ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

นอก-ใน

๒๒ ก.ค. ๒๕๖o

นอก-ใน

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๖๐

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี


ถาม : เรื่อง “ขันธ์หยาบ ขันธ์กลาง ขันธ์ละเอียด”

กราบนมัสการหลวงพ่อ กระผมเคยส่งคำถามมาขอโอกาสหลวงพ่อมาแล้วประมาณปี ๒๕๕๔ ก็ยังปฏิบัติเรื่อยมา

ตอนนี้พิจารณาขันธ์ที่เป็นเครื่องกระทบจากตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นอารมณ์ที่ปรากฏในวงนอก เวทนาที่ปรากฏก็รวมอยู่ในตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้ รู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นขันธ์หยาบๆ เข้ามาวงใน การอุปาทานในขันธ์หยาบเกิดจากสังขาร สัญญา ความชอบ ความชัง จิตจะพิจารณาตอนนี้ได้ต้องใช้สมาธิตั้งมั่นมาก บางทีพิจารณาจับได้แค่วงนอกๆ วงในนี้ผมเรียกว่าขันธ์กลาง ส่วนวงในสุดเป็นความสว่างว่างจากอารมณ์ เคยเข้าถึงน้อยครั้งมากๆ จิตอยู่เฉยๆ ไม่ได้ไปพิจารณาอะไร เพราะหลงเสวยความสุขในความว่าง วงในสุดนี้ผมเรียกขันธ์ละเอียด

ผมแยกแยะเอาตามความรู้สึกจากการปฏิบัติ ผิดถูกต้องขอโอกาสพ่อแม่ครูอาจารย์แนะนำ เพราะตอนนี้เห็นขันธ์หยาบปรากฏชัด แต่ด้วยความชอบความชัง ก็พาให้ยึดในขันธ์หยาบ เห็นขันธ์หยาบเป็นแค่อารมณ์หนึ่ง แต่ใจก็ยังหมายชอบ หมายชัง หมายดี หมายชั่ว ผมก็พยายามทำสมาธิให้มากขึ้นเพื่อจะได้เห็นสายใยที่โยงขันธ์ในออกมาจากขันธ์นอก แต่ก็ยังไม่ได้เท่าไรนัก สมาธิยังไม่ค่อยมีกำลัง ที่กระผมพิจารณาอยู่อย่างนี้ผิดประการใด ขอโอกาสท่านอาจารย์สอนด้วย

ตอบ : อันนี้พูดถึงว่า ขันธ์นอก ขันธ์กลาง ขันธ์หยาบ มันก็เป็นแบบว่าทัศนคติ

เวลาครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติ อย่างเช่นท่านพิจารณาในการพิจารณากาย เวลาหลวงตาท่านพูดถึงว่าท่านจะไปพบหลวงปู่เจี๊ยะ ท่านจะพูดกับหลวงปู่เจี๊ยะว่า “ท่านเจี๊ยะ ท่านเจี๊ยะ พระองค์นั้นท่านถนัดพิจารณากายนะ พระองค์นี้ถนัดพิจารณา” นี่เป็นความถนัดไง

อย่างเช่นที่เราเคยไปกราบท่านอาจารย์จันทร์เรียน ท่านอาจารย์จันทร์เรียนท่านพูด บอกว่า “หลวงปู่ชอบภาวนาสู้เราไม่ได้ หลวงปู่ชอบภาวนาสู้เราไม่ได้”

ทีแรกเราฟังเรายัง เอ๊ะ! ทำไมอาจารย์ท่านพูดอย่างนี้ แล้วท่านก็อธิบายไง เพราะหลวงปู่ชอบเวลาท่านนั่งสมาธินี่ท่านไม่ถนัด ท่านนั่งได้เวลา ๒-๓ ชั่วโมงอย่างมาก แต่ท่านอาจารย์จันทร์เรียนท่านนั่งทีหนึ่ง ๗-๘ ชั่วโมง

แต่ท่านพูดช่วงท้ายไง “แต่ถ้าเดินจงกรมนะ เราสู้หลวงปู่ชอบไม่ได้” หลวงปู่ชอบท่านเดินจงกรมทั้งวันทั้งคืน ท่านเดินจงกรมตลอด เห็นไหม ท่านถนัดในการเดิน แต่ท่านไม่ถนัดในการนั่ง แต่ท่านก็อาศัยนั่งสมาธิเป็นการผ่อนคลายเป็นอิริยาบถ ๔ แต่ท่านอาจารย์จันทร์เรียนท่านถนัดในการนั่ง แต่ท่านไม่ค่อยถนัดในการเดิน นี่พูดถึงว่าจริตนิสัยของครูบาอาจารย์แต่ละองค์มันแตกต่างกันไป

นี่พูดถึงว่า เราเอาจริต เอานิสัย เอาความถนัด พอเอาความถนัดแล้วมาเปรียบเทียบกับคำว่า “ขันธ์หยาบ ขันธ์กลาง ขันธ์ละเอียด”

ไอ้ขันธ์อย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด เราฟังเทศน์ท่านอาจารย์มา ฟังเทศน์หลวงตามา หลวงตาท่านก็จะพูดของท่านอย่างนี้

เวลาหลวงตาท่านพูดของท่านอย่างนี้ เราพิจารณาของเรา มันจะเป็นอย่างนั้นได้หรือไม่ ถ้ามันไม่เป็นอย่างนั้น เราอยากให้เป็นแบบนั้น เราพยายามสร้างความสำคัญว่าเป็นแบบนั้น ถ้าสร้างความสำคัญว่าเป็นแบบนั้น ความเป็นจริงของเรา สติ สมาธิของเรามันพิจารณาไปมันจะไปอีกรูปแบบหนึ่ง

แต่ถ้าเป็นออกอีกรูปแบบหนึ่ง มันเข้าถึงความลึกซึ้งในหัวใจ เข้าถึงกิเลสของเรา อันนั้นมันจะเป็นประโยชน์กับเรานะ แต่เวลาถ้ามันตรงจริตนิสัย มันจะภาวนาของมันได้

ฉะนั้น ขันธ์อย่างหยาบ ขันธ์อย่างกลาง ขันธ์อย่างละเอียด เวลาครูบาอาจารย์ท่านอธิบาย ท่านก็อธิบายโดยประสบการณ์ของท่าน โดยความจริงของท่านไง

ฉะนั้น เวลาที่เราประพฤติปฏิบัติ เขาบอกว่า ผู้ถามเคยถามปัญหามาตั้งแต่ ๒๕๕๔ ปัญหาตั้งแต่ ๒๕๕๔ แล้วก็ปฏิบัติมาเรื่อย ปฏิบัติมาเรื่อยจนพิจารณาขันธ์ เห็นรูปกระทบจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันปรากฏเป็นวงนอก แต่ถ้าเป็นเวทนา เวทนา ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันสิ่งที่เป็นหยาบๆ แต่ถ้าเป็นอุปาทาน ถ้าเป็นอุปาทานนี่เป็นขันธ์อย่างกลาง ถ้าเป็นวงใน เป็นความว่าง นี่เป็นขันธ์อย่างละเอียด

เราจะบอกว่า ขันธ์มันก็คือขันธ์ ขันธ์นอก ขันธ์ใน เวลาขันธ์ข้างนอก กายนอก กายใน กายภายนอกก็คือร่างกายของเรานี่ เวลากายภายใน เวลาจิตสงบแล้วมันเห็นภาพนิมิตในจิตนั้นมันเป็นกายภายใน แต่เวลาจริงๆ แล้วก็คือกายนอกทั้งหมด กายนอกทั้งหมดเพราะอะไร เพราะสิ่งนี้มันเกิดจากจิตที่มันเห็น พอเกิดจากจิตที่มันเห็น จิตที่มันพิจารณาไปก็คือการพิจารณากาย

การพิจารณากายเพื่ออะไร เพื่อถอดถอนสังโยชน์ สักกายทิฏฐิความเห็นผิดในกาย ถ้าความเห็นผิดในกาย พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถ้ามันไม่ได้ถอดถอนถึงสังโยชน์ ไม่ได้ถอดถอนกิเลส มันก็เป็นสภาวะของเห็นกายโดยสติปัฏฐาน ๔ เห็นกายโดยความเป็นจริง

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราพิจารณาขันธ์ๆ ถ้าเราพิจารณาขันธ์ของเรามันก็คือขันธ์ เวลาจิตถ้ามันสงบระงับขึ้นมาแล้วมันพิจารณาโดยความละเอียดรอบคอบมันก็ลึกซึ้ง แต่ถ้าจิตมีสติมีปัญญามากน้อยขนาดไหน ถ้ามันจับขันธ์ได้มันก็คือขันธ์

แล้วเวลาขันธ์ บอกว่า ถ้ามันเห็นรูป รส กลิ่น เสียงภายนอกโดยอาการกระทบเป็นขันธ์ภายนอก

ขันธ์ภายนอกก็เราแบ่งของเราเองไง ฉะนั้น ครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติท่านบอกว่าภายนอกและภายใน ภายนอก ภายนอกคือสังคมโลก ภายนอกคือสิ่งกระทบอายตนะ ภายใน ภายในก็คือเกิดจากจิต เกิดจากความเห็นจากภายใน

แต่เวลาพิจารณาแล้ว ถ้าพิจารณาภายในจนปล่อยวางหมด ปล่อยวาง ปล่อยวางขนาดไหนปล่อยวางชั่วคราว แต่มันไม่ปล่อยวางกิเลส เห็นไหม เราก็ต้องออกมาพิจารณาจากภายนอก ภายนอกพิจารณาขึ้นไปให้มันหดสั้นเข้ามาจากภายใน

นี่พิจารณาภายในจนภายในมันเข้าใจของมัน

เข้าใจแต่มันไม่ถอดไม่ถอนไง ไม่ถอดไม่ถอนคือกิเลสมันบังเงาไง กิเลสมันปลิ้นปล้อน กิเลสมันหลอกลวง เราก็ชักออกมาให้พิจารณาจากภายนอกก่อน ถ้าพิจารณาจากภายนอก มันปล่อยวางภายนอกขึ้นมา มันปล่อยวางภายนอกขึ้นมา เดี๋ยวภายในมันก็โผล่ขึ้นมา ถ้าพิจารณาภายใน เขาพิจารณาซ้ำซากอย่างนี้ พิจารณาจากภายนอก ภายใน พิจารณาจากการแยกแยะ การพิจารณาอย่างนี้ นี่การฝึกหัด

ฉะนั้น ภายนอก ภายใน ภายนอก ภายในจากความสำคัญของเรา ขันธ์อย่างหยาบ ขันธ์อย่างกลาง ขันธ์อย่างละเอียด มันเป็นความสำคัญของเราไง ถ้าเป็นความสำคัญของเรา เราสำคัญว่านี่เป็นภายนอก นี่เป็นภายใน

ข้าว ข้าวนี้เป็นข้าวอยู่ภายนอก แล้วถ้าตักอยู่ในจาน ข้าวอยู่ในจาน ถ้าข้าวอยู่ในจาน ข้าวมันอยู่ในปากก็เคี้ยวข้าวอยู่ในปาก มันก็เป็นข้าวน่ะ แต่มันก็อยู่นอกกายเราทั้งนั้นน่ะ

นี่ก็เหมือนกัน ขันธ์นอก ขันธ์ใน อันนี้มันเป็นความเข้าใจ มันเป็นปัญญา ไอ้จะบอกว่ามันผิด มันไม่ถูกต้อง มันก็ไม่ใช่ มันเป็นปัญญาเป็นขั้นตอน ปัญญาที่มันหยาบละเอียดที่มันพิจารณาของมัน

แต่ถ้าบอกว่าจะให้เป็นแบบขันธ์นอก ขันธ์ใน ขันธ์หยาบ ขันธ์ละเอียด

อันนี้มันก็เป็น อย่างเช่นอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด ในอย่างหยาบก็มีอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด ในอย่างกลางก็มีหยาบ มีกลาง มีละเอียด ในอย่างละเอียด ในอย่างละเอียดก็มีหยาบ มีกลาง มีละเอียด เพราะความละเอียดนั้นก็ละเอียดแบบหยาบๆ ละเอียดแบบกลาง ละเอียดแบบละเอียด นี่มันเป็นปัญญาของคนนะ

เพราะดูสิ ดูปัญญาของพระสารีบุตรสิ พระสารีบุตรมีปัญญามาก ดูสิ พระโมคคัลลานะไปฟังเทศน์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๗ วันเป็นพระอรหันต์เลย พระสารีบุตรยังไม่เป็นสักที เพราะคนที่มีปัญญามากมันก็ต้องใช้ปัญญาแยกแยะมาก

คนมีปัญญามาก คนมีความรู้มาก มันก็คนมีกิเลสมาก เพราะกิเลสมันก็อาศัยปัญญานั้นน่ะมาเทียบเคียงใช่ไหม คนมีปัญญาปานกลาง กิเลสมันก็หลอกได้แค่ปานกลางไง คนมีปัญญาน้อย เวลาปัญญาที่มันเกิดขึ้น มันเกิดขึ้นมันล้นท่วมท้นกิเลส มันชำระล้างกิเลสได้ไง

นี่พูดถึง มันจะหยาบ จะกลาง จะละเอียด มันอยู่ที่วาสนา อยู่ที่สติปัญญาของคน แต่ถ้าเป็นธรรมๆ เป็นอันเดียวกันหมดน่ะ จะมีปัญญามาก ปัญญาน้อย เวลามันขาด มันสำคัญตรงสังโยชน์ขาด สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส

เราฟังพระมาเยอะ พระเวลาพูดธรรมะแจ้วๆๆ เลย พอมาย้อนถึงสมุจเฉทปหาน ยกให้อริยสัจเลยนะ ยกให้ตำรา เวลาอธิบายตามตำราไง ไม่กล้าอธิบายตามความเป็นจริง ถ้าอธิบายตามความเป็นจริงมันจะรู้ได้เลยว่าถูกผิด ถ้าอธิบายผิดคือผิด แล้วคนไม่เคยเห็นอธิบายไม่ได้ ถ้าอธิบายได้มันจะเป็นได้ นี่เราถึงบอกว่า ถ้าเป็นหยาบ เป็นกลาง เป็นละเอียดไง

ทีนี้ว่าเป็นหยาบ เป็นกลาง เป็นละเอียด นี่คือหลวงตาท่านพูดโดยหลวงตาท่านมีปัญญา หลวงตาท่านมีสติปัญญามากท่านก็พิจารณาของท่าน แล้วเราได้ฟังเทศน์ท่านมาเยอะไง เราก็เลยจำขี้ปากท่านมาพูดต่อไง

แล้วเราพูดไปๆ ไอ้โยมฟังบ่อยๆ เข้ามันก็เลยซึมซับเข้าไปเป็นความคิดไง มันก็เลยออกมาเป็นมีหยาบ มีกลาง มีละเอียด ฟังบ่อยๆ มันก็ซับเข้าไปในสมอง พอซับไปในสมอง เวลาปฏิบัติไปมันก็เห็นรูปแบบนั้นเลย แต่มันเป็นความจริงของเราไหม มันไม่เป็นความจริง

ถ้าเป็นความจริงมันถอดถอนกิเลส ถอดถอนทุกข์ อันนั้นเราปฏิบัติธรรมเพื่อเหตุนั้น เราปฏิบัติธรรมก็ด้วยสติด้วยปัญญา ด้วยถอดด้วยถอน ด้วยทำลายอวิชชาความไม่รู้ในหัวใจของเรา

แต่สิ่งที่ครูบาอาจารย์ท่านเทศนาว่าการ เพราะกึ่งพุทธกาลศาสนาจะเจริญอีกหนหนึ่ง เจริญขึ้นมาจากหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านเทศนาว่าการจากความจริงในใจของท่าน ท่านแยกแยะธรรมะ โอ้โฮ! ละเอียดลึกซึ้งไง

เวลาคนไง เวลาพระทั่วไปอ่านหนังสือ คืออ่านใบลาน เราก็เรียบเรียงมา เรียบเรียงมาเพื่อให้แสดงธรรม

แต่ถ้าเป็นภาคปฏิบัติเขาต้องออกมาจากประสบการณ์ ออกมาจากความจริงเลย ออกมาจากประสบการณ์ เพราะประสบการณ์มันทำได้จริง มันออกมา พูดเมื่อไหร่ก็ได้ หลวงตาบอกว่า มีมีดอยู่เล่มหนึ่งจะใช้สอยเมื่อไหร่ก็ได้

แต่ถ้าเป็นตำรับตำรา มันมีดอยู่ในฝักไง บางทีมีดอยู่ในครัวไง เวลาจะใช้ เดี๋ยวๆๆ ไปครัวก่อน เปิดประตูเข้าไปหามีด อ้าว! ได้มีดมาแล้ว เออ! นี่ก็เหมือนกัน โอ๋ย! ปัญญาๆ ปัญญาต้องเปิดตู้พระไตรปิฎกก่อน มันต้องไปค้นคว้าไง

แต่ถ้าเป็นความจริงๆ มีดอยู่กับมือเลย จะใช้สอยเมื่อไหร่ นี่ครูบาอาจารย์ท่านเป็นแบบนั้นไง

ฉะนั้นบอกว่า ขันธ์อย่างหยาบ ขันธ์อย่างกลาง ขันธ์อย่างละเอียด ที่ทำมานี่ถูกต้องหรือไม่

การประพฤติปฏิบัติขึ้นมามันก็ถูกต้องดีงามเพราะคนเราขวนขวายเพื่อประโยชน์ไง แต่ถ้าประโยชน์แล้วมันทำซ้ำ ทำซ้ำพิจารณาซ้ำ กลับมาทำสัมมาสมาธิ กลับมาไง

เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเพื่อผ่อนคลายความทุกข์ไง ชีวิตของเรามันมีความทุกข์มาก แล้วทำมาหากินขึ้นมามันก็เป็นการขวนขวายการหาอยู่หากินนั่นน่ะมันก็เป็นหน้าที่การงานทั้งนั้นน่ะ ทำไปแล้วมันก็ต้องใช้พลังงานไง เหนื่อยยากทั้งนั้นน่ะ แล้วพอเหนื่อยยากก็ทำบุญกุศลเพื่อให้ได้พักได้ผ่อน ได้มีบุญกุศลเพื่อส่งเสริมไง เรามาปฏิบัติหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ เพื่อผ่อนคลาย เพื่อให้จิตสงบ

สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี ความรู้สึกความสงบจริงๆ แล้วมันหาได้ที่หัวใจของเรานี่ หัวใจเรานี่ แต่เราก็วิ่งไปรอบโลกเลย ไปเที่ยว จะไปเที่ยวอวกาศกันเพื่อจะมีความสุขบ้างไง

แต่ถ้าหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ นั่งอยู่นี่ ถ้าจิตมันสงบ โอ้โฮ! สุขสุดยอด สุขที่ไม่เจือด้วยอามิส สุขโดยจิตที่มันสงบขึ้นมา แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถอดถอนอวิชชาแล้ว วิมุตติสุขนั้นมันยิ่งสุขมากเลย

นี่พูดถึงในการปฏิบัติไง ถ้าในการปฏิบัติแล้วเราต้องปฏิบัติต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ว่าปฏิบัติแล้ว เวลาปฏิบัติ การทำงานใช่ไหม มันก็ต้องเหนื่อยยากเป็นธรรมดา หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ มันก็ต้องตั้งสติ ต้องทำ มันก็ต้องตั้งสติ ต้องมีการกระทำ มันก็เหนื่อยยากเป็นธรรมดา ถ้าธรรมดา ธรรมดาก็ทำเพื่อฝึกหัดตัวเราไง ถ้าเราคิดอย่างนี้แล้วเรามีเป้าหมายอย่างนี้ เราทำของเราไปเรื่อยๆๆ ไง

ไม่ใช่ทำแล้วมันทุกข์มันยาก ทำแล้วไม่เห็นได้อะไรเลย โอ๋ย! มันเสียเวลาเปล่า

ไม่ทำก็เสียเวลา เวลามันกระดิกไปอย่างนั้นน่ะ คนเกิดมาแล้วอายุขัยมันมีของมันโดยธรรมชาติ ทำสิ่งใดได้มากได้น้อยแค่ไหนก็แค่นั้นน่ะ แต่นี่เราทำของเรา เห็นไหม

ขันธ์อย่างหยาบ ขันธ์อย่างกลาง ขันธ์อย่างละเอียด มันก็เป็นปัญญา ปัญญาที่เราค้นคว้าเราแสวงหาของเรา นี่เป็นการประพฤติปฏิบัติ เป็นจากการกระทำในหัวใจของเรา เพราะเวลาปฏิบัติ ปฏิบัติเพื่อฝึกให้ใจนี้มันฉลาด ฝึกให้หัวใจ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ

เพราะมีอวิชชามืดบอดมันถึงได้เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ ถ้ามันประพฤติปฏิบัติขึ้นมาจนหูตาสว่างแล้ว มันมีวิชชา มีความรู้ในใจขึ้นมา เราประพฤติปฏิบัติเพื่ออริยทรัพย์ เพื่อทรัพย์ของเราไง

คนมีการศึกษา ศึกษามาจนจบ มีความรู้ ความรู้นั้นก็ทบทวนตลอด แต่ถ้าเราปฏิบัติเป็นความจริงในหัวใจเรา เป็นปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก มันประสบการณ์มันกระจ่างแจ้งในใจ นี่ภาคปฏิบัติมันเป็นแบบนี้

นี่พูดถึงคำถามไง ถามว่า ที่ทำมาอย่างนี้มันถูกต้องหรือไม่ ที่ทำมาผิดพลาดประการใด

ผิดพลาดประการใด เราก็ตั้งสติปฏิบัติของเราต่อเนื่องไป นี่เราทำของเรา ทำของเรา

นี่บอกทำไปแล้วมันจะมีความชอบ ความชัง มันยังยึดในขันธ์

มันเป็นเรื่องธรรมดาเพราะสังโยชน์ไม่ขาด ถ้าสังโยชน์ขาดมันเห็นเลยนะ ขาดต่อหน้า เวลาขาดต่อหน้า สมุจเฉทปหาน นี่เป้าหมายของนักปฏิบัติ เป้าหมายของนักปฏิบัติต้องการอริยทรัพย์ ต้องการทรัพย์ความจริงในใจ อันนี้จะเป็นประโยชน์กับเรา นี่พูดถึงภายในนะ จบ

ต่อไปจะเป็นภายนอก ภายนอกนี่เป็นเรื่องเลยนะ

ถาม : เรื่อง “พระรับเงินรับทอง สะสมเงินและทอง”

กราบนมัสการหลวงพ่อที่เคารพ กระผมชื่อต้นครับ เคยส่งคำถามและเคยมากราบและทำบุญที่วัดหลวงพ่อครับ เพื่อขอให้หลวงพ่อเมตตาตอบคำถาม ส่วนมากเป็นเรื่องนอกตัว คือสงสัยเรื่องนอกตัว (ผมยังปฏิบัติไม่ถึงไหนครับ ล้มๆ ลุกๆ จึงไม่ค่อยมีคำถามด้านการปฏิบัติมากราบถามหลวงพ่อ)

ครั้งก่อนผมถามเรื่องพระใช้มือถือ ซึ่งหลวงพ่อเมตตาตอบแล้ว ขอกราบขอบพระคุณที่หลวงพ่อเมตตาตอบครับ ครั้งนี้ผมจะถามสิ่งที่ผมสงสัยจากการได้สัมผัส ได้เห็น ทั้งที่วัดของหลวงพ่อเองและวัดป่ากรรมฐานอื่นๆ รวมถึงวัดทั่วๆ ไป เรื่องพระรับเงินรับทอง จับเงินทอง สะสมเงินทอง ดังนี้ครับ

๑. ในกรณีวัดของหลวงพ่อจะมีการเขียนใบปวารณาบัตร แล้วเอาเงินใส่ในลิ้นชัก แล้วเอาใบปวารณาถวายหลวงพ่อ คือญาติโยมจะได้แค่จุดนี้

๒. วัดป่าอีกหลายที่ที่ผมไปทำบุญ ท่านก็ทำในแนวเดียวกัน ก็คือเอาเงินใส่ในซองขาวกองไว้หน้าองค์ท่าน กรณีท่านเมตตานั่งเทศนาตามอัธยาศัย แล้วถวายใบปวารณาบัตร

ทั้งข้อ ๑. และ ๒. ผมว่าเป็นแนวทางที่ผมเลื่อมใส คือพระไม่ได้จับเงินและทองแน่นอน แต่ผมสงสัยว่าใครเป็นคนนับเงินครับ ใครเป็นคนเอาเงินไปนับ ไปฝากธนาคาร (ถ้ามี) ใช้ไวยาวัจกรหรือลูกศิษย์ใช่หรือไม่ครับ แล้วหลวงพ่อหรือพระที่รับใบปวารณาต้องเอายอดใบปวารณากับเงินที่ไวยาวัจกรนับมาได้เทียบยอดหรือไม่ครับว่าขาดหายหรือมีอยู่เท่าไร

หลวงพ่อ : ปปง. มันจะตรวจแล้วแหละ

ถาม : ผมเคยถามพระองค์อื่นมาก่อน ท่านว่า ไม่ได้ ไปทำการตรวจสอบแบบนั้นไม่ได้ จะอาบัติ ถือว่ายินดีในเงินและทอง

แล้วเงินนั้นถ้าเอาไปฝากบัญชีในชื่อหลวงพ่อ หรือชื่อของพระ หรือเจ้าอาวาส ตามวินัยบัญญัติว่า ห้ามพระรับเงินรับทอง สะสมเงินและทอง (ผมอ่านมาคร่าวๆ แต่ไม่แน่ใจว่าเข้าใจถูกหรือไม่)

การมีเงินในบัญชีถือว่าเข้าวินัยข้อนี้หรือไม่ อย่างไรครับ ถ้ามีบัญชีแสดงว่าองค์ท่านย่อมทราบยอดว่าเงินเข้าออกเท่าไร มันคือการสะสมเงินทองใช่หรือไม่ครับ จะต้องทำแบบไหนที่ไม่ผิดวินัยในข้อนี้ครับ

หลวงพ่อ : นี่ประเด็นหนึ่งนะ

ถาม : ๓. ผมรู้จักพระรูปหนึ่ง ท่านรับเงิน จับเงิน รับเงินรับทอง เช่น บิณฑบาตมา ญาติโยมใส่ให้ หรือญาติโยมถวายใส่ซองขาวให้ โดยท่านให้เหตุผลว่า หนึ่ง พระพุทธเจ้าไม่ได้ห้ามให้ฆราวาสถวายเงินนี้ พระต้องถือเอง เพราะไวยาวัจกรชอบโกงหรือหาคนไว้ใจมาทำการแทนไม่ได้ หรือถ้ากรรมการวัด พระอยู่ในอาณัติของกรรมการวัด ต้องเชื่อฟังฆราวาส และองค์ท่านจำวัดอยู่องค์เดียว ถ้าไม่ถือเงิน บริหารเงินเอง ใครจะมาทำให้ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าข้าวสุนัข ค่าน้ำมันรถยนต์ที่ต้องให้คนขับพาไปบิณฑบาต แบบนี้พระวินัยยกเว้นหรือไม่ครับ

กระผมส่งคำถามมาเพื่อด้วยความสงสัย มิได้มีเจตนาประมาทล่วงเกินในคุณธรรมของครูบาอาจารย์แม้แต่น้อย เพียงแต่สงสัย และอยากรู้ในข้อวัตรหรือวิธีการที่ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย หรือเป็นความรู้แก่ผมและบุคคลทั่วไป รวมถึงพระสงฆ์องค์เจ้าที่อาจจะทำผิดวินัยในข้อนี้อยู่ และเพื่อความเลื่อมใสยิ่งๆ ขึ้นไป คลายข้อสงสัยของชาวพุทธโดยส่วนมาก กราบขอเมตตาหลวงพ่อโปรดเทศนาชี้ข้อสงสัยและข้อธรรมเพื่อปฏิบัติถูกต้องถูกธรรมถูกวินัย เพื่อยังประโยชน์และจรรโลงพระศาสนาให้พุทธศาสนิกชนทั่วไปด้วยเถิด

ตอบ : ไอ้นี่เวลาพูดมันก็พูด ทุกคนเจตนาดีทั้งนั้นน่ะ หวังดีทั้งนั้นน่ะ แต่หวังดีอย่างนี้มันเป็นเรื่องเปลือกๆ เรื่องข้างนอก เรื่องข้างนอก หมายความว่า เรื่องนี้ถ้ามาคุยกับเราตอนเราบวชพรรษาแรกจะสนุกเลย เพราะเราบวชใหม่ๆ เราก็งง เราก็ลำบากมาเยอะนะ

ตอนบวชมาแล้ว เพราะว่าบวชแล้วก็ไม่รับเงินรับทองนี่แหละ เพราะบวชอยากปฏิบัติ แสวงหาครูบาอาจารย์มา แล้วเวลาจะเดินทาง แล้วพอเดินทางแล้ว สมัยนั้นนะ เขาแลกเป็นตั๋วไปรษณียบัตร เวลาให้ค่ารถ เวลาคนรถเห็นเราชักไปรษณีย์มันสะบัดหน้าหนีเลย “เฮ้อ! อีกแล้ว” คือเขาขี้เกียจไปแลกไง แล้วเราไม่มีเงินจะขึ้นรถใครได้อย่างไรล่ะ เพราะเราก็ไม่มีเงินมีทอง เราก็ลำบากลำบนมาเยอะนะ

แล้วพระที่เขาขี้เกียจลำบากเขาก็เอาหนังสือสวดมนต์ แล้วก็เอาเงินใส่ในหนังสือ แล้วก็บอกว่าถือหนังสือ ไม่ถือเงิน แล้วไปถึงไหนก็เปิดให้คนหยิบ

นี่ปัญหาโลกแตกนะ ปัญหาเรื่องเงินเรื่องทองนี่ปัญหาโลกแตก

แต่ของเรานะ เราปรารถนา เราบวชมาแล้วบวชเพื่อจะพ้นจากทุกข์ ในเมื่อชีวิตนี้มันทุกข์ยากมาก ฉะนั้น ความทุกข์ขนาดนี้ใครจะยอมรับความทุกข์อย่างนี้ไม่ได้ ถ้าความทุกข์อย่างนี้มันลำบากนัก แล้วเวลามันเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะมันทุกข์กว่านี้เยอะนัก ขนาดนี่บวชใหม่ๆ ไม่มีปัญญานะ มันยังคิดได้อย่างนี้เลย อันนี้ยังไม่มีปัญญาน่ะ

ทีนี้พออยู่ในสังคมสงฆ์ก็รู้ก็เห็นมาเยอะ ขณะที่เราเที่ยวอยู่นี่ไม่หยิบเลย ไม่แตะเลย แล้วเวลาไม่หยิบเลย ไม่แตะเลย ในวงของพระ เวลาพระกรรมฐานอยู่ทางภาคอีสาน บางคนเขามีเงินมีทองใส่ในกลดให้ผู้ขับสามล้อส่งต่อๆ กันไป แล้วเขาจะมาคุยกันว่าใครบ้างที่โดนสามล้อเชิดเงินไป ใครบ้างโดนคนนั้นอมเงิน เวลาฝากขอร้องให้โยมช่วยไปแลกเปลี่ยนอะไรให้ หายไปเลย

ในวงการพระเขาคุยเรื่องอย่างนี้กันเยอะแยะ แต่เขาคุยกันไว้เป็นประสบการณ์ไง ในวงกรรมฐาน ในเพื่อนเราที่ธุดงค์มาด้วยกัน เรื่องนี้ประสบการณ์อย่างนี้เจอกันมาทุกองค์

แล้วพอเจอแล้วเพราะอะไร เพราะพระอยู่กับโลก แล้วพระช่วยตัวเองไม่ได้ เราถึงมาศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์ไง ประวัติศาสตร์สมัยโบราณ สมัยประเทศไทยยังไม่ ๒๔๗๕ ประเทศไทยเป็นประเทศพระพุทธศาสนา รถเมล์มีที่ให้พระนั่งเลย พระนี่ฟรีทุกอย่าง

พอใน ๒๔๗๕ เกิดคณะราษฎร์ เกิดการยึดอำนาจ เกิดการประชาธิปไตย ก็เลยจัดพระให้มาเป็นข้าราชการเหมือนกัน เวลาพระขึ้นรถก็มีส่วนลดไง ฉะนั้น พระก็ต้องมีค่ารถค่าราไง

แต่ก่อนหน้านั้นนะ ดูสิ เราอ่านประวัติของหลวงปู่หล้า หลวงปู่หล้า เขมปัตโต หลวงปู่หล้าท่านจะไปภูเก็ต ท่านบอกว่า ก่อนหน้านั้นเดินทางสะดวกมากเพราะพระไม่ต้องอาศัยเงิน ไม่ต้องมีเงิน ขึ้นรถไฟฟรีหมด เพราะสมัยนั้นก่อน ๒๔๗๕ พระนี่ยกเว้นหมดเลย

แต่พอ ๒๔๗๕ ออกกฎหมายประชาธิปไตย ความเสมอภาค พระต้องมาจ่ายค่ารถ หลวงปู่หล้าท่านเลยบอกว่าไปไม่ได้ ท่านต้องมารอที่กรุงเทพฯ มารอครูบาอาจารย์เพื่อไปกิจนิมนต์ ได้เงินแล้วถึงเอาเงินนี้มาซื้อตั๋ว ซื้อตั๋วรถไฟเพื่อจะไปภูเก็ตกันน่ะ เราอ่านประวัติหลวงปู่หล้า ไปอ่านประวัติหลวงปู่หล้าสิ

พูดถึงว่าสังคมที่สูงส่ง สังคมที่เขาดูแล สังคมนะ รถเมล์ เมื่อก่อนรถเมล์สมัยที่เรายังไม่บวช รถเมล์มันจะมีที่นั่งพระอยู่ข้างหลังสองที่ รถเมล์ในกรุงเทพฯ เขาจะมีที่นั่งของพระ เพราะพระเขาต้องมีการศึกษาในกรุงเทพฯ

เดี๋ยวนี้พระขึ้นรถเมล์ รถเมล์มันไม่รับนะ รถเมล์เจอพระมันไปก่อนเลย บอกว่าหัวโล้นตัวยุ่ง เกะกะ โยมขึ้นไม่ได้ ลำบากลำบนไปหมด นี่พูดถึงประชาธิปไตย แต่ก่อนหน้านั้นมันจะดีมาก

นี่พูดถึงเรื่องเงินเรื่องทอง มันก็ต้องพูดถึงที่มาที่ไปสิ

ถ้าเรื่องเงินเรื่องทองนี่ไม่รับเด็ดขาด แล้วเมื่อก่อนนั้นมันก็รับกันมา รับกันมาจนมีพระจอมเกล้าฯ พระจอมเกล้าฯ มาตั้งธรรมยุตขึ้นมา แล้วดูสิ เช่น หลวงปู่ชา ประวัติหลวงปู่ชา หลวงปู่ชาท่านพูดเอง เมื่อก่อนท่านก็รับเงินรับทองเพราะท่านบวชเป็นมหานิกาย แต่ท่านมาพิจารณาดูแล้วมันไม่สมควร ท่านถึงปฏิญาณตนกับมหาอะไรที่ในประวัติของท่านน่ะ “มหา จำไว้นะ ตั้งแต่บัดนี้ไปเราจะไม่หยิบเงินหยิบทองเลย” แล้วท่านก็ไม่หยิบเงินหยิบทองมาตลอด

ฉะนั้น คนที่เขาจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเขาเห็นมรรคผลมีคุณค่ามากกว่าเงินและทองเยอะมาก เงินทองเป็นเรื่องไร้สาระ นี่พูดถึงถ้าผู้ที่ประพฤติปฏิบัติมีเป้าหมายหวังมรรคหวังผลนะ เรื่องเงินเรื่องทองนี่ไร้สาระมาก

ทีนี้พอว่าไร้สาระแล้วเขามาถวายหลวงพ่อ เรื่องใบปวารณาหลวงพ่อยังรับเลย

นี่ไง เราพูดถึงเป้าหมาย ถ้าพระที่เป็นพระจริงๆ ไอ้เรื่องเงินและทองนี่ไร้สาระเลย ไร้สาระมาก เพราะอะไร เพราะพระบวชมาเขาบวชมาเพื่ออะไร

ไอ้นี่พระบวชมาแล้วก็มาวิตกกังวลกับเรื่องปัจจัย ๔ เรื่องปัจจัย ๔ มันก็เข้ากับวินัยนะ ถ้าเข้ากับวินัย เรื่องอย่างนี้ สิ่งที่ว่ารับเงินรับทอง เราจะบอกว่ารับเงินรับทอง โย ปน ภิกฺขุ ชาตรูปรชตํ อุคฺคเณฺหยฺย วา อุคฺคณฺหาเปยฺย วา

ในปาฏิโมกข์ ภิกษุรับเงินก็ไม่ได้ รับทองก็ไม่ได้ ยินดีในทองไม่ได้ ยินดีในเงินไม่ได้ ไม่ได้หมด ไม่ได้ พอคำว่า “ไม่ได้” เพราะมันเป็นเรื่องวินัยเพื่อบังคับไง

แต่คนที่ปฏิบัติแล้ว พระมันไม่มีเงินไม่มีทองอยู่แล้ว หลวงปู่มั่นอยู่ในป่ามีเงินมีทองสักบาทไหม ไม่มีหรอก เดินไปด้วยเท้า หาอยู่หากินไปตามธรรมชาติ เงินทองกินไม่ได้ แบงก์กินไม่ได้หรอก กินแต่ข้าว เอาแบงก์ไปก็กินอะไรไม่ได้ ในป่าซื้อ ไม่มีอะไรขายให้หรอก เงินทองไม่มีความหมายหรอก ไม่มี

แต่พอมันมาเป็นวัดเป็นวา พอเป็นวัดเป็นที่แล้ว เราจะบอกนะ ภิกษุห้ามรับเงินและทอง แต่นางวิสาขาจะไปวัด ถอดเครื่องทองทั้งหมดไว้นอกวัด แล้วนางวิสาขากลับแล้วลืมไว้ไง

นี่เหมือนกัน เวลาคนมาวัด เวลาโยมใส่ทองมาแล้วตกต่อหน้าเรานี่ โยมใส่ทองมานะ แล้วตกตรงหน้าเรานี่ แล้วโยมกลับไปแล้ว ภิกษุห้ามรับเงินรับทองนะ แต่ถ้าของมันตกอยู่นี่ ถ้าภิกษุไม่เก็บทองอันนี้ไว้ ภิกษุเป็นอาบัตินะ

เพราะเราเก็บทองไว้เพื่อเจ้าของทอง ถ้าเขามาถามหาว่าทองเขาตกที่นี่มีหรือไม่ ให้คืนทองนี้แก่เขาไป ถ้าเราเก็บทองนี้ไว้เพื่อคืนให้แก่เจ้าของนั้น แต่เจ้าของนั้นเขายังไม่ได้มาหรือเจ้าของนั้นเขาสละสิทธิ์ ทองนั้นให้เอาไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินมาเพื่อมาบำรุงในวัด แล้วถ้าวันไหนเขาคิดเสียดาย เขาจะมาเอา ก็บอกว่าเงินของโยมกลายเป็นสิ่งปลูกสร้างไปหมดแล้ว ให้อนุโมทนาไป

นี่เราจะเปรียบให้เห็นว่า การบริหารมันไง เงินทองนี้ห้ามจับ แต่ถ้าเขามาตกไว้ในวัดในวา พระต้องเก็บไว้ให้เขา ถ้าไม่เก็บให้เขา มันเป็นการผิดกฎหมายอาญา มีการลัก มีการขโมย มีการแจ้งความ เหมือนกับเที่ยวอสุภะ

เวลาคนจะไปเที่ยวอสุภะ ไปเที่ยวป่าช้า ในวิสุทธิมรรค เราจะไปเที่ยวป่าช้าเราต้องไปแจ้งกำนันผู้ใหญ่บ้านก่อน ถ้าเราไม่ไปแจ้งกำนันผู้ใหญ่บ้าน เราเข้าไปเที่ยวป่าช้า มีซากศพที่มีการฆาตกรรมกันมา แล้วการฆาตกรรมอำพรางแล้ว พระไปยืนพิจารณาอยู่ เจ้าหน้าที่มาพอดี จับมับเลย ภิกษุฆ่าคนตาย

แต่ถ้าเราไปแจ้งกำนันผู้ใหญ่บ้านไว้ก่อน กำนันผู้ใหญ่บ้านจะเป็นพยาน พยานว่าพระเขามาแจ้งไว้แล้วว่าเขาจะพิจารณาอสุภะ พอพิจารณาอสุภะแล้ว เขาป้องกันความผิดตามกฎหมายอาญา นี่ไง เวลามันเป็นกฎหมายอาญาขึ้นมามันป้องกันไว้

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเงินและทอง สิ่งที่มันบริหาร มันจะบริหารอย่างไร คำว่า “รับเงินและทอง ยินดีในเงินและทอง” ยินดีหรือ เก็บของเขาไว้นี่กังวลเลยว่าเขาจะมาเอาเมื่อไหร่นี่ยินดีหรือ

คำว่า “ยินดี” ยินดีมันเกี่ยวกับกิเลสไง ไม่รับเงินและทอง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติได้สะดวกในการภาวนาไง ไม่ให้อสรพิษมันมากัดหัวใจไง ถ้ามันไม่รับเงินและทองนี่มันจบไง

แต่พอมันมาถึงบอกว่า “๑. ผมไปวัดหลวงพ่อแล้วมีการถวายใบปวารณาบัตร แล้วเอาเงินมาใส่ไว้ในลิ้นชัก แล้วหลวงพ่อก็รับใบปวารณานั้นไว้ ที่ญาติโยมก็เห็นแค่จุดนี้”

ใช่ เพราะอะไร เพราะใครมาถาม ใครทุกคนมาวัดนี้ “หลวงพ่อ หลวงพ่อขาดอะไรไหม” เราบอกไม่ขาด จนโยมบางคนเขาบอก “อ๋อ! ขาดแต่เงินใช่ไหม”

แล้วขาด ขาดอะไรล่ะ บางคนจิตใจมันต่ำนะ จิตใจเห็นเงินเป็นพระเจ้านะ มันก็คิดว่าเงินนี้ยิ่งใหญ่นัก มันจะถวายไง

เวลาคนมา ตอนเช้าคนที่มาวัดเขาก็ได้มาถวายจังหัน เขาก็ได้ถวายทานของเขา เวลาคนเขามาตอนบ่ายอยากทำบุญๆ ก็ใส่ในลิ้นชักนั่นน่ะ คือมันเป็นเครื่องแสดงออกของน้ำใจของชาวพุทธที่อยากจะมีส่วนร่วม ถ้ามีส่วนร่วม เราก็รับ เพราะถ้าไม่รับ ขนาดนี้เขายังด่าขนาดนี้เลย ถ้าลองไม่รับแล้วคงอยู่ประเทศไทยไม่ได้แล้วแหละ

ถ้าเขาให้ เราก็รับ ทีนี้พอรับแล้ว คนนู้นให้คนนี้ให้ เขาก็อยากให้ตามกันมา เราพูดประจำกับเด็กๆ “เฮ้ย! บัตรไม่ต้องนะ” เพราะเด็กมันจะมาเอาของแจกไง แล้วพอมันเห็นผู้ใหญ่เขามีใบปวารณา มันวิ่งออกไปเลยนะ ไปบอกแม่มัน “แม่ๆๆ เราไม่มีบัตร” เด็กเห็นเขาถือใบปวารณาไง เราเรียกเด็กมา “มานี่ๆ ไม่ต้องบัตร บัตรไม่เอา ไม่ต้องบัตร เอ็งเข้ามาได้เลย”

นี่ก็เหมือนกัน เพราะมันทำกันเป็นพิธี

เราจะบอกว่า คนที่มีน้ำใจเขาก็อยากเสียสละของเขา แล้วเราไปปิดโอกาสของเขา แต่ถ้าเขาจะเสียสละมา เราก็รับ เรารับขึ้นมาเพราะอะไร เพราะเนื้อนาบุญของเขาไง

เขามีความมุ่งหมายขึ้นมา เขาอยาก ใครมาก็โอดโอยเลย อยากทำบุญ เห็นไหม ในเว็บไซต์น่ะ ใครๆ ก็เขียนมานะ เบอร์บัญชีเบอร์อะไร เบอร์บัญชีกูเบอร์ศูนย์ๆๆ ไม่เคยบอกใครสักคน มึงจะเอาเบอร์อะไร ไปหวังเอาจากใคร ไม่เคยหวังหรอก

ทีนี้พอเขามา เราก็รับ รับเพราะอะไร รับเพราะว่าไม่ยินดี ไม่ต้องการใดๆ ทั้งสิ้น ต้องการหัวใจของโลก ต้องการน้ำใจของโยมให้ปฏิบัติ โยมมีสติมีปัญญาแล้วโยมฉลาด

เวลาเราพูดกับพวกญาติโยม เมื่อก่อนที่เราออกไปเคลื่อนไหว ไปโต้แย้งเรื่องธรรมะ เขาถามว่า “หลวงพ่อทำทำไม หลวงพ่อไปยุ่งกับโลกทำไม”

เราบอกว่าเราทำเพื่อให้เขาเอาหัวใจของเขามาไว้ในร่างกายของเขา อย่าให้คนปอกลอก มันมาโฆษณาชวนเชื่อแล้วเอาศรัทธาเอาความเชื่อ เอาหัวใจเราไปฝากไว้กับเขาไง เอาหัวใจของเราไปให้กับผู้ที่โฆษณาชวนเชื่อ แล้วเขาปรารถนาอะไรก็ประเคนให้เขา ยกให้เขาไง

เราพูดเพื่อให้ทุกคนเอาหัวใจกลับมาไว้ในกลางหัวอกไง ให้เป็นสิทธิ์ของเราไง มีสติมีปัญญาไง สิ่งใดกาลามสูตร อย่าให้เชื่อ ไม่เชื่อใดๆ ทั้งสิ้น เชื่อในผลของการปฏิบัตินี่ไง

นี่พูดถึงว่า เวลามาเห็นว่าหลวงพ่อใส่ในลิ้นชัก ลิ้นชักนั้นเลย แล้วข้อที่ ๑. ข้อที่ ๒. นี่ถูก แต่ผมสงสัยว่า แล้วใครเอาเงินไปนับ แล้วฝากธนาคาร (ถ้ามี) ใช้ไวยาวัจกรหรือลูกศิษย์ แล้วเคยเทียบยอดหรือไม่ว่ายอดมีเท่าไร

กรณีนี้ไวยาวัจกรทั้งนั้นน่ะ พระนี่ต่อหน้าและลับหลัง แม้แต่ลับหลังเรายังไม่ทำ แล้วต่อหน้าจะทำได้อย่างไร ถ้าต่อหน้าไม่ทำแล้ว ก็ให้ผู้อื่นทำ เพราะอะไร เพราะเราไม่ได้สอนโยมนะ

เรามีลูกศิษย์นะ เรามีพระ เรามีนักบวช พระของเราอยู่กับเรามา ๑๐ ปี ๒๐ ปีทั้งนั้นน่ะ ถ้าพระมันอยู่ด้วยกันนะ หลวงพ่อพูดอย่างหนึ่ง ทำอย่างหนึ่ง เขาจะเชื่อฟังเอ็งไหม ต่อหน้าโยมนะอวดเก่ง แหม! เรียบร้อยเชียว พอโยมกลับขึ้นมา โอ้โฮ! นั่งนับตังค์กันใหญ่เลย อู้ฮู! ไอ้พระมันเห็นนะ ไอ้นี่มันหน้าไหว้หลังหลอก แล้วจะไปเทศน์สอนมัน มันจะฟังไหม

ศีลจะรู้ได้ต่อเมื่ออยู่ด้วยกันนะ พระที่อยู่ด้วยกันเขาจะรู้ว่าใครมีศีลหรือไม่มีศีล ไม่ใช่คนนอกหรอก คนใน แล้วเวลาพระเป็นอาจารย์ มันมีลูกศิษย์อยู่ข้างในนี้ มีพระอยู่ด้วยกัน แล้วพระมันอยู่ด้วยกัน ถ้าบอกเขาไม่ได้ ไม่สะอาดพอ เขาจะเชื่อไหม เขาไม่เชื่อหรอก

ฉะนั้น คนที่นับๆๆ ไม่เคยนับ เราให้เขาขนไปเลย เราให้ไวยาวัจกรเอาไปนับข้างนอกแล้วแจ้งยอดเราเป็นครั้งๆ

แล้วบอกว่าต้องเทียบยอดไหม

ถ้าเทียบยอด ในทางการบัญชี บอกให้ทำบัญชีๆ เราวิตกวิจารณ์เรื่องนี้ เพราะ...นี่พูดขำๆ นะ โยมอย่าคิดมากนะ ถ้าโยมคิดมากบอก “โอ้โฮ! หลวงพ่อนี่ขนาดนี้เชียวหรือ”

มันมีบ่อยๆ มากที่โยมมากันสองคนและสามคน เขาอยากจะทำบุญหนึ่งร้อยบาท เขาเขียนใบปวารณา ๓ ใบ ต่างคนต่างถวายไง แล้วก็เงินร้อยบาท แต่เขียนใบปวารณา ๓ ใบ ถ้าใบปวารณา ๓ ใบเท่ากับสามร้อย แล้วถ้านับยอดนะ แสดงว่ากูโกงแน่ๆ เลย

เราเห็นเลยนะ เขาทำ แต่เราก็สาธุนะ เพราะธรรมดาคนเรามันก็อาจจะอัตคัดขาดแคลนบ้าง แต่เวลาเขามาแล้วเขาก็อยากได้บุญทั่วหน้าไง เขาเขียนใบปวารณา ๓ ใบ ๔ ใบ ใบละร้อยๆๆ แล้วเขาก็เอาเงินหนึ่งร้อยบาทนั้นไว้ในลิ้นชัก เราก็เห็นนะ แต่เราก็สาธุ เราเฉยๆ

ฉะนั้น เราจะบอกว่า ถ้าเอายอดตัวเลขใบปวารณากับยอดตัวเลขในลิ้นชักนะ มันอาจไม่ตรงกัน พอมันไม่ตรงกัน ไม่รู้ใครโกงนะ

แต่ด้วยความสะอาดบริสุทธิ์ ด้วยน้ำใสใจจริงของพวกเรา ใส่ในลิ้นชักไป ในลิ้นชักนี้ใส่ผิดใส่ถูก บางทีมาตรวจเยอะแยะเลย ใส่ผิด ใส่ถูก ตกหล่น เราให้เขาเก็บไป คือน้ำใจของเขา เขาทำแค่นี้ ก็สิ่งนี้ยอดมันเท่าไรก็เท่านั้นแหละ

แต่เวลาโอนให้วัดไหนๆ โอนไปทั่วสาขา เราโอนให้ทั้งหมดน่ะ ขาดตกไหม ขาดตกบกพร่องไม่ได้ ขาดตกบกพร่องมันโทรมาเลย “หลวงพ่อ หลวงพ่อเดือนนี้ไม่เห็นโอนมา” ถ้าช้าหน่อยมันโทรมาทวงเลยนะ เวลาจ่ายนี่ขาดตกบกพร่องไม่ได้เลยนะ เวลารับมันยังขาดตกบกพร่องบ้าง

เพราะน้ำใจของเขานะ ทุกคนเขาก็ว่าพระนี่นะท่านไม่ยึดติด ทำอะไรก็ได้ใช่ไหม แล้วพอถวาย ๓ ใบก็ต้องเช็กเลยว่าสามร้อย แล้วฉันมีร้อยเดียวไม่หน้าแตกหรือ

กรณีนี้เราประสบบ่อยมาก เพราะคนที่มีกำลังนี่นะทำอะไรได้ เราก็ทำได้ไม่ขาดตกบกพร่องหรอก คนที่ขาดตกบกพร่องปากกัดตีนถีบแล้วเขาอยากปรารถนาอยากทำบุญกุศลของเขา ด้วยความคิดของเขาว่าเขาทำอย่างนั้นเป็นบุญของเขา เราก็โอเคนะ

เราไม่เคยปริปากพูด เพิ่งพูดนี่ จริงๆ ไม่มีใครเคยได้ยินเลย คำนี้เพิ่งพูดวันนี้ แต่เราเป็นคนรับใบปวารณา เรารู้ เห็นบ่อยๆ

ฉะนั้น ถ้าพูดถึงทางการบัญชี จะบอกว่า เอาตัวเลขใบปวารณากับตัวเลขยอดในลิ้นชักมานับด้วยกัน รับประกันได้ว่าต้องมีคนผิดแน่นอน

ฉะนั้น ในวัดนี้นะ ตอนเช้ามาแต่เช้า ในลิ้นชักจะไม่มีอะไรเลย เขามาวัดมาวา เขามาทำบุญกุศลของเขา แล้วเขาหยอดใส่ในลิ้นชักนั้นไว้เป็นน้ำใจของเขา แล้วเรายังจะต้องไปตรวจสอบเขาอีกหรือ เราจะต้องไปดูว่ามันถูกต้องดีงามอีกหรือ เพียงแต่ให้เขาทำถูกต้องดีงามของเขาเพื่อบุญกุศลของเขา เราคิดแค่นี้จริงๆ นะ

ฉะนั้น สิ่งที่เขาบอกว่า ถ้ามันฝากในธนาคาร แล้วใครเป็นคนนับ แล้วนับแล้วมันขาดไปไหน แล้วถ้าไปฝากธนาคารแล้วมันจะรู้ได้อย่างไร แล้วบอกว่า นี่พูดถึงกรณีนี้ก่อน เพราะคราวนี้มันจะยาว “ผมเคยถามพระบางองค์ท่านบอกว่าไม่ได้ ถ้าไปตรวจสอบแล้ว เป็นแบบนั้นแล้วมันจะเป็นอาบัติ เพราะไปยินดีในเงินและทอง”

ไม่ใช่ การตรวจสอบนี่ไม่ใช่ยินดีในเงินและทองหรอก เงินทองมันก็เหมือนกับวัตถุอันหนึ่ง ถ้าวัตถุอันหนึ่ง ถ้ายินดี ปล่อยกู้นี่ยินดี ยินดีเงินและทอง พระที่เขาเอาไปลงทุนนั่นน่ะ นั่นแหละยินดี ยินดีคือการทำกิจกรรมให้มันเพิ่มเติมขึ้น

แต่ถ้าเป็นการรักษา มันก็เหมือนของของสงฆ์ ของของสงฆ์ ของของสงฆ์เป็นครุกรรม เป็นของที่เป็นของครุกรรม ของที่เป็นของสงฆ์ มีด ตั่ง พวกนี้แจกไม่ได้ แต่ถ้าอาหารแจกได้ ของเบา ของที่ควรแจกได้ เป็นของของสงฆ์ก็แจกได้ แบ่งเป็นของสงฆ์แล้วทำแจก ทำแล้วแจกได้ แต่ของอย่างอื่นแจกไม่ได้ เว้นไว้แต่วัดให้วัด

นี่พูดถึงนะ แต่ถ้าคำว่า “มีการตรวจสอบ มีการนับ มันก็เป็นอาบัติน่ะสิ”

โอ๋ย! อย่างนั้นพระเป็นอาบัติทั่วประเทศไทย เพราะกฐินนับทุกวัดเลย เงินกฐินนับกันทุกวัด บ้านตาด หลวงตาก็นับ ยอดกฐินมีเท่าไร โอ้โฮ! ถ้านับแล้วเป็นอาบัตินี่เป็นอาบัติหมดเลย แต่มันไม่ใช่

มันเป็นศรัทธาของโยม เป็นศรัทธาที่เขาถวายสงฆ์ สงฆ์ต้องนับ นับแล้วมียอดเท่าไร ใช้จ่ายเท่าไร ให้มันถูกต้อง นี่ในตัวของมันไง

แต่คำว่า “ยินดีในเงินและทอง” ก็คือการที่จะทำให้มันเพิ่มขึ้น ทำให้ยอดเพิ่มขึ้น ยินดีในตัวมันไง คือแสวงหาเงินแสวงหาทอง แต่ไม่ใช่ พระไม่แสวงหาเงินหาทอง แต่พระเอาสิ่งนั้นมาบำรุงรักษา

เดี๋ยวมันจะต่อไป มันจะยาวมาก เพราะเรื่องนี้มันเป็นทัศนคติไง ถ้ายังไม่มีภูมิธรรมในใจนะ มันก็คิดได้อย่างนั้นน่ะ คิดแบบวิทยาศาสตร์ คิดแบบโลก เราถึงบอกว่า เรื่องวิทยาศาสตร์แก้กิเลสไม่ได้ ธรรมะละเอียดกว่าวิทยาศาสตร์หลายร้อยหลายพันเท่า

ฉะนั้น เขาบอกว่า “การนับเงินไม่ได้ มันจะเป็นอาบัติ แล้วเงินนั้นที่เอาไปฝากบัญชีมันเป็นของหลวงพ่อ หรือชื่อหลวงพ่อ หรือชื่อเจ้าอาวาส ตามวินัยบัญญัติว่าพระห้ามรับเงินและทอง ห้ามสะสมเงินและทอง อ่านมาเข้าใจอย่างนั้น การมีเงินทองเข้าบัญชีก็ถือวินัยข้อนี้ แล้วถ้ามีบัญชีแสดงว่าองค์ท่านย่อมทราบว่าเงินยอดเท่าไร นั่นคือการสะสมเงินและทองใช่หรือไม่ จะต้องทำแบบไหนถึงจะไม่ผิดวินัย”

ถ้าเป็นการสะสม มันก็มี สังเกตได้ไหม พระตระหนี่ พระตระหนี่ถี่เหนียวว่าของกูๆ มันเอามาสะสมไว้ บางวัดนะ มีข่าว เอาเงินไปเก็บไว้จนปลวกกินน่ะ ปลวกกินเงินหมดเลย ก็คิดว่าเอาไปซ่อนไว้แล้วมันไม่มีใครกิน ปลวกกินหมดเลย นั่นน่ะสะสม ถ้าตระหนี่ถี่เหนียวมันสะสมไว้เพื่อเป็นเปรต

แต่ถ้าเป็นพระๆ ดูสิ หลวงตา ทองคำหนึ่งหมื่นตัน เงินสดเข้าโครงการช่วยชาติฯ โรงพยาบาล เห็นไหม นี่ไม่สะสม

นี่ไง ที่ว่ามันสะสมไว้แล้วมันเป็นอาบัติ นี่เป็นการสะสมหรือไม่

การสะสม กรณีนี้มันเป็นวินัยนะ แต่ถ้ามันจะตัดสิน ตัดสินด้วยเจตนา ตัดสินด้วยธรรม ถ้าเจตนามันดี เจตนามันบริสุทธิ์ มันจะไปสะสมที่ไหน มันของของเขา

ก็เหมือนทอง อย่างที่ว่าทอง ทองของโยมเอามาตกไว้ที่วัด ถ้าพระไม่เก็บเป็นอาบัตินะ แล้วเงินทองที่มาถวายพระ ถ้าพระไม่รู้จักเก็บ ไม่รู้จักรักษา แสดงว่าพระนี่โง่ขนาดนั้นเชียวหรือวะ เฮ้ย! พระนี่ติงต๊อง

เป็นพระนะ ไม่ได้สะสมอยากได้ แต่เป็นศาสนทายาท เป็นทายาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเรียกว่าศาสนาสงเคราะห์ ศาสนาสงเคราะห์โลก

ในเมื่อท่านมีคุณธรรมในหัวใจ มันมีลาภสักการะเพิ่มพูนขึ้นมา แต่ด้วยหัวใจที่เป็นคุณธรรมของท่าน ท่านไม่สะสมไว้เพื่อตัวท่าน แต่ท่านเสียสละก็เพื่อโลก

เห็นไหม หลวงตาท่านบอกว่า ที่ท่านออกมาช่วยโลก ท่านเอาธรรมของท่านมาแลก เอาธรรม เอาคุณธรรม เพราะเขาเชื่อถือศรัทธาในคุณธรรมของท่าน ท่านเอาธรรมนั้นมาค้ำจุนโลก แล้วท่านแสวงหาสิ่งนั้นมาด้วยน้ำใจของท่าน ศาสนาสงเคราะห์โลก อย่างนี้สะสมหรือ

แต่ถ้าหลวงตาหามาแล้วเก็บไว้ แล้วปลวกมันกินอย่างนี้ เออ! อย่างนี้สะสม สะสมจนปลวกกิน ตัวเองก็ไม่ได้ใช้สอย โลกก็ไม่ได้ด้วย เพราะปลวกมันกินไปแล้ว มันไม่มีมูลค่าทางเงินทองไง นี่สะสม ถ้าสะสมมันจะลงไปสู่เปรต แต่ถ้าเป็นคุณธรรมมันจะเป็นศาสนาสงเคราะห์โลก

มันจะมีคนโต้แย้งนะ ถ้าออกไป จะโต้แย้งว่า “วินัยคือวินัย หลวงพ่อต้องพูดวินัย หลวงพ่ออย่าพูดเรื่องธรรมะ”

แต่วินัย ถ้าไม่มีคุณธรรมมาตัดสิน วินัยมันเป็นดาบสองคมที่ทางวิทยาศาสตร์ถือเถรตรงไง สองคนยลตามช่อง คนคนหนึ่งเห็นดวงดาว คนคนหนึ่งเห็นโคลมตม

ถ้าจิตใจที่เป็นธรรม คนคนหนึ่งจะเห็นดวงดาว แต่ไม่มีอาบัติ แล้วไม่มีความผิดด้วย แต่ถ้าคนเห็นโคลนตมนะ มันทำอะไรไม่ได้เลย วิทยาศาสตร์ไง “ถ้าหลวงพ่อเอาไปฝากธนาคารแสดงว่าหลวงพ่อก็สะสมเงินและทอง ยินดีในตัวมัน”

ถ้ายินดีในตัวมัน พรุ่งนี้ไม่บิณฑบาต พรุ่งนี้เอาแบงก์มากิน พรุ่งนี้ใส่บาตรด้วยแบงก์ กูจะกินแบงก์ว่ะไอ้ห่า ถ้ายินดีนะ พรุ่งนี้กูกินแบงก์เลย แบงก์กูกินไม่ได้ กูต้องกินทองหยิบทองหยอด แบงก์กินไม่ได้

ฉะนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอนุญาตจิตตคหบดีไง ให้ยินดีในสิ่งที่เกิดขึ้นจากเงินและทอง ไม่ให้ยินดีในตัวเงินและตัวทอง แต่ตัวเงินและตัวทองนี้เป็นการแสดงเจตนาของผู้ที่เสียสละของเขา

นี่พูดถึงว่าการจะรักษานะ ถ้ามันฝากธนาคารนั่นคือธนาคาร แต่ถ้าไม่ยินดี ถ้าไม่ใช่เปรต ไม่มีอาบัติ เว้นไว้แต่เปรต ถ้าเปรตมันยึดของมันเลย ของกูๆ นั่นน่ะยินดี เพราะมันเป็นเปรต นี่มันก็เข้าข้อนั้นไง

“๓. ผมรู้จักพระรูปหนึ่งที่เขาบอกว่าต้องหยิบเงินและทองเพราะว่าเขาอยู่องค์เดียว คำถามที่ ๑. พระพุทธเจ้าไม่ได้ห้ามการถือเงินและทอง ถ้าเป็นไวยาวัจกร ไวยาวัจกรมันจะโกง ถ้าเป็นกรรมการวัด กรรมการวัดก็จะอยู่ในวัด”

กรณีนี้เป็นปัญหาในวงของดงขมิ้น เราเที่ยวธุดงค์มาเยอะ กรรมการวัด อย่างภาคใต้ที่มีปัญหากันนี่ มีปัญหา ถ้าใครเข้าไปอยู่ในวัดแล้ว พออยู่นานๆ ไปมันจะเกิดอิทธิพล พอเกิดอิทธิพลมาก็จะครอบงำ

นี่ก็เหมือนกัน ถ้ากรรมการวัด ถ้ากรรมการวัด ถ้าพระที่เป็นธรรมนะ กรรมการวัดเขาจะเกรงใจ แต่ถ้าพระองค์นั้นมันไม่มีอำนาจวาสนาบารมีนะ กรรมการวัดนั้นจะมีอำนาจ

เรื่องนี้เป็นเรื่องของไก่กับไข่อันไหนเกิดก่อนกัน ปัญหาอย่างนี้มีมาตลอด มันมีมาตลอดตั้งแต่สมัยพุทธกาล สมัยพุทธกาล ดูสิ พระที่ว่ารับเงินรับทอง สมัยพุทธกาลนะ ที่ว่าสวดปาฏิโมกข์ แล้ววัชชีบุตรที่ไปฟ้องพระพุทธเจ้า รับกหาปณะ แล้วก็ผู้ที่เข้ามาอยู่ในเขตวัด

ฉะนั้น มันจะมีไปหมด เพราะคนเรามันมีกิเลส โดยธรรมชาติของจิตมันจะมีกิเลส แล้วมีธรรม แล้วอารมณ์ใดเกิดขึ้น มีความจำเป็นอย่างไร แล้วถ้ามันเป็นความจริง ศาสนาสงเคราะห์โลกนี่ทำได้ เพราะศาสนามันเป็นที่พึ่ง

แล้วถ้าคนที่เขามาอยู่วัดอยู่วา ถ้าเขามีความจำเป็น ทำไมศาสนาสงเคราะห์เขาไม่ได้ ทำไมหลวงตาสงเคราะห์ประเทศ ทำไมเราสงเคราะห์สร้างโรงพยาบาล เราสงเคราะห์ได้หมดเลย คนทุกข์คนจนทำไมเราสงเคราะห์ไม่ได้ ถ้าเราสงเคราะห์นะ แต่โลกมันติเตียนนะ นี่พูดถึงว่ามุมมองไง

ฉะนั้นบอกว่าที่เขาพูด เพราะเขาบอกว่าเขารับเงินและทอง เพราะอะไร เพราะว่าเขาต้องอยู่ต้องใช้

ถ้าต้องอยู่ต้องใช้ นี่เขาก็เป็นพระ เขาภูมิใจในความเป็นพระอย่างไรก็เรื่องของเขา แต่สำหรับเรา เราอยู่องค์เดียวเราก็ไม่รับ ไม่เอา ไม่หยิบไม่แตะไม่ต้องทั้งสิ้น แล้วไม่หยิบไม่แตะไม่ต้องทั้งสิ้น เราก็อยู่ของเราได้ ทีนี้อยู่ของเราได้

เขาบอกเขาต้องมีค่าใช้จ่าย ค่าน้ำ ค่าไฟอะไร

ค่าน้ำ ค่าไฟ กรณีนี้เราก็เคยเจอประจำ เวลาวัดทั่วไปมันไม่มีใคร ไปถึงก็เอาเงินไปให้วัด วางไว้นี่ แล้วเอาภาชนะครอบไว้ ไอ้คนข้างๆ มันรู้ มันลักหมดเลย

ดูหลวงปู่ขาวสิ หลวงปู่ขาวอยู่ถ้ำกลองเพล หลวงตาเล่าประจำ เวลาโจรมันเข้ามาลักของหลวงปู่ขาว เขาหยิบไม่ถึงนะ หลวงปู่ขาวเอาเท้าเขี่ยให้เขาเลย ให้โจรมันลักไป คือท่านไม่ติดไม่ยึด ท่านสงเคราะห์ เห็นไหม เวลาหัวใจที่สูงส่งเขาคิดอย่างนั้นนะ เราสงเคราะห์ เราให้เขาไป เขาไม่ติดไม่ข้อง

แต่ถ้าโดยเป็นพระผู้น้อยยังไม่มีปัจจัยเครื่องอาศัย มันก็จะยึดมั่นถือมั่นอย่างนี้ ต้องจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอะไร

ไอ้ถ้ามันจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ เราบริหารได้ ถ้าเป็นของของเรา เราจะหาที่ซ่อนที่รู้กันระหว่างบอกไว้ แล้วอย่างนี้เวลาไวยาวัจกรหรือคนทั่วไปรู้ เดี๋ยวมันก็ไปรื้อ

เราเคลื่อนของเราไป มันมีหมอง ถ้ามันมีหมอง มันทำได้ ถ้ามันไม่มีหมอง ทำไม่ได้ ถ้ามันมีสมองนะ ถ้าไม่มีสมอง ทำไม่ได้หรอก เราจะทำเพื่อความสะอาดบริสุทธิ์ของเราไง ถ้าผู้ที่ปฏิบัตินะ

ทีนี้พูดถึงว่าเขาทำของเขาอย่างนั้น อันนี้พูดถึงเรื่องไวยาวัจกร เรื่องกรรมการวัด เรื่องอะไร

ไอ้เรื่องนี้นะ มันเป็นเรื่องในสังคมของดงขมิ้น มันมีมากเยอะแยะไป

ฉะนั้น เขาบอกว่า เพราะองค์ท่านอยู่องค์เดียว ท่านจำเป็นต้องถือเงิน เพราะท่านต้องบริหารของท่านเอง

อันนั้นเขาแลกด้วยความสะอาดบริสุทธิ์ของตน แต่ถ้าจะเป็นความสะอาดบริสุทธิ์ของตน ศีล สมาธิ ปัญญา แล้วจะเกิดมรรคเกิดผล เราไม่แลก เรายอมทุกข์ยอมยาก ยอมทุกข์ยอมยากเพื่อเอาความจริงของเรานะ นี่ถ้าครูบาอาจารย์เราท่านทำอย่างนั้น ถ้าทำอย่างนั้นมันจะเป็นประโยชน์อย่างนั้น ฉะนั้น สิ่งที่ว่านี่ มันอยู่ที่บารมีของคน อยู่ที่ปัญญาของคน

ถ้าเป็นของเรานะ ถ้าโดยทั่วไป นี่เขาบอกอยู่วัดองค์เดียวใช่ไหม เขาทิ้งวัดนั้นไปไม่ได้ไง แต่อย่างของเราบวชใหม่ เราไม่อยู่วัด อยู่โคนไม้ อยู่ริมป่าริมเขา แต่ต่อไปมันจะอยู่ได้ยากขึ้น

เวลาเราไปอยู่ที่ไหนก็ได้ อยู่ทางภาคอีสานสมัยครูบาอาจารย์ เราไปเที่ยวแถววาริชภูมิ ที่หลวงตาท่านไปวิเวก เราไปบนหลังถ้ำเป็ดอะไรนั่นน่ะ มันจะมีร้านเก่าๆ อยู่ในป่า นั่นเขาอยู่กันอย่างนั้นน่ะ

ดูสิ ในป่า ในป่านี่นะ พวกชาวบ้านเขาทำร้านทิ้งไว้ๆ ไง เวลาให้พระธุดงค์ ธุดงค์มาแล้วไปอยู่ที่นั่นไง แล้วพระธุดงค์นะ ดูทางเมืองกาญจน์ฯ พระเราไปเที่ยว พอเขาเดินไปนะ มีพระอยู่ ๓-๔ องค์อยู่ที่นั่น แล้วสุดท้ายแล้วพระ ๓-๔ องค์เขาเคลื่อนออกไป ไอ้รุ่นใหม่ก็ไปอยู่ที่นั่น เขาจะรู้กันนะ เขาจะหมุนเวียนไง หมุนเวียนอยู่ในป่า นี่พูดถึงกรรมฐานนะ

แล้วกรรมฐานจริงๆ ไม่ใช่กรรมฐานหลอกลวง เขาอยู่ของเขา เขาเดินอยู่ในป่า เงินก็กินไม่ได้ ไม่มีอะไรกินได้หรอก มันมีแต่บิณฑบาตนะ น้ำก็อยู่ตามหนองตามคลอง เราก็ธมกรกไปกรองเอา นี่พูดถึงถ้ามันเป็น

บอกว่า จำเป็นว่าอยู่องค์เดียว จำเป็นว่าต้องรักษาวัด

วัดเราก็รักษา เป็นของของสงฆ์ แต่ถ้าพูดถึงว่าจะอ้างอะไรมันก็อ้างไปได้ทั้งนั้นน่ะ แต่พูดถึงว่า เพราะคำว่า “จะอ้างแล้วจะรับจะถือ” นี่ไม่ได้ วินัยคือวินัย

แต่เมื่อกี้เราเพิ่งพูดเอง บอกว่า สิ่งที่ว่ามันเป็นเปรตหรือเป็นธรรม ถ้าเป็นธรรมนะ สิ่งที่เขาถวายมาแล้วมันเป็นของของศาสนา เป็นของของสงฆ์ ถ้าเป็นของของศาสนา พวกนี้ต้องบริหาร ต้องดูแล ไม่ใช่เขาถวายเงินมาแล้วก็ทิ้งไว้นั่นน่ะ แล้วก็ต่างคนต่างไป ใครมามันก็เอาไปหมดน่ะสิ

เขาถวายมาก็ต้องเก็บรักษา การรักษานี้ไม่ใช่ยินดีในเงินและทอง การยินดีในเงินและทองต้องของกูๆ อู๋ย! ไอ้พวกขี้เหนียว มันกำไว้จนเหงื่อแตกเลย ไอ้นี่พอเอามากองไว้ คืนนั้นนอนไม่หลับเลย

แต่ถ้าเป็นธรรมนะ กองไว้นั่นเป็นของศาสนา ไม่ยินดีไง นอนหลับสบาย เช้าขึ้นมาก็ใช้ประโยชน์ เอาไปฝากธนาคาร

นี่การบริหารจัดการเรื่องหนึ่ง การยินดี การอยากได้ การผูกพัน นั่นอีกเรื่องหนึ่ง อันนี้มันอยู่ที่หัวใจของคน

นี่พูดถึงว่าการไม่รับเงินรับทองเนาะ เพราะตอนนี้มันกำลังมีปัญหาเรื่องนี้มาก ถ้ามีเรื่องปัญหาเรื่องนี้มาก แล้วพูดถึงว่า คนเราจิตใจมันต่ำต้อยมันถึงเป็นทาสหมดไง แต่จิตใจของคนที่มันสูงส่ง มันจะมีอะไรเกินกว่าคุณธรรมในใจนะ อยากรู้นัก ไม่มีหรอก

ฉะนั้น เพียงแต่ว่าเวลาถามมานะ แล้วบอกถามแล้วเราจะพูดอย่างนี้นะกับผู้ถาม

เฮ้ย! เอ็งอย่าหาเรื่องให้กูพูดบ่อยๆ สิ ครั้งที่แล้วโทรศัพท์ก็เรื่องหนึ่งแล้ว โทรศัพท์ เราก็พูดนะ นี่เรื่องเงินเรื่องทองอีกแล้ว แล้วควรจะจบแค่นี้เนาะ อย่าให้เรากระทบกระเทือนในหมู่สงฆ์จนเกินไป

เราก็ไม่อยากจะพูดว่าเราดีกว่าคนอื่นไง ไม่อยากแสดงว่า แหม! ฉันรู้ฉันเก่งไง เราอยากจะเป็นพระด้วยกัน อยากจะเป็นพระในหมู่พระนี่ อย่าถามมาอีก ถ้าถามมาก็ถามเรื่องภาวนาดีกว่า อย่าถามมาให้พูดออกไปแล้วสะเทือนกับสังคมของสงฆ์ เอวัง