต่นิดเดียว ให้มันเป็นไปตามความเป็นจริงไง ปัจจัตตัง รู้จำเพาะตน ความเป็นปัจจัตตังนี้มันจะเป็นไปตามความเป็นจริง น้ำหนักเท่ากันทั้งหมดเลย ความมีน้ำหนักเสมอภาพทั้งหมด ภราดรภาพที่เขาว่ากันนั้นเป็นความหมาย แต่ความเข้าไปพบตามความเป็นจริง มันเป็นภราดรภาพ มันเสมอกัน มันเป็นไปจริง ปล่อยวางไว้ตามความเป็นจริงทั้งหมดเลย นั่นน่ะถึงว่าเป็นปัจจัตตัง อันนั้นไม่ถามใครไง ปัจจัตตังนี้ไม่ต้องถามใคร มันไม่มีความสงสัยแม้แต่เม็ดหินเม็ดทราย นี่มันผ่านไปๆ
จากความมุมานะ จากความตั้งใจจริงของเรา ของเราสิ เพราะการวิปัสสนาหรือการทำใจนี้มันเกิดขึ้นมาจากใจเป็นนามธรรมทั้งหมดไง ความเพียรชอบ การทำงานชอบ ลงอยู่ที่ใจทั้งหมด กิเลสมันอยู่ที่ใจ กายนี้เป็นภพชาติที่มันเสวยภพ กายนี้เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เราเสวยภพนี้ แต่ตัวจริงๆ แล้วมันอยู่ที่ใจ เพราะว่าภพนี้เวลามันสลัด เวลาเราตายไป กายอยู่ที่นี่ แต่หัวใจมันผ่านไปก็เอากิเลสไปด้วย เห็นไหม ถ้าเราสละลงที่ใจนั้น ใจนั้นเวลามันไป มันไปด้วยความสะอาด ที่มันชำระการเกิดการตายได้อยู่ตรงนั้นไง ชำระได้ด้วยธรรมอันนี้เท่านั้น ธรรมอันนี้เท่านั้นที่ชำระการเกิดและการตาย
แต่ถ้าการเกิดการตายโดยปกตินี้เกิดตายไม่มีวันที่สิ้นสุด จะเกิดและตายไปตลอด ตลอดไปถ้ายังประมาทอยู่ ถ้าไม่ประมาท ใคร่ครวญตามความเป็นจริง ต้องทำตลอด เห็นไหม การใคร่ครวญลงไปตรงนั้น จริงตลอดๆ อันนี้ต่างหากจะทำให้ตายเฉพาะชาตินี้
เกิดมานี้ต้องตายทั้งหมด นี่วันนี้พระพุทธเจ้าก็นิพพาน เห็นไหม ต้องตายทั้งหมด แต่ตายแล้วไม่เกิดอีก เกิดมาต้องตายหมด เกิดมาทุกคนตายหมด ตายแล้วต้องเกิดหมด เว้นไว้ พระพุทธเจ้า พระอรหันต์เท่านั้น ไม่มีเกิดอีกเลย นี่ดับสิ้นที่หัวใจ มันเป็นนายจริงๆ นายจริงๆนะ มีความสุขจริงๆ มีความสุขที่เป็นไปได้ มันมหัศจรรย์ขนาดนี้ก็มหัศจรรย์น่ะ
นี่ความลุ่มหลงจากสังขารภายนอก แล้วสังขารภายในล่ะ
สังขารภายใน เห็นไหม ความคิด ความปรุง ความแต่ง ก็สังขาร พระพุทธเจ้าพูดไว้เป็น ๒ นัยไง ภิกษุทั้งหลาย ต้องพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด จะตีเป็นสังขารร่างกายก็ได้ นี่ถ้าตีเป็นสังขารร่างกายก็พิจารณาตามสังขารร่างกายนี้ ถ้าคิดพิจารณาเป็นสังขารความคิดความปรุงความแต่ง ขันธ์ ๕ รูปคือกาย เวทนาคือความรู้สึกดีหรือชั่ว ทุกข์หรือสุข สัญญาคือความจำได้หมายรู้ ความจำได้หมายรู้เป็นตัวต้นของความคิด เห็นไหม ตัวมันแย็บขึ้นมาจากความคิดน่ะ
ความคิดมันเกิดมาจากไหน? ความคิดไม่มีเวลาเราอยู่เฉยๆ มันมาจากไหน? มันจรมา จรมาจากตัวเชื้อ ตัวสัญญา จำเมื่อวาน จำอดีต พอจำนี่ ถ้าอยากคิดก็คิด ไม่อยากคิดก็ไม่คิด ตัวอยากคิดคือสังขารไง สังขารคือความปรุงความแต่งจากตัวเริ่มต้นความคิด เห็นไหม สังขารเป็นนามธรรม สังขารเป็นความคิด พิจารณาสังขารไง
ขันธ์ ๕ รูป เวทนา สังขาร วิญญาณ
วิญญาณคืออารมณ์รับรู้ความคิด มันหมุนไปตามตลอด เห็นไหม อารมณ์รับรู้ไง อารมณ์หนึ่งเราคิดสีแดงสิ อารมณ์หนึ่ง คิดสีเขียวอารมณ์หนึ่ง คิดสีเหลืองอารมณ์หนึ่ง เห็นไหม วิญญาณรับรู้สีนั้นๆ ก็เป็นอารมณ์ร่วมอารมณ์หนึ่ง ความคิดก็หมุนไป เราคิดเรื่องอะไรมันจะต่อเนื่องๆๆ เพราะความคิดมันจรไปตลอด มันหมุนเป็นวงรอบๆๆ ของรูปหนึ่งๆๆ รูปของจิต นี่สังขารภายใน
สังขารภายในเป็นตัวลุ่มหลงไหม? ยิ่งกว่าลุ่มหลง มันเป็นเราทั้งหมดน่ะ เราเป็นคนผิด เราเป็นคนคิด เราทั้งหมด เห็นไหม เราทำอะไรเราเคยผิดไหม ถ้าเราทำนี่ไม่ผิด เพราะเราทำ นี่มันหลงเพราะมันไม่รู้ เพราะเป็นเรา ถ้าเป็นคนอื่นมันได้คิดแล้ว เป็นเรา เราผิด เราคิด เราถึงไม่ผิด เห็นไหม เราคิด เป็นเราทั้งหมด เราหมุนไป ถึงต้องให้ทำความสงบเหมือนกัน
ทำความสงบก่อน ทำความสงบให้เกิดความสงบ พอความสงบเกิดขึ้น นี่พิจารณาสังขารภายใน พิจารณาความคิดไง พิจารณาสังขารภายนอก พิจารณากาย พิจารณาเป็นวัตถุ จากวัตถุที่เป้าใหญ่ที่จับต้องง่าย พิจารณาสังขารภายใน พิจารณาความคิด ความคิดที่มันเครียด ความคิดที่มันเร่าร้อนนี่ ความเร่าร้อนเพราะเราคิดแล้วเราหลงไปตามความคิดนั้น สังขารตัวนี้ก็พิจารณาได้ พระพุทธเจ้าถึงว่า เป็นสังขารภายนอกและสังขารภายใน
สังขารภายนอก กาย
สังขารภายใน คือสิ่งที่เกิดขึ้น เกิดดับๆ เกิดดับๆ
เราเห็นว่ามันเกิดดับ มันเป็นนามธรรมจับต้องไม่ได้ เราก็เลยเป็นขี้ข้ามันตลอดไปไง เกิดดับๆ เวลามีปัญหา พุ่งออกแต่ข้างนอก พุ่งออกหาแต่สิ่งที่จะแก้ไขข้างนอก แต่ไม่เคยดับไอ้ความคิดตัวนี้ได้เลย ความคิดนี้เป็นแขกจรมา เรานั่งด้วยความสบายใจ เรานั่งด้วยความสุข ความคิดจะอยู่ไหม? ไม่มี แล้วเวลาเราเครียด เราโมโห หรือว่าเราคิดมาก มันมาจากไหน เวลามันดับ มันดับได้อย่างไร? มันดับโดยธรรมชาติของมันอยู่แล้ว ปกติมันคิดเดี๋ยวมันก็หยุด หยุดแล้วก็คิดใหม่ คิดแล้วก็หยุดอยู่อย่างนั้นน่ะ ไม่มีวันอิ่มวันพอ เพราะมันเป็นธรรมชาติของมัน เพราะเราไม่สามารถจับพิจารณาได้ เราไม่ได้เชื่อพระพุทธเจ้า เราไม่ทำความเป็นจริง
พระพุทธเจ้าบอกว่า พิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด
เราก็ดูสิ เวลาเกิดดับมาจากไหน พระพุทธเจ้าถึงบอกว่า อารมณ์นี้เหมือนแขกจรมา สังขารนี้เหมือนแขกจรมา แขก เห็นไหม แขกจรมา ความคิดมันจรมา จรเข้ามาหาเรา แล้วเราจะทำอย่างไรล่ะ? ใช้ความคิดแก้ความคิดสิ คิดให้มากๆ คิดจนมันเหนื่อยมันล้าไง ความล้านั้นมันต้องหยุด อ่อนไปๆๆ แต่ต้องมีสติอยู่ มีสติคิดตามไปๆๆๆ คิดอยู่อย่างนั้น แต่มีสติ เห็นไหม มันเกิดดับๆ ถึงจุดหนึ่งมันต้องหยุดให้เราพิจารณาได้ นี่ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าเราใช้ความคิดแก้ความคิด แต่ถ้าเราใช้กำหนดพุทโธๆๆ ใช้ความสงบเข้าไปเลยก็เหมือนกัน แล้วพิจารณาเป็นธรรมารมณ์ไง
พระพุทธเจ้าสอนไว้ กาย เวทนา จิต ธรรม เป็นเป้าหมายของการต่อสู้ เป็นเป้าหมาย เห็นไหม กาย สังขารภายนอก มันเป็นสิ่งที่ว่าจับต้องง่าย เป็นเป้าใหญ่ มันไม่ค่อยผิดพลาด ส่วนใหญ่จะลงตรงนั้น แต่ถ้าลงตรงนั้นแล้วมันไม่ได้ผล หรือเราปฏิบัติไม่ได้ เราปฏิบัติไม่ได้มันเป็นวิชาเทคนิค หรือว่าความเคยชินของใจ หรือบารมีของใจ หรือการที่สะสมมาต่างกัน
เช่น อาหาร คนในบ้านเดียวกันชอบไม่เหมือนกัน การกินอาหารก็ไม่เหมือนกัน สิ่งที่สะสมมาจากใจ ซับๆๆ มา นั้นคือสันดานของใจ สันดานฝังมาจากใจตัวนั้นน่ะ ส่วนนี้เป็นสิ่งที่สะสม เป็นบุญญาบารมีของแต่ละบุคคล พระพุทธเจ้าถึงเปิดกว้างไว้ไง พูดไว้คำเดียวแต่ตีเป็นนัยได้มหาศาล พิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด ภายนอกหรือภายใน เปิดกว้างไว้ให้ลูกศิษย์ลูกหาพระพุทธเจ้าเดินตามเข้าไปให้ได้ไง เป้าหมายคือทำใจนี้ให้พ้น แต่การเข้าไปถึง วิธีการนั้นแล้วแต่ผู้ที่ชำนาญการ ชำนาญทางไหนให้เข้าทางนั้น จุดมุ่งหมายอันเดียวกัน จุดมุ่งหมายคือจิตนี้พ้นจากกิเลสทั้งหมด
แต่การเดินเข้าหาเป้าหมาย ถ้าพิจารณากายอย่างเดียว เราพิจารณาไม่ถนัดในการพิจารณากาย เราก็กระเสือกกระสนไปอาจจะได้ แต่ถ้ากระเสือกกระสนไปแล้วใช้พุทธวิสัย เห็นไหม สัทธาจริต พุทธจริต ใช้ปัญญา มันเป็นนามธรรม การจับต้องนามธรรม เห็นไหม วัตถุเราจับต้องได้ อย่างหนังสือพิมพ์นี่เราดูได้ง่าย หนังสือพิมพ์ข่าวสาร หนังสือพิมพ์ เพราะมันเป็นวัตถุที่เป็นตัวอักษรที่เรามองเห็น ข่าวสารมาจากคลื่นเสียง เราต้องมีวัตถุเข้าไปจับ เห็นไหม คลื่นนั้นเรามองไม่เห็น แต่ถ้ามีเครื่องรับ คลื่นนั้นจะออกมาเป็นเสียง เราจะจับคลื่นนั้นได้ ความคิดมันเป็นคลื่นน่ะ มันถึงจับต้องยากไง
แต่ถ้าเป็นพุทธจริต เห็นไหม ความจับต้องคลื่นนี้ ความจับต้องความคิดนี้ เพราะมันเป็นจริต มันเป็นความชำนาญของใจดวงที่สะสมมาน่ะ ถ้าจริตมันชอบ มันตรง นี่สังขารภายใน คลื่นจับความคิด เกิดดับๆ มันมีอยู่ทุกๆ คน มันมีอยู่โดยความเป็นจริง แต่เราไปมองที่สังขารภายนอก เราไม่ได้มองสังขารภายใน ถ้ามองสังขารภายใน เราจริตนิสัยตรงอันนั้น เราจับๆๆ
เช่น หมุนเข้าไปไง หมุนด้วยสติ สติยับยั้ง เห็นไหม เวลาคิดเราปล่อยคิด เพราะมันเป็นธรรมชาติของความคิด เรายับยั้งไม่ได้ แต่สติที่กั้นไว้มันจะสะท้อนกลับ เหมือนเราตีเทนนิสน่ะ หัดตีใหม่ๆ เราตีลูกบอลอัดเข้าไปที่กำแพง จะย้อนกลับมา สติเราคอยกั้นความคิด ดูความคิด...มันเป็นรูปของจิต มันเป็นคลื่นที่เราจับได้เลย สิ่งที่จับได้ มันจับอารมณ์ได้ เห็นไหม พอจับอารมณ์ได้ จับความรู้สึกได้ จับคลื่นได้
พอจับคลื่นได้ เราก็ดูคลื่นว่าข่าวสารนั้นคืออะไร คลื่นนี้ส่งมาอะไร แขกนี้จรมานั้นเป็นใคร แขกที่จรมาน่ะ นี่พิจารณาแขกที่จรมา พิจารณาความคิดที่มันจรมา ให้เกิดผลดีหรือผลชั่ว ผลดีเราก็ดีใจ ผลไม่ดีเราก็เสียใจ ความดีใจเสียใจมันไหวตามไป นั่นล่ะโดนเกี่ยวไปแล้ว ความคิดนี้หมุนเราไปแล้ว เราพิจารณาดู สิ่งนี้เกิดขึ้นจากอะไร มันต้องมีที่เกิดที่ดับ สิ่งใดๆ ในโลกนี้ไม่มีมาลอยๆ คลื่นนี้ต้องมีที่ส่งออกมา
คลื่นนี้ไม่ใช่มาลอย มีคนส่งออกมา แล้วส่งมาอย่างไร? ส่งมาจากฐีติจิต จิตดวงนี้มันผุดขึ้นมา จากสัญญาความจำได้หมายรู้ ต้องมีสัญญา ต้องมีเชื้อออกมา สัญญาปรุงขึ้นมาก่อน เห็นไหม สัญญาแว็บขึ้นมา สังขารปรุง วิญญาณรับรู้ เวทนาความพอใจหมุนเข้าไป รูปของจิตเกิดขึ้น ๑ อารมณ์ เร็วมาก ปั๊บๆๆ ในหัวใจ เร็วมาก แต่เมื่อเราพร้อมแล้ว เราเข้าไปจับต้องได้แล้ว เร็วขนาดไหนก็ใช้สติใช้ปัญญานี้ใคร่ครวญตลอด
ความไม่ประมาท ความใคร่ครวญด้วยความไม่ประมาทเถิด พระพุทธเจ้าเตือนไว้ตลอด เราพิจารณาเข้าไปสิ พอพิจารณาถึงสติเข้าไปจับ คลื่นส่วนคลื่น กระแสที่มาจากคลื่น ความคิดไง ความคิดที่คิดออกมาเป็นรูปแล้ว ความที่คิดมันคิดออกมานี่ขันธ์ ๕ อยู่ที่ไหน สัญญาอยู่ตรงไหน ตัวไหนเป็นตัวสัญญาตัวแว็บขึ้น สังขารที่ปรุง ที่ว่าสังขารๆ ตัวปรุงตัวแต่งอยู่ตรงไหน สติปัญญาเห็นตามความเป็นจริงเสียบเข้าไป อารมณ์ความรู้สึกนี้ไปไม่ได้
เพราะเราแยกคลื่นนั้นออกไป คลื่นนั้นเราแยกออกอีก เราแยกความคิดนี้ออก ความคิดต้องแตกออกไป แตกออกไป หมุนไปไม่ได้ อารมณ์เก้อๆ เขินๆ อย่างนั้นเอง ขันธ์ ๕ ไปไม่ได้ไง ขันธ์ ๕ หมุนไปไม่ได้ พอหมุนไปไม่ได้ความคิดก็ดับ ความคิดดับ นี่สติปัญญาสอดเข้าไปๆ ความคิดนี้จะเกิดก็เกิดไม่ได้ เก้อๆ เขินๆ ดับ อยู่อย่างนั้น จนเราทำบ่อยเข้า สมาธิของเราดีขึ้น เร็วขึ้น สติเราพร้อมขึ้น จับได้เร็วขึ้น ใคร่ครวญได้มากขึ้น ปัญญาได้ฟัน เห็นไหม ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดขึ้นจากเราใคร่ครวญ จากเราประพฤติปฏิบัติ นี่ปัญญาวุฒิเกิดแล้ว
ปัญญาการใคร่ครวญสังขารภายใน สังขารภายในที่เกิดขึ้นจากภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เราสร้างขึ้นมาจากล้มลุกคลุกคลานไง จากล้มลุกคลุกคลานเราก็ใช้ความมานะ ใช้ความไม่ประมาท ใช้ความเพียรของเราหนุนเนื่องขึ้นมาตลอด จนมรรคอริยสัจจังหมุน ธรรมจักรนี้หมุนแล้ว หมุนขึ้นมาจากความอุตสาหะ หมุนขึ้นมาจากเราเชื่อองค์ศาสดา องค์ศาสดาได้ผ่านไปแล้วไง บอกสิ่งนี้ที่ท่านปฏิบัติ ท่านบรรลุธรรมท่ามกลางไง จากที่ตรัสรู้ธรรม ธรรมอันนี้ต่างหาก นี่ปัญญาวุฒิ
เราเดินตามจากคนจูงคนบอกนะ เดินตามจากศาสดาวางไว้นะ เกิดขึ้นจากภายใน ถึงจะเป็นกระแสเป็นนามธรรมก็จับได้ นี่ความมุมานะ ทำบ่อยๆ เข้า ปัญญาวุฒิฟันเข้าไป ฟันสัญญาภายในนั่นน่ะ ฟันสังขารภายใน ฟันเข้าไปๆ อารมณ์ภายในน่ะ ปัญญามันฟันเข้าไปบ่อย ถึงจุดหนึ่ง เพราะมันโดนฟันจนมันอยู่ไม่ได้ มันจะแตกออกๆ เห็นไหม ขันธ์ ๕ ไง ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เราสิ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕
เพราะขันธ์ ๕ นี้มันเป็นเรา เราลุ่มหลงในขันธ์ ๕ เราไม่รู้ว่าเราคิด เราไม่รู้ว่าเราเป็นไปไง เราดับตัวนั้นน่ะ เราดับตัวที่ว่าเป็นเรา เห็นไหม พอเป็นเรามันเป็นธรรมจักร มันเป็นปัญญา ปัญญานี้ก็ไม่ใช่เรา
เริ่มต้นไปจากเรา เราเริ่มต้นก่อน แต่พอมันเป็นธรรม เห็นไหม ความภราดรภาพเกิดก่อน ความเสมอภาพนั้นเกิดก่อน ปัญญาวุฒิเกิดขึ้นโดยตามเป็นธรรมจักรโดยความเป็นจริง นี่ทำลายสังขารภายใน สังขารที่ปรุงที่แต่งที่ทำให้เราต้องทุกข์ยากตลอดไปน่ะ มันทำลายลงเลยล่ะ ด้วยปัญญาวุฒิ
จากการพิจารณาสังขารภายใน การพิจารณาด้วยวิปัสสนาญาณนะ เป็นไปโดยตามเป็นธรรม ไม่ใช่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง ถ้าเราเข้าไปเกี่ยวข้อง เห็นไหม ก็ผิดตั้งแต่มีเรา ผิดตั้งแต่เราพูดมาตั้งแต่ทีแรก แล้วยังไม่เข็ดหลาบอีกหรือ ยังไม่เข็ดหลาบอีกใช่ไหม แม้แต่ท่ามกลางภาวนาก็ยังเอาเราเข้าไปเจือปน เห็นไหม กิเลสมันก็ยังแทรกเข้าไปในท่ามกลางที่เรากำลังวิปัสสนาอยู่นั้นน่ะ
ที่เราวิปัสสนา เพราะกิเลสมันอยู่ที่ใจ กิเลสมันเป็นนามธรรม กิเลสเป็นเจ้าวัฏจักรครองหัวใจคน ครองหัวใจทุกๆ ดวงที่เกิดที่ตาย ครองหัวใจทุกๆ ดวงแล้วเป็นเจ้าวัฏจักร เป็นคนไสส่ง ขับไสส่งให้เกิดสูงๆ ต่ำๆ มาตลอด ฉะนั้น เวลาเราวิปัสสนาเข้าไป ตัวนี้ถึงได้หนุนเนื่องออกมาเป็นกิเลสเหมือนกันไง เป็นการทำให้เราประมาท เป็นการทำให้เราเลินเล่อ แล้วก็ทำให้เราล้มลุกคลุกคลานอยู่ตลอดเวลา เห็นโทษของมันน่ะ ถึงต้องไม่ชะล่าใจ ต้องไม่ประมาทในการวิปัสสนา ไม่ประมาทในการประพฤติปฏิบัติ ไม่ประมาทในการกระทำ ไม่ประมาทแม้แต่การใช้ปัญญา
การใช้ปัญญาวิปัสสนานี้ก็ไม่ประมาท ต้องฟันด้วยปัญญาวุฒิ ฟันเข้าไปๆ การฟันหมายถึงการเพ่งพิจารณา การใช้ปัญญาไตร่ตรองไง ปัญญาที่ไตร่ตรอง ปัญญาที่คิดจดจ่อตรงจุดที่มันเกิดดับๆ จุดที่อารมณ์มันหนุนเนื่องต่อไปน่ะ ต้องฟันลงตรงจุด ตรงที่มันเกิดดับ ตรงที่หัวใจ ตรงที่เกิดจากสังขารภายในมันเกิดขึ้น ตรงที่ขันธ์ ๕ มันออกมาที่แขกจรมา เห็นไหม แขกจรมาจากภายในเป็นตัวเชื้อ แต่อารมณ์เกิดขึ้นนั่นเป็นแขก เป็นวัตถุ
อารมณ์นี่เวลาเราโกรธขึ้นมาฉุนเฉียวมาก มีอารมณ์มาก มีความรู้สึกมาก ลากเราไปเลย เห็นไหม นี่จรมา เดี๋ยวมันก็ดับ แล้วมันเกิดมาจากไหน? นี่มันเกิดขึ้นมาจากเจ้าวัฏจักรภายใน แต่เวลามันปรุงแต่งขึ้นมาแล้วมันจรมาจากข้างนอก แล้วปัญญาหมุนเข้าไปทันมันน่ะ แล้วฟันมันด้วยปัญญาวุฒิ แต่ต้องไม่ประมาท ซ้ำแล้วซ้ำเล่าด้วยปัญญาวุฒินะ
ถ้าทำด้วยความลูบๆ คลำๆ ทำด้วยความประมาทเลินเล่อ อันนั้นก็เป็นความเพียร แต่กิเลสมันสอนกิเลสมันเสี้ยมบอก อันนี้เป็นความเพียร อันนี้เป็นความยอดคน เราเป็นยอดคน เราเป็นนักปฏิบัติ เราเยี่ยม เราเก่ง เราทำดีแล้ว...มันก็หมุนไปนะ สักแต่ว่าเป็นวิปัสสนา สักแต่ว่าเป็นการประพฤติปฏิบัติ แล้วพอลงท้ายก็ ไม่เห็นได้ผลเลย เราวาสนาน้อย เราคงไม่มีอำนาจวาสนา เราคงต้องเอาไว้ชาติหน้า เอาไว้ชาติต่อไป...ชาติหน้าก็คนเก่า ชาติหน้าก็จิตดวงนี้ไปเกิดอีก แล้วก็ไปคร่ำครวญอย่างนี้ แล้วก็เกิดอีกชาติหนึ่ง แล้วก็คร่ำครวญไปเรื่อยๆ นี่กิเลสมันเสี้ยม นี่ความประมาท พระพุทธเจ้าสอนว่าเป็นโทษ โทษอย่างมาก โทษอย่างมหันต์
ทำเดี๋ยวนี้ ชำระเดี๋ยวนี้ ทำเดี๋ยวนี้ได้เดี๋ยวนี้ เกิดชาตินี้พบพระพุทธศาสนา พบหมู่คณะ พบผู้ปฏิบัติ พบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้เดินเป็นองค์แรก เป็นผู้ตรัสรู้ ครูบาอาจารย์ตามไป เดินตามไป แล้วเราจะมางอมืองอตีนอยู่อย่างนั้นเหรอ นี่ถามตัวเอง ถ้าถามตัวเองมันจะเกิดกำลังใจไง กำลังใจเป็นสิ่งที่ส่งเสริมในการประพฤติปฏิบัติ กำลังใจนะ ไม่มีกำลังใจมันทำสักแต่ว่า แล้วทำแล้วไม่เชื่อด้วย แล้วจะย้อนกลับมาว่าฉันก็ทำแล้ว ถ้ามีจริงฉันต้องได้พบสิ ถ้ามีจริง เราก็ปฏิบัติมาขนาดนี้ ใครหรือจะมีความมุมานะดีกว่าเรา นี่กิเลสมันสอนทั้งหมดเลย
ผู้ใดปฏิบัติธรรม เห็นไหม ปฏิบัติง่ายรู้ยาก ผู้ใดปฏิบัติยากรู้ง่าย ผู้ใดปฏิบัติยากรู้ยาก ปฏิบัติยาก ไม่รู้ มันเป็นสิ่งที่เราสะสมมาทั้งนั้นล่ะ ไม่ใช่ว่าต้องทุกข์ขนาดนี้เหมือนกันทุกคน
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติ เป็นศาสดา ออกแสวงหาโมกขธรรม ๖ ปีนะ ๖ ปีกว่าจะบรรลุธรรม พระยสะออกมาคืนนั้น คืนนั้นคืนเดียวสำเร็จเลย ฟังดูสิ ดูอำนาจวาสนาต่างกันไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสวงหาขนาด ๖ ปีนะ แต่ผู้ที่เป็นสาวกมาฟังแค่คืนเดียว พระยสะคืนนั้นคืนเดียวสำเร็จเลย
ที่นี่เดือดร้อนหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ ที่นี่ทุกข์หนอ
พระพุทธเจ้าเดินจงกรมอยู่ เห็นไหม ยสะ ที่นี่ไม่เดือดร้อน ที่นี่ไม่ขัดข้อง
ฟังธรรมคืนนั้นตอนหัวค่ำเป็นพระโสดาบันเลย จนพ่อออกตาม เพราะเป็นลูกเศรษฐีใหญ่ ตามไปๆ พระพุทธเจ้าเห็นแล้ว บังไว้ก่อน เทศน์สอนพ่อไง ลูกสำเร็จเลย คืนนั้นคืนเดียว
นี่ผู้ใดปฏิบัติยากรู้ยาก ผู้ใดปฏิบัติง่ายรู้ง่าย เพราะการประพฤติปฏิบัตินั้นมันเป็นอำนาจวาสนา เป็นการที่เราสะสมมาจากหัวใจทุกๆ ดวง เราสะสมของเรามาเอง เราสร้างบุญกุศลของเรามาเอง เราทำมาทั้งนั้นเลย สิ่งที่ทำมาทุกอย่าง การกระทำของเราทั้งหมดมันจะสะสมลงที่ใจ สิ่งที่การกระทำนี่ เพราะมันเกิดขึ้นจากความคิด เราทำจำได้ไม่ได้มันจะสะสมลงที่ใจ พื้นฐานอันนี้มันสะสมมาๆ ความสะสมอันนั้นเป็นกิเลส เพราะมันสะสมแล้วมันยึด
เวลาแก้ก็ต้องแก้ตรงนั้นน่ะ แก้สิ่งที่สะสมอยู่ในหัวใจที่กิเลสที่มันสะสมอยู่ในใจนั้น แล้วเข้าไปแก้ เห็นไหม เข้าไปแก้สิ่งที่มันสะสมมา มันเป็นตัณหา มันยึดอยู่ตรงนั้น มันถึงบอกว่า ผู้ใดปฏิบัติยากรู้ยาก ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย ตรงตามความที่เราทำมาทั้งนั้นเลย ถึงไม่มีกฎตายตัวไงว่าต้องทุกๆ คน ต้องกระเสือกกระสนทุกๆ คน พระยสะคืนเดียวก็สำเร็จแล้ว แต่พระพุทธเจ้าเรา ๖ ปี นี่มันถึงไม่เหมือนกันไง เทียบให้เห็นชัดๆ เลย
พอเทียบมาแล้วเราก็ย้อนกลับมาที่เรา ต้องย้อนกลับมาที่เรา เทียบข้างนอกเข้ามาเพื่อเป็นกำลังใจ เพื่อว่าเป็นกำลังใจของเรา เป็นกำลังใจของผู้ปฏิบัติ กำลังใจ เห็นไหม กำลังใจจะเกิดขึ้นเพราะว่าเราเกิดขึ้นเดี๋ยวนั้นนะ กำลังใจคนที่อื่นบอกมามันก็ฟังอย่างนั้นแหละ กำลังใจขณะที่ว่ากำลังปั่นป่วน แล้วเราได้กำลังใจ เราหนุนขึ้นมา เห็นไหม เกิดขึ้นเดี๋ยวนั้น มุมานะเดี๋ยวนั้น ขาดเดี๋ยวนั้นเป็นปัจจุบันธรรม
กิเลสขาด ขาดปัจจุบัน ไม่ขาดที่อดีตและอนาคต อดีตก็ไม่ขาด หมายไปข้างหน้า อนาคตก็ไม่ขาด ถ้าจะเป็น เป็นเดี๋ยวนี้ เป็นท่ามกลางที่ปัจจัตตัง เดี๋ยวนี้ แต่เกิดขึ้นจากความมุมานะของเราที่สะสมขึ้นมาแล้วหมุนขึ้นมาเป็นปัญญาวุฒิ ถ้าปัญญาวุฒิฟันลงไปไม่ขาดมันสยบลงเราก็ซ้ำ การซ้ำ หมายถึงว่า วิปัสสนาต้องซ้ำเข้าไปๆ เราฟันของเหนียว ฟันครั้งแรกไม่ขาด เห็นไหม แต่รู้อยู่ มันดึงออกไป ฟันไปๆ ฟันไปจนกว่ามันจะขาด วัตถุนี่ฟันครั้งแรกไม่ขาดมันก็ไม่ขาด
แต่ใจไม่เป็นอย่างนั้น ไม่ขาดมันก็ว่าง พิจารณากาย พิจารณาจิตเหมือนกัน พอมันพิจารณาแล้วมันก็ปล่อย คำว่า ปล่อย นี้ไม่ขาด เพราะกิเลสมันเป็นกระแส มันไม่ขาด แต่มันปล่อยชั่วคราวแล้วว่างหมดเลย เห็นไหม มันไม่เหมือนกับวัตถุ ถ้าวัตถุ อย่างเช่นของที่เราฟันไม่ขาด เราจะเห็นทันทีว่ามันไม่ขาด อันนี้เป็นวัตถุ แต่กิเลสเป็นนามธรรม ความยึดของใจนี้เป็นนามธรรม นามธรรมมันเป็นอยู่ข้างในหัวใจ แล้วหัวใจนี้ควบคุมนามธรรมอีกทีหนึ่งไง เพราะนามธรรมตัวนี้มันเป็นขันธ์ มันควบคุมใจ ใจนี้เป็นสักแต่ว่าพลังงานตัวหนึ่ง ถึงตอของจิต ตัวจิตนี้พ้นนี้คือตัวตอตัวพลังงานตัวนี้ ไม่ใช่กระแสที่เป็นอารมณ์
อารมณ์นี้เป็นขันธ์ ๕...ขันธ์ ๕ เราพิจารณาย้อนกลับๆๆ มันจะปอกเหมือนปอกเปลือกผลไม้น่ะ เป็นชั้นๆๆ เข้าไป มรรค ๔ ผล ๔ เห็นไหม อรหัตตมรรค ใช้อรหัตตมรรคปอกชั้นใน มันรวมลงเลยนะ อรหัตตผล ทำไมนิพพาน ๑ ล่ะ? เพราะอรหัตตมรรคนี้ก็เป็นแค่การเคลื่อนไป การฉีกออก การปอกเปลือกออก อรหัตตผล เห็นไหม ปอกออก ปอกผลไม้ออก ปอกเปลือกออกจากผลไม้นั้นแล้ว นิพพาน ๑ หมายถึงว่า เสร็จเรียบร้อย ผลไม้เก็บหมด ไม่มีสิ่งที่กระทำอีก นิพพานถึงเป็นหนึ่งไง มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ เห็นไหม นี่การประพฤติปฏิบัติถึงว่าย้อนเข้าไปๆ จนถึงจุดตรงที่ว่าเริ่มต้นของความคิดนั่นไง พระพุทธเจ้าตรัสรู้ตรงนั้น ย้อนกลับๆๆๆ จนถึงพญามารไง
จากละกายละสังขารภายใน จากตัดกายตัดใจออกจากกัน จากพิจารณากามราคะไง นี่กระแสของใจทั้งหมด ถึงตอของจิต ปฏิสนธิจิต จิตที่สัญญาความจำได้หมายรู้ที่เรารู้กันอยู่นี้สะสมเข้าไปๆ มันจะย่อยสลายเข้าไปอยู่ใน อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ตัวโง่นั้น ตัวอวิชชาภายในคือตัวโง่ ตัวรู้ แต่ไม่จริง อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา อวิชชา รู้วิชชา เห็นไหม อะ รู้แต่ไม่จริง
เรารู้ๆ กันอยู่นี่ เรารู้ทุกอย่างเลย แต่รู้สิ่งที่ไม่จริงทั้งหมดเลย สิ่งที่ความเป็นจริงข้างในคือวิชชาไง วิชชาเกิดขึ้น ดับอวิชชาทั้งหมด ชำระอวิชชาทั้งหมด นี่ปฏิสนธิจิต จิตตัวนี้จะเกิดอีกแล้วถึงตายเดี๋ยวนั้นไง พระพุทธเจ้ารู้ตรงนั้น ต้องย้อนถึงตรงนั้นเลย ตรงฐีติจิต ตัวอวิชชา ตัวเกิด ตัวเจ้าวัฏจักร มันถึงเป็นพ่อของโลภ โกรธ หลง เห็นไหม นางตัณหา นางอรดีไง
ความโลภ ความโกรธ ความหลง นี้เป็นอารมณ์ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความไม่รู้ มันถึงโลภ ถึงโกรธ ถึงหลง เห็นไหม ความโลภ ความโกรธ ความหลง ยังหยาบๆ นะ
พ่อของความโกรธ เห็นไหม ตัวเจ้าวัฏจักร ตัวเรือนยอดไง เรือน ๓ หลัง ยอดปราสาท ตัวพ่อ ตัวเจ้าวัฏจักร พระพุทธเจ้าถึงได้เยาะเย้ยเลย ตัวเจ้าวัฏจักรก็คว่ำตรงเจ้าวัฏจักรนั้น
มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเราเอง เกิดจากตัวอวิชชานี่ไง ตัวเริ่มคิดที่ไม่รู้ คิดออกไปเป็นสาย ตัวเริ่มคิด เพราะรู้แต่ไม่จริง เห็นไหม เริ่มคิดก็คือเรา รู้ คิดออกไปเลย อวิชชามาแล้ว ลากไปตลอดสาย เข้าไปจับตรงนั้นพลิกเป็นวิชชา คิดก็รู้ คิดก็รู้ ขยับก็รู้ เพราะจิตนี้เป็นอัตโนมัติ วิชชานี่ไง มหาสติ มหาปัญญา เป็นสติปัญญาอัตโนมัติไง
คำว่า สติ คำว่า ปัญญา ปัญญาวุฒิ ปัญญาที่รู้เท่า ปัญญาที่พร้อมออกมาจากความคิด ความคิดที่เป็นความคิดที่สะอาด ความคิดที่อวิชชาไม่สามารถแย่งยื้อ ไม่มีที่ยืนในความคิดอันนั้นเลย นี่พระพุทธเจ้าบริสุทธิ์ตรงนั้นไง บริสุทธิ์ที่ความคิดนี้สะอาดบริสุทธิ์
ทำไมว่าเป็นความคิดอีกล่ะ
เพราะมันเป็นวิชชา เห็นไหม จะออกมาข้างนอก
แต่ถ้าเป็นนิพพานแล้วไม่ต้องคิด มันไม่มี มันเป็นจิตนิ่มอ่อน ทำอะไรไม่ได้เลย แต่เทียบวิชชากับอวิชชาเท่านั้น อวิชชาเพราะมันหลงมันถึงคิดออกมา วิชชา ถ้ามันขยับ มันรู้ แล้วมันจะหลงไปไหน ถึงว่า ปัญญา มหาสติ มหาปัญญา ปัญญาอัตโนมัติ สติอัตโนมัติ ขยับก็รู้ไปหมด ขยับก็รู้ไปหมด เพราะมันเป็นปัญญา มันเป็นสติ มันไม่ใช่ตัวหลง มันไม่ใช่ตัวอวิชชา มันรู้จริงไง รู้จริงตามความเป็นจริง รู้จริงตามเป็นธรรม ไม่ใช่รู้ด้วยอวิชชา
เรามันรู้ด้วยอวิชชา รู้ แต่ไม่จริง รู้ แต่ใช้การไม่ได้ รู้ แต่ทุกข์ รู้ แต่มันลากใจออกไป ไสออกไปเลือดซิบๆ ตลอด ตั้งแต่เกิดจนตาย ตายจนเกิด เกิดอยู่อย่างนั้น ไม่เคยมีความสุขในหัวใจ มันลากไปจนทุกข์ยากมาก มีแต่บ่นพร่ำเพ้อ ฉันทุกข์ๆๆ มีแต่บ่นพร่ำเพ้อกันไปไม่สามารถแก้ไขตัวนี้ได้
พระพุทธเจ้าเป็นห่วง สงสาร เป็นห่วงมาก เมตตาสัตว์โลก ถึงได้พยายามเตือน แม้แต่วันนี้ แต่เมื่อ ๒,๐๐๐ กว่าปีมาแล้ว ภิกษุทั้งหลาย จงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด คำพูดคำเดียวนะ เป็นปัจฉิมโอวาท โอวาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฝากไว้กับชาวพุทธ ฝากไว้แก่ผู้ปฏิบัติ ฝากไว้กับนักปฏิบัติทุกๆ คนเลย แล้วย้อนกลับมาไง ฝากไว้แล้วนะ แล้วเราเป็นชาวพุทธ เรารับได้ไหม เรารับคำสั่งเสียของพระพุทธเจ้าได้ไหม เราใช้ประโยชน์จากคำนั้นได้ไหม
อย่างที่ว่าเมื่อกี้นี้ ขนาดเขาเหาะเหินเดินฟ้าได้นะ เขายังเสียใจว่าเห็นเจ้าชายสิทธัตถะ กาฬเทวิลเห็นเจ้าชายสิทธัตถะ แต่เขาไม่มีโอกาสได้รอเจ้าชายสิทธัตถะได้ออกบวชจนสำเร็จเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เพราะมีวิชชาตัวนี้ มีเทคนิค เทคโนโลยีตัวนี้ มีพุทธศาสน์ที่จะทำลายอวิชชาได้ไง เพราะตอนนั้นยังไม่ได้สำเร็จเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ แต่ยังไม่บรรลุธรรมเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เขาถึงเสียโอกาส เขาถึงเสียใจมาก เรานี่รับมาเต็มๆ เรารับเทคโนโลยีอันนี้มาในมือเลย พิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด แล้วเรามีเทคโนโลยีแล้วเราทำได้ไหม เราพิสูจน์กิเลสที่ออกไปจากใจเราได้ไหม กิเลสในหัวใจเราชำระไปแล้วเท่าไร เราเอาออกไปแล้วเท่าไร ทั้งๆ ที่มีเทคโนโลยีพร้อมนะ พุทธศาสน์วางไว้เลย
แล้วเกิดขึ้นจากเราตั้งสมาธิ เห็นไหม ความดำริชอบ ดำริการประพฤติปฏิบัติ ดำริจะฆ่ากิเลส ดำริจะทำใจให้บริสุทธิ์ นี่ดำริชอบ การงานชอบ งานภายใน งานทำใจให้สงบจากความฟุ้งซ่าน จากการที่มันเกาะเกี่ยวทางโลก เห็นไหม งานภายใน งานชอบ ความเพียรชอบ เพียรลงที่หัวใจ เลี้ยงชีวิตชอบนี่สำคัญมาก เลี้ยงหัวใจชอบไง
ถ้ามันคิดผิดบอก นี่เอ็งกินอาหารผิดแล้ว แขกที่จรมานี่เอายาพิษมาเจือให้เอ็งกินแล้ว ถ้าเลี้ยงชีวิตชอบต้องคิดแต่จะเอาพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด ความคิดชอบ ความเลี้ยงใจชอบไง ใจกินอารมณ์เป็นอาหาร ใจต้อนรับแต่แขกที่จรมา ใจไม่เคยว่างเลย ใจอยู่ด้วยตัวเองไม่ได้ ต้องเกาะเกี่ยวกับอารมณ์ตลอดเวลา ใจถึงหิว ใจถึงกระหาย ใจนี้เหมือนยักษ์ กินไม่เลือก สิ่งใดแว็บขึ้นมากินมันหมด นี่มันถึงเลี้ยงชีวิตผิดไง ถ้าเลี้ยงชีวิตผิดแล้วมันจะเอาความสุขมาจากไหน
ถ้าจะเลี้ยงชีวิตถูก เห็นไหม ป้อนแต่สิ่งคุณงามความดี ป้อนแต่การละเว้นการคิดชั่ว นี่ป้อนเลี้ยงชีวิตถูก การเลี้ยงชีวิตถูก เลี้ยงชีวิตภายนอกกับเลี้ยงชีวิตภายใน นี่มรรคอริยสัจจังมันถึงสำคัญมาก มรรคอริยสัจจัง มรรคภายในไง นี่ถึงว่าทางอันเอก พระพุทธเจ้าวางไว้ วางให้เราเดิน ให้เดินทางมรรคเข้าไปไง เข้าไปถึงตรงอวิชชาตัวที่ไม่รู้ไง ตรงที่ไม่รู้จะเอาอะไรเข้าไปพลิกมันล่ะ ถึงว่า เป็นงานชอบ เป็นกระแสที่เราสร้างขึ้นมาจากภายใน เป็นนามธรรมเข้าไปชำระ
จิตแก้จิต งานอันเอก งานของเอกบุรุษหรืองานของเอกสตรี งานอันเอกนะ งานที่ว่าไม่มีใครทำแทนกันได้ ไม่มีใครสามารถที่จะเหนี่ยวรั้งหรือว่าพึ่งพาอาศัย ต้องเป็นงานของบุคคลคนนั้นมันถึงเป็นปัจจัตตังไง
ความเป็นปัจจัตตังคือเกิดและดับตรงที่ต้นเหตุ เหตุอันนั้น สิ่งที่อันนั้น ธาตุอันนั้น ธาตุที่เป็นไฟ ไฟเกิดที่ไหนดับที่นั่น อวิชชาเกิดที่ไหนดับที่นั่น ความไม่รู้ตรงไหนต้องรู้ตรงนั้น พลิกตรงดำมันก็เป็นขาว พลิกตรงอวิชชาก็เป็นวิชชา ต้องพลิกตรงนั้นถึงเป็นปัจจัตตัง ถึงบอก ใครทำแทนใครไม่ได้ เป็นปัจจัตตัง กิเลสเกิดต้องกิเลสดับ อวิชชาเกิดต้องอวิชชาดับ แล้วเกิดความสุข เกิดความสุขเพราะไม่มีใครเสี้ยมไง ความสุขจะเกิดขึ้น จะซึ้งใจพระพุทธเจ้ามาก ซึ้งใจ เพราะความสุขอันนั้นน่ะ ความสุขอันนั้นเกิดขึ้นมาจากความทุกข์ยากของเรานี่ไง จากการกระเสือกกระสน จากการตะเกียกตะกายเข้าไปหาตรงนั้น ต้องตะเกียกตะกายเข้าไปนะ เพราะเป็นงานอันเอก งานเอกบุรุษเอกสตรี เอกทั้งหมดนะ เอกมากเลย
เพราะงานใดๆ ในโลกนี้ไม่มีวันที่สิ้นสุด ไม่มีหรอก ไม่มี เราตายไปคนอื่นมาทำต่อนะ งานที่เราทำกันอยู่นี่ เราตายไปคนจะมาทำต่อข้างหลังนี่มีเยอะแยะเลย ต่อคิวไว้มหาศาล ไม่มีที่สิ้นสุด วัฏวนตลอดไป ไม่มีหรอก แต่งานอันเอกนี้จบเดี๋ยวนี้ จบ ไม่เกิดอีกเอาอะไรมาทำ โลกนี้มีเพราะมีเรา เราดับแล้ว โลกก็โลกไปสิ เราไม่เกี่ยว สิ่งนั้นมีเพราะมีเรา เราชำระของเราหมดแล้ว อะไรมีก็เรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของเรา
เห็นไหม เกิดที่ไหนดับที่นั่น แล้วความสุขมหาศาลนะ ความสุขเกิดขึ้นเกิดจากประพฤติปฏิบัติ ความสุขเกิดขึ้นจากเราเคารพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ไง วันนี้วันวิสาขบูชา วิสาขะ พระพุทธเจ้าเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เกิดเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็ปรินิพพานไป สละสมมุติไว้ในโลกนี้คือร่างกาย หัวใจนี้ไม่เกิด ดับสนิท
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้นำ เป็นผู้ผ่านไป มันเป็นตามความเป็นจริง เพราะว่าพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะเป็นพยานกันทั้งนั้นเลย ไม่ใช่แค่พูด ไม่ใช่พูดตามตำรา พูดตามสักขีพยาน พุทธศาสน์ที่พิสูจน์ได้ พระพุทธเจ้าพิสูจน์เป็นองค์แรก สาวก อัครสาวก ภิกษุเป็นตามๆ กันไป แล้วรับรองกันไว้ในพระไตรปิฎก พระไตรปิฎกรับรองกัน จนพระพุทธเจ้าแต่งตั้งสาวก อัครสาวก เป็นอัครสาวกแต่ละแขนงๆ อัครสาวกยอมรับพระพุทธเจ้า ถึงเป็นพุทธศาสน์ที่พิสูจน์ได้ด้วยตามความเป็นจริง
เราเกิดท่ามกลางศาสนาพุทธ เกิดท่ามกลางพุทธศาสน์ที่มีคุณอย่างประเสริฐ แล้วถ้าเราเป็นชาวพุทธจริง เราปฏิบัติจริง ถึงว่าเราเป็นชาวพุทธแท้ไง เป็นชาวพุทธสมกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฝากไว้ไง ผู้ใดพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด ผู้นั้นจะรอดปลอดภัยจากความทุกข์ เอวัง
เพิ่มเติมท้ายกัณฑ์
ความไม่ประมาทในกายสังขาร จิตสังขาร ความไม่ประมาทในสังขาร ๒ คือกายสังขาร จิตสังขาร สังขารที่เป็นกาย กายเป็นรูป กับสังขารที่เป็นจิต จิตคือจิตสังขาร สังขาร ๒ ความไม่ประมาทในสังขาร ๒ นั้นเป็นทางพ้นทุกข์ เป็นทางรอด เป็นทางที่จะออกไปจากการเวียนว่ายตายเกิด สังขาร ๒ นี้เป็นหินลับปัญญา เป็นการต่อสู้ระหว่างกิเลสกับธรรม ระหว่างธรรมกับกิเลส
ธรรมต่างหากอยู่เหนือกิเลส แต่เป็นของที่ละเอียดอ่อนจนทำให้เราต้องมีความมุมานะ แล้วเป็นสิ่งที่โลกเขาไม่ค่อยได้สนใจกัน มันเลยเป็นคนส่วนน้อย เป็นชนกลุ่มน้อยในการปฏิบัติ เพราะคนที่จะรอดพ้นมีส่วนน้อย ธรรมส่วนน้อยแต่เป็นธรรมที่เป็นยอดของธรรม ส่วนใหญ่เขาอยู่กันในโลก ส่วนใหญ่เขาทำลืมเนื้อลืมตัวกัน
ชนกลุ่มน้อยแต่คุณค่ามหาศาล คุณค่าของสิ่งที่อยู่เหนือไง ยอดของเจดีย์ ยอดของพีระมิด ยอดของโลก ยอดของการประพฤติปฏิบัติ ยอดของการออกจากวัฏฏะ เป็นสิ่งที่เป็นไปได้สำหรับทุกๆ คน สิ่งที่เป็นไปได้ อยู่น้อยมันก็ต้องทำกัน เพราะว่าอะไร เพราะว่า น้อยยิ่งไม่ทำ ยิ่งน้อยเข้าไปใหญ่
แก่นแท้ แก่นของอะไร? แก่นของการจะออก แก่นที่เป็นไป แก่นที่เป็นหลัก แก่นที่ว่าเป็นหลักยึดของทุกฝ่าย ทุกๆ ฝ่ายอยากจะประพฤติปฏิบัติ ทุกๆ ฝ่ายแสวงหาแต่ผู้ชี้นำไง ไม่มีผู้ชี้นำ ไม่มีผู้นำทาง ชนกลุ่มน้อยถึงเป็นผู้นำทางอยู่ ก็จะให้คนกลุ่มน้อยนั้นเป็นชนกลุ่มน้อยแต่กลุ่มน้อยที่มีคุณค่าดี มีคุณค่าดีกว่ากว่าทุกๆ ฝ่าย ชนกลุ่มน้อยอยู่ในป่าลึก แต่อยู่ด้วยความบริสุทธิ์ผุดผ่อง อยู่ด้วยความเป็นสุข สุขของที่ว่าไม่มีสิ่งเจือปน สุขแบบพึ่งพาอาศัยตนเองได้ ไม่ต้องอาศัยภายนอกเข้าไปทำให้วุ่นวาย
โลกเขาอยู่ด้วยความวุ่นวาย อยากพึ่งพา อยากให้เป็นไป อยากพึ่งพาอาศัย อยากสะดวกอยากสบายก็เลยต้องเจ็บปวดแสบปวดร้อนอยู่ของเขา อยู่ชนกลุ่มน้อยอยู่ในป่าลึก แต่มีความสุขสบายของตัวเอง อันนั้นถึงจะเป็นคุณค่าไง มีคุณค่าประสาพวกเราผู้ปฏิบัตินะ ผู้ปฏิบัติผู้ตะเกียกตะกาย ผู้จะทำให้พ้นออกไป ออกไป ออกไปจากแรงดึงดูด ออกไปจากวัฏฏะ
น่าเห็นใจมาก น่าเห็นใจ