ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

สัจธรรม

๒ ก.ย. ๒๕๖o

สัจธรรม

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒ กันยายน ๒๕๖๐

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี


ถาม : เรื่อง “ออกรถใหม่ อยากให้บิดาเป็นคนเจิมรถให้เพื่อเป็นสิริมงคล”

ซื้อรถใหม่ ไม่ได้นิมนต์พระมาเจิมรถ แต่จะให้คุณพ่อเป็นคนเจิมรถให้เป็นสิริมงคลดีไหมคะ

ตอบ : นี่คำถามเนาะ เราว่าดี

ธรรมดาเวลาเราซื้อรถ สิ่งที่ดีที่สุดคือมีเงินไง ในหลวงเจิมให้ ถ้ามีเงินซื้อรถได้น่ะดีที่สุด ถ้าเรามีเงินเราซื้อรถแล้ว มันก็เป็นสิริมงคลของเรา

คนเราธรรมดาของคน คนเริ่มต้นทำงานก็อยากมีบ้าน มีรถ โดยธรรมชาติของคนนะ มีบ้าน มีรถ นี่เป็นเป้าหมายของมนุษย์ มนุษย์ต้องมีที่อยู่อาศัย มนุษย์ต้องมีการเดินทางไง เราต้องมีรถ มีบ้าน ถ้ามีรถ มีบ้าน กว่าเราจะได้มีบ้านหลังหนึ่ง กว่าจะมีบ้านหลังหนึ่งนะ เวลาซื้อบ้านแล้ว โอ้โฮ! กว่าจะผ่อนหมด กว่าจะได้สิ้น

เพราะเวลามันมีคนทางตะวันตกเขาคิดนะ เวลาทั้งชีวิตเลยนะ เราทำหน้าที่การงานของเรา ผ่อนรถ ผ่อนบ้าน เวลาผ่อนรถ ผ่อนบ้านจบก็อายุ ๕๐-๖๐ พอ ๕๐-๖๐ ก็บั้นปลายของชีวิตแล้ว

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ถ้าแบบว่าจะซื้อรถใหม่ ไม่นิมนต์พระมาเจิมรถ แต่จะให้คุณพ่อเจิมให้ดีไหม

ดี แล้วถ้าเจิมให้ มีเงินซื้อได้นี่จบแล้ว ถ้ามีเงินซื้อได้จบแล้วนะ สิ่งนั้นน่ะเป็นสิริมงคลกับเราแล้ว ถ้าเรามีรถของเรา แต่ถ้าให้พ่อเจิมให้ก็ดี เพราะพ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก ให้พระอรหันต์เจิมให้ก็จบแล้ว

แต่เวลาไปเจิมตามวัดตามวาเขาก็ไปเจิมกันเป็นพิธีกรรม พอเป็นพิธีกรรมต่างๆ เสร็จแล้วก็ว่าสิ่งนั้นเป็นสิริมงคล เป็นที่อบอุ่นหัวใจไง

นี่ถ้าพูดถึงว่าเจิมรถนะ ถ้าเจิมรถแล้วนะ รถสิ่งนั้นมันเจริญรุ่งเรืองนะ ในทางตะวันตกเขาไม่มีเจิมรถ แต่รถของเขามีเยอะกว่ารถทางประเทศเราด้วย แล้วเขาประสบอุบัติเหตุน้อยด้วย เพราะว่าอะไร เพราะเขาเคารพวินัยจราจร แต่ของเรามันแบบว่าทำเอาแต่ชนะคะคานกันไง มันก็เลยมีอุบัติเหตุ ถ้ามีอุบัติเหตุปั๊บ เราก็เพื่อความปลอดภัย ก็ต้องเจิมรถ ถ้าเจิมรถนะ

สิ่งที่ซื้อรถนั่นน่ะเป็นมงคลชีวิต เราซื้อของเราแล้ว เราได้รถของเรามาแล้ว นี่มงคลชีวิต แล้วเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านสอนไม่ให้ประมาท เราไม่ให้ประมาท เราฝึกหัดให้ชำนาญก่อน พอชำนาญแล้วเราใช้เดินทางของเรา นั่นมันจะปลอดภัย

ฉะนั้นบอกว่า ซื้อรถใหม่ ไม่นิมนต์พระมาเจิมรถ

ไม่ต้อง เพราะภาษาเรา ในพระไตรปิฎกมันไม่มีหรอก เรื่องพิธีกรรมๆ กรรมฐานเรา เวลากรรมฐานเรานะ ไม่ถือมงคลตื่นข่าว ไม่ถือใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ถือฤกษ์ถือยาม ยิ่งสมัยที่เราออกประพฤติปฏิบัติ เรื่องนี้ไม่มีเลย พระเราเวลาปฏิบัติ

แต่พอพระของเรา พอมากับสังคม พอสังคมเขาพอใจ เขาพอใจ เราก็ทำตามสังคมนั้นๆ นี่ก็เหมือนกัน พระเจิมรถๆ ถ้าพระเจิมรถ คนขับหลับใน คนขับประมาท เจิมรถก็คือเจิมรถ เดี๋ยวรถมันจะเจิมกัน

แต่ที่เราจะให้พ่อแม่เราเจิมนี่เราเห็นด้วยนะ เราเห็นด้วย ถ้าภาษาเรานะ ไม่ต้องเจิม เราซื้อของเราแล้วก็จบแล้ว เรามีรถมีรา มันเป็นมงคลกับชีวิตแล้ว เพราะเราปรารถนา เราอยากได้ แล้วเราก็ได้มาสมความปรารถนาแล้ว ถ้าได้มาสมความปรารถนาแล้ว ทีนี้ก็เป็นสมบัติแล้ว เป็นสมบัติของเรา เราก็ดูแลรักษา

ธรรมดาคนมีสมบัติแล้ว ในนวโกวาท ตระกูลใดถ้ามีทรัพย์มีสมบัติสิ่งใด รู้จักซ่อมแซม รู้จักบำรุงรักษา ตระกูลนั้นจะไม่เสื่อมเลย ตระกูลใดได้ทรัพย์สมบัติสิ่งใดมาแล้วใช้ฟุ่มเฟือยไม่บำรุงรักษานะ ตระกูลนั้นมีแต่เสื่อมทั้งนั้นน่ะ

นี่ก็เหมือนกัน เราได้รถมาแล้วดูแลรักษาของเรา บำรุงรักษาของเรา แล้วเราใช้รถของเราด้วยความไม่ประมาท นี่เป็นมงคลชีวิต

มงคลชีวิตของเราคือว่า หนึ่ง ชีวิตของเรามีความสุข มีความอบอุ่นในครอบครัว ไม่วิตกกังวลใดๆ ทั้งสิ้น ของใช้สอยเราก็เอาไว้ใช้สอย เวลาเราจำเป็นต้องใช้สอย เราก็ใช้สอยของเรา ใช้สอยแล้วเราก็เก็บล้างดูแลรักษาของเรา มันก็เป็นมงคลชีวิตในตัวของมันเองอยู่แล้ว สิ่งที่ว่าเราดูแลรักษาของเรา บำรุงรักษาของเรา เราใช้ประโยชน์กับเรา นี่เราซื้อรถมาเพื่อเป้าหมายนั้น

ฉะนั้น ถ้าให้พ่อมาเจิม ที่ว่าเห็นด้วยๆ เพราะพ่อแม่ของเรา พ่อแม่ของเรา นี่ไปให้พ่อเจิม พ่อก็งงๆ เนาะ เดี๋ยวพ่อบอกว่า “อ้าว! ก็กูไม่ใช่พระ จะเจิมได้อย่างไร” อ้าว! นี่ไง ความคิดของพ่อกับลูกอีกน่ะ ไอ้ลูกก็เคารพพ่อแม่ ก็อยากให้พ่อแม่เจิมให้ ไอ้พ่อแม่ก็บอกว่ากูไม่ใช่พระ เออ! ไม่ใช่พระก็อยากให้เจิม ว่าอย่างนั้นนะ

ภาษาเรา เราคิดดีๆ แต่คนอื่นจะคิดดีกับเราหรือเปล่า แล้วคนอื่นเขาจะเห็นด้วยกับเราหรือไม่ ความเห็นของคนนะ มันแตกต่างหลากหลาย แล้วธรรมดาพ่อเขา ในตัวเขาเองก็ปุถุชนน่ะ เขาจะมั่นใจในตัวเขาหรือไม่ แล้วพอเขาไปเจิมแล้วมันจะเป็นมงคลหรือไม่ เวลาเขาคิด เขาคิดไปอย่างนั้นนะ

แต่ถ้าเป็นลูกนะ ลูก พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก ถ้าพ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของเรา เราเคารพความที่ท่านให้ชีวิตเรามา แต่ในตัวของท่านเอง ท่านจะมีความเชื่อมั่นในตัวท่านมากน้อยแค่ไหน นั่นก็เป็นวาสนาของแต่ละบุคคลนะ

ฉะนั้น ถ้าพูดถึงเรามีความคิดอย่างนี้ แล้วพ่อมีความคิดเหมือนเราหรือไม่ ถ้าพ่อมีความคิดเหมือนเราแล้วพ่อทำให้ โอเค จบ ไม่มีปัญหา ถ้าพ่อเขาไม่มีความคิดเหมือนเรา พ่อจะคิดว่าเขาเป็นตัวตลกหรือเปล่า ทำไปแล้ว อันนี้เราก็ค่อยๆ คุยกัน

ฉะนั้นบอกว่า ถ้าได้ก็คือได้ พอได้แล้วมันจะมีปัญหาข้างหน้าไปอีกมาก ปัญหาที่ว่าไม่เห็นตรงกัน ความรู้สึกไม่เหมือนกัน เราก็ต้องดูแลรักษาตรงนั้น

ฉะนั้น พอบอกว่า แต่จะให้พ่อเป็นคนเจิมรถให้เป็นสิริมงคล จะดีไหมคะ

ไอ้คำว่า “ดีงาม” เราคิดดีทำดีทั้งนั้นน่ะ แต่คนอื่นเขาจะเห็นดีเห็นงามไปกับเราหรือไม่ ถ้าคนอื่นเขาเห็นดีเห็นงามกับเรา โอเค ใช้ได้ อันนี้เราเห็นด้วยนะ เราเห็นด้วย

ทีนี้ถ้าพูดถึงโดยความรู้สึกเราเลย โดยความรู้สึกเราเลย มันเป็นมงคลที่เราทำนั่นน่ะ เราทำหน้าที่การงาน เรามีหน้าที่การงาน เรามีเงินมีทอง เราไปซื้อมา มันเป็นมงคลกับเราแล้ว แล้วเรามีสติปัญญาของเราไง

มันมีความจำเป็นหรือไม่ ต่อไปรถในกรุงเทพฯ จะไม่ต้องใช้แล้ว เพราะอะไร เพราะรถไฟมันจะวิ่งรอบกรุงเทพฯ อย่างนี้ก็จบ มีรถไว้จอดไว้ในบ้าน เช้าขึ้นไปก็ไปขึ้นรถไฟ ขึ้นรถไฟฟ้าไง

เมื่อก่อนอย่างว่าล่ะ กว่าสังคมมันจะมีความเห็นด้วยอย่างนั้นนะ แต่ถ้ามีเราเห็นด้วย เพราะมันเป็นทรัพย์สมบัติของเรา การมีทรัพย์ มีทรัพย์สมบัติอันนั้นมันก็เป็นการเชิดหน้าชูตา เรื่องธรรมดาอยู่แล้ว เรื่องธรรมดา

ฉะนั้น ถ้าจะให้พ่อเจิมรถ เราก็เห็นด้วย แล้วถ้าถามต่อว่า “หลวงพ่อ ต้องให้พระเจิมหรือไม่”

จริงๆ นะ เราไม่เห็นด้วยเลย เราไม่เคยคิดอย่างนั้นเลย แต่ลูกศิษย์ลูกหาบางทีเขาบอกว่า “หลวงพ่อก็จับๆ ก็พอ” คือบางคนเขาศรัทธาในตัวบุคคลน่ะ ถ้าเขาศรัทธาในตัวบุคคล เขาเป็นเพื่อเป็นมงคลกับเขา

เราบอกว่าเราไม่เห็นด้วย แต่เราเคยทำไหม เคย เคยเหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่แล้วไม่ทำ ไม่ทำเพราะอะไร เพราะอยากให้พวกเราเข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อยากให้เข้าถึงสัจธรรมความเป็นจริงอันนั้น เข้าถึงคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านสอน ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว แล้วอย่าประมาทในชีวิต ให้มีสติมีปัญญาดูแลรักษาชีวิตของเรา นี่เราต้องการให้ชาวพุทธเราเข้าถึงตรงนั้น ถ้าเข้าถึงตรงนั้นปั๊บ ไอ้สิ่งที่ชีวิตประจำวันมันเป็นเรื่องปลีกย่อยแล้ว

เพราะเราถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระธรรม สัจธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเสริฐที่สุดนะ แล้วเวลาประเสริฐๆ ถ้าเราทำ เราปฏิบัติของเราตามความเป็นจริงแล้วนะ ไอ้สิ่งนี้มันเป็นกิริยา เป็นวิธีการที่จะให้เราเข้าไปสู่สัจธรรมอันนั้น แต่เราก็ไปติดที่คำสอน ติดที่กิริยากันอยู่อย่างนี้ ติดที่เปลือกอยู่อย่างนี้ แล้วเราเข้ากันไม่ได้

แต่เราไปโทษสังคมไม่ได้ เพราะสังคม สังคมที่แบบว่าเขายังอ่อนด้อยอยู่เขาก็ต้องอยากหาที่พึ่ง เขาอยากหาที่พึ่งที่ความมั่นคงของชีวิตของเขา แล้วประเพณีเขาทำกันอย่างนั้น เขาก็เชื่อตามๆ กันมาอย่างนั้น

จริงๆ นะ เวลาวันตรุษจีน สารทจีน เวลาเดินทาง เห็นเขาผูกไอ้พวกดอกไม้ไว้ที่หน้ารถ เห็นแล้วขำๆ มันก็แปลกๆ แต่วันตรุษจีน สารทจีน เขาต้องไหว้หมดน่ะ แล้วก็เอาดอกไม้ไปผูกไว้ที่หน้ารถ แล้วเวลาขับเจอกันก็สวนกันบนถนน เราก็เห็นนะ เออ! มันก็เป็นวัฒนธรรมของชาวตะวันออก ชาวตะวันออกเขาทำกันแบบนั้น

แต่ของเรา เราก็ดูถึงวุฒิภาวะของสังคม เวลาเราเดินทางเราก็มอง แต่ถ้าให้เราทำ เราไม่ทำ เราไม่ทำ สิ่งที่ไม่ทำ ไม่ทำเพราะอะไร เพราะว่าธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้สอนแบบนั้น

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนเข้าไปในหัวใจของคนขับรถ ถ้าหัวใจของคนขับรถเป็นธรรม เห็นไหม เวลาเราเดินทางไปนั่นน่ะ เห็นคนทุกข์คนจน คนยากคนไร้

ดูหลวงตาเวลาท่านเดินทางสิ ไปถึงตามสี่แยก ท่านเอาเงินแจกพวกขายพวงมาลัยด้วย เพราะอะไร ถ้าหัวใจเป็นธรรม ใครมีความจำเป็นรีบด่วนเอาไปก่อน เราให้ทางเขาไปก่อน มันมีสติมีปัญญา

เดินทางไปนี่ พอเห็น หลวงตาท่านบอก เวลาเราเห็นสิ่งใด ธรรมะเป็นธรรมชาติๆ ตามันเห็น มันคิดได้ทั้งนั้นน่ะ เวลาพระไปบิณฑบาต มันก็เหมือนเทศน์กัณฑ์หนึ่ง ครอบครัวไหนเขาสุขสมบูรณ์ของเขา เขาก็มีความสุขของเขา ครอบครัวไหนเขาขาดแคลนของเขา เขามีความขาดแคลนของเขา ครอบครัวไหนเขามีปัญหาในครอบครัว เขาทะเลาะเบาะแว้งกัน เดินไปบิณฑบาต ได้ฟังเทศน์ไม่รู้กี่กัณฑ์ นี่ถ้ามีสติปัญญา

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเป็นชาวพุทธเรา ในใจมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์รวมอยู่ที่ใจ แต่รวมอยู่ที่ใจแล้ว เรื่องอุบัติเหตุมันก็จะเกิดได้น้อย ว่าจะไม่เกิดเลย มันเป็นเรื่องกรรมของสัตว์ เวลาเราไม่ได้ไปชนเขาหรอก เขามาชนเราเอง ขับๆ รถอยู่น่ะ เขาข้ามเลนมาเลย ปัง! ไม่รู้เรื่องเลย นี่เวลากรรมมันให้ผลสิ่งต่างๆ

บอกว่ามันจะไม่เกิดเลย มันก็เรื่องกรรมของสัตว์ แต่เวลาเรามีสติมีปัญญา เรารักษาของเรา นั่นน่ะเป็นมงคลชีวิต

นี่พูดถึงสัจธรรม พระธรรมๆ พระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สิ่งนั้นสำคัญ เรามีพระพุทธ พระธรรมเป็นที่พึ่ง แต่พระธรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

แต่เวลาทางโลกเขาจะบ่นกันนะ ทำดีๆ ทุกคนก็ว่าทำดีทั้งนั้นน่ะ ทำดีแล้วทำไมมันทุกข์มันยากขนาดนี้

มันทุกข์ยากเพราะมีอวิชชาไง ทุกข์ยากเพราะมีกิเลสไง ทุกข์ยากเพราะเราไม่สามารถควบคุมหัวใจของเราได้ไง สังคมมันอุดมสมบูรณ์ เราก็ทุกข์ สังคมขาดแคลน เราก็ทุกข์ สังคมอย่างไรเราก็ทุกข์ เราทุกข์ทั้งนั้นน่ะ เพราะหัวใจเรามันทุกข์ ทุกข์เป็นสัจจะ

แต่ถ้ามีธรรมโอสถเข้ามารักษามันก็เป็นสัจจะ สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง สรรพสิ่งในโลกนี้ สรรพสิ่งในวัฏฏะ สรรพสิ่งในสามโลกธาตุมันแปรสภาพของมันตลอดเวลา มันไม่มีสิ่งใดคงที่ มันเป็นสมมุติบัญญัติ แล้วชีวิตเราล่ะ ชีวิตเราเป็นสมมุติอันหนึ่ง เกิดจริงตามสมมุติอันหนึ่งแล้วมันก็ต้องดำเนินไปตามชีวิตนี้อันหนึ่ง

แล้วถ้ามีพระธรรม มีสัจธรรม ธรรมโอสถๆ ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนไว้แล้วไง เออ! จริงตามนั้นหมดเลย แต่เราไม่เห็นตามความเป็นจริงในธรรมนั้นต่างหาก จิตใจเรามันไปกีดไปขวาง ไปกีดไปขวาง ไปขัดขวางตามความเป็นจริง

ของจริงมันเป็นแบบนั้น แต่จิตใจของเราจะตรงข้ามหมดเลย มันอนิจจังก็อยากให้มันเป็นนิจจังซะ มันเป็นทุกข์ก็อยากให้มันเป็นสุข ถ้ามันไม่แน่นอนก็จะให้มันแน่นอน แล้วเราไปยึดมั่นถือมั่นฝั่งตรงข้ามกับสัจธรรมหมดเลย นี่ไง ก็ไปฝืนพระธรรมไง ฝืนธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง แต่ถ้าเราเห็นตามความเป็นจริง สัจธรรม ฉะนั้น ไอ้นี่พูดถึงว่า ถ้าเรามีสัจธรรม มีพระธรรมเป็นที่พึ่งอาศัยใช่ไหม

แต่ในชีวิตประจำวัน ซื้อรถใหม่ ไม่นิมนต์พระมาเจิมรถ แต่จะให้คุณพ่อเป็นคนเจิม จะเป็นสิริมงคลหรือไม่เจ้าคะ

เป็นสิริมงคล แต่ถ้าพ่อเขาเจิมให้ก็เจิม ถ้าพ่อเขาไม่ได้เจิมให้ก็ไม่เป็นไร จบกันไป เราถือว่าเราทำดีแล้ว ทำดีแล้ว ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เราทำดีแล้วเรารักษาสมบัติของเรา มันก็เป็นประโยชน์กับเรา

ไม่ต้องไปตื่นเต้นไปกับสังคม แล้วถ้าเวลาไม่ได้เจิมหรือเราไม่ได้ทำสิ่งใด พอเข้าไปในหมู่เพื่อน เพื่อนบอก เฮ้ย! เอ็งยังไม่ได้ทำนะ จะเป็นอย่างนู้น จะเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวก็หวั่นไหวไปตามเขา

ไม่ต้อง วุฒิภาวะของเขา เขาไม่รู้ดีไปกว่าเราหรอก วุฒิภาวะแค่นั้น แล้วยิ่งไปถามเด็กๆ มันก็ชักนำกันไปวุ่นวายหมดน่ะ

แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์ที่เป็นสัจจะนะ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นความดีแล้ว เราซื้อมาก็เป็นสมบัติของเราแล้ว จบแล้ว เรารักษาของเรา

ไอ้ที่เขาทำๆ นั้นมันเป็นประเพณี ประเพณีที่เขาทำกัน เราก็ต้องทำให้ครบสูตรอย่างนั้น แล้วก็ทำกันอยู่อย่างนั้นน่ะ แล้วถึงเวลาก็ต้องคอยดูแล

แต่ของเราเป็นวิทยาศาสตร์ ทุกอย่างเราเป็นเจ้าของ เห็นไหม เราเป็นเจ้าของ เราเป็นคนซื้อมา เราเป็นคนมีสติปัญญา เราใช้ประโยชน์ของเราตามความสามารถของเรา นี่คือสมบัติของเรา จบ

ถาม : เรื่อง “ไม่มีคำถาม”

เนื่องจากไม่สามารถเดินทางไปวัดได้บ่อยเท่าที่ต้องการ จึงได้อาศัยฟังเทศน์จากเว็บไซต์ คำเทศน์ของหลวงพ่อมีคุณค่ามหาศาล และช่วยกำกับจิตให้มั่นคงต่อสภาพแวดล้อมในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ฟังแล้วน้ำตาจะไหล ซาบซึ้งมากค่ะ กราบขอบพระคุณที่ท่านให้เมตตาโปรดสัตว์โลกผู้ยากไร้มาโดยตลอด

ตอบ : นี่คำชมมาไง คำชม เห็นไหม เขาบอกว่า “เนื่องจากไม่มีความสามารถเดินทางไปวัดได้บ่อยเท่าที่ต้องการ จึงต้องอาศัยฟังเทศน์จากเว็บไซต์”

ฉะนั้น ถ้าฟังเทศน์จากเว็บไซต์ สื่อมันมีประโยชน์ มีประโยชน์อย่างนี้ เวลาสื่อมันมีประโยชน์ ที่ใช้ประโยชน์จากสื่อ

แต่สื่อนั้นเวลาใครเป็นคนใช้ไง สื่อ สื่อที่เขาใช้กัน เวลาเขาปอกลอกกัน ดูเขาปอกลอกกัน เวลาพวกที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่มาหลอกเอาเงินกันน่ะ เขาก็ใช้สื่อ

ถ้าใช้สื่อนะ ถ้าเรามีสติมีปัญญา จะสื่อสิ่งใดที่เข้ามาถึงเรา เราไม่ไปเชื่อตามนั้น เราไม่ไปเชื่อตามนั้นแล้วไม่ต้องไปหวั่นไหวตามนั้น แต่คนของเรา จิตใจที่อ่อนแอมันหวั่นไหว แล้วมีคนพูดสิ่งใดก็จะไปเชื่อเขา ถ้าเรายังไม่ถึงกับเชื่อเขา

ไอ้นี่พูดถึงว่า เวลาเขาหาผลประโยชน์จากสื่อ เอาสื่อนั้นมาเที่ยวปอกลอก เที่ยวทำลายคน แต่ถ้าสื่อมันเป็นประโยชน์ สื่อมันก็เป็นสื่อ แต่สิ่งที่เข้าไปอยู่ในสื่อนั้นไง

เขาบอกว่า ในเมื่อไม่สามารถเดินทางไปวัดได้บ่อยตามที่ต้องการ

ตามที่ต้องการ มันก็บอก คนเรามันมีหน้าที่การงาน ต้องมีความรับผิดชอบ นี่ยังดีนะ เวลาคนเกิดมาอัตคัดขัดสน แล้วมีพ่อแม่ที่เจ็บไข้ได้ป่วย เวลาดูพ่อดูแม่ ต้องอดออม ต้องเก็บหอมรอมริบเพื่อคนในบ้านของเราที่เจ็บไข้ได้ป่วยนะ ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาเราต้องรักษา

แต่นี่มันเป็นปัญหาสังคม ปัญหาสังคม อย่างเช่นในเมืองไทยในสมัยปัจจุบันนี้มีเงินกู้การศึกษา เวลามีสวัสดิการ มีการบำรุงรักษา มันก็บำรุงรักษาเพื่อไม่ให้คนมันทุกข์มันยากจนเกินไป

ก่อนหน้านั้นคนไข้อนาถา คนไข้อนาถาเข้าไปโรงพยาบาล คนเขาไม่ดูแลเลย แต่ในปัจจุบันสิ่งที่ว่าเวลาเขามีสวัสดิการดูแลรักษา แต่ดูแลรักษา เวลาคนเขาไม่มีบัตร คนที่เขาเป็นคนไร้รัฐ มันมีความทุกข์ทั้งนั้นน่ะ เวลามองโลก มองโลกมันมองออกไป

เราบอกว่า เวลาคนมันทุกข์มันยาก คนมันขาดแคลนอย่างนั้นไง ฉะนั้น เขาต้องดูแลรักษาของเขา เขาต้องใช้ทรัพยากร ใช้ชีวิตทั้งหมดเพื่อความสุขในครอบครัว เพื่อเป็นความรับผิดชอบ

แต่เวลาบอกว่า “เนื่องจากไม่สามารถเดินทางไปวัดได้บ่อยตามที่ต้องการ”

ตามที่ต้องการ เห็นไหม เวลาถ้าจะวัด จะวัดหัวใจของเรา วัดหัวใจของเรา ถ้าเรามีหัวใจของเรา ที่ไหนก็ได้ เวลาจะทำบุญ วัดใกล้บ้านที่ไหนก็ได้ ถ้าเราไม่ลงใจ เราก็ให้คิดถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วทำบุญกับพระองค์นั้นไป มันก็เป็นประโยชน์กับเรา แต่ถ้ามันไม่ได้อย่างนั้น ไม่ได้อย่างนั้นมันก็ย้อนกลับมาบวชหัวใจของเราไง หัวใจที่มันเป็นจริง

ฉะนั้น มันเห็นใจตรงนี้ บอกว่า “ไม่สามารถไปวัดได้ตามต้องการ”

เวลาความต้องการมันก็อยากไปวัด ไปวัดไปวาอยากจะไปปฏิบัติ ไอ้คนที่มาปฏิบัติอยู่วัด ปฏิบัติแล้วก็ไม่ได้ผล มันก็อยากจะ เอ๊ะ! โลกมันมีอะไรน่าสนใจ

นี่ก็เหมือนกัน “อยากจะไปวัด ไม่มีความสามารถไปวัดได้ตามที่ต้องการ”

มันก็เป็นหน้าที่รับผิดชอบ เวลาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราพูดบ่อย ทางของคฤหัสถ์เป็นทางที่คับแคบ คับแคบเพราะมันมีหน้าที่รับผิดชอบในชีวิตไง มันมีหน้าที่รับผิดชอบ

ยิ่งอยู่ในบ้านเรามีพ่อมีแม่มีพี่มีน้อง มันเป็นตระกูลของเรา ถ้าคนที่เขาไม่รับผิดชอบ มันก็เป็นภาระที่ให้เราต้องดูแลรักษา คนที่เขาเจ็บไข้ได้ป่วยแบบว่าเขามีเวรมีกรรมต่อตัวเขา เราก็ต้องเป็นคนที่รับผิดชอบ แล้วชีวิตของเรา เราก็ต้องรับผิดชอบชีวิตของเรา ความรับผิดชอบ หน้าที่การงานต่างๆ มันเอาเวลาเราไปหมดเลย ที่ว่าทางคับแคบ คับแคบตรงนี้ไง

แต่เวลาทางภิกษุ ภิกษุคือนักบวชเห็นภัยในวัฏสงสารแล้วสละความเป็นฆราวาสนั้น ภิกษุ ชีวิตต่างจากคฤหัสถ์ ชีวิตต่างจากโลก เวลาบวชมาแล้วเป็นนักรบๆ นี่ทางกว้างขวาง

กว้างขวางต้องกว้างขวางจริงๆ นะ กว้างขวางจริงๆ หมายถึงว่า ดูสิ พระปฏิบัติ เช้าขึ้นมาทำข้อวัตรปฏิบัติในศาลาแล้วออกบิณฑบาต บิณฑบาต ทำภัตกิจเสร็จแล้ว ทำภัตกิจเสร็จแล้ว ทำข้อวัตรเสร็จแล้วจะประพฤติปฏิบัติ นี่ทางกว้างขวาง ทางกว้างขวาง ๒๔ ชั่วโมงไง

เริ่มต้นฉันเสร็จแล้วภาวนาได้ตลอดเลย แล้วมันจะมีเวลาของสงฆ์ เวลาฉันน้ำร้อนร่วมกัน ตอนนั้นมันก็เป็นเวลาที่ได้ทำกิจวัตร เสร็จแล้วก็ได้ภาวนาต่อไป นี่ทางกว้างขวาง

ทีนี้เวลาทางคฤหัสถ์เป็นทางที่คับแคบ คับแคบ คับแคบที่โอกาส คับแคบที่เวลา ไม่ใช่ว่าทางคับแคบแบบว่า สิทธิมนุษยชนนี่ แหม! ดูถูกเหยียดหยามกัน...ไม่ใช่ มันเป็นหน้าที่ มันเป็นหน้าที่ในวัฒนธรรมที่เราเกิดเป็นชาวพุทธไง นี่ทางของนักรบเป็นทางที่กว้างขวาง

ฉะนั้นบอกว่า “เนื่องจากไม่สามารถเดินทางไปวัดได้เท่าที่ต้องการๆ”

เพราะว่าเรามีหน้าที่รับผิดชอบ อย่าคิดจนเสียใจไง เราอย่าคิดขนาดนั้น หน้าที่รับผิดชอบเพราะเราเกิดเป็นมนุษย์ ความรับผิดชอบอันนั้นเขาว่าเป็นธรรมเหมือนกัน ความรับผิดชอบเป็นหน้าที่การงานของเรา

ฉะนั้น เขาบอกว่าเขาถึงต้องได้อาศัยฟังจากเว็บไซต์

ถ้าได้อาศัยฟังจากเว็บไซต์มันก็เป็นประโยชน์ เป็นประโยชน์กับคนที่ว่าเขาเห็นประโยชน์ ทีนี้เขาว่าเห็นเป็นประโยชน์ เขาบอกเขาฟังแล้วมันซาบซึ้ง ฟังแล้วมันมีคุณค่ามหาศาล อันนี้พูดถึงว่าเวลาใจคนที่เป็นบวก

ใจที่เป็นลบ คนเขาฟังแล้วไม่รู้เรื่อง เขาบอกว่าไอ้บ้าหงบมันพูดอะไรก็ไม่รู้ ไอ้คนที่คิดลบนี่มหาศาลเลย แล้วยังบอกนะ โอ๋ย! เปิดเว็บไซต์ อยากดัง โอ๋ย! อยากให้คนรู้จัก

เราเสียตังค์นะ เสียค่าไฟด้วย เราต้องเสียตังค์ของเรา เราทำเพื่อประโยชน์กับเรา เราทำเพื่อประโยชน์กับเรา เพราะเราก็เคยเป็นฆราวาสมาก่อน เวลาเราบวชใหม่ๆ โอ้โฮ! มันแสนทุกข์แสนยาก คำว่า “แสนทุกข์แสนยาก” จะหาครูบาอาจารย์นี่แสนยาก

แล้วเวลาครูบาอาจารย์ที่ดีนะ อย่างครูบาอาจารย์ที่ดี วัดนี่แน่น มีแต่พระ แล้วพระไปแต่ละองค์ เช่น หลวงตา หลวงตาท่านตั้งเป้าของท่านว่าท่านจะออกปฏิบัติ ท่านจะไปหาหลวงปู่มั่น

เวลาไปหาหลวงปู่มั่น เวลาหลวงตาท่านพูดเองบอก “นี่ดีนะ เมื่อวานท่านเนตรออกไป มหาถึงได้อยู่ ถ้าท่านเนตรไม่ออกไป มหาไม่ได้อยู่ก็แล้วกันแหละ”

นี่เวลาเข้าไปนะ จะได้อยู่ไม่ได้อยู่นั่นอีกเรื่องหนึ่งนะ เวลาเข้าไปแล้ว ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นธรรมๆ นะ คนที่จะเข้าไปอยู่กับครูบาอาจารย์ที่เป็นธรรมส่วนใหญ่แล้วก็ยอดคน คือคนที่จริงจัง คนที่อยากจะหลุดพ้น คนที่อยากประพฤติปฏิบัติ ที่เข้าไปอยู่กับหลวงปู่มั่นมีแต่คนที่ เราจะบอกว่า มันแบบว่าความจริงจัง คนพิเศษ ว่าอย่างนั้นเลย คือเอาไม่อยู่ เอายาก

ฉะนั้น เอายากหมายความว่าไม่ค่อยฟังใคร เพราะเขามีความรู้ความเห็นส่วนตัวเยอะ คือตัวตนเขา คนที่จะเอาจริงเอาจัง ตัวตนเขาก็ต้องมั่นคงของเขา เวลาตัวตนมั่นคงของเขา เขาก็ถือตัวตนของเขาเหมือนกัน

ไอ้คนที่เหลวไหล คนที่ไม่เอาไหนเลยมันก็สำมะเลเทเมา ไอ้คนที่เอาจริงเอาจังมันก็มีตัวตนนะ อย่างเช่นเวลาหลวงตาท่านขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น เวลาท่านภาวนาแล้วท่านติดขัดของท่าน ขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น เวลาหลวงปู่มั่นท่านพูดสิ่งใด ท่านบอกว่า “เราพูดด้วยความเคารพ” คือตัวเองก็อยากได้ อยากเป็นความจริง ก็เคารพในตัวหลวงปู่มั่น แต่เราก็มีความเห็นของเรา

ท่านพูดเอง ท่านบอกว่า เวลาเราปฏิบัติไปเราก็รู้เราก็เห็นใช่ไหม มันก็แบบว่ามีความเห็นของตนน่ะ เวลามีความเห็นของตน มันก็ยึดถือความเห็นของตน ยึดถือความเห็นของตน เวลาท่านพูดอะไร ไอ้ความเห็นนั้นมันก็ต้องโต้แย้ง โต้แย้งด้วยความเคารพ โต้แย้งว่าจริงไม่จริงไง หาความจริงต่อกัน

แล้วถ้าความจริงต่อกัน โดยสัจจะ ในเมื่อความจริงของเรา เราเห็นจริงๆ แต่ความเห็นของเราไม่จริงหรอก แต่ของครูบาอาจารย์ท่านเคยผ่านอย่างนั้นมา เวลาเหตุผลของท่าน เวลาโต้แย้งกันแล้วแพ้ทุกที เวลาแพ้อย่างนั้นน่ะ

นี่พูดถึงว่า สิ่งที่เราแสวงหาตอนที่เราปฏิบัติใหม่ๆ มันก็แสวงหาอย่างนี้ แล้วเวลาเข้าไปหาครูบาอาจารย์แล้วครูบาอาจารย์ไปเจอ ที่หลวงตาท่านพูด เวลาท่านออกจากหลวงปู่มั่นมา ท่านออกไปวิเวกมา ท่านไปพักพิงตามครูบาอาจารย์น่ะ เวลาพูดอะไรออกมา เรามีการศึกษา เรามีการกระทำ เรามีความรู้ ว่าอย่างนั้นเถอะ แล้วเวลาคนพูดถูกๆ ผิดๆ เวลาคนพูดแล้วมันไม่เข้า หลวงตาท่านพูดเลย “ความรู้อย่างนี้หรือจะมาสอนเรา” เวลาคำพูดมันมีจุดบกพร่องไปทั้งหมดเลย มันไม่สมบูรณ์น่ะ

แต่เวลาเราไปหาหลวงปู่จวนอย่างนี้ เวลาไปหาหลวงตาอย่างนี้ หลวงปู่เจี๊ยะอย่างนี้ เวลาพูดออกมานี่หงายท้องทุกทีเลย มันเถียงไม่ขึ้น มันเถียงไม่ได้เลย คำพูดเป็นธรรมะนี่มันครอบคลุมหมดเลย คำเดียวเท่านั้นน่ะ แล้วเราเถียงไม่ขึ้นหรอก

แต่ไอ้ที่เถียงขึ้นๆ ไอ้เวลาคนที่เขาไม่เคารพบูชานะ เวลาพูดอะไรมาเขาเห็นไร้คุณค่า เขาเถียงด้วยทิฏฐิมานะของเขา เขาไม่ได้เป็นความเป็นธรรม

ความเป็นธรรม หมายถึงว่า เราปฏิบัติแล้วเรามีความสงสัย เราปฏิบัติแล้วเรามีความระแวง มีความวิตกกังวลในใจ เวลาเราไปเจอ เพราะมันเปิดรับอยู่แล้ว เวลาคำตอบของท่านมาเป็นธรรมะนี่ ผัวะ! มันครอบคลุมหมดทั้งข้อสงสัย ทั้งทิฏฐิมานะ ทั้งความเห็น มันครอบหมดเลย เราเถียงไม่ได้หรอก ถ้ามันเป็นธรรมนะ

แต่ไอ้คนที่จะเถียงๆ ส่วนใหญ่นี่เถียง เราได้ยินบ่อยๆ เวลาหลวงตา คนออกมาพยายามจะโจมตีถึงความบกพร่องของท่าน ไอ้นี่มันทิฏฐิมานะ ไอ้เถียงอย่างนี้เถียงแบบโลกๆ อวดรู้ ไอ้พวกอวดรู้ เหมือนนักกฎหมาย ไอ้พวกทนาย โอ๋ย! ข้อกฎหมายมันไปตีความ มันไปหาความบกพร่อง หาการตีความกฎหมายตามที่มันพอใจ นี่ไอ้พวกจะเถียง เถียงอย่างนี้

แต่ถ้าไม่เถียงนะ นี่พูดถึงว่า ตอนที่แสวงหาครูบาอาจารย์มันก็ทุกข์ยากเหมือนกัน เพราะมันทุกข์ยาก มันเห็นอย่างนั้น ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเราถึงได้ทำไง

ตอนที่หลวงตาอยู่ เราก็เฉยๆ อยู่ แต่พอหลวงตาท่านบั้นปลายชีวิต เว็บไซต์ เราถึงได้เปิดเว็บไซต์ของเรา เปิดขึ้นมา เปิดไว้เป็นสมบัติของสาธารณะ ใครเห็นว่าไอ้หงบมันบ้า เอ็งมองข้ามไป เอ็งไม่ต้องมายุ่ง

ฉะนั้น เวลาเขาพูด “เขาฟังทางเว็บไซต์ คำเทศน์หลวงพ่อมีคุณค่ามาก ฟังแล้วน้ำตาไหล”

ไอ้นั่นเวลาคนคิดบวก ธรรมดาจริตนิสัยของคน ธาตุขันธ์ของคนมันก็ไม่เหมือนกัน ถ้าธาตุขันธ์ของคนไม่เหมือนกัน เข้ากันโดยธาตุ ธาตุที่บวกกับลบมันเข้ากันไม่ได้ มันเข้ากันไม่ได้ มันก็ต้องมีความเห็นว่า “ขาดตกบกพร่อง ไม่สมความปรารถนาของเรา ไม่สมบูรณ์ในความเห็นของเรา” ไอ้นั่นเรื่องของเขา

เราจะบอกว่า เวลามีคนชมอย่างนี้ มีคนชม มีคนเห็นประโยชน์ เราก็เห็นด้วย แต่ผู้ที่ไม่เห็นด้วย ผู้ที่เห็นขัดแย้งก็เยอะ ไอ้นั่นมันกรรมของสัตว์ ไอ้นั่นกรรมของสัตว์ เราไม่ใช่ว่ามีคนชมแล้วก็ โอ้โฮ! พวกเราก็ถูกต้องดีงามไปทั้งหมด

มันถูกต้องดีงามสำหรับสิ่งที่เป็นสัจจะ สิ่งที่เป็นธรรม สิ่งที่เป็นธรรมมันด้วยเหตุด้วยผลไง เราทุกคนเราแสวงหาความจริง เราแสวงหาของจริง ของจริงมันก็ต้องทดสอบต้องตรวจสอบทั้งนั้นน่ะ ตรวจสอบแล้วมันเป็นจริงหรือไม่เป็นจริงล่ะ

ถ้ามันเป็นจริงหรือไม่เป็นจริง มันก็ต้องตรวจสอบด้วยความเป็นธรรม ตรวจสอบด้วยทางวิทยาศาสตร์ ด้วยสัจจะ ด้วยข้อเท็จจริง ผิดเป็นผิด ถูกเป็นถูก ไม่ใช่ตรวจสอบด้วยพวกเขาพวกเรา ถ้าพวกเขาพวกเรา ผู้ใดที่เข้าข้างพวกเรา อันนั้นถูก เวลามีสิ่งใดที่เห็นแย้งกับพวกเรา อันนั้นผิด อันนั้นเป็นพวกพ้อง

เวลาเทศน์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาเทศน์แล้ว เทศน์ไม่ใช่เสียดสีใคร เทศน์ไม่ใช่กลั่นแกล้งใคร เทศน์ไม่ใช่ยกย่องพวกของเราเอง ไม่ใช่ เทศน์ความจริงก็ต้องเป็นความจริง ถ้าความจริง เทศน์เพื่อเป็นความจริงไง ความจริงเพื่อใคร ความจริงเพื่อคนที่เทศน์ด้วย เพราะคนที่พูดความจริง พูดความจริงเป็นสิ่งที่ไม่ตาย พอพูดความจริงมันก็จบไง ถ้าพูดเป็นสิ่งที่ไม่จริง เดี๋ยวไอ้คำพูดนั่นล่ะมันจะกลับมา กลับมาตรวจสอบไอ้คนที่พูดนั่นน่ะ

ฉะนั้น สิ่งที่บอกว่า เขามาวัดได้ไม่เท่าที่ความต้องการ

อันนี้เห็นใจ เห็นใจ เพราะอะไร เพราะเป็นทางโลกไง เป็นทางคฤหัสถ์ แล้วมีความรับผิดชอบ ฉะนั้น ถ้าเห็นใจด้วย หนึ่ง

สอง เห็นใจแล้วเขาก็ต้องรักษาอุดมการณ์อันนี้ไว้ ถ้าไม่รักษาอุดมการณ์อันนี้ไว้ ไปวัดไม่ได้ตามความต้องการ ก็เลยไม่ไป ไม่ไปแล้วพออยู่ทางบ้านก็เลยหลงระเริงทางโลกไป อย่างนี้เยอะมาก

ทีนี้เวลาฤดูกาลก็เปลี่ยนแปลง เวลาเกิดพายุฝนมันก็เปลี่ยนแปลง ศรัทธาของคนมันก็คลอนแคลน ถึงเวลามันคลอนแคลนมันก็หายหมดเลย

แต่ถ้าศรัทธาของคนนะ ศรัทธา อจลศรัทธา อจลศรัทธาคือเห็นกับชีวิตของเรา ชีวิตนี้มันทุกข์ทั้งนั้นน่ะ ถ้ามีสติมีปัญญานะ คนเรามันจะขวนขวาย คนเรามันจะหาทางพ้นจากทุกข์ ถ้าคนเรามันจะหาทางพ้นจากทุกข์ พ้นจากทุกข์มันก็ขวนขวาย

หน้าที่การงานนะ เราทำหน้าที่การงานของเราเสร็จ เสร็จแล้ววาง เวลาเข้าห้องพระหรือก่อนนอน หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ ถ้าได้นั่งสมาธิได้ภาวนาเสียหน่อยเพื่อรักษาหัวใจไง

ดูสิ เวลาคนเขาออกกำลังกาย เช้าเขาก็ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพกายของเขา ไอ้นี่ก็เหมือนกัน สุขภาพจิต สุขภาพจิตถ้ามันได้ภาวนาเสียหน่อย มันทำให้จิตใจนี้เข้มแข็ง จิตใจนี้มันยังอยู่กับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มันอยู่กับสัจธรรมอยู่ แล้วฝึกหัดๆ ขึ้นไป เวลามันดีขึ้นๆ

ไอ้ที่ว่า “เนื่องจากไม่สามารถเดินทางไปวัดได้เท่าที่ต้องการ”

ต่อไปเดี๋ยวเวลาแก่เวลาเฒ่าแล้ว เรามีวัดกลางหัวใจเลย ถ้าเรามีวัดกลางหัวใจ เราถึงเวลาแล้วก็อยากภาวนาของเรา ถึงเวลาเราก็สวดมนต์ไหว้พระแล้วก็ฝึกหัดภาวนา เพราะต่อไปอายุมากขึ้น หน้าที่การงานก็ต้องเบาบางลง พอเบาบางลง เวลาของเราก็จะมีมากขึ้น แล้วเราก็รักษาใจของเรา

แล้วอาศัยฟังจากเว็บไซต์นี่สบายเลย เว็บไซต์มันมีให้ฟังตลอด เพราะกดเมื่อไหร่มันก็เป็นอย่างนั้นน่ะ วนอยู่อย่างนั้นน่ะ ฟังอยู่อย่างนั้น เพราะเรายังเปิดทีวีหลวงตา ฟังเทศน์หลวงตาอยู่ไง

เวลาเห็นภาพหลวงตานะ หลวงตาท่านเสียปี ๒๕๕๓ เวลาเห็นภาพหลวงตาจะบอกว่าท่านเสียไปแล้ว ๗ ปี ๘ ปี คอยเตือนนะ นึกว่าหลวงตายังอยู่ เวลาดูเทศน์หลวงตา ดูทีวี นึกว่าหลวงตาอยู่กับเรา ต้องเตือนตัวเองตลอดเลย ท่านเสียไป ๖ ปีแล้วนะ ท่านเสียไป ๗ ปีแล้วนะ แต่ก็ยังอยู่กับเรา เห็นไหม

ขนาดหลวงตาท่านเสียไปแล้วนะ คำเทศน์ของท่าน โครงการช่วยชาติฯ ของท่านยังออกทีวีอยู่ตลอดเวลา เราก็ระลึกถึงอยู่ตลอดเวลาเหมือนกัน เห็น เห็นอยู่อย่างนั้นน่ะ เราก็คิดนะ จากที่ว่าตอนท่านชราภาพท่านเจ็บไข้ได้ป่วย นี่เวลามันเป็นข้อเท็จจริงไง

นี่พูดถึงว่า สื่อมันมีประโยชน์อย่างนี้ไง เวลาสื่อ สื่อเรื่องอะไร สื่อธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เว็บไซต์หลวงตา ท่านก็เทศน์คำเทศน์ของท่าน คำเทศน์ของท่าน แล้วในทีวีหลวงตาก็เป็นคำเทศน์ของท่าน มันก็ยังเป็นประโยชน์กับเรา สื่อมันมีประโยชน์อย่างนี้ ถ้าเราใช้เพื่อประโยชน์นะ มันเป็นประโยชน์

ฉะนั้น คำถามว่า “ไม่มีคำถาม” ไม่มีคำถามนะ เราก็พูดถึงว่าเหตุผล ถึงจะไม่มีคำถาม แต่เวลาเขียนมานี่มันบอกถึงความจำเป็นของมนุษย์เลย “เนื่องจากไม่สามารถเดินทางไปวัดได้เท่าที่ต้องการ”

นี่มันก็บอกอยู่แล้วว่าในหัวใจมันว้าเหว่ ในหัวใจมันอยากมีที่พึ่ง ในหัวใจมันอยากจะชุ่มชื่น ในหัวใจมันอยากจะไปวัด ในหัวใจมันอยากจะปฏิบัติ แต่ “เนื่องจากไปวัดไม่ได้เท่าที่ต้องการ”

เท่าที่ต้องการ มันก็เป็นว่าเราต้องทำหน้าที่รับผิดชอบ เราเห็นด้วย เราต้องทำหน้าที่รับผิดชอบ แล้วมันก็เป็นประโยชน์ เป็นประโยชน์ที่ว่า เวลาเขามา เขามาทั้งครอบครัว มันเป็นประโยชน์ไง ไม่ใช่ว่าเวลาเราไม่ได้ไปวัดตามที่ต้องการ เราต้องการไปวัด เวลาสามีหรือที่บ้านเขาก็จะคิดเลย เอ๊ะ! ทำไมมันไปอย่างนั้น มันก็มีปัญหาเหมือนกัน ฉะนั้น ถ้าเขามีไปพร้อมกันถูกต้องดีงามก็ถูกต้อง

แล้วถ้ามันมาไม่ได้ ฟังจากเว็บไซต์ก็ยังเป็นประโยชน์นะ พอแต่ก่อนเวลาเสาร์อาทิตย์บางวันมันไม่มีถามตอบ ลูกศิษย์เขาจะมีโทรศัพท์มาเลยนะ “หลวงพ่อไปไหน หลวงพ่อไปไหน”

ไม่ได้ไปไหนหรอก มันไม่มีคำถาม

“ทำไมวันนี้หลวงพ่อไม่ตอบปัญหา”

เขียนมาสิ ทีนี้พอเขียนมาแล้ว เพราะอะไรรู้ไหม เพราะว่าเราสังเกตลูกศิษย์เวลาฟังเทศน์ๆ มันเหมือนเรา สำเนียงหลวงตานี่เราฟังรู้เลย ฟังรู้ว่านี่เป็นคำเทศน์หลวงตา สำเนียงของใคร ครูบาอาจารย์องค์ไหนเป็นขององค์นั้น

ไอ้ของเราก็เหมือนกัน เวลาคำถามสิ่งใดมา มันสำเนียง สำเนียงคือเทคนิคการจะตอบธรรมะของเรา เขารู้เลยนะ เวลาหลวงพ่ออ้าปาก รู้เลยว่าจะตอบเรื่องอะไร เพราะฟังทุกวัน ร่องสมองมีเท่านี้ไง

หลวงตาท่านบอกว่า สมมุติมีเท่านี้ สมมุติ ธรรมะมันกว้างขวางมาก ความรับรู้เรื่องสัจธรรม เวลาท่านบอกว่า เวลาหัวใจของท่านเวลาพ้นกิเลสไปเหมือนมังกร มันไปได้สามแดนโลกธาตุ สามแดนโลกธาตุ ธรรมะครอบสามแดนโลกธาตุ แต่สมมุติ ภาษาพูดมันมีเท่านี้

เวลาฟังเทศน์หลวงตา เราฟังสำเนียงไง สำเนียงหลวงตา คือมันจะมาร่องนี้ มันเหมือนร่องสมอง คือความชำนาญของเราจะออกอย่างนี้

นี่เทศน์ก็เหมือนกัน เราเห็นลูกศิษย์เวลาเขาฟังเขารู้เลย หลวงพ่อจะตอบขึ้นต้นอย่างนี้จะไปจบอย่างนั้น มันเป็นสำเนียง

แล้วก็มีคนเจตนาดีนะ เขาพยายามจะป้อนข้อมูลหนังสือให้เราฉะฉาน

เราบอกว่า หลวงตาท่านพูดนะ กรรมของสัตว์ ใครทำอย่างไร มาอย่างนั้น มันเป็นอย่างนั้น กรรมของสัตว์

เวลาเราฟังเทศน์หลวงปู่สิม เวลาเราฟังเทศน์ครูบาอาจารย์ รู้เลยจะออกไปอย่างนั้นๆ ท่านออกไปอย่างนั้น เวลาฟังเทศน์หลวงปู่สุวัจน์ เวลาฟังเทศน์หลวงปู่หล้า ในเสียงธรรมก็มี

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ฉะนั้นบอกว่า ถ้าฟังในเว็บไซต์มันเป็นประโยชน์ บางกัณฑ์เวลามันออกดีๆ มันก็ดี ถ้าบางกัณฑ์มันออกไม่ดีมันก็เป็นเรื่องของปริยัติ คือต้องเอาพระไตรปิฎกเป็นตัวตั้งแล้วเทศน์ไปตามนั้น

ถ้ามันแบบว่า หลวงตาท่านพูดว่า ใจของท่านเป็นน้ำอมตะ อมฤต ตักไม่หมดไม่สิ้น

นี่ก็เหมือนกัน ธรรมะพูดได้ทั้งวันทั้งคืนไม่หมดไม่สิ้นหรอก แต่มันเป็นจังหวะอย่างที่ว่า เวลาหลวงปู่มั่นจะเทศน์ หลวงตาท่านบอกเลย ต้องไขก๊อกให้ได้ คือไปถามปัญหาให้มันถูกๆ ผิดๆ อย่างนั้นน่ะ ให้เข้าไปกระทบ กระทบกับธรรมะในใจนั้น

ถ้ากระทบกับธรรมะในใจนั้น ท่านบอกว่า ไม่ใช่! เท่านั้นน่ะ โอ้โฮ! ไหลพรูเลย บอก เออ! ถ้าอย่างนี้ฟังแล้วมันถึงใจ ถ้าถึงใจ นี่น้ำอมตธรรม ไม่มีวันจบวันสิ้นหรอก แต่มันอยู่ที่จังหวะ ถ้าจังหวะที่มันเข้มข้น จังหวะที่มันดีๆ นะ โอ้โฮ! ออกมานี่เข้มข้น ถ้าโดยปานกลาง โดยทั่วไป ไอ้นี่เป็นธรรมะ ท่านบอกว่าธรรมะแกงหม้อใหญ่ ถ้าธรรมะแกงหม้อเล็กนั่นอีกเรื่องหนึ่ง เห็นไหม

นี่พูดถึงพระธรรม พระธรรมคือสัจธรรมความเป็นจริง แล้วใครจะเป็นคนสื่อเท่านั้น ความเป็นจริง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม เวลาแสดงธรรมๆ พระอัญญาโกณฑัญญะมีดวงตาเห็นธรรม สัจธรรมๆ สัจจะความจริงอันนั้น แต่ใจอันใดมันเข้าถึงพระธรรมอันนั้นไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากราบธรรมๆ กราบพระธรรมอันนั้น กราบพระธรรมคือข้อเท็จจริงที่ความเป็นจริง

ฉะนั้น ในการศึกษา ในการฟังธรรม ในการประพฤติปฏิบัติธรรมของเราขึ้นมา เราต้องการให้ใจเรามีสัจธรรม มีสัจจะความเป็นจริง มีสัจจะ มีอริยสัจจะในหัวใจ แล้วมันเป็นธรรมจริงๆ ในหัวใจของเรา นั้นเป็นที่พึ่งของชาวพุทธ เอวัง