เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๙ ส.ค. ๒๕๖o

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๐
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรมะเนาะ วันนี้วันพระ วันพระเราหาบุญกุศลใส่หัวใจของเรา หาคุณงามความดีเข้าบ้านเราไง เข้าบ้านคือเข้าหัวใจของเรา ในพระพุทธศาสนา ทาน ศีล ภาวนา เรื่องของทาน เรื่องของการเสียสละ เรื่องของบุญกุศล ถ้าบุญกุศล ทำบุญกุศลเพื่อมีความสุข

ปรารถนาความสุข เกลียดความทุกข์ทั้งนั้นน่ะ ถ้าปรารถนาความสุข เกลียดความทุกข์ เราก็พยายามจะหาสิ่งที่เป็นประโยชน์กับชีวิตเรา หาสิ่งปัจจัยเครื่องอาศัยให้สะดวก ให้สบาย ให้อบอุ่นต่างๆ นี่เรื่องบุญกุศลนะ

แต่ถ้าเราทำบุญกุศลแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการอนุปุพพิกถา ทาน เวลาพูดถึงเรื่องของทาน ผลของทานคือได้บุญกุศล ได้บุญกุศล ได้ประสบความสำเร็จในชีวิต ได้ไปเกิดบนสวรรค์ ให้ถือเนกขัมมะ ถือเนกขัมมะ จิตใจควรแก่การงานแล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงเทศน์อริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทุกข์เป็นสัจจะ ทุกข์เป็นความจริง

ทุกข์เป็นสัจจะ ทุกข์เป็นความจริงนะ มันเป็นสัจจะเป็นความจริงอันหนึ่ง แต่เวลาเราปรารถนาความสุข เราปรารถนาความสุข ปรารถนาความสุขด้วยสติด้วยปัญญาของเรา เราก็ว่าปฏิเสธความทุกข์ จะหาความสุข แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกทุกข์เป็นอริยสัจ ทุกข์เป็นความจริง ถ้าทุกข์เป็นอริยสัจ ทุกข์เป็นความจริงนะ คนมีสติปัญญานะ ทุกข์ควรกำหนด มันกำหนดทุกข์นี้ได้ไง ถ้ามันกำหนดทุกข์ได้ ทุกข์นี้มันเกิดจากอะไร ทุกข์นี้เกิดจากอะไร ทุกข์เกิดจากตัณหาความทะยานอยาก ทุกข์เกิดจากสมุทัย เวลาทุกข์เกิดจากสมุทัย จับทุกข์ จับเหตุให้เกิดทุกข์ แล้วพิจารณาแยกแยะของมัน ถ้าแยกแยะของมัน มันจะเห็นเหตุเห็นผลใช่ไหม

ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ สิ่งที่เป็นความทุกข์มันต้องมีที่มาที่ไปของมัน สิ่งที่เป็นความทุกข์ ทุกข์มันไม่ลอยมาจากฟ้า ทุกข์มันไม่ลอยมาด้วยตัวมันเอง ทุกข์มันต้องมีเหตุมีปัจจัย ทุกข์มันต้องมีต้นเหตุ แล้วต้นเหตุขึ้นมาด้วยสติด้วยปัญญา ถ้าด้วยสติปัญญา เวลาเรามีสติมีปัญญา เราเริ่มค้นคว้า เริ่มแสวงหา เริ่มใช้สติปัญญาเราแยกแยะ ถ้ามันแยกแยะขึ้นไปแล้วนะ ไอ้เรื่องความทุกข์จบเลย ทุกข์เพราะเราต้องการ ทุกข์เพราะเราปรารถนา แล้วไม่สมความปรารถนาแล้วเป็นทุกข์ ทุกข์เพราะเราปรารถนา เราดิ้นรนของเราเพื่อความสุขของเราๆ เพราะเราบอกว่าเราทำบุญกุศลไง เราปรารถนาความสุข เกลียดความทุกข์ไง เราก็ต้องการแต่ความสุขไง แล้วความสุขมันมาจากไหนล่ะ

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ที่มีสติปัญญา ทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ตั้งอยู่ แล้วทุกข์ดับไป เวลาทุกข์มันดับไปคือความสุข เวลาความสุขมันสุข สุขเพราะมันวางทุกข์ได้ไง แต่นี่มันปรารถนาความสุข ปรารถนาความสุขมันก็ได้ความทุกข์ไง ความทุกข์เพราะอะไร เพราะตัณหาความทะยานอยาก เพราะแสวงหาอันนั้นไง เพราะพยายามขวนขวายอันนั้นไง เพราะพยายามขวนขวายอันนั้นมันถึงไม่ได้สมความปรารถนาไง พอไม่สมความปรารถนามันก็เกิดความทุกข์ขึ้นมาไง แต่ถ้าคนมีสติปัญญา มีสติปัญญา สิ่งที่มีค่าที่สุดคือชีวิตของเรา

ปฏิสนธิจิตเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ สิ่งที่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ เกิดเป็นมนุษย์เป็นอริยทรัพย์ เป็นอริยทรัพย์เพราะอะไร เพราะมนุษย์มีปัญญา แต่มนุษย์ใช้ปัญญานี้แสวงหาเพื่อปัจจัยเครื่องอาศัย แสวงหานี้เพื่อโลกไง แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีสติปัญญามากกว่านั้น จะได้เป็นกษัตริย์แล้วสละทิ้งไว้กับโลกนี้เลย ออกแสวงหา ความที่ขึ้นนั่งราชบัลลังก์กับที่ออกไปเป็นทุคตะเข็ญใจ ออกไปเป็นนักพรต ออกไปที่ไม่มีใครสนใจ ออกไป เห็นไหม จากที่อยู่ในราชวังก์มีคนล้อมหน้าล้อมหลังหมดเลย ท่านเสียสละ ท่านโยนทิ้งเลย หนีออกไปๆ หนีออกไปเป็นนักพรต นักพรต ๖ ปีนั้นมีความทุกข์ความยากขนาดไหน ถ้าความทุกข์ความยากขนาดไหน แสวงหาอย่างนั้น หาสัจจะความจริงในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างนั้น พอมันเป็นความจริงขึ้นมา เป็นความจริงขึ้นมา วิมุตติสุข

เวลาเสวยวิมุตติสุขนะ เสวยวิมุตติสุขนะ เวลากษัตริย์ในสมัยพุทธกาลมาบวช “สุขหนอ สุขหนอ” สุขหนอมันต้องสุขอย่างนี้ไง แต่ก่อนที่มันจะสุขหนอๆ มันทุกข์มันยากทั้งนั้นน่ะ มันทุกข์มันยากเพราะมีการประพฤติปฏิบัติ ทุกข์ยากเพราะแสวงหา ทุกข์ยากเพราะมีการกระทำ แต่คนที่กระทำแล้วต้องมีสติปัญญาถึงกระทำได้เป็นสัจจะเป็นความจริงอันนั้น

ถ้าคนไม่มีสติปัญญา เวลาการกระทำมันก็ทำแบบโลกๆ ระดับของทาน ปรารถนาไปหมด ปรารถนาแล้วไม่สมความปรารถนาไง ถ้าปรารถนาไม่สมความปรารถนา เราเสียสละทาน คนที่ตระหนี่ถี่เหนียว ของเขา เขาเสียสละไม่ได้หรอก ของกูๆ ไม่ยอมเสียสละไง พอเสร็จแล้วไม่มีใครได้เลย ตัวเองก็ไม่ได้ ตัวเองไม่ได้เพราะอะไร นี่เป็นสมบัติของโลก เวลาเราตายไปแล้วสมบัตินี้ไม่ไปกับเราหรอก เวลาเราตายไป สิ่งที่ไปกับเราก็บุญกุศล บาปกับบุญไปกับเรา ความดีความชั่วในใจเท่านั้นที่จะไปกับเรา ไอ้สมบัติเป็นวัตถุธาตุมันอยู่ที่นี่แหละ มันจะเป็นมรดกตกทอดให้กับอนุชนรุ่นหลังต่อไป มันจะไม่เป็นสมบัติของเรา เพราะคำว่า “ของกูๆ” ก็เลยไม่มีใครได้เลย

แต่ถ้าเรารู้จักเสียสละ เรารู้จักเป็นของเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าใครแสวงหาได้เงินมา หนึ่งสลึงเอาไว้ทำมาหากิน หนึ่งสลึงเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ของเรา หนึ่งสลึงไว้ดำรงชีพของเรา เหลืออีกหนึ่งสลึงถึงฝังดินไว้ ฝังดินไว้ก็เสียสละนี่ไง ฝังดินก็ทำบุญที่พระพุทธศาสนาไง ในศาสนาฝังไปในหัวใจนี้ไง ถ้าฝังในหัวใจนี้ สมบัติของเรา สมบัติของใจที่มันได้ มันได้อันนั้นไปไง อันนั้นที่มันเสียสละเป็นของมัน ถ้ามันไม่เสียสละมันไม่ได้อะไรเลย นี่พูดถึงผลของวัฏฏะนะ แต่พอครูบาอาจารย์ที่มีสติมีปัญญาขึ้นมา ท่านใช้สติปัญญาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา

ปรารถนาสิ่งใด ปรารถนามรรคผลนิพพานแล้วไม่สมความปรารถนาก็เป็นทุกข์ แต่ความปรารถนาอย่างนี้ปรารถนาระดับของทาน ทานคือการเสียสละไง แต่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนาแล้วตั้งเป้าอธิษฐานบารมี ตั้งเป้าแล้วเราต้องมีการกระทำ การกระทำอันนั้นไง ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ ถ้าไม่มีเหตุไม่มีผล อ้อนวอนเอาก็ไม่มี แล้วถ้าเป็นไปได้จริงนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอาธรรมะยัดใส่หัวใจเราหมดแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนามารื้อสัตว์ขนสัตว์ ดูสิ พระนันทะ พระเทวทัตต่างๆ เป็นลูกพี่ลูกน้องนะ ท่านต้องชี้นำๆ ให้ที่ประพฤติปฏิบัติเท่านั้น เวลาไปเอาพระเจ้าสุทโธทนะ นั่นพ่อ เวลาพ่อขึ้นมา เทศนาว่าการ ทิฏฐิของพ่อ เวลาจะบิณฑบาต “ไม่ได้ อายเขา”

“นี่ประเพณีของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าต้องบิณฑบาต พ่อไม่ได้นิมนต์ให้ฉันในพระราชวังนี่ ก็ออกบิณฑบาต”

ทำให้พ่อเสียหน้าๆ สุดท้ายแล้วจะขอสมบัติให้กับสามเณรราหุล เวลาขอสมบัติก็คิดว่าจะเอาราชบัลลังก์นี้ให้ สุดท้ายแล้วสามเณรราหุลก็ออกบวชอีก นี่มันสะเทือนหัวใจไปมาก ถึงสุดท้ายแล้วเวลาเทศนาว่าการๆ ก็ให้พ่อใช้สติใช้ปัญญาใช้ค้นคว้า จนสุดท้ายพระเจ้าสุทโธทนะเป็นพระอรหันต์ เป็นพระอรหันต์แล้วจบแล้ว สิ่งที่วิตกกังวล สิ่งที่เป็นภาระรุงรัง สิ่งที่ต้องจัดการ จบ

ผลของวัฏฏะมันเป็นของผลของโลก ถ้าจิตใจเราเป็นวิมุตติสุขที่มันเหนือโลกแล้ว ผลของโลกมันก็วางไว้ที่นี่ ใครจะไปบังคับบัญชามัน ก็เห็นความเป็นอนิจจัง เห็นความไม่แน่นอน เห็นการเปลี่ยนแปลง แล้วของเปลี่ยนแปลงแล้วเราจะไปฝืนมันได้อย่างไร ของที่เปลี่ยนแปลง ของที่มันต้องแปรสภาพไป เราจะไปบอกว่าไม่เป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างฉันปรารถนา

อ้าว! ก็เป็นพระอรหันต์แล้ว พระเจ้าสุทโธทนะเป็นพระอรหันต์แล้วจะมีอะไรตกค้างในหัวใจ พระอรหันต์ไม่มีปัญญาหรือ พระอรหันต์ต้องมีปัญญาสิ พระอรหันต์เข้าใจได้หมด เรื่องของโลกก็เป็นเรื่องของโลก ขอบเขตของโลก ขอบเขตของวัฏฏะไง แต่เวลาขอบเขตของธรรมๆ เวลาปรารถนาแล้วไม่สมปรารถนาเป็นความทุกข์ แต่เวลาเราปรารถนา เราตั้งเป้า นักปฏิบัติเราเวลาตั้งเป้าแล้วต้องมีการกระทำไง การกระทำเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา มันถึงต้องขวนขวายของเรา แล้วถ้าขวนขวายๆ ขวนขวายสิ่งที่ได้มาๆ โดยธรรมชาติของมัน ดูสิ ไอน์สไตน์บอกจินตนาการสำคัญมากกว่าความรู้ จินตนาการ คนมีความรู้ไม่มีจินตนาการ ไม่มีเป้าหมายเลยจะทำอะไร คนที่มีจินตนาการ ไม่มีปัญญาเลยก็ทำอะไรไม่ได้เหมือนกัน

จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ นี่เป็นความเห็นของไอน์สไตน์ แต่ถ้าเป็นความเห็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จินตมยปัญญาแก้กิเลสไม่ได้ มันต้องภาวนามยปัญญา สุตมยปัญญา ศึกษามาเป็นความรู้นี่แหละ ความรู้ทางโลกนี่แหละ เวลาปฏิบัติไปปฏิบัติจินตนาการหมดเลย จินตนาการ จินตนาการก็ส่งออกไง สิ่งที่รู้ที่เห็นรู้จริงไหม จริง รู้จริงๆ เห็นจริงๆ มันก็เห็นจริงๆ แล้วจิตมันเห็น จิตมันจินตนาการมันก็ต้องเห็นของมันได้ แต่มันเป็นจริงไหมล่ะ ไม่ ไม่เพราะอะไร เพราะไม่ใช่ภาวนามยปัญญา ภาวนามยปัญญามันเข้ามาสู่จิต

นี่ไง ถ้าเราจะปรารถนา ปรารถนาเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาของเรา มันต้องให้เป็นสัจจะ ให้เข้าสู่มรรคสู่ผลไง มันไม่ใช่เข้าสู่ความพอใจของเราไง ไม่ใช่เข้าสู่ความเข้าใจของเราไง ความเข้าใจ ความพอใจของเรา มันมีกิเลสเจือปนมาคือสมุทัย คือตัณหา คือความต้องการ คือปรารถนา ปรารถนาแล้วไม่สมความปรารถนาเป็นทุกข์ นี่พูดถึงทางโลก

แต่เวลานักปฏิบัติปรารถนาแล้วไม่ได้ มันเริ่มต้นปรารถนา เริ่มต้นการตั้งสัจจะ การตั้งสัจจะนี่เป็นความปรารถนาไหม ธุดงควัตร ๑๓ เป็นเป้าหมายไหม เป็นความปรารถนาไหม เป็น แต่เป็นแล้วได้ไหม เป็นแล้วตั้งสัจจะ เป็นพระป่าห่มผ้าสีดำๆ แต่ไม่ได้ทำอะไรเลย สำมะเลเทเมา ไม่ได้อะไรทั้งสิ้น แต่ถ้าเขาได้ตั้งปรารถนาหรือไม่ตั้งปรารถนาก็แล้วแต่ เขามีเป้าหมายของเขา เขาพยายามทำของเขา ทำของเขาได้มากได้น้อยแค่ไหนมันก็เป็นประสบการณ์ในจิตดวงนั้น ถ้าจิตดวงนั้นมีประสบการณ์ของมัน สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี ถ้าใครทำสมาธิได้ เขาจะเห็นความสุขสงบในหัวใจของเขา เขาจะเห็นคุณค่าอันนี้มาก ถ้าเห็นคุณค่าอันนี้มาก นี่ขนาดว่าความสุขเกิดจากความสงบ แล้วความสุขเกิดจากภาวนามยปัญญา ความสุขเกิดจากวิปัสสนา ความสุขเกิดจากปัญญาที่รู้แจ้ง รู้แจ้งที่ไหน รู้แจ้งในหัวใจ

ปฏิสนธิจิตๆ เพราะไม่รู้ถึงมาเกิด อวิชชาทำให้เกิด เผลอปั๊บ ลงในครรภ์ ในไข่ ในน้ำครำ ในโอปปาติกะ กำเนิด ๔ แต่เวลามีสติมีปัญญามันแยกแยะขึ้นมา มันก็ต้องไปแยกแยะตรงนั้น ถ้ามันไปรื้อถอนมันก็ต้องไปรื้อถอนที่ตรงนั้น มันไม่ใช่รื้อถอนที่สมองนี่ มันไม่ใช่รื้อถอนที่ประสบการณ์ของตน มันรื้อถอนเป็นภาวนามยปัญญา มันถึงเป็นความมหัศจรรย์ไง

เวลาจักรมันเคลื่อน เวลาธรรมจักร จักรมันเคลื่อน ศีล สมาธิ ปัญญาที่มันหมุนของมันไป เวลาหมุนของมันไปมันหมุนที่ไหน มันหมุนในหัวใจนี่ ถ้ามันหมุนในหัวใจนี่ สัจจะความจริงมันอยู่ที่นี่ไง วันพระ ถ้าผู้ที่ประเสริฐประเสริฐที่นี่ไง ประเสริฐที่หัวใจ

สิ่งที่มีคุณค่าคือชีวิตของเรา การเกิดเป็นมนุษย์นี้มีค่ามาก ในพระพุทธศาสนาถึงสอนว่าใครทำร้ายตัวเอง ใครฆ่าตัวตาย นั่นเป็นบาปกรรมมหันต์ ดูสิ ในทางคดีอาญาเวลาฆ่าคนตายมีโทษสูงสุด ฆ่าคนตาย ไปฆ่าผู้อื่น แล้วนี่ฆ่าตัวเอง แต่ในทางโลกเขาบอก อ้าว! ก็ทำร้ายตัวเอง ไม่ได้ทำคนอื่นนี่ แต่ในทางธรรม ในทางธรรม เราทำลายคนอื่นยังคนนอกใช่ไหม นี่ตัวเราแท้ๆ นี่มันขาดสติสองชั้นสามชั้นน่ะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบัญญัติไว้เลย ห้าม ห้ามเด็ดขาด แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชมเชย ชมเชยการฆ่ากิเลส

เวลาครูบาอาจารย์ท่านพูดเลยนะ ท่านบอกว่าสิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือกิเลสของเรา กิเลสของเราคือเป้าหมายของเรา คือตัณหาความทะยานอยากของเราโดยที่เราไม่รู้เท่าทันมัน ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก็ศึกษามาเป็นทฤษฎี แล้วจินตนาการก็สร้างภาพ พอสร้างภาพก็ลุ่มหลงอยู่ในอารมณ์ของตนนั่นน่ะ อุ่นอารมณ์ของตนกินอยู่อย่างนั้นน่ะ มันก็อุ่นกินอยู่ในตัวของมันเองไง นี่ไง กิเลสมันหลอกแค่นี้ หลอกให้มันหมุนอยู่ในตัวมันนั่นน่ะ หมุนอยู่นั่นแหละ มันไม่ไปไหนหรอก

แต่ถ้าเป็นจริงๆ ของเรา จิตมันสงบ จิตสงบ จิตสงบเป็นสากล เพราะลัทธิศาสนาต่างๆ ก็ภาวนาทั้งนั้น แต่ภาวนาแล้วสมาธิเป็นมิจฉาหรือสัมมาไง ฤๅษีชีไพรเขาเป็นมิจฉาสมาธิ มิจฉาสมาธิเพราะอะไร เพราะเวลาได้สมาบัติ ๘ สมาบัติ ๖ แล้ว แล้วมีอภิญญา รู้วาระจิต ได้ยินเสียง หูทิพย์ ตาทิพย์ มันไม่ใช่มรรคทั้งนั้น มันเป็นผล ถ้าเป็นพระพุทธศาสนา อันนั้นมันเป็นเครื่องเคียง มันเป็นของที่ว่าครูบาอาจารย์องค์ใดท่านสร้างอำนาจวาสนามา มันก็มีประสบการณ์อย่างนั้นในหัวใจนั้น ครูบาอาจารย์องค์ไหนท่านไม่ได้สร้างของท่านมาอย่างนั้น ท่านก็สงบของท่านโดยปกติ แต่สิ่งที่สำคัญๆ คือมรรคไง มรรคคือวิปัสสนาไง คือปัญญาที่รู้แจ้งในตนไง ปัญญารู้แจ้งในการวิปัสสนาไง ปัญญารู้แจ้งในการถอดถอนกิเลสไง ปัญญาอันนี้ต่างหาก พระพุทธศาสนาสอนลงตรงนี้ต่างหาก ถ้าพระพุทธศาสนาสอนลงตรงนี้ นี่ไง ภาวนามยปัญญา ปัญญาในพระพุทธศาสนาไง

ไอ้เราบอกปัญญาๆ ก็อู้ฮู! ไบรต์ ปัญญาเยอะ กิเลสหลอกทั้งนั้น ปัญญาอย่างนั้นคือปัญญาลุ่มหลงอยู่ในวัฏฏะ ปัญญาลุ่มหลงด้วยการยกย่องสรรเสริญของสังคม เวลาพระอรหันต์บรรลุธรรมขึ้นมา ไม่มีใครรู้ มีแต่ผู้ที่บรรลุธรรมขึ้นมานั้น แล้วครูบาอาจารย์ที่ท่านเคยบรรลุ ท่านเคยเป็นจริงขึ้นมา ดูสิ หลวงปู่มั่น ดูสิ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์ในสมัยพุทธกาลมาอนุโมทนา อนุโมทนาเพราะอะไร อนุโมทนาเพราะหลวงปู่มั่นได้สร้างอำนาจวาสนาของท่านมา คำว่า “สร้างอำนาจวาสนาของท่านมา” ท่านถึงเป็นผู้นำไง ท่านถึงมีปัญญาเทศนาว่าการ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สร้างมา ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย เวลาตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ววางธรรมวินัยนี้ไว้ พระปัจเจกพุทธเจ้าตรัสรู้เองโดยชอบ แต่ไม่ได้สอนใครไว้เลย แต่ถ้าสอนก็สอนในชาติปัจจุบันของท่าน ท่านสั่งสอนก็สั่งสอนนะ แต่ท่านบัญญัติศัพท์ออกมา พระปัจเจกพุทธเจ้า

นี่ก็เหมือนกัน เวลาผู้ที่มีอำนาจวาสนาขึ้นมา ถ้ามันเป็นจริงมันเป็นอย่างนั้น เป็นเครื่องเคียง มันไม่ใช่อริยสัจ มันไม่ใช่มรรค มันคนละเหตุ นี่เหตุของโลก เหตุของวัฏฏะไง แต่ถ้าเป็นเหตุของมรรคๆ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เวลาทุกข์ควรกำหนด เวลาจิตสงบแล้วจับได้ จิตสงบแล้วเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง ถ้าจับขึ้นมาแล้วมันพิจารณาของมันด้วยมรรค เวลามรรคพิจารณาแล้วกลั่นออกมาจากอริยสัจ เวลามันหลุดมันพ้น เห็นไหม นิโรธ นิโรธคือความดับทุกข์ นิโรธ นิโรธมันเกิดความนิโรธจากอริยสัจ ดูสิ หลวงปู่จวนท่านบอกหลวงปู่มั่นบอก นิโรธในอริยสัจมันไม่เหมือนนิโรธสมาบัติ เขาบอกทำนิโรธสมาบัติ...ไอ้นั่นมันเป็นนิทานน่ะ นิทานใครทำก็เล่าสืบต่อๆ กันมา แล้วก็จินตนาการไป ไม่จริงเลย

แต่เวลาทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นิโรธคือการดับทุกข์ เวลามันดับจริง ดับจริงแล้วเข้าสมาบัติ สมาบัติเครื่องเคียงที่พระอรหันต์ที่ท่านมีความจริงมา อันนั้นมันของเล่น ดูสิ เวลาหลวงปู่เจี๊ยะท่านไปถามหลวงปู่มั่นตอนอุปัฏฐากหลวงปู่มั่นอยู่น่ะ “อภิญญาแก้กิเลสได้ไหม”

“ไม่ได้”

“ไม่ได้แล้วหลวงปู่มั่นทำทำไม”

“อ้าว! ทำไว้เป็นวิธีการ ทำไว้เป็นเครื่องมือไว้สอนคน”

การรู้วาระจิตต่างๆ เขารู้เพราะเป็นเครื่องเคียงไง แต่รู้แล้วอริยสัจทำได้ไหม รู้แล้วมันเป็นจริงขึ้นมาไหม มันไม่จริงทั้งนั้นน่ะ พอไม่จริงก็สำมะเลเทเมาอยู่อย่างนั้นน่ะ แล้วก็ออกจากพระพุทธศาสนาไปเรื่อยๆ ห่างไกลไปเรื่อยๆ ห่างไปเรื่อยๆ แล้วก็ยังสำคัญตนว่าเป็นการภาวนาอยู่นะ แต่ถ้าเป็นความจริงๆ ไม่ใช่ ทำความสงบของใจเข้ามา ศีล สมาธิ ปัญญา เวลาเป็นสัมมาสมาธิมันก็เข้าสู่มรรค ๘ ดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ งานชอบ

งานชอบ งานชอบธรรมคืองานชอบรื้อค้นกิเลสตัณหาความทะยานอยากของตน ไม่ใช่ไปรู้สิ่งอื่นใดๆ ทั้งสิ้น งานชอบ ถ้าออกไปข้างนอกเป็นงานคนอื่นแล้ว เอาจิตของเราไปทำงานคนอื่น เอาจิตของเราไปรับรู้เรื่องข้างนอก นอกจากอริยสัจ ไม่ใช่ความจริงเลย ถ้าเป็นความจริงขึ้นมา จิตนี้กลั่นออกมาจากอริยสัจ แล้วจิตนี้กลั่นออกมาเพราะมันเป็นความจริงของมัน มันเกิดวิปัสสนา ปัญญาการรู้แจ้งในหัวใจนี้ใช่ไหม เข้ามาที่นี่ไง ถ้าเข้ามาที่นี่ ความจริงมันเกิดที่นี่ แล้วเวลาเกิดที่นี่ แล้วบอกว่าอริยสัจมันเป็นนามธรรมๆ

นามธรรม ครูบาอาจารย์ท่านรู้จริงหมดล่ะ สามารถตรวจสอบกันได้ ถ้าตรวจสอบไม่ได้ หลวงปู่มั่นท่านไม่ตรวจสอบลูกศิษย์ของท่าน ในลูกศิษย์ของสายกรรมฐาน เวลาครูบาอาจารย์ท่านธมฺมสากจฺฉา ท่านได้ตรวจสอบกันมาแล้ว มันถึงเป็นความหนักแน่น เป็นความอบอุ่น เป็นความมั่นคงในพระพุทธศาสนา ในวงกรรมฐานไง แต่ในปัจจุบันนี้มันเพ้อฝันเพ้อเจ้อ ธรรมะเพ้อเจ้อกัน เพ้อเจ้อไปแล้ว ใครเพ้อเจ้อไปได้มากน้อยแค่ไหน สังคมเพ้อเจ้อมันก็ฟังกันได้ มันก็เข้าใจกันได้ไง แต่ถ้าเป็นอริยสัจ เขาไม่ฟังหรอก แล้วไม่ฟังธรรมดานะ เขารู้เลยว่านี่ส่งออกแล้ว เสียหายหมดแล้ว นี่มันเรื่องของเขา ถ้าจะรักษาศาสนาต้องรักษาศาสนาที่หัวใจของเรา ศาสนาในใจของเราต้องให้เข้าสู่สัจจะ เข้าสู่ความจริง ในใจของเราตั้งสัจจะ ตั้งความจริง หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ รักษาหัวใจอันนี้เพื่อประโยชน์อันนี้ เห็นไหม

วันพระ ถ้าเป็นวันพระเป็นผู้ประเสริฐในหัวใจนี้ หัวใจนี้จะเข้าสู่สัจธรรมอันนี้ แล้วเราเกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา การเกิด สิ่งที่มีค่าที่สุดคือชีวิตของมนุษย์ แล้วสิ่งที่มีค่าที่สุดในหัวใจนี้ เวลาเราปฏิบัติ เราปฏิบัติตามความเป็นจริง ถ้าปฏิบัติยังล้มลุกคลุกคลานอยู่ก็ปฏิบัติเพื่อบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ถ้าเป็นความจริงของเราจะเป็นสมบัติของเรา เอวัง