ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

สัตว์มีกรรม

๑๖ ก.ย. ๒๕๖o

 

สัตว์มีกรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๖๐
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : ข้อ ๒๑๒๕. เรื่อง “ผลกรรมของอัตวินิบาตกรรม”

กราบเรียนถามหลวงพ่อที่เคารพอย่างสูง ดิฉันมีความสงสัยจากบทความต่างๆ ที่ได้อ่านมา ในทางการแพทย์ โรคซึมเศร้าถือเป็นอาการผิดปกติของสารเคมีในสมอง กรณีนี้ถ้าเป็นโรคนี้ทำการอัตวินิบาตกรรมสำเร็จ ไม่ว่าจะโดยมีสติรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ผลกรรมคืออะไร และผลจะเท่ากับคนที่ทำอัตวินิบาตกรรมทั่วๆ ไปหรือไม่ แล้วถ้าเราอยากอุทิศส่วนกุศลไปให้ ต้องทำอย่างไร เคยได้ยินว่าต้องนั่งกรรมฐานระบุชื่อให้เท่านั้น บุญหรือทานอื่นเขาจะไม่ได้รับ จริงหรือไม่ ขอบพระคุณหลวงพ่อที่เสียสละเวลาตอบคำถามค่ะ

ตอบ : อันนี้อัตวินิบาตกรรมเนาะ นี่พูดถึงทางการแพทย์ ทางการแพทย์ โรคซึมเศร้า เขาบอกว่าเป็นอาการผิดปกติของสารเคมีทางสมอง กรณีโรคอย่างนี้ถ้าทำอัตวินิบาตกรรมสำเร็จ ทีนี้พอทำอัตวินิบาตกรรมสำเร็จ เพราะเราอยู่ทางโลก กรรมเป็นอจินไตย เราจะบอกกรรมนี้เป็นอจินไตย อจินไตยมันไม่มีต้นไม่มีปลาย มันยาวนานมหาศาล เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บุพเพนิวาสานุสติญาณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มีต้นไม่มีปลายไง คำว่า “ไม่มีต้นไม่มีปลาย” คือมันยืดยาวมาก

ทีนี้คำว่า “ยืดยาวมาก” การกระทำของจิตที่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะมันไม่รู้ว่าทำตั้งแต่ภพใดกรรมใดไง ถ้าไม่รู้ว่าทำตั้งแต่ภพใดกรรมใด เวลามาเกิดในชาติปัจจุบันนี้ เวลาเกิดในชาติปัจจุบันนี้ เราอยู่ในชาติปัจจุบันนี้ เราก็จะเริ่มต้นนับหนึ่งกันที่นี่ไง ส่วนใหญ่จะเริ่มต้นนับหนึ่งกันที่นี่ พอเริ่มต้นนับหนึ่งกันที่นี่ มันก็เลยแบบว่าเหมือนผ้าขาว ว่าเริ่มต้นที่แล้วมันจะเป็นไปอย่างไร

แต่ถ้าบอกว่า แบบว่าเขามีความผิดปกติทางจิต เวลาเขามาทำอัตวินิบาตกรรม เขาจะมีผลเท่ากับผู้ที่เขาจิตปกติที่ทำอัตวินิบาตกรรมหรือไม่

เหตุผลมันอยู่ตรงนี้ไง ตรงที่ว่า ถ้าเราคิดเขาทำไปโดยขาดสติ เขาทำไปโดยที่เจตนาของเขาไม่ได้ปรารถนาอย่างนั้น เขาทำไปโดยไม่รู้ตัว นี่ว่าอย่างนั้นเลย มันจะมีผลเท่ากันหรือไม่ ถ้ามีผลเท่ากันหรือไม่ มันก็เหมือนกับการกระทำ ถ้ากระทำโดยสติสมบูรณ์ เราก็ต้องมีผลตามนั้น ถ้ามีผลตามนั้น ในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ที่ท่านพูดไว้ธรรม พูดไว้ในธรรมว่าผลของมัน ผลของมัน ถ้าใครทำลายตัวเอง ใครฆ่าตัวตาย มันจะต้องฆ่าตัวตายอีก ๕๐๐ ชาติ

คำว่า “๕๐๐ ชาติ” ฉะนั้น เวลา ๕๐๐ ชาติ ในชาติปัจจุบันนี้ เวลาใครฆ่าตัวตาย เขาเริ่มต้นนับหนึ่งมาจากที่นี่ หรือเขาฆ่ามาแล้ว ๕ ชาติ ๑๐ ชาติ แล้วมาชาติปัจจุบันนี้เขาจงใจตั้งใจว่าจะทำ เขาจงใจและตั้งใจจะทำนะ

เราเคยเห็นจงใจและตั้งใจที่จะทำ มันมีพระกรรมฐาน เวลาเขามีความเครียด เขามีต่างๆ เขาเอาเชือกนะ เอาเชือกร่มไปผูกแขวนไว้กับราวตากผ้า ตายได้เหมือนกัน มันแปลกนะ แล้วคนที่มีความรู้สึกนึกคิดอย่างนี้เราเห็นมา เราเห็นมา พระเณรเคยมาอยู่ด้วย เขาจะพูดอะไร เขาจะทำอะไร เขาจะจบลงที่ตรงนี้ เขาจะจบลงว่าเขาจะทำร้ายตัวเอง เขาจะทำร้ายตัวเอง จะมีเรื่องอะไรก็แล้วแต่นะ มันจะจบลงที่เขาจะทำร้ายตัวเขาเองตลอดเวลา แล้วพอเริ่มมีพระเห็น พระรู้เข้า ก็คอยดูแล สุดท้ายแล้วเขาก็ได้ผูกคอตายเหมือนกัน นี่มันเป็นอย่างนี้ นี่พูดถึงเวรกรรมก่อนนะ นี่พูดถึงเวรกรรม

แต่เวลาเขาบอกว่า ได้อ่านบทความมาว่า ในทางการแพทย์ โรคซึมเศร้า ถ้ามีอาการผิดปกติของสารเคมีในสมอง ถ้าสารเคมีในสมองมันสั่ง มันทำอย่างนี้ มันก็แบว่าโรคนี้ทำอัตวินิบาตกรรมสำเร็จ

ไม่ว่าจะโดยมีสติรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม เวลาสำเร็จมันก็เป็นสำเร็จทั้งนั้นน่ะ แต่โดยปกตินะ ถ้าเป็นผิดปกติทางจิต เขาจะทำร้ายตัวเองๆ มันทำร้ายตัวเองอย่างนั้นน่ะ แล้วทำร้ายตัวเองของเขา ฉะนั้น เวลาเขาทำร้ายตัวเอง สิ่งที่เขาทำร้ายตัวเองของเขา หรือคนปกติที่เขาทำอัตวินิบาตกรรม อันนั้นเป็นเวรเป็นกรรมของเขา ทีนี้เป็นเวรเป็นกรรมของเขา ทีนี้พอเวรกรรมของเขา มันเป็นคนใกล้ชิด เป็นคนใกล้ชิด เป็นคนของเรา เราก็จะช่วยเหลือเจือจานเขา เราก็จะตอบแทนเขา ถ้าช่วยตอบแทนเขา โดยที่เขาทำอัตวินิบาตกรรม เราจะทำบุญกุศลให้เขาได้หรือไม่

เวลาทำบุญกุศลนี่นะ ในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีเปรตประเภทเดียวที่อุทิศส่วนกุศลให้ได้ แต่เวลาอุทิศส่วนกุศลให้ เราอุทิศส่วนกุศลให้กับเจ้ากรรมนายเวร เราอุทิศส่วนกุศลให้กับสัมภเวสีตามสามแยกสี่แยกที่เขารอส่วนบุญอยู่ เราทำบุญอุทิศส่วนกุศลอย่างนี้

ทีนี้เวลาในทางบาลี ในทางธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันมีปรทัตตูปชีวีเปรต เปรตที่ว่ารับได้เท่านั้น ถ้าเปรตอย่างอื่นรับไม่ได้ รับไม่ได้ๆ รับอย่างไร รับไม่ได้ รับไม่ได้แล้วทำบุญกันทำไม เราทำบุญกันทำไม เวลาคนตาย เราทำบุญกันทำไม

เราทำบุญกัน ทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้เขาไปดี ไปดีตรงไหน ไปดีที่ว่า เวลาหลวงตาท่านไปเทศน์งานศพ เราจำแม่นเลย เวลาจะไปเทศน์งานใครก็แล้วแต่ ท่านบอกว่า นาย ก นาย ข เป็นผู้เสียชีวิต เหตุเพราะนาย ก นาย ข เป็นผู้เสียชีวิต ทำให้พวกเราได้ทำบุญกุศล

ท่านบอกว่าจะเอาคนตายเป็นเหตุ เอาคนเป็นเหตุ เป็นเหตุให้พวกเราได้ทำบุญ ถ้าเป็นเหตุให้พวกเราได้ทำบุญ เราทำบุญของเรา มันก็เป็นบุญกุศลของเรา บุญกุศลของเรา ทีนี้เพียงแต่ว่าเราระลึกถึง เราก็อุทิศส่วนกุศลให้เขา ถ้าอุทิศส่วนกุศลให้เขา มันจะไปเข้ากับ อทาสิ เม อกาสิ เม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาสวดศพ บอกว่า เวลาคนใกล้ชิดของเรา คนของเราเวลาเสียชีวิตไป อย่าคร่ำครวญ อย่าร้องไห้ อย่าเสียใจให้มากเกินไปเลย ให้ทำคุณงามความดีถึงกัน ให้ทำคุณงามความดีถึงกัน เพราะจิตถึงจิตไง เพราะจิตมันถึงจิต

ฉะนั้นบอกว่า ทำบุญกุศลแล้วเขาได้รับหรือไม่ เราช่วยเหลือเจือจานเขาได้หรือไม่

ได้ เราระลึกถึงเขา เราระลึกความดีถึงกัน ระลึกความดีถึงกัน เหมือนเรา เวลาเราทำสิ่งใดก็แล้วแต่ เรามีพรรคพวก มีคนคอยเกื้อหนุน มันสบายใจนะ กับเราอยู่คนเดียวแห้งแล้ง ทำอะไรไม่มีใครดูแล ฉะนั้น คนที่มันคิดถึง มันคิดถึง มันอุทิศส่วนกุศล มันเป็นสิ่งดีงามทั้งนั้นน่ะ ฉะนั้น สิ่งที่ว่าในบาลีเขาพูดไว้อย่างนั้นจริง

เดี๋ยวต้องเตือนสติพระสงบก่อน ถ้าไม่เตือนสติ เดี๋ยวบอกว่ากล่าวตู่พุทธพจน์นี่เป็นอาบัตินะมึง นี่มันอยู่ในบาลีนะ เราอยากจะแจกแจงไง ในบาลีพูดไว้อย่างนั้นจริงๆ แต่เราพูดถึงข้อเท็จจริง พูดถึงน้ำใจของคน พูดถึงการระลึกถึงกัน นี่มันเป็นเรื่องหนึ่งนะ เป็นเรื่องหนึ่งเพราะอะไร เวลาคนมีเวรมีกรรม อย่างเช่นเวลาคนที่มีปัญหาในหัวใจ ทำสิ่งใดแล้วมันกระทบกระเทือน ให้ขอขมาลาโทษๆ เวลาขอขมาลาโทษนะ เราทำไว้ตั้งแต่เมื่อไหร่ คนเรานะ บางทีจิตใจเวลาเข้าถึงพระถึงเจ้ามันจะมีการต่อต้านมีต่างๆ เราทำไว้ตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ถ้าเราทำของเรานะ เราอุทิศส่วนกุศล เราขอขมาลาโทษ มันดีขึ้นๆ ทั้งนั้นน่ะ เราจะบอกว่าทำความดีมันก็คือดี ทำสิ่งที่ดีงามมันดีทั้งนั้นน่ะ

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่คนใกล้ชิดของเรา เวลาเขาเสียชีวิตไปแล้ว โดยที่ว่าเขาผิดปกติ เขาทำของเขาไป มันจะสมบูรณ์หรือไม่สมบูรณ์ นั่นเขาทำของเขาไปแล้ว ฉะนั้น เวลาเขาบอกว่า เขาได้อ่านบทความ ได้คิดต่างๆ ทางการแพทย์ต่างๆ เราก็จะมาคิดแบบทางศาลฎีกา ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไง ต้องตัดสินกันตามนั้นไง

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราอ่านไปแล้วก็เป็นบทความ บทความมันก็เป็นองค์ความรู้ของเรา แล้วองค์ความรู้ของเราจะมาตัดสินการกระทำของเรา แล้วตัดสินการกระทำของเรา มันก็อยู่ที่เวรที่กรรมอีก อยู่ที่การกระทำอันนั้น ฉะนั้น สิ่งที่เขาทำของเขาแล้ว เราวางไว้ นั่นผลสรุปมันจบแล้ว แต่นี่มันกลับมาที่เรา กลับมาที่เรา

“ถ้าเราอยากจะอุทิศส่วนกุศลไปให้ ต้องทำอย่างไร เคยได้ยินว่าต้องนั่งกรรมฐานระบุชื่อให้เท่านั้น บุญหรือทานอื่นเขาจะไม่ได้รับ จริงหรือไม่”

ไอ้การระบุชื่อมันเป็นการอุทิศ การเจาะจง เวลาเจาะจงนะ อย่างเช่นญาติเราเสียชีวิต เราอุทิศส่วนกุศลไป เราอุทิศส่วนกุศล เราระบุชื่อ ระบุชื่อนี่มันเจาะจงให้กับคนนี้ แล้วคนที่เสียสละ เราก็อุทิศส่วนกุศลต่อเนื่องๆ ไป มันเป็นว่าเขาได้รับเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป แต่ถ้าเราทำบุญกุศลนะ เราก็อุทิศให้เจ้ากรรมนายเวร สรรพสัตว์ทั้งหลาย เขาก็ได้รับส่วนกุศลของเขาไป สิ่งที่ได้รับส่วนกุศลมันเป็นประโยชน์ไง แต่ถ้าระบุชื่อ มันเจาะจง คำว่า “เจาะจง” มันเจาะจงเฉพาะตรงนั้น เจาะจงได้ญาติของเราด้วย แล้วสิ่งที่การอุทิศส่วนกุศลมันเป็นนามธรรม

คำว่า “นามธรรม” เรามีเงินหนึ่งบาท เราให้ญาติเราหนึ่งบาทก็จบแล้ว หมด แล้วจะให้ใครต่อ แต่ถ้าเรามีเงินหนึ่งบาท เราให้ญาติเราหนึ่งบาท ทีนี้เงินหนึ่งบาทก็เป็นแบงก์หนึ่งบาทมีมูลค่าเท่ากับหนึ่งบาท ถ้าบุญกุศลหนึ่งบาทก็คือหนึ่งบาท ให้ญาติไปแล้วหนึ่งบาท เราก็ยังเหลืออีกหนึ่งบาท ให้สรรพสัตว์ไปหนึ่งบาท เราก็ยังเหลืออีกหนึ่งบาท ให้ใครอีกหนึ่งบาท เราก็เหลือหนึ่งบาท เพราะธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าอุทิศส่วนกุศลเหมือนเทียนเล่มหนึ่ง เทียนเล่มหนึ่งไปจุดให้ต่อกับเทียนเล่มต่างๆ เทียนเล่มนั้นก็ยังอยู่คงเดิม เทียนเล่มนั้นก็อยู่คงเดิม

เรามีเทียนเล่มหนึ่งใช่ไหม เราก็จุดต่อๆๆ ให้คนอื่นไป เทียนของเราดับไหม ไม่ดับหรอก นี่ก็เหมือนกัน เราอุทิศส่วนกุศลให้คนนั้นๆ ยิ่งอุทิศเท่าไรนะ มันยิ่งจุดเทียนเต็มไปหมดเลย แต่เราคิดไม่ถึงไง เราคิดว่าเงินหนึ่งบาทให้บาทจบก็จบแล้ว ทีนี้พอเงินหนึ่งบาทอุทิศให้ไปเลยหนึ่งบาท หนึ่งบาทเราก็ยังคงเดิม ถ้ายิ่งอุทิศต่อไปก็ยังคนเดิม

เออ! หลวงพ่อพูดเล่นหรือเปล่าเนี่ย

นี่พูดถึงจริงนะ พูดจริงๆ เพราะว่าเราอุทิศไปแล้วเราก็เท่าเก่านะ เราอุทิศไปแล้วเราก็เหมือนเดิมนะ เราอุทิศไปๆ นี่ก็เหมือนกัน คำว่าเวลาเราอุทิศเจาะจงไปแล้ว เราระบุชื่อไปแล้ว แล้วเราจะให้ใครต่อล่ะ

เราระบุชื่อไปแล้ว เวลากรวดน้ำ เขาจะว่าสรรพสัตว์ทั้งหลายให้ใจกว้างขวาง เวลาหลวงตาท่านภาวนาของท่าน ตอนท่านจะออกจากภาวนาท่านจะแผ่เมตตาไปครอบ ๓ โลกธาตุ ไม่มีที่สิ้นสุด นี่ท่านแผ่เมตตาของท่านไป ท่านแผ่เมตตาของท่านไป นี่ก็เหมือนกัน เราอุทิศส่วนกุศลก็อุทิศของเราไป อุทิศของเราไป

นี่ก็เหมือนกัน ย้อนกลับมาที่ว่า เราจะอุทิศส่วนกุศล เราต้องทำอย่างใด เราใส่บาตร เราทำบุญกุศลของเรา เรากรวดน้ำ เราอุทิศถึงเขา จบ เราทำคุณงามความดี เรานั่งสมาธิภาวนาอุทิศถึงเขา เราอุทิศถึงเขา อุทิศถึงเจ้ากรรมนายเวร อุทิศให้หมดเลย ยิ่งกว้างขวางยิ่งดีทั้งหมด

ฉะนั้น เขาบอกว่า เคยได้ยินมาว่าต้องนั่งกรรมฐานระบุชื่อเท่านั้นถึงจะถึง

นั่งกรรมฐาน นั่งกรรมฐานแล้วนั่งก็คิดฟุ้งซ่าน นั่งแล้วไม่ได้เรื่องเลย อุทิศก็ไม่ได้เหมือนกัน เขาบอกว่านั่งกรรมฐาน กูก็นั่งบ้าง เขาอุทิศ กูอุทิศไม่รู้เรื่อง

เรานั่งกรรมฐาน เพราะนั่งกรรมฐาน ถ้ามันดีนะ จิตมันสงบ มันก็เหมือนกับแสงเลเซอร์ ถ้ามีพลังงานมันตรงนะ เพี๊ยะๆ แต่ถ้าแสงเลเซอร์พลังงานมันอ่อน ที่เขาบอกว่าให้นั่งภาวนาๆ เพราะว่ายิ่งภาวนาแล้วจิตมันดีขึ้น ตอนอุทิศส่วนกุศลตอนจิตดีๆ นั่นล่ะมีคุณประโยชน์มาก แล้วอีกเรื่องหนึ่งก็สายบุญสายกรรม อีกเรื่องหนึ่งแบบว่าเป็นเลือดเนื้อเชื้อไข เลือดเนื้อเชื้อไขโดยตรง นี่กรรมมันเป็นโดยอัตโนมัติ ถ้าเลือดเนื้อเชื้อไขสิ่งนี้มันจะถึงกันไง เวลาเรามาเกิดกัน เรามาเกิดเป็นชาติเป็นตระกูลเดียวกัน นี่สายบุญสายกรรม นี่เรื่องสายบุญสายกรรมนะ เวลาเรามาเกิดร่วมชาตินี่เลือดเนื้อเชื้อไข ตรงนี้มันจะมีผลต่อเนื่องกันไป ทีนี้เราอุทิศส่วนกุศล มันก็เป็นเรื่องของเรา

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าต้องนั่งกรรมฐานระบุชื่อ

ฉะนั้น ไอ้นี่แบบว่าเวลาเราไปอ่านหนังสือ อ่านบทความต่างๆ ครูบาอาจารย์ต่างๆ ท่านก็มีทัศนคติต่างๆ กันไป มีทัศนคติแบบว่า กรณีนี้กรณีเราธุดงค์ไปทั่ว เวลาธุดงค์ไปทั่ว เวลาทางภาคอีสาน ข้าวประดับดิน ไปทางใต้ เดือนสิบเลี้ยงเปรต ไปทางเหนือ มันอยู่ที่นักปราชญ์ในพื้นถิ่น นักปราชญ์ในพื้นถิ่นตอนสมัยโบราณท่านมีจริตนิสัยท่านชอบอย่างใด ท่านก็พาอย่างนั้น แล้วเวลาในปัจจุบันกรรมฐาน เรามาเจอหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านทำเป็นสากล ท่านทำเป็นสากล ทำโดยธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราอุทิศตามนั้นไปเลย มันเป็นสากลอยู่แล้ว

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าในพื้นถิ่น ในท้องถิ่นนั้น เขาเรียกว่าปัญญาท้องถิ่น ปัญญาท้องถิ่นของใครมีที่ไหน เราก็เคารพเขา เราเคารพความคิด เราเคารพประเพณีวัฒนธรรมของพื้นที่ แล้วเราเคารพของเขา แต่เวลาเราทำของเรา เราทำโดยสากลของเรา โดยข้อเท็จจริง ถ้าทำอย่างนั้นปั๊บ ไอ้สิ่งที่ว่านั่งกรรมฐานระบุชื่อ ไอ้กรณีนี้เวลาโดยทั่วไป เวลากรรมฐานเราให้เรียบง่าย เรียบง่ายจนไม่มีขอบไม่มีเขต เรียบง่ายจนจับต้องอะไรไม่ได้เลยหรือ

ทีนี้คำว่า “เรียบง่าย” เวลาระบุชื่อ เราก็ระบุชื่อได้ ระบุชื่อแล้วเรายังอุทิศส่วนกุศลให้กับสรรพสัตว์ทั้งหลายก็ได้

เขาบอกว่า “โอ้โฮ! อย่างนี้ก็ค้ากำไรเกินควรน่ะสิ ทำบุญหนเดียว อุทิศไปแล้วอุทิศไปอีกไม่มีวันจบวันสิ้นน่ะสิ”

เวลามึงทุกข์นะ มึงไม่เห็นคัดค้านอะไรเลย เวลาจะทำความดีนี่มึงค้านทุกเรื่องเลยนะ นู่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ได้ แต่เวลาทำความชั่วนี่ได้ทั้งนั้นเลย

การทำความดี การมีน้ำใจต่อกัน โอ้โฮ! มันยิ่งใหญ่ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันจะมีสิ่งใดเข้าไปสัมผัสได้นอกจากหัวใจความรู้สึกของคน แล้วหัวใจความรู้สึกของคนที่มันยิ่งใหญ่ ที่มันปรารถนาความดี มันจะทำคุณงามความดี นู่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ได้ เวลามันทุกข์มันยากขึ้นมา กิเลสบีบคั้นเข้ามา โอ๋ย! ยอมจำนนอย่างนี้ได้ น้ำหูน้ำตาไหลอย่างนี้ได้ แต่ทำคุณงามความดีนี่ไม่ได้ ไม่ได้ ไอ้นู่นก็ไม่ได้ ไอ้นี่ก็ไม่ได้

ไม่ได้ ต้องเอาตังค์ให้เยอะๆ ใช่ไหมถึงได้ เซ็นเช็คเลขกลมๆ เยอะๆ นั่นแหละดี อย่างนั้นหรือ

เซ็นเช็คเยอะๆ นั่นน่ะ แล้วพูดถึงมันไม่สะอาดบริสุทธิ์ มันจะดีอย่างไร คนทำสลึงสองสลึงนะ แต่จิตใจเขาที่ยิ่งใหญ่ อันนั้นบุญกุศลมหาศาล ปฏิคาหก ผู้ให้ให้ด้วยความบริสุทธิ์ ผู้รับรับด้วยความบริสุทธิ์ต่างหาก

นี่ก็เหมือนกัน เขาบอกว่าเขาดูบทความมามาก แล้วนู่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ได้ อุทิศส่วนกุศลก็ไม่ได้ เพราะอะไร เพราะเขาทำอัตวินิบาตกรรม

โอ้โฮ! ทำอัตวินิบาตกรรมก็เลยทำอะไรให้ใครไม่ได้ เพียงแต่ว่าอัตวินิบาตกรรม พระพุทธเจ้าให้เห็นว่า แม้แต่เราทำร้ายคนอื่นมันก็เป็นโทษ แล้วถ้าทำร้ายตัวเองมันเป็นโทษมากกว่า ท่านให้เห็นคุณค่าของหัวใจ ท่านให้เห็นคุณค่าของจิตนี้ จิตนี้มีคุณค่ามากใช่ไหม ถ้าจิตมีคุณค่ามาก เขายึดถือตัวตน กิเลสมันปิดหูปิดตาก็เที่ยวรังแกเขา เวลามีปัญหาขึ้นมาก็ดันมาทำร้ายตัวเองอีก มันไม่ได้ผลดีอะไรทั้งสิ้นเลย

แต่ถ้าเป็นธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช่ไหม ให้เมตตาต่อกัน ให้เสียสละต่อสังคม ให้มีน้ำใจต่อกัน แล้วแต่สรรพสัตว์ แล้วเวลาตัวเรา ตัวเรายิ่งมีคุณค่ามากเข้าไปอีกเพราะอะไร เพราะเราแผ่เมตตาให้เขา เราให้เขามีความสุขก็เป็นความสุขของเขา ถ้าเขามีความสุขของเขาก็ความสุขในหัวใจของเขา แต่ในหัวใจของเรามีแต่ทุกข์แต่ยาก ถ้าหัวใจเราทุกข์เรายาก เราศึกษา เราประพฤติปฏิบัติธรรม เรามีสติปัญญา สติปัญญามันก็ยับยั้ง กั้นคลื่นกิเลสที่มันถาโถมในใจของเรา ถ้าเราทำความสงบของใจเข้ามา ใจมันสงบระงับ สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี เวลาวิปัสสนาขึ้นมาเห็นภาวนามยปัญญา ปัญญาที่ฟาดฟันกิเลสในหัวใจของเรา มันทึ่ง มันอึ้งเลยล่ะ แหม! คนคนหนึ่งทำไมมันวิเศษขนาดนี้ เวลาภาวนานะ เวลามันเห็นมรรคเห็นผลในใจ โอ้โฮ! คนคนหนึ่งนะ แต่จิตดวงหนึ่งทำไมมันมหัศจรรย์ขนาดนี้

หลวงตาท่านถึงบอกไง บุคคล ๔ คู่ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล บุคคล ๔ คู่ จิตดวงเดียวเป็นได้หลากหลายนัก จิตดวงเดียวมันพัฒนาได้ขนาดนั้น เวลามันรู้มันเห็นอย่างนี้แล้วมันยิ่งมหัศจรรย์เข้าไปใหญ่ ท่านถึงให้เห็นตรงนี้ไง ให้เห็นหัวใจของเราไง

ห้าม ห้ามทำร้ายตัวเอง ห้ามฆ่าตัวตาย คำสอนมันมีความมุ่งหมายอย่างนี้ แต่ความมุ่งหมายอย่างนี้ปั๊บ ทีนี้คนเรามันมีเวรมีกรรมใช่ไหม พอมีเวรมีกรรมขึ้นมา มันทำไปแล้ว ทำร้ายไปแล้ว เพราะมันทุกข์มากจนยับยั้งไม่ได้ ทำลายไปแล้ว ทำลายไปแล้ว คนมันผิดพลาดไปแล้ว เราก็ช่วยเหลือเจือจานกัน ไม่ใช่คนผิดพลาดไปแล้วนะ เอ็งผิด ห้ามหมดเลย เอ็งไปอยู่ของเอ็งคนเดียว มันไม่ใช่อย่างนั้น เวลามันผิดแล้วเราก็แก้ไข เราก็แก้ไข เราก็ระลึกถึงกัน เราสร้างคุณงามความดีให้กัน มันจะผิดไปไหน

พระไตรปิฎกพูดอย่างนั้น พูดอย่างนั้นจริงๆ นี่ไม่ได้กล่าวตู่พุทธพจน์นะ เราเคารพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ใช่มากล่าวตู่พุทธพจน์อีก ไม่ใช่ พุทธพจน์พูดอย่างนั้นจริงๆ ในตำราว่าอย่างนั้นในพระไตรปิฎก แต่เรามานึกถึงน้ำใจสิ นึกถึงความระลึกถึงกัน นึกถึงคุณงามความดีที่เราจะยื่นให้กันน่ะ มันผิดตรงไหน

“นู่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ได้” ไม่ได้ก็คับแคบ เวลาบอกว่ากรรมฐานคับแคบ กรรมฐานเอาแต่พุทโธ กรรมฐานไม่รับฟังอะไรเลย กรรมฐานเอาของจริง ไม่ใช่คับแคบ ไอ้ที่กว้างขวาง กว้างขวางจนจับต้นชนปลายไม่ได้ ไม่มีหลักมีเกณฑ์ ไม่มีอะไรสิ่งใดเป็นชิ้นเป็นอัน

เวลากรรมฐานขึ้นมา พุทโธๆ ให้จิตมันตั้งมั่น จิตตั้งมั่นเป็นจิตของเรา จิตของเราตั้งมั่น จิตของเราค้นคว้าของเรา จิตตั้งมั่นให้ชำระล้างกิเลสในใจของเรา ถ้าชำระล้างกิเลสในใจของเรานะ เป็น อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโกในใจดวงนั้น แล้วใจดวงนั้นทำไมจะสั่งสอนคนอื่นไม่ได้ ทำไมใจดวงนั้นจะบอกคนอื่นไม่ได้ สิ่งที่เป็นมามันเป็นมาจากใจดวงนั้น ใจดวงนั้นรู้แจ้งแทงตลอดจากการกระทำของจิตทั้งหมด แล้วจิตดวงอื่นที่เขาทุกข์เขายากอยู่นี่ เราจะบอกเขาให้เป็นหนทางให้เขาแก้ทุกข์ ให้เขาบรรเทาทุกข์ มันจะผิดตรงไหน นี่ว่าอย่างนั้นเลยนะ กล่าวตู่

ฉะนั้น ไอ้ที่เขาบอกว่าต้องระบุชื่อ

ไอ้ระบุชื่อ เราก็เข้าใจได้ ระบุชื่อมันก็เป็นอุทิศเจาะจง เราก็ระบุชื่อของเรา ระบุชื่อขณะที่เราแผ่เมตตา ระบุชื่อต่อเมื่อเราอุทิศส่วนกุศล เราก็ระบุชื่อได้ ไม่ต้องเข้ากรรมฐานถึงระบุชื่อ แต่ไอ้ที่ระบุชื่อๆ ไอ้นี่เวลาพูดไปไง ถ้าทำอย่างนั้นปั๊บ เราก็ทำสมาธิไม่ได้ เราทำไม่ได้ เราก็ต้องไปจ้างพระใช่ไหม พระองค์ไหนที่ทำสมาธิได้ เราก็เอาเงินให้เขาให้ระบุชื่อหรือ

เราก็ระบุชื่อได้ ไม่เข้าสมาธิก็ระบุชื่อได้ เวลาเรากรวดน้ำ เราก็อุทิศเจาะจงก็ระบุชื่อ ตำราเขียนไว้อย่างนั้น ให้อุทิศเจาะจงระบุชื่อไปเลย แล้วถ้าเราจำชื่อไม่ได้ก็ปู่ย่าตายาย ถ้าระบุชื่อไม่ได้ก็เจ้ากรรมนายเวร เพราะคนมีเวรมีกรรมต่อกัน จากหัวใจของเรา ผู้ที่มีเวรมีกรรม เราจะอุทิศให้ผู้ที่มีเวรมีกรรมต่อใจของเรา สายบุญสายกรรมมันถึงหมดแล้ว ใครมีเวรมีกรรมต่อเราล่ะ แล้วใจดวงนี้มันมีกรรมต่อเขา แล้วใจดวงนี้มีกรรมต่อเขา ใจดวงนี้มันทำความดี พอใจดวงนี้ทำความดี ใจดวงนี้ก็อุทิศส่วนกุศล อุทิศให้เจ้ากรรมนายเวรแก่ใจของเรา นี่ไง ทำไมจะไม่ได้ ได้ทั้งนั้นน่ะ เพียงแต่ว่าการอุทิศเจาะจง ท่านก็สอนมา สอนให้ทำคุณประโยชน์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ทำประโยชน์ให้เต็มที่ แล้วทำประโยชน์ต่อเนื่องไป ไอ้นี่พูดถึงคนเชื่อนะ คนเชื่อยังทะเลาะกันขนาดนี้เลย แล้วไอ้ที่คนมันไม่เชื่อ ไอ้คนที่ไม่เชื่อมรรคผล ไม่เชื่อนรกสวรรค์ ไม่เชื่อเรื่องภูติผีปีศาจ ไม่เชื่อเรื่องจิตวิญญาณ โอ๋ย! มันยิ่งหัวเราะเยาะเราตายห่าเลย เราไปนั่งเถียงกัน อายไอ้คนที่มันไม่เชื่อ เอาคนเชื่อแล้วทำคุณงามความดีของเราดีกว่าเนาะ

นี่พูดถึงว่ากรรมของสัตว์ มันเป็นกรรมของสัตว์ เราเห็นใจมากนะ เราเห็นใจมาก เพราะว่าความผูกพันนะ ความรักความผูกพันมันมีต่อกันทุกๆ คน แล้วคนที่เรารัก คนที่เราปรารถนาดี แล้วมาทำอัตวินิบาตกรรมไป มันสะเทือนใจนะ แต่เราต้องอยู่กับปัจจุบันนี้ไง สิ่งนี้มันผ่านไปแล้ว ผ่านไปแล้ว เราก็จะทำคุณงามความดีถึงกัน ถ้าทำคุณงามความดีถึงกัน ระลึกถึงกันได้ ทำได้

มันเป็นกรรมของสัตว์ สัตว์โลกเป็นไปตามกรรมไง เขามีเวรมีกรรมของเขา เขาทำของเขาไปแล้ว เราก็ตั้งสติให้เป็นเครื่องระลึก เราจะทำคุณงามความดี แล้วสร้างคุณงามความดีอุทิศให้กับเขา แล้วเราทำตัวเราให้เป็นประโยชน์ขึ้นมา ยิ่งปฏิบัติไป เข้าใจไป เดี๋ยวพอเกิดปัญญานะ มันจะเข้ามาในสิ่งที่เราพูดไปนี่ เพราะเวลาคนเราสติปัญญามันแจ่มแจ้งนะ มันชัดเจน พอสติปัญญาไม่แจ่มแจ้ง มันก็งงๆ อย่างนี้ จบ

ถาม : ข้อ ๒๑๒๖. เรื่อง “ไม่รู้ว่าควรปฏิบัติอย่างไรต่อไปครับ”

กราบนมัสการหลวงพ่อ คราวที่แล้วผมเขียนถามหลวงพ่อถึงแนวทางการปฏิบัติโดยเปรียบเทียบกับกีฬาชกมวย เมื่อได้รับคำตอบจากหลวงพ่อ ผมก็ทำต่อเรื่อยมา เมื่อพบเจอกิเลสต่างๆ ในชีวิตประจำวันก็เก็บๆ ข้อมูลไว้ สังเกตความเชื่อมโยงของกิเลส วันไหนขยันก็ทำสมาธิ พุทโธๆ แล้วหยิบปมรากนั้นขึ้นมาพิจารณา

ผลของการทำรูปแบบนี้คือผมจะได้บทสรุปที่เป็นความเห็นเกิดจากใจของผมเอง มันอาจจะเหมือนธรรมะยอดฮิตทั่วไปนั่นแหละ แต่เมื่อผมทำขึ้นเอง รสชาติมันก็ต่างกันมากๆ เพราะทำเอง มันก็จะโจมตีกิเลสในใจตนเองโดยตรง จนถึงตอนนี้ผมเห็นชัดเจนว่ายังไม่มีกิเลสตัวใดตายขาดไปจากหัวใจเลย แต่ที่ทำมาทั้งหมดนั้นมันบั่นทอนกำลังกิเลสไปแน่ๆ มากบ้างน้อยบ้าง

ต่อมาวันหนึ่ง ผมเจอความแปลกอย่างมาก วันนั้นผมพิจารณาเกี่ยวกับร่างกายผู้หญิง ใจผมเรียกตรงไหนว่าผู้หญิง ผมพิจารณา ฉีก แยกส่วน เผา ทุบ เปลี่ยนรูปร่าง ทะลวงไปทุกสัดส่วนดุดันมากๆ สุดท้ายได้บทสรุปคลายใจของผมเอง ซึ่งผมคุ้นเคยกับผลลัพธ์ลักษณะนี้ได้ แต่หลังจากได้บทสรุปนั้น จิตกลับมีความตั้งมั่นที่ละเอียดกว่าปกติอย่างเห็นได้ชัด ตั้งมั่นคนละแบบกับที่ผมทำงานดังกล่าวมาทั้งหมด ผมพูดไม่ถูก ผมเห็นว่ามันละเอียดและมีความต่าง และในขณะนั้นสิ่งที่ปรากฏคือเห็นจิตที่กอดรัดขันธ์ ร้อยรัดยึดจับร่างกายร่างนี้ไว้ มันไม่ได้เป็นความคิด ไม่ได้เป็นคำๆ ออกมา แต่กิริยานั้นกลั่นออกมาจากคำพูดภายในว่าขันธ์นี้เป็นของกู คือจิตเห็นขันธ์นี้เป็นของจริง ในขณะนั้นไม่ได้รู้สึกว่าจิตคือผม (ผู้ถาม) แต่เห็นจิตคือจิต เห็นจิตยึดขันธ์เป็นของตัวเอง

ผมไปต่อไม่ถูกครับ มันไม่เหมือนกิเลสสวนกลับเมื่อสมาธิอ่อน สิ่งนี้ปรากฏในขณะที่ตั้งมั่น ผมไม่มีความมั่นใจเลยว่าไอ้การพิจารณาที่เคยทำมานี้มันจะได้ผลกับสิ่งที่ปรากฏนี้ไหม เพราะมันเหมือนคนละเกม คนละกีฬา คนละอย่างกันเลย มันเหมือนผมชกมวยมาตลอด วันนี้บังเอิญขึ้นเวทีผิด เจอเพลงดาบฟาดมาเสียอย่างนั้น ไม่เจ็บ ไม่ปวด แต่เลือดอาบอยู่กลางเวที กราบหลวงพ่อช่วยชี้แนะด้วยครับ ถ้าผมเข้าใจอะไรผิด รบกวนแก้ผมด้วยครับ จะได้ไปทำใหม่ กราบขอบพระคุณ

ตอบ : อันนี้กราบขอบพระคุณเนาะ ไอ้ที่ทำๆ มา ย้อนกลับ มันย้อนกลับว่าเวลาประพฤติปฏิบัติส่วนใหญ่แล้วก็เข้าใจว่าตัวเองมีสมาธิ แต่เวลาถ้ายังไม่มีสมาธินะ ส่วนใหญ่แล้วเขาต้องให้ทำ ให้ทำถ้ามันใช้ปัญญาๆ ตรึกในธรรมๆ มันจะเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ เวลาเป็นปัญญาอบรมสมาธิมันก็มีรสมีชาติ แต่เพราะคนปฏิบัติใหม่ พอคนปฏิบัติใหม่เวลาเกิดปัญญาแล้วก็คิดว่านั่นเป็นวิปัสสนา เวลาวิปัสสนาแล้วจิตนี้เป็นได้หลากหลายนัก จิตนี้มันก็ให้ค่าตัวเองมากเกินไป เวลาจิตให้ค่าตัวเองมากเกินไป ส่วนใหญ่เวลาคนปฏิบัติมาแล้ว เวลาปฏิบัติไปแล้วเข้าใจว่า เข้าใจว่าตัวเองสิ้นกิเลส เข้าใจว่าตัวเองมีคุณธรรม มีคุณธรรมเพราะจิตมันว่างๆ ว่างๆ ไง ที่เขาบอกว่ามันเป็นธรรมะยอดฮิตๆ เขาบอกเหมือนธรรมะยอดฮิตเลย แต่นี่มันไม่เหมือน ที่ทำๆ มารสชาติมันแตกต่างกัน รสชาติมันแตกต่างกันมาก เวลามันแตกต่างกันมากเพราะมันเห็นแล้วมันแตกต่างกัน เวลามันแตกต่างกัน แตกต่างกันนี่มันดีขึ้น

เวลาเราหยาบๆ โดยสามัญสำนึกของคนเราเวลามีอารมณ์อะไรกระทบ เรารู้กันได้ แต่โดยอารมณ์ของสมาธิ อารมณ์ของความสงบ ส่วนใหญ่แล้วไม่ค่อยเข้าใจ เวลาไปเป็นสมาธิจริงๆ กลับงงนะ “ไอ้ที่ผมเป็นนั่นมันคืออะไร ไอ้ที่ผมเป็นนั่นคืออะไร” นั่นแหละคือสมาธิ ฉะนั้น เวลาถ้ามันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ที่เราตรึกในธรรมๆ เราให้ทำอย่างนั้นมา

เวลาครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติมา ท่านจะพุทโธของท่าน พุทโธของท่าน เวลาพุทโธของท่านเพราะอะไร เพราะว่าความคิด ความเปรียบเทียบในเรื่องปัญญา ในเรื่องข้อมูลมันน้อย สมัยหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์เรามันยังไม่มีดาษดื่นขนาดนี้ไง เดี๋ยวนี้มันมีดาษดื่นไปหมดไง แล้วธรรมะร้อยแปด อย่างเช่นที่เขาบอกว่าอ่านบทความ อ่านต่างๆ มันมีการเสนอมาในสังคมทั้งนั้นน่ะ แต่ด้วยวุฒิภาวะของเรา เราไปเจอแล้วเราก็ทึ่ง

แต่ส่วนใหญ่เวลาเราอ่านแล้วนะ ประสาเรานะ โทษนะ มันทุเรศ เราอ่านหนังสือเรื่องธรรมะๆ อ่านแล้วมันสะอิดสะเอียน มันไม่มีเนื้อหาสาระ นิยายธรรมะมันยังดีกว่านั้นน่ะ นี่มันเขียนกันมาได้อย่างไร มันพูดออกมาโดยสิ่งที่วุฒิภาวะ วุฒิภาวะมันอ่อนแอมาก

นิยายนะ ละครทีวี ทวิภพ ๓ ภพ ๔ ภพอะไรเดี๋ยวนี้ ไอ้เรื่องเดี๋ยวนี้นะ มันจะพูดถึงเรื่องจิตวิญญาณ มันจะเหมือนกับทางตะวันตก แวมไพร์ไง กำลังมาดัง เดี๋ยวนี้ละครไทยเป็นอย่างนั้นหมดเลย มี ๒ ภพ ๓ ภพ อู๋ย! อ่านอย่างนั้นยังดีกว่าไปอ่านธรรมะที่ขายตามท้องตลาดอีก ไอ้นั่นมันยังมีคติความดีความชั่วอยู่บ้างนะ ไอ้นี่มันเป็นอย่างนั้นน่ะ นี่บอกว่าธรรมะยอดฮิต เสียดายคนตายไม่ได้อ่านน่ะ ธรรมะยอดฮิต แต่ถ้าอยู่แล้วมันดี ไอ้นี่เวลายอดฮิต

แต่เขาบอกว่าเวลาเขาทำแล้ว เวลาเขาทำเองขึ้นมา รสชาติมันต่างกัน รสชาติมันต่างกันมากๆ เวลาต่างกันมากๆ พอเขาทำไป มันมีกำลังแล้วไปโจมตีกิเลสในใจของตน กิเลสในใจของตน พิจารณาไป นี่รสชาติหนึ่งนะ ไอ้นี่ก็เป็นอีกรสชาติหนึ่ง ถ้ารสชาติ

เราจะบอกว่า จะทำอะไรนะ ถ้าซ้ายหัน ขวาหัน ทำอะไรไม่ถูก พุทโธไว้ พุทโธๆๆ ทำความสงบของใจไว้ ถ้าใจมันละเอียดแล้ว ถ้ามันรู้มันเห็น มันรู้ด้วยกำลังของจิตนะ จิตนี้มหัศจรรย์มาก เหมือนคนเลยนะ คนเรา ดูสิ ไม่มีการศึกษาก็ต้องเป็นกรรมกรแบกหาม ถ้าคนมีการศึกษาเขาก็ทำงานทางเอกสาร แล้วผู้ที่จะเป็นเจ้าของธุรกิจเขาก็ต้องเสี่ยง ความเสี่ยงของเขา เขาล้มลุกคลุกคลานขนาดไหน เขาก็ทำ ล้มแล้วก็ลุก ล้มแล้วก็ลุก ไม่มีเศรษฐีคนใดบอกว่าทำแล้วประสบความสำเร็จง่ายๆ...ยาก เศรษฐีส่วนใหญ่ล้มแล้วก็ลุก ล้มแล้วก็ลุก ลุกจนทำแล้วประสบความสำเร็จของเขา นี่ก็เหมือนกัน นี่คือการกระทำ ถ้าทำจริงมันเป็นแบบนั้น ไอ้นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่ว่าเราทำแล้วๆ ถ้าทำสิ่งใดแล้วมันล้มลุกคลุกคลาน ทำอะไรไม่ได้ พุทโธไว้ พุทโธไว้ ถ้าพุทโธไว้จิตมันจะดีขึ้น พุทโธๆ

ทีนี้คนเรามันพุทโธไม่ได้ไง มันพุทโธไม่ได้เพราะอะไร เพราะกิเลสมันรู้ตัว หลวงตาท่านสอนประจำ ที่เราล้มลุกคลุกคลานนี่ไม่ใช่ธรรมะนะ กิเลสทั้งนั้น กิเลสมันตัวดื้อตัวด้าน ตัวทำให้เราล้มลุกคลุกคลาน แต่ถ้าเป็นจริงๆ จิตสงบนั่นแหละคือธรรม

แล้วกิเลสมันกลัวธรรมมาก กลัวธรรมที่สุด แล้วเราปฏิบัติธรรมๆ พอปฏิบัติธรรม กิเลสมันก็บังเงา มันอ้างว่านี่เป็นธรรมๆ ไง เป็นธรรมคือธรรมะเราสร้างขึ้นมาเองไง ธรรมะเราคิดไปเอง เราละเมอเพ้อพกไปเอง แล้วมันก็ไม่เห็นได้ประสบความสำเร็จเลย มันละเมอเพ้อพกไปก็ อู้ฮู! ปฏิบัติแล้วจะสิ้นกิเลสๆ พอมันเสื่อม หมดเลย แล้วก็น้อยเนื้อต่ำใจ แล้วก็ผิดพลาดไปตลอด

แต่ถ้าพุทโธๆ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเราท่านให้พุทโธๆๆ ไว้ พอพุทโธไว้ จิตมันละเอียดขึ้นๆ ละเอียดขึ้น พอมันรู้มันก็รู้เข้ามา นี่ผมทำเองนะ เวลาจิตผมสงบขึ้นมา ผมโจมตีเข้าไปที่กิเลสเลย เออ! แล้ว อู้ฮู! มันดีขึ้นนะ มันชัดเจนขึ้นเลย แต่รู้อยู่ว่าไม่มีกิเลสตัวใดขาดไปจากใจเลย มันเรื่องธรรมดา เพราะอะไร เพราะเรายังไม่เป็นกิจจะลักษณะ แล้วเวลามันจะเป็นกิจจะลักษณะ นี่เขาบอกว่า ต่อมาวันหนึ่งเขาพิจารณาแบบรูปผู้หญิง

นี่ก็เหมือนกัน พิจารณาแบบรูปผู้หญิง เราพิจารณาฝึกหัดได้ด้วยปัญญา ปัญญาพิจารณาไปแล้วถ้ามันสรุปลงมันก็ลงสมาธิทั้งนั้นน่ะ มันลงสู่สมาธิได้ ทีนี้พอลงสู่สมาธิ เวลาเหตุมันสรุปขึ้นมา เขาเห็นของเขานี่ไง ที่ว่าเห็นจิตมันไปกอดขันธ์น่ะ

จิตเห็นอาการของจิตนะ เห็นจิตไปกอดขันธ์ แล้วจิตมันเป็นจิต จิตมันไม่ใช่เป็นกิเลส จิตมันไม่เป็นเรา จิตมันเป็นจิตจริงๆ ขันธ์ก็เป็นขันธ์จริงๆ เห็นไหม

บอกว่าสิ่งที่ตอบคำถามธรรมมา แล้วเขาพูดเอง เวลาคนปฏิบัติแล้ว เวลาคนไม่รู้พูดไม่ได้ หลวงตาใช้คำนี้นะ คนไม่รู้พูดไม่ได้ คนไม่เห็นสมาธิพูดสมาธิไม่ถูก คนที่ภาวนายังไม่เห็นสิ่งใดที่เป็นชิ้นเป็นอัน มันพูดสิ่งนั้นไม่ได้ สิ่งที่มันศึกษามาคือจำมา สิ่งที่ฟังครูบาอาจารย์เทศน์มาก็จินตนาการ เวลาพูด พูดไปแต่จินตนาการ

แต่ถ้าใครไปรู้ไปเห็นอะไรนะ ดูสิ เวลาหลวงตาท่านพูด ท่านพูดถึงของท่าน เวลาจุดและต่อม มันเป็นมะพร้าวลูกหนึ่งมีสองขั้ว ดีและชั่ว ไอ้นี่มันเป็นรูปธรรมที่รู้เห็นในรูปแบบนั้น ที่เราใช้คำว่า “วิทยานิพนธ์” วิทยานิพนธ์ของจิตมันมี ของหลวงปู่ขาวอย่างนี้ เห็นจิตของตนเปรียบเหมือนกับเมล็ดข้าว เมล็ดข้าวถ้ามันตกลงสู่พื้น ได้หว่าน ได้ไถ ตกสู่พื้น มันก็จะงอกขึ้นใหม่ เมล็ดข้าวถ้าได้สี ได้หุง แล้วเมล็ดข้าวนั้นไปปลูกไม่ได้อีกเลย นี่วิทยานิพนธ์ของจิตแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่พวกเรามันลูกศิษย์ลูกหา อย่างที่ว่า ได้ยินได้ฟังมาบ่อย ได้รับบทความมาเยอะ มันก็ไปเอาความรู้แล้วก็ไปแต่งเติม ตบแต่ง แล้วก็บอกว่านี่วิทยานิพนธ์ของเรา

โธ่! กรณีอย่างนี้นะ เป็นกรณีแบบจิตที่มันขาดวุฒิภาวะ ถ้าวุฒิภาวะ เราทำของเราเองขึ้นมามันจะเป็นประโยชน์กับเราจริงไหม ถ้าเราไปหยิบไปฉวยอะไรมา แล้วก็มาดัดแปลงให้เป็นของเรา เราก็โกหกตัวเอง เราโกหกตัวเองของเรา เราทำให้จิตของเราที่ควรมีโอกาสได้ผลการปฏิบัติที่จะเป็นความจริง มันก็เลยกลายเป็นความจอมปลอมไปเสีย จอมปลอมเพราะเราโลภมาก เรามักง่าย เราอยากได้ เราอยากให้มันเป็น แล้วเราก็ไปทำลายโอกาสของเราเอง เวลาเราคิดเรื่องนี้แล้วเราเศร้านะ เพราะเราปฏิบัติ เราอยู่กับครูบาอาจารย์ เราจะขึ้นไปหาครูบาอาจารย์ เราก็เปิดอกๆ เลย ของท่าน เราเคารพบูชามาก แล้วของเรา เรามีอะไรเราก็พูดอย่างนั้นน่ะ

เราจะมาระลึกถึงหลวงตาไง เวลาท่านขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น ท่านบอกว่าด้วยความเคารพ เคารพหลวงปู่มั่นมาก แต่การปฏิบัติของเรามันมีข้อเท็จจริง เราก็มีของเรา เราก็เอาของเราแผ่ออกไป เหมือนกับการโต้เถียงกัน การตรวจสอบกัน

ท่านบอกว่า เราก็มีของเรา ที่เวลาเราเถียงท่าน เราเถียงด้วยความเคารพนะ เถียงเพราะว่าเรามีความรู้ไง เราปฏิบัติมาแล้วเรามีประสบการณ์ไง แล้วประสบการณ์นี้มันจริงหรือไม่จริงไง ก็เอาอันนั้นน่ะตีแผ่ให้ท่านตรวจสอบไง นี่เถียงด้วยความเคารพ ถ้าเคารพ เคารพอย่างนี้ แล้วบอกว่า เคารพทีไรก็หน้าหงายทุกที ไม่เคยชนะเลย แพ้ กิเลสจะชนะธรรมะไปไม่ได้ กิเลสไม่มีทางชนะธรรมะ แต่เพราะเรามีไง

แต่นี่ไม่อย่างนั้น เวลาไปหยิบไปจับไปฉวยมาว่าเป็นสมบัติของเรา ไปหยิบไปจับไปฉวยมาแล้วก็ด้วยความอยากมีวุฒิภาวะ แล้วเขียนหนังสือกัน เราดูหนังสือแล้ว เพราะอย่างที่พูดนี่ สำนวน สำนวนหลวงตาก็รู้เลย พอพูดนี่รู้เลย มาจากหลวงตา อันนี้มาจากหลวงปู่ขาว รู้เลย เอ็งพูดมาเถอะ มันเป็นสำนวน สำนวนอย่างนี้ปั๊บนะ นี่คือสัญญา นี่คือจำมา วิทยานิพนธ์นี้ไปลักเขามา แล้วก็พยายามจะมาตกแต่งให้เป็นวิทยานิพนธ์ของตน ใช้ไม่ได้ แล้วคิดดูสิ มันทำลายโอกาสของคนทั้งนั้นน่ะ

แต่ถ้าเราเป็นจริงนะ พุทโธๆ พุทโธนี่จริงๆ เลยนะ เพราะจิตเราสงบจริงๆ แล้วเวลามันเกิดขึ้นนะ มันเหมือนท้องนาของเรา ไร่นาของเรา เราเป็นคนไถเอง ทำเอง ถ้ามันเกิดผลขึ้นมาจากน้ำมือ จากน้ำมือ นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราพุทโธๆ จากหัวใจของเรา ถ้าหัวใจเราสงบแล้ว ถ้ามันรู้มันเห็น ทีนี้มันรู้มันเห็นขึ้นมา ถ้ามันเห็นจริงๆ มันจะเห็นอย่างนี้ เห็นที่คำถามใช่ไหม เวลาผลของมันที่เกิดขึ้น ขณะที่ปรากฏขึ้นคืนนั้น เห็นจิตนี้กอดรัดกับขันธ์ ร้อยรัดยึดจับร่างกายนี้ไว้ มันไม่ใช่ความคิด มันไม่ใช่เป็นคำๆ ออกมา แต่กิริยานั้นกลั่นออกมาเป็นคำพูดภายหลังได้ว่า ขันธ์นี้เป็นของกู ขันธ์นี้เป็นของกู

เห็นไหม ขนาดไปเห็นยังของกูๆ อยู่นะ นี่ไปเห็น นี่เห็นไง มันจะเห็นดีขึ้นอย่างนี้ นี่เราบอกว่ามันจะเห็นดีขึ้นอย่างนี้ ที่เราบอกว่าเห็นกิเลสๆ นี่เห็นมันไง นี่ไง จิตเห็นอาการของจิตไง นี่เห็นขันธ์ไง

เวลาขันธ์ ขันน้ำหรือ ขันไก่หรือ เอ้กอีเอ้กเอ้ก ขันไก่ ขันตักน้ำ แล้วขันธ์ ๕ ล่ะ แล้วรูปล่ะ แล้วเวทนาล่ะ สัญญาล่ะ สังขารล่ะ วิญญาณล่ะ ถ้าเห็นวิญญาณจะรู้ว่าวิญญาณในขันธ์ ๕ กับวิญญาณในปฏิจจสมุปบาทมันแตกต่างกันอย่างไร เวลาปฏิบัติไปมันจะลึกล้ำไปอย่างนี้ พูดไปเดี๋ยวจะว่าบ้า นี่เพียงแต่เวลามันเห็นมันก็เป็นประโยชน์ไง

เราจะบอกว่า คนที่ประพฤติปฏิบัติพยายามทำความสงบของใจเข้ามา แล้วใจมันพัฒนาขึ้นมา มันจะรู้ละเอียดไปเรื่อยๆ ไง รู้จากสามัญสำนึกของคน รู้จากอำนาจวาสนาของคน รู้จากละเอียดขึ้นไป จนจิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นกิเลส

เวลาครูบาอาจารย์ถามนะ รู้จักกิเลสไหม รู้จักกิเลสหรือเปล่า คนเราจะฆ่ากิเลสมันต้องรู้จักกิเลส เห็นตัวกิเลส แล้วระหว่างกองทัพธรรมกับกองทัพกิเลส กองทัพธาตุขันธ์ เวลาภาวนามยปัญญามันเกิดขึ้น ธรรมะกับกิเลสมันฟาดฟันอยู่บนหัวใจของเรา อยู่บนสมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน เวลาปัญญามันเกิดนะ มันฟาดมันฟันนะ งานชอบ งานชอบ งานที่ว่าธรรมะ ศีล สมาธิ ปัญญา สัจธรรมๆ สมาธิก็สมาธิธรรม ปัญญาก็ปัญญาธรรม สติก็สติธรรม สัจธรรม สัจธรรมที่เราขวนขวายฝึกหัดขึ้นมา มันฟาดฟันกับกิเลส

กิเลสคือครอบครัวของมารที่มันยึดมั่นหัวใจเรานี่ เห็นตัวมัน จับตัวมันได้ แล้วมีการพิจารณากัน ฟาดฟันต่อกัน นั่นน่ะภาวนามยปัญญา ปัญญาอย่างนี้ที่ว่าจะแก้กิเลสไง แล้วปัญญาอย่างนี้มันเกิดที่ไหนล่ะถ้ามันไม่เกิดจากสัมมาสมาธิ

นี่ไม่มีสมาธิ เวลามันเกิด มันเกิดก็เป็นสัญญาทั้งนั้น เวลาเกิดมันก็เป็นจินตนาการทั้งนั้น แล้วถ้ามันไม่เกิด ไม่เกิดก็ไปขโมยจากครูบาอาจารย์มาไง

เวลาครูบาอาจารย์เทศนาว่าการนะ ไม่ใช่ขโมย ท่านเทศนาว่าการสั่งสอนพวกเรา เราฟังแล้ว นั่นเป็นสมบัติของท่าน เราฟังแล้วเราต้องใช้ปัญญาของเรา เราต้องพลิกแพลงให้เป็นสมบัติของเรา เราฟังแล้วเราพยายามเอาเป็นคติธรรม เป็นหัวเชื้อ เป็นสารตั้งต้น แล้วเราพยายามฝึกหัดของเรา อันนั้นเป็นสารตั้งต้นแล้วฝึกหัดให้มันขึ้นมาให้มันเป็น แล้วพอมันเป็นขึ้นมา เป็นของเรา ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ สิ่งที่เป็นธรรมๆ พูดเมื่อไหร่ พูดที่ไหน พูดได้ทั้งนั้นน่ะ แล้วถ้ามี ไม่รู้ไม่เห็นพูดไม่ได้ ถ้ารู้ถ้าเห็นก็พูดได้

นี่ก็รู้เห็นขันธ์ไง รู้เห็นขันธ์มันจริงๆ ขันธ์นี้เป็นของกูๆ เห็นไหม ถ้ารู้เห็นอย่างนั้น เห็นแค่ไหนก็พูดได้แค่นั้นน่ะ ถ้าไม่เห็นพูดไม่ได้ แล้วถ้าคนอื่นมาพูดอย่างนี้กับผู้ถามนะ ผู้ถามบอกว่า มึงอย่ามาโกหกนะ มึงไม่รู้ไม่เห็นอย่ามาโกหกนะ แต่เวลามันรู้มันเห็น มันพูดโต้งๆ เลย แล้วรู้ด้วย ทั้งรู้ทั้งเห็นเลย ฉะนั้น รู้เห็นอย่างนี้แล้ว อันนี้คำถามเขาถามว่า แล้วควรทำอย่างไร

พูดเสียนานเชียว ก็อยากให้หลวงพ่อสอนว่าทำอย่างไร พูดแล้ว แหม! หลวงพ่อพูดจบแล้วผมยังไม่รู้เรื่องเลย ให้ทำอย่างไร

ก็กลับไปพุทโธ หลวงปู่เจี๊ยะเวลาท่านประพฤติปฏิบัติ แล้วท่านมีคุณธรรมของท่าน ท่านบอกไม่พูดให้ใครฟังเลย ยกเว้นหลวงปู่มั่น ท่านขึ้นไปหาหลวงปู่มั่นถึงเชียงใหม่ เวลาได้โอกาสแล้วก็ไปหาหลวงปู่มั่นนะ เล่าให้หลวงปู่มั่นฟังจบเลย แล้วก็ถามหลวงปู่มั่นว่า “แล้วให้ผมทำอย่างไรล่ะ”

หลวงปู่มั่นบอกว่า “ก็ทำเหมือนเดิม ทำเหมือนเดิม” นี่หลวงปู่มั่นบอกหลวงปู่เจี๊ยะไง

“แล้วทำอย่างไรล่ะ”

“ก็ทำเหมือนเดิม”

เหมือนเดิมเพราะมันทำอย่างเดิมมามันถึงได้ผลมาอย่างนี้ ถ้าได้ผลมาอย่างนี้แล้วมันก็ต้องเริ่มต้นจากพื้นฐานเดิมนี่ต้องรักษาไว้ แล้วทำให้มันเหมือนเดิม ให้มีสติมีสมาธิมากขึ้น แล้วใช้ปัญญาฝึกหัดไป แล้วมันจะเป็นสมบัติของตน มันจะเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก เป็นสมบัติของตน

อันนี้ก็เหมือนกัน ให้ทำอย่างไรๆ แล้วจะทิ้งอันนี้ไปใช่ไหม สิ่งที่เราทำมาๆ ขันธ์นี้เป็นของกูเพราะอะไรล่ะ ก็เพราะเราพิจารณาของเรามา พิจารณาผู้หญิง แยกแยะแผดเผามัน นั่นน่ะปัญญาอบรมสมาธิ พอมันปล่อยแล้ว มันปล่อยมันก็มาเห็นเป็นขันธ์ไง ไปกอดมันไว้เลย แล้วมาสรุปเอาเองทีหลังว่าขันธ์นี้เป็นของกูไง

แล้วพิจารณาไปแล้ว ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ของกูได้ไหม ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ แล้วขันธ์ของกูมันขัดแย้งกับธรรมะของพระพุทธเจ้าไหม ถ้ามันขัดแย้งกับธรรมะของพระพุทธเจ้าคือปัญญาเรายังไม่ถึงไง ถ้ามันเป็นสัจจะความจริง ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ สักกายทิฏฐิ ๒๐ แต่นี่ถ้าเป็นของกู ของกูก็ยึดมั่นไง ขันธ์ ๕ เป็นของกูๆ เราก็ค่อยทำความสงบของใจเข้ามา แล้วฝึกหัดใช้ปัญญาของเราไป นี่พูดถึงมันจะพัฒนาไปเรื่อยๆ ไง

เขาถามว่าให้ทำอย่างไรต่อไป

กลับไปพุทโธนะ กลับไปใช้ปัญญาอบรมสมาธิจนกว่ามันจะมีกำลังละเอียด เดี๋ยวจะกลับมาพิจารณาตรงนี้ กลับมาแล้วมันจะพิจารณาเห็นอย่างนี้ต่อเนื่องไป เพราะสิ่งที่สงบแล้วมันเห็นอย่างนี้ แล้วถ้าเข้าไปแล้วมันก็จะเห็นอย่างนั้น

กรรมคือการกระทำ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ที่ทำมาผิดๆ พลาดๆ มันก็เป็นสามัญสำนึก เป็นข้อเท็จจริงของปุถุชน ก็เป็นอย่างนั้นน่ะ แต่เวลาเราทำขึ้นมามันจะพัฒนาขึ้น ดีขึ้น นี่ไง กรรมของสัตว์ๆ กรรมของหัวใจดวงนั้น ดวงใจดวงนั้นมีความสามารถ มีความรู้สึกขนาดไหน ก็จะทำให้ได้คุณธรรม ได้พัฒนาขึ้นมาอย่างนี้ ถ้าพัฒนาอย่างนี้ ทำต่อเนื่องไป

นี่เขาบอกว่า แล้วให้ทำอย่างไรต่อไป ให้ทำอย่างไร

กลับไปทำความสงบของใจเข้ามา แล้วถ้ามันปรากฏผลเป็นอย่างนี้อีก เราก็พิจารณาแล้ว พิจารณาของมัน แล้วเขาบอกว่า แต่เดิม แต่เดิมเวลาเขาพิจารณาไปแล้ว เขาพิจารณาแบบนักมวย นักกีฬา อู๋ย! สู้มันได้ทั้งนั้นน่ะ แต่คราวนี้มันเหมือนกีฬาคนละประเภทเลย

โลกกับธรรม โลกคือความจดจำ โลกคือสิ่งที่เราเคยฝึกหัด ธรรมะเหนือโลก เวลาธรรมะขึ้นมา เข้าไป เซ่อทั้งนั้นน่ะ ไอ้ที่คาดหมายไว้ไม่ใช่ หลวงตาท่านเรียนถึงมหา เวลาท่านปฏิบัติไปแล้วนะ ตำราอย่างหนึ่ง ความจริงเป็นอย่างหนึ่ง

นี่ก็เหมือนกัน เวลาฝึกขึ้นมา เวลาฝึกมันจินตนาการทั้งนั้นน่ะ ว่าธรรมะจะเป็นแบบนี้ แต่เวลาปฏิบัติไปแล้วนะ เหมือนกีฬาคนละประเภทเลย เหมือนกับขึ้นเวทีผิด แต่จะขึ้นเวทีผิดเวทีถูกก็ขึ้นมาจากการกระทำของเรานั่นแหละ ขึ้นมาจากประสบการณ์ของเราที่เราทำขึ้นมานั่นแหละ แต่มันขึ้นมาแล้วมันเป็นธรรมขึ้นมา พอเป็นธรรมขึ้นมา ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ใช่คาดเดา ไม่ใช่คาดหมาย ไม่ใช่จินตนาการ ไอ้พวกเรานี่คาดเดาหมดเพราะไม่เคยเห็นของจริง พอคาดเดาไปแล้วก็คิดว่าจะเป็นอย่างนั้น เวลาไปเจอความจริงต่างกับที่คาดเดา ถ้าเป็นจริงนะ ถ้าเป็นจริงต่างกับคาดเดา แล้วเวลาเป็นจริงขึ้นมา กีฬาคนละประเภทเลย คนละประเภท อันนั้นเป็นธรรม ไอ้ของเราที่คิดๆ เดิมคือกิเลส คือโลก ไอ้ที่เคยคิดมาแต่เดิม กิเลสทั้งนั้นน่ะ คือความยึดติดความรู้ของตน แล้วยึดคิดในความรู้ของตน เวลาไปเจอความจริงเข้างงนะ กีฬาคนละประเภทเลย ทำไปมันคนละเรื่องเลย นี่ระหว่างกิเลสกับธรรม

แล้วพิจารณาบ่อยครั้งเข้าๆ จนธรรมะมีมากขึ้น จนการกระทำเข้มแข็งขึ้น เดี๋ยวธรรมะจะเหนือกว่า ทีนี้มันจะไปเป็นธรรมแล้ว พอเป็นธรรมขึ้นมาแล้ว โอ๋ย! นั่นกิเลส โอ๋ย! ไม่เอา กิเลสไม่เอา นี่เวลาไปรู้แล้วมันจะไม่เอากิเลส แต่ยังไม่เคยเจอธรรม อยู่กับกิเลสอยู่ พอเจอธรรมก็งงนะ งง

นี่ไง ที่หลวงตาบอกว่า ไม่รู้ถามไม่ได้ ไม่รู้ตอบไม่ได้ ไม่รู้ไม่เห็นพูดไม่ได้ แล้วถ้ารู้ถ้าเห็นก็พูดตามเท่าที่รู้ที่เห็น รู้มากก็พูดได้มาก รู้น้อยก็พูดได้น้อย ไม่เคยรู้อะไรเลย พูดแต่สัญญา พูดแต่ไปหยิบฉวยของคนอื่นมาว่าเป็นของของตน แล้วก็จินตนาการไป ไม่เป็นความจริง ถ้าเป็นความจริงต้องเป็นแบบนี้ นี่ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก มันเป็นความจริงของมัน แล้วเป็นความจริงแล้วเราค่อยๆ ปฏิบัติต่อเนื่องไป

นี่แค่เห็นไง แค่เห็นแนวทาง แค่เห็นตัวมันนะ ยังไม่รู้เรื่องเลย แล้วค่อยๆ ทำไป เพราะเขาถามว่าให้ทำอย่างไร

กลับมาพุทโธ ไปหามันไม่เจอหรอก ยิ่งไปหามัน เดี๋ยวมันวิ่งหนี กลับมาพุทโธ เดี๋ยวจับมันได้ กลับมาพุทโธ กลับมาทำความสงบของใจเข้ามา เพราะกิเลสมันอยู่กับเรา ไม่ได้อยู่ที่ไหนหรอก เวลาวิ่งไปหามัน หาไม่เจอหรอก แต่ถ้าอยู่เฉยๆ นะ พิจารณาของเราดีๆ นะ เดี๋ยวมันโผล่มาให้เห็น แล้วจะได้เชือดมันที่นั่น นี่พูดถึงการปฏิบัติธรรม เอวัง